เรื่องเด่น ตำนานบทสวดมนต์ ตอน ไชยเบ็งชรต้นแบบพระคาถาชินบัญชรของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 16 กรกฎาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    สมเด็จพระพุฒาจารย์โต-พลังจิต.jpg


    ตำนานบทสวดมนต์ ตอน ไชยเบ็งชรต้นแบบพระคาถาชินบัญชรของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต
    คาถาชินบัญชรมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “ชินะปัญชะระปริตร” บ้าง “ชะยะปัญชะระคาถา” บ้าง ทางล้านนาจัดเข้าในไชยทั้ง ๗ เรียกว่า “ไชยะเบ็งชร” มีอยู่มากมายหลายฉบับ แต่ฉบับที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ ฉบับของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร เพราะ เจ้าประคุณสมเด็จเป็นผู้นำมาเผยแพร่ก่อนเป็นองค์แรก คนทั่วไปจึงเข้าใจว่าสมเด็จท่านเป็นผู้แต่งพระคาถาบทนี้ เมื่อเห็นชินบัญชรต้องนึกถึงสมเด็จก่อน แต่ที่จริงคาถาชินบัญชรนี้เป็นของโบราณ สมเด็จท่านค้นพบในคัมภีร์ใบลานและนำมาเผยแพร่อีกต่อหนึ่ง ดังนั้นจึงปรากฏว่ามีอยู่มากมายหลายฉบับและแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ยังคงเค้าเดิมไว้เป็นส่วนมาก แสดงว่าผู้แต่งเป็นคน ๆ เดียวกัน ที่แผกกันน่าจะมาดัดแปลงแก้ไขในชั้นหลัง ๆ และถึงแม้จะต่างกันโดยพยัญชนะ แต่ก็ไม่ทำให้เสียอรรถะและความมุ่งหมายของท่านผู้แต่งแต่อย่างใด เกี่ยวกับเรื่องนี้หลวงพ่อธรรมสร สิริจนฺโท แห่งวัดตึ๊ดใหม่ อ.เชียงกลาง จ.น่าน เคยกล่าวไว้ว่า “คาถาชินบัญชรมีอยู่มากมายหลายฉบับ ผู้ใดขึ้นใจได้บทใด หรือถือฉบับใดก็ดีทั้งนั้น” ที่เป็นดังนี้เพราะคัดลอกต่อๆ กันมานั่นเอง ย่อมจะผิดเพี้ยนกันไปบ้าง ใครได้สำนวนไหนก็อย่าสงสัยให้ท่องจำตามนั้น อย่าไปหาว่าของคนอื่นผิด เพราะต่างก็ไม่ใช่คนแต่ง ถึงจะเพี้ยนกันไปบ้างก็ไม่ถึงกับทำให้เสียความ ซึ่งยังมีอีกหลายแห่งที่จดจำแตกต่างกันมา และไม่ได้ลงอธิบายไว้ อุปปัตตินิทาน

