การทำบุญแบบประณีตที่วัดเชียงแสน จ.เชียงใหม่

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย NUI, 24 มีนาคม 2005.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    ในอดีต พุทธศาสนิกชนมีความสัมพันธ์กับวัดมากกว่าจะใช้เป็นแค่สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทว่า วัดมีความเกี่ยวข้องกับวิถีความเป็นอยู่ของทุกผู้คนครอบคลุมตลอดชั่วชีวิต ด้วยประเพณีวัฒนธรรมที่ผูกโยงให้ผู้คนต้องเดินเข้าเดินออกวัดกันตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งตาย

    คนยุคเก่าเข้าวัด ทำบุญ ร่วมงานเทศกาล เล่าเรียน พระมีบทบาทเป็นเสาหลักของชุมชน แต่เมื่อสภาพสังคม และวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ส่งผลให้ความสัมพันธ์ผูกพันนั้นคลายลงไปอย่างไม่ทันรู้ตัว
    ในประเทศไทย มีวัดวาจำนวนไม่น้อยที่ถูกทิ้งร้าง ในจำนวนนั้นรวม วัดเชียงแสน ซึ่งตั้งในพื้นที่ที่บ้านออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

    วัดเชียงแสนเป็นวัดเก่าแก่ สร้างโดยกษัตริย์เชียงใหม่เมื่อกว่า 500 ปีก่อน ในอดีตเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชุมชนโบราณแห่งลุ่มแม่น้ำแม่ออนมาก่อน แต่ถึงทุกวันนี้ วัดดังกล่าว ถูกทิ้งให้รกร้าง เหลือเพียงเจดีย์ดั้งเดิมเพียง 1 องค์ กับอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง โดยไม่เหลือพระสงฆ์จำวัดอยู่เลยแม้แต่รูปเดียว แน่นอน ความคึกคักในบทบาทของการเป็นศูนย์รวมจิตใจในชุมชนเฉกเช่นเมื่อวันเก่าก่อนก็จางหายไปตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน

    กระนั้น ชาวบ้านบ้านออนใต้จำนวนหนึ่งได้รวมกลุ่มกัน ด้วยความพยายามที่จะฟื้นฟูวัดเชียงแสนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยมี อนันต์ พรหมลิขิตศิลป์ เจ้าของหอศิลป์สันกำแพง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง
    เขาบอกว่า ทางกลุ่มไม่อยากปล่อยให้วัดเก่าแก่นี้ต้องเป็นวัดรกร้างผู้คน แต่หวังฟื้นฟูบูรณะให้วัดได้กลับมาเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านแม่ออนอีกครั้ง

    "วัดเชียงแสนเป็นเหมือนสมบัติที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ เป็นเรื่องดีงาม สวยงาม อย่างเวียงกุมกามที่มีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ เขาได้โชว์วัฒนธรรมเก่าแก่ของเขา ซึ่งของเราก็เหมือนกัน ที่อยากให้คนที่มาเที่ยวสันกำแพงได้เห็นว่าเราไม่ใช่เด็กเมื่อวานซืน เรามีวัฒนธรรมของเรา มีศิลปะของเรา อายุเก่าแก่ถึง 500-700 ปี" อนันต์ให้ข้อมูลที่เป็นแรงบันดาลใจเบื้องต้น

    การดำเนินการฟื้นฟูวัดเชียงแสนให้มีชีวิตอีกครั้ง เริ่มต้นโดยการชักชวนระดมผู้คนให้มาร่วมทำบุญแบบล้านนา ทำบุญแบบประณีต ด้วยการมาช่วยกันทำก้อนอิฐทีละก้อน เพื่อนำมาสร้างกำแพงวัด ตามแนวที่กรมศิลปากรระบุตำแหน่งว่าเคยมีกำแพงอยู่เดิม ซึ่งขณะนี้ได้ผุพังจนมองไม่เห็นซากไปแล้ว อนันต์ ขยายความว่า 'ทำบุญแบบประณีต' คือเป็นการทำบุญโดยไม่ต้องใช้เงิน แต่มาช่วยกันลงแรงเพื่อทำอิฐเอง

    คนที่มาร่วมทำบุญคือมาช่วยกันเหยียบดิน นวดดิน และนำดินมาใส่บล็อกไม้ ให้ได้ขนาดของก้อนอิฐที่ต้องการ จากนั้นก็นำไปผึ่งให้แห้งเพื่อรอการใช้งานขั้นตอนต่อไป

    ชาวบ้านบ้านออนใต้เลือกการร่วมแรงร่วมใจมาลงแรงแทนการลงขันรวมเงินเป็นกฐิน-ผ้าป่า
    "เพราะการฟื้นฟูวัดให้กลับมามีชีวิตอีก เป็นการเรียกจิตศรัทธาของชาวบ้าน เป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าจะบูรณะวัดแล้วเริ่มที่ระดมทุนทอดผ้าป่า คนที่ร่วมทำบุญได้ก็ต้องมีเงิน แล้วคนที่ไม่มีทำอย่างไร ทำบุญด้วยเงิน ทำแล้วก็แล้วกันไป ถามหาความผูกพันกันต่อนั้นไม่มี แต่ถ้ามาช่วยกันปั้นอิฐ คนละ 10-20 ก้อน ให้ผลทางจิตใจมากกว่า"

