จิตเกิดและดับ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โลกุตตระ, 3 กรกฎาคม 2010.

  1. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    ขณะจิตทั้ง ๑๗ ขณะ เป็นคำสอนที่ละเอียดสุขุมมากอย่างหนึ่งในพระอภิธรรม จะนำมาอธิบายแต่โดยย่อ ดังนี้

    ขณะจิตที่ ๑ อตีตภวังค์
    เป็นภวังคจิตที่กระทบกับอารมณ์ทั้ง ๕ มีรูป รส กลิ่น เสียง เป็นต้น อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในปัจจุบันเป็นครั้งแรก
    การที่จะเข้าใจอตีตภวังค์ก็จำต้องเข้าใจลักษณะของภวังคจิตเสียก่อน ภวังคจิตหมายถึงจิตที่ทำหน้าที่รักษาภพชาติ
    คือรักษาผลของกรรมที่ถือกำเนิดมาในภพชาตินั้น ๆ และรักษารูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานให้ดำรงอยู่ในอาการปกติ
    เช่น รูปที่เกิดจากการหายใจเข้าออกเป็นต้น

    ภวังคจิตมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่รักษาสืบเนื่องมาแต่ภพก่อน ซึ่งเรียกว่าอารมณ์เก่าหรืออดีตอารมณ์
    ได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์ หรือเรียกสั้นๆ ว่ากรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต
    อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ซึ่งจิตเริ่มรับมาแต่ปฏิสนธิวิญญาณปรากฏขึ้นแล้วดับลงไป ต่อจากนั้น คือในทันใดนั้น
    ปฐมภวังค์ คือ ภวังคจิตดวงแรกที่เกิดขึ้นในภพใหม่ก็จะเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นสืบต่อจากปฏิสนธิวิญญาณ
    แล้วภวังคจิตดวงอื่น ๆ ก็จะเกิดขึ้นรับอารมณ์เช่นเดียวกันนี้เรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต

    ในช่วงระหว่างปฏิสนธิกับจุติในภพชาติหนี่ง ๆ ภวังคจิตจะทำหน้าที่รับอตีตารมณ์
    (คือ กรรม กรรมนิมิต หรือคตินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง) เรื่อย ๆ ไป ถ้าไม่มีอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันชาติ
    มากระทบภวังคจิตให้ไหวเปลี่ยนไปรับอารมณ์ใหม่ที่มากระทบนั้นแล้ว จิตจะคงรับอารมณ์เก่าเป็นภวังคจิต
    รักษาภพชาติของตนอยู่สืบไป ภวังคจิตเช่นนี้เองที่เรียกว่า อตีตภวังค์ จิตในขณะนี้ยังไม่ขึ้นสู่วิถี
    ยังเป็นวิถีมุตตจิต คือจิตที่พ้นจากวิถีอยู่ ยังไม่ได้ขึ้นสู่วิถี

    ขณะจิตที่ ๒ ภวังคจลนะ
    มีความเคลื่อนไหวของภวังคจิต หรืออาการที่ภวังคจิตเคลื่อนไหว เป็นภวังคจิตที่เกิดต่อจากอตีตภวังค์
    มีอาการไหวคลายจากอารมณ์เก่า แต่ยังคงเป็นภวังคจิตอยู่นั่นเอง แต่ต่างกับอตีตภวังค์ตรงที่มีการกระทบกับอารมณ์ใหม่
    แล้วเกิดความไหวขึ้น จิตดวงนี้ก็จัดเป็น วิถีมุตตจิต คือจิตที่ยังไม่ขึ้นสู่วิถีเช่นกัน

    ขณะจิตที่ ๓ ภวังคุปัจเฉทะ
    เป็นภวังคจิตที่เริ่มตัดขาดอารมณ์เก่า กำลังจะเตรียมตัวขึ้นสู่วิถีจิต คือภวังคจิตที่เริ่มปล่อยอารมณ์เก่า
    จนขาดจากอารมณ์เก่าที่ตรงกับภังคขณะ (ขณะดับ) ของจิต แต่จิตในขณะนี้ยังรับอารมรมณ์เก่าอยู่ จึงยังไม่เป็นจิตที่ขึ้นสู่วิถี

    ขณะจิตที่ ๔ ปัญจทวาราวัชชนะ
    เป็นอเหตุกจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ใหม่ที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น และ กาย
    ให้รู้ว่าอารมณ์ที่มากระทบนั้น เป็นอารมณ์ที่มาจากทวารไหน เพื่อเป็นปัจจัยให้สัญญาณแก่วิญญาณทางทวารนั้น ๆ

    ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ เป็นจิตที่รับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันเป็นครั้งแรกในวิถีหนึ่ง ๆ
    จึงนับเป็นจิตดวงแรกที่ขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ใหม่ เป็นปัจจัย (เหตุหนุน) แก่จิตดวงต่อ ๆ ไปให้รับปัญจารมณ์นั้นไปจนสุดวิถี

    ขณะจิตที่ ๕ ปัญจวิญญาณ
    คือ จิต ๕ ดวงที่เกิดขึ้นรับปัญจารมณ์ดวงใดดวงหนึ่งตามสมควรแก่อารมณ์ที่มากระทบในขณะนั้นคือ
    ๑. จักขุวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับรูปารมณ์คือเห็นรูป
    ๒. โสตวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับสัททารมณ์ คือฟังเสียง
    ๓. ฆานวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับคันธารมณ์ คือสูดกลิ่น
    ๔. ชิวหาวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับรสารมณ์ คือรู้รส
    ๕. กายวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับโผฏฐัพพารมณ์ คือรู้สัมผัสทางกายทวาร และอารมณ์เพื่อทำกิจในการเห็นหรือการได้ยินเป็นต้น

    เมื่อปัญจวิญญาณ อันเป็นขณะจิตดวงที่ ๕ ดับลง

    ขณะจิตที่ ๖ คือ สัมปฏิจฉันนะ ก็เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ ที่ได้เห็นหรือได้ยินเป็นต้น
    และส่งมอบอารมณ์นั้นต่อไปให้กับสันตีรณะ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับลง

    ขณะจิตที่ ๗ คือ สันตีรณะ ก็เกิดขึ้นเพื่อไต่สวนอารมณ์ที่ได้รับมาจากสัมปฏิจฉันนะ
    เพื่อให้รู้ว่าอารมณ์ที่ได้รับนี้ดีหรือไม่ดีประการใด ถ้าเป็นอติอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ดียิ่ง
    โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่พิจารณาไต่สวนอารมณ์นั้น
    ถ้าเป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์คืออารมณ์ดีปานกลาง อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่รับอารมณ์นั้น
    แต่ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ไม่ดี อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิตก็ทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาอารมณ์นั้น
    แล้วดับไปพร้อมกับส่งมอบให้กับโวฏฐัพพนจิต เมื่อสันตีรณจิตดับลง

    ขณะจิตที่ ๘ โวฏฐัพพนจิต ก็เกิดขึ้นทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินอารมณ์ว่าจะให้เป็นกุศลหรืออกุศลต่อไป
    เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับลงแล้ว ขณะจิตที่ ๙ คือ ชวนะ ก็เกิดขึ้น

    ขณะจิตที่ ๙ คือ ชวนะ
    ทำหน้าที่ชวนกิจ คือเสวยหรือเสพรสของอารมณ์ที่โวฏฐัพพนจิต ได้ตัดสินแล้วนั้น
    โดยความเป็นกุศลชวนะหรืออกุศล ชวนะจิตดวงนี้เรียกชวนจิตเพราะทำหน้าที่เสพรสแห่งอารมณ์ที่เป็นกุศลอกุศล
    หรือบุญบาปที่ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ข้อนี้หมายความว่า บุญหรือบาปจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องเข้าถึงชวนจิตเสียก่อน
    เว้นไว้แต่ชวนจิตของพระอรหันต์ที่จัดเป็นกิริยาชวนะ เพราะเป็นจิตที่พ้นจากอารมณ์ที่พ้นจากกรรมอันเป็นกุศลหรืออกุศลแล้ว

    นับตั้งแต่ขณะจิตที่ ๙ ถึงขณะจิตที่ ๑๕ ทั้ง ๗ ขณะจิตนี้จิตทำหน้าที่เพื่อเสวยรสของอารมณ์เป็นชวนกิจอย่างเดียว
    ในกามชวนะนี้มีขณะจิตเกิดได้ทั้ง ๗ ขณะ เมื่อชวนจิตทำหน้าที่เสวยรสแห่งอารมณ์ไปแล้ว ๗ ขณะ ก็ดับลง

    ต่อจากนั้นขณะจิตที่ ๑๖ และที่ ๑๗ ก็เกิดขึ้นรับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ เพื่อหน่วงอารมณ์นั้นลงสู่ภวังค์ตามเดิม
    เรียกจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ว่า ตทาลัมพนจิต

