คนรักธรรมต้องมาคู่กับรู้ว่าอะไรเป็นธรรม จึงจะทำความจริงความถูกต้องให้สำเร็จได้

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 21 กันยายน 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    อสาเร สารมติโน - สาเร จาสารทสฺสิโน
    เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ - มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา

    สารญฺจ สารโต ญตฺวา - อสารญฺจ อสารโต
    เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ - สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา.


    ชนเหล่าใด มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นในสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
    ชนเหล่านั้น มีความดำริผิดเป็นอารมณ์ ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ

    ชนเหล่าใด รู้สิ่งที่เป็นสาระโดยความเป็นสาระ และสิ่งที่ไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ
    ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นอารมณ์ ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ.
     
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    คิหิวินัย วินัยของคฤหัสถ์, คำสอนทั้งหมดในสิงคาลกสูตร (ที.ปา.๑๑/๒๗๒/๑๙๔ - สิคาโลวาทสูตรก็เรียก) ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่นายสิงคาลกะ คหบดีบุตร ผู้กำลังไหว้ทิศ บนทางเสด็จจะเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ชื่อว่าเป็นคิหิวินัย มีใจความว่าให้ละเว้นความชั่ว ๑๔ อย่าง (กรรมกิเลส ๔ อคติ ๔ อบายมุข ๖) แล้วเป็นผู้ปกแผ่ทิศทั้ง ๖ (เว้นห่างมิตรเทียม ๔ คบหามิตรแท้ ๔ จัดสรรทรัพย์เป็นโภควิภาค ๔ บำรุงทิศ ๖)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 กันยายน 2017
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ตัวอย่าง

    ศีลเพื่อเสริมความดีงามของชีวิตและสังคม

    ศีลเพื่อเสริมความดีงามของชีวิตและสังคม มาในสิงคาลสูตร ที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ให้เป็นคิหิวินัย คือ วินัยของคฤหัสถ์หรือศีลสำหรับชาวบ้าน ดังสาระที่สรุปได้ ดังต่อไปนี้

    หมวด ๑: ปลอดความชั่ว ๑๔ ประการ คือ

    ก. ละกรรมกิเลส (ข้อเสื่อมเสียของความประพฤติ) ๔ อย่าง ได้แก่

    ๑. ปาณาติบาต
    ๒ อทินนาทาน
    ๓. กาเมสุมิจฉาจาร
    ๔. มุสาวาท

    ข. ไม่กระทำบาปกรรมโดย ๔ สถาน คือ ไม่ทำกรรมชั่วด้วยลุแก่

    ๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
    ๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
    ๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
    ๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

    ค. ไม่เสพอบายมุข (ช่องทางเสื่อมเสีย หรือหายหมดไป) แห่งโภคะ ๖ ประการ คือ

    ๑. ติดสุรา และของมึนเมา
    ๒. ติดเที่ยวกลางคืน
    ๓. ติดเที่ยวดูการเล่น
    ๔. ติดการพนัน
    ๕. ติดคบเพื่อนชั่ว
    ๖. เกียจคร้านการงาน
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    หมวด ๒: (เตรียมทุนชีวิต ๒ ด้าน คือ)

    - รู้จักมิตรแท้ มิตรเทียม ซึ่งควรคบ และไม่ควรคบ ได้แก่

    ก. มิตรเทียม ๔ จำพวก คือ

    ๑. คนปอกลอก
    ๒. คนดีแต่พูด
    ๓. คนหัวประจบ
    ๔. คนชวนฉิบหาย

    ข. มิตรแท้ ๔ จำพวก คือ

    ๑. มิตรอุปการะ
    ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
    ๓. มิตรแนะนำประโยชน์
    ๔. มิตรมีน้ำใจ

    - เก็บรักษาสะสมทรัพย์ เหมือนดังผึ้งขยันรวบรวมน้ำเกสรดอกไม้สร้างรัง หรือเหมือนตัวปลวก ก่อสร้างจอมปลวก แล้วพึงจัดสรรทรัพย์ใช้สอย โดยแบ่งเป็น ๔ ส่วน

    ก. กินใช้ เลี้ยงดูคน และทำประโยชน์ ๑ ส่วน
    ข. ทำทุนประกอบการงาน ๒ ส่วน
    ค. เก็บไว้ใช้คราวจำเป็น ๑ ส่วน
     
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    หมวด ๓: ปกแผ่ทิศทั้ง ๖

    - ทิศ ๖ ปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่สัมพันธ์กับตนให้ถูกต้องตามฐานะทั้ง ๖ คือ

    ๑. ก. บุตรธิดา บำรุงมารดาบิดาผู้เป็นเหมือนทิศเบื้องหน้า โดย

    ๑) ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
    ๒) ช่วยทำกิจธุรการงานของท่าน
    ๓) ดำรงวงศ์สกุล
    ๔) ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
    ๕) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

    ข. มารดาบิดา อนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้

    ๑) ห้ามกันจากความชั่ว
    ๒) ฝึกอบรมให้ตั้งอยู่ในความดี
    ๓) ให้ศึกษาศิลปวิทยา
    ๔) เป็นธุระในการมีคู่ครองที่สมควร
    ๕) มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาส

    ๒. ก. ศิษย์ บำรุงครูอาจารย์ ผู้เป็นเหมือนทิศเบื้องขวา โดย

    ๑) ลุกรับ แสดงความเคารพ
    ๒) เข้าไปหา (เช่น ช่วยรับใช้ ปรึกษาซักถาม รับคำแนะนำ)
    ๓) ตั้งใจฟังและรู้จักฟัง
    ๔) ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
    ๕) เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ

    ข. ครูอาจารย์ อนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้

    ๑) แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
    ๒) สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
    ๓) สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
    ๔) ยกย่องให้ปรากฏในหมู่พวก
    ๕) สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (สอนให้เอาไปใช้งานเลี้ยงชีพได้จริง)

    ๓. ก. สามี บำรุงภรรยา ผู้เป็นเหมือนทิศเบื้องหลัง โดย

    ๑) ยกย่องให้เกียรติสมฐานะภรรยา
    ๒) ไม่ดูหมิ่น
    ๓) ไม่นอกใจ
    ๔) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน
    ๕) หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

    ข. ภรรยา อนุเคราะห์สามี ดังนี้

    ๑) จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
    ๒) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
    ๓) ไม่นอกใจ
    ๔) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
    ๕) ขยันช่างจัดช่างทำเอางานทุกอย่าง

    ๔. ก. บำรุงมิตรสหาย ผู้เป็นเหมือนทิศเบื้องซ้าย โดย

    ๑) เผื่อแผ่แบ่งปัน
    ๒) พูดอย่างรักกัน
    ๓) ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
    ๔) มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน
    ๕) ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน

