ประวัติอาจารย์สายพระป่าธรรมยุติ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 23 ธันวาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย

    พอออกพรรษาแล้วคณะศรัทธาญาติโยมที่เคยอุปัฎฐากรักษาท่านก็พากันไปอาราธนานิมนต์ท่านลงมา และอาราธนาท่านให้โปรดเมตตาสั่งสอนตามหมู่บ้านแถบอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ท่านจำต้องลงมาทั้งที่อาลัยเสียดายสถานที่แห่งนั้น ไม่คิดจะจากไปไหนง่าย ๆ

    เมื่อลงมาอบรมสั่งสอนชาวบ้านพอสมควรแล้ว ได้โอกาสท่านก็ออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานไปตามอัธยาศัย โดยข้ามไปทางฝั่งแม่น้ำโขงของประเทศลาวบ้าง ข้ามมาฝั่งไทยเราบ้าง แล้วเที่ยวบำเพ็ญอยู่แถบอำเภอบึงกาฬ อำเภอโพนพิสัย ซึ่งมีป่ามีเขามาก ที่นั้นเรียกว่าดงหม้อทอง และมีทำเลดีเหมาะกับการบำเพ็ญอยู่หลายแห่ง มีหมู่บ้านที่ไปตั้งใหม่อยู่ไม่กี่หลังคาเรือน เขาอาราธนาท่านให้อยู่จำพรรษาเพื่อโปรดเขา ซึ่งเป็นสถานที่สบกับอัธยาศัย ท่านจึงตกลงจำพรรษาที่นั่น ตอนท่านพักบำเพ็ญธรรมอยู่ในภูเขาเขตอำเภอโพนพิสัยนั้น ท่านว่าท่านเพลิดเพลินรื่นเริงไปกับสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ด้วยความเมตตาเขามาก มีไก่ป่า ไก่ฟ้า นกนานาชนิด มีนกเงือก นกยูง เป็นต้น และเม่น อีเห็น อีเก้ง หมู กวาง ลิง ค่าง บ่าง ชะนี หมาป่า เสือโคร่ง เสือดาว ช้าง กระทิง วัวแดง ซึ่งแต่ละชนิดมีมากมายผิดกับที่ทั้งหลาย เที่ยวมาเป็นฝูง ๆ โขลง ๆ ทั้งกลางวันกลางคืนจะได้ยินเสียงสัตว์เหล่านั้นส่งเสียงร้องลั่นสนั่นป่า ตามวาระของเขาอยู่เสมอ บางวันเวลาออกไปบิณฑบาต ก็ยังพบเสือโคร่งใหญ่ เดินฉากหน้าท่านไป อย่างสวยงามน่าดู โดยไม่ห่างไกลท่านเลย ด้วยความองอาจและสง่าผ่าเผย ตามนิสัยของมัน ท่านว่าขณะที่มันเดินฉากหน้าท่านไป ซึ่งเป็นที่โล่งพอสมควร ดูการก้าวเดินของมันรู้สึกสวยงามมาก ขณะที่พบกันทีแรก มันชำเลืองดูท่านนิดเดียวก็เดินต่อไป โดยไม่มองกลับมาดูท่านอีกเลย ดูลักษณะท่าทางมันก็ไม่กลัวท่านนัก แต่อาจระวังตัวอยู่ภายในตามนิสัยของสัตว์ที่มีสติดี และมีความระวังตัวไม่ค่อยพลั้งเผลอให้กับอะไรง่าย ๆ เฉพาะท่านเองก็ไม่นึกกลัวมัน เพราะเคยได้เห็นมันมาบ้าง และเคยได้ยินเสียงมันอยู่เสมอจนชินชาไปเสียแล้วเวลาพักอยู่ในที่ต่าง ๆ เรื่อยมา ซึ่งโดยมากมักมีสัตว์พรรค์นี้ประจำอยู่เสมอในที่บำเพ็ญนั้น ๆ จึงไม่นึกกลัว

    คืนวันหนึ่งท่านกำลังนั่งอบรมกรรมฐานแก่พระที่จำพรรษาด้วยกันราวสามสี่องค์ ท่านว่าได้ยินเสียงนักเลงโตสามตัว ลายพาดกลอนดังกระหึ่ม ๆ ขึ้นข้าง ๆ บริเวณที่พักแห่งละตัว จากนั้นก็ได้ยินเสียงคำรามขู่เข็ญกันบ้าง เสียงกัดกันบ้างแล้วก็เงียบหายไป เดี๋ยวก็ได้ยินเสียงขู่เข็ญและกัดกันขึ้นอีกข้าง ๆ ที่พักนั่นแล ทีแรกได้ยินเสียงมันเล่นและกัดกันอยู่ข้างนอกบริเวณที่พัก นึกว่าจะพากันหนีไปที่อื่นหายเงียบไปแล้ว เพราะเสียงสงบเงียบไปพักหนึ่ง แต่ที่ไหนได้จากการหายเงียบไปได้พักหนึ่งเท่านั้น ประมาณสามทุ่มก็ชักชวนกันเข้ามาอยู่ใต้ถุนบรรณศาลาเล็ก ๆ ที่พระกำลังนั่งสมาธิฟังการอบรมธรรมอยู่ ซึ่งสูงประมาณเมตรกว่านิดหน่อยเท่านั้น และส่งเสียงกระหึ่มคำรามและกัดกันอยู่ใต้ถุนศาลาเล็ก ๆ นั้น จนท่านต้องตะโกนบอกว่า เฮ้ย ! สามสหาย อย่าพากันส่งเสียงอื้ออึงนักซิ พระท่านกำลังเทศน์และฟังธรรมกัน เดี๋ยวเป็นบาปตกนรกหลุมฉิบหายกันหมดนะ จะว่าไม่บอก เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่เอ็ดตะโรโฮเฮกันนี่นา จงพากันไปเที่ยวร้องครางที่อื่น ที่นี่เป็นวัดของพระที่ท่านชอบความสงบ ไม่เหมือนพวกแก ไปเสีย พากันไปร้องที่อื่นตามสบาย ไม่มีใครไปยุ่งกับพวกแกหรอก ที่นี่เป็นที่พระท่านอยู่บำเพ็ญธรรม ท่านจึงห้ามไม่ให้พวกแกส่งเสียงอื้ออึงนัก

