ประวัติการภาวนาของ อ.สุรวัฒน์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 15 ตุลาคม 2017.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    727
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,503
    341741689.jpg

    ประวัติการภาวนาของ
    อ.สุรวัฒน์​

    เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ภายใต้ร่มเงาพุทธศาสนาของนายสุรวัฒน์

    ๑. ที่มาของเรื่อง

    ผมทราบว่า มีหลายท่านต้องการอ่านประสบการณ์การปฏิบัติธรรมจากผม จึงได้ตั้งใจว่าจะพยายามเขียนให้เสร็จทันเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า ๒๕๔๓ ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๔๔ ให้กับสมาชิกวิมุตติ โดยได้พยายามรื้อฟื้นความทรงจำในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาเพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง ด้วยหวังว่า อย่างน้อยก็คงจะสร้างกำลังใจให้ผู้ที่ได้อ่าน เพื่อมุ่งสู่ความดับทุกข์ต่อไป

    ถึงแม้ในวันวานที่ผ่านมาจะล้มลุกคลุกคลานและเหนื่อยยากสักเท่าไรก็ตาม ถึงแม้ในวันนี้จะยังถึงความดับทุกข์ไม่ได้ แต่วันข้างหน้าไม่วันใดก็วันหนึ่ง ก็ยังมีหวังที่จะดับทุกข์ลงได้อย่างหมดจด ด้วยการเจริญสติปัฏฐานตามที่พระพุทธองค์ทรงประกาศไว้ และผ่านการสืบทอดจากจิตสู่จิตของพุทธบริษัทรุ่นแล้วรุ่นเล่ามาจนถึงวันนี้ วันที่ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้การเจริญสติปัฏฐาน จากครูปราโมทย์ ครูผู้จุดประกายแห่งความดับทุกข์ให้สว่างไสวในจิตอยู่จนทุกวันนี้

    ๒. เริ่มแรกแห่งความสนใจในพระพุทธศาสนา

    ได้เริ่มขึ้นเมื่อปลายปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมใกล้จะจบการเรียนระดับปริญญาตรี ในช่วงนั้นผมเกิดความทุกข์ใจเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความทุกข์ใจในครั้งนั้นมีมากถึงขั้นน้ำตาตกใน สามารถเห็นน้ำตาที่ไหลอยู่ข้างในอก และเห็นความเศร้าหมองของจิตอย่างชัดเจน จนอดที่จะพูดกับตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมเราต้องเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากสภาพอย่างนี้ได้ ในความทุกข์ใจอันแสนสาหัสนี้ ผมไม่อาจทำอะไรได้มากไปกว่า การปล่อยให้วันเวลาผ่านไป ด้วยความหวังว่า วันเวลาที่ผ่านไปนั้น จะช่วยให้เราหายจากความทุกข์ใจได้บ้าง

    จนวันหนึ่งผมได้ไปเดินเล่นในร้านหนังสือ ทำให้ได้เจอหนังสือเล่มเล็กๆ บนหน้าปกเขียนด้วยถ้อยคำว่า เกิดมาทำไม ถ้อยคำๆ นี้รู้สึกสะดุดใจผมมาก จึงได้หยิบขึ้นมาดูและทราบว่าเป็นหนังสือธรรมะของหลวงพ่อพุทธทาสจึงเปิดอ่านเพียงครู่เดียวก็พอจับใจความได้ว่า คนเราจะเกิดมาเพื่อกิน เพื่อกาม และเพื่อเกียรติ เท่านั้นหรือ ทั้งที่จริงแล้วผู้ที่ได้เกิดมาในโลกนี้ ยังมีสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับสิ่งนั้นก็คือการมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นทุกข์ เมื่อได้อ่านแล้วก็เกิดความสนใจทันที และเป็นความสนใจในแรกเริ่มที่จะศึกษาว่า การมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นทุกข์นั้นเขาทำกันอย่างไร ต่อมาจึงได้ศึกษาธรรมะจากหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาสเรื่อยมา และพอจะจำได้ว่าเล่มที่อ่านเป็นเรื่องเป็นราวเล่มแรกก็คือ คู่มือมนุษย์

    ๓. ผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น

    แม้จะได้อ่านหนังสือธรรมะบ้างแล้วก็ตาม แต่ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาของผมเอง จึงทำให้ผมเข้าใจได้เพียงว่า การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นขั้นๆ ไป ก็เลยเริ่มต้นด้วยการรักษาศีล ๕ พร้อมๆ ไปกับการฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบนิ่งส่วนเรื่องปัญญานั้น ยังเข้าใจผิดไปว่า ต้องมีสมาธิแบบสงบนิ่งเสียก่อนจึงจะเจริญปัญญาได้ จึงเอาแต่รักษาศีลกับพยายามทำจิตให้สงบนิ่ง ซึ่งทำเท่าไรจิตที่ต้องการความสงบนิ่งก็ไม่อาจสงบนิ่งได้ มีแต่ฟุ้งซ่านและง่วงนอนอยู่ทุกวัน

    แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ จึงได้พยายามฝึกทุกๆ วัน และเที่ยวหาหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิบัติมาศึกษาด้วยตัวเอง ยิ่งศึกษาไปก็ยิ่งเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงตั้งใจว่าต้องทำสมาธิให้ได้อย่างน้อยก็อัปปนาสมาธิ เพราะเข้าใจผิดไปว่าหากไม่ได้อัปปนาสมาธิก็เจริญวิปัสสนาไม่ได้ จึงกลายเป็นการปฏิบัติด้วยความอยากไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อปฏิบัติด้วยความอยาก ก็ยิ่งถอยห่างจากมรรคผล และแม้จะฝึกเท่าไรก็ไม่สามารถบังคับจิตให้เกิดความสงบนิ่งได้ตามที่อยาก

