.......ฆ่าล้างแค้น.....ศากยตระกูล.............

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย Kamen rider, 23 กุมภาพันธ์ 2005.

  1. Kamen rider

    Kamen rider เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กันยายน 2004
    โพสต์:
    3,773
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +1,998
    เหตุที่ทำให้ วงค์ศากยะ(ตระกูลพระพทธเจ้า) เกือบสิ้นวงค์
    จาก ทางแห่งความดี
    สวนดอกไม้คือกามคุณ อ.วศิน อินทสระ

    พระพุทธภาษิต
    ปุปผานิเหว ปจินนฺตํ
    พฺยาสตฺตมนสํ นรํ

    สุตฺตํ คามํ มโหโฆว
    มจฺจุ อาทาย คจฺฉติ

    คำแปล
    มัจจุคือความตาย ย่อมพัดพาเอาบุคคลผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ
    ผู้เลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณ 5 อยู่เหมือนห้วงน้ำใหญ่ไหลหลาก
    พัดพาเอาชาวบ้านผู้หลับอยู่ ฉะนั้น

    อธิบายความ
    ดอกไม้ในพระคาถานี้ ทรงหมายเอากามคุณ 5 มีรูป เป็นต้น
    เพราะยั่วยวนให้ภมรกล่าวคือ มนุษย์หลงใหลวนเวียนอยู่ คนที่รู้โทษของ
    กามคุณแล้วอยากออก แต่มีเครื่องจองจำบางอย่าง เช่น บุตรคอยมัดมือ
    และเท้าไว้มิให้ออกไปได้

    ส่วนคนใหม่ยังไม่รู้รส ถูกแรงกระตุ้นทั้งภายในและภายนอกคอย
    กระตุ้นเร่งเร้าให้อยากเข้าไป ในที่สุดก็ตกอยู่ในภาวะอย่างเดียวกัน คือ
    ถูกจองจำ และมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เป็นต้น

    ที่ว่าเลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณอยู่นั้น หมายความว่า เมื่อได้กาม
    มีรูปเป็นต้นแล้ว ก็หาพอใจในรูปนั้นไปนานสักเท่าไรไม่ ใจซัดส่ายไปใน
    รูปใหม่ต่อไปอีก เห็นรูปนั้นก็น่าได้ นี่ก็น่าได้ น่าเป็นของเรา เหมือนคน
    เข้าสวนดอกไม้ เห็นดอกไม้สะพรั่ง ดอกนั่นก็น่าเก็บ ดอกนี้ก็น่าเก็บ
    น่าดอมดมชมเชยไปเสียหมด ชื่อว่าเป็นผู้หลงใหลอยู่ในสวนดอกไม้นั้น

    นอกจากนั้น ใจยังข้องในอารมณ์ต่างๆ อีก เช่น ความคิดข้องในสมบัติ
    ต่างๆ มี ช้าง ม้า วัว ควาย นา สวน บ้านเรือน เป็นต้น บรรพชิตก็ติดข้องใน
    ปริขารมีบาตรและจีวร หรือเสนาสนะอันสวยงาม เป็นต้น รวมทั้งติดข้องใน
    อาวาสและความเป็นใหญ่ ชื่อเสียง ลาภ และบริวาร เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า
    ผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ

    มัจจุคือความตายย่อมพัดพาบุคคลเช่นนี้ไปสู่ห้วงน้ำลึกคือ อบาย 4
    เหมือนห้วงน้ำธรรมดาพัดพาเอาชาวบ้านผู้หลับอยู่ ให้จมลงในแม่น้ำพัด
    พาออกสู่ทะเลลึก ต้องเป็นเหยื่อของสัตว์น้ำมีปลา เป็นต้น

    พระศาสดาตรัสพระพุทธภาษิตนี้ ที่เมืองสาวัตถี ทรงปรารภ
    พระเจ้าวิฑูฑภะ พร้อมทั้งบริวารซึ่งถูกน้ำท่วมสวรรคต






    ------- เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ --------​
    พระเจ้าวิฑูฑภะเป็นพระโอรสในพระเจ้าปเสนทิโกศลกับ
    พระนางวาสภขัตติยา-ราชธิดาของท้าวมหานามแห่งศากยวงศ์ แต่
    พระนางประสูติจากพระมารดาซึ่งเป็นทาสี รวมความว่าเป็นลูกของ
    หญิงทาส แต่มีพ่อเป็นเจ้าในศากยวงศ์

    เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการล้างแค้นที่ศากยวงศ์ทำ
    ความเจ็บช้ำแก่พระองค์ เรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศลได้พระนาง
    วาสภขัตติยามาเป็นพระมเหสีก็เป็นเรื่องน่ารู้ ขอนำมากล่าวไว้ในที่นี้
    แต่โดยย่อ

    วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งสาวัตถีประทับยืนที่ปราสาทชั้นบน
    ทอดพระเนตรไปที่ถนน เห็นภิกษุหลายพันรูปกำลังเดินไปเพื่อฉันอาหาร
    ที่บ้านของอนาถปิณทิกเศรษฐีบ้าง บ้านของจูฬอนาถปิณทิกเศรษฐีบ้าง
    บ้านของนางวิสาขาและนางสุปปวาสบ้าง เมื่อพระราชาทรงทราบก็มี
    พระประสงค์จะเลี้ยงพระบ้าง จึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาทูลนิมนต์
    พระพุทธองค์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสวยพระกระยาหารที่พระราชนิเวศน์
    7 วัน ในวันที่ 7 ทูลพระศาสดาว่า

    "ข้าแต่พระองค์! ขอพระองค์และพระสงฆ์สาวกจงรับภิกษา(อาหาร)
    ในวังเป็นนิตย์เถิด"

    พระศาสดาตรัสว่า "มหาบพิตร! ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไม่รับอาหาร
    ประจำในที่แห่งเดียวเพราะประชาชนเป็นอันมากหวังการมาของพระพุทธเจ้า
    (คือต้องการให้พระพุทธเจ้าไปเสวยที่บ้านของตนบ้าง)

    พระราชาขอให้ส่งภิกษุรูปหนึ่งเป็นหัวหน้ามาแทนพระพุทธองค์ พระศาสดา
    ทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของพระอานนท์

    พระราชาทรงอังคาส (เลี้ยง) พระสงฆ์ด้วยพระองค์เอง มิได้ทรงมอบหมาย
    ให้ใครเป็นเจ้าหน้าที่แทนพระองค์ ทรงกระทำติดต่อมาอีก 7 วัน พอวันที่ 8
    ทรงลืม เนื่องจากมิได้ทรงมอบหมายเจ้าหน้าที่ไว้ จึงไม่มีใครกล้าทำอะไร
    กว่าพระองค์จะทรงระลึกได้ก็เป็นเวลานาน ภิกษุกลับไปเสียหลายรูป

    ในวันต่อมาก็ทรงลืมอีก ภิกษุส่วนมากคอยไม่ไหวจึงกลับไปเสีย เหลือ
    อยู่จำนวนน้อย ต่อมาอีกวันหนึ่งทรงลืมอีก ภิกษุกลับไปหมดเหลือแต่
    พระอานนท์รูปเดียว
    เมื่อพระราชาทรงระลึกได้ก็เสด็จมา ทอดพระเนตรเห็น แต่พระอานนท์
    เท่านั้นอยู่เพื่อรักษาความเลื่อมใสของตระกูล ทรงเห็นอาหารวางเรียงราย
    อยู่มากมาย แต่ไม่มีพระอยู่ฉัน วันนั้นได้ทรงอังคาสพระอานนท์เพียงรูปเดียว
    ทรงน้อยพระทัยว่า ภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้ามิได้เอื้อเฟื้อ มิได้ทรงรักษา
    พระราชศรัทธาเลย เมื่ออังคาสพระอานนท์เสร็จแล้วเสด็จไปเฝ้าพระศาสดา
    ทูลว่า​
    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ข้าพระองค์จัดแจงอาหารไว้สำหรับภิกษุ 500 รูป
    แต่มีพระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น อยู่ฉัน นอกนั้นมิได้อยู่ทำให้ของเหลือมากมาย
    ภิกษุสงฆ์มิได้เอื้อเฟื้อ มิได้รักษาศรัทธาของข้าพระองค์เลย"

    พระศาสดามิได้ตรัสโทษภิกษุสงฆ์แต่ประการใด เพราะทรงรู้ ทรงเข้าพระทัย
    ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ตรัสกับพระราชาว่า

