ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ (พญ.อมรา มลิลา)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย TupLuang, 27 ตุลาคม 2008.

  1. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    [​IMG]

    ธรรมโอสถ (การแพทย์และวิทยาศาสตร์ทางจิต)
    : ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ


    โดย พญ.อมรา มลิลา


    เราก็ทราบกันแล้วว่าชีวิตของเราแต่ละคนๆ
    ประกอบไปด้วยใจ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวชักหุ่น คือ กาย
    ที่กายไปไหนมาไหนได้ ก็เพราะมีใจเป็นตัวกำกับ
    เป็นตัวทำให้เราคิดนึก ตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบ

    ถ้าไม่มีใจเสียอย่าง กายของเราก็เหมือนท่อนฟืน
    จะเอาไปทำอะไร กายก็ไม่รู้สึก ไม่เจ็บไม่ปวด
    ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เรามีปฏิกิริยาสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระทบได้
    ก็เพราะเรามีส่วนที่เรียกว่า ใจ ที่เป็นธาตุรู้ พลังรู้

    ใจที่เป็นพลังรู้นี้ มีความสัมพันธ์กับพลังทั้งหลายในจักรวาลได้
    บางท่านเชื่อว่า เราต้องดูดาวต้องเชื่อโหราศาสตร์
    เชื่อฮวงจุ้ย เชื่อฤกษ์ เป็นต้น
    เราก็ติงว่า ชาวพุทธนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้เชื่อในการกระทำ
    ดังคำตรัสที่ว่า ของทุกอย่างมาแต่เหตุ

    แต่ท่านก็มิได้ปฏิเสธสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ว่า
    จะไม่มีความหมายเสียเลย

    ท่านเพียงแต่ให้เราเข้าใจว่า
    ถึงแม้สิ่งทั้งหลายจะมามีแรงสัมพันธ์กับใจของเราได้
    ทำนองเดียวกัน ที่วิชาภูมิศาสตร์อธิบายว่า
    เมื่อพระจันทร์เต็มดวงน้ำจะขึ้น
    เพราะแรงของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
    มาช่วยเสริมแรงดึงดูดโลก ดึงน้ำเอาไว้ได้มากขึ้น

    พระพุทธองค์ทรงรับเรื่องโหราศาสตร์ เรื่องอิทธิพลต่างๆ เหล่านี้
    แต่ไม่ได้หมายเลยไปว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้มีอยู่
    เราจะต้องปล่อยใจของเราให้ตกเป็นบริวาร
    ถ้าดวงดาวว่า ตอนนี้เคราะห์เราร้าย
    เราก็ต้องยอมให้เคราะห์นั้นเตะเรากลิ้งกระเด็นไป

    ท่านทรงสอนให้เราเฝ้าดู จนรู้ชัดว่า
    ถึงจะมีเหตุ มีปัญหา เราก็สามารถป้องกัน แก้ไข เปลี่ยนแปลงได้
    ด้วยการเพียรพยายามตั้งสติ ระลึกรู้สึกทั่วพร้อมอยู่
    ไม่ประมาท เหมือนเรื่องในสมัยโบราณ
    ที่เล่าถึงความสำคัญของใจเอาไว้ว่า

    มีเจ้าผู้ครองแคว้น 2 แคว้นในอินเดีย
    ซึ่งมีอาณาเขตประชิดติดกัน 2 แคว้นนี้
    รบพุ่งกันเป็นประจำ ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ
    แต่ยังไม่เด็ดขาดกันไป

    ช่วงที่คอยจะรบกันครั้งต่อไป พระเจ้าแผ่นดินแคว้นหนึ่ง
    มีปุโรหิตที่ภาวนาแล้วเกิดนิมิต ติดต่อกับพระอินทร์ได้
    พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ปุโรหิตถามพระอาทิตย์ว่า
    รบครั้งใหม่นี้ ใครจะแพ้ ใครจะชนะ
    ปุโรหิตไปทำสมาธิ จนมีนิมิตเห็นพระอินทร์ จึงทูลว่า
    พระราชาให้ทูลถามถึงการรบครั้งใหม่นี้ ใครจะแพ้ ใครจะชนะ
    พระอินทร์ถวายพระพรพระราชาว่า จะชนะ

    เมื่อพระราชาทรงทราบ นายทัพนายกองทราบ
    แทนที่จะเอาความนี้เป็นกำลังใจ
    แล้วซ้อมรบให้แคล่วคล่องว่องไว กลับพากันรื่นเริงบันเทิง
    ตกอยู่ในความประมาท เพราะปักใจว่า
    พระอินทร์พยากรณ์แล้วว่า จะเป็นฝ่ายชนะ
    จึงพากันเที่ยวเตร่สนุกสนานไปตามอำเภอใจ
    ที่จะรู้หน้าที่ มาฝึกซ้อมก็ย่อหย่อนละเลยกันไป

    หากมีใครทักท้วง ก็จะประกาศว่า
    โฮ้ย... พระอินทร์บอกแล้วว่า เราจะชนะ

    นายทัพนายกองและไพร่พลฝ่ายนี้ก็ตั้งอยู่ในความประมาท

    ฝ่ายแคว้นตรงข้าม เมื่อข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงนายทัพนายกองทั้งหลาย
    ก็เสียกำลังใจ แต่พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้มีสติปัญญา
    เมื่อทราบข่าว แทนที่จะปล่อยให้ทหารของท่านเสียขวัญ
    ท่านรีบเสด็จลงมาเป็นกำลังใจ ควบคุมการฝึกซ้อมเอง
    และปลุกปลอบเหล่านายทัพนายกองว่า
    การทำสงคราม หรือการเล่นกีฬานั้น
    ผลมีเพียง 2 ประการ คือ แพ้หรือชนะ

    ก็ดี ที่พระอินทร์พยากรณ์ให้รู้ว่าเราจะแพ้
    ใจของเราจะได้ไม่เป็นกังวลว่า... นี่เราจะชนะหรือจะแพ้
    ใจที่กังวลนั้น ทำให้เราทำหน้าที่ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
    เพราะฉะนั้น ครั้งนี้พระอินทร์ช่วยให้รู้แล้วว่าเราจะแพ้
    เราก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน
    คนเราทำสงครามกัน ก็มีแพ้บ้าง ชนะบ้าง เป็นธรรมดา

    ความสำคัญของการรบ ไม่ได้อยู่ที่ชัยชนะอย่างเดียว
    ถ้าชนะด้วยเล่ห์กล รู้มาก เอาเปรียบการชนะนั้นก็ไร้ค่า
    ถ้าจะแพ้ก็ต้องแพ้ย่างองอาจกล้าหาญ สง่างาม
    แพ้อย่างประทับใจผู้รู้เห็น ไม่ใช่พอเริ่มรบ
    ก็ถูกเข้าโจมตีรุกไล่จนเสียริ้วขบวน ล้มตายเป็นเบือ
    เราต้องฝึกซ้อมให้คล่องแคล่ว
    ถึงจะแพ้ ก็อาจเหลือผู้ชนะอยู่เพียงคนเดียว
    ที่จะข้ามศพสุดท้ายของพวกเราได้
    นอกนั้นต้องแลกกันแบบชีวิตต่อชีวิต

    การศึกสงครามครั้งนี้ ประวัติศาสตร์จะต้องจดจารึกไว้
    สำหรับผู้ศึกษาตำราพิชัยสงคราม นำไปเป็นแบบฉบับ
    เป็นที่เลื่องลือระบือ เป็นตำนานไปอีกนานแสนนาน
    จนพวกเราตายไปแล้วเป็นร้อยๆ ปี

    ตรัสแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงอยู่ฝึกซ้อมด้วย
    นายทัพนายกองทั้งหลายก็มีกำลังใจ
    นอกจากนั้น ท่านยังประกาศไปทั่วว่า
    หากใครมีวิทยายุทธ์ หรือเจนจบตำราพิชัยสงคราม
    ช่วยมาฝึกมาสอนมาซ้อมให้ทหารของท่าน ท่านจะยินดีมาก

    ทหารฝ่ายนี้ก็คึกคัก ได้ขวัญได้กำลังใจ
    เพราะถือว่าเราจะแพ้ก็ไม่ว่ากัน
    เพราะความสำคัญอยู่ตรงกระบวนการรบ
    ความชำนิชำนาญช่ำชองต่างหาก

    นายทัพนายกอง ตลอดจนไพร่พลทหาร ต่างก็เกิดกำลังใจ
    หมั่นฝึกซ้อมจนมีความมั่นใจ แคล่วคล่อง ฮึกหาญ
    ครั้นถึงวันรบ ฝ่ายที่ทะนงตัวว่าจะชนะก็ฝืดอืดอาด
    เพราะขาดการฝึกซ้อม โดนฝ่ายปรปักษ์ซึ่งฝึกซ้อมมาเต็มฝีมือ
    รุกไล่จนเสียท่า ถอยร่นไม่เป็นส่ำ
    ในที่สุด องค์พระราชาก็ถูกอาวุธฝ่ายข้าศึกบาดเจ็บสาหัส
    ต้องรีบถอยกลับเข้าพระนครและปิดประตูเมืองตรึงไว้

    พระเจ้าแผ่นดินกริ้วมาก รับสั่งให้ปุโรหิตไปต่อว่าพระอินทร์ที่มาหลอก
    ไหนว่าจะชนะ รบกันยังไม่ทันไรเลย ฝ่ายเราก็เสียท่าไม่เป็นริ้วขบวน

    ปุโรหิตเข้าสมาธิ กราบทูลถามพระอินทร์ตามที่พระราชารับสั่ง

    พระอินทร์อธิบายว่า ที่ท่านพยากรณ์พระราชาว่าจะเป็นฝ่ายชนะนั้น
    เพราะจากดวงดาวและสภาพแวดล้อมทั้งหลาย
    หากจะเปรียบเทียบ ก็เป็นทำนองว่า ขณะนี้ที่ทั้ง 2 ฝ่ายรบกันนั้น
    สภาพฝ่ายมหาบพิตรเหมือนกำลังพายเรือตามกระแสน้ำ
    มีแรงจากกระแสน้ำช่วยพัดอีกแรงหนึ่ง ซึ่งมองดูแล้วก็น่าจะชนะ

    แต่ฝีพายของท่านขาดการฝึกซ้อม พายกันไปคนละทิศละทาง
    มิหนำซ้ำ ยังไม่คอยคัดหางเสือ คุมทิศทางเอาไว้
    ปล่อยให้เรือเหไปทางนั้น หันมาทางนี้ สะเปะสะปะไปหมด
    ถึงกระแสน้ำจะช่วยพัดแรงอย่างไร เรือของท่านก็ไม่ได้ประโยชน์
    ฉะนั้นพระราชาจะกล่าวโทษคำพยากรณ์ของท่าน ย่อมไม่ถูก
    ความจริงเป็นเพราะ พระราชาไม่เตรียมการให้รอบคอบ
    ไม่รู้จักเก็บสิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์มาทำให้เกิดโภคผล
    เต็มเม็ดเต็มหน่วย

