จับหลับ มีสติเวลานอน : พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 12 มกราคม 2011.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    จับหลับ หมายถึง การหลับที่มีสติ อันเป็นคำพูดของคนสมัยเก่า หลับจะมีสติได้อย่างไร มีวิธีปฏิบัติดังนี้ หายใจเข้าหายใจออกยาว ๆ พองหนอ ยุบหนอ อย่าเคร่งในอุปาทานยึดมั่น ให้มันเกินไป ทำอย่างสบาย หายใจสบาย เดี๋ยวมันจะหลับมันจะเพลินแล้วมันจะเผลอ แล้วมันจะวูบลงไปสู่ภวังค์ จิตนั้นจะดิ่งลงไปไม่สัมผัสภายนอก พลิกกายกี่ครั้งรู้หมด ตื่นตอนไหนรู้หมดเลย นี่หลับมีสติซึ่งคนโบราณท่านเรียกว่า "จับหลับ" ในสติปัฏฐาน ๔

    อาตมาถามหลายคนใน ๑๐๐ คนจะได้สัก ๑๐ คนแต่ทำฝึกไปเรื่อย ๆ ได้ผล หลับมีสติอย่างนี้เอง บางทีถ้าไปนอนไม่มีนาฬิกาไป จะต้องตื่นตี ๔ ถ้าเรานั่งจนชำนาญแล้วนะ เราก็นอนพองหนอยุบหนอเรื่อยไป แล้วหลับมีสติดี ถึงตี ๔ จะสะดุ้งตื่นเลย แล้วดูนาฬิกาก็จะตรงเวลาพอดี

    พระพุทธเจ้าสอนข้อนี้ พูดตามศัพท์ภาษาไทยก็ นอน ตื่น มีสติ หลับมีสติ ในพระไตรปิฎกมีบอกไว้ สติปัฏฐาน ๔ ในตอนที่อาตมาเริ่มฝึกกรรมฐานใหม่ ๆ อาตมาก็ยังไม่ทราบหลับจะมีสติได้ยังไง ตื่นนี่มีสติแน่ หลับผลอยไปนี่ มันไม่เห็นมีสติอะไร แล้วทำไมพระพุทธเจ้าสอนว่าหลับต้องมีสติ ตื่นมีสติ หลับยังไง อาตมาก็ทำไปเรื่อย ๆ พระอาจารย์หลายรูปท่านก็บอกว่าหลับมีสติตื่นมีสติต่อเนื่อง เราก็ไม่รู้ ท่านก็ไม่บอกเราหลับแบบไหนมีสติอย่างไร ทีนี้อาตมาทำมาเรื่อย ๆ เป็นเวลานาน ก็พองหนอ ยุบหนอ เพ่งมากไม่หลับ ก็ทำอย่างนี้หลายวันแต่ก็กำหนดไปเรื่อย ๆ พองหนอ ยุบหนอ หายใจยาว ๆ ไปเรื่อย ๆ เอ..มันจะหลับแล้ว มันจะเพลินที่ฟังเสียงต่าง ๆ รู้มั่งไม่รู้มั่ง เผลอแว้บไม่รู้หลับไปตอนไหน จำไม่ได้ หนักเข้าเดินจงกรมมั่งนั่งบ้าง ก็รวบรวมสติปัญญาไว้แล้วมานอนกำหนดไป

    วิธีปฏิบัตินี้ก็ให้กำหนดยืนหนอให้เห็นตัวทั้งหมด ให้นึกมโนภาพว่าตัวเรายืนแบบนี้ ให้กึ่งกลาง ศูนย์กลางจากที่ศีรษะลงไประหว่างหน้าอกแล้วก็ลงไปถึงระหว่างเท้าทั้งสอง แล้วมันจะไม่มีความไหวติงในเรื่องขวาหรือซ้าย บางที่ถ้าเราไปทางขวา ทางซ้ายเราไม่มีความรู้สึก แต่ไม่ใช่อัมพาต มันเกิดเอง ยืนนี่กำหนดไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ ให้จิตมันพุ่งไปได้ตามสมควร จากคำว่ายืนหนอ ยืนจากซ้ายหนอขึ้นบนศีรษะพอดี บางทีจิตนี่มันลงไปทางซ้ายบ้างขวาบ้าง ทีนี้เราก็แวบลงไปในมโนภาพให้รู้สึกว่าเรายืนท่านี้ลงไปเท่านั้น