    "มหาบพิตร! พระสงฆ์คงจักไม่คุ้นเคยกับราชสกุล จึงได้กระทำดังนั้น"

    พระราชามีพระประสงค์จะให้ภิกษุสงฆ์คุ้นเคยในราชสกุล ทรงหาอุบายว่า
    ควรกระทำอย่างไรดีหนอ? ทรงดำริว่า หากพระองค์เป็นพระญาติของ
    พระพุทธเจ้า ภิกษุคงจักคุ้นเคย ควรจักขอเจ้าหญิงแห่งศากยวงศ์มาเป็น
    พระมเหสีสักองค์หนึ่ง จึงทรงแต่งทูตถือพระราชสาส์นไปยังกรุงกบิลพัสดุ์
    ขอเจ้าหญิงองค์ใดองค์หนึ่งมาเป็นพระมเหสี
    ฝ่ายทางศากยวงศ์ ถือตนว่าสกุลสูงกว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เวลานั้น
    แคว้นโกศลเป็นรัฐมหาอำนาจอยู่ ดูเหมือนว่าแคว้นสักกะของศากยวงศ์จะขึ้น
    กับแคว้นโกศลด้วยซ้ำไป ดังนั้น เรื่องพระเจ้าปเสนทิทูลของเจ้าหญิง จึงทำ
    ความลำบากพระทัยให้แก่พวกศากยะไม่น้อย ครั้นจะไม่ถวายก็เกรงพระราช
    อำนาจแห่งพระเจ้าโกศล ครั้นจะถวายก็เกรงสกุลของพวกตนจะไปปะปน
    กับเลือดแห่งสกุลอื่น อันถือว่าต่ำกว่าพวกตน

    เมื่อประชุมปรึกษาเรื่องนี้กันนานพอควรนั้น ท้าวมหานามจึงเสนอที่
    ประชุมว่า
    "หม่อมฉันมีธิดาอยู่คนหนึ่ง ชื่อวาสภขัตติยาเป็นลูกของทาสี เธอมี
    ความงามเป็นเลิศ พวกเราสมควรให้นางแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล"

    ที่ประชุมเห็นชอบจึงจัดแจงส่งพระนางวาสก ขัตติยาไปถวาย
    พระเจ้าปเสนทิไม่ทรงทราบจึงโปรดปรานมาก พระราชทานสตรี 500
    ให้เป็นบริวาร ต่อมาพระนางประสูติพระโอรส พระนามว่า วิฑูฑภะ

    ความจริงก่อนให้ทูตรับพระนางมา พระเจ้าปเสนทิก็ทรงป้องกัน
    การถูกหลอกเหมือนกัน แต่ไม่วายถูกหลอกคือทรงกำชับราชทูตไปว่า
    จะต้องเป็นพระราชธิดาที่เสวยร่วมกับกษัตริย์เช่น ท้าวมหานาม
    ท้าวมหานามไม่ขัดข้อง ทรงทำทีเป็นเสวยร่วมกับพระนางวาสภ
    ขัตติยาให้ราชทูตดู แต่มิได้เสวยจริง คงจะมีแผนให้เกิดเหตุอย่างใด
    อย่างหนึ่งจนเสวยไม่ได้ ต้องเลิกในทันทีทันใด สมมติว่ามีแผนให้
    มหาดเล็กวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาทูลว่าไฟไหม้พระราชวัง ซึ่งจะ
    ต้องเลิกเสวยในทันที เพื่อไปดูแลดับไฟ

    แม้พระนามวิฑูฑภะนั้นก็ได้มาโดยฟังมาผิด คือ เมื่อพระกุมาร
    ประสูตแล้ว พระเจ้าปเสนทิทรงส่งราชทูตไปทูลขอพระนามแห่ง
    พระกุมารใหม่จากพระอัยยิกา (ยาย) พระเจ้ายาย พระราชทานว่า
    "วัลลภ" แปลว่า "เป็นที่โปรดปราน" แต่ราชทูตหูตึง ฟังเป็นวิฑูฑภะ
    พระเจ้าปเสนทิก็ทรงพอพระทัยต่อพระนามนั้น
    ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 16 วิฑูฑภกุมารเสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์
    ความจริงพระมารดาพยายามทัดทานหลายครั้ง เพราะทรงเกรงพระราช
    โอรสจะไปทรงทราบเรื่องราวเข้า แต่พระกุมารทรงยืนยันว่าจะเฝ้า
    อัยยิกาให้ได้ พระนางจึงรีบส่งสาส์นล่วงหน้าไปก่อน เพื่อให้พระญาติ
    ปฏิบัติต่อวิฑูฑภะอย่างเหมาะสม แต่พระนางก็ต้องผิดหวัง เพราะทิฏฐิ
    มานะของพวกศากยะมากเหลือเกิน และเป็นเหตุให้เกิดเรื่องใหญ่ฆ่า
    ฟันกันตายมากมาย

