ทำไมคนทำดี ถึงมีคนเกลียด !!!

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วงกรตน้ำ, 1 กุมภาพันธ์ 2017.

  1. วงกรตน้ำ

    วงกรตน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2015
    โพสต์:
    810
    กระทู้เรื่องเด่น:
    12
    ค่าพลัง:
    +2,432
    ทำไมคนทำดีถึงมีคนเกลียด..!!!!

    ปกติคนทั่วไป เมื่อเราทำดีเขาจะชอบ จะพอใจ และจะรักเรา แต่พอทำดีแล้วเขาเกลียด เราก็รับไม่ได้เหมือนกัน บางคนเลยรำพึงรำพันว่า เฮ้อ! ทำดีไม่ได้ดี หรือทำคุณบูชาโทษบ้าง ทำบุญคุณกับใครไม่ขึ้นบ้าง คิดไปสารพัด

    อยากให้เรามองกันอย่างนี้ว่า เวลาเราจะทำ อะไรดี ๆ สักอย่าง เราก็คาดหวังว่าจะได้รับผลลัพธ์ ที่ดี แต่บางครั้งหลาย ๆ เรื่องที่เราเคยทำในอดีตคนอื่นอาจไม่ค่อยชอบใจ พอปุบปับเราทำสี่งดี ๆ ขึ้นมา เขาอาจมองว่า เอ๊ะ! จรีงหรือเปล่า??? เพราะฉะนั้น ต้องใจเย็น ๆ ขอให้มั่นใจว่า ถ้าเราทำได้ถูกดี ถึงดี และพอดี เราจะต้องได้ดีแน่ ๆ ซึ่งเรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักคิดไว้ว่า ถ้าเราทำดีแล้ว ให้ยึดหลักสังคหวัตถุ ๔ เอาไว้ คือ ทาน ปียวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา ถ้าเรามีครบถ้วน ๔ ประการนี้แล้ว รับรองว่ามีแต่คนรักแน่นอน มาดูว่าแต่ละข้อเป็นอย่างไรบ้าง

    ๑. ทาน คือ การให้ การแบ่งปัน การมีน้ำใจ เรื่องนี้สำหรับคนที่หมั่นทำดีด้วยการให้ทาน การแบ่งปัน น่าจะสอบผ่าน ถ้ายังทำเรื่องนี้ไม่ดี ก็ต้องรู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน แต่ถ้าเราอุตส่าห์ช่วยเขาแล้ว แบ่งปันให้เขาแล้ว เขายังเกลียดเราอยู่อีก เรื่องนี้ก็น่าจะสัมพันธ์กับความชอบความไม่ชอบด้วย ต้องไป สำรวจดูข้อต่อ ๆ ไปว่า เราบกพร่องข้อไหนหรือเปล่า

    ๒. ปิยวาจา มาดูว่าเราขาดปิยวาจาหรือไม่ คำว่า "ปิยวาจา" ไม่ได้แปลว่า พูดเพราะ ๆ อย่าง เดียว ความหมายที่เป็นสาระจริง ๆ คือ การที่รู้จักสื่อสารกับคนอื่นให้เขาเข้าใจว่า สิ่งที่เราทำมีประโยชน์อย่างไร ดีกับเขาอย่างไร เราตั้งใจดีอย่างไร สื่อสารให้เขาเข้าใจ ไม่อย่างนั้นเขาอาจแปลความหมายผิด ไปคิดเดาต่าง ๆ นานา เรื่องดีกลายเป็นร้าย เพราะเขาไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรู้จักมีปิยวาจา คือ สื่อสารให้เขาเข้าใจจริง ๆ ว่า เราทำเพื่อมุ่งหวังสิ่งใด จะเกิดประโยชน์ต่อเขาและส่วนรวมอย่างไรบ้าง

    อีกประการหนึ่งของปิยวาจา คือ จะต้องรู้จักการให้เกียรติ
    คนเราแม้จะมีใครมาช่วยตัวเองเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าให้ความช่วยเหลือพร้อมกับแสดงท่าทางเป็นผู้เหนือกว่า ก็มักจะไม่ค่อยชอบ คำว่า "มนุษย์" อีกนัยหนึ่งแปลว่า ผู้มีใจสูง คือ คน ทุกคนต้องการความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ถ้าเรา ไปช่วยใครแล้วให้เกียรติเขา ไม่กดเขา ทำให้เขาตระหนักว่า เรามาช่วยเพื่อจะยกให้เขาสูงขึ้น เขาจะซาบซึ้งมาก รู้สึกรัก และนึกถึงพระคุณของเรา แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรามาช่วยเขาจริง ๆ แต่มาพร้อมกับความรู้สึกว่า เราคือผู้มาช่วยเขา ฉะนั้นเขาจะต้องสำนึกบุญคุณของเรา ซึ่งเป็นการไปกดเขาให้ต่ำลง คนถูกช่วยจะรู้สึกไม่ค่อยมีความสุข บางทีเผลอ ๆ พาลหมั่นไส้เราไปเลย ตรงนี้ทำให้คนช่วยรู้สึกว่าทำคุณบูชาโทษ คิดว่าเราช่วยเขาแล้ว ทำไมเขามาเกลียดเรา

