ธรรมะเรียลลิตี้ ตอน แสงทองส่องทางสว่างให้แก่จิตที่มืดมน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 10 กันยายน 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    บทความนี้มาจากน้องสาวคนนึงที่เป็นครูสอนสมาธิแก่นักโทษหญิงในเรือนจำ ทัณฑสถานหญิงกลาง ผมจึงขอนำมาลงให้อ่านกันนะครับ เพื่อเป็นแง่คิดแก่คนทั้งหลาย ขอบคุณต้นเรื่องคือ คุณAMy ที่เป็นคนเล่าเรื่องให้แง่คิดครับ
    63233_1748870011241_5877320_n.jpg

    บันทึกก้าวแรก ในการเผยแพร่การฝึกทำสมาธิ ภายในรั้วลวดหนาม และ ลูกกรง
    วันศุกร์ ที่ 8 กันยายน 2560 ได้มีโอกาสเข้าไปเปนพี่เลี้ยงช่วยเหลือทีมอาจารย์ผู้ชำนาญการ เพื่อสอนหลักสูตรสมาธิ ให้แก่นักโทษ และ ผู้ต้องหา ในทัณฑสถานหญิงกลาง ก้าวแรกที่เข้าไป ต้องพูดว่าปุถุชนอย่างเราก็แอบใจสั่นอยู่เหมือนกัน เพราะไม่คุ้นเคยกับกฎระเบียบ และ ข้อปฎิบัติ ที่รัดกุมเรื่องความปลอดภัยอย่างที่สุด ซึ่งทีมอาจารย์ทุกคนห้ามนำทุกอย่างเข้าไปภายใน ทัณฑสถาน (จากนี้ ขอเรียกว่า “คุก” แล้วกันนะคะ จะได้สั้นๆหน่อย) ห้ามแม้กระทั่งนำนาฬิกาเข้าไปในคุก พวกเราแค่พกตัว หัวใจ ความรู้ ประสบการณ์ และ แท่ง USB เล็กๆเข้าไปในคุกได้เพียงชิ้นเดียว (บันทึกข้อมูลการสอนสมาธิ) แถมพอไปถึงแล้ว รุ่นน้อง ซึ่งเปนพี่เลี้ยงอีกคนที่เคยเข้าไปช่วยสอนก่อนหน้าเรา ก็ยังบอกเราว่า “พี่ พยายามอย่าสบตาเค้ามากนะ เพราะเราไม่รู้ว่า เค้าจะคิดยังไง?” (ทำนองว่า “จ้องตาผิด ชีวิตเปลี่ยน” ประมาณนั้น) ขณะเดินผ่านห้องเรียนสมาธิ ก็เสียวแว๊บ เมื่อเห็นนักเรียน แออัดกันเต็มห้องประมาณสามร้อย ถึง สี่ร้อยกว่าชีวิต คิดในใจว่า ถ้าเค้ารวมตัวกันลุกฮือ เราจะออกไปจากคุกยังไง? (ทีมเราไปกันแค่ห้าคน) ถ้าเค้าเกเร เราจะคุมยังไง? ถ้าพูดไม่ถูกหูจะโดนปาดคอมั้ย? จากประสบการณ์เรา เคยแต่เปนครูอาสา คุมสอนเด็กนักเรียนบ้านนา กะ เด็กหุบเขา จุดนี้บอกเลยแอบ “ใจสั่น” แต่ เดินๆไป ถึงหน้าห้อง เห็นรูป พระอาจารย์หลวงปู่มั่น แล้วใจชื้นทันที เตือนสติทันทีว่า “เรามาทำอะไรที่นี่?” (ย้อนไปในวันที่เราไม่รู้อะไรเลย รู้แค่พระอาจารย์หลวงปู่มั่น คือ แม่ทัพแห่งกองทัพธรรม ในสายวิชาพระกรรมฐาน ของพระป่า ทั้งหลายในประเทศไทย เราก็ได้อธิษฐานกับหลวงปู่มั่นนี่แหละ ว่าหนูอยากเรียน อยากฝึกพระกรรมฐาน หนูอยากจะพบแสงทองส่องทางสว่าง ที่จะพาให้ตัวเองหลุดพ้นจากห้วงสังสาราวัฏ และ ได้ช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และ ช่วยเหลือผู้คนและสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่หนูไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เรียนกับใคร จากวันนั้น ก็มี “เหตุบังเอิญ”ติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องแบบ ฟลุ้คๆงงๆ เป็นเส้นทางให้เราได้ศึกษาวิชาพระกรรมฐานจนจบภาคทฤษฎี และ ได้ทดลองฝึกทั้งการนั่งสมาธิและ ฝึกการดูกาย ดูจิต จนวันนี้ พอเข้าใจบ้าง พอจะช่วยเปนพี่เลี้ยงให้แก่ผู้อื่นได้บ้าง)
