การเทศน์ในรูปแบบต่างๆ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 7 ตุลาคม 2013.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,173
    พระอาจารย์ กล่าวว่า "การเทศน์ ๓ ธรรมาสน์ ต้องรักษารูปแบบไว้ แต่เนื้อหาอยู่ที่เราจะใส่ การเทศน์ ๓ ธรรมาสน์มาจากการสังคายนาพระไตรปิฎก องค์ประธานก็คือ พระมหากัสสปะ จะเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลี กับ พระอานนท์ จะเป็นผู้ตอบ แต่คราวนี้เขาไม่ได้กำหนดตายตัวว่า จะต้องตอบเรื่องวินัยเรื่องธรรมหรืออะไร กลายเป็นว่า ๓ ท่านจะมีท่านหนึ่งเป็นหลักคอยถาม ท่านที่เป็นหลักถ้าคนอื่นตอบไม่ตรงอย่างไรนี่ ต้องต้อนกลับไปให้ตอบตรงให้ได้

    แต่ถ้า เทศน์ ๒ ธรรมาสน์ จะเป็น พระสกรวาที กับ พระปรวาที คือท่านผู้ถามกับผู้ตอบ ๒ คน เขาจะสมมติว่าพระสกรวาทีพิจารณาธรรมอยู่ในป่า แล้วก็ติดขัด นึกถึงพระปรวาทีว่าท่านเป็นผู้ที่เจริญด้วยศีลสุตาธิคุณ กอปรไปด้วยปัญญาอันยิ่ง คงจะเข้าใจซึ่งปัญหาอันนี้ เราควรที่จะไปสอบถาม แล้วก็มีการสมมุติให้เดินทางไปสอบถาม บางที่คำถามก็งัดเอาคำถามที่โยมเขียนนั่นแหละมาถาม จะมีการขึ้นต้นลงท้ายที่เป็นรูปแบบตายตัวของเขา ส่วนคำตอบก็อยู่ที่ปัญญาของคนเทศน์"

    ถาม : แล้วการเทศน์แจงละครับ ?

    ตอบ : การเทศน์แจง เป็นเรื่องของการสังคายนาพระไตรปิฎกโดยตรงเลย เป็นการเทศน์เดี่ยว ใครถามปัญหาอะไรต้องตอบได้หมด จริงๆ แล้วเขาเรียกเทศน์แจง ๕๐๐ รู้สึกว่าจะมีแต่ หลวงปู่พระครูโวทานธรรมาจารย์ วัดดาวดึงสาวาส ที่จัดได้ เพราะลูกศิษย์นักเทศน์ของท่านเยอะ ถามกันคนละประโยคก็หมดวันแล้ว

    ปกติแล้วจะใช้ในงานศพ ขึ้นต้นว่า ยันเตนะ ภะคะวะตา ชานะตา ปัสสะตา อะระหะตา สัมมาสัมพุทเธนะ ฯลฯ แปลเป็นไทยก็ถามตอบกันสด ๆ นี่แหละ

    ปะฐะมัง ปาราชิกัง กัตถะ ปัญญัตตันติ ฯ ......ปฐมบัญญัติปาราชิกบัญญัติขึ้นที่ไหน ?
    เวสาลิยัง ปัญญัตตันติ ฯ ......................... บัญญัติขึ้นที่เมืองเวสาลีครับ
    กัง อารัพภาติ ฯ .....................................ด้วยปรารภเรื่องอะไร ?
    สุทินนัง กะลันทะปุตตัง อารัพภาติ ฯ ..............ด้วยปรารภเรื่องพระสุทินนกลันทบุตรครับ

    พูดง่ายๆ ก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้าง่ายสุดๆ ท่านเล่นถามตอบกันทีละประโยคอย่างกับถามเด็กเลย คนสมัยนั้นฟังแล้วเข้าใจก็ได้มรรคได้ผลไปตามๆ กัน อย่างใน อนัตตลักขณสูตร ท่านถามว่า

    ตังกิง มัญญะถะ ภิกขะเว............................ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย
    รูปัง นิจจัง วา อนิจจัง วาติ ..........................รูปนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
    อนิจจัง ภันเต .........................................ไม่เที่ยงขอรับ
    ยัมปะนา นิจจัง ทุกขัง วา ตัง สุขัง วาติ...........ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์เล่า ?
    ทุกขัง ภันเต .........................................เป็นทุกข์ขอรับ

    ถามเหมือนถามเด็กเลย เรียนบาลีรู้ไว้ก็ดีเหมือนกัน เพราะหลักธรรมแท้ๆ แคะได้จากบาลี แต่ระยะหลังความหมายเริ่มเพี้ยนเยอะ คือการแปลขึ้นอยู่กับกำลังใจของคน ของบางอย่างต้องแปลจากสิ่งที่เราไม่เห็น เหมือนกับเวลาที่เขาอ่านพวกสัญญาบัตรตราตั้ง เราต้องอ่านสิ่งที่มองไม่เห็นด้วย เช่น มีลายเซ็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระปรมาภิไธย ก็ต้องอ่านว่า “โดยพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดช ปร.” ต้องอ่านสิ่งที่มองไม่เห็น อ่านให้เห็นให้ได้

    เรื่องของหลักธรรมหนักกว่านั้น เพราะว่าคำพูดและตัวหนังสือหยาบเกินไป อธิบายหลักธรรมชัดๆ ไม่ได้ ต้องอธิบายในสิ่งที่มองไม่เห็นแต่อยู่ตรงนั้นออกมาให้ได้

    ต้องบอกว่าสัญญาและปัญญาทรามลงอย่างที่ หลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านบอก สัญญาคือความจำ ปัญญาคือการรู้แจ้ง ปัจจุบันนี้บางทีก็เป็น จินตามยปัญญา คือคิดแล้วเข้าใจขึ้นมา แต่เนื่องจากว่ายังไม่ใช่ ภาวนามยปัญญา ยังไม่ใช่การรู้แจ้งจริงๆ ก็ยังมีการสูญหายไปได้ ถ้าเป็นเรื่องที่รู้แจ้งแล้วจะติดใจอยู่ตลอดไป ทรงอยู่ในใจอยู่ตลอดไป ถ้ามีใครสะกิดก็จะเข้าใจเลย รอคนสะกิดหน่อยเดียว หรือไม่ก็ประเภททำถึงเองก็จะเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง


    สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
    ณ บ้านวิริยบารมี ต้นเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


    ที่มา : http://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3835&page=6



    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 8 ตุลาคม 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...