    ข. มิตรสหาย อนุเคราะห์ตอบ ดังนี้

    ๑) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
    ๒) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
    ๓) ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
    ๔) ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
    ๕) นับถือตลอดวงศ์ญาติของมิตร

    ๕. ก. นาย บำรุงคนรับใช้และคนงาน ผู้เป็นเหมือนทิศเบื้องล่าง โดย

    ๑) จัดงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังเพศวัยและความสามารถ
    ๒) ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
    ๓) จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
    ๔) มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
    ๕) ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาส

    ข. คนรับใช้และคนงาน อนุเคราะห์นาย ดังนี้

    ๑) เริ่มทำงานก่อน
    ๒) เลิกงานทีหลัง
    ๓) เอาแต่ของที่นายให้
    ๔) ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
    ๕) นำความดีของนายงานและกิจการไปเผยแพร่

    ๖. ก. คฤหัสถ์ บำรุงพระสงฆ์ ผู้เป็นเหมือนทิศเบื้องบน โดย

    ๑) จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
    ๒) จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
    ๓) คิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
    ๔) ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
    ๕) อุปถัมภ์ ด้วยปัจจัย ๔

    ข. พระสงฆ์ ย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ ดังนี้

    ๑) ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว
    ๒) แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
    ๓) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจงาม
    ๔) ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง
    ๕) ชี้แจงอธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
    ๖) บอกทางสวรรค์ให้ (สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุข)

    สังคหวัตถุ ๔:บำเพ็ญหลักการสงเคราะห์ เพื่อยึดเหนี่ยวใจคนและประสานสังคม ๔ ประการ คือ
    ๑. ทาน เผื่อแผ่แบ่งปัน
    ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน
    ๓. อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา
    ๔. สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน
     
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสัมมาอาชีวะ

    ดังได้กล่าวแล้วว่า อาชีวะเป็นหลักการขั้นศีลที่มักถูกมองข้ามไปเสีย ในที่นี้จึงเห็นควรนำหลักคำสอนเกี่ยวกับอาชีวะมาแสดงไว้พอเป็นแนวทางของความเข้าใจ

    ในด้านหลักการทั่วไป เรื่องอาชีวะมีเนื้อหาที่ควรแก่การวิจารณ์ และแสดงเหตุผลเป็นอันมาก ....ในที่นี้ไม่อาจบรรยายโดยพิสดารได้ จึงเพียงแต่กล่าวเป็นข้อสังเกตไว้

    ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับหลักทั่วไปในเรื่องอาชีวะ มีดังนี้

    ๑. พุทธศาสนามองเป้าหมายของอาชีวะ โดยมุ่งเน้นด้านเกณฑ์อย่างต่ำ ที่วัดด้วยความต้องการแห่งชีวิตของคน คือมุ่งให้ทุกคนมีปัจจัย ๔ พอเพียงที่จะเป็นอยู่ เป็นการถือเอาคนเป็นหลัก มิใช่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ความมีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ซึ่งเป็นการถือเอาวัตถุเป็นหลัก

    ความข้อนี้จะเห็นได้แม้ในหลักธรรมเกี่ยวกับการปกครอง เช่น กำหนดหน้าที่ของพระเจ้าจักรพรรดิข้อหนึ่งว่า เจือจานหรือเพิ่มทรัพย์ให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ หมายความว่า คอยดูแลไม่ให้มีคนขัดสนยากไร้ในแผ่นดิน พูดอีกอย่างหนึ่ง ความสำเร็จในด้านอาชีวะ หรือเศรษฐกิจของผู้ปกครอง พึงวัดด้วยความไม่มีคนอดอยากยากไร้ มิใช่วัดด้วยการมีทรัพย์เต็มพระคลังหลวง หรือเต็มล้นอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง

    เมื่อได้เกณฑ์อย่างต่ำนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าท่านจะรังเกียจในเรื่องที่จะมีทรัพย์มากน้อยอีกเท่าใด หรือว่าจะมีเท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะเนื่องด้วยปัจจัยอื่นๆอีก เช่น ในข้อ ๒ ที่จะกล่าวต่อไป

    ๒. ความมีปัจจัย ๔ พอแก่ความต้องของชีวิต หรือแม้มีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์ก็ตาม มิใช่เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง เพราะเป็นเพียงขั้นศีล เป็นเพียงวิธีการขั้นตอนหนึ่งสำหรับช่วยให้ก้าวต่อไปสู่จุดหมายที่สูงกว่า คือเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาคุณภาพจิตและพัฒนาปัญญา เพื่อความมีชีวิตดีงามและการประสบสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป

    คนบางคนมีความต้องการวัตถุเพียงเท่าที่พอเป็นอยู่ แล้วก็สามารถหันไปมุ่งเน้นด้านการคุณภาพจิตและปัญญา

    แต่บางคนยังไม่พร้อม ชีวิตของเขายังต้องขึ้นต่อวัตถุมากกว่า เมื่อการเป็นอยู่ของเขาไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น ก็ยังเป็นที่ยอมรับได้

    นอกจากนั้น บางคนมีความโน้มเอียง ความถนัด และความสามารถในการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้ดี การมีทรัพย์มากมายของเขา ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

    ๓. คำว่า “สัมมาชีพ” ในทางธรรม มีใช่หมายเพียงการใช้แรงงานให้เกิดผลผลิต แล้วได้รับปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพเป็นผลตอบแทนมาโดยชอบธรรมเท่านั้น แต่หมายถึงการทำหน้าที่ ความประพฤติ หรือการดำรงตนอย่างถูกต้องอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ทำให้เป็นผู้สมควรแก่การได้ปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิตด้วย เช่น การที่พระภิกษุดำรงตนอยู่ในสมณธรรมแล้วได้รับปัจจัย ๔ ที่ชาวบ้านถวาย ก็เป็นสัมมาชีพของพระภิกษุ หรือการที่ลูกประพฤติตนเป็นลูกที่ดี สมควรแก่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ก็พึงนับเป็นสัมมาชีพของลูก

    อนึ่ง ในการวัตถุคุณค่าของแรงงาน แทนที่จะวัดเพียงด้วยการได้ผลผลิตเกิดขึ้นสนองความต้องการของมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นความต้องการด้วยตัณหา หรือความต้องการของชีวิตแท้จริง ก็ยังไม่แน่ ทางธรรมกลับมองที่ผลอันเกื้อกูล หรือไม่เกื้อกูล แก่ชีวิต แก่สังคม หรือการดำรงอยู่ด้วยดีของหมู่มนุษย์
     
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ

    จากความที่ว่ามานี้ มีข้อพิจารณาสืบเนื่องออกไป ๒ อย่าง
    คือ

    ก. ว่าโดยทางธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงาน กับอาชีวะและผลตอบแทน แยกได้เป็น ๒ ประเภท