    ในฐานะพี่เลี้ยง เราก็เปนเพียงผู้ช่วยอาจารย์เท่านั้น ส่วนอาจารย์ท่านก็บรรยายเรื่องทฤษฎีของการทำสมาธิด้วยภาพสไลด์ไป (ข้างในนั้นเค้าจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้หมดแล้ว แค่เอาUSBไปดึงข้อมูลใส่หน้าจอ ก็สอนได้เลย) . . . ตามสัญชาตญาณความเปนครูอาสาของเรา เราลืมความกลัว และ คำขู่ของน้องคนนั้นไปเลย หันมากวาดสายตา สังเกตุนักเรียนทั้งห้องว่าสนใจกันมั้ย? เข้าใจกันรึเปล่า? (หัวใจครู คือ นักเรียน และ การสอนให้นักเรียนได้ความรู้) จึงสังเกตุได้ว่า นักเรียน ใส่ใจ สนใจกันเปนส่วนมาก บางคนเอาสมุดมาจดด้วย เห็นแล้วก็ดีใจ และ สังเกตุว่า นักเรียนที่เปนนักโทษนั้นเกือบครึ่งเปนวัยรุ่น หน้าตาดี ผิวพรรณดี แต่งหน้า ทาปาก คิ้วโก่ง กันเชียว พอถามทางทีมงานจึงทราบว่า แม้แต่ในคุกเค้าก็อนุญาติให้นักโทษหญิงมีสิทธิ์แต่งหน้าด้วยเครื่องสำอางค์ได้ และ ส่วนมากเข้ามาเพราะคดียาเสพติด (คิดแล้วน่าเศร้า อนาคตของชาติต้องมาลงเอยที่นี่) จากนั้นพอจบการบรรยาย ทีมอาจารย์และพี่เลี้ยงก็ช่วยคุมนักเรียนทั้งหมดตั้งแถวเพื่อเดินจงกลม ห้องเรียนในคุก พื้นที่จำกัดและแออัดมาก (ไม่เหมือนข้างนอก พื้นที่เหลือเฟือ แบ่งพื้นที่เดินจงกลมห่างๆกัน มีอิสระส่วนตัวได้) ดังนั้นนักโทษก็ต้องเข้าแถวยืนติดๆกัน คอยก้าวเท้าตามคนข้างหน้า เห็นแล้วก็สงสารที่ต้องเบียดกันเปนปลากระป๋อง แต่ ได้ฝึกแม้ลำบาก ก็ยังดีกว่าไม่ได้ฝึกเลย อย่างน้อย ถ้านักเรียนเข้าใจสาระสำคัญ เข้าใจวิธีการ ก็หวังว่าจะได้นำไปฝึกเองในเวลาว่างของเค้า (ซึ่งมีมากกว่าคนปกติ ที่อยู่ข้างนอก) พอจบจากเดินจงกลม ก็ต่อด้วยการนั่งสมาธิ ช่วงเช้า เราก็หงิมๆ ไม่กล้าทักอะไรนักเรียนมากมายนัก (กลัวโดนปาดคอ . . . 555 ล้อเล่น) ปล่อยให้ “นักโทษพี่เลี้ยง”ในคุก (นักโทษชั้นดี ที่คอยช่วยงานเจ้าหน้าที่) ดูแลความเรียบร้อยไปก่อน เพราะเราเองก็ยังไม่คุ้นกับระบบในคุกนี้ เลยคิดว่าจะใช้เวลาช่วงเช้าศึกษาระบบการเรียน การสอน การคุมนักเรียนก่อน พอได้โอกาส ก็ไปคุยกับนักโทษพี่เลี้ยงว่าถ้าต้องการจะชี้แนะนักเรียน ควรจะทำยังไงบ้าง? คือเราเปนน้องใหม่ ก็ต้องถามคนเก่า เค้าเก๋าเกมส์กว่า ซึ่งเปนความคิดที่ถูกต้องมากเลย