เจริญสมาธิตามหลักอิทธิบาท 4

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 27 มิถุนายน 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    บำเพ็ญ ทำ, ทำด้วยความตั้งใจ, ปฏิบัติ, ทำให้เต็ม, ทำให้มีขึ้น, ทำให้สำเร็จผล (ใช้แก่สิ่งที่ดีงามเป็นบุญกุศล)
     
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    การเจริญสมาธิตามหลักอิทธิบาท

    อิทธิบาท แปลว่า ธรรมเครื่องให้ถึงอิทธิ (ฤทธิ์หรือความสำเร็จ) หรือธรรมที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ หรือแปลง่ายๆว่า ทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ อย่าง คือ ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความมีใจจดจ่อ) และวิมังสา (ความสอบสวนไตร่ตรอง) แปลให้จำง่ายว่า มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน

    อิทธิบาทนั้น พระพุทธเจ้าตรัสพันไว้กับเรื่องสมาธิ เพราะอิทธิบาทเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิ และนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายของสมาธิ สมาธิเกิดจากอิทธิบาทข้อใด ก็มีชื่อเรียกตามอิทธิบาทข้อนั้น โดยนัยนี้ จึงมีสมาธิ ๔ ข้อ คือ (เช่น สํ.ม.19/1150/343)

    ๑. ฉันทะสมาธิ สมาธิที่เกิดจากฉันทะ หรือสมาธิที่มีฉันทะเป็นใหญ่

    ๒. วิริยสมาธิ สมาธิที่เกิดจากวิริยะ หรือสมาธิที่มีวิริยะเป็นใหญ่

    ๓. จิตตสมาธิ สมาธิที่เกิดจากจิตตะ หรือสมาธิที่มีจิตตะเป็นใหญ่

    ๔. วิมังสาสมาธิ สมาธิที่เกิดจากวิมังสา หรือสมาธิที่มีวิมังสาเป็นใหญ่

    อนึ่ง สมาธิเหล่านี้ จะเกิดมีควบคู่ไปด้วยกันกับความเพียรพยายาม ที่เรียกว่า "ปธานสังขาร" ซึ่งแปลว่า สังขารที่เป็นตัวความเพียร หรือความเพียรที่เป็นเครื่องปรุงแต่ง แปลง่ายๆว่า ความเพียรที่เป็นแรงสร้างสรรค์หรือความเพียรสร้างสรรค์ (ได้แก่ ความเพียรซึ่งทำหน้าที่ ๔ กัน-ละ-เจริญ-รักษา ที่เรียกว่า ปธาน ๔ นั่นเอง)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 มิถุนายน 2017
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    สมาธิเกิดจาก ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือจากความมีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวนได้อย่างไร มีแนวความเข้าใจ ดังนี้

    ๑. ฉันทะ ความพอใจ ได้แก่ ความมีใจรักในสิ่งที่ทำ และพอใจใฝ่รักในจุดหมายของสิ่งที่ทำนั้น อยากทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จ อยากให้งานนั้นหรือสิ่งนั้นบรรลุจุดหมาย พูดง่ายๆว่า รักงาน และรักจุดหมายของงาน
    พูดให้ลึกลงไปในทางธรรมว่า ความรักใคร่ใฝ่ใจปรารถนาต่อภาวะดีงามเต็มเปี่ยม สมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดหมายของสิ่งที่กระทำ หรือซึ่งจะเข้าได้ด้วยการกระทำนั้น อยากให้สิ่งนั้นๆ เข้าถึงหรือดำรงอยู่ในภาวะที่ดีที่งดงามที่ประณีต ที่สมบูรณ์ที่สุดของมัน หรืออยากให้ภาวะดีงามเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ ของงานนั้น เกิดมีเป็นจริงขึ้น อยากทำให้สำเร็จผลตามจุดหมายที่ดีงามนั้น


    ความอยากที่เป็นฉันทะนี้ เป็นคนละอย่างกับความอยากได้สิ่งนั้นๆมาเสพ หรืออยากเอามาเพื่อตัวตนในรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า เป็นตัณหา ความอยากของฉันทะนั้น ให้เกิดความสุขความชื่นชม เมื่อเห็นสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆ บรรลุความสำเร็จ เข้าถึงความสมบูรณ์ อยู่ในภาวะอันดีงามของมัน

