คู่รักพัฒนาเป็นคู่ชีวิต

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 18 มิถุนายน 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน - ปจฺจุปฺปนฺนหิเตน วา
    เอวนฺตํ ชายเต เปมํ - อุปฺปลํว ยโถทเก.

    (แปลว่า)
    ความรักนั้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ ด้วยการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑ เปรียบเสมือนดอกบัวอาศัยน้ำและเปือกตมเกิดในน้ำได้ ฉะนั้น.


    ชีวิตมีขึ้นมีลงดังน้ำทะเลมีขึ้นมีลง หนุ่มสาวรักกันจึงตัดสินใจแต่งงานร่วมเป็นทองแผ่นเดียวกัน ยามชีวิตคู่มีทุกข์ก็ไม่ทอดทิ้งกันไปเสพสุขผู้เดียว ร่วมกันต้านทานทุกข์นั้นๆ คราวชีวิตคู่มีสุขก็เสพสุขร่วมกัน สมดังสุภาษิตที่ว่า “มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน” ดังนี้ แล้วคู่รักก็จะพัฒนาเป็นคู่ชีวิตร่วมสุขร่วมทุกข์กันจนแก่เฒ่า
     
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    เข้าเรื่อง

    หญิง-ชาย พัฒนาเป็นอริยชน คู่ครอง พัฒนาเป็นคู่ชีวี

    ขอยกตัวอย่างหลักธรรมมาดูตามพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกแห่งหนึ่ง [สํ.สฬ.๑๘/๔๘๔/๓๐๖] แสดงถึงการที่สตรีพัฒนาขึ้นเป็นอริยชน มีใจความว่า

    สตรีมีกำลัง ๕ ประการนี้ จะอยู่ครองเรือนอย่างแกล้วกล้ามั่นใจ คือ กำลังรูปสมบัติ [รูปพละ] กำลังทรัพย์ [โภคพละ]กำลังญาติ [ญาติพละ]กำลังบุตร [ปุตตพละ] กำลังความประพฤติ [ศีลพละ] ๑

    สตรีที่มีกำลัง ๕ ประการนี้ ครองเรือน (บ้างก็ถึงกับ) ข่มขี่สามี

    สตรีที่มีกำลัง ๕ ประการนี้ ครองเรือน (บ้างก็ถึงกับ) ครอบงำสามี เอาสามีไว้ใต้อำนาจ

    อย่างไรก็ดี บุรุษผู้มีกำลังแห่งอิสริยะ คือ ความเป็นใหญ่ อย่างเดียวก็ครอบงำครองสตรีไว้ใต้อำนาจ โดยที่กำลังทั้ง ๕ ข้างบนนั้นป้องกันไม่ได้

    สตรีที่มีพลัง จะบริบูรณ์ก็เมื่อครบทั้ง ๕ กำลังนี้ แต่ในบรรดากำลังทั้งหมดนั้น กำลังศีลสำคัญอย่างยิ่ง เป็นตัวตัดสิน

    ถึงแม้สตรีใด จะมีกำลังรูปสมบัติ หรือมีกำลังทรัพย์ หรือมีกำลังญาติ หรือมีกำลังบุตร แต่ถ้าไม่มีกำลังศีล เสียศีล ความประพฤติไม่ดี ไร้จรรยา ก่อความเสียหาย หมู่ญาติ ก็ไม่เอาไว้ในวงศ์ตระกูล

    ถึงคราวชีวิตแตกดับ กำลัง ๔ อย่างแรกพาไปสวรรค์ไม่ได้ แต่จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้ด้วยกำลังศีล เมื่อมีศีล ๕ ก็จะครองเรือนได้อย่างแกล้วกล้ามั่นใจ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 มิถุนายน 2017
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ

    อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของสตรีในระดับปุถุชน หรือสตรีทั่วๆไป ที่เรียกกันสามัญว่ามาตุคาม สตรีพึงพัฒนาขึ้นไปให้ยิ่งกว่านี้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปถึงสตรีในระดับอริยชนว่า อริยสาวิกาเจริญ พัฒนาด้วยอริยาวัฒิ [การพัฒนาแบบอริยชน หรือความเจริญงอกงามอย่างอริยชน] โดยเจริญพัฒนาด้วยวัฒิ [การพัฒนา ความเจริญงอกงาม เพิ่มพูน ดอกผล หรือกำไร] ๕ ประการ คือ

