คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย newhatyai, 20 มกราคม 2008.

  1. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    พระรัฐบาลฉันอาหารทิ้ง
    พระรัฐบาลเป็นพุทธสาวก เป็นพระอรหันต์ ท่านไปเยี่ยมบ้านไม่มีใครจำท่านได้ ไม่มีใครเขาใส่บาตร ท่านยืนอยู่ใกล้บ้าน บังเอิญหญิงสาวใช้เอาอาหารเหลือบริโภคออกมาเทนอกบ้านท่านเห็นเข้าท่านจึงพูดว่าดูก่อนน้องหญิงถ้าของนั้นเป็นของที่ทิ้งแล้วขอน้องหญิงจงเทลงในบาตรของเรา เมื่อนางเทของลงในบาตร ท่านก็นั่งฉันตรงนั้น

    เรื่องอาหารนี้ ดูแล้วจะเห็นว่าพระอริยะแม้แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่พิถีพิถันอะไรนัก
    นอกจากอาหารที่เป็นโทษ เช่น อาหารที่เขาบอกว่าจะแกงปลา แกงไก่ แกงสัตว์อะไรก็ตามที่เจ้าภาพบอกชื่อก่อนถวาย อาหารประเภทนี้ท่านไม่รับ เพราะเป็นโทษทางก่อให้เกิดกิเลสและตัณหาและอาหารที่เกินพอดี เช่น เนื้อมนุษย์ เนื้อเสือ เป็นต้น ท่านเว้นเด็ดขาด เพราะมีรสดีเกินไปทำให้ก่อกิเลสและตัณหา นอกนั้นไม่เป็นโทษต่อร่างกายไม่ผิดธรรมวินัย ท่านฉันเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ฉันเพื่อยั่วกิเลสและตัณหา ไม่ฉันเพื่อรสและเพื่อสีสันวรรณะของอาหารไม่ติดร้านหรือผู้ปรุงรวมความแล้วท่านสอนให้บริโภคอาหารเพื่ออยู่ไม่ให้เมาในรสในสีและให้พิจารณาให้เห็นว่าเป็นของโสโครกไม่ใช่ของวิเศษที่สร้างผู้บริโภคเป็นผู้วิเศษถ้ากินดีโดยการพิจารณาก็มีผลเป็นญาณและได้มรรคผลเพราะอาหาร ถ้ากินด้วยความมัวเมาในรส ในสี ในคนปรุง ก็มีทุกข์เพราะอาหารขอนักปฏิบัติจงสังวรณ์ในเรื่องบริโภคให้มากถ้าท่านปลงอาหารตกไม่เมาในรสอาหารท่านมีหวังเห็นฝั่งพระนิพพานในอนาคตอันไม่ไกลนักเพราะผู้ที่ไม่เมาในรสอาหาร ก็เป็นผู้ไม่เมาในชีวิตผู้ไม่เมาชีวิตก็เป็นคนเห็นไตรลักษณะคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนเห็นพระไตรลักษณะก็เป็นผู้เห็นอริยสัจคนเห็นอริยสัจก็เป็นผู้ถึงความเป็นพระอริยะ ท่านที่เป็นพระอริยะก็เป็นผู้เข้าถึงพระนิพพาน ขอท่านที่เจริญกรรมฐานข้อว่าอาหาเรปฏิกูลสัญญานี้ จงตั้งใจปฏิบัติด้วยดีโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันคือยอมตายดีกว่าที่จะมีจิตใจติดในรสอาหารเท่านี้ความหวังของท่านก็ได้รับผลตามที่ตั้งใจทุกประการ

    (ขอยุติอาหาเรปฏิกูลสัญญาไว้เพียงเท่านี้)
     
  2. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    จตุธาตววัตถาน ๔
    จตุธาตววัตถาน แปลว่า ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุลม ๑ ธาตุไฟ ๑
    ธาตุ ๔ นี้ เป็นโครงร่าง เป็นที่อาศัยของ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และจิต
    ที่มีอำนาจบัญชาการในความคิดต่างๆ ความคิดอ่านต่าง ๆ เป็นเรื่องของจิต ความรับรู้ที่เรียกว่ารู้สึกว่า หนาว ร้อน หิว กระหาย เปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ด รู้การสัมผัสว่า
    อ่อนแข็งนิ่ม อย่างนี้เป็นต้น เป็นความรู้สึกของวิญญาณที่ได้รับบัญชามาจากจิต
    โดยจิตบัญชาว่าอย่างนั้นเป็นอะไร วิญญาณก็รับทราบตามนั้นความจดจำเรื่องราวต่างๆเป็นหน้าที่ของสัญญา รวมความแล้วธาตุ ๔ ที่เป็นเรือนร่างอาศัย ไม่มีความรับรู้อะไรเลยมีสภาพเหมือนบ้านเรือนที่มีคนอาศัย บ้านจะสวย หรือจะผุพัง บ้านเรือนไม่มีทุกข์แต่เจ้าของบ้านคือคนที่อาศัยอยู่ในบ้านนั่นเองเป็นผู้ทุกข์ ธาตุ ๔ ที่เป็นเรือนร่างของจิตและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วก็เช่นเดียวกัน ความรู้สึกสุขทุกข์ร่างกายที่สร้างด้วยธาตุ ๔ไม่รู้เรื่องเลย ดังเราจะเห็นว่า เมื่อจิตไม่รับรู้อาการของทางกายบางขณะ เช่นว่าหลับหรือมีความเพลิดเพลินอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่างกายไม่ยอมรับรู้ทุกข์ เช่นนอนหลับ จิตสงบจากอารมณ์ภายนอก ตอนนั้นจิตไม่รับรู้เรื่องใด ๆ ใครจะมาด่า นินทาให้ได้ยิน แม้จะพูดจนใกล้ ร่างกายก็เฉยไม่รับรู้รับทราบหรือเมื่อจิตออกจากร่าง คือ ตาย ใครจะทำอะไร จะด่าเอามีดมาฟัน จะเอาไฟมาเผา กายไม่รู้เรื่องปล่อยทำตามอารมณ์ ความสุขความทุกข์ที่ปรากฏ เป็นอาการของจิต พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทราบเรื่องของร่างกายก็เพราะจะได้ทราบตามความ เป็นจริง จะได้ไม่หลงผิดอันเป็นการมัวเมาในร่างกายเกินควร และเป็น
    เหตุให้ถอนความรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ง่าย ร่างกายอันเกิดจากธาตุ ๔ นี้
    มีอธิบายดังต่อไปนี้

    ๑. ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ธาตุดินที่มีในร่างกายนั้น ก็คือของแข็งที่เป็นก้อนเป็นแท่ง
    ในเรือนร่าง เช่น กระดูก เนื้อ ลำไส้ และอวัยวะทั้งหมดที่มีเนื้อ เส้นเอ็น รวมความว่า สิ่งที่เป็นก้อนเป็นแท่ง ในร่างกายจัดว่าเป็น ธาตุดิน ทั้งหมด
    ๒. เตโชธาตุ ธาตุไฟ ได้แก่ความอบอุ่นที่ปรากฏภายในเรือนร่าง ท่านเรียกว่า
    ธาตุไฟ
    ๓. วาโยธาตุ ธาตุลม ได้แก่สิ่งที่พัดไปมาในร่างกายมีลมหายใจเป็นต้น เรียกว่า
    ธาตุลม
    ๔. อาโปธาตุ ธาตุน้ำ สิ่งที่เอิบอาบ ไหลไปมาในร่างกาย มีน้ำเลือด น้ำเหลือง
    น้ำหนองเสลด น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น เรียกว่า ธาตุน้ำ

    พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า เรือนร่างของเรานี้เป็นธาตุ
    ๔ ประชุมกันขึ้น เป็นเรือนร่างชั่วคราว เป็นของไม่จีรังยั่งยืน มีเสื่อมและสลายตัวในที่สุดไม่มีอะไรสะอาดน่ารัก น่าชม เป็นของน่าเกลียดโสโครก เป็นแดนรับทุกข์ เพราะจิตหลงผิดยึดเรือนร่างว่า เป็นเรา เป็นของเราคิดว่าร่างกายจะทรงความเจริญตลอดกาลตลอดสมัย คิดว่าจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หลงว่าสวยสดงดงามใน มหาสติปัฏฐาน ท่านสอนให้แยกร่างกายออกเป็น ๔ ส่วน โดยให้พิจารณาโคที่ถูกนายโคฆาตคือคนฆ่าโค ฆ่าตายแล้วให้เอาเนื้อกระดูกและไส้พุงตับไตไปกองไว้ส่วนหนึ่ง เลือด น้ำเหลืองน้ำหนองส่วนหนึ่งแล้วพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่พอจะเห็นว่าสวยสดงดงาม พิจารณาแล้วจะเห็นว่าไม่มีอะไรสวยเลยแล้ว ท่านให้พิจารณาตัวเองเช่นเดียวกับโคที่ถูกฆ่านั้น ให้เห็นว่าร่างกายเราก็ดีใครก็ตามที่เราเห็นว่าเป็นเรือนร่างที่สวยสดงดงาม น่ารักน่าชม ให้พิจารณาหาความจริงว่า ในเมื่อร่างนี้เป็นเพียงธาตุ ๔ ผสมตัวกันชั่วคราว มีเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ที่หลั่งไหลอยู่ภายในตลอดร่างจะมีอะไรสวยงามจงพิจารณาหาความจริงตามนี้ จนอารมณ์จิตมีความ
    รู้สึกเป็นปกติว่า ร่างแต่ละร่างเป็นธาตุที่รวมตัวกันเลอะเทอะด้วยของโสโครกน่าเกลียดไม่น่ารักเลย นอกจากน่าเกลียดแล้ว ยังไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน มีการก่อตัวขึ้นแล้วยังเป็นรังที่อาศัยของโรคภัยไข้เจ็บมีโรครบกวนเป็นปกติ หาความสุขสบายแม้แต่นิดหนึ่งไม่มีเลยร่างนี้ยังต้องบริหารด้วยการออกกำลังกาย การบำรุงรักษาอาหารมาบำรุงบำเรอ ต้องบริหารด้วยอาการต่าง ๆ เป็นปกติ ถึงกระนั้นจะทำให้สิ้นทุกข์หาได้ไม่ เพียงแต่ระงับทุกข์ชั่วคราวเท่านั้น แล้วในที่สุดความเสื่อมโทรมของธาตุ ๔ ก็จะค่อยทวีตัวมากขึ้นในที่สุดธาตุ ๔ ก็ค่อย ๆ คลายตัวจากความเข้มแข็งเป็นอ่อนสลวยและสิ้นกำลังในที่สุด เป็นจุดดับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นอนัตตา คือบังคับไม่ให้ดับสลาย ไม่ได้ท่านสอนให้พิจารณาให้รู้ ให้เข้าใจจนจิตมีความรู้สึกเป็นอารมณ์ประจำตามที่ท่านเรียกตามแบบว่า เป็นเอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์เห็นอย่างนั้นเป็นปกติจนหมดความเมาในเรือนร่างหมดความเมาในความเป็นอยู่รู้อยู่เสมอว่าเราต้องตาย ธาตุที่รวมตัวนี้ต้องสลาย และสลายตัวอยู่เป็นปกติ
    ทุกวันเวลาที่เคลื่อนไป ตัดความห่วงอาลัยในธาตุที่ประชุมเป็นเรือนร่างเสีย เห็นเป็นอนัตตาเป็นปกติ คิดรู้อยู่เสมอโดยมีความคิดเป็นปกติว่า ร่างสิ้นไป เราคือจิตจะอาศัยร่างชั่วคราวเมื่อสิ้นร่างเราก็ไม่ยึดแดนใดเป็นที่เกิดต่อไป เพราะการเกิดเป็นการแสวงหาความทุกข์ ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีทุกข์แดนที่เรียกว่าไม่เกิดคือแดนพระนิพพาน พระนิพพานที่จะไปถึงได้ก็อาศัยความไม่ยึดถือร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ นี้ว่า เป็นเรา เป็นของเรามีความเห็นว่ากายสลายตัวในที่สุด จนตัดความรักความพอใจในโลกเสียได้ บัดนี้เราเห็นแล้วว่า ร่างกายและโลกทั้งโลกเป็นแดนทุกข์ เราตัดความยึดมั่นได้แล้ว เราตัดตัณหา คือความปรารถนาในความเกิดต่อไปแล้ว เราตัดความยึดถือในสรรพวัตถุที่เป็นเหตุของทุกข์ได้แล้วความสิ้นเชื้อในความเกิดได้มีแล้ว เราสิ้นรักด้วยอำนาจราคะที่เป็นเชื้อให้เกิดแล้ว เราตัดพยาบาท อันเป็นปัจจัยให้วนเวียนในวัฏฏะได้แล้วเราตัดความหลงผิดที่เห็นว่าร่างกายเป็นเราได้แล้วเพราะทราบว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราคิดอย่างนี้จนเป็นอารมณ์ จนจิตมีความรู้สึกตัดความคิดว่าโลกเป็นสุขเห็นโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ได้แล้วก็ชื่อว่าท่านชนะตัณหาได้แล้วท่านจบกิจในพรหมจรรย์แล้ว ท่านไม่ต้องเกิดต่อไปท่านมีพระนิพพานเป็นที่ไปในที่สุดชื่อว่าท่านหมดทุกข์สมความปรารถนาแล้ว การพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่าพิจารณาทั้งสมถะและวิปัสสนาร่วมกัน