    ความที่เข้าใจผิดๆ ในตอนนั้น ได้ทำให้การปฏิบัติผิดซ้ำผิดซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะยิ่งทำให้จิตสงบไม่ได้ก็ยิ่งต้องค้นต้องศึกษา ทีนี้เลยเกิดไปสนใจเรื่องอภิญญาต่างๆ ตามที่นิตยสารฉบับหนึ่งชอบนำเรื่องอภิญญาของพระกรรมฐานมาลง ก็ยิ่งทำให้ผมเข้าใจผิดไปว่า การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั้นจะต้องได้อภิญญาก่อน ก็เลยเพิ่มความอยากขึ้นอีกหนึ่งอย่าง คืออยากทั้งให้จิตสงบกับอยากได้อภิญญา แม้ว่าจะเข้าใจผิดต่อหลักวิธีการปฏิบัติอย่างไรก็ตาม แต่การปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ ก็ยังคงเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ในใจตลอดเวลา

    ๔. ได้ศึกษาจากพระปฏิบัติครั้งแรก

    เมื่อฝึกแบบผิดๆ ทำให้ฝึกอย่างไรก็ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ แต่ผมก็ไม่ย่อท้อ จึงตั้งใจว่าจะหาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระปฏิบัติ ให้ท่านสอนการปฏิบัติให้ ครั้นจะไปหาพระปฏิบัติสายหลวงปู่มั่น ก็ไม่รู้จะไปอย่างไร แต่ละองค์ก็อยู่ไกลเหลือเกิน จะไปก็ไปไม่ถูก จนวันหนึ่งราวๆ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๒ ได้สนทนากับผู้ที่สนใจเรื่องธรรมะเหมือนกัน จึงได้รู้จักชื่อ หลวงปู่วัย จตฺตาลโย (หลวงปู่มรณภาพเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๑) จากคำบอกเล่าทราบว่า หลวงปู่เป็นพระปฏิบัติที่มีอภิญญาสูง มีความสามารถหลายๆ ด้านมาก เช่น การรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยการแพทย์แผนโบราณ และยังเก่งในด้านการปฏิบัติกรรมฐาน ตอนนั้นผมรู้สึกมีความต้องการจะไปกราบหลวงปู่เป็นอย่างมาก และทราบต่อมาว่าหลวงปู่ได้มาสอนกรรมฐานที่กรุงเทพเป็นประจำทุกวันศุกร์ตอนเย็น สถานที่สอนก็อยู่ใกล้บ้านผมเสียด้วย จึงได้มีโอกาสไปกราบท่านตามความต้องการ

    วันแรกที่ได้พบกับหลวงปู่วัย ผมไม่รีรอและขอเรียนกรรมฐานทันที จึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า ผมมาขอเรียนกรรมฐานจากหลวงปู่ หลวงปู่ได้หยิบหนังสือธรรมปฏิบัติที่ท่านเขียนแจกในวันครบรอบวันเกิดปีนั้นให้ และสอนผมให้ตามดูลมหายใจ หลวงปู่บอกว่า ธรรมของพระพุทธองค์ต้องมีเหตุมีผลและพิสูจน์ได้ อย่างเช่นลมหายใจ เราต้องรู้ว่าเมื่อหายใจเข้าเป็นอย่างไร หายใจออกเป็นอย่างไร คือเมื่อหายใจเข้าต้องรู้ว่าลมหายใจเข้านั้นเป็นลมที่เย็น และเมื่อหายใจออกต้องรู้ว่าลมหายใจออกนั้นเป็นลมที่ร้อน หากไม่เชื่อก็ให้ลองหายใจรดหลังมือดูว่าลมที่ออกนั้นร้อนจริงหรือไม่

    แล้วหลวงปู่ก็อธิบายต่อไปว่า ที่ลมหายใจออกมีความร้อนกว่าลมหายใจเข้านั้น เป็นเพราะในตัวเรามีธาตุไฟอยู่ และลมหายใจที่เข้าไปนั้น จะไปหล่อเลี้ยงธาตุไฟให้คงอยู่ได้ หลวงปู่ยังบอกต่อไปอีกว่า ถ้าจะเรียนกับหลวงปู่ก็ต้องเรียนให้รู้จริงอย่างนี้ เหมือนการขึ้นต้นไม้ก็ต้องขึ้นทางโคนต้น จะไปขึ้นทางยอดไม่ได้ วันนั้นฟังหลวงปู่สอนแล้วจิตใจฮึกเหิมมาก กลับมาบ้านก็ตามดูลมหายใจอย่างที่หลวงปู่สอนให้อย่างตั้งใจ

    ๕. ฝึกอย่างไรก็มีแต่ฟุ้งซ่าน

    ในช่วงนั้นพยายามตามดูลมหายใจ เพื่อจะได้รู้แจ้งแทงตลอดในกองลมทั้งปวงอย่างกับหลวงปู่วัย ดูแล้วดูอีกก็ไม่เห็นว่าจะรู้เรื่องลมเลย เห็นแต่ความคิดที่ฟุ้งซ่านไปอย่างมาก กำหนดดูลมหายใจทีไร ก็รู้ลมหายใจเข้าออกได้เพียงสองสามรอบ ต่อไปก็ฟุ้งซ่านอย่างเดียว นั่งทำ ๑๐ นาทีก็ฟุ้งซ่านทั้ง ๑๐ นาที นั่งทำครึ่งค่อนชั่วโมงก็ฟุ้งซ่านทั้งครึ่งค่อนชั่วโมง เป็นอย่างนี้อยู่หลายเดือน

    เมื่อทำไปมีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็เลยคิดหาอุบายใหม่ ตามที่เคยได้ยินหลวงปู่พูดถึงการนับลมหายใจว่า หลวงปู่สามารถนับลมหายใจได้ทั้งวันโดยไม่หลงลืมเลย ก็เลยลองนับบ้างเผื่อว่าจะทำได้ ในใจคิดว่า ไม่ต้องนับได้ทั้งวันเหมือนหลวงปู่หรอก เอาสักครึ่งชั่วโมงก็เก่งแล้ว ลองทำอยู่นานแต่ผลที่ได้คือ นับได้ยังไม่ทันถึง ๑๐ ครั้ง ต่อไปก็ฟุ้งซ่านเหมือนเดิม