    ขณะจิตที่ ๑๖ และ ๑๗ คือ ตทาลัมพนจิต
    เกิดเพื่อรับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะตามสมควรแก่อารมณ์ และจะต้องเกิดขึ้น ๒ ครั้ง หรือ ๒ ขณะเสมอไป
    เท่ากับอายุของอารมณ์ที่ดำรงอยู่ได้ เมื่อถึงขณะจิตที่ ๑๗ พอดี ก็เป็นอันสุดวิถีจิตในวิถีหนึ่ง ๆ

    ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของภวังคจิตเกิดขึ้นตามธรรมชาติต่อไป

    ที่มา http://www.watkoh.com/forum/index.php?topic=1661.0
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 กรกฎาคม 2010
  2. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    บทความของ ดังตฤณ เกี่ยวกับการเกิดดับของจิต

    "ตามที่พระพุทธองค์ตรัส ว่าเปรียบเหมือนลิงเหนี่ยวกิ่งไม้หนึ่ง เปลี่ยนไปเป็นอีกกิ่งหนึ่ง
    เหมือนจิตจับอารมณ์หนึ่งแล้วเปลี่ยนไปจับอีกอารมณ์หนึ่ง เช่นตอนนี้ฟัง แล้วเปลี่ยนเป็นเห็น
    อย่างนี้ก็จัดว่าวิญญาณทางตา หรือความรู้แจ้งทางตาเกิดแล้วดับ

    หรืออีกนัยหนึ่ง ขณะนี้จิตเป็นกุศล เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นอกุศลจิต
    ตัว สภาพ ความเป็นจิตนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง
    เปรียบเหมือนลูกไฟมหัศจรรย์กองหนึ่ง ตอนนี้สว่างขึ้นเป็นสีขาว
    อีกตอนหนึ่งลุกโพลงขึ้นเป็นสีดำ เป็นสภาวะที่ขัดกันเป็นคนละอัน
    มีที่เหมือนกันอย่างเดียวคืออุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น
    ความไม่เป็นอิสระจากความครอบงำของขันธ์
    กุศลจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมขาว อกุศลจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมดำ
    ส่วนจิตที่พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คืออพยากตจิตนั้น เกิดจากกรรมไม่ขาวไม่ดำ

    เมื่อภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ โดยเฉพาะในหมวดจิตตานุปัสสนา
    เฝ้ารู้ตามจริงว่าขณะนี้มีราคะในจิต ขณะนี้จิตไม่มีราคะ
    ขณะนี้มีโทสะในจิต ขณะนี้ไม่มีโทสะในจิต
    ขณะนี้มีโมหะในจิต ขณะนี้ไม่มีโมหะในจิต
    ขณะนี้จิตหดหู่ ขณะนี้จิตฟุ้งซ่าน
    สติที่รู้อยู่เห็นอยู่เสมอๆว่าจิตมีสองหน้า มีสองข้าง มีสองลักษณะเป็นทวิลักษณ์
    ก็จะเริ่มยอมรับว่าจิตแต่ละแบบไม่เหมือนกัน เป็นคนละตัวกัน
    และต่อมาเมื่อมีสัมปชัญญะ มีความ "รู้ชัด" ขนาดเห็นขณะแห่งความแปรไปของสภาวจิต
    ก็จะทันทีเดียวว่าขณะนี้จิตอย่างหนึ่งเกิด ขณะนี้จิตอย่างนั้นกำลังแปรไป หรือขณะนี้จิตอย่างนั้นดับแล้ว

    หรือถ้าฝึกในหมวดอายตนะ จิตที่มีความรู้ชัดต่อเนื่องอยู่
    ก็สามารถเห็นว่าขณะนี้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ไหน
    ขณะนี้วิญญาณกำลังหยั่งลงในอายตนะใด
    ขณะนี้จิตกำลังเสวยอารมณ์ทางอายตนะใด
    ขณะนี้จิตมีความปรุงแต่งเป็นชอบชังเพราะอายตนะนั้นอย่างไร
    ยึดมั่นถือมั่นด้วยลักษณะของสังโยชน์ข้อใด
    ความรู้ชัดเป็นขณะๆนั้นก็รายงานให้ผู้เฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ได้ทราบ
    ว่าวิญญาณทางตาไม่เที่ยง เกิดดับในลักษณะของการหยั่งลงไปในอายตนะต่างๆ
    เมื่อตัดอุปาทานว่าเป็นตัวเราออกไปได้ ก็ไม่เห็นอะไรนอกจากธรรมชาติรู้อารมณ์
    ถูกปรุงแต่งด้วยความชอบความชังอันไหลแต่สุขทุกข์ในผัสสะหนึ่งๆ

    เห็นในลักษณะอย่างนี้เป็นการเห็นจิตเกิดดับได้ครับ
    เพราะจิตนั้น ถ้าไม่มีเจตสิก หรือธรรมมาปรุงแต่งให้มีอันเป็นไป
    เราก็จะจำแนกไม่ได้เลยว่าจิตเป็นอย่างไรๆ ตรงไหนเกิดขึ้น ตรงไหนดับไป
    อันนี้มองในลักษณะเปรียบเทียบกับการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ นะครับ..."
     
