คู่พระบารมีนายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์..(ม.ร.ว.โต จิตรพงศ)

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 14 กรกฎาคม 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    ม.ร.ว.โต จิตรพงศ
    คู่พระบารมีนายช่างใหญ่กรุงรัตนโกสินทร์




    <!--Main--><CENTER>พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
    พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
    ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
    ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น</CENTER>



    พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​




    <CENTER>[​IMG]</CENTER>

    .................................................................................................................................................................................................

    คู่บารมีพระบิดาแห่งศิลปไทย
    (มรว. โต จิตรพงศ์ ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)


    ด้วยคำว่าคู่บารมี เราย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลที่มีส่วนช่วยส่งเสริมเกียรติคุณและมักจะเป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งเกียรติคุณทัดเทียมกันกับบุคคลที่ได้รับการส่งเสริม เสมือนหนึ่งฐานรองรับพระพุทธรูป ย่อมประกอบด้วยวัตถุเนื้อเดียวกันกับพระพุทธรูป และมีส่วนช่วยให้พระพุทธรูปดูงามเด่นน่าเลื่อมใส ชวนสักการะยิ่งขึ้นกระนั้น

    เมื่อเอ่ยถึงคำว่า พระบิดาแห่งศิลปะไทย คนไทยที่มีความเป็นไทยทั้งกายและใจก็ย่อมเข้าใจได้ดี ว่าหมายถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เพราะสมเด็จฯ องค์นี้ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และดุริยศิลปของไทย ยังมีปรากฏแก่หูแห่ตาชนรุ่นหลังอยู่มากมายหลายอย่าง เช่นอุโบสถวัดเบญจมบพิตร อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาอย่างยิ่งของไทย เพลงเขมรไทรโยค อันเป็นเพลงอมตะเหล่านี้เป็นต้น



    <CENTER>[​IMG]
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์</CENTER>

    บุคคลที่เป็นศิลปินโดยแท้นั้น ย่อมมีความรักและความหมกมุ่นในงานของตนอยู่เป็นนิจ บางครั้งความคร่ำเคร่งในงานจนเกินไปก็มักก่อให้เกิดความกังวลใจขึ้นแก่คนในครอบครัว และในกรณีเช่นนี้ ถ้าหากบุคคลในครอบครัวไม่มีความเข้าใจดีก็จะไม่สามารถประคับประคองทั้งด้านชีวิตและจิตใจของศิลปินผู้นั้น ให้ดำเนินไปในทางสูงส่งเพื่อศิลปะได้ด้วยดีเป็นแน่ อีกประการหนึ่ง ถ้าหากบุคคลในครอบครัวโดยเพราะสามีหรือภรรยา ไม่เข้าใจถึงคุณค่าแห่งศิลปะที่สามีหรือภรรยาของตนประกอบอยู่แล้ว ก็ย่อมมีการลิดรอนกำลังใจของบุคคลที่เป็นศิลปินนั้นอย่างไม่มีปัญหา

    แต่เพราะพระบิดาแห่งศิลปะของไทย ทรงมีชายาเป็นคู่พระบารมี ชายาของพระองค์ท่านเป็นผู้ที่ประพฤติตนคล้อยตามพระนิยมในด้านศิลปได้อย่างงดงามดียิ่ง นอกไปจากคุณสมบัติด้านแม่เจ้าเรือน อันเป็นสมบัติประจำตัวของกุลสตรีไทยแท้ คู่พระบารมีของพระองค์ท่านประกอบด้วยคุณสมบัติสามประการ คือประการที่เป็นคู่พระชนม์ชีพของยอดศิลปิน ประการที่เป็นคฤหปตานีที่ดี และประการที่เป็นชายาของพระเจ้าบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า ท่านผู้นี้คือ หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์

