การใช้พระคาถาเงินล้าน

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย WebSnow, 4 สิงหาคม 2005.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,682
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,012
    ดังนั้น ขอให้ทุกคนยึดคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งให้มั่นคงเอาไว้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อมอบให้แก่เรามา โดยเฉพาะพระคาถาเงินล้าน ขอให้ทุกคนท่องบ่นภาวนาไว้เป็นประจำ ๆ จะสร้างความคล่องตัวให้แก่เราอย่างคิดไม่ถึง ใครจะว่างมงาย ใครจะว่าเหลวไหล อาตมายืนยันว่าไม่งมงาย ไม่เหลวไหล เพราะอาตมาใช้มาเอง มีใครบ้างที่สามารถสร้างวัด ๆ หนึ่งเสร็จได้ภายในปีเดียว โดยที่ ๒ มือเปล่า ๆ มีแต่คาถาบทเดียว จะไม่ให้ยืนยันอย่างนี้ก็ไม่ได้ แล้วขณะเดียวกัน ไปช่วยเขาที่อื่นไปช่วยเขาที่ไหนก็ตามขึ้นชื่อว่าการสะดุดหยุดยั้งผิดจังหวะไม่มี มีแต่ความสะดวกคล่องตัวอยู่เสมอ



    ดังนั้น ขอย้ำว่าถ้าเราใช้คาถาเป็น ส่วนใหญ่ทำไมใช้ไม่เป็นใช้ไม่ถูกกัน การใช้คาถาเป็นก็คือต้องวางกำลังใจให้เป็น การวางกำลังใจให้เป็นก็คือตั้งใจว่า คาถานี้คือสมบัติวิเศษที่พ่อให้มา หน้าที่เราคือรักษาไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงดีได้ ด้วยการเป็นคนที่ขยันท่องบ่นเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อย่างสม่ำเสมอและจริงจังทุกวัน เรื่องของความสม่ำเสมอจริงจังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดส่วนใหญ่มันทำ ๆ ทิ้ง ๆ กัน ในเมื่อเราตั้งใจทำถวายบูชาต่อท่านอย่างสม่ำเสมอและจริงจัง ผลพิเศษต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้นเอง แต่ถ้าเราทำเพื่อจะหวังผลพิเศษนั้น ตัวอยากที่บังหน้ามันจะตัดไปเกือบหมด อยากได้ ไม่ใช่ความผิด แต่พออยากตั้งใจว่าต้องการอะไรแล้วลืมความอยากนั้นเสียแล้วตั้งหน้าตั้งตาภาวนาไป นี่คือการใช้คาถาที่ถูก การปฏิบัติทุกอย่างเหมือนกัน อยากมันถึงทำ แต่ตัวอยากตัวนี้เป็นฉันทะ หลวงพ่อเรียกว่าธรรมฉันทะ คือ ความพอใจในธรรม ไม่ใช่ตัวตัณหา ตัวตัณหาเป็นการอยากได้ใคร่มีในลักษณะที่เรียกว่าถ้าไม่ได้มาผิดศีลผิดธรรมก็ยังเอา ตัวอยาก มีอยู่ในทุกธรรมะ แต่ว่าตัวอยากนี้เป็นตัวธรรมฉันทะคือพอใจในการปฏิบัติ ขณะเดียวกันการปฏิบัติทุกอย่างอารมณ์อุเบกขาสำคัญที่สุด

    การปฏิบัติไม่ว่าจะทาน ศีล ภาวนา ถ้าขาดตัวอุเบกขาการปฏิบัตินั้น ๆ เข้าไม่ถึงจุดสุดท้าย การให้ทานถ้าไม่รู้จักอุเบกขาปล่อยวางก็นั่งกลุ้มใจ ขอทานมันขอสตางค์ก็ให้มันไป ให้แล้วก็แล้วกันเรารู้ว่าเขาต้องการก็ให้เขาไป เป็นการตัดความโลภของเราให้มันจบลงตรงนั้นนี่คือตัวอุเบกขา แต่ว่าให้แล้วก็ไปนั่งคิดต่อว่า เอ๊...มันจะหลอกเราหรือเปล่าหว่า มันเป็นแก๊งค์ขอทานประเภทที่เรียกว่าเดี๋ยวถึงเวลาก็เอาคนมาปล่อย ๆๆ ตามจุดแล้วก็ขอสตางค์เขาไปวัน ๆ หนึ่ง ถึงเวลามันกินดีอยู่ดีกว่าเราอีกหรือเปล่า