    ผมจึงต้องเที่ยวหาอุบายทดลองอยู่อีกหลายอย่าง ทั้งเพ่งกสิณ ดูอสุภะที่พิพิทธภัณฑ์คองดอน โรงพยาบาลศิริราช เรียกว่าเกือบจะครบทั้ง ๔๐ กรรมฐานของสมถะ และตอนหลังหันมาเดินจงกรม ซึ่งผลก็ยังเหมือนเดิมคือ จิตสงบนิ่งไม่ได้เลย มีแต่ความฟุ้งซ่านอย่างเดียว แต่การเดินจงกรมนั้นดูจะเข้าท่าที่สุด

    พอเริ่มเดินจงกรมได้ระยะหนึ่งแล้ว วันหนึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ได้ไปกราบหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่า เดินได้แล้วก็เดินไป จะเอาให้ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนาอย่างหลวงปู่นั้นยาก คนส่วนมากจะทำได้อย่างเดียวเท่านั้น เมื่อได้ยินเช่นนั้น ความคิดที่จะมุ่งฝึกแต่สมถกรรมฐานก็ลดลงไปอย่างมาก เกิดเป็นความอยากที่จะฝึกวิปัสสนาแทน แต่ด้วยเพราะความเป็นคนที่ไม่ถามอะไรง่ายๆ ก็เลยได้แต่ถามในใจว่าแล้ววิปัสสนาเขาทำกันอย่างไร หลวงปู่ก็เลยชวนคุยเรื่องหนังสือที่จะทำแจกวันเกิดปีนั้นว่า จะเอาเล่มเก่าๆ มาพิมพ์ใหม่ โดยจะพิมพ์เรื่องพุทธศาสนาในทัศนะของข้าพเจ้า เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนาและวิปัสสนาญาณ ๑๖ ตามที่หลวงปู่ได้ปฏิบัติมา ปลายปีนั้นเองผมจึงได้ศึกษาการฝึกวิปัสสนาจากหนังสือเล่มนั้น

    ๖. ฝึกแบบคิดไปเรื่อยๆ (วิปัสสนึก)

    เมื่อเริ่มศึกษาการเจริญวิปัสสนานั้น ก็ยังมีความเข้าใจผิดไปอีกว่า การเจริญวิปัสสนาจะต้องเกิดเป็นความรู้ในเรื่องของขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ฯลฯ ทีนี้ก็เลยอ่านหนังสือธรรมะเป็นหลัก อ่านแล้วก็นำมาครุ่นคิดเอาว่า ธาตุเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขันธ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ธรรมข้อนี้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น ไม่เคยเฉลียวใจเลยว่านั่นมันวิปัสสนึก จึงเอาแต่คิดนึกเอาเองอยู่หลายปี ก็ไม่เห็นจะเกิดปัญญาที่จะจัดการกับกิเลสได้เลย ถึงแม้จะเห็นว่าการคิดเอาไม่เกิดปัญญา แต่ก็ยังไม่รู้ว่าทำผิดๆ อยู่

    ๗. เห็นความโกรธ

    ในช่วงที่ปฏิบัติด้วยการคิดเอาเป็นหลักนั้น บังเอิญได้เห็นความโกรธโดยไม่ตั้งใจ แต่ตอนนั้นไม่รู้เลยว่า การเห็นความโกรธนั่นแหละคือการเจริญวิปัสสนา ที่เห็นความโกรธตอนนั้นคือ เห็นการเกิดขึ้นและดับไปของความโกรธ ซึ่งการเกิดขึ้นของความโกรธจะเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ตอนจะหายโกรธ กลับค่อยๆ เบาลงๆ แล้วหายไปอย่างช้าๆ เปรียบได้เหมือนกับการจุดไม้ขีดไฟ ที่เริ่มจุดเปลวไฟจะลุกสว่างเร็วมากแล้วจึงค่อยๆ มอดดับลงไป

    ผลของการเห็นความโกรธนี้เอง ที่ทำให้ผมกลายเป็นคนที่มีความโกรธน้อยลง จนการแสดงความโกรธออกทางกายมีน้อยมาก เห็นแต่ความโกรธที่เกิดอยู่ในจิตเท่านั้น เมื่อนึกถึงตอนนั้นแล้วยังรู้สึกเสียดายที่ไม่อาจเข้าใจการปฏิบัติที่ถูกได้ เพราะแม้จะเห็นความโกรธและเห็นผลของการเห็นความโกรธได้บ้างแล้ว แต่กลับไม่มั่นคงในวิธีการปฏิบัติ จึงต้องหันกลับไปทำวิปัสสนึกเอาอีกจนได้ ทั้งๆ ที่เคยถามหลวงปู่วัยแล้วว่าผมต้องฝึกอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ และหลวงปู่ก็ตอบชัดเจนแล้วว่า ไม่ต้องแล้ว ให้ดูรูปดูนามไปอย่างนี้แหละ

    ๘. สิ้นหลวงปู่วัย เกือบเอาตัวไม่รอด

    ผมปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่วัยมาจนปี ๒๕๔๑ หลวงปู่ก็ มรณภาพลงในเดือนเมษายน ก่อนหลวงปู่จะมรณภาพนั้น ผมก็ยังปฏิบัติแบบคนหลงป่า เอาแต่เดินทางที่ผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่หลวงปู่ไม่เคยที่จะเบื่อหน่ายกับการสอนศิษย์โง่คนนี้เลย อีกทั้งบางครั้งก็ยังเมตตาเล่าเรื่องที่หลายคนอยากรู้ให้ฟังอีกหลายเรื่องโดยไม่ต้องถาม เช่น เรื่องที่หลวงปู่ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่พระครูโลกอุดร หรือจะเป็นเรื่องนรกสวรรค์ก็ตาม หลวงปู่ก็จะเล่าให้ฟัง ทั้งที่เรื่องพวกนี้หากใครที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติจริงไปถามเข้า ก็จะโดนตะเพิดออกไปทุกราย เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง

    ตลอดเวลาที่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่ แม้ว่าจะยังไม่อาจจับหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องได้ แต่เมื่อย้อนไปพิจารณาดูแล้วพบว่า หลวงปู่ได้สอนให้ผมมีความคิดเห็นที่ถูกต้องมากมาย ทั้งทางโลกและทางธรรม จนผมสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ หลวงปู่วัยจึงเป็นผู้ให้การเลี้ยงดูเด็กน้อยในร่มเงาของพุทธศาสนาอย่างผมในตอนนั้น

