กรรมหรือกฎแห่งกรรม ตามนัยพระพุทธศาสนา (1)

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 7 สิงหาคม 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ข้อควรทราบพิเศษบางอย่างเกี่ยวกับกุศล และอกุศล

    กุศลและอกุศล เป็นปัจจัยแก่กันได้

    คนบางคนหรือบางคราวมีศรัทธา หรือได้บำเพ็ญทานหรือรักษาศีล หรือเป็นผู้มีปัญญา เป็นต้น อันเป็นกุศล แล้วเกิดความลำพองในความดีเหล่านั้น ถือเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น ความลำพองก็ดี ยกตนข่มผู้อื่นก็ดี เป็นอกุศล อย่างนี้ เรียกว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล

    บางคนบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานแล้ว เกิดราคะคือติดใจในฌานนั้น
    บางคนเจริญเมตตา เพียรตั้งความปรารถนาดีมองคนในแง่ดี บางทีประสบอารมณ์ที่น่าปรารถนา เมตตานั้นเลยให้ช่องช่วยให้ราคะเกิดขึ้นโดยง่าย แล้วอาจตามมาด้วยอกุศลธรรมอื่นอีก เช่น ฉันทาคติ เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า กุศล เป็นปัจจัยแก่ อกุศล

    ศรัทธาเป็นกุศลธรรม ทำให้จิตใจผ่องใส และมีกำลังพุ่งแล่นแน่วไป แต่เมื่อปฏิบัติต่อศรัทธานั้นไม่แยบคาย ก็อาจกลายเป็นเหตุให้เกิดทิฐิและมานะ ยึดถือว่าของตนเท่านั้นจริงแท้ ของคนอื่นมีแต่เท็จ อาจถึงกับก่อความวิวาทบาดหมางเบียดเบียนกัน นี้เรียกว่า กุศล เป็นปัจจัยแก่ อกุศล

    บางคนมีราคะอยากไปเกิดในสวรรค์ จึงตั้งใจประพฤติปฏิบัติเป็นผู้มีศีล
    บางคนมีราคะอยากได้ความสุขสงบทางจิตใจ จึงบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานสมาบัติ
    เด็กบางคนมีราคะอยากให้ผู้ใหญ่ชมว่าเป็นคนดี จึงพยายามประพฤติตัวให้ดีมีศีลวินัย
    นักเรียนบางคน มีราคะ อยากสอบได้ดี จึงเกิดฉันทะ และขยันเล่าเรียนแสวงหาความรู้ *
    บางคน เกิดความโกรธเผาลนตัวขึ้นแล้ว บางคราวเกิดปัญญาเข้าใจชัดถึงโทษของความโกรธนั้น
    บางคนโกรธแค้นศัตรูจึงเกิดความเห็นใจคิดช่วยเหลือผู้อื่น
    บางคน เกิดความกลัวตายขึ้นแล้ว สำนึกได้หายตระหนี่ มีจิตใจเผื่อแผ่เสียสละตั้งใจช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
    คนอีกบางคน มีความกลุ้มใจเป็นเหตุให้เกิดความศรัทธาในธรรม อย่างนี้ เรียกว่า อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล

    เด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่ง พ่อแม่เตือนไม่ให้ไปมั่วสุมกับหมู่เพื่อนอย่างไม่ระวัง แต่ไม่เชื่อ ต่อมา ถูกเพื่อนร้ายคนหนึ่ง หลอกให้ติดยาเสพติด พอรู้ตัวทั้งโกรธแค้นทั้งเศร้าเสียใจขุ่นหมอง เกิดความเข้าใจในคำเตือนของพ่อแม่ และซาบซึ้งต่อความปรารถนาดีของท่าน (อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล) เป็นเหตุให้ยิ่งเสียใจประดังโกรธเกลียดชังตัวเอง (กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล)

    เมื่อกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล หรืออกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลนั้น ขณะที่กุศลเกิด จิตมีสุขภาพดี

    ขณะที่อกุศลเกิด จิตใจเสียหายขุ่นข้อง สภาพจิตดี ไม่ดีเช่นนี้ อาจเกิดสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว จึงต้องรู้จักแยกออกเป็นแต่ละขณะๆ

    .....
    ที่อ้างอิง *

    * คำว่า ราคะในที่นี้ จะใช้โลภะแทนก็ได้ และเข้ากับความรู้สึกของคนไทยดีกว่า แต่ที่ใช้อย่างนี้เพื่อคงคำเดิมไว้ตามคัมภีร์ปัฏฐาน (อภิ.ป.40/551/179;488/155ฯลฯ) กับทั้งจงใจใช้เพื่อแก้ความเข้าใจความหมายอย่างคับแคบ อย่างที่รู้สึกกันในภาษาไทย
     
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    บุญและบาป กับ กุศลและอกุศล

    บุญ และ บาป กับ กุศล และอกุศล บางทีใช้แทนกันได้ บางทีใช้แทนกันไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความสับสนว่า ความหมายของธรรม ๒ คู่นี้เหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร จะกล่าวพอเป็นแนวทางความเข้าใจ

    "บุญ" มีความหมายตามรูปศัพท์ที่ท่านนิยมแสดงกันไว้ อย่าง คือ เครื่องชำระสันดาน คือ ชำระพื้นจิตใจให้สะอาด และว่าสิ่งที่ทำให้เกิดผลคือภพที่น่าชื่นชม

    นอกจากนี้ บางแห่งแสดงความหมายอื่นไว้อีกว่า สิ่งที่นำมาซึ่งความน่าบูชา และว่า สิ่งที่ยังอัธยาศัย (ความประสงค์) ของผู้กระทำให้บริบูรณ์

    ส่วน "บาป" มักแปลตามรูปศัพท์ว่า สิ่งที่ทำให้ถึงวัฏฏทุกข์ หรือสิ่งที่ทำให้ถึงทุคติ (= สิ่งที่ทำให้ตกไปในที่ชั่ว) คำแปล สามัญของบาปคือลามก (ต่ำทราม, หรือเลว)

    บางครั้งใช้เป็นคำวิเศษณ์ของวิบาก แปลว่า ทุกข์ หรืออนิฏฐ์ (ไม่น่าปรารถนา) ก็ได้ * (ความหมายเท่าที่กล่าวมานี้ ดู อิติ.อ.102,199-200 ฯลฯ)

    ที่กล่าวมานั้น เป็นความหมายที่นักศัพทศาสตร์ คือนักภาษาแสดงไว้ ซึ่งเป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น จึงควรทราบความหมายในแง่ของหลักธรรมแท้ๆด้วย

    เมื่อว่าโดยความหมายอย่างกว้างที่สุด บุญ ก็มีความหมายเท่ากับกุศล

    บาป ก็มีความหมายเท่ากับอกุศล แต่ในการใช้จริง บุญและบาป มักปรากฏในความหมายที่จำกัดแคบและจำเพาะแง่มากกว่ากุศลและอกุศล

    กล่าวได้ว่า บาป ใช้ในความหมายเท่ากับอกุศล มากกว่าที่บุญใช้ในความหมายเท่ากับกุศล แต่ที่ปรากฏบ่อยก็คือ กุศลใช้ในความหมายเท่ากับบุญ ความที่ว่านี้เป็นอย่างไร พึงพิจารณาต่อไป

    บาป ที่ท่านใช้ในความหมายเท่ากับอกุศล แห่งสำคัญคือ ในสัมมัปปธาน ๔ ข้อ ๑ และข้อ ๒ ซึ่งบาปมากับอกุศลธรรม ดังที่ว่า เพียรป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด และเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

    แต่ในข้อ ๓ และข้อ ๔ บุญไม่ได้มากับกุศลธรรมด้วย กล่าวถึงแต่กุศลธรรม ดังที่ว่า เพียรเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมหายหากให้เพิ่มขึ้นไปจนไพบูลย์ * (ที่มามากมาย เช่น สํ.ม.ซ19/1090/319 เป็นต้น)

    พูดอย่างสรุปความสั้นๆ ว่า บุญมีความหมายไม่เท่ากับกุศล

    ถ้าแบ่งกุศลเป็น ๒ ระดับ คือ โลกิยกุศล และโลกุตรกุศล โดยทั่วไป บุญใช้กับโลกิยกุศล หรือมิฉะนั้น ถ้าจะหมายถึงระดับโลกุตระ ก็ใส่คำขยายกำกับไว้ด้วย เช่นว่า "โลกุตรบุญ" ซึ่งมิได้เป็นคำที่นิยมใช้แต่ประการใด (พบในอรรถกถาแห่งหนึ่ง และในฎีกาที่อธิบายต่อจากอรรถกถานั้น เท่านั้น) * (ที.อ.3/55)

    มีบาลีหลายแห่งที่พระพุทธเจ้าตรัสถึง โอปธิกบุญ คือบุญที่อำนวยผลแก่เบญจขันธ์ ซึ่งได้แก่บุญที่เป็นโลกียะ ส่อความว่าจะมีอโนปธิกบุญหรือนิรูปธิบุญ ที่เป็นโลกุตระเป็นคู่กัน แต่ก็มิได้ปรากฏมีชื่อ อโนปธิกบุญ หรือนิรูปธิบุญ ในที่ใดเลย * (สํ.ส.15/923/342 ฯลฯ)

    ตรงกันข้าม แทนที่จะมีอโนปธิกบุญหรือนิรูปธิบุญ มาเข้าคู่เข้าชุดกับโอปธิกบุญ กลับกลายเป็นว่า ในพระบาลีแห่งหนึ่งของพระสูตรเดียวกัน มีนิรูปธิกุศล (กุศลที่เป็นโลกุตระ) มากับ โอปธิกบุญ (บุญที่เป็นโลกิยะ) ขอยกมาให้ดูดังนี้

    "ท่านจงทำให้มาก ทั้งด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ซึ่งนิรูปธิกุศล อันประมาณมิได้ แต่นั้น ครั้นทำโอปธิกบุญให้มากด้วยทานแล้ว ท่านจง (บำเพ็ญธรรมทาน) ชักจูงแม้คนอื่นๆ ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม ในพรหมจริยะ" ( ขุ.อิติ.25/262/290)



