ของฝาก (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย ujae, 24 พฤษภาคม 2008.

  1. ujae

    ujae เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 กันยายน 2006
    โพสต์:
    208
    ค่าพลัง:
    +610
    ของฝาก


    พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
    (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)

    แสดง ณ วัดอโศการาม ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓
    เนื่องในงานฝังลูกนิมิตพระอุโบสถ
    จากหนังสือ “ท่านพ่อลี ธัมมธโร”
    ชมรมพุทธศาสน์ กฟผ. พิมพ์เผยแพร่



    ต่อไปนี้ ให้พากันตั้งใจสดับธรรมบ้างเล็กน้อย จะได้บรรยายข้อธรรมะ เพื่อเป็นการสนองศรัทธาท่านสาธุชนพุทธบริษัท

    ในกาลต่อไปนี้หรือในวันนี้ เป็นวันที่สุดของงาน ซึ่งได้ดำเนินการกันมาตั้งแต่วันที่ ๙ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เป็นกำหนดมาถึงวันนี้ ก็เป็นวันที่สำเร็จเรียบร้อยดี กิจการต่างๆ ก็แปลว่าหมด แต่งานอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นงานของบุคคล เป็นสิ่งที่ควรสนใจ ทำธุระหน้าที่ของตนเรื่อยไปจนกว่าจะหมดลม ฉะนั้น ในกาลต่อไปนี้ จึงจะขออัญเชิญธรรมมาแสดงเพิ่มเติม ฝากฝังพวกเราพุทธบริษัท ต่างท่านต่างคน จะได้พากันกลับไปบ้านของตัว การกลับไปบ้านของตัวนั้น ก็ควรที่จะมีอะไรติดตัวไปบ้าง เมื่อเรามีอะไรติดตัวของเราไปเล่นนั้น ของที่ควรเอาติดไป มีอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง เอาไปใช้สำหรับตัวเอง อย่างที่สอง จะต้องนำไปแจกจ่ายเจือจานแก่ชาวบ้านชาวเมืองตลอดถึงลูกเต้าหลานเหลนของตัว นี้อย่างที่สอง
    นี่ลักษณะของผู้ไปแสวงหาทรัพย์ เมื่อตนไปได้ทรัพย์มาจากที่ไหน หรือจะเป็นเครื่องบริโภค อุปโภค ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม เมื่อเรากลับไปถึงบ้านของเรา ถ้าเราได้มาก ก็แจกจ่ายลูกเต้าหลานเหลนของคน ถ้ามันมากไปจนเหลือเฟือในครอบครัวของเรา บ้านใกล้เคียงทุก ๆ บ้านของเรา เราก็แจกจ่ายขยายทรัพย์ของตัวนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ปวงชน นี้นัยหนึ่ง


    นัยที่สองนั้น ถ้าตนของตนไปแสวงหาทรัพย์มาได้ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ยังไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายเจือจานเช่นนั้น ก็ให้ถนอมทรัพย์ของตัวซึ่งติดกระเป๋าไปนั้น พยายามรักษาทรัพย์ก้อนนั้น สงวนทรัพย์ก้อนนั้น ให้ค่อยขยายตัวขึ้นมากๆ อย่าเอาทรัพย์อันนั้นไปเที่ยวทิ้ง ไปเที่ยวทำลายให้กระจัดกระจาย เราควรจะต้องถนอมทรัพย์ก้อนนั้นให้ขยายตัวขึ้น คือแปลว่า เราได้ไปน้อยไม่สามารถที่จะแจกจ่ายแก่กุลบุตร ลูกเต้าหลานเหลน บ้านใกล้เรือนเคียงก็ดี เราก็ควรถนอมไว้ในตัวของเราให้ดี เมื่อเราเป็นผู้รู้จักถนอมความดีของตนได้เช่นนั้น ความดีมันก็แก่ขึ้น มากขึ้น เมื่อมันมากขึ้นๆ จนมันเหลือล้นหลามเราก็ค่อยๆ แจกลูก แจกหลานต่อไป


    ถ้ายังไม่เป็นที่พอใจของตน ก็หามาใหม่ แปลว่าไปหาใหม่พอได้ไปแล้ว ก็พยายามถนอมไว้นานๆ ให้พยายามกระทำตัวอยู่โดยอาการเช่นนี้ จะได้รับผลประโยชน์หลายทาง ทางหนึ่งตัวเราเองก็จะมีความสุข ทางที่สอง ยังประโยชน์ของบุคคลผู้อื่นให้สำเร็จเป็นไปด้วยดี นี่เป็นหน้าที่ของเราพุทธบริษัท เมื่อเราไปแสวงหาบุญในถิ่นใด ในสถานที่ใด เราต้องสำเหนียกอย่างนี้ ว่าเราควรที่จะต้องมีทรัพย์ติดกระเป๋าไปบ้านของเรา ถ้าเป็นก้อนใหญ่ ก็จะเอาไปโปรยปรายขยายความดีนั้นให้เกิดประโยชน์ ถ้าได้น้อยก็ถนอมรักษาเอาไว้ให้ดี นี่เป็นนักบุญในทางพุทธศาสนา ต้องทำอย่างนี้ จึงเรียกว่าเราไปหาทรัพย์ของเรานั้น ไม่สาปไม่สูญ ทรัพย์นั้นเป็นเครื่องป้องกันชีวิตของเราเรื่อยๆ ไป ให้ผลประโยชน์ได้ทั้งสองทาง ทางหนึ่ง ให้ผลประโยชน์ในชาตินี้ ทางที่สอง ถึงเราจะแตกทำลายหายสูญไปจากโลกนี้ บุญกุศลก็ยังเป็นเครื่องชี้แนวทางของเรา ให้ไปในสถานที่ดี ถึงแม้จะมาเกิดในโลกนี้อีก ก็ไปเกิดในโลกที่เจริญ ไม่ไปเกิดในที่ทุกข์ยาก ลำบากเข็ญใจ เพราะกรรมสร้างไว้ คือความดีนั้น อำนวยผลให้สำเร็จ เหตุนั่นแหละ นี่เป็นคำสั่ง เป็นคำเตือน หรือชี้แนวทางหน้าที่ของเรา ที่ได้มาร่วมสันนิบาต บำเพ็ญกุศลโดยอาการต่างๆ นี่จงพากันกำหนดจดจำไว้ให้ดี ต่อนี้ จะได้นำความรู้สึกในตนของตนมาบรรยายให้พวกเราท่านทั้งหลายฟัง ฉะนั้น จงพากันตั้งอกตั้งใจ ตั้งสติอารมณ์ของเราให้เยือกเย็นเป็นสุข ปลอดโปร่ง ใจของเรานั้น ไม่ให้มีอะไรเกี่ยวข้องในสัญญาอารมณ์ต่างๆ ให้ใจสว่างไสวเบิกบาน แจ่มแจ้งขึ้นในปัจจุบันนี้ ฯ

