ฝึกสมาธิในชีวิตประจำวันแบบง่ายๆไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลา

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NUI, 16 มิถุนายน 2005.

  1. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    ฝึกสมาธิในชีวิตประจำวันแบบง่ายๆโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลา
    คัดลอกมาจากหนังสือที่มีการเทศน์สอนโดย ท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว

    ปกติคนเราก็มีสมาธิกันอยู่โดยธรรมชาติแล้วทั้งนั้น แต่เราอาจไม่รู้สึกตัวว่านั่นเป็นสมาธิ เหตุใดเราจึงหันมาสนใจสมาธิกันในระหว่างนี้ เห็นจะเป็นเพราะชีวิตประจำวันขณะนี้วุ่นวายสับสน จนเรารู้สึกเหนื่อย ไม่มีกำลังพอที่จะรับหน้ากับสิ่งที่ต้องผจญอยู่ทุกวันๆ ที่เป็นดังนี้เพราะเราไปมุ่งเพ็งเล็ง อยู่แต่ในด้านวัตถุกันมาก จนกระทั่งลืมนึกว่าสิ่งที่เป็นรูปกายของเรานี้ประกอบด้วยสองส่วน คือ กาย ซึ่งเป็นวัตถุ กับใจ ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นพลัง เมื่อเราไม่เคยสนใจที่จะรักษาใจให้ได้พักผ่อน เพื่อจะได้มีพลังเพียงพอไว้ต่อสู้กับเหตุการณ์ประจำวัน เราก็เริ่มรู้สึกล้า รู้สึกเหนื่อย รู้สึกขุ่นมัว รู้สึกเศร้าหมอง แต่เราก็ไม่มีเวลาที่จะนั่งลงถามหาเหตุผลว่า เหตุใดเราจึงเป็นเช่นนั้น ตรงกันข้ามเรากลับแสวงหากันต่อไป ด้วยคิดว่า อาจเป็นเพราะวัตถุที่มาอำนวยความสะดวกให้เรานั้นยังน้อยไป ยังขาดตกบกพร่อง เราจึงแสวงหาเพิ่มขึ้น จึงมีคนฉุกคิดว่า น่าจะมีอะไรมาแก้ไขได้ จึงหันมาเพ่งเล็งถึงสมาธิ ถึงวิธีทั้งหลายที่จะช่วยให้จิตของเรามีพลังและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น

    สมาธิคืออะไร สมาธิคือความแน่วนิ่งของจิตของเรา ปกติจิตซึ่งเป็นพลังเป็นสิ่งที่กระเพื่อมเหมือนกับน้ำอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีการเคลื่อนไหว มีการคิดไปไหลไปตามอารมณ์ โดยไม่มีหลักยึดเหนี่ยว ก็จะเหนื่อย จะหมดกำลังไปโดยเปล่าประโยชน์ หากเราหาอะไรที่ทำให้เกิดความตั้งมั่น เกิดความแน่วนิ่งขึ้นได้ เป็นต้นว่า มีทุ่นสำหรับให้จิตเกาะ ไม่ว้าวุ่นสับสน แต่จะสงบเย็น และมีกำลังพร้อม สำหรับนำไปใช้ขบคิดปัญหาด้วยเหตุ ด้วยผล ซึ่งจัดการประยุกต์ใช้อย่างมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ

    ปัญหาจึงมีว่า ทำอย่างไรเราจึงสามารถทำสมาธิให้เกิดได้เพียงพอ สำหรับรักษาเสริมบำรุงใจของเรา ให้มีสมรรถภาพพอที่จะทำการงานและมีชีวิตอยู่โดยสามารถบำเพ็ญประโยชน์ได้เต็มที่ และดีที่สุด เราก็พบว่าเราสามารถทำได้โดยอาศัยวิธีธรรมชาติธรรมดาที่สุด
    ปกติคนเราย่อมมีกิจกรรม มีการเคลื่อนไหวอิริยาบถหรือมีอะไรทำอยู่เป็นประจำ แทนที่เราจะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ใส่ใจ ไม่เอาสติไปจดจ้องไว้ เราก็มาเอาสติตามรู้อยู่ เพื่อให้จิตของเรามีทุ่นเกาะ มีหลักสำหรับให้มันแน่วนิ่งอยู่

