น้อมอัฐเชิญ 'พรฟ้ามหามงคล'

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 3 มกราคม 2010.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    [​IMG]

    'ในหลวง...ในรอยธรรม' ธ ทรงนำปวงไทยสุขสภาพร

    เป็นที่ประจักษ์ชัดไปทั่วโลกว่าประชาชนคนไทยเรานั้นนับว่าโชคดีมหาศาล ที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่ามาโดยตลอด และที่ผ่านมาพระองค์ท่านได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทในทางธรรมต่อเหล่าพสกนิกรไทยใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปรียบเสมือน “พรมหามงคล” และเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2553 หากคนไทยจะได้ใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตนให้เป็นไปในทางธรรม ตามที่ “องค์พ่อหลวง” ทรงชี้นำไว้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดียิ่ง จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขทั้งต่อผู้ปฏิบัติเอง และต่อสังคมไทย-ประเทศไทยโดยรวม.....

    “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

    ...คือพระปฐมบรมราชโองการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งนี้ นับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 จวบจนถึงปัจจุบันนี้ “ธรรม” แห่งองค์ “ในหลวง” ได้แผ่ปกเกล้าปกกระหม่อมเหล่าปวงไทยให้อยู่เย็นเป็นสุขเรื่อยมา

    “ทศพิธราชธรรม” แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นประดุจน้ำทิพย์อันล้นเปี่ยม ยังมาซึ่งประโยชน์สุขต่อเหล่าพสกนิกรไทยมากมายหลายด้าน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่เปรียบมิได้

    ขณะเดียวกัน ในด้านของธรรม หรือ “ธรรมะ” ตามหลักศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ “ทรงเป็นองค์ต้นแบบ” ของประชาชนคนไทยใต้เบื้องพระยุคลบาท ทั้งที่เป็นพุทธศาสนิกชน และที่นับถือศาสนาอื่น ๆ

    “...พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้า ก็เห็นเป็นศาสนาดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบธรรม คำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล ซึ่งเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี...”

    ...เป็นความตอนหนึ่งจากกระแสพระราชดำรัสต่อพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2499 เรื่องการ “ทรงพระผนวช” เป็นความตอนหนึ่งจากกระแสพระราชดำรัส ซึ่ง ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต รวบรวมจัดพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “ในหลวง....ในรอยธรรม”

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงพระผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ” และเสด็จฯมาประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยที่ทรงครองสมณ เพศเช่นเดียวกับพระภิกษุรูปอื่น ๆ กล่าวคือ เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า และทรงทำวัตรเย็น ร่วมกับพระภิกษุรูปอื่น ๆ รวมถึงเสด็จฯ รับบิณฑบาตด้วย

    ในหนังสือ “ในหลวง...ในรอยธรรม” ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า... เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เป็นวันที่ชาวบ้านร้านตลาดแถวบางลำพูต่างพากันตื่นเต้นและปลื้มปีติอย่างล้นเหลือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระผนวชได้เสด็จฯมาทรงรับบิณฑบาตจากประชาชนโดยไม่มีหมายกำหนดการเสด็จฯ

    ภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ภูมิพโลภิกขุ” ทรงยืนรอรับบิณฑบาตด้วยสีพระพักตร์ที่อ่อนโยน ทรงสงบสำรวม เป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์ที่ติดตาตรึงใจประชาชนคนไทยมาจนทุกวันนี้

    ทั้งนี้ ระหว่างทรงพระผนวช แม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ทรงปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องครบถ้วนบริบูรณ์ ทรงสดับพระธรรมวินัย ทรงศึกษาพระธรรมวินัย ทรงตั้งมั่นอยู่ในไตรสิกขา ได้แก่ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา ทรงพระปัญญาคุณพิจารณาธรรมให้รู้แจ้งในสัจธรรม ทรงบำเพ็ญพรหมจรรย์ในเพศบรรพชิต ทรงสำรวมและมีพระราชจริยาวัตรอันงดงาม และในกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด

    นับแต่อดีตจนปัจจุบัน นอกเหนือจากพระจริยาวัตร พระราชกรณียกิจทางด้านการทำนุบำรุงพระศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นสิ่งที่พสกนิกรไทยต่างรับทราบ และเป็นภาพที่พสกนิกรไทยได้เห็นกันชินตามาโดยตลอดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานกระแสพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา เกี่ยวเนื่องกับ “ธรรม” แก่พสกนิกร ในโอกาสต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

