คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย newhatyai, 20 มกราคม 2008.

  1. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    อิทธิบาท ๔

    ได้พูดถึงวิธีการต่างๆ มามาก ต่อแต่นี้ไปจะพูดถึงกฎบังคับตายตัวในพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง ที่นักปฏิบัติไม่ว่าระดับใดต้องยึดถือเป็นกฎบังคับสำหรับการปฏิบัติ ถ้าทิ้งอิทธิบาท๔ นี้เสียแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่มีทางสำเร็จผลสมความปรารถนา แต่ถ้าท่านผู้ใดทรงการปฏิบัติตามในอิทธิบาท ๔ นี้แล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสรับรองผลว่า ต้องสำเร็จสมความมุ่งหมายทุกประการ แม้ท่านหวังพระนิพพานในชาตินี้ ก็หวังได้แน่นอน ใจความในอิทธิบาท ๔มีดังนี้

    ๑. ฉันทะ มีความพอใจในปฏิปทาที่ปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ
    ๒. วิริยะ มีความพากเพียรพยายามไม่ท้อถอย
    ๓. จิตตะ สนใจในข้อวัตรปฏิบัตินั้นเนืองนิจ
    ๔. วิมังสา ใคร่ครวญพิจารณา ในข้อวัตรปฏิบัตินั้นโดยถูกต้อง

    กฎ ๔ อย่างนี้ท่านเรียกว่า อิทธิบาท แปลว่า เข้าถึงความสำเร็จ หมายความว่าท่านนักปฏิบัติท่านใดจะปฏิบัติในสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ถ้าท่านมีแนวความคิดรักใคร่สนใจในข้อวัตรปฏิบัติ มีความพากเพียรไม่ท้อถอย สนใจใคร่อยู่เป็นปกติ พิจารณาสอบสวนทบทวนปฏิปทาที่ปฏิบัติแล้วว่า เหมาะสมถูกต้องประการใด หรือไม่เพียงใด ต่อไปควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสมถูกต้อง ปฏิบัติได้อย่างนี้ สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่าไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ไม่สำเร็จอิทธิบาท ๔ ประการนี้ นักปฏิบัติต้องยึดไว้เป็นหลักปฏิบัติประจำใจ ไม่มีพระอรหันต์องค์ใดที่จะละเลย ไม่ยึดถืออิทธิบาท ๔ นี้เป็นหลักปฏิบัติประจำใจ แม้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเองก็ทรง
    ยึดอิทธิบาทนี้เป็นกฏในการปฏิบัติเช่นเดียวกัน ขอท่านนักปฏิบัติทุกท่านจงยึดถืออิทธิบาทนี้เป็นหลักชัยประจำใจไว้เสมอ

    อิริยาบท

    นักปฏิบัติผู้หวังผล ส่วนมากมักจะหนักใจอิริยาบท คิดว่านั่งอย่างไร นอนได้ไหม? เดินยืนได้หรือเปล่า? ขอบอกไว้ให้ทราบว่า วิธีปฏิบัติในอิริยาบทนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคไม่ทรงจำกัดไว้ท่านว่าได้ทั้ง ๔ อิริยาบท คือ นั่ง นอน ยืน เดิน

    การนั่ง
    การนี้ท่านไม่จำกัดไว้ ท่านว่านั่งตามสบาย ชอบขัดสมาธิ หรือพับเพียบ หรือท่าใดท่าหนึ่งที่พอเห็นว่าเหมาะสม หรือพอสบาย ท่านว่าทำได้ แต่ตามแบบท่านพูดเป็นกลาง ๆ ไว้ว่า เข้าสู่ที่สงัด นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น ท่านว่าอย่างนี้ การตั้งกายให้ตรง เอากันเพียงแค่เท่าที่จะตรงได้ สังเกตดูด้วยการทดลองสูดลมหายใจเข้าออก เอาพอหายใจสบายๆ ถ้าคนหลังงอหลังโกงบังคับให้ตรงเป๋งย่อมไม่ได้ ต้องให้เหยียดพอดีเท่าที่จะเหยียดได้

    นอน
    ท่านว่าควรนอนตะแคงขวา แบบสีหไสยาสน์ แต่ทว่าถ้านอนตะแคงขวาไม่ได้เพราะเหตุใดก็ตาม ท่านจะนอนท่าใดก็ได้ ตามแต่ที่ท่านจะเห็นว่าสบาย

    การยืน
    แบบยืนนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบาย ก็การยืนไม่มีหลายท่า เอากันแค่ยืนได้ ใครขืนเล่นพิเรนทร์ยืนนอกแบบฉบับก็เห็นจะลำบาก

    การเดิน
    การเดินนี้มีความสำคัญมาก ต้องขออธิบายสักหน่อย เดินท่านเรียกว่า "จงกรม" ทำกันอย่างไร ท่านไม่ได้อธิบายไว้ แต่ตามที่ปฏิบัติกันมา ท่านสอนให้เดินหลายอย่าง คือ

    ๑. เดินนับก้าว ที่เท้าก้าวไป
    ๒. เดินกำหนดรู้การก้าวไปและถอยกลับ รู้พร้อมทั้งการแกว่งแขน และยกขาว่า ก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวา แกว่งแขนซ้ายหรือแขนขวา ก้าวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ดังนี้เป็นต้น
    ๓. เดินกำหนดอารมณ์สมาธิ คือกำหนดนิมิตสมาธิตามอารมณ์กรรมฐานที่เจริญอยู่ โดยเดินไปตามปกติธรรมดาขอสรุปเอาว่า การเดินปฏิบัติ ท่านเรียกว่าเดินจงกรม คือเดินควบคุมสติให้รู้ว่า ก้าวไปหรือถอยกลับใหม่ ๆ ท่านให้ฝึกนับก้าวว่า เดินไปได้กี่ก้าวจึงถึงที่หมาย ต่อมาให้กำหนดรู้ว่า เราเดินด้วยเท้าซ้ายหรือเท้าขวาให้กำหนดรู้ไว้ เพื่อรักษาสมาธิ ต่อไปก็เดินกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ถ้าเป็นกรรมฐานที่มีรูป ก็กำหนดรูปกรรมฐานไปพร้อมกัน กรรมฐานกองใดได้สมาธิในขณะเดินกรรมฐานกองนั้นสมาธิไม่มีเสื่อม

    วิธีเดิน ตอนแรกๆ ควรเดินช้าๆ เพราะจิตยังไม่ชิน ต่อเมื่อจิตชินแล้ว ให้เดินตามปกติแล้วกำหนดรู้ไปด้วย เมื่อใดถ้าเดินเป็นปกติ รู้การก้าวไปและถอยกลับได้จิตไม่เคลื่อนและรักษาอารมณ์สมาธิ หรือนิมิตกรรมฐานได้เป็นปกติ ทั้งเดินในที่ฝึกหรือเดินในธุรกิจแล้ว ก็ชื่อว่าท่านเป็นนักปฏิบัติที่เข้าระดับแล้ว พอจะเอาตัวรอด

    บังคับหยุด
    การเดินควรฝึกทั้งหลับตาและลืมตา ตอนแรกๆ ฝึกลืมตา พอชำนาญเข้าให้ฝึกหลับตาแล้วกำหนดที่หยุดโดยกำหนดใจไว้ว่า ถึงตรงนั้นจงหยุด หรือ บังคับการแยกทางว่า ถึงตรงนั้นทางแยกทาง หรือขณะเดินอยู่นั้นอธิษฐานให้กายเดินย้อนไปย้อนมาตามแนวเส้นทางให้ถูกต้องส่วนจิตถอดท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ บังคับให้กายเดินให้ตรงทางที่มีส่วนตรงและโค้ง เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามเส้นทางหรือบังคับให้หยุดตรงที่กำหนด ให้หยุดกี่นาที แล้วเดินต่อไปตามกำหนดอย่างนี้ เป็นวิธีเดินจงกรมฝึกกรรมฐาน การเดินควรฝึกให้ถึงขั้นปกติ

    อานิสงส์เดินจงกรม
    การเดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอิริยาบท ไม่ให้เส้นสายยึดจนกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยและยังทำให้ท้องไม่ผูกอีกด้วย
     
  2. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    กฏการปฏิบัติกรรมฐาน
    การปฏิบัติพระกรรมฐานในพระพุทธศาสนา มีกฎของการปฏิบัติเพื่อผลของการบรรลุเป็นระดับไป ตามนัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอุทุมพริกสูตรดังจะยกมากล่าวไว้แต่ตอนที่เห็นว่าสมควรดังต่อไปนี้

    อธิศีลสิกขา
    ในระดับแรก ก่อนที่ท่านจะหวังผลในฌานโลกีย์ ซึ่งเป็นระดับของอธิจิตตสิกขานั้น
    สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงสอนให้รักษาศีลให้เป็นอธิศีลเสียก่อนคำว่า อธิศีล แปลดังนี้ อธิ แปลว่า ยิ่ง เกิน หรือล่วง เฉพาะคำว่า อธิ แปลได้สามอย่างดังนี้ ถึงแม้ว่าจะแปลได้เป็นสามนัยก็คงมีความหมายอย่างเดียวกันคำว่า ยิ่ง ก็หมายถึง การปฏิบัติยิ่งกว่าหมายถึงการปฏิบัติเคร่งครัดกว่าปกติหรือรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิตนั่นเอง เกินหรือล่วงก็มีความหมายเหมือนกัน เกิน ก็หมายถึงปฏิบัติเกินกว่าที่ปฏิบัติกันตามปกติ ล่วง ก็หมายถึงการปฏิบัติล่วงคือเกิน ที่กระทำกันตามปกติ ศัพท์สามคำนี้มีความหมายอย่างเดียวกันการปฏิบัติตามนี้จึงจะจัดเป็นอธิศีลการปฏิบัติเป็นอธิศีลท่านแนะนำไว้ในอุทุมพริกสูตรดังนี้

    ๑. จะรักษาศีลไว้ด้วยดี มิให้ขาดมิให้ทำลาย แม้แต่ศีลจะมัวหมองก็มิยอมให้เป็นด้วยมีวิธีรักษาดังนี้ จะไม่ทำลายศีลให้ขาดเอง ไม่แนะนำให้คนอื่นทำลายศีล และไม่ยินดีต่อเมื่อเห็นผู้อื่นทำลายศีล การปฏิบัติพระกรรมฐาน ก่อนที่จะหวังให้ ฌานสมาบัติอุบัติปรากฏแก่จิตใจนั้น ต้องมีศีลบริสุทธิ์เสียก่อน ถ้าศีลของท่านยังขาดตกบกพร่องรักษาบ้าง ไม่รักษาบ้าง ยังเกรงใจความชั่ว คือสังคมที่มอมแมมด้วยความชั่วช้าที่ต้องมีการดื่มของมึนเมาอวยพร ต้องกินเนื้อสัตว์ที่ยังมีชีวิต เพราะถ้าสัตว์ตายก่อนแล้ว เนื้อมีรสไม่อร่อยต้องพูดตลบตะแลงให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เกรงใจสังคมที่นิยมมีเมียเก็บ เมียอะไหล่นิยมสะสมสมบัติที่ได้มาโดยมิชอบธรรมเฉพาะอย่างยิ่งการดื่ม ถึงแม้ว่าท่านจะละมาในวันอื่น ๆ ทุกวันแต่ถ้าวันใดมีการเลี้ยงก็ต้องดื่มเพื่อสังคม แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าท่านไม่มีความ
    บริสุทธิ์ ไม่มีศีล เป็นอธิศีลแม้แต่ปกติศีลก็ยังไม่จัดว่าท่านเป็นผู้มีศีล ทั้งนี้เพราะการบกพร่องในศีลเป็นความชั่วจะด้วยกรณีใดก็ตามถ้าท่านล่วงศีลด้วยเจตนาแล้ว ท่านก็เป็นคนเลวสำหรับนักปฏิบัติ ในศีลท่านจะอ้างว่าท่านล่วงเพื่อสังคม ก็ไม่มีทางจะเอาตัวรอดได้เพราะการที่ท่านต้องเกรงใจสังคมที่ชั่วช้าเลวทราม เพราะมุ่งที่จะทำลายความดี สิ่งที่ท่านทำไปนั้นมันเป็นเหตุของความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วแม้แต่นิดหนึ่งก็เป็นความชั่ว ของเหม็นที่มนุษย์รังเกียจ ร่างกายเราทั้งใหญ่ทั้งโต แต่พอสิ่งโสโครกที่มีกลิ่นเหม็นเพียงนิดเดียวมาติดกายเราก็ต้องรีบล้าง รีบชำระ เพราะรังเกียจในกลิ่นเหม็นที่เราไม่ยอมปล่อยด้วยคิดว่ามันมีจำนวนนิดเดียว ร่างกายเรายังว่างจากสิ่งโสโครกนั้นมากมายเราไม่ปล่อยไว้ก็เพราะคิดว่า สิ่งโสโครกแม้แต่นิดเดียวก็สร้างความเดือดร้อนแก่จิตใจข้อนี้ฉันใดแม้ศีลที่ท่านรักษาเพื่อเป็นภาคพื้นของสมาธิสมาบัติก็เช่นเดียวกัน ท่านพร่องในศีลด้วยเจตนาเพียงนิดเดียวท่านไม่มีหวังที่จะทรงสมาธิเพื่อฌานสมาบัติได้เลย เพราะเพียงศีลมีการรักษาแบบหยาบๆ ท่านยังรักษาไม่ได้ ท่านจะเป็นผู้ทรงสมาธิที่มีอารมณ์ละเอียดกว่านี้ได้
    อย่างไร ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานมาเป็นเวลาหลายสิบปีที่ไม่ได้สำเร็จผลใดๆ แม้แต่ฌานโลกีย์ก็ไม่ได้ก็เพราะพร่องในศีลเป็นสำคัญ เมื่อท่านรักษาศีลตามนัยที่กล่าวมาแล้วโดยมั่นคงจนถึงขั้นไม่ต้องระวังหมายความว่า ละเสียได้จนชินไม่มีการพลั้งเผลอแล้วต่อไปท่านให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

    ระงับนิวรณ์ ๕

    ท่านสอนให้ระงับนิวรณ์ห้าประการ โดยพิจารณาเห็นโทษของนิวรณ์ปกติ คือ
    ๑. เห็นโทษของกามฉันทะ ความมั่วสุมในกามารมณ์ว่า เป็นทุกข์เป็นภัยอย่างยิ่ง
    ๒. เห็นโทษของการจองล้างจองผลาญ เพราะการพยาบาทมาดร้ายซึ่งกันและกันเป็นเสมือนไฟคอยผลาญความสุข
    ๓. คอยกำจัดความง่วงเหงาหาวนอน เมื่อขณะปฏิบัติสมณธรรม
    ๔. คอยควบคุมอารมณ์ไม่ให้ฟุ้งซ่านออกนอกลู่นอกทางเมื่อขณะภาวนา
    ๕. ตัดความสงสัยในมรรคผลเสีย โดยมั่นใจว่าผลของการปฏิบัติมีแน่นอนถ้าเราทำถึง

    เจริญพรหมวิหาร ๔
    ๑. แผ่เมตตา ความรักไปในทางทิศทั้ง ๔ โดยคิดไว้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเราจะ
    เป็นมิตรแก่คนและสัตว์ทั่วโลก จะยอมเคารพในสิทธิของกันและกัน จะรักสิทธิของผู้อื่นเสมอด้วยสิทธิของกันและกัน จะรักสิทธิของผู้อื่นเสมอด้วยสิทธิของตนเองจะไม่ทำใครให้เดือดร้อนด้วยกายวาจาแม้แต่จะคิดด้วยใจ จะรักษาและเคารพในบุคคลและสัตว์เสมอด้วยความรักตนเอง
    ๒. กรุณา จะสงสาร หวังสงเคราะห์สัตว์และมนุษย์ทั้งปวง ทั่วในทิศทั้ง ๔
    ๓. มุทิตา จะไม่อิจฉาริษยาคนและสัตว์ทั้งหลาย ทั่วทิศทั้ง ๔ จะพลอยส่งเสริมเมื่อผู้อื่นได้ดีมีโชคมีความรู้สึกในเมื่อได้ข่าวว่าผู้อื่นได้ดีมีโชคเหมือนตนของตนเป็นผู้ได้ดีมีโชคเอง
    ๔. อุเบกขา วางเฉยเมื่อผู้อื่นพลาดพลั้งไม่ซ้ำเติมให้ช้ำใจและตั้งใจหวังสงเคราะห์
    เมื่อมีโอกาส

    การรักษาศีลบริสุทธิ์ ด้วยการไม่ล่วงเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นล่วง และไม่ยินดีต่อเมื่อผู้อื่น
    ล่วงศีลและตัดความพอใจในนิวรณ์ ๕ โดยระงับนิวรณ์ไม่ให้รบกวนจิต เมื่อขณะปฏิบัติสมณธรรมได้ และทรงพรหมวิหาร ๔ ประการได้อย่างครบถ้วนอย่างนี้ อารมณ์จิตก็เป็นฌาน และฌานจะไม่รู้จักเสื่อมเพราะพรหมวิหาร ๔ อุ้มชู คนที่มีพรหมวิหาร ๔ ประจำใจศีลก็บริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง สมาธิก็ตั้งมั่นวิปัสสนาญาณก็ผ่องใส รวมความว่าพรหมวิหาร๔ เป็นกำลังใหญ่ในการปฏิบัติสมณธรรมทุกระดับ
    การรักษาศีลบริสุทธิ์ เป็น อธิศีลสิกขา การกำจัดนิวรณ์และทรงพรหมวิหารเป็น
    อธิจิตตสิกขาคือทรงฌานสมาบัติไว้ได้ ท่านปฏิบัติได้ถึงระดับนี้ พระพุทธชินสีห์ตรัสไว้ในอุทุมพริกสูตรว่า มีความดีในระดับเปลือกของความดีในพระพุทธศาสนาเท่านั้นเรียกว่าเริ่มเป็นพุทธศาสนิกชนชั้นเด็ก ๆ

    ความดีระดับกระพี้
    ท่านมีศีลบริสุทธิ์ กำจัดนิวรณ์ ๕ ได้ ทรงพรหมวิหาร ๔ แล้วสร้างฌานพิเศษมี ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่ล่วงมาแล้วได้โดยไม่จำกัดชาติ ทำได้อย่างนี้ท่านว่ามีความดีระดับกระพี้ของความดีในพระพุทธศาสนา ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้ายกย่องสรรเสริญ