    “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส”
    “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ นมสฺสามิ สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สทายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ ธมฺโม โสตพฺโพติ”


    ณ บัดนี้ จะได้นำซึ่งธรรมะมาแสดง เพื่อเป็นการฝากฝัง มอบหมาย ให้แก่พวกเราพุทธบริษัท ซึ่งได้พากันมาประชุมสันนิบาตกันในวัดนี้ เรื่องการมาของพวกเราทั้งหลายนั้นทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต ซึ่งมีดวงจิตประกอบไปด้วยกุศลธรรม ได้มาจากสถานที่ต่างๆ หลายจังหวัด แต่การมาของพวกเราเหล่านั้นมีอยู่ ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งเนื่องด้วยการเชิญชวนรับแจกใบกำหนดการ แล้วก็มาร่วมบำเพ็ญกุศลชุมนุมกันในสถานที่นี้ เป็นเวลาอยู่ ๑๑ วัน และอีกแผนกหนึ่ง มิได้ออกใบกำหนดการส่งข่าวไปถึง และไม่มีบัตรเชิญ พอได้ทราบข่าวแว่วๆ ผ่านโสตของตนแล้ว ก็มีเจตนาดี คือมีเจตนาดีนั้น มีอยู่สองทาง ทางหนึ่ง มาเห็นว่าการทำเช่นนั้นเป็นการบุญการกุศลของพวกเรา ว่าเขาจะไม่ได้เรียกไม่ได้เชิญก็ตาม แต่เป็นคุณงามความดีส่วนหนึ่ง เราต่อสู้มา บางท่านก็มีเหตุการณ์อย่างนี้ จนตลอดถึงพระเณรก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ทราบข่าว แล้วก็ได้พากันมาร่วมอกร่วมใจ ลักษณะเช่นนี้ เป็นเจตนากุศล ให้สำเร็จขึ้นในดวงใจของท่านทั้งหลายทุกท่านทุกคน บางท่านก็เห็นว่า เป็นเพื่อน เป็นหมู่เป็นคณะ เป็นครูบาอาจารย์ แม้ท่านไม่เรียกไม่ขานเราก็ควรไป บางท่านก็คิดเห็นเช่นนี้แล้วก็ได้มาร่วมสันนิบาตประกอบกิจการต่างๆ ให้สำเร็จจนบัดนี้ ลักษณะทั้งหลายเหล่านี้ ผู้แสดงบรรยายมานี้ จึงขอแสดงความขอบอกขอบใจแก่ท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง เพราะงานอย่างนี้เป็นงานที่มากมายหลายอย่าง หลายหน้าที่ ถ้าแม้ตนจะทำไปโดยลำพังตนเองนั้น เชื่อแน่ว่าไม่สำเร็จในกิจการเหล่านี้ การสำเร็จลุล่วงมาด้วยดีนั้น เป็นคุณงามความดีของท่านทั้งหลาย ซึ่งได้มาด้วยสองหน้าที่ดังกล่าว

    ทีนี้ การที่มาให้สำเร็จกิจการเหล่านี้ลงไปเช่นนั้น พวกท่านทั้งหลายก็จะได้รับผล ๒ ประการ ประการที่หนึ่งเรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศล ไม่ต้องสงสัยเลย ประการที่สองนั้นเป็นคุณเป็นประโยชน์

    เป็นบุญ เป็นกุศลนั้น คือแปลว่า เราไม่เคยมาในที่นี้ เราไม่รู้จักคุ้นเคยกับท่าน แต่ทราบว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลก็พากันมาด้วยความหวังบุญ หวังกุศล อันนี้เรียกว่าเป็นบุญกุศลอยู่แผนกหนึ่ง

    อีกแผนกหนึ่งก็อย่างกล่าวมานั้นแหละในฐานะที่เป็นสานุศิษย์บ้างในฐานะที่เป็นเพื่อนเป็นมิตรกันบ้าง ในฐานะที่ร่วมครูบาอาจารย์เดียวกันบ้าง เมื่อตั้งใจมาช่วยเหลือกิจการธุระเหล่านี้ด้วยความพอใจของคน อันนี้ก็เป็นบุญ เป็นกุศลส่วนหนึ่ง และผลที่จะต้องพึงได้รับ ก็คือบุญกุศลนี้อย่างหนึ่ง และคุณประโยชน์นี้อย่างที่สอง

    บุญกุศลนั้น เป็นเรื่องตนของตนเองจะรับผิดชอบในตนของตนเอง ส่วนคุณนั้น ผู้ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลืออย่างนั้น ก็เป็นผู้มิได้ลืมบุญคุณของท่านทั้งหลาย ยังมีสัญญาฝังไว้ในดวงจิตว่า เราทางานในปีนั้น เวลานั้น เพื่อนฝูงหมู่คณะสานุศิษย์ได้มาช่วยเหลือเรา เมื่อกิจธุระอันใดเกิดขึ้น ในฐานะที่มีความสามารถก็คงจะมีโอกาสไปสนองคุณพวกท่านทั้งหลายได้ตามกำลัง อันนี้ใครจะเรียกขานก็ตาม ไม่เรียกไม่ขานก็ตาม แม้จะไปได้ก็ตาม ไปไม่ได้ก็ตาม แต่ความเจตนาที่จะทำให้พวกเราเหล่านั้น ได้ดีขึ้นในฐานใดฐานหนึ่ง ก็ยังไม่วายที่จะต้องคิดนึก แม้ทางกายไปไม่รอด ทางวาจาพูดไม่ถึง แต่ดวงจิต เมื่อได้ทราบข่าวกุศลเกิดขึ้นโดยวิธีใด ก็มีหนทางที่จะสนับสนุนช่วยเหลือกันอยู่ ด้วยการมาระลึกถึงคุณ บุญกุศลส่วนใดที่ตนได้ก่อสร้างไว้ ก็จะได้ตั้งใจแผ่เมตตาจิต อุทิศกุศลผลที่ทำนั้นหลั่งไหลลงไป ให้แก่พวกท่านทั้งหลาย เปรียบเหมือนกับว่าพวกเราไปทำไร่ทำนาอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม เมื่อเราไปปลูกข้าว หรือทำไร่ทำสวน ถ้าหากว่าพวกเราไปเกิดความกันดารเกิดขึ้น เช่นฝนไม่ตก น้ำมันแห้ง เพื่อเป็นเช่นนี้จะต้องมีหน้าที่ประกอบขึ้น ตัวอย่างเช่น หาน้ำมาใส่ หรือว่าเราจะกันหัวคันนา เมื่อหากว่าไม่สามารถจะไปกั้นช่วย ไม่สามารถจะไปหาบน้ำ หิ้วน้ำมาช่วย ถ้าได้ทราบข่าวพวกเราอดอยากกันเช่นนั้นผู้ที่มาระลึกถึงคุณท่านทั้งหลายนั้นก็จะเจริญเมตตาจิต