    พองยุบก็เหมือนกัน ตอนแรกก็ชัดดี พอเห็นหนักเข้าก็เลือนลางบางทีแผ่วเบา จนไม่มองเห็นพองยุบ ถ้ามันตื้อไม่พองไม่ยุบให้กำหนดรู้หนอ หายใจยาว ๆ รู้หนอ ๆ ตั้งสติไว้ตรงลิ้นปี่ กำหนดพองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวชัดเลย ถ้าหากว่าพองหนอยุบหนอนี่มันไม่ชัดแผ่วเบามาก เรายังกำหนดได้ก็กำหนดไป เอามือจับคลำดูก็ได้ว่ามันจะชัดไหม เดี๋ยวก็ชัดขึ้นมา ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ให้กำหนดตัวรู้เสีย รู้หนอ ๆ ตั้งสติไว้แล้วกำหนดพองหนอ ยุบหนอเดี๋ยวชัด จิตฟุ้งซ่านมากไหม ถ้ามีบ้างก็ให้กำหนดสติปัฏฐาน ๔ นั้นมีกำหนดอย่างนี้ อย่างที่ทางพุทโธนั้นไม่ใช่ อาตมาเคยทำมานานกว่าจะเข้าเบาะเข้าแสใช้เวลานานหน่อย ต้องค่อย ๆ กำหนดไป

    วันนั้นรู้ อ้อ หลับมีสติเป็นอย่างนี้นี่เอง ในตอนแรกได้ยินคนคุยกัน เราก็นอนกำหนดของเราไปเรื่อย ๆ แล้วก็ภาวนาพองหนอยุบหนอไป ได้ยินอะไรก็กำหนดไปเรื่อย ๆ กำหนดไปซักเพลินหลับ ๆ ตื่น ๆ ได้ยินแว่ว ๆ ถึงได้ตั้งสติเข้าไว้แต่อย่าไปเพ่งมาก ถ้าเพ่งมากไม่หลับ ไม่ต้องเพ่งมากหรือเพ่งชัดจนเกินไป ตั้งสติไว้อย่างเดียวก็หายใจเรื่อยไปว่าพองหนอยุบหนอไปเรื่อย ๆ สักประเดี๋ยวมันจะเผลอแว้บ พอยุบก็จับได้เลย เหมือนเราขับรถลงสะพานวูบลงไป แล้วก็ทวารหูปิดไม่ได้ยินเสียง แต่ข้างในรู้หมด หลับมีสติอย่างนี้นี่เอง แล้วทีนี้เราจะสังเกตตัวเราหลับนอน ๓ ชั่วโมง เหมือนนอนชั่วโมงเดียวไวมาก เราจะพลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด รู้พลิกแบบใหม่อย่างไหนรู้หมด จะนอนตะแคงหรือนอนหงายนอนคว่ำ รู้หมดเลย พอถึงเวลาถึงสะดุ้งตื่นขึ้นมาตามเวลาเลย อ้อ นี่หลับมีสติอย่างนี้เอง