    พอได้ยินเสียงพระท่านร้องบอกก็พากันสงบอารมณ์ไปพักหนึ่ง แต่ยังพอได้ยินเสียงเกี้ยวพาราสีกันซุบซิบอู๋อี๋เบา ๆ อยู่ใต้ถุนศาลา อันเป็นลักษณะบอกกันว่า พวกเราอย่าส่งเสียงดังกันนักซิ พระท่านรำคาญและร้องบอกมานั่นไงล่ะ ทำเสียงเบา ๆ หน่อยเถอะเพื่อน เดี๋ยวเป็นบาปขี้กลากขึ้นหัวนะ แล้วก็หยุดไปพักหนึ่ง ต่อไปก็มีเสียงครวญครางและกัดกันขึ้นอีก ไม่ยอมหนีไปที่อื่นตามคำท่านบอก และพากันเหมาใต้ถุนบรรณศาลาเป็นที่เล่นสนุกกันตั้งแต่หัวค่ำจนสองยาม พระที่นั่งทำสมาธิภาวนากันบนศาลาหลังจากฟังการอบรมธรรมแล้ว ก็ทำด้วยความไม่สนิทใจ เพราะกลัวเสือจะพากันโดดขึ้นมาภาวนาด้วย เนื่องจากขณะนั้นเสือโคร่งใหญ่สามตัวก็ยังส่งเสียขู่เข็ญคำรามและกัดกันอยู่ใต้ถุนศาลานั้นด้วย จนถึงหกทุ่มจึงเลิกจากกันไป พระก็ลงไปที่พักของตน เสือก็เข้าป่าไป

    คืนนั้นเป็นความประหลาดเป็นพิเศษนับแต่เที่ยวธุดงคกรรมฐานมาหลายปีและเคยเที่ยวไปสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งหนตำบลหมู่บ้านและป่าเขาต่าง ๆ มากต่อมาก แต่ไม่เคยมีสัตว์เสือมาตีสนิทมิตรรักกับพระ ราวกับเคยเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายผู้ฝากเป็นฝากตายกันมานาน เพิ่งมาพบในคืนวันนั้นเอง

    ตามปกติเสือเป็นสัตว์กลัวคนตามสัญชาตญาณ แม้จะเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ ทำให้คนขยาดครั่นคร้ามอยู่บ้างกว่าสัตว์อื่น ๆ แต่เสือย่อมกลัวและหลบซ่อนคนมากกว่า คนจะกลัวเสือและหาที่หลบซ่อน แต่เสือสามตัวนี้นอกจากไม่กลัวคนแล้ว ยังพากันมาแอบยึดเอาให้ถุนศาลาหลังเล็กที่พระยังชุมนุมกันอยู่ข้างบน เป็นที่เล่นสนุกโดยไม่คิดกลัวพระซึ่งเป็นคนเหมือนมนุษย์ทั้งหลายเลย จึงเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่สัตว์ไม่เคยรู้เรื่องกับศีลธรรมเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย แต่กิริยาที่เขามาตีสนิทสนมกับพระนั้น ราวกับเขาก็เป็นผู้หนึ่งที่ทราบศีลธรรมดี และปฏิบัติศีลธรรมเช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลายด้วย จึงไม่แสดงท่าทางให้พระท่านกลัว นอกจากเขาแสดงต่อพวกเขาเอง ซึ่งก็ทราบกิริยาท่าทางของกันและกันอยู่แล้ว ท่านว่า

    ฟังท่านเล่าแล้วขนลุก กลัวบ้าอยู่คนเดียวทั้งที่เรื่องก็ผ่านไปนานแล้ว เรื่อของคนไม่เป็นท่าก็เป็นอย่างนี้เอง แม้ท่านแสดงเรื่องต่าง ๆ อันเป็นคติธรรมให้ฟังก็ตาม แต่คนไม่เป็นท่าย่อมไม่ยอมฟังเพื่อยึดเป็นคติได้เลย แต่จะดันไปเฉพาะเส้นทางสายไม่เป็นท่าของตนนั่นและ ดังผู้เขียนแสดงความกลัวที่น่าอับอายต่อหน้าท่าน ในเวลาฟังคำบอกเล่านั่นแล นอกจากนั้นยังมาประกาศขายความขี้ขลาดของตัวในหนังสือให้ท่านผู้อ่านหัวเราะเขาอีก ซึ่งนับว่าเลวพอใช้ อ่านแล้วกรุณาระวังอย่าให้เรื่องทำนองนี้แทรกสิงเข้าไปสู่จิตใจได้ จะกลายเป็นคนขี้ขลาดไม่เป็นท่าไปอีกหลายคน

    ท่านเล่าว่า คืนวันนั้นพระที่นั่งฟังการอบรมและทำสมาธิภาวนาต่อไปหลังจากการอบรมแล้ว ต่างมีความตื่นเต้นตกใจและตาตั้งหูกางไปตาม ๆ กันที่ได้ยินอาจารย์ใหญ่ทั้งสามตัวมาให้การอบรม ช่วยท่านอาจารย์อยู่ที่ใต้ถุน ในลักษณะแผลงฤทธิ์เจือกับความสนุกของเขา ทำเอาพระนั่งภาวนากลัวตัวแข็งไปตาม ๆ กัน จิตไม่อาจส่งไปนอกลู่นอกทางได้ เพราะกลัวอาจารย์ใหญ่ทั้งสามจะพากันโดดขึ้นมาให้โอวาทบนศาลาเล็กด้วยท่าทางต่าง ๆ แต่ก็ดีและน่าชมสัตว์สามตัวที่ไม่แสดงโลดโผนเกินกว่าเหตุ อุตริโดดขึ้นบนศาลาในเวลานั้น ยังรู้จักฐานะของตัวของท่านบ้าง ไม่ก้าวก่ายหน้าที่อันควรแก่ภาวะของตน แสดงเพียงเบาะ ๆ พอหอมปากหอมคอแล้วก็เลิกรากันไป นับแต่วันนั้นผ่านไปแล้วก็ไม่เห็นเขากลับมาอีกเลย

