ตำนานพระอสีติมหาสาวก ตอน พระมหากัจจายนะผู้เลิศการเทศนาขยายความแห่งธรรม

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 10 ธันวาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,438
    24862666_10214983916101049_7851792795738081850_n.jpg 24862666_10214983916101049_7851792795738081850_n.jpg
    พระมหากัจจายนเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรก ๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และพระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เป็นเอตทัคคะ ทางด้านการเทศนาขยายความแห่งธรรมที่พระพุทธองค์แสดงไว้โดยย่อ ให้พิสดาร โดยพระอรรถกถาจารย์ได้พรรณาไว้ว่า ท่านสามารถทำพระดำรัสโดยย่อของพระตถาคตให้บริบูรณ์ ทั้งโดยอรรถทั้งโดยพยัญชนะได้ ชื่อของท่านในพระไตรปิฎกบางแห่งพิมพ์เป็น พระมหากัจจานเถระ หรือพระสังกัจจายน์

    ความปรารถนาในอดีต

    ประวัติในอดีตชาติของท่าน นอกจากในหลาย ๆ ชาติที่ท่านได้เกิดร่วมสมัยกับพระพุทธองค์เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ดังเช่นได้เกิดเป็น รัชชุคาหกะอำมาตย์ผู้รังวัด เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็น พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ใน กุรุธรรมชาดกได้เกิดเป็น กาฬเทวิลดาบส เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็น สรภังคดาบส ใน อินทริยชาดกได้เกิดเป็น กาลเทวละดาบส เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็น สรภังคดาบสโพธิสัตว์ ใน สรภังคชาดก

    ส่วนในชาติที่ท่านได้แสดงถึงความปรารถนาที่จะได้รับตำแหน่งเอตทัคคะดังกล่าวมีดังนี้

    ได้ยินว่า ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ พระมหากัจจายนเถระนั้นบังเกิดในสกุลคฤหบดีผู้มหาศาล ครั้นเมื่อเจริญวัยแล้ว อยู่มาวันหนึ่งวันหนึ่งได้ไปยังพระวิหารที่พระพุทธปทุมุตตระประทับอยู่ และฟังธรรมอยู่แถวท้ายหมู่พุทธบริษัทในวิหารนั้น ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัสที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้พิสดาร ท่านจึงปรารถนาที่จะได้เป็นอย่างภิกษุนี้ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเช่นนั้นบ้าง

    ดังนั้นท่านจึงนิมนต์พระพระปทุมุตตระพุทธเจ้า และทำการถวายมหาทานอยู่ ๗ วัน แล้วท่านจึงหมอบลงแทบพระบาทของพระศาสดา แสดงความปรารถนาว่า ด้วยผลแห่งการถวายทานสักการะนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่นใด เพียงแต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงได้ตำแหน่งเอตทัคคะนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือน ภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง ในวันสุดท้าย ๗ วัน นับแต่วันนี้

    พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาลด้วยพุทธญาณ ทรงเห็นว่าความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่ากุลบุตรผู้เจริญ ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งคำที่ตรัสโดยสังเขปให้พิสดาร ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าดังนี้ ครั้นเมื่อทรงพยากรณ์แล้ว ทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จกลับไป

    ฝ่ายกุลบุตรนั้นบำเพ็ญกุศลตลอดชีพแล้วเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภูมิเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายแสนกัป ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ได้เป็นวิทยาธร เที่ยวไปทางอากาศ ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ซึ่งประทับนั่งในชัฏแห่งป่าแห่งหนึ่ง มีใจเลื่อมใสได้เอาดอกกรรณิการ์มาทำการบูชา ด้วยบุญอันนั้น ท่านจึงเกิดเฉพาะแต่ในสุคติภูมิอย่างเดียว

    ครั้นสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านพระมหากัจจายนเถระก็มาถือปฏิสนธิในครอบครัวหนึ่ง ในกรุงพาราณสี เมื่อพระกัสสปพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านก็ไปยังสถานที่สร้างเจดีย์ทอง จึงเอาอิฐทองมีค่าแสนหนึ่งถวายเป็นพุทธบูชา ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สรีระของข้าพระองค์จงมีวรรณเพียงดังทองในที่ ๆ เกิดแล้วเถิด