    ส่วนฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่ออกเดินทางทวนกระแสน้ำ
    แต่ฝ่ายนี้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจว่า อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
    จะต่อสู้เอาชนะอุปสรรคทุกประการให้จงได้
    เมื่อรู้ว่าจะต้องเดินทางทวนกระแสน้ำ
    แทนที่จะเตรียมฝีพายชุดเดียว ก็เตรียมเพิ่มเป็นสองชุด
    สามชุด ฝึกซ้อมไว้อย่างดีเยี่ยม

    เมื่อฝีพายชุดแรกเริ่มอ่อนกำลังลง ก็ผลักชุดใหม่เข้าไปแทน
    ทำกันอย่างเป็นทีม เพราะฉะนั้น ถึงเสียเปรียบที่ต้องทวนกระแสน้ำ
    ต้องทำงานหนักต้องเหนื่อยอย่างไรก็ตาม
    แต่ไม่มีพลังอะไรจะเหนือไปกว่าพลังใจของมนุษย์ได้
    พระอินทร์ให้ปุโรหิตไปกราบทูลพระราชาดังที่กล่าวมานี้

    เรื่องนี้จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าสิ่งที่บังเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา
    จะเป็นแง่ดีหรือแง่ร้าย จะเป็นอุปสรรคเป็นปัญหาก็ตาม
    เราอย่าท้อถอยหรือเสียกำลังใจ
     
  2. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    ของทุกอย่างย่อมมาแต่เหตุ
    ถ้าเรารู้ว่าเหตุเก่าของเราไม่ดี ไม่ว่าจะทำอะไร
    ก็เหมือนธรรมชาติสภาพแวดล้อมเข้ามาบั่นรอน
    เราก็เร่งประกอบเหตุใหม่...เหตุปัจจุบัน
    แต่ละขณะ ลงไปให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
    ด้วยสติสัมปชัญญะ ปัญญา ด้วยความพากเพียร
    เราก็สามารถปรับเปลี่ยนอุปสรรคและปัญหา
    ให้กลายมาเป็นความสำเร็จได้
    เพราะไม่มีพลังใดในจักรวาล
    จะสามารถต้านทานพลังในของมนุษย์ ที่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังได้
    ดังคำที่ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ

    ตรงนี้ คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความเป็นมนุษย์ของเรา
    และตรงนี้คือ แก่นของพุทธศาสนา
    ที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า ไม่ว่าเหตุเก่าของเรา
    จะมีว่าเป็นอะไร ก็ไม่ได้เป็นเครื่องริดรอนเราว่า
    เราจะไม่มีวันไปถึงจุดที่มุ่งหวังตั้งใจได้

    เราอาจจะต้องทำงานหนักเหนื่อยกว่าคนอื่น
    เพราะเราบังเอิญก่อหนี้สินไว้ล้นพ้นตัว
    แต่ไม่ได้หมายความว่า การมีหนี้สินจะเป็นการขีดคั่นว่า
    เราเป็นบุคคลต้องสาป หมดสิทธิจะประสบความสำเร็จ


    ถ้าเราตระหนักตรงนี้แจ่มชัด และตั้งใจจริงจังว่า
    ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ แล้วเรามุ่งมั่น
    ลงมือประกอบแต่สิ่งที่เป็นสัมมาทิฐิ
    สิ่งที่เป็นมรรค ปัญหาทั้งหลายย่อมคลี่คลายไป
    แล้วเราก้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

    หากใจเชื่อมั่นอย่างนี้ ลงมือทำตั้งแต่วินาทีนี้
    เราจะพบว่า อะไรหลายๆ อย่างที่เคยท้อใจ
    แต่พอเราเริ่มตั้งมั้นในการจะทำอะไรสักอย่าง
    ถึงแม้จะมีแต่อุปสรรคอยู่บ้าง ก็จะเริ่มคลี่คลายไป


    แต่ก่อนดิฉันเป็นคนเคารพในกฎจราจรเคร่งครัด
    ชนิดแบกหามโลกทั้งโลกเอาไว้
    และมุ่งหวังจะให้ทุกคนเคารพกฎจราจรเช่นนั้นด้วย
    ถ้าจะเลี้ยวขวา ดิฉันก็จะรักษาตัวเอง
    ให้อยู่ในช่องเลี้ยวขวาไว้โดยตลอด
    บางครั้งเสียเวลาเป็นชั่วโมง กว่าจะเลี้ยวขวาไปได้
    เพราะเดี๋ยวคันนั้นก็ปาดตัดหน้าเข้ามา
    เดี๋ยวคันนี้ก็เบียดแซงเข้ามา
    ใจเราก็หงุดหงิดทุกครั้งที่เห็นรถคันหน้าๆ เรา
    สมยอมให้เขาปาดเข้ามาได้ เบียดเข้ามาได้
    ถ้าคันที่ไร้มรรยาทบังเอิญเบียดเราเข้ามา
    ดิฉันก็จะเข้าไปจ่อติดคันหน้าเอาไว้
    ไม่ยอมให้มีช่องที่จะปาด จะเบียดเข้ามาได้
    ถ้ารถเราจะถูกเฉี่ยวถูกชนก็ยอม
    ขอเพียงอย่าให้พวกชุบมือเปิบปฏิบัติการสำเร็จ
    ขณะเดียวกันก็นึกตำหนิ...
    ในเมื่อคุณรู้อยู่ว่าจะเลี้ยวขวา
    แล้วทำไมไม่อยู่ช่องเลี้ยวขวาตั้งแต่แรก
    รู้มากเอาเปรียบนี่ คอยมาปาด มาแซง
    มาตัดหน้าเอาเฉยๆ อย่างนี้ได้อย่างไร
    ตัวเองจะประพฤติอย่างนี้อยู่เป็นประจำ
    แล้วก็เชื่อว่า การทำเช่นนี้เป็นหน้าที่ของพลเมืองดี
    ต้องช่วยกันสั่งสอนทุกคนให้รู้จักเคารพกฎกติกา
    มีมารยาทในการขับรถ

    วันหนึ่ง ดิฉันต้องไปเยี่ยมผู้ป่วย
    ครั้นออกจากบ้านผู้ป่วยซึ่งอยู่ในซอยฝั่งซ้ายของถนน
    แลดูทิศทางที่เราจะกลับบ้าน
    ก็พบว่า พ้นจากปากซอยออกมานิดเดียว ก็เป็นสี่แยก
    ซึ่งเราจะต้องตีชิดขวาให้ได้ เพื่อเลี้ยวขวาที่สี่แยกนั้น
    มิเช่นนั้นเราจะหลุดไปถึงไหนก็ไม่ทราบ
    แล้วจะหาทางกลับบ้านได้หรือเปล่า
    นั่นเป็นอีกปัญหาพอถึงปากซอยก็เหงื่อหยด
    เพราะเล็งแล้วทำอย่างไรก็ไม่มีทาง
    ที่จะฝ่าฝูงรถตัดไปเข้าช่องเลี้ยวขวาได้
    รีรอ เพียรพยายามเท่าไรก็ไม่สบโอกาสเลยตัดใจว่า
    ลองไปทางตรงต่อไปก่อนเถอะ
    คงมีทางที่จะวกเลี้ยวกลับรถได้หรอก
    แต่ปรากฏว่า ไปเท่าไร...เท่าไร ก็ไม่มีทางให้เลี้ยว
    นอกจากสี่แยกที่เล็งไว้นั้น เลยพ้นหลุดไปเสียหายห่วง
    กว่าจะกลับถึงบ้านก็สะบักสะบอมไปเลย

    ประสบการณ์นี้สอนให้เราฉุกใจ ได้คิดว่า
    ผู้ที่ขับรถมาตัดหน้าปาดแซงเรา เพื่อจะเลี้ยวขวานั้น
    ไม่ใช่คนอันธพาล คนไม่ดีไปเสียทั้งหมด
    อาจมีความจำเป็นอย่างเรา เช่นในกรณีนี้ก็ได้

    ดิฉันเลยปรับเปลี่ยนนิสัยตัวเอง โดยคิดว่า
    บางวันเราก็ไม่มีโอกาสใส่บาตร หรือทำบุญอะไร
    เอาเป็นว่า เราจะทำบุญด้วยการให้หนทาง
    ที่สะดวกราบรื่นแก่ผู้ขับรถ ใครจะปาดแซงตัดหน้า
    ฉวัดซ้าย เฉวียนขวา เราจะอดทนอดกลั้น
    ชะลอรถให้หนทางให้ความสะดวกราบรื่น
    ในการไปการมาแก่เขา
    เพราะเขาอาจจะประสบปัญหาจำเป็นส่วนตัว
    อย่างที่เราได้ประสบมาก็ได้
    เรียกว่าจะให้ความสะดวกสบายบนหนทางเป็นทาน
    ก็ตั้งเจตน์จำนงไว้ในใจอย่างนี้

    ถ้าสติมีอยู่กับใจ พฤติกรรมของเราก็เรียบร้อยดีงาม
    สามารถอนุโมทนากับเขาได้ตลอดรอดฝั่ง
    แต่ถ้าสติพลัด สันดานเดิมก็มาสำแดง
    ตัวเราก็จี้จ่อติดท้ายรถคันหน้าเข้าไปโดยอัตโนมัติ
    พร้อมกับหงุดหงิดว่า... คนอะไร ไม่มีมารยาท...
    ครั้นนึกได้ว่า อ้าว...ก็เราตั้งใจไว้ว่า
    จะเปลี่ยนนิสัยตัวเองไงล่ะ ก็ชะลอรถลง

    ผลที่ปรากฏขึ้น หลังจากประพฤติตนเช่นนี้มา
    ประมาณ 2-3 เดือนนั้น มีเหตุแสนมหัศจรรย์
    วันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกับวันที่สอนให้ฉุกใจรู้คิด
    คือ เราจะต้องออกจากซอยฝั่งซ้าย
    แล้วเบียดแซงตัดหน้าเขาไปเข้าช่องเลี้ยวขวา
    ก็เห็นรถเมล์กำลังแล่นมา เราก็หยุดคอย
    สักประเดี๋ยวหนึ่ง คนขับรถเมล์ก็ชะโงกหน้ามาบอกว่า
    คู้ณ... คุณ ไปสิ ผมกันรถข้างๆ ไว้ให้แล้วด้วย


