นาง อุมาฑันตี

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มหา, 26 เมษายน 2005.

  1. มหา

    มหา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    829
    ค่าพลัง:
    +973
    วันนี้จะนำจุดหนึ่งใน "ทานมัย" ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสไว้ใน พระธรรมบทขุททุกนิกาย ความมีอยู่ว่า
    เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในเมืองพาราณสี เวลานั้นสมเด็จพระมหามุนีทรงปรารภ "อุมาฑันตี" เป็นเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชณฐ์จึงนำเรื่องนี้มาแสดงแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท สำหรับอุมาฑันตีนี่ อุมา อุมะ ฑันตะ นี่เขาแปลว่า บ้า แต่เธอไม่ได้บ้า เธอทำให้คนอื่นเขาบ้า

    ในสมัยชาติก่อนโน้นนางเกิดเป็นลูกคนจน แต่ถึงเวลางานประจำปี งานเทศกาล เช่น งานสงกรานต์ เขาก็มีการเล่นมหรสพกัน อย่างพวกเราเล่นมอญซ่อนผ้าบ้าง เล่นอะไรต่ออะไรบ้าง เป็นต้น เป็นอันว่า ทุกคนเขาก็แต่งตัวสวยสดงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกของมหาเศรษฐีเขาก็แต่งตัวด้วย"ผ้ากัมพล"

    ไอ้ผ้ากัมพลนี่เป็นสีแดง แต่เขาทาบไปด้วยดอกสีทองคำ อย่างกับที่เราเรียกว่า "ผ้ายก" ในเวลาปัจจุบัน มันสวยสดงดงามมาก มีราคาสูงมาก พอถึงเวลางานประจำปี เทศกาลอย่างงานสงกรานต์แบบนี้ "อุมาฑันตี" เวลานั้นเกิดเป็นลูกของคนจน และก็จนมากเสียด้วย ไม่ใช่จนน้อย จึงเข้าไปหาแม่บอก งานสงกรานต์คราวนี้ขอผ้าสีดอกคำเอามานุ่งอย่างชาวบ้านเขาบ้าง อยากจะได้ผ้าสีดอกคำสักผืนหนึ่งสำหรับนุ่ง อีกผืนหนึ่งสำหรับห่ม เพราะว่าประเพณีของพราหมณ์เขาใช้ผ้าห่ม ผ้าสไบเฉียง แม่ก็บอกว่า

    "ตระกูลของเราทั้งตระกูล สมบัติเท่าที่มีอยู่นี้ ที่ดินก็ดีมีเล็กน้อย บ้านช่องมีหลังหนึ่งก็ดี ขายทั้งหมดแล้วยังไม่สามารถซื้อผ้ากัมพลได้ ๑ ผืน เพราะผ้ากัมพลสีดอกคำน่ะราคาแพงมาก เขาแต่งเฉพาะลูกมหาเศรษฐีและลูกของกษัตริย์"

    นางจึงกล่าวว่า

    "ถ้าแม่ไม่สามารถจะให้ได้ ฉันก็จะไปรับจ้างมหาเศรษฐีขอผ้าดอกคำ ๒ ผืน เป็นเครื่องประดับกาย"

    แม่เห็นว่าลูกมีความตั้งใจจริง ๆ ก็เลยไม่ขัดข้อง "ถ้าอย่างนั้น ขอลูกหญิงจงปฏิบัติตามอัธยาศัย"

    เธอก็เดินไปตำบลอื่น เพราะตำบลที่นางอยู่นั้นไม่มีมหาเศรษฐี พอไปถึงบ้านท่านมหาเศรษฐี ก็แสดงความจำนงว่า ต้องการจะมาทำงานรับจ้าง เอาผ้าสีดอกคำ ๒ ผืน คือ นุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง เป็นเครื่องประดับกาย ท่านมหาเศรษฐีจะให้ทำงานสักกี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้ผ้าอย่างนี้ก็แล้วกัน ท่านมหาเศรษฐีเห็นว่าเธอตั้งใจจริงจึงบอกว่า

    "ภคินิ ดูก่อนน้องหญิง ผ้าสีดอกคำนี่ราคาแพงมาก เธอจะต้องทำงานใช้แรงงานถึง ๓ ปี จึงจะมีค่าตัวเท่ากับผ้าดอกคำ ๒ ผืน"

    เธอก็ไม่ว่าอย่างไร เต็มใจ บอก ๓ ปีก็ ๓ ปี ๕ ปีก็ ๕ ปี ขอให้มันได้ก็แล้วกัน ผลที่สุดท่านมหาเศรษฐีผู้นั้นก็รับนางไว้เป็นคนรับใช้ ให้ทำงานประจำตามฐานะที่จะพึงทำได้อยู่ ๓ ปี ครั้นครบ ๓ ปีแล้ว ท่านมหาเศรษฐีก็ได้มอบผ้าดอกคำ ๒ ผืน ผ้ากัมพลสีดอกคำนะ สำหรับนุ่งผืนหนึ่ง สำหรับห่มผืนหนึ่ง

    เธอรับมาแล้วด้วยความรัก ถนอมอย่างยิ่ง จึงได้พยายามห่อให้ดี แล้วก็ลาท่านมหาเศรษฐีกลับบ้าน ขณะที่เดินทางกลับบ้าน ทางมันห่างกันหลายโยชน์ ต้องผ่านป่าผ่านดงมา ก็เป็นการบังเอิญอย่างยิ่ง วันนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลานั้นไม่มีพระพุทธเจ้า แต่ก็มีพระปัจเจกพุทธเจ้า ความจริงพระปัจเจกพุทธเจ้านี่จริยาทั้งหมดคล้ายคลึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เว้นไว้แต่ว่าจะไม่สอนด้านนิพพานให้ใครเท่านั้น อย่างอื่นสอนหมด

    วันนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านหนึ่งเดินไปที่ชายน้ำท่านมีความร้อน เห็นจะเป็นฤดูร้อน เกิดความร้อนขึ้นมา เวลานั้นความจริงผ้าผ่อนท่อนสไบมันหายาก พระนี่มีผ้าจำกัด มีสบงอยู่ ๑ ผืน มีรัดประคด ๑ เส้น อังสะ ๑ ตัว แล้วก็มีผ้าจีวร ๑ ผืน สังฆาฏิ ๑ ผืน เท่านั้น มีความจำกัด ท่านจึงเรียกว่า "ผ้าไตรจีวร"

    ฉะนั้น เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านร้อน จึงได้เปลื้องผ้าทั้งหมดพาดกิ่งไม้ไว้บนฝั่ง และตัวท่านเองก็เดินลงไปในน้ำอาบน้ำ เวลาอาบน้ำมันมีครบเครื่องเฉพาะ ก็ต้องอาบน้ำชุดวันเกิด ตอนนั้นเป็นเวลากลางวันไปอยู่ในป่า เป็นการบังเอิญพอดี เวลานั้นเจ้าคนอื่นมันเดินมา จะเป็นโจรยากจนประเภทไหนก็ไม่ทราบ เพราะเป็นโจรยากจน เห็นผ้าของพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านวางไว้ แกก็มาหยิบเอาไปทั้งหมด

    พระคุณเจ้าเมื่อขึ้นมาแล้วก็ปรากฎว่า ไม่มีผ้าจะนุ่งจะห่ม จึงเข้าไปในพุ่มไม้ เอาใบไม้ใบใหญ่ ๆ เอาเถาวัลย์เล็ก ๆ มากลัดให้เป็นผืนผ้าเดียวกัน แล้วก็ห่อกายเดินไปเพื่อเป็นการกำจัดความอาย พอออกจากพุ่มไม้ก็เป็นการบังเอิญอย่างยิ่ง พบยอดหญิง คือ อุมาฑันตี เธอเดินสวนทางมาพอดี พระปัจเจกพุทธเจ้าได้มองเห็นเข้าก็เกิดมีความละอาย หลบเข้าพุ่มไม้ พอหลบเข้าพุ่มไม้นางก็เลยคิดว่า

    เวลานี้พระปัจเจกพุทธเจ้า พระท่านเดินห่างมาจากเรา พระท่านเห็นเราเข้าคงจะมีความอาย เพราะท่านไม่มีผ้านุ่ง กลับมาคิดถึงตัวเองว่า ไอ้การที่เกิดมาชาตินี้ ผ้าไม่มีจะนุ่ง เครื่องประดับกายไม่มีจะแต่ง ก็เพราะอาศัยชาติก่อนขาดถวายผ้าไตรจีวรไว้ในพระพุทธศาสนาจึงเป็นคนจนอย่างนี้ ผ้าดี ๆ ก็ไม่มีจะนุ่งกับเขา จึงตัดสินใจว่า "ถ้าเราถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าสัก ๑ ผืน อีก ๑ ผืนมันยังเป็นของเรา ฉะนั้นหากเราถวายแก่ท่าน บุญของเรายังมีเบื้องหน้า จะมีผ้าสวย ๆ อย่างนี้ใช้"