    “อุปปัตตินิทานอันเกิดแห่งคาถาไชยะเบ็งชรอันนี้ว่ายังมีลูกพระยาเมืองลังกาเกิดมาแล้วหมอโหราทวายว่า ‘มีอายุได้ ๗ ปี ปลาย ๗ เดือน เจ้าราชบุตรลูกมหาราชเจ้าจักตายด้วยฟ้าผ่าชะแล’ ว่าอั้นเถิงเวยยะอายุได้ ๗ ปี เปี่ยง ๗ เดือนแท้ พระยาตนพ่อมีคำเคืองใจมากนัก จิ่งไปไหว้อรหันตาเจ้าทังมวลในเมืองลังกาที่นั้น อรหันตา ๕ ร้อยตน๓พร้อมกันขอดและตนและคาถาเหนือปราสาทชั้นถ้วน ๗ ที่ใกล้ปล่องเบ็งชรแล้ว ก็หื้อพระยาปูชาเอาด้วยอาสนา, ฉัตร, พัด, ช่อ, ทุง, ธูปเทียน, ประทีป, เข้าตอก, ดอกไม้ชู่อันแล้วหื้อลูกพระยาเรียนเอาแล้วจำเริญไหว้ชู่วันไจ้ ๆ เถิงเมื่ออายุได้ ๗ ปี ปลาย ๗ เดือนแท้ ฟ้าก็ผ่าแท้ลวดบ่จับไปจับหินก้อนนึ่ง อันมีทิสะวันตก แจ่งเวียงลังกา ราชกุมารน้อยตนนั้นก็ลวดมีอายุยืนยาวไปพ้นจากไภยะทังมวลแล้วได้เป็นพระยาแทนพ่อวันนั้นแลฯ คาถา ๑๕ บท๔นี้ มีคุณมากนักแล คาถานี้ ๘ ตัวไหน เป็นบาทนึ่ง คือว่า ๔ บาท เป็นคาถาแล”
    ๑ เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธนวมวินิจฉัยของพม่า ในวินยสมูหวินิจฉัยกล่าวถึงคาถาชินบัญชร
    ว่าแต่งในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา รัชกาลที่ ๒๐ ซึ่งเป็นกษัตริย์พม่าที่มาครองนครเชียงใหม่ระหว่าง
    พ.ศ. ๒๑๒๑ – ๒๑๕๐ เรื่องนี้น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ความจริงคาถาชินบัญชรคงจะมี
    มาก่อนหน้าตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแล้วและมีอายุมากกว่านั้น ภายหลังเสื่อมความนิยมลงจึง
    มีการฟื้นฟูขึ้นมาสวดใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา ด้วยเหตุผลบางประการดังปรากฏข้อความใน
    คัมภีร์นั้นว่าทรงโปรดให้ชาวเมืองใช้สวดแทนการบูชาดาวนพเคราะห์ที่ไม่คล้อยตามคำสอนในพระ
    พุทธศาสนา ความน่าจะเป็นดังนี้ แต่มิใช่แต่งขึ้นใหม่ในรัชสมัยของพระองค์อย่างแน่นอน (ผู้เขียน)
    ๒ สันนิษฐานว่าพระมหาเถรชยมังคละแห่งนครหริภุญชัยนำมาแต่ลังกาทวีปพร้อมทั้งคาถาปะโชตา แล้วคัดลอกถวายพระเจ้าติโลกราชเมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๕
    ๓ บ้างว่า ๑๔ ตน (รูป/องค์) ซึ่งน่าจะตรงกับจำนวนพระคาถาในที่นี้
    ๔ ๑๔ บท (เฉพาะที่เป็นวัตตคาถา) แสดงว่าฉบับเดิมมีเพียง ๑๔ บทเท่านั้น
    จากเรื่องเล่าข้างต้นนั้นถอดเป็นใจความได้ว่า สมัยหนึ่งยังมีราชกุมารของกษัตริย์ลังกาพระองค์หนึ่ง (ในประวัติไม่ได้ระบุพระนามไว้) เมื่อแรกคราวประสูติมาโหรหลวงทำนายว่า พระกุมารจะมีพระชนม์อยู่ได้เพียง ๗ ชันษาเท่านั้น ก็จะถูกอสุนีบาตหรือฟ้าผ่าตกต้องพระองค์อย่างแน่นอน พอมีพระชนมายุใกล้ครบ ๗ ปี บริบูรณ์ พระราชบิดาทรงวิตกกังวลพระทัยเป็นยิ่งนัก จึงเสด็จไปนมัสการพระอรหันต์ทั้งปวงในลังกาทวีป เพื่อขอคำชี้แนะปรึกษาและหาทางแก้ไข พระอรหันต์ทั้งปวงจึงประชุมกันบนปราสาทชั้นที่ ๗ ใกล้สีหบัญชร ได้ช่วยกันผูกพระคาถานี้ขึ้น ณ ตรงที่ใกล้ปล่องสีหบัญชรนั้น เหตุนั้นพระคาถานี้จึงปรากฏชื่อว่า “ชินบัญชร” แปลว่า กรง หรือหน้าต่างของพระชินเจ้า ซึ่งโดยปริยายหมายถึงเครื่องป้องกัน โดยนำคำว่าบัญชรซึ่งเป็นมงคลนามมาใช้ในการตั้งชื่อพระคาถา ส่วนชื่อ “ชยปัญชระหรือไชยะเบ็งชร” ตามภาษาล้านนานั้น แปลว่า กรงล้อมแห่งชัยชนะ ถือว่าเป็นมงคลนามเช่นกัน