    อาการของความอยากที่เป็นฉันทะนี้ พูดแยกออกไปว่า ขณะเมื่อสิ่งนั้น หรืองานนั้น กำลังเดินหน้าไปสู่จุดหมาย ก็เกิดปีติ เป็นความเอิบอิ่มใจ ครั้นสิ่งหรืองานที่ทำบรรลุจุดหมาย ก็ได้รับโสมนัส มีความสุข เป็นความฉ่ำชื่นใจ ที่พร้อมด้วยความรู้สึกโปร่งโล่งผ่องใสเบิกบานแผ่ออกไปเป็นอิสระ ไร้ขอบเขต

    ส่วนความอยากของตัณหา ให้เกิดความสุขความชื่นชม เมื่อได้สิ่งนั้นมาให้ตนเสพเสวยรสอร่อย หรือปรนเปรอความยิ่งใหญ่พองขยายของตัวตน เป็นความฉ่ำชื่นใจที่เศร้าหมอง หมกหมักตัว กีดกั้นกักตนไว้ในความคับแคบ และมักติดตามมาด้วยความหวงแหนห่วงกังวลเศร้าเสียดาย และหรือหวั่นกลัวหวาดระแวง
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ๒. วิริยะ ความเพียร ได้แก่ ความอาจหาญ แกล้วกล้า บากบั่น ก้าวไป ใจสู้ ไม่ย่อท้อ ไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคและความอยากลำบาก เมื่อคนรู้ว่าสิ่งใดมีคุณค่าควรแก่การบรรลุถึง ถ้าวิริยะเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว แม้ได้ยินว่าจุดหมายนั้นจะลุถึงได้ยากนัก มีอุปสรรคมาก หรืออาจใช้เวลายาวนานเท่านั้นปี เท่านี้เดือน เขาก็ไม่ท้อถอย กลับเห็นเป็นสิ่งท้าทาย ที่จะเอาชนะให้ได้ ทำให้สำเร็จ

    ในพุทธกาล มีนักบวชนอกศาสนาหลายท่าน เมื่อสดับพุทธธรรมแล้วเลื่อมใส ขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นได้รู้ว่า ผู้เคยเป็นนักบวชนอกศาสนาจะต้องประพฤติวัตรทดสอบตนเองก่อน เรียกว่าอยู่ปริวาส (ติตถิยปริวาส เป็นเวลา ๔ เดือน ก็ไม่ท้อถอย กลับกล้าเสนอตัวประพฤติวัตรทดสอบเพิ่มเป็นเวลาถึง ๔ ปี)

    ส่วนผู้ขาดความเพียร อยากบรรลุความสำเร็จเหมือนกัน แต่พอได้ยินว่าต้องใช้เวลานานเป็นปี ก็หมดแรง ถอยหลัง ถ้าอยู่ระหว่างปฏิบัติ ก็ฟุ้งซ่าน จิตใจวุ่นวาย ปฏิบัติได้ผลยาก

    คนที่มีความเพียร เท่ากับมีแรงหนุน เวลาทำงาน หรือปฏิบัติธรรมระดับใดก็ตาม จิตใจจะแน่วแน่ มั่นคง พุ่งตรงต่อจุดหมาย สมาธิก็เกิดขึ้นได้ เรียกว่า เป็นวิริยสมาธิ พร้อมทั้งมีปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์เข้าประกอบคู่ไปด้วยกัน
     
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ๓. จิตตะ ความมีใจจดจ่อ หรือเอาใจฝักใฝ่ ได้แก่ ความมีจิตจุดผูกพัน จดจ่อ เฝ้าคิดเรื่องนั้น ใจอยู่กับงานนั้น ไม่ปล่อย ไม่ห่างไปไหน

    ถ้าจิตตะเป็นไปอย่างแรงกล้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง คนผู้นั้นจะไม่สนใจ