    (จบจตุธาตววัตถาน ๔ เพียงเท่านี้)
    จบสมถกรรมฐาน ๔๐ ทัศเพียงเท่านี้
     
  3. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    วิปัสสนาญาณ

    ได้อธิบายกรรมฐานที่เป็นส่วนของ สมถภาวนา อันเป็นบทบาทของจิตเพื่อพิจารณาวิปัสสนา มาครบถ้วนทั้ง ๔๐ กองแล้ว และการอธิบายใน สมถกรรมฐานนั้นได้สอดแทรกวิปัสสนาญาณไว้ทุกกอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้อารมณ์นักปฏิบัติค่อย ๆ ชินต่ออารมณ์วิปัสสนาญาณมาทีละน้อย ๆ ด้วย เมื่อปฏิบัติมาเอง ตามความรู้สึกของตนเองคิดว่าคนอย่างเราจะมีหวังมรรคผลได้อย่างไร เพราะตามความรู้สึกตนเองนั้นรู้ตัวว่า โทสะโมหะ มีกำลังหนาแน่นเกินที่จะกำจัดในชาตินี้ให้สิ้นไปหรือแม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ไม่อาจสามารถที่จะให้ลดน้อยลงได้ คิดว่าชาตินี้ ถ้าเราได้แม้เพียงปฐมฌาน เราพอใจแล้ว ด้วยสมัยที่เรียนนักธรรมพบหนังสือของท่านนักปราชญ์ใหญ่เล่มหนึ่ง ท่านอธิบายหลักธรรมไว้เยอะแยะ อ่านแล้วเห็นว่าท่านเป็นนักปราชญ์จริงๆ ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่าสมัยนี้แม้ฌานโลกีย์ก็หาคนบรรลุได้ยาก ท่านอ้างเหตุผลว่า เพราะสมัยนี้ไม่มีพระอริยะเป็นครูสอน เมื่ออ่านแล้วเกิดความท้อใจ ได้เรียนกับหลวงพ่อปานว่า กระผมไม่ขอเรียนวิปัสสนาญาณ เพราะคิดว่าชาตินี้ไม่หวังที่จะได้มรรคผล ขอเรียนเฉพาะสมถะอย่างเดียว ด้วยต้องการแต่ฌาน ถ้าจะได้ฌานบ้างแม้เพียงปฐมฌานภายในชีวิตนี้ก็พอใจ หลวงพ่อท่านฟังแล้วท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่าดีแล้ว ต้องการน้อยแต่ได้มากเป็นกำไร เธอต้องการอย่างนั้น ฉันจะสอนตามใจเธอต้องการแล้วท่านก็สอนว่าก่อนภาวนาให้พิจารณาขันธ์ ๕ ให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้พิจารณาไปจนเบื่อ เมื่อจิตจะซ่านท่านให้ภาวนา โดยกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นฐานภาวนา เมื่อภาวนาจนสบายใจมีอารมณ์แจ่มใสเป็นสุข หรือเป็นอุเบกขาแล้วท่านให้พิจารณาตาม ท่านสอนต่อไป ถ้าอารมณ์จะซ่านก็ให้ภาวนาใหม่ ทำอย่างนี้สลับกันเป็นลำดับไป เมื่อจะเดิน นั่ง ยืน นอน ท่านแนะว่าอย่าทำจิตให้คลาดจากการพิจารณาหรือภาวนาทุกอิริยาบท ทุกขณะลมหายใจเข้าออกอย่าให้ว่างจากการพิจารณาหรือภาวนา จงคิดว่าชีวิตเราน้อยมีเวลาที่จะทำความดีน้อยเหลือเกิน เมื่อโอกาสมี จงพยายามทำอย่าให้ขาดท่านอธิบายว่าการพิจารณาก่อน จนจิตเห็นเหตุเห็นผลว่าการมีชีวิตอยู่ไม่มีอะไรเที่ยงเพราะไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ไม่ให้เกิด ไม่ให้มีไม่ได้ ท่านสอนอย่างนี้ ก็ทำตามเพราะท่านแนะนำว่า พิจารณาก่อนอย่างนี้ฌานเกิดง่าย และแจ่มใส ฌานที่เกิดจะไม่เสื่อม ทำตามท่านไปเพราะความโง่ ไม่ทราบเลยว่าหลวงพ่อปานท่านสอนให้พิจารณาวิปัสสนาญาณเสียเต็มที่ ดูเหมือนจะมากกว่าสมถะเสียอีก ผลที่ได้ก็คือพอทราบได้สมถะวิปัสสนาก็ขึ้นมา ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เวลาจับวิปัสสนาจริงๆ เกิดความรู้สึกว่าง่ายเหลือเกินกำหนดเวลาพิจารณาตามผลได้อย่างสบาย คำว่าพิจารณาตามผลนี้ท่านอาจไม่เข้าใจขออธิบายสั้นๆ ว่าเป็นการพิจารณาให้ได้รับผลตามอารมณ์ของจิตเป็นขั้น ๆ คือ บังคับให้เป็นเอกัคคตารมณ์มีอารมณ์รู้สึกเป็นอย่างนั้นเป็นปกติ โดยไม่ต้องระมัดระวังว่า จะแลบออกนอกทาง แม้หาเหตุมายั่ว หายามากิน เพื่อให้อารมณ์บางอย่างกำเริบ อารมณ์ก็เป็นปกติ ไม่ดิ้นรนหวั่นไหว อย่างนี้เรียกว่าพอใจได้ แต่ยังเอาตัวรอดไม่ได้ ต่อเมื่อไรเห็นว่า โลกไม่มีที่สุด หมดเอาดีต่อชาวโลก แต่มีอารมณ์สงเคราะห์และ
    ปฏิบัติในปฏิปทาสงเคราะห์เป็นปกติ ชื่นใจเมื่อเห็นผู้ปฏิบัติดี เฉยเมื่อได้ลาภ เสียผลลาภเฉยเมื่อถูกนินทา มีอารมณ์คิดว่าเหมือนมีหอกมาเสียบใจ ในเมื่อได้ยินคำสรรเสริญ สลดใจเมื่อมีคนมาบอกว่า จะแต่งตั้งยศให้ สบายใจเมื่อทราบว่าเขาจะเอายศคืน เมื่อมีทุกข์มาถึงสลดใจเมื่อความสุขเกิดจากอามิสบังเกิดขึ้นเพราะรู้สึกว่าเชื้อของทุกข์มาถึงแล้วเห็นว่าโลกนี้ เทวโลก ไม่ใช่แดนของความสุข มีพระนิพพานเท่านั้นที่สิ้นทุกข์ เป็นแดนเอกันตบรมสุข จิตมีความเหือดแห้งต่ออารมณ์ความรัก เนื่องด้วยกามคุณและความอยากได้สะสมทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีความโกรธ ความพยาบาท หมดความอาลัยอาวรณ์ในทุกสิ่งแม้แต่ร่างกายในเมื่อมันจะเป็นไป เท่านี้พอเอาตัวรอดได้แล้ว แม้จะไม่ถึงอรหันต์ก็พอเอาตัวรอดได้ มีหวังพ้นอบายภูมิ
     
  4. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    เริ่มเจริญวิปัสสนา


    การเจริญวิปัสสนา ต้องเจริญเพื่อมรรคผล อย่างแบบคิดว่า พอเป็นอุปนิสัยเท่านั้นการปฏิบัติแบบคิดว่าพอเป็นนิสัย ไม่ควรมีในหมู่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นการดูแคลนพระพุทธศาสนาเกินไป พูดกันตรง ๆ ก็ว่า ไม่มีความเชื่อถือจริง และไม่ใช่นักปฏิบัติจริงปฏิบัติตามเขาพอได้ชื่อว่าฉันก็ปฏิบัติวิปัสสนาคนประเภทนี้แหละที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม เพราะทำไปไม่นานก็เลิกแล้วก็เอาความไม่จริงไม่จังของตนเองนี่แหละไปโฆษณา บอกว่าฉันปฏิบัตินานแล้วไม่เห็นมีอะไรปรากฏเป็นการทำลายพระศาสนาโดยตรงฉะนั้น นักปฏิบัติแล้วควรตั้งใจจริงเพื่อมรรคผล ถ้ารู้ตัวว่าจะไม่เอาจริงก็อย่าเข้ามายุ่งทำให้ศาสนาเสื่อมทรามเลย ต่อไปนี้จะพูดถึงนักปฏิบัติที่เอาจริง


    ก่อนพิจารณาวิปัสสนา

    ทุกครั้งที่จะเจริญวิปัสสนา ท่านให้เข้าฌานตามกำลังสมาธิที่ได้เสียก่อนเข้าฌานให้ถึงที่สุดของสมาธิ ถ้าเป็นฌานที่ ๔ ได้ยิ่งดี ถ้าได้สมาธิ ๆ ไม่ถึงฌาน ๔ ก็ให้เข้าฌานจนเต็มกำลังสมาธิที่ได้เมื่ออยู่ในฌานจนจิตสงัดดีแล้วค่อยๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌานแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณทีละขั้น อย่าละโมบโลภมาก ทำทีละขั้น ๆ นั้น จะเกิดเป็นอารมณ์ประจำใจไม่หวั่นไหว เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่กำเริบแล้ว จึงค่อยเลื่อนไปฌานต่อไปเป็น ลำดับ ทุกฌานปฏิบัติอย่างเดียวกันทำอย่างนี้จะได้รับผลแน่นอน ผลที่ได้ต้องมีการทดสอบจากอารมณ์จริงเสมอ อย่านึกคิดเอาเองว่าได้เมื่อยังไม่ผ่านการกระทบจริง ต้องผ่านการกระทบจริงก่อน ไม่กำเริบแล้วเป็นอันใช้ได้


    ธรรมเครื่องบำรุงวิปัสสนาญาณ

    นักเจริญวิปัสสนาญาณที่หวังผลจริง ไม่ใช่นักวิปัสสนาทำเพื่อโฆษณาตัวเองแล้วท่านว่าต้องเป็นผู้ปรับปรุงบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วนด้วย ถ้าบารมี ๑๐ ยังไม่ครบถ้วนเพียงใดผลในการเจริญวิปัสสนาญาณจะไม่มีผลสมบูรณ์ บารมี ๑๐ นั้นมีดังต่อไปนี้

    ๑. ทาน คือการให้ ต้องมีอารมณ์ใคร่ต่อการให้ทานเป็นปกติ ให้เพื่อ สงเคราะห์ไม่ให้เพื่อผลตอบแทน ให้ไม่เลือกเพศ วัย ฐานะ และความสมบูรณ์ เต็มใจในการให้ทานเป็นปกติ ไม่มีอารมณ์ไหวหวั่นในการให้ทาน

    ๒. ศีล รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ศีลไม่บกพร่อง และรักษาแบบอุกฤษฏ์ คือ ไม่ทำศีลให้ขาดหรือด่างพร้อยเอง ไม่ยุคนอื่นให้ละเมิดศีล ไม่ดีใจเมื่อคนอื่น ละเมิดศีลไม่ดีใจเมื่อคนอื่นละเมิดศีล

