เรื่องเด่น หลักกรรมนอกพระพุทธศาสนา

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 26 กรกฎาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    ความเข้าใจเรื่องกรรม-สมเด็จพระญาณสังวร-3.png


    ส่วนในลัทธิอื่น บางลัทธิปรฏิเสธกรรมเสียเลย บางลัทธิรับรองหลักกรรมบ้าง ปฏิเสธบ้าง แต่การระบุว่าทำอะไร เป็นกรรมดี ทำอะไรเป็นกรรมไม่ดี ก็มีกล่าวไว้ต่างๆ กัน ลัทธิที่ปฏิเสธหลักกรรมเสียเลยนั้น คือปฏิเสธว่ากรรมดีชั่วไม่มี ผลของกรรมดีชั่วไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีกรรมเป็นของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของของกรรม เพราะเมื่อใครทำอะไรทำแล้วก็แล้วไปไม่เห็นมีอะไรที่เรียกว่ากรรมเหลือติดตัว และที่ว่าดีไม่ดีนั้นก็เป็นการว่าเอาเอง ใครชอบก็ว่าดี ใครไม่ชอบก็ว่าไม่ดี เหมือนอย่างฝนตกแดดออก ใครชอบก็ชม ใครไม่ชอบก็ติ โดยที่แท้เป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีผลอะไร กรรมอะไร ส่วนผลต่างๆ ที่ได้รับนั้น เกิดขึ้นตามคราว ตามสมัย เหมือนอย่างผลไม้ต่างๆ ถึงคราวจะมีผล ก็มีผลขึ้นตามชนิด

    ลัทธิที่รับบ้างปฏิเสธบ้าง เช่น รับว่าเมื่อทำอะไรไปก็เป็นบุญเป็นบาป ทำนองรับรองว่ากรรมมี แต่เมื่อคราวจะต้องรับผลของกรรม ก็อยากจะรับแต่ผลของกรรมดี ไม่อยากรับผลของกรรมชั่ว จึงแสดงวิธีทำให้หายบาป เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ทำเอง จึงมิใช่ผู้เป็นเจ้าของของกรรมที่ทำอย่างแน่นอน แต่มีเจ้าของอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผู้บันดาลผลอะไรให้เกิดแก่ใครก็ได้ อาจเป็นผู้ยกบาปเพิ่มบาปให้ก็ได้

    มีเรื่องเล่าไว้ในพงศาวดารลังกาว่า ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โอรสของเจ้าผู้ครองรัฐที่อยู่กลางเกาะ นามว่า ราชสิงหะ ได้ทำปิตุฆาต (ปลงประชนม์พระบิดา) แล้วเกิดกลัวบาป จึงได้ประชุมพราหมณ์ถามหาวิธีล้างบาป ฝ่ายภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาตอบว่า เป็นอนันตริยกรรม (กรรมหนักที่ให้ผลในอันดับสืบไปทีเดียว ไม่มีอะไรมาคั่นได้) ไม่มีทางล้างบาปได้ พวกพราหมณ์ตอบว่า มีวิธีล้างบาป ราชสิงหะจึงขัดเคืองภิกษุสงฆ์ไปนับถือศาสนาพราหมณ์ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของคนที่อยากจะรับแต่ชอบ ไม่อยากรับผิดจากกรรมของตน

    อนึ่ง ลัทธิใดๆ แม้จะรับรองหลักกรรมอยู่บ้าง แต่ก็แสดงว่าทำอะไรดีอะไรไม่ดีต่างๆ กัน เพราะถือหลักต่างๆ กันเหมือนอย่างการฆ่าสัตว์ที่ทางพุทธศาสนาแสดงว่าเป็นบาป แต่ลัทธิอื่นแสดงว่าเป็นบุญก็มี

    หลักในการชี้ว่า อะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป ในทางพระพุทธศาสนา ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า คือหลักธรรมจริยา สมจริยา ดังกล่าวแล้วข้างต้น หรือหลักเมตตา หลักยุติธรรม ฉะนั้น ที่พูดว่าทุกลัทธิศาสนาสอนให้คนละชั่วทำดี จึงนับถือได้เหมือนกันๆ กัน อาจจะเป็นคำพูดเพื่อประนีประนอม หรือเพื่อแสดงมรรยาทว่าไม่ยกตนข่มท่าน เจตนาก็ดีอยู่ แต่ถ้าจะต้องนับถือกันจริงๆ และต้องพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า ไม่เหมือนกัน ปฏิบัติไปคนละอย่าง เพราะเห็นว่าเป็นการถูกผิด เป็นบุญบาป หรือดีชั่วกันไปคนละอย่าง เหมือนอย่างการฆ่าสัตว์ดังกล่าวแล้ว

    ได้ทราบว่า คราวหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้รับสั่งถามท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส ว่า เห็นว่าฆ่าสัตว์บูชายัญไปสวรรค์เป็นสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) หรือมิจฉาทิฏฐิ(เห็นผิด) ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ตอบว่า เป็นสัมมาทิฏฐิแขก
    ดังนี้ ท่านตอบเพียงเท่านี้ จะพูดกลับอีกทีหนึ่งก็ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิทางพระพุทธศาสนา เรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่ามิได้นับถือได้เหมือนกันจริง

    ไม่ต้องกล่าวถึงผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น แม้พุทธศาสนิกชนเอง ซึ่งมีศรัทธาในกรรมอยู่บ้าง ก็ยังคลางแคลงกันอยู่โดยมากว่า ผู้ทำกรรมจะได้รับผลเมื่อไร เพราะตามที่ปรากฏเห็นกันอยู่ บางคนทำดีแต่ไม่เห็นว่าได้ดี บางคนทำชั่วแต่ไม่เห็นว่าได้ชั่ว บางทีกลับได้ผลตรงกันข้าม จะมีอะไรมาพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตามที่แสดงไว้ในพระพุทธศาสนา



    -------------------
    คัดลอกมาจากหนังสือ ::
    ความเข้าใจเรื่องกรรม สมเด็จพระญาณสังวร
     
  2. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647




     

แชร์หน้านี้

Loading...