    การเจริญเมตตาจิตนั้น เป็นของลึกลับ เป็นของที่มองเห็นได้ยาก เหมือนกับไฟที่มันออกไปจากลูกตาของเรา ไฟที่จะต้องพุ่งไปในอากาศนั้น มีทุกคน เหมือนกับว่าไฟรถยนต์ที่เขาฉายไปตามถนนฉะนั้นแหละ แต่ไฟในตาคนนั้นมันอ่อน แม้เราจะมองไปที่ไหน ก็ไม่เห็นแสงไฟผ่าน เพราะกระแสอ่อน กระแสอ่อนนี่จึงไปได้ไกล ถ้ากระแสกล้านั้นไปได้ใกล้ ดวงใจผู้บำเพ็ญสมาธิ เมื่อสมาธิตั้งมั่น จึงสามารถที่จะมองเห็นโลกลึกลับ คือธรรมชาติไฟนัยน์ตานั้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่ว่าใช้การไม่ได้ เพราอะไร เพราะจิตไม่สงบ ถ้าจิตไม่สงบ ก็เหมือนกับคนที่วุ่นวายอยู่ มัวแต่ยุ่ง มัวแต่วุ่น มัวแต่วายอยู่ เมื่อจิตวุ่นวายอยู่โดยอาการเช่นนี้ อำนาจจักษุคือดวงตาเรา ถึงจะมีไฟให้อยู่ก็ตาม ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะไฟนี้ เป็นไฟที่อ่อน และเป็นไฟที่ละเอียด วิ่งได้ไกลมาก เสียแต่อย่างเดียว คือจิตไม่สงบ ถ้าจิตสงบก็จะมองเห็นทางไกลได้ทันที เรียกว่าทิพยจักษุ นี่เป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่าธรรมดาซึ่งเป็นอยู่ในมนุษย์ และเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในมนุษย์ ถ้าใครใจอ่อน คลื่นทั้งหลายตัดไฟขาดสะบั้น ถ้าใจของใครเข้มแข็งแก่กล้า คลื่นต่างๆ ในโลกนี้ ก็ไม่สามารถที่จะตัดกระแสไฟในตาของบุคคลผู้นั้น ฉะนั้นถึงแม้จะลืมตาก็อาจจะมองเห็นไกลได้ จะหลับตาก็อาจจะมองเห็นไกลได้ นี่กล่าวถึงคุณภาพในร่างกายของมนุษย์ คุณภาพของร่างกายนั้นก็เป็นของมีคุณภาพสูงอยู่โดยธรรมชาติแต่มันใช้การไม่ได้ เพราะคนเจ้าของนั้นน่ะเป็นคนที่มีจิตฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่านเช่นนั้น ก็เหมือนคนดื่มสุรากำลังเมาจัด ถึงแม้จะมีเครื่องใช้สอยอยู่ในอำนาจก็ไม่สำเร็จประโยชน์ นอกจากจะต้องใช้อาวุธไปประหัตประหารกันเท่านั้น ถ้าหากว่าคนนั้นเป็นคนดี อาวุธมันก็จะเป็นเครื่องสะสม ก่อสร้างแสวงหาทรัพย์สินเงินทองมาบำรุงร่างกายให้เป็นสุข ถ้าคนนั้นเป็นคนวิกลจริต มีมีดมันก็จะไปผ่าหัวคน เป็นเหตุให้พาตนไปติดคุกติดตะราง ถึงไม่ติดคุกติดตะรางในส่วนภายนอก ก็จะต้องเข้าห้องขังหรือกรง ในบ้านของตัวเอง


    นี่ฉันใด มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ แม้มีธรรมชาติดีๆ นี้ในตัวนี้ก็ตามแต่ดวงจิตนั้นยังไม่เป็นปรกติ ของดีๆ ในตัวนี้ ก็จะกลายเป็นโทษไปต่างๆ นี้กล่าวถึงหลักธรรมชาติ ทีนี้กล่าวถึงเรื่องลึกลับ ในเรื่องจิต ในเรื่องกุศล มันยิ่งลึกลงไปกว่าร่างกายนี้ ฉะนั้นการช่วยเหลือกันในทางจิต ยิ่งลึกไปกว่านี้อีก ถ้าบุคคลผู้ฝึกหัดดวงจิตของตน ฝึกฝนอย่างดี จนได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เมื่อตนของตนได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เมื่อได้ทราบข่าวความทุกข์เกิดขึ้นแก่ปวงชน ตนเห็นมีหนทางจะช่วยเหลือได้ก็ใช้อำนาจในทางจิต บำเพ็ญจิตให้ตั้งมั่น ก็สามารถที่ส่งกระแสอันนั้นให้แล่นเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที ท่านเปรียบว่า คนธรรมดาสามัญนี้เหมือนกับน้ำเค็มที่อยู่ในมหาสมุทร น้ำเค็มในมหาสมุทรนั้น จะอาบก็ไม่สบายกายไม่สบายจิต แต่พอแก้ขัดได้บ้าง อาศัยการผสมขึ้น เราจะดื่มจะกิน ก็ไม่สามารถที่จะบำรุงร่างกายของเราให้เจริญได้ นอกจากไม่มีจริงๆ ก็คงพอจะแก้ไขได้เหมือนกัน