    ๑. พัฒนาด้านศรัทธา มีความเชื่อประกอบด้วยปัญญา เชื่อมีเหตุผล รู้เข้าใจมั่นในคุณพระรัตนตรัย รักธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ มั่นใจในกรรมดี โดยมุ่งหวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม และมีกำลังจิตสดใสด้วยใจมั่นมุ่งแน่วสู่จุดหมายที่ดีงามอันเลิศประเสริฐสูงสุด

    ข้อแรกนี้ พึงสังเกตว่ามีความสำคัญมาก เป็นจุดฐานเริ่มที่สร้างความหมาย ตั้งจุดหมายให้แก่ชีวิต และการมีพลังมุ่งสู่จุดหมายนั้น คือ การที่จะพัฒนาชีวิตให้ก้าวไปสู่จุดหมาย

    ๒. พัฒนาด้านศีล ดำเนินชีวิตสุจริต ปลอดเวรภัย ไร้การเบียดเบียด ไม่ใช้ความรุนแรง มีวินัย ตั้งอยู่ในศีล ๕ และสัมมาชีพ รู้จักสื่อสาร พูดจริง พอดี อ่อนหวาน สมานสามัคคี มีสาระ กิริยาวาทะงดงาม

    ๓. พัฒนาด้านสุตะ ใฝ่ใจเล่าเรียนศึกษาหาความรู้ สดับรับฟังเรื่องราวข่าวสาร โดยไตร่ตรองพิจารณาอย่างเปิดใจและให้รู้เท่าทัน มีความรู้ธรรมที่พึงประพฤติปฏิบัติ เพื่อเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตของตน แนะนำสั่งสอนในครอบครัว และแก่คนที่ควรแนะนำ

    ๔. พัฒนาด้านจาคะ มีน้ำใจเผื่อแผ่เสียสละ ใส่ใจรับฟังทุกข์สุขของคน มีน้ำใจและใจกว้าง พร้อมที่จะให้ปันช่วยเหลือ แผ่ขยายกระจายประโยชน์สุขออกไป สละนอกสละใน ข้างนอกสละวัตถุ ข้างในสละกิเลส ความโลภเห็นแก่ได้ ครองเรือนด้วยใจไร้มลทินแห่งความตระหนี่กีดกัน

    ๕. พัฒนาด้านปัญญา มองสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต มีความรู้เข้าใจที่จะทำให้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องดีงาม ไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ให้เป็นที่มาของทุกข์ รู้จักวิเคราะห์วิจัยให้ปัญญาดับทุกข์แก้ปัญหา จัดกิจ คิดการ ดำเนินงานให้สำเร็จได้โดยถูกวิธี

    อริยสาวิกา หรือสตรีชั้นอริยชน ที่พัฒนา ๕ ด้านนี้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้จับเอาสาระของชีวิตได้ ได้สิ่งประเสริฐของชีวิตในโลกนี้
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ขอให้พิจารณาการพัฒนาของสตรี โดยเทียบชีวิตที่ตรัสไว้ในต่างระดับ

    ๑. สตรีทั่วไป คือ มาตุคาม แต่สตรีอริยชนทรงเรียกว่า อริยสาวิกา

    ๒. สตรีปุถุชน ที่เก่งดี มีพละ คือกำลัง ๕ อย่าง ส่วนสตรีอริยชน มีวัฒิ คือการพัฒนา หรือความเจริญงอกงาม ๕ ประการ

    ๓. สตรีปุถุชน ยังอยู่กับความคิดจิตใจที่คำนึงถึงการที่จะแข่งจะข่มกับฝ่ายบุรุษ โดยใช้กำลัง ๕ อย่าง ส่วนสตรีอริยชน พ้นไปแล้วจากสภาพจิตที่มีการคิดแข่ง-ข่มนั้น ไปอยู่กับความคิดจิตใจที่มุ่งไปในการพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามด้วยวัฒิ ๕ อย่าง ซึ่งถ้าได้บุรุษที่มีชีวิตแห่งการพัฒนาอย่างนี้ด้วย ก็จะเข้าถึงสภาพชีวิตจิตใจในระดับของความเสมอสมาน