    ไอ้อย่างนี้ขาดอุเบกขา การรักษาศีลก็เช่นกัน ถ้าหากว่าขาดอุเบกขาขาดการปล่อยวางจริง ๆ การรักษาศีลมันก็รักษาไม่ได้ตลอด ไม่ฆ่าสัตว์ แต่อีคราวน้โกรธมันขึ้นมาก็อัดมันตุ้บเข้าให้ ไม่ตายหรอกแต่เจ็บ ดีไม่ดีก็สาหัสไปเลย ขาดอุเบกขา การภาวนายิ่งหนักเข้าไปใหญ่ถ้าขาดตัวอุเบกขาคือการปล่อยวางไม่รู้จักวาระของมันจะก้าวหน้าได้ยากมาก เราต้องทำใจว่าเรามีหน้าที่ภาวนา ผลพิเศษต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เป็นเรื่องของเขา นี่คือการปล่อยในตัวอุเบกขา แต่ถ้าไปภาวนาตั้งใจอยากให้มันได้อยากให้มันเป็น มันจะไม่ได้มันจะไม่เป็น มันเหมือนกับเราปลูกต้นไม้เรามีหน้าที่รดน้ำพรวนดินจับหนอนจับแมลงใส่ปุ๋ยดูแลก็ทำมันไป เราไม่มีหน้าที่ไปบังคับเขาออกดอกออกผล ลองไปจับมันดึงยอดดูสิมันจะออกมั๊ย .. เฉาตายซะก่อน แต่ถ้าเรามีหน้าที่ทำของเราไปเรื่อยด้วยการปล่อยวางและเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย

    เมื่อถึงเวลาดอกผลมันจะเกิดของมันเอง ถึงวาระ ถึงฤดูกาลของมัน ๆ ก็ออกดอกออกผลให้ชื่นใจ อีตอนที่มันยังไม่ถึงวาระไม่ถึงเวลาอยากเท่าไหร่มันก็ไม่ได้อยากเท่าไหร่มันก็ไม่เป็น ตัวอยาก คือ การไม่รู้จักวางอุเบกขา ตัวรู้ว่าเรามีหน้าที่อย่างไรเราทำให้ดีที่สุด ผลของหน้าที่นั้นจะเป็นอย่างไรช่างมัน นั่นคือตัวอุเบกขา นะ เบรคให้เป็นเบรคขา เบรคแขน เบรคปากเอาไว้ด้ว ไม่อย่างนั้นจะไปทะเลาะกับคนอื่นเขา ถ้าอุเบกขาเป็นทุกอย่างก็ดีหมด ไม่มีการกระทบกระทั่งกับใคร ทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด ปกติของโลกมันเป็นอย่างนั้น ไม้ตายท่าสุดท้ายแล้ว อุเบกขา ถ้าเต็มที่มันจะเป็นสังขารุเปกขาญาณ รู้็จักปล่อยวางในการปรุงแต่ง การปรุงแต่งการนึกคิดเพิ่มเติมทุกอย่างไอ้ตัวฟุ้งซ่านขนาดหนักเลย ทุกอย่างถ้าหยุดการปรุงแต่งลงได้มันก็หยุดหมดมันก็ดับหมด ใครเคยตามดูความคิดตัวเองบ้าง หยุดความคิดตัวเองเป็นมั๊ย หยุดเป็นเมื่อไหร่ก็เย็นเมื่อนั้นแหละ จิตสังขารคือตัวปรุงแต่งของใจสำคัญมาก

    เกิดมันก็ตรงเนี้ย แก่มันก็ตรงเนี้ย เจ็บมันก็ตรงเนี้ย ตายมันก็ตรงเนี้ย อนิจจังไม่เที่ยงก็เพราะมัน ทุกขังเป็นเพราะมัน อนัตตาก็เป็นเพราะมัน ก็เพราะจิตตัวปรุงแต่งนี้ตัวเดียว หยุดปรุงแต่งเมื่อไหร่พระท่นเรียกว่านิโรธ คือ เข้าถึงความดับ ความร่มเย็น ความสงบอย่างแท้จริง การหยุดมันท่่านเรียกว่า มรรค สาเหตุที่มันปรุงมันแต่งมันทำให้เกิดทุกข์ท่านเรียกว่า สมุทัย ปรุงแต่งมันเมื่อไหร่มันก็เป็นทุกข์ อริยสัจ ๔ มันก็อยู่ตรงนี้นั่นแหละ อยู่ที่จิตตัวเดียว ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย

    ดังนั้น ท่านถึงให้ัดูภายใน ดูที่ตัว แก้ที่ตัว ดูที่คนอื่นไม่สำเร็จ แก้ที่คนอื่นไม่สำเร็จ ทุกอย่างเป็นเรื่องของโลก เราไม่สามารถแก้ไขโลกได้ แต่เราแก้ไขตัวเราเองได้ ภาระทุกอย่างถ้าเราแบกโลกไว้มันหนักเหลือเกิน แต่ถ้าเราวางลงตัวเรามันมีภาระอยู่นิดเีดียวเท่านั้น ยิ่งฟังก็ยิ่งง่ายเนาะ ฟังง่ายใช่มั๊ย?

