การภาวนา และสมาธิ (อบรมพระภิกษุ ที่วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต ) หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย แดนโลกธาตุ, 8 กันยายน 2006.

  1. แดนโลกธาตุ

    แดนโลกธาตุ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กันยายน 2006
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    7
    ค่าพลัง:
    +23,976
    ภาวนา-สมาธิ<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:eek:ffice:eek:ffice" /><o:p></o:p>
    วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ตอนค่ำ<o:p></o:p>
    อบรมพระภิกษุสามเณรในวัดเจริญสมณกิจ ภูเก็ต<o:p></o:p>
    โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี <o:p></o:p>
    การฟังเทศน์ในแนวภาวนา ที่จะให้หายสงสัยกันเด็ดขาดเป็นของทำได้ยาก ถ้าหากพวกเราภาวนาไม่เป็น ผู้ภาวนาเป็นแล้ว ยึดอุบายภาวนาของตนเองให้เป็นหลักไว้ดีแล้ว ท่านจะเทศนาอะไร ใครจะว่าที่ไหน ใจมันไม่ได้ยึดเหนี่ยวแต่อุบายนั้นๆ จะมาเข้ากับอุบายของเรา ทำให้เกิดความสว่างแจ่มแจ้งหายสงสัยไปเอง สำหรับผู้ที่ยังภาวนาไม่เป็น ต้องส่ายหาอุบายมาเป็นเครื่องอยู่ของตนแล้วก็จะลังเลใจ พอได้รู้จากตำรา ได้ข่าวจากคนพูด คิดนึกโดยคาดคะเนว่านั้นดีนี่ดี ที่โน้นอาจารย์มีชื่อเสียงโด่งดัง แล้วก็วุ่นวายคาดหมายไปต่างๆ นานา จับหลักอะไรไม่ได้ ยิ่งคิดยิ่งส่งก็ยิ่งแต่จะเกิดความสงสัย ทำจิตใจให้วุ่นไปหมด<o:p></o:p>
    เพราะหลักธรรมที่แท้มิได้เกิดจากความคิดที่ส่งออก แต่เกิดจากการคิดค้นตรงเข้ามาหาของจริงที่มีอยู่ในตัวนี้ เมื่อเราค้นเข้ามาหาของจริงในตัวนี้แล้ว จิตก็เป็นสมาธิ (คือคิดค้นอยู่ในที่อันเดียว) ต่อนั้นไปทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในรัศมีของจิต ก็จะกลายเป็นอุบายให้เกิดเป็นธรรมไปทั้งหมด<o:p></o:p>
    มีตัวอย่างสมัยครั้งพุทธกาล บัณฑิตสามเณรอายุ ๗ ขวบ ลูกศิษย์ของท่านพระมหาสารีบุตร ได้เห็นเขาขุดเหมืองเข้านา ได้เห็นเขาถากไม้ เห็นเขาดัดลูกศร ท่านน้อมเข้ามาฝึกอบรมจิตของท่านให้มันเป็นไปตามบังคับ ให้เหมือนเขาบังคับของซึ่งหาวิญญาณมิได้เหล่านั้น ให้เป็นไปตามประสงค์จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็สิ่งทั้งสามนั้นเป็นธรรมอะไร วัตถุของภายนอกแท้ๆ แต่เมื่อท่านน้อมนำเจ้ามาพิจารณาเป็นอุบายอบรมภายในใจของท่านเอง เลยได้ผลอย่างสุดยอด<o:p></o:p>
    พุทธวจนะคำสอนของพระองค์มีมากถึงแปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์ ตามที่ท่านกำหนดไว้แต่ละหมวดละข้อ หรือแต่ละขันธ์ ล้วนแต่เป็นของดี ท่านโบราณาจารย์เคยปฏิบัติได้รับผลสำเร็จมาแล้วทั้งนั้น จึงได้รวมตั้งไว้เป็นปริยัติ เพื่อเป็นบทศึกษาแก่อนุชนสืบมา<o:p></o:p>
    ธรรมเป็นของดีแล้ว แต่เราปฏิบัติดียังไม่พอที่จะเป็นรากฐานให้เกิดธรรมของดีได้<o:p></o:p>