    [พละ/กำลัง ๕ อย่างนั้น มิใช่ว่าสตรีอริยชนจะต้องทิ้งไป แต่เธอสามารถเปลี่ยนแนวทางใหม่โดยใช้มันเป็นทุนเป็นกำลังหนุนในการพัฒนาชีวิต ไม่ใช้เป็นเครื่องขับเคลื่อนการแข่ง-ข่มกัน]

    ๔. สตรีปุถุชน ถึงจะมีกำลังบริบูรณ์และประสบความสำเร็จในการครองเรือน หรือแม้ถึงกับเอาชนะแข่งขึ้นเหนือบุรุษ แต่ก็เป็นเรื่องเปลือกผิวอยู่ข้างนอก ไม่เข้าถึงแก่นสารของชีวิต

    ส่วนสตรีอริยชน เมื่อพัฒนาชีวิตจิตปัญญาของตนด้วยวัฒิ ๕ พระพุทธเจ้าสรุปว่า เธอจับเอาสาระของชีวิต หรือเข้าถึงแก่นสารของการมีชีวิตในโลกนี้แล้ว [เป็นชีวิตไม่ว่างเปล่า]

    ในระดับปุถุชน ทางฝ่ายบุรุษ ชีวิตมีการเจริญพัฒนาต่างแนวทางห่างไกลจากสตรี

    แต่ในระดับอริยชน การพัฒนาเรียกได้ว่าเป็นอย่างเดียวกัน และเมื่อเป็นอริยชนแล้ว ก็มีคุณสมบัติเสมอกัน

    เมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นคู่ครอง ถ้าเป็นอริยชนระดับโสดาบันด้วยกัน ก็สามารถมีคุณสมบัติของคู่ครองที่เป็นคู่ชีวิต โดยมีคุณธรรมอันเป็นคุณสมบัติที่ได้พัฒนาชีวิต พัฒนาความเป็นมนุษย์มาเท่าๆ กัน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า “สมชีวิธรรม
     
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ในพุทธกาล มีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ สามีภรรยาคู่หนึ่ง เป็นอริยชนชั้นโสดาบันทั้งสองฝ่าย รักกันมาก บอกว่าจะเกิดอีกเมื่อไร ก็ขอให้ได้พบกัน ถึงกับได้กราบทูลแสดงความปรารถนานี้กะพระพุทธเจ้า และพระองค์ก็ได้ตรัสหลักสมชีวิธรรมที่ว่านั้น [องฺ.จตุกฺก.๒๑/๕๖/๗๒] ดังนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามฤคทายวัน ใกล้สุงสุมารคิรนคร แคว้นภัคคะ ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาค...เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนกุลบิดาคหบดี...

    นกุลบิดาคหบดี และนกุลมารดาคหปตานี เข้ามาเฝ้า....ครั้นแล้ว นกุลบิดาคหบดี กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับแต่เวลาที่ตระกูลนำนกุลมารดาคหปตานี ซึ่งยังเป็นสาวมาเพื่อข้าพระองค์ผู้ยังเป็นหนุ่ม

    ข้าพระองค์มิได้รู้สึกจะประพฤตินอกใจเธอแม้แต่ด้วยใจเลย ที่ไหนจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า

    ข้าพระองค์ทั้งสองปรารถนาพบกันทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า

    [นกุลมารดาคหปตานี ก็ได้กราบทูลอย่างนั้นเหมือนกัน]

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนกุลบิดาคหบดี และคหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสอง หวังจะพบกันทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า ทั้งสองนั่นแล พึงเป็นสมสัทธา [มีศรัทธาเสมอกัน] สมศีล [มีศีลเสมอกัน] สมจาคา [มีจาคะเสมอกัน] สมปัญญา [มีปัญญาเสมอกัน]

    ทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา เป็นคู่ภรรยา-สามี ที่รู้เข้าใจคำบอกความต้องการของคน ครองตนอยู่ในศีล ดำเนินชีวิตโดยธรรม พูดจาถ้อยคำแสดงน้ำใจรักแก่กัน สรรพประโยชน์ ความเจริญงอกงามจะประดังมา ความผาสุกจะเกิดมี ใครที่ไม่เป็นมิตรก็หงอยไป ทั้งสองฝ่ายมีศีลสมกัน ครั้นประพฤติธรรมแล้วในโลกนี้ คู่ชีวีที่สมศีลสมพฤตินั้น ก็เป็นผู้บันเทิงในเทวสมาคม รื่นรมย์กับสิ่งอันน่าปรารถนา ร่าเริงเบิกบาน


    พึงทราบว่า นกุลบิดาและนกุลมารดา สามีภรรยาคู่นี้ เวลานั้นสูงอายุแล้ว แต่ยังรักกันมั่นคง เป็นโสดาบันทั้งคู่ และทั้งสองท่าน ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะเหมือนกัน [องฺ.เอก.๒๐/๑๕๑-๒/๓๓] คือ นกุลบิดาเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้คุ้นสนิทฝ่ายอุบาสก และนกุลมารดาเป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้คุ้นสนิทฝ่ายอุบาสิกา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 มิถุนายน 2017
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ

    เป็นอันว่า “สมชีวิธรรม” มี ๔ ข้อดังว่ามา ขอให้สังเกตคำว่า “สม” [สม,สมะ] ในหลักธรรมชุดนี้ ซึ่งมีใช้ในภาษาไทย จะไม่แปลว่า “เสมอ” ก็ได้ ก็ทับศัพท์ไปเลย ดังนั้น สมชีวิธรรม แทนที่จะว่า มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ก็แปลได้สะดวกขึ้นอีกว่า มีศรัทธาสมกัน มีศีลสมกัน มีจาคะสมกัน มีปัญญาสมกัน

    ที่แท้นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่เข้าใจความหมายให้ชัด คือ คำบาลีว่า “สม” นี้ แปลว่า เสมอ สมาน ร่วมกัน เท่ากัน เข้ากัน หรือกลมกลืน ก็ได้ทั้งสิ้น เพราะมีนัยอย่างเดียวกัน เช่นว่า คนที่เสมอกัน เท่ากัน ก็ไปกันได้ เมื่อคนรับสุขรับทุกข์เสมอกัน หรือเท่ากัน ก็คือร่วมสุขร่วมทุกข์กัน

    แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน ความหมายนี้ค่อนข้างเป็นปัญหา อาจเป็นเพราะเวลานี้ กระแสสังคมถูกดูดดึงหนักไปทางระบบธุรกิจ ใจคนคำนึงหรือเอียงไปทางด้านผลประโยชน์มากสักหน่อย เวลาพูดคำว่าเสมอกัน เท่ากัน คนมักจะมีความรู้สึกในเชิงจ้องที่จะแก่งแย่ง เรียกร้องจะได้จะเอา เกี่ยงกัน หรือแย่งชิงกัน ในที่นี้ ขอให้ข้ามพ้นนัยแบบเสมอ-แย่งชิงกันนี้ไปก่อน แต่ขอให้จับเอานัยที่ว่า เสมอ –สมานกัน
     
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ


    อีกอย่างหนึ่ง ขอให้สังเกตว่า ธรรมที่คู่ครองในขั้นคู่ชีวิต มีเสมอหรือสมกันนี้ ก็คือ องค์ธรรมในชุดการพัฒนาของอริยชน คือ อริยาวัฒิที่สตรีพัฒนาตัวจากมาตุคามขึ้นเป็นอริยสาวิกานั่นเอง ได้แก่ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา แต่ในสมชีวิธรรม หายไปข้อหนึ่ง จาก ๕ เหลือ ๔

