เรื่องเด่น ถ้าสุขแล้วลืมพระ ถ้าทุกข์เมื่อไรถึงจะนึกขึ้นมาได้ว่ามีพระเป็นที่พึ่ง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย อกาลิโก!, 31 ธันวาคม 2017.

  1. อกาลิโก!

    อกาลิโก! เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    609
    กระทู้เรื่องเด่น:
    531
    ค่าพลัง:
    +3,731
    l-01.jpg

    มีญาติโยมท่านหนึ่งที่มาเล่าให้ฟังว่า เวลาที่ผ่านมาเป็นปีที่ไม่ได้มาทำบุญ เพราะว่ากำลังมีความสุขอยู่ แล้วก็สรุปว่าเวลาคนเรามีความสุขไม่ค่อยจะคิดถึงพระถึงเจ้า แต่เวลาทุกข์..บางทีนั่งร้องไห้ไปสวดมนต์ไปก็ยังเอา พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าสุขแล้วลืมพระ ถ้าทุกข์เมื่อไรถึงจะนึกขึ้นมาได้ว่ามีพระเป็นที่พึ่ง

    จึงได้ตักเตือนไปว่า ในเมื่อเรารู้ตัวแล้ว ก็ให้รีบเร่งการปฏิบัติใน ศีล สมาธิ และปัญญา เข้าไว้ เผื่อว่าถึงเวลาถ้าความสุขนั้นหมดไป กำลังใจของเราที่มั่นคงขึ้น จะได้มีหลักยึด แล้วก็ไม่ไปเสียใจอยู่กับโลกธรรมนั้น ๆ

    ซึ่งการเกิดมาของคนเราทุกคนนั้น จะต้องพบกับโลกธรรมทั้ง ๘ อย่างเป็นปกติอยู่แล้ว ก็คือ ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญ ได้รับความสุข และ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ได้รับความทุกข์ เรื่องของโลกธรรมถ้าแปลตามศัพท์ตรง ๆ ก็คือธรรมะประจำโลก ไม่มีใครที่จะหลีกหนีได้พ้น

    แต่ถ้าหากว่ากำลังใจของเราทรงตัวมั่นคง ก็จะไม่มีความหวั่นไหว ยิ่งถ้าหากว่ามีปัญญาเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ ได้แก่ การได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญ ได้รับความสุข หรือว่าในส่วนของอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ได้แก่ การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ได้รับความทุกข์ ทั้งสองส่วนนี้ล้วนแล้วแต่นำความทุกข์มาให้เราทั้งสิ้น

    เพราะว่าในส่วนที่น่ายินดีก็จัดอยู่ในส่วนของราคะ ในส่วนที่ไม่น่ายินดีก็จัดอยู่ในส่วนของโทสะ ดังนั้น…ไม่ว่าเราจะยินดีหรือยินร้ายก็ตาม แปลว่าเราถูกกิเลสครอบงำทั้งคู่

    บุคคลที่เป็นนักปฏิบัติธรรมอย่างพวกเรา เมื่อกระทบกับโลกธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล้ว จำเป็นที่จะต้องอาศัยกำลังของสมาธิภาวนาเข้ามาต่อสู้ มาหยุดยั้งสภาพจิตของตนเอง ไม่ให้ยินดียินร้ายไปกับเหตุการณ์เหล่านั้น และท้ายสุด..หากว่ามีปัญญาเพียงพอ ก็จะสามารถเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมดาของโลก เมื่อเห็นว่าเป็นธรรมดาของโลกก็จะค่อย ๆ ปล่อยวาง ไม่ไปยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านี้อีก โลกธรรมทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะครอบงำเราได้

    ความน่ากลัวของโลกธรรมนั้นก็คือ ทั้ง ๒ ส่วนล้วนแต่เป็นรากเหง้าของกิเลสใหญ่ ก็คือเป็นส่วนของราคะ หมายรวมเอาโลภะไปด้วย และส่วนของโทสะ ทั้ง ๒ ส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นราคะหรือโทสะก็ตาม แปลว่าต้องมีโมหะอยู่ด้วย เพราะถ้าไม่มีโมหะคือความหลงผิด เราก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ไปยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้ง ๒ ฝ่ายนั้น

