ประวัติศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ(ศาลหลักเมืองบ้านดุง) จ.อุดรธานี

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย ธีระนะโม, 23 พฤศจิกายน 2017.

  1. ธีระนะโม

    ธีระนะโม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    1,694
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +6,226
    ?temp_hash=80970573e9c65026ea18e26fcb6a46a2.jpg

    หลังจากที่มีการตั้งกิ่งอำเภอในปี พ.ศ. 2502 ได้มีผู้คนเข้ามาลงหลักปักฐานทำมาหากินค้าขายประกอบอาชีพต่าง ๆ ทำให้ความเจริญมากขึ้นตาม ปลัดกิ่งอำเภอคนแรกคือ นายสงวน เพชรวิเศษ ต่อมาผู้มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอคือ นายกษิณ ชูพันธ์ ช่วงนั้นมีการบริหารปกครองบ้านเมืองเกิดความติดขัดวุ่นวาย กล่าวคือมีข้าราชการทะเลาะเบาะแว้ง มีปากเสียงกันอยู่เรื่อยมา จนถึงสมัยนายอำเภอจิรพล วีระไวยทยะ ช่วงปี พ.ศ. 2513 ก็มีเหตุการณ์ที่ข้าราชการเกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก เกิดความรุ่มร้อนของบ้านเมืองประชาชนอยู่อย่างไม่ร่มเย็นเป็นสุข
    นายอำเภอจิรพล จึงคิดหาทางแก้ปัญหา โดยหาผู้รู้ทางไสยศาสตร์หมอดูจากกรุงเทพฯ มานั่งดูเหตุการณ์บ้านเมืองปรากฏว่าเหตุที่เกิดความรุ่มร้อนของบ้านเมืองนั้น เกิดจากถนนที่วิ่งเข้าสู่อำเภอมาจากหนองเม็กสู่บ้านดุงนั้นพุ่งตรงมาถึงหน้าที่ว่าการอำเภอเป็นลักษณะเมืองที่ถูกศรปักอก ผู้รู้จึงแนะนำให้แก้ไขโดยทำถนนแยกออกเป็น 2 ทาง มีลักษณะเป็นหากลูกศรให้พุ่งกลับคืนออกไปที่เห็นในปัจจุบัน และให้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งไว้ด้านหน้าเพื่อปกปักษ์รักษาขวางทางเอาไว้กันภยันตราย นายอำเภอจึงปรึกษาข้าราชการ ขณะนั้นมีนายสวาท บุรีเพีย เป็นศึกษาธิการอำเภอ ในสมัยนั้นแนะนำว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอำเภอบ้านดุงให้ความเคารพนับถือ ก็คือเจ้าปู่ศรีสุทโธ ที่คำชะโนดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีองค์เจ้าปู่ศรีสุทโธประทับอยู่ นายอำเภอจึงเกิดความคิดร่วมกันว่าจะสร้างศาลหลักเมืองและรูปเหมือนองค์เจ้าปู่ศรีสุทโธพร้อมอัญเชิญท่านมาสถิตไว้สักการะ โดยมอบให้ อ.นิรันดร์ พลพินิจ ได้ไปสอบถามผู้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าปู่ศรีสุทโธ ทราบว่านายคำตา ที่เจ้าปู่ศรีสุทโธพาไปประกวดชายงามที่เมืองบาดาล จึงได้เชิญนายคำตามาให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของเจ้าปู่ศรีสุทโธ และให้ อ.อนันต์ ทองแสน ครูผู้ที่มีฝีมือทางศิลปะเขียนภาพลักษณของเจ้าปู่ตามคำบอกเล่าของนายคำตาซึ่งนายคำตาเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นพร้อมบอกท่าทางลักษณะว่า เจ้าปู่ศรีสุทโธมีหน้าตาคมคาย รูปร่างสูงใหญ่ผมสั้น ผิวขาว พูดเพราะ มีศิลธรรม มีเมตตา สวมเสื้อแขนยาวสีขาว นุ่งโจงกระเบนสีเขียวเรื่อ ๆ ขณะที่เห็นท่านไม่ได้สวมรองเท้า เมื่อได้ภาพร่างแล้วนายอำเภอก็ถามถึงว่าแล้วใครจะเป็นคนปั้น อ.สวาท บุรีเพีย เสนอว่าท่านมีเพื่อนคนหนึ่งเคยเป็นพราหมร์หลวงอยู่กรุงเทพฯ มาหลายปี และมีฝีมือเชิงช่างทางงานปั้นรูปเหมือน คือพราหมณ์เต็ง กำเนิดมะไฟ(ผู้ที่มีภูมิรู้ทางพิธีพราหมณ์ ประกอบพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองมาตลอดผลงาน รูปปั้น ร.1 ร.5 หน้าที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน)