    เมื่อสิ้นหลวงปู่วัย ผมก็เลยเคว้งคว้างหาครูบาอาจารย์ไม่ได้จนมีศิษย์หลวงปู่คนหนึ่ง ที่หลวงปู่มักกล่าวถึงเสมอๆ ว่าเข้าใจการปฏิบัติได้ดี ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นอาจารย์สอนธรรมะ ผมจึงไปร่วมศึกษาด้วย ในช่วงแรกก็เรียนการเพ่งกสิณ คนที่ไปเรียนเกือบทั้งหมดทำได้อย่างง่ายดาย แต่ผมกลับทำไม่ได้เลย แต่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาดูพบว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่น่ากลัวมากของการปฏิบัติ เพราะอาจารย์คนนี้ยิ่งสอนก็ยิ่งออกจากกรอบของพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งหากผมทำได้อย่างที่อาจารย์ท่านนี้สอน ป่านนี้ผมก็คงเป็นผู้ปฏิบัติด้วยความเห็นผิด ด้วยวิธีการที่นอกออกไปจากกรอบพระพุทธศาสนา ซึ่งนับว่าผมยังโชคดีที่ทำไม่ได้และถอนตัวออกมาได้ทัน ทำให้นึกถึงคำหลวงปู่วัยที่กล่าวไว้กับศิษย์ท่านหนึ่งว่า ไม่รู้เป็นอย่างไร พวกที่เรียนกับหลวงปู่ พออยู่ห่างจากหลวงปู่ก็มักเพี้ยนกันไปหมด ผมเลยคิดเอาเองว่า คนส่วนมากที่ไปเรียนกับหลวงปู่ มักเป็นพวกที่ชอบเรื่องอภิญญาเป็นทุนเดิม หาได้น้อยคนนักที่จะต้องการเรียนเพื่อการพ้นทุกข์ ตอนอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่ หลวงปู่ก็ยังควบคุมอบรมให้อยู่ในร่องในรอยได้ แต่พอห่างหลวงปู่และไม่มีใครคอยควบคุมก็เลยเพี้ยนได้ง่าย

    ๙. พบครูปราโมทย์ ผู้จุดประกายเจริญสติสัมปชัญญะ

    แม้จะสิ้นหลวงปู่วัยไปแล้ว ผมก็ยังคงพากเพียรหาทางพ้นทุกข์อยู่ทุกวัน แม้จะปฏิบัติแบบผิดๆ ก็ยังรู้สึกว่า วันใดไม่ได้ปฏิบัติวันนั้นเหมือนกับไม่ได้กินยาแก้โรคประจำตัว แล้วก็จะคอยสอดส่องหาครูบาอาจารย์ที่จะศึกษาการปฏิบัติต่อ โดยมีความหวังว่าสักวันต้องได้พบครูบาอาจารย์ที่จะสอนปฏิบัติต่อไปได้ ด้วยจดจำคำของหลวงปู่วัยที่เคยพูดไว้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมเขาไม่ทอดทิ้งกันหรอก

    จนวันหนึ่งราวๆ เดือนสิงหาคม-กันยายน ๒๕๔๒ บังเอิญเล่น Internet แล้วเจอกระดานสนทนาลานธรรม รู้สึกตื่นเต้นมากที่มีผู้คนมากมายมาร่วมสนทนาธรรม ก็เลยเข้าไปขอร่วมสนทนาด้วย ใหม่ๆ ก็คุยไปตามความรู้เพียงน้อยนิด แต่ก็ได้เห็นอะไรมากมายจากทั้งนักปริยัติ นักอภิธรรม และนักปฏิบัติ แต่ที่สะดุดใจมากที่สุดก็คือ กระทู้และความเห็นของคุณสันตินันท์ หรือครูปราโมทย์ เพราะอ่านแล้วถึงใจดีทีเดียว คงด้วยเพราะในระยะหลัง ผมจะสนใจการปฏิบัติมากกว่าความรู้ต่างๆ ทำให้ยิ่งอ่านก็ยิ่งมั่นใจว่า ครูนี่แหละเป็นผู้ให้คำแนะนำได้ดีที่สุด จึงได้พยายามที่จะสอบถามการปฏิบัติกับครู ซึ่งตอนนั้นครูเริ่มที่จะไม่ค่อยเข้ามาที่ลานธรรมแล้ว แต่ด้วยความเมตตาของสมาชิกลานธรรม ทำให้ผมได้ทราบวิธีติดต่อกับกับครูจนได้

    เมื่อทราบวิธีติดต่อครูแล้ว ผมจึงได้แนะนำตัวทางจดหมาย (e-mail) และขอคำแนะนำในวิธีปฏิบัติที่ผมทำอยู่ในขณะนั้นคือ ผมจะหยิบยกเอาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งขึ้นมาพิจารณาเพื่อจะแก้อารมณ์นั้นให้ได้ คำตอบที่ได้จากครูทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะครูตอบว่าที่ทำอยู่นั้นผิด ที่ถูกคือให้รู้อารมณ์ไม่ใช่ให้แก้อารมณ์ เพราะความอยากที่จะแก้อารมณ์เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะเอาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์มาดับทุกข์ไม่ได้ เท่านั้นเองครับทำให้จิตผมตื่นทันที พร้อมกับเริ่มที่จะรู้อารมณ์ไม่แก้อารมณ์ ความหนักอึ้งอยู่ในหัวมานานก็เบาลง เพราะได้คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง และในระยะเวลาใกล้ๆ กันนั้นเอง ก็ได้รู้จักกระดานสนทนาชื่อ วิมุตติ

    ๑๐. ได้รับการฝึกให้รู้ตัวจากครูครั้งแรก

    แม้จะทราบถึงวิธีการปฏิบัติจากครูทางจดหมายแล้ว แต่ด้วยความที่จิตยังไม่มีความรู้ตัว ทำให้ต้องกลับไปปฏิบัติแบบผิดๆอีกคือ ปฏิบัติแบบเพ่งและคิดเอาอีกจนได้ เป็นอย่างนี้อยู่อีก ๓-๔ เดือน เห็นว่าไม่ได้ผลแน่ จึงได้ไปพบครูด้วยตัวเองที่ศาลาลุงชิน ไปครั้งแรกไม่ได้พบจึงได้ไปอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