    ส่วนสถานที่และบริเวณที่พระอาศัยอยู่นั้น ก็คือทำเลเที่ยวของสัตว์จำพวกนี้และสัตว์อื่น ๆ เราดี ๆ นี่เอง ไม่เว้นแต่ละคืนต้องมีจำพวกใดจำพวกหนึ่งเข้ามาจนได้ เพราะที่นั้นเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าทุกจำพวก เนื่องจากป่าและเขาแถบนั้นกว้างขวางมาก คนเดินผ่านเป็นวัน ๆ ก็ไม่พ้น สัตว์ชนิดต่าง ๆ ดังที่เขียนผ่านมาจึงมีมาก พวกช้างเป็นโขลง ๆ หมูป่าเป็นฝูง ๆ ซึ่งแต่ละโขลง ละฝูง มีจำนวนมากมายและไม่สู้จะกลัวผู้อื่นมากนัก
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย

    ปีท่านจำพรรษาที่นั้น อุบายต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยสม่ำเสมอ และต้องคอยเตือนพระเสมอไม่ให้ประมาทในการรักษาธุดงควัตร เพราะอยู่ในท่ามกลางสิ่งที่ควรระวังหลายอย่างต่าง ๆ กัน โดยอาศัยธุดงควัตรเป็นเส้นชีวิตจิตใจ มีธรรมวินัยเป็นที่ฝากเป็นฝากตาย ใจจึงอยู่เป็นสุข ไม่หวาดเสียวสะดุ้งกลัวต่าง ๆ การขบฉันก็น้อยเพียงเยียวยาธาตุขันธ์ไปวัน ๆ เท่านั้น เพราะศรัทธาญาติโยมมีน้อยและเป็นบ้านเพิ่งตั้งใหม่มีไม่กี่หลังคาเรือน ยังไม่เป็นหลักฐานมั่นคง และเป็นความมุ่งหมายของท่านผู้หนักแน่นในธรรมะ จึงพึงฝึกฝนอดทนเพื่อธรรมความอยู่สบายทางภายใน จึงไม่กังวลที่อยู่อาศัย อาหารบิณฑบาตให้มากไป อันจะเป็นอุปสรรคต่อความเพียร

    ยาแก้ไข้ก็คือความอดทน ต่อสู้ด้วยความเพียรทางสมาธิภาวนา โดยถือเอาสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ เป็นเพื่อน และสักขีพยานว่าเขาก็มิได้เกิดมากับหยูกยาชนิดต่าง ๆ และคลอดที่โรงพยาบาลมีหมอและนางพยาบาลคอยรักษาผดุงครรภ์ แต่เขายังเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ สืบต่อกันมาได้เต็มป่าเต็มเขา โดยไม่แสดงความโศกเศร้าเสียใจ ว่าตนขาดการบำรุงรักษาด้วยหมอ ด้วยยา และนางพยาบาลตลอดเครื่องบำรุงต่าง ๆ

    ส่วนพระเป็นมนุษย์ชาติและเป็นศากยบุตรพุทธชาติศาสดาองค์ลือพระนามสะเทือนทั่วไตรภพว่า เป็นผู้ทรงเรียนจบคัมภีร์ไตรภูมิ ด้วยพระขันติวิริยะ พระปัญญาปรีชาสามารถในทุกทาง ไม่มีคำว่าจนตรอกอ่อนแอท้อถอย แต่พระเราจะมาถอยหลังหลั่งน้ำตา เพราะความทุกข์ลำบาก เพียงการเจ็บไข้ได้ป่วยอันเป็นของธรรมดาแห่งขันธ์เท่านี้ ก็ต้องเป็นผู้ขาดทุนล่มจมจะนำตนและศาสนาไปไม่ตลอด นอกจากต้องเป็นผู้อาจหาญ อดทนต่อสภาพความมีความเป็น ความสัมผัสทั้งหลายด้วยสติปัญญาหยั่งทราบไปตามเหตุการณ์ที่มาเกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีทางเพื่อเอาตัวรอดหวังจอดในที่ปลอดภัยได้

    จิตเมื่อได้รับการอบรมในทางที่ถูกย่อมมีความรื่นเริงในธรรม พอใจประคองตนไปตามวิถีแห่งมรรคและผลไม่มีการปลีกแวะ ไม่สร้างความอับจนไว้ทับถมตัวเอง ปฏิปทาก็สม่ำเสมอไม่ท้อถอยน้อยใจว่าตนขาดที่พึ่งทั้งภายนอกภายใน มีใจกับธรรมเป็นเครื่องชโลมหล่อเลี้ยงให้เกิดความอบอุ่นเย็นใจ อยู่ที่ใดไปที่ใด ก็เป็นสุคโต แบบลูกศิษย์ตถาคต ไม่แสดงความอดอยากขาดแคลนในทางใจ พระธุดงคกรรมฐานที่มุ่งต่อธรรม ท่านไปและอยู่โดยอาการอย่างนี้ ท่านจึงอยู่ได้ไปได้ ยอมอดยอมทนความลำบากหิวโหยได้อย่างสบายหายห่วงกับสิ่งทั้งปวง มีธรรมเป็นอารมณ์ของใจ