    มรรค ๔ ผล ๔ นิพาน ๑ เป็นของผู้ปฏิบัติที่มีสัมมาสมาธิเป็นรากฐานอริยสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ ๑ สมุทัย ๑ นิโรธ ๑ มรรค ๑ เป็นวิชาของสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง<o:p></o:p>
    ทุกข์ทั้งหลาย มีชาติทุกข์เป็นต้น มีอยู่ แต่ผู้จะเข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงในทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นไม่มี<o:p></o:p>
    สมุทัย มีความทะยานอยากในความใคร่เป็นต้น มีอยู่ แต่ผู้จะเห็นโทษในสมุทัยนั้นแล้วละเสีย ไม่มี<o:p></o:p>
    นิโรธ คือความเข้าไปดับซึ่งราคะธรรมเป็นต้น มีอยู่ แต่ผู้จะเข้าไปดับไม่มี<o:p></o:p>
    มรรรคมีองค์ ๘ ประการ อันเป็นทางยังผู้ดำเนินตามแล้วให้พ้นทุกข์ได้ มีอยู่ แต่ผู้จะดำเนินตามไม่มี ทางจึงเป็นทางว่างหาผู้สัญจรไม่มีก็เพราะขาดสัมมาสมาธิ อันเป็นรากฐานที่มั่นคง<o:p></o:p>
    ความจริงอริยสัจ คือ ทุกข์และสมุทัย มีอยู่พร้อมแล้วในตัวของเราทุกๆ คน ทั้งทุกขสัจมีชาติเป็นต้น ทุกๆ คนก็มีมาแล้วทั้งนั้น แต่คนเราไม่ทำความรู้ปล่อยว่างละเมินไปเสีย เห็นว่ามันเป็นของไม่ดี ไม่น่าพอใจ ไม่อยากได้ ก็เลยไม่สนใจ ไม่นำมาพิจารณา แต่หาได้รู้ไม่ว่านั่นเป็นของจริงของประเสริฐ เมื่อเกิดขึ้นในดวงใจของบุคคลใดแล้ว ผู้นั้นถึงแม้จะเป็นปุถุชนก็จะกลายเป็นพระอริยเจ้า ไปตามเอาแต่สุขจอมปลอมมากลบทุกข์ที่แท้จริงไว้ เวลาที่ทุกข์ที่แท้จริงประดังปรากฏออกมาจริงจังเข้า สุขหลบหน้าหายตัวไปหมด ช่วยอะไรไม่ได้ปล่อยให้เราเดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่แต่คนเดียว โทษแห่งการไม่นำเอาทุกข์มาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงมันเป็นเสียอย่างนี้<o:p></o:p>
    ผู้ที่นำเอาทุกข์มาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงแล้ว ทุกข์ทั้งหลายจะไม่เข้ามาเบียดเบียนเขาได้ เพราะความรู้จริงเห็นจริงเสียแต่เบื้องต้น ทุกข์เลยเป็นของธรรมดา เป็นสภาวะธรรมมีอยู่ประจำโลก ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วหนีไม่พ้น ใครจะร้องไห้เป็นทุกข์หรือไม่ ทุกข์มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ทางที่จะพ้นได้มิใช่เมื่อทุกข์มาถึงเข้าแล้ว เป็นทุกข์ร้องไห้คร่ำครวญ แต่จะต้องละตัวเหตุคือ ความทะยานอยาก มีอยากใคร่ในกามเป็นต้นเสีย ที่เรียกว่า สมุทัย คือความทะยานอยากใคร่ในกามเป็นต้น ซึ่งมีอยู่แล้วในใจของพวกเราทุกๆ คน แต่พวกเราเห็นสมุทัยเป็นของหวานไม่เข้าใจว่าเป็นของศัสตรายาพิษ จึงพากันรับประทานเข้าไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินมาก แต่เมื่อมันทำติดคอเข้าแล้ว ทุก ๆ คนจะพากันดิ้นด้าวระทมทุกข์ ต่างก็ช่วยอะไรกันไม่ได้<o:p></o:p>