    เมื่อได้โอกาสจึงเข้าไปแนะนำตัวเองกับครู ครูก็ไม่รอช้าสอนผมทันทีว่า ยังรู้ตัวไม่เป็น ต้องฝึกรู้ตัวให้เป็น ทันทีที่ครูบอกผมก็พอรู้ได้ว่าจิตตื่นขึ้นมาเล็กน้อย แล้วก็เผลอบ้าง เพ่งบ้างไปตามแบบฉบับของเด็กเพิ่งหัดที่เอาแต่หลับทั้งที่ตื่นอยู่

    แต่ด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติ จึงได้พยายามทำไปตามที่เข้าใจ เมื่อเผลอไปครูก็ทักว่าเผลอไปแล้ว เมื่อเพ่งเอาครูก็ทักว่าอย่างนั้นเพ่งเอา เมื่อครูทักถึงการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ผมก็จะจดจำเอาไว้ว่า

    ถ้าทำแล้วมีอาการอย่างนั้นแสดงว่าทำผิดแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบว่าแล้วต้องทำอย่างไรจึงจะถูก จึงต้องนั่งทำไปเรื่อยๆ ในที่สุดครูก็ทักว่า ดีแล้วให้ทำไปอย่างนั้น ก็จดจำเอาไว้

    เมื่อทราบว่าปฏิบัติอย่างไรผิดปฏิบัติอย่างไรถูก ก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ (ปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ไม่เคร่งเครียด) หากทำผิดก็ให้รู้ว่าทำผิดไปแล้ว หากทำถูกก็ให้รู้ว่าทำถูกแล้ว ผมมีความเห็นว่า ตรงจุดนี้มีความสำคัญมากๆ สำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการปฏิบัติก็ไม่อาจก้าวหน้าได้ อย่างเช่นที่ผมเป็นมาก่อนหน้านี้คือ ทำผิดก็ไม่รู้ว่าผิดแถมยังคิดว่าทำถูกอีก ก็เลยเที่ยวทำผิดๆอยู่เป็นนานสองนาน แต่พอทำถูกเข้าก็กลับไม่รู้ว่าทำถูก จึงทำให้เที่ยวหาอุบายต่างๆ นานามาทำไปแบบผิดๆ อีก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าต้องไปเกิดอีกสักกี่ร้อยกี่พันชาติจึงจะเข้าถึงธรรมได้

    หลังจากพอจะรู้ด้วยตัวเองได้ว่า การปฏิบัติที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร จิตก็เริ่มมีการพัฒนาไปตามลำดับ โดยในช่วง ๓ เดือนหลังจากได้ไปพบครู ก็เริ่มรู้ตัวได้บ้างแล้ว แต่ด้วยความไม่ประสีประสาจึงต้องคอยให้ครูบอกว่า เราพอจะรู้ตัวได้แล้ว ต่อไปก็ให้เจริญสติปัฏฐานแต่ครูบอกให้หาเอาเองว่าจะเจริญสติปัฏฐานในแบบใด วันที่ครูบอกว่าผมรู้ตัวได้แล้วนั้นผมยังงงๆ อยู่ว่า เราทำมาก็ไม่เห็นจะดูจิตได้ชัดเจนเลย ทำไมครูบอกว่าเรารู้ตัวได้แล้ว จนอีกหนึ่งเดือนต่อมาจึงพอจะเข้าใจว่า ความรู้ตัวได้นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเกิดสงสัยในขณะไม่สบายว่า เราก็รู้ตัวได้แล้วแต่ทำไมความทุกข์จึงไม่เห็นจะเบาบางลง เมื่อคอยดูต่อไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่า เราพอรู้ตัวอยู่ได้แม้ร่างกายเป็นทุกข์อยู่ แต่กลับไม่เห็นว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าเราเพิ่งจะรู้ตัวได้แต่ยังรู้ไม่เป็น ถ้ารู้เป็นจะต้องเห็นว่ามีสิ่งที่ถูกรู้กับมีผู้รู้ หรือรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง พอนึกได้อย่างนี้จิตก็เริ่มเห็นว่า ความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ จึงทำให้เห็นได้ว่า เมื่อความทุกข์ทางกายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ความทุกข์ทางใจก็เบาบางลงไป

    ต่อมาจึงได้ถือหลักปฏิบัติว่า ให้รู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง แต่ก็กลัวว่าจะหลงลืมหลักนี้ไปอีก จึงได้เขียนใส่กระดาษติดไว้หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งนับว่าได้ผลดีทีเดียว เพราะในบางวันที่เราเกิดไขว้เขวออกนอกลู่ทางที่ถูกต้อง เมื่อเห็นกระดาษที่เขียนติดไว้ ก็ทำให้กลับเข้าแนวทางที่ถูกได้เร็ว หากไม่เขียนติดไว้ก็อาจจะออกนอกลู่ไปอีกหลายวันหรืออีกเป็นเดือนก็ได้

    ๑๑. ความรู้ไม่อาจช่วยให้พ้นทุกข์ได้

    ในระยะสามสี่เดือนแรกที่ได้พบครู วันหนึ่งขณะที่สนทนากับญาติมิตรท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติแล้วจิตจะแสดงความรู้ออกมามาก วันนั้นจู่ๆ ผมก็เกิดอาการจิตปลดปล่อยความเห็นผิดในเรื่องความรู้ออกไปได้ จึงได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่า ความรู้ทั้งหลายที่เกิดจากการเรียนและผ่านกระบวนการคิดเอาด้วยเหตุด้วยผลนั้น ไม่อาจนำมาใช้ในการดับทุกข์ได้เลย เพราะความรู้ก็คือความรู้ ไม่ใช่ปัญญาที่จะประหารกิเลสลงได้ ความรู้จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญในการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ นับแต่นั้นผมก็เลยไม่สนใจที่จะค้นคว้าหาความรู้ที่เกินจำเป็นอีก โดยเฉพาะในคำสมมุติบัญญัติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเลิกอ่านเลิกฟังธรรมะ หากแต่การอ่านการฟังธรรมะนั้น ก็อ่านก็ฟังไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าจะรู้เรื่องหรือไม่ ฟังแล้วอ่านแล้วก็แล้วไปไม่เก็บเอามาครุ่นคิดให้เสียเวลา สู้เอาเวลานั้นไปใช้ในการเจริญสติสัมปชัญญะไม่ได้