    ๑) สำหรับคนทั่วไป หรือชาวโลก การใช้แรงงานในหน้าที่ เป็นเรื่องของอาชีวะโดยตรง คือเป็นไปเพื่อได้ผลตอบแทนเป็นปัจจัยเครื่องยังชีพ ดังมองเห็นกันอยู่ตามปกติ

    ๒) สำหรับสมณะหรือผู้สละโลก การใช้แรงงานในหน้าที่ ไม่เป็นเรื่องของอาชีวะ ไม่มีความมุ่งหมายในด้านอาชีวะ หรือไม่เกี่ยวกับอาชีวะเลย คือ ไม่เป็นไปเพื่อได้ผลตอบแทนเป็นปัจจัยเครื่องยังชีพ แต่เป็นไปเพื่อธรรมและเพื่อผดุงธรรมในโลก ถ้าเอาแรงงานที่พึงใช้หน้าที่มาใช้ในการแสวงหาปัจจัยเครื่องยังชีพ กลับถือเป็นมิจฉาชีพ และถ้าใช้แรงงานในหน้าที่เพื่อผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี ร้องขอปัจจัยเครื่องยังชีพโดยมิใช่เป็นความประสงค์ของผู้ให้ที่จะให้เอง ก็ดี ก็ถือว่าเป็นอาชีวะไม่บริสุทธิ์

    โดยนัยนี้ นอกจากมิจฉาอาชีพอย่างชัดเจน คือการหลอกลวง การประจบเขากิน การเลียบเคียง การขู่เข็ญบีบเอา และการเอาลาภต่อลาภแล้ว การหาเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้เขา เช่น เป็นคนเดินข่าว ก็ดี ด้วยการประกอบศิลปะและวิชาชีพต่างๆ เช่น ดูฤกษ์ยามทำนายลักษณะ รักษาโรค ก็ดี ก็จัดเข้าเป็นมิจฉาชีพสำหรับพระภิกษุเหมือนกัน

    ภิกษุไม่เจ็บไข้ ขอโภชนะอันประณีตหรือแม้แต่กับข้าวหรือข้าวสุกมา เพื่อตนเอง แล้วฉัน ก็เป็นวิบัติแห่งอาชีวะ เอาธรรมทำเป็นดังสินค้า ก็ผิดจรรยาบรรณนักบวช แม้แต่เพียงแสดงธรรมโดยคิดให้เขาชอบแล้วอาจได้อะไรๆ ก็เป็นธรรมเทศนาที่ไม่บริสุทธิ์ หรือเพียงแต่การให้ของเขามีลักษณะเป็นการให้ค่าตอบแทนก็ไม่เป็นการสมควร

    ดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดกับพระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้า เสด็จไปบิณฑบาต ทรงเข้าไปหยุดประทับยืนในเขตไร่นาของพราหมณ์ผู้หนึ่ง พราหมณ์กราบทูลว่า "ข้าพเจ้าไถหว่านแล้วจึงได้กิน แม้ท่านก็จงไถหว่านแล้วบริโภคเถิด" พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบเป็นคำร้อยกรอง ชี้แจงการไถหว่านของพระองค์ ที่มีผลเป็นอมตะ พราหมณ์เห็นชอบด้วย เกิดความเลื่อมใส จึงนำเอาอาหารเข้ามาถวาย พระพุทธเจ้าไม่รับ โดยตรัสว่า ไม่ควรบริโภคโภชนะที่ขับกล่อมได้มา

    ที่มาอันชอบธรรม และบริสุทธิ์แท้จริงของปัจจัยเครื่องยังชีพสำหรับพระภิกษุ ก็คือ การที่ชาวบ้านมองเห็นคุณค่าของธรรม และเห็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยให้บุคคลผู้ทำหน้าที่ผดุงธรรม มีชีวิตอยู่และทำหน้าที่นั้นต่อไป จึงเมื่อรู้ความต้องการอาหารของสมณะเหล่านั้น อันแสดงออกด้วยการเที่ยวบิณฑบาตโดยสงบแล้ว ก็นำอาหารไปมอบด้วยความสมัครใจของตนเอง โดยที่ผู้ให้หรือผู้ถวายนั้นได้รับผล คือการชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส และชักนำจิตของตนให้เป็นไปในทางสูงขึ้น ด้วยการที่ตระหนักว่า ตนได้ทำสิ่งที่ดีงาม ช่วยสนับสนุนผู้บำเพ็ญธรรม และมีส่วนร่วมในการผดุงธรรม เรียกสั้นๆว่า ทำบุญหรือได้บุญ

    ฝ่ายภิกษุผู้รับปัจจัยทานนั้น ก็ถูกกำกับด้วยหลักความประพฤติเกี่ยวกับปัจจัย ๔ อีกว่า พึงเป็นผู้มักน้อยสันโดษ รู้จักประมาณในการรับปัจจัยสี่เหล่านั้น อันตรงข้ามกับการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การสั่งสอนแนะนำแสดงธรรม ซึ่งพึงกระทำให้มากเท่าที่จะทำได้ โดยมุ่งแต่ประโยชน์สุขของผู้รับคำสอนฝ่ายเดียว

    โดยนัยนี้ หลักการกินให้น้อยที่สุด โดยทำงานให้มากที่สุด จึงเป็นไปได้สำหรับสมณะ โดยที่แรงงานในการทำหน้าที่ กับ อาชีวะ ตั้งอยู่คนละฐาน อย่างไม่มีจุดบรรจบที่จะให้มีการยกเอาปริมาณแรงงานขึ้นเปรียบเทียบเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในด้านอาชีวะได้เลย และเมื่อสมณะยังปฏิบัติอยู่ในหลักการนี้ ระบบของสังคมก็ไม่อาจครอบงำสมณะได้เช่นกัน

    หลักการเท่าที่กล่าว มานี้ทั้งหมด มีความมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การมีชีวิตแบบหนึ่งที่เป็นอิสระจากระบบทั้งหลายของสังคม หรือมีชุมชนอิสระชุมชนหนึ่งไว้ทำหน้าที่ด้านธรรม ที่ต้องการความบริสุทธิ์สิ้นเชิงแก่ชาวโลก
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    “ดูกรคฤหบดี ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของได้ยากในโลก คือ อายุ...วรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์ ธรรม ๕ ประการนี้...เราไม่กล่าวว่าจะพึงได้มาเพราะการอ้อนวอน หรือเพราะการตั้งปรารถนา ถ้าการได้ธรรมทั้ง ๕ นี้ จะมีได้เพราะการอ้อนวอน หรือเพราะการตั้งปรารถนาแล้วไซร้ ใครในโลกนี้ จะพึงเสื่อมจากอะไร

    "ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ (ยืน) ไม่พึงอ้อนวอนหรือมัวเพลิดเพลินกับอายุ เพราะการอยากได้อายุนั้นเลย อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะเป็นไปเพื่ออายุ เพราะข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่ออายุที่ปฏิบัติแล้วนั่นแหละ จึงจะเป็นไปเพื่อการได้อายุ อริยสาวกนั้น ย่อมเป็นผู้ได้อายุ ไม่ว่าจะเป็นของทิพย์ หรือของมนุษย์...ผู้ปรารถนาวรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์ ก็พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะเป็นไปเพื่อวรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์...”