    เป็นอันว่า เมื่อมองดูโดยทั่วไปแล้ว ก็จะเห็นว่า คำว่า "บุญ" นั้น ท่านใช้ในความหมายของโอปธิกบุญนั่นเอง คือ ถึงจะไม่ได้เขียนคำว่า "โอปธิกะ" กำกับไว้ แต่ก็มีความหมายเท่ากับเขียนโอปธิกะอยู่ด้วย หมายความว่า ตรงกับโลกิยกุศลนั่นเอง ข้อนี้ เท่ากับพูดว่า คำว่าบุญที่ใช้ทั่วไป มีความหมายอยู่เพียงขั้นโลกิยะ เท่ากับโลกิยกุศล หรือกุศลขั้นโลกียะ บุญจึงเท่ากับเป็นความหมายส่วนหนึ่งของกุศล ไม่ครอบคลุมเท่ากับกุศล ซึ่งมีโลกุตรกุศลด้วย และอรรถกถาน้อยแห่งเหลือเกินจะไขความบุญว่าเท่ากับกุศลทั้งหมด * (อิติ.อ.102)
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    พระอรรถกถาจารย์ท่านสังเกตการใช้คำว่า บุญ แล้วแสดงความหมายไว้ให้เห็นแง่ด้านที่ละเอียดลงไปอีก ดังในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอิติวุตตกะ (อิติ.อ.96) แสดงความหมายของคำว่า "บุญ" ไว้ 5 อย่าง
    คือ
    1. หมายถึงผลบุญ คือผลของกุศล หรือผลของความดี เช่น ในข้อความว่า เพราะการสมาทานกุศลธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ บุญย่อมเจริญเพิ่มพูน

    2. หมายถึงความประพฤติสุจริตในระดับกามาวจรและรูปาวจร เช่น ในคำว่า คนตกอยู่ในอวิชชา หากปรุงแต่งสังขารที่เป็นบุญ (= ปุญญาภิสังขาร)

    3. หมายถึงภพที่เกิดซึ่งเป็นสุคติพิเศษ เช่นในคำว่า วิญญาณที่เข้าถึงบุญ

    4. หมายถึงกุศลเจตนา เช่นในคำว่า บุญกิริยาวัตถุ (คือเท่ากับกุศลกรรม)

    5. หมายถึงกุศลธรรมในภูมิสาม เช่นในคำว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย” * (ขุ.อิติ.25/200/240 – พึงเข้าใจเพิ่มเติมว่า บุญ เป็นโลกิยะ เว้นแต่จะมีคำระบุกำกับไว้เป็นอย่างอื่น เช่นว่า “โลกุตรบุญ”) ข้อนี้ตรงกันกับคำว่า โลกียะกุศลนั่นเอง

    ความจริง ข้อที่ 5 เป็นความหมายหลัก ตรงกับคำอธิบายในมหานิทเทสที่ว่า

    กุสลาภิสังขารในไตรธาตุ (คือ กามธาตุ รูปธาตุ และอรูปธาตุ) อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เรียกว่าบุญ อกุศลทั้งหมด เรียกว่า อบุญ (คือบาป)” (อิติ.อ.96)

    พูดด้วยคำที่เข้าใจง่ายว่า บุญ ได้แก่กุศลที่เป็นโลกิย์ บาป ได้แก่ อกุศลทั้งหมด (กุศล มีทั้งโลกิยะ และโลกุตระ แต่ อกุศล มีเฉพาะโลกิยะอย่างเดียว บุญ และบาป เป็นโลกิยะด้วยกันทั้งหมด พูดยักย้ายอีกอย่างหนึ่งว่า บุญ มีแต่โลกิยะอย่างเดียว กุศล มีทั้งโลกิยะและโลกุตระ บาปและอกุศล เป็นโลกิยะทั้งสิ้น)

    ทั้งนี้ได้ในคำว่า ไม่ติดในบุญและในบาป หรือละบุญและบาป ลอยบุญลอยบาปได้แล้ว ซึ่งเป็นลักษณะจิตของพระอรหันต์ * ( ขุ.ม. 29/121/106)

    พึงสังเกตด้วยว่า ตามคำอธิบายในมหานิทเทสนั้น คำกล่าวที่ว่า พระอรหันต์ละทั้งบุญและบาป ลอยบุญลอยบาปหมดแล้วหรืออยู่เหนือความดีและความชั่วนั้น มีความหมายว่า ละบาปและละบุญคือโลกิยกุศลเท่านั้น หาได้ละโลกุตรกุศลด้วยไม่
     
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ

    ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เมื่อคำว่า บุญ กับ กุศล มาด้วยกัน กุศลมักมีความหมายเท่ากับบุญ

    จึงหมายความว่า ในกรณีเช่นนี้ คำว่า กุศล ถูกใช้ในความหมายแคบลงเท่ากับบุญ คือ เป็นเพียงโลกียกุศลเท่านั้น * (กุศลมากับบุญ มีความหมายเท่ากับบุญ เช่นในคำว่า ปุญญาภิสันทะ กุสลาภิสันทะ – องฺ.ปญฺจก.22/45/56 ฯลฯ) ลักษณะสำคัญของโลกียกุศลหรือบุญนี้ ก็คือ การที่ยังเกี่ยวข้องกับผลที่เป็นอามิส ไม่ใช่เรื่องของความหลุดพ้นเป็นอิสระ หรือการทำลายกิเลสโดยสิ้นเชิง

    ตัวอย่างเสริมความที่กล่าวแล้วมีเป็นอันมาก เช่น ในบาลี เมื่อกล่าวถึงภิกษุคิดจะลาสิกขา มักกล่าวว่า จะสึกไปกิน ใช้โภคทรัพย์และทำบุญทั้งหลาย* (วินย.5/2/6 ฯลฯ) และชีวิตชาวบ้านที่ดี ก็ถือกันว่า ได้แก่ ชีวิตเช่นนั้น * (ม.ม.13/427/391 ฯลฯ) บุญในกรณีเช่นนี้ ก็หมายถึง การทำความดีต่างๆ เช่น เผื่อแผ่แบ่งปัน ให้ทาน ประพฤติดี มีศีล เป็นต้น ตรงกับคำว่ากุศลธรรม* (วินย.อ.1/238) หรือในข้อความว่า บุญมีอุปการะแม้แก่ผู้เป็นเทพ แม้แก่ผู้เป็นมนุษย์ แม้แก่บรรพชิต * (องฺ.ปญฺจก.22/31/36) มีความหมายทำนองเดียวกัน ส่วนในพุทธพจน์ที่ว่า “บุญเป็นชื่อของความสุขบุญก็หมายถึง ผลหรือวิบากที่น่าปรารถนาของกุศลกรรม คือการทำความดี * (ขุ.อิติ.25/200/240) หรือในคำว่า “ตายเพราะสิ้นบุญ” (บุญขัยมรณะ) ก็หมายถึง หมดผลบุญ หรือสิ้นวิบากของกุศลกรรมที่ปรุงแต่งกำเนิดนั้นนั่นเอง* (วิสุทฺธิ. 2/1)


    ความหมายของคำว่า "ธรรม" ที่เท่ากับบุญ ก็คือความหมายในแง่ที่สัมพันธ์กับการไปสวรรค์ เช่นเดียว กับ ที่อธรรมเท่ากับบาปในความหมายที่สัมพันธ์กับการไปนรก (ปฏิสํ.อ.20)


    เป็นอันสรุปได้ว่า แม้ว่า บุญ กับ กุศล และบาป กับ อกุศลจะเป็นไวพจน์กัน แต่ในการใช้จริงโดยทั่วไป กุศลมีความหมายครอบคลุมที่สุดกว้างกว่าบุญ คำทั้งสองจึงใช้แทนกันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

    ส่วนบาป กับ อกุศล มีความหมายใกล้เคียงกันมากกว่า จึงใช้แทนกันได้บ่อยกว่า แต่กระนั้น ก็มักใช้ในกรณีที่ให้ความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความหมายแง่ต่างๆ ของบุญ โดยนัยนี้

    - กุศล ใช้ในแง่การกระทำคือกรรมก็ได้ มองลึกลงไปถึงตัวสภาวธรรมก็ได้

    ส่วนบุญ มักเล็งแต่ในแง่กรรมคือการกระทำ ดังนั้น คำว่า กุศลกรรม ก็ดี อกุศลกรรม ก็ดี จึงเป็นคำสามัญ แต่สำหรับบุญ เราพูดได้ว่า บุญกรรม (กรรมที่เป็นบุญ ไม่ใช่ บุญและกรรม) ถ้าพูดว่า บุญธรรม จะแปลกหู และไม่รู้สึกเป็นคำศัพท์ทางธรรม

    ส่วนบาป กับ อกุศล จะพบทั้งอกุศลกรรม อกุศลธรรม บาปกรรม บาปธรรม

    - ในแง่พิเศษ บุญหมายถึงผลของบุญ หรือวิบากของกุศลกรรม แม้ในกรณีที่มิได้หมายถึงผลหรือวิบากโดยตรง บุญก็ใช้ในลักษณะที่สัมพันธ์กับผล หรือให้เกิดความรู้สึกเพ่งเล็งถึงผลตอบสนองภายนอก หรือผลที่เป็นอามิส เฉพาะอย่างยิ่งความสุข และการไปเกิดในที่ดีๆ

    - ด้วยเหตุที่กล่าวมานั้น การใช้คำว่าบุญ จึงมักจำกัดอยู่เฉพาะในระดับโลกียะ เป็นโอปธิกบุญ คือ เป็นโลกียะกุศลเท่านั้น กรณีที่กินความถึงโลกุตระกุศล หาได้ยากอย่างยิ่ง

    นอกจากนี้ มีข้อสังเกตสำหรับผู้สนใจทางงวิชาการอาจศึกษาค้นคว้าต่อไป
    คือ
    - บุญ และ บาป เป็นคำที่มีใช้แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วในพุทธกาล พระพุทธศาสนารับเข้ามาใช้ในความหมายเท่าที่ปรับเข้ากับหลักการของตนได้
    ส่วนกุศล และ อกุศล เดิมใช้ในความหมายอย่างอื่น เช่น ฉลาด ชำนาญ คล่องแคล่ว สบายดี มีสุขภาพ เป็นต้น พระพุทธศาสนา นำเอามาบัญญัติใช้สำหรับความหมายที่ต้องการของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ

    - และโดยนัยนี้ กุศล และ อกุศลจึงเป็นศัพท์วิชาการทางธรรมอย่างแท้จริง ส่วนบุญ และ บาป ท่านมักใช้อยู่ในวงแห่งคำสอนสำหรับชาวบ้านหรือชีวิตของชาวโลก *

    .............