    เราก็งงมาก คาดไม่ถึงว่า คนขับรถเมล์จะอารมณ์ดี
    มีใจเอื้อเฟื้ออย่างนี้ ก็ยกมือไหว้ขอบคุณ
    แล้วก็เป็นความจริง นอกจากคนขับรถเมล์จะจอดให้ทางแก่เราแล้ว
    ยังปรามรถคันข้างๆ ทางขวาว่าเดี๋ยวก่อนสิ
    ให้รถจะเลี้ยวขวาเขาไปก่อน
    เรียกว่าอำนวยความสะดวกอย่างสุดคาดเดา


    เหตุการณ์นี้ เป็นเครื่องตอกย้ำให้เราเห็นจริงว่า
    เราประกอบเหตุอย่างไรไว้ ย่อมได้รับผลอย่างนั้น
    ทำให้ใจชุ่มชื่น และมีกำลังขึ้น
    ต่อจากนั้น ก็สังเกตเห็นว่า บนท้องถนน
    เราได้รับความเอื้อเฟื้อทำนองนี้บ่อยขึ้น
    ซึ่งครั้งที่เราขับรถแบบจี้ติด ปิดกั้นหนทางผู้อื่นนั้น
    ไม่เคยมีใครเอื้อเฟื้ออย่างนี้ต่อเราเลย

    ใจก็เริ่มมีกำลังขึ้น เชื่อมั่นว่า
    ทุกอย่าง ถ้าเราเริ่มต้นประกอบเหตุที่สมควร
    แล้วคอยฝึกคอยฝืนใจของเรา
    ให้อยู่ในกรอบที่กำหนดเอาไว้
    เราก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมและเปลี่ยนชีวิตของเราได้


    ตรงนี้ ทำให้เราตระหนักว่า ใจเป็นสิ่งยิ่งใหญ่มหัศจรรย์จริงๆ
    ท่านผู้รู้กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงแค่ทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยใจเท่านั้น
    ใจนี้ยังเป็นตัวตกแต่งเนรมิตโลก
    ให้วิจิตรพิสดารไปตามความปรุงมุ่งปรารถนาอีกด้วย

    เหตุใด จึงว่าอย่างนี้ ถ้าศึกษาเหตุการณ์ที่ผ่านมา
    จะเห็นมนุษย์ที่ทรงอำนาจ ทุกยุคทุกสมัย
    ไม่ชอบใจภูเขาลูกไหน ก็จัดการต่อยทิ้งไป
    อยากได้ทะเลสาบตรงนี้ ทั้งที่เป็นแผ่นดินดีๆ
    ก็ขุดเนรมิตให้เป็นทะเลสาบขึ้นมา
    เรียกได้ว่าเนรมิตโลกให้เป็นไปดังใจมุ่งมาดปรารถนา
    ใจเป็นตัวบันดาลทั้งสิ้น


    ถ้าใครอ่านพระไตรปิฎก ตอน อัคคัญญสูตร
    สูตรที่ว่าด้วยสิ่งที่เป็นต้นเดิม
    พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่อง สมัยหนึ่งโลกหมุนเวียนไปสู่ความพินาศ

    สัตว์ทั้งหลายไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหมกันโดยมาก
    ครั้นโลกเวียนกลับเกิดขึ้นใหม่
    เริ่มแรกก็ร้อนจัดมาก แล้วค่อยเย็นลง เย็นลง
    ดินซึ่งเริ่มแรกร้อนจนเดือด
    เมื่อบรรยากาศเย็นลงก็มีลักษณะเหมือนซุปข้นๆ
    เริ่มจับตัวเป็นฝ้าที่ผิวหน้า เรียกว่าง้วนดิน
    ยังมีความร้อนระอุอยู่ในตัว สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่นและรส

    สัตว์ทั้งหลายในชั้นอาภัสสรพรหม ก็จุติมาสู่โลกนี้
    โดยเกิดจากใจ ยังมีฌานเป็นอุปนิสัย
    เป็นสุขอยู่ด้วยสมาธิ กินปีติเป็นอาหาร
    ตัวจึงใส มีแสงสว่าง ไปมาในอากาศ
    เหมือนเมื่ออยู่ในชั้นอาภัสสรพรหม
    เมื่อได้กลิ่นง้วนดิน ก็อดที่จะลองไม่ได้
    จึงเอานิ้วแตะง้วนดินกิน ก็ชอบใจ

    เมื่อเสพดินเข้าไป ตัวก็เริ่มมือทึบ
    หมดแสงสว่างและเหาะไม่ได้
    ดินที่เสพอยู่เรื่อยๆ มีผลให้กายหยาบกระด้าง
    ผิวพรรณที่เคยสุกสว่างเหมือนๆ กัน ก็เปลี่ยนไป
    เป็นบางคนผิวพรรณคล้ำมาก คล้ำน้อย
    บางคนยังขาวอยู่ ทำให้เกิดความแตกต่างหลากหลายจากกันไป

    ใจที่หลุดจากสมาธิ มาติดหลงใหลในรสของง้วนดิน
    ก็เริ่มถูกถามวัตถุ... รูป รส กลิ่น เสียง ผัสสะ... ครอบงำ
    ต่างจ้องมองซึ่งกันและกัน
    เกิดความรักใคร่ในความผิดแผกของกันและกัน
    ใจที่ใคร่ใฝ่กัน เกิดความกำหนัดต่อกัน
    ทำให้กายเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นเพศหญิงเพศชายขึ้น
    เมื่อต่างเพศเพ่งจ้องมองกันมาก ก็เกิดกำหนัดเร่าร้อน
    จนสังวาสกันต่อหน้าหมู่พวก
    ที่ไม่มีเสื้อผ้าปกปิด ก็เริ่มมีความกระดากอาย
    มีความติดเนื้อต้องใจกัน แยกอยู่กันเป็นคู่
    หาใบไม้มาปกปิดร่างกาย สร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัย
     
  3. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่ครอบงำอยู่
    ชักพาใจให้รังสรรค์ความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อุปนิสัย
    ไปกระทั่งรูปร่างกาย จากความเป็นอยู่แบบพรหม
    คืนกลับมาเป็นสัตว์โลกข้องติดอยู่ในกามภพ
    กามวัตถุ เกิดกามราคะ ดำรงชีวิตที่เป็นเพศคู่คืนมาอีก

    อุทาหรณ์จากสัตว์ชั้นอาภัสสรพรหม
    ทำให้เราเห็นว่า แม้จะเจริญไปอยู่ในชั้นพรหมแล้ว
    หากไม่ระมัดระวังรักษาใจ ให้มีสติตามระลึกรู้อยู่กับความเป็นจริง
    ก็สามารถเผลอ กลับมาสู่กามกิเลสใหม่ได้



    เมื่อไรเราเบื่อการถูกกิเลสผูกมัดรัดจิตใจ
    ทำให้เราทุกข์ด้วยการหาอยู่หากิน
    ทุกข์ด้วยเรื่องของโลก จนไม่มีเวลาดูแลใจ
    เราก็สามารถทำอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ
    ที่ท่านเห็นความทุกข์เหล่านี้ชัดเจน แล้วมุ่งมั่นปฏิบัติ

    ถ้าเราจะดูว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจนั้น
    สำเร็จอย่างไร ก็ดูจากประวัติของพระพุทธเจ้า
    พระอ'ค์ไม่ได้เริ่มปฏิบัติเมื่อท่านเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
    ท่านเริ่มมายาวนาน ก่อนหน้านั้น
    ก่อนสมัยพระทีปังกรพทุธเจ้า
    ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 1
    พระพุทธเจ้าของเรา พระโคดมพุทธเจ้าเป็นลำดับองค์ที่ 25


    ใจที่มุ่งมั่นปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เกิดเป็นครั้งแรก
    เมื่อท่านเห็นพระป่ารูปหนึ่งและได้ถวายท่อนผ้าเก่า
    มาสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า ท่านเป็นดาบส ชื่อสุเมธ
    เมื่อพระทีปังกรพาพระสาวกเสด็จมาเมืองที่สุเมธดาบสตั้งอาศรมอยู่
    ชาวเมืองพากันทำทางให้พระทีปังกรและสาวกดำเนินผ่าน
    สุเมธดาบสก็มาช่วยทำด้วย แต่ยังไม่ทันเรียบร้อยดี
    พระพุทธเจ้าและพระสาวกก็มาถึง
    สุเมธดาบสเอาตัวเองนอนทับโคลนให้
    พระพุทธเจ้าและสาวกเดินเหยียบข้าม
    จะได้ไม่ลื่นเป็นอันตราย
    เสร็จแล้วจึงลุกตามไปฟังธรรมที่ศาลากลางเมือง

    เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลงแล้ว
    ก็ตรัสกับสุเมธดาบสว่า สิ่งที่สุเมธดาบสได้กระทำมา
    รวมทั้งที่ร่วมทำทางถวายท่านและสาวกในวันนี้
    ถ้าสุเมธดาบสปรารถนาความหลุดพ้นเป็นอรหันตสาวก
    ก็จะสำเร็จในชาติภพนี้

    แต่พระพุทธองค์ทรงรู้ในใจของสุเมธดาบสว่า
    ปรารถนาพุทธภูมิ คือ มุ่งหวังสั่งสมบุญบารมี
    เพื่อมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง
    ท่านจึงตรัสพยากรณ์สุเมธดาบสว่า
    จะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ในกาลเบื้องหน้า
    แล้วทรงเล่าถึงการบำเพ็ญทศบารมีในสิบชาติสุดท้าย
    ว่ามีอะไรบ้าง จบลงด้วยชาติที่มาเป็นพระเวสสันดร


    ผู้หญิงคนหนึ่งฟังแล้ว ซาบซึ้งในจริยาวัตรของพระเวสสันดร
    จึงขอโอกาสพระพุทธเจ้าปวารณาตัวมาเกิดเป็นนางมัทรี
    ให้พระเวสสันดรได้ทำมหาทาน
    ตัดพระทัยสละแม้พระมเหสีอันเป็นที่รัก
    เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ จากการเสียสละครั้งนี้
    เมื่อพระเวสสันดรมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
    ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
    ขอให้เธอได้ฟังธรรม แล้วสำเร็จอรหัตตผล
    พระทีปังกรพทุธเจ้าก็ประทานพร

    เด็กชายเด็กหญิงคู่หนึ่งก็ปวารณาตัวเป็นชาลีกับกัณหา
    เพื่อถึงวิมุติธรรมในสมัยของพระโคดมพุทธเจ้า
    ทุกอย่างเป็นมาด้วยใจประสงค์ของทุกคน
    สุเมธดาบสก็ตั้งใจประกอบบุญบารมี
    เพื่อมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    ผู้หญิงคนนั้น... ก็เต็มใจมาเป็นพระนางมัทรี
    เพื่อร่วมประกอบกุศลเหตุ
    เด็กชายก็มาเป็นชาลี เด็กหญิงเป็นกัณหา
    ต่างมาด้วยจิตที่มุ่งมั่นปรารถนาดีต่อกัน
    ร่วมสั่งสมบุญบารมี เพื่อลุสุขอันเกษม