    นี่ฉันใดก็ดี ดวงใจของมนุษย์อยู่ในโลกนี้ก็ชื่อว่าลอยอยู่ในมหาสมุทร ที่ท่านเรียกว่า กามโอฆะ ภวโอฆะ อวิชชาโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ ทั้งสี่มหาสาครนี้เป็นมหาสมุทรอันลึก ลึกยิ่งกว่ามหาสมุทรที่เป็นน้ำอยู่ในทะเล พวกเราก็อาศัยดวงจิตซึ่งว่ายอยู่ในมหาสมุทร จมอยู่กับน้ำเค็ม เหตุนั้นบางคนถ้าน้ำมาเค็มจัดๆ คลื่นมากๆ นอนกลิ้งเหมือนกับลูกคลื่นอย่างนั้นแหละ นอนไม่หลับ พลิกไปบ้างซ้ายมันก็ไม่หลับ พลิกไปข้างขวามันก็ไม่หลับ มันเลยเป็นคลื่น คลื่นมันมาจากไหน มันก็มาจากมหาสมุทร กล่าวคือ กามโอฆะ คลื่นคือเรื่องของกาม พัสดุกาม กิเลสกามนี้ ภวโอฆะ คลื่นก็คือ ภว ความอยากมีอยากเป็น ดิ้นรนขวนขวายพยายามให้พ้นไปจากภาวะของตัว ทิฏฐิโอฆะ ถือรั้นยึดมั่นในความคิดเห็นของคนถ่ายเดียว เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท อันนี้ก็ชื่อว่าเราลอยอยู่ในน้ำเค็ม อวิชชาโอฆะ ได้แก่ อวิชชา ความมืด คือมืดข้างหลัง ไม่รู้เรื่องอดีต มืดข้างหน้า ไม่รู้เรื่องอนาคต มืดปัจจุบัน อันใดเป็นความดี อันใดเป็นความชั่วในตัวนั้น ไม่เคยนึกคิด ปล่อยดวงจิตให้หลงไปตามโลกตามสงสาร อย่างนี้ชื่อว่า อวิชชา


    ธรรมดาดวงจิตของมนุษย์พุทธบริษัท ท่องว่ายกันอยู่โดยอาการอย่างนี้ เหตุนี้พระองค์จึงได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณต้องการให้พวกเราสร้างบุญสร้างกุศล ท่านจึงทรงแนะนำพวกเราให้พากันบำเพ็ญทานบ้าง พากันสร้างเรือบ้าง เรือก็คือได้แก่ร่างกายของเรา ส่วนเสบียงที่จะต้องข้ามมหาสมุทรนั้นได้แก่ปัจจัยธาตุ ซึ่งพวกเราพุทธบริษัท ได้พากันมาเสียสละอันเป็นประโยชน์แก่วัดวาอาวาส เรียกว่า บำเพ็ญทานการกุศล ถ้าใครทำมากก็จะไปข้ามมหาสมุทรได้ เพราะมีอาหารกิน ถ้าใครทำน้อย เสบียงหมด บางทีก็จะไปเท้งเต้งอยู่กลางทะเล บางทีคลื่นซัดขึ้นไปบนบก รอดตัว ถ้าหากว่าคลื่นมันใหญ่ เรือลำเล็ก มันก็ไม่สามารถที่จะท่องขึ้นไปถึงหาดถึงทรายได้ ก็จะจมลงไปในมหาสมุทรสาคร นี่พระองค์ได้ทรงพิจารณาโดยอาการอย่างนี้ ท่านจึงได้แนะนำพวกเราว่า จงพากันสร้างคุณงามความดีขึ้นเถิด คุณงามความดีของพวกเรานั้น ก็คือคุณงามความดีที่เกี่ยวถึงโภคทรัพย์ คุณงามความดีก็ได้แก่การประพฤติปฏิบัติ ซ่อมแซม ดัดแปลง เยียวยาร่างกายของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เมื่อเป็นเล่นนี้ เราจะต้องได้รับผล ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง เรือของเราก็จะไม่จม อย่างที่สองเสบียงเรามาก เราก็สามารถที่จะข้ามอ่าวมหาสมุทรไปได้ ธรรมดาคนที่มีเรือเดินสมุทร มีเสบียงติดเรือไปนั้น บางคนก็จะหมดน้ำดื่มน้ำบริโภค แม้เสบียงอื่นยังมีอยู่ก็ลำบาก เพื่อเป็นเช่นนี้ท่านจึงค้นวิชาให้อีกอย่างหนึ่ง ให้กลั่นน้ำเค็มนี้แหละกิน เมื่อเรามีปัญญาก็สามารถกลั่นน้ำเค็มกิน เราก็จะไปถึงประเทศอเมริกาโดยไม่ต้องแวะบก กินน้ำเค็มนั่นแหละ คือมีปัญญา มีปัญญายังไงคือ น้ำเค็มมันก็มาจากน้ำจืด น้ำจืดมันก็จะต้องกลายเป็นน้ำเค็ม เมื่อมีเค็มที่ใด มันก็มีจืดที่นั่น มันหนีจากกันไม่ได้ เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นโดยอาการเช่นนี้ คนนั้นก็จะเดินข้ามมหาสมุทรได้รอบโลก แล้วก็เป็นจริงๆ ด้วย ถ้าเรากลั่นเป็น น้ำเค็มของเรานั่นแหละ มันจะกลายเป็นน้ำจืด เมื่อเราสามารถที่จะทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดได้ เช่นนั้นก็สบาย เราจะไปอยู่ในทะเลเราก็ได้กินน้ำจืด ได้ใช้น้ำจืดชำระสรีระร่างกายก็สบายดี
    อันนี้ฉันใด พวกเราก็พากันว่ายอยู่ในมหาสมุทรสาคร กล่าวคือโลกนี้ก็เหมือนกัน เราก็จะต้อง

    ๑. ยาเรือของเราให้มันดี
    ๒. ขนเสบียงใส่เรือของเราให้มันเพียงพอ
    ๓. ค้นหาวิธีกลั่นน้ำเค็มให้มันเป็นน้ำจืด