    อ้างอิงที่ *
    * ในอภิธรรมปิฎก ตามปกติท่านไม่ใช้คำว่าบุญและบาป ยกเว้นแต่บาปที่เป็นคำประกอบขยายคำว่าอกุศล และบุญในคำว่าปุญญาภิสังขาร ซึ่งมีความหมายตามที่บัญญัติขึ้นโดยเฉพาะ และในอรรถกถาอภิธรรม ท่านใช้บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อธิบายเรื่องกามาวจรกุศลจิต (สงฺคณี. อ. 260)
     
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    (แยกได้แยกออกจึงจะเข้าใจหลักกรรม)

    เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดีกรรมชั่ว

    ดังได้กล่าวแล้วว่ากรรมนิยาม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับจิตนิยามและสมมตินิยาม
    และ
    ความสัมพันธ์ใกล้ชิดนี้ อาจเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจสับสนได้ง่าย

    ดังนั้น การที่จะเข้าใจเรื่องกรรม และความดีความชั่วให้ชัดเจน จะต้องแยกขอบเขตระหว่างนิยามเหล่านี้ให้ได้ก่อน

    กรรมนิยามอาศัยจิตนิยาม เหมือนซ้อนอยู่บนจิตนิยามนั่นเอง แต่จุดตัดแยกระหว่างกรรมนิยาม กับ จิตนิยามก็ชัดเจน กล่าวคือเจตนา เป็นเนื้อหาสาระและเป็นตัวทำการของกรรมนิยาม ทำให้กรรมนิยามเป็นอิสระออกมาเป็นนิยามหนึ่งต่างหาก หรือทำให้มนุษย์เป็นอิสระ มีบทบาทเป็นของตนเองต่างจากนิยามอื่นๆ สามารถสร้างโลกแห่งเจตจำนงของตนเองขึ้นมาได้ จนถึงกับยกตนขึ้นเทียมเท่า หรือแข่งขันกับธรรมชาติ และแบ่งแยกว่าตนมีโลกแห่งการประดิษฐ์สร้าง สรรค์ต่างหากจากโลกของธรรมชาติ

    เจตนาอาศัยกลไกของจิตนิยามเป็นเครื่องมือในการทำงาน และเมื่อเจตนาทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว กระบวนการก่อผลก็ต้องอาศัยจิตนิยามนั่นแหละดำเนินไป เปรียบได้กับคนขับเรือยนต์ คนขับเหมือนเจตนาที่อยู่ฝ่ายกรรมนิยาม เครื่องเรือทั้งหมดเหมือนกลไกและองค์ประกอบต่างๆ ของจิตที่อยู่ฝ่ายจิตนิยาม คนขับเรือต้องอาศัยเครื่องเรือ แต่เครื่องเรือจะพาเรือคือชีวิต ที่พร้อมด้วยร่างกายไปสู่ที่ไหนอย่างไร คนขับเรือเป็นอิสระที่จะทำ และเป็นผู้รับผิดชอบทำให้เป็นไป คนขับเรือทั้งอาศัยและทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเรือ แล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของเรือที่พร้อมทั้งเครื่องเรือ และตัวเรือด้วย เหมือนกรรมนิยาม ทั้งอาศัยและทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากจิตนิยาม แล้วรับผิดชอบต่อความเป็นไปของชีวิตที่พร้อมทั้งจิต และกายด้วย

    ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยามกับจิตนิยามนี้ ไม่สู้มีปัญหา เพราะไม่สู้มีเรื่องที่มนุษย์เอาใจใส่ และไม่ว่ามนุษย์จะใส่ใจรู้เรื่องของมัน หรือ แม้แต่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นไปตามปกติของมันเรื่อยไปอย่างมองไม่เห็นตัว

    ด้านที่เป็นปัญหาสับสนอย่างมากก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมนิยาม กับ สมมตินิยาม ซึ่งมักมีปัญหาเกี่ยวกับความดีและความชั่ว ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ที่ว่าทำดีทำชั่วเป็นความจริงที่แท้หรือไม่ อะไรเป็นเกณฑ์แบ่งว่าอะไรดี อะไรชั่ว


    ในเรื่องนี้ มีคนพูดกันไม่น้อยพูดกันบ่อยๆ ว่า ความดี และความชั่ว เป็นเรื่องของคนหรือสังคมบัญญัติกันขึ้น การกระทำอย่างเดียวกัน สังคมถิ่นหนึ่งหรือสมัยหนึ่งว่าดี อีกถิ่นหนึ่งหรืออีกสมัยหนึ่งว่าไม่ดี

    การกระทำอย่างเดียวกัน สังคมหนึ่งบัญญัติให้สมาชิกต้องกระทำ แต่อีกสังคมหนึ่งบัญญัติให้สมาชิกต้องละเว้น เช่น

    สังคมคนป่าบางพวกบัญญัติว่าฆ่าคนพวกอื่นเป็นความดี แต่สังคมที่เจริญแล้วบัญญัติว่าฆ่ามนุษย์เป็นความชั่วทั้งนั้น

    บางศาสนาบัญญัติว่าฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหารไม่บาป บางศาสนาสอนว่าการเบียดเบียนสัตว์ไม่ว่าชนิดใดไม่ดีทั้งนั้น

    สังคมบางถิ่นบัญญัติว่า หญิงมีสามีมากหลายได้เป็นความดี สังคมบางถิ่นว่าหญิงดีต้องมีสามี เดียว ถ้าให้ดียิ่งขึ้นเวลาสามีตายต้องโดดเข้าเผาตัวตายตามสามีไปในกองไฟที่เผาศพสามีด้วย

    บางสังคมถือว่าเด็กต้องเคารพต่อผู้สูงอายุกว่า และต้องเชื่อฟังไม่โต้เถียง มิฉะนั้น เป็นการไม่ดี

    อีกบางสังคมถือว่าการเคารพกันไม่เกี่ยวกับวัย และทุกคนควรถกเถียงหาเหตุผลกัน ดังนี้ เป็นต้น

    คำที่ว่า ความดี ความชั่วเป็นเรื่องของมนุษย์ และสังคมมนุษย์สมมติบัญญัติกันขึ้นมาเองนี้ เป็นความจริงอยู่มากทีเดียว แต่ถึงแม้จะเป็นจริงอย่างนั้น ก็ไม่มาเกี่ยวข้องในแง่ที่จะกระทบกระเทือนต่อกรรมนิยามแต่ประการใด และก็ไม่น่าจะต้องเอามาสับสนกับเรื่องกรรมนิยามด้วย

    เรื่องความดี ความชั่วที่เป็นบัญญัติของสังคม ก็เป็นเรื่องของบัญญัติสังคม หรือสังคมนิยาม

    เรื่องความดีความชั่ว หรือว่าให้ถูกคือกุศลและอกุศลที่เป็นเรื่องของกรรมนิยาม ก็เป็นเรื่องของกรรมนิยาม

    แม้ว่าทั้งสองอย่างนี้จะสัมพันธ์กัน แต่ก็เป็นคนละเรื่องกัน มีจุดตัดแยกระหว่างกันชัดเจน ความสับสน เกิดจากการนำเอาความดี ความชั่ว ของสังคมนิยามไปปะปนกับความดีความชั่ว คือ กุศลและอกุศลของกรรมนิยามที่เป็นคนละแดนกัน และไม่รู้จุดตัดแยกที่ถูกต้อง

    ขอย้ำอีกครั้งว่า ความดีความชั่วที่เป็นบัญญัติของสังคม ก็เป็นเรื่องของสังคมอยู่ในขอบเขตของสมมตินิยาม

    กุศลอกุศล ที่เป็นคุณสมบัติของกรรม ก็เป็นเรื่องของกรรม อยู่ในกรรมนิยาม เป็นเรื่องต่างหากกัน แต่สัมพันธ์กัน สิ่งที่เป็นทั้งตัวการสร้างสัมพันธ์ และเป็นทั้งจุดตัดแยกระหว่างกันของนิยามทั้งสองนี้ ก็เช่นเดียวกับในกรณีระหว่างกรรมนิยาม กับ จิตนิยาม คือ ได้แก่เจตนาหรือเจตจำนงนั่นเอง เรื่องนี้เป็นอย่างไร พึงช่วยกันพิจารณาต่อไป
     
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    สิ่งที่สังคมบัญญัติ เมื่อมองจากแง่ของกรรมนิยาม อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ

    ) สิ่งที่บัญญัตินั้น ไม่เกี่ยวกับกุศล และอกุศลในกรรมนิยามโดยตรง แต่สังคมบัญญัติขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งของสังคมเอง เช่น เพื่อให้คนทั้งหลายในสังคมนั้นอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสงบสุข เป็นทำนองข้อตกลงหรือพันธสัญญาระหว่างกัน ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่บัญญัตินั้นอาจเป็นเครื่องช่วยให้สังคมอยู่ดีมีความสงบสุขได้จริง หรืออาจไม่จริงก็ได้ อาจเป็นประโยชน์แก่สังคมจริง หรืออาจเป็นโทษก็ได้ ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าจะได้บัญญัติกันขึ้นมาด้วยความรู้ความเข้าใจกว้างขวางรอบคอบเพียงพอหรือไม่ หรือว่าคนที่ทำหน้าที่บัญญัติ มีความสุจริตใจหรือไม่ เป็นต้น บัญญัติเช่นนี้ มีมาในรูปต่างๆ อาจเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนกฎหมาย

    ในกรณีอย่างนี้ ดีหรือชั่ว เป็นเรื่องของสมมตินิยาม อาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และแตกต่างกันไปนานัปการ แต่จะเปลี่ยนต่างไปอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม จะต้องแยกไว้ต่างหาก ไม่ควรเอามาปนเปสับสน และเมื่อคนใดฝ่าฝืนละเมิดบัญญัตินั้น สังคมจะลงโทษอย่างไร ก็เป็นเรื่องของสมมตินิยาม ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม ให้แยกออกไปอย่างนี้เสียชั้นหนึ่งก่อน

    ต่อจากนี้ จึงพิจารณาในชั้นที่บัญญัติของสมมตินิยามนั้นก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับขอบเขตของกรรมนิยาม กล่าวคือ เมื่อคนในสังคมยอมรับบัญญัตินั้นกันแล้ว ไม่ว่าบัญญัตินั้นจะเป็นอย่างไร จะดีงามหรือเป็นประโยชน์แท้จริงหรือไม่ก็ตาม ในเวลาที่คนผู้ใดผู้หนึ่งในสังคมนั้นจะไม่ปฏิบัติตาม จะฝ่าฝืนหรือละเมิดบัญญัตินั้น เขาจะเกิดมีเจตนาที่จะฝ่าฝืนละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตามขึ้นมาทันที * (ที่ว่านี้ เป็นการพิจารณาชั้นเดียวก่อน ในบางกรณี เรื่องอาจซับซ้อนกว่านี้ได้ โดยมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ปัญญาที่จะยอมรับหรือไม่อย่างไร ซึ่งมีผลต่อเจตนา ทำให้เป็นเจตนาละเมิดหรือไม่ อ่อนหรือแก่ เป็นต้น อันจะต้องวิเคราะห์กันอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เมื่อคิดนึกขึ้นมา ก็เป็นอันต้องมีเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง และมีผลต่อชีวิตจิตใจทุกทีไป) และเขาจะตระหนักรู้ต่อเจตนาของเขานั้นอย่างไม่อาจปิดบังหรือหลอกตนเองได้