    ถึงทุกอยางจะสำเร็จได้ด้วยใจ
    แต่ถ้าเราไม่ฝึกใจของเรา ไม่ทำให้ตัวระลึกรู้
    คือ สติ มีกำลังแก่กล้าจนเป็นเสมือนหางเสือ
    ที่มุ่งกำหนดทิศทางของใจ
    ให้ตรงไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างแน่วแน่
    ใจก็ยังมีขณะที่เป็นไตรลักษณ์
    เป็นอนิจจัง คือ ไม่เที่ยง เหมือนใจของเด็กหญิง
    ผู้มาเป็นกัณหา ธิดาของพระเวสสันดร

    พระเวสสันดรนั้นเป็นโอรสของพระเจ้าสัญชัยและพระนางผุสดี
    ได้ขึ้นครองราชสมบัตอยู่ที่กรุงสีพีแทนพระราชบิดา
    เมื่อพระชนม์ได้ 16 พรรษา
    ได้พระนางมัทรีซึ่งเป็นราชธิดากษัตริย์มัททราชเป็นมเหสี
    มีพระโอรสธิดาพระนามว่า ชาลีและกัณหา
    ท่านมีอุปนิสัยชอบบริจากคทาน
    ได้ทั้งโรงทานที่ประตูเมืองทั้งสี่ ที่กลางเมือง
    และที่หน้าประตูพระราชวัง รวมเป็น 6 แห่ง

    คราวนั้น เมืองกาลิงครัฐข้าวยากหมากแพง
    ฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล
    พืชพันธุ์ธัญญาหารตายไปเป็นอันมาก
    พระราชาแคว้นนั้น จึงส่งพราหมณ์มาทูลขอช้างเผือกพระที่นั่ง
    ชื่อปัจจยนาเคนทร์ จากพระเวสสันดร
    เพราะช้างพระที่นั่งนี้ อยู่ที่ไหนจะทำให้ชุ่มชื้น
    ฝนตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์

    พระเวสสันดรพิจารณาเห็นความจำเป็นของเมืองกาลิครัฐ
    จึงยกช้างพระที่นั่งให้

    ชาวกรุงสีพีเป็นเดือดเป็นแค้น ไม่พอใจ
    พากันไปชุมนุมหน้าพระลาน ฟ้องร้องให้พระเจ้าสญชัย
    เนรเทศพระเวสสันดร มิฉะนั้นพวกเขาจะพินาศเดือดร้อน
    เพราะพระเวสสันดรประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมือง
    แก่พราหมณ์ไปเสียแล้ว ต่อไปคงยกบ้านเมืองให้คนอื่น
    ไม่เหลือทรัพย์สิน แผ่นดินเมืองสีพีเป็นแน่

    พระเวสสันดรเต็มพระทัยรับการเนรเทศโดยลำดับ
    ไม่ต้องการเอาพระมเหสีโอรสธิดาไปตกระกำลำบากด้วย
    แต่พระนางมัทรี และกัณหาชาลี ทรงขอติดตามไปด้วย

    ระหว่างที่ไปอาศัยอยู่ในป่ากัน พระเวสสันดรครุ่นคิด
    หาทางว่า ทำอย่างไร ท่านจึงจะเอาพระนางมัทรี
    กัณหา ชาลี ส่งกลับพระนครได้
    หากท่านเป็นอะไรลงไป ชายาและโอรสธิดา
    จะได้อยู่กันอย่างปลอดภัย


    ขณะที่ท่านดำริอยู่นั้น วันหนึ่ง ชูชกก็เดินทางดั้นด้น
    มาถึงอาศรมพระเวสสันดร แล้วทูลขอกัณหาชาลี
    ไปช่วยทำงานบ้านแทนนางอมิตดาเมียสาวของตน
    พระเวสสันดร รักโอรสธิดาก็สุดรัก
    แต่สังเกตดูชูชกแล้ว ก็แน่ใจว่าเป็นคนโลภ
    หากท่านตั้งค่าตัวของกัณหาชาลีให้สูงมาก
    ขนาดที่ใครก็ไม่สามารถไถ่ตัวไปได้
    นอกจากพระเจ้าสัญชัย พระราชบิดา
    ชูชกคงทะนุถนอมลูกท่านจนถึงพระนคร เพราะเห็นแก่ค่าไถ่

    ท่านจึงตั้งค่าตัวของชาลีเป็นทองคำแท่งจำนวนหนึ่ง
    และข้าทาสช้างม้าวัวควาย
    ของกัณหาเป็นเงินแท่งและข้าทาสช้างม้าวัวควายเช่นกัน
    ซึ่งชูชกถึงกับตาลุกเมื่อได้ยินจำนวน
    และมั่นใจว่า ถ้ารักษาพระกุมารไปจนถึงพระนคร
    พาไปหาพระเจ้าสัญชัย ตนจะได้ค่าไถ่ตัวกัณหาชาลี ร่ำรวยเป็นแน่

    พระเวสสันดรเอง ทั้งที่ทรงเชื่อว่า ท่านคาดการณ์ไม่ผิด
    ในการส่งพระกุมารกลับสู่พระนคร
    แต่ความผูกพันอาลัยรักห่วงหวงในพระกุมาร
    ก็อดวิตกทุกข์ร้อนไม่ได้ว่า หากคาดผิด
    ชูชกเอาพระกุมารไปตกระกำลำบาก
    เคี่ยวเข็ญเฆี่ยนตีเล่า ท่านจะทนได้หรือ
    ความคิดเหล่านี้ วกวนกลับไปกลับมา
    จนท่านรู้สึกเหมือนจะหักพระทัยให้พระกุมารไปไม่ได้

    ในที่สุด เหตุผลก็แน่วแน่ ท่านตัดพระทัยยกกัณหาชาลี ให้ชูชก
    ทรงเรียกพระกุมารให้ออกมาจากที่ซ่อน
    เพื่อไปกับชูชก กำชับทั้งสองพระองค์
    ให้จำค่าตัวของตัวเองให้แม่น
    ถ้าใครมีเงินมาไถ่ตัวจากชูชกได้
    ก็ให้พระกุมารยินยอมอยู่กับผู้นั้นสืบไป

    ชาลีเข้าใจน้ำพระทัยพระบิดา เมื่อขึ้นจากคูน้ำ
    ที่ลงไปซ่อนอยู่ระหว่างกอบัว ก็ปลงใจยินยอมไปกับชูชก
    แต่ใจของกัณหา เด็กหญิงตัวเล็กๆ นั้น
    เต็มไปด้วยความโทมนัสน้อยใจ
    แม้จะเคยมุ่งมั่นศรัทธาตั้งใจปวารณาตัวไว้
    กับพระทีปังกรพทุธเจ้า มาเกิดเป็นกัณหา
    เพื่อให้พระเวสสันดรได้ใช้บำเพ็ญมหาทาน
    มาบัดนี้ ความทุกข์ที่ครอบงำ พาใจให้ลืมความมุ่งมั่นเดิมหมดสิ้น

    กัณหามีแต่ความน้อยใจแหนงใจว่า
    พระบิดาทำอย่างนี้ได้อย่างไร ยิ่งชูชกส่งเสียงขู่ วางอำนาจว่า
    ถ้าดึงดื้อ ชักช้าอยู่ จะเฆี่ยนตีนะ
    กัณหาก็ร้องเรียกให้พระเวสสันดรช่วย
    พระเวสสันดรหักพระทัย ข่มพระทัยตอบกัณหาว่า
    ท่านยกให้ชูชกแล้ว กัณหาต้องเชื่อฟังชูชก
    เคารพชูชกเหมือนที่เคารพท่าน

    กัณหาจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า
    แต่นี้ไป ขออย่าได้เจอะเจอเป็นพ่อลูกกันอีกเลย
    ลืมคำที่เคยขอมาเป็นลูกเจ้าชายสิทธัตถะอีก
    เป็นการลบล้างคำอธิษฐานเดิม
    นี่แหละ... อนิจจา สัญญา... ความจำไม่เที่ยง

    ใจเป็นพลังยอดเยี่ยมเหนือพลังใดๆ ในจักรวาลก็จริง
    แต่ถ้าเราไม่ฝึกฝนให้สติเป็นหางเสือที่ดี
    เราก็ทำร้ายตัวเราเองย่ำแย่ไปเหมือนกัน
    ตั้งกุศลจิตไว้ว่า ขอเอาตัวมาให้พระเวสสันดรสละเป็นทาน
    เพื่อร่วมกระทำมหากุศลไว้เป็นเสบียง
    ให้ตัวเองได้สำเร็จเป็นอรหันต์
    ในสมัยพระโคดมพุทธเจ้า
    ครั้นพระเวสสันดรยกให้ชูชก สติก็ปลิวหลุดไป
    ใจเกิดอารมณ์ทุกข์โทมนัสน้อยใจ เพ่งโทษว่า พ่อใจร้าย
    เลิกกันแล้ว ไม่ขอเป็นลูกเป็นพ่อกันอีกแล้ว

    พรของพระทีปังกรพุทธเจ้า ก็คงสัมฤทธิ์ผลถึงกัณหา
    จึงมาเกิดเป็นนางอุบลวรรณา ธิดาเศรษฐีเมืองสาวัตถี
    ก็ได้บวชเป็นภิกษุณี ปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
    เพราะถึงแม้ใจจะแปรปรวนไปตามอารมณ์
    เป็นลูกไม่เป็นลูกก็ตาม แต่ส่วนที่ใฝ่บำเพ็ญบุญกุศลนั้น
    คงพากเพียรกระทำสม่ำเสมอมา จึงคงสัมฤทธิ์ผล
     
  4. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    ถ้าเราตามมองให้เห็นวิถีจิต วาระจิตของเราได้
    เราจะสลดใจกับตัวเอง บัดเดี๋ยวใจก็ปรารถนาอย่างนี้
    อีกบัดเดี๋ยว ก็พลิกไปปรารถนาอย่างโน้นทุบถองต่อยตีกันเอง
    แล้วเพ่งโทษว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายไม่ยุติธรรม
    ไม่เห็นบันดาลให้เป็นไปดังใจ
    ก็ใจเราจะเอาอย่างไร เจ้าตัวยังไม่รู้ชัดเลย
    บัดเดี๋ยวจะเอาอย่างนี้ อีกบัดเดี๋ยวจะเอาอย่างโน้น
    ตีกันอยู่ร่ำไป