    เมื่อทราบข่าวว่า วิฑูฑภกุมารจะเสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ ทาง
    ศากยวงศ์ก็ประชุมกันว่าจะต้อนรับอย่างไร พวกเขาไม่ลืมว่าพระมารดา
    ของวิฑูฑภะนั้นเป็นธิดาของนางทาสี ตัววิฑูฑภะเอง แม้จะเป็นพระราช
    โอรสของพระเจ้าปเสนทิก็จริง แต่ฝ่ายมารดาวรรณะต่ำ วิฑูฑภะจึงมิได้
    เป็นอุภโตสุชาต พวกเขาไม่สามารถให้เกียรติอย่างลูกกษัตริย์ได้ จึง
    จัดแจงส่งพระราชกุมารศากยะ ที่พระชนมายุน้อยกว่าวิฑูฑภะ ออกไป
    ชนบทหมดเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อมิให้ต้องทำความเคารพบุตรแห่ง
    ทาสี
    เมื่อวิฑูฑภะเสด็จถึง ทรงกบิลพัสดุ์ก็ต้อนรับดีพอสมควร พระราช
    กุมารเที่ยวไหม้คนนั้นคนนี้ ซึ่งได้รับการแนะนำว่าเป็น ตา ยาย ลุง ป้า น้า
    อา และพี่ เป็นต้น แต่ไม่มีใครสักคนเดียวที่ไหว้พระราชกุมารก่อน เมื่อ
    วิฑูฑภะถามผู้ใหญ่ก็บอกว่าพระราชกุมารรุ่นน้องๆ ได้ไปตากอากาศใน
    ชนบทกันหมดไม่มีใครอยู่เลย วิฑูฑภะเก็บเอาความสงสัยไว้ในใจ

    พระองค์ประทับอยู่เพียง 2-3 วันก็เสด็จกลับ พกเอาความสงสัยติด
    พระทัยไปด้วยว่า เหตุไฉนพระองค์จึงได้รับการต้อนรับอย่างชาเย็น
    เหลือเกิน
    ขณะที่เสด็จออกจากวังแล้วนั้น บังเอิญนายทหารคนหนึ่งลืมอาวุธไว้
    จึงวิ่งกลับไปเอา ได้เห็นหญิงรับใช้คนหนึ่งกำลังเอาน้ำเจือน้ำนมล้าง
    แผ่นกระดานที่วิฑูฑภะประทับ ปากก็พร่ำด่าว่า "นี่คือแผ่นกระดานที่
    วิฑูฑภะบุตรของนางทาสีนั่ง"
    นายทหารผู้นั้นเข้าไปถาม ทราบเรื่องโดยตลอด เมื่อกลับมาถึง
    กองทัพก็กระซิบบอกเพื่อนๆ เสียงกระซิบกระซาบแผ่วงกว้างออกไป
    จนรู้กันหมดทั้งกองทัพ พระราชกุมารก็ทรงทราบด้วย เป็นครั้งแรกที่
    ทรงทราบกำเนิดอันแท้จริงของพระองค์ว่าสืบสายมาอย่างไร

    ทรงพิโรธมาก อาฆาตพวกศากยะไว้ว่า เวลานี้ขอให้พวกศากยะล้าง
    แผ่นกระดานที่ประทับนั่งด้วยน้ำที่เจือด้วยน้ำนมก่อน แต่เมื่อใดทรงได้
    ราชสมบัติในแคว้นโกศล เมื่อนั้นจะเสด็จกลับไปล้างแค้น โดยเอาเลือด
    ในลำคอของพวกศากยะล้างแผ่นกระดานนั้น
    พระเจ้าวิฑูฑภะทรงพิโรธ อาฆาตพวกศากยะ เพราะถูกดูหมิ่นว่า
    พระองค์เป็นบุตรของนางทาสี