    ๑๒. กรอบการปฏิบัติเหลือเพียงอริยสัจจ์ ๔

    วันหนึ่งผมได้เปิดอ่านพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนหลังจากตรัสรู้ไม่นาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับอริยสัจจ์ที่พอสรุปความได้ว่า

    พระพุทธองค์ทรงรู้อริยสัจจ์ใน ๓ ลักษณะคือ

    รู้ว่า อะไรคือทุกข์ (ทุกข์)

    รู้ว่า อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)

    รู้ว่า อะไรคือการพ้นจากทุกข์ (นิโรธ)

    รู้ว่า อะไรคือทางให้พ้นจากทุกข์ (มรรค)

    (ผมเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ควรรู้ในด้าน ปริยัติ)

    รู้ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้

    รู้ว่า สมุทัยควรละ

    รู้ว่า นิโรธควรทำให้แจ้ง

    รู้ว่า มรรคควรเจริญให้มาก

    (ผมเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ควรรู้ในด้าน ปฏิบัติ)

    รู้ว่า ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว

    รู้ว่า สมุทัยได้ละแล้ว

    รู้ว่า นิโรธได้ทำให้แจ้งแล้ว

    รู้ว่า มรรคได้เจริญให้มากแล้ว

    (ผมเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ควรรู้ในด้าน ปฏิเวธ)

    เมื่อเกิดความเห็นต่ออริยสัจจ์ดังนี้แล้ว การปฏิบัติก็อยู่ในกรอบของอริยสัจจ์ ทั้งในด้านปริยัติและโดยเฉพาะด้านการปฏิบัติหากสิ่งใดอยู่นอกกรอบอริยสัจจ์ผมก็จะไม่สนใจ สำหรับด้านปฏิเวธนั้น ผมเข้าใจแล้วว่า การศึกษาและปฏิบัติตามหลักของพุทธศาสนานั้น เราทำเพียงสองด้านเท่านั้นคือด้านปริยัติกับด้านปฏิบัติ โดยเน้นด้านปฏิบัติเป็นหลัก ส่วนของด้านปฏิเวธเราไม่ต้องทำเพราะปฏิเวธนั้นจะเป็นผลที่จะเกิดจากการปฏิบัตินั่นเอง

    ๑๒. ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน

    ในการปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน หรือเจริญสติสัมปชัญญะนั้นผมใช้วิธีการปฏิบัติไปพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนหลับไม่ว่าจะอาบน้ำ ทานอาหาร ทำงาน ยืน เดิน นั่ง พูด คิด ขับถ่าย ฯลฯ ซึ่งสาเหตุที่ผมเจริญสติปัฏฐานในลักษณะนี้ก็เพราะว่า ผมเป็นคนที่มีจิตไม่ยอมอ่อนลงให้กับการปฏิบัติที่เป็นรูปแบบตายตัว เช่นนั่งทำจังหวะแบบหลวงพ่อเทียนก็ไม่ได้ นั่งเคาะนิ้วก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ตามรู้ลมหายใจก็ไม่ได้ ทำทีไรจิตเป็นอันต้องหนักตึง มีโมหะครอบงำ ฟุ้งซ่านและง่วงนอนเสียทุกที และที่แย่ที่สุดก็คือการปฏิบัติแบบหลับตา เพราะจะโดนโมหะและความฟุ้งซ่านเล่นงานเอาอย่างรุนแรง (ฝืนทำมาร่วม ๑๐ ปีก็ไม่ก้าวหน้าเลย) แต่พอฝึกรู้ตัวและเจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน จิตกลับอ่อนลงได้โดยง่าย

    นอกจากนี้ผมยังปฏิบัติด้วยความพยายามทำอย่างเต็มกำลังเท่าที่จะทำได้ หากทำเต็มกำลังแล้ว ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น ผมจะไม่พยายามทำให้เหมือนครูบาอาจารย์ทุกอย่าง ผมจะให้จิตเขาเป็นไปตามที่ควรเป็น แล้วคอยรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางไปเรื่อยๆ

    ๑๓. ตัวเราก็ถูกรู้เช่นกัน

    เมื่อผ่านการเจริญสติสัมปชัญญะ ด้วยการรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางได้ประมาณเกือบ ๘ เดือน ความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่จึงได้ปรากฏชัดขึ้น ในตอนนั้นจิตก็ยังเห็นผิดไปว่าตัวเรามีอยู่ แต่ด้วยการยึดในหลักการปฏิบัติว่า ให้รู้สิ่งปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง จึงได้เฝ้ารู้อยู่ทุกครั้งที่มีตัวเราเกิดขึ้น ได้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของตัวเรานั้นเอง เมื่อเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของตัวเราหลายครั้งเข้า ก็ได้เห็นถึงสภาวะที่จิตคลายจากการยึดอยู่ในตัวเราแล้วไปยึดอารมณ์อื่นแทน จึงทำให้เห็นว่าความรู้สึกว่าตัวเราก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ และเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าแท้ที่จริงแล้ว ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรานั้น เป็นเพียงสิ่งๆ หนึ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ แต่อย่างใด