    คู่พระบารมีของพระบิดาแห่งศิลปะไทยเป็นธิดาหม่อมเจ้าแดง งอนรถ ณ อยุธยา หม่อมวันเป็นมารดา เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ หม่อมเจ้าแดงทรงเป็นโอรสองค์เดียวในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ พระองค์เจ้างอนรถ เมื่อหม่อมเจ้าแดงมีชันษาได้เพียง ๘๒ วัน พระบิดาก็สิ้นพระชนม์ พระองค์เจ้าหญิงวงเดือนพระเชษฐภคินีของพระองค์เจ้างอนรถจึงทรงรับหม่อมเจ้าแดงไปเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงอุปการะหม่อมเจ้าหญิงอ่างในพระบรมวงศ์เธอชั้น ๓ กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ไปทรงอุปการะไว้ด้วย เพราะเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าวงเดือน และของกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์เป็นพี่น้องกัน โดยที่หม่อมราชวงศ์เอี่ยม หม่อมมารดาของหม่อมเจ้าหญิงอ่างได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย พระองค์เจ้าวงเดือนจึงทรงให้หม่อมราชวงศ์เอี่ยมเป็นผู้ดูแลหม่อมเจ้าชายแดง และหม่อมเจ้าหญิงอ่างซึ่งมีพระชันษาแก่กว่าหม่อมเจ้าชายแดงประมาณ ๑๐ ปี ก็ได้ทรงช่วยดูแลหม่อมเจ้าชายแดงด้วย ทั้งหม่อมเจ้าหญิงอ่างและหม่อมเจ้าชายแดงจึงทรงมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งหม่อมเจ้าชายแดงทรงเจริญวัยเกินที่จะอยู่ในพระบรมมหาราชวังได้ จึงได้เสด็จออกมาอยู่ข้างนอก ทรงมีหม่อมและได้ทรงมีบุตร ๒ คน ธิดา ๒ คน แต่ทว่าบุตรธิดาทั้ง ๓ สิ้นชีพเสียแต่ยังเยาว์มากทั้งนั้น คงเหลือเพียงคนเดียวที่มีชีวิตอยู่ได้จนโต จึงมีนามว่า “โต”



    <CENTER>[​IMG]
    กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์</CENTER>

    เมื่อธิดาคนเดียวของหม่อมเจ้าแดงมีอายุได้ ๗ ปี ก็เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังกับหม่อมเจ้าหญิงอ่าง ซึ่งทรงมีหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องนมัสการ คือควั่นธูปเทียนสำหรับใช้ในราชการ จึงได้รับการอบรมสั่งสอนในวิชาการด้านนี้มาจากหม่อมเจ้าหญิงอ่างด้วย นอกจากนั้นหม่อมเจ้าหญิงอ่างยังทรงอบรมหม่อมราชวงศ์โตในด้านความประพฤติและกิริยามารยาทอุปนิสัยอย่างเข้มงวด ส่วนการอบรมด้านความรู้ของสตรี ซึ่งสมัยก่อนถือว่าการเรือนการครัวเป็นสิ่งสำคัญนั้น หม่อมเจ้าหญิงอ่างทรงอบรมด้วยการทรงปล่อยให้หม่อมราชวงศ์โตเล่นตามอย่างงานที่ท่านทรงทำ เช่นทำแป้งร่ำ น้ำอบ ควั่นธูปเทียน ตลอดจนเล่นหุงข้าวต้มแกง หม่อมราชวงศ์หญิงโตจึงทำงานอันเป็นวิชาของสตรีได้เอง เพราะเคยเล่นมาแต่เยาว์วัยแล้ว

    หม่อมเจ้าหญิงอ่างทรงสนิทสนมคุ้นเคยกันมากกับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพรรณราย ที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระดำรัสเรียกว่า “น้าแฉ่” พระองค์เจ้าหญิงพรรณรายทรงเป็นพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงมีตำหนักที่ประทับในบริเวณวังของพระโอรสที่ตำบลท่าพระ หม่อมเจ้าหญิงอ่างเคยเสด็จออกมาประทับกับพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย และหม่อมราชวงศ์หญิงโตก็ได้ตามเสด็จด้วย พระองค์เจ้าหญิงพรรณรายโปรดหม่อมราชวงศ์หญิงโต จึงตรัสขอจากหม่อมเจ้าหญิงอ่าง เมื่อทรงได้รับความเห็นชอบจากหม่อมเจ้าชายแดงแล้ว หม่อมเจ้าหญิงอ่างก็ทรงยกหม่อมราชวงศ์โตถวายพระองค์เจ้าหญิงพรรณราย หม่อมราชวงศ์โตจึงออกจากพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่วังท่าพระตั้งแต่นั้นมา



    <CENTER>[​IMG]
    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย</CENTER>

    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพรรณรายทรงเป็นช่างดอกไม้และทรงชำนาญทำพุ่มขี้ผึ้ง และปักพุ่มบูชาต่างๆ ทรงทำพุ่มขี้ผึ้งขนาดต่างๆ ขายมาตั้งแต่ยังเสด็จอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้ว เมื่อเสด็จออกมาประทับที่วังท่าพระก็ยังทรงทำพุ่มขาย และได้ทรงขยายกิจการอีกมากมาย พระโอรสทรงเป็นช่างก็ทรงออกแบบลวดลายเขียนพาน ทำหุ่นทรงติดพุ่ม สวมยอดแบบตัวผึ้งถวายให้งดงาม เมื่อหม่อมราชวงศ์หญิงโตมาอยู่กับพระองค์หญิงพรรณราย ก็ได้ถ่ายวิชาต่างๆ จากพระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์นั้นไว้ด้วย