    เมื่อถึงสาวัตถี พวกอำมาตย์ได้กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้พระเจ้าปเสนทิ
    ทรงทราบ ทรงพิโรธมาก รับสั่งให้ถอดพระนางวาสภขัตติยา และวิฑูฑภะ
    ออกจากตำแหน่งพระมเหสีและราชกุมารตามลำดับ ทรงให้ริบเครื่อง
    บริหาร และเครื่องเกียรติยศทั้งปวง พระราชทานให้เพียงสิ่งของที่ทาส
    และทาสีควรจะใช้เท่านั้น
    ต่อมาอีก 2-3 วัน พระศาสดาเสด็จมายังพระราชนิเวศน์ พระเจ้าปเสนทิ
    ทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสปลอบว่า

    "มหาบพิตร! พวกศากยะกระทำไม่สมควรเลย, เมื่อจะถวายก็ควรจะ
    ถวายพระราชธิดาที่มีชาติเสมอกันจึงจะควร"

    ครู่หนึ่งผ่านไป พระศาสดาจึงตรัสอีกว่า

    "แต่อาตมาภาพใคร่ถวายพระพรว่า พระนางวาสภขัตติยานั้นเป็นธิดา
    ของขัตติยราช ได้รับการอภิเษกในพระราชมณเฑียรของขัตติยราช
    ฝ่ายวิฑูฑภะกุมารเล่าก็ได้อาศัยขัตติยราชนั้นแลประสูติแล้ว
    มหาบพิตร! ตระกูลฝ่ายมารดาไม่สู้จะสำคัญนัก สำคัญที่ฝ่ายบิดา
    แม้บัณฑิตแต่โบราณก็เคยพระราชทานตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงยาก
    จนหาบฟืนขาย และพระราชกุมารอันประสูติจากครรภ์ของสตรีนั้นก็
    ได้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในนครพาราณสี พระนามว่า กัฏฐวาหนราช"

    พระราชาทรงสดับกถาของพระศาสดาแล้วทรงเชื่อ จึงรับสั่งให้
    พระราชทานเครื่องบริหาร เครื่องเกียรติยศแก่พระนางวาสภขัตติยา
    และวิฑูฑภกุมารดังเดิม

    ต่อมา วิฑูฑภกุมารได้ราชสมบัติโดยการช่วยเหลือของทีฆการายนะ
    เสนาบดี
    ฑีฆการายณะนั้นเป็นหลานของพันธุลเสนาบดี ซึ่งพระเจ้าปเสนทิ
    วางอุบายให้คนของพระองค์ฆ่าเสีย โดยที่พันธุละมิได้มีความผิด แต่มี
    บางพวกยุยงว่าพันธุละต้องการแย่งราชสมบัติในนครสาวัตถี พระเจ้า
    ปเสนทิทรงเชื่อ
    เมื่อพันธุละพร้อมด้วยบุตร 32 คนตายแล้ว พระราชาทรงทราบ
    ความจริงในภายหลัง ทรงโทมนัสมาก ไม่สบายพระทัย ไม่มีความสุข
    ในรัชสมบัติ ทรงประทานตำแหน่งเสนาบดีให้แก่ฑีฆการายนะผู้เป็นหลาน
    ของพันธุละ เพื่อทดแทนความผิดที่พระองค์ทรงกระทำไป

    ฑีฆการายนะยังผูกใจเจ็บในพระราชาว่าเป็นผู้ฆ่าลุงของตน คอยหา
    โอกาสแก้แค้นอยู่เสมอ
    วันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาที่นิคมชื่อ เมทฬุปะของ
    พวกศากยะ ทรงให้พักพลไว้ใกล้พระอาราม เสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดา
    แต่พระองค์เดียว
    ฑีฆการายนะได้โอกาสจึงมอบเครื่องราช กกุธภัณฑ์อิสริยยศของ
    กษัตริย์ ให้วิฑูฑภะแล้วนำพลกลับพระนครสาวัตถี มอบราชสมบัติให้
    วิฑูฑภะครอง รวมความว่าฑีฆการายนะกับวิฑูฑภะ ร่วมกันแย่งราชสมบัติ
    ฝ่ายวิฑูฑภะก็พอพระทัย เพราะต้องการมีอำนาจสมบูรณ์ เพื่อล้างแค้น
    ศากยะได้เร็วขึ้น