    เมื่อเหตุและผลของจริงเบื้องต้นมีอยู่ในตัวของเราอย่างนี้แล้ว แต่เราไม่เอามาพิจารณาให้รู้เห็นตามเป็นจริง เหตุและผลอันไม่มีอยู่ในตัวของเรา (คือนิโรธและมรรค) แต่เราจะต้องเจริญให้เกิดมีขึ้น เมื่อเราไม่เจริญก็เกิดมีไม่ได้ นี่พูดถึงเรื่องภาวนาไม่เป็น มันเป็นเสียอย่างนี้ แต่เมื่อผู้ภาวนาเป็น มีสัมมาสมาธิเป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในรัศมีของจิต ก็จะกลายเป็นอุบายให้เกิดปัญญารู้แจ้งเป็นธรรมไปหมด ดังแสดงมาแล้วข้างต้น เหตุและผลอันไม่มีอยู่ในตัวเรา (คือนิโรธและมรรค) เราไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่นมาเจริญอีกแล้ว แต่มันเป็นการเจริญมรรค ( คือความเห็นชอบตามเป็นจริง ) อยู่แล้ว เมื่อเจริญเกิดขึ้นแล้วความโง่ความเขลาในความอยากทั้งหลายมันก็หมดไปเอง<o:p></o:p>
    ฉะนั้น จะขอบอกให้ทราบอีกทีว่า เมื่อจะฟังเทศน์เอาอุบายภาวนาหาความสงบจนให้เกิดสัมมาสมาธิกันจริง ๆ แล้ว ขออย่าได้ไปตื่นเต้นส่งส่ายไปหาเรื่องอุบายนั่นนี่ หรือวิธีนั้นวิธีนี้ให้มันยุ่งไปมากเลย ไม่เป็นผลดอก การภาวนาเป็นเรื่องตัดภาระให้น้อยลงทุก ๆ วิถีทางจนไม่เหลือ แม้แต่อารมณ์ที่เรายกขึ้นพิจารณาอยู่นั้นก็จะต้องเปลี่ยนสภาพไป เป็นอารมณ์ของภาวนาโดยเฉพาะ มิใช่อารมณ์อุบายยกขึ้นมาพิจารณาอย่างเบื้องต้น แต่มันเป็นของจริงเกิดจากภาวนาโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ภาวนาเท่านั้นจะรู้ได้ด้วยตนเอง<o:p></o:p>
    การทำภาวนามี ๒ วิธีด้วยกัน ได้เคยอธิบายให้ฟังมาแล้วหลายครั้งว่า<o:p></o:p>
    วิธีที่ ๑ เราปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมด ไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่ที่ใจ พร้อมๆ กับอัดลมหายใจเข้าไปแล้วปล่อยวางลมหายใจออกมา แล้วตั้งสติกำหนดเอาแต่ผู้รู้จะไปตั้งอยู่ตรงไหนแล้วแต่ความถนัดของตน แบบนี้ทำได้ง่ายสบายแต่ไม่มีหลัก หนักแน่นได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ส่งส่ายไปตามอารมณ์ที่ตนชอบเสีย<o:p></o:p>
    วิธีที่ ๒ ให้หยิบเอาอารมณ์อันใดก็ได้ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มันเคยทำความกระเทือนใจให้เราเกิดความสลดสังเวช จิตของเราเคยไปจดจ่ออยู่เฉพาะในเรื่องนั้นมาแล้ว เช่นเราเคยพิจารณาเห็นโทษทุกข์ในความ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นต้น เรายกเอาเรื่องนั้นขึ้นมาพิจารณาค้นคว้าทบทวนกลับไปกลับมาไม่ให้จิตแลบออกไปจากเรื่องนั้น จนเข้าไปรู้เรื่องความเป็นอยู่ เป็นมาและเป็นไป ของเรื่องนั้นละเอียดถี่ถ้วน แล้วจะเกิดมีอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ณ ที่นั้นอย่างแปลกประหลาด คือ ความชัดเจนแจ่มแจ้ง อันมิใช่เกิดแต่ความนึกคิดคาดคะเน และได้สดับศึกษามาจากคนอื่น แต่มันเป็นความรู้ที่ชัดเจนอันประกอบด้วยปีติปราโมทย์ ที่เกิดเองเป็นเอง อันใครๆ จะแต่งเอาไม่ได้ ๑<o:p></o:p>
    มิฉะนั้น จิตก็จะหดตัวเข้าไปนิ่งสงบเฉยอยู่ โดยไม่คิดอะไรแม้แต่ความคิดที่คิดค้นอยู่นั้นก็พักหมด ๑<o:p></o:p>