    ไม่รับรู้เรื่องอื่นๆ ใครจะพูดอะไรเรื่องอื่นๆ ไม่สนใจ แต่ถ้าพูดเรื่องนั้น งานนั้น จะสนใจเป็นพิเศษทันที

    บางทีจัดทำเรื่องนั้น งานนั้น ขลุกง่วนอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่เอาใจใส่ร่างกาย การแต่งเนื้อแต่งตัว อะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่สนใจ เรื่องอื่นเกิดขึ้นใกล้ๆ บางทีก็ไม่รู้ ทำจนลืมวันลืมคืน ลืมกินลืมนอน

    ความมีใจจดจ่อฝักใฝ่เช่นนี้ ย่อมนำให้สมาธิเกิดขึ้น จิตจะแน่วแน่ แนบสนิทในกิจที่ทำ มีกำลังมาก เรียกว่าเป็นจิตตสมาธิ พร้อมนั้นก็เกิดปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์ร่วมสนับสนุนไปด้วย
     
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ๔. วิมังสา ความสอบสวนไตร่ตรอง ได้แก่ การใช้ปัญญาพิจารณาหมั่นใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อน เกินเลย บกพร่อง หรือขัดข้อง เป็นต้น ในกิจที่ทำ รู้จักทดสอบ และคิดค้นหาทางแก้ไขปรับปรุง

    ข้อนี้เป็นการใช้ปัญญาชักนำสมาธิ ซึ่งจะเห็นได้ไม่ยาก คนมีวิมังสา ชอบคิดค้นหาเหตุผล ชอบสอบสวนชอบทดลอง เมื่อทำอะไร ก็คิดพิจารณาทดสอบไป เช่น คิดว่า ผลนี้เกิดจากเหตุอะไร ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ผลคราวนี้เกิดจากปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้เท่านี้ ถ้าชักองค์ประกอบนี้ออกเสีย จะเป็นอย่างนี้ ถ้าเพิ่มองค์ประกอบนี้เข้าไปแทน จะเกิดผลอย่างนี้ ลองเปลี่ยนองค์ประกอบนั้นแล้ว ไม่เกิดผลอย่างที่คาดหมาย เป็นเพราะอะไร จะแก้ไขที่จุดไหน ฯลฯ

    ในการปฏิบัติธรรม วิมังสกชนก็ชอบพิจารณาใคร่ครวญสอบสวน เช่นว่า ธรรมข้อนี้ๆ มีความหมายอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร ควรใช้ในโอกาสอย่างใด ควบคู่สัมพันธ์กับข้อธรรมอื่นข้อใด ปฏิบัติธรรมคราวนี้ ไม่ค่อยก้าวหน้า อินทรีย์ใดอ่อนไป ควรใช้วิธีอย่างใด ควรเน้นความหมายด้านไหน เป็นต้น

    การคิดหาเหตุผลตรวจตรองสอบสวนทดลองอย่างนี้ ย่อมช่วยรวมจิตให้คอยกำหนด และติดตามเรื่องที่พิจารณาติดแจตลอดเวลา เป็นเหตุให้จิตแล่นดิ่งแน่วไปกับเรื่องที่พิจารณา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก และมีกำลัง เรียกว่าเป็นวิมังสาสมาธิ ซึ่งก็จะมีปธานสังขาร คือความเพียรสร้างสรรค์เกิดมาด้วย เช่นเดียวกับสมาธิข้ออื่นๆ
     
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ต่อ


    ความจริง อิทธิบาท ๔ อย่างนี้ เกื้อหนุนกัน และมักมาด้วยกัน เช่น

    เกิดฉันทะ มีใจรักแล้ว ก็ทำให้พากเพียร เมื่อพากเพียร ก็เอาใจจดจ่อใฝ่ใจอยู่เสมอ และเปิดช่องให้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง
    แต่ที่แยกเป็นแต่ละข้ออย่างนี้ ก็ด้วยถือเอาภาวะที่เด่นเป็นใหญ่ เป็นตัวนำ เป็นตัวชักจูงข้ออื่นๆ ในแต่ละกรณี เช่นว่า