    ให้ดูเอาไว้ แล้วคอยฝึกฝน คอยเอาสติจับสังเกตดู
    จะเห็นได้ชัดขึ้น จนเราเหนื่อยหน่าย
    เบื่อกับความแปรปรวนของใจ แล้วเริ่มสำรวม คอยระมัดระวัง
    จับตั้งไว้ให้แน่วแน่เที่ยงตรง
    สติเป็นหางเสือคอยกำกับ ใจจะพลิกเปลี่ยน
    สติก็ห้ามล้อทักท้วงขึ้น... จะเอายังไงแน่...
    เราเป็นคนจริง หรือคนปลอม


    ตรงนี้แหละ ที่ช่วยให้เราเดินไปบนมรรคได้สม่ำเสมอขึ้น

    เรามาดูเรื่องจริงที่เกิดขึ้นสักเรื่องหนึ่ง
    เป็นเรื่องของสภาพสตรีที่รู้จักคุ้นเคยกับดิฉัน
    เธอเป็นคาทอลิก มีลูก 3 คน
    เมื่อลูกคนเล็กอายุได้ประมาณ 5 เดือน
    คุณแม่ซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมก็ตายไป
    ปกติคุณแม่จะดูแลหลาน คือ ลูกของเธอ
    เมื่อกลับจากโรงเรียนก็จะมีขนมของว่างที่ท่านทำเตรียมไว้พร้อม


    ตัวเธอเองทำงานรัฐวิสาหกิจ เมื่อคุณแม่ตายไป
    เธอก็ว้าเหว่ เพราะแม่ลูกคู่นี้สนิทสนมกันมาก
    ลูกๆ ก็ยกให้เป็นหน้าที่เด็กรับใช้ดูแล
    รวมทั้งข้าวปลาอาหารของว่าง วันหนึ่ง เธอนิ่งอึ้งไป
    เมื่อลูกๆ บ่นขึ้นมาว่า... ถ้าพระเจ้ามีจริง ขอเปลี่ยนกันก็ดีแหละ
    ให้พระเจ้าเอาแม่ไป แล้วแลกคุณยายคืนมา

    ฟังแล้วก็ใจหาย ถามลูกๆ ว่า... ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ...

    ลูกอรรถาธิบายว่า ถ้ามีคุณยาย ก็มีขนมแสนอร่อย
    ถูกปากไปหมดทุกอย่าง กลับถึงบ้านแล้วเหมือนขึ้นสวรรค์
    แต่มีแม่ มีอะไรก็ไม่รู้ กินไม่ลงสักอย่าง
    แม่ยิ่งใจแห้ง พูดอะไรไม่ออก

    ช่วงนั้น ดิฉันอยู่ที่วัดท่านอาจารย์สิงห์ทอง
    เพราะคุณโยมแม่ของท่านเจ็บหนัก
    สุภาพสตรีท่านนี้แทนที่จะไปพักผ่อนสุดสัปดาห์กับครอบครัวเช่นเคย
    เธอบอกสามีว่า อาทิตย์นี้ คุณพาลูกๆ ไปเที่ยวกันเองก็แล้วกันนะ
    ฉันจะไปหาเพื่อนที่อีสาน

    เมื่อมาถึงวัด เธอก็กราบเรียนท่านอาจารย์อย่างไม่อ้อมค้อมว่า
    เธอเป็นคาทอลิค ที่มานี่ ขออนุญาตมานอนคุยกับดิฉัน
    เช้าวันอาทิตย์ก็ขออนุญาตไปโบสถ์ที่อุดร...
    ไม่ได้มาหาท่านอาจารย์ จะมานอนคุยกับเพื่อน

    ท่านอาจารย์ก็เออออ... เอาเลย... จะเอายังไงก็เอากัน
    จะไปโบสถ์ ท่านจะจัดรถให้ จะเอาอะไรได้ทั้งนั้น
    แต่ถึงเวลาเข้าจริง เพื่อนไม่ได้คุยกับดิฉันสักคำ
    ท่านให้เธอพักกุฎีหลังคาหญ้า
    ติดทางจงกรมและให้หัดภาวนา โดยให้เหตุผลว่า
    การภาวนานั้นเป็นสากล คริสต์ก็ทำได้ พุทธก็ทำได้
    เป็นการฝึกเพื่อให้ใจมีกำลัง มีความสงบ
    ตกเย็น ท่านอาจารย์ลงศาลา ก็ให้เณรมาเชิญเธอไปฟังด้วย

    2-3 เดือนต่อมา วันหนึ่ง ลูกคนเล็กโผมากระแทกหน้าอกของเธอ
    ด้านเดียวกับที่คุณแม่เป็นมะเร็ง
    ทำให้เจ็บเต้านมอย่างมากมายเกินเหตุ
    เธอจึงไปให้แพทย์ตรวจ และพบว่าเป็นมะเร็งที่เต้านมข้างนั้น
    จึงกำหนดวันผ่าตัด และเธอก็ใจเสียอย่างมากๆ
    เพราะฝันว่า คุณแม่มาชวนให้ไปอยู่ด้วยกัน
    ทำให้ฝังใจว่า เธอคงตายจากการผ่าตัดแน่
    ใจก็ห่วงว่า ลูกคนเล็กจะอยู่อย่างไร
    เพราะเพิ่งอายุ 7 เดือนเศษๆ

    ในความวุ่นวายเหล่านี้ เธอเกิดระลึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์ขึ้นมา
    ใจก็เริ่มมีสติ และจดจ่อมุ่งทำสมาธิ
    เพราะท่านอาจารย์บอกว่า ใจจะได้มีกำลัง มีความสงบ
    เมื่อใจค่อยสงบจากความว้าวุ่นวิตกกังวล
    เธอเกิดรู้สึกขึ้นมาว่า เธอยังตายไม่ได้
    ความรู้สึกนี้รุนแรงและเด็ดเดี่ยวมาก

    เธอจึงมุ่งมั่นทำภาวนาติดต่อกันเรื่อยมา
    ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลเพื่อทำผ่าตัด
    ทำให้หลังผ่าตัดเธอฟื้นตัวเร็วมาก
    แม้ว่ามะเร็งจะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองไปแล้วก็ตาม
    บางช่วง เธอรู้สึกเป็นปกติสบาย เหมือนหายสนิท
    แต่บางช่วง มะเร็งก็กำเริบขึ้นมาใหม่


    2 ปีต่อมา คืนหนึ่ง เธอตื่นขึ้นมากลางดึก
    เพราะเจ็บลึกๆ อยู่ในสะโพกด้านขวา เจ็บจนนอนต่อไม่ได้
    ลุกขึ้นก็เดินไม่ได้ เพราะความเจ็บ
    หายามาทา มานวด กินยาแก้ปวดก็แล้ว ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น
    ระลึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์ที่ว่า
    ถ้าทำอะไรทุกอย่างจนหมดแล้ว ยังไม่ได้เรื่อง
    ก็เอาธรรมโอสถ คือ เอาใจของเรามารักษาเรา

    เธอเลยลุกขึ้น เดินจงกรม
    เจ็บ... ปวด... เอาสติกำหนดรู้ สักแต่รู้
    เริ่มแรกก็เดินโขยกเขยก ซัดส่าย เซไปมา
    แต่เมื่อใจไม่ไปวุ่นกับความเจ็บปวด
    การเดินก็ค่อยคล่อง เป็นปกติขึ้น
    จนเป็นเดินจงกรมที่สงบสำรวม รู้ตัวทั่วพร้อมในที่สุด


    ชีวิตของเธอเป็นอยู่ได้ด้วยการภาวนา
    เพื่อบำบัดความทรมานจากความกังวล ความเจ็บปวด
    โดยเธอก็ไม่รู้ตัวว่า ตัวเองกำลังภาวนาอยู่อย่างต่อเนื่อง
    เธออยู่มาตั้งแต่มะเร็งเริ่มที่เต้านม
    กระจายไปที่กระดูกสะโพก ลุกลามไปกระดูกสันหลัง
    ไปที่ตับ ที่ปอด รวมเวลาทั้งหมดได้ 17 ปี
    ตั้งแต่ลูกคนเล็ก 7 เดือน จนลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

    ร่างกายของเธอ ถ้าจะเปรียบเทียบเป็นบ้าน
    ก็คงเป็นบ้านที่ถูกปลวกกินจนหาชิ้นดีไม่ได้
    เผลอหายใจแรงไปหน่อย ก็อาจเสียสมดุล
    ลมหายใจสะดุดหยุดไปได้
    ใจของเธอที่เฝ้าฟูมฟักรักถนอมลูกมา
    คงเห็นตามความจริงว่า ลูกเติบใหญ่พอที่จะพึ่งพาตัวเองได้แล้ว
    จึงคลายความยึดมั่นที่ว่า เธอยังตายไม่ได้
    ค่อยวางกายให้เป็นไปตามธรรมชาติ
    คือ พร้อมจะตายอย่างมีหลักใจ ไม่ใช่เสียสติ
    กระเซอะกระเซิงคุ้มตัวไม่รอด

    สภาพตอนสุดท้ายของเธอ ซึ่งมะเร็งกระจายไปที่ปอด
    ที่ตับ มีน้ำทั้งในช่องปอด ในช่องท้อง
    เป็นคนไข้ทั่วไป ต้องทุรนทุราย ครวญครางไม่มีเวลาสงบ
    แต่เธอมีสติ กำหนดรู้อยู่จนลมหายใจสุดท้าย


    เราทุกคนประทับใจกับการตายอย่างสง่างามของเธอมาก
    และเห็นชัดว่า ใจนี้สำคัญจริงแท้
    ถ้าเรามุ่งมั่นปรารถนา แล้วปักใจลงมือกระทำ
    เราสามารถฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามได้ทุกอย่าง
    จนสำเร็จดังใจปรารถนา ระหว่างที่มีชีวิตอยู่
    เธอก็ไม่ได้อยู่อย่างเป็นภาระกับคนรอบข้าง
    แต่อยู่อย่างนักศึกษาผู้เก็บเกี่ยว เรียนรู้จากประสบการณ์
    เพื่อทำใจให้พัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ



    ลูกคนโต ซึ่งคุ้นเคยกับการเห็นแม่
    พออะไรผิดปกติ อาการเจ็บไม่ดีขึ้น
    ...ภาวนาก่อน คิดอะไรไม่ออก
    ...ภาวนาก่อน ไม่มีอะไรทำ
    ...ภาวนาก่อน ตอนที่แม่จะตาย
    ลูกคนโตจบปริญญาโทแล้ว มาช่วยดูแลแม่
    พอเห็นแม่เผลอเอาใจไปเกาะเกี่ยวกับความเจ็บปวด
    ลูกจะเตือน... แม่จ๊ะ พุทโธจ้ะ...