    ปลายปี พ.ศ. 2513 จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างศาลหลักเมือง ได้ช่างก่อสร้างจากเมืองชลบุรี ร่วมกับพี่น้องประชาชน ข้าราชการ ผู้นำช่างก่อสร้างสมัยนั้นคือ คุณพ่อวีระ จิรเมธากร ช่างผัด ช่างเส็ง
    ช่างวารินทร์ ช่างจำลอง แสนศรี เฮียแจ๋ว นำไม้แก่นคูณมากลึงเป็นหลักเมือง และมีผู้นำหินมาถมพร้อมทั้งก้อนศิลาแลง คือ นายทนงค์ศักดิ์ ราชกิจจำนงค์ ป้ายศาลหลักเมืองราคา 2,000 บาท
    เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 4 พ.ศ. 2514 ได้มีการอัญเชิญเจ้าปู่ศรีสุทโธ มาสถิตเพื่อเป็นหลักเมือง ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ไปอัญเชิญคือ รอ.สุรพล ผิวรัตน์ ปลัดป้องกัน ซึ่งการไปสมัยนั้นลำบากมาก เพราะถนนยังเป็นทางเกวียน และยังต้องระวังผู้ก่อการร้าย
    เมื่ออัญเชิญเจ้าปู่ศรีสุทโธมาถึงก็ได้มีการเฉลิมฉลองสมโภชน์อยู่ 5 วัน 5 คืน โดยมีผู้ประกอบพิธีกรรมคือคุณพ่อสี หล้าสา (ตู้กุมภวา) เป็นจำในพิธีครั้งนี้ จึงได้มีศาลหลักเมือง หรือศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ คู่บ้านคู่เมืองปกปักษ์รักษาบ้านเมืองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขมาจนถึงปัจจุบัน
    หลังจากการสร้างศาลครั้งนั้นก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ครั้งที่ 2 เป็นการบูรณะทาสีซ่อมแซม ขุดสระหลังศาลหลักเมือง เพื่อเป็นแหล่งน้ำไว้สำหรับดับอัคคีภัย และมีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เป็นการรื้อถอน และสร้างศาลหลังใหม่ขึ้นในสมัยนายอำเภอวิเชียร พุฒิวิญญู เมื่อปลายปี พ.ศ.2542 โดยมีคณะกรรมการศาลหลักเมือง พี่น้องประชาชน พ่อค้า ข้าราชการ ที่มีความศรัทธาในองค์เจ้าปู่ศรีสุทโธ ซึ่งรูปปั้นและตัวศาลได้ออกแบบจากนิมิตคำบอกเล่าของพ่อพราหมณ์บุญเต็ง กำเนิดมะไฟ โดยมียอดศาลเป็นพานบายศรี และมีรูปปั้นองค์เจ้าปู่ศรีสุทโธในร่างสุทโธนาคา ไว้หน้าศาลเป็นลานพญานาค จนแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2544


    ในช่วงนายอดุล จันทนปุ่ม เป็นนายอำเภอบ้านดุง คณะกรรมการศาลหลักเมืองพร้อมพี่น้องประชาชน ได้เฉลิมฉลองบวงสรวงศาลหลักเมืองในวันที่ 12 – 14 เมษายน พ.ศ. 2544 เป็นศาลหลักเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งเด่นเป็นสง่ารับขวัญผู้มาเยือน ปกปักษ์รักษาพี่น้องประชาชนคนบ้านดุงและคนทั่วไปสืบชั่วลูกชั่วหลานมาจนทุกวันนี้
    และช่วงเดือนเมษายนของทุก ๆ ปี ชาวเมืองบ้านดุงจะจัดพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง จนกลายเป็นประเพณี พร้อม


    การแสดง แสง เสียง ตำนานนาคาคำชะโนด เพื่อเป็นการบอกเล่าเรื่องราวตำนานความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เจ้าปู่ศรีสุทโธ ให้ลูกหลานและผู้มาเยือนบ้านดุงได้เล่าขานถึงตำนานเมืองคำชะโนด และเจ้าปู่ศรีสุทโธ ตราบนานเท่านาน
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...