    บางทีสงบนิ่งเข้าไปอยู่ในที่แห่งหนึ่งเฉพาะจิตอย่างเดียว บางทีก็รู้อยู่เฉพาะตัว แต่ความรู้อันนั้น มิใช่รู้อย่างที่เราจะพูดกันถูก หรือบางทีก็ไม่รู้ตัวเสียเลย คล้ายๆ กับหลับที่เรียกว่า จิตเข้าภวังค์ อาการเหล่านั้นใครๆ จะทำเอาไม่ได้ แต่เมื่อภาวนาถูกต้องดังแสดงมาแล้ว มันก็จะเกิดขึ้นมาเอง ๑<o:p></o:p>
    อาการทั้งสามอย่างนี้มิใช่จะเกิดเหมือนกันหมดทุกๆ คน และทุกๆ อาการก็หาไม่ บางคนก็เป็นและเป็นครบ บางคนก็เป็นอย่างสองอย่าง เรื่องของการภาวนานี้พิสดารมาก หากจะนำมาพรรณนาไว้ ณ ที่นี้ จะเป็นหนังสือเล่มเขื่องเล่มหนึ่ง ที่แย้มให้เห็นเพียงเล็กน้อยก็เพื่อแนะให้ทราบว่า ผู้ภาวนาเป็นแล้วจะเป็นไปอย่างนั้น<o:p></o:p>
    แบบที่ ๒ ที่ให้หยิบเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตายขึ้นมาพิจารณานี้ เป็นการหัดสมถะและวิปัสสนาไปในตัว ถ้าผู้ที่มีนิสัยวาสนาแล้วเป็นไปได้รวดเร็ว ถ้านิสัยพอประมาณปานกลาง บางทีก็จะหนักไปในทางสมถะ จิตเข้าหาความสงบมีอาการสองอย่างดังแสดงมาแล้ว ถึงอย่างไรการพิจารณาอย่างนี้ย่อมมีคุณานิสงส์มาก เพราะพิจารณาให้เห็นสภาวะเป็นจริง ถึงไม่ได้ปัญญาขั้นละเอียด แต่ก็ยังรู้เท่าเข้าใจตามความเป็นจริงแล้วค่อย ๆ ถอนวางอุปทานลงได้โดยลำดับ<o:p></o:p>
    การยกเอาความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณานั้น เป็นอุบายของการภาวนาโดยแท้ อย่าได้สงสัยว่าเราไม่ได้ภาวนา อุบายภาวนา คือการที่หยิบยกเอากัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่งขึ้นมาพิจารณา เมื่อจิตแน่วแน่ลงสู่อารมณ์อันเดียวจนเข้าเป็นภวังค์ เรียกว่าจิตเข้าถึงภาวนาแล้ว ฉะนั้นการที่เรายกเอาความ เกิด-แก่เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณา จิตของเราจดจ่ออยู่ในเรื่องนั้นอยู่อย่างเดียวเรียกว่าเรากำลังเจริญภาวนาอยู่แล้ว ขอให้ยินดีพอใจในจิตของตนที่เป็นอยู่นั้นเถิด จิตก็จะได้แน่วแน่และเกิดปีติปราโมทย์จนละเอียดลงไปโดยลำดับ ผู้ไม่เข้าใจเรื่องภาวนามักจะสงสัยไปต่างๆ นานา แล้วก็ปรุงแต่งไปว่า ภาวนาจะต้องเป็นอย่างนั้น เห็นอย่างนี้แล้วจัดระดับชั้นภูมิของตน ๆ ไว้ก่อนภาวนา เมื่อจิตไม่เป็นไปตามสังขาร ก็เลยฟุ้งซ่านเกิดความรำคาญ สังขารเป็นผู้ลวงจะไปแต่งภาวนาไม่ได้ โดยเฉพาะแล้ว สังขารเป็นอุปสรรคแก่การภาวนาอย่างยิ่ง ฉะนั้นเมื่อยังละสังขารไม่ได้ตราบใดแล้ว ไม่มีหวังจะได้ประสบรสชาติของการภาวนาเลย ที่สุดฟังเทศน์หรือยกอุบายใดขึ้นมาพิจารณาก็ไม่เป็นผล มีแต่ความลังเลใจ ธรรมทั้งหลายแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ก็จะไม่มีคุณค่าแก่เขา แม้เท่าที่เขาได้ส่ายตาไปมองดูรูปที่สวย ๆ ขณะแวบเดียว<o:p></o:p>