    ๑๔. จิตเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

    หลังจากเห็นว่าตัวเรากลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ไม่นาน ในตอนเย็นของวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๓ หลังจากเลิกงานแล้ว ได้ไปรอรับภรรยากลับบ้าน ขณะที่นั่งรออยู่นั้นรู้สึกเหนื่อยเพราะทำงานมาทั้งวัน จึงได้หลับตาพักด้วยความรู้ตัวอยู่ ในขณะนั้นได้นึกขึ้นมาว่าเพียงแค่ละความเห็นผิดไปได้เท่านั้นก็เป็นพระโสดาบันได้ แล้วจิตก็เกิดการรวมลงไปเองอย่างรวดเร็ว และรู้ถึงสภาวะที่จิตหลุดพ้นได้แวบหนึ่ง แล้วก็กลับถูกห่อหุ้มเช่นเดิมอีก จึงได้เข้าใจชัดเจนถึงสภาวะของจิตที่หลุดพ้นว่า ที่จริงก็คือ จิตที่ไปรู้อยู่แต่อารมณ์นิพพาน ไม่เที่ยวไปรู้อารมณ์อื่นๆ ที่เป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ความสงสัยในมรรคผลนิพพานว่าเป็นอย่างไรกันแน่จึงเป็นอันสิ้นสุดลง ความเห็นว่ากายและจิตเป็นตัวเราก็หมดไป มีแต่ความเห็นว่าทั้งกายและจิตนั้นไม่ใช่ตัวเรา และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จิตนี้ยังมีกิเลสอยู่อีกมากมาย ยังมีกิจที่ต้องทำอีกมากกว่าจะพ้นไปเสียจากทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง และไม่มีทางอื่นใดที่จะนำไปให้พ้นจากทุกข์ได้ นอกจากทางเจริญสติปัฏฐานของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น

    นับแต่วันนั้นก็รู้ได้ถึงสภาวะจิตที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้เริ่มประจักษ์ถึงการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์ที่น้อยลงไปกว่าเดิม มีความเห็นชัดเจนอยู่ว่า ทั้งกายและจิตนี้ไม่ใช่เรา แม้สามารถรู้ได้ถึงความเบาสบายของจิต ที่เหมือนกับได้ปลดปล่อยของที่หนักลงไปได้บางส่วน แต่จิตก็ยังยึดอยู่กับรูปและนามอย่างเหนียวแน่น จึงมีความมุ่งมั่นที่จะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป ตามรอยพระพุทธองค์และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา และได้เรียนรู้ธรรมะจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมาจนท ราบเท่าทุกวันนี้

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะจดจำได้ จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟัง หากอ่านแล้วไม่ถึงใจอย่างที่คาดหวังไว้ ก็ต้องขออภัยด้วยครับ

    ความเห็นที่ ๑๑ โดยคุณ ปราโมทย์ วัน เสาร์ ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๓ ๑๙:๓๓:๕๘

    สาธุครับ คุณสุรวัฒน์ ประสบการณ์ของนักปฏิบัติมีคุณค่าควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง เพราะแลกมาด้วยความยากลำบากอย่างยาวนาน ไม่ง่ายเลย กว่าแต่ละคนจะเดินได้ตรงทางของสติปัฏฐานแต่ถ้าเดินตรงทางแล้วตั้งใจทำไป ก็ไม่ยากเลยที่จะประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น เพราะสติปัฏฐานนี้แหละ คือสิ่งอัศจรรย์ที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้พวกเราแล้ว

    ความเห็นที่ ๓๔ โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๓ ๐๘:๒๕:๒๐

    คุณหมอ Lee ถามคำถามอีกข้อหนึ่งว่า "ถามต่อเลยครับ จะให้สติแมวอ้วนตื่นไวๆ ทรงนาน ควรได้สมาธิลึกๆ มาช่วยประคองไหมครับ หรือไม่เกี่ยวกันครับ"

    ขอเรียนว่าสัมมาสมาธิ เป็นเพียงเครื่องช่วยให้สติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา หมายถึงสัมมาสมาธิทำให้จิตพ้นจากอำนาจของนิวรณ์ และเป็นกลางต่ออารมณ์ หากถูกนิวรณ์ครอบงำ จิตจะมีอคติและไม่เป็นกลางในการรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง สรุปว่า สัมมาสมาธิ ทำให้จิตมีคุณภาพที่จะ รู้ ได้ถูกต้อง และว่องไวด้วย เพราะสิ่งใดแปลกปลอมเข้ามาในจิตนิดเดียว สติก็จะรู้ทันอย่างรวดเร็ว

    แต่การทรงนานนั้น ผมไม่แนะนำให้พยายามทรงความรู้ตัวให้นานๆ เพราะความพยายามนั้นเอง จะทำให้เกิดการ จงใจ เสแสร้ง ดัดจริตรู้ นักปฏิบัตินั้น อย่าไปนึกถึงเรื่องที่จะให้จิตรู้ตัวต่อเนื่อง ได้เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เลยครับ เพราะการปฏิบัติ เราจะดูกันเป็นขณะๆ ไปเท่านั้นเอง ว่าขณะนี้รู้ตัวหรือเผลอ ขณะนี้มีสติ หรือขาดสติ ขณะใดมีสติ ขณะนั้นกำลังปฏิบัติอยู่ ขณะใดขาดสติ ขณะนั้นไม่ได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติผิด ไม่ใช่พูดว่า ชั่วโมงนี้รู้ตัว หรือวันนี้รู้ตัว ชั่วโมงต่อมา หรือวันต่อมา ไม่รู้ตัว

    ดังนั้นเมื่อเผลอไป แล้วเกิดรู้ตัวว่าเผลอ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว

    เมื่อเพ่ง แล้วเกิดรู้ตัวว่าเพ่ง ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว

    เมื่อมีราคะ แล้วเกิดรู้ตัวว่ามีราคะ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว

    เมื่อโทสะ แล้วเกิดรู้ตัวว่ามีโทสะ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว

    เมื่อมีโมหะ แล้วเกิดรู้ตัวว่าโมหะ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว

    ทีนี้นักปฏิบัติที่รู้ตัวได้เกือบทั้งหมดพากันมาตายตรงนี้ครับ คือพอรู้ว่าเผลอ เพ่ง หรือมีกิเลสตัณหาแล้ว แทนที่จะรู้แล้วหยุดอยู่เพียงนั้นกลับเกิดความอยากตามมาทันที คืออยากให้ความรู้ตัวนั้นต่อเนื่องยาวนาน แล้วไม่รู้ทันว่า ความอยากเกิดขึ้นแล้ว ผลก็คือ รู้ตัวได้วับเดียว ตอนที่รู้ทันจิตว่าเผลอ เพ่ง ฯลฯ ถัดจากนั้นก็หลงอีก คือถูกตัณหาครอบงำเอาโดยไม่รู้ตัว