    เจตนานี้แหละ คือ จุดตั้งต้นของกรรมนิยาม และเป็นเรื่องของกรรมนิยาม

    สังคมหลายแห่ง อาจพยายามสืบเอาเจตนานี้ไปประกอบการพิจารณาในการตัดสินลงโทษด้วย ว่าเขาผู้นั้นทำการละเมิดด้วยเจตนาหรือไม่ แต่นั่น ก็เป็นเรื่องของสมมตินิยาม แสดงว่า สังคมนั้นฉลาด รู้จักถือเอาประโยชน์จากกรรมนิยามไปใช้ในทางสังคม ไม่ใช่เรื่องของกรรมนิยาม

    ส่วนในเรื่องของกรรมนิยามเองนั้น ไม่ว่าสังคมจะสืบส่วนเอาเจตนานั้นไปใช้หรือไม่ หรือจะได้ล่วงรู้ว่าได้มีการละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม กรรมนิยามก็ได้เริ่มทำงานของมัน ตั้งแต่ขณะที่บุคคลนั้นเกิดมีเจตนา และใช้เจตนาทำการล่วงละเมิด เป็นต้นไป กล่าวคือ กระบวนการก่อวิบากได้เริ่มดำเนิน และบุคคลนั้น เริ่มได้รับผลของกรรมตั้งแต่บัดนั้นไป

    จะเห็นได้ว่า ในความเป็นไปเช่นนี้ ข้อที่บัญญัติของสังคมว่าดี หรือชั่วนั้นจะจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในแง่ของสมมตินิยามไป ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมนิยามโดยตรง (จะโยงมาเข้ากับกรรมนิยาม ในขั้นของการพิจารณา และปัญญาของผู้ทำบัญญัติ) แต่ในการรักษาและปฏิบัติตามบัญญัติ กรรมนิยามเกี่ยวข้องเพียงการรับรู้ และใจยอมรับอย่างใดอย่างหนึ่งต่อข้อกำหนดตามที่สังคมบัญญัติไว้ และดำเนินจากจุดเริ่มที่จิตมีกิจกรรมต่อข้อกำหนดนั้น คือ เริ่มจากเกิดเจตนาเป็นต้นไป

    เมื่อจัดเข้าในระบบชีวิตทางธรรม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องในขั้นศีล และนี้เป็นจุดที่กฎเกณฑ์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวพันกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ซึ่งจะต้องแยกขอบเขตกันให้ดี

    ข้อที่ว่าบัญญัติว่าดีหรือชั่วของสังคม จะเป็นของแท้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องของสมมตินิยาม ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมนิยามโดยตรง หมายความว่า ยังมีแง่ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อมได้ เช่น สังคมถือข้อปฏิบัติกันมาอย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งดีงามถูกต้อง ทุกคนต้องปฏิบัติ

    ต่อมา เกิดผู้มีปัญญาคนหนึ่งมองเห็นว่า ข้อปฏิบัตินั้นไม่ดีจริง ไม่เป็นประโยชน์ หรือถึงกับเป็นผลร้ายแก่สังคมนั้น บุคคลผู้นั้น อาจเพียรพยายามชี้แจงให้ชนร่วมสังคมทั้งหลายเข้าใจตาม พยายามแก้ไขข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้นั้น และอาจถึงกับไม่ยอมทำตามข้อปฏิบัตินั้นเสียทีเดียว

    ในกรณีเช่นนี้ การกระทำของบุคคลผู้นั้นมิใช่เกิดจากเจตนาขุ่นมัวของผู้ที่จะละเมิดเหมือนอย่างในกรณีก่อน

    แต่เกิดจากเจตนาอันประกอบด้วยปัญญาของผู้ที่จะแก้ไขเพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นต้นเนื้อหาที่จะเป็นไปในกรรมนิยาม จึงไม่เหมือนกัน สุดแต่คุณสมบัติของเจตนานั้น แต่ มีข้อสำทับว่า เจตนาที่กระทำนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้กระทำย่อมรู้ตระหนักตามที่มันเป็น และเขาจะต้องรับผลในแง่ของกรรมนิยามตามเจตนานั้น เขาอาจปิดบังและหลอกสังคมได้ แต่ไม่อาจปิดบังใจตนเอง หรือหลอกกฎธรรมชาติได้

    พูดอย่างสั้นๆ ตัวกำหนดในกรรมนิยาม อยู่ที่ว่าเจตนาเป็นกุศล หรือ อกุศลนั่นเอง

    เมื่อว่าโดยทั่วไป หรือสำหรับกรณีทั่วไป การไม่ปฏิบัติตามบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่งของสังคมจะชื่อ ว่า ไม่เป็นการฝ่าฝืน หรือ ละเมิดและไม่เป็นไปด้วยเจตนาที่จะละเมิด ก็ต่อเมื่อสังคมนั้น ได้ตกลงพร้อมใจกันยกเลิกบัญญัตินั้นแล้ว หรือยอมรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบัญญัตินั้นแล้ว พูดอีกภาษาหนึ่งว่า ต่อเมื่อนั้น จึงจะไม่เป็นการเสียความซื่อสัตย์ หรือทรยศต่อสัญญาประชาคม

    ความที่ว่ามานี้ พอจะอธิบายได้ด้วยตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่า คนสองคนมาอยู่ร่วมกัน เพื่อให้การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นไปด้วยดี อำนวยความสุขและเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตของทั้งสองฝ่าย

    เขาจึงได้วางกติกากันไว้เช่นว่า เขาทั้งสองทำงานคนละแห่ง กลับถึงบ้านไม่พร้อมกัน

    แต่ควรจะรับประทานอาหารเย็นพร้อมกัน ครั้นจะรอกันอย่างไม่มีขอบเขต ก็ไม่ได้ จึงให้แต่ละคนต้องไม่รับประทานอาหารเย็น ๑๙.๐๐ น. บรรดาเขาทั้งสองนั้น คนหนึ่งชอบแมว ไม่ชอบสุนัข

    อีกคนหนึ่งชอบสุนัข ไม่ชอบแมว เพื่อความสงบสุขให้ถือว่า การนำสัตว์เลี้ยงใดๆ เข้ามาในบ้านเป็นความไม่ดีงาม ไม่สมควร

    เมื่อตกลงวางกติกากันอย่างนี้แล้ว ถ้าเขาคนใดคนหนึ่ง จะทำการใดที่ไม่เป็นไปตามกติกานั้น เจตนาที่จะละเมิด ก็ย่อมเกิดขึ้น และกรรมก็เกิดขึ้นตามกรรมนิยาม ทั้งๆที่เมื่อว่าโดยสภาวะแล้ว การรับประทานอาหารก่อน ๑๙.๐๐ น. ก็ดี การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านก็ดี จะเป็นความดีหรือความ ชั่วโดยตัวของมันเองก็หาไม่

    คนคู่อื่นอาจวางกติกาที่ตรงข้ามจากนี้ก็ได้ และในกรณีที่ต่อมาคนใดคนหนึ่งในเขาทั้งสองนั้น พิจารณาเห็น ว่า กติกาที่ได้วางไว้ไม่เป็นไปเพื่อผลดี แก่ชีวิตร่วมกันของเขาทั้งสอง เขาก็จะต้องยกขึ้นมาพูดให้ตกลงยกเลิก หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกานั้นก่อน การที่จะไม่ปฏิบัติตามของเขาจึงจะ เป็นไปได้โดยไม่ประกอบด้วยเจตนาที่จะละเมิดหรือฝ่าฝืน

    วินัยที่บัญญัติแก่สังฆะ ก็สัมพันธ์กับเจตนาในการปฏิบัติที่สำเร็จเป็นศีลของบุคคล

    ในลักษณะอย่างนี้ เรื่องความดีความชั่ว ความผิดความถูกที่เป็นบัญญัติอันไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังคม กับ ความเป็นไปแห่งกุศลและอกุศล อันแน่นอนของกรรมนิยาม มีขอบเขตที่แยกกันได้ และมีความสัมพันธ์เนื่องถึงกัน อันพึงเข้าใจได้โดยนัยนี้
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ) สิ่งที่บัญญัตินั้น กระทบถึงกุศล และ อกุศลในกระบวนการของกรรมนิยามด้วย
    ในกรณีเช่นนี้ สังคมอาจบัญญัติความดี ความชั่ว ด้วยความรู้ความเข้าใจว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล คือรู้ว่าอะไรเกื้อกูล อะไรเป็นโทษแก่ชีวิตจิตใจของมนุษย์ หรืออาจบัญญัติด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจเลยก็ได้ แต่ไม่ว่า สังคมจะบัญญัติว่าอย่างไรก็ตาม ความเป็นไปตามกรรมนิยาม ก็ย่อมเป็นไปของมันตามปกติ หาได้เปลี่ยนไปตามบัญญัติของสังคมไม่

    ยกตัวอย่าง สมมุติว่า ในสังคมหนึ่ง คนถือกันว่าการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นการกระทำที่ดีงาม ทำให้คนมีความสุข ควรสนับสนุน ถือว่าการมีอารมณ์รุนแรงเป็นสิ่งดี ถือว่าควรปลุกเร้าคนให้ตื่นเต้นเคร่งเครียด อยากได้อยากเอา วิ่งหา แข่งขันอยู่เสมอ จะได้ทำงานสร้างสรรค์ได้มาก

    ถือว่าฆ่าคนพวกอื่นเป็นความดี หรือประณีตขึ้นมาอีกว่า ฆ่าสัตว์ดิรัจฉานไม่บาป เป็นต้น กรณีเช่นนี้ ถือได้ว่าความดีความชั่วในสมมตินิยาม ขัดกับ กุศลและอกุศลในกรรมนิยาม