    ต่อแต่นั้น ก็กระทำกุศลกรรมจนตลอดชีวิต และได้เวียนว่ายในภูมิเทวดาและมนุษย์ ได้พุทธันดรหนึ่ง ทั้งนี้ด้วยผล ๓ ประการแห่งพุทธบูชานั้น ดังที่กล่าวไว้ใน อปทาน ( ขุ. อ. ๓๓/ข้อ ๑๒๑) ดังนี้

    ๑. เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา

    ๒. เราท่องเที่ยวอยู่แต่ในสองภพ คือในเทวดาและมนุษย์ ไม่เกิดในภูมิอื่น นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา

    ๓. เราเกิดในสองสกุล คือสกุลกษัตริย์และสกุลพราหมณ์ เราไม่เกิดใน สกุลที่ต่ำทราม นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 ธันวาคม 2017
  2. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,438
    กำเนิดพระสังกัจจายนะในพุทธกาล
    24862630_547601158929668_3721268118952670961_n.jpg
    กำเนิดในพุทธกาล

    ครั้งกาลสมัยพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราอุบัติ ท่านก็ได้มาบังเกิดเป็นบุตรของติปิติวัจฉพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในพระนครอุชเชนี ส่วนผู้เป็นมารดาชื่อจันทนปทุมา ในวันขนานนามท่าน มารดาบิดาปรึกษากันว่าบุตรของตนนั้นมีสรีระมีผิวดั่งทอง จึงขนานนามท่านว่า กาญจนมาณพ ดังนี้

    ครั้นเจริญขึ้นแล้วท่านก็ได้ศึกษาไตรเทพจนจบสิ้น ต่อมาเมื่อบิดาท่านวายชนม์แล้ว-ท่านก็ได้รับตำแหน่งปุโรหิตสืบแทนท่านบิดา โดยนามโคตรว่ากัจจายนะ

    ครั้งหนึ่งพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชุมเหล่าอำมาตย์แล้วมีพระราชดำรัสถามว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบังเกิดขึ้นในโลกแล้ว จะมีผู้ใดสามารถทูลอาราธนาพระพุทธองค์มาได้ อำมาตย์ทูลว่า อาจารย์กาญจนพราหมณ์เท่านั้นที่จะเป็นผู้สามารถทูลอาราธนาพระพุทธองค์มาได้

    พระเจ้าจัณฑปัชโชติจึงให้ตรัสเรียกกัจจายนะอำมาตย์มาเข้าเฝ้าและตรัสสั่งให้ท่านกัจจายนะอำมาตย์ไปยังสำนักของพระพุทธเจ้า และทูลอาราธนามายังวัง กัจจายนะอำมาตย์ทูลขอพรว่า ถ้าอนุญาตให้ท่านได้บวชท่านก็จะไป พระเจ้าจัณฑปัชโชติทรงให้พรตามที่กัจจายนะอำมาตย์ทูลขอ

    เข้าเฝ้าพระพุทธองค์

    กัจจายนอำมาตย์ จึงคัดเลือกผู้ที่จะไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมกับตนเพียง ๘ คน และออกเดินทาง ครั้นเมื่อไปถึง และได้ฟังพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรม เมื่อจบเทศนาหมู่อำมาตย์นั้นก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ทั้ง ๘ ท่าน พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยการเหยียดพระหัตถ์และทรงตรัสว่า เธอ จงมาเป็นภิกษุเถิด, จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด ในทันใดนั้น ผมและหนวดของพระอรหันต์ทั้ง ๘ องค์ก็หายไป บาตร และจีวรก็บังเกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถเหมือนพระเถระตั้งร้อยพรรษาฉะนั้น

    พระอรหันตเถระเหล่านั้นเมื่อกิจของตนถึงที่สุดแล้วก็ไม่นั่งนิ่งอยู่เฉย กล่าวอาราธนาพระพุทธองค์เพื่อเสด็จไปกรุงอุชเชนีเหมือนที่พระกาฬุทายีเถระเคยกระทำ พระศาสดาสดับคำอาราธนาของท่านแล้วทรงพระวินิจฉัยว่า พระกัจจายนะย่อมหวังการไปของเราในชาติภูมิของตน แต่ธรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอาศัยเหตุอันหนึ่ง จึงไม่เสด็จไปสู่ที่ที่ไม่สมควรเสด็จ เพราะฉะนั้นจึงตรัสแก่พระมหากัจจายนเถระว่า