    แต่ปีนั้นก็เป็นปีที่พระเจ้าปเสนทิมีพระชนมายุถึง 80 แล้วนับว่าอยู่
    ในวัยที่ชรามาก
    พระเจ้าปเสนทิเสด็จกลับจากการเฝ้าพระศาสดาไม่ทรงเห็นไพร่พล
    มีแต่ม้าตัวหนึ่งกับหญิงรับใช้คนหนึ่งอยู่ที่นั่น ทรงทราบความแล้วเสด็จ
    ไปยังเมืองราชคฤห์เพื่อขอกำลังของพระเจ้าอชาตศัตรูมาปราบวิฑูฑภะ
    และการายนะ แต่เสด็จไปถึงหน้าเมืองราชคฤห์ในค่ำวันหนึ่ง ประตูเมือง
    ปิดเสียแล้ว ไม่อาจเสด็จเข้าเมืองได้ จึงทรงพักที่ศาลาหน้าเมือง และ
    สิ้นพระชนม์ในคืนนั้น เพราะความหนาว 1 ทรงเหน็ดเหนื่อยในการเดิน
    ทาง 1 และเพราะทรงพระชรามาก 1
    ตอนเช้า เมื่อประตูเปิดแล้ว ประชาชนชาวราชคฤห์ได้เห็นพระศพ
    และฟังเสียงหญิงรับใช้คร่ำครวญว่า ราชาผู้เป็นจอมแห่งชาวโกศล
    จึงนำความนั้นกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูๆ ให้รับพระศพเข้าไปถวาย
    พระเพลิงอย่างสมพระเกียรติยศ​
    ฝ่ายพระเจ้าวิฑูฑภะได้ราชสมบัติเป็นกษัตริย์แล้ว อันความแค้น
    กระตุ้นเตือนอยู่เสมอ มิอาจทรงยับยั้งได้ จึงเตรียมกรีธาทัพไปย่ำยี
    พวกศากยะ

    พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรวจดูสัตวโลกเวลาใกล้รุ่ง
    ทรงเห็นความพินาศ จะมาถึงหมู่พระญาติ มีพระพุทธประสงค์จะทรง
    บำเพ็ญญาตัตถจริยา คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระญาติ จึง
    เสด็จไปประทับ ณ พรมแดนระหว่างโกศลกับศากยะ ประทับ ณ
    ใต้ต้นไม้มีใบ้น้อยต้นหนึ่งทางแดนศากยะ ถัดมาอีกเล็กน้อยเป็น
    เขตแดนแคว้นโกศลมีต้นไทรใหญ่ใบหนาร่มครึ้มขึ้นอยู่

    พระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพผ่านมาทางนั้น ทอดพระเนตรเห็น
    พระศาสดาจึงเสด็จเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมแล้วทูลว่า

    "พระองค์ผู้เจริญ! เพราะเหตุไร จึงประทับใต้ต้นไม้อันมีใบน้อย
    ในเวลาร้อนถึงปานนี้ ขอพระองค์โปรดประทับนั่ง ณ โคนต้นไทรอัน
    มีร่มครึ้ม มีเงาเย็นสนิทดีทางแดนโกศลเถิด"

    "ขอถวายพระพร มหาบพิตร! ร่มเงาของพระญาติเย็นดี"

    "พระเจ้าวิฑูฑภะ ทรงทราบทันทีว่า พระศาสดาเสด็จมาป้องกัน
    พระญาติ อนึ่งพระเจ้าวิฑูฑภะทรงระลึกได้อยู่ว่า การได้รับตำแหน่ง
    มเหสีของพระมารดา และตำแหน่งราชโอรสของพระองค์เองคืนมานั้น
    เพราะการช่วยเหลือของพระบรมศาสดา พระคุณนั้นยังฝังอยู่ในพระทัย
    คนที่มีความพยาบาทมาก มักเป็นคนมีความกตัญญูด้วยเหมือนกัน คือ
    จำได้ทั้งความร้ายและความดีที่ผู้อื่นกระทำแก่ตน