    ถ้ามองในแง่สังคม บัญญัติหรือข้อยึดถือเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลดีบ้าง ผลร้ายบ้างแก่สังคม เช่น การถือว่าเสพสิ่งเสพติดมึนเมาเป็นการดี อาจช่วยให้รัฐมีรายได้จากอากรสรรพสามิต เป็นต้น เพิ่มขึ้นไม่น้อย แต่พร้อมกันนั้น ก็ทำให้คนจำนวนมากในสังคมนั้นเป็นคนเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา

    สังคมนั้น มีอาชญากรรมเช่นลักขโมยมาก มีคนเจ็บป่วยไม่สมประกอบเนื่องจากเหตุนี้ เป็นต้น หรือการมีชีวิตที่เคร่งเครียดแข่งหาแข่งเอาตลอดเวลา อาจทำให้สังคมนั้นเจริญก้าวหน้าอย่างมากและรวดเร็ว แต่ต่อมาอาจปรากฏว่า สังคมนั้นมีคนเป็นโรคจิตและโรคหัวใจกันมาก มีการฆ่าตัวตายมาก มีปัญหาทางจิต และปัญหาสังคมอื่นๆ มากผิดปกติ หรือ
    ในสังคมที่ถือว่า ฆ่าคนพวกอื่นได้เป็นการดี คนของสังคมนั้น มีลักษณะที่ปรากฏแก่คนพวกอื่นว่าเป็นมนุษย์ที่โหดร้าย ควรหวาดระแวง ไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น

    ผลต่างๆที่ปรากฏในระดับสังคมเช่นนี้ หลายอย่างอาจสืบเนื่องมาจากกรรมนิยามด้วย แต่กระนั้น ในเบื้องแรก ผลที่เป็นไปในด้านสังคม ก็พึงมองในแง่สังคม ผลในด้านกรรมนิยาม ก็พึงพิจารณาในแง่กรรมนิยาม แยกต่างหากจากกันก่อน เสร็จจากนั้นแล้วจึงค่อยโยงเข้ามาหากันในภายหลัง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

    ว่าถึงผลในด้านกรรมนิยาม เจตนาในเรื่องนี้ซ้อนกันอยู่เป็นสองชั้น คือ เจตนาที่ประกอบด้วยความยึดถือตามบัญญัตินั้น ที่แสดงออกเป็นความเชื่อถือและค่านิยม เป็นต้น และเจตนาในการกระทำตาม หรือไม่ยอมกระทำตามบัญญัติในเฉพาะคราวนั้นๆ แต่ไม่ว่าในกรณีใด การได้รับผลตามกรรมนิยาม ย่อมเริ่มดำเนินในทันที เริ่มแต่ตั้งเจตนา

    ดังตัวอย่างข้างต้น คนที่จะเสพสิ่งเสพติดมึนเมา พอจะเสพ เจตนาก็ประกอบด้วยความกระหยิ่มอย่างมัวซัว เมื่อเสพเป็นนิตย์ ก็สั่งสมสภาพจิตอย่างนั้นเป็นนิสัย

    คนที่เคร่งเครียดแข่งหาแข่งเอา จะทำงานแต่ละครั้ง เจตนาก็ประกอบด้วยความเครียดเร่งร้อน และสั่งสมสภาพจิตเช่นนั้นไว้

    คนที่ตั้งหน้าฆ่าผู้อื่น แม้จะได้รับความยกย่อง และรางวัลในสังคมของพวกตน แต่ในการกระทำ คือ การฆ่าแต่ละครั้ง ก็ตั้งเจตนาที่ประกอบด้วยความขึ้งเครียดเหี้ยมเกรียม หรือกระเหี้ยนกระหือรือ หากปล่อยใจไปเรื่อยๆ ก็จะมีการสั่งสมสภาพจิตเช่นนั้น จนอาจกลายเป็นบุคลิกภาพทั้งหมดของเขา คุณภาพของจิตจะเป็นไปในทางที่หยาบมากขึ้น แต่เสื่อมเสียความประณีต ความนุ่มนวลละมุนละไม และความละเอียดลึกซึ้ง เป็นต้น
     
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ

    อนึ่ง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "เจตนา" สักเล็กน้อย เจตนาในทางธรรม มีความหมายละเอียดอ่อนกว่าที่เข้าใจกันทั่วไปในภาษาไทย กล่าวคือ ในภาษาไทย มักใช้เจตนาต่อเมื่อต้องการเชื่อมโยงความคิดที่อยู่ภายใน กับ การกระทำที่แสดงออกมาในภายนอก เช่นว่า พูดพลั้งไป ไม่ได้เจตนา หรือเขากระทำการโดยเจตนา เป็นต้น

    แต่ในทางธรรม คือตามหลักกรรมนี้ การกระทำ การพูด ที่แสดงออกภายนอกโดยจงใจก็ดี ความคิดต่างๆ แม้เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นๆ ชั่วครู่ชั่วขณะแล้วผ่านไปๆ ภายในจิตใจก็ดี

    การคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ดี

    ความรู้สึกและท่าทีของจิตใจต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้ประสบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และที่ระลึกหรือนึกขึ้นมาในใจก็ดี ล้วนมีเจตนาประกอบอยู่ด้วยทั้งสิ้น

    เจตนาจึงเป็นเจตจำนง ความจงใจ การเลือกอารมณ์ของใจ ตัวนำที่หันเหชักพาทำให้จิตเคลื่อนไหวโน้มน้อมไปหา หรือผละไปจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมุ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เป็นหัวหน้าเป็นผู้จัดการ หรือเจ้ากี้เจ้าการของจิตว่าจะเอาอะไรไม่เอาอะไร กับเรื่องใดอย่างไร เป็นตัวการจัดแจงแต่งวิถีทางของจิต และในที่สุดก็เป็นตัวการปรุงแต่งจิตนั้น ให้เป็นไปต่างๆ

    เมื่อเจตนาเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็คือกรรมเกิดขึ้นทีหนึ่ง เมื่อกรรมเกิดขึ้นแล้ว ก็มีผลทันที
    เพราะเมื่อเจตนาเกิด ขึ้น ก็คือมีกิจกรรมเกิดขึ้นในจิตแล้ว จิตมีการเคลื่อนไหวหรือไหวตัวแล้ว

    แม้เป็นเพียงความคิดอะไรเล็กน้อย ซึ่งถึงจะไม่มีผลอะไรสำคัญ แต่ก็ไม่ ไร้ผลเสียเลย อย่างน้อย ก็เป็นละอองกรรมอันละเอียดที่สั่งสม หรือพอกเข้าไว้เป็นเครื่องปรุงแต่งคุณสมบัติของจิตอยู่ภายใน

    เมื่อมากขึ้น เช่น จิตเสพความคิดนั้น บ่อยๆ หรือความคิดนั้นรุนแรงขึ้นจนออกมาภายนอก ผลก็แรงขึ้นขยายออกมาเป็นลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ เป็นต้น

    ยกตัวอย่าง เช่น เจตนาในการทำร้าย ไม่ ต้องพูดถึงกรรมร้ายแรงถึงขั้นจะฆ่าคน

    แม้แต่การทำลายสิ่งของที่เล็กๆ น้อยๆ เหลือเกิน ถ้าทำด้วยเจตนาทำร้าย คือประกอบด้วยโทสจิตหรือมีความโกรธ อย่างคนฉีกกระดาษด้วยความฉุนเฉียว ทั้งที่กระดาษนั้นไม่มีคุณค่าสำคัญ อะไร แต่ย่อมมีผลต่อสุขภาพจิต หาเหมือนกันไม่กับการฉีกกระดาษของคนที่ทำด้วยจิตปกติ โดยรู้ว่า จะไม่ใช้กระดาษนั้นแล้ว

    เมื่อทำการอะไรๆด้วยเจตนาอย่างนั้นบ่อยๆ ผลแห่งการสั่งสมก็จะปรากฏชัดยิ่งขึ้น และอาจขยายกว้างออกไปในระดับต่างๆโดยลำดับ เปรียบเหมือนฝุ่นละอองที่ปลิวเข้ามาในห้องทีละเล็กละน้อยอย่างที่มิได้ สังเกตเลย ย่อมไม่มีส่วนใดที่ไร้ผลเสียเลย แต่ผลนั้นจะสำคัญแค่ไหน นอกจากเป็นไปตามความแรงและปริมาณของสิ่งที่สั่งสมแล้ว ยังสัมพันธ์กับคุณภาพ และการใช้งานของจิตในระดับต่างๆ อีกด้วย

    ฝุ่นละอองปลิวลงจับท้องถนน กว่าจะทำให้รู้สึกสกปรก ก็ต้องมีปริมาณมากมาย
    ฝุ่นละอองปลิวลงบนพื้นเรือน แม้น้อยกว่านั้น ก็รู้สึกสกปรก
    ฝุ่นละอองน้อยกว่านั้น ลงจับโต๊ะเขียนหนังสือ ก็สกปรก และรบกวนงาน
    น้อยกว่านั้นอีก ลงจับกระจกเงาส่องหน้า ก็รู้สึกเปื้อนและกระทบการใช้งาน
    ธุลีละอองนิดเดียวลงจับแว่นตา ก็รู้สึกได้และทำให้การเห็นพร่ามัวได้
    ฯลฯ
    รวมความว่า เจตจำนง คือ เจตนาหรือกรรมนั้น แม้เล็กน้อย ก็มิได้ไร้ผล อาจอ้างพุทธศาสนสภาษิตว่า

    กรรมดีหรือชั่วทุกอย่างที่คนสั่งสมไว้ ย่อมมีผล ขึ้นชื่อว่ากรรม แม้จะนิดหน่อย ที่จะว่างเปล่าไปเลย ย่อมไม่มี” * (ขุ.ชา.27/2054/413 - แต่ไม่พึงสับสนกับเรื่องกรรมที่ไม่ให้ผลในระดับวิถีชีวิตภายนอก) และว่า “กรรมไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมไม่สูญเปล่าเลย” * (ขุ.ชา.28/864/306)

    อย่างไรก็ตาม ผลทางด้านกรรมนิยามในระดับจิตใจนี้ คนจำนวนมากคอยจะมองข้าม ไม่เห็นความสำคัญ จึงขอเพิ่มการเปรียบเทียบ ด้วยข้ออุปมาเกี่ยวกับน้ำอีกสัก ๒ อย่าง

    - น้ำสะอาดและน้ำสกปรก มีหลายระดับ เช่น น้ำครำในท่อระบายโสโครก

    น้ำในแม่น้ำลำคลอง น้ำประปา และน้ำกลั่นสำหรับผสมยาฉีด เป็นต้น

    น้ำครำพอใช้เป็นที่อาศัยของสัตว์หลายอย่างได้ แต่ไม่เหมาะแก่การใช้ อาบ ไม่อาจใช้กินหรือทำกิจที่ประณีตอื่นๆ