    เธอจึงย่องเข้าไปใกล้พุ่มไม้ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าหลบอยู่ แล้วโฉมตรูก็วางไว้ข้างพุ่มไม้และก็กล่าวว่า

    "ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดรับผ้าผืนนี้ไปนุ่งเถิดเจ้าค่ะ"

    แล้วนางก็หลบไปห่างจากนั้น ไปแอบดู

    พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านทราบว่า เวลานี้นางแอบไปแล้ว เขาถวายแล้ว ก็ย่อง ๆ ออกมา จับผ้ากัมพลเข้าไปนุ่ง อาศัยที่สีของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้อุดมสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีความผ่องใส ครั้นทาบกับผ้าสีแดงดอกสีคำเข้าแล้วไซร้ก็แลสวยงามมาก เข้ากัน ท่านก็ออกมาจากพุ่มไม้มีความหวังว่าจะกล่าวคำโมทนา แต่กัลยาอุมาฑันตีเมื่อเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อกี้นี้นุ่งใบไม้ไม่สวย แต่เวลานี้นุ่งผ้าสีดอกคำมีพื้นสีแดงเข้ากับผิว รับกายสวยดีมาก จึงได้คิดในในว่า

    "ถ้าเราถวายทั้ง ๒ ผืน ท่านจะสวยกว่านี้..."

    อุมาฑันตีในชาตินั้น จึงคลานเข้าไปถวายผืนที่ ๒ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็รับ ตอนนี้ไม่ต้องหลบเพราะมีผ้านุ่งแล้ว ก็รวมความว่าเมื่อถวายแล้วทั้ง ๒ ผืน พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ห่ม ห่มก็เกิดความสวยงามเกิดขึ้น นางก็เกิดปีติความเลื่อมใส จึงเข้าไปใกล้พระปัจเจกพุทธเจ้า กราบ ๓ วาระ แล้วเปล่งอุทานตามความปรารถนาว่า

    "ธรรมใดที่พระผู้เป็นเจ้าเห็นแล้ว ขอฉันโปรดเห็นธรรมนั้นด้วยเถิดพระเจ้าข้า การเกิดมาชาตินี้หม่อมฉันต้องเป็นคนเป็นลูกคนจน ขาดทรัพย์สินแม้แต่ผ้าดอกคำ ๒ ผืนเท่านี้ จะได้มาก็ด้วยความลำบาก เพราะต้องรับจ้างเขามาถึง ๓ ปี ครั้นได้ผ้าดอกคำนี้มาแล้ว ด้วยความยากลำบาก เพราะอาศัยบุญเก่าไม่มีมาก่อน ฉะนั้น การที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายแก่สาวกขององค์สมเด็จพระชินวร คือ พระปัจเจกพุทธเจ้าหน่อเนื้อพระพุทธเจ้า ขอบุญกุศลนี้จงบันดาล ถ้าเกิดไปชาติใดฉันใดก็ตามที ขึ้นชื่อว่าเครื่องแต่งกายเครื่องประดับกายของหม่อมฉันนี้ต้องมีบริบูรณ์ทุกอย่าง และขอจงปราศจากความยากจนเข็ญใจ เหมือนชาตินี้จงได้อย่ามีอีก..."

    และนางก็อธิษฐานต่อไปว่า

    "ถ้าเกิดไปในชาติใด ถ้าเป็นผู้หญิงมีรูปงาม ถวายผ้านี่รูปงามแน่ และชายอื่นใดที่ไม่ใช่คู่ครอง คือ ไม่ใช่เนื้อคู่ เห็นแล้วให้คลั่งทุกคน"

    อุมาฑันตี เขาแปลว่า คลั่ง แต่ไม่คลั่งทุกคน นอกจากคนที่เป็นคู่ครองของนางเท่านั้น เมื่อนางตั้งสัตยาธิษฐานเสร็จ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ให้พร สมัยก่อนให้พรไม่ยาว แม้แต่ในเขตพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ให้พรว่า "เอวัง โหต" ซึ่งแปลเป็นใจความว่า "เจ้าปรารถนาสิ่งใด ขอให้ได้สิ่งนั้นสมปรารถนา..."