เพราะนักโทษพี่เลี้ยงเค้าก็เล่าให้เราฟังว่า นักเรียนพวกนี้ สมัครใจมาเรียนกันเอง ไม่มีใครบังคับ เวลาเดินจงกลม และ นั่งสมาธิมีกฎว่าไม่ให้คุยกัน ไม่งั้นเค้า(นักโทษพี่เลี้ยง)จะจดชื่อไว้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้คุม ถ้าเรามีอะไรจะบอกนักเรียน ก็อาจจะบอกก่อน หรือ หลังเดินจงกลม และ นั่งสมาธิ เพราะจะได้ไม่รบกวนสมาธิของนักเรียน ซึ่งเราเห็นด้วยเปนอย่างยิ่ง แต่ พอเราคุยเสร็จ เจ้ารุ่นน้องที่เข้าไปเปนพี่เลี้ยงด้วยกัน ก็ดันเอาความกลัวมายัดหัวอีกแล้ว รีบเดินมาบอกเราว่า “พี่ๆ เราอย่าไปคลุกคลีกับพวกนี้มากนะ แม้กระทั่งนักโทษพี่เลี้ยง เพราะเดี๊ยวเจ้าหน้าที่จะเพ่งเล็งว่า เราแอบแฝงเข้ามาเปน นางนกต่อ เดี๊ยวเราจะลำบาก” เราก็ฟังแบบ เซรงๆ เข้าใจว่าน้องเตือนด้วยความเปนห่วง แต่ ถ้าเราไม่คุยกับเค้า แล้วเราจะทำหน้าที่ ในการช่วยชี้แนะนักเรียนผู้เปนนักโทษ ได้ยังไง? แล้วเราจะเข้าไปในคุกทำไมเนี่ย???
    จบจากเรียนทฤษฎี และ ฝึกปฏิบัติเดินจงกลม และ นั่งสมาธิ ช่วงเช้า นักเรียนก็ไปพัก ทีมอาจารย์และผู้ช่วย ก็ไปพักทานอาหารกลางวัน เปนช่วงเวลาที่ดีมาก ในการที่เราจะได้สนทนา รับฟังประสบการณ์ จากอาจารย์ผู้มากประสบการณ์ในการสอนวิชาสมาธิในคุกต่างๆ ซึ่งท่านก็จะเล่าให้ฟังว่า คุกหญิงบรรยากาศเรียบร้อย ไม่น่ากลัวเหมือนคุกคลองคลองเปรม และ บางขวาง เพราะคุกชายบรรยากาศ ก็จะเถื่อนๆ ดิบๆน่ากลัวกว่า บางทีถ้าสอนเกินเวลาเค้าก็จะร่วมกันเคาะพื้นเตือนเลย ซึ่งก็น่ากลัวสำหรับอาจารย์เหมือนกัน(กลัวนักโทษลุกฮือ) ส่วนถ้าผู้ต้องขังคนไหน ที่ยังรอการพิจารณาคดี ยังไม่เรียบร้อย ก็จะไม่ค่อยตั้งใจเรียน ต่างจาก ผู้ต้องขังที่ได้รับการตัดสินโทษประหารแล้ว จะตั้งใจเรียนมาาาาาาาก เพราะเค้าเล็งเห็นแล้วว่าพระรัตนตรัยเปนที่พึ่งสุดท้ายของเค้าแล้ว เปนสมบัติอย่างเดียวที่เค้าจะพกติดตัวไปเมื่อวันสุดท้ายนั้นมาถึง แล้วก็คุยกันถึงเรื่องกรณี “นักฆ่าหญิง” ซึ่งเปนนักเรียนรุ่นก่อน พอเรียนหลักสูตรสมาธิจบ ก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียนออกมาพูดหน้าห้องว่า เรียนแล้วได้อะไร? (อดีต)นักฆ่าหญิง คนนี้ก็ออกมาเล่าความในใจของเธอให้ฟังว่า เธอเข้ามารับโทษในคุก เพราะในอดีต เธอเปนนักฆ่ามืออาชีพ รับจ้างฆ่าคนมาแล้วเปนสิบๆราย โดยที่เธอไม่มีความรู้สึกอะไรเลย แม้กระทั่งแม่-ลูกคุกเข่าวอนขอชีวิต แต่เธอก็ไม่สนใจอะไร ไม่สงสารเลย สามารถปลิดชีวิตคนเป็นว่าเล่นได้ ไม่มีความรู้สึกผิดใดๆ แต่พอมาเรียนและฝึกเดินจงกลม นั่งสมาธิ และ แผ่เมตตาทุกครั้ง เธอก็เริ่มจะสำนึกผิดมากขึ้นๆ ถึงขนาดบอกว่า การที่เข้ามาอยู่ในคุกนี้ ก็ยังน้อยไปสำหรับบาปที่เธอได้ทำลงไปเลย และ เธอตั้งใจจะกลับตัวเปนคนดี ไม่ว่าจะได้ออกมาจากคุกรึเปล่า เธอก็จะฝึกเดินจงกลม นั่งสมาธิ และ แผ่เมตตาแบบนี้ ไปเรื่อยๆทุกวัน ตลอดชีวิตของเธอ พอเราได้ฟังแบบนี้ หัวใจเราก็พองโต ตอบโจทย์ความตั้งใจแรกของเรา ในการที่จะเข้ามาช่วยเผยแพร่หลักสูตรสมาธิในคุก เพื่อช่วยฟอกจิตใจของนักโทษ ให้ได้มีสติ มีสำนึกต่อศีลธรรม และ กฎหมายมากขึ้น และ ช่วยเยียวยาจิตใจของนักโทษในคุก ที่ต้องถูกจำกัดอิสรภาพ ให้มีพระรัตนตรัยเปนที่พึ่งแม้ในสถานที่ และ ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของชีวิต
    จบจากพักกลางวัน เราเดินออกมาจากห้องพักอาจารย์ มองลงไปด้านล่าง เห็นว่าที่ทัณฑสถานหญิงกลางนี้ สภาพแวดล้อม เหมือนมหาลัย ที่ล้อมรอบด้วยลูกกรง และ ลวดหนามที่บริเวณรั้ว มากกว่า เพราะ สถานที่ดูใหม่ สะอาด เปนระเบียบ พอมีพื้นที่ให้นั่งพักผ่อน นั่งใต้ต้นไม้ได้บ้าง นักโทษออกมานั่งพักผ่อน คุยเล่นหยอกล้อกันได้ ตามสบาย พอเห็นอย่างนี้ เราก็เริ่มคลายกังวลลงไปบ้าง จากนั้นพอถึงเวลา ทีมเราทำการสอนและฝึกสมาธิเหมือนช่วงเช้าทุกอย่าง ต่างกันแค่หัวข้อบรรยาย ซึ่งเราคิดแล้ว และ ตัดสินใจเด็ดขาด ว่าช่วงบ่ายนี้ เราจะทำตัวให้เปนประโยชน์ จะช่วยชี้แนะการฝึกเดินจงกลม และ นั่งสมาธิให้แก่นักเรียน ถ้าเข้ามาในคุกครั้งนี้ แล้วไม่ได้ทำตัวให้เปนประโยชน์ มัวแต่กลัวนักเรียนที่เปนนักโทษ(กลัวโดนปาดคอ/กลัวโดนเจ้าหน้าที่เพ่งเล็งว่าเปน นางนกต่อ) ตามที่รุ่นน้องที่เปนพี่เลี้ยงอีกคน ขู่เอาไว้ช่วงเช้า เราก็ไม่รู้จะเข้ามาในคุกทำไม? เสียเวลา เสียความตั้งใจเปล่าๆ ดังนั้นคราวนี้เรา “มีจุดยืนชัดเจน” สวม “หัวใจครูอาสา” ไม่กลัว ไม่กังวลอะไรละ การสอนและนักเรียนต้องมาก่อน ทำให้ก่อนเดินจงกลม เราเดินไปบอกนักเรียนแต่ละแถวว่าเวลาเดินให้ก้มหน้ามองไปหน้าข้างหน้าเปนมุมทะแยงลงประมาณ60องศา(ในคุกเดินเบียดกันมองไกลมากไม่ได้) และ ย้ำว่าไม่ควรเงยหน้ามองคนอื่น หรือ มองออกไปข้างนอกซึ่งจะทำให้เสียสมาธิ จากนั้นขณะเดินจงกลม เราตรวจตราสังเกตุโดยรอบ ตั้งแต่หัวห้อง ยัน ท้ายห้อง เราไม่ส่งเสียงรบกวน แต่เราคอยมอง มีนักเรียนคนไหนเงยหน้ามาสบตาเรา แสดงว่า เสียสมาธิ เราก็จะทำมือเปนลูกศร(ห้านิ้วกดมุมทะแยงลงพื้น) ชี้เตือนให้เค้ารู้ว่าควรจะก้มหน้ามองพื้นทางเดิน ไม่ควรมองที่อื่น นักศึกษาก็ยิ้มรับ (ค่อยยังชั่ว ใจหายเลย ดีนะที่เค้ายิ้มรับการชี้แนะของเรา ถ้าเค้าส่งสายตาทะมึนบึ้งตึงมา เราจะทำยังไง?? คงจะเหงื่อตกกลีบแน่ๆ จะโดนปาดคอมั้ย??)