    น้ำในแม่น้ำลำคลอง ใช้อาบน้ำซักผ้าได้ แต่ก็ยังไม่เหมาะที่จะใช้ดื่ม

    น้ำประปาใช้ดื่มกินได้ แต่จะใช้ผสมยาฉีดยังไม่ได้ เมื่อมีแต่น้ำประปาและกิจที่ใช้ไม่มีส่วนพิเศษออกไป น้ำประปานั้นก็พอแก่ ความประสงค์ แต่ถ้ามีกรณีพิเศษเช่นจะผสมยาฉีด ก็เป็นอันติดขัด

    ทั้งนี้ เปรียบได้กับจิตที่มีคุณภาพต่างๆกัน โดยความหยาบประณีตขุ่นมัว และสะอาดผ่องใสกว่ากัน เนื่องมาจากกรรมที่ได้ประกอบสั่งสมไว้

    ถ้ายังใช้งานในสภาพชีวิตอย่างนั้นๆ ก็อาจยังไม่รู้สึกปัญหา แต่เมื่อล่วงผ่านกาลเวลาและวัยแห่งชีวิตไป อาจถึงโอกาสที่ต้องใช้จิตที่ประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งกรรมปางหลัง จะก่อปัญหาให้ อาจติดขัดใช้ไม่ได้ หรือถึงกับเน่าเสียไปทีเดียว

    - น้ำกระเพื่อม และสงบเรียบ มีหลายระดับ ตั้งแต่น้ำในทะเลมีคลื่นโตๆ

    น้ำในแม่น้ำที่มีคลื่นจากเรือยนต์

    น้ำในลำธารที่ไหลริน

    น้ำในสระที่ลมสงบ จนถึงน้ำในภาชนะนิ่งปิดสนิท

    แต่บางกรณี จะใช้น้ำมีคลื่นกระเพื่อมกระฉอกบ้างก็ได้

    แต่บางกรณีอาจต้องใช้น้ำสงบนิ่งอย่างที่แม้แต่วางเข็มเย็บผ้าลงไปก็ลอยนิ่ง อยู่ได้นาน

    คุณภาพของจิตที่หยาบและประณีต ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้งาน และการเข้าถึงคุณวิเศษต่างๆ ที่ชีวิตจะเข้าถึงได้ ก็พึงเข้าใจโดยทำนองนั้น

    สมมตินิยาม กับ กรรมนิยาม แยกต่างหากกัน ผลในฝ่ายกรรมนิยาม ย่อมดำเนินไปตามกระบวนการของมันเอง ไม่ขึ้นต่อบัญญัติของสังคมที่ขัดกับมัน ดังที่กล่าวมานี้
     
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    อย่างไรก็ดี เพราะเหตุที่นิยามทั้งสองนั้น มีแง่ที่สัมพันธ์กันดังกล่าวแล้ว ในข้อที่หนึ่ง

    ดังนั้น ผู้ปฏิบัติถูกต้องในแง่ของกรรมนิยาม คือ ทำตามหลักกุศล ก็อาจประสบปัญหาจากสมมตินิยามที่ขัดแย้งนั้นได้ เช่น

    ผู้ที่อยู่ในสังคมที่ชื่นชอบการเสพสิ่งมึนเมา แต่ไม่ยอมเสพด้วย เขาย่อมได้รับผลตามกรรมนิยาม คือไม่เสียคุณภาพจิตที่โปร่งผ่องใสไป เพราะเหตุจากของเมานั้นก็จริง

    แต่ในแง่สังคม ซึ่งต่างหากจากกรรมนิยาม เขาอาจถูกเย้ยหยันล้อเลียน เช่นว่า ไม่เข้มแข็ง หรือ ถูกมองในทางไม่ดี ในแง่สังคมอย่างอื่นๆอีก และแม้ในแง่ของกรรมนิยามเอง เขาอาจประสบปัญหาจากเจตนาฝ่าฝืนข้อนิยมนี้ของสังคมอย่างที่กล่าวแล้วในข้อหนึ่ง เกิดความข้อแย้งในทางจิตใจ ซึ่งจะมากน้อยเพียงใดแล้วแต่ปัญญาที่จะปลด เปลื้องจิตของเขา

    สังคมเจริญแล้ว ที่คนทั้งหลายมีปัญญา มักได้อาศัยประสบการณ์ ซึ่งได้สะสมมาของมนุษย์รุ่นเก่าๆ ได้เรียนรู้ว่าอะไรเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจของมนุษย์อย่างแท้จริง อะไรไม่เกื้อกูลแล้วมักบัญญัติกฎเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับความดีความชั่วฝ่ายสมมตินิยาม ให้สอดคล้องกับหลักฝ่ายกุศล และอกุศลในฝ่ายกรรมนิยาม

    ความสามารถบัญญัติหลักความดีความชั่วในฝ่ายสังคม ให้สอดคล้องกับหลักกุศลและอกุศลในฝ่ายกรรมนิยาม หรือพูดให้สั้นว่า ความสามารถบัญญัติหลักฝ่ายสังคม ให้สอดคล้องกับหลักฝ่ายกรรมนิยามนี้ น่าจะเป็นเครื่องวัดถึงความเจริญที่แท้จริง หรืออารยธรรมของสังคมนั้นอย่างหนึ่ง

    โดยนัยนี้ เมื่อมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อบัญญัติเกี่ยวกับความดี และความชั่ว น่าจะพิจารณาเป็น ๒ ขั้น คือ พิจารณาในแง่สมมตินิยามว่า ข้อบัญญัติ นั้นเป็นไปเพื่อผลดี เช่น ช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมหรือไม่ ขั้นหนึ่ง แล้วพิจารณาในแง่กรรมนิยามว่าข้อบัญญัตินั้นเป็นกุศลหรือไม่ คือเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ อีกขั้นหนึ่ง

    ข้อบัญญัติบางอย่าง แม้สังคมจะยึดถือกันมานาน แต่แท้จริงแล้วไม่เกื้อกูลเลย แม้ในแง่สมมตินิยาม

    ส่วนในแง่กรรมนิยามเป็นอันไม่ต้องพูด ถึง ข้อบัญญัติเช่นนั้น สังคมพึงตกลงกันยกเลิกเสีย หรืออาจต้องอาศัยผู้มีปัญญาที่ใจบริสุทธิ์กอปรด้วยกรุณามาชักนำ เช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำต่อประเพณีเกี่ยวกับการบูชายัญ และวรรณะ ๔ ของสังคมอินเดีย เป็นต้น

    ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อบัญญัตินั้นเกื้อกูลในแง่สังคม จะช่วย ให้เกิดความเจริญแก่หมู่มนุษย์ แต่ไม่สอดคล้องกับหลักแห่งกุศลธรรมตามกรรมนิยาม กรณีเช่นนี้ ควรจะตั้งข้อสงสัยว่า บางทีคนอาจหลงผิดมองเห็นสิ่งที่ไม่เกื้อกูลแก่สังคมอย่างแท้จริง ว่าเป็นสิ่งเกื้อกูลก็ได้ คืออาจหลงพอใจในความเจริญก้าวหน้าที่ผิดๆ เป็นที่ชื่นชมน่าพอใจในเวลาสั้นๆ แต่ก่อโทษในระยะยาว สิ่งที่เกื้อกูลแท้จริง น่าจะสอดคล้องกันทั้งในแง่สมมตินิยามและใน แง่กรรมนิยาม

    มีหลักทั่วไปว่า สิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิต จิตใจ มักเกื้อกูลอย่างเป็นกลางๆ คือ เมื่อเกื้อกูลแก่ชีวิตหนึ่ง ก็เกื้อกูลแก่ชีวิตทั้งหมด เรื่องนี้ พึงเห็นบทเรียนจากการสร้างความเจริญด้านกายภาพ มนุษย์มุ่งหวังความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ เข้าใจว่า

    ความมีวัตถุพรั่งพร้อมสะดวกบริบูรณ์ จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขสูงสุดแก่สังคมมนุษย์ จึงได้เพียรพยายามสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุมากมาย พร้อมกับทำลายชีวิตและสภาพชีวิตต่างๆ ที่เห็นว่าขัดขวางความเจริญของตน จนในที่สุดก็ได้ทราบว่า การกระทำของตนมีหลายส่วนที่ได้เป็นไปด้วยความหลงผิด

    แม้สังคมจะดูคล้ายเจริญก็จริง แต่ได้ก่อพิษภัยแก่ชีวิต ด้านร่างกายเป็นอันมาก จนถึงกับว่า ถ้าขืนก้าวหน้าในลักษณะเดิมต่อไป อาจกลายเป็นการดำเนินสู่ความพินาศเสื่อมสูญก็ได้

    พึงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ชนิดที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตด้านกาย ฉันใด ก็พึงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางสังคม ชนิดที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ชีวิตด้านจิตปัญญา ฉันนั้น

    ในการวินิจฉัยว่าอะไรเป็นความดี อะไรอะไรเป็นความชั่วนี้ เมื่อพูดในทางปฏิบัติ เพื่อให้คนทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ทุกระดับ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ถือข้อพิจารณาเกี่ยวกับกุศลและอกุศลเป็นหลักแกนกลาง

    จากนั้นทรงผ่อนขยายออกไป ให้ใช้สำนึกเกี่ยวกับความดีความชั่วของตนเอง อย่างที่เรียกกันว่า มโนธรรม และให้ถือมติของผู้รู้เป็นหลักประกอบหรืออ้างอิง (สองอย่างนี้เป็นฐานของหิริโอตตัปปะ) นอกจากนั้น ให้พิจารณาที่ผลของการกระทำอันจะเกิดแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น หรือแก่บุคคล และสังคม

    การที่ตรัสเช่นนี้ คงจะเป็นด้วยว่า คนบางคนยังมีปัญญาไม่กว้างขวางลึกซึ้งเพียงพอ อาจมองเห็นภาวะที่เป็นกุศล และอกุศลไม่ชัดเจน จึงให้ถือเอามติของท่านผู้รู้เป็นหลักประกอบด้วย และถ้ายังไม่ชัดพอ ก็มองดูง่ายๆ จากผลของการกระทำ แม้แต่ที่เป็นไปตามบัญญัติของสังคม

    สำหรับคนทั่วไป การพิจารณาด้วยหลักทั้งสามนี้ ถือได้ว่าเป็นวิธีการตรวจสอบหลายๆชั้น เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบ
     