    ๓. เนกขัมมะ การถือบวช คือถือพรหมจรรย์ ถ้าเป็นนักบวช ก็ต้องถือ สิกขาบทอย่างเคร่งครัดถ้าเป็นฆราวาส ต้องเคร่งครัดในการระงัอารมณ์ทีเป็นที่เป็นทางของนิวรณ์

    ๕ คือทรงฌานเป็นปกติ อย่างต่ำก็ก็ปฐมฌาน

    ๔. ปัญญา มีความคิดรู้เท่าทันสภาวะของกฎธรรมดา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นปกติ

    ๕. วิริยะ มีความเพียรเป็นปกติ ไม่ท้อถอยในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล

    ๖. ขันติ อดทนต่อความยากลำบาก ในการฝืนใจระงับอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ อดกลั้นไม่หวั่นไหว จนมีอารมณ์อดกลั้นเป็นปกติ ไม่หนักใจเมื่อต้องอดทน

    ๗. สัจจะ มีความจริงใจ ไม่ละทิ้งกิจการงานในการปฏิบัติความดีเพื่อมรรคผล

    ๘. อธิษฐาน ความตั้งใจ ความตั้งใจใด ๆ ที่ตั้งใจไว้ เช่น สมัยที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เข้าไปนั่งที่โคนต้นโพธิ์ พระองค์ทรง อธิษฐานว่า ถ้าเราไม่ได้สำเร็จพระโพธิญาณเพียงใดเราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้ แม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปหรือชีวิตจะตักษัย คือสิ้นลมปราณก็ตามทีพระองค์ทรงอธิษฐานเอาชีวิตเข้าแลกแล้วพระองค์ก็ทรงบรรลุในคืนนั้น การปฏิบัติต้องมีความมั่นใจอย่างนี้ ถ้าลงเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว สำเร็จทุกราย และไม่ยากเสียด้วย ใช้เวลาก็ไม่นาน

    ๙. เมตตา มีความเมตตาปรานีไม่เลือก คน สัตว์ ฐานะ ชาติ ตระกูล มีอารมณ์เป็นเมตตาตลอดวันคืนเป็นปกติ ไม่ใช่บางวันดี บางวันร้ายอย่างนี้ไม่มีหวัง

    ๑๐. อุเบกขา ความวางเฉยต่ออารมณ์ที่ถูกใจ และอารมณ์ที่ขัดใจ อารมณ์ที่ถูกใจรับแล้วก็ทราบว่าไม่ช้าอาการอย่างนี้ก็หมดไปไม่มีอะไรน่ายึดถือพบอารมณ์ที่ขัดใจก็ปลงตกว่า เรื่องอย่างนี้มันธรรมดาของโลกแท้ๆ เฉยได้ทั้งสองอย่าง บารมี ๑๐ นี้ มีความสำคัญมากถ้า นักปฏิบัติบกพร่องในบารมี ๑๐ นี้ แม้อย่างเดียววิปัสสนาญาณก็มีผลสมบูรณ์ไม่ได้ ที่ว่าเจริญกันมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ไม่ได้อะไรนั้น ก็เพราะเป็น
    ผู้บกพร่องในบารมี ๑๐ นี่เอง ถ้าบารมี ๑๐ ครบถ้วนแล้ว ผลการปฏิบัติเขานับวันสำเร็จกันไม่ใช่นับเดือนนับปี ฉะนั้น ท่านนักปฏิบัติเพื่อมรรคผลต้องสนใจปฏิบัติในบารมี ๑๐ นี้ ไม่ให้บกพร่องเป็นกรณีพิเศษ
     
  5. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    วิปัสสนาญาณสามนัย
    วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็นสามนัย คือ

    ๑. พิจารณาตารมแบบวิปัสสนาญาณ ๙ ตามนัยวิสุทธิมรรค ที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้
    ๒. พิจารณาตามนัยอริยสัจ ๔
    ๓. พิจารณาขันธ์ ๕ ตามในพระไตรปิฎก ที่มีมาในขันธวรรค

    ทั้งสามนัยนี้ ความจริงก็มีอรรถ คือความหมายเป็นอันเดียวกัน โดยท่านให้เห็นว่าขันธ์ ๕ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ท่านแยกไว้เพื่อเหมาะแก่อารมณ์ของแต่ละท่าน เพราะบางท่านชอบค่อยทำไปตามลำดับ ตามนัยวิปัสสนาญาณ ๙ เพราะเป็นการค่อยปลดค่อย เปลื้องตามลำดับทีละน้อย ไม่หนักอกหนักใจ บางท่านก็ชอบพิจารณาแบบรวม ๆ ในขันธ์ ๕ เพราะเป็นการสะดวกเหมาะแก่อารมณ์ บางท่านที่ชอบพิจารณาตามแบบอริยสัจนี้ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเอง และนำมาสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ท่านเหล่านั้นได้มรรคผลเป็นปฐม ก็เพราะได้ฟังอริยสัจ แต่ทว่าทั้งสามนี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือให้เห็นอนัตตาในขันธ์ ๕ เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคและในขันธวรรค ในพระไตรปิฎก
    ว่าผู้ใดเห็นขันธ์ ๕ ผู้นั้นก็เห็นอริยสัจ ผู้ใดเห็นอริยสัจก็ชื่อว่าเห็นขันธ์ ๕

    เอาสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์

    นักปฏิบัติเพื่อมรรคผล ที่ท่านปฏิบัติกันมาและได้รับผลเป็นมรรคผลนั้น ท่านคอยเอาสังโยชน์เข้าวัดอารมณ์เป็นปกติ เทียบเคียงจิตกับสังโยชน์ว่า เราตัดอะไรได้เพียงใด แล้วจะรู้ผลปฏิบัติตามอารมณ์ที่ละนั้นเอง ไม่ใช่คิดเอาเองว่า เราเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตามแบบคิดแบบเข้าใจเอาเอง จะเขียนสังโยชน์ ๑๐ ไว้ให้อ่าน ส่วนคำอธิบายในสัง-โยชน์นี้ เขียนมากแล้วในเล่มนี้ อยากทราบก็พลิกดูเอา หรือบางท่านอาจจำไว้จนขึ้นใจแล้ว

    สังโยชน์ ๑๐
    สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมอยู่ในวัฏฏะมี ๑๐ อย่างคือ
    ๑. สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้
    เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา
    ๒. วิจิกิจฉา สงสัยในผลการปฏิบัติว่า จะไม่ได้ผลจริงตามที่ฟังมา
    ๓. สีลัพพตปรามาส ถือศีลไม่จริงไม่จัง สักแต่ถือตาม ๆ เขาไปอย่างนั้นเอง สามข้อนี้ ถ้าตัดได้เด็ดขาด ท่านว่าได้บรรลุเป็นพระโสดา กับพระสกิทาคามี
    ๔. กามราคะ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และอาการ
    ถูกต้องสัมผัส
    ๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งใจ ทำให้ไม่พอใจ อันนี้เป็นโทสะแบบเบาๆ ข้อ (๑)
    ถึง (๕) นี้ ถ้าละได้เด็ดขาด ท่านว่าบรรลุเป็นอนาคามี
    ๖. รูปราคะ พอใจในรูปธรรม คือความพอใจในวัตถุ หรือ รูปฌาน
    ๗. อรูปราคะ พอใจในอรูป คือเรื่องราวที่กล่าวถึง หรือ ในอรูปฌาน
    ๘. อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทาง
    ๙. มานะ ความถือตนโดยความรู้สึกว่า เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา
    ๑๐. อวิชชา ความโง่ คือหลงพอใจในกามคุณ ๕ และกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ที่ท่านเรียกว่า อุปาทาน เป็นคุณธรรมฝ่ายทราม ที่ท่านเรียกว่า อวิชชา
    สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ถ้าท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแล้ว จิตค่อย ๆ ปลดอารมณ์
    ที่ยึดถือได้ครบ ๑๐ อย่าง โดยไม่กำเริบอีกแล้ว ท่านว่าท่านผู้นั้นบรรลุอรหัตผลเครื่องวัดอารมณ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสจำกัดไว้อย่างนี้ ขอนักปฏิบัติจงศึกษาไว้ แล้วพิจารณาไปตามแบบท่านสอนเอาอารมณ์มาเปรียบกับสังโยชน์ ๑๐ ทางที่ดีควรคิดเอาชนะกิเลสคราวละข้อ เอาชนะให้เด็ดขาด แล้วค่อยเลื่อนเข้าไปทีละข้อ ข้อต้น ๆ ถ้าเอาชนะไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเลื่อนเข้าไปหาข้ออื่น ทำอย่างนี้ได้ผลเร็ว เพราะข้อต้นหมอบแล้ว ข้อต่อไปไม่ยากเลย จะชนะหรือไม่ชนะก็ข้อต้นนี้แหละ เพราะเป็นของใหม่และมีกำลังครบถ้วนที่จะต่อต้านเรา ถ้าด่านหน้าแตก ด่านต่อไปง่ายเกินคิด ขอให้ข้อคิดไว้เพียงเท่านี้ ต่อไปจะนำเอาวิปัสสนาญาณสามนัยมากล่าวไว้พอเป็นแนวปฏิบัติพิจารณา
     