    หลังจากนั้นก็ให้พระองค์บูชาเอาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ แล้วให้พระกุมารเรียนเอาพระคาถาทั้งหมดและสาธยายเป็นประจำทุกวัน พอพระชนมายุครบ ๗ ปี บริบูรณ์ ฟ้าก็ผ่าจริงตามคำทำนายของโหราจารย์ แต่กลับผ่าไม่ถูกพระราชกุมารแต่อย่างใด ได้พลาดไปถูกศิลาใหญ่ก้อนหนึ่งซึ่งอยู่ทางมุมเมืองด้านทิศตะวันตกของเมืองลังกาแทน ขณะกำลังประทับอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง พระกุมารจึงพ้นจากมรณภัยและมีพระชนมายุยืนยาวไปจวบจนกระทั่งได้สืบราชสมบัติเป็นกษัตริย์ลังกาต่อจากพระราชบิดา เพราะอานุภาพของคาถาชินบัญชรๆ จึงได้รับการยกย่องนับถือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
    อาศัยเหตุที่ พระกุมารรอดพ้นจากมรณภัยครั้งนั้น พระคาถาบทนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถาฟ้าฟีก” ซึ่งหมายถึง ฟ้าหลีก นั่นเอง โดยโบราณาจารย์ล้านนาได้ถอดอักขระย่อออกไว้เป็นตับต๊อง (ตับท้อง) และหัวใจคาถาเรียกว่า ตับต๊องชินบัญชรหรือ หัวใจฟ้าฟีก ดังนี้ ระตะนัง ปุระโต อาสิ (อยู่ในบทที่ ๑๐) มีประสิทธิคุณทางภาวนาป้องกันอันตราย ให้ปลอดภัยแคล้วคลาดจากฟ้าผ่า ไฟไหม้ เป็นต้น นับถือกันว่าประสิทธินัก บ้างก็เรียก คาถายอดตาลหิ้น ใช้ไปในทางอยู่ยงคงกระพันก็มี มีเรื่องเล่าว่า ในดินแดนล้านนาสมัยของเจ้าหนานติ๊บจ๊าง (ทิพย์ช้าง) วีรบุรุษต้นตระกูล ทิพย์ช้าง, เจ้าเจ็ดตน ผู้กอบกู้นครลำปาง แค่ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามก็คงพอรู้แล้วว่าเก่งกล้าสามารถขนาดไหน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวั ดลำปาง เป็นรอยกระสุนทะลุผ่านรั้วทองเหลืองกำแพงแก้วล้อมองค์พระธาตุ เมื่อครั้งเจ้าหนานนำกองกำลังบุกเข้าไปยิงท้าวมหายศแม่ทัพพม่าตาย ซึ่งยึดบริเวณลานวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นที่พักกำลังพล ทำให้ทัพพม่าแตกกระจัดกระจายไป เผอิญมีกระสุนนัดหนึ่งทะลุไปถูกรั้วทองเหลืองปรากฏร่องรอยหลงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ นับเป็นวีรกรรมกู้ชาติที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญอีกวีรกรรมหนึ่ง๑ ท่านเป็นเจ้าปู่ของเจ้าชีวิตอ้าว องค์นี้ก็เช่นเดียวกันอุทานว่าอ้าวเมื่อไหร่ เป็นต้องจับประหาร เมื่อนั้น เจ้าหนานมีอาจารย์อยู่ท่านหนึ่งซึ่งนับถือมาก (เล่ากันว่าได้แก่พระมหาเถร วัดชมพู) เป็นผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาอาคมทั้งหลายให้กับเจ้าหนาน วันหนึ่งท่านเรียกเจ้าหนานเข้าไปหาบอกว่าจะให้ของดี มันเป็นคาถาแต่ยังไม่มีชื่อเรียก มีอยู่ ๘ คำ ซึ่งได้แก่คาถาดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง เมื่อเจ้าหนาน ท่องจำจนขึ้นใจแล้วต้องการพิสูจน์ความขลัง จึงสั่งให้พวกทหารเอาปืนมาอยู่ใต้ต้นตาลให้มากที่สุด จากนั้นก็ขึ้นไปอยู่บนยอดตาลแล้วสั่งให้พวกทหารระดมยิง ยิงเท่าไหร่ก็ไม่จับ แต่ลูกกระสุนกลับถูกยอดของต้นตาลจนปลายด้วนหมด เจ้าหนานจึงตั้งชื่อคาถาบทนี้ว่า “ยอดตาลหิ้น” ซึ่งหมายถึง “ยอดตาลเหี้ยน” นั่นเอง และใช้เรียกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา๒
    ชินบัญชรฉบับล้านนานั้นจะใกล้เคียงกับฉบับลังกาเป็นส่วนมาก มีที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นโดยฉบับลังกาจะเน้นการสวดให้ผู้อื่น ส่วนฉบับล้านนาและฉบับอื่นๆ จะเน้นการสวดให้กับตนเอง ต่อแต่นี้จะได้นำคาถาชินบัญชรฉบับลังกา ฉบับพม่า พร้อมทั้งฉบับวัดระฆังโฆสิตาราม มาลงไว้เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกันของแต่ละฉบับ และให้สาธุชน ทั้งหลายได้เลือกสวดตามความพอใจ ดังนี้