    ความดีระดับแก่น
    เมื่อท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ กำจัดนิวรณ์ ๕ ได้ ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณและบรรลุทิพยจักษุญาณ สามารถรู้ว่าสัตว์ตายแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน มีความสุขความทุกข์เพราะอาศัยกรรมอะไรเป็นเหตุ ตอนนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นความดีที่ทรงความเป็นสาระแก่นสาร ความดีระดับนี้ก็เป็นความดีระดับวิชชาสามแต่ก็ดี เพียงแค่มีศรัทธาแก่กล้าไม่ท้อถอยเท่านั้นเอง พระองค์ทรงกล่าวแก่นิโครธะต่อไปว่า ความดียิ่งกว่านี้ยังมีอีกที่ทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์มีแต่สุขล้วนๆ ทรงกล่าวว่า ผู้ใดทรงความดีตามที่กล่าวมาแล้วนั้นได้ครบถ้วนแล้ว ถ้าจะปฏิบัติเพื่อธรรมเบื้องสูงที่จบพรหมจรรย์แล้วอย่างช้าไม่เกิน ๗ ปีอย่างกลางไม่เกิน ๗ เดือนอย่างเร็วไม่เกิน ๗ วัน ก็จะเข้าถึง อรหัตตผล เป็นพระอริยบุคคลระดับยอดในพระพุทธศาสนา

    กฎของการปฏิบัติสมณธรรมที่จะได้รับผลสมตามที่มุ่งหมายท่านต้องยึดหลักตามที่
    กล่าวมาแล้วเป็นบันไดการปฏิบัติ ทำให้ได้ให้ถึงระดับเป็นขั้นๆ ไป เช่น ศีลก็ต้องปฏิบัติฝึกหัดจิตให้เป็นมิตรกับศีลจริงๆ จังๆ อย่างชนิดที่ถ้าบกพร่องศีลนิดหนึ่งก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำความรู้สึกในจิตใจของตนเองให้มีอารมณ์เป็นปกติดีว่า การพร่องในศีลก็เป็นการเปิดโอกาสให้ความเลวทรามเข้าแทรกแซงสิงใจ ทำให้จิต กาย วาจาของเราที่ขัดเกลาแล้วด้วยดี กลายเป็นวาจาใจที่เลวทรามต่ำช้า การพร่องในศีลเลวอย่างไรจะขอย้อนมาพูดเรื่องขาดศีลแล้วกลายเป็นคนเลวทรามให้ท่านได้พิจารณาสักหน่อย พอที่ท่านผู้มีจิตเป็นธรรม จะได้เห็นเป็นแนวทางปฏิบัติ

    การบกพร่องในศีลเป็นคนเลว
    ตอนนี้ให้ถือว่าคุยกันฐานญาติเถอะนะ อย่าคิดเป็นอย่างอื่นเลย อยากจะขอถามท่านสักนิดว่า

    ๑. ปกติท่านชอบให้ใครมาทำร้ายร่างกายท่านไหม ? ถ้าท่านอยู่ดีๆ โดยไม่มีความ
    ผิดใดๆ ถ้ามีคนจะมาฆ่าท่านหรือมาทำร้ายร่างกายท่าน ท่านจะยินยอมให้เขาทำด้วยความเต็มใจหรือท่านจะไม่พอใจในการกระทำอย่างนั้นของเขา
    ๒. ทรัพย์สมบัติที่ท่านได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษก็ดี หรือทรัพย์ที่ท่าน
    พยายามเก็บหอมรอมริบไว้ด้วยความวิริยะอุสาหะ ที่คอยกระเหม็ดกระแหม่ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน เมื่อท่านเก็บสะสมไว้พอสมควรแก่การที่คิดว่าจะพอดำรงความเป็นอยู่ให้มีความสุขได้ตามสมควรแล้วถ้ามีบุคคลคณะหนึ่งหรือคนเดียวก็ตาม มาบังคับขู่เข็ญยื้อแย่งหรือลักขโมยทรัพย์ที่ท่านอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบไว้นั้นไปเป็นสมบัติของเขาโดยที่เขาไม่มีสิทธิและท่านเองก็มิเห็นชอบด้วย
    ๓. ท่านมีคู่ครองที่รัก หากมีใครก็ตามมาแอบละเมิดสิทธิร่วมรักกับคู่ครองของท่าน
    โดยที่ท่านมิได้เห็นชอบด้วย
    ๔. ปกติมักจะมีคนมาพูดเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริงให้ฟังเสมอ ๆ แม้แต่เรื่องที่พูด
    นั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเกี่ยวแก่ผลได้ผลเสียของชีวิตและทรัพย์สิน เขายังไม่ยอมพูดอะไรตามความเป็นจริง ข่าวคราวการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ได้รับจากผู้นั้นเป็นข่าวเท็จตลอดมา หาความจริงจากวาจาของเขาไม่ได้เลย
    ๕. ปกติท่านเป็นคนดีมีสติสัมปชัญญะ แต่บังเอิญมีใครมาแนะนำท่านว่า การเป็น
    คนเรียบร้อยอย่างนี้ ติ๋มเกินไป ไม่ทันสมัย เรามาหาน้ำยาย้อมใจพอที่จะช่วยส่งเสริมใจให้เคลิบเคลิ้ม ทำอาการต่างๆ อย่างคนบ้าๆ บอๆ ได้ร้องเพลงในที่รโหฐานที่เขาต้องการความสงัดก็ได้โดยไม่ต้องเกรงใจใครทั้งๆ ที่เวลาปกติทำไม่ได้ นอนกลางถนนหนทางก็ได้ ด่าพ่อเตะแม่ก็ได้ โดยไม่ต้องคิดถึงบุญคุณที่ท่านเลี้ยงดูมารวมความว่าทำแบบคนบ้าๆ บอๆได้ด้วยความเต็มใจ จนชาวบ้านชาวเมืองที่มีสติสัมปชัญญะพากันเห็นว่าเรากลายเป็นคนบ้าๆ บอๆ เสียแล้ว
    อยากจะถามว่า อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นอาการของคนที่พร่องในศีลแต่ละอย่างตามสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถ้าท่านถูกกระทำอย่างนั้นทั้ง ๕ ข้อ หรือข้อใดข้อหนึ่งท่านจะมีความพอใจเพียงใดหรือไม่ ท่านคิดว่าคนที่ปกติทำอย่างนั้นเป็นสุภาพบุรุษหรือเป็นอันธพาลที่โลกประณามว่าชั่วช้าสารเลว ขอให้ท่านตอบและเลือกเอาเองถ้าท่านเลือกเอาในปฏิปทาที่กล่าวมาแล้วแม้แต่ข้อเดียวท่านก็อย่าเพ่อหวังฌานสมาบัติหรือมรรคผลเลย เพราะท่านเลวเกินไปกว่าที่จะเข้าถึงฌานสมาบัติหรือมรรคผลได้ ถ้าคิดว่าท่านเว้นความชั่วช้าเลวทรามอย่างนั้นได้เด็ดขาด จนมีความรู้สึกเป็นปกติธรรมดาไม่ต้องระมัดระวัง อย่างนี้ ท่านมี
    หวังดำรงอยู่ในฌานได้แน่นอน การที่มีคนพูดว่าฌานสมาบัติหรือมรรคผลในสมัยนี้ไม่ควรหวัง เพราะไม่มีใครจะบรรลุได้นั้นไม่เป็นความจริงขอให้ท่านดีเท่าดีถึงเถิดฌานและมรรคผลยังมีสนองความดีท่านอยู่เป็นปกติที่ไม่ได้ไม่ถึงแม้แต่ฌานโลกีย์ก็เพราะแม้แต่ศีลที่เป็นความดีหยาบๆ ที่พระอริยะเจ้าเห็นว่าเป็นของเด็กเล่น ก็ไม่สามารถจะรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ จะเอาอะไรมาเห็นผี เห็นเทวดา เห็นสวรรค์ นรกอันเป็นวิสัยของผู้ได้ฌานเพราะศีลเป็นความดีในระยะต่ำก็ยังทรงไม่ได้ความมุ่งหมายเอาพระนิพพานก็ยิ่งไกลเกินไปที่จะหวังได้คนประเภทนี้ท่านกล่าวว่า แม้แต่ความฝันเห็นนิพพานก็ยังไม่เคยมี เมื่อมีศีลเป็นปกติแล้ว ก็พยายามกำจัดนิวรณ์ ๕ ประการ แล้วทรงฌานตามที่ได้ศึกษาโดยมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์ คอยควบคุมรักษาจิตใจให้ชุ่มชื่น เป็นการประคับประคองศีลและฌานสมาบัติผ่องใสไม่บกพร่อง ระดับของสมาธิที่จะทรงฌาน ทรงญาณให้ดีเด่นบริบูรณ์ไม่บกพร่อง ต้องทำอย่างนี้ อันดับนี้เป็นฌานโลกีย์ ท่านที่นั่งคิดนอนฝันถึงพระนิพพานอย่าเพ่อท้อใจว่า การปฏิบัติตามลำดับอย่างนี้จะช้าเกินไปไม่ทันการ ขอบอกว่าท่านคิดว่าจะก้าวลัดตัดไปนิพพานให้เร็วกว่านี้ก็จงคิดว่าท่านไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้าแล้วท่านอาจเป็นพระศาสดาองค์ใหม่ที่บัญญัติกฎการปฏิบัติใหม่เอาเองเพราะพระพุทธเจ้ามีแนวปฏิบัติที่พระองค์ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทพระองค์สอนตามแนวนี้ ที่เขียนนี้ก็ลอกเอามาจากอุทุมพริกสูตร อันปรากฏมีมาในพระไตรปิฎกตามที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นเพียงการเตรียมการและการปฏิบัติระดับฌานโลกีย์เท่านั้น ถ้าจะปฏิบัติเพื่อมรรคผลและพระนิพพาน ท่านให้เตรียมการและปฏิบัติดังต่อไปนี้

    บารมี ๑๐
    ทาน ศีล เนกขัมมะ สัจจะ วิริยะ ปัญญา ขันติ เมตตา อธิษฐาน อุเบกขาทั้ง ๑๐ อย่างนี้เป็นบารมี ๑๐ อย่าง บารมี แปลว่า ทำให้เต็มไม่บกพร่อง ท่านที่หวังมรรคผลต้องบำรุงบารมีให้ครบถ้วนจนเป็นกิจประจำใจ ไม่ละเลยเหินห่างและบกพร่อง ต้องคิดต้องตรองประคับประคองไว้เป็นปกติ ดังจะอธิบายไว้พอเข้าใจ

    ๑. ทาน ทานแปลว่า การให้ นักปฏิบัติต้องมีจิตใจจดจ่อเพื่อการให้ด้วยจิตใจที่หวัง
    การสงเคราะห์อยู่เป็นปกติ คิดไว้เสมอด้วยจิตที่ภาคภูมิว่า ถ้าการให้ด้วยการสงเคราะห์มีแก่เราเมื่อใด เมื่อนั้นความสบายสุขสันต์จะมีแก่เราอย่างหาสุขอื่นเปรียบมิได้ ในขณะใดท่านมีคนต้องการความสงเคราะห์ แต่เรางดเว้นการให้เสีย จะถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะคิดว่า เราพ่ายแพ้ต่อความตระหนี่ อันเป็นกิเลสตัวสำคัญที่เข้ามาเหนี่ยวรั้งใจ การให้นี้ต้องไม่พิจารณาบุคคลถึงสุขภาพและฐานะ ถือเอาเพียงว่าเขาต้องการความช่วยเหลือเราก็ช่วยตามต้องการ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความทุกข์ความขัดข้องของเขา และไม่หวังการตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
    ๒. ศีล ศีล แปลว่า ปกติ การรักษาอาการตามความพอใจของปกติชน ที่มีความ
    ปรารถนาอยู่เป็นสุข ไม่อยากให้ใครฆ่า หรือทำร้ายร่างกาย ไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่งทรัพย์สิน ไม่ต้องการให้ใครมาละเมิดความรัก ไม่ต้องการฟังคำพูดที่ไร้ความจริง และไม่ต้องการความคลั่งไคล้ด้วยการย้อมใจด้วยสุราเมรัย ที่ทำให้สติสัมปชัญญะฟั่นเฟือนเมื่อปกติของใจคนและสัตว์เป็นอย่างนี้ เราก็ไม่ทำลายปกติของความปรารถนาความพอใจของชาวโลก โดยไม่ละเมิดในสิ่งที่ปกติของจิตใจต้องการ ฉะนั้นศีล ท่านจึงแปลว่า ปกติ คือรักษาอารมณ์ปกติของจิตใจของคนและสัตว์ ไม่ต้องการให้ได้รับความเดือดร้อน การรักษาศีลก็ต้องรักษาให้เข้าถึงใจ ไม่ใช่รักษาแต่เปลือกศีล การรักษาศีลต้องรักษาอย่างนี้ ไม่ละเมิดบทบัญญัติของศีล คือทำให้ศีลขาด ศีลด่าง ศีลพร้อย และศีลทะลุด้วยตนเองไม่แนะนำให้คนอื่นทำ และไม่ยินดีต่อเมื่อผู้อื่นทำแล้ว ต้องรักษาระดับนี้จึงจะเป็นศีลเพื่อ
    มรรคผล
    ๓. สัจจะ สัจจะ แปลว่า ความตั้งใจจริง เราจะไม่ยอมเลิกละความตั้งใจเดิม แม้
    แต่จะต้องตายก็ตาม
    ๔. วิริยะ วิริยะ แปลว่า ความเพียร ความเพียรนี้ต้องมีประจำใจจริงๆ วิริยบารมี
    เป็นเครื่องควบคุมใจในเวลาที่จิตใจเกิดความท้อถอย ต้องตัดสินใจบากบั่นไม่พรั่นพรึงต่ออุปสรรคใด ๆ แม้จะต้องสิ้นลมปราณก็ตามที ในเมื่อเรานี้เป็นนักเสียสละ แม้แต่ชีวิตจะสูญสิ้นไป เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปก็ตามที ถ้ามรรคผลนิพพานที่เราปรารถนานี้ยังไม่ปรากฏเพียงใดเราจะไม่ละความพยายามประพฤติปฏิบัติไปโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรค
    ๕. เนกขัมมะ เนกขัมมะ แปลว่าการถือบวช หมายถึงการอดในกามารมณ์ อย่างที่ท่านทรงพรหมจรรย์ โดยตัดใจไม่ใยดีในอารมณ์ยั่วเย้าด้วยอำนาจกามฉันทะ คือความพอใจในกามารมณ์ คือไม่นิยมรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสเลิศ สัมผัสที่นิ่มนวลและการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี ด้วยเห็นว่าเป็นภัยใหญ่ของการปฏิบัติเพื่อมรรคผลโดยพิจารณาให้เห็นความเป็นทุกข์ของการที่มีความประสงค์อย่างนั้น ตัวอย่างของคนคู่มีความทุกข์ มีเป็นตัวอย่างดื่น ควรพิจารณาค้นคว้าให้เห็นด้วยตนเอง ถ้าทำตลอดกาลไม่ได้ก็ให้ปฏิบัติตัดกามารมณ์เป็นครั้งเป็นคราว จิตจะค่อยๆ ชินไปจนตัดใจได้เป็นปกติ
    ๖. ปัญญา ปัญญาแปลว่า ความรู้ ที่เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณา แปลว่า ความ
    เฉลียวฉลาดก็ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นทุกข์ จนเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายต่อการเกิดในชาติภพต่อไป จนกระทั่งได้สังขารุเปกขาญาณ คือไม่มีความหวั่นไหวในเมื่อความทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้นแก่สังขาร
    ๗. ขันติ ขันติ แปลว่าความอดทนหรืออดกลั้น ต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยวนให้เกิดความรักความโกรธ ความหลง มีความอดกลั้น อดทนเป็นพิเศษ ไม่ยอมให้อารมณ์ฝ่ายชั่วเข้ามาล้างอารมณ์วิปัสสนาญาณได้
    ๘. เมตตา เมตตา แปลว่า ความรักที่ปราศจากความใคร่ด้วยอำนาจกิเลส
    หมายถึงรักด้วยความปราณี ไม่มีอารมณ์ในส่วนของกิเลสเจือปน ทำจิตของตนให้มีความรักอย่างกว้างขวาง แม้แต่คนที่เคยประกาศตนเป็นศัตรูมาในกาลก่อน ถ้าเห็นหน้าเข้าเราก็มีจิตใจแช่มชื่นไม่ลำบาก ไม่มีการอาฆาตจองล้างจองผลาญ แต่กลับมีความเมตตาปราณีสงสารหวังสงเคราะห์ให้มีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพ
    ๙. อธิษฐาน อธิษฐานแปลว่า ความตั้งใจมั่น คือเมื่อตั้งใจไว้แล้วเพียงใดจะ
    ไม่ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากความตั้งใจเดิมเป็นอันขาด ทั้งนี้หมายถึงตั้งใจไว้ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าตั้งใจไว้เดิมผิดพลาด เมื่อพิจารณาทราบแล้ว แก้ไขให้ถูกต้องได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ตรงตามแนวปฏิบัติเพื่อมรรคผลไม่เสียอธิษฐาน ถ้าผิดแล้วขืนดันทุรังไม่ยอมแก้ไขกลายเป็นมารกิเลส เสียหายใหญ่
    ๑๐. อุเบกขา อุเบกขาแปลว่า ความวางเฉย หมายถึงเฉยต่ออารมณ์ที่เป็นทุกข์
    และเป็นสุข อันเป็นวิสัยของโลกีย์ คือ ไม่ยอมยินดียินร้ายต่ออารมณ์ของโลกวิสัย ทำจิตใจให้ว่างต่ออารมณ์ที่เป็นสุขและทุกข์อันเป็นโลกีย์วิสัยเสียบารมีทั้ง ๑๐ อย่างนี้ นักวิปัสสนาญาณต้องมีครบถ้วน แล้วต้องปฏิบัติได้เป็นปกติไม่ใช่ท่องจำได้ การปฏิบัติได้ก็ต้องเป็นไปตามความพอใจเป็นปกติ ไม่ใช่ฝืนใจ ถ้าบังคับใจ
    ฝืนใจอยู่ ก็เห็นจะยังนานหน่อยที่จะเข้าถึงมรรคผล ถ้าท่านเห็นว่า การประพฤติตามในบารมี๑๐ นี้ เป็นปกติธรรมดาไม่มีอะไรหนักใจแล้ว ท่านก็เป็นคนที่ใกล้ต่อมรรคผลผู้หนึ่งเช่นเดียวกับท่านที่ได้บรรลุมรรคผลมาแล้วนั่นเอง

    อุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ ๑๐
    ในขั้นวิปัสสนาญาณ เป็นกฎการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล ท่านก็ต้องมีการเตรียม
    เครื่องอุปกรณ์การปฏิบัติให้ครบถ้วนอย่างปฏิบัติขั้นฌานเหมือนกัน เมื่อท่านตระเตรียมในขั้นบารมี ๑๐ ชื่อว่าเป็นการเตรียมปูพื้นให้เรียบเพื่อเป็นพื้นฐานขั้นต้น เช่นเดียวกับการปรับปรุงศีลให้บริสุทธิ์ขั้นปฏิบัติฌานเมื่อท่านปรับปรุงบารมี ๑๐ เพื่อเป็นพื้นฐานแล้วสิ่งที่ต้องระวังการพลั้งพลาดในการเจริญวิปัสสนาอารมณ์จิตอาจจะข้องหรือหลงใหลในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จนทำให้เสียผลในการกำจัดกิเลส เช่นเดียวกับจิตข้องในนิวรณ์ทำให้เสียกำลังสมาธิ ไม่ได้ฌานเช่นกัน อารมณ์กิเลสที่คอยกีดกันอารมณ์วิปัสสนาก็คืออารมณ์สมถะที่มีอารมณ์ละเอียดคล้ายคลึงวิปัสสนาญาณ ท่านเรียกว่าว่า อุปกิเลสของวิปัสสนา ๑๐ อย่างคือ

    ๑. โอภาส โอภาส แปลว่า แสงสว่าง ขณะพิจารณาวิปัสสนาญาณนั้น จิตที่กำลังพิจารณาอยู่ จิตย่อมทรงอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ สมาธิระดับนี้ เป็นสมาธิเพื่อสร้างทิพยจักษุญาณ ย่อมเกิดแสงสว่างขึ้น คล้ายใครเอาประทีปมาตั้งไว้ใกล้ ๆ เมื่อปรากฏแสงสว่างจงอย่าทำความพอใจว่าเราได้มรรคผลเพราะเป็นอำนาจของอุปจารสมาธิอันเป็นผลของสมถะที่เป็นกำลังสนับสนุนวิปัสสนาเท่านั้น ไม่ใช่ผลในวิปัสสนาญาณ

    ๒. ปีติ ปีติ แปลว่า ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มเบิกบาน อาจมีขนพองสยองเกล้าน้ำตาไหล กายโยกโคลง กายลอยขึ้นบนอากาศ กายโปร่งสบาย กายเบา บางคราวคล้ายมีกายสูงใหญ่กว่าธรรมดา มีอารมณ์ไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติอารมณ์ สมาธิแนบแน่นดีมากอารมณ์สงบสงัดง่าย อาการอย่างนี้ไม่ใช่ผลของวิปัสสนา เป็นผลของสมถะ อย่าเข้าใจว่าบรรลุมรรคผล

    ๓. ปัสสัทธิ ปัสสัทธิ แปลว่า ความสงบระงับด้วยอำนาจฌาน มีอารมณ์สงัดเงียบ
    คล้ายจิตไม่มีอารมณ์อื่น มีความว่างสงัดสบาย ความรู้สึกทางอารมณ์ โลกียวิสัยดูคล้ายจะสิ้นไป เพราะความรักความโลภ ความโกรธ ความข้องใจในทรัพย์สินไม่ปรากฏ อาการอย่างนี้เป็นอารมณ์ของอุเบกขาใน จตุตถฌาน เป็นอาการของสมถะ ผู้เข้าถึงใหม่ๆ ส่วนมากหลงเข้าใจผิดว่าบรรลุมรรคผล เพราะความสงัดเงียบอย่างนี้ตนไม่เคยประสบมาก่อนต้องยับยั้งชั่งใจไว้ก่อน อย่าด่วนตัดสินใจว่าได้มรรคผล เพราะมรรคผลมีฌานเป็นเครื่องรู้มีอยู่ ถ้าญาณเป็นเครื่องรู้ยังไม่แจ้งผลเพียงใด ก็อย่าเพ่อตัดสินใจว่าได้บรรลุมรรคผล
     
  3. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    ๔. อธิโมกข์ อธิโมกข์ แปลว่า อารมณ์ที่น้อมใจเชื่อโดยปราศจากเหตุผล
    ด้วยพอได้ฟังว่าเราได้มรรคได้ผล ยังมิได้พิจารณาให้ถ่องแท้ก็เชื่อแน่เสียแล้วว่า เราได้มรรคได้ผล โดยไม่ใช้ดุลพินิจเป็นเครื่องพิจารณา อาการอย่างนี้ เป็นอาการของศรัทธาตามปกติไม่ใช่มรรคผลที่ตนบรรลุ

    ๕. ปัคคหะ ปัคคหะ แปลว่า มีความเพียรกล้า คนที่มีความเพียรบากบั่น
    ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคเป็นเหตุที่จะให้บรรลุมรรคผล แต่ถ้ามาเข้าใจว่าตนได้บรรลุ
    เสียตอนที่มีความเพียรก็เป็นการที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ความพากเพียรด้วยความมุ
    มานะนี้ เป็นการหลงผิดว่าได้บรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน

    ๖. สุข สุข แปลว่า ความสบายกายสบายใจ เป็นอารมณ์ของสมถะที่เข้าถึง
    อุปจารฌานระดับสูง มีความสุขทางกายและจิตอย่างประณีต ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิต อารมณ์สงัดเงียบ เอิบอิ่มผ่องใส สมาธิก็ตั้งมั่น จะเข้าสมาธิเมื่อใดก็ได้ อารมณ์อย่างนี้เป็นผลของสมถภาวนา จงอย่าหลงผิดว่าได้มรรคผลนิพพาน

    ๗. ญาณ ญาณ แปลว่า ความรู้อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจที่จิตมีสมาธิ จากผลของสมถภาวนา เช่น ทิพยจักษุฌาน เป็นต้น สามารถเห็นนรก สวรรค์ พรหมโลกได้
    และรู้อดีต อนาคต ปัจจุบันได้ตามสมควร เป็นผลของสมถะแท้ไม่ใช่ผลของวิปัสสนาเมื่อได้ เมื่อถึงแล้วอาจจะหลงผิดว่าได้บรรลุผลนิพพาน เลยเลิกไม่ทำต่อไป พอใจในผลเพียงนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะญาณที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นญาณในสมถะ ไม่ใช่อารมณ์วิปัสสนาญาณ ถ้าพอใจเพียงนั้นก็ยังต้องเป็นโลกียชนต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะต่อไป

    ๘. อุเบกขา อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย เป็นอารมณ์ในสมถะคือ ฌาน ๔
    ถ้ามาเข้าใจว่าความวางเฉยนี้เป็นมรรคผล ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ความจริงก็อาจคิดไปได้ เพราะคนใหม่ยังเข้าใจอารมณ์ไม่พอ ท่านจึงบอกไว้ให้คอยระวัง

    ๙. อุปปัฏฐาน อุปปัฏฐาน แปลว่า เข้าไปตั้งมั่น หมายถึงอารมณ์ที่เป็นสมาธิ
    มีอารมณ์สงัดเยือกเย็น ดังเช่นที่ท่านเข้าฌาน ๔ มีอารมณ์สงบสงัด แม้แต่เสียงก็กำจัดตัดขาดไม่มีปรากฏอารมณ์ใดๆ ไม่มี เป็นอารมณ์ที่แยกกันระหว่างกายกับจิตอย่างเด็ดขาด เป็นปัจจัยให้นักปฏิบัติเข้าใจพลาดว่าบรรลุมรรคผลก็เป็นได้ ความจริงแล้วเป็นฌาน ๔ ในสมถะแท้ๆ

    ๑๐. นิกกันติ นิกกันติ แปลว่า ความใคร่ เป็นความใคร่น้อยๆที่เป็นอารมณ์
    ละเอียดไม่ฟูมาก ถ้าไม่กำหนดรู้อาจไม่มีความรู้สึก เพราะเป็นอารมณ์ของตัณหาสงบไม่ใช่ขาดเด็ดเป็นเพียงสงบ พักรบชั่วคราวด้วยอำนาจฌาน มีปฐมฌานเป็นต้น เข้าระงับอารมณ์ตัณหาที่อ่อนระรวยอย่างนี้ ทำให้นักปฏิบัติเผลอเข้าใจว่าบรรลุมรรคผลนิพพานมีไม่น้อย แต่พอนานหน่อยฌานอ่อนกำลังลง พ่อกิเลสตัณหาก็กระโดดโลดเต้นตามเดิมอาการอย่างนี้ นักปฏิบัติก็ต้องระมัดระวังวิปัสสนาญาณที่พิจารณาต้องมีสังโยชน์เป็นเครื่องวัด และพิจารณาไปตามแนวของสังโยชน์เพื่อการละ ละเป็นขั้น เป็นระดับไป ค่อยละค่อยตัดไปทีละขั้น อย่าทำเพื่อรวบรัดเกินไป แล้วคอยระมัดระวังใจ อย่าให้หลงใหลในอารมณ์อุปกิเลส ๑๐ ประการท่านค่อยทำค่อยพิจารณาอย่างนี้ ก็มีหวังที่จะเข้าถึงความสุข ที่เป็นเอกันตบรมสุข สมความมุ่งหมาย


    สังโยชน์ ๑๐
    สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจให้ตกอยู่ในวัฏฏะ มี ๑๐ อย่าง
    ด้วยกันคือ

    ๑. สักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย และร่างกาย
    คือเรา (คำว่าร่างกายในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕)
    ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัย โดยคิดว่าอาจช่วยให้บรรลุผล
    ไม่ได้จริง
    ๓. สีลัพพตปรามาส รักษาศีลแบบลูบๆ คลำๆ คือไม่รักษาศีลจริงจังเคร่งครัด
    ตามสมควร
    ๔. กามฉันทะ มีจิตมั่วสุมหมกมุ่น ใคร่อยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ
    ๕. พยาบาท มีอารมณ์ผูกโกรธ จองล้างจองผลาญเป็นปกติ
    ๖. รูปราคะ ยึดถือมั่นในรูปฌาน โดยคิดว่ารูปฌานเป็นคุณธรรมพิเศษ สูงสุดที่ทำ
    ให้พ้นจากวัฏฏะ
    ๗. อรูปราคะ ยึดมั่นในอรูปฌาน โดยคิดว่าอรูปฌานเป็นคุณพิเศษที่ทำให้พ้นจากวัฏฏะ
    ๘. มานะ มีอารมณ์ถือตัวถือตน ถือชั้นวรรณะเกินพอดี
    ๙. อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ครุ่นคิดอยู่ในอกุศล มีอกุศลวิตกเป็นอารมณ์
    ๑๐. อวิชชา มีความคิดเห็นว่า โลกามิสเป็นสมบัติที่ทรงสภาพไม่เปลี่ยนแปลงไม่สลายตัว

    กิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ท่านเรียกว่า สังโยชน์ เพราะเป็นกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจ
    ของสัตว์ผู้ข้องให้จมอยู่ในวัฏฏะ นักเจริญวิปัสสนาญาณต้องรู้ไว้ และพยายามกำจัดกิเลสทั้ง ๑๐ประการนี้ให้เด็ดขาดไปเป็นขั้นๆ ตามกำลังของสมาธิ และวิปัสสนาญาณ ผู้ใดกำจัดกิเลสนี้ได้ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ ท่านว่าท่านผู้นั้นได้บรรลุพระโสดาและพระสกิทาคา ถ้าตัดกิเลสได้ ๕ ข้อคือ ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ ท่านว่าท่านผู้นั้นได้บรรลุพระอนาคามี ถ้าตัดกิเลสได้เด็ดขาดหมดทั้ง ๑๐ ข้อท่านผู้นั้นได้บรรลุพระอรหัตตผล การกำหนดรู้จุดหมายปลายทางเป็นระยะอย่างนี้ เป็นเหตุให้การ
    ปฏิบัติไม่หนักจนเกินไปและหวังผลสำเร็จได้แน่นอน ดีกว่าการกระทำแบบเดาสุ่ม ไม่รู้จุดหมายปลายทาง ทำแบบคลุมตาเดิน ทำไปตามความคิดเห็นและความเข้าใจ โดยไม่ทราบจุดหมายคิดเอาแต่เพียงว่าจะไปพระนิพพานเท่านั้นเอง พระนิพพานเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ กิเลสที่จะละมีอะไรบ้างก็ไม่ทราบทำไปตามเขาว่า แล้วจะเอาจุดจบได้อย่างไร ความบรรลุและการปฏิบัติ เพื่อพระนิพพานหรือฌานโลกีย์ในพระพุทธศาสนา ท่านมีกำหนดจุดหมายปลายทางตามที่กล่าวมา
    แล้วนั้น เมื่อท่านเตรียมพร้อมในการเจริญวิปัสสนาญาณ ศึกษาบารมี ๑๐ และมีจิตใจทรงบารมี ๑๐ ได้อย่างปกติไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว ต่อไปก็ศึกษาอุปกิเลส ๑๐ ประการให้เข้าใจ ระมัดระวังใจไม่ให้หลงผิดคิดว่า อารมณ์ในอุปกิเลส ๑๐ เป็นมรรคผล ต่อแต่นั้นไปก็เริ่มเจริญวิปัสสนาญาณ โดยในระยะแรก ท่านให้ชำระศีลให้บริสุทธิ์แล้วเข้าสมาธิดำรงฌาน ถ้าเข้าถึงฌาน ๔ ได้ก็เข้าฌาน ๔ ถ้ามีสมาธิไม่ถึงฌาน ๔ ก็เข้าสมาธิตามกำลังที่ได้เข้าสมาธิจนอารมณ์สงบดีแล้ว ก็ถอยสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารสมาธิ แล้วพิจารณาขันธ์ ๕ ด้วยวิปัสสนาญาณ เริ่มพิจารณาตามลำดับที่ ๑ ก่อน จนมีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เป็นตามองค์วิปัสสนาญาณนั้นโดยที่จิตจะไม่ฟั่นเฟือนแล้วจึงค่อยๆ เลื่อนอารมณ์มาพิจารณาในญาณที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘ และถอยหลังเป็นอนุโลมปฏิโลม ที่ท่านเรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ เมื่อขณะพิจารณาวิปัสสนาญาณนั้น ถ้าเห็นว่าอารมณ์จะฟุ้งซ่าน ท่านให้หยุดพิจารณาในวิปัสสนาญาณเสีย เข้าฌานตามกำลังสมาธิใหม่ พอให้จิตใจตั้งอยู่ในสมาธิ เป็นอุเบกขารมณ์แล้ว จึงค่อยๆ คลายสมาธิหยุดอยู่ที่อุปจารฌานแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณใหม่ ทำอย่างนี้เป็นปกติ การพิจารณาวิปัสสนาญาณก็อย่า
    เร่งรัดรีบร้อน ถ้าพิจารณาข้อใดจิตใจยังปลงข้อนั้นไม่ตกจนเป็นเอกัคคตารมณ์ คือเกิดความคิดเห็นเป็นเช่นนั้นจริงจัง จนเกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ แล้ว ก็อย่าย้ายไปพิจารณาข้อต่อไปเป็นเด็ดขาด ถ้าพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงข้อเดียว ข้อต่อไปก็ไม่มีอะไรเสียเวลา พอเริ่มพิจารณาก็มีอารมณ์รู้แจ้งเห็นจริงทันที การพิจารณาอย่างนี้ เสียเวลาไม่นาน ก็จะเข้าถึงโคตรภูญาณแล้วได้มรรคผลตามที่ตนตั้งใจปรารถนาไว้
     
  4. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    ควรกำหนดการละเป็นข้อๆ เพื่อไม่ให้ยุ่งยากฟั่นเฝือ การพิจารณาวิปัสสนาญาณควรมุ่งตัดกิเลสเป็นตอนๆไป ถ้าตอนใดคิดว่าจะละให้เด็ดขาดก็ยังละไม่ได้ ก็ไม่ย้ายข้อที่ตั้งใจจะละต่อไปในข้ออื่นต้องย้ำซ้ำๆ ซากๆ อยู่ในข้อนั้น จนเห็นว่าตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบแล้ว จึงเลื่อนไปพิจารณาละข้อต่อไปอย่าทำแบบสุกเอาเผากิน คราวเดียวมุ่งละหมดทั้ง ๑๐ หรือคราวละหลายๆ ข้อถ้าทำอย่างนั้นจะกลายเป็นพวกโมฆกรรม คือทำไม่ได้ผลไปจงอย่าใจร้อนเพื่อผลแน่นอนในการปฏิบัติ

