เรื่องเด่น ชีวิตเนื่องด้วยกรรม และกรรมคืออะไร

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 26 กรกฎาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    ความเข้าใจเรื่องกรรม-สมเด็จพระญาณสังวร-1.png

    ชีวิตของทุกคนเกี่ยวข้องกับกรรม ทั้งที่เป็นกรรมเก่า ทั้งที่เป็นกรรมใหม่ จะกล่าวว่าชีวิตเป็นผลของกรรมก็ได้ คำว่า กรรมเก่ากรรมใหม่นี้ อธิบายได้หลายระยะ เช่น ระยะไกล
    กรรมที่ทำแล้วในอดีตชาติ เรียกว่ากรรมเก่า กรรมที่ทำแล้วในปัจจุบันชาติ เรียกว่ากรรมใหม่ อธิบายอย่างนี้อาจจะไกลมากไป จนคนที่ไม่เชื่ออดีตเกิดความคลางแคลงไม่เชื่อ จึงเปลี่ยน
    มาอธิบายระยะใกล้ว่าในปัจจุบันชาตินี้แหละ กรรมที่ทำไปแล้ว ตั้งแต่เกิดมาเป็นกรรมเก่า ส่วนกรรมที่เพิ่งทำเสร็จลงไปใหม่ๆ เป็นกรรมใหม่ แม้กรรมที่จะเข้าใจหรือที่จะทำก็เป็นกรรมใหม่
    เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจเรื่องชีวิตได้ดี จำต้องทำความเข้าใจเรื่องกรรมให้ดีด้วย


    คำว่า กรรม มีใช้ในภาษาไทยมาก เช่น กรรมการ กรรมกร กรรมาธิการ แต่ในภาษาที่พูดกัน เคราะห์ร้ายมักตกอยู่แก่กรรม เคราะห์ดีมักอยู่แก่บุญ ดังเมื่อใครประสบเคราะห์ร้าย
    คือทุกข์ภัยพิบัติต่างๆ ก็พูดว่าเป็นกรรม แต่เมื่อใครประสบเคราะห์ดีมักพูดว่าเป็นบุญ และมีคำพูดกันว่า บุญทำกรรมแต่ง
    เกณฑ์ให้กรรมเป็นฝ่ายดำ ให้บุญเป็นฝ่ายขาว ความเข้าใจเรื่องกรรมและคำที่ใช้พูดกันในภาษาไทยจักเป็นอย่างไร ให้งดไว้ก่อน ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามความหมายในพระพุทธ
    ศาสนา

    คำว่า กรรม แปลว่า กิจการที่คนกระทำ คำว่า ทำ หมายถึงทั้งทำด้วยกาย อันเรียกว่ากายกรรม ทั้งทำด้วยวาจา คือพูดอันเรียกว่าวจีกรรม
    ทั้งทำด้วยใจคือคิด อันเรียกว่ามโนกรรม บางทีเมื่อพูดกันว่าทำ ก็หมายถึงทำทางกายเท่านั้น
    ส่วนทางวาจาเรียกว่าพูด ทางใจเรียกว่าคิด แต่เรียกรวมได้ว่า เป็นการทำทุกอย่าง เพราะจะพูดก็ต้องทำ คือทำการพูด จะคิดก็ต้องทำคือทำการคิด จึงควรทำความเข้าใจว่า ในที่นี้คำว่าทำ ใช้ได้ทุกอย่าง เมื่อได้ฟังว่าทำทางกาย ก็เข้าใจว่าทำอะไร

    ด้วยการที่เข้าใจอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังทางวาจา ก็ให้เข้าใจว่าพูดอะไรต่างๆ เมื่อได้ฟังว่าทำทางใจ ก็ให้เข้าใจว่าคิดอะไรต่างๆก็การฟังคำพูดอธิบายหลักวิชาอาจขวางหูอยู่บ้าง แต่เมื่อเข้าใจ
    ความหมายแล้วก็จักสิ้นขัดขวาง กลับจะรู้สึกว่าสะดวก เพราะเป็นคำที่มีความหมายลงตัวแน่นอน