    ข้อซึ่งไม่มีที่นี่ คือ สุตะ [สิ่งที่ได้เรียนสดับ คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่เล่าเรียน] ทำไมจึงหายไป คำตอบก็ง่ายๆ ว่า สุตะ คือ ข้อมูล ข่าวสาร เรื่องที่เล่าเรียนกันนั้น แต่ละคนควรพัฒนาแน่

    แต่ข้อมูลความรู้นั้น ต่างคน ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เสมอกัน ตรงเรื่องกัน หรือเข้ากัน

    เอาง่ายๆ คนหนึ่ง ค้นหาความรู้ทางดาราศาสตร์ รู้เชียวชาญไปหมด ไม่ว่าเรื่องพระจันทร์หรือลึกเลยไปถึงหลุมดำ

    อีกคนหนึ่ง รู้แต่ตำราทำกับข้าว ไม่รู้เรื่องดาวอะไรด้วย ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่อีก ๔ ข้อ ต้องไปกันได้ เช่น ปัญญา ความรู้เข้าใจ อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง

    ยิ่งกว่านั้น ความรู้สุตะ บางทีไม่ตรงไม่เท่ากันนั่นแหละ กลับเอามาเสริมกันได้ รู้คนละเรื่องต่างกัน กลายเป็นยิ่งดี

    แล้วยิ่งกว่านั้นอีก บางคนมีสุตะน้อยเต็มที แต่ปัญญาไวคมชัด ฟังสุตะนิดหน่อยรู้เข้าใจทันที

    ส่วนอีกคนหนึ่งเรียนสุตะไว้นักหนา จบอะไรต่อมิอะไรมา แต่เอาสุตะที่ได้เรียนไว้มาใช้แทบไม่ได้ไม่สำเร็จสักกรณี
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ในเรื่องธรรมะ มีตัวอย่างมากกมาย บางคนจำได้แม่นยำ จบหลากหลายคัมภีร์ แต่ก็ได้แค่จำ ไม่เข้าถึงความหมาย เรียนกี่ปีก็ไม่ไปถึงไหน

    ส่วนอีกคนหนึ่ง ปัญญาไว ได้ฟังพุทธพจน์เพียงหนึ่งคาถา เกิดดวงตาเห็นธรรม เป็นอริยชนทันที

    เป็นอันว่า สมชีวิธรรมเอาแค่ ๔ ข้อ นั่นแหละ ต้องสมเสมอไปกันได้ มิฉะนั้น ชีวิตร่วมกันจะไม่อาจยั่งยืน

    แล้วก็เป็นอันอีกว่า ในขั้นอริยชนนี้ ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ ก็มีการพัฒนาอย่างเดียวกัน เสมอกัน เพราะเป็นเรื่องของตัวชีวิตเอง ที่เป็นธรรมชาติ มีความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันเท่ากัน ไปกันจนจบถึงที่สุด

    ดังในพุทธคาถา แห่งอัจฉราสูตร [สํ.ส.๑๕/๑๔๔/๔๕] ที่ว่า [ละรายละเอียดบ้าง]

    ทางนั้น ชื่อว่าทางสายตรง ทิศนั้นชื่อว่าทิศไม่มีภัย...
    ธรรมรถนั้น เราบอกให้ว่า มีสัมมาทิฏฐินำหน้าเป็นสารถี
    ผู้ที่มียานเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษคนใด เขาย่อมใช้ยานนั้น [ขับไป] ถึงในสำนักแห่งนิพพาน


    เมื่อถึงตอนนี้ การพัฒนาทั้งของบุรุษและสตรีก็มาบรรจบกัน อย่างอริยชนที่เป็นโสดาบัน ซึ่งส่วนมากครองเรือน ก็จะมีชีวิตคู่ครองแบบคู่ชีวี ที่อยู่ร่วมกันกลมกลืนราบรื่น มีความเสมออย่างสมานในสุขสามัคคี แล้วก็สามารถหวังที่จะพบกันอีกในภายหน้าไม่ว่าจะเกิดที่ใด เหมือนในกรณีของนกุลบิดา-นกุลมารดาที่ได้ยกมาให้ดูนั้น
    ........