    เหลืออีกครึ่งชั่วโมง หรือ...มันพูดมากขนาดนี้เชียวหรือ...ว่าไปเรื่อยเปื่อยนะ ยิ่งอีตอนบรรยายให้ ชาวบ้านเขาฟังยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ วิทยากรต่าง ๆ จะพูดด้วยภาษาราชการ แต่ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง ไปถึงก็อุปโภคอยา่งนั้น บริโภคอย่างนี้ กะเหรี่ยงมันฟังรู้เรื่องไหมล่ะ เอออุปโภคบริโภค มันรู้แต่ ออหมี่ออที กินข้าวกินน้ำ อาตมาก็ต้องไปเป็นล่ามแปลไทยเป็นไทยให้เขาฟังอีกทีหนึ่ง ว่าไปว่ามาวิทยากรก็นิมนต์อาจารย์ว่าไปเรื่อย ๆ เลยครับ ตกลงบรรยาย ๖ ชั่วโมง พระว่าไป ๕ ชั่วโมงครึ่ง จริง ๆ ไม่ใช่เขาไม่เก่งนะ เขาเก่งแต่เขาลดระดับตัวเองลงมาไม่เป็น ต้องพูดภาษาชาวบ้านให้ชาวบ้านเขาฟัง นี่อาตมาก็พูดมากจนเกินไปเหมือนกัน ตกลงมีใครเก็บเอาไว้ได้บ้าง เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาหมด นักปฏิบัติที่ดีเมื่อกี้บอกแล้วการจดบันทึกสำคัญมากเป็นการซ้อมอตีตังสญาณด้วย

    ขณะเดียวกันก็กันลืม หัวใจนักปราชญ์จำได้มั๊ย สุ จิ ปุ ลิ สุ มาจาก สุตะ แปลว่า ฟัง จิ ก็มาจากจิตติ ปลว่าคิด ปุ ก็มาจากปุจฉา แปลว่าถาม ลิ ก็มาจากลิขิต เขียน ฟัง-คิด-ถาม-เขียน ไอ้เขียนนี่ท่านบอกไว้ว่ากันลืม สุตตะจงฟัง เขาอย่าขี้เกียจ จิตตะคิดให้ละเอียดที่สงสัย ปุจฉาหลงจงถามอย่าเกรงใจ ลิขิตเขียนไว้ได้จะดีเอย เก่งกันทุกคนจำได้หมดเลยไม่มีใครจดสักคนหนึ่ง อย่าเชียวนะไอ้ประเภทพึ่งเทคโนโลยีน่ะ เจ๊งมาเยอะต่อเยอะแล้ว

    อาตมาอยู่วัดท่าซุงถือสมุดบันทึกเข้าโบสถ์อยู่องค์เดียว ถึงเวลาก็จดยิก ๆ พี่น้องไอ้ ๔๐ กว่าคนไปพึ่งไอ้เครื่องบันทึกเสียงอยู่ ปรากฏว่าวันนั้นหลวงพ่อพูดเรื่องที่สำคัญที่สุด เครื่องบันทึกเสียงเจ๊ง อีคราวนี้มันทึ้งอาตมาซะเป็นชิ้น ๆ เลย จดอยู่คนเดียว สิ่งที่เราฟัง จะจำได้ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นกระทบใจของเรา ไอ้ตัวกระทบใจก็คือมันตรงกับใจของเรา ตรงกับการปฏิบัติของเราตอนนั้น แต่สิ่งที่เป็นโยชน์มหาศาลสำหรับเราในอนาคตมันจะผ่านเลยไปเฉย ๆ เพราะฉะนั้นจดซะบ้างโดยเฉพาะนักปฏิบัติ หลวงพ่อท่านบอกว่านักปฏิบัติที่ดีกระดาษปากกกาห้ามห่างมือเด็ดขาด ยิ่งเวลากลางคืนที่พระท่านสงเคราะห์ อาตมาพลิกตัวมาได้ มืดก็มืดแล้วเขี่ยนไว้ก่อนอ่านออกอ่านไม่ออกให้มันมีนัยเอาไว้ถึงเวลามันก็นึกได้เอง แต่ถ้าไม่จดรอให้เวลาผ่านไปพักเดียวเท่านั้นแหละ...ลืม มีอยู่วันหนึ่งหลวงพ่อท่านมาตอนเช้ามืด บอกให้ทำอย่างนั้น ๆๆ สั่งมา ๓ ข้อ ไอ้เราโอ๊ย...สบาย ๓๐๐ ข้อยังจำได้เลย ๓ ข้อ แค่นี้หมูมาก ปรากฏว่าพออรุณขึ้น มัเนหลือแค่ข้อเดียว อีก ๒ ข้อ มันหายขาด ชนิดคิดหัวแทบแตกก็เค้นไม่ออก ถ้าจดไว้ก่อนมันมีเค้าอยู่เราก็จะนึกขึ้นมาได้



    เล่มที่ ๑ หน้า ๔
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 27 กันยายน 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...