    "ภิกษุ ท่านนั้นแหละจงไป เมื่อท่านไปแล้ว พระราชาจักทรงเลื่อมใส"

    พระมหากัจจายนเถระจึงถวายบังคมพระตถาคต แล้วกลับไปกรุงอุชเชนีพร้อมกับภิกษุทั้ง ๗ รูปที่มาพร้อมกับตนนั้น ในระหว่างทางกลับกรุงอุชเชนี ภิกษุเหล่านั้นได้เที่ยวบิณฑบาตในนิคมชื่อว่า นาลินิคม

    โปรดธิดาเศรษฐีผู้มีผมงาม

    ในนิคมนั้น มีธิดาเศรษฐี ๒ คน คนหนึ่งเกิดในตระกูลเก่าแก่เข็ญใจ เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีพไปแล้ว ก็อาศัยเป็นนางนมเลี้ยงชีพ แต่รูปร่างของเธอนั้นบึกบึน ผมยาวเกินคนอื่น ๆ ในนิคมนั้น

    และยังมีธิดาของตระกูลอิศรเศรษฐีอีกคนหนึ่ง เป็นคนไม่มีผม เมื่อก่อนนั้นมาแม้นางธิดาผู้นี้จะขอซื้อผมจากนางผมดกในราคา ๑๐๐ กหาปณะ หรือ ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่เธอ ก็ไม่สำเร็จ

    ในวันนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มีผมดกนั้นเห็นพระมหากัจจายนเถระมีภิกษุ ๗ รูปเป็นบริวาร เดินมามีบาตรเปล่า คิดว่าภิกษุผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์รูปหนึ่ง มีผิวดังทองรูปนี้เดินไปบาตรเปล่าทรัพย์อย่างอื่นของเราก็ไม่มี แต่ว่าธิดาเศรษฐีผู้ไม่มีผมบ้านโน้นเคยส่งคนมาเพื่อต้องการซื้อผมจากเรา ตอนนี้เราอาจถวายไทยธรรมแก่พระเถระได้ด้วยทรัพย์ที่เกิดจากที่ได้ค่าผมนี้

    เมื่อคิดดังนั้นแล้วจึงส่งสาวใช้ ไปนิมนต์พระเถระทั้งหลายให้นั่งภายในเรือนของตน พอพระเถระนั่งแล้ว นางก็เข้าห้องตัดผมของตน แล้วกล่าวแก่สาวใช้ว่า เจ้าจงเอาผมเหล่านี้ให้แก่ธิดาเศรษฐีบ้านโน้น แล้วเอาของที่นางให้มา เราจะถวายบิณฑบาตแก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย สาวใช้ ถือผมนั้นไปยังสำนักของธิดาเศรษฐี.

    ธรรมดาขึ้นชื่อว่าของที่จะขายนั้น จะมีราคาก็ต่อเมื่อผู้ซื้อต้องการขอซื้อ ธิดาเศรษฐีผู้ไม่มีผมคิดว่า เมื่อก่อนเราขอซื้อด้วยทรัพย์เป็นอันมาก แต่นางก็ไม่ยอมขาย แต่บัดนี้ เมื่อนางมาเสนอขายเอง ก็ไม่ได้ตามราคาเดิม จึงให้ไป ๘ กหาปณะเท่านั้น สาวใช้นำกหาปณะไปมอบให้แก่ธิดาเศรษฐีผู้มีผมมาก

    ธิดาเศรษฐีก็จัดบิณฑบาต ๘ ที่ ให้มีค่าที่ละหนึ่งกหาปณะ ถวายแด่พระเถระทั้งหลาย

    พระเถระเล็งดูด้วยฌานแล้ว เห็นอุปนิสัยของธิดาเศรษฐี จึงถามว่าธิดาเศรษฐีไปไหน

    สาวใช้ตอบว่า อยู่ในห้องเจ้าค่ะ

    พระเถระว่า จงไปเรียกนางมาซิ

    ธิดาเศรษฐีก็มาด้วยความเคารพในพระเถระ ไหว้พระเถระแล้วเกิดศรัทธาอย่างแรง อันว่าทานอันบริสุทธิ์นั้นย่อมให้ผลในปัจจุบันชาติทีเดียว เพราะฉะนั้น พร้อมกับการไหว้พระเถระ ผมของนางจึงเกิดขึ้นดังเดิม