    6506de5c71c403b45bcdf2e312f77564.jpg

    “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่หมั่นประกอบความเพียรในการฝึกอบรมจิต ถึงจะมีความปรารถนาว่า “ขอให้จิตของเราหลุดพ้นจากอาสวะเถิด” ดังนี้ จิตของเธอจะหลุดพ้นไปจากอาสวะได้ก็หาไม่...เหมือนไข่ไก่ ๘ ฟองก็ตาม ๑๐ ฟองก็ตาม ๑๒ ฟองก็ตาม ที่แม่ไก่ไม่นอนทับ ไม่กก ไม่ฟัก ถึงแม้แม่ไก่มีความปรารถนาว่า “ขอให้ลูกของเราใช้ปลายเล็บหรือจะงอยปาก ทำลายเปลือกไข่ออกมาโดยสวัสดี เถิด” ดังนี้ ลูกไก่จะใช้ปลายเล็บ หรือจะงอยปาก ทำลายเปลือกไข่ออกมาได้ก็หาไม่” * (สํ.ข.17/261/186)
     
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อจาก คคห.8


    ข. มองในแง่ของธรรม การใช้แรงงานในทางผลิต ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบริการก็ตาม มีเป็นอันมากที่ไม่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม นอกจากที่เป็นไปเพื่อทำลายโดยตรง เช่น ผลิตอาวุธ และยาเสพติด เป็นต้นแล้ว ก็ยังมีจำพวกที่ทำลายธรรมชาติแวดล้อมบ้าง ทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ทำลายคุณธรรมความดีงามและคุณภาพจิต เป็นต้นบ้าง ตลอดจนแรงงานในการป้องกันต่อต้านแก้ไขผลในทางทำลายของการผลิตเหล่านั้น แรงงานผลิตจำพวกนี้ ส่วนมากถือได้ว่าเป็นความสูญเปล่า และการผลิตนั้นก็มีค่าเป็นการทำลาย


    ความเจริญในการผลิตอย่าง นี้ โน้มไปในทางที่ทำให้มนุษย์ต้องทุ่มเททุนและแรงงานอย่างมากมายยิ่งๆขึ้น ในด้านที่จะป้องกันแก้ไขผลในทางทำลายเหล่านั้น ที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ส่วนแรงงานที่เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นการผลิตในทางเศรษฐกิจ เช่น ชีวิตแบบอย่างทางธรรม ซึ่งส่งเสริมทั้งปัญญาและคุณธรรมของมนุษย์

    แม้มองในแง่การผลผลิต บางทีคุณธรรมก็มีค่ามากกว่าแรงงานที่ใช้เพื่อการนั้น เช่น ภิกษุรูปหนึ่งปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า โดยมิได้ใช้แรงงานเพื่อการรักษาป่าเลย แต่เจ้าหน้าที่รักษาป่าอาจบอกว่า ท่านช่วยสงวนป่าไว้อย่างได้ผลดีกว่าพวกเขา ซึ่งใช้แรงงานเพื่อการนั้นโดยเฉพาะรวมกันหลายๆคน

    ถ้าจะมุ่งถึง ประโยชน์สุขของมนุษย์ชาติอย่างแท้จริงแล้ว การมองดูแต่คุณค่าของการผลิตและการบริโภคเท่านั้นหาเพียงพอไม่ จะต้องมองดูคุณค่าของการไม่ผลิต และไม่บริโภคด้วย

    เมื่อมองในแง่ธรรม บุคคลผู้หนึ่ง แม้มิได้ผลิตอะไรในแง่ของเศรษฐกิจ แต่ถ้าเขาบริโภคทรัพยากรของโลกให้สิ้นเปลืองไปน้อยที่สุด และมีชีวิตที่เกื้อกูลแก่สภาพแวดล้อมตามสมควร ก็ยังดีกว่าบุคคลอีกผู้หนึ่ง ซึ่งทำงานผลิตสิ่งที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตและสังคมเป็นอันมาก พร้อมทั้งบริโภคทรัพยากรของโลกสิ้นเปลืองไปอย่างมากมาย แต่ดูเหมือนว่า ลัทธิเศรษฐกิจทั้งหลายจะยกย่องบุคคลหลังที่ผลิตและบริโภคมาก (ทำลายมาก) ยิ่งกว่าบุคคลแรกที่ผลิตและบริโภคน้อย (ทำลายน้อย)

    เป็นการสมควรหรือไม่ ที่จะกล่าวถึงหน้าที่ในการผลิตของคน โดยไม่พิจารณาถึงด้านบริโภคว่าเขาทำความสิ้นเปลืองแก่ทรัพยากรมากหรือน้อย เพียงใด และการมุ่งเน้นหน้าที่ในการผลิตนั้น เป็นการเกื้อกูลแก่ชีวิต และสังคมแท้จริงหรือไม่

    การที่เศรษฐศาสตร์สนใจเฉพาะแต่สิ่งที่คำนวณนับกำหนดเป็นเป็นตัวเลขได้ และปริมาณที่เพิ่มพูนทางวัตถุด้วยถือตนว่าเป็นจำพวกวิทยาศาสตร์นั้น ก็จะต้องให้เศรษฐศาสตร์ และลัทธิเศรษฐกิจทั้งหลายเท่าที่มีอยู่ ยอมรับด้วยถึงความคับแคบ ไม่เพียงพอ และความไม่สมบูรณ์ของตน ในการที่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เหนือศาสตร์

    การยอมรับความจริงเช่นนี้แหละ จะเป็นความดีงาม และความสมบูรณ์แห่งประโยชน์ของเศรษฐศาสตร์และลัทธิเศรษฐกิจเหล่านั้น

    ๓. ดังได้กล่าวแล้ว ทางธรรมไม่สู้สนใจแง่ที่ว่าใครจะมีทรัพย์มากน้อยเท่าใด คือไม่ถือเอาการมีทรัพย์มากหรือน้อยเป็นเกณฑ์วัดความชั่วหรือดี และการถือเอาการมีทรัพย์เป็นเพียงวิถีไปสู่จุดหมายอื่น มิใช่เป็นจุดหมายในตัวมันเอง การที่จะสนับสนุนความมีทรัพย์หรือไม่ จึงอยู่ที่การปฏิบัติเพื่อจุดหมาย