    ผู้ที่ท่านช่างคิดค้นหาข้อเท็จจริงทั้งหลาย ท่านไม่ใช้สัญญาออกหน้า แต่ท่านใช้เหตุผล และปรากฏการณ์เฉพาะหน้าเข้าค้นคว้าพิจารณา จึงได้ผลสมประสงค์ ธรรมหรือวิธีเจริญกัมมัฏฐานมิใช่เป็นของมีโครงการอะไร ขอแต่ให้หยิบยกเอาเหตุผลหรือสิ่งปรากฏการณ์นั้น ๆ มาพิจารณาให้เข้าถึงหลักของจริงก็เป็นอันใช้ได้ ที่มีพิธีรีตรองและโครงการมาก ๆ นั้น ล้วนแล้วแต่ว่าตามความจริงของท่าน ที่ท่านได้ทำสำเร็จมาแล้วทั้งนั้น ฉะนั้นยิ่งนานและมีผู้ค้นพบของจริงมากเข้าเท่าไร วิธีและโครงการหรือตำราก็ยิ่งมากขึ้นจนผู้ศึกษาภายหลังทำตามไม่ถูก ก็เลยชักให้สงสัย บางคนพาลหาว่าตำราไม่ได้เรื่องอย่างนี้ก็มี ถ้าหากทำตามดังแสดงมาแล้ว คือยกเอาของจริง เช่นเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นมาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง จนเกิดเป็นภาวนาสมาธิขึ้นมาแล้ว โครงการหรือวิธีทั้งหลายแหล่จะมากสักเท่าไร ก็เป็นเพียงกระจกเงาเท่านั้น หาใช่ตัวจริงไม่ ด้วยเหตุนี้สาวกของพระพุทธองค์จึงได้สำเร็จมรรคผลด้วยอุบายแปลกๆ ไม่เหมือนกัน ขนาดแสงไฟในดวงเทียนจะมีธรรมอะไร ใครๆ เขาก็ใช้กันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ก็ไม่เห็นจะวิเศษวิโสได้สำเร็จมรรคผลอะไร<o:p></o:p>
    แต่ภิกษุณีชื่อ ปฏาจารา จุดเทียนบูชาในวิหาร แล้วเพ่งดูแสงเทียน ยึดเอาอาการแสงเทียนพลุ่งขึ้นด้วยกำลังแรงไฟ แล้วย่อยยับ ๆ ลงมาด้วยความอ่อนกำลังของมันเองอยู่อย่างนั้น เป็นอารมณ์ น้อมเข้ามาเทียบกับอายุขัยและวัยในอัตภาพของตน จนเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสังขารทั้งหลาย ที่สุดจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะไฟนั้น นี้เป็นตัวอย่าง ท่านยกเอาแสงเทียนขึ้นมาพิจารณา เห็นเป็นของไม่เที่ยงตามลักษณะที่มันพลุ่งขึ้นแล้วย่อยยับ ๆ หดตัวลงตามเป็นจริง แล้วหมดความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวง ธรรมอื่นๆ ไม่ต้องไปตามพิจารณา แต่มันมาปรากฏชัดในที่แห่งเดียวแล้ว<o:p></o:p>
    บัณฑิตสามเณรลูกศิษย์ของท่านพระสารีบุตร ท่านเห็นเขาไขน้ำใส่นามันไหลไปตามเหมือง ท่านนำมาพิจารณาว่า น้ำเป็นของไม่มีจิตใจ แต่ก็ไหลไปตามคลองได้ตามประสงค์ จิตของเราเมื่อทรมานให้อยู่ในอำนาจก็จะทำได้ เห็นเขาถากไม้ ดัดลูกศร เขาหลิ่วตาข้างเดียวดูที่คดที่ตรง ท่านก็นำมาพิจารณาว่า ผู้ฝึกจิตถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่างก็จะสงบไม่ได้ และไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวกันแล้ว จิตก็มีกำลังเบ่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นของควรละ ผลที่สุดท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพราะอุบายอันนั้น นี่แหละความละเอียดและเป็นธรรมมิใช่อยู่ที่อุบาย แต่อยู่ที่จิตอบรมถูกจนจิตเป็นภาวนาสัมมาสมาธิแล้ว อุบายทั้งหลายที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้นไม่ว่าหยาบและละเอียด ก็จะได้ปัญญามีคุณค่าให้สำเร็จมรรคผลเป็นที่สุดเช่นเดียวกัน<o:p></o:p>
    ฉะนั้น ทุกๆ คนเมื่อเราหยิบยกเอาอุบายอันใดขึ้นมาพิจารณา เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว แม้แต่ครั้งเดียวก็ตาม ขออย่าได้ทอดทิ้ง ให้นำเอาอุบายนั้นแหละมาพิจารณาอีก จิตจะเป็นอย่างที่เคยเป็นมาแล้วหรือไม่ก็ตามขอได้ทำเรื่อยไปจนให้ชำนาญ<o:p></o:p>