    รัตนะบัญชรหรือรัตนะชวยไช่
    (ชินบัญชรฉบับพม่าและล้านนา)

    ๑. ชะยาสะนาคะตา พุทธา ชิต๎วา มารัง สะวาหะนัง
    จะตุสัจจะมะตะระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา ฯ
    ๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา
    สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา ฯ
    ๓. สีเส ปะติฏฐิโต โนสิ พุทโธ ธัมโม ท๎วิโลจะเน
    สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร ฯ
    ๔. หะทะเย เม อะนุรุทโธ สาริปุตโต จะ ทักขิเณ
    โกณฑัญโญ ปัจฉาภาคัส๎มิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก ฯ
    ๕. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุลา
    กัสสะโป จะ มะหานาโม อุโภสุง วามะโสตะเก ฯ
    ๖. เกสันเต ปิฏฐิภาคัส๎มิง สุริโยวะ ปะภังกะโร
    นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว ฯ
    ๗. กุมาระกัสสะโป นามะ มะเหสี จิต๎ระวาจะโก
    โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร ฯ
    ๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลินันทะสีวะลิ
    อิเม ปัญจะ มหาเถรา นะลาเฏ ติละกา วิยะ ฯ
    ๙. เตหิ เสสา มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
    ชะลันตา สีละเตเชนะ อัคคะมังเคสุ สัณฐิตา ฯ
    ๑๐. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
    ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง ฯ
    ๑๑. ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
    อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะลังกะตา ฯ
    ๑๒. ชินานัง พะละสังยุตเต ธัมมะปาการะลังกะเต
    วะสะโต เม อะกิจเฉนะ สัมมาสัมพุทธะปัญชะเร ฯ
    ๑๓. วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
    อะเสสา วินาสัง ยันตุ อะนันตะคุณะเตชะสา ฯ
    ๑๔ ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะหีตะเล
    สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา ฯ
    ๑๕. กะโต อิจเจวะเมกันตัง สุรักโข ชินะเตชะสา
    คุณากะรัสสะ สังฆัสสะ ภะเวยยัง สุขิโต อะหัง ฯ