  6. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    วิปัสสนาญาณ ๙


    ๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ
    ๒. ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความดับ
    ๓. ภยตูปัฎฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว
    ๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร
    ๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ พิจารณาสังขารเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย
    ๖. มุญจิตุกามยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย
    ๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร
    ๘. สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่า ควรวางเฉยในสังขาร
    ๙. สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง ๘ นั้น เพื่อกำหนดรู้ในอริยสัจ ญาณทั้ง ๙ นี้ ญาณที่มีกิจทำเฉพาะอยู่ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึง ญาณที่ ๘ เท่านั้น ส่วนญาณ ที่ ๙ นั้น เป็นชื่อของญาณบอกให้รู้ว่า เมื่อฝึกพิจารณามาครบ ๘ ญาณแล้ว ต่อไปให้พิจารณาญาณทั้ง ๘ นั้น โดยอนุโลมและปฏิโลม คือพิจารณาตามลำดับไปตั้งแต่ญาณที่ ๑ถึงญาณที่ ๘ แล้วพิจารณาตั้งแต่ญาณที่ ๘ ย้อนมาหาญาณที่ ๑ จนกว่าจะเกิดอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ทุกๆ ญาณและจนจิตเข้าสู่โคตรภูญาณ คือจิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตนหรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่งกระทบเคยทุกข์เดือดร้อนก็ ไม่มีความทุกข์ ความเร่าร้อนไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ทั้งที่เป็นเหตุของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความผูกพัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ท่านว่าครอบงำความเกิด ความดับ ความตายได้เป็นต้น คำว่าครอบงำหมายถึงความไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใครจะตายหรือเราจะตายไม่หนักใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องตาย ใครทำให้โกรธในระยะแรกอาจหวั่นไหวนิดหนึ่งแล้วก็รู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดาโกรธทำไม แล้วอารมณ์โกรธก็หายไปนอกจากระงับความหวั่นไหวที่เคยเกิดเคยหวั่นไหวได้แล้ว จิตยังมีความรักในพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใดสามารถจะสละวัตถุภายนอกทุกอย่างเพื่อพระนิพพานได้ทุกขณะมีความนึกคิดถึงพระนิพพานเป็นปกติ คล้ายกับชายหนุ่มหญิงสาวเพิ่งแรกรักกัน จะนั่ง นอน ยืน เดินทำกิจการงานอยู่ก็ตามจิตก็ยังอดที่จะคิดถึงคนรักอยู่ด้วยไม่ได้ บางรายเผลอถึงกับเรียกชื่อคนรักขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะเรียกทั้งนี้เพราะจิตมีความผูกพันมาก คนรักมีอารมณ์ผูกพันฉันใด ท่านที่มีอารมณ์เข้าสู่โคตรภูญาณก็มีความใฝ่ฝันถึงพระนิพพานเช่นเดียวกันหลังจากเข้าสู่โคตรภูญาณเต็มขั้นแล้ว จิตก็ตัดสังโยชน์ ๓ เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหานคือตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบอีก ท่านเรียกว่าได้อริยมรรคต้นคือเป็นพระโสดาบัน ต่อไปนี้จะได้ อธิบายในวิปัสสนาญาณ ๙ เป็นลำดับไปเป็นข้อ ๆ


    ๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ
    ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาความเกิดและความดับของสังขาร คำว่า สังขารหมายถึง สิ่งที่เป็นร่างทั้งหมด ทั้งที่มีวิญาณและวัตถุ ท่านให้พยายามพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมดไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่เลย พยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้เห็นชัด ดูตัวอย่างคนที่เกิดแล้วตาย ของที่มีขึ้นแล้วแตกทำลาย ดูแล้วคิดทบทวนมาหาตน และคนที่รักและไม่รักของที่มีชีวิตและไม่มีคิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตายทำลายอย่างนี้ และพร้อมเสมอที่จะไม่หวั่นไหวในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างนั้น พิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ ได้อะไรมาเห็นอะไรก็ตาม แม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่ อารมณ์ใจก็คิดว่านี่ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลายแม้แต่ร่างกายเรา ไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณ อะไรที่ไหนที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาลไม่มีรักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้ จนอารมณ์ไม่กำเริบแล้วจึงค่อยย้ายไปพิจารณาญาณที่สอง จงอย่าลืมว่า ก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ จึงจะเห็นเหตุเห็นผลง่ายถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ว วิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่านั่งนึกนอนนึก แล้วในที่สุดก็เลิกนึก และหาทางโฆษณาว่าฉันทำมาแล้วหลายปีไม่เห็นได้อะไรเลย จงจำระเบียบไว้ให้ดี และปฏิบัติตามระเบียบให้เคร่งครัด วิปัสสนาไม่ใช่ต้มข้าวต้ม จะได้สุกง่าย ๆ ตามใจนึก
     
  7. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    ๒. ภังคานุปัสสนาญาณ

    ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาถึงความดับ ญาณต้นท่านให้เห็นความเกิดและความดับสิ้นเมื่อปลายมือ แต่ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นความดับที่ดับเป็นปกติทุกวัน ทุกเวลา คือพิจารณาให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหมดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คน
    สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา บ้านเรือนโรง ของใช้ทุกอย่าง ให้ค้นหาความดับที่ค่อย ๆ ดับตามความเป็นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ เก่าลง คนค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจากความเป็นเด็ก และค่อยๆ ละความเป็นหนุ่มสาวถึงความเป็นคนแก่ ของใช้ที่ไม่มีชีวิตเปลี่ยนสภาพจากเป็นของใหม่ค่อยๆ เก่าลง ต้นไม้เปลี่ยนจากเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยกิ่งใบที่ไสว กลายเป็นต้นไม้ที่ค่อยๆ ร่วงโรย ความสลายตัวที่ค่อยเก่าลง เป็น อาการของความสลายตัวทีละน้อยค่อยๆ คืบคลานเข้าไปหาความสลายใหญ่คือความดับสิ้นในที่สุด ค่อยพิจารณาให้เห็นชัดเจนแจ่มใส จนอารมณ์จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีความชินจิตว่าไม่มีอะไรมันทรงตัว ไม่มีอะไรยั่งยืน มันค่อยๆ ทำลายตัวเองอย่างนี้ทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ใจก็เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่พอใจและอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็มีสภาพไม่คงที่มีสภาพค่อยๆสลายตัวลงไปทุกขณะเป็นธรรมดา รวมความว่า ความเกิดขึ้นนี้เป็นสภาพที่จำต้องเดินไปหาความดับในที่สุด แต่กว่าจะถึงที่สุดก็ค่อย ๆ เคลื่อนดับ ดับทีละเล็กละน้อยทุกเวลาทุกขณะ มิได้หยุดยั้งความดับเลยแม้แต่เสี้ยวของวินาที ปกติเป็นอย่างนี้จิตหายความหวั่นไหว เพราะเข้าใจและคิดอยู่ รู้อยู่อย่างนั้นเป็นปกติ