    คำว่า กรรม มักแปลกันง่ายๆ ว่า การทำ แต่ผู้เพ่งศัพท์และความ แปลว่า กิจการที่บุคคลทำ ดังกล่าวแล้ว ถ้าแปลว่าการทำ ก็ไปพ้องกับคำว่า กิริยา คำว่า กิริยา แปลว่า การทำโดยตรง ส่วนคำว่า กรรมนั้น หมายถึงตัวกิจหรือการงานที่กระทำ ดังคำที่พูดในภาษาไทยที่ถูกต้อง เช่น กสิกรรม
    พาณิชยกรรม และคำอื่นที่ยกไว้ข้างต้น คำเหล่านี้ล้วนหมาย ถึงกิจการอย่างหนึ่งๆ ที่สำเร็จจากการทำ (กิริยา)

    --------------
    คัดลอกมาจากหนังสือ ::
    ความเข้าใจเรื่องกรรม สมเด็จพระญาณสังวร
     
  2. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    ความเข้าใจเรื่องกรรม-สมเด็จพระญาณสังวร-2.png


    กรรมคืออะไร

    กรรม แปลว่าอะไร ได้กล่าวแล้ว แต่ กรรมคืออะไร จำต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แปลความว่า “เรากล่าวเจตนา (ความจงใจ) ว่าเป็นกรรม
    เพราะ คนจงใจ คือมีใจมุ่งแล้ว จึงทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง”
    ฉะนั้น กรรมคือกิจที่บุคคลจงใจทำหรือทำด้วย เจตนา ถ้าทำด้วยไม่มีเจตนาไม่เรียกว่ากรรม อย่างเช่นไม่มีเจตนาเหยียบมดตาย ไม่เป็นกรรมคือปาณาติบาต ต่อเมื่อเจตนาจะเหยียบให้ตาย จึงเป็นกรรมคือปาณาติบาต แต่เมื่อจัดอย่างละเอียด สิ่งที่ทำด้วยไม่มีเจตนา ท่านจัดเป็นกรรมชนิด
    หนึ่ง เรียกว่ากรรมสักว่าทำ เพราะอาจให้โทษได้เหมือนกัน เหมือนอย่างที่กฎหมายถือว่าผิดในฐานะประมาท

    กรรมเกี่ยวกับคนเราอย่างไร กรรมเกี่ยวกับคนเรา หรือคนเรานั่นแหละเกี่ยวกับกรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะคนเรา นั้นตั้งแต่ตื่นนอนขึ้น จนถึงหลับไปใหม่ ก็มีเจตนาทำอะไรต่างๆ
    พูดอะไรต่างๆ คิดอะไรต่างๆ อยู่เสมอ โดยปกติไม่มีใครหยุดนิ่งอยู่เฉยๆ ได้ ถึงมือไม่ทำ ปากก็พูด ถึงปากไม่พูด ใจก็คิดถึงเรื่องต่างๆ การต่างๆ ที่ทำนี้แหละ เรียกว่ากายกรรม คำต่างๆ ที่พูดนี้แหละ เรียกว่าวจีกรรม เรื่องต่างๆ ที่คิดนี้แหละ เรียกว่ามโนกรรม

    กรรมนั้นดีหรือไม่ดี กรรมจะดีหรือไม่ดีก็สุดแต่ผลที่เกิดขึ้นจากกรรมนั้นๆ ถ้าให้เกิดผลเป็นคุณเกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่น ก็เป็นกรรมดี เรียกว่า กุศลกรรม แปลว่า กรรมที่เป็นกิจของคนฉลาด หรือบุญกรรม กรรมที่เป็นบุญ คือความดีเป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว เช่น การรักษาศีล ประพฤติธรรมที่จับคู่กับศีล หรือแม้กิจการที่ดีที่ชอบ ที่เป็นตามที่แสดงมาแล้ว ที่เป็นสุจริตต่างๆ เช่น การตั้งใจช่วยมารดาบิดาทำงาน การตั้งใจเรียน การตั้งใจประพฤติตนให้ดี การช่วยเหลือเกื้อกูลมิตรสหาย การทำสาธารณสงเคราะห์ต่างๆ ส่วนกรรมที่ให้เกิดผลเป็นโทษ เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นกรรมชั่วไม่ดี เรียก อกุศลกรรม แปลว่า กรรมที่เป็นกิจของคนไม่ฉลาด บาปกรรม กรรมที่เป็นบาป เช่น การประพฤติผิดในศีลธรรม ประพฤติทุจริตต่างๆ ที่ตรงกันข้ามกับกุศลกรรม