    ข้อที่ควรระวังก็คืออย่าให้เกิดความโลภในอุบายภาวนา เมื่อภาวนาไม่เป็นก็ยิ่งโลภใหญ่ อยากได้แต่อุบาย เห็นว่าอันนี้ไม่ดี อันอื่นจะดีกว่า แล้วก็ส่ายหาหยิบเอาโน่นบ้างนี่บ้างมาพิจารณา เจริญสมถะเห็นว่าเป็นของทึบ เป็นคนโง่บ้างเจริญวิปัสสนาสำเร็จอะไรต่ออะไร ผลที่สุดเอาอะไรเป็นแก่นสารไม่ได้ ความโลภและความเป็นคนรู้มากเป็นภัยแก่การภาวนาอย่างยิ่ง ได้เคยอธิบายให้ฟังมามากแล้วว่า อย่าเป็นคนมักมากในอุบายภาวนา เมื่ออุบายใดได้แล้วขอให้เจริญอยู่ในอุบายนั้นเรื่อย ๆ ไป อุบายใดเป็นเหตุให้เราชอบคิดและสนใจ ซึ่งเป็นของมีอยู่ในตัวของเรานี้ อันนั้นแหละเป็นของควรเจริญ เช่นความแก่ เจ็บ ตาย และทุกข์ทั้งหลายที่เราได้ประสบอยู่เสมอ ๆ ที่จริงเรื่องเหล่านี้เป็นอุบายภาวนาที่ดีที่สุด และเราทุกคนเคยได้กำหนดพิจารณามาแล้ว โดยตัวของท่านไม่รู้ว่าเราเจริญภาวนาอยู่แล้ว เพราะเป็นของง่าย ประสบอยู่กับตัวเอง ก็เลยเห็นเป็นของไม่สำคัญอะไร ไม่ดำเนินติดต่อ ทิ้งเสีย แล้วไปแสวงหาอุบายอันหาสาระมิได้อันอื่นโน้น ผลที่สุดก็เหลว ของง่ายๆ มีอยู่ภายในกาย ในใจ เป็นของมีคุณค่ามาก<o:p></o:p>
    นโม, พุทธัง, อรหัง เป็นบทเรียนเบื้องต้นของการจะบำเพ็ญคุณงามความดีในพุทธศาสนาทั้งผอง เพราะเป็นเบื้องต้นและเห็นเป็นของง่าย จึงได้กลายเป็นขี้ปากของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเสีย สวดไปเถิดกี่จบ ๆ ก็หาได้รู้ไม่ว่า เรากล่าวอะไรว่าอะไร เพื่อประโยชน์และสำคัญอย่างไรฯ<o:p></o:p>
    ฉะนั้น โบราณาจารย์ท่านจึงมีวิธีสอนกัมมัฏฐานหลายอย่าง เช่นสอนให้พิจารณา ปัญจกัมมัฏฐาน ว่า เกสา, โลมา, นขา, ทันตา, ตโจ เมื่อว่าเสียจนชินคล่องปากคล่องใจแต่ยังไม่เกิดความสนใจ ท่านจึงให้พิจารณาทวนถอยหลังอีกว่า ตโจ, ทันตา, นขา, โลมา, เกสา ถ้ายังไม่ได้ผลจิตยังไม่จดจ่ออยู่เฉพาะ ท่านให้ว่าแยกคือว่า เกสา, นขา, ตโจ ข้ามกันไปสลับกันมาอย่างนี้ เป็นต้น ส่วนพิจารณาอานาปานสติ ก็ทำนองเดียวกันนี้<o:p></o:p>
    สรุปความแล้วว่า ทำอย่างไรจิตใจจะจดจ่ออยู่เฉพาะในอุบายนั้นๆ เท่านั้น เมื่อสิ่งใดเป็นของง่ายเราก็ไม่สนใจ ฉะนั้นท่านจึงมีวิธีทำให้ยากขึ้นเพื่อจะได้สนใจแล้วจิตจะได้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว เป็นภาวนาสมาธิ นี่เป็นเบื้องต้นเมื่อเราทำไปจนชำนาญ คือ ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น จนเป็นเหตุให้จิตหยุดนิ่งเพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะในอารมณ์เดียว ที่เป็นอารมณ์กัมมัฏฐานของตนโดยเฉพาะซึ่งมีปัญญาญาณเป็นเหมือนกับประทีปตามส่อง ให้พิจารณาอยู่ในที่ทุกสถาน นี่เป็นผลของความชำนาญในการพิจารณาดังกล่าวแล้ว ถ้าปัญญาญาณดังว่านั้นไม่มีไม่เกิดขึ้นในที่นั้น เป็นแต่เพ่งพิจารณาอยู่เฉพาะอารมณ์กัมมัฏฐานของตน คือ มิได้ยึดเอาความรู้และอุบายของใครมาพิจารณา แต่มันเป็นความรู้ความชัดเจนของมันเองอยู่อย่างนั้นแล้วจิตจะรวมใหญ่ คือมีการวูบวาบเข้าไปแล้วตั้งเฉยอยู่ ถ้าหากสติอ่อนอาจลืมตัวเข้าภวังค์เลย ถ้าสติยังกล้าอยู่จะเพียงแต่นิ่งเฉยโดยปราศจากนิวรณ์ทั้งหมด จะถึงอัปปนาสมาธิได้ก็ตอนนี้ สมาธิตอนนี้มีเรื่องวิจิตรพิศดารเมื่อนำมาอธิบายก็จะมากเกินต้องการ ที่แสดงมานี้เพื่อให้เห็นความสำคัญของการยกเอาของอันเดียว ไม่โลภในอุบายภาวนา แต่เจริญภาวนาให้ชำนาญเท่านั้น ความชำนาญเป็นของสำคัญมาก ตามหลักท่านเรียกว่า วสี มี ๕ อย่างด้วยกันคือ <o:p></o:p>
    ชำนาญในการยกอุบายอะไรขึ้นมาพิจารณาก็ได้ทันท่วงที ๑<o:p></o:p>
    ชำนาญในการเข้าสมาธิ ๑<o:p></o:p>
    ในการออกจากสมาธิ ๑<o:p></o:p>
    ในการตั้งอยู่ของสมาธิ ๑<o:p></o:p>
    ในการกำหนดรู้อารมณ์ของสมาธิ ๑<o:p></o:p>
    ความชำนาญนี้ถึงแม้ไม่ครบทั้ง ๕ ชำนาญแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังสามารถภาวนาสมาธิให้มั่นคงอยู่ได้ นี่ว่าตามวิถีของสมาธิ ถ้าจะว่าตามวิถีของปัญญาแล้ว ผู้ได้ปัญญาอันเกิดจากสัมมาสมาธิ พิจารณาเห็นสรรพสังขารทั้งหลายตกลงปลงสู่พระไตรลักษณญาณแล้ว ถึงแม้อุบายนั้นๆ จะเกิดโดยวิธีใดก็ตามไม่ว่าหยาบหรือละเอียดภายในหรือภายนอก ปัญญาดวงนั้นจะต้องเอามาตัดสินลงสู่พระไตรลักษณะเหมือนกันทั้งหมดไม่ผิดแปลกกันเลย<o:p></o:p>
    พระไตรลักษณะญาณเป็นเหมือนกับ ยานพาหนะ ของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย อุบายภาวนาสมาธิถึงแม้จะมีมากอย่างแปลกต่างออกไป ก็เป็นไปตามวิถีของอุบายภาวนาสมาธิเท่านั้นแต่ ปัญญาญาณ ต้องมีพระไตรลักษณญาณ เป็นหลักยืนโรง เป็นเครื่องตัดสิน<o:p></o:p>
    อนึ่ง ขอแนะไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ภาวนาสมาธินี้ ถ้าเราฝึกหัดเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนอื่น หรือเพื่อเพียงปาฏิหาริย์อำนาจศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียวแล้ว พึงหัดให้ชำนาญใน วสี ๕ ดังแสดงมาแล้ว จึงจะสำเร็จ แต่ไม่เข้าถึงปัญญาดังกล่าวแล้ว เพราะ ปัญญาญาณเป็นโลกุตรทางให้พ้นจากทุกข์ ฉะนั้น อุบายภาวนาสมาธิจึงไม่จำเป็นให้เกิดอยู่เฉพาะในขอบเขตจำกัดอย่างเดียว จะเกิดโดยวิธีใด ๆ ก็ตาม ถ้ามีพระไตรลักษณญาณเป็นเครื่องตัดสินอยู่ตลอดเวลาแล้ว เป็นอันใช้ได้ อุบายภาวนาสมาธิที่เกิดในวิถีต่างๆ กัน เช่นเกิดจากตาเห็นรูป หูฟังเสียงเป็นต้นก็ดีหรือจิตที่เป็นภาวนาสมาธิแปลกๆ ต่างๆ หยาบละเอียดไม่เหมือนกันก็ดี แทนที่จะเป็นเครื่องบั่นทอนอุบาย ภาวนาสมาธิ หรือปัญญาให้เสื่อมทรามลง แต่กลับให้เป็นผู้ฉลาดในอุบาย และรู้รสชาติของวิถีภาวนาสมาธิ ตลอดถึงเป็นการชำนาญอาจหาญในการใช้พระไตรลักษณญาณเป็นเครื่องตัดสินอีกด้วย<o:p></o:p>
    นักปฏิบัติที่ปฏิบัติมานานๆ แล้ว ภายหลังกลับเสื่อมเสีย ก็เพราะเหตุไม่ชำนาญในวสี ๕ และไม่เข้าใจในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของอุบายภาวนาสมาธิ หรือบางทีก็ไปหลงในฤทธิ์ ในปฏิหาริย์ ความศักดิ์สิทธิ์จนเลยเถิด เข้าสมาธิดังเดิมไม่ได้ ถึงแม้ผู้มีปัญญาญาณใช้พระไตรลักษณ์เป็นเครื่องตัดสินในทุกกรณีก็ตาม แต่เมื่อจิตเปลี่ยนสภาพ คือมีอาการไม่คงที่เช่นเคย ก็ยังเกิดสงสัย เข้าใจว่าจิตของตนเสื่อมเสียแล้ว<o:p></o:p>