    ช่วงสุดท้ายที่แม่นอนแบบติดเตียง ลุกไม่ได้
    ลูกเอาสติ๊กเก้อร์ที่มีคำว่า สติ
    ไปติดไว้บนเพดานตรงระดับตาแม่
    พอแม่ลืมตาขึ้น ก็พบสติ เตือนความจำอยู่บนเพดาน
    คำว่า อภัยและเมตตา อยู่ที่กำแพงด้านปลายเตียง
    เรียกว่า สรรหาเครื่องเตือนใจสารพัดมาไว้รอบตัวแม่

    เธอเล่าว่า เธอชื่นใจที่ลูกๆ พึ่งตัวเองได้
    มีหลักใจของตัว ทำให้เธอแน่ใจ มั่นใจ หมดห่วง
    ถึงตายไป สิ่งที่คิดจะสอนลูก ก็มีอยู่ในใจลูกครบถ้วนหมดแล้ว
    คือ เธอได้ทำหน้าที่ของเธอ
    จนตระหนักชัดในใจว่า ทุกสิ่งเรียบร้อยสมบูรณ์
    ถึงอยู่ต่อไป ก็คงทำอะไรให้ดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว
    เพราะฉะนั้น เธอจะไป เธอจะอยู่ ลูกไม่ว้าเหว่หรือขาดผู้ชี้แนะ


    ถ้าเป็นอีกบางคน อาจจะยังมีลมหายใจอยู่จริง
    แต่เป็นการอยู่อย่างแห้งแล้ง ทวงบุญทวงคุณ... นี่ลูกรู้บ้างหรือเปล่า
    แม่เจ็บเหลือเกิน แต่ก็ต้องทนอยู่ เพื่อลูก.... อะไรต่อมิอะไร
    ทำนองนี้ ได้ยิน ได้ฟังแล้ว มีแต่ความขมขื่น ห่อเหี่ยว

    แต่นี่ ทุกคนต่างมีชีวิตชีวา
    ได้คุณได้ประโยชน์ด้วยกันถ้วนทั่วหน้า
    ลูกๆ ทั้งที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว
    ก็ตระหนักว่า ใจเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง
    การภาวนาสำคัญและจำเป็นต่อชีวิต
    ช่วยให้ชีวิตได้หลักที่ดีงาม มั่นคง แข็งแรง

    เมื่อถึงวาระจะมีครอบครัว แน่นอน เด็กๆ เหล่านี้
    ย่อมเลือกผู้ที่เห็นในคุณประโยชน์ของการภาวนา
    เป็นการวางรากฐานชีวิตด้วยปัญญาเห็นชอบ
    เกิดความหนักแน่น มั่นคง ตลอดปลอดภัย อยู่ในอริยมรรค

    เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องชาดก เป็นเรื่องจริงร่วมสมัย
    ที่เราทุกคนต่างก็สามารถนำมาปฏิบัติกับตัวเองได้ด้วยกันทุกคน
    มาจากคนที่มีชีวิตเลือดเนื้อเหมือนๆ เรา สามารถสัมผัสจับต้องได้
     
  5. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    ถ้าเราศึกษาต่อไป ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระป่า
    อย่างท่านอาจารย์สิงห์ทองเล่าให้พวกลูกศิษย์ฟัง
    ถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะธุดงค์ไปตามป่าตามเขา
    ท่านขาดแคลนยาต่างๆ โดยเฉพาะยารักษาไข้ป่า
    เพราะราคาแพง เป็นสิ่งหายาก การพกพาติดตัวไป
    ก็เสื่อมสภาพได้ง่ายจากความชื้นแฉะของภูมิอากาศ
    ท่านจึงต้องอาศัยธรรมโอสถ
    คือ การภาวนาเป็นยารักษาโรค


    หรืออย่างกรณีของหลวงปู่ฝั้น เมื่อออกพรรษาปี 2475
    ท่านธุดงค์ไปวิเวกอยู่ที่บ้านหนองบัว
    แล้วเกิดอาพาธเป็นไข้ป่าขึ้นมาอีก
    ท่านฉันควีนินก็แล้ว ยาอื่นๆ ก็แล้ว ไข้ป่าก็ไม่หายขาด
    ท่านจึงใช้การภาวนากำหนดจิตดู
    พอจิตรวมท่านก็พิจารณากาย เพื่อดูอาการไข้
    ทันใดท่านนิมิตเห็นอะไรอย่างหนึ่ง
    กระโดดออกจากสีข้างของท่าน ไปยืนอยู่ข้างหน้า
    เจ้าอะไรตนนั้นกลายเป็นกวาง แล้วกระโดดลงไปในห้วย
    จากนั้นก็กระโดดขึ้นจากห้วยวิ่งต่อไป
    ขณะวิ่ง มันกลายเป็นช้างตัวใหญ่บุกป่า
    เสียงไม้หักโครมครามลับไปจากสายตาของท่าน
    รุ่งเช้า อาการไข้ของท่านก็หายเป็นปกติ
    จากนั้นเป็นต้นมา ถึงท่านจะธุดงค์ไปในดงไข้จับสั่น
    หมู่พวกจะเป็นไข้ป่ากัน ท่านก็ไม่เป็นไข้ป่าอีกเลย

    ถ้าเรามุ่งมั่นทำจริงอย่างท่าน
    ใจของเราก็มีศักยภาพอย่างนั้น
    แต่ส่วนใหญ่เวลาทำ เราไม่มุ่งมั่นเอาจริงอย่างท่าน
    ไม่ตั้งใจจริงเราจึงทำไม่สำเร็จ อย่าเอาถึงไข้ป่าเลย
    เพียงแค่ปวดท้องหรือเป็นอะไรนิดๆ หน่อยๆ
    เริ่มต้น เราก็ตั้งท่าทะมัดทะแมง
    ครั้งนี้จะใช้ธรรมโอสถรักษา ไม่กินยา
    แต่อีกสักประเดี๋ยวเดียว เราก็ร้องครวญคราง
    รีบควานหายาเป็นการใหญ่
    เพราะใจของเราไม่มุ่งมั่นไม่จดจ่อปักไปจริงจัง
    เจ็บเข้าหน่อยก็ปลิวไปเกาะอยู่กับความเจ็บ
    มันเลยไม่เจ็บอยู่แค่ท้อง แต่ลุกลามเข้ามาเจ็บถึงใจ
    เจ็บท่วมท้นหนักหนาสาหัสจนทนไม่ไหว ใจจะขาดอยู่แล้ว

    เมื่อเป็นอย่างนี้ ใจก็กวัดแกว่ง ทดท้อ
    เพราะทำทีไรก็ไม่ประสบผลสักครั้ง
    เราต้องโน้มน้าวใจให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่จะกระทำแจ่มชัดเสียก่อน
    ใจจึงจะเกิดกำลัง มุ่งมั่นปักลงไปว่า เป็นตายอย่างไร
    ก็ต้องเอาให้สำเร็จจนได้
    ดังที่เจ้าชายสิทธัตถะตัดพระทัยเสด็จออกบวช

    ใครๆ ก็ว่า ถ้าเป็นเรา มีปราสาท 3 ฤดู เราไม่ทิ้งไปหรอก
    นั่นก็เพราะเราไม่เห็นคุณค่าของการบวช
    ไม่เห็นทุกข์ของการครองเรือน ของชีวิตฆราวาส

    แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็น ถึงจะมีปราสาท 3 ฤดู
    ถึงจะเนรมิตทุกสิ่งได้ดังใจปรารถนา
    แต่ความแก่ ความตาย ช่างน่ากลัวสุดประมาณ
    นายฉันนะยืนยันว่า พระองค์เองก็ต้องแก่
    พระราชบิดาก็ต้องแก่ ต้องตาย บุคคลที่ท่านรักหวงแหน
    ทุกผู้ ทุกคน ต้องแก่ ต้องตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

    ความกลัวนี้เห็นจริงเห็นจัง สุดชีวิตจิตใจ
    จนทำให้ท่านเห็นว่า ถึงจะมีราชบัลลังก์
    มีอะไรๆ มากมายท่วมท้นล้นฟ้า ก็ไม่คุ้มกัน
    กับการต้องมาแก่ มาตาย ท่านจึงสละทุกสิ่งเป็นเดิมพัน
    เสด็จออกบวช เพื่อแสวงหาความไม่แก่ ความไม่ตาย


    ท่านผู้รู้ได้อธิบายให้ฟัง ถึงเหตุที่เจ้าชายสิทธัตถะปลงพระเกสา

    สังคมอินเดียสมัยนั้น ท่านเป็นวรรณะกษัตริย์
    หากถูกขับออกจากวรรณะของท่าน
    ก็ยังมาอยู่กับวรรณะที่ลดหลั่นลงมา
    คือแพศย์ หรือศูทรได้ แต่ทุกวรรณะ เมื่อกล้อนผมออกแล้ว
    ถือเป็นบุคคลต้องสาป ไม่มีวรรณะไหนปรารถนา
    แม้จะไปขออยู่กับจัณฑาล จัณฑาลก็ไม่รับ

    การถูกล้อนผม หมายถึงการเป็นนักโทษชั้นเลวร้ายสุดสุด
    เพราะฉะนั้น ณ ช่วงขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้พระขรรค์
    ตัดพระเกสาทิ้งนั้น คือ การตอกย้ำกับพระองค์เองว่า
    ถ้าเราเปลี่ยนใจ ไม่มีใครคบหาสมาคมกับเราแล้ว


    หากท่านยังมีพระเกสาอยู่ ท่านไม่เอาจริง
    เปลี่ยนพระทัยเลิกปฏิบัติ
    ท่านก็ยังกลับคืนมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะได้
    หรือหากไม่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ จะไปอยู่กับใครๆ ก็ย่อมได้
    แต่เมื่อปลงพระเกสาแล้วจะไปขออยู่กับใคร
    แม้กระทั่งจัณฑาลยังไม่เอา
    ท่านคนอินเดียวมีความเชื่อว่า การกล้อนผม
    คือ การถูกลงโทษอุกฤษฏ์ จะไม่มีใครสังสรรค์สมาคมด้วย

    การปลงพระเกสา คือ การบอกกับพระองค์เอง
    ต้องมุ่งไปข้างหน้าแต่ทางเดียว
    คือ ปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง
    ถ้าจะรวนเรเปลี่ยนพระทัย ถอยกลับ โอกาสก็ไม่เอื้ออำนวยเสียแล้ว
    และเป็นการวางรากฐานพุทธวงศ์
    ให้เป็นวงศ์ของคนหมดคุณค่าราคาทางโลก
    เป็นการทดสอบจิตใจผู้มาสู่พุทธวงศ์ว่า
    จะแน่วแน่ เข้มแข็ง อดทน ลดละตัวตนได้แน่
    หรือ จะได้มุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ตั้งใจปฏิบัติจนบรรลุมรรคผล


