ชีวิตงดงาม...ตามหลักชาวพุทธ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ปัญญาพร, 13 ธันวาคม 2010.

  1. ปัญญาพร

    ปัญญาพร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มีนาคม 2008
    โพสต์:
    332
    ค่าพลัง:
    +797
    ชีวิตงดงาม...ตามหลักชาวพุทธ
    เรื่องโดย... ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู

    ชาวพุทธคืออะไร... ชาวพุทธต้องทำอะไร... เป็นคำถามที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธเองก็อาจจะสงสัย และไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ เพราะในขณะที่ศาสนาอื่นสอนให้คนที่นับถือศาสนานั้นๆ ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ทว่าพุทธธรรมกลับไม่ได้มีข้อกำหนดชัดเจน ขึ้นอยู่กับความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล ที่จะน้อมนำหลักธรรมมาปฏิบัติ

    และนั่นอาจเป็นเหตุข้อหนึ่งที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ เป็นชาวพุทธตามตัวอักษร (ที่ระบุในบัตรประชาชน) เป็นพุทธตามพ่อแม่ หรือเรียกว่าเป็นชาวพุทธแบบตามๆ กันไปมากกว่าเป็น “ชาวพุทธที่แท้”

    เพราะความคลุมเครือและสับสนในความเป็นชาวพุทธเช่นนี้เอง จึงมีชาวพุทธกลุ่มหนึ่งรวมตัวกัน เพื่อที่จะหาวิธีให้คนที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธได้มีหลักยึดเพื่อการปฏิบัติตนสู่การเป็นชาวพุทธที่แท้ และได้เข้ากราบนมัสการขอคำปรึกษาจากท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งท่านเองก็ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้มายาวนานเช่นกัน ดังคำกล่าวของท่านว่า ...

    “ในสังคมชาวพุทธเรานั้น เรื่องนี้เป็นปัญหามาก คือว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนหลักธรรมไว้มากมาย และบางทีเราก็เรียนกันเยอะแยะไปหมด แต่ในชีวิตที่เป็นจริงนี้ ไม่รู้จักอันไหนมาทำมาใช้ ไปๆมาๆ ชาวพุทธก็เลยไม่มีจุดรวม โดยเฉพาะไม่มีหลักการอะไรที่ยึดถือร่วมกัน”

    “เรื่องนี้คิดมานาน ต้องพูดว่าหลายสิบปี อย่างที่ทำหนังสือ “วินัยชาวพุทธ” ออกมา ก็เพราะเห็นว่าชาวพุทธเคว้งคว้างเหลือเกิน เพราะการศึกษาเป็นแกนที่จะทำให้ประเทศชาติเป็นอย่างไร เป็นตัวสร้างฐานให้กับประเทศชาติ ในเรื่องนี้อยากจะให้มีหลักที่กะทัดรัดชัดเจน และหลักนั้นจะมี ๒ หมวด คือ หลักความเชื่อ...แล้วก็หลักปฏิบัติ หรือหลักที่เป็นข้อปฏิบัติ ให้รู้กันว่าถ้าเป็นชาวพุทธแล้วจะต้องมีการกระทำอันนี้ชัดออกมาเลย”

    นี่คือที่มาของการทำงานร่วมกันระหว่างสงฆ์และฆราวาสในนามของ “กลุ่มชาวพุทธ” ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในวันนี้จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการปฏิบัติที่เรียบง่ายและงดงามตามหลักธรรมการ ชื่อ “หลักชาวพุทธ” ออกมา
    เข้าพรรษา เวลาแห่งหลักชาวพุทธ

    เมื่อหลักการพร้อม จึงกำหนดเวลาของการนำร่องทดลองขึ้นเป็นเวลาสามเดือน โดยนับจากวันเข้าพรรษา ๘ กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะสงฆ์และชาวพุทธหลากหลายวัยมาร่วมกันประกาศเจตนาสมาทานหลักชาวพุทธ มี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำกล่าวคำสมาทานพร้อมกัน ณ วัดญาณเวศกวัน จังหวัด นครปฐม