    โปรดพระเจ้าจันฑปัชโชต

    ฝ่ายพระเถระทั้งหลายจึงถือเอาบิณฑบาตนั้นเหาะขึ้นไปต่อหน้าธิดาเศรษฐี และเหาะลงยังพระราชอุทยานของพระเจ้าจันฑปัชโชต ชื่ออุทธยานกัญจนะ คนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นพระเถระนั้น จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า

    ข้าแต่สมมติเทพ พระคุณเจ้ากัจจายะปุโรหิตของเราบวชแล้ว และกลับมายังอุทยานแล้วพระเจ้าข้า

    พระเจ้าจันฑปัชโชตจึงเสด็จไปยังอุทยาน ไหว้พระเถระผู้กระทำภัตกิจแล้วด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ตรัสถามว่า ท่านเจ้าข้าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนล่ะ

    พระเถระทูลว่า พระองค์มิได้เสด็จมาเอง ทรงส่งอาตมะมา มหาบพิตร

    พระราชาตรัสถามว่าท่านผู้เจริญ วันนี้พระคุณเจ้าได้ภิกษา ณ ที่ไหน

    พระเถระทูลบอกเรื่องที่ธิดาเศรษฐีกระทำทุกอย่างให้พระราชาทรงทราบ ตามถ้อยคำควรแก่ที่ตรัสถาม พระราชาตรัสสั่งให้จัดแจงที่อยู่แก่พระเถระ แล้วนิมนต์พระเถระไปยังนิเวศน์ แล้วรับสั่งให้ไปนำธิดาเศรษฐีมาตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีแล้ว

    พระราชาทรงกระทำสักการะใหญ่แต่พระมหากัจจายนเถระ มหาชนเลื่อมใสในธรรมกถาของพระเถระ บวชในสำนักของพระเถระ ตั้งแต่นั้น ทั่วพระนครก็รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัตรเป็นอันเดียวกัน คลาคล่ำ ไปด้วยหมู่ภิกษุ ฝ่ายพระเทวีนั้นทรงเลื่อมใสในพระมหากัจจายนเถระอย่างยิ่ง ขอพระราชานุญาตสร้างวิหารถวายพระเถระในกัญจนราชอุทยาน พระเถระยังชาวอุชเชนีให้เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาแล้ว จึงกลับไปเฝ้าพระศาสดาอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาภายหลังพระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงกระทำพระสูตร ๓ สูตร เหล่านี้คือ มธุบิณฑิกสูตร, กัจจายนเปยยาลสูตร, ปรายนสูตร ให้เป็นอรรถุปบัติเหตุ แล้วทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัสที่ทรงตรัสโดยย่อให้พิสดารแล้ว

    ปรับพุทธบัญญัติบางข้อสำหรับจังหวัดอวันตีทักขิณาบถ

    สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีชายผู้หนึ่งชื่อ โสณะอุบาสกได้ฟังธรรมในสำนักของท่านพระมหากัจจายนะ ก็บังเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา มีจิตตั้งอยู่ในสรณะและศีล จึงได้สร้างวิหารในที่อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ ใกล้ปวัตตบรรพต แล้วนิมนต์พระเถระให้อยู่ในวิหารนั้น โสณะอุบาสกได้อุปัฏฐากท่านพระมหากัจจายนะด้วยปัจจัยทั้ง ๔.ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โสณะอุบาสกเป็นอุปัฏฐากของท่านมหากัจจานะ