    นอนมีสติ เราจะเห็นวินัยพระจะจำวัด ต้องปิดบังเสียให้ดี ปิดห้องหับเสียให้ดี ไม่งั้นมีอาบัติโทษ ข้อเท็จจริงก็หมายความว่า เดี๋ยวประชาชนเขาจะเห็นนะเอาศีลออกมาให้เขาดู ก็ลำบาก ถ้าหลับมีสติศีลไม่ออก หลับมีสติ ตื่นมีสติ ขอให้ท่านฝึก ๆ ไปได้ผลอย่างนี้ ในหลักบอกหลับมีสติ ตื่นมีสติ หลับมีสติได้อย่างไร หลับพลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด รู้ข้างใน ถ้าวิปัสสนาข้างในต้องรู้นะ เผลอไปดิ่งพสุธา มีแต่สมาธิ ไม่ใช่วิปัสสนาแน่ ต้องรู้ข้างในพร้อมข้างนอกไม่รู้ อย่างที่พระสมาบัตินี่ข้างในรู้หมด ข้างนอกไม่รู้ อันนี้มันก็ขึ้นอยู่ที่ฝึก นอนที่โล่ง ๆ ก็ได้ จะพลิกตัวกี่ครั้งรู้หมด แล้วใครจะเรียก คำเดียวต้องตื่นได้เลย มันจะบอก สตินี่สำคัญ อย่างบางท่านทำได้หลับบนเก้าอี้ได้เลย หายใจยาว ๆ วางจิตไว้ที่ตรงคอ อยากจะหลับ วางจิตไว้หลับเลย ถ้าง่วงเหลือเกินก็วางจิตไว้ที่หน้าผาก แล้วกำหนดไป ไม่หลับดูหนังสือต่อไปได้ ลองดูได้ถ้าสมาธิดี จับจุดปั๊บถูกต้อง ๆ ถ้าเราอยากจะหลับหายใจยาว ๆ สงบจิตไว้ วางไว้ที่คอที่เรากลืนน้ำลาย หลับเลย บนเก้าอี้ก็ได้ที่เรานั่งรถโงกไปทางนี้ ๆ ไม่มีสติ ถ้ามีสติดีในการหลับ รับรองถ้านั่งรถหรือนั่งเก้าอี้ ท่านจะหลับ เฉย ๆ ไม่โงกแน่นอน สติบอกพร้อม ถึง ๕ นาทีตื่นทันที ดีกว่าไปนอนที่บ้านตั้งหลายชั่วโมง อันนี้มีคนทำได้หลายคน

    บางทีเราเขียนหนังสืออยู่บนเก้าอี้จะพักผ่อน อยู่ที่ทำงานแล้วนั่งเขียนหนังสือเสร็จแล้วก็วาง ก็ค่อย ๆ นั่งเก้าอี้ธรรมดา ๆ หายใจยาว ๆ พองหนอ ยุบหนอ แล้วอธิษฐานจิตว่าข้าพเจ้าขอหลับ ๕ นาที สำรวมจิตไว้ที่ลูกกระเดือกที่กลืนน้ำลาย ตั้งสติหายใจยาว ไม่เกินอึดใจหลับเลย แล้วมันจะวูบลงไป พอถึง ๕ นาที ตื่นตามธรรมดาแล้วสดชื่น แต่ต้องวางจุดให้มันถูก แต่ก่อนที่จะหลับได้นี่ ต้องฝึกมานานนะ ต้องฝึกเรื่อย ๆ ให้มันเข้าออกได้ ทีนี้ถ้าง่วงเหลือเกินเราอยากจะอยู่ต่อไปโดยไม่ง่วง ตั้งสติไว้หน้าผากแล้วหายใจยาว ๆ ตั้งสติไว้หน้าผากแล้วหายใจยาว ๆ ตั้งสติไว้ที่หน้าผากเดี๋ยวตาแข็ง สมาธิไว้ที่นี่ ดูหนังสือต่อไปได้เลย อีก ๑ ชั่วโมงแล้วค่อยนอน

    ถ้าวันไหนฟุ้งซ่านมาก ไม่ใช่ไม่ดีนะ ดีนะ มันมีผลงานให้กำหนด แล้วก็ขอให้ท่านกำหนดเสีย ฟุ้งซ่านก็กำหนดตั้งอารมณ์ไว้ดี ๆ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ แล้วหายใจยาว ๆ ไม่ต้องไปพองยุบ วิธีแก้หายใจยาว ๆ ตามสบาย แล้วภาวนาในใจ ฟุ้งซ่านหนอ ๆ สักชั่วครู่หนึ่งท่านจะหายแน่นอน บางคนดูหนังสือปวดลูกตา อย่าให้เขาเพ่งที่จมูก ต้องลงไปที่ท้องหายทุกราย บางทีปวดกระบอกตาดูหนังสือไม่ได้เลย ตาแดงร่านลงมากำหนดที่ท้องมันก็จะว่องไวคล่องแคล่วขึ้น แล้วจะหายไปเอง .......


    www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-charun/lp-charun-13.htm
     
  2. beverzone

    beverzone เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    589
    กระทู้เรื่องเด่น:
    4
    ค่าพลัง:
    +2,174
    อยากรู้วิธีฝึกมีสติเวลานอน มาเจอพอดี
    อนุโมทนา สาธุ

    เพิ่งรู้ว่ากำหนดจุดแต่ละที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน !
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 12 มกราคม 2011

แชร์หน้านี้

Loading...