    นับจากวันนั้น หลักชาวพุทธที่ประกอบไปด้วยหลักการ อันได้แก่...ศรัทธา ปัญญา ๕ ข้อ และ การปฏิบัติ แบ่งออกเป็น ๓ หมวด ๑๒ ข้อ ก็ได้รับการเผยแผ่ส่งต่อจากบุคคลสู่ครอบครัว และชุมชน เริ่มจากต้นทาง คือเครือข่ายกลุ่มชาวพุทธที่ประกอบด้วยนักการศึกษา ข้าราชการ นักธุรกิจชั้นนำ และประชาชนทั่วไป ผ่านการลงทะเบียนในเว็บไซด์ www.chaobuddha.com ต่อจากนี้ไปจนถึงวันออกพรรษาในวันที่ ๔ ตุลาคม ชาวพุทธได้น้อมนำหลักชาวพุทธไปปฏิบัติ จะกลับมาพบกันอีกครั้ง เพื่อนำผลมาสรุปรวมกันเพื่อสร้างเครือข่ายการปฏิบัติให้เข้มแข็ง สมดังคำที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้กล่าวย้ำว่า “หลักการต้องมั่น ปฏิบัติการต้องจริงจัง” และเมื่อนั้นผลของความดีงามจะปรากฏ

    หลักชาวพุทธเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา
    “ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนมาสองพันห้าร้อยกว่าปี แต่ปฏิบัติเมื่อไรเห็นผลดีทันที” ครูอ๋อ หรือ หม่อมหลวงผกามาลย์ เกษมศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนสยามสามไตร ให้ความเห็นถึงผลของการปฏิบัติ ครูอ๋อเห็นว่าหากระบบการศึกษาปัจจุบัน ที่เน้นเรื่องความรู้และสาระวิชาเป็นหลักได้ผนวกหลักชาวพุทธ หลักแห่งภูมิธรรมพื้นฐาน โดยการนำศีล สมาธิ ปัญญา มาปรับใช้ นอกจากจะสร้างเด็กให้เรียนรู้เร็ว เป็นคนเก่งแล้ว ยังบวก “ความดี” ซึ่งระบบการศึกษาปัจจุบันขาดหายไป
    “ระบบการศึกษาของเราเน้นวิชาความรู้ ผู้ใหญ่เห็นอันไหนจำเป็นก็เพิ่มเข้ามา ตำราก็กองพูน หน้าที่ของโรงเรียนเราก็ต้องสอนตามหนังสือเหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่อ่าน ต้องทำการบ้าน ทำแบบฝึกหัด เราก็คิดว่าทำอย่างไรเด็กถึงจะอ่านได้เก่งเร็ว และเข้าใจหมดทุกอย่างในชีวิตซึ่งเราคิดว่าวิธีของพระพุทธเจ้าคือคำตอบ เพราะธรรมะที่พระองค์ให้ไว้แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์เป็นทั้งการสร้างคนและพัฒนาคน ซึ่งไม่ใช่เพื่อจัดการกับหนังสือเท่านั้น แต่สร้างคนเพื่อจะจัดการกับทุกเรื่องของชีวิต” ครูอ๋อเล่าถึงที่มาของการนำหลักชาวพุทธมาใช้

    โรงเรียนสยามสามไตรจึงเป็นโรงเรียนนำร่องที่ได้นำเอา “หลักชาวพุทธ” ซึ่งมีฐานมาจากหลักของสยามสามไตรเข้ามาเป็นแกนในการจัดการศึกษาที่ให้ทั้ง “ความรู้” และ “ปัญญา” ไปพร้อมๆกัน ซึ่งคุณสมบัติของปัญญาก็คือความสามารถในการจัดการทุกอย่างในชีวิตให้ดีได้ ไม่ว่าวิชาความรู้หรือการใช้ชีวิต

    “โรงเรียนของเราจะฝึก ๓ อย่าง คือ สมาธิ ปัญญา พฤติกรรม จิตใจ ปัญญา เราพูดถึงจิตก่อน เพราะทุกอย่างมารวมที่จิต จิตตัวนี้เราจะฝึกให้เป็นคนดี มีระเบียบเรียบร้อย เราสอนด้วยการปฏิบัติจริง ฝึกให้เขาทำและเข้าใจความหมาย เพราะก่อนที่จะทำพฤติกรรมใดๆ ต้องเริ่มจากจิตใจ เมื่อเกิดปัญญากำกับก็จะเกิดพฤติกรรม อย่างเช่นการเรียงร้องเท้าไว้หน้าห้อง พอเด็กๆ เขาทำแล้วเขาจะรู้ว่าที่ครูพูดว่าให้เรียงรองเท้าให้เรียบร้อยเพื่ออะไร เมื่อเห็นผลแล้วเขาจะรู้“ ครูหน่อย – อนินทิตา โปษะกฤษณะ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนสยามสามไตรให้ความเห็นและย้ำว่า “สิ่งสำคัญคือ ครูต้องรู้และปฏิบัติเป็นต้นแบบ”