    หรือขณะที่ท่านตั้งพระทัยในคืนวันเพ็ญ กลางเดือน 6
    เมื่อโสตถิยพราหมณ์น้อมถวายหญ้าคา 8 กำ
    ปูลาดอาสนะ แล้วประทับบนบัลลังก์หญ้าคา
    ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าใจของท่าน
    ไม่อาจตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
    ถึงเลือดและเนื้อในกายจะเหือดจะแห้งไป
    เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็จะไม่เลิกละ ความเพียร
    โดยลุกจากบัลลังก์นี้เด็ดขาด

    เจ้าชายสิทธัตถะปักพระทัย... ตายเป็นตาย...
    ถ้าไม่ได้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
    ท่านจะไม่ยอมขยับเขยื้อนจากบัลลังก์หญ้าคานี้

    เราอธิษฐานว่า คืนนี้ ถ้าใจไม่เป็นสมาธิ จะไม่ขยับเป็นเด็ดขาด
    เมื่อเริ่มต้น ใจมุ่งมั่นอย่างนี้จริง แต่พอนั่งไปได้หน่อย
    เจ็บตรงนั้น เหน็บกินตรงนี้
    เราก็เริ่มห่วงหวงกายมากกว่าใจ... โอย... หลังพังไปแล้ว
    ขอเหยียดลงพักหน่อยเถอะ ไม่เป็นไร
    วันนี้ยังไม่เป็นสมาธิ พรุ่งนี้ค่อยเอาใหม่ก็แล้วกัน

    เราเป็นกันอย่างนี้ ท่านอาจารย์จึงตราหน้าว่า
    ...มันถึงยังเป็นเราอยู่นี่แหละ ไม่ไปถึงไหนสักที...
    ขณะที่ครูบาอาจารย์ท่านเอาจริงเอาจัง
    ปฏิบัติตามรอยบาทพระพทุธองค์ มุ่งมั่น
    เพียรพยายามตามธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์
    ขณะที่พวกเราผู้จัดสรรตัวเองว่า เป็นพวกไฮเทค
    84,000 มากมายเกินจำเป็น ย่นย่อ สรุปความให้เหลือ 2 ขันธ์
    คือ เสื่อกับหมอน เอะอะอะไร ก็... เอาละ พอแล้ว...
    แล้วก็ล้มตูมลงกลางหมอนเราถึงได้พอแล้ว
    สันโดษ เป็นเราอยู่นี้แหละ ไม่ไปถึงไหนสักที

    ฟังท่านว่าทีไร เราก็แสบเข้าไปถึงใจ
    บอกกับตัวเองว่า คราวหน้าจะต้องเอาให้จริงจัง
    มัวย่อหย่อนเหลาะแหละอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว
    ครั้นนั่งปฏิบัติไปได้สักหน่อย
    ใจก็เริ่มแปรเปลี่ยน ไม่เที่ยง...
    เราก็ต้องเอาตามกำลังของเราสิ มีกำลังทำได้แค่นี้
    ก็เอาแค่นี้จะไปหักโหมอะไรกันหนักกันหนา

    ใจของเราไม่ห้าวหาญ เด็ดเดี่ยว เอาจริงเอาจังอย่างท่าน
    ผลของท่าน จึงทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ
    แต่ของเรา เหลาะแหละ ย่อหย่อนอ่อนแอ
    อะไรจึงไม่สำเร็จ เพราะใจของเราโลเล
    เหมือนปักลงไปในน้ำ ปักแล้ว ก็หลุดเลือนหายไปหมด

    เราจึงต้องฝึก ฝึกใจของเราให้เอาจริงเอาจัง
    ดังพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร
    ไม่มีสิ่งใดยากเกินสติปัญญา ศรัทธาความเพียรของมนุษย์ไปได้
    ที่เราแก้ต่างว่า เราสติปัญญาน้อย
    ปล่อยท่านผู้มีสติปัญญามากทำไปเถอะ ไม่เป็นความจริง
    เพราะสติปัญญาของทุกคน คือ พุทธะ ธาตุรู้ หรือใจตัวแท้นั่นเอง


    ทุกสิ่งมีชีวิต ที่มีใจครอง จะมีพุทธะด้วยกันทุกชีวิต
    กำลังของพุทธะแต่ละชีวิตสามารถรู้ตามเป็นจริง
    จนตัดกิเลสได้หมดสิ้น เท่าเทียมกัน
    แต่ความสามารถพิเศษที่จะไปรู้ไปเห็นอดีต อนาคต
    รู้ความนึกคิด จิตใจ ผู้นั้นผู้นี้
    ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องประดับสร้อย
    ถนิมพิมพาภรณ์นั้น ไม่เท่าเทียมกัน

    การจะตัดกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจ เพื่อให้ใจเป็นอิสระ
    วิมุติหลุดพ้นนั้น พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่าสามารถทำได้เสมอกัน
    ทุกผู้ทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น อาสวกขยญาณนี้
    เรามีเทียบเท่ากันหมด แต่ต้องเด็ดขาด ทำจริงจัง

    อุปมาเหมือนการขุดน้ำบาดาล ท่านบอกว่าข้างใต้นี้มีน้ำบาดาล
    ถ้าทำแบบเราๆ ก็ขุดแบบสะกิด สะเกา ย้อกๆ แย้กๆ
    ขุดนานแค่ไหนก็ไม่ทะลุหิน ก็ไม่มีน้ำออกมา
    ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะทรงขุดอย่างสุดกำลังกาย
    กำลังสติปัญญา มุ่งมั่นขุดจริงจังจนทะลุหิน
    ท่านก็ได้น้ำบาดาล ตรงนี้คือความเป็นจริง
     
  6. TupLuang

    TupLuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2008
    โพสต์:
    3,143
    ค่าพลัง:
    +1,371
    เมื่อไรที่เราปักใจแน่วแน่ ศรัทธาของเราไม่คลอนแคลนแล้ว
    เราจะทำได้... ทำสำเร็จ
    ขณะนี้ใจของเรายังไม่แกร่งกล้า
    กำลังยังมีไม่เต็มที่ ก็ลงมือฝึกฝนขุดวันละนิด
    วันละหน่อย ขุดเรื่อยไป สร้างให้เกิดเป็นอุปนิสัยเอาไว้
    ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ

    เริ่มแรก ขี้เกียจ ก็ทำชุ่ยหน่อย ต่อไป ถึงขี้เกียจก็เริ่มมีกำลัง
    ควบคุมตัวเองให้ทำอย่างมีคุณภาพ
    ทำให้กลายเป็นอุปนิสัย หยั่งรากฝังโคนแน่นหนา
    ถึงไม่ตั้งใจ ไม่ตั้งสติ ก็ทำ เพราะใจคุ้น เคยชิน เป็นอุปนิสัยขึ้นมา
    ต่อไปก็ทำเป็นอัตโนมัติ
    การทำความเพียรของเราก็จะเสมอต้นเสมอปลาย


    ใจเริ่มนิ่งอยู่กับขณะเดี๋ยวนี้ เป็นใจปัจจุบัน
    มีปีติหล่อเลี้ยงเป็นอาหาร เมื่อใจเกิดความคุ้นเคยกับอาหารชนิดนี้
    ความประณีต ความชุ่มเย็นของปีติก็มาเป็นกำลัง
    เมื่อไรที่ใจจะแชเชือน ขี้เกียจขี้คร้าน
    รสของปีติจะเป็นเครื่องเตือนเราให้อย่าเผลอ อย่าเถลไถล


    ตัวดิฉันเอง เมื่อไปเรียนต่อที่เมืองนอก
    เคยเหนื่อยมากถึงขั้นกลับถึงห้องพัก
    ขอนอนสักประเดี๋ยวหนึ่งก่อนเถอะ
    ว่าแล้วก็ลงนอนไปบนผ้าคุลมเตียง
    ทั้งที่ไม่ทันได้ถอดรองเท้า
    ใจก็นึกว่า ขอพักเดี๋ยวเดียวแหละ
    ที่ไหนได้ ปรากฏว่าหลับไปจนถึงตี 4 เลย

    ครั้งแรกที่รู้ตัวตื่น ก็เกเรว่า ไหนๆ ก็หลับมาถึงตี 4 แล้ว
    นอนต่อให้ถึงเช้าเลยก็แล้วกัน
    แต่ปรากฏว่า เมื่อกายเริ่มมีกำลังขึ้นแล้ว
    ใจเกิดความกระดากว่า นอนเข้าไปได้ยังไง
    ทั้งรองเท้า ทั้งเสื้อผ้าสกปรกอย่างนี้น่ะหรือ
    ระลึกไปถึงที่พ่อแม่สอนไว้ว่าต้องอาบน้ำอาบท่า
    ให้เบาเนื้อเบาตัวเสียก่อน จึงเข้านอน ก็เลยต้องลุกขึ้นมาอาบน้ำ

    เมื่อเราฝึกใจของตัวให้คุ้นเคยกับภาวะที่ว่า
    ถึงขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ
    พยายามให้มีสติตามรักษาใจเอาไว้
    ถึงจุดหนึ่ง ใจจะรู้หน้าที่ขึ้นมาเอง
    เป็นต้นว่า เราเริ่มเกเร... วันนี้ไม่ทำสักวันเถอะ จะซุกหัวนอนละ...
    เหมือนที่ท่านอาจารย์เคยเปรียบเปรยว่า
    นอนแบบนั้นน่ะ นอนเหมือนหมูเหมือนหมา

    เราก็ประท้วงในใจว่า เหมือนหมูเหมือนหมาก็เอาละ
    ขอไม่นอนเหมือนคนสักคืนเถอะ
    สติมาตามรู้ลมหายใจ... หายใจเข้า... พุท... หายใจออก... โธ...
    ถึงจะไม่ได้ผลอะไรก็ไม่เลิก แค่ให้มีสติระลึกรู้ อยู่กับลมหายใจ
    เหมือนเป็นคาถาคุ้มครองป้องกันใจ ก็ดีแล้ว
    ไม่ใช่ว่า เราตัวเปล่าเล่าเปลือย
    ทิ้งขว้างเครื่องป้องกันใจไปเสียทั้งหมด

    เมื่อใจเริ่มรู้หน้าที่อย่างนี้ เราก็รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย
    จะไปอยู่ที่ไหน ก็เหมือนมีพระพุทธเจ้าคุ้มครอง
    พุทโธอยู่กับใจ ครูบาอาจารย์อยู่กับเรา
    จะไปทางไหน อยู่ที่ไหน ก็มีกำลังใจว่า
    เรามีเครื่องคุ้มครองปกป้องสารพัดภัย
    เมื่อใจมีความรู้สึกเช่นนี้ ก็เหมือนเราถึงซึ่งไตรสรณาคมน์
    มีพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นเกราะ เป็นที่พึ่งที่อาศัย