     
  2. ujae

    ujae เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 กันยายน 2006
    โพสต์:
    208
    ค่าพลัง:
    +610
    เรือนั้นก็คือ ได้แก่ร่างกายของเรา ลำไม่โต ถ้ามันโตยิ่งกว่านี้ก็จะลำบากมาก มนุษย์ ร่างกายของเรา กว้างมันก็ศอก เรียกว่ากว้างศอก ยาววา หนาคืบ นี่เรือนี้แหละ เรือลำนี้เราจะต้องยาให้ดี การหยูกยาเรือของเรานั้น ได้แก่การสังวร เรียกว่าอินทรีย์สังวรศีล มีการสำรวมตา ระมัดระวัง อย่าให้เกิดบาปเกิดกรรม อย่าให้ตัวเพรียงมาเกาะ สำรวมหู ได้แก่ การที่พวกเราระมัดระวัง อย่าให้สิ่งที่เป็นบาปเป็นกรรมเข้ามาในหูของเรา สิ่งเป็นบาปเป็นกรรมนั้น มันเป็นตัวเพรียง ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราก็เหมือนกัน สิ่งใดจะเป็นบาปเป็นโทษ เราอย่าได้สนใจในสิ่งนั้น เพราะสิ่งนั้นเห็นว่ามันเป็นเพรียง มันเป็นตัวมอด มันเป็นสิ่งที่จะต่อสู้ทำเรือของเรานั้นให้ผุให้พัง

    นี่ท่านจึงสอนให้สำรวมกาย สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น จนตลอดสำรวมใจของเรา สิ่งใดไม่ควรกระทำ ที่เป็นกรรมเป็นโทษ เราอย่าไปทำ เราควรที่จะต้องปกปิดระมัดระวัง สำรวม พิจารณาดูให้ดีเสียก่อน เมื่อเพรียงมันมาเกาะกายของเราทั้งก้อน เรือกล่าวคือกายนาวานี้ก็จะสึกหรอ หรือเสียหาย เป็นเหตุให้จมลงในมหาสมุทรได้ทางหนึ่ง ใจของเราก็อีกทางหนึ่ง อย่าให้พวกกิเลสมาเกิดขึ้นในดวงจิต เราจะต้องระมัดระวัง สำรวมอยู่อย่างนี้เป็นนิจเมื่อเรามีหยุดยา มีการที่จะยาอยู่เสมอ ในอายตนะทั้งหกของเรานี้ เราก็ยาอยู่เป็นนิจ ตาก็ต้องยาด้วยรูป หูก็ต้องยาด้วยเสียง จมูกจะต้องยาด้วยกลิ่น ลิ้นจะต้องยาด้วยรส กายจะต้องยาด้วยสัมผัส ใจจะต้องยาด้วยธรรมะ
    ยาตานั่นก็คืออะไร ทิพยเนตร สิ่งใดที่เป็นบุญเป็นกุศลเป็นประโยชน์ นอกวัดก็ตามในวัดก็ตาม เมื่อเราพบผ่านอย่าเมินเฉย เราควรจะต้องเพิ่มเติมสิ่งขัดข้องนั้นให้เต็มขึ้นโดยลำดับ นี่เรียกว่ายาตา


    ยาหู ที่นี้เมื่อเราได้ฟังสิ่งใด เขาจะมีเจตนาบอกเราก็ตาม สอนเราก็ช่าง ไม่สอนก็ตาม เมื่อเราได้ฟังเสียดหูเข้าไป ให้นึกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นคุณงามความดี จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน จะเป็นคนชนิดไหนก็ช่าง จะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นพระเป็นเณร เป็นเถรเป็นชี สูงต่ำดำขาว ประการใดยกเลิก เราจะต้องเลือกเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ส่วนใดที่จะเกิดประโยชน์แก่ตน เราควรที่จะต้องสนใจฟังในสิ่งนั้น อันนี้เรียกว่า เสียงเป็นเครื่องยาหู คือหมัน เรียกว่าเปรียบคล้ายๆ กับตอกหมันเรือ


    เมื่อเราไปผ่านกลิ่น ที่จะผ่านมาทางจมูกของเรา กลิ่นอันใดที่จะให้เกิดความเบิกบานใจ เป็นสิ่งจะไหลมาซึ่งบุญกุศลน้อยใหญ่ เราก็ควรแสวงหากลิ่นอันนั้น มายาจมูกของคน เป็นเหตุให้ดวงใจได้รับความร่มเย็นเป็นสุข


    ยากาย ทีนี้ได้แก่พวกเราพากันมานั่งฟังเทศน์ ด้วยความสงบระงับ ไม่จุ้นจ้าน ได้แก่การมาเจริญกรรมฐาน นั่งฟังเทศน์สวดมนต์ เดินเวียนเทียน ให้กายเรายกขึ้น กราบนอบน้อมนมัสการ บูชาพระพุทธเจ้า ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ อันนี้ก็เหมือนกับตอกหมันเรือ เรียกว่าเครื่องยากาย


    ส่วนยาใจนั้น เป็นธรรมโอสถ เราจะต้องยกด้วยการนึกและการคิด สิ่งใดเมื่อเราคิดไป ใจเสีย อย่าไปคิด จะเป็นทางโลกก็ตาม ทางธรรมก็ช่าง แต่เป็นเหตุให้ดวงจิตนั้นเกิดความโกรธ เกิดความหลง อย่าไปสนใจในเรื่องนั้น เราจะต้องหวนระลึกในทางบุญกุศลที่เราได้สับสร้างมาในปางก่อน ตัวอย่างเช่น พวกเราได้พากันมาระลึกถึงความดีในปี ๒๕๐๐ นั้น มาบัดนี้ ถึงจะพลัดพรากจากกันไปอยู่ไกลๆ ก็ตาม ก็ได้มาร่วมบำเพ็ญกุศลกันอีกครั้งหนึ่ง คือมานึกถึงสภาพเดิม นี่ก็ชื่อว่าเป็นเครื่องยาจิต นอกจากนั้น ก็พากันพยายามบำเพ็ญความดีชิ้นหนึ่ง เรียกว่ามาเจริญสมาธิ การเจริญสมาธินั้นก็ชื่อว่า เป็นการยาดวงจิตดวงใจของเรา อย่าปล่อยใจของเราให้มีช่องโหว่เกิดขึ้น


    อันนี้ชื่อว่าเป็นการยาเรือของเรา ได้แก่ร่างกายในบาลีเรียกว่าอินทรียสังวรศีล มีการสำรวมตา มีการสำรวมหู มีการสำรวมจมูก ลิ้น กาย จิต เรือของเราก็จะลอยอยู่ในมหาสมุทรไม่มีจมแหละ นี่เรียกว่า “ยาเรือ”