    เมื่อฟังธรรมด้วยกัน คนหนึ่งชอบศึกษาธรรม ฟังด้วยความรักความพอใจในธรรม อยากรู้อยากเข้าใจธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไป (หรือแม้เพียงแต่ชอบใจธรรมที่แสดงในคราวนั้น หรือชอบผู้แสดงธรรมคราวนั้น) จึงฟังด้วยจิตใจแน่วแน่ ก็มี ฉันทะ เป็นตัวเด่น ชักนำสมาธิ และกุศลธรรมอื่นๆ

    อีกคนหนึ่ง มีนิสัย หรือแม้แต่มีความรู้สึกเกิดขึ้นในขณะนั้นว่า เมื่อพบอะไรที่ควรทำ ก็ต้องสู้ ต้องเอาชนะ ต้องเข้าเผชิญ และต้องทำให้สำเร็จ จึงฟังด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งท้าทาย จะต้องพยายามเข้าใจให้ได้ ก็มีวิริยะ เป็นธรรมเด่น

    อีกคนหนึ่ง มีนิสัยเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ว่าอะไรที่ตนเกี่ยวข้อง ก็จะต้องใส่ใจเอาจิตจดจ่อติดตาม จึงตั้งใจฟัง เอาจิตติดตามเนื้อความนั้น ก็มีจิตตะ เป็นใหญ่

    อีกคนหนึ่ง คิดจะตรวจสอบว่า ธรรมที่แสดงนั้น จริงหรือไม่ ดีหรือไม่ หรือจะค้นหาเหตุผลในธรรมที่ฟัง ฟังไปก็คิดใคร่ครวญพิจารณาสอบสวนไป ใจจึงแน่วแน่อยู่กับธรรมที่ฟัง ก็มีวิมังสา เป็นใหญ่

    ด้วยเหตุนี้ บางแห่งท่านจึงเรียกอิทธิบาท ๔ นี้ว่า เป็นอธิบดีหรืออธิปไตย ๔ (ดู อภิ.สํ.34/193/79 อภิ.วิ.35/771/392 สงฺคห.41) โดยกำหนดเอาภาวะที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า ในกรณีนั้นๆ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 มิถุนายน 2017
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    สาระของการสร้างสมาธิตามหลักอิทธิบาท ก็คือ เอางาน สิ่งที่ทำหรือจุดหมายที่ต้องการ เป็นอารมณ์ของจิต แล้วปลุกเร้าระดมฉันทะ วิริยะ จิตตะ หรือวิมังสา เข้านำหนุน สมาธิก็เกิดขึ้น และมีกำลังแข็งกล้า ช่วยให้ทำงานอย่างมีความสุข และบรรลุผลสำเร็จด้วยดี

    โดยนัยนี้ ในการปฏิบัติธรรมก็ดี ในการเล่าเรียนศึกษา หรือประกอบกิจการงานอื่นใดก็ดี เมื่อต้องการสมาธิ เพื่อให้กิจที่ทำนั้นดำเนินไปอย่างได้ผลดี ก็พึงปลุกเร้าและชักจูงอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ให้เกิดผลเป็นองค์ธรรมเด่นขึ้นมาสักข้อหนึ่ง แล้วสมาธิ ความสุขสบายใจ และการทำงานที่ได้ผล ก็เป็นอันหวังได้เป็นอย่างมากว่าจะเกิดมีตามมาเอง พร้อมกันนั้น การฝึกสมาธิ หรือการปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่ง ก็จะเกิดมีขึ้นในห้องเรียน ในบ้าน ในทุ่งนา ในที่ทำงาน และในสถานที่ทุกๆแห่ง

    ตัวอย่างเช่น เมื่อจะสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครูก็ทำตนเป็นกัลยาณมิตร โดยอาจชี้แจงให้นักเรียนเห็นคุณค่าความดีของวิชานั้น หรือเรื่องราวนั้น ให้มองเห็นว่า วิชานั้นมีประโยชน์อย่างไร อาจเป็นประโยชน์ของตัวผู้เรียนเองเกี่ยวกับการหางานทำ การได้รับผลตอบแทน หรือความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เป็นต้น (ใช้โลภะ เป็นปัจจัยแก่ฉันทะ) ก็ได้ หรือถ้าจะให้ดี ควรเป็นประโยชน์ของส่วนรวม เช่น ความเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ (ฉันทะบริสิทธิ์) ก็ได้ จนทำให้นักเรียนเกิดความรักความพอใจ อยากเรียนเพราะอยากรู้วิชานั้น นี่เรียกว่าปลุกฉันทะ ให้เกิดขึ้น