  12. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    โดยสรุป เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดีและกรรมชั่ว มีว่า ในแง่ของกรรม ให้ถือเอาเจตนาเป็นหลักตัดสินว่าเป็นกรรมหรือไม่ และในแง่กรรมนั้นดีหรือชั่ว ให้พิจารณาตามหลัก เกณฑ์ ดังนี้

    ก. เกณฑ์หลัก

    ๑. ตัดสินด้วยความเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดย
    - พิจารณามูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ

    - พิจารณาตามสภาวะว่า เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ ทำให้จิตสบาย ไร้โรค ปลอดโปร่ง ผ่องใส สมบูรณ์หรือไม่ ส่งเสริม หรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ช่วยให้กุศลธรรม (สภาพที่เกื้อกูล) ทั้งหลายเจริญ งอกงามขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายลดน้อยลง หรือทำให้กุศลธรรมลดน้อยลง อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น ตลอดจนมีผลต่อบุคลิกภาพอย่างไร

    ข. เกณฑ์ร่วม
    2. ใช้มโนธรรม คือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองพิจารณาว่า การที่กระทำนั้น ตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ เสียความเคารพตนเองหรือไม่

    3. พิจารณาความยอมรับของวิญญู หรือนักปราชญ์หรือบัณฑิตชน ว่าเป็นสิ่งที่วิญญูยอมรับหรือไม่ ชื่นชมสรรเสริญ หรือตำหนิติเตียน

    4. พิจารณาลักษณะ และผลของการกระทำ
    -ต่อตนเอง
    -ต่อผู้อื่น

    ก) เป็นการเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ทำตนเองหรือผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่

    ข) เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข หรือ เป็นไปเพื่อโทษทุกข์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

    หลักเกณฑ์นี้ อาจสรุปได้อีกแนวหนึ่ง ด้วยสำนวนแสดงการจัดประเภทของเกณฑ์ที่ใช้ตัดสิน แต่มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจกันไว้ก่อนบางอย่าง กล่าวคือ

    ประการที่หนึ่ง ให้ถือว่า การพิจารณาในแง่ของกุศลมูล อกุศลมูล และกุศล อกุศลนั้นว่าโดยสาระเป็นอันเดียวกัน คือ มุ่งพิจารณาความเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล ต่อคุณภาพของชีวิตจิตใจ

    อีกประการหนึ่ง การยอมรับหรือไม่ยอมรับของปราชญ์ การติเตียนหรือสรรเสริญของวิญญูนั้น เมื่อ มองอย่างกว้างๆ หรือมองในระดับสถาบัน และเมื่อว่าโดยส่วนใหญ่ มติของวิญญูหรือปราชญ์จะปรากฏอยู่ในรูปของบัญญัติทางศาสนาบ้าง ขนบธรรมเนียมประเพณีบ้าง กฎหมายบ้าง เป็นต้น

    แม้ว่าบทบัญญัติ และสิ่งที่ถือตามกันมาเหล่านี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมติของวิญญูเสมอไป และการปฏิบัติที่ขัดแย้งแปลกออกไปจากบทบัญญัติและสิ่งที่ถือตามกันมาเหล่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อที่วิญญูติเตียนเสมอไป แต่ก็พอจะพูดได้ว่า ส่วนที่แตกต่างนี้เป็นข้อยกเว้น ซึ่งเป็นกิจของวิญญูนั่นแหละที่ต้องสอบสวนตรวจตราในเรื่องเหล่านี้ ในแต่ละกาลแต่ละสมัย แต่ละครั้ง แต่ละคราวเรื่อยๆไป จึงมักมีพุทธพจน์ตรัสสำทับว่า “อนุวิจฺจ วิญฺญู” * (ม.ม.13/39/35-46/40; 553/500) (วิญญูใคร่ครวญแล้ว จึงติเตียนหรือสรรเสริญ คือยอมรับ หรือไม่ยอมรับ) และจะเห็นว่าวิญญูนี่แหละ เมื่อใคร่ครวญแล้ว ก็ได้เป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติบัญญัติกันมาผิดๆ หรือเคลื่อนคลาดจากความหมายที่ถูกต้อง เช่น พระพุทธเจ้าทรงติเตียน ไม่ยอมรับระบบวรรณะ และการบูชายัญ เป็นต้น
     
  13. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็สรุปหลักเกณฑ์ตัดสินความดี ความชั่ว หรือ กรรมดี กรรมชั่ว ทั้งตามแนวกรรมนิยามล้วนๆ และกรรมนิยามที่สัมพันธ์กับสังคมนิยาม ทั้งโดยสภาวะและโดยคุณค่า ซึ่งเป็นคุณค่าโดยสภาวะบ้าง คุณค่าตามที่กำหนดให้บ้าง ได้อีกสำนวนหนึ่ง มีสาระอย่างเดียวกับข้อสรุปข้างบนนั้นเอง แต่จัดจำแนกข้อต่างกัน มีใจความคาบเกี่ยวกัน ดังนี้

    ๑. ว่าโดยคุณโทษต่อชีวิต หรือต่อจิตใจและบุคลิกภาพ คือ เป็นสภาวะที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่เอื้อหรือไม่ต่อคุณภาพชีวิต ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ทำให้กุศลธรรม หรือ อกุศลธรรมทั้งหลายอื่นลดถอย หรือ เจริญงอกงาม ช่วยสร้างเสริมบุคลิกภาพที่ดีงามหรือไม่

    ๒. ว่าโดยคุณโทษต่อบุคคล คือ เป็นการเบียดเบียนตนหรือไม่ ทำให้ตนเดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อทำลาย หรือ อำนวยประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ตน * (ข้อ ๒. ต่างจากข้อ ๑. ในแง่ที่มุ่งถึงผลซึ่งบุคคลจะได้ประสบในระดับแห่งวิถีชีวิต โดยเฉพาะความสุขความทุกข์ ความเจริญและความเสื่อมเสียหายอย่างเห็นๆ (บุคคลอาจไม่รู้จัก ไม่เข้าใจชีวิตจิตใจของตนเองด้วยซ้ำ)

    ๓. ว่าโดยคุณโทษต่อสังคม คือ เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อทำลาย หรือ อำนวยประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น และแก่ส่วนรวม

    ๔.ว่าโดยมโนธรรม หรือโดยสำนึกอันมีตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ คือ พิจารณาเห็นด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองว่า การนั้นเมื่อทำแล้ว ตนเองติเตียนหรือกล่าวโทษตนเองได้หรือไม่

    ๕. ว่าโดยมาตรฐานทางสังคม คือ ตามบัญญัติทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และสถาบันต่างๆทางสังคม เช่น กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งขึ้นต่อการใคร่ครวญตรวจสอบกลั่นกรองของวิญญูทั้งหลาย ตามกาลสมัย ที่จะมิให้ถือกันไปโดยงมงาย หรือ ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ตลอดจนการใคร่ครวญแล้วยอมรับ หรือไม่ของวิญญูเหล่านั้นในแต่ละกรณี
     
  14. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    หลักคำสอนเพื่อเป็นเกณฑ์วินิจฉัย

    ก่อนจะพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการให้ผลของกรรมดี และกรรมชั่วในหัวข้อถัดไป ขอนำข้อความจากบาลีต่อไปนี้ มาอ้างเป็นหลัก สำหรับความที่ได้กล่าวมาในตอนนี้

    ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ กุศลมูล ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยกุศลมูลนั้น กายกรรม วิจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้ คือ ธรรมเป็นกุศล

    ธรรม เป็นอกุศล เป็นไฉน? ได้แก่ อกุศลมูล ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกันกับอกุศลมูลนั้น เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ประกอบด้วยอกุศลมูลนั้น กายกรรม วิจีกรรม มโนกรรม ที่มีอกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน เหล่านี้ คือ ธรรมเป็นอกุศล (อภิ.สํ.34/663/259)
     
  15. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    "อันตรายมี ๒ อย่าง คือ อันตรายที่เปิดเผย และอันตรายที่ซ่อนอยู่"

    "อันตรายที่ปิดเผย เป็นไฉน? ได้แก่ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสื่อดาว หมาป่า ฯลฯ โจร ฯลฯ โรคตา โรคหู โรคจมูก ฯลฯ หนาว ร้อน หิว กระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ สัมผัสเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เสือกคลาน เหล่านี้ เรียกว่าอันตรายเปิดเผย"

    "อันตรายที่ซ่อนอยู่ เป็นไฉน? ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ (ลบล้าง ปิดซ่อนความดีของผู้อื่น) ความยกตัวกดเขาไว้ ความริษยา ความตระหนี่ มารยา ความโอ้อวด ความดื้อกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความมัวเมา ความประมาท ปวงกิเลส ปวงความทุจริต ปวงความกระวนกระวาย ปวงความร่านรน ปวงความเดือดร้อน ปวงความปรุงแต่งที่เป็นอกุศล เหล่านี้ เรียกว่า อันตรายที่ซ่อนอยู่


    ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่ากระไร จึงชื่อว่าอันตราย ? เพราะอรรถว่าครอบงำ... เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม...เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย...”

    ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าครอบงำ เป็นอย่างไร ? คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมข่ม ย่อมกดขี่ ครอบงำ ท่วมทับ บันรอน ย่ำยี บุคคลนั้น...”

    ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร ? คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ”

    ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะอรรถว่าเป็นที่อาศัย เป็นอย่างไร ? คือ อกุศลธรรมชั่วร้ายเหล่านั้น เกิดขึ้นที่ภายในนั้น อาศัยอัตภาพอยู่ เหมือนกับสัตว์อาศัยรู ก็อยู่ในรู สัตว์อาศัยน้ำ ก็อยู่ในน้ำ สัตว์อาศัยป่า ก็อยู่ในป่า สัตว์อาศัยต้นไม้ ก็อยู่ที่ต้นไม้ ฯลฯ ”

    “สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีศิษย์อยู่ร่วมด้วย ยังมีอาจารย์คอยสอดส่อง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่ผาสุกสบาย

    “ภิกษุมีศิษย์อยู่ร่วมด้วย มีอาจารย์คอยสอดส่อง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่ผาสุกสบาย เป็นอย่างไร ? กล่าว คือ พอจักษุเห็นรูป...พอโสตสดับเสียง....พอจมูกดมกลิ่น...พอลิ้นลิ้มรส...พอกายต้องสิ่งกระทบ...พอใจรู้ธรรมารมณ์ อกุศลธรรมชั่วร้าย ความดำริร่าน อันก่อกิเลสผูกรัดทั้งหลาย ก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุ อกุศลธรรมชั่วร้ายทั้งหลาย ย่อมอยู่อาศัย เที่ยววิ่งซ่านไปข้างในของเธอ เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอจึงถูกเรียกว่า มีลูกศิษย์อยู่ร่วมด้วย อกุศลธรรมชั่วร้ายเหล่านั้น ย่อมคอยเรียกเร้าเธอ เพราะเหตุดังนั้น เธอจึงถูกเรียกว่า มีอาจารย์คอยสอดส่อง...”
     