    เรื่องสัตว์ต่าง ๆ ที่ชอบมาอาศัยพระ ท่านผู้อ่านกรุณาคิดว่าจะเป็นความจริงได้เพียงไรบ้าง แต่ก่อนคิดเรื่องสัตว์ป่ากรุณาคิดเรื่องสัตว์บ้านก่อน ที่ชอบเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของท่านผู้มีเมตตาจิต และเข้าไปอาศัยวัดพออยู่รอดปลอดภัยไปในวันหนึ่ง ๆ สุนัขและนกเป็นต้นที่ชอบเข้าไปอาศัยวัดบางวัด จนแทบไม่มีที่และต้นไม้ให้สัตว์เหล่านี้อาศัย เพราะมีมามากด้วยกัน อันดับต่อไปค่อยคิดไปถึงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ที่มักเข้าไปเที่ยวป้วนเปี้ยนและอาศัยอยู่ตามสถานที่และวัดที่พระธุดงค์ท่านพักอยู่ ดังที่เขียนผ่านมามากพอดู ทั้งประวัติท่านอาจารย์มั่นและปฎิปทาพระธุดงค์สายของท่านอาจารย์มั่น ซึ่งมีเรื่องสัตว์มาอาศัยพระลงแฝงมาเสมอ ๆ ตามประสบการณ์ที่ได้รับทราบมาเป็นความจริง จึงเป็นเรื่องน่าคิดในแง่ธรรมอันเป็นหลักธรรมชาติให้ความร่มเย็นและเป็นธรรมแก่สัตว์โลกทุกชาติทุกภาษา โดยที่สัตว์ทุก ๆ จำพวกไม่จำเป็นต้องทราบว่าธรรมคืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่แสดงออกให้สัตว์ยินดีรับกันทั่วโลกไม่มีใครรังเกียจนั้น คือธรรมโดยธรรมชาติ ธรรมนั้นแสดงอาการความสงบสุข ความร่มเย็น ความไว้วางใจ ความมีแก่ใจ ความเมตตา ความเอ็นดูสงสาร ความมาเถิดอยู่เถิดไม่เป็นภัยแน่นอนเป็นต้น

    การแสดงออกแห่งกระแสธรรมเพียงเท่านี้ สัตว์ทุกจำพวกชอบและยอมรับกันทันที โดยไม่ต้องมีโรงเรียนไรสอนเขาเลย เพราะจิตใจกับกระแสธรรมเป็นของคู่ควรกันยิ่งกว่าอำนาจราชศักดิ์ใด ๆ ซึ่งเป็นสิ่งปรุงแต่งและเสริมกันขึ้น ย่อมสลายไปตามเหตุการณ์ไม่แน่นอน ดังนั้นสัตว์แม้จะไม่เคยทราบว่าธรรมะคืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่ชอบและยอมรับโดยธรรมชาติสัตว์ย่อมแสวงหาเอง ดังสุนัขเข้าไปอาศัยวัด สัตว์ป่าเข้าไปอาศัยพระธุดงค์ เพราะธรรมคือความเย็น ความไว้วางใจเป็นต้น ที่สัตว์เข้าใจว่ามีอยู่ในที่นั้น จึงเสาะแสวงหาไปตามประสา แม้แต่ผู้ไม่เคยสนใจกับธรรมเลย ยังรู้จักสถานที่ที่ไม่มีภัย และชอบไปเที่ยวสนุกเฮฮาในที่เช่นนั้นแต่โบราณกาลมาถึงปัจจุบัน เพราะไปทำที่อื่นไม่ปลอดภัยเหมือนที่เช่นนั้น เพียงเท่านี้ก็พอทราบได้ว่า ธรรมและสถานที่ผู้บำเพ็ญธรรมเป็นที่ไว้ใจแก่สัตว์และมนุษย์ทั่วไป จึงไม่ค่อยระแวดระวังกัน และบางรายบางพวกไม่ระวังเสียจนปล่อยตัวเลยเถิดโดยไม่คิดถึงหัวใจมนุษย์ด้วยกันและพระศาสนาซึ่งเป็นสมบัติของประเทศบ้างเลย แม้ผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านั้น ก็ย่อมทราบความดี ความชั่ว คนดีคนชั่ว สัตว์ดีสัตว์ชั่วได้เช่นมนุษย์ทั่วไป จึงควรคิดและเห็นใจผู้อื่นที่รักสงวนสมบัติของตนบ้าง ไม่ปล่อยร้อยเปอร์เซนต์ไปเสียทีเดียวในที่ทุกสถาน ยังจะพอมีเขตแดนแห่งมนุษย์และสัตว์เป็นที่อยู่อาศัยคนละวรรคละตอนบ้าง ไม่คละเคล้ากันไปเสียหมด จนไม่อาจทราบไม่ว่าใครเป็นใคร เพราะอะไร ๆ ก็แบบเดียวกันเสียสิ้น