    ดังนั้น จุดที่ธรรมสนใจต่อทรัพย์ จึงมี ๒ ตอน คือ วิธีการที่จะได้มาซึ่งทรัพย์ว่า ได้มาอย่างไร และการปฏิบัติต่อทรัพย์ ที่มีหรือได้มาแล้วว่า จะใช้มันอย่างไร พูดสั้นๆว่าไม่เน้นการมีทรัพย์ แต่เน้นการแสวงหา และการใช้จ่ายทรัพย์ การมีทรัพย์ หรือได้ทรัพย์มาแล้วเก็บสะสมไว้เฉยๆ ท่านถือว่าเป็นความชั่วอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการแสวงหาทรัพย์ในทางที่ผิด และใช้ทรัพย์ในทางที่เกิดโทษ

    โดยนัยนี้ ความชั่วร้ายที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติในขั้นต้นจึงมี ๓ อย่าง คือ การแสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม การครอบครองทรัพย์ไว้โดยไม่ทำให้เกิดประโยชน์ และการใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่เป็นโทษ

    อย่างไรก็ดี แม้จะแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม และใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แล้ว ก็ยังหาชื่อว่าเป็นการปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกต้องทางธรรมโดยสมบูรณ์ไม่ ทั้งนี้เพราะทางธรรมเน้นคุณค่าทางจิตใจ และทางปัญญาด้วย คือการวางใจวางท่าทีต่อทรัพย์นั้น ว่าจะต้องเป็นไปด้วยปัญญาที่เรียกว่า “นิสสรณปัญญา

    นิสสรณปัญญา คือความรู้เท่าทันเข้าใจคุณค่าหรือประโยชน์ที่แท้จริงของทรัพย์ และขอบเขตแห่งคุณค่าหรือประโยชน์นั้น มองเห็นตระหนักถึงช่องทางที่ทรัพย์จะเป็นคุณและเป็นโทษ มีจิตใจเป็นอิสระไม่เป็นทาส แต่เป็นนายของทรัพย์ ให้ทรัพย์มี เพื่อรับใช้มนุษย์ เป็นอุปกรณ์สำหรับทำประโยชน์และสิ่งดีงาม ช่วยผ่อนเบาทุกข์ ทำให้มีความสุข มิใช่กลายเป็นเหตุเพิ่มความทุกข์ ทำให้เสียคุณภาพจิต ทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หรือทำให้มนุษย์ต่อมนุษย์แปลกหน้ากัน
     
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ด้วยเหตุนี้ ในการจำแนกผู้ครองเรือนหรือชาวบ้าน (กามโภคี) เป็น ๑๐ ประเภท พระพุทธเจ้าทรงแสดงผู้ครองเรือนประเภทที่ ๑๐ ว่าเป็นผู้ครองเรือนที่ประเสริฐเลิศสูงสุด จากคุณสมบัติของผู้ครองเรือนอย่างเลิศนั้น จะเห็นหลักการปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์ ที่ถูกต้องตามหลักธรรม สรุปได้ดังนี้ * (องฺ.ทสก.24/91/194)

    ๑) การหา แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ข่มเหงเบียดเบียน

    ๒) การใช้ (ขั้นนี้มีการวางแผน ซึ่งถือว่ารวมทั้งการเก็บรักษา และการเป็นอยู่พอดีไว้ด้วยในตัว)
    ก. เลี้ยงตน (และคนที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ) ให้เป็นสุข
    ข. เผื่อแผ่แบ่งปัน
    ค. ใช้ทรัพย์ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์เป็นบุญ (รวมทั้งใช้เผยแผ่ส่งเสริมธรรม)

    ๓. การมีปัญญาที่ทำให้เป็นอิสระ ไม่ลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมา กินใช้ทรัพย์อย่างรู้เท่าทันเห็นคุณ โทษ มีจิตใจเป็นอิสระด้วยนิสสรณปัญญา และอาศัยทรัพย์ได้โอกาสที่จะพัฒนาจิตปัญญายิ่งๆขึ้นไป

    ขอยกพุทธพจน์ที่ตรัสสอนในเรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์มาดูเป็นตัวอย่าง

    “ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก สามจำพวกไหน ? คือคนตาบอด คนตาเดียว คนสองตา

    บุคคลตาบอด เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีดวงตาชนิดที่ช่วยให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน กับ ทั้งไม่มีดวงตาชนิดที่จะช่วยให้รู้จักธรรม ที่เป็นกุศล เป็นอกุศล...ธรรมมีโทษ...ไม่มีโทษ... ธรรมทราม ธรรมประณีต...ธรรมที่เปรียบได้กับของดำ หรือของขาว นี้เรียกว่า บุคคลตาบอด

    บุคคลตาเดียว เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ มีดวงตาชนิดที่ช่วยให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน แต่ไม่มีดวงตาชนิดที่จะช่วยให้รู้จักธรรม ที่เป็นกุศล เป็นอกุศล...ธรรมมีโทษ...ไม่มีโทษ... ธรรมทราม ธรรมประณีต...ธรรมที่เปรียบได้กับของดำ หรือของขาว นี้เรียกว่า บุคคลตาเดียว

    บุคคลสองตา เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ มีดวงตาชนิดที่ช่วยให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้เพิ่มพูน อีกทั้งมีดวงตาชนิดที่ช่วยให้รู้จักธรรม ที่เป็นกุศล เป็นอกุศล...ธรรมมีโทษ...ไม่มีโทษ... ธรรมทราม ธรรมประณีต...ธรรมที่เปรียบได้กับของดำ หรือของขาว นี้เรียกว่าบุคคลสองตา

    “คนตาบอด ตาเสีย มีแต่กาลีเคราะห์ร้ายทั้งสองทาง คือโภคทรัพย์อย่างที่ว่า ก็ไม่มี คุณความดี ก็ไม่ทำ

    “อีกคนหนึ่ง ที่เรียกว่าตาเดียว เที่ยวเสวงหาแต่ทรัพย์ถูกธรรมก็เอา ผิดธรรมก็เอา ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมยคดโกง หรือโกหกหลอกลวงก็ได้ เขาเป็นคนเสวยกามที่ฉลาดสะสมทรัพย์ แต่จากนี้ ไปนรก คนตาเดียวย่อมเดือดร้อน

    “ส่วนคนที่เรียกว่าสองตา เป็นคนประเสริฐ ย่อมแบ่งปันทรัพย์ ซึ่งได้มาด้วยความขยัน จากกองโภคะที่ได้มาโดยชอบธรรม ออกเผือแผ่ มีความคิดสูง ประเสริฐ มีจิตใจแน่วแน่ ย่อมเข้าถึงสถานะดีงาม ที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก

    “พึงหลีกเว้นคนตาบอดและคนตาเดียวเสียให้ไกล ควรคบหาแต่คนสองตา ผู้ประเสริฐ” * (องฺ.ติก.20/468/162)
     
  12. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ตัวอย่างคำสอนติเตียนการสั่งสมครอบครองทรัพย์สมบัติไว้ โดยไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น มีเรื่องว่า คราวหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ยังวัน

    พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่า พระองค์เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็กราบทูลว่า มีคหบดีเป็นเศรษฐีในพระนครหลวงถึงแก่กรรม พระองค์จึงให้ขนทรัพย์สมบัติที่ไม่มีบุตรรับมรดกเข้าไปไว้ในพระราชวังแล้ว เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า

    พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลถึงจำนวนทรัพย์ที่ขนไปวังว่า เฉพาะเหรียญทองอย่างเดียวมีถึง ๘ ล้าน ส่วนเหรียญเงิน เป็นต้น ไม่ต้องพูดถึง แต่ตัวคหบดีนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่ บริโภคอาหารเพียงปลายข้าวกับน้ำส้ม นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบ ตัดเป็นสามชิ้นเย็บติดกัน ยานพาหนะก็ใช้รถเก่าๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้

    พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

    "เป็นอย่างนี้แหละ มหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ไม่เลี้ยงมารดาบิดา...บุตรภรรยา...คนรับใช้กรรมกรคนงาน ... มิตรสหายผู้ร่วมงาน ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ไม่ประดิษฐานทักขิณาอันส่งผลสูงในสมณะพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งอำนวยอารมณ์ดีงาม มีผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์


    "โภคะของเขา ที่มิได้กินใช้โดยชอบเหล่านั้น ราชาทั้งหลายย่อมริบเอาไปเสียบ้าง โจรย่อมลักไปเสียบ้าง ไฟย่อมไหม้เสียบ้าง น้ำย่อมพัดพาไปเสียบ้าง ทายาทอัปรีย์ย่อมเอาไปเสียบ้าง โภคะเหล่านั้นของเขา ซึ่งมิได้กินใช้โดยชอบ ย่อมหมดสิ้นไปเปล่า ไม่ถึงการบริโภค

    "เปรียบเหมือนสระน้ำในถิ่นอมนุษย์ ทั้งที่มีน้ำใส เย็น จืดสนิท กระจ่างแจ๋ว มีท่าเรียบราบ น่ารื่นรมย์ คนจะตักเอา ก็ไม่ได้ จะดื่ม จะอาบ จะทำตามปรารถนา ก็ไม่ได้...


    “ส่วนสัตบุรุษ ได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมเลี้ยงตัวให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เลี้ยงมารดาบิดา...บุตรภรรยา...คนรับใช้กรรมกรคนงาน ... มิตรสหายผู้ร่วมงาน ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมประดิษฐานทักขิณาอันส่งผลสูง ในสมณะพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งอำนวยอารมณ์ดีงาม มีผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์

    "โภคะของเขา ที่ได้กินใช้โดยชอบเหล่านั้น ราชาทั้งหลายก็ไม่ขนเอาไป โจรทั้งหลายก็ลักไปไม่ได้ ไฟก็มิได้ไหม้ น้ำก็มิได้พัดพาไป ทายาทอัปรีย์ก็เอาไปไม่ได้ โภคะเหล่านั้นของเขา ซึ่งกินใช้อยู่โดยชอบ ย่อมถึงการบริโภค ไม่หมดสิ้นไปเปล่า

    "เปรียบเหมือนสระน้ำ ไม่ไกลหมู่บ้านหรือนิคม มีน้ำใส เย็น จืดสนิท กระจ่างแจ๋ว มีท่าราบเรียบน่ารื่นรมย์ คนจะตักไป ก็ได้ จะดื่มก็ได้ จะอาบก็ได้ จะทำตามปรารถนาก็ได้

    “คนชั่วได้ทรัพย์แล้ว ตัวเองก็ไม่กินใช้ ทั้งก็ไม่ให้ (แก่ใครๆ) เหมือนดังน้ำอยู่ในถิ่นอมนุษย์ จะใช้จะดื่มก็ไม่ได้ คนย่อมอด

    “ส่วนวิญญูชน มีปัญญา ได้โภคะแล้ว ย่อมกินใช้ และทำกิจ (งานของตน และการกุศลช่วยผู้อื่น) เขาเป็นคนเลิศล้ำ ได้เลี้ยงดูหมู่ญาติแล้ว ไม่มีใครติเตียนได้ ย่อมเข้าถึงถิ่นสวรรค์” * (สํ.ส.15/386-9/130-2)


    “มหาบพิตร เหล่าสัตว์ (มนุษย์) จำพวกที่ได้โภคทรัพย์ยิ่งใหญ่โอฬารแล้ว ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่หลงใหลในกาม และทั้งไม่ปฏิบัติผิดร้ายต่อสัตว์ (มนุษย์) ทั้งหลายนั้น มีอยู่ในโลกเพียงจำนวนน้อย ส่วนเหล่าสัตว์ จำพวกที่ได้โภคทรัพย์ยิ่งใหญ่โอฬารแล้ว มัวเมา ประมาท หลงใหลในกาม และทั้งปฏิบัติผิดร้ายต่อสัตว์ทั้งหลายนั่นแหละ มีอยู่ในโลก จำนวนมากมายกว่า โดยแท้” (สํ.ส.15/341/106)


    ท่านเปรียบคนที่เก็บรวบรวมทรัพย์ไว้แล้ว ไม่ใช้ ไม่แบ่งปัน ว่าเป็นเหมือนนกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "มัยหก" ซึ่งคอยเฝ้าต้นเลียบที่มีผลสุก แล้วก็ร้องว่า มัยหัง มัยหัง (แปลว่า ของกู ของกู) เมื่อหมู่นกอื่นๆ พากันบินมาจิกกินผลเลียบแล้วบินไป นกมัยหกก็ได้แต่ร้องเพ้ออยู่นั่นเอง * (ขุ.ชา.27/931/204)

    ในคัมภีร์ต่างๆ มีเรื่องราวตำหนิติเตียนคนตระหนี่ ที่เก็บสะสมทรัพย์ไว้ โดยไม่ใช้ ไม่ช่วยใคร โดยเฉพาะการทรมานเปลี่ยนใจเศรษฐีที่มีพฤติการณ์เช่นนั้นมากหลายเรื่อง เป็นการแสดงมติของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการครอบครอง และกิน ใช้ทรัพย์เป็นอย่างดี
     