    ครั้งหนึ่งโสณะอุบาสกได้เดินทางไปยังเมืองอุชเชนีกับหมู่เกวียนเพื่อต้องการค้าขาย ครั้นค่ำลงในระหว่างทางหมู่เกวียนได้หยุดกองเกวียนไว้ในดงเพื่อพักผ่อน โสณะอุบาสกเพื่อหลีกการพักอย่างแออัดจึงหลีกไปนอนที่ท้ายหมู่เกวียน ครั้นใกล้รุ่ง หมู่เกวียนก็เคลื่อนออกเดินทางต่อไปโดยไม่มีใครปลุกโสณะอุบาสก

    ครั้นเมื่อตื่นขึ้น โสณะอุบาสกไม่เห็นใครเลยก็ออกเดินไปตามทางเกวียนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหนื่อยจึงได้เข้าพักยังต้นไทร ระหว่างทาง ณ ที่นั้นเขาได้พบเปรตตนหนึ่งยืนกินเนื้อของตนเองที่หล่นจากกระดูก โสณะอุบาสกจึงได้ถามถึงกรรมของเปรตที่ทำมาในอดีต

    เปรตนั้นก็เล่าว่า เมื่อชาติก่อนตนเป็นพ่อค้าอยู่ในเมืองภารุกัจฉนคร ได้หลอกลวงเอาของ ของคนอื่นมาเคี้ยวกิน เมื่อมีสมณะเข้าไปบิณฑบาต ตนก็ด่าว่า จงเคี้ยวกินเนื้อของพวกมึงซิ เพราะกรรมนั้นจึงต้องเสวยทุกข์เช่นนี้

    โสณะอุบาสกได้ฟังดังนั้นกลับได้ความสลดใจอย่างเหลือล้น และได้เดินทางต่อไป ก็ได้พบพวกเปรตเล็ก ๒ ตน มีโลหิตดำไหลออกจากปาก จึงถามถึงบุรพกรรมของเปรตนั้นเช่นเดียวกัน ฝ่ายเปรตเหล่านั้น ก็ได้เล่ากรรมของตน แก่โสณะอบาสกนั้น ความว่า

    ในอดีตชาติ ในเวลาที่ยังเป็นเด็ก เปรตเหล่านั้นเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายสิ่งของ ในภารุกัจฉนคร เมื่อมารดาของตนนิมนต์พระขีณาสพทั้งหลายให้มาฉัน จึงไปยังเรือนแล้ว ด่าว่า ทำไม แม่จึงให้สิ่งของของพวกเรากับพวกสมณะ ขอให้โลหิตดำจงไหลออกจากปากของพวกสมณะ ผู้บริโภคโภชนะที่แม่ให้แล้วเถิด เพราะกรรมนั้น เด็กเหล่านั้น จึงไปเกิดในนรก หมดกรรมจากนรกแล้ว ก็มาเกิดเป็นเปรต ด้วยเศษแห่งวิบากของกรรมนั้น

    โสณะอุบาสก ได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสลดใจอย่างเหลือล้น ครั้นเมื่อเขากลับไปยังกรุงอุชเชนี จึงได้ขอบรรพชาต่อพระมหากัจจายนเถระ ท่านพระมหาเถระพิจารณาแล้วเห็นว่า ญาณของโสณะอุบาสกยังไม่แก่กล้าพอต่อเพศบรรพชิต จึงได้ยับยั้งไว้ถึงสองครั้ง

    ในวาระที่สาม พระเถระพิจารณาเห็นว่าโสณะอุบาสกมีญาณแก่กล้าเพียงพอแล้ว จึงยินยอมให้บรรพชา แต่ว่าในสมัยนั้นการบรรพชาโดยพระสาวกต้องกระทำด้วยองค์ทสวรรค คือต้องหาพระสงฆ์ให้ครบ ๑๐ รูป สมัยนั้น อวันตีชนบทอันตั้งอยู่แถบใต้ มีภิกษุน้อยรูป ท่านพระมหากัจจายนเถระกว่าจะจัดหาพระภิกษุสงฆ์ ให้ครบองค์ประชุมทสวรรคได้ก็ต่อล่วงไปถึง ๓ ปี จึงอุปสมบทให้ท่านพระโสณะได้

    ครั้นเมื่อบวชแล้วได้ระยะหนึ่ง พระโสณะเถระปรารถนาจะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้ขออนุญาตต่อพระอุปัชฌาย์คือพระมหากัจจายนเถระ ท่านพระกัจจายนเถระก็อนุญาตพร้อมทั้งสั่งให้ไปกราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้อยู่ในอวันตีชนบท คือ:-