    หลังจากเดินจงกลม ก็มาต่อกันด้วย การนั่งสมาธิรอบบ่าย เราก็ทำเหมือนเดิม เดินตรวจตราด้านนอกห้อง โดยรวม เพื่อไม่เปนการรบกวนสมาธิของนักเรียน ส่วนนักเรียนบางคนที่กลับมาจากการพบญาติเราก็จะให้นั่งด้านนอกห้องเรียงกันก็จะกระซิบบอกเค้าเบาๆว่า ไม่เปนไร ทำสมาธิ เราต้องทำตัว และ ทำใจสบายๆ ไม่ต้องฝืน ใจเย็นๆ ค่อยๆทำไป จากการเดินสังเกตุ เราเห็น นักเรียนส่วนมากแบ่งเปนหลักๆ สามจำพวก กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ใบหน้าดูสบายๆ ไม่มีอารมณ์มาปนมากนัก แต่นั่งตัวเกร็งๆ และ หายใจแรงๆ ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่เพ่งมาก จนคิ้วสองฝั่งผูกกันเปนโบว์ และ กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่ม ที่นั่งสัปปะหงก เราก็จำหน้าไว้ใครอยู่กลุ่มไหน? ใครมีแววบ้าง?
    ในฐานะผู้ช่วยอาจารย์ เราก็เลือกชี้แนะกลุ่มที่ดูดีมีแววก่อน (ตามรอยพระพุทธองค์เลือกสอนบัวเหนือน้ำ และ บัวปริ่มน้ำก่อน) คือ พอนั่งสมาธิเสร็จ เราก็ไปชี้แนะกลุ่มแรกที่ดูมีแววที่สุด ว่าเค้าตั้งใจได้ดีมาก มาถูกทางแล้ว แต่ ให้ผ่อนลมหายใจเบาๆ ใจเย็นๆ และ ให้วางตัวให้สบายกว่านี้หน่อย จากนั้นก็ไปชี้แนะกลุ่มที่สอง ให้ทำตัว และ ทำใจให้สบาย อย่าตึงเครียดมากนัก ไม่งั้นจะกลายเป็นการเพ่งจิต (เปนสมาธิที่ผิดทาง ถ้าทำผิดทางมากๆ อาจจะเสียสติได้) แต่ กลุ่มที่สามนี่ ไม่แตะเลย เพราะต้องสอนเยอะมาก ต้องลงรายละเอียด ไว้ให้อาจารย์สอนดีกว่า คือจริงๆเรารู้ว่า ถ้าง่วงต้องใช้วิธีฝึกสติให้ “ดูกาย” และ “ดูจิต” (ดูอารมณ์/ดูความคิด) ก่อน ตามคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เมื่อกาย และ จิตพร้อมแล้ว จึงไปสู่การบริกรรม “พุทโธ” ต้องระวังไม่ปล่อยให้หลงไปในฌาณจนกลายเปน “เข้าฌาณ” (คำศัพท์ที่นักกรรมฐานมักจะล้อเลียนการนั่งสัปปะหงก) และ วันนั้นนักเรียนก็ยังไม่ได้เรียนเรื่องฌาณเลย แถมหลักสูตรที่ทีมงานเราสอน ก็สอนให้วางจิตไว้ที่พุทโธ ไม่ได้สอนให้ดูกาย ดูจิต (เราศึกษาข้อมูลจากหลายสำนัก นำมาปรับใช้ และ ฝึกเอง เปนสูตรส่วนตัว เลยไม่อยากขัดกับสูตร“พุทโธ”ของทีมงาน ก็เลยไม่ได้แนะนำกลุ่มสัปปะหงก)
    นักเรียนยิ้มตอบรับและไหว้ขอบคุณสำหรับคำชี้แนะของเราเปนอย่างดี . . . ดีนะ (หวังว่าจะ)ไม่ถูก ล๊อคตัว แล้วปาดคอ (เพราะเราเดินไปหาเค้าแล้วนั่งคุยกับเค้าบนพื้น รายล้อมด้วยกลุ่มนักโทษเลย ถ้าโดนล๊อคตัวก็คงจะลำบากแน่ๆ แหะๆ แอบเหงื่อตกกลีบเล็กน้อย)
    รายการสุดท้ายก่อนจะลาจากกัน อาจารย์เปิดให้นักเรียน ยกมือถามคำถาม ซึ่ง มีหลายคำถามที่น่าสนใจมาก เช่น
    ถาม : “ถ้าไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ จะเรียน และ ฝึกทำสมาธิ ได้มั้ย?”
