เรื่องเด่น พระตำหนักวัดบวรฯ งามคุณค่าสถาปัตย์-ประวัติศาสตร์

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 17 ธันวาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    750x422_785229_1513409223.jpg

    นอกจากไปไหว้พระในวัดบวรฯ ลองแวะเวียนไปชมความงามพระตำหนักต่างๆ ในวัดแห่งนี้


    ,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

    หากใครอยากชื่นชมสถาปัตยกรรมที่มีความหลากหลาย ทั้งสไตล์ตะวันตก และไทยประยุกต์ ต้องมาที่ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

    วัดแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมพระตำหนักหลายรัชกาลที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะยุคสมัยที่สถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาสู่สยามประเทศ

    ที่นี่จึงมีอาคารที่งดงามและหาชมได้ยาก อาทิ พระตำหนักจันทร์,พระตำหนักเพ็ชร ,พระตำหนักเดิม พระตำหนักทรงพรต พระตำหนักซ้าย พระตำหนักใหญ่ พระตำหนักล่าง และพระตำหนักปั้นหยา ฯลฯ


    785229_0_1513409223.jpg

    -1-

    ว่ากันว่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร บนถนนบวรนิเวศ และถนนพระสุเมรุ นอกจากนี้ในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร ยังเป็นพระอารามฝ่ายธรรมยุต

    วัดบวรนิเวศเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 เนื่องจากพระองค์เคยทรงผนวชตามโบราณราชประเพณี เมื่อพระชนมพรรษา 29 พรรษา เป็นเวลา 15 วัน และประทับขณะทรงผนวช ณ พระตำหนักปั้นหยา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2499

    พระบรมฉายาลักษณ์ในช่วงที่ทรงผนวชที่ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี ส่วนใหญ่ถ่ายด้านในพระตำหนักปั้นหยา ซึ่งไม่อนุญาติให้สตรีเพศเข้าออก ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 )

    นอกจากนี้พระบรมราชสรีรางคารของในหลวง ร.9 ได้อัญเชิญมาบรรจุลงในถ้ำศิลาใต้ฐานบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ซึ่งเป็นพระประธานองค์หนึ่งของวัดบวรนิเวศ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 และใต้ฐานบัลลังก์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

    เมื่อไม่นานนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้พาสัญจรย้อนรอยประวัติศาสตร์ ครั้งที่ 5 เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ”เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

    นอกจากชมวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดที่มีความสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ยังมีวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ หรือวังหน้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีหลายรัชกาลและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ทรงผนวช โดยส่วนใหญ่ประทับที่เรือนพระปั้นหยา

    “พระตำหนักเพ็ชรเคยเป็นที่ทรงงานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อปี 2457 (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาแพ) การปฎิรูปศาสนาในสมัยรัชกาลที่ 5- 6 เกิดขึ้นที่อาคารหลังนี้ ท้องพระโรงเป็นที่ประชุมมหาเถรสมาคม จึงมีความสำคัญต่อพุทธศาสนามาก ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ขณะพาชมสถาปัตยกรรมด้านนอกตัวอาคาร เนื่องจากด้านในไม่อนุญาติให้ประชาชนเข้าชม

    785229_0_1513409360.jpg

    -2-

    คนส่วนใหญ่ที่มาวัดบวรนิเวศ ส่วนใหญ่จะมากราบพระ และกราบพระบรมราชสรีรางคาร ของในหลวง ร.9 ใต้ฐานบัลลังก์พระพุทธชินสีห์

    ถ้าอย่างนั้นลองหาโอกาสแวะชมพระตำหนักต่างๆ เริ่มที่พระตำหนักเพ็ชร ซึ่งอยู่ติดกับพระตำหนักจันทร์ เป็นตำหนักที่รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2457 เคยเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์บทสวดมนต์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น

    “พระตำหนักนี้เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสาน ตกแต่งอย่างงดงาม ด้านนอกมีความเป็นไทย ด้านในตกแต่งแบบคลาสสิค หน้าบันประดับด้วยลายมหามงกุฎและวัชระล้อมด้วยลายเครือเถา เคยเป็นท้องพระโรงที่เจ้านายที่เป็นภิกษุสงฆ์ใช้ ปัจจุบันด้านในยังมีพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะของร.4 ประดิษฐาน ซึ่งเหมือนพระองค์จริงมากที่สุด “อาจารย์พีรศรีเล่า

    เพราะความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระตำหนักเพ็ชร จึงได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2539

    ส่วนพระตำหนักจันทร์ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษจันทร์ ทรงพระราชทานอุทิศให้สร้างถวาย มีพระแท่นศิลาหน้าพระตำหนักจันทร์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดประทับพักผ่อน ซึ่งเป็นหลักฐานอีกชิ้นทางประวัติศาสตร์

    785229_0_1513409439.jpg

    -3-

    อีกพระตำหนักที่ต้องกล่าวถึงและสำคัญมาก คือ พระตำหนักปั้นหยา สถาปัตยกรรมแบบยุโรป เป็นตึกสามชั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อมาจากสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่2 เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวช ต่อมาเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวช และเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักนี้ก่อนไปประทับที่อื่น

    หน้าบันพระตำหนักปั้นหยา เป็นลวดลายปั้นเคลือเถาดอกพุดตาน ล้อมรอบราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยฝีมือช่างไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

    ภายในอาคารมีห้องพระ ห้องบรรทม และห้องทรงพระอักษร โดยมีศิลาจารึกพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 4 จารึกไว้ ห้ามไม่ให้สตรีเพศเข้าออก เนื่องจากพระองค์ไม่โปรดให้ผู้หญิงขึ้นมาในสถานที่ของสมณะ

    “วัดแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3-6 รูปแบบสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงและเห็นได้ชัดคือ จากความนิยมแบบฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 5 มีตราพระเกี้ยว มาเป็นไทยประยุกต์ สร้างด้วยคอนกรีตในสมัยรัชกาลที่ 6 “ อาจารย์พีรศรี กล่าว และโยงว่า

    “รัชกาลที่5 ทรงผนวชที่วัดพระแก้วและจำพรรษาวัดบวรนิเวศประมาณ 4 เดือน ส่วนรัชกาลที่ 6 ทรงบวชเณร พร้อมสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระบรมราชชนกในหลวง รัชกาลที่ 9) ที่วัดแห่งนี้ และรัชกาลที่7 ทรงผนวชในวังหลวง เสด็จมาประทับที่นี่เช่นกัน ส่วนรัชกาลที่9 ทรงผนวช ปี 2499 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ของประเทศ”

    นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักที่สำคัญอีกแห่ง คือ พระตำหนักทรงพรต เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวชหลังจากประทับที่พระตำหนักปั้นหยา 1 คืนตามพระราชประเพณี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ก็เคยประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้

    สังฆวาสในวัดบวรฯ จึงเป็นอาคารที่มีทั้งคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์



    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/785229
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 17 ธันวาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...