    ที่นี้หรือเรานั้นเราจะทำยังไง เราจะต้องขนของใส่ ได้แก่การที่พวกเราได้เกิดมาในโลกนี้ มีความสุขอาศัยปัจจัยธาตุ มีการบริโภคอาหาร มีการนุ่งผ้าผ่อนท่อนสไบ มีการอาศัยเคหะสถานบ้านเรือนเป็นที่อยู่ มีการอาศัยคิลานเภสัช มาเยียวยาอัตภาพร่างกาย จึงมีความสบายร่มเย็นเป็นสุขมาถึงเพียงนี้ เมื่อเรามาพิจารณาเห็นโดยอาการเช่นนี้ ก็มาหวนระลึกถึงความเป็นอยู่ของคนอื่น เมื่อตัวของเราเห็นในตัวเองเช่นนี้ ก็พากันขนซึ่งปัจจัยธาตุ เช่นถวายอาหารบิณฑบาตเป็นทาน ถวายปัจจัยธาตุเพื่อให้สำเร็จในปัจจัยทั้งสี่ อันนี้ชื่อว่าขนของใส่เรือ ต่อไปก็พากันกางใบขึ้นบนอากาศ ได้แก่ เชิญหรืออาราธนาพระสงฆ์ขึ้นบนธรรมาสน์ แล้วก็กล่าวประกาศแสดงธรรมะ เพื่อเป็นการขับต้อนดวงจิตของเราให้น้อมไปในท่าทีที่ดีที่ชอบ ดวงจิตนั้นก็จะวิ่งจี๋ไปตามกระแสธรรม ร่างกายก็ไปด้วย ตัวอย่างเช่นพอฟังเทศน์แล้วก็เป็นที่พออกพอใจ อยากฟังอีก อยากไปอีก นี่แหละเรือของเรากำลังถูกลมพัด เรือก็วิ่งเร็ว ลมก็แรงเป็นเหตุให้เรือของเรานั้นวิ่งถึงฝั่งได้ง่าย นี่ถ้าไม่มีใบเป็นเครื่องส่งเสริม ขนของใส่มาก มันหนักมันก็จะจมได้เช่นเดียวกัน เหตุนั้น เมื่อทำบุญให้ทานการกุศลจึงนิยมมีการแสดงธรรมเพื่อเป็นเครื่องขับต้อน ผลักดันให้ดวงจิตของเราเหล่านั้น ให้แล่นไปตามกระแสธรรม เรือเราจะเดินได้นั้น จะต้องอาศัยใบ ของมากน้อยเพียงใด ก็จะวิ่งไปตามความต้องการของบุคคลที่ขี่ นี่ประการที่สอง


    ประการที่สามนั้น วิธีกลั่นน้ำเค็มให้มันเป็นน้ำจืด ได้แก่ การมาเจริญสมถกรรมฐาน มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน พิจารณาโดยวิตกวิจาร ให้เกิดขึ้นในตนของตน น้ำเค็มคืออะไร ก็คือกิเลส ไอ้เจ้ากิเลสนี่มันเค็มมากยิ่งกว่าเกลือ เอาเกลือมากินเสมอ นิดๆ หน่อยๆ เราก็ว่ามันเค็ม กลืนไม่ได้ แต่กิเลสนะมันเค็มยิ่งกว่าเกลือไปอีก มันอาจสามารถที่จะไปอาบคนนั้นให้เปื่อยให้เน่า ให้เสียหายด้วยประการต่างๆ นี่เพื่อเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไร เราต้องกลั่นหรือกรอง การกรองนั้นเรียกว่า โยนิโสมนสิการ เมื่อเราจะบำเพ็ญสิ่งใดก็ไตร่ตรอง พินิจพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน นี่เป็นหม้อกลั่นลูกที่หนึ่ง หม้อกลั่นลูกที่สองนั้นได้แก่ การที่มาเจริญกรรมฐาน มาพิจารณาสังขารของตนโดยอุบายแยบคาย มาเจริญองค์ฌานให้เกิดขึ้น ได้แก่การวิตก มาตรึกหรือมานึกถึงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของดวงจิต เรียกว่า โคจรธรรม จะเป็นเครื่องชักนำดวงจิตของเราให้สัญจรไปในท่าทีที่ถูก ได้แก่การมาเจริญสติปัฏฐานทั้งนี่ นี่เป็นวิธีกลั่นน้ำเค็ม


    การเจริญสติปัฏฐานทั้งสี่ นั้นคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาฯ จิตตานุปัสสนาฯ ธัมมานุปัสสนาฯ ทั้งสี่ประการนี้ ซึ่งมารวมอยู่กับกายและจิต นี่โดยนัยหนึ่ง เรียกว่าอนุโลม ส่วนปฏิโลมนั้น ๔ ให้เป็น ๑, ๑ ใน ๔, ๔ ใน ๑ นี่เป็นส่วนปฏิโลม อนุโลมนั้นก็คือได้แก่ วิตก วิจาร นั่นเองแหละ เมื่อเรามาพิจารณา ๔ ให้เป็นใน ๑ คือในอวัยวะของเรา เราจะยกเอาแต่ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ดังบาลีที่ปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร ว่ากายในกายเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ของสมถะได้ทางหนึ่ง คือทั้งสี่ส่วนประชุมกันเข้า แล้วก็รวมมาเรียกว่า รูปกาย ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ประสมกันเป็นก้อน นี่ท่านเรียกว่ากาย เมื่อเราเห็นว่ามันมาก หลายอย่างหลายชนิดพาจิตฟุ้งซ่าน ไม่สงบ เราก็เลือกเอาแต่ส่วนโดยเอกเทศ ตัวอย่างเช่น ธาตุไฟเราทิ้ง ธาตุดินเราทิ้ง ธาตุน้ำเราทิ้ง เราจะนิ่งอยู่เฉพาะธาตุลมอย่างเดียว เราก็จ่อลงไปในธาตุลมที่เรานึก นี่เรียกว่ากายในกาย

    ธาตุลม ก็คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เมื่อเรามาตั้งสติกำหนดจดจ้อง มองกันอยู่อย่างนี้เป็นนิจ นี่เรียกว่า เจริญกายในกาย ลมเข้าเราก็มอง ลมออกเราก็มอง สำรวจเรื่อยไป บางคราวก็หยาบ บางคราวก็ละเอียด บางคราวก็เย็น บางคราวก็ร้อน ถึงจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตามเถิด บางคราวก็จวนๆ ที่จะถึงของดี ก็มีความท้อถอยเสีย