  3. เต้าเจี้ยว

    เต้าเจี้ยว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 เมษายน 2008
    โพสต์:
    958
    ค่าพลัง:
    +1,699
    ในวิสุทธิมัคค์ ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส มีข้อความว่า
    อนึ่ง นามธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีเดช ไม่อาจเพื่อจะเป็นไปด้วยเดชของตน....กินไม่ได้ ดื่มไม่ได้ ขวนขวายไม่ได้ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ แม้รูปก็ไม่มีเดช ไม่อาจจะเป็นไปด้วยเดชของตน เพราะว่ารูปนั้นไม่มีความใคร่จะกิน ไม่มีความใคร่จะดื่ม ไม่มีความใคร่จะขวนขวาย ไม่มีความใคร่สำเร็จอิริยาบถ อันที่แท้รูปอาศัยนามจึงเป็นไป แม้นามก็ต้องอาศัยรูปจึงเป็นไปฯ ก็เมื่อมีนามธรรมเป็นผู้ใคร่กิน ใคร่ดื่ม ใคร่ขวนขวาย ใคร่สำเร็จอิริยาบถ รูปจึงกิน จึงดื่ม จึงขวนขวาย จึงสำเร็จอิริยาบถฯ
    ข้อความต่อไปในวิสุทธิมัคค์ ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส มีว่า
    นามกายอาศัยรูปจึงเป็นไป
    เปรียบเหมือนมนุษย์อาศัย (โดยสาร) เรือไปในห้วงนํ้าฯ
    รูปกายอาศัยนามจึงเป็นไป
    เหมือนอย่างเรือ
    อาศัยมนุษย์จึงแล่นไปในแม่นํ้าฯ
    ทั้งสองอย่างคือมนุษย์และเรือ
    อาศัยกันและกัน จึงไปในห้วงนํ้าได้ฉันใด
    นามธรรมและรูปธรรม ก็ฉันนั้น
    นามธรรมซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งมี 2 ประเภท คือ จิต และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิต)จิตและเจตสิกเกิดพระเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป
    จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตแต่ละดวงต้องมี สิ่ง ที่จิตกำลังรู้ ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า อารมฺมณ จิตที่เห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ จิตที่ได้ยินมีเสียงเป็นอารมณ์ ไม่มีจิตดวงใดที่เกิดขึ้นโดยปราศจากอารมณ์ แม้ในขณะที่นอนหลับสนิท จิตก็รู้อารมณ์ จิตมีมากมายหลายประเภทซึ่งจำแนกได้เป็นหลายนัย
    จิตบางประเภทเป็น อกุศล จิตบางประเภทเป็น กุศล อกุศลจิตและกุศลจิตเป็นเหตุให้เกิดกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เป็นอกุศลและกุศลได้ จิตบางประเภทเป็นวิบากจิต คือ เป็นผลของอกุศลกรรมหรือกุศลกรรม จิตบางประเภทเป็น กิริยาจิต คือ เป็นจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลและไม่ใช่วิบาก
    เมื่อจำแนกจิตโดยชาติ (ชาติคือการเกิดขึ้น) จิตมี 4 ชาติ คือ อกุศล1, กุศล1, วิบาก1, กิริยา1
    การรู้ว่าจิตแต่ละดวงเป็นชาติอะไรนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่สามารถเจริญกุศลได้ ถ้าเราสำคัญผิดว่าอกุศลเป็นกุศลหรืออกุศลเป็นวิบาก เช่น เมื่อได้ยินคำพูดที่ไม่เป็นที่พอใจ ขณะที่ได้ยินเสียงนั้น โสตวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำไปแล้ว แต่โทสะซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็น อกุศลจิต
    การจำแนกจิตอีกนัยหนึ่ง คือ จำแนกโดย ภูมิระดับขั้นของจิต จิตมี 4 ภูมิ คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต
    กามาวจรจิต เป็นจิตที่รู้กามอารมณ์ ได้แก่ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตลิ้มรส และจิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเป็นต้น ยังมีจิตภูมิอื่นๆอีก คือจิตที่ไม่รับรู้กามอารมณ์ ผู้ที่เจริญ สมถภาวนา บรรลุอัปปนาสมาธิ (สมาธิขั้นฌาณ) มีฌาณจิต ฌาณจิตเป็น จิตอีกภูมหนึ่ง ซึ่งไม่รับรู้กามอารมณ์ โลกุตตรจิต เป็นจิตภูมิสูงสุดเพราะเป็นจิตที่ประจักษ์แจ้งนิพพาน
    นอกจากนั้น ยังจำแนกจิตตามนัยอื่นๆอีก และถ้าพิจารณาความแรงกล้า หยาบ และละเอียดของจิตแล้ว จิตก็ยังต่างกันไปอีกมากมาย เช่น อกุศลจิต ซึ่งมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลนั้น ย่อมมีความแรงกล้า หยาบ และละเอียดต่างกัน บางครั้งก็อาจเป็นเหตุให้กระทำกรรมต่างๆ บางครั้งก็ไม่กระทำกรรมต่างๆ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความแรงกล้าของอกุศลจิต กุศลจิตก็มีความแรงกล้าระดับขั้นต่างๆเช่นเดียวกัน
    จิตทั้งหมดมี 89 หรือ 121 ดวง (ประเภท)
    ที่จำแนกจิตเป็น 121 ดวงนั้น รวมจิตของพระอริยบุคคลผู้เจริญทั้งฌานและวิปัสสนา และสามารถประจักษ์แจ้งพระนิพพานด้วยฌานจิต