    เริ่มต้นง่ายๆที่สุด ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมา แทนที่จะปล่อยใจของเราไปนึกถึงสิ่งที่ผ่านมา อย่าง เมื่อวานที่เรายังปลงไม่ตก ที่มันยังกังวลอยู่ เราก็เอาสติมาตามรู้อยู่กับอิริยาบถในปัจจุบันเดี๋ยวนั้น เราลุกขึ้นก็ให้รู้อยู่ เราไปห้องน้ำทำกิจวัตรประจำวันก็ให้รู้อยู่ ถ้าเราจำเป็นต้องคิดก็เอาสติตามรู้อยู่ในกระแสของความคิดนั้นๆว่าเรากำลังคิดด้วยการมีเหตุผลเพื่อแก้ไขหรือหาวิธีที่จะคลี่คลายปัญหาของเราให้ดีขึ้น หรือว่าคิดไปด้วยความกลัดกลุ้ม ด้วยความสับสน เอาสติมาตามรู้อยู่เช่นนั้น อยู่กับปัจจุบันทุกๆขณะเช่นนั้น และรู้อยู่ในอิริยาบถที่เราเคลื่อนไหว ซึ่งบางคนอาจเรียกว่าสัมปชัญญะก็ได้ เมื่อเรารู้อยู่อย่างนี้แล้วหากต้องไปทำงานอะไร เราก็ไปจดจ่อรู้อยู่กับสิ่งที่เราไปทำนั้น เช่น เราอ่านหนังสือก็ให้รู้อยู่ที่ข้อความที่อ่านนั้น เป็นต้น ไม่ปล่อยใจให้ไหลไปคิดถึงอดีต คิดถึงอนาคต ฟังดูก็ง่าย แต่ถ้าลองปฏิบัติ กำหนดเอาสติจ่อใจของเราดู บางคนตกใจว่าทำไมใจเราจึงฟุ้ง คิดยุ่งเหยิงอย่างนั้น ทำไมจึงยากอย่างนั้น เพราะใจเราเป็นธรรมชาติที่ไม่อยู่นิ่ง เป็นธรรมชาติที่ชอบไหลเกาะเกี่ยวไปกับอารมณ์ โดยที่ไม่รู้ตัว เราจะตกใจมากที่เราสามารถคิดเรื่อง๕เรื่องได้พร้อมๆกัน ในเวลาเดียว โดยที่เราไม่รู้หรอกว่า เราต้องการคิดถึงเรื่องอะไรก่อน อะไรหลัง แต่มันจะโผล่ขึ้นมาพร้อมๆกัน จนเราแยกแยะไม่ออก สับสน เหนื่อย แล้วเราก็บ่นว่ากลุ้มจริง เบื่อจริง ชีวิตทำไมจึงมีแต่ปัญหามากมายอย่างนี้ ก็เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกไม่ได้อบรม ไม่ได้ทำใจของเราให้มีหลัก มีทุ่นสำหรับยึดเหนี่ยว เราจึงทำให้สิ่งซึ่งไม่น่ามีปัญหาเกิดเป็นปัญหาก่อกวนให้เราสับสนยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นหากเราคิดว่าเราไม่มีเวลาไปฝึกสมาธิ เรายังไม่พร้อม เรายังมีข้อขัดข้องอย่างโน้นอย่างนี้ กรุณาลองคิดใหม่ดังนี้ แท้จริงเรามีสมาธิกันอยู่โดยธรรมชาติแล้ว เพราะหากเราไม่มีสมาธิเลย สุขภาพจิตของเราจะไม่เป็นปกติ อาจเป็นโรคจิตหรือโรคประสาทได้ ใจคนเราก็เหมือนกายเรา มันต้องได้พักผ่อน ( สมาธิ) ได้อาหาร ( ปัญญา) พอสมควร เพื่อจะดำรงพลังและความมีสติ มีปัญญาพอเพียงสำหรับติดต่อหรืออยู่ในโลกกับผู้คนได้