    ๓. ภยตูปัฏฐานญาณ
    ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ท่านหมายถึงให้กลัวเพราะ
    สังขารมีสภาพพังทลายเป็นปกติอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้ จะเอาเป็นที่พักที่พึ่งมิได้เลย สังขารเมื่อมีสภาพต้องเสื่อมไปเพราะวันเวลาล่วงไปก็ดี เสื่อมเพราะเป็นรังของโรค มีโรคภัยนานาชนิดที่คอยเบียดเบียน เสียดแทงจนหาความปกติสุขมิได้ โรคอื่นยังไม่มี โรคหิวก็รบกวนตลอดวัน กินเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ กินแล้วกินอีก กินในบ้านก็แล้ว กินนอกบ้านก็แล้ว อาหารราคาถูกก็แล้ว ราคาแพงก็แล้ว มันก็ไม่หายหิว ถึงเวลามันก็เสียดแทงหิวโหยเป็นปกติของมันฉะนั้น โรคที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โรคนั้น คือโรคหิวดังพระบาลีว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา แปลว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคภัยต่างๆ มีขึ้นได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความหิวจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความแก่ ความทุกข์อันเกิดจากภยันตรายจะมีได้ ก็เพราะอาศัยสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีทุกข์ ในที่สุดก็ถึงความแตกดับก็เพราะสังขารเป็นมูลเหตุ สังขารจึงเป็นสิ่งน่ากลัวมาก ควร จะหาทางหลีกเร้นสังขารต่อไป

    ๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ
    ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร ความเจริญญาณนี้น่าจะจัดรวม
    กับ ญาณที่ ๓ เพราะอาการที่ทำลายนั้น เป็นอาการของสิ่งที่เป็นโทษอยู่แล้ว ฉะนั้น ข้อนี้จึงไม่ต้องอธิบายโปรดถือคำอธิบายของญาณที่ ๓ เป็นเครื่องพิจารณา

    ๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ
    ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้มีความเบื่อหน่ายจากสังขาร เพราะสังขารเกิดแล้ว
    ดับในที่สุดนี้ประการหนึ่ง สังขารมีความดับเป็นปกติทุกวันเวลา หรือจะว่า ทุกลมหายใจเข้าออกก็ไม่ผิด นี้ประการหนึ่ง สังขารเป็นภัย เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นปกติ และทำลายในที่สุดประการหนึ่ง สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์และโทษประการหนึ่ง ฉะนั้นสังขารนี้เป็นสภาพที่น่าเบื่อหน่าย ไม่เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาเลย ญาณนี้ควรเอาอสุภสัญญาความเห็นว่าไม่สวยไม่งามมาร่วมพิจารณาด้วย เอามรณานุสสติธาตุ ๔ มาร่วมพิจารณาด้วยจะเห็นเหตุเห็นผลชัดเจน เกิดความเบื่อหน่ายได้โดยฉับพลัน เพราะกรรมฐานที่กล่าวแล้วนั้นเราพิจารณาในรูปสมถะอยู่แล้ว และเห็นเหตุผลอยู่แล้ว เอามาร่วมด้วยจะได้ผลรวดเร็ว
    และชัดเจนแจ่มใสมาก เกิดความเบื่อหน่ายในสังขารอย่างชนิดที่ไม่มีวันที่จะเห็นว่าน่ารักได้เลย
     
  8. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    ๖. มุญจิตุกัมมยตาญาณ

    ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเพื่อใคร่ให้พ้นจากสังขาร ทั้งนี้เพราะอาศัยที่เห็นแล้ว
    จากญาณต้น ๆ ว่า เกิดแล้วก็ดับ มีความดับเป็นปกติ เป็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยความทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บจนเกิดความเบื่อหน่าย เพราะหาความเที่ยง ความแน่นอนไม่ได้ ท่านให้พยายามหาทางพ้นต่อไปด้วยการพยายามหาเหตุที่สังขารจะพึงเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีสังขารแล้ว ความทุกข์ความเบื่อหน่ายทั้งหลายเหล่านี้จะมีไม่ได้เลย การที่หาทางเบื่อหน่ายท่านให้แสวงหาเหตุของความเกิดดังต่อไปนี้

    ๑) ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย เป็นต้น มีขึ้นได้เพราะชาติ คือ ความเกิด
    ๒) ชาติ ความเกิดมีได้เพราะ ภพ คือความเป็นอยู่
    ๓) ภพ คือภาวะความเป็นอยู่ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อุปาทาน ความยึดมั่น
    ๔) อุปาทาน ความยึดมั่นมีขึ้นได้ เพราะอาศัย ตัณหา คือความทะยานอยาก คือ
    อยากมี อยากเป็น อยากปฏิเสธ
    ๕) ตัณหา มีได้ เพราะอาศัย เวทนา คือ อารมณ์ที่รู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆ
    ๖) เวทนา มีขึ้นได้ เพราะอาศัย ผัสสะ คือ การกระทบกระทั่ง
    ๗) ผัสสะ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อายตนะ ๖ คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกสูดกลิ่น
    ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เรียกว่าธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดแก่ใจ
    ๘) อายตนะ ๖ มีขึ้นได้เพราะอาศัย นามและรูป คือ ขันธ์ ๕ สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา
    คือ ร่างกายเรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนาม ท่านรวมเรียกทั้งรูปทั้งนามว่า นามรูป
    ๙) นามรูป มีขึ้นได้เพราะอาศัย วิญญาณปฏิสนธิ คือ เข้ามาเกิด วิญญาณ
    ในที่นี้ท่านหมายเอาจิต ไม่ได้หมายเอาวิญญาณในขันธ์ ๕
    ๑๐) วิญญาณ มีขึ้นได้เพราะ มีสังขาร
    ๑๑) สังขาร มีได้เพราะอาศัย อวิชชา คือ ความโง่เขลาหลงงมงาย มีความรัก
    ความพอใจในโลกวิสัยเป็นเหตุ

    รวมความแล้ว ความทุกข์ทรมานที่ปรากฏขึ้น จนต้องหาทางพ้นนี้ อาศัยอวิชชา
    ความโง่เป็นสมุฏฐาน ฉะนั้น การที่จะหลีกเร้นจากสังขารได้ก็ต้องตัดอวิชชาความโง่ออกด้วยการพิจารณาสังขารให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แน่นอนจึงจะพ้นสังขารนี้ได้

    ๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
    พิจารณาหาทางที่จะให้สังขารพ้น ญาณนี้ไม่เห็นทางอธิบายชัด เพราะมีอาการ
    ซ้อน ๆ กันอยู่ ควรเอา ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละเป็นเครื่องพิจารณา

    ๘. สังขารุเปกขาญาณ
    ท่านสอนให้วางเฉย ในเมื่อสังขารภายในคือ ร่างกายของตนเองและสังขารภายนอกคือร่างกายของคน และ สัตว์ ตลอดจนของใช้ที่ไม่มีและมีวิญญาณ ที่ต้องได้รับเคราะห์กรรมมีทุกข์ มีอันตราย โดยตัดใจปลงได้ว่า ธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ มีจิตสบายเป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหว เสียใจ น้อยใจเกิดขึ้น

    ๙. สัจจานุโลมิกญาณ
    พิจารณาญาณทั้งหมดย้อนไปย้อนมาให้เห็นอริยสัจ คือเห็นว่า สังขารที่เป็นแดน
    ของความทุกข์ เพราะอาศัยตัณหา จึงมีทุกข์หนักอย่างนี้ พิจารณาเห็นว่า สังขารมีทุกข์ประจำเป็นปกติ ไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์เลย อย่างนี้เรียกว่า เห็นทุกขสัจจะเป็นอริยสัจที่ ๑ พิจารณาเห็นว่า ทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัยตัณหา ความทะยานอยาก ๓ ประการ คือ อยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากเป็นในสิ่งที่ไม่เคยเป็น อยากปฏิเสธ ในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้น ไม่อยากให้สลายตัว เจ้าความอยากทั้ง ๓ นี้แหละเป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ ก็เพราะเข้าถึงจุดของความดับ คือนิโรธเสียได้ จุดดับนั้นท่านวางมาตรฐานไว้ ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านเรียกว่า มรรค ๘ ย่อมรรค ๘ ลงเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เพราะอาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิเป็นฌาน ปัญญารู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและดับอารมณ์พอใจไม่พอใจ เสียได้ ตัดอารมณ์ใจในโลกวิสัยได้ ตัดความกำหนัดยินดีเสียได้ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ ๔ ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ให้คล่อง จนจิตครอบงำความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิตเสียได้ ชื่อว่าท่านได้วิปัสสนาญาณ ๙ และอริยสัจ ๔ แต่อย่าเพ่อพอ หรือคิดว่าดีแล้ว ต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไปจนตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการได้แล้ว นั่นแหละชื่อว่าเอาตัวรอดได้แล้ว