    ตัวอย่างของกรรมดีและกรรมไม่ดีข้างต้นนั้น กล่าวตามแนวพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแสดงเป็นทางปฎิบัติไว้ชัดเจน เรียกว่า กรรมบถ แปลว่า ทางของกรรม
    เรียกสั้นๆ ว่า ทางกรรม ทรงชี้แจงไว้เพียงพอและเข้าใจง่าย ว่าทางไหนดี ทางไหนไม่ดี คือ

    กายกรรม (กรรมทางกาย) นั้น ฆ่าเขา ๑ ลักของเขา ๑ ประพฤติผิดในทางกาม ๑ เป็นอกุศลไม่ดี เว้นจากการทำอย่างนั้นและอนุเคราะห์เกื้อกูลเขา ๑ เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ๑ สังวรในกาม ๑ เป็นกุศล เป็นส่วนดี

    วจีกรรม (กรรมทางวาจา) นั้น พูดมุสา ๑ พูดส่อเสียด เพื่อให้เขาแตกกัน ๑ พูดคำหยาบด้วยใจมีโทสะเพื่อให้เขาเจ็บใจ ๑ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ๑ เป็นอกุศลไม่ดี เว้นการพูดอย่างนั้น และพูดแต่ความจริง ๑ พูดสมัครสมาน ๑ พูดคำสุภาพระรื่นหูจับใจ ๑ พูดมีหลักฐานถูกต้อง ชอบด้วยกาล
    เทศะ ๑ เป็นกุศล เป็นส่วนดี

    มโนกรรม (กรรมทางใจ) นั้น คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขามาเป็นของของตนเอง ๑ คิดพยาบาทมุ่งร้ายเขา๑ เห็นผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว๑ เป็นอกุศลไม่ดี ไม่คิดอย่างนั้น และคิดเผื่อแผ่ ๑ คิดแผ่เมตตาจิตให้เขาอยู่เป็นสุข ๑ คิดเห็นชอบตามคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ๑ เป็นกุศล เป็นส่วนดี คนที่เว้นจากทางกรรมเป็นอกุศล ดำเนินไปในทางกรรมที่เป็นกุศล เรียกว่า ธรรมจารี แปลว่า ผู้ประพฤติธรรมสมจารี แปลว่า ผู้ประพฤติเรียบร้อยสม่ำเสมอ ความประพฤติ ดังนี้ เรียกว่า ธรรมจริยาหรือธรรมจรรยา สมจริยาหรือ
    สมจรรยา สมจริยาดังนี้แหละ คือ หลักสมภาพในพระพุทธศาสนา สมภาพคือความเสมอกันนั้น อาจทำให้เสมอกันได้ในทางที่อาจจะทำได้ แต่ไม่อาจทำให้เสมอกันได้ในทางที่ไม่อาจจะ
    ทำ ในทางที่ไม่อาจจะทำนั้น เช่น คนเกิดมามีเพศต่างกัน มีรูปร่างสูงต่ำดำขาวต่างกัน เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะทำให้เสมอกันได้ เช่น ทำให้สูงต่ำเท่ากันหมด แม้ในคนเดียวกันนั้น
    นิ้วทั้งห้าก็ไม่เท่ากัน จะทำให้เท่ากันได้อย่างไร สิ่งที่ไม่อาจจะทำให้เท่ากันได้ ถ้าใครไปพยายามจัดทำเข้า ก็เหมือนกับนิทานเรื่องเปรตจัดระเบียบ