    อาณาบริเวณที่เหลืออยู่ของวัดเชียงแสนในวันนี้อยู่ที่ 21 ไร่ ต้องการก้อนอิฐจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านก้อน ในขณะที่แต่ละวัน มีผู้คนมาร่วมลงแรงช่วยปั้นก้อนอิฐนั้นเพียงไม่กี่ราย และมีก้อนอิฐที่ทำสำเร็จแล้วเพียง 2,000-3,000 ก้อน

    หากการตั้งเป้าหมายความสำเร็จของงานนี้ไว้ที่การสร้างกำแพงเพื่อล้อมวัดจนแล้วเสร็จ ความหวังที่จะฟื้นฟูวัดเชียงแสนแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ทว่าเพียงการก่อร่างสร้างอาคารใดขึ้นใหม่อีกครั้งไม่ได้ถือเป็นประเด็นสำคัญ อนันต์ บอกว่า ความมีชีวิตชีวาที่ต้องการให้กลับคืนมา คือการทำให้วัดได้กลับมาเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมต่างๆ ของชาวบ้าน ภาพที่เขาอยากเห็น คือการมีคนในชุมชนเอาเสื่อมาปูนั่ง มีคนแก่คนเฒ่ามาพบปะพูดคุยกัน มีปราชญ์ชาวบ้านมาคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน

    "แรกๆ ก็แอบหวังว่าจะมีคนมาช่วยกันเยอะ ถ้ามาเยอะก็จะสร้างเสร็จเร็วหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม หลักๆ เราก็ไม่ได้รีบร้อน ต้องเร่งทุ่มเทแรงงานจ้างคนมาทำ แต่เราอยากให้คนกลับมาเห็นความสำคัญของวัดและโบราณสถาน ทุกวันนี้ที่มาช่วยกัน 4-5 คน มันก็ทำให้หลายคนรักวัดเชียงแสนมากขึ้น ไม่ได้มาทำอิฐกันอย่างเดียว ได้มาเก็บมากวาด บางวันก็หอบเอาระนาดมาตีด้วย" อนันต์บอกว่าจำนวนผู้มีจิตศรัทธาที่มาช่วย แม้จำนวนจะไม่มากมาย แต่ก็เป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อจะต่อยอดต่อกิ่งต่อไปได้

    หลังหมดฤดูฝนของปีนี้แล้ว อนันต์และกลุ่มชาวบ้านออนใต้จะออกไปตะเวนเรียกจิตศรัทธาจากผู้คน ให้มาร่วมกันทำบุญแบบประณีต ที่วัดเชียงแสน

    ทำบุญลงแรงในวัฒนธรรมล้านนา
    สมโชติ อ๋องสกุล อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าจากที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นว่า พื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่ออน หรือที่บ้านแม่ออนใต้ เป็นพื้นที่สำคัญมาก มีศิลาจารึกที่ระบุว่าบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณ คนในชุมชนเรียกตัวเองว่า 'พันนาพูเลา'

    การร่วมกันฟื้นฟูวัดเชียงแสนด้วยการช่วยกันลงแรง หรือแบบที่ทางภาคเหนือเรียกแบบ 'เอามื้อเอาวัน' ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในระบบเศรษฐกิจ เช่น การเอามื้อเอาวัน วันนี้ระดมกำลังไปช่วยกันทำนาบ้านนี้เสร็จแล้วจะได้ไปอีกบ้าน หรือไปเก็บเกี่ยว ไปทำฝาย เป็นต้น

    หากจะประยุกต์มาใช้ในการทำบุญ อาจทำได้เป็นครั้งคราว อย่างกรณีสร้างกำแพงวัด อาจระดมคนได้เฉพาะในพื้นที่ ในชุมชน แต่สำหรับระดมคนนอกมาร่วมลงแรงด้วยอาจทำได้ไม่มากนัก เกิดขึ้นได้ยาก ปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยพระสงฆ์ที่มีบารมีมาก เช่น ครูบาศรีวิชัย ที่ระดมคนได้จากทั่วสารทิศมาทำถนนขึ้นดอยสุเทพ เมื่อปี 2477-2478

    สมโชติ เล่าต่อว่า วัฒนธรรมการทำบุญด้วยการลงแรงสำหรับทางเหนือนั้นก็มีในสมัยที่ยังไม่เลิกระบบไพร่ เป็นแบบแผนให้คนดูแลวัด โดยเรียกว่า 'ข้าวัด' หรือ 'ทาสวัด' ปัจจุบันเรียก 'ศรัทธาวัด' โดยวัดในระดับกษัตริย์สร้าง จะมี 'ข้าวัด' เป็นแรงงานของวัด มีที่นาของวัด คนที่มาเข้าเป็นแรงงานวัดก็ไม่ต้องไปเป็นไพร่ ของอาณาจักรล้านนา แต่ต้องทำงานให้กับวัด ต้องทำนา และทำงานตามที่วัดมีความจำเป็น

    ทั้งนี้ โดยการทำบุญลงแรงจะไม่เป็นการไปช่วยงานข้ามเขตกัน เพราะแต่ละคนก็มีวัดที่ต้องรับผิดชอบเป็นคณะศรัทธา เป็นรากวัฒนธรรมที่เมื่อจะมีการระดมกำลังคนข้ามเขตชุมชนกันทำได้ยาก แต่ก็ทำได้ในกรณีที่มีพระสงฆ์บารมีมาก
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...