    หวังในพระโสดาบัน
    ระดับแรกควรหวังในพระโสดาบันก่อน ด้วยคิดว่าอย่างน้อย แม้ไปพระนิพพานยังไม่ได้ก็พ้นอบายภูมิก็พอใจมากแล้ว แล้วกำหนดการละสักกายทิฎฐิก่อน พิจารณาให้เห็นชัด มีอารมณ์เป็นหนึ่งแน่วแน่ว่า ร่างกาย คือ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา มีอารมณ์รู้แจ้งเห็นจริง ไม่หวั่นไหวในเมื่ออันตรายจะเกิดแก่ ขันธ์ ๕ มีอารมณ์เป็นปกติ ไม่ประหวั่นพรั่นพรึง แล้วจึงเลื่อนไปกำหนดละสังโยชน์ที่ ๒ คือพิจารณาให้เห็นคุณพระรัตนตรัย โดยเห็นด้วยใจอันเต็มไปด้วยศรัทธาแท้และเห็นด้วยปัญญาว่า พระรัตนตรัยมีคุณประเสริฐจริงๆ เราจะรู้บาปบุญคุณโทษได้ก็เพราะพระรัตนตรัยเป็นเหตุ จนจิตมีความเคารพมั่นดำรงความนอบน้อมในคุณพระรัตนตรัยเป็นเหตุ จนจิตมีความเคารพมั่นคงดำรงควานอบน้อมในคุณพระรัตนตรัยจริง ๆ ไม่ยอมกล่าววาจาล่วงเกิน แม้แต่จะพูดเล่นๆ ว่า พระพุทธ ไม่ใช่ พระพุทธพระธรรม ไม่ใช่ พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่ พระสงฆ์ แม้พูดเล่นๆ โดยไม่คิดปรามาสก็ไม่ยอมพูดทั้งนี้เพราะเคารพด้วยความจริงใจ จนจิตมั่นคงเป็นอารมณ์ ต่อไปก็เริ่มวิจัยในสังโยชน์ที่ ๓ คือปรับปรุงศีล ตั้งใจกำหนดรักษาศีลจนรักศีลยิ่งกว่าชีวิต โดยกำหนดจิตรักษาศีลโดยมั่นคง อย่านั่งคิดนอนตรองเฉยๆ ต้องรอการประสบการณ์ด้วยเมื่อประสบการณ์เกิดขึ้น จนคิดว่านี้ถ้าเป็นในกาลก่อนแต่นี้ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้ปรากฏ เราเห็นจะยั้งใจไม่ไหว แต่นี่ถูกรุกรานขนาดนี้ อารมณ์ใจยังแจ่มใสเสมือนไม่มีอะไรมากระทบใจ ถ้าอารมณ์จิตใจเป็นอย่างนี้ จัดว่าพอใช้ได้แล้ว ละสังโยชน์สามอย่างนี้ได้แน่นอน ท่านว่าได้บรรลุพระโสดาบัน ถ้าละเอียดไปอีกนิดก็บรรลุ พระสกิทาคามี คงละสังโยชน์ได้สามเท่ากัน แต่ตอนที่ได้พระสกิทาคามี มีอารมณ์ละเอียดมากว่าพระโสดา ที่เห็นได้ชัดก็คือ อารมณ์ที่ใคร่ในกามคุณ เกือบหาความรู้สึกมิได้ เพราะมีอารมณ์ สงบสงัดจากกามคุณมากบางท่านคิดว่าได้บรรลุพระอนาคามี ต่อไปก็มุ่งกำจัดสังโยชน์ ๔ พิจารณาโทษของกามคุณ ตั้งจิตกำจัดให้เด็ดขาดและละพยาบาทจิตที่คิดประทุษร้าย จนจิตระงับไปเป็นเอกัคคตารมณ์ คือกามคุณไม่มีในความรู้สึก อวัยวะสืบพันธุ์สงบระงับ มีอารมณ์ผ่องใส เห็นกามคุณเสมือนเห็นซากศพเห็นคนที่เคยเป็นศัตรูกันมีจิตเมตตาคล้ายเห็นบุตรสุดที่รัก อย่างนี้ท่านว่าได้บรรลุพระอนาคามีผลต่อไปก็ตั้งใจละรูปราคะ คือกำหนดรู้ชัดว่า รูปฌานเป็นกำลังสมาธิที่ช่วย
    วิปัสสนาญาณ กำจัดกิเลส มิใช่ว่ารูปฌานเป็นตัวมรรคผล ไม่หลงว่าดีเลิศในขณะที่ทรงอยู่ในรูปฌาน กำหนดรู้ชัดในอรูปฌานว่า ไม่ใช่ตัวมรรคผล เป็นสมาธิที่เป็นกำลังสนับสนุนวิปัสสนาญาณ ให้มีกำลังกำจัดกิเลสโดยรวดเร็ว ไม่ยับยั้งการปฏิบัติแต่เพียงเท่านั้นมุ่งเจริญวิปัสสนาญาณเพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป กำหนดตัดอุทธัจจะ คือจิตที่คิดพล่านไปในส่วนที่เป็นอกุศล บังคับอารมณ์ของตนให้ตั้งอยู่ในกุศลวิตก ด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ ตัดมานะ ความถือชั้นวรรณะ อันเป็นการยึดถือที่ไม่ถูกไม่ควรเสีย ทำจิตรู้ตามความเป็นจริงด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ ละอวิชชา ด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณเสียได้ คำว่า อวิชชานี้ แปลว่า ไม่รู้ เคยถกเถียงสอบถามมาหลายท่านว่า อวิชชามีความจำกัดเพียงใด ในสมัยยังศึกษานักธรรมอยู่หาคนแก้ให้ฟังไม่ได้ ต่อมาได้ตรวจดูในพระไตรปิฎก พบว่า อวิชชา ท่านหมายเอาอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นไม่รู้ตามความเป็นจริงและ อุปาทานนี้มีคำจำกัดอยู่ ๒ คำ คือ ฉันทะและราคะ ท่านหมายเอาว่า อุปาทานนี้ก็ได้แก่ ฉันทะ ความหลงใหลใฝ่ฝันในโลกามิสทั้งหมดมีความปรารถนา มีความพอใจในสมบัติของโลก โดยมิได้คิดว่าสมบัติของโลกนี้มันมีอันที่จะต้องสลายฉิบหายไปในที่สุด ราคะ มีความกำหนัด
    ยินดีในสมบัติของโลกด้วยอารมณ์ใคร่ในกิเลสฉะนั้นการกำจัดอวิชชา หรือ อุปาทาน ท่านก็ให้พิจารณาเห็นว่า สมบัติของโลกไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เราไม่มีในสมบัติของโลก สมบัติของโลกไม่มีในเรา จนมีอารมณ์ไม่ยึดถืออะไรเป็นอารมณ์มีอยู่ก็เป็นเสมือนไม่มีจิตไม่ผูกพันเกินพอดี มีใช้ก็ใช้เมื่อมันอันตรธานไปก็ไม่เดือดร้อนเท่านี้พอแล้วมีอารมณ์เหือดแห้งในโลกามิส มีจิตชุ่มชื่นต่ออารมณ์ในพระนิพพานเห็นอะไรใจไม่ข้องไม่เศร้าหมองเดือดร้อนในอารมณ์ที่เป็นโลกวิสัย มีความสุขใจเป็นที่สุด หมดพันธะผูกพันในอารมณ์ต่างๆ ทั้งสิ้น เท่านี้ท่านจัดว่า หมดภาระหน้าที่ ที่จะต้องแสวงหาภพเป็นที่เกิดต่อไป อารมณ์วิปัสสนาญาณมีว่าอย่างไร อะไรบ้างนั้นขอได้โปรดดูตอนท้ายหนังสือนี้ตอนที่กล่าวด้วยวิปัสสนาญาณ ที่กล่าวพาดมาถึงเรื่องราวในการปฏิบัติวิปัสสนาญาณก็กล่าวไว้พอเป็นแนวปฏิบัติเท่านั้น การที่จะปฏิบัติจริงและถูกต้องตามแบบตามแผนต้อง
    อ่านในตอนที่ว่าด้วยสมถะและวิปัสสนา ซึ่งจะเขียนต่อไป
     
  5. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    จริต ๖
    จริต แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตท่องเที่ยวหรืออารมณ์เป็นที่ชอบท่องเที่ยว
    ของจิตนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงประมวลไว้เป็น ๖ ประการด้วยกัน คือ

    ๑. ราคจริต จิตท่องเที่ยวไปไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือพอใจในรูปสวยเสียงเพราะกลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล รวมความว่าอารมณ์ที่ท่องเที่ยวไปในราคะ คือความกำหนัดยินดีนี้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของจริต มีอารมณ์หนักไปในทางรักสวยรักงาม ชอบการมีระเบียบ สะอาด ประณีต มีกิริยาท่าทางละมุนละไมนิ่มนวล เครื่องของใช้สะอาดเรียบร้อยบ้านเรือนจัดไว้อย่างมีระเบียบ พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะสกปรก การแต่งกายก็ประณีต ไม่มีของใหม่ก็ไม่เป็นไร แม้จะเก่าก็ต้องสะอาดเรียบร้อย ราคจริต มีอารมณ์จิตรักสวยรักงามเป็นสำคัญ อย่าตีความหมายว่า ราคจริต มีจิตมักมากในกามารมณ์ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นพลาดถนัด
    ๒. โทสจริต มีอารมณ์มักโกรธเป็นเจ้าเรือน เป็นคนขี้โมโหโทโส อะไรนิดก็โกรธ
    อะไรหน่อยก็โมโห เป็นคนบูชาความโกรธว่าเป็นของวิเศษ วันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้โกรธเคืองโมโหโทโสใครเสียบ้างแล้ว วันนั้นจะหาความสบายใจได้ยาก คนที่มีจริตหนักไปในโทสจริตนี้ แก่เร็ว พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ ไม่ใคร่ละเอียดถี่ถ้วน แต่งตัวไม่พิถีพิถันเป็นคนใจเร็ว
    ๓. โมหจริต มีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ชอบสะสมมากกว่าการจ่ายออก
    ไม่ว่าอะไรเก็บดะ ผ้าขาดกระดาษเก่า ข้าวของตั้งแต่ใดก็ตาม มีค่าควรเก็บหรือไม่ก็ตามเก็บดะไม่เลือก มีนิสัยเห็นแก่ตัว อยากได้ของของคนอื่น แต่ของตนไม่อยากให้ใคร ชอบเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน ไม่ชอบบริจาคทานการกุศล รวมความว่าเป็นคนชอบได้ ไม่ชอบให้
    ๔. วิตกจริต มีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด มีเรื่องที่จะต้องพิจารณา
    นิดหน่อยก็ต้องคิดตรองอยู่อย่างนั้น ไม่กล้าตัดสิน คนประเภทนี้เป็นโรคประสาทมาก มีหน้าตาไม่ใคร่สดชื่น ร่างกายแก่เกินวัย หาความสุขสบายใจได้ยาก
    ๕. สัทธาจริต มีจิตน้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เชื่อโดยไร้เหตุ
    ไร้ผล พวกที่ ถูกหลอกลวงก็คนประเภทนี้ มีใครแนะนำอะไรตัดสินใจเชื่อโดยไม่ได้
    พิจารณา
    ๖. พุทธิจริต เป็นคนเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาดเฉลียว มีปฏิภาณ
    ไหวพริบดี การคิดอ่านหรือการทรงจำก็ดีทุกอย่าง อารมณ์ของชาวโลกทั่วไป สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลอารมณ์ว่าอยู่ในกฎ ๖ ประการตามที่กล่าวมาแล้วนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง ๖ อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อยยิ่งหย่อนกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในการละในชาติที่เป็นอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้ายคลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกัน ทั้งนี้ก็เพราะ
    บารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน ใครมีบารมีที่มีอบรมมามาก บารมีในการละมีสูงอารมณ์จริตก็มีกำลังต่ำไม่รุนแรง ถ้าเป็นคนที่อบรมในการละมีน้อย อารมณ์จริตก็รุนแรงจริตมีอารมณ์อย่างเดียวกัน แต่อาการไม่สม่ำเสมอกันดังกล่าวแล้ว

    ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต
    นักปฏิบัติเพื่อฌานโลกีย์ หรือเพื่อมรรคผลนิพพานก็ตาม ควรรู้อาการของจริต
    ที่จิตของตนคบหาสมาคมอยู่ เพราะการรู้อารมณ์จิตเป็นผลกำไรในการปฏิบัติเพื่อการละด้วยการเจริญสมาธิก็ตาม พิจารณาวิปัสสนาญาณก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การควบคุมความรู้สึกของอารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังตั้งใจกำหนดจิตเพื่อเป็นสมาธิ หรือพิจารณาวิปัสสนาญาณ อารมณ์จิตเกิดฟุ้งซ่าน ไปปรารถนาความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ผูกพันในทรัพย์สมบัติบ้าง วิตกกังวลถึงเหตุการณ์ต่างๆ บ้าง เกิดอารมณ์สัทธาหวังในการสงเคราะห์หรือมุ่งบำเพ็ญธรรมบ้าง เกิดอารมณ์แจ่มใส น้อมไปในความเฉลียวฉลาดบ้าง เมื่อรู้ในอารมณ์อย่างนี้ ก็จะได้น้อมนำเอาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มาประคับประคองใจให้เหมาะสมเพื่อผลในสมาธิ หรือ หักล้างด้วยอารมณ์วิปัสสนาญาณเพื่อผลให้ได้ญาณสมาบัติ หรือมรรคผลนิพพาน พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อผลของสมาบัติ ท่านเรียกว่า "สมถกรรมฐาน" มีรวมทั้งหมด ๔๐ อย่างด้วยกันท่านแยกไว้เป็นหมวดเป็นกองดังนี้

    อสุภกรรมฐาน ๑๐ อนุสสติกรรมฐาน ๑๐ กสิณ ๑๐ อาหาเรฏิกูลสัญญา ๑
    จตุธาตุววัฏฐาน ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูป ๔ รวมเป็น ๔๐ กองพอดี
     
  6. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    แบ่งกรรมฐาน ๔๐ ให้เหมาะแก่จริต
    เพราะอาศัยที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี มีมาเพื่อเป็นศาสดา ทรงสั่งสอน
    บรรดาสรรพสัตว์เพื่อให้บรรลุมรรคผล ด้วยหวังจะให้พ้นจากทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏความเป็นสัพพัญญูของสมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ พระองค์ทรงทราบถึงความเหมาะสมในกรรมฐานต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับอารมณ์จิตที่มีความข้องอยู่ในขณะนั้น ด้วยตรัสเป็นพระพุทธฎีกาไว้ว่าเมื่อใดอารมณ์จิตของท่านผู้ใดข้องอยู่ในอารมณ์ชนิดใดก็ให้เอากรรมฐานที่พระองค์ทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกันเข้าพิจารณา หรือภาวนาแก้ไขเพื่อความผ่องใสของอารมณ์จิต เพื่อกาพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป ฉะนั้น ขอนักปฏิบัติทั้งหลายจงสนใจเรียนรู้กรรมฐาน ๔๐ กอง และจริต ๖ประการ ตลอดจนกรรมฐานที่ท่านทรงจัดสรรไว้เพื่อความเหมาะสมแก่จริตนั้นๆ ท่องให้ขึ้นใจไว้และอ่านวิธีปฏิบัติให้เข้าใจเพื่อ
    สะดวกเมื่อเห็นว่าอารมณ์เช่นใดปรากฏจะได้จัดสรรกรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดว่าเหมาะสมมาหักล้างอารมณ์นั้นๆ ให้สงบระงับ ถ้านักปฏิบัติทุกท่านปฏิบัติตามพระพุทธฎีกาตามนี้ได้ ท่านจะเห็นว่า การเจริญสมถะเพื่อทรงฌานก็ดี การพิจารณาวิปัสสนาญาณเพื่อมรรคผลนิพพานก็ดี ไม่มีอะไรหนักเกินไปเลย ตามที่ท่านคิดว่าหนักหรืออาจเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นถ้าท่านปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วท่านจะเห็นว่าไม่หนักเกินวิสัยของคนเอาจริงเลยกับจะคิดว่าเบาเกินไปสำหรับท่านผู้มีความเพียรกล้าเสียอีก กรรมฐานทั้ง ๔๐กอง ท่านจำแนกแยกเป็นหมวดไว้ เพื่อเหมาะสมกับจริตนั้นๆ มีดังนี้คือ

    ๑. ราคจริต
    ราคจริตนี้ ท่านจัดกรรมฐานที่เหมาะสมไว้ ๑๑ อย่างคือ อสุภกรรมฐาน ๑๐ กับ
    กายคตานุสสติกรรมฐาน อีก ๑ รวมเป็น ๑๑ อย่างในเมื่ออารมณ์รักสวยรักงามปรากฏขึ้นแก่อารมณ์จิต จงนำกรรมฐานนี้มาพิจารณา โดยนำมาพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งจากกรรมฐาน ๑๑ อย่างนี้ ตามแต่ท่านจะชอบใจ จิตใจท่านก็จะคลายความกำหนัดยินดีในกามารมณ์ลงได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นอะไรเลย ถ้าจิตข้องอยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ ก็เอากรรมฐานนี้พิจารณาเป็นปกติ จนกว่าอารมณ์จะสงัดจากกามารมณ์ เห็นคนและสัตว์และสรรพวัตถุทั้งหลายที่เคยนิยมชมชอบว่าสวยสดงดงามกลายเป็นของน่าเกลียดโสโครกโดยกฎของธรรมดา จนเห็นว่าจิตใจไม่มั่วสุมสังคมกับความงามแล้วก็พิจารณาวิปัสสนาญาณโดยยกเอาขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเราโดยเอาอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติกรรมฐานเป็นหลักชัยทำอย่างนี้ไม่นานเท่าใดก็จะเข้าถึงมรรคผลนิพพาน การทำถูกไม่เสียเวลานานอย่างนี้

    ๒. โทสจริต
    คนมักโกรธ หรือขณะนั้นเกิดมีอารมณ์โกรธพยาบาทเกิดขึ้นขวางอารมณ์ไม่
    สะดวกแก่การเจริญฌาน ท่านให้เอากรรมฐาน ๘ อย่าง คือ พรหมวิหาร ๔ และวัณณกสิณ ๔ วัณณกสิณ ๔ ได้แก่ นีลกสิณ เพ่งสีเขียว โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว กรรมฐานทั้งแปดอย่างนี้ เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะท่านจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมแก่ท่าน คือตามแต่ท่านจะพอใจเอามาเพ่งและใคร่ครวญพิจารณาอารมณ์โทสะก็จะค่อยๆ คลายตัวระงับไป

    ๓. โมหะ และ วิตกจริต
    อารมณ์ที่ตกอยู่ในอำนาจของความหลงและครุ่นคิดตัดสินใจอะไรไม่เด็ดขาด
    ท่านให้เจริญอานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว อารมณ์ความลุ่มหลงและความคิดฟุ้งซ่านจะสงบระงับไป

    4. สัทธาจริต
    ท่านที่เกิดสัทธาความเชื่อ เชื่อโดยปกติ หรืออารมณ์แห่งความเชื่อเริ่มเข้า
    สิงใจก็ตาม ท่านให้เจริญกรรมฐาน ๖ อย่าง คือ อนุสสติ ๖ ประการ ดังต่อไปนี้
    (๑) พุทธานุสสติกรรมฐาน
    (๒) ธัมมานุสสติกรรมฐาน
    (๓) สังฆานุสสติกรรมฐาน
    (๔) สีลานุสสติกรรมฐาน
    (๕) จาคานุสสติกรรมฐาน
    (๖) เทวตานุสสติกรรมฐาน
    อนุสสติทั้ง ๖ อย่างนี้จะทำให้จิตใจของท่านที่ดำรงสัทธาผ่องใส

    ๕. พุทธิจริต
    คนเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันเหตุการณ์ และมีปฎิภาณไหวพริบดี ท่านให้เจริญกรรมฐาน
    ๔ อย่าง ดังต่อไปนี้