    เช่นพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ความสำคัญตอนหนึ่งว่า... “...การปฏิบัติธรรมนั้นต้องเริ่มต้นด้วยความอยากที่จะปฏิบัติธรรม เมื่ออยากที่จะปฏิบัติก็จะเริ่มสนใจ เมื่อเริ่มสนใจก็เริ่มทำได้แล้ว เมื่อเริ่มทำแล้วก็ต้องมีความพอใจ (ฉันทะ) ในการทำหรือในการปฏิบัติ เมื่อมีความพอใจแล้วก็จะต้องมีความเพียรพยายาม (วิริยะ) ความอดทน (ขันติ) ควบคู่กันไปด้วย

    ในความเพียรพยายามและความอดทนนั้น ก็จะต้องมีการติดตามเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลาว่าการปฏิบัติของเราไปถึงไหนด้วย แล้วการปฏิบัติของเราก็จะก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ จนบรรลุความสำเร็จได้ แนวการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะในการปฏิบัติพระพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ในงานอื่น ๆ ทุกอย่างก็ใช้ได้ เพราะว่าไม่มีอุปสรรคใด ๆ ที่จะข้ามไม่ได้ ถ้ามีความเพียรพยายาม ความ อดทน และความเอาใจใส่...”

    เช่นพระราชดำรัสที่พระราชทานเพื่อการอัญเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 20 ปี พ.ศ. 2513 ความสำคัญตอนหนึ่งว่า... “...ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้ มีเสียงกล่าวกันว่า ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่เป็นความทุจริตหลายอย่างมีท่าทีที่จะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปพากันยอมรับ และสมยอมให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป เป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่นอันไหลบ่าเข้ามาท่วมทั่วไปหมด จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการช่วยกันฝ่าคลื่นที่กล่าวนั้น

    ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่ให้กระทำสิ่งใด ๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่ว ว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริง ๆ ให้ผลของความดีบังเกิดขึ้นมาก ๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ...”

    เช่นพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2549 ความสำคัญตอนหนึ่งว่า... “...นึกถึงคุณธรรมเป็นที่ตั้งของความรัก ความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาได้ตลอดรอดฝั่ง

    คุณธรรมสี่ประการ ประการแรก คือ การที่ทุกคน คิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญ ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตน อยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หาก ความคิดจิตใจและการประพฤติปฏิบัติลงรอยเดียวกันในทางที่ดีที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลอยู่ในกายในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่า ประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้...”

    ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปี่ยมด้วยธรรม ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ และด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรไทยและความเป็นไปของชาติไทย พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมอันสามารถน้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของคนไทย ในการนำพาชาติไทยให้ก้าวหน้าสถาพรมาโดยตลอด ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นสุดประมาณ และนับเป็น “พรจากฟ้า” ที่คนไทยทุกหมู่เหล่าควรรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม น้อมนำไปปฏิบัติ ซึ่งจะบังเกิดผลดีทั้งต่อตนเอง และต่อประเทศชาติ

    เหล่าพสกนิกรไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น แห่งองค์ “ในหลวง... ในรอยธรรม”

    ขอพระองค์ “ทรงพระเจริญ” ยิ่งยืนนาน.....

    ทีมวิถีชีวิต : รายงาน


    Daily News Online > โลกสีสวย > ช่องทางทำกิน > วิถีชีวิต > น้อมอัฐเชิญ 'พรฟ้ามหามงคล'
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 1.jpg
      1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      107.7 KB
      เปิดดู:
      60
    • 2.jpg
      2.jpg
      ขนาดไฟล์:
      60.4 KB
      เปิดดู:
      202
    • 3.jpg
      3.jpg
      ขนาดไฟล์:
      76.5 KB
      เปิดดู:
      54
    • 4.jpg
      4.jpg
      ขนาดไฟล์:
      74.4 KB
      เปิดดู:
      61
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 17 มกราคม 2010
  2. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ

    เชิญแวะเยี่ยมชมและโมทนาบุญครับ
    www.buddhasattha.com<!-- google_ad_section_end -->
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 มีนาคม 2010

แชร์หน้านี้

Loading...