การปฏิับัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวของอาจารย์โกเอ็นกา

ในห้อง 'ประสบการณ์อภิญญา' ตั้งกระทู้โดย เมริดา, 3 กรกฎาคม 2014.

  1. เมริดา

    เมริดา สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กรกฎาคม 2014
    โพสต์:
    3
    ค่าพลัง:
    +13
    การอบรมตามแนวของอาจารย์โกเอ็นกาคือเราจะต้องปฏิบัติเต็มอย่างน้อย 10 วัน

    สามวันแรก  เจริญอานาปนสติ โดยฝึกสมาธิเป็นหลัก ( สมถะกรรมฐาน) เริ่มจาก ฝึกพิจารณาลมหายใจ เข้า ออก ให้ระลึกรู้ลมหายใจเข้า ออก กำหนดสติรู้บริเวณทางเข้าออกของลมที่ปลาย หรือในช่องจมูก วันต่อๆมากำหนดจุดรับรู้ให้แคบลง เหลือจุดที่ลมกระทบเพียงจุดเดียว ( ช่องใต้จมูก หรือริมฝีปากบน )  เมื่อจุดพิจารณาแคบเข้า จิตก็จะแหลมคมขึ้น สติและสมาธิก็จะแหลมคมขึ้นตามไปด้วย
               

    วันที่ ๔ เป็นต้นไป เลิกฝึกสมถะกรรมฐาน  เพราะถือว่าได้ปูฐานสมาธิไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่หันไปทำวิปัสสนาแทน โดยพิจารณาความเป็นจริงในส่วนต่างๆของร่างกายตลอดทั่วร่างอย่างเป็นระบบ โดยเลื่อนจากศีรษะ ค่อยๆเลื่อนไปถึงปลายเท้า โดยพิจารณาพื้นที่แต่ละครั้งประมาณ ๒ – ๓ ตารางนิ้ว ไปตามลำดับ ไม่กระโดดไปมาตามอำนาจกิเลส
              

    ต่อมาพิจารณาความรู้สึกบนพื้นผิวของร่างกาย เพราะตามผิวของเราในขณะปฏิบัติมักเกิดความรู้สึกตลอดเวลา เช่น คัน ขนลุก ขนชัน ตัวอุ่น ตัวเย็น ตัวหนัก ตัวเบา จักจี้ เป็นเหน็บ ปวดเมื่อย เป็นต้น
              

    ต่อมาพิจารณาความรู้สึกเข้าไปในร่างกาย เช่น รู้สึกถึงความสั่นสะเทือนอันละเอียดอ่อน อันเกิดจากการเกิด ดับ ของธาตุ ๔ ( ดิน น้ำ ลม ไฟ ) ซึ่งทำปฏิชีวสัมพันธ์กัน ก่อให้เกิดพลังงานไหลหล่อเลี้ยงร่างกายอยู่ตลอดเวลา
              

    ผลการปฏิบัติ
              
    การปฏิบัติตามแนวของอาจารย์โกเอ็นกานี้ ผลที่เห็นได้ชัดอันดับแรกคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของจิต โดยพฤติกรรมเก่าๆของจิตคือ จิตจะปรุงแต่งความรู้สึกที่ชอบที่เข้ามากระทบให้เป็นอารมณ์ยินดี ปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ชอบ ให้เป็นอารมณ์ไม่ยินดี ก็คือเกิดการสร้างกิเลสใหม่ให้ไหลไปสมทบกับกิเลสเก่าที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ( อนุสัยกิเลส ) ทำให้มีกำลังแก่กล้าขึ้น
              

    ให้มีสติรู้และเฝ้าพิจารณาความรู้สึกที่ปรากฏทางกายอย่างต่อเนื่อง ก็จะพบทั้งความรู้สึกที่ชอบ ( เบาสบาย ปิติ ความสั่นสะเทือนอันละเอียดที่เลื่อนไหลเป็นสายตลอดร่าง ) และความรู้สึกที่ไม่ชอบ ( คัน ปวด เมื่อย ตื้อทึบ ตึงในบางส่วนของร่างกาย ) เมื่อพบความรู้สึกเช่นนี้ จิตก็มักปรุงแต่งไปตามพฤติกรรมเดิมของจิต คือยินดีในสิ่งที่ชอบ ไม่ยินดีในสิ่งที่ไม่ชอบ ซึ่งเป็นทางสร้างกิเลส ตัณหา และอุปาทานแก่จิต
             

    เน้นการไม่ปรุงแต่งต่อทุกอารมณ์  ให้วางใจเป็นอุเบกขา ให้มีความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าล้วนเหมือนกันคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ควรเข้าไปยึดมั่น เมื่อไม่ปรุงแต่งต่อ กิเลสใหม่ก็จะไม่เกิด ขณะเดียวกัน กิเลสเก่าที่ผุดขึ้นมาเพื่อรับการปรุงแต่ง เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองก็จะอ่อนกำลังลง และสลายตัวไปในที่สุด เมื่อเป็นดังนี้ จิตก็จะค่อยๆสะอาด บริสุทธิ์ขึ้น จนสามารถขจัดกิเลสให้หลุดล่อน เบาบางลง หรือจนถึงกระทั่งหมดไป

    ...จงวางใจเป็นอุเบกขา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็น อนิจจัง อนิจจัง อนิจจัง...
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • sng-fp1.jpg
      sng-fp1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      44 KB
      เปิดดู:
      117
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 กรกฎาคม 2014

แชร์หน้านี้

Loading...