    ๑. จังหวัดอวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อยรูป ขอได้โปรดทรงอนุญาตอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์เพียง ๕ รูปได้ ทั่วปัจจันตชนบท

    ๒. พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีดินสีดำมาก ดื่นดาดด้วยระแหง กีบโค ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้พระภิกษุสวมรองเท้าหลายชั้นได้ทั่วปัจจันตชนบท

    ๓. คนทั้งหลายในอวันตีทักขิณาบถ นิยมการอาบน้ำ ถือว่าน้ำทำให้บริสุทธิ์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ทั่วปัจจันตชนบท

    ๔. ในอวันตีทักขิณาบถ ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วย หนังแกะ หนังแพะหนังกวาง เป็นปกติธรรมดาเหมือนกับที่ในมัชฌิมชนบท ใช้เครื่องลาดที่ทำด้วยหญ้าตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง เป็นปกติธรรมดาเช่นกัน ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุได้ใช้ หนังเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ หนังกวาง ทั่วปัจจันตชนบท

    ๕. เมื่อมีผู้ฝากถวายจีวรให้กับหมู่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาด้วยคำว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากก็มาบอกแก่ภิกษุชื่อนั้น ๆ ว่า มีคนที่มีชื่ออย่างนี้ ฝากจีวรให้มาถวายแก่ท่าน พวกภิกษุผู้ได้รับคำบอกเล่าเมื่อทราบดังนั้น ก็รังเกียจไม่ยินดีรับจีวรที่มีผู้ฝากมาถวาย โดยคิดว่าจีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ภิกษุนั้นรับจีวรที่มีผู้ฝากภิกษุอื่นมาถวายได้ โดยให้ถือว่าจีวรนั่นยังไม่ควรนับราตรี ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงมือภิกษุผู้ที่เขาเจาะจงถวาย

    พระบรมศาสดาทรงอนุญาตตามที่ พระมหากัจจายนเถระกราบทูลขอ

    ต่อมาพระโสณะเถระท่านนี้ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็น เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวถ้อยคำอันไพเราะ
     
  3. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,438
    การเผยแพร่ธรรมของพระมหากัจจายนะ
    24899732_547604048929379_8738574667915024710_n.jpg
    ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่ง

    เอตทัคคะ ผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัสที่ทรงตรัสโดยย่อให้พิสดาร

    ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ได้ปรากฏอยู่หลายแห่ง เช่นเมื่อคราวพระพุทธองค์ทรงแสดง มธุปิณฑิกสูตร แก่พระภิกษุหมู่หนึ่ง แต่ได้ทรงแสดงไว้โดยย่อ เหล่าพระภิกษุนั้นเมื่อฟังความโดยย่อเช่นนั้นก็สงสัยว่าใครจะเป็นผู้สามารถเทศนาความโดยละเอียดให้แก่พวกตนได้ ก็นึกถึงพระมหากัจจายนเถระว่าเป็นผู้ที่พระศาสดาทรงยกย่องว่าจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ให้พิสดารได้ จึงได้ไปอาราธนาพระมหากัจจายนเถระให้เทศน์ขยายความในเรื่องดังกล่าว

    พระมหาเถระก็ได้เทศนาบรรยายขยายความอย่างพิสดารให้แก่หมู่ภิกษุเหล่านั้น ครั้นเมื่อจบแล้ว หมู่ภิกษุจึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทูลเรื่องที่พวกตนอาราธนาพระมหากัจจายนเถระให้เทศน์ขยายความพุทธพจน์ที่ทรงแสดงโดยย่อแก่พวกตน พระพุทธองค์ทรงตรัสยกย่องพระมหากัจจายนเถระว่า

    พระมหากัจจายนะเถระเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก แม้หมู่พระสงฆ์เหล่านั้นจะถามเนื้อความนี้กับพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็จะพึงเทศนาเนื้อความนั้น เหมือนกับที่พระมหากัจจานะเทศน์แล้วเช่นนั้น

    และใน อุทเทสวิภังคสูตร, มหากัจจายนภัทเทกรัตตสูตร และ อธรรมสูตร พระพุทธองค์ก็ทรงยกย่องพระมหากัจจายนเถระในลักษณะนั้นเช่นเดียวกัน