  16. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    “สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้ เป็นมลทินภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นข้าศึกภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นผู้จองล้างภายใน สามประการนี้ คือ อะไร ? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ”

    “โลภะก่อความเสียหาย โลภะทำใจให้กำเริบ คนไม่รู้เท่าทันว่า มันเป็นภัยที่เกิดขึ้นข้างใน โลภเข้าแล้ว ไม่รู้อรรถ โลภเข้าแล้วไม่เห็นธรรม พอความโลภเข้าครอบงำ เวลานั้นมีแต่ความมืดตื้อ โทสะ ก่อความเสียหาย ฯลฯ โมหะ ก่อความเสียหาย ฯลฯ (เหมือนกัน)”

    “สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ เกิดขึ้นภายในตัวของคน ย่อมเกิดขึ้น เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเป็นอยู่ไม่ผาสุก สามประการ คือ อะไร ? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ”

    โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นข้างในตนเอง ย่อมบั่นรอนคนใจบาป เหมือนขุยไผ่บั่นรอนต้นไผ่ ฉะนั้น..” (ขุ.ม.29/22/14-18 ฯลฯ)

    “ดูกรมหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ เมื่อเกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเป็นอยู่ไม่ผาสุก สามประการคืออะไร ? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ” (สํ.ส.15/403/142)
     
  17. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    “ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูลมี ๓ อย่างดังนี้ สามอย่าง คือ อะไร ? ได้แก่ อกุศลมูลคือโลภะ อกุศลมูลคือ โทสะ อกุศลมูลคือโมหะ

    “แม้ตัวโลภะเองก็เป็นอกุศล คนโลภแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล คนโลภแล้ว ถูกความโลภครอบงำ มีจิตถูกโลภะบ่อนเสียแล้ว ย่อมหาเรื่องก่อความทุกข์แก่ผู้อื่น โดยฆ่าเขาบ้าง จองจำบ้าง ทำให้สูญเสียบ้าง ตำหนิโทษเอาบ้าง ขับไล่บ้าง ด้วยถือว่า ข้าฯ เป็นคนมีกำลัง ข้าฯ เป็นผู้ทรงกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก ซึ่งเกิดจากโลภะ มีโลภะเป็นต้นเหตุ มีโลภะเป็นแดนเกิด มีโลภะเป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมประดังมีแก่เขา ด้วยประการฉะนี้”

    “แม้ตัวโทสะเองก็เป็นอกุศล คนมีโทสะแล้ว...ย่อมหาเรื่องก่อทุกข์แก่ผู้อื่น...แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก... ย่อมประดังมีแก่เขา ด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ ”

    “แม้ตัวโมหะเอง ก็เป็นอกุศล คนโมหะแล้ว ปรุงแต่งกรรมใด ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้น ก็เป็นอกุศล คนมีโมหะแล้ว...ย่อมหาเรื่องก่อทุกข์แก่ผู้อื่น...แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมชั่วร้ายเป็นอเนก...ย่อมประดังมีแก่เขา ด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ ”

    บุคคลเช่นนี้ ผู้ถูกอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดจากโลภะ...โทสะ...โมหะ ครอบงำแล้ว มีจิตถูกบ่อนแล้วในปัจจุบันนี่เอง ก็อยู่เป็นทุกข์ มีความคั่งเครียด คับแค้น เร่าร้อน เพราะกายแตกตายไป ก็เป็นอันหวังทุคติได้ เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบก หรือต้นสะคร้อก็ตาม ถูกเถาย่านทราย ๓ เถา ขึ้นคลุมยอด พันรอบต้นแล้ว ย่อมถึงความไม่เจริญ ย่อมถึงความพินาศ ย่อมถึงความเสื่อม ความวอดวาย...”
     
  18. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    “ภิกษุทั้งหลาย กุศลมูล มี ๓ อย่างดังนี้ สามอย่าง คือ อะไร ? ได้แก่ กุศลมูลคืออโลภะ กุศลมูล คือ อโทสะ กุศลมูล คือ อโมหะ ฯลฯ” * ( องฺ.ติก.20/509/258-263 ท่านบรรยายเรื่องกุศลมูลไว้ด้วย แต่พึงทราบโดยนัยตรงข้ามจากที่กล่าวแล้ว)


    “ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุเพื่อความก่อกำเนิดแห่งกรรมทั้งหลาย มี ๓ อย่างดังนี้ สามอย่าง คือ อะไร ? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ...”

    “กรรมใด กระทำด้วยโลภะ...โทสะ...โมหะ เกิดจากโลภะ...โทสะ..โมหะ... มีโลภะ...โทสะ...โมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป (กรรมสมุทัย) ไม่เป็นไปเพื่อดับกรรม (กรรมนิโรธ)”

    “ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุเพื่อความไม่ก่อกำเนิดแห่งกรรมทั้งหลาย มี ๓ อย่างดังนี้ สามอย่าง คือ อะไร ? ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ...”

    “กรรมใด กระทำด้วยอโลภะ...อโทสะ...อโมหะ เกิดจากอโลภะ...อโทสะ..อโมหะ.. มีอโลภะ...อโทสะ...อโมหะ เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อดับกรรม (กรรมนิโรธ) ไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป (กรรมสมุทัย)” * (องฺ.ติก.20/551/338)
     
  19. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เมื่อใด ท่านทั้งหลาย พึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูติเตียน ธรรมเหล่านี้ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสีย

    ดูกรกาลามชนทั้งหลาย พวกท่านสำคัญความข้อนั้นว่าอย่างไร ? โลภะ...โทสะ...โมหะ เมื่อเกิดขึ้นภายในตัวของคน ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูล หรือเพื่อไม่เกื้อกูล”

    (ตอบ: เพื่อไม่เกื้อกูล พระเจ้าข้า)

    “คนที่โลภแล้ว...เคืองแค้นแล้ว ...หลงแล้ว ถูกโลภ...โทสะ...โมหะครอบงำ มีจิตอันถูกบ่อนแล้ว ย่อมสังหารชีวิตบ้าง ถือเอาของที่เขามิได้ให้บ้าง ล่วงภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ซึ่งเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน

    (ทูลรับ: จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า)

    ดูกรกาลามชนทั้งหลาย พวกท่านสำคัญความข้อนั้นว่า อย่างไร ? ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ?

    (ตอบ: เป็นอกุศล พระเจ้าข้า)

    “ประกอบด้วยโทษ หรือไม่มีโทษ?

    (ตอบ: ประกอบด้วยโทษ พระเจ้าข้า)

    “ผู้รู้ติเตียน หรือผู้รู้สรรเสริญ ?

    (ตอบ: ผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า)

    ธรรมเหล่านี้ ถือปฏิบัติถึงที่แล้ว เป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ หรือหาไม่ หรือว่าพวกท่าน มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ?

    (ตอบ: เมื่อปฏิบัติถึงที่แล้ว เป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ พวกข้าพระองค์มีความเห็นในเรื่องนี้ว่าอย่างนี้)

    “โดยนัยดังนี้แล กาลามชนทั้งหลาย ข้อที่เราได้กล่าวไว้ว่า มาเถิด กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย อย่าถือโดยฟังตามกันมา ฯลฯ อย่าถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศล ฯลฯ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลาย พึงละเสีย ดังนี้นั้น เราได้กล่าวโดยอาศัยเหตุผลดังว่ามานี้” * (องฺ.ติก.20/505/243 - ต่อจากนี้ ตรัสเกี่ยวกับธรรมฝ่ายกุศล ซึ่งพึงทราบโดยนัยตรงข้ามจากนี้)
     
  20. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อไปนี้ เป็นคำสนทนาระหว่างพระเจ้าปเสนทิโกศล กับ พระอานนท์ ถามตอบปัญหาเกี่ยวกับความหมายของความดี ความชั่ว ซึ่งจะเห็นว่า ท่านเอาหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้น เข้าสัมพันธ์กันทั้งหมด

    ราชา: พระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าใดเป็นพาล ไม่ฉลาด ไม่ใคร่ครวญ ไม่พิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่าอื่น เราไม่ยึดถือการกล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่านั้น โดยความเป็นแก่นสาร

    ส่วนชนเหล่าใด เป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา ใคร่ครวญ พิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษ ของชนเหล่าอื่น เราย่อมยึดถือการกล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่านั้น โดยความเป็นแก่นสาร พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ ความประพฤติทางกาย... ความประพฤติทางวาจา...ความประพฤติทางใจ ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้ คือ อย่างไหน ?

    อานนท์: คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่เป็นอกุศล มหาบพิตร

    ราชา: ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่เป็นอกุศล คือ อย่างไหน ?

    อานนท์: คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีโทษ

    ราชา: ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีโทษ คือ อย่างไหน ?

    อานนท์: คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีความบีบคั้น

    ราชา : ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีความบีบคั้น คือ อย่างไหน ?

    อานนท์: คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีทุกข์เป็นผล

    ราชา: ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่มีทุกข์เป็นผล คือ อย่างไหน ?

    อานนท์: คือ ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ ที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ก็ดี เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ก็ดี เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ก็ดี ที่อกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเจริญยิ่งแก่เขา กุศลธรรมทั้งหลายจะเสื่อมถอยไป มหาบพิตร ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ อย่างนี้แล ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้


    ต่อจากนั้น ท่านได้ทูลตอบคำถามในฝ่ายกุศลโดยทำนองเดียวกัน ลงท้ายสรุปว่า

    “ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา ...ทางใจ ที่มีสุขเป็นผล คือ ความประพฤติ...ที่ไม่เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตน ทั้งเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ที่อกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเสื่อมถอย และกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเจริญยิ่งแก่เขา มหาบพิตร ความประพฤติทางกาย...ทางวาจา...ทางใจ อย่างนี้แล ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญู ไม่พึงกล่าวโทษได้” * (ม.ม.13/553-4/500-3)
     

แชร์หน้านี้

Loading...