    อีกอย่างหนึ่ง อาจพูดปลุกเร้าในแง่ที่เป็นสิ่งท้ายทายสติปัญญาความสามารถ กระตุ้นความเข้มแข็งคึกคักที่จะเรียน หรือกล่าวถึงตัวอย่างการกระทำสำเร็จของผู้อื่น ให้เกิดกำลังใจสู้ เป็นต้น เรียกว่าปลุกเร้าวิริยะขึ้น

    อีกอย่างหนึ่ง อาจพูดปลุกเร้าในแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับหน้าที่ หรือความรับผิดชอบ ให้เห็นความเกี่ยวข้องและความสำคัญของเรื่องนั้น ต่อชีวิต หรือต่อสังคม เช่น เรื่องเกี่ยวกับภัยอันตราย และความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งแม้นักเรียนจะมิได้ชอบ มิได้รักเรื่องนั้น แต่ก็จะเอาใจใส่ตั้งจิตจดจ่อเรียนอย่างแน่วแน่ เรียกว่า ทำให้เกิดจิตตะ

    อีกอย่างหนึ่ง ครูอาจสอนตามแนวของการสำรวจตรวจสอบสืบสวนทดลอง หรือค้นคว้าหาเหตุผล เช่น ตั้งเป็นปัญหา หรือคำถาม เป็นต้น ซึ่งทำให้นักเรียนต้องใช้วิมังสา นักเรียนก็จะเรียนอย่างมีสมาธิได้เหมือนกัน เรียกว่าใช้วิธีวิมังสา

    ยิ่งถ้าครูจับหลักลักษณะนิสัยของนักเรียนได้ แล้วปลุกเร้าอิทธิบาทข้อที่ตรงกับลักษณะนิสัยอย่างนั้น ก็ยิ่งดี หรืออาจปลุกอิทธิบาทหลายๆข้อ ไปพร้อมกันก็ได้

    ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนหรือผู้ทำงานที่ฉลาด ก็อาจใช้โยนิโสมนสิการปลุกเร้าอิทธิบาทขึ้นมาใช้สร้างผลสำเร็จได้ด้วยตนเอง
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ขอยกความจากบาลี มาเป็นเครื่องทบทวนความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ความหมายของคำว่า อิทธิไปทีเดียว

    อิทธิ
    แปลว่า ความสำเร็จ

    "คำว่า อิทธิ หมายความว่า ความสำเร็จ ความสัมฤทธิ์ การสำเร็จ การสำเร็จด้วยดี การได้ การได้จำเพาะ การถึง สมบัติ การสัมผัส การประจักษ์แจ้ง การบำเพ็ญให้ถึงพร้อม ซึ่งธรรมเหล่านั้น" (อภิ.วิ.๓๕/๕๐๘/๒๙๓)

    อิทธิ แปลว่า ฤทธิ์อย่างที่เรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์

    “ภิกษุทั้งหลาย อิทธิเป็นไฉน? กล่าวคือภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมประกอบฤทธิ์ต่างๆได้มากมายหลายอย่าง คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดิน เหมือนน้ำก็ได้เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ใช้มือจับต้องลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ซึ่งมีกำลังฤทธิ์เดชมากมายถึงเพียง นี้ก็ได้ ใช้อำนาจทางกายถึงพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่า อิทธิ”

    “ภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาทเป็นไฉน? มรรคาใด ปฏิปทาใด ย่อมเป็นไปเพื่อการได้อิทธิ เพื่อประสบอิทธิ มรรคา ปฏิปทานี้ เรียกว่า อิทธิบาท