    (จบวิปัสสนาญาณ และอริยสัจ ๔)
     
  9. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    พิจารณาขันธ์ ๕ เป็นวิปัสสนาญาณ

    อันนี้ไม่มีอะไรพิศดาร ท่านสอนให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา
    สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา โดยให้พิจารณาเป็นปกติ เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ ป่วยก็รักษา เพื่อให้ทรงอยู่ แต่เมื่อมันจะพังก็ไม่ตกใจหรือมันเริ่มป่วยไข้ ก็คิดว่า ธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้ เราจะรักษาเพื่อให้ทรงอยู่ ถ้าทรงอยู่ได้ ก็จะอาศัยเพื่องานกุศลต่อไปถ้าเอาไว้ไม่ได้ มันจะผุพังก็ไม่มีอะไรหนักใจ ความทุกข์จะเกิดแก่ตัวเองหรือใคร อะไรก็ตามไม่ผูกจิตติดใจอย่างนี้ จนกระทั่งบรรลุอรหัตตผล ตามนัยที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้ใน ขันธวรรคแห่งพระไตรปิฎก

    (จบวิปัสสนาญาณโดยย่อเพียงเท่านี้)
     
  10. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า
    คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ หลวงพ่อปานได้เรียนมาจากครูผึ้ง อายุ ๙๙ ปี เป็นคาถาให้คุณทางลาภผล และเป็นฌานสมาบัติ มีคุณเป็นทิพยจักษุญาณด้วย และยกฐานะของผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ขัดสนยากจนด้วย ศิษย์ของหลวงพ่อปานได้ฝึกคาถานี้ มีฐานะมั่นคงหลายสิบอย่าง ที่รู้จักกันมากก็คือ นายประยงค์ ตั้งตรงจิต เจ้าของห้างขายยาตราใบโพธิ์ ท่าเตียน จังหวัดพระนคร เคยสนทนากับนายประยงค์ ท่านนายห้างบอกถึงวิธีปฏิบัติเกิดผลมหาศาล ท่านเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้

    ปฏิปทาของนายประยงค์

    ๑. ทุกเช้าเย็น ท่านสวดมนต์และว่าคาถานี้ต่อหน้าพระพุทธรูปคราวละ ๙ จบทุก
    เช้าเย็น
    ๒. เมื่อสวดคาถานี้แล้ว ท่านนั่งภาวนาคาถานี้จนสบายใจทุกวัน คือตั้งเวลาไว้
    ประมาณครึ่งชั่วโมง ทำจนจิตเป็นสมาธิ พอสบายใจแล้วก็ไปทำงานตอนเช้า หรือพักผ่อนในตอนค่ำ
    ๓. ใส่บาตรทุกเช้า ก่อนใส่บาตรท่านว่าคาถานี้ ๙ จบ ก่อนใส่บาตร ถ้าวันใดไม่มี
    พระมาบิณฑบาต ท่านใช้เก็บเงินไว้แทนการใส่บาตร ตามแบบที่หลวงพ่อปานสอน ท่านให้เก็บข้าวสารหรือเงินก็ได้เอาไว้แทนการใส่บาตร ก่อนเก็บว่าคาถานี้ ๙ จบ เหมือนก่อนใส่บาตรวันต่อไปให้เอาไปถวายพระเป็นค่าภัตตาหาร
    ๔. ก่อนเอาเงินเก็บตอนเย็น หรือก่อนเอาเงินออกใช้ตอนเช้า ท่านว่าคาถานี้ ๙ จบ
    คือขณะที่เก็บเงินนั้น ให้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้วว่าคาถา ๙ จบ จึงเอาเงินเก็บในที่เก็บตอนเช้าก่อนเอาเงินออกใช้ เมื่อจับเงินแล้ว ยังไม่นำออก ว่าคาถานี้ ๙ จบ แล้วนำเงินออกท่านบอกว่า ท่านทำอย่างนี้เป็นปกติ จนกลายเป็นคนมีเงินมีทองมากมาย ทำบุญด้วยจำนวนเงินหลายสิบล้าน หายากนักที่จะมีผู้ศรัทธาเสมอท่าน คาถานี้ว่าดังนี้

    พุทธะมะอะอุ นะโมพุทธายะ (บทนี้ว่าเที่ยวเดียว)
    วิระธะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ
    มานี มามะ พุทธัสสะ สวาโหม ฯ
    (คาถานี้มีเพียงเท่านี้)

    เมฆจิต ของท่านอาจารย์เกษม

    เมฆจิต หรือ ทิพยจักษุญาณของท่านอาจารย์เกษมนี้ เป็นแบบปฏิบัติที่ให้ผลง่าย ๆ
    มีมากรายที่ฝึกตามแบบนี้แล้วได้รับผลเบื้องต้นภายใน ๗ วัน บ้าง ๑๕ วันบ้าง แต่ที่ไม่ได้เรื่องก็ไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่แก่ความฉลาดและความกล้าของแต่ละบุคคล ที่ท่านทำได้ง่าย ๆนั้น ท่านเหล่านั้นเล่าให้ฟังว่า ท่านทำดังนี้ ท่านเริ่มทำสมาธิด้วยการกำหนดนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รูปพระพุทธเป็นต้น แล้วภาวนาคาถาบริกรรมไปด้วย กำหนดรูปด้วย วันหนึ่ง หรือคราวหนึ่ง ท่านไม่เอามาก ใช้เวลาคราวละ ๕ นาที บังคับว่าคาถาให้ครบถ้วน พร้อมด้วยกำหนดให้เห็นรูปไปด้วย ถ้าจิตพลาดนิดหนึ่งท่านตั้งต้นเวลาใหม่ ท่านทำอย่างนี้เพื่อบังคับอารมณ์ตนเอง เพื่อไม่ให้จิตส่ายไปในอารมณ์ภายนอกแล้วทดลองความรู้จากอารมณ์ คือ กำหนดรู้ทางใจ โดยกำหนดรู้เรื่องราวต่าง ๆ ตามที่จะหาได้ เช่น เห็นรถแล่นมาแต่ไกลก็กำหนดจิตเพื่อรู้ว่า คนในรถมีกี่คน เป็นชายเท่าไร หญิงเท่าไร แล้วเชื่ออารมณ์ที่รู้อารมณ์แรกโดยจิตคิดว่า มีคนกี่คน หญิงกี่คนชายกี่คน ก็เชื่อตามอารมณ์แรก ความรู้นั้นจะถูกต้องตามความเป็นจริงเสมอเป็นวิชชาฝึกทิพยจักษุญาณระยะต้นดีมาก คาถาภาวนาว่าดังต่อไปนี้

    คาถาเมฆจิต

    พุทธัง เมฆะนิมิตต์ จิตตัง มะอะอุ
    ธัมมัง เมฆะนิมิตต์ จิตตัง อุอะมะ
    สังฆัง เมฆะนิมิตต์ จิตตัง อะมะอุ
    (คาถาของท่านมีเท่านี้)

    ฝึกทิพยจักษุญาณแบบโบราณ

    ท่านวางแบบของท่านไว้ว่า ให้จัดธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๗ เล่ม ดอกไม้
    ๗ กระทง ข้าวตอก ๗ กระทง บาตรใส่น้ำเต็ม ๑ ใบ ท่านให้ภาวนาด้วยคาถานี้ตามแต่จะสบาย

    คาถาภาวนา

    นะมะพะทะ พุทโธ โลกทีปัง อาโลกกสิณัง วิโสธายิ
    ธัมโม โลกทีปัง อาโลกกสิณัง วิโสธายิ
    สังโฆ โลกทีปัง อาโลกกสิณัง วิโสธายิ

    เมื่อภาวนาจนจุใจแล้ว ท่านให้เอาน้ำมนต์ในบาตรนั้นอาบทุก ๆ วัน ตามตำราท่านว่า ทำอย่างนี้ ๗ วัน ของท่านได้ทิพยจักษุญาณ จงรักษาสมาธิให้ดี ดูของท่านแล้วก็อาโลกกสิณดี ๆ นั่นเอง ถ้าว่าคาถาเป็นนกแก้วนกขุนทองไม่มีหวังแน่ ต้องตั้งอารมณ์ตามแบบกสิณ มีหวังแน่ตามที่ท่านบอกไว้
     