    (๑) มรณานุสสติกรรมฐาน
    (๒) อุปสมานุสสติกรรมฐาน
    (๓) อาหาเรปฏิกูลสัญญา
    (๔) จตุธาตุววัฏฐาน รวม ๔ อย่างด้วยกัน

    กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง ๖ ท่านจัดเป็นหมวดไว้ ๕ หมวด รวมกรรมฐานที่เหมาะแก่จริต โดยเฉพาะจริตนั้นๆ รวม ๓๐ อย่าง หรือในที่บางแห่งท่านเรียกว่า ๓๐ กอง กรรมฐานทั้งหมดด้วยกันมี ๔๐ กอง ที่เหลืออีก ๑๐ กอง คือ อรูป ๔ ภูตกสิณ ได้แก่ ปฐวีกสิณ เตโชกสิณวาโยกสิณ อาโปกสิณ ๔ อย่างนี้เรียกภูตกสิณ อาโลกสิณ ๑ และอากาสกสิณอีก ๑ รวมเป็น ๑๐พอดี กรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ท่านตรัสไว้เป็นกรรมฐานกลางเหมาะแก่จริตทุกอย่างรวมความว่าใครต้องการเจริญก็ได้เหมาะสมแก่คนทุกคน แต่สำหรับอรูปนั้นถ้าใครต้องการเจริญท่านให้เจริญฌานในกสิณให้ได้ฌาน ๔ เสียก่อน แล้วจึงเจริญในอรูปได้ มิฉะนั้นถ้าเจริญอรูปเลยที
    เดียวจะไม่มีอะไรเป็นผล เพราะอรูปละเอียดเกินไปสำหรับนักฝึกสมาธิใหม่
     
  7. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    สมาทาน

    เมื่อท่านศึกษาระเบียบการปฏิบัติครบถ้วนแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็เตรียมการปฏิบัติจริงก่อนการลงมือปฏิบัติ ท่านสอนให้ตัดกังวลต่างๆ เสียให้สิ้น คิดว่าเวลาเท่านี้เราจะปฏิบัติสมณธรรม ต้องเตรียมทำการงานที่จำเป็นไว้ให้ครบถ้วน สั่งคนภายในไว้ว่าเวลาเท่านั้นเราจะปฏิบัติสมณธรรม แขกไปใครมาขอให้รอพบกำหนดเวลาที่กำหนดให้ เมื่อพร้อมแล้วกังวลต่างๆ ไม่มีแล้ว ก็จัดแจงอาบน้ำชำระกายให้สะอาด หาดอกไม้ธูปเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัยตามแต่จะหาได้ขณะที่ขอเรียนกรรมฐานใหม่ๆ ตามความนิยมในสมัยก่อนๆ มาจนถึงสมัยที่กำลังเขียนหนังสือนี้ท่านให้จัดเครื่องบูชาอย่างละ ๕ คือ ธูป ๕ ดอกเทียนหนัก ๑ บาท ๕ เล่ม ดอกไม้ ๕ กระทงข้าวตอก ๕ กระทง สำหรับนักศึกษาภาคปฏิบัติใหม่และใช้คราวเดียวในคราวเข้ามาศึกษาใหม่เท่านั้น ต่อไปใช้ดอกไม้ธูปเทียนตามแต่จะหาได้ ถ้าไม่มีที่หาก็ไม่ต้องหาเมื่อเตรียมกายเตรียมใจ เตรียมเครื่องบูชาครบถ้วนแล้วก็เริ่มบูชาพระรัตนตรัยตามแต่จะบูชาได้ ไม่กะเกณฑ์ว่าจะต้องบูชามากน้อยเพียงใดท่านที่ว่าอะไรไม่ได้มาก ตั้งนโม ๓ จบ แล้วว่า


    พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
    ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
    สังฆัง สรณัง คัจฉามิ


    แล้วว่า ทุติยัมปิ พุทธัง ฯลฯ ตติยัมปิ พุทธัง ฯลฯ ครบสามจบแล้ว ถ้าสวดได้ก็ สวดอิติปิโส ฯลฯ สักจบ ถ้าสวดไม่ได้ก็ไม่ต้อง ต่อไปก็ สมาทานศีล ๕ คือว่าศีล ๕ ว่าเองโดยไม่ต้องมีพระนำ แล้วตั้งใจว่าเราจะรักษาศีล ๕ นี้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ตลอดชีวิตเราจะไม่ยอมให้ศีลขาดด้วยเจตนา แล้วตั้งใจรักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยสังวรระวังใจควบคุมความประพฤติ ไม่เผลอทำลายศีลด้วยเจตนา และไม่ยุให้ผู้อื่นทำลายศีลไม่ยินดีที่เห็นผู้อื่นทำลายศีลเมื่อสมาทานศีลเรียบร้อยแล้วก็เริ่มสมาทานกรรมฐาน การสมาทานกรรมฐานตามนัยวิสุทธิมรรคท่านเขียนไว้ดังนี้


    สมาทานตรงต่อพระพุทธเจ้า
    อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ แปลว่าข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอเสียสละ คือมอบเวนซึ่งอัตภาพนี้ แด่สมเด็จพระสรร-เพชญสัมมาสัมพุทธเจ้า (แปลตามท่านแปลไว้ในแบบ) อีกแบบหนึ่งท่านแปลเอาความมีใจความที่ท่านแปลไว้ดังนี้ "ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระ-พุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แบบหลังนี้ ท่านแปลศัพท์ว่า อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ ที่แปลว่าสละรอบซึ่งอัตภาพของข้าพเจ้า ท่านแปลถือเอาความว่า มอบกายถวายชีวิต ความจริงก็ได้ความดี การสละรอบกายก็ได้แก่ สละชีวิตนั่นเอง ถ้าจะถือเอาความตามภาษาไทยให้ชัดกันแล้ว ของท่านที่แปลไว้ตอนหลังได้ความชัดกว่าผู้เขียนเองก็สอนศิษย์ให้แปลตามนัยหลัง


    สมาทานต่อครูอาจารย์
    อิมาหัง ภันเต อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ แปลว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่ท่าน
     
  8. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    คำสมาทานที่ต่อเสริมกันใหม่

    คำสมาทานนี้ นอกจากจะมีมาตามแบบแผนในวิสุทธิมรรคแล้ว แต่ละสำนัก แต่ละ
    อาจารย์ ต่างก็แต่งคำสมาทานขึ้นสอนศิษย์ให้สมาทานตามความที่เห็นว่าเหมาะสม การที่ใครจะมีคำสมาทานว่าอย่างไรนั้น และไม่เกินพอดี คือยังแสดงความเคารพนับถือพระรัตนตรัยอยู่ ก็เป็นอันว่าใช้ได้ทั้งนั้น ไม่เห็นว่าจะน่าตำหนิกันตรงไหน บางอาจารย์ท่านก็ประพันธ์สำนวนยืดยาวมาก บางอาจารย์ก็มีสำนวนสั้น ๆ พอได้ความ ข้อนี้ไม่ควรติชม เพราะขึ้นแก่ความเหมาะสมและจำเป็น อย่างไรเหมาะสม อย่างไรจำเป็น ไม่ขอออกความเห็น เพราะเป็นเรื่องไม่น่าจะเก็บเอามาคิดให้เสียเวลา เรียนกับใครก็ควรจะเชื่อฟังท่านผู้สอนนั่นแหละเป็นการดีแล้ว สำหรับผู้เขียนเคยผูกแบบให้ศิษย์สมาทานดังนี้ที่นำมาเขียนก็เพราะศิษย์ส่วนมาก เมื่ออ่านหนังสืออุทุมพริกสูตรในหนังสือนั้นไม่มีคำสมาทานได้ขอร้องให้พิมพ์คำสมาทานแจกโอกาสที่จะพิมพ์ไม่มี เมื่อเขียนหนังสือนี้ ก็ขอเอามาลงไว้ในหนังสือนี้ แบบสมาทานที่ผู้เขียนต่อเสริมขึ้นนี้ ต่อไปท่านผู้ใดเห็นว่ายังแคบไปจะต่อเสริมก็ได้ ที่ท่านเห็นว่ากว้างขวางไปจะย่อให้สั้นเข้าก็ได้ หรือเห็นว่ารุงรังจะเลิกไม่ใช้
    ใช้เฉพาะแบบในวิสุทธิมรรคก็ตามใจ คำสมาทานที่ผู้เขียนผูกขึ้นนี้ ตอนต้นต้องใช้แบบวิสุทธิมรรคก่อนแล้วต่อด้วยคำสมาทานที่ผูกขึ้นเองดังนี้

    คำสมาทานที่ผูกขึ้นเอง

    "ข้าพเจ้า ขออาราธนาบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
    พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ บารมีพระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
    ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ กันมามีหลวงพ่อปานวัดบางนมโคเป็นที่สุด ขอได้
    โปรดยกจิตของข้าพเจ้าขึ้นสู่ภาวะพระกรรมฐาน ๔๐ ทัศน์ พระปีติทั้ง ๕ และ
    วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ขอพระกรรมฐานทั้ง ๔๐ ทัศน์ พระปีติทั้ง ๕ และวิปัสสนา-
    ญาณทั้ง ๙ จงมาบังเกิดปรากฏในกายทวาร ในวจีทวารในมโนทวารของข้าพ-
    เจ้า ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด"

    เสร็จแล้วก็กราบพระสามหน ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นคง กำหนดลมหายใจเข้า
    ออกไว้ในฐานทั้งสาม แล้วกำหนดพิจารณาโทษของนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ จนจิตสงบสงัดสงัดจากนิวรณ์ มีกามฉันทะเป็นต้น ไม่มีนิวรณ์อย่างใดมารบกวนจิตแล้วก็เริ่มพิจารณาหรือภาวนากรรมฐานที่พึงปฏิบัติ ถ้าเป็นกรรมฐานภาวนา เมื่อนิวรณ์ระงับจากจิต จิตว่างจากนิวรณ์แล้วสมาธิที่ได้ในขณะนั้น จะเข้าถึงปฐมฌานทันที ถ้าเป็นกรรมฐานพิจารณาจิตก็จะตั้งอยู่ในระดับอุปจารฌานละเอียดอารมณ์จะแจ่มใส เห็นเหตุเห็นผลชัดเจน หลายท่านที่ชำระจิตแจ่มใสจากนิวรณ์แล้ว เข้าภาวนาจิตเข้าไปหยุดอยู่ในสมาธิสูง คือฌาน ๔ อย่างนี้ก็มีมาก ฉะนั้นนักปฏิบัติก่อนที่จะภาวนาหรือพิจารณาอย่างอื่นให้ชำระจิตจากนิวรณ์เสียก่อนคือใคร่ครวญพิจารณานิวรณ์ ๕ ประการ ให้เห็นเหตุเห็นผลชัดเจน เห็นโทษของนิวรณ์จนจิตเอือมระอาจากนิวรณ์ มีความเบื่อหน่ายในนิวรณ์แล้วจึงค่อย ๆ ภาวนาหรือพิจารณากรรมฐาน ที่ฝึกถ้าจิตยังไม่ว่างจากนิวรณ์ก็อย่าเพ่อภาวนา ขืนทำไปก็เหนื่อยเปล่าอย่ารีบร้อนเร่งรัดเกินไปค่อย ๆ ขับไล่นิวรณ์ให้สลายตัวไปเสียก่อน จะช้าเร็วอย่างไรไม่ต้อง
    คำนึง ถ้านิวรณ์ระงับท่านก็จะถึงฌานทันที อย่างน้อยก็ได้ปฐมฌานและอาจถึงฌาน ๔ ภายในระยะเวลาอันสั้นจงจำไว้ว่าช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามตามภาษิตโบราณท่านว่าอย่างนี้ (แต่ช้านานเกินกาลเกินควรก็เละไม่เป็นเรื่อง ภาษิตของผู้เขียน)
     
  9. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    มัชฌิมาปฏิปทา
    คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา คำนี้เป็นถ้อยคำที่พระพุทธสาวกจำกันจนขึ้นใจ เป็นพระพุทธพจน์ ที่ยืนยันถึงผลของการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัตินั้นมีแนวอยู่สามแนวคือ

    ๑. อัตตกิลมถานุโยค การดำรงความเพียรอย่างเคร่งเครียด กินน้อยนอนน้อยว่ากันหามรุ่งหามค่ำ บางรายถึงกับอดมื้อกินมื้อ บางรายพยายามกินน้อยๆ ลดลงไปทุกวันจนร่างกายผอม และ มีการกลั้นลมหายใจกลั้นกันนานๆ เพื่อให้มรรคผลนิพพานเกิดขึ้น แต่มันก็ไม่เกิดเพราะมันไม่ใช่ทางของผลที่ฌานและมรรคผลจะเกิด พระพุทธเจ้าเองท่านยืนยันว่าวิธีนี้พระองค์ทำมาแล้วสิ้นเวลาหกปีเต็ม อดข้าวจนมีร่างกายผอมเกือบเดินไม่ไหว ขนที่พระกายเวลาเอามือลูบถึงกับหลุดติดมือออกมา กลั้นลมโดยเอาลิ้นกดเพดานจนลมออกหูอู้ ทำอย่างนี้พระองค์ตรัสว่า เป็นการทรมานตนให้ลำบากเปล่าไม่เกิดมรรคผลเลย นอกจากจะเพิ่มทุกขเวทนาให้มากขึ้น สมัยนี้เห็นจะได้แก่การอัดขันธ์ของอาจารย์บางคณะ เคยไปพบเขาที่สนามแจง จังหวัดลพบุรี เห็นอุบาสิกาสองคนนั่งครางเสียงกระหึ่ม ได้เข้าไปถามว่า โยมเป็นอะไร เพราะคิดว่าแกป่วย ได้รับคำตอบว่า

    " อาจารย์ท่านสั่งให้อัดขันธ์ค่ะ "
    ถามว่า " อัดขันธ์เป็นอย่างไร "
    ได้รับคำตอบว่า " อาจารย์ให้กลั้นใจ " ฟังแล้วก็สลดใจ คิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนมาแล้ว ท่านทำมาแล้วยิ่งกว่านี้ ท่านทราบว่าไม่เป็นทางสำเร็จ ไม่คิดเลยว่าสมัยนี้ยังมีคนเอามาสอนกันอีก แบบนี้จงอย่าแตะต้องเลย ผู้เขียนเองก็ลองฝืนและได้รับผล คือ ของเก่าที่ได้มาแล้วพลอยสูญไปด้วยที่เป็นโรคเส้นประสาทและถูก
    ประสาทหลอน ก็เพราะทำนอกรีตนอกรอยอย่างนี้แหละ

    ๒. กามสุขัลลิกานุโยค มีอารมณ์จิตพัวพันกับกามารมณ์ ไม่ถอนจิตจากกามารมณ์ยิ่งเอากายเข้าไปใกล้ชิดเพศตรงข้ามด้วย ยิ่งเป็นผลร้ายเต็มที่ เป็นทางกั้นมรรคผลโดยตรงทีเดียวจงระมัดระวังให้มาก อยากได้ดีต้องหลีกเลี่ยงได้ ถ้าอดใจหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เป็นกรรมของสัตว์ไม่มีใครช่วยได้

    ๓. มัชฌิมาปฏิปทา ทำพอสบายๆ ไม่เกียจคร้านเกินไป ไม่ขยันเกินไป นั่งนาน เมื่อยก็นอน ยืน หรือเดิน ตามแต่จะเห็นว่าสบาย กำหนดอารมณ์ภาวนา หรือพิจารณาไปด้วย จงถือว่าสมาธิจะตั้งมั่น หรืออารมณ์จะผ่องใสจากกิเลสนั้น มีความสำคัญที่จิตใจไม่ใช่ที่กาย กินอาหารให้อิ่ม อิ่มพอดีนะ ระวังอย่ารับประทานอาหารที่เป็นโทษแก่ร่างกาย อะไรเคยกินแล้วเป็นพิษเป็นภัยแก่ร่างกาย ควรเว้นไม่กินต่อไปเด็ดขาด ตัดสังคมที่มีความเห็นไม่เสมอกันเสียให้เด็ดขาดอยู่ในสถานที่เงียบสงัดอย่าให้วันเวลาล่วงเลยไปโดยที่มิได้พิจารณาเห็นโทษของสังขารทำอย่างนี้น่าจะพูดรับรองผลแต่ท่านห้ามพูดก็เลยเฉยไว้เพียงนี้ อย่างน้อยฌานสมาบัติเป็นของท่านแน่นอนอย่างดีก็ถึงจุดหมายปลายทาง พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้อย่างนี้ ก็จงใคร่ครวญและปฏิบัติตามเถิดไม่เสียเวลาเปล่าแน่
     
  10. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    กสิณ ปฐวีกสิณ

    กสิณนี้ท่านเรียกว่า ปฐวีกสิณ เพราะมีการเพ่งดินเป็นอารมณ์ ศัพท์ว่า "ปฐวี"แปลว่า "ดิน" กสิณ แปลว่า "เพ่ง" รวมความแล้วได้ความว่า "เพ่งดิน"