    ฉะนั้น จึงขอสรุปความย่อเพื่อจำง่ายอีกทีว่า การฟังเทศน์ในแนวภาวนาที่จะให้เข้าใจดีต้องภาวนาเป็นเสียก่อน ถ้ามิฉะนั้นจะไม่หยุดสงสัย อุบายภาวนา อะไรก็ได้ ขอให้ตั้งใจจดจ่อคิดค้นหาเหตุผลของจริงในสิ่งที่ได้ประสบ แล้วน้อมเข้ามาพิจารณาให้เห็นชัดแจ้งภายในตัวของตนจนเป็นสัจธรรม อุบายทั้งหลายขออย่าได้ส่งไปภายนอก จงหาเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวของเราเช่น ความเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นต้น ถึงอุบายภายนอกจะเกิดขึ้น ก็ให้น้อมเข้ามาในตัว<o:p></o:p>
    การหัดภาวนามีวิธี ๒ อย่างๆ หนึ่งปล่อยวางเอาเฉยๆ ไม่ให้จิตไปเกาะเกี่ยวอะไรทั้งหมด ทำให้จิตว่างเปล่าเฉยๆ วิธีนี้ทำได้ง่ายแต่ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วจิตก็จะส่ายไปตามอารมณ์ที่ชอบใจเรียกว่า สมถะ โดยเฉพาะ<o:p></o:p>
    อีกวิธีหนึ่งต้องหยิบยกเอาอารมณ์สิ่งที่เราชอบ มาคิดค้นเป็นต้นว่า ทุกข์ซึ่งเราได้เคยประสบมาแล้ว มาคิดค้นจนจิตจดจ่ออยู่เฉพาะในเรื่องเดียวนั้น นี่เป็นการทำ สมถะวิปัสสนา ไปพร้อมกันในตัว วิธีนี้จิตจะหยาบหรือละเอียดก็มีหลักหนักแน่นอยู่ได้นาน ข้อสำคัญขอให้เข้าใจว่า การที่เราหยิบเอาทุกข์เป็นต้น ขึ้นมาพิจารณาอยู่นั้น มันเป็นภาวนาและเป็นธรรม แล้วพอใจเลื่อมใสในการที่เราทำถูกต้องนั้น อย่าได้สงสัย ส่ายหาอุบายโน่นนี่อื่นอีก<o:p></o:p>
    ข้อสำคัญประการสุดท้าย ใครจะหัดภาวนาทำสมาธิแบบไหน ได้อุบายอย่างไรก็ตาม ขอได้ทำให้ชำนาญ ถ้าหัดให้ชำนาญแล้วจะใช้ในทางอำนาจปฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ก็ย่อมได้สมประสงค์ แต่เป็นไปในทางโลก ถ้าเป็นไปในทางธรรมแล้วอุบายภาวนาสมาธินั้น จะเป็นอย่างนั้นยืนตัวหรือไม่ก็ตาม แต่จะต้องมีปัญญาญาณใช้พระไตรลักษณ์ตัดสินอยู่เสมอ อุบายใดจะเกิดขึ้นโดยวิธีใด ภายนอกภายใน หยาบละเอียดไม่ว่า อุบายนั้นจะต้องลงมาตัดสินด้วยพระไตรลักษณ์ญาณเสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้นขออย่าได้สงสัยว่า ทำไมหนอจิตของเราไม่ยึดอุบายเก่า คงที่ละเอียดตามเดิม เรื่องนี้มันมีเหตุผลมากอย่างดังที่อธิบายมาโดยย่อแล้วจะเห็นได้ เพราะอารมณ์ การสำรวม ความกล้าหาญ การตั้งสติ เป็นต้น ในเบื้องต้นก่อนที่เราจะทำภาวนาเข้าสมาธิ ถึงอย่างไร ๆ มื่อมีพระไตรลักษณญาณเป็นพนักงานควบคุมตัดสินอยู่แล้ว ขออย่าได้สงสัย<o:p></o:p>
    อธิบายมาวันนี้ พูดถึงสมาธิภาวนาโดยเฉพาะ แต่ก็เห็นว่ายืดยาวพอควร หากพากันภาวนาเป็นไปแล้ว ก็จะพอจับเค้าความได้ และดำเนินตามโดยไม่ผิดพลาด แล้วสามารถจะรักษาสมาธิภาวนาของตนไว้ให้มั่นคงต่อไป<o:p></o:p>
    แสดงมาด้วยประการ ฉะนี้ ฯ<o:p></o:p>
     

แชร์หน้านี้

Loading...