    เรื่องมีอยู่ว่า มีคนเดินทางหลายคน เข้าไปนอนพักอยู่ในศาลาซึ่งเป็นที่พักของคนเดินทางหลังหนึ่ง เมื่อพากันนอนหลับแล้ว มีเปรตเจ้าระเบียบตนหนึ่งเข้าไปในศาลา เห็นคนนอนอยู่เป็นแถวจึงไปตรวจดูทางเท้า ก็เห็นเท้าของคนนอนหลับไม่เสมอกัน จึงดึงเท้าของคนเหล่านั้นลงมาให้เสมอกันครั้นตรวจดูเห็นเท้าเป็นแถวเสมอกันเรียบร้อยดีแล้ว ก็ไปตรวจดูทางด้านศีรษะ เห็นศีรษะของคนเหล่านั้นไม่อยู่ในแถวเสมอกัน จึงดึงศีรษะให้ขึ้นมาเสมอกันเป็นแนวเดียวทั้งหมด แล้วก็ย้อนกลับไปตรวจดูทางเท้าอีก ก็เห็นเหลื่อมล้ำไม่เสมอกันอีก ก็ดึงเท้าให้เสมอกันใหม่อีก คนก็ไม่เป็นอันได้หลับได้นอนเป็นสุข เพราะต้องถูกดึงเท้าบ้าง ดึงศีรษะบ้าง ขึ้นๆ ลงๆ ไม่รู้จักแล้วทั้งเปรตเจ้าระเบียบนั้นก็ไม่สามารถจัดให้เสมอกันได้

    การจัดให้เสมอกันในทางที่ไม่อาจจะจัดได้เช่นนี้เป็นการจัดที่ไม่สำเร็จ รังแต่จะให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไม่สงบสุขอย่างเดียว ส่วนการจัดให้เสมอกันในทางที่อาจจัดได้นั้นพระพุทธเจ้าทรงจัดด้วยหลักสมจริยานี้ คือเว้นจากทางกรรมฝ่ายอกุศล ดำเนินในทางกรรมฝ่ายกุศล ตามที่ทรงสั่งสอนไว้นั้น

    คราวนี้มาพิจารณาดูว่า เมื่อปฎิบัติในสมจริยานั้นเป็นสมภาพได้อย่างไร สมภาพ แปลว่า ความเสมอกัน คือตัวเราเองกับผู้อื่น หรือผู้อื่นกับตัวเราเองเสมอกัน ตัวเราเองรักสุข เกลียดทุกข์ ผู้อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน ตัวเราเองไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นมาก่อกรรมที่ไม่ดีแก่เราทุกๆ ข้อ พอใจแต่จะให้เขามาประกอบกรรมที่ดีแก่เราทั้งนั้น ถึงผู้อื่นก็เหมือนกัน เขาก็ไม่ประสงค์ให้เราไปก่อกรรมชั่วร้ายแก่เขา ประสงค์แต่จะให้เราไปประกอบกรรมที่ดีแก่เขาเท่านั้น เมื่อทั้งเราทั้งเขาต่างมี
    ความชอบและไม่ชอบเสมอกันอยู่เช่นนี้ ทางที่จะให้เกิดสมภาพได้โดยตรงก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างดำเนินเข้าหาจุดที่เสมอกันนี้คือ งดเว้นจากทางกรรมที่ชั่วร้าย ซึ่งต่างก็ไม่ชอบให้ใครมาทำแก่ตนด้วยกัน และดำเนินไปในทางกรรมที่ดีซึ่งเกื้อกูลกันที่ต่างก็ชอบจะให้ใครมาทำแก่ตนด้วยกัน เมื่อประพฤติดังนี้ สมภาพที่ถูกต้องก็เกิดขึ้น และเป็นสมภาพคือเป็นความเสมอกันจริงๆ และเมื่อมีสมภาพดังนี้ ภราดราภาพ คือความเป็นพี่น้องกัน หรือเป็นญาติที่คุ้นเคยไว้วางใจกันได้ก็เกิดขึ้น เสรีภาพ คือความมีเสรีอันที่จะไปไหนๆ ได้ ทำอะไรได้โดยที่ไม่ถูกใครเบียดเบียนและก็ไม่เบียดเบียนใครด้วยก็เกิดขึ้น สมจริยาของพระพุทธเจ้าอันยังให้เกิดสมภาพ ภราดราภาพ เสรีภาพ
    ดังกล่าวมานี้เป็นธรรมจรรยา ความประพฤติธรรมประกอบอยู่ด้วยหลักยุติธรรมและศีลธรรมต่างๆ บริบูรณ์