    ปรมัตถธรรมที่สองคือ เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม ดังที่ทราบว่า จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ จิตเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ จิตได้ยิน มีเสียงเป็นอารมณ์ การคิดนึก มีเรื่องที่คิดนึกเป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่ว่า มีแต่จิตเพียงอย่างเดียว ยังมีนามธรรมอื่นๆอีกมากด้วย คือมี เจตสิกหลายดวงเกิดร่วมกับจิตดวงหนึ่งๆ เราอาจจะคิดอะไรด้วยโทสะ หรือด้วยความรู้สึกเป็นสุข หรือด้วยปัญญา
    โทสะก็ดี ความรู้สึกเป็นสุขก็ดี ปัญญาก็ดี เป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกต่างๆซึ่งเกิดร่วมกับจิตประเภทต่างๆ ในขณะหนึ่งก็มีจิตดวงหนึ่งเท่านั้น แต่มีเจตสิกหลายดวง (อย่างน้อย 7 ดวง) เกิดร่วมกับจิตนั้น และดับไปพร้อมกับจิตนั้น จิตเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้เลย เช่น ความรู้สึก ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า เวทนา เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง
    จิตเพียงแต่ ู้ อารมณ์ จิตรู้สึกไม่ได้ เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่ รู้สึก บางครั้งรู้สึกเป็นสุข บางครั้งรู้สึกเป็นทุกข์ ขณะใดที่ไม่รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ขณะนั้นก็ยังมีความรู้สึกที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกย่อมมีอยู่เสมอ ไม่มีสักขณะจิตเดียวที่ปราศจากความรู้สึก เช่น เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น ความรู้สึก (เวทนา) ก็เกิดร่วมกับจิตเห็น จิตเห็นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ขณะนั้นยังไม่มีความชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้น เวทนาที่เกิดร่วมกับจิตเห็นเป็นความรู้สึกเฉยๆ หลังจากที่จิตเห็นดับไปแล้ว จิตดวงอื่นๆก็เกิดขึ้น และอาจเป็นจิตที่ไม่ชอบอารมณ์ที่เห็นนั้น เวทนาที่เกิดร่วมกับจิตนั้นก็เป็นโทมนัสเวทนา
    จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตมีอารมณ์เดียวกันกับจิต แต่เจตสิกแต่ละดวงนั้น ก็มีลักษณะและกิจเฉพาะของตนๆ เจตสิกทั้งหมดมี 52 ดวง (ประเภท) มีเจตสิก 7 ดวงที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง แต่เจตสิกอื่นๆไม่ได้เกิดกับจิตทุกดวง
    สภาพธรรมที่จำ ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า สัญญา เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ในวิสุทธิมัคค์ขันธนิทเทส แสดงลักษณะของสัญญา ซึ่งมีลักษณะจดจำว่า
    ......มีการทำเครื่องหมายอันเป็นปัจจัยแก่การจำได้ต่อไปว่า นี้คือสิ่งนั้นเองเป็นกิจ ดุจช่างถาก เป็นต้นฯ
    จิตรู้อารมณ์เท่านั้น จิตไม่จดจำอารมณ์ สัญญาจำหมายอารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งเมื่ออารมณ์นั้นปรากฏอีก สัญญาก็จำได้ ขณะใดที่จำได้นั้น ขณะนั้นเป็นสัญญาเจตสิก ไม่ใช่ตัวตนที่จำได้ เช่น เป็นสัญญานั้นเองที่จำได้ว่า นี้เป็นสีแดง นี้เป็นบ้าน หรือนี้เป็นเสียงนก เป็นต้น
    เจตนา ความตั้งใจ เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกดวง มีเจตสิกอื่นๆที่ไม่ได้เกิดร่วมกับจิตทุกดวง อกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น โสภณ (ดีงาม) เจตสิกก็เกิดร่วมกับโสภณจิต
    โลภะ โทสะ และ โมหะ เป็นอกุศลเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น เช่น เมื่อเราเห็นสิ่งที่สวยงาม จิตที่ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นอาจเกิดขึ้น จิตในขณะนั้นมีโลภะเจตสิกเกิดร่วมด้วย โลภเจตสิกทำกิจติดข้องในอารมณ์ ยังมีอกุศลเจตสิกอื่นๆอีกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต เช่น ความสำคัญตน (มานะ) ความเห็นผิด (ทิฏฐิ) และ ความริษยา (อิสสา) เป็นต้น
    โสภณเจตสิก เกิดร่วมกับโสภณจิต เช่น อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมห (ปัญญา) เจตสิก
    ขณะที่ให้ทาน อโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกเกิดขึ้นร่วมกับกุศลจิต ปัญญาเจตสิกอาจจะเกิดร่วมกับกุศลจิตนั้นๆด้วย และยังมีโสภณเจตสิกอื่นๆเกิดร่วมด้วยอีก