    หม่อมราชวงศ์หญิงโตอยู่กับพระองค์เจ้าหญิงพรรณราบได้ ๑๐ ปี พระโอรสในพระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์นั้นก็ทรงพระเมตตา ยกขึ้นเป็นพระชายาในปี พ.ศ. ๒๔๔๖

    ผู้ที่เคยอ่านหนังสือเรื่องสาส์นสมเด็จอันเป็นพระนิพนธ์ระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ย่อมจะระลึกได้ว่า มีอยู่หลายตอนที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ได้ทรงกล่าวถึง “แม่โต” เช่น “แม่โตถามว่าตะเกี่ยคืออะไร” หรือ “หม้อน้ำมนต์ที่ประทานไปนั้น แม่โตทักว่าไม่มีฝา” หรือ “แกก็นึกออกว่าหม้อน้ำสุวรรณสามก็ใช้ใบบัวปิด” แม้ว่าการที่สมเด็จฯ ยอดศิลปินจะทรงกล่าวถึงชายาของพระองค์ในทำนองเล่าสู่กันฟังฉันพี่น้องก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่แสดงอยู่ในตัวว่าชายาของพระองค์ท่านมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งใดบ้าง



    <CENTER>[​IMG]</CENTER>

    หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ ธิดาของหม่อมราชวงศ์โตทรงเล่าถึง “คู่พระบารมีพระบิดาแห่งศิลปะไทย” ไว้ดังนี้

    “ แม่ได้รับการอบรมอย่างโบราณ จึงเป็นคนรักสงบไม่ชอบความฟุ้งเฟ้อหรูหรา แม้จะได้รับการศึกษาชั้นต้นแต่เพียงเล็กน้อย แต่เป็นคนสนใจใฝ่วิชาหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ไม่ยอมล้าสมัย ทั้งมีวาสนาได้อยู่ใกล้ชิดบัณฑิต ชอบอ่านชอบคิด ช่างจำ จึงมีความรู้รอบตัวหลายแขนง เฉพาะวรรณคดีนั้นชอบมาก ถ้าตอนไหนไพเราะจับใจก็จำไว้ได้ขึ้นใจเป็นเรื่องๆ ”

    และในด้านที่เป็นคู่พระบารมีนั้น

    “ กับเสด็จพ่อนั้นแม่ดูแลถวายความสุข ความสะดวกสบาย ควบคุมกิจการรั้ววังต่างพระเนตรพระกรรณด้วยตนเองทุกอย่าง สิ่งใดที่เสด็จพ่อโปรด แม่ก็พยายามทำถวายให้ถูกพระทัยเป็นนิจ เสด็จพ่อโปรดการช่าง แม่ก็ประดิษฐ์ของที่ประกอบด้วยฝีมือช่างอันประณีตบรรจงถวายทุกโอกาส เช่นจะทรงเลี้ยงอาหารชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นนักโบราณคดีมาจากประเทศอินโดจีน แม่ก็เอามันเทศมาแกะสลักเป็นรูปปราสาท มียอดเป็นหน้าสี่หน้าเหมือนปราสาทบายนของเขมร เป็นเครื่องตั้งไว้กลางโต๊ะอาหาร หรือในวันประสูติซึ่งเคยทรงเชิญลูกหลาน และข้าราชการที่ได้ทรงอาศัยใช้สอยมาเลี้ยงเป็นงานประจำปี แม่ก็ประดิษฐ์ของแปลกๆ ด้วยการจัดอาหารและผลไม้เป็นรูปสัตว์และสิ่งอื่นๆ บ้าง ทำของกระจุกกระจิกที่น่าเอ็นดูถวายให้ทรงแจกชำร่วยบ้าง ห่อของฉลากเป็นรูปต่างๆ บ้าง พยายามจัดของแปลกของใหม่ไว้ให้ได้ชมเชยสนุกสนามทุกปี ถึงกลางเดือนสิบสองก็ชวนคนในวังทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำแพทำกระทงเป็นรูปต่างๆ ประกวดกันถวายเสด็จพ่อทรงลอยเพื่อชักจูงให้เด็กๆ หัดทำการช่าง ของใครทำดีก็ได้ประทานรางวัล จนเสด็จลุง (สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ) เคยตรัสเย้าว่า ‘เป็นนางนพมาศ’ ”

    “คู่พระบารมี” พระบิดาแห่งศิลปะไทย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ อายุได้ ๗๔ ปี ๙ เดือน



    <CENTER>[​IMG]
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
    ม.ร.ว. โต ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์</CENTER>



    <SUP>คัดจากหนังสือ "รัดเกล้า" ของลาวัณย์ โชตามระ</SUP>
    <SUP></SUP>
    <SUP>---------------</SUP>
    <SUP>ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : </SUP>
    BlogGang.com : : ����� - �.�.�.�� �Եþ�� (�����к���չ�ª�ҧ�˭���ا�ѵ����Թ���)
     

แชร์หน้านี้

Loading...