    ธรรมดาที่เราต้มน้ำนั้น มีอยู่ ๒ ประการ
    ประการหนึ่ง ถ้าไฟมันแรง มันเดือดมากเป็นเหตุให้น้ำเป็นไอมาก เดือดท่วมหม้อ ไฟเราดับ บางคราวไฟมันอ่อน น้ำไม่เดือด ไอไม่เกิด บางคราวก็พอดีๆ ไม่อ่อนมากนัก ไม่แรงมากนักเป็นพอปานกลาง เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ไฟเราก็พอดีพอเหมาะ พอเกิดไปขึ้น ไม่ถึงกับจะต้องไปดันฝาละมีให้เปิด แต่มันมีไอออกมาตามหม้อตามไหที่เรากลั่น ไอที่มันออกมามันกลายเป็นน้ำจืด อันนี้แหละท่านจึงให้สังเกตดู เมื่อเราต่อสู้การอยากให้มันเป็นมากๆ ใจของเราก็ไม่สงบ ลมก็กำเริบไม่ละเอียด นี่คือความอยากเข้าไปแทรก บางคราวก็อ่อนเกินไป นั่งสงบใจ ลมก็ละเอียด เบา หลับไปเลย อย่างนี้ก็ไม่สุก เราต้องปรุงให้ดี ให้พอเหมาะพอสม ให้มีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่เป็นนิจ ดวงจิตเราจะอยู่กับลมหยาบเราก็ทราบ ดวงจิตจะอยู่กับลมละเอียดเราก็ทราบ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะประจำอยู่โดยอาการเช่นนี้ ผลที่มันเกิดขึ้นนั้นก็คือได้แก่ ปีติ กายก็สบาย กายเบา กายสงบ กายก็เยือกเย็น ดวงจิตนั้นก็รู้สึกว่าอิ่มหนำสำราญเบิกบานใสแจ๋วอยู่ในองค์สมาธิ นั่นแหละมันเกิดน้ำจืดละทีนี้ น้ำเค็มมันก็หายไป กามฉันทะก็จะหายไป พยาปาทะ ความพยาบาทก็หายไป ถีนะมิทธะ ความโงกง่วงก็หายไป อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟ้งซ่านรำคาญจิตก็หายไป วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ปล่อยใจวิ่งไปในทางอดีต ปล่อยใจวิ่งไปในทางอนาคต ปัจจุบันนั้นก็ไม่รู้แจ้งเห็นจริง เมื่อจิตเรานิ่งลงไป ใจละเอียดก็จะเกิดความสงบขึ้น ก็มีความสุข ใจก็อิ่มหนำสำราญ เบิกบานใจ สามารถที่จะนั่งอยู่ได้หลายชั่วโมง อันนี้แลฉันใด ใครเอาน้ำจืดลงไปในเรือเสมอตุ่มหนึ่ง เมื่อมีปัญญากลั่นน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด น้ำตุ่มนั้นก็จะเป็นสิ่งอัศจรรย์ เราก็สามารถที่จะกลั่นน้ำเค็มกินได้รอบโลก
    เหตุนั้นผู้เจริญสมาธิ เมื่อเกิดมี วิตก ยกดวงจิตขึ้นสู่อารมณ์ เป็นตัวปฐมฌานขั้นหนึ่ง วิจาร พิจารณากรรมฐานของเราให้มันละเอียดอยู่เป็นนิจ เมื่อกายของเราก็ได้พิจารณาคัดเลือกด้วยดี ดวงจิตเราก็ได้พินิจพิจารณาเห็นโทษในนิวรณ์ทั้ง 5 อย่าง ต่อนั้นกายก็จะสงบ เรียกว่ากายปัสสัทธิ ดวงจิตก็จะเงียบเรียกว่าจิตปัสสัทธิ กายก็สบาย ไม่มีอาการเจ็บปวดเมื่อยมึน มีความเบากายเรียกว่ากายลหุตา อันนี้ ก็เป็นปีติเกิดขึ้น ดวงจิตนั้น มีอิ่มหนำสำราญ ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ เหมือนกับคนได้กินอาหารอิ่ม หรือลูกได้กินอาหารอิ่มย่อมไม่รบกวนซึ่งพ่อแม่ของตน

    สาธุชน พุทธบริษัททั้งหลาย เมื่อใจของตนมีปีติเป็นเครื่องกำกับนั้น ก็จะหมดไป


    จากความกระวนกระวาย ดวงใจนั้นก็มีความเย็น น้ำจืดซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำเค็ม ก็จะต้องอาศัยเป็นเครื่องอุปโภค จะได้พากันชักฟอกผ้าเสบียงผ้าสไบของเราทั้งหลาย เป็นเครื่องที่จะต้องอาบผิวหนัง ต่อนั้นก็จะต้องพากันชักฟอก คือธาตุดินก็เป็นผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่ง ธาตุน้ำก็เป็นผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่ง ธาตุลมก็เป็นผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่ง ธาตุไฟก็เป็นผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่ง มันคอยขาด คอยเศร้าคอยหมอง ต้องเยียวยาอยู่เป็นนิจ เมื่อมีดวงจิตเป็นองค์สมาธิให้เกิดขึ้น อำนาจปีติก็จะมาซักฟอกธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ต่อไปจะต้องการร้อน ก็ไม่ต้องไปตากแดด ต้องการหนาวก็ไม่ต้องไปตากลม อยู่แดดต้องการเย็นก็เย็น อยู่น้ำต้องการอุ่นก็อุ่น ก็สบายกาย สบายจิต เหมือนคนที่มีผ้าปกปิดร่างกาย จะไปในสังคมใดๆ ก็ไม่เก้อเขิน