    หลวงปู่ขาวชอบเที่ยวหาที่วิเวกและเปลี่ยนที่ทำความเพียรอยู่เสมอ ปกติก็ชอบเที่ยวธุดงค์ไปตามป่าตามเขาอยู่แล้ว แล้วยังชอบเที่ยวเปลี่ยนที่ทำความเพียรอยู่เรื่อย ๆ เช่น ไปพักอยู่ที่นั่นเป็นปกติแล้ว แต่เวลาเช้าไปทำความเพียรกลับไปอยู่ที่หนึ่ง ตอนบ่าย ๆ หรือเย็นก็เปลี่ยนไปทำอีกแห่งหนึ่ง กลางคืนก็เที่ยวไปทำความเพียรอยู่อีกแห่งหนึ่งในแถบที่ท่านพักอยู่นั่นแล เปลี่ยนทิศทางบ้าง ไปใกล้บ้าง ไกลบ้าง ไปอยู่ในถ้ำอื่นจากถ้ำเดิมบ้าง ขึ้นไปอยู่บนหลังเขาบ้าง ตามหินดานบ้าง ดึก ๆ จึงกลับมาที่พัก ท่านให้เหตุผลสำหรับนิสัยท่านว่า เวลากำลังชุลมุนวุ่นวายกับการแก้กิเลส การเปลี่ยนอุบายต่าง ๆ เช่นนั้น ปัญญามักเกิดขึ้นเสมอ กิเลสทั้งตัวไม่ติด เพราะถูกอุบายของสติปัญญาตีต้อนในท่าต่าง ๆ ให้หลุดลอยไปเป็นพัก ๆ ถ้าอยู่ในที่แห่งเดียวทำให้ชินต่อสถานที่ แต่กิเลสมิได้ชินกับเรา มันสั่งสมตัวขึ้นเสมอ ไม่ว่าเราจะชินกับอะไรหรือไม่ก็ตาม เราจำต้องพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงอุบายและสถานที่ เพื่อปลุกสติปัญญาอยู่เสมอ ให้ทันกับกลมายาของกิเลสที่ปักหลักสั่งสมตัวเอง และต่อสู้กับเรา ไม่มีเวลาพักผ่อนตัวตลอดเวลา ถ้าเว้นบ้างก็เพียงเวลาหลับสนิทเท่านั้น นอกนั้นเป็นเวลาทำงานของมันเสียสิ้น ดังนั้นการทำความเพียรจะลดหย่อนอ่อนข้อและผัดเพี้ยนเลื่อนเวลาอยู่ จึงทำให้กิเลสตัวขยันหัวเราะเอา การเปลี่ยนสถานที่และอุบายอยู่เสมอ จึงพอมองเห็นความแพ้ความชนะกับกิเลสบ้าง ไม่ปล่อยให้มันรับเหมาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวดังนี้ เหตุผลของท่านก็น่าฟังและเป็นคติได้ดีสำหรับผู้ไม่นอนใจให้กิเลสขึ้นเหยียบย่ำทำลายเอาทุก ๆ กรณีที่จิตไหวตัว

    ท่านชอบเที่ยวไปทางภูสิงห์ภูวัว ภูลังกาและดงหม้อทอง เขตอำเภอเซกา อำเภอโพนพิสัย อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย และอำเภอบ้างแพง จังหวัดนครพนม แถบนั้นมีเขามาก เช่น ภูสิงห์ภูวัวและภูลังกาซึ่งล้วนเป็นทำเลดี ๆ เหมาะแก่การบำเพ็ญธรรมอย่างยิ่ง แต่ห่างไกลหมู่บ้านมาก บิณฑบาตไม่ถึง ต้องมีคนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นส่งอาหาร ที่ดังกล่าวเหล่านี้ เป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่านานาชนิดมีเสือ ช้าง กระทิง วัวแดง เป็นต้น พอตกบ่าย ๆ และเย็นจะได้ยินเสียงสัตว์เหล่านี้ร้องสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งป่า ผู้ไม่สละตายจริง ๆ ยากจะอยู่ได้ เพราะเสือชุมมากเป็นพิเศษและไม่ค่อยกลัวคนด้วย บางคืนพระท่านเดินจงกรมทำความเพียรไปมาอยู่ มันยังแอบมาหมอบดูท่านได้โดยไม่กลัวท่านเลย แต่ไม่ทำอะไร มันอาจสงสัยแล้วแอบด้อมเข้ามาดูก็ได้ พอท่านได้ยินเสียงผิดสังเกต นึกประหลาดใจ ส่องไฟฉายไปดู ยังเห็นเสือโครุ่งใหญ่ โดดออกไปต่อหน้าต่อตาก็ยังมี แม้เช่นนั้นท่านก็ยังเดินจงกรมทำความเพียรต่อไปได้ ไม่คิดกลัวว่าเสือจะโดดมาคาบเอาไปกินเลย ทั้งนี้เพราะความเชื่อธรรมมากกว่าความกลัวเสือ จึงพออดทนทำความเพียรต่อไปได้ บางวันพอตกเย็น พระท่านก็ขึ้นบนไหล่เขา แล้วมองลงไปดูโขลงช้างใหญ่ ซึ่งกำลังพากันออกเที่ยว ตามหินดานอันกว้างยาวเป็นกิโล ๆ สามารถมองเห็นช้างทั้งโขลงได้อย่างชัดเจน ทั้งตัวเล็ก ๆ และตัวใหญ่ซึ่งกำลังเริ่มจะพากันออกเที่ยวหากิน ท่านว่าเวลาดูช้างทั้งโขลงใหญ่ ๆ ที่กำลังหยอกเล่นกันอย่างเพลิดเพลินเช่นนั้นทำให้เพลินดูมันจนค่ำไม่รู้ตัวก็มี เพราะสัตว์พรรค์นี้ชอบหยอกเล่นกันเหมือนมนุษย์เรานี่เอง

    หลวงปู่ขาวท่านมีความเด็ดเดี่ยวมากดังที่เขียนผ่านมาแล้ว การนั่งภาวนาตลอดสว่าง ท่านทำได้อย่างสบายไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค ก็การนั่งภาวนาแต่หัวค่ำยันสว่างนั้นมิใช่เป็นงานเล็กน้อย ถ้าไม่เป็นผู้มีใจกล้าหาญกัดเหล็กกัดเพชรจริง ๆ จะทำไม่ได้ จึงขอชมเชยอนุโมทนาท่านอย่างถึงใจ ดังนั้นท่านจึงสามารถเป็นอาจารย์สั่งสอนคณะสานุศิษย์ให้ได้รับความร่มเย็นเรื่อยมาจนปัจจุบันนี้ ท่านเป็นที่แน่ใจในองค์ท่านเองร้อยเปอร์เซนต์ ว่าเป็นผู้สิ้นภพสิ้นชาติอย่างประจักษ์ใจทั้งนี้ยังครองขันธ์อยู่ ปล่อยขันธ์เมื่อไรก็เป็น ปรมํ สุขํ ล้วน ๆ เมื่อนั้น หมดความรับผิดชอบกังวลโดยสิ้นเชิง