    เมื่อเราเห็นดังนี้แล้ว ก็ต้องพยายามปลีกตัวออกมา โดยการสร้างเกราะป้องกันตนเอง ด้วยกำลังของศีล ของสมาธิ ของปัญญานั่นเอง ถ้าหากว่าศีลของเราทรงตัว สมาธิก็ตั้งมั่นได้ง่าย เมื่อศีลทรงตัวและสมาธิตั้งมั่นแล้ว ย่อมมีปัญญาเห็นทุกข์เห็นโทษจากรากเหง้าใหญ่ของกิเลส ก็จะพยายามถอดถอน ปลด วาง ออกจากใจของเรา ถ้าหากว่าใครปลดได้ วางได้มากเท่าไร ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มากเท่าไร ความสุขที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นกับเรามากเท่านั้น

    ในเมื่อเราได้ชื่อว่าเป็นพระโยคาวจร คือเป็นผู้ที่ปฏิบัติความดีเพื่อความหลุดพ้น เพื่อพระนิพพานของเรา ขึ้นชื่อว่าโลกธรรมแล้ว ต้องมีสติรู้ระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ได้มาก็ไม่ยินดี เสื่อมไปก็ไม่เสียใจ ถ้าหากว่าเป็นดังนี้ ท่านทั้งหลายก็สามารถรักษาความผ่องใสของจิตใจเอาไว้ได้ ก็แปลว่าเราได้ปฏิบัติตามโอวาท ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า “สจิตฺตปริโยทปนํ” คือการชำระจิตของตนให้ผ่องใสจากกิเลสทั้งปวงนั่นเอง

    ดังนั้น..เมื่อเห็นญาติโยมที่กล่าวว่า เมื่อตนเองมีความสุขมากก็ลืมที่จะเข้าวัดเข้าวา ก็ขอให้เรายึดถือท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นตัวอย่าง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพบเราเห็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะด้านดีหรือด้านไม่ดีก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นครูสอนอย่างดียิ่งสำหรับเราทั้งหลาย ด้านที่ดีเกิดขึ้นกับใคร ก็ให้รู้ว่าเขาเหล่านั้นได้สร้างความดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจมาก่อน ขณะนี้ผลดีได้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว

    ถ้าเราสร้างความดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจอย่างเขาบ้าง ผลดีเหล่านี้ก็จะเกิดกับเราเช่นกัน ขณะเดียวกัน..ถ้าหากว่าผลร้ายเกิดกับใคร ก็ให้รู้ว่านั่นเขาเคยสร้างความชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจมาก่อน ปัจจุบันนี้กรรมชั่วนั้นกำลังส่งผลแก่เขาทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าเราเองไม่หวั่นเกรง กระทำกรรมชั่วเหล่านั้นบ้าง ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแบบนั้น ผลชั่วทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ช้าก็เร็วก็จะเกิดขึ้นแก่เราเช่นนั้น

    เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว เราก็จะรู้จักละชั่ว ทำดี ในเมื่อเราละความชั่วไปเรื่อย สร้างความดีให้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดกำลังความดีมีมากกว่า เราก็จะยืนหยัดได้อย่างมั่นคง มีคติคือที่ไปในเบื้องหน้าที่แน่นอน เมื่อสามารถทำอย่างนั้นได้ ท้ายสุดเราไม่ยึดมั่นทั้งความดีและความชั่ว สามารถที่จะปล่อยวางลงได้ทั้ง ๒ ส่วน เข้าถึงอารมณ์ความเป็นกลางอย่างแท้จริง เราก็จะมีพระนิพพานเป็นที่ไป

    พระครูวิลาศกาญจนาธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕


    ที่มา วัดท่าขนุน
     

แชร์หน้านี้

Loading...