  11. newhatyai

    newhatyai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,768
    ค่าพลัง:
    +6,203
    วิปัสสนาแบบธรรมชาติ


    นักวิปัสสนาที่ยังต้องอาศัยเวลาที่สงัด ยังต้องยึดแบบนั้น ท่านว่ายังไกลต่อมรรคผลมาก นักวิปัสสนาที่เข้าระดับวิปัสสนาจริง ท่านเอาธรรมชาติที่ปรากฏเฉพาะหน้าเป็นเครื่องพิจารณา ขั้นแรกจงเข้าใจคำว่า " วิปัสสนา " เสียก่อน คำว่า " วิปัสสนา แปลว่า รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง " วิปัสสนาท่านแปลว่าอย่างนั้น หรือจะพูดเป็นภาษาไทยแท้ก็ได้ความว่ายอมรับนับถือกฎธรรมดา เมื่อได้ความอย่างนี้แล้ว การเจริญวิปัสสนาก็ไม่มีอะไรยาก ความจริงวิปัสสนานี้มีวิธีเจริญง่ายมาก ง่ายกว่าระดับสมาธิมาก คือยกอารมณ์ให้เข้าถึงความเป็นจริงคล้อยตามความเป็นจริงไม่ฝืนความจริงรับรู้รับทราบตามกฎของความเป็นจริงตลอดเวลาและไม่พยายามฝ่าฝืนกฎธรรมดาเป็นอันขาด


    กฎธรรมดา

    กฎของธรรมดามีอย่างนี้ไม่ว่าอะไรที่เราได้มาหรือเห็นอยู่ตามกฎที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เมื่อมันเกิดมาใหม่ มันเป็นของใหม่ แต่ต่อไปมันจะค่อย ๆ เก่าลงทุกทีตามวันเวลาที่ล่วงไปแล้ว ในที่สุดมันก็จะต้องแตกทำลาย สิ่งที่มีชีวิตต้องตาย สิ่งที่ไม่มีชีวิตต้องผุพัง กฎธรรมดามีเท่านี้จะเป็นใครก็ตามแม้แต่ตัวเรา ลูกเรา หลานเราไม่ว่าท่านผู้วิเศษที่ไหนเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมดจำเข้าไว้และคิดคำนึงไว้เป็นปกติ อย่าคิดเฉย พยายามทำอารมณ์จิตให้เข้าระดับจริง ๆ คือคิดแล้วปลงด้วย โดยปลงว่าก็อะไร ๆ มันไม่แน่นอนอย่างนี้เราควรหรือที่จะยึดจะเกาะสิ่งทั้งหมดที่เห็นที่มีอยู่และกำลังจะมีว่ามันเป็นเราเป็นของเราถ้าคิดอย่างนั้นมันก็ผิดถนัด เป็นการหลอกหลอนตัวเอง เพราะมันต้องเก่า ต้องทำลายเมื่อมันมีสภาพอย่างนี้ทั้งหมด โลกก็การเกิดในโลกที่เต็มไปด้วยความกลับกลอกหลอกหลอนโกหกมดเท็จอย่างนี้ มีอะไรเป็นของน่ารัก น่าทะนุถนอม น่าปรารถนาบ้าง พยายามคิด ๆ ให้เห็นว่าความจริงมันน่าเบื่อจริง ๆ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ แม้แต่วัตถุที่ไม่มีวิญญาณ หาอะไรคงสภาพไม่มี พยายามแสวงหา สะสมกันเสียพอแรง แต่แล้วก็ผิดหวัง เมื่อจะหามา เลือกแล้วเลือกอีกเอาสวย ๆงามที่สุดเท่าที่จะหาได้ ดูทนทานแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะมีในโลกนี้ แล้วมีอะไรเกิดขึ้นเมื่อได้มาแล้วมันจะค่อย ๆ คลายความสวยลง แล้วก็เริ่มคร่ำคร่าลงทุกวันทุกเวลา ในที่สุดก็พังโลกคือความเกิด เต็มไปด้วยความคร่ำคร่าผุพัง น่าเบื่อหน่ายน่าเอือมระอาเป็นที่สุดต่อเมื่ออาการพังทะลายปรากฎ ทำจิตอย่าให้หวั่นไหว เพราะเราทราบแล้วว่า มันต้องเป็นอย่างนั้นยิ้มรับความสลายตัวของทรัพย์สินด้วยอารมณ์ชื่นบาน และรับทราบมีอารมณ์ปกติเมื่อความตายมาถึงตน มีความชื่นบานด้วยความคิดว่าดีแล้ว โลกที่ศิวิไลซ์ด้วยความปลิ้นปล้อนตลบตะแลง เราสิ้นชาติสิ้นภพกันที การสิ้นลมปราณคราวนี้เป็นการสิ้นทุกอย่างเราจะไม่มีทุกข์อีก เพราะเราไม่ปรารถนาความเกิดอีก ขึ้นชื่อว่าชาติภพความเกิดจะเกิดในแดนใดเราไม่ต้องการ มีสถานเดียวคือพระนิพพานเท่านั้น เป็นสถานที่เราปรารถนาทำอารมณ์พอใจในพระนิพพานให้เป็นปกติ สร้างความรู้สึกตามกฎธรรมดารู้เกิด รู้เสื่อม รู้สลายของของทุกชนิด จนมีอารมณ์ปกติไม่หวั่นไหวในเมื่อมรณภัยมาถึงสมบัติ ญาติ บุตร สามี ภรรยาในที่สุดแม้แต่ตัวเรา อารมณ์เป็นปกติอย่างนี้ตลอดวัน ไม่ดีใจในเมื่อมีลาภ ได้ยศ รับคำสรรเสริญ มีความสุข ไม่หวั่นไหว ในเมื่อสิ้นลาภสิ้นยศ ถูกนินทามีความทุกข์ เท่านี้น่าภูมิใจได้แล้ว ท่านสิ้นภาระในทุกขภัยแล้ว ต่อไปท่านมีพระนิพพานเป็นที่ไปแน่นอน นักวิปัสสนาญาณเจริญอย่างนี้โดยที่เห็นรูปกระทบตลอดวัน ท่านจึงจะนับว่าเป็นนักวิปัสสนาญาณแท้ และเข้าวิปัสสนาจริง ถ้ายังรอวัน รอเวลาหาที่สงัดอยู่แล้วยังหรอกท่าน ยังไกลคำว่าวิปัสสนามากนัก ขอยุติวิปัสสนาตามธรรมชาติโดยย่อไว้เพียงเท่านี้



    จบ " คู่มือนักปฏิบัติพระกรรมฐาน " เพียงเท่านี้
    ขอขอบคุณที่มา http://www.sitluangpor.com
    [​IMG]
    เรียบเรียงโดย กรกฎ
     
  12. ประทีปแก้ว

    ประทีปแก้ว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กันยายน 2008
    โพสต์:
    3,506
    ค่าพลัง:
    +8,328
    [​IMG]

    กราบอนุโมทนาเป็นอย่างสูงค่ะ
    ---------------------------------------
    * คนเจ้าปัญญา ย่อมบริหารอารมณ์
    สร้างอารมณ์ที่ควรสร้าง
    เสพอารมณ์ที่ควรเสพ
    ควบคุมอารมณ์ทีควรควบคุม
    รักษาอารมณ์ที่ควรรักษา
    สลายอารมณ์ที่ควรสลาย
    เขาจึงเป็นนายของอารมณ์โดยสมบูรณ์ *
     
  13. aummii007

    aummii007 สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    1
    ค่าพลัง:
    +0
    ขออนุโมนาบุญด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะสำหรับเนื้อหาดีๆ
     
  14. เกิดมานาน

    เกิดมานาน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กันยายน 2009
    โพสต์:
    167
    ค่าพลัง:
    +2,547
    ผมขออนุโมทนาในกุศลผลบุญของท่านที่ได้นำกระทู้ดีๆมาเผยแพร่ ผมขอให้ท่านถึงพระนิพพานในชาตินี้นะขอรับ สาธุ สาธุ สาธุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...