    ปี พ.ศ. 2501 หลวงปู่เที่ยววิเวกจากที่จำพรรษาปีที่แล้ว คือ วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร มาทางอุดรธานี เที่ยววิเวกไปแถว อ.หนองบัวลำภู และวัดถ้ำกลองเพล ซึ่งเป็นป่าเป็นเขาอันรกชัฏในสมัยนั้น ท่านเห็นว่าเหมาะกับอัธยาศัยในการอยู่และบำเพ็ญสมณธรรม จึงพักบำเพ็ญอยู่ที่นั่นเรื่อยมาจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตท่าน

    ที่มีชื่อว่า “ถ้ำกลองเพล” ดั้งเดิมก่อนจะเป็นวัดถ้ำกลองเพลขึ้นให้ทราบกันทั่วไปอย่างกว้างขวางนั้น ในถ้ำนั้นเคยมีกองเพลใหญ่อยู่ประจำถ้ำหนึ่งลูก มีขนาดใหญ่โตมาก ส่วนจะมีมาแต่สมัยใดนั้นไม่มีใครทราบ และบอกกล่าวกันมาบ้างเลย คงจะมีมานานเป็นร้อยปีขึ้นไป จนกลองเพลนั้นมีความคร่ำคร่า ผุพัง แตกกระจัดกระจายเป็นชิ้นใหญ่ชิ้นเล็กไปเองโดยไม่มีใครทำลาย จำพวกนายพรานเที่ยวหาล่าเนื้อ เวลามาพักนอนในถ้ำยังได้เอาเศษไม้ที่แตกกระจัดกระจายออกจากกลองเพล มาหุงต้มอาหารรับประทานกัน ชาวบ้านใกล้เคียงแถบนั้นจึงพากันให้ชื่อให้นามถ้ำนั้นว่าถ้ำกลองเพล ครั้นต่อมา มีพระธุดงคกรรมฐานไปเที่ยวบำเพ็ญธรรมและพักในถ้ำนั้นบ่อย ๆ จนถ้ำนั้นกลายเป็นวัด คือที่อยู่ของพระขึ้นมา จึงพากันให้นามว่า “วัดถ้ำกลองเพล” เรื่อยมาจนปัจจุบันนี้

    แต่ดั้งเดิมมาในถ้ำกลองเพลนี้มีพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ กันมากมาย ทั้งซ่อนไว้ในที่ลับตาคน ทั้งประดิษฐานไว้ในถ้ำอย่างเปิดเผย แต่ดั้งเดิมที่คนนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานรวมไว้ในถ้ำนี้มีมากมาย ไม่อาจคณนานับได้ แม้พระพุทธรูปทองคำ เงิน นาก ทองสัมฤทธิ์ก็มีไม่น้อย แต่ถูกมารศาสนาเอาไปกินกันเรียบวุธไม่มีเหลือมานานแล้ว เหลือแต่พระพุทธรูปธรรมดาดังที่เห็นกันอยู่นี้เท่านั้น

    สิ่งที่ชาวพุทธเราควรทราบอย่างยิ่งคือ วัดเป็นสถานที่สำคัญในวงพุทธศาสนาและพุทธบริษัท ซึ่งน่าจะอดคิดเป็นสิริมงคลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาภายในใจไม่ได้ ขณะที่เดินเข้าวัดหรือเดินผ่านวัด เพราะคำว่า “วัด” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาล โดยไม่นิยมว่าเป็นวัดบ้านหรือวัดป่า เนื่องจากวัดเป็นที่รวมจิตใจ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตลอดเจตนาดีสูงส่งของพุทธบริษัทไม่มีประมาณ ไว้โดยไม่มีทางรั่วไหล แม้วัดจะชำรุดทรุดโทรม หรือสวยงามเพียงไร ใจท่านผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั่ว ๆ ไป ย่อมมีความเคารพอยู่อย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธผู้ก้าวเข้าไปในวัดใด จะเป็นกรณีใดก็ตาม จึงควรระวังสำรวมอินทรีย์ด้วยดี ให้อยู่ในความดีงามพอสมควร ตลอดการนุ่งห่มต่าง ๆ ควรสนใจเป็นพิเศษ สมกับเราเป็นลูกชาวพุทธ ก้าวเข้าไปในสถานที่อันสูงศักดิ์ที่ได้รับสถาปนายกย่องมาจากพระพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาแห่งโลกทั้งสาม เฉพาะวัดป่าต่าง ๆ พระท่านเป็นเหมือนพระลิงพระค่าง ไม่ค่อยมีโอกาสวาสนา ได้เห็นได้ชม บ้านเมืองที่เจริญแล้ว ด้วยวัตถุและวัฒนธรรมนำสมัย เมื่อเห็นท่านผู้นำยุค แต่งตัวทันสมัยเข้าไปในวัด ท่านรู้สึกหวาดเสียวใจพิกล คล้ายจะเวียนศีรษะและเป็นไข้ในเวลานั้น ทั้งนี้อาจเป็นความตื่นตกใจที่ไม่เคยพบเห็น เพราะความเป็นป่า ก็สันนิษฐานยาก เพราะปกติท่านก็เป็นป่าอยู่แล้ว แต่พอมาเจอสิ่งแปลกตาล่าธรรมเข้าจึงแสดงความวิปริตจิตแปรปรวนชวนให้สลดสังเวชขึ้นมา โดยมากพระธุดงค์ป่า ๆ ท่านพูดในทำนองเดียวกัน ซึ่งน่าเห็นใจสงสาร แม้จะมีผู้อธิบายเรื่องความเจริญของบ้านเมือง ทั้งด้านวัตถุและวัฒนธรรมให้ท่านฟังว่า เป็นสิ่งเจริญทัดเทียมกันหมดเวลานี้ ทั้งนอกและในประเทศ ทั้งในเมืองและบ้านนอก ทั้งวัดบ้านและวัดป่าทั้งในที่ธรรมดาและในป่าในเขา แต่ท่านไม่ยอมเชื่อ มีแต่ความขยะแขยงและหวาดกลัวสลดสังเวชเอาท่าเดียว จนผู้ชี้แจงให้ฟังหมดปัญญา ไม่มีทางทำให้ท่านหายตกใจหวาดเสียวได้ จึงน่าสงสาร ที่ท่านเป็นป่าเถื่อนและห่างความเจริญเอาเสียจริง ๆ