    (คัดจากท้ายหนังสือ คัมภีร์สังขยาปกาสกฎีกา)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 16 กรกฎาคม 2017
  2. เสขะปฎิสัมภิทา

    เสขะปฎิสัมภิทา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ตถาคต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 สิงหาคม 2014
    โพสต์:
    2,790
    ค่าพลัง:
    +3,201
    ความใกล้เคียงการประกาศธรรม เสมือนดัง ว่าด้วยทัสนวิสุทธิญาณ


    จาก
    ปฎิสัมภิทามรรค "การรวบรวมองค์คุณพระรัตนตรัย แยกลงสู่ขันธ์ ลึกกว่านี้ยังมีอีก ต้องไขความ ทำไมต้องจุดนั้น ,องค์คุณนี้มีลักษณะธรรมเปนอย่างไร?, เป็นธรรมสมบัติสืบต่ออย่างไร?
    ลึกมาก
    ไม่ใช่คิดจะวางไว้ตรงไหนก็วางไปมั่วๆ นี่แสดงว่าต้องรู้คุณสมบัติพื้นฐานของธรรมนั้นๆก่อน ที่เกี่ยวพันกัน แบบส่วนตัวก็มี

    บัดนี้ เพื่อจะแสดงทัสนวิสุทธิอันเป็นเหตุแห่งการแสดงตามสภาวธรรมของพระอริยบุคคลนั้นผู้กำลังแสดงให้เห็นชัดอยู่แก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่นด้วยธรรมิกถา พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงยกเอาทัสนวิสุทธิญาณขึ้นแสดงต่อจากอัตถสันทัสนญาณนั้น.
    ในทัสนวิสุทธิญาณนั้น คำว่า สพฺพธมฺมานํ เอกสงฺคหตา นานตฺเตกตฺตปฏิเวเธ - ในการสงเคราะห์ธรรมทั้งปวงเป็นหมวดเดียวกันในการแทงตลอดธรรมต่างกันและธรรมเป็นอันเดียวกัน.

    ความว่า การแทงตลอดสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งปวงสงเคราะห์โดยความเป็นอันเดียวกัน, และความต่างกันแห่งนีวรณธรรมมีกามฉันทะเป็นต้น, กับทั้งความเป็นอันเดียวกันแห่งธรรมทั้งหลายมีเนกขัมมะเป็นต้น.

    อธิบายว่า อภิสมัย คือตรัสรู้.
    ก็ปฏิเวธนั้นได้แก่ มรรคปัญญา ๑ ผลปัญญา ๑.
    มรรคปัญญาเป็นปฏิเวธ เพราะกำลังแทงตลอดด้วยการตรัสรู้สัจจะในขณะตรัสรู้สัจจะ, ผลปัญญาเป็นปฏิเวธ เพราะแทงตลอดแล้ว.
    พึงทราบวินิจฉัยใน คำว่า เอกสงฺคหตา ดังต่อไปนี้ :-
    สังคหะ - การสงเคราะห์มี ๔ อย่างคือ ชาติสังคหะ - สงเคราะห์โดยชาติ, สัญชาติสังคหะ - สงเคราะห์โดยสัญชาติ, กิริยาสังคหะ - สงเคราะห์โดยการกระทำ, คณนสังคหะ - สงเคราะห์โดยการนับ.