    อันนี้แล ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย จึงไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวลำบากเพราะเหตุใด เพราะมีเครื่องอาศัย มีน้ำจืด มีน้ำอาบ น้ำกิน เครื่องอุปโภคก็สำเร็จ คือได้แก่น้ำมาฟอกร่างกาย ฟอกตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต ฟอกธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ นี่ชื่อว่าเครื่องอุปโภค ต้องการบริโภค คือจะดื่มเข้าไปนั้น ก็มาเจริญธรรมะเบื้องบน ให้ดวงจิตนั้นเกิดปีติ มีความสุข ความสุขก็เกิดขึ้นในดวงจิต เมื่อดวงจิตมีความสุข กายก็มีความสุข ใจก็มีความสุข ดวงจิตก็ดื่มตั้งแต่ความสุข สุขทั้งหลายจะยิ่งไปกว่าความสงบจิตไม่มี เหตุนี้ ปีติเป็นเครื่องอุปโภค เป็นเครื่องชำระร่างกายและดวงจิตโดยเอกเทศ ส่วนความสุขนั้น เป็นเครื่องชำระดวงจิตฝ่ายเดียว


    ฉะนั้น เมื่อใครมีปัญญา มากลั่นน้ำเค็มให้กลายเป็นน้ำจืด ก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุข นี่เป็นหม้อกลั่นโรงที่หนึ่ง โรงที่สอง กลั่นแล้ว ยังมีสิ่งอื่นที่เหลืออยู่ ก็ต้องกลั่นให้ละเอียด ตัวอย่างเช่น เขากลั่นซึ่งน้ำตาล บางประการก็ยังมีแอลกอฮอล์ติดอยู่ แล้วก็ขึ้นไปในหม้อที่สอง ก็ยิ่งเป็นของละเอียด อันนั้นได้แก่การมาเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นของละเอียดไม่สามารถจะมองเห็นด้วยตา จะยืนอยู่ก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จะนั่งอยู่ก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จะนอน หรือแม้จะนั่งเทศนาอยู่ ปากก็พูด ดวงจิตก็คิดนึกตามอารมณ์ เมื่อตนของตนจะแต่งคำพูดก็ดี หรือเป็นจิตสังขารที่เกิดขึ้นด้วยลำพังคนก็ดี ไม่ติดกายสังขาร คือ ความเป็นอยู่ของร่างกาย ไม่ติดวจีสังขาร คือได้แก่การนึกคิดเพื่อจะแต่งคำพูดให้คนอื่นสดับคำพูดของตนก็ไม่คิด ดวงจิตก็ไม่แล่นไปตาม ส่วนความคิดนึกเกิดขึ้นจากอวิชชาตัณหา ก็มีความรู้เท่าทัน ดวงจิตนั้นไม่ไปเกี่ยวข้องกายสังขาร ไม่เกี่ยวข้องวจีสังขาร ไม่เกี่ยวข้องจิตสังขาร ดวงจิตก็จะเป็นวิมุติ หลุดออกจากสังขารทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าสังขารเกิดขึ้นย่อมมีความแปร มีความดับไปในที่สุด กายสังขารก็เช่นเดียวกัน วจีสังขาร จิตสังขาร ก็เช่นเดียวกัน


    เมื่อมาเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นสามัญลักษณะ มีสภาพเสมอกัน เมื่อไตร่ตรองเห็นไปในอนิจจัง ไม่เที่ยง หมุนเวียนอยู่เป็นนิจ ทุกขัง เป็นทุกข์ ทนอยู่ได้ยาก อนัตตา ไม่สามารถจะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอำนาจของตน คนนั้นจะยืนอยู่ก็ตาม จะนั่งจะนอน จะประกอบกิจกายกรรมอยู่ก็ตาม จะประกอบวจีกรรมอยู่ก็ช่าง แม้จะนั่งนึกอยู่คนเดียวก็ตาม คุณงามความดีทั้งหลายก็จะไหลมาอยู่เป็นนิจ อันนี้ชื่อว่าผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน คนนั้นสามารถที่จะตั้งโรงกลั่นอย่างใหญ่โต สามารถที่จะทำน้ำมหาสมุทรให้กลายเป็นก้อนเมฆ เมื่อสามารถที่จะทำน้ำมหาสมุทรให้เป็นก้อนเมฆ ก็ไปลอยอยู่เหนือบนนภากาศ ต่อนั้นเมื่อมนุษย์ทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากลำบากกันดาร น้ำทั้งหลายคือจากก้อนเมฆก็จะต้องหยดหยาดลงมา ให้พื้นปฐพีที่มนุษย์ทั้งหลายอาศัยอยู่ คนทำนาทำสวน ก็จะได้อาศัยด้วยความสะดวก ฉันใด ผู้มีใจอันพ้นไปจากห่วงโลกีย์ ความดีทั้งหลายเปรียบเหมือนก้อนเมฆ เมื่อเมฆเกิดเป็นฝน ก็จะได้ช่วยสาธารณชนให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดังนี้เป็นความดีส่วนหนึ่ง เกิดขึ้นจากผู้มีปัญญา

    สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ให้พากันมากำหนดบทบาท ๓ คาถานี้

    คาถาที่หนึ่ง จงพากันยาเรือของตัว

    คาถาที่สอง จงพากันกางใบ ตั้งเสา ลมมีทิศใดก็จงพากันบ่ายใบปลิวไปทิศนั้น แล้วก็พร้อมด้วยการขนเสบียงเข้าไปในเรือของตน ได้แก่การบำเพ็ญทานการกุศลให้เกิดขึ้น

    คาถาที่สาม จงพากันกลั่นน้ำเค็มให้กลายเป็นน้ำจืด

    เมื่อใครมีวิชาเกิดขึ้นในตนโดยอาการเช่นนี้ นั้นแหละอย่างต่ำที่สุด เกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะต้องกลายเป็นคนดี ถ้าใครไม่ประมาท มาตั้งบากบั่นพยายาม บำเพ็ญอยู่เป็นนิจ ก็สามารถที่จะทำดวงจิตของตนให้พ้นไปจากภพ ฉะนั้น เมื่อสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันมาสันนิบาตประชุมกัน บำเพ็ญกุศลในคราวนี้ จึงขอฝากธรรมะทั้งหลายที่ได้บรรยายมานี้ ให้แก่ท่านทั้งหลาย จงนำไปประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะได้พากันมาประสบพบเห็น ตั้งแต่ความสุข ความเจริญ งอกงาม ในพระพุทธศาสนา มีโดยดังได้แสดงมา ก็สมควรแก่กาลเวลา เอวํ ก็มีด้วยประการ-ฉะนี้

    http://ecurriculum.mv.ac.th/dhamma/...-gateway.com/monk/preach/lp-lee/lp-lee_08.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 24 พฤษภาคม 2008

แชร์หน้านี้

Loading...