    อุปกรณ์กสิณ ปฐวีกสิณนี้ มีดินเป็นอุปกรณ์ในการเพ่ง จะเพ่งดินที่เป็นพื้นลานดิน ที่ทำให้เตียนสะอาดจากผงธุลี หรือจะทำเป็นสะดึงยกไปยกมาได้ ก็ใช้ได้ทั้สองอย่าง ดินที่จะเอามาทำเป็นดวงกสิณนั้น ท่านให้ใช้ดินสีอรุณอย่างเดียว ห้ามเอาดินสีอื่นมาปน ถ้าจำเป็นหาดินสีอรุณไม่ได้มาก ท่านให้เอาดินสีอื่นรองไว้ข้างล่างแล้วเอาดินสีอรุณทาทับไว้ข้างบนดินสีอรุณนี้ ท่านโบราณาจารย์ท่านว่า หาได้จากดินขุยปู เพราะปูขุดเอาดินสีอรุณขึ้นไว้ปากช่องรูที่อาศัยเมื่อหาดินได้ครบแล้ว ต้องทำสะดึงตามขนาดดังนี้ ถ้าทำเป็นลานติดพื้นดินก็มีขนาดเท่ากัน ขนาดดวงกสิณ วงกสิณที่ทำเป็นวงกลมสำหรับเพ่ง อย่างใหญ่ท่านให้ทำไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลาง๑ คืบ ๔ นิ้ว อย่างเล็กไม่เล็กกว่าขอบขัน ระยะนั่งเพ่งบริกรรม ท่านให้นั่งไม่ใกล้ไม่ไกลกว่า ๒ คืบ ๔ นิ้ว ตั่งที่รองวงกสิณ ท่านให้สูงไม่เกิน ๒ คืบ ๔ นิ้ว ท่านว่าเป็นระยะที่พอเหมาะพอดี เพราะจะได้ไม่มองเห็นรอยที่ปรากฏบนดวงกสิณที่ท่านจัดว่าเป็นกสิณโทษเวลาเพ่งกำหนดจดจำท่านให้ มุ่งจำแต่สีดิน ท่านไม่ให้คำนึงถึงขอบและริ้วรอยต่าง ๆ กิจก่อนการเพ่งกสิณเมื่อจัดเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วท่านให้ชำระร่างกายให้สะอาดแล้วนั่งขัดสมาธิที่ตั่งสำหรับนั่ง หลับตาพิจารณาโทษของกามคุณ ๕ ประการ ตามนัยที่กล่าวใอสุภกรรมฐาน ต้องการทราบละเอียดโปรดเปิดไปที่บทว่าด้วย อสุภกรรมฐาน จะทราบละเอียด เมื่อพิจารณาโทษของกามคุณจนจิตสงบจากนิวรณ์แล้ว ให้ลืมตาขึ้นจ้องมองภาพกสิณจดจำให้ดีจนคิดว่าจำได้ก็หลับตาใหม่กำหนดภาพกสิณไว้ในใจ ภาวนาเป็นเครื่องผูกใจไว้ว่า "ปฐวีกสิณ" เมื่อเห็นว่าภาพเลือนไปก็ลืมตาดูใหม่ เมื่อจำได้แล้วก็หลับตาภาวนากำหนดจดจำภาพนั้นต่อไปทำอย่างนี้บ่อยๆ หลายร้อยหลายพันครั้งเท่าใดไม่จำกัด จนกว่าอารมณ์ของใจจะจดจำภาพกสิณไว้ได้เป็นอย่างดี จะเพ่งมองดูหรือไม่ก็ตามภาพกสิณนั้นก็จะติดตาติดใจ นึกเห็นภาพได้ชัดเจนทุกขณะที่ปรารถนาจะเห็นติดตาติดใจตลอดเวลาอย่างนี้ท่านเรียกว่า"อุคคหนิมิต"แปลว่า นิมิตติดตาอุคคหนิมิตนี้ ท่านว่ายังมีกสิณโทษอยู่มาก คือภาพที่เห็นเป็นภาพดินตามที่ทำไว้และขอบวงกลมของสะดึง ย่อมปรากฏริ้วรอยต่าง ๆ เมื่อเข้าถึงอุคคหนิมิตแล้วท่านให้เร่งระมัดระวังรักษาอารมณ์สมาธิและนิมิตนั้นไว้จนกว่าจะได้ ปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตนั้น รูปและสีของกสิณเปลี่ยนจากเดิม คือกสิณทำเป็นวงกลมด้วยดินแดงนั้นจะกลายเป็นเสมือนแว่นแก้ว มีสีใสสะอาดผ่องใสคล้ายน้ำที่กลิ้ง อยู่ในใบบัว ฉะนั้นรูปนั้นบางท่านกล่าวว่าคล้ายดวงจันทร์ทีรปราศจากเมฆหมอกปิดบังเอากันง่าย ๆ ก็คือเหมือนแก้วที่สะอาดนั่นเอง รูปคล้ายแว่นแก้ว จะกำหนดจิตให้เล็กโตสูงต่ำได้ตาม ความประสงค์อย่างนี้ท่านเรียก ปฏิภาคนิมิต เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วท่านให้นักปฏิบัติเก็บตัว อย่ามั่วสุมกับนักคุยทั้งหลาย จงรักษาอารมณ์ รักษาใจให้อยู่ในขอบเขตของสมาธิเป็นอันดี อย่าสนใจในอารมณ์ของนิวรณ์แม้แต่น้อยหนึ่ง เพราะแม้นิดเดียวของนิวรณ์ อาจทำอารมณ์ สมาธิที่กำลังจะเข้าสู่ระดับฌานนี้ให้สลายตัวได้โดยฉับพลันขอท่านนักปฏิบัติจงระมัดระวัง อารมณ์รักษาปฏิภาคนิมิตไว้ คล้ายกับระมัดระวังบุตรสุดที่รักที่เกิดในวันนั้น
     
  11. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    จิตเข้าสู่ระดับฌาน
    เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว จิตก็เข้าระดับฌาน อารมณ์ของฌานในกสิณทั้ง ๑๐
    อย่างนั้นมีอารมณ์ดังนี้ ฌานในกสิณนี้ท่านเรียกว่าฌาน ๔ บ้าง ฌาน ๕ บ้าง เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิด ขออธิบายฌาน ๔ และ ฌาน ๕ ให้เข้าใจเสียก่อน

    ฌาน ๔

    ฌาน ๔ ท่านเรียกว่า จตุตถฌาน ท่านถืออารมณ์อย่างนี้
    ๑. ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๒. ทุติยฌานมีองค์ ๓ คือ ละวิตกและวิจารเสียได้ คงดำรงอยู่ในองค์ ๓ คือ ปีติ
    สุข เอกัคคตา
    ๓. ตติยฌานมีองค์ ๒ คือ ละวิตก วิจาร ปีติ เสียได้ ดำรงอยู่ในสุขกับเอกัคคตา
    ๔.จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ ละวิตก วิจาร ปีติ สุข เสียได้ คงทรงอยู่ในเอกัคคตา
    กับเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก ๑ ฌาน ๔ หรือที่เรียกว่ากสิณทั้งหมดทรงได้ถึง ๔ ท่านจัดไว้อย่างนี้ สำหรับในที่บางแห่ง ท่านว่ากสิณทั้งหมดทรงได้ถึงฌาน ๕ ท่านจัดของท่านดังต่อไปนี้

    ฌาน ๕
    ๑. ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๒. ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือ ละวิตกเสียได้ คงทรง วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๓. ตติยฌานมีองค์ ๓ คือ ละวิตก วิจาร เสียได้ คงทรง ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๔.จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ ละวิตก วิจาร ปีติ เสียได้ คงทรงสุขกับเอกัคคตา
    ๕. ฌาน ๕ หรือที่เรียกว่า ปัญจมฌาน มีองค์สองเหมือนกันคือ ละวิตก วิจาร ปีติ
    สุขเสียได้ คงทรงอยู่ในเอกัคคตา และเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก ๑ เมื่อพิจารณาดูแล้ว ฌาน ๔ กับฌาน ๕ ก็มีสภาพอารมณ์เหมือนกัน ผิดกันนิดหน่อยที่ ฌาน ๒ ละองค์เดียว ฌาน ๓ ละ ๒ องค์ ฌาน ๔ ละ ๓ องค์ มาถึงฌาน ๕ ก็มีสภาพเหมือนฌาน ๔ ตามนัยนั่นเอง อารมณ์มีอาการเหมือนกันในตอนสุดท้าย อารมณ์อย่างนี้ ท่านแยกเรียกเป็นฌาน ๔ ฌาน ๕ เพื่ออะไรไม่เข้าใจเหมือนกัน กสิณนี้ถ้าท่านผู้ปฏิบัติทำให้ถึงฌาน๔ หรือฌาน ๕ ซึ่งมีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ และอุเบกขารมณ์ไม่ได้ ก็เท่ากับท่านผู้นั้นไม่ได้เจริญในกสิณนั้นเอง เมื่อได้แล้วก็ต้องฝึกการเข้าฌานออกฌานให้คล่องแคล่ว กำหนดเวลาเข้า เวลาออกให้ได้ตามกำหนด จนเกิดความชำนาญ เมื่อเข้าเมื่อไร ออกเมื่อไรได้ตามใจนึก การเข้า ฌานต้องคล่องไม่ใช่เนิ่นช้าเสียเวลาแม้ครึ่งนาที พอคิดว่าเราจะเข้าฌานละก็เข้าได้ทันที ต้องยึดฌาน ๔ หรือฌาน ๕ คือเอาฌานที่สุดเป็นสำคัญ เมื่อเข้าฌานคล่องแล้วต้องฝึกนิรมิตตามอำนาจกสิณให้ได้คล่องแคล่วว่องไว จึงจะชื่อว่าได้กสิณกองนั้น ๆ ถ้ายังทำ
    ไม่ได้ถึง ไม่ควรย้ายไปปฏิบัติในกสิณกองอื่น การทำอย่างนั้นแทนที่จะได้ผลเร็ว กลับเสียผลคือของเก่าไม่ทันได้ ทำใหม่เก่าก็จะหาย ใหม่ก็จะไม่ปรากฏผล ถ้าชำนาญช่ำชองคล่องแคล่วในการนิรมิตอธิษฐานแล้วเพียงกองเดียว กองอื่นทำไม่ยากเลย เพราะอารมณ์ในการฝึกเหมือนกันต่างแต่สีเท่านั้น จะเสียเวลาฝึกกองต่อๆ ไป ไม่เกินกองละ ๗ วัน หรือ ๑๕ วันเป็นอย่างสูง จะนิรมิตอธิษฐานได้สมตามที่ตั้งใจของนักปฏิบัติ จงอย่าใจร้อน พยายามฝึกฝนจนกว่าจะได้ผลสูงสุดเสียก่อนจึงค่อยย้ายกองต่อไป
     
  12. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    องค์ฌานในกสิณทั้ง ๑๐ กอง
    ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก มีอารมณ์จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต กำหนดจิตจับภาพปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ วิจาร พิจารณาปฏิภาคนิมิตนั้น คือพิจารณาว่า รูปปฏิภาคนิมิตสวยสดงดงามคล้ายแว่นแก้วที่มีคนชำระสิ่งเปรอะเปื้อนหมดไป เหลือไว้แต่ดวงเก่าที่บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากธุลีต่างๆ

    ปีติ มีประเภท ๕ คือ
    ๑. ขุททกาปีติ มีอาการขนพองสยองเกล้าและน้ำตาไหล
    ๒. ขณิกาปีติ มีแสงสว่างเข้าตาคล้ายแสงฟ้าแลบ
    ๓. โอกกันติกาปีติ มีอาการร่างกายกระเพื่อมโยกโคลง คล้ายเรือที่ถูกคลื่นซัด บางท่าน ก็นั่งโยกไปโยกมา อย่างนี้เรียก โอกกันติกาปีติ
    ๔. อุพเพงคาปีติ มีกายลอยขึ้นเหนือพื้น บางรายก็ลอยไปได้ไกลหลายๆ กิโลก็มี
    ๕. ผรณาปีติ อาการเย็นซ่าซาบซ่านทั้งร่างกาย และมีอาการคล้ายกับร่างกายใหญ่สูงขึ้นกว่าปกติ สุข มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็น ในขณะที่พิจารณาปฏิภาคนิมิต
    เอกัคคตา มีจิตเป็นอารมณ์เดียว คือมีอารมณ์จับอยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นปกติ ไม่สอดส่าย อารมณ์ออกนอกจากปฏิภาคนิมิต ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นปฐมฌาน มีอารมณ์เหมือนกับฌานในกรรมฐานอื่นๆ แปลกแต่กสิณนี้ มีอารมณ์ยึดนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้พลาดจากนิมิต จนจิตเข้าสู่ จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌาน
    ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ตอนนี้จะเว้นจากการภาวนาไปเอง การกำหนดพิจารณารูปกสิณจะยุติลง คงเหลือแต่ความสดชื่นด้วยอำนาจปีติ อารมณ์สงัดมาก ภาพปฏิภาคนิมิตจะสดสวยงดงามวิจิตรตระการตามากกว่าเดิม มีอารมณ์เป็นสุขประณีตกว่าเดิม อารมณ์จิตแนบสนิทเป็น สมาธิมากกว่า ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ ตัดความสดชื่นทางกายออกเสียได้เหลือแต่ความสุขแบบเครียดๆคือมีอารมณ์ดิ่งแห่งจิต คล้ายใครเอาเชือกมามัดไว้มิให้เคลื่อนไหว ลมหายใจอ่อนระรวยน้อยเต็มที่
    ภาพนิมิตดูงามสง่าราศีละเอียดละมุนละไม มีรัศมีผ่องใสเกินกว่าที่ประสบมาอารมณ์ของจิตไม่สนใจกับอาการทางกายเลย จตุตถฌาน ทรงไว้เพียงเอกัคคตากับอุเบกขา คือมีอารมณ์ดิ่งไม่มีอารมณ์รับความสุขและความทุกข์ใดๆ ไม่รู้สึกในเวทนาทั้งสิ้น มีอุเบกขาวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งมวลมีจิตสว่างโพลงคล้ายใครเอาประทีปที่สว่างมากหลายๆ ดวงมาตั้งไว้ในที่ใกล้ ไม่มีอารมณ์รับแม้แต่ เสียงลมหายใจสงัด รูปกสิณเห็นชัดคล้ายดาวประกายพรึก ฌานที่ ๔ เป็นฌานสำคัญชั้นยอด ควรกำหนดรู้แบบง่ายๆไว้ว่า เมื่อมีอารมณ์จิตถึงฌาน ๔ จะไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ควรกำหนดไว้ง่ายๆ แบบนี้สะดวกดี ท่านทำได้ถึงระดับนี้ ก็ชื่อว่าจบกิจในกสิณ ไม่ว่ากองใดก็ตาม จุดจบของกสิณต้องถึงฌาน๔ และนิมิตอะไรต่ออะไรตามอำนาจกสิณ ถ้าทำไม่ถึงกับนิมิตได้ตามอำนาจกสิณก็เป็นเสมือนท่านยังไม่ได้กสิณเลย
     
  13. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    อาโปกสิณ

    อาโปกสิณ อาโป แปลว่า น้ำ กสิณ แปลว่า เพ่ง อาโปกสิณ แปลว่า เพ่งน้ำ กสิณน้ำมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ ท่านให้เอาน้ำที่สะอาด ถ้าได้น้ำฝนยิ่งดี ถ้าหาน้ำฝนไม่ได้ท่านให้เอาน้ำที่ใสแกว่งสารส้มก็ได้ อย่าเอาน้ำขุ่น หรือมีสีต่างๆ มาท่านให้ใส่น้ำในภาชนะเท่าที่จะหาได้ใส่ให้เต็มพอดี อย่าให้พร่อง การนั่งหรือเพ่ง มีอาการอย่างเดียวกับปฐวีกสิณจนกว่าจะเกิดอุคคหนิมิต อุคคหนิมิตของอาโปกสิณนี้ปรากฏเหมือนน้ำไหวกระเพื่อม สำหรับปฏิภาคนิมิตปรากฏเหมือนพัดใบตาลแก้วมณี คือใสมีประกายระยิบระยับ เมื่อถึง ปฏิภาคนิมิต แล้วจงเจริญต่อไปให้ถึง จตุตถฌาน บทภาวนา ภาวนาว่า อาโปกสิณัง

    เตโชกสิณ
    เตโช แปลว่า ไฟ กสิณเพ่งไฟเป็นอารมณ์ กสิณนี้ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ท่านให้จุดไฟให้ลุกโชน แล้วเอาเสื่อหรือหนังมาเจาะทำเป็นช่องกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้ววางเสื่อหรือหนังนั้นไว้ข้างหน้าให้เพ่งพิจารณาไปตามช่องนั้น การนั่งสูง หรือระยะไกล ใกล้ เหมือนกับปฐวีกสิณการเพ่ง อย่าเพ่งเปลวไฟที่ไหวไปมา ให้เลือกเพ่งแต่ไฟที่มีแสงหนาทึบที่ปรากฏตามช่องนั้นเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า เตโชกสิณัง ๆๆๆ หลาย ๆ ร้อยหลายพันครั้ง จนกว่านิมิตจะเป็นอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตปรากฏเป็นดวงเพลิงตามปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นมีรูปคล้ายผ้าแดงผืนหนา หรือคล้ายกับพัดใบตาลที่ทำด้วยทองหรือเสาทองคำที่ตั้งอยู่ในอากาศเมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้วท่านจงพยายามทำให้ถึงจตุตถฌานเถิด ผลที่ตั้งใจไว้จะได้รับสมความปรารถนา

    วาโยกสิณ

    วาโยกสิณ แปลว่า เพ่งลม การถือเอาลมเป็นนิมิตนั้น ท่านกล่าวว่าจะถือเอาด้วยการเห็นหรือจะถือเอาด้วยการกระทบก็ได้ การกำหนดถือเอาด้วยการเห็น ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดถูกต้องปลายหญ้าหรือปลายไม้เป็นอารมณ์เพ่งพิจารณา การถือเอาด้วยการถูกต้อง ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดมากระทบตัวเป็นอารมณ์ สมัยนี้ การถือเอาลมกระทบจะใช้พัดลมเป่าแทนพัดลม หรือถือเอาการเห็นต้นหญ้าต้นไม้ที่ไหวเพราะลมพัด จะใช้พัดลมเป่าให้ไหวแทนลมธรรมชาติก็ได้ เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่ ให้ภาวนาว่า วาโยกสิณัง ๆๆๆ อุคคหนิมิตของวาโยกสิณนี้ ปรากฏว่ามีการไหวๆ คล้ายกับกระไอแห่งการหุงต้มที่มีไอปรากฏมากระทบจักษุ พูดให้ชัดเข้าก็คือ มีปรากฏการณ์คล้ายตามองเห็นไอน้ำที่ต้มเดือดแล้วนั่นเอง มีอาการปรากฏขึ้นอย่างนั้น สำหรับปฏิภาคนิมิต มีอาการปรากฏภาพเหมือนไอน้ำที่ลอยขึ้น แต่ไม่เคลื่อนไหวหรือคล้ายกับก้อนเมฆบาง ที่ลอยอยู่คงที่นั่นเอง อาการอื่นนอกจากนี้เหมือนในปฐวีกสิณ
     
  14. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    นีลกสิณ
    นีลกสิณ แปลว่า เพ่งสีเขียว ท่านให้ทำสะดึงขึงด้วยผ้าหรือหนัง กระดาษก็ได้แล้วเอา สีเขียวทา หรือจะเพ่งพิจารณาสีเขียวจากใบไม้ก็ได้ ทำเช่นเดียวกับปฐวีกสิณ