    การมีสติแต่ละครั้ง ก็เหมือนเราเอาปลายดินสอกดจุดๆ หนึ่งลงบนกระดาษ ถ้านานๆ จะมีสติสักที จุดก็อยู่ห่างๆ กัน แต่ถ้ามีสติบ่อยๆจุดก็ต่อกันกลายเป็นเส้น ความจริงเส้นไม่มีอยู่ฉันใด สติที่ต่อเนื่องก็ไม่มีอยู่จริงฉันนั้น คือสติมันเกิดดับพร้อมกับจิตเป็นขณะๆ ไปเท่านั้น แต่ถ้าจิตเกิดมาแล้ว มีสติกำกับอยู่บ่ อยๆ เข้า ผู้ปฏิบัติก็จะรู้สึกว่าตนมีสติอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว

    ผมจึงกล่าวกับพวกเราบ่อยๆ ว่า เผลอบ่อยๆ ดีกว่าเผลอวันละครั้ง คือเผลอตั้งแต่ตื่นจนหลับ เพราะพอรู้ว่าเผลอคราวหนึ่ง ก็คือมีสติคราวหนึ่ง ถ้ารู้ตัวว่าเผลอถี่ยิบ ก็คือมีสติถี่ยิบ

    ถ้าจิตมีฉันทะ (ไม่ใช่เรามีฉันทะ) ที่จะคอยรู้ สติก็จะเกิดบ่อยๆ เป็นขณะๆ ไป แต่ถ้าจิตไม่มีฉันทะคือไม่พอใจที่จะปฏิบัติ มีแต่ เรา พยายามเคี่ยวเข็นจะให้จิตเขาตั้งใจปฏิบัติ แบบนั้นการปฏิบัติก็กระโดกกระเดกไปเรื่อยๆ ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า จะปลูกฉันทะให้จิตได้อย่างไร เพราะผมเกิดมาชาตินี้ จิตเขามีฉันทะที่จะปฏิบัติของเขาเองอยู่แล้ว เคยได้ยินว่า ผู้ใดมีปัญญา เห็นโลกมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน ก็จะมีฉันทะที่จะออกจากกองทุกข์ แต่ถ้าจิตได้รับการอบรมจนเป็นนิสัยแล้ว จิตเขาจะขยันปฏิบัติ โดยไม่ต้องรอให้ถูกความทุกข์อันสาหัสเล่นงานเสียก่อน

    แต่ถ้าผู้ใดรู้ตัวได้ชำนิชำนาญขึ้นแล้ว มีเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติต่อเนื่อง ได้แก่การเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง โดยการหาอารมณ์ปรมัตถ์มาเป็นวิหารธรรม หรือเครื่องอยู่ที่ถนัดอันหนึ่ง เพื่อให้จิตมีสติคอยเฝ้าระลึกรู้ไว้ให้ต่อเนื่อง พอเผลอออกจากสิ่งนั้นปุ๊บก็รู้ปั๊บโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ จะต้องเตรียมจิตให้มีคุณ ภาพเสียก่อน ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือรู้ตัวไม่เป็น จะรู้ปรมัตถธรรมไม่ได้ ไปลงมือทำสติปัฏฐานเข้า ก็จะกลายเป็นการทำสมถะทุกคราวไป

    ความเห็นที่ ๓๗ โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๓ ๑๐:๑๔:๓๕

    ประสบการณ์ของ คุณสุรวัฒน์ มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจมากครับ คือเรื่องที่ คุณสุรวัฒน์ ไปเห็นความโกรธเข้า ก่อนที่จะเจริญสติเป็น แล้ว คุณสุรวัฒน์ ก็บ่นว่า ตอนนั้นถ้ารู้ว่าทางอยู่ที่ตรงนี้ คงไม่ต้องเสียเวลาไปแสวงหาทางอีกนาน ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดกับนักปฏิบัติหลายคนเชียวครับ

    ท่านแรกสุดก็คือพระศาสดาของพวกเรานี้เอง เมื่อวัยเด็ก ท่านถูกอุ้มไปนอนใต้ต้นไม้ ในขณะที่พระราชบิดาไปประกอบพิธีแรกนาขวัญ แล้วท่านก็เจริญอานาปานสติของท่านเอง หลังจากนั้นท่านก็ลืมเรื่องนี้ แล้วเที่ยวแสวงหาแนวทางปฏิบัติไปอย่างยากเย็นจนในที่สุดท่านก็กลับมานึกถึงเรื่องนี้ แล้วเจริญอานาปานสติ จนสำเร็จเป็นพระศาสดาองค์เอกของโลก

    มาถึงนักปฏิบัติร่วมสมัย ก็มีหลายท่านที่มีประสบการณ์ชนิดนี้ ผมเองเมื่ออายุ ๑๐ ขวบก็เคยดูจิตเมื่อเกิดความตกใจที่ไฟไหม้ใกล้บ้าน หลังจากนั้นก็ลืมแบบเดียวกันกับคุณสุรวัฒน์ จนมาปฏิบัติแล้ว จึงนึกขึ้นได้ว่านี่ของเคยทำมาแล้ว ล่าสุด คุณเก๋ ก็เพิ่งมาเล่าให้ผมฟังว่า เพิ่งจำได้ว่า เคยเจริญสติมาแล้วตั้งแต่ตอนเป็นเด็กอยู่

    สรุปแล้ว สิ่งที่พวกเราฝึกหัดกันอยู่นี้ ไม่หายไปไหนหรอกครับหากชาตินี้บางคนยังไม่เห็นผล ก็จะฝังเป็นนิสัยต่อไปชาติหน้า คือจิตพร้อมที่จะตื่น พร้อมที่จะเจริญสติสัมปชัญญะต่อไปตามทางที่ถนัดเมื่อถึงเวลา และโอกาสที่เหมาะสมของตน

    ที่มา https://www.bloggang.com/m/mainblog.php?id=pat-naja&month=30-06-2009&group=3&gblog=17
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 ตุลาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...