    ทุกวันนี้เราทุกคนต่างก็มีสมาธิโดยพื้นฐาน เพียงแต่ว่าเรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเท่านั้น เมื่อเราทราบเช่นนี้แล้วก็เป็นการง่ายที่จะพยายามฝึก เพื่อให้สมาธิของเรามีคุณภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมใจของเราให้มีกำลังขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไร เราย่อมต้องการประสิทธิภาพทั้งนั้น ถ้าใจของเรามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นผลดีย่อมเกิดตาม เพราะไม่ว่าเราจะทำกิจการใดลงไป จะพูดสิ่งใด หรือจะคิดอะไรขึ้นมา ทุกอย่างล้วนสำเร็จด้วยใจทั้งนั้น เพราะใจเปรียบเสมือนนาย งานที่คอยบังคับควบคุมให้กายของเรากระทำออกไป ขณะที่เราเคลื่อนไหวอิริยาบถ หรือมีงานกระทำเป็นทุ่นให้ใจเกาะ ไม่แลบไหลไปที่ไหนแล้วก็เป็นการง่ายที่จะกำหนดใจของเราให้แน่วนิ่ง ให้มีสมาธิ แต่คนเราจะมีงานทำอยู่ตลอดเวลา หรือเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นบางครั้งที่เรานั่งพักผ่อนหรืออยู่เฉยๆ สติซึ่งเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงของเราจะเผลอ จะอ่อนแรงลง เนื่องจากความสบายที่รู้สึกว่า เราพักเสียนิดหนึ่ง ในช่วงนิดเดียวนี้ ใจของเราซึ่งไม่เคยอยู่สุขเลย จะแลบออกไปไหลออกไป ตามอดีตบ้างตามอนาคตบ้าง ท่านจึงแนะนำว่า ขณะที่เราไม่มีอะไรเป็นทุ่นยึดเหนี่ยวใจอยู่นี้ให้กำหนดอยู่ที่ลมหายใจของเรา เพราะปกติลมหายใจเป็นสิ่งที่ไม่ต้องไปหามาจากไหนเลย เรามีลมหายใจเป็นสมบัติติดตัวตลอดตั้งแต่ลืมตาเกิดขึ้นมา ตราบจนวันตาย เพียงแค่ว่าเราหายใจกันด้วยการปล่อยปละละเลย ด้วยความเป็นอัตโนมัติ คราวนี้เอาสติมากำหนดรู้อยู่ว่า เราหายใจเข้าแล้วหยุด แล้วหายใจออกจนจิตของเรานิ่งอยู่กับลมหายใจ เมื่อเรารู้ได้ถึงกริยาที่เราหายใจโดยแจ่มชัด เราก็อาจจะไม่ตามลมเข้า ลมออกอีกต่อไป แต่กำหนดสติวางไว้ตรงไหนก็ได้ในทางเดินของลมหายใจของเรา ตรงที่เรารู้สึกชัดเจนที่สุด ง่ายที่สุด จะเป็นที่ปลายจมูก ที่ดั้งจมูก ที่หลอดลม หรือที่ตรงไหนก็ได้ ตั้งสติวางเอาไว้ ลองฝึกดังนี้ไปเรื่อยๆ

    เมื่อเราฝึกอยู่เรื่อยๆอย่างนี้ เราจะพบว่าสติซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และเราคิดว่าเรามีสติสมบูรณ์อยู่กับใจของเรานั้น แต่แท้ที่จริงวันหนึ่งๆ สติของเราหายหกตกหล่นไปไม่รู้เท่าไหร่ ขณะที่เราคิดว่าเรามีสติรู้อยู่กับปัจจุบันนั้น แท้ที่จริงเราคิดไปในอดีต หรือตามไปในอนาคตอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นไรเมื่อเรารู้ตัว จับได้ว่ามันไหลออกไปอย่างนั้นก็เรียกมันกลับมาใหม่ แล้วให้รู้ว่า แท้ที่จริงใจของเราเป็นสิ่งที่เลี้ยงยากเหลือเกินไม่ยอมอยู่ในโอวาทของเราเลย และหลอกเราอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราค่อยๆฝึกไป ใจที่เคยไหลอยู่ตลอดกาลไม่หยุดนิ่งเลย ก็ค่อยๆนิ่งเข้า สงบเข้า รวมตัวกันเข้า แน่วนิ่งเข้า มีรากมีฐาน ได้พักผ่อนเหมือนที่เราให้กายพักผ่อน ให้นอน ให้อาหาร เพื่อว่าวันรุ่งขึ้น จะได้มีกำลังสดชื่นแข็งแรง นี่ก็เหมือนกัน เราเริ่มต้นดูแลจิตของเราซึ่งเหน็ดเหนื่อย ซึ่งสับสน ซึ่งว้าวุ่น ซึ่งร้อน
    ซึ่งเศร้าหมอง อยู่ตลอดเวลา ให้ได้พัก ได้สงบนิ่ง ได้มีกำลังขึ้น
     
  2. atidtarn

    atidtarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    637
    ค่าพลัง:
    +4,168
    อนุโมธานค่ะ กำลังคิดอยู่พอดี ว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้จิตอยู่กับปัจจุบันดี ได้อ่านบทความนี้ จึงมีประโยชน์มากค่ะ[​IMG]
     
  3. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    ดีใจค่ะ ที่คุณอธิษฐานอ่านแล้วได้รับประโยชน์ตรงนี้
    ขอให้เจริญในธรรมที่ได้ปฏิบัติค่ะ (b-flower)
     
  4. NUI

    NUI เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    389
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +983
    ค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...