    แม้ว่าจิตและเจตสิกเป็นนามธรรม แต่ก็มีลักษณะต่างกัน บางคนคงสงสัยว่าจะรู้ลักษณะของเจตสิกได้อย่างไร เราอาจรู้ลักษณะของเจตสิกได้เมื่อสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิต เช่น อกุศลจิตซึ่งมีมัจฉริยะ (ตระหนี่) เจตสิกเกิดขึ้น หลังจากที่กุศลจิตซึ่งมีอโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยดับไป ทำให้เรารู้ว่ามัจฉริยเจตสิกมีลักษณะต่างจากอโลภเจตสิก เราอาจสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงจากความยินดีเป็นความยินร้าย จากความสบายใจเป็นความไม่สบายใจ เวทนาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่สามารถสังเกตุรู้ได้ เพราะบางครั้งเวทนาปรากฏชัด และมีเวทนาหลายประเภท เราสามารถจะรู้ได้ว่า โทมนัสเวทนาต่างกับโสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา
    เจตสิกบางประเภทเกิดกับจิตบางดวงเท่านั้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับจิตที่เกิดร่วมด้วย การรู้เรื่องจิตและเจตสิกประเภทต่างๆมากขึ้น จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ปรมัตถธรรมไม่ใช่มีแต่นามธรรมเท่านั้น ยังมีรูปธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่ 3 รูปทั้งหมดมี 28 รูป (ประเภท) รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน มี 4 รูป ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า มหาภูตรูป 4 คือ
    1. ธาตุดิน ปถวี ปรากฏให้รู้ในลักษณะ แข็ง หรือ อ่อน
    2. ธาตุนํ้า อาโป เป็นสภาพที่ เกาะกุม
    3. ธาตุไฟ เตโช ปรากฏให้รู้ในลักษณะ ร้อน หรือ เย็น
    4. ธาตุลม วาโย ปรากฏให้รู้ในลักษณะ ไหว หรือ ตึง
    มหาภูตรูป 4 มีรูปอื่นๆซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า อุปาทายรูป เกิดร่วมด้วย รูปแต่ละรูปไม่เกิดตามลำพังรูปเกิดรวมกันเป็นกลุ่ม อย่างน้อยที่สุดต้องมีรูป 8 รูปเกิดรวมกัน เช่น เมื่อเตโชเกิดขึ้น ปถวี อาโป วาโย และรูปอื่นๆต้องเกิดร่วมด้วย
    รูปที่เป็นอุปาทายรูป คือ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท และรูปที่เป็นอารมณ์ เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น
    ลักษณะต่างๆของรูปสามารถรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
    รูปธรรมมีจริง เพราะมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ เราบัญญัติเรียกรูปว่า ร่างกายบ้าง โต๊ะบ้าง ทั้งร่างกายและโต๊ะมีลักษณะแข็ง ซึ่งรู้ได้ด้วยการกระทบสัมผัส ซึ่งทำให้เห็นความจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือโต๊ะ ลักษณะที่แข็งนั้นเป็นแข็งเหมือนกัน สภาพแข็งเป็นปรมัตถธรรม "ร่างกาย" หรือ "โต๊ะ" ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เป็นสมมุติบัญญัติ เราเข้าใจว่าร่างกายดำรงอยู่ และยึดถือว่าร่างกายเป็นตัวตน แต่ที่เรียกว่า "ร่างกาย" นั้นเป็นเพียงรูปต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คำบัญญัติว่า "ร่างกาย" นั้น อาจทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงผิดไป เราจะประจักษ์แจ้งซึ่งความจริง ถ้าเรารู้ลักษณะที่ต่างกันของรูปเมื่อรูปปรากฏ
    จิต เจตสิก และรูป เกิดขึ้นเมื่อมี ปัจจัยปรุงแต่ง เท่านั้น ภาษาบาลีเรียกว่า สังขารธรรม
    การเห็นย่อมเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีจักขุปสาทและสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เสียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยย่อมดับเมื่อเหตุปัจจัยดับ บางคนเข้าใจว่าเสียงยังดังอยู่ แต่ที่คิดว่าเสียงยังดังอยู่นั้น ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นรูปที่เกิดดับสืบต่อกันหลายขณะ
    ปรมัตถธรรมที่ 4 คือ นิพพาน นิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลส นิพพานเป็นอารมณ์ที่รู้แจ้งได้ทางมโนทวาร เมื่อประพฤติปฏิบัติตามหนทางที่ถูกต้องซึ่งนำไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง
    นิพพานเป็นนามธรรม แต่นิพพานก็ไม่ใช่จิตหรือเจตสิก นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่เกิดและไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า วิสังขารธรรม
    นิพพานไม่เกิดเพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ฉะนั้นนิพพานจึงไม่ดับ จิตและเจตสิกเป็นนามธรรมซึ่งรู้อารมณ์ นิพพานเป็นนามธรรมซึ่งไม่รู้อารมณ์ แต่นิพพานเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกได้ นิพพานไม่ใช่บุคคล ตัวตน นิพพานเป็นอนัตตา
    สงเคราะห์ปรมัตถธรรม 4 ดังนี้ คือ
    จิต เป็นสังขารธรรม
    เจตสิก เป็นสังขารธรรม
    รูป เป็นสังขารธรรม
    นิพพาน เป็นวิสังขารธรรม