    บรรดาสังคหะ ๔ อย่างนั้น สังคหะนี้ว่า กษัตริย์ทั้งปวงจงมา พราหมณ์ทั้งปวงจงมา แพศย์ทั้งปวงจงมา ศูทรทั้งปวงจงมา หรือ ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ, ธรรมเหล่านี้ ท่านสงเคราะห์ลงในสีลขันธ์๑- ดังนี้. ชื่อว่าชาติสังคหะ เพราะว่าในที่นี้ กษัตริย์เป็นต้นดังที่กล่าวแล้วทั้งหมด ท่านสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันโดยชาติ ดุจในฐานะแห่งคำที่กล่าวว่า คนชาติเดียวกันจงมา ดังนี้.
    สังคหะนี้ว่า ชนชาวโกศลทั้งปวงจงมา ชนชาวมคธทั้งปวงจงมา ชนชาวภารุกัจฉกะจงมา หรือ ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ สัมมาวายามะ, สัมมาสติและสัมมาสมาธิ, ธรรมเหล่านี้ ท่านสงเคราะห์ลงในสมาธิขันธ์๑- ดังนี้. ชื่อว่าสัญชาติสังคหะ เพราะว่า ในที่นี้ ชนชาวโกศลเป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ท่านสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันโดยที่เป็นที่เกิด โดยที่เป็นที่อยู่อาศัย ดุจในฐานะแห่งคำที่กล่าวว่า คนสัมพันธ์กันโดยชาติ ในที่เดียวกันจงมา ดังนี้.

    สังคหะนี้ว่า นายควาญช้างทั้งปวงจงมา นายสารถีฝึกม้าทั้งปวงจงมา, หรือ ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ, ธรรมเหล่านี้ ท่านสงเคราะห์ลงในปัญญา๑- ดังนี้. ชื่อว่ากิริยาสังคหะ เพราะว่านายควาญช้างเป็นต้นเหล่านั้นทั้งหมด ท่านสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันด้วยการกระทำคือกิริยาของตน.
    ____________________________
    ๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๘

    สังคหะนี้ว่า จักขายตนะย่อมถึงการนับโดยขันธ์เป็นไฉน? จักขายตนะย่อมถึงการนับได้ด้วยรูปขันธ์. หากว่า จักขายตนะย่อมถึงการนับได้ด้วยรูปขันธ์, ด้วยเหตุนั้นนะท่านจึงต้องกล่าวว่า จักขายตนะ ท่านนับสงเคราะห์ด้วยรูปขันธ์๒- ดังนี้. ชื่อว่าคณนสังคหะ.
    ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาคณนสังคหะนี้.
    ____________________________
    ๒- อภิ. ก. ๓๗/๑๑๒๘

    การกำหนดนับสงเคราะห์ธรรมเป็นแผนกๆ โดยความเป็นอันเดียวกัน ในอาการ ๑๒ มีตถัฏฐะ - สภาพตามความเป็นจริงเป็นต้นมีแก่สังคหะเหล่านั้น ฉะนั้น สังคหะเหล่านั้นจึงชื่อว่าเอกสังคหา, ความเป็นแห่งเอกสังคหะ ชื่อว่าเอกสังคหตา - การสงเคราะห์ธรรมต่างๆ โดยความเป็นอันเดียวกัน.

    คำว่า ทสฺสนวิสุทฺธิญาณํ - ญาณในความบริสุทธิ์แห่งมรรคญาณและผลญาณ.
    ความว่า มรรคญาณและผลญาณชื่อว่าทัสนะ, ทัสนะนั่นแหละบริสุทธิ์ชื่อว่าทัสนวิสุทธิ, ญาณคือทัสนวิสุทธิชื่อว่าทัสนวิสุทธิญาณ. มรรคญาณย่อมบริสุทธิ์ ฉะนั้นจึงชื่อว่าทัสนวิสุทธิ, ผลญาณก็ชื่อว่าทัสนวิสุทธิ เพราะบริสุทธิ์แล้ว.



    โดยนัย มีแต่ผู้สามารถในปฎิสัมภิทามรรค จึงจักสามารถวิสัชนาได้
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 ธันวาคม 2017
  3. นทีบุญ

    นทีบุญ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    939
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +795
    สาธุดีๆมากๆเลยค่ะ เดี๋ยวมาอ่านต่อ ยังอ่านไม่จบ:D
     

แชร์หน้านี้

Loading...