    นอกจากจะเทศนาขยายความย่อในพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุทั้งหลายแล้ว แม้กับพุทธบริษัทเหล่าอื่นมี อุบาสก อุบาสิกา เป็นต้น พุทธบริษัทเหล่านั้นเมื่อประสงค์ที่จะฟังธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสโดยย่อ ให้ได้เนื้อความโดยละเอียดก็พากันมาอาราธนาให้พระมหากัจจายนเถระเทศนาเนื้อความโดยพิสดารให้ฟังเช่นกัน เช่นใน กาลีสูตร ท่านได้แสดงธรรมขยายความแห่งกุมารีปัญหาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโดยย่อไว้ ให้กับอุบาสิกาชื่อ กาลี ชาวเมืองกุรรฆระฟัง

    ใน หลิททิกานิสูตร สมัยท่านพักอยู่ ณ ภูเขาชันข้างหนึ่ง ใกล้กุรรฆรนครแคว้นอวันตีรัฐ คฤหบดีชื่อหลิทกานิ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะเถระ แล้วอาราธนาให้ท่านได้เทศนาขยายความแห่ง มาคันทิยปัญหา ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโดยย่อไว้ ให้ฟังโดยพิสดาร

    การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

    นอกจากการขยายพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้โดยย่อ ให้พิสดารแล้ว ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นอกจากที่ท่านก็ได้ปลูกฝังความเลื่อมใสให้เกิดแก่ชาวนครอุชเชนีให้เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาแล้ว ท่านยังได้เทศน์โปรด พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร แห่งเมืองมธุรา ซึ่งเป็นการเทศนาภายหลังที่พระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ตามที่ปรากฏในมธุรสูตร จนได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ยึดเอาพระพุทธพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะจนตลอดชีวิต

    และเทศน์โปรด สุชาตกุมาร ผู้เป็นเป็นราชโอรสของพระเจ้าอัสสกะ ผู้เป็นใหญ่ในแคว้นอัสสกรัฐ ให้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการเทศนาภายหลังที่พระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เช่นกัน และพยากรณ์ว่าสุชาติกุมารจะสิ้นชีวิตภายในห้าเดือนข้างหน้า และได้ให้พระบรมสารีริกธาตุแก่สุชาติกุมาร โดยให้สุชาตราชกุมาร บูชาพระบรมสารีริกธาตุนี้แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง สุชาตกุมารได้บูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้น ด้วยของหอมและพวงมาลัย และขวนขวายในการทำบุญให้ทาน เมื่อสิ้นชิวิตแล้ว ได้ไปบังเกิดในสวนนันทวัน ที่ดาวดึงส์เทวโลก และมีราชรถทองเป็นสมบัติ ปรากฎเรื่องใน จูฬรถวิมานสูตร

    สมัยท่านอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกัททมทหะ ใกล้พระนครวรรณะ ท่านได้เทศน์โปรด พราหมณ์ที่ชื่อ อารามทัณฑะ จนได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสน

    สมัยท่านอยู่ที่ป่าคุนทาวัน ใกล้เมืองมธุรา ท่านได้เทศน์โปรด พราหมณ์ที่ชื่อ กัณฑรายนะ จนได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ยึดเอาพระพุทธพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะจนตลอดชีวิต

    สมัยท่านอยู่ ณ อรัญญกุฎี ใกล้มักกรกฏนคร ในอวันตีชนบท ท่านได้เทศน์โปรด พราหมณ์ที่ชื่อ โลหิจจ ผู้เป็นเจ้าสำนัก มีศิษย์มากมาย จนได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ยึดเอาพระพุทธพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะจนตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน

    เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

    ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น

    เกิดเป็นรัชชุคาหกะอำมาตย์ผู้รังวัด พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ใน กุรุธรรมชาดก

    เกิดเป็นกาฬเทวิลดาบส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นสรภังคดาบส ใน อินทรยชาดก

    เกิดเป็นเทวลดาบส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นสรภังคดาบส ใน สรภังคชาดก
     

แชร์หน้านี้

Loading...