    อิทธิบาทภาวนา (การเจริญอิทธิบาท) เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขาร
    ย่อมเจริญอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิ และปธานสังขาร
    ย่อมเจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิ และปธานสังขาร
    ย่อมเจริญอิทธิบาท ที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร นี้เรียกว่า อิทธิบาทภาวนา” * (สํ.ม.19/1175-6/355)

    “ภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุอาศัยฉันทะ จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่าฉันทสมาธิ ภิกษุนั้น ยังฉันทะให้เกิด พยายามระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น
    (๑) เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันชั่วร้ายที่ยังไม่เกิดขึ้น....
    (๒) เพื่อละอกุศลธรรมอันชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว...
    (๓) เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น...
    (๔) เพื่อความตั้งอยู่ได้ ไม่เลือนหาย เพื่อภิยโยภาพ เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เต็มบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้ เรียกว่า ปธานสังขาร

    ฉันทะนี้ด้วย ฉันทสมาธินี้ด้วย ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย นี้เรียกว่า อิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิ (สมาธิที่เกิดจากฉันทะ) และปธานสังขาร (ความเพียรสร้างสรรค์)

    “หากว่า ภิกษุอาศัยวิริยะ จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ....วิริยะนี้ด้วย วิริยสมาธินี้ด้วย ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย นี้ เรียกว่า อิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิ และปธานสังขาร

    “หากว่าภิกษุอาศัยจิตตะ จึงได้ สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่า จิตตสมาธิ....จิตตะนี้ด้วย จิตตสมาธินี้ด้วย ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย นี้เรียกว่า อิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิ และปธานสังขาร

    “หากว่าภิกษุอาศัยวิมังสา จึงได้สมาธิ จึงได้ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว นี้เรียกว่าวิมังสาสมาธิ....วิมังสานี้ด้วย วิมังสาสมาธินี้ด้วย ปธานสังขารเหล่านี้ด้วย นี้เรียกว่าอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิ และปธานสังขาร* (สํ.ม.19/1150-3/341-6)

    ปฏิปทาที่ให้ถึงอิทธิบาทภาวนา เป็นไฉน ? มรรคามีองค์ ๘ ประการ อันเป็นอริยะนี้แหละ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี่เรียกว่า ปฏิปทาให้ถึงอิทธิบาทภาวนา(สํ.ม.19/1177/355)

    “ภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท ๔ อย่างเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการไปจากที่มิใช่ท่า (มิใช่จุดหมาย) สู่ที่อันเป็นฝั่ง (คือจุดหมาย)(สํ.ม.19/1108/322)
    ………

    ที่อ้างอิง *
    * คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ กล่าวถึงอิทธิ หรือฤทธิ์ไว้ ๑๐ ประเภท ฤทธิ์อย่างที่แสดงในพุทธพจน์นี้ เป็นประเภทที่ ๑. ฤทธิ์ประเภทที่ ๑๐ ได้แก่ ความสำเร็จเพราะประกอบถูกต้องในเรื่องนั้นๆ และข้อสุดท้ายในประเภทที่ ๑๐ ได้แก่ ฤทธิ์คือการละกิเลสได้หมดสิ้น ด้วยอรหัตมรรค...วิสุทธิมัคค์นำมาอธิบายพิเศษในด้านอิทธิปาฏิหาริย์...แต่ก็ ได้อ้างความหมายอื่นๆไว้ด้วย เช่น ความสำเร็จที่เกิดจากศิลปะในยุทธวิธี หรือแม้แต่การไถหว่าน ก็เป็นฤทธิ์ในประเภทที่ ๑๐....ดังนั้น อิทธิบาท จึงใช้เพื่อความสำเร็จได้ ในกิจทุกอย่าง
     
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    การเจริญสมาธิอย่างสามัญหรือฝึกสมาธิโดยใช้สติเป็นตัวนำ