    เรื่องนี้อย่าว่าแต่ระดับบุคคลเลย ในระดับประเทศก็เหมือนกัน เช่น ในยุคหนึ่งสหรัฐอเมริกาได้ไปช่วยประเทศต่าง ๆ ไว้ทั่วโลก เรื่องที่ทำไม่ดีก็คงมีอยู่บ้าง เพราะไม่มีใครดีพร้อม แต่ที่ไปช่วยด้วย ความจริงใจก็มีไม่น้อย ยุโรปฟื้นได้ก็ด้วยแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) ญี่ปุ่นฟื้นได้ก็เพราะอาศัยอเมริกาเป็นฐานรองรับสินค้าส่งออก แต่ว่าทำไมอเมริกายังมีคนไม่ชอบเยอะ ก็ต้องดูว่า เขาอาจจะช่วยไปพร้อมกับอาการที่ประเทศต่าง ๆ รับไม่ได้ แต่ถ้าให้ความช่วยเหลือพร้อมกับความอ่อนน้อมถ่อมตนและให้เกียรติทุก ๆ คน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะทั้งรักทั้งซาบซึ้งมาก

    ปิยวาจาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องสื่อสารกันให้เข้าใจ แล้วให้เกียรติคนทุกคน เราก็จะเป็นคนที่น่ารักมาก ขอย้ำว่า คนเราตัดสินกันบางครั้งอารมณ์มีน้ำหนักมากกว่าเหตุผล คือ เวลาคนเราจะสรุปว่ารักหรือไม่รักใครคนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเอาทุก ๆ อย่างที่คน ๆ นั้นทำมาให้คะแนน แล้วมาบวกกันแบบคะแนนสอบ แล้วก็ตัดสินให้เกรด คนทั่วไปไม่ได้ทำอย่างนั้น คนนี้อาจจะดีมา ๙๐ อย่าง แต่มาทำสักเรื่องสองเรื่องที่ไม่ถูกใจจริง ๆ เข้า พลิกกลับ เป็นเกลียดเลยก็มี

    หนุ่มสาวชอบกัน ไม่ใช่ว่าหญิงสาวจะประเมิน ชายหนุ่มว่า คนนี้ความประพฤติแต่ละเรื่องทำกับเราดีไม่ดีอย่างไรบ้าง แล้วมาตัดเกรดว่าจะให้ใครเกรดเอ แล้วถึงจะชอบคนนั้น ก็ไม่ใช่ บางทีไปปิ๊งกันแค่บางประเด็นก็ชอบเขาแล้ว แต่บางคนพอ เจอกันก็ไปขัดใจบางประเด็นเข้า ก็เลยไม่ชอบเขา ทั้ง ๆ ที่เรื่องอื่นตั้งหลายเรื่องเขาก็ดี แต่คนที่เราชอบ อีกหลายๆ เรื่องก็ไม่ได้ดีมากไปกว่าคนที่เราเกลียด มันเป็นเรื่องของอารมณ์

    ลองสังเกตดูผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทำไมผู้สมัคร ประธานาธิบดีอเมริกาจะต้องมาเช็กแฮนด์กับเขาไป ทั่ว ถึงคราวก็จะต้องพยายามไปปราศรัยให้มากที่สุด การไปปราศรัยยังพอเข้าใจได้ว่า เป็นการแถลงนโยบายให้เขาฟัง จะได้เข้าใจ แต่การจับมือ หรือแจกลายเซ็นไม่เห็นจะเป็นเรื่องของเหตุผลอะไรเลย เป็นเรื่องของอารมณ์ล้วน ๆ คนที่ได้จับมือกับผู้สมัคร รู้สึกว่า ผู้สมัครมาหาเราถึงที่ เคยเช็กแฮนด์กันมาแล้ว และมาอุ้มลูกเรา มาหอมแก้มลูกเรา จะต้องให้คะแนนเสียงคนนี้เป็นผู้บริหารประเทศ เพราะดีใจที่ อุตส่าห์มาหอมแก้มลูกเรา เห็นไหมว่า การตัดสินว่า จะเลือกผู้สมัครคนหนึ่ง บางครั้งไม่ได้ดูนโยบายอย่างอื่นเลย ตัดสินเพราะว่าเขามาอุ้มลูกเรา แล้วหอมแก้มเรา หอมแก้มลูกเรา รู้สึกว่าเขาให้เกียรติเรา ก็พอใจให้คะแนนแล้ว คนเราทั่วไปมักจะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะมองแต่ปัจจัยเรื่องเหตุผล อย่างเดียวไม่ได้ เรื่องอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ อย่าลืมให้เกียรติกับคนทุกคนที่เราได้สัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย แล้วเราก็จะมีแต่คนรักเต็มบ้านเต็มเมือง ไปถึงไหนมีเมตตามหานิยมติดตัวตลอด