     
  4. wattanadist

    wattanadist เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    162
    ค่าพลัง:
    +1,134
    งงเลยผม...ยังไม่ถึงขั้น
    แต่ขออนุโมทนาในข้อธรรมที่แสดงมาทั้งหมดครับ "ผมจะพยายามทำสมาธิเพื่อหลุดพ้นหรือบรรลุทางทุกข์ให้ได้ ไม่ด้วยข้อใดก็ข้อหนึ่ง หรือหลายข้อก็ย่อมดี ตามแต่วิริยะบารมีเท่าที่ผมจะมีได้และทำได้ในชาตินี้...ในธรรมเหล่านี้ที่แจงมา ด้วยเหตุแ่ห่งจิต ซึ่งเกี่ยวพันกับธรรม และการหลุดพ้น ทั้งหมดเหล่านั้น

    อนุโมทนาสาธุครับ
     
  5. เตชพโล

    เตชพโล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    273
    ค่าพลัง:
    +1,456

    เทศน์ของหลวงปู่คำดี ปภาโส ครับ
     
  6. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    อนุโมทนากับท่านเต้าเจี้ยว และผู้รู้อื่นๆ การให้ความรู้ที่ถูกต้อง
    ในเรื่องของจิต ซึ่งเป็นไปตามพระอภิธรรม และเป็นการยืนยัน
    ถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดา

    ...เพื่อไม่ให้ความเชื่อและคำสอนผิดๆในเรื่องจิต(สอนว่า จิต
    ไม่เกิดไม่ดับและเป็นอัตตา) แพร่หลายไปในวงกว้างแก่พุทธศาสนิกชน
    ผู้เพิ่งเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ...