  13. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ในเมืองไทยนี้ มีการขอศีล-ให้ศีล - รับศีล เป็นประเพณีที่รู้กันเป็นสามัญ เมื่อรับศีล ที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า สมาทานเบญจศีลจบ พระผู้ให้ศีลก็จะกล่าวด้วยคำแสดงอานิสงส์ศีลว่า "สีเลน สุคตึ..." มีใจความว่า ด้วยศีล จะไปสุคติ จะเกิดโภคสัมปทา คือความสมบูรณ์พรั่งพร้อมแห่งโภคะ และจะถึงนิพพาน

    สาระที่เกี่ยวข้องในที่นี้ คือ ตอนที่ว่า ศีลทำให้เกิดทรัพย์สินเงินทองพรั่งพร้อม หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำให้เศรษฐกิจดี แม้ว่าคาถาแสดงอานิสงส์ศีลนี้ จะเป็นของเรียบเรียงขึ้นในยุคหลัง ไม่พบในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาทั้งหลาย และเมื่อกล่าวกันมาเป็นแบบแผน ก็ควรนำมาพูดไว้ พอเป็นเรื่องแทรกสั้นๆ

    หลักการใหญ่ของศีล
    ก็คือ เป็นเครื่องจัดตั้งวางพื้นฐานเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยมั่นคง เพื่อจะได้ทำการใหญ่ๆ สำคัญๆ ทั้งหลายให้ก้าวไปได้ด้วยดี

    ว่าถึงด้านเศรษฐกิจ ก็ชัดดังที่เคยพูดแล้ว ในทางสังคม เมื่อคนอยู่ในศีล ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน การสัญจรสะดวกปลอดภัย ไปได้ทุกที่ จะตั้งโรงงาน จะทำกิจการอะไรที่ไหน จะเดินทางไปทำงาน ไปซื้อไปขายไปจับจ่ายที่ไหนเวลาใด ไม่ว่าในเมืองหรือบ้านนอก ตรอกซอกซอยไหน ค่ำคืนดึกดื่นเท่าใด ปลอดโปร่งโล่งใจไปได้หมด คนงานกับนายจ้าง มีความสัมพันธ์กันดี มีน้ำใจซื่อตรงเกื้อหนุนกัน ระบบราชการงานเมื่อสุจริต มีประสิทธิภาพ บรรดากิจการนานาประเภทน่าเชื่อถือไว้ใจได้ ทั้งคนใกล้คนไกล คนในถิ่นนอกถิ่นนอกประเทศ ติดต่อสื่อสารคมนาคม ไปมาราบรื่นร่าเริง การผลิต การพาณิชย์คล่องตัว นี่คืออย่างง่ายๆ ที่คิดสร้างฐานทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม เป็นความพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ความรุ่งเรืองเฟื่องพู

    เมื่อบ้านเมืองมั่นคงดี ประชาชนมีความมั่นใจสูง ที่นี้ก็มาถึงตัวคน ว่าอย่างรวบรัด ด้านลบที่ขาดศีล เช่น เสเพล ลักขโมย ขี้ฉกขี้ฉ้อขี้โกงขี้เกียจขี้เมา เสียหายอย่างไร ขอข้ามไป ไม่ต้องพูดถึง พูดแต่ในแง่มีศีล ชาวบ้านที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อตกลงใจว่าจะอยู่ในศีล ถ้าแน่ใจตัวเองแล้วว่าจะตั้งใจทำมาหากินในทางสุจริต พอใจมุ่งดิ่งไปอย่างนี้ ความคิดที่จะหาช่องได้โน่นได้นี่ รอหาช่องทำนั่นทำนี่ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือจะคิดการทุจริตอะไร ก็ไม่มีแม้แต่รายการได้ของเผลอลาภลอย ก็ไม่นึกถึง ไม่มีเรื่องนอกที่จะมาแย่งเวลาแย่งความคิด

    พอใจมุ่งแน่วมาที่ เรื่องการงานอาชีพตรงเรื่องจริงๆ แล้ว ความคิดที่จะฟุ้งซ่านออกไปนอกทางไม่มี นี่คือเข้าทางของสมาธิแล้ว ทีนี้ อย่างที่ว่า ใจมุ่งมาที่เรื่องการอาชีพ ตั้งใจทำจริงจัง ก็คิดถึงแต่เรื่องการเรื่องงาน ว่าจะริเริ่มอะไร จะทำอะไรบ้าง จะดำเนินการอย่างไรให้ได้ผลดี มีอะไรจะติดขัดตรงไหนที่ไหน จะแก้ปัญหาอย่างไร จะติดต่อทำทางเปิดทางของงานอย่างไร ควรคบหาใคร ปรึกษาใคร ร่วมมือร่วมงานกับใคร อย่างไร ฯลฯ อย่างนี้ ก็คือศีลส่งผลต่อมาที่จิต ด้านสมาธิ กับ ปัญญามารับช่วงต่อ เดี๋ยวอิทธิบาท ๔ ก็ทยอยมากันครบ มีหวังสำเร็จแน่

    ขอให้จับตรงนี้ให้ชัดว่า หน้าที่ของศีล อยู่ที่จัดฐานเตรียมสภาพแวดล้อมให้เรียบร้อยมั่นคงที่จะทำการต่อไปได้ อย่าง มั่นใจ ถ้าขาดศีล ก็ฐานเสีย พื้นผุโหว่ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ถ้าไม่มีศีล ก็เริ่มไม่ได้ ถ้าเริ่มก็ง่อนแง่นโงนเงน พอสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยดีแล้ว ฐานมั่นพร้อมดีแล้ว ก็คือเข้าไปในวิถีของเรื่อง คือถึงตัวการงาน พูดภาษาพระก็คือ มีสมาธิที่จะทำงานทำการ แล้วถึงตอนนี้ พระพุทธเจ้าตรัสอะไร


    ก็ขอรวบรัดอีกว่า มีกึ่งคาถาที่พระพุทธเจ้าไว้เป็นหลักประจำ เป็นประโยชน์เริ่มต้นคาถาสรุปคำสอนสำหรับชาวบ้านที่ทำงานทำการสร้างเนื้อ สร้างตัว เพื่อชีวิตที่ดีมีความสำเร็จลุจุดหมายในโลกนี้ กึ่งคาถานี้
    คือ

    "อุฏฺฐาตา กมฺมเธยฺเยสุ อปฺปมตฺโต วิธานวา" *(องฺ.อฏฺฐก.23/144/293 ฯลฯ)

    แปลว่า "ขยันในการงาน ไม่ประมาท ฉลาดจัดการ" ขมวดให้จำง่ายว่า "ขยัน ไม่ประมาท ฉลาดจัดการ"