    ๓. อัตถจริยา ประพฤติตนเป็นประโยชน์ คือ เราจะต้องฝึกให้ตัวเองเป็นคนมีประโยชน์ ต้องสร้าง ประโยชน์ให้กับเขา แล้วเขาจะรักเรา ซึ่งตรงนี้มี นัยแฝงอยู่เหมือนโจทย์ที่ถามว่า เราทำดีแล้วทำไมมีคนเกลียด ก็เป็นเพราะถ้าเราทำเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับคนมากขึ้นเท่าไร เรื่องแต่ละเรื่องจะมีทั้งคนได้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันอาจจะมีคนเสีย ประโยชน์แฝงอยู่ด้วย คือ ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ ร้อยละ ๙๐ แต่มีคนอีกร้อยละ ๑๐ รู้สึกว่าเสียประโยชน์ ซึ่งคนเหล่านี้อาจไม่ชอบเรา ยากมากที่นโยบายอะไรออกมาแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนมากมักจะเป็นว่า คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ แต่ยังมีคนส่วนน้อยบางส่วนรู้สึกว่าตัวเองเสียประโยชน์หรือได้ไม่เท่าคนอื่น คนเรานี่แปลกทีเดียว ถ้าไม่ได้เหมือนกันทุกคนไม่มีปัญหา แต่ถ้าได้แล้วคนอื่นได้มากกว่า คนที่ได้น้อยกว่าจะไม่พอใจขึ้นมา รู้สึกไม่ยุติธรรม มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อคีดว่า เมื่อเราจะทำเรื่องอะไร ก็ตามอย่ามองแต่ได้อย่างเดียว ให้มองเสียด้วย คือ ดูว่าเรื่องที่เราจะทำมีใครได้รับผลกระทบบ้าง อย่าไปมองแต่ว่า สิ่งที่เราทำมีผลดีต่อคนส่วนใหญ่ ต้อง มองว่าสำหรับคนส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบ ว่าจะทำอย่างไรเราจึงจะลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด ทำด้วยความมีสติ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่าเรื่องนี้ ใครเคยได้รับผลกระทบบ้าง ทำอย่างไรจะทำ ความเข้าใจกับเขาได้ ให้เขารู้สึกว่า เราจำเป็นต้องทำ ไม่ใช่ว่าจะไปแกล้งเขา แต่เพื่อหวังประโยชน์ต่อส่วนรวม เขาเองก็เสียสละด้วย และก็ชื่นชมยกย่องให้เกียรติเขาเท่าที่จะเป็นได้ ถ้าอย่างนี้เราก็จะมีคนรักมากขึ้น ๆ คนที่เกลียดเราก็จะน้อยลง ๆ และจะได้ไม่ต้องมานั่งบ่นว่าทำไมเราทำดีแล้วถึงมีคนเกลียด

    ๔. สมานัตตตา คือ ทำอะไรให้สม่ำเสมอและถูกต้องสมกับบทบาทของตัวเอง คือ เล่นสมบทบาท และเมื่อทำดีแล้วก็ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่กะผลุบ กะโผล่ ทำ ๆ หยุด ๆ อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า เวลาใครเขาดูเรา ถ้าเราเคยทำไม่ดีมาก่อน เขาก็ต้องยังไม่ค่อยมั่นใจเราเป็นธรรมดา เราทำดีได้เรื่องหนึ่งเขาจะยังไม่ชมเรา ยังไม่รักเราทันที แต่เขาแค่หยุดดู เผลอๆ ยังแปลความหมายผีดด้วยซ้ำ ว่าแกล้งทำดีหรือเปล่า เครดีตเรายังไม่ค่อยจะดี อย่าเพิ่งบ่น มันเกิดจากวิบากกรรมที่เราเคยทำเอาไว้ ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำ คือ ตั้งใจทำความดีไปอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อด้วยความสุขุมรอบคอบ ให้ด้วย มีปิยวาจาด้วย ระมัดระวังผลกระทบต่อบุคคลที่จะเสียประโยชน์ด้วย พยายามลดแรงกระทบให้เหลือน้อยที่สุดด้วย แล้วทำความดีอย่างสม่ำเสมอ เวลาผ่านไปคนจะเริ่มเห็น ผลดีจะบังเกิด คนจะเริ่มเชื่อถือเรามากขึ้น เครดิตจะดี ทีหลังพอทุกคนเขายอมรับหมดแล้ว ถ้าเราจะทำอะไรขึ้นมา การสื่อสาร จะง่ายมากขึ้น เพราะเครดิตเราดีแล้ว จะพูดจะทำอะไรคนเขาเชื่อ ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นได้สะดวกสบาย คะแนนบวกจะกลบคะแนนลบไปหมดถ้าครบ หลัก ๔ ประการอย่างนี้ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และก็สมานัตตตา รับรองว่าเราจะต้องกลายเป็นคนที่ทำดีแล้วมีคนรัก

    ที่มา : http://www.kalyanamitra.org
     

แชร์หน้านี้

Loading...