    การฝึกสมาธิด้วยอิทธิบาท ๔ นั้น ในด้านชีวิตประจำวัน ใช้ได้กับงานหรือการประกอบกิจต่างๆ เช่น การเล่าเรียนและกิจกรรมทั้งหลาย ซึ่งมีความก้าวหน้าหรือความสำเร็จของงานหรือกิจนั้นๆ เป็นเป้าหมายให้แก่อิทธิบาท ทำให้เกิดแรงความเพียรประกอบการ ที่เรียกว่าปธานสังขารขึ้นมา พุ่งแล่นไปสู่เป้าหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน แก้ไข สร้างขึ้นใหม่ หรืออนุรักษ์ ก็ตาม จึงหมุนให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่ เป็นสมาธิอยู่ได้

    แต่ในการสัมพันธ์กับอารมณ์ ซึ่งเพียงผ่านไปๆ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่นิ่งเฉย หรือสิ่งที่ดำรงอยู่ตามสภาพ แทบไม่มีฐานที่ตั้งตัวหรือเป็นที่ทำการของอิทธิบาท ในกรณีเช่นนี้ องค์ธรรมที่จะใช้เป็นเครื่องชักนำหรือฝึกให้เกิดสมาธิ ก็คือ องค์ธรรมพื้นฐานที่เรียกว่า "สติ" เพราะสติเป็นเครื่องดึง และกุมจิตไว้กับอารมณ์ คือสิ่งที่พึงเกี่ยวข้อง และกิจที่ต้องทำในเวลานั้น ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สติเป็นที่พึ่งพำนักของใจ

    ในวิธีนี้ ใช้สติเริ่มต้นให้แล้ว พอรู้สึกว่าเข้าที่ หรืออย่างที่ใช้คำพูดแบบชาวบ้านว่าเข้าท่าเข้าทาง ฉันทะก็จะมาตามธรรมชาติเอง

    การฝึกสมาธิด้วยอาศัยสติเป็นหลัก แยกได้เป็น ๒ วิธีใหญ่ คือ

    ๑. การฝึกเพื่อใช้งานทางปัญญา หรือมุ่งประโยชน์ทางปัญญา ได้แก่ การใช้สตินำทางให้แก่ปัญญา หรือทำงานร่วมกับปัญญา โดยคอยจับอารมณ์ส่งเสนอให้ปัญญารู้ หรือพิจารณา (พูดอีกอย่างหนึ่งว่า สติดึง หรือกุมจิตอยู่กับอารมณ์แล้ว ปัญญาก็พิจารณาหรือรู้เข้าใจอารมณ์นั้น)

    ตามวิธีฝึกแบบนี้ สมาธิไม่ใช่ตัวเน้น แต่พลอยได้รับการฝึกไปด้วย พลอยเจริญไปด้วยเอง พร้อมกับที่พลอยช่วยส่งเสริมการใช้ปัญญาให้ไดผลดียิ่งขึ้นด้วย การฝึกแบบนี้ ได้แก่ วิธีการส่วนใหญ่ของสติปัฏฐาน ซึ่งได้แสดงหลักการทั่วไปไว้แล้วในตอนที่ว่าด้วยสัมมาสติข้างต้น และเรียกได้ว่า เป็นการเจริญสมาธิในชีวิตประจำวัน

    ๒. การฝึกเพื่อสร้างสมาธิล้วนๆหรือมุ่งลึกลงไปในทางสมาธิเพียงด้านเดียว ได้แก่ การใช้สติคอยจับอารมณ์ไว้ ให้จิตอยู่กับอารมณ์นั้น ไม่คลาดจากกัน หรือตรึงจิตให้อยู่กับอารมณ์ที่กำลังกำหนดนั้นเรื่อยไป เป็นวิธีการที่เน้นสมาธิโดยตรง แม้หากบางครั้งจะใช้ปัญญาบ้าง ก็เพียงเล็กน้อยเป็นส่วนประกอบ เช่น เพียงคิดพิจารณารู้ไปตามที่จำๆมา ไม่มุ่งหยั่งถึงตัวสภาวะ

    การฝึกแบบนี้ ได้แก่ ส่วนสาระสำคัญของวิธีฝึกแบบที่ ๔ คือ การเจริญสมาธิอย่างเป็นแบบแผน

    (พุทธธรรมแต่หน้า 796 ไป)
     

แชร์หน้านี้

Loading...