    วันเข้าพรรษานี้ ดิฉันโชคดีมีโอกาสได้ไปปฏิญาณตนรับหลักชาวพุทธ ทั้งหลักการ ๕ ข้อ และหลักปฏิบัติ ๑๒ ข้อ ด้วยการเต็มอกเต็มใจและความอิ่มเอมใจ ที่ตัวเองได้ยึดหลัก ๑๒ ข้อนี้ในการปฏิบัติมาเป็นเวลาหกปีเต็มแล้ว

    ต้องขอสารภาพว่า ก่อนหน้านั้นดิฉันคิดว่าตัวเองเป็นชาวพุทธที่ดี แต่จริงๆแล้วขาดการปฏิบัติไปหลายข้อทีเดียว แต่ภายหลังเมื่อมาเริ่มปฏิบัติตามหลักชาวพุทธที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ท่านได้วางไว้ โดยปฏิบัติได้ครบถ้วนทุกข้อ ชีวิตของดิฉันก็เปลี่ยนไป จากทุกข์มากเป็นทุกข์น้อย และชีวิตมีความสุขมากขึ้น

    ดิฉันจึงอยากชักชวนชาวพุทธทั้งหลายที่ยังปฏิบัติตัวไม่ถูกหรือปฏิบัติตัวครึ่งๆกลางๆ แล้วเข้าใจว่าเราเป็นชาวพุทธที่ดีแล้วนั้น หันมาใช้หลักการ ๕ ข้อ และหลักปฏิบัติ ๑๒ ข้อที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ได้สรุปไว้เป็นแนวทาง โดยยึดหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ดังนั้นคนไทยชาวพุทธจะมีหลักการและหลักปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างน้อยเพื่อตรวจสอบตนเองว่า ท่านเป็นชาวพุทธที่แท้จริงแล้วหรือยัง หรือเป็นชาวพุทธแต่เพียงในนาม ลองปฏิญาณตนและปฏิบัติดูสิคะ จะเห็นผลแม้ในระยะเวลาใกล้นี้เลยค่ะ

    คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน) กล่าว ปฏิบัติทันที ได้ผลทันที

    ในระดับบุคคล การนำหลักชาวพุทธไปปฏิบัตินั้น แม้หลายคนจะยอมรับว่ายังปฏิบัติไม่ได้ทั้งหมด แต่เขาเหล่านั้นกลับเห็นผลแทบจะทันที

    คุณกอล์ฟ-ฤทธิพันธ์ ยวงอู ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มชาวพุทธเล่าว่า ...

    “เมื่อก่อนผมไม่ค่อยไหว้ใคร แต่ตอนนี้พยายามไหว้คนที่เราศรัทธาก่อน สิ่งที่ได้ทันทีคือ เมื่อเราไหว้ เราก็ได้รอยยิ้มจากคนที่เราไหว้ ได้การทักทายกัน เขาสามารถคุยกับเราได้ง่ายๆ เมื่อเข้าใจเรื่องไหว้แล้ว ก็มีเรื่องการออม ผมจะมีกระปุกที่หิ้งพระ ไหว้เสร็จ ๑๐ บาท หยอดกระปุก เมื่อเก็บได้มากก็จะนำไปบริจาคให้เด็กกำพร้า ทำให้เห็นผลชัดเลยว่า เมื่อก่อนเดือนหนึ่งเหลือไม่กี่ร้อย ตอนนี้เหลือพันกว่าบาท ได้บุญได้อัตโนมัติ สวดมนต์ก็ได้กับตัวเอง เมื่อสวดมนต์ สิ่งที่ได้คือใจสงบ การไม่ดูทีวี ตอนแรกคิดว่าแล้วเราจะรู้ข่าวสารได้อย่างไร แต่พอลองลดการดูลง เราก็ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น”

    คุณบดินทร์ กำจัดภัย ผู้ประสานหลักกลุ่มชาวพุทธเสริมว่า
    “ใน ๑๒ ข้อ มีเรื่องของวิธีคิดอยู่ เช่น ข้อ ๑ เริ่มที่การไหว้ ก็เริ่มต้นว่าต้องไหว้เป็นก่อน เราไหว้อะไร ซึ่งเราไม่เคยถามว่าเราไหว้อะไร นอกจากเป็นการทักทาย เราไหว้ เรานึกถึงอะไร เราต้องนึกถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พระรัตนตรัย การไหว้ ถ้าเราระลึกถึงคุณค่าทางศาสนาหรือทางจิตใจ จะได้ผลมากที่สุด มากกว่าการยกมือให้กัน”