    ด้วยประการฉะนี้ พระเจ้าวิฑูฑภะจึงยกทัพกลับเมืองสาวัตถี

    แต่ความแค้นในพระทัยยังคงคุกรุ่นอยู่ พระองค์จึงทรงกรีธาทัพไปอีก
    2 ครั้ง ได้พบพระศาสดาในที่เดียวกัน และเสด็จกลับเหมือนครั้งก่อน

    พอถึงครั้งที่ 4 พระศาสดาทรงพิจารณาเห็นบุพกรรมของพวกศากยะ
    ที่เคยเอายาพิษโปรยลงในแม่น้ำ ทำให้สัตว์น้ำตายหมู่เป็นอันมาก กรรม
    นั้นกำลังจะมาให้ผล พระองค์ไม่สามารถต้านทานขัดขวางได้ จึงมิได้
    เสด็จไปในครั้งที่ 4

    พระเจ้าวิฑูฑภะเสด็จมาถึงพรมแดนนั้น ไม่ทอดพระเนตรเห็น
    พระศาสดาจึงเสด็จเข้ากบิลพัสดุ์ จับพวกศากยะฆ่าเสียมากมายไม่เว้น
    แม้แต่เด็กที่กำลังดื่มนม ยังธารโลหิตให้หลั่งไหลแล้ว รับสั่งให้เอา
    โลหิตในลำคอของพวกศากยะล้างแผ่นกระดานที่เคยประทับนั่ง แล้ว
    เสด็จกลับสาวัตถี เสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำอจิรวดีในเวลาค่ำ จึงให้ตั้งค่าย
    พัก ณ ที่นั้น

    ไพร่พลของพระองค์เลือกนอนได้ตามใจชอบ บางพวกนอนที่หาด
    ทรายในแม่น้ำ (น้ำลง หาดทรายในแม่น้ำนอนได้สบาย แม่น้ำคงคาก็
    เหมือนกัน) บางพวกก็นอนบนบกเหนือริมฝั่งขึ้นไป
    พอตกดึก น้ำจะท่วมหลาก พวกที่นอนบนบกแต่ได้ทำกรรมไว้ร่วม
    กันมาก็ถูกมดแดงกัดลงไปนอนที่ชายหาด ส่วนพวกนอนที่ชายหาด
    ก็ถูกมดแดงกัด จึงเปลี่ยนที่นอนขึ้นไปนอนข้างบน

    มหาเมฆตั้งเค้าทางเหนือน้ำ ฝนตกใหญ่ น้ำหลากอย่างรวดเร็วพัด
    พาเอาพระเจ้าวิฑูฑภะและบริวารบางพวก ลงสู่มหาสมุทรตายกันหมด

    ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ
    ว่า เมื่อความปรารถนาของพระองค์ไม่ถึงที่สุด ก็สิ้นพระชนม์พร้อมด้วย
    บริวารเป็นอันมาก คือสิ้นพระชนม์ในขณะที่ยังมีความปรารถนาอื่นๆ
    อยู่อีกมาก

    พระศาสดาเสด็จมาสู่ธรรมสภา ตรัสว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมโนรถของสัตว์ทั้งหลาย ยังไม่ถึงที่สุดนั่นเอง
    มัจจุราชก็เข้ามาตัดชีวิตอินทรีย์แล้วให้จมลงในสมุทรคืออบาย 4
    ดุจห้วงน้ำใหญ่หลากมาท่วมชาวบ้านผู้หลับอยู่ฉะนั้น"
    ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

    "ปุปฺผานิเหว ปจินนฺตํ" เป็นอาทิ มีนัยดังได้พรรณนามาแล้วแต่ต้น
     
  2. khunsri1972

    khunsri1972 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    203
    ค่าพลัง:
    +924
    ขอบคุณมากค่ะ เป็นประโยชน์อย่างมากค่ะ
     
  3. Tom

    Tom เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 มกราคม 2005
    โพสต์:
    266
    ค่าพลัง:
    +289
    ความอาฆาตพยาบาทไม่ดีเลย ถ้าคนเรารู้จักการให้อภัยกัน โลกนี้คงน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ สงครามก็ไม่เกิด จะมีแต่สันติภาพ
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,588
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,017

แชร์หน้านี้

Loading...