    ถ้ามีปัญหา ประพฤติธรรมคือประพฤติอย่างไร ก็ตอบได้ว่าประพฤติให้เป็นสมจริยาดังกล่าวนั่นเอง และเมื่อเข้าใจความดังนี้แล้ว คำว่า สมจริยา จะแปลว่า ความประพฤติเรียบร้อยสม่ำเสมอก็ได้ ความประพฤติสมควรหรือเหมาะสมก็ได้ ความประพฤติโดยสมภาพก็ได้ เป็นคำแปลที่ถูกต้องกับความหมายทั้งนั้น ดังนี้แหละเป็นธรรมจรรยา

    ฉะนั้น หลักธรรมจรรยาของพระพุทธเจ้า ก็เป็นหลักที่เป็นแม่บทของหลักทั้งหลายแห่งความสุขสงบของชุมชนทั่วไปถ้าไม่อยู่ในแม่บทนี้แล้ว จะเกิดความสงบสุขไม่ได้ สมภาพ ภราดรภาพ เสรีภาพ ก็จักมีขึ้นไม่ได้ จะได้ก็เช่นเสรีภาพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และผู้ที่จัดทำไปนอกแม่บทก็จะเป็นเหมือนเปรตจัดระเบียบดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องจัดกันไม่รู้จักเสร็จ

    ทั้งเป็นการก่อภัยก่อเวรก่อศัตรูและความวุ่นวายเดือดร้อน จัดกันไปจนโลกแตกก็ไม่เสร็จ
    กรรมตามที่กล่าวมานี้ ที่ชี้ระบุลงไปว่า กรรมคืออะไร และทำอย่างไรเป็นกรรมดี ทำอย่างไรเป็นกรรมไม่ดี เป็นทางกรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ก็พอประมวลเป็นหลักใหญ่ๆ ได้เป็น ๓ ข้อ คือ

    ๑. พระพุทธศาสนาแสดงว่ามีกรรม ใครทำดีก็เป็นกุศลติดตัวอยู่ ใครทำชั่วก็เป็นอกุศลกรรมติดตัวอยู่
    ๒. พระพุทธศาสนาแสดงว่ามีกรรมวิบาก คือผลของกรรม ผลที่ดีเกิดจากกรรมที่ดี ผลที่ชั่วเกิดจากกรรมที่ชั่ว ไม่สับสนกัน เหมือนอย่างผลมะม่วงเกิดจากต้นมะม่วง ผลขนุนเกิดจากต้นขนุน หว่านพืชเช่นไรก็ได้ผลเช่นนั้น
    ๓. พระพุทธศาสนาแสดงว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน คือตัวเราเองทุกๆ คน เป็นเจ้าของกรรมที่เราทำและเป็นเจ้าของผลของกรรมนั้นๆ ด้วย เมื่อตัวเราเองทำดีก็มีกรรมดีติดตัว และต้องได้รับผลดี เมื่อตัวเราเองทำไม่ดีก็มีกรรมชั่วติดตัว และต้องได้รับผลชั่วไม่ดี จะปัดกรรมที่ตัวเราเองทำให้พ้นตัวออกไป และจะปัดผลของกรรมให้พ้นตัวออกไปด้วยหาได้ไม่ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อกรรมของตนเอง

    เมื่อหลักกรรมของพระพุทธศาสนามีอยู่ดังนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอน ให้ทุกๆ คนหมั่นนึกคิดอยู่เสมอๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นกรรมทายาท คือเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัยเฉพาะ(ตนเป็นคนๆ ไป) นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ว่ากรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและดีต่างๆ กัน เป็นต้น


    --------------
    คัดลอกมาจากหนังสือ ::
    ความเข้าใจเรื่องกรรม สมเด็จพระญาณสังวร
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 กรกฎาคม 2017
  3. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647




     

แชร์หน้านี้

Loading...