    วัดหลวงปู่ท่านอยู่ในป่าในภูเขา เป็นทำเลบำเพ็ญภาวนาดีมาก เต็มไปด้วยหินผาป่าไม้น่ารื่นรมย์ ทราบว่าท่านพยายามหลบหลีกบรรดาสิ่งดังกล่าวมาก ถ้าจะว่าท่านเป็นป่าเถื่อนเหมือนพระธุดงค์ทั้งหลายก็ไม่อาจตำหนิได้ลงคอ เพราะท่านมีคุณธรรมสูงมาก พ้นทางที่น่าตำหนิเสียแล้วในความรู้สึกของผู้เขียน จึงเพียงสันนิษฐานว่า ท่านอาจมีนิสัยระวังตัวกลัวภัยในป่าติดตัวมา แม้มีคุณธรรมสูงสุดแล้วก็ยังละนิสัยนั้นไม่ขาด อาจเป็นตามธรรมที่ท่านแสดงไว้ว่า นิสัยดั้งเดิมพระสาวกทั้งหลายละไม่ขาด นอกจากพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่ทรงละพระนิสัยพร้อมกับวาสนาได้โดยเด็ดขาดสิ้นเชิง หลวงปู่ขาวนี้เวลามีคนเข้าไปพลุกพล่านไม่เข้าเรื่องเข้าราวมาก ๆ ท่านจะปลีกตัวหนีไปอยู่ตามป่า ตามซอกหินบนภูเขาโน้น จนกว่าเรื่องสงบลง ตอนเย็น ๆ หรือค่ำมืดจึงจะกลับลงมาที่พัก เมื่อถูกถามว่าทำไมท่านจึงหลบหลีกปลีกตัวออกไปอยู่ในที่เช่นนั้นเล่า? ท่านก็ให้เหตุผลว่า ธรรมเรามีน้อยสู้กำลังของโลกที่เชี่ยวจัดไม่ไหว จำต้องหลบหลีกไป ขืนอยู่ต่อไปธรรมต้องแตกทลาย ที่ไหนจะพอประคองตัวได้ ก็ควรคิดเพื่อตัวเอง แม้ไม่มีวาสนาพอจะเพื่อผู้อื่นได้ดังนี้ แต่เท่าที่ทราบมาท่านมีความเมตตาอนุเคราะห์ประชาชนอยู่มาก ตามปกตินิสัย ที่ท่านปลีกตัวหลบหลีกไปในบางกรณีนั้น น่าจะเหลืออดเหลือทนดังท่านว่า ที่ฝ่ายทำลายโดยไม่มีเจตนา หรือมีก็ไม่อาจทราบได้ ซึ่งมีจำนวนมากและโดนอยู่เสมอ แต่ฝ่ายพยายามประคองรักษาศีลธรรมความดีงามไว้มีจำนวนน้อย ต้านทานน้ำหนักไม่ไหว ก็จำต้องได้รับความลำบากเป็นธรรมดา ส่วนมากประชาชนเป็นฝ่ายสังเกตพระ มากกว่าจะสังเกตตัวเอง เวลาเข้าไปในสถานที่ควรเคารพนับถือ จึงมักสะดุดหูสะดุดตา น่าคิดสำหรับท่านผู้มีความสังเกต เกี่ยวกับการปล่อยตัวไม่สำรวมที่เคยเป็นนิสัยมา โดยมิได้สนใจว่าใครจะสังเกตหรือมีอะไรกับตนบ้าง จึงลำบาก
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย : เรื่องคนหน้าด้านสันดานสัตว์

    ตามธรรมดาพระพุทธรูปทั้งมวลย่อมเป็นที่กราบไหว้บูชาของชาวพุทธทั่วดินแดนไทยและต่างประเทศ ไม่มีใครถือเป็นของเสนียดจัญไรให้โทษให้ทุกข์แต่อย่างใด แม้จะเป็นคนดีคนชั่วขนาดไหน เมื่อมาเจอพระพุทธรูปเข้าจิตใจย่อมอ่อนโยน เคารพกราบไหว้บูชา ไม่ถือเป็นอริศัตรูแต่อย่างใด พระพุทธรูปที่อยู่ในถ้ำกลองเพลก็เช่นเดียวกัน พวกนายพรานที่มาพักค้างคืนที่ถ้ำนั้น ย่อมกราบไหว้บูชาและขอขมาลาโทษกัน บางรายที่พิสดารแปลกเพื่อนฝูงอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับเป็นแบบมนุษย์สันดานสัตว์ดังที่เขียนไว้ข้างบนนั้น ยังอธิษฐานขอให้หลวงพ่อพระพุทธรูป ช่วยบันดาลให้สัตว์ให้เนื้อ ที่จะเป็นอาหาร เช่น อีเก้ง กวาง เป็นต้น จงเดินซมซานตาฝ้าตาฟาง ไม่มีสติสตัง ระมัดระวังตัว เดินงุ่มง่ามต้วมเตี้ยมแบบสัตว์ตาย มาแถวบริเวณที่นายพรานจดจ้องคอยทีอยู่ และยิงเอา ๆ จนหาบหามไปไม่หวาดไหวโน่นเถิด ดังนี้ก็มี มนุษย์เรามันหลายแบบ