    เท่านี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็หลีกไป นางอุมาฑันตี เวลานั้นไม่ใช่อุมาฑันตี นางก็หลีกไปแล้วกลับบ้าน ตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา นางก็มีธรรมปีติ คิดว่า ผ้าสีดอกคำผืนสีแดงจากแคว้นกาสี ที่มันมีราคาสูงอย่างนี้ที่ลูกมหาเศรษฐีนุ่งก็ดี ลูกกษัตริย์นุ่งก็ดี ของเราก็มีแล้ว เธอมีความชื่นใจว่าเธอก็มีแล้ว แต่ได้ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าไป ถือว่านั่นของเรามีแล้วเราถวายไป ในกาลต่อมาเธอจะมีผ้าแบบไหนแต่งก็ไม่สำคัญ จิตของเธอนึกถึงผ้า ๒ ผืนนั้น ก็ชุ่มชื่นใจ เป็นธรรมปีติ หลังจากนั้นเธอก็ตายจากความเป็นมนุษย์

    นี่เขาเป็นลูกของคนจนจริง ๆ นะ โอกาสที่จะได้บำเพ็ญกุศลเป็นของหายาก เวลานั้นก็มีเฉพาะพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกในเวลาที่ว่างจากพระพุทธเจ้าเป็นหมื่น ๆ องค์นะ คนจะพบก็นาน ๆ พบครั้งหนึ่ง เพราะว่าโลกมันกว้างมาก จะได้พบทุกวันอย่างนี้ไม่ได้ นอกจากนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าตามปกติก็อยู่ยอดภูเขา คันธมาทน์ เวลาออกพรรษาอาจจะเข้าไปในเขตเมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะเวลา เวลาที่จะเข้าพรรษาก็กลับไปจำพรรษาที่ยอดภูเขาคันธมาทน์ ในป่าหิมวันต์ หาพระยาก แต่ว่านางนั้นได้มีโอกาสทำบุญครั้งแรกในชีวิต แล้วก็เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต แต่ว่าจิตของนางมีความผูกพันอยู่กับผ้า ๒ ผืนนั้น และผ้าผืนที่พระปัจเจกพุทธเจ้านุ่ง

    การนึกถึงภาพรูปร่างของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็น "พุทธานุสสติกรรมฐาน"

    การนึกถึงผ้าที่ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นจัดว่าเป็น "จาคานุสสติกรรมฐาน"

    เธอมีกรรมฐาน ๒ ประการประจำใจ ถือว่าเป็นทานอารมณ์แนบแน่น ความจริงกรรมฐานนี่ไม่ต้องไปนั่งหลับตาขัดสมาธิเข้าสมาธิก็ได้ นั่นเป็นการฝึก ถ้าจิตนึกอยู่เสมอนั่นแหละตัวนั้นเป็นตัวสมาธิสมบูรณ์แบบ การที่จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิสมบูรณ์แบบ ถ้าตายแล้วจะไปเลือกสวรรค์อยู่ชั้นไหนก็ได้เขาอนุญาต เหมือนกับที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททำบุญอยู่เสมอ ๆ นี่ถ้าจิตนึกถึงบุญขึ้นมาเมื่อใด จิตก็ปลื้มใจเมื่อนั้น ไอ้ตัวนี้แหละ เขาเรียกว่า "ฌานในอนุสสติ"

    นางตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดเป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก นี่เห็นไหม ไอ้งานประเพณีทางโลกนี้ใช้ให้มันถูกน่ะมันไปสวรรค์ได้ เอาแค่เล่นกันอย่างเดียวนี่ไปนรก แถมเมาอีกหน่อยลงนรกอีกขุมหนึ่ง โลหะกุมภี แต่ว่าถ้าจะทำให้ดี น้อมจิตเป็นกุศลเนื่องจากวันตรุษสงกรานต์เป็นเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์กล่าวว่า

    "อุมาฑันตีนั้นจะได้สวรรค์ได้ เพราะงานสงกรานต์เป็นปัจจัย"