    อุคคหนิมิต
    เมื่อเพ่งภาวนาว่า นีลกสิณัง ๆๆๆๆ อุคคหนิมิตนั้นปรากฏเป็นรูปที่เพ่งนั่นเอง

    ปีตกสิณ
    ปีตกสิณ แปลว่า เพ่งสีเหลือง การปฏิบัติทุกอย่างเหมือนนีลกสิณ แต่อุคคหนิมิตเป็นสีเหลือง ปฏิภาคนิมิตเหมือนนีลกสิณนอกนั้นเหมือนกันหมด บทภาวนาภาวนาว่า ปีตกสิณังๆๆ

    โลหิตกสิณ
    โลหิตกสิณ แปลว่า เพ่งสีแดง บทภาวนา ภาวนาว่า โลหิตกสิณัง ๆๆๆๆ นิมิตที่จัด
    หามาเพ่ง จะเพ่งดอกไม้สีแดงหรือเอาสีแดงมาทาทับกับสะดึงก็ได้ อุคคหนิมิตเป็นสีแดงปฏิภาคนิมิตเหมือนนีลกสิณ

    โอทาตกสิณ
    โอทาตกสิณ แปลว่า เพ่งสีขาว บทภาวนา ภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ๆๆๆๆ สีขาว
    ที่จะเอามาเพ่งนั้น จะหาจากดอกไม้หรืออย่างอื่นก็ได้ตามแต่จะสะดวก หรือจะทำเป็นสะดึงก็ได้ นิมิตทั้งอุคคหะและปฏิภาคก็เหมือนนีลกสิณ เว้นไว้แต่อุคคหะเป็นสีขาวเท่านั้นเอง

    อาโลกกสิณ
    อาโลกกสิณ แปลว่า เพ่งแสงสว่าง ท่านให้หาแสงสว่างที่ลอดมาตามช่องฝาหรือช่องหลังคาหรือเจาะเสื่อลำแพน หรือแผ่นหนังให้เป็นช่องเท่า ๑ คืบ ๔ นิ้ว ตามที่กล่าวในปฐวีกสิณแล้วภาวนาว่า อาโลกกสิณัง ๆๆ อย่างนี้ จนอุคคหนิมิตปรากฏ อุคคหนิมิตของอาโลกกสิณมีรูปเป็นแสงสว่างที่เหมือนรูปเดิมที่เพ่งอยู่ ปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นแสงสว่างหนาทึบเหมือนกับเอาแสงสว่างมากองรวมกันไว้ที่นั้น แล้วต่อไปขอให้นักปฏิบัติจงพยายาม ทำให้เข้าถึงจตุตถฌาน เพราะข้อความที่จะกล่าวต่อไป ก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในปฐวีกสิณ

    อากาสกสิณ
    อากาสกสิน แปลว่า เพ่งอากาศ อากาสกสิณนี้ภาวนาว่า อากาสกสิณัง ๆๆ ท่าน
    ให้ทำเหมือนในอาโลกกสิณ คือ เจาะช่องเสื่อหรือหนัง หรือมองอากาศ คือความว่างเปล่าที่ลอดมาตามช่องฝา หรือหลังคาหรือตามช่องเสื่อและผืนหนังโดยกำหนดว่า อากาศ ๆๆ จนเกิดอุคคหนิมิต ซึ่งปรากฏเป็นช่องตามรูปที่กำหนด ปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏคล้าย อุคคหนิมิตแต่มีพิเศษที่บังคับให้ขยายตัวออกให้ใหญ่เล็ก สูงต่ำได้ตามความประสงค์ อธิบายอื่นก็เหมือน
    กสิณอื่นๆ
     
  15. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    อานุภาพกสิณ ๑๐
    กสิณ ๑๐ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้วใฉฬภิญโญ
    เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติในกสิณกองใดกองหนึ่งสำเร็จถึงจตุตถฌานแล้ว ก็ควรฝึกตามอำนาจที่กสิณ กองนั้น ๆ มีอยู่ให้ชำนาญ ถ้าท่านปฏิบัติถึงฌาน ๔ แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่าง ๆ ตามแบบ ท่านว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าถึงกสิณ อำนาจฤทธิ์ในกสิณต่างๆ มีดังนี้ ปฐวีกสิณ มีฤทธิ์ดังนี้ เช่น นิรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นคนมากได้ ให้คนมากเป็นคน ๆเดียวได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้ อาโปกสิณ สามารถนิรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่น อธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหินที่กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำ อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานที่ฝนแล้งให้เกิดฝนอย่างนี้เป็นต้น
    เตโชกสิณ อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญหรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำแสงสว่างให้เกิดแก่จักษุญาณสามารถเห็นภาพต่าง ๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนในทุกสถานที่ได้ วาโยกสิณ อธิษฐานจิตให้ตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลม อธิษฐานให้มีลมได้
    นีลกสิณ สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครึ้มได้ ปีตกสิณ สามารถนิรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้ โลหิตกสิณ สามารถนิรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์ โอทาตกสิณ สามารถนิรมิตสีขาวให้ปรากฏ และทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐานที่อำนวยประโยชน์ในทิพยจักษุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ อาโลกกสิณ นิรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักษุญาณโดยตรง อากาสกสิณ สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง สถานที่ใดเป็นที่อับด้วยอากาศ สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่ง มีอากาศสมบูรณ์เพียงพอแก่ ความต้องการได้

    วิธีอธิษฐานฤทธิ์

    วิธีอธิษฐานจิตที่จะให้เกิดผลตามฤทธิ์ที่ต้องการ ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้เข้าฌาน ๔ ก่อน แล้วออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานในสิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น แล้วกลับเข้าฌาน ๔อีก ออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานจิตทับลงไปอีกครั้ง สิ่งที่ต้องการจะปรากฏสมความปรารถนา

    (จบกสิณ ๑๐ แต่เพียงเท่านี้)

    แนะกสิณร่วมวิปัสสนาญาณ

    ท่านผู้ฝึกกสิณ ถ้าประสงค์จะให้ได้อภิญญาหก ก็เจริญไปจนกว่าจะชำนาญทั้ง ๑๐ กอง ถ้าท่านประสงค์ให้ได้รับผลพิเศษเพียงวิชชาสาม ก็เจริญเฉพาะอาโลกกสิณ หรือเตโชกสิณหรือ โอทาตกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฝึกทิพยจักษุญาณ แต่ท่านที่มีความประสงค์จะเร่งรัดให้เข้าสู่พระนิพพานเร็วๆ ไม่มีความประสงค์จะได้ญาณพิเศษเพราะเกรงจะล่าช้าหรืออัชฌาสัยไม่ปรารถนารู้อะไรจุกจิก ชอบลัดตัดทางเพื่อถึงจุดหมายปลายทางขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
     
  16. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    เข้าฌานออกฌานพิจารณาขันธ์ ๕
    ท่านจะลัดตัดทางก็ตาม แต่ฌานที่ได้ควรให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือฌาน ๔ หรือฌาน ๕ เมื่อได้แล้วก่อนจะพิจารณาวิปัสสนาญาณ ท่านต้องเข้าฌานให้ถึงที่สุด จนอารมณ์จิตเป็นอุเบกขา เงียบสงัดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ มีอารมณ์ผ่องใสในกุศลธรรม แล้วออกจากฌาน ๔ หรือฌาน ๕ พิจารณาขันธ์ตามแบบวิปัสสนารวมดังต่อไปนี้

    พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป ได้แก่สภาพที่เห็นได้ด้วยตา เวทนา ความรับอารมณ์ที่เป็นสุขและทุกข์ อารมณ์ที่เป็นสุข เรียกว่าสุขเวทนา อารมณ์ที่เป็นทุกข์ เรียกว่าทุกขเวทนา อารมณ์ว่างเฉย ๆ ไม่มีความสุขความทุกข์รบกวน เรียกว่า อุเบกขา สัญญา แปลว่า ความจำ สังขาร หมายถึงอารมณ์ที่เป็นบุญ คือ อารมณ์ผ่องใส ที่เต็มไปด้วยความเมตตาปราณี อารมณ์ ที่เป็นบาป คืออารมณ์ขุ่นมัว คิดประทุษร้าย ที่เกิดขึ้นแก่ใจ เรียกว่าสังขาร วิญญาณ แปลว่าความรับรู้ เช่น รู้หนาว ร้อน หิว กระหาย เปรี้ยว เค็ม เป็นต้น เรียกว่าวิญาณ อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕ ซึ่งมีปรากฏประจำร่างกายมนุษย์และสัตว์อยู่เป็นปกติ ท่านให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ นี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ไม่มีในเรา เพราะขันธ์ ๕ นี้ เต็มไปด้วยความกลับกลอกไม่ยั่งยืนถาวร มีความเกิดขึ้นมาแล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดก็สลายตัว แม้จะหาทางกีดกันห้ามปรามอย่างไรก็ไม่สำเร็จผล ขันธ์ ๕ ก็เปลี่ยนแปรไปตามสภาพของมัน การที่ขันธ์ ๕ เปลี่ยนแปรไม่หยุดยั้งห้ามปรามไม่ได้นี้ ท่านเรียกว่า เป็นไปตามกฎธรรมดาที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้ การเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมของสังขารคือขันธ์ ๕ นี้ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งทางกายและใจ ใจมีทุกข์เพราะไม่ประสงค์จะให้ขันธ์ ๕ ทรุดโทรม กายเป็นทุกข์เพราะการบีบคั้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และการแสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยงอาการของขันธ์ ๕ มีสภาพไม่แน่นอนผันแปรไป และสลายตัวไปในที่สุดฉันใด รูปนิมิตกสิณก็ฉันนั้น ขณะนี้รูปกสิณตั้งอยู่ ความผ่องใสมีอยู่ ในกาลบางครั้งรูปกสิณนี้ก็เศร้าหมอง และรูปกสิณนี้จะดำรงอยู่ตลอดกาลก็หาไม่ ปรากฏขึ้นไม่นานเท่าใดก็ สลายตัวไปรูปกสิณนี้มีสภาพรงตัวได้ไม่ตลอดกาลฉันใด สังขารของเราก็ฉันนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องสลายไปอย่างรูปกสิณนี้ เอาอะไรเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย ปลงไปพิจารณาไปให้เห็นเหตุเห็นผลถ้าปลงไปจิตจะซ่าน ก็เข้าฌานในกสิณใหม่ พอใจเป็นอุเบกขาดีแล้วก็คลายฌานพิจารณาใหม่ ทำอย่างนี้ไม่ช้าเท่าใดก็จะเกิดนิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่ายในสังขารแล้วจะปลงความห่วงใยในสังขารเสียได้ มีอารมณ์วางเฉยเมื่อทุกข์เกิดขึ้นแก่สังขารท่านเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณคือวางเฉยในสังขารด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ ต่อไปจิตจะเข้าโคตรภูญาณ เป็นจิตอยู่ในระหว่างปุถุชนกับพระโสดาบันหลังจากนั้นถ้าท่านไม่ประมาท พิจารณาสังขารตามที่กล่าวมาแล้วโดยเข้าฌานให้มากออกจากฌาน พิจารณาสังขารเป็นปกติจิตก็จะตั้งมั่นและชำแรกกิเลสให้เด็ดขาดไปได้โดยกำจัดสังโยชน์สามเบื้องต้นสามประการอันเป็นคุณธรรมขั้นพระโสดาบันจะพึงกำจัดได้คือ
     
  17. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    ๑. สักกายทิฏฐิ เห็นตรงข้ามกับอารมณ์นี้ที่เห็นว่า ร่างกายคือขันธ์ ๕ เป็นเรา
    เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเราเสียได้ โดยเห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เพราะถ้าขันธ์ ๕ มีในเรา เรามีในขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๕ เป็นเรา เราเป็นขันธ์ ๕ จริงแล้ว ในเมื่อเราไม่ต้องการความทุกข์อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บและการเปลี่ยนแปลง ขันธ์ ๕ ก็ต้องไม่มีการป่วยไข้และเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องการให้ขันธ์ ๕ สลายตัว ขันธ์ ๕ ถ้าเป็นของเราจริงก็ต้องดำรงอยู่ ไม่สลายตัว แต่นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ เปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ทั้ง ๆที่เราไม่ต้องการและพยายามเหนี่ยวรั้งด้วยวิธีการต่างๆ ขันธ์ ๕ ก็มิได้เป็นไปตามความปรารถนาในที่สุดก็สลายตัวจนได้เพราะขันธ์ ๕ เป็นสมบัติของกฎธรรมดา กฎธรรมดาต้องการให้เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกฎธรรมดา ฝ่าฝืนกฎธรรมดาไม่ได้ เมื่อจิตยอมรับนับถือกฎธรรมดาไม่หวั่นไหวในเมื่อร่างกายได้รับทุกข์เพราะป่วยไข้หรือเพราะการงานหนักและอาการเกิดขึ้นเพราะเหตุเกินวิสัย อารมณ์ใจยอมรับนับถือว่าธรรมดาของผู้ที่เกิดมาในโลกที่หาความแน่นอนไม่ได้ โลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขจริงจังมิได้ที่เห็นว่าเป็นสุขจากภาวะของโลกก็เป็นความสุขที่มีผีสิง คือสุขไม่จริง เป็นความสุขอันเกิดจากเหยื่อล่อของความทุกข์ พอพบความสุขความทุกข์ก็ติดตามมาทันที เช่น มีความสุขจากการได้ทรัพย์ พร้อมกันนั้นความทุกข์เพราะการมีทรัพย์ก็เกิด เพราะทรัพย์ที่หามาได้นั้นจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องมีทุกข์ทันทีด้วยการคอยระวังรักษาไม่ให้สูญหายหรือทำลาย เมื่อทรัพย์นั้นเริ่มค่อย ๆ สลายตัวหรือสูญหายทำลายไป ทุกข์เกิดหนักขึ้นเพราะมีความ เสียดายในทรัพย์ แม้แต่ตัวเองก็แบกทุกข์เสียบรรยายไม่ไหว จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องบำรุงความสุขได้จริงจังไม่ว่าอะไรก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของกฎธรรมดาสิ้นจิตเมื่อเห็นอย่างนี้ความสงบระงับจากความหวั่นไหวของการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยเหตุผล ไม่มีน้ำตาไหล ในเมื่อได้ข่าวญาติหรือคนที่รักตาย ไม่หนักใจเมื่อความตายกำลังคืบคลานมาหาตน และพร้อมเสมอที่จะรอรับความตายที่จะเกิดแก่ตน ตามกฎของธรรมดารู้อยู่ คิดอยู่ถึงความตายเป็นปกติ ยิ้มต่อความทุกข์และความตายอย่างไม่มีอะไรหนักใจจิตมีอารมณ์อย่างนี้ ท่านเรียกว่าละสักกายทิฏฐิได้แล้ว ได้คุณสมบัติของพระโสดาบันไว้ได้หนึ่งอย่าง

    ๒. วิจิกิจฉา ละความสงสัยในมรรคผลเสียได้ โดยมีสัทธาเกิดขึ้นเที่ยงแท้มั่นคง
    ว่าผลของการปฏิบัตินี้มีผลที่จะพ้นจากวัฏทุกข์ได้จริง

    ๓. สีลัพพตปรามาส ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด ไม่ยอม
    ให้ศีลบกพร่อง เมื่อมีคุณสมบัติครบสามประการดังนี้ ท่านก็เป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่ต้องรอให้ใครบอก และออกใบประกาศโฆษณา

    องค์ของพระโสดาบัน

    เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาตัวเอง ขอบอกองค์ของพระโสดาบันไว้ เพราะรู้ไว้เป็น
    คู่มือพิจารณาตัวเอง

    ๑. รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยตลอดชีวิต
    ๒. เคารพพระรัตนตรัยอย่างเคร่งครัด ไม่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย แม้แต่จะพูดเล่นๆ ก็ไม่พูด
    ๓. มีอารมณ์รักใคร่ในพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีความปรารถนาอย่างอื่นนอกจากพระนิพพาน

    พระโสดาบันตามปกติมีอารมณ์สามประการดังกล่าวมานี้ ถ้าท่านได้ ท่านเป็น
    พระโสดา ท่านก็จะเห็นว่าอาการที่กล่าวมานี้เป็นความรู้สึกธรรมดาไม่หนักแต่ถ้าอารมณ์อะไรตอนใดในสามอย่างนี้ยังมีความหนักอยู่บ้าง ก็อย่าเพ่อคิดว่าท่านเป็นพระโสดาบันเสียก่อนสำเร็จ จะเป็นผลร้ายแก่ตัวท่านเอง ต้องได้จริงถึงจริง แม้ได้แล้วถึงแล้ว ก็ควรก้าวต่อไป อย่าหยุดยั้งเพียงนี้เพราะ มรรคผลเบื้องสูงยังมีต่อไปอีก

    (จบกสิณ ๑๐)
     
  18. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    อสุภกรรมฐาน
    อสุภ แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน
    รวมความแล้วได้ความว่า ตั้งอารมณ์เป็นการเป็นงานในอารมณ์ที่เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยสดงดงาม มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเกลียดน่าสะอิดสะเอียน