    จากหนังสือ "สตรีหลุดพ้นขึ้นเหนือมหาพรหม" หน้า ๙๔ พระพรหมคุณาภรณ์ [ป.อ.ปยุตฺโต]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 มิถุนายน 2017
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    สุตะ “สิ่งสดับ” สิ่งที่ได้ฟังมา, สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง, ความรู้จากการเล่าเรียนหรือรับถ่ายทอดจากผู้อื่น, ข้อมูลความรู้จากการอ่านการฟังบอกเล่าถ่ายทอด,

    สำหรับผู้ศึกษาปฏิบัติ “สุตะ” หมายถึงความรู้ที่ได้เล่าเรียนสดับฟังธรรม ความรู้ในพระธรรมวินัย ความรู้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่านวังคสัตถุศาสน์ หรือปริยัติ,

    สุตะเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของผู้ที่จะเจริญงอกงาม ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต โดยเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ปัญญา ที่เป็นเบื้องต้นหรือเป็นฐานของพรหมจริยะ และเป็นเครื่องเจริญปัญญาให้พัฒนาจนไพบูลย์บริบูรณ์ (ที.ปา.11/444/316) พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เป็นผู้มีสุตะมาก (เป็นพหูสูตหรือมีพาหุสัจจะ) และเป็นผู้เข้าถึงสุตะ (องฺ.จตุกฺก 21/6/9)


    พหุสูต, พหูสูต ผู้ได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก, ผู้เล่าเรียนมาก, ผู้ศึกษามาก, ผู้คงแก่เรียน

    พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก, ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียน มีองค์ ๕
    คือ
    ๑. พหุสฺสุตา ได้ยินได้ฟังมาก

    ๒.ธตา ทรงจำไว้ได้

    ๓. วจสา ปริจิตา คล่องปาก

    ๔. มนสานุเปกฺขิตา เจนใจ

    ๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบได้ด้วยทฤษฎี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 มิถุนายน 2017
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ปัจจัยที่ให้เกิดสัมมาทิฏฐิ

    ในพระไตรปิฎก แสดงหลักการสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิไว้ ดังนี้

    "ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มี ๒ ประการ ดังนี้ คือ ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ * (องฺ.ทุก.20/371/110)

    (ส่วนปัจจัยให้เกิด มิจฉาทิฏฐิ ก็มี ๒ ตรงข้ามจากนี้ คือ ปรโตโฆสะที่ไม่ถูกต้อง และอโยนิโสมนสิการ - อง.ทสก.24/93/201)


    ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่าง ตามพุทธพจน์ที่ตรัสไว้นี้ คือ

    ๑. ปรโตโฆสะ = เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก เช่น การสั่งสอน แนะนำ การถ่ายทอด การโฆษณา คำบอกเล่า ข่าวสาร ข้อเขียน คำชี้แจง อธิบาย การเรียนรู้จากผู้อื่น ในที่นี้ หมายเอาเฉพาะส่วนที่ดีงามถูกต้อง เฉพาะอย่างยิ่งการรับฟังธรรม ความรู้ หรือคำแนะนำจากบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร

    ข้อแรกนี้ เป็นองค์ประกอบฝ่ายภายนอก ได้แก่ ปัจจัยทางสังคม อาจเรียกง่ายว่า วิธีการแห่งศรัทธา

    ๒. โยนิโสมนสิการ = การทำในใจโดยแยบคาย = การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น หรือคิดอย่างมีระเบียบ หมายถึง การรู้จักมอง รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลาย โดยมองตรงตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมัน และโดยวิธีคิดหาเหตุผล สืบค้นถึงต้นเค้า สืบสาวให้ตลอดสาย แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะ และตามความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกด้วยตัณหาอุปาทานของตนเข้าจับ

    ข้อสองนี้ เป็นองค์ประกอบฝ่ายภายใน ได้แก่ ปัจจัยในตัวบุคคล อาจเรียกง่ายๆว่า วิธีการแห่งปัญญา

    จาก

    http://palungjit.org/threads/ความสำคัญของการมีกัลยาณมิตร-คุณสมบัติของกัลยาณมิตร.612745/
     

แชร์หน้านี้

Loading...