    ความจากพุทธพจน์นี้ ควรถือเป็นหลักการทำงานเลยทีเดียว แน่นอนว่า ในเรื่องงาน ก็ต้องเริ่มด้วยขยัน (ตัวศัพท์ คือ อุฏฐานะ แปลว่า ตัวคนลุกขึ้น ไม่มัวนั่งนอนอยู่ ก็ได้เงินทองเพิ่มขึ้น หรือมีความเจริญขึ้น ก็ได้) เมื่อขยันหมั่นเพียร กิจธุระการงานจึงจะเดินหน้า ก้าวไป แล้วจึงจะเสร็จ และถึงความสำเร็จได้


    ความขยันหมั่นเพียร นี้ พระพุทธเจ้าทรงเน้น ไม่เพียงเป็นองค์ของความสำเร็จ แต่เป็นข้อระลึกอ้างอิงสำหรับความภาคภูมิใจและความสุขในชีวิตแห่งการงานด้วย ดังที่ทรงย้ำเป็นประจำในคำสอนสำหรับคฤหัสถ์ว่า "มีโภคะซึ่งหามาได้ ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม" * (องฺ.จตุกฺก.21/62/90 ฯลฯ)

    นอกจากนั้น ด้วยความขยันหมั่นเพียรนี้ คนก็จะได้พัฒนาตัว พัฒนาชีวิต เพราะการก้าวไปในงานนั้น เป็นทั้งการพัฒนาคน และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ต้องพัฒนาตัวในทุกด้าน ที่จะพาตัวให้ก้าวผ่านไปได้ และสำเร็จผล

    อย่างไรก็ตาม ความขยันเท่านั้นไม่พอ ต้องมีความไม่ประมาทกำกับด้วย ถ้าขยันไม่เข้าเรื่อง ไม่ถูกเวลา ผิดที่ผิดจังหวะ ที่ควรขยัน ไม่ขยัน ไปขยันที่ไม่ควรขยัน ก็อาจเสียการ ความไม่ประมาทก็คือสติ ที่ออกโรงทำงานกับความเพียรนี้เอง ได้แก่ ตื่นตัว ทันเหตุการณ์ มีเรื่องผ่านจับจุดได้ มีเรื่องร้ายไม่หวั่นไหว ไม่รีรอเมื่อได้ที่ มีให้มีช่องโหว่ทิ้งไว้ มีอะไรจะต้องรับมือหรือป้องกัน ก็เตรียมให้พร้อม ถึงเวลา ถึงจังหวะ หรือเกิดโอกาส ก็ไม่พลาด ไม่ละเลย ถือหลักว่า เตรียมกิจสำหรับอนาคตให้พร้อมไว้ อย่าให้กิจนั้นบีบคั้นตัวเมื่อถึงเวลาต้องทำเฉพาะหน้า" * (ขุ.ชา.27/1636/328)

    พูดสั้นๆว่า ความไม่ประมาท ช่วยให้เพียรครบ ๔ สถาน
    คือ
    ทั้งเพียรปิดช่องป้องกันความเสื่อมเสียหาย

    เพียรแก้ไขปัญหากำจัดเรื่องร้ายภยันตราย

    เพียรสร้างสรรค์ทำการดีงามให้สำเร็จ และ

    เพียรอนุรักษ์ เช่น รักษาคุณภาพ ดำรงเกียรติคุณ และปรับปรุงส่งเสริมให้เจริญยิ่งภิญโญจนกว่าจะสมบูรณ์ไพบูลย์


    หลักที่ ๓ คือ ฉลาดจัดการ ก็สำคัญ เป็นเรื่องของปัญญา ทำให้ใช้ความขยันถูกเรื่อง ถูกที่ เป็นต้น และให้ความไม่ประมาทออกผลจริง ในที่นี้ เพื่อให้สั้นที่สุด ก็ว่าต้องจัดการด้วยปัญญาซึ่งรู้หลัก เฉพาะอย่างยิ่ง สัปปุริสธรรม ๗ ซึ่งมีหัวข้อว่า รู้หลักรู้จักเหตุ รู้ความมุ่งหมายรู้จักผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บุคคล รู้กลุ่มชน ชุมชน ถิ่นสังคม เช่น รู้จักเลือกใช้คนให้เหมาะกับงาน รู้ความต้องการของกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแบบนั้น ฯลฯ

    ความฉลาดจัดการ หรือความรู้จักจัดการนี้ เป็นธรรมที่ทรงเน้น หรือตรัสบ่อย ทั้งสำหรับพระสงฆ์ (อลัง สังธาตุง - สามารถจัดการ) และแน่นอนว่าย้ำพิเศษ สำหรับคฤหัสถ์ที่รับผิดชอบหมู่ชนหรือกิจการต่างๆ เช่น ทรงเล่าถึงหลักธรรมสำหรับผู้รับผิดชอบครอบครองบ้านเรือนว่า ผู้ครองเรือน ควรเป็นคนเผื่อนแผ่แบ่งปัน รู้จัดการ (วิธานวันต์)* (ขุ.ชา.28/949/332)


    สำหรับผู้จะรับราชการ ก็ตรัสเล่าเรื่องที่แสดงหลักธรรมไว้มาก รวมทั้งที่ว่า ผู้มีวิจารณปัญญา พร้อมด้วยพุทธิปัญญา ฉลาดในวิธีจัดการ รู้จักกาล รู้จักสมัย จึงควรสนองราชกิจ คนที่ขยันในกิจการ ไม่ประมาท มีปัญญาสอดคล้อง จัดการงานได้ดี จึงควรสนองราชกิจ* (ขุ.ชา.28/969/339)

    รวมความว่า ศีลครอบคลุมถึงธรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย

    พูดนัยหนึ่งว่า ศีลเป็นเรื่องของการจัดการชีวิตให้มีสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อก้าวไปในการพัฒนาจิตปัญญาได้เต็มที่
     
  14. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  15. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    สัปปุริสธรรม ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมของคนดี, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ ข้อ
    คือ
    ๑.ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ

    ๒.อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักเหตุผล

    ๓. อัตตัญญุตา รู้จักตน

    ๔. มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ

    ๕.กาลัญญุตา รู้จักกาล

    ๖.ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน

    ๗.ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล
     
  16. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    สาธุ โข สิปฺปกนฺนาม - อปิ ยาทิสกีทิสํ
    ปสฺส ขญฺชปฺปหาเรน - ลทฺธา คามา จตุตฺทิสา.


    ธรรมดาว่าศิลปะ แม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ท่านจงดูเถิด ด้วยการดีด (ขี้แพะ) ของคนง่อย เขาได้บ้านส่วยอันตั้งอยู่ใน ๔ ทิศแล้ว.


    ต่อที่

    http://palungjit.org/threads/คนรักธ...จะทำความจริงความถูกต้องให้สำเร็จได้-2.620412/
     

แชร์หน้านี้

Loading...