    ตอบ : “ได้ ให้บริกรรมด้วยคำอื่น แทนคำว่าพุทโธก็ได้ เช่นคำว่า อาเมน หรือ อัลเลาะห์ เพราะจุดประสงค์คือ การกรองอารมณ์ให้รวมอยู่เพียงจุดเดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น”
    ถาม : “ถ้านั่งนานๆแล้วปวดขา จะทำยังไงดี?”
    ตอบ : อาจารย์ให้เพื่อนนักโทษที่เคยฝึกแล้วได้ผล ช่วยตอบคำถามนี้แทนอาจารย์ว่า “ให้เพ่งบริกรรม พุทโธ ให้เร็วขึ้น แล้วจะหายปวดเอง”
    ถาม : “ถ้านั่งสมาธิมากๆ แล้วนอนไม่หลับ ให้ทำไงดี?”
    ตอบ : “เวลานั่งสมาธิ ก็อย่าเข้าฌาณซิ” (ฮาาาาาา . . . หมายถึง อย่านั่งหลับเวลานั่งสมาธิซิ ไม่งั้นออกจากฌาณก็เหมือนตื่นจากนอนหลับไปแล้ว พอมานอนอีกก็เลยนอนไม่หลับแล้ว) และ “เวลานอน ให้ทำสมาธินอน แล้วเข้าฌาณไปเลย” (เข้าฌาณให้ถูกกาละเทศะ)
    จบการสอนในวันนั้นด้วยฝนถล่มหนักมากจนน้ำท่วมทางเข้า-ออกคุก ฝั่งนักเรียนก็อยากจะไปเก็บผ้าที่ตากไว้ ส่วนทีมอาจารย์จะอยู่รอข้างในคุกนานๆก็ไม่ได้เพราะต้องเปนหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ผู้คุมรักษาความปลอดภัยให้อีก ดังนั้นทีมอาจารย์ทุกคนก็ไม่มีทางเลือก ต้องกางร่มแล้วถอดรองเท้าเดินลุยน้ำท่วมออกจากคุกไปพร้อมกับผู้คุมจนถึงประตูทางเข้า-ออก พูดง่ายๆว่า วิ่งเปนลูกหมาตกน้ำออกไปสู่ประตูแห่งอิสรภาพ (ขาเข้าไปอย่างเท่ห์ ขาออกมาอย่างทุลักทุเล) สรุปว่าวั้นนั้นก็ “โหด-มันส์-ฮา” ตามสไตล์ จิตอาสา เช่นเคย อีกหนึ่งประสบการณ์ที่จะจดจำไม่รู้ลืม และ จะหาโอกาสกลับไปช่วยอาจารย์สอนสมาธิในคุกอีกนะคร้าาาา ^_^
    ปล. ขอถวายบุญกุศลจากการเปนจิตอาสาเข้าไปเปนผู้ช่วยอาจารย์ และ ในการเขียนบทความนี้ เพื่อเปนพุทธบูชา แด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และ เปนการบูชา พระคุณแห่งบิดา/มารดา และ บูชาพระคุณแห่งครูบาอาจารย์ทุกรูป โดยมีพระอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เปนที่สุด รวมถึงอาจารย์ปุถุชนทุกคน ผู้มีเมตตาสอนธรรมะ และ สอนวิชาพระกรรมฐานให้นะคร้า สาธุๆๆ

     

แชร์หน้านี้

Loading...