    ฉะนั้น หากไม่กังวลว่าเรากำลังพูดถึงหลักการ แต่ลองไล่เรียงไปตามหัวข้อต่างๆ ของหลักชาวพุทธ จะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นภูมิธรรมขั้นพื้นฐานของชาวพุทธที่ปฏิบัติได้ไม่ยาก มีหลายข้อที่เราปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดความสม่ำเสมอ แต่เมื่อมีหลักการมั่นแล้วปฏิบัติให้จริงจัง ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ท่านกำชับไว้ ชาวพุทธคงเป็นชาวพุทธที่แท้ ไม่ทุกข์ ไม่ท้อ เมื่อพบปัญหา

    เพราะหลักชาวพุทธคือ...เครื่องมือจัดการ กับทุกเรื่องในชีวิตนั่นเอง

    หลักการ
    • ข้าฯมั่นใจว่า มนุษย์จะประเสริฐได้ เพราะฝึกตนด้วยไตรสิกขาคือการศึกษา
    • ข้าฯจะฝึกตนให้มีปัญญา มีความบริสุทธิ์ และมีเมตตากรุณาตามอย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    • ข้าฯถือธรรม คือความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสิน
    • ข้าฯจะสร้างสังคม ตั้งแต่ในบ้านให้มีสามัคคี เป็นที่มาเกื้อกูล ร่วมกันสร้างสรรค์
    • ข้าฯจะสร้างความสำเร็จด้วยการกระทำที่ดีงามของตน โดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท

    ปฏิบัติการ
    ข้าฯจะนำชีวิต และร่วมนำสังคมประเทศชาติไปสู่ความดีงาม และความสุขความเจริญ ด้วยการปฏิบัติดังต่อไปนี้

    ก.มีศีลวัตรประจำตน
    ๑. มีปกติกราบไหว้ แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย บิดามารดาครูบาอาจารย์ และบุคคลที่ควรเคารพ
    ๒. สมาทานเบญจศีลให้เป็นนิจศีล คือหลักความประพฤติประจำตัว ไม่มืดมัวด้วยอบายมุข
    ๓. สวดสาธยายพุทธวจนะหรือบทสวดมนต์ โดยเข้าใจความหมาย อย่างน้อยก่อนนอนทุกวัน
    ๔. ทำจิตให้สงบ ผ่องใส เจริญสมาธิ และอธิษฐานจิตเพื่อจุดหมายที่เป็นกุศล วันละ 5-10 นาที
    ๕. บำเพ็ญกิจวัตรวันพระ ด้วยการตักบาตร หรือแผ่เมตตา ฟังธรรม หรืออ่านหนังสือธรรมะ โดยบุคคลที่บ้าน ที่วัด ที่โรงเรียน หรือที่ทำงานร่วมกันประมาณ ๑๕ นาที
    ๖. เก็บออมเงิน และแบ่งมาบำเพ็ญทาน เพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อบูชาคุณเพื่อสนับสนุนกรรมดี อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
    ๗. เพิ่มพูนบุญกรรม บำเพ็ญประโยชน์อุทิศแด่พระรัตนตรัย มารดา บิดา ครูอาจารย์ และท่านผู้เป็นบุพการีของสังคม แต่อดีตสืบมา อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ครั้ง
    ๘. ไปวัด ชมอารามที่รื่นรมย์ และไปร่วมกิจกรรมทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญของครอบครัว
    ๙. ฝึกความรู้จักประมาณในการบริโภคด้วยปัญญาให้กินอยู่พอดี
    ๑๐.ปฏิบัติกิจส่วนตน ดูแลของใช้ของตนเอง และทำงานของชีวิตด้วยตนเอง
    ๑๑. ชมรายการบันเทิงวันละไม่เกินกำหนดที่ตกลงกันในบ้าน และมีวันปลอดการบันเทิงอย่างน้อยเดือนละ ๑
    ๑๒. มีสิ่งบูชาสักการะประจำ เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย และตั้งมั่นอยู่ในหลักชาวพุทธ

    ด้วยการปฏิบัติ ๓ หมวด ๑๒ ข้อนี้ ข้าพเจ้าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงที่มั่นใจว่าจะสามารถรักษาธรรมไว้ และร่วมนำโลกไปสู่สันติสุข ...


    :z8​




    ที่มา www.kallayanatham.com
     

แชร์หน้านี้

Loading...