    มีอะไรเกิดขึ้น สติก็ตั้งมั่นอยู่กับใจ
    เปรียบเสมือนมีกุญแจดอกสำคัญ
    ที่คอยช่วยเปิดหนทางให้แก่เรา
    จึงไม่มีสิ่งใดที่จะยากเกินความเพียรพยายามไปได้
    เราสามารถแก้ไข ปรับเปลี่ยน คิดค้นหาช่องทาง
    เอาตัวให้พ้นจากปัญหา จากภาวะวิกฤตไปได้

    ตรงนี้แหละ ที่เป็นกำลังให้ใจของเราแน่วแน่มั่นคงว่า
    ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเผลอสติ
    ขายตัวขายวิญญาณให้กิเลสไปได้
    สติที่ได้ฝึกแล้วจะปกปักรักษา
    ให้ใจของเราเกิดความเห็นชอบ
    ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
    เกิดกำลัง หากมีภาวะคับขันอะไร
    ก็เหมือนเราอธิษฐาน ขอพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์
    คุ้มครอง ปกปักรักษา ให้ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจได้


    ทุกวันนี้ เหตุการณ์รอบตัว รอบโลก
    ดูจะมีแต่สิ่งไม่พึงปรารถนา ทั้งจากภัยธรรมชาติ
    แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ ภูเขาไฟ จากอุบัติภัย
    ตึกถล่ม เรือบินตก รถไฟชนกัน ภัยเศรษฐกิจ
    สังคม การเมือง การบ้าน ขาดความมั่นคงปลอดภัย
    ซึ่งล้วนมาจาก มนุษย์ด้วยกันเป็นผู้ก่อขึ้น
    ด้วยความเขลา รู้ไม่เท่าทันชีวิตและโลกตามเป็นจริง

    เมื่อมีปัญหาและความผิดพลาดเกิดขึ้น
    แทนที่จะเห็นถูกทำนองคลองธรรม แก้ไขโดยยอมรับความผิด
    อยู่กับความจริง กลับใช้กายทุจริต วาจาทุจริต
    เป็นพฤติกรรมในการแก้ไข เพราะจิตใจขาดการฝึกฝืนอบรม
    ขาดกำลัง ตกอยู่ในอำนาจของความโลภ
    ความโกรธพยาบาท ความหลง
    เห็นผิดทำนองคลองธรรม ทุกสิ่งจึงวิบัติ


    ตรงกันข้าม หากอะไรที่คิดเป็นสิ่งที่ชอบ เป็นกุศล
    ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแล้ว
    ย่อมเกิดเป็นสมบัติ เป็นความสำเร็จ
    ทำให้ปัญหาคลี่คลายจนลุล่วงไปได้ด้วยดี
    แต่ถ้าแก้แล้ว อะไรก็ยังไม่ดีขึ้น เราก็ไม่เสียกำลังใจ
    มุ่งนำสิ่งนั้นมาพินิจพิจารณาใหม่ว่า
    หรือเราคิดผิด คิดไม่รอบคอบ
    เห็นผิดทำนองคลองธรรมที่ตรงไหน

    ใจเราจะเกิดปัญญา เกิดญาณทัสนะ
    อะไรที่เคยมืดบอด อะไรที่เป็นอวิชชา คือ ทั้งรู้
    ทั้งหลงอะไรที่เป็นอุปาทาน ความยึดมั่นสำคัญผิด
    ก็เปลี่ยนมาเป็นสัมมาทิฐิ
    เมื่อความคิดเห็นเปลี่ยนมาเป็นสัมมาทิฐิแล้ว
    ปัญหาที่แลดูตอนแรกเหมือนทางตันไม่มีที่ไปนั้น
    ก็เหมือนมีประตูกล เปิดให้เราไปต่อไปได้

    กำลังใจก็ค่อยตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ
    ที่เคยหวั่นกลัว เคยไม่แน่ใจในตัวเอง
    ก็จะแน่ใจเพิ่มขึ้น จนในที่สุด ไม่ว่าอะไรจะเกิด
    ใจของเราจะเป็นเหมือนมีฐานที่แน่นหนารองรับ
    เทียบกับก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นเหมือนมีฐานเป็นตลิ่งทราย
    พอน้ำพัดโครม ก็ไม่รู้ว่าจะไหลตามกระแสน้ำไป
    หรือจะยังเลี้ยงตัวอยู่ได้ ใจจึงเป็นนิวรณ์
    พะวักพะวนอยู่อย่างนี้ทั้งที่บางครั้งสถานการณ์
    แลดูเลวร้ายอย่างมาก ใจที่มีธรรมเป็นฐานรองรับ
    กลับมีความเชื่อมั่น มีกำลังแน่วแน่มั่นคง
    ทำให้อะไรๆ คลี่คลายไปในทางดี
    เพราะทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ... ใจที่เห็นชอบ



    เมื่อใจเห็นอย่างนี้แล้ว ทุกเวลานาทีของชีวิตจะมีแต่คุณค่า
    ทำให้เราเก็บสะสมสบียงไปเรื่อย
    อะไรที่เราคิด อะไรที่เราพูด อะไรที่เรากระทำ
    จะเป็นมรรคทั้งหมดทั้งสิ้น
    เราจึงไม่ต้องห่วงว่า คืนนี้จะมีเวลานั่งกี่นาที
    เพราะทุกเวลานาทีที่ลืมตาตื่นอยู่
    เหมือนเราได้ทำภาวนาต่อเนื่องกันอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์สอนอยู่เสมอว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใด
    จะยืน เดิน นั่ง นอน ถ้าใจมีสติรักษาอยู่
    ก็เหมือนเราภาวนาอยู่ตลอดเวลา
    กายเราก็ทำภาระหน้าที่ไป
    ขณะที่ใจเก็บเกี่ยวเสบียงเอามาเป็นการภาวนา
    เราจึงได้ประโยชน์ทั้งทางโลก ได้ประโยชน์ทั้งทางธรรม
    มีชีวิตจิตใจที่กลมกลืนกันไป


    ขณะที่ทำงานทางโลก เกิดปัญหาอะไรขึ้น
    เราก็นำปัญหานั้นมาพินิจพิเคราะห์
    เป็นหินลับสติปัญญา จนแกะแก้ปัญหานั้นสำเร็จ
    ใจเราก็สงบ ได้สมาธิ ได้อาหารใจ
    งานทางโลกก็ได้คำตอบ แกะแก้ไปในทางที่ถูกต้อง
    เหมาะควร แม้เราจะมีหนี้สิน มีปัญหาอะไร
    ก็เปรียบเสมือนเราชดใช้หนี้สินอยู่ โดยสม่ำเสมอ
    ใจของเราก็เก็บเกี่ยวความสงบ ความรู้
    ความฉลาดเป็นผลประโยชน์ไปเรื่อยๆ
    เสบียงของเราก็เพิ่มพูนขึ้นจนเราเกิดความมั่นใจ
    ชีวิตเราจึงเป็นชีวิตที่มีคุณค่า
    ไม่ใช่ถูกเวลากลืนกินไปโดยเปล่าประโยชน์


    ไม่อย่างนั้น เราจะเข้าใจผิดว่า... ตอนนี้ฉันต้องทำงาน
    เพราะฉะนั้นฉันก็ทำได้ทุกรูปแบบ
    ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกลไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา
    ใจจะเป็นอย่างไร ช่างมันก่อน
    รอให้เกษียณ รอให้แก่ไม่มีอะไรทำเสียก่อน ถึงค่อยไปภาวนา

    ถึงตอนนั้น ก็ภาวนาไม่ไหวเสียแล้ว
    เพราะใจหลงแล้ว เราก็มาย้อนคิดเสียดาย
    ไปมองออกนอก เพ่งโทษ คิดริษยาผู้อื่น...
    ทำไมเราถึงไม่มีเงินมีทองอย่างคนโน้นคนนี้นะ
    ซึ่งถ้าเรามีเงินมีทองจริง
    เราก็อาจเอาทรัพย์สินเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือ
    พาตัวเองตกหลุมตกบ่อ หนักเข้าไปอีก
    คราวนี้ก็เลยว่า... รู้อย่างนี้ ฉันไม่มีเสียดีกว่า
    จะได้รู้สำนึก ปลุกตัวเองให้รู้ตัวเสียแต่เนิ่นๆ

    สรุปแล้ว เราก็ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย
    ถูกเวลากลืนกินชีวิตสั้นเข้าไปทุกวันๆ
    เอาเป็นว่าจะเป็นอะไรก็ตาม
    ให้เราพึงพอใจในความเป็นความมีของเรา
    แล้วตั้งในใจของเราเอาไว้

    อย่างที่คุยกันมาทั้งหมดนี้ ขอรับรองว่า
    ทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยใจที่ตั้งไว้ดีแล้วทั้งนั้น
    เพราะใจเป็นสิ่งมีพลังยิ่งใหญ่เหนือพลังใดๆ ในจักรวาลนี้

    เราโชคดี ที่เราต่างมีใจพุทธะกันคนละดวงๆ
    หน้าที่ของเราเพียงแค่ว่า เอาสติมาเคลือบป้องกันเอาไว้
    อย่างให้ขี้ฝุ่นขี้ผง กิเลสทั้งหลายมาเกาะ
    มาทำให้เราเห็นผิดเป็นชอบไปว่า
    กิเลส คือ ใจของเรา ตรงนี้แหละ คือ จุดที่สำคัญที่สุด

    คนโดยมาก ที่ย่ำแย่ลื่นหกล้มไป
    ก็เพราะคิดผิดไปว่า กิเลสนั้นเป็นเรา
    แล้วปล่อยให้กิเลสประทับทรง พาเราเข้ารกเข้าพงไป
    แต่ถ้าเราเอาสติรักษาใจเอาไว้
    ใจนั้นจะมีความเห็นชอบ ถูกต้องทำนองคลองธรรม
    เหมือนเป็นประทีป ส่องทางให้เรา ไปที่ไหนก็ไม่หลงทาง
    ไปที่ไหนก็ไม่เป็นอันตราย ชีวิตจึงมีแต่ความร่มเย็นผาสุกใจ

    ขอโอกาสฝากไว้เป็นกำลังใจว่า
    เราทุกคนมีศักยภาพที่จะทำชีวิตของตนให้ร่มเย็น
    พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้



    [​IMG] จบบริบูรณ์ [​IMG]

    [​IMG] [​IMG] [​IMG]


    คัดมาจาก :: ผู้จัดการออนไลน์ 4 ธันวาคม 2544 09:52 น.

    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8607
     
  7. TURK T.M.

    TURK T.M. Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กันยายน 2008
    โพสต์:
    223
    ค่าพลัง:
    +58
    อนุโมทนาครับ สาธุ!

    ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ!
     
  8. จารุง นิ่มนวล

    จารุง นิ่มนวล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2008
    โพสต์:
    141
    ค่าพลัง:
    +105
    ทำหนังสือขายกันดีกว่าเป็นกำลังใจดี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 ตุลาคม 2008

แชร์หน้านี้

Loading...