    กำลังสมาธิของอสุภกรรมฐาน

    อสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ มีกำลังสมาธิเพียงปฐมฌานเป็นอย่างสูงสุด ไม่สามารถจะทรงฌานให้มีกำลังให้สูงกว่านั้นได้ เพราะเป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์ด้านพิจารณามากกว่า การเพ่ง ใช้อารมณ์จิตใคร่ครวญพิจารณาอยู่เป็นปกติ จึงทรงสมาธิได้อย่างสูงก็เพียงปฐมฌาน เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาญาณมาก นักปฏิบัติที่พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนทรงปฐมฌานได้ดีแล้ว พิจารณาวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป จะบังเกิดผลรู้แจ้งเห็นจริงในอารมณ์วิปัสสนาญาณได้อย่างไม่ยากนัก สำหรับอสุภกรรมฐานนี้เป็นสมถกรรมฐานที่ให้ผลในทางกำจัด ราคจริตเหมือนกันทั้ง ๑๐ กอง คือค้นคว้าหาความจริงจากวัตถุที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ที่นิยมชมชอบกันว่าสวยสดงดงามที่บรรดามวลชนทั้งหลายพากันมัวเมา หลงไหลใฝ่ฝันว่าสวยสดงดงามจนเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่ตน ลืมชีวิตความเป็นอยู่ของตน มอบหมายความรักความปรารถนาให้แก่วัตถุที่ตนหลงรัก เป็นการประพฤติที่ฝืนต่อกฎของความเป็นจริงเป็นเหตุของความทุกข์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น กรรมฐานนี้จะค้นคว้าหาความจริงจากสรรพวัสดุต่างๆ ที่เห็นว่าสวยสดงดงามเอามาตีแผ่ให้เห็นเหตุเห็นผลว่า สิ่งที่สัตว์และคนหลงไหลใฝ่ฝันนั้น ความจริงไม่มีอะไรสวย ไม่มีอะไรงาม เป็นของน่าเกลียดโสโครกทั้งสิ้น กรรมฐานในหมวดอสุภกรรมฐานมีความหมายในรูปนี้ จึงเป็นกรรมฐานที่ระงับดับอารมณ์ที่ใคร่อยู่ในกามารมณ์เสียได้ ท่านที่เจริญกรรมฐานหมวดอสุภนี้ชำนาญเป็นพื้นฐานแล้ว ต่อไปเจริญวิปัสสนาญาณ
    จะเข้าถึงการบรรลุเป็นพระอนาคามีผลไม่ยากนัก เพราะพระอนาคามีผลเป็นพระอริยบุคคลที่มีความสงบระงับดับความรู้สึกในกามารมณ์ได้เด็ดขาด ท่านที่เจริญกรรมฐานหมวดอสุภนี้ ก็เป็นการเริ่มต้นในการเจริญฌานด้านที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกามารมณ์ ฉะนั้น นักปฏิบัติกรรมฐานที่มีความชำนาญในอสุภกรรมฐานจึงเป็นของง่ายในการเจริญวิปัสสนาญาณ เพื่อให้บรรลุเป็นอนาคามีผลและอรหัตตผล

    อสุภกรรมฐาน ๑๐ อย่าง

    อสุภกรรมฐาน ท่านจำแนกไว้เป็น ๑๐ อย่างด้วยกัน คือ
    ๑. อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายขึ้นบวม พองไปด้วยลม ที่เรียกกันว่า ผีตายขึ้นอืดนั่นเอง
    ๒. วินิลกอสุภ เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน คือ มีสีแดงในที่มีเนื้อมาก มีสีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก มีสีเขียวที่มีผ้าสีเขียวคลุมไว้ อาศัยที่ร่างกายของผู้ตายส่วนใหญ่ก็ปกคลุมด้วยผ้า ฉะนั้น สีเขียวตามร่างกายของผู้ตายจึงมีสีเขียวมาก ท่านจึงเรียกว่า วินีลกะ แปลว่าสีเขียว
    ๓. วิปุพพกอสุภ เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
    ๔. วิฉิททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลาง มีกายขาด
    ออกจากกัน
    ๕. วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน
    ๖. วิกขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจายมีมือ
    แขน ขา ศีรษะ กระจัดพลัดพรากออกไปคนละทาง
    ๗. หตวิกขิตตกอสุภ คือซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
    ๘. โลหิตกอสุภ คือซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ
    ๙. ปุฬุวกอสุภ คือซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
    ๑๐. อัฏฐิกอสุภ คือซากศพที่มีแต่กระดูก

    อสุภกรรมฐานนี้ท่านพระพุทธโฆษาจารย์เจ้า ได้พรรณนาไว้ในวิสุทธิมรรครวม
    เป็นอสุภที่มีอาการ ๑๐ อย่างตามที่กล่าวมาแล้ว
     
  19. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    การพิจารณาอสุภ
    การพิจารณาอสุภทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ท่านสอนให้พิจารณาเพื่อถือเอานิมิตโดยอาการ ๖ อย่างดังต่อไปนี้

    ๑. พิจารณาโดยสี คือให้กำหนดว่า ซากศพนี้เป็นร่างกายของคนดำหรือคนขาวหรือเป็นร่างกายของคนที่มีผิวด่างพร้อย คือผิวไม่เกลี้ยงเกลา
    ๒. พิจารณาโดยเพศ อย่ากำหนดว่า ร่างกายนี้เป็นหญิงหรือชาย พึงพิจารณาว่าซากศพ นี้เป็นร่างกายของคนที่มีอายุน้อย มีอายุกลางคน หรือเป็นคนแก่
    ๓. กำหนดพิจารณาโดยสัณฐาน คือกำหนดพิจารณาว่า นี่เป็นคอ เป็นศีรษะ เป็นท้อง เป็นเอว เป็นขา เป็นเท้า เป็นแขน เป็นมือ ดังนี้เป็นต้น
    ๔. กำหนดโดยทิศ ทิศนี้ท่านหมายเอาสองทิศ คือ ทิศเบื้องบน ได้แก่ทางด้านศีรษะ ทิศเบื้องต่ำ ได้แก่ทางด้านปลายเท้าของซากศพ ท่านมิได้หมายถึงทิศเหนือทิศใต้ตามที่นิยมกัน ท่านให้สังเกตว่า ที่เห็นอยู่นั้นเป็นทางด้านศีรษะ หรือด้านปลายเท้า
    ๕. กำหนดพิจารณาโดยที่ตั้ง ท่านให้พิจารณากำหนดจดจำว่า ซากศพนี้ศีรษะวางอยู่ที่ตรงนี้ มือวางอยู่ตรงนี้ เท้าวางอยู่ตรงนี้ ตัวเราเอง เวลาที่พิจารณาอสุภนี้ เรายืนอยู่ตรงนี้
    ๖. กำหนดพิจารณาโดยกำหนดรู้ หมายถึงการกำหนดรู้ว่า ร่างกายสัตว์และมนุษย์นี้ มีอาการ ๓๒ เป็นที่สุด ไม่มีอะไรสวยสดงดงามจริงตามที่ชาวโลกผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสหลงใหลใฝ่ฝันอยู่ ความจริงแล้วก็เป็นของน่าเกลียดโสโครก มีกลิ่นเหม็นคุ้ง มีสภาพขึ้นอืดพอง มีน้ำเลือดน้ำหนองเต็มร่างกาย หาอะไรที่จะพอพิสูจน์ได้ว่า น่ารักน่าชมไม่มีเลย สภาพของร่างกายที่พอจะมองเห็นว่าสวยสดงดงาม พอที่จะอวดได้ก็มีนิดเดียว คือ หนังกำพร้าที่ปกปิดอวัยวะภายในทำให้มองไม่เห็นสิ่งโสโครก คือ น้ำเลือด น้ำหนอง ดี เสลด ไขมัน อุจจาระ ปัสสาวะ ที่ปรากฏ
    อยู่ภายใน แต่ทว่าหนังกำพร้านั้นใช่ว่าจะสวยสดงดงามจริงเสมอไปก็หาไม่ ถ้าไม่คอยขัดถูแล้วไม่นานเท่าใด คือไม่เกินสองวันที่ไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกาย หนังที่สดใสก็กลายเป็นสิ่งโสโครกเหม็นสาบเหม็นสาง ตัวเองก็รังเกียจตัวเอง เมื่อมีชีวิตอยู่ก็เอาดีไม่ได้ พอตายแล้วยิ่งโสโครกใหญ่ ร่างกายที่เคยผ่องใส ก็กลายเป็นซากศพที่ขึ้นอืดพอง น้ำเหลืองไหลมีกลิ่นเหม็นตลบไปทั่วบริเวณ คนที่เคยรักกันปานจะกลืน พอสิ้นลมปราณลงไปในทันทีก็พลันเกลียดกัน แม้แต่จะเอามือเข้าไปแตะต้องก็ไม่ต้องการ บางรายแม้แต่จะมองก็ไม่อยากมอง มีความรังเกียจซากศพ ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่ออยู่รักและหวงแหน จะไปสังคมสมาคมคบหา สมาคมกับใครอื่นไม่ได้ ทราบเข้าเมื่อไรเป็นมีเรื่อง แต่พอตายจากกันวันเดียวก็มองเห็นคนที่แสนรักกลายเป็นศัตรูกัน กลัววิญญาณคนตายจะมาหลอกมาหลอน เกรงคนที่แสนรักจะมาทำอันตราย ความเลวร้ายของสังขารร่างกายเป็นอย่างนี้ เมื่อพิจารณากำหนดทราบร่างกายของซากศพทั้งหลายที่พิจารณาเห็นแล้ว ก็น้อมนึกถึงสิ่งที่ตนรัก คือคนที่รัก ที่ปรารถนา ที่เราเห็นว่าเขาสวยเขางาม เอาความจริงจากซากอสุภเข้าไปเปรียบเทียบดู พิจารณาว่า คนที่เรารักแสนรัก ที่เห็นว่าเขาสวยสดงดงามนั้น เขากับซากศพนี้มีอะไรแตกต่างกันบ้าง เดิมซากศพนี้ก็มีชีวิตเหมือนเขา พูดได้เดินได้ ทำงานได้ แสดงความรักได้ เอาอกเอาใจได้ แต่งตัวให้สวยสดงดงามได้ ทำอะไร ๆ
    ได้ทุกอย่าง ตามที่คนรักของเราทำ แต่บัดนี้เขาเป็นอย่างนี้ คนรักของเราก็เป็นอย่างเขา เราจะมานั่งหลอกตนเองว่า เขาสวย เขางาม น่ารัก น่าปรารถนาอยู่เพื่อเหตุใด แม้แต่ตัวเราเองสิ่งที่เรามัวเมากาย เมาชีวิต หลงใหลว่า ร่างกายเราสวยสดงามวิไล ไม่ว่าอะไรน่ารักน่าชมไปหมด ผิวที่เต็มไปด้วยเหงื่อไคล เราก็เอาน้ำมาล้าง เอาสบู่มาฟอก นำแป้งมาทา เอาน้ำหอมมาพรม แล้วก็เอาผ้าที่เต็มไปด้วยสีมาหุ้มห่อ เอาวัตถุมีสีต่างๆ มาห้อยมาคล้องมองดูคล้ายบ้าหอบฟางแล้วก็ชมตัวเองว่าสวยสดงดงาม ลืมคิดถึงสภาพความเป็นจริง ที่เราเองก็หอบเอาความโสโครกเข้าไว้พอแรง เราเองเรารู้ว่าในกายเราสะอาดหรือสกปรก ปากเราที่ชมว่าปากสวย ในปากเต็มไปด้วยเสลดน้ำลาย น้ำลายของเราเองเมื่ออยู่ในปากอมได้ กลืนได้ แต่พอบ้วนออกมาแล้วกลับรังเกียจไม่กล้าแม้แต่จะเอามือแตะนี่เป็นสิ่งสกปรกที่เรามีหนึ่งอย่างละ
     
  20. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    ต่อไปก็อุจจาระ ปัสสาวะ เลือด น้ำเหลือง ที่หลั่งไหลอยู่ในร่างกาย พอไหลออกมานอกกายเราก็รังเกียจทั้ง ๆ ที่เป็นตัวของเราเอง นี้ก็เป็นสิ่งโสโครกที่เป็นสมบัติของเราเองอีก น้ำเลือด น้ำเหลือง ของซากศพที่เรามองเห็นนั้น ซากศพนั้นมีสภาพอย่างไร เมื่อตายไปแล้วจากความเป็นคนหรือสัตว์ เราเรียกกันว่าผีตายเขามีสภาพอย่างไร คือตายแล้วมีน้ำเลือดน้ำเหลืองหลั่งไหลออกจากร่างกายฉันใด เราแม้ยังไม่ตาย สิ่งเหล่านั้นก็มีครบแล้ว คนที่เราคิดว่าสวยสดงดงามตามที่นิยมกัน ก็เต็มไปด้วยความโสโครกที่น่ารังเกียจเหมือนกัน เอาอะไร มาเป็นของน่ารักน่าปรารถนา เรารักคนก็มีสภาพเท่ารักศพ ศพนี้น่าเกลียดน่าชังเพียงใด คนรักที่เรารักก็มีสภาพอย่างนั้น พยายามพิจารณาใคร่ครวญให้เห็นติดอกติดใจจนกระทั่งเห็นสภาพของผู้ใดก็ตามที่เขานิยมกันว่า น่ารัก น่าชมนั้น เห็นแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นซากศพทันที มีความรังเกียจสะอิดสะเอียนขึ้นมาทันทีทันใด เห็นคนหรือสัตว์มีสภาพเป็นซากศพไปหมด เต็มไปด้วยความรังเกียจที่จะสัมผัสถูกต้อง รังเกียจที่จะคิดว่าน่ารักน่าเอ็นดู เพราะความสวยสดงดงามเห็นผิวภายนอกก็มองเห็นภายใน คือเห็นเป็นสภาพถุงน้ำเลือด น้ำหนอง ถุงอุจจาระปัสสาวะที่เคลื่อนที่ได้พูดด้วยสนทนาด้วย ก็เห็นสภาพผู้ที่พูดจาสนทนาด้วย เป็นถุงอุจจาระปัสสาวะและถุงน้ำเลือดน้ำหนองมาพูดคุยด้วย คิดว่าขณะนี้มีสภาพเป็นถุงน้ำเลือดน้ำหนอง มาสนทนาปราศรัยกับเราต่อไปเขาก็จะกลายเป็นซากศพที่มีร่างกายอืดพอง น้ำเหลืองไหล ต่อไปกายก็จะขาดจากกันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ สัตว์จะกัดกิน และในที่สุด ก็จะเหลือแต่กระดูกกระจัดกระจายไปเขานี่เป็นผีตายชัดๆ เราก็เช่นเดียวกัน เขามีสภาพเช่นไร เราก็มีสภาพเช่นนั้น กายนี้ล้วนแต่เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สะสมของโสโครกแล้ว แต่ถ้าจะยังยืนคู่ฟ้าคู่ดินก็พอที่จะทนรักทนชอบได้บ้าง แต่นี่เปล่าเลยท่านหลงว่าสวยสดงดงามนั้นก็เป็นสิ่งหลอกลวง เต็มไปด้วยความโสโครกเท่านั้นยังไม่พอ กลับหาความเที่ยงแท้แน่นอน
    ไม่ได้อีก ดิ้นรนกลับกลอกทรุดโทรมลงทุกวันทุกเวลาเคลื่อนเข้าไปหาความแก่ทุกวันทุกนาที ยิ่งมากวันความเสื่อมโทรมของร่างกายก็ทวีมากขึ้น จากความเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ มาเป็นคนหนุ่มคนสาว จากความเป็นคนหนุ่มคนสาวมาเป็นคนแก่ การเคลื่อนไปนั้นมิใช่เคลื่อนเปล่า ยังนำเอาโรคภัยไข้เจ็บมาทับถมให้ไม่เว้นแต่ละวัน ปวดที่โน่น ปวดที่นี่ โรคแน่น โรคจุกเสียด ปวดร้าวมีตลอดเวลา อวัยวะที่เคยใช้คล่องแคล่วสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยกำลัง ก็ง่อนแง่นคลอนแคลน กำลังวังชาหมดไป ทำอะไรไม่ได้สะดวก หูก็หนัก ตาก็ฟาง ได้ยินเห็นอะไรไม่ถนัดเต็มไปด้วยความ
    ทุกข์ จะห้ามปรามรักษาด้วยหมอวิเศษ ท่านใดก็ไม่สามารถจะยับยั้งความเคลื่อนความทรุดโทรมนี้ได้ ในที่สุดก็พังทลายกลายเป็นซากศพที่ชาวโลกรังเกียจอย่างนี้ อัตภาพนี้เป็นสภาพโสโครกอย่างนี้ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกขัง ความทุกข์อันเกิดแต่ความเคลื่อนไหวไปหาความเสื่อมอย่างนี้ เป็นอนัตตา เพราะเราจะบังคับบัญชาควบคุมไม่ให้เคลื่อนไปไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎธรรมดา

    พิจารณาเห็นโทษเห็นทุกข์อันเกิดแต่ร่างกาย เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในร่างกายของตนเองและร่างกายของผู้อื่น เห็นสภาพร่างกายของตนเองและของผู้อื่นเป็นซากศพ หมดความพิสมัยรักใคร่ โดยเห็นว่าไม่มีอะไรสวยงาม เห็นเมื่อไรเบื่อหน่ายหมดความพอใจเมื่อนั้นเห็นคนมีสภาพเป็นศพทุกขณะที่เห็นอย่างนี้ท่านเรียกว่าได้อสุภกรรมฐานในส่วนของสมถภาวนา เห็นร่างกายเป็นซากศพ เบื่อหน่ายในร่างกาย และเห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง สกปรกโสมมแล้วยังหาความแน่นอนไม่ได้อีก เคลื่อนไปหาความแก่ตายทุกวันเวลาขณะที่เคลื่อนไปก็เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะต้องได้รับทุกข์จากโรค รับทุกข์จากการบริหารร่างกาย มีการประกอบการงานเป็นต้น ทุกข์เพราะมีลาภแล้วลาภหมดไป มียศแล้ว ยศสิ้นไป
    มีสุขแล้วก็มีทุกข์มาทับถม เดี๋ยวมีคำสรรเสริญมาป้อยอ แต่ก็ไม่นานก็ถูกนินทา เป็นเหตุให้ใจเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความเสื่อมโทรมของร่างกายมีอวัยวะทุพพลภาพ หูหนัก ตาฟาง ฟันหัก ร่างกายร่วงโรย ความจำเสื่อม ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนของความทุกข์ทั้งสิ้น เห็นร่างกายเป็นทุกข์แล้ว ก็เห็นความดื้อด้านของสังขารร่างกายที่บังคับบัญชาไม่ได้ คือเห็นว่าความเสื่อมโทรมอย่างนี้เราไม่ต้องการ ก็บังคับไม่ได้ ไม่ต้องการให้ปวดเจ็บเมื่อยล้าแต่มันก็จะเป็น ไม่มีใครห้ามได้ ไม่ต้องการให้ระบบประสาทเสื่อมมันก็จะเสื่อม ใครก็ห้ามไม่ได้ไม่ต้องการตาย มันก็ต้องตาย ไม่มีใครห้ามได้ สิ่งที่ห้ามไม่ได้นี้ ท่านเรียกว่า อนัตตา แปลว่าเป็นสิ่งเหลือวิสัยที่จะบังคับ ที่ท่านแปล อนัตตาว่า ไม่ใช่ตัวตนนั่นเอง เพราะถ้าเป็นตัวตนของเราจริงแล้ว เราก็บังคับได้ ถ้าบังคับไม่ได้ก็ไม่ใช่ตัวตนของเราแน่
     

แชร์หน้านี้

Loading...