    หลังจากนั้น เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก เธอก็จุติจากความเป็นนางฟ้า คำว่า "จุติ" แปลว่า เคลื่อน เขาไม่ได้แปลว่าตาย เคลื่อนลงมาจากเป็นนางฟ้า ลงมาเกิดเป็นคน เป็นลูกของคหบดีหรือมหาเศรษฐีท่านหนึ่ง ใกล้เมืองพาราณสี ปรากฎว่าเธอเป็นหญิงที่มีความสวยสดงดงามเป็นกรณีพิเศษ ไม่ว่าชายใดเห็นหน้าเธอนิดเดียว กลับไปคลั่งทุกคน เห็นแล้วก็นอนไม่สบายใจทุกคน นึกถึงนาง รวมความว่า มาสมัยครั้งหนึ่ง มีลูกชายของท่านมหาเศรษฐีคนหนึ่งเดินทางผ่านมาในงานเทศกาล เห็นนางนั่งยานน้อย ๆ คือ รถม้าลาก เห็นหน้าของนางแว่บเดียวเท่านั้น กลับไปไม่กินข้าวกินปลา ก็คิดว่า

    "ถ้าเราไม่ได้นางคนนี้มาครอบครอง เราก็ยอมตาย"

    นี่ ชื่อ อุมาฑันตีก็แบบนี้ ชื่อจริงของเธอไม่รู้ชื่ออะไร เขาให้ฉายาตามจริยา อุมาฑันตี ก็แปลว่า คลั่ง ใครเห็น ที่ไม่ใช่คู่ครองต่างคนต่างคลั่งหมด คลั่งไม่ถึงกับบ้าน เพ้อนอนไม่สบาย กินไม่สบาย หลับไม่ได้ อยากจะได้นางมาเป็นภรรยา

    ต่อมา เมื่อพ่อแม่ทราบแล้วก็ส่งพราหมณ์ ๘ คน มาเป็นเถ้าแก่สู่ขอนาง ขณะที่พราหมณ์ทั้ง ๘ คนมา นางอยู่ในห้องยังไม่ได้ออกมา ต่อมาเมื่อเขากระทำการสู่ขอ เวลานั้นไอ้การที่จะแต่งงานกับใครมันเป็นสิทธิของลูกสาว ถ้าลูกสาวยอมรับหมั้นคนไหน พ่อแม่ก็ต้องยอมด้วย ไม่ใช่พ่อแม่มีหน้าที่ตัดสินใจแต่ผู้เดียว เมื่อเจรจากับบิดามารดา ๆ ก็บอกว่า ไอ้เรื่องนั้นเป็นเรื่องของลูกสาวเขา เขาจะอยู่ด้วยกันตลอดชาติตลอดสมัย จะไปตัดสินใจแทนเขาไม่ได้ จะเป็นลูกมหาเศรษฐี ลูกกษัตริย์ก็ตาม ต้องเรื่องของลูกสาวเขาตัดสินใจ

    เมื่อนางยังไม่ออกจากห้อง ถึงเวลาอาหารเขาก็นำอาหารมาเลี้ยงพราหมณ์ทั้ง ๘ คน ขณะที่บรรดาพราหมณ์ทั้ง ๘ คนกินเข้าอยู่นะ บรรดาท่านพุทธบริษัท อุมาฑันตีโผล่มาจากห้องพอดี อีตาพราหมณ์ ๘ คนแกเห็นเข้า ไอ้จิตก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในสภาพเดิม เห็นความสวยคลั่งซะอีกแล้ว ตาพราหมณ์คนหนึ่งหยิบกับข้าวมา แทนที่จะใส่ปากกลับวางไว้บนหัว อีกคนหนึ่งแหงนหน้าขึ้นมาเอาข้าวใส่ลูกตา อีกคนหนึ่งหยอดอยู่ในจมูก อีกคนหนึ่งใส่หู ๘ คนมีท่าทางไม่สม่ำเสมอกัน

    นางเห็นเข้าอย่างนั้นจึงบอกกับพ่อแม่ว่า คน ๘ คนนี่สติไม่ดี พ่อแม่เชิญเอาออกไปจากบ้านเถอะ ผลที่สุดเป็นอันว่าเขาก็ต้องเชิญออกมาจากบ้าน ต่อมาเมื่อพบคู่ครองของนาง คนนี้ซิเขาไม่คลั่ง แต่งงานกันได้ เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล

    เอาละ ท่านบรราดาพุทธบริษัท ก็เป็นอันว่า เรื่องอุมาฑันตี ก็จบแค่นี้ดีกว่า รู้จุดสุดท้ายว่าชาติก่อนเธอมาจากสวรรค์ แล้วมาในสมัยนั้นก็มาพบองค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีความเลื่อมใสเพราะกำลังใจเดิมของเธอเป็นมหากุศล เมื่อสดับพระธรรมเทศนาจากองค์สมเด็จพระทศพลจบเดียว ตามหนังสือท่านว่าอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ตามเสียงบอกว่า จบเดียวเธอได้บรรลุอนาคามีผล เป็นอริยบุคคลเบื้องสูงในพระพุทธศาสนา

    แต่ว่าการที่ฟังเทศน์จบเดียวเป็นอนาคามี ไม่มีใครเขานั่งโง่เป็นอนาคามีต่อไป ไม่ช้าไม่นานเท่าไร อย่างน้อยเวลาตายก็เป็นอรหันต์



    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ปัจจัยแห่งตรุษสงกรานต์เป็นปัจจัยให้ถึงสวรรค์ได้ นิพพานได้ อย่างอุมาฑันตีเธอถวายผ้าผ่อนท่อนสไบไว้ในพระพุทธศาสนา อันดับแรกเธอตายจากความเป็นคน จากลูกคนจนเรียกว่า "ลูกมหาทุกขตะ" ไปเป็นนางฟ้าบนสวรรค์ มีวิมานเป็นที่อยู่ มีเครื่องประดับอันเป็นทิพย์ที่อาศัย เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรทรงอุบัติขึ้น เธอลงมาเป็นลูกของมหาเศรษฐี กลับสภาพจากจนที่สุดมาเป็นรวยที่สุดเพราะผ้า ๒ ผืน หลังจากนั้นได้สดับพระธรรมเทศนาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็เป็น "พระอนาคามี"

    ก็รวมความว่า อย่างเบา ๆ เวลานี้ก็ต้องอยู่ที่นิพพาน หากว่าท่านพุทธบริษัททุกท่านมาทำบุญอย่างนี้ ท่านทำมากกว่าอุมาฑันตี มีเวลาทำในยามปกติเกือบทุกวันพระ อยู่ที่บ้านก็มีโอกาสได้ใส่บาตร ในวันตรุษสงกรานต์ก็มาบำเพ็ญกุศลกัน หากต้องการมีรูปสวยอย่างอุมาฑันตี ถ้าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนก็ต้องร่วมกันบำเพ็ญกุศลด้วยผ้าสบงที่จะสรงน้ำพระก็มีผลเช่นเดียวกับผ้าสีดอกคำสีทองของนางอุมาฑันตี มีอานิสงส์เหมือนกัน แต่ว่าขอทุกท่านจงอย่าอธิษฐานแบบอุมาฑันตีนะ คนทั้งโลกมันจะบ้าหมด อธิษฐานแต่เพียงว่า

    "ถ้าบุคคลผู้ใดไม่ใช่คู่ครองของข้าพเจ้า ให้เห็นไว้แค่สวย อย่าเข้ามายุ่งกับเราก็พอแล้ว" ไม่ต้องถึงกับบ้านะ ถ้าถึงกับบ้านี่ พระจะยิ้มนะ บ้าก็ไม่กินข้าวกินปลา ตายไปพระบังสุกุลกันแย่ เป็นอันว่าถ้าบรรดาพุทธบริษัททุกท่านต้องการนิพพานก็มีความสมประสงค์ทุกประการ ทั้งนี้เพราะอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงมีทั้งทาน มีทั้งศีล มีทั้งสดับรับรสพุทธพจน์เทศนา

    การฟังเทศน์นี่ ถ้าใช้ปัญญาไปด้วย ท่านถือว่าเป็น "วิปัสสนาญาณ" ถ้าตั้งใจฟังเทศน์จิตไม่ย้ายไปไหน แม้ว่าจะย้ายไปบ้าง ตั้งใจฟังบ้าง เผลอบ้างเป็นธรรมดาถือเป็นสมถภาวนา ถ้าใคร่ครวญตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาถือว่าเป็นวิปัสสนาญาณ อันนี้ทุกส่วนก็เป็นปัจจัยของนิพพานของบรรดาพุทธบริษัททุกท่าน

    เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ต้องขอยุติเรื่องของ "นางอุมาฑันตี" ลง คงไว้แต่เพียงเท่านี้ สวัสดี...
     

แชร์หน้านี้

Loading...