    อนุโมทนาสาธุ ครับ
     
  7. เต้าเจี้ยว

    เต้าเจี้ยว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 เมษายน 2008
    โพสต์:
    958
    ค่าพลัง:
    +1,699
    ขอบคุณคุณโลกุตตระ
    ที่ยกเรื่องจิต 17 ขณะมา (เพราะสนใจเรื่องจิตดับ 17 รูปดับหนึ่ง ว่าเป็นรูปใหม่ที่ปรุง หรือรูปเก่าอยู่พอดีค่ะ น่าจะเป็นรูปเก่าหรือเปล่าไม่รู้ มีเวลาจะอ่านให้ละเอียด)
    เห็นแปะเป็นเม้นท์ในกระทู้อื่น เลยไม่ได้สนใจนัก
    พอเป็นกระทู้ เลยตั้งใจอ่านอยู่นาน
    อ่านแล้วรู้สึก ยากมากค่ะ

    *
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 กรกฎาคม 2010
  8. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    การเกิดดับของจิต(เป็นความรู้จากปริยัติ นะครับ)สรุป สั้นๆได้ดังนี้ครับ.....
    จิตเป็นธรรมชาติที่เกิดดับเร็วที่สุดไม่มีอะไรที่รวดเร็วเท่าจิต เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไป
    จิตดวงหนึ่งก็เกิดขึ้นมาแทนที่ แต่ก่อนที่จิตดวงก่อนจะดับไปนั้น ได้ทิ้งเชื้อคือกรรม
    และกิเลสไว้ให้จิตดวงต่อไป การเกิดดับของจิตเป็นไปรวดเร็วติดต่อกัน
    จนเราไม่อาจที่จะกำหนดได้ จิตเกิดดับครั้งหนึ่งเรียกว่าดวงหนึ่งของจิต”
    และจิตดวงหนึ่งยังมีขณะเล็กหรืออนุขณะอีก ๓ คือ อุปปาทขณะ ฐิติขณะ
    และภังคขณะ (ขณะที่จิตเริ่มเกิด เรียกว่า อุปปาทขณะ ขณะที่จิตตั้งอยู่ยังไม่ดับไป
    เรียกว่า ฐิติขณะ ส่วนขณะที่จิตกำลังดับไป เรียกว่า ภังคขณะ)

    อายุของจิตขณะหนึ่ง ๆ มีความเกิดดับรวดเร็วมาก ซึ่งเมื่อเปรียบกับ
    อายุของรูปที่ปรากฏขึ้นขณะหนึ่ง ๆ แล้ว ก็คือ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะใหญ่
    เท่ากับรูปดับไปครั้งหนึ่ง


    ซึ่งขณะที่1-3(อดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ)เป็นช่วงถ่ายทอด
    จิตดวงเดิมอยู่ครับ จิตดวงใหม่เริ่มตั้งแต่ขณะที่ 4 ปัญจทวาราวัชชนะ
    .................................................................................



    ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความรู้ปริยัติ ในส่วนตัวการปฏิบัติของผมเห็นได้เพียง
    การเกิดดับของจิตเท่านั้น เกิดที่ใหนดับที่นั้น(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
    สำหรับคุณเต้าเจี้ยว ผมเชื่อว่าคุณไปได้ไกลมากกว่าผมแล้วครับ .....

    ชึ่งในการรู้การเกิดดับของจิต เพื่อให้พิจารณาเป็นไตรลักษณ์เห็นว่า
    ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่นใน
    ตนเอง แต่ถ้ายังเห็นจิตไม่เกิดไม่ดับเป็นอัตตา ความเป็นตัวตนก็จะ
    ยิ่งสูงขึ้น ยิ่งทำยิ่งเก่ง(มีแต่ตัวกูของกู)ก็จะสวนทางกับมรรคผลนิพพาน...

    ความรู้เรื่องจิตเกิดดับ เป็นความรู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิพื้นฐานของชาวพุทธ
    ทั่วไป ผมเชื่อว่าเกือบทุกท่าน เมื่อปฏิบัติเบื้องต้น(อย่างถูกต้อง)
    ก็จะเห็นการเกิดดับของจิตได้.....

    แต่ก็ยังมีกลุ่มคน นำพระอภิธรรมมาแปลง ตีความแบบผิดๆและเผยแพร่
    คำสอนของกลุ่มตนในวงกว้าง ท้วงติงก็แล้ว บอกก็แล้ว ยังไม่นำพา
    จะปล่อยวางเฉยแบบอุเบกขาก็ไม่ได้ กลัวคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งศึกษา
    จะเข้าใจผิดไปด้วย
    .....ขอบคุณ ทุกท่านอีกครั้งนะครับที่ช่วยกันชี้แจง...

    ขออนุโมทนา ครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 กรกฎาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...