    แต่นายพรานพิสดารที่กล่าวถึงข้างต้นนี้กลับคิดและทำแบบมนุษย์ทั้งหลายไม่คิดและทำกันเลย เขาชื่อนายพรานบุญหนา ที่พ่อแม่ญาติวงศ์ตั้งให้แต่วันเริ่มแรกเกิด (ที่ถูก เขาควรจะได้รับการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ที่เขาทำในปัจจุบันว่า นายบาปหนา จะเหมาะดี) วันนั้นเขาไปเที่ยวล่าเนื้อที่ไหน ๆ ไม่มีอะไรติดมือมาเลย จึงเข้ามาแวะพักที่ถ้ำกลองเพลด้วยความอ่อนกายอ่อนใจ แม้แต่ก่อน ๆ ที่เขามาเที่ยวล่าเนื้อแล้วนั้น เขาก็เคยมาแวะพักที่ถ้ำนั้นเหมือนกัน เป็นแต่เขาไม่คิดพิสดารเหมือนครั้งนั้น มาเที่ยวนี้ บวกกับความเสียใจที่ไม่มีเนื้อชนิดใดผ่านสายตาและยิงได้ติดมือมาบ้างเลย เขาจึงเริ่มแสดงความพิสดารขึ้นในท่ามกลางเพื่อน ๆ นายพรานด้วยกัน โดยไปจับเอาพระพุทธรูปที่ตั้งเรียงรายกันอยู่ในป่า มาตั้งเป็นแถวยาวเหยียด หลายแถวด้วยกัน พร้อมกับพูดขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า วันนี้หายิงเนื้อทั้งป่าก็ไม่ได้เนื้อสักตัวเดียวติดต่อมา ต้องเป็นเพราะพระพุทธรูปเหล่านี้เอง ร่ายมนต์ไล่เนื้อให้หนีห่างไกลจากอันตราย คือนายพรานที่มาเที่ยวล่ายิงเขาตามบริเวณนี้ เราต้องเอาพระพุทธรูปเหล่านี้มายืนเป็นแถวเหมือนทหาร และฝึกหัดพระพุทธรูปเหล่านี้แบบทหาร และสั่งสอนเสียบ้าง จะได้รู้กฎระเบียบของนายพราน พระเหล่านี้จึงจะเข็ดหลาบไม่ร่ายมนต์ไล่เนื้อให้หนีไกลอีกต่อไป ในมือถือไม้คอยตี คอยหวดหลัง พระพุทธรูปองค์ที่ไม่ทำตามคำสั่ง และทำการฝึกหัดพระพุทธรูปที่ตั้งเป็นแถวเรียงรายกันอยู่นั้น เช่นเดียวกับเขาฝึกหัดทหาร ว่าขวาหันบ้าง ซ้ายหันบ้าง กลับหลังหันบ้าง หน้าเดินบ้าง พร้อมกับเอาไม้ที่ถืออยู่ในมือ ตีด้านหลังพระพุทธรูปบ้าง หวดลงด้านบนเศียรพระบ้าง หาว่าไม่ทำตามคำสั่งของนายทหาร (คือนายพรานบ้าคนนั้น) พระพุทธรูปที่ถูกตีตกออกไปนอกแถว ก็จับขึ้นมาตั้งในแถว แล้วสั่งประกาศว่า ขวาหัน ซ้ายหันไปเรื่อย หวดพระพุทธรูปตกกระจัดกระจาย และเที่ยวจับขึ้นมาไว้ในแถว แล้วสั่งงานและหวดดะไปทำนองนั้น จนหมดฤทธิ์บ้าแล้วจึงหยุด

    บรรดานายพรานที่ไปด้วยกัน ต่างก็ได้ห้ามปราม ตั้งแต่ขั้นเริ่มแรก ที่เห็นอาการไม่ดีของเขาแสดงออก โดยให้เหตุผลต่าง ๆ ที่ไม่ควรทำต่อท่าน จะเป็นบาปหนักและตกนรกทั้งเป็นก็ได้ ถ้าขืนทำ เพราะพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้น คือองค์แทนพระพุทธเจ้า การทำลายพระพุทธรูป โลกถือว่าเป็นทางทำลายพระพุทธเจ้าด้วย ซึ่งเป็นบาปหนักมาก ไม่ควรทำลายอย่างยิ่ง เนื่องจากพระพุทธเจ้าแลพระพุทธรูป คือหัวใจชาวพุทธ ทั้งมนุษย์ ทั้งเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค ครุฑ เปรต ผีทั้งมวล แต่นายบาปหนาไม่ยอมฟังเสียง มีแต่จะทำและทำท่าเดียว พวกนายพรานเมื่อเห็นว่าไม่ได้การ จึงต่างคนต่างเผ่นหนีไปคนละทิศละทาง และวิ่งกลับบ้าน เล่าเรื่องบ้าหนักบาปหนาของดีตาคลังนรกคนเป็นให้ชาวบ้านฟัง ต่างเกิดความสลดสังเวชไปตาม ๆ กัน เพราะเป็นสิ่งไม่เคยมี เรื่องไม่เคยปรากฏ

    ก่อนที่แกพูดว่า จะจับพระพุทธรูปมาตั้งเรียงแถวและฝึกวิชาทหารให้นั้น ดู ๆ แกก็มีสติดีอยู่เหมือนคนธรรมดาทั่วไป พูดอะไรก็รู้เรื่องกันอยู่ในขณะนั้น จะว่าแกเป็นบ้าก็ไม่สนิทใจ เป็นแต่มีอาการโทสะให้เห็นชัด อันเนื่องมาจากแกไม่ได้พบเนื้อ ยิงเนื้อและได้เนื้ออะไรในวันนั้น ดังที่แกพูดโมโหให้พระพุทธรูปว่า ร่ายมนต์ไล่เนื้อหนีไปที่อื่น ๆ หมด แกจึงโกรธให้ท่านและจับมาทุบตียี่ยำไปตามอารมณ์เท่านั้น ก็ไม่เห็นอารมณ์บ้าจริง ๆ ในเวลานั้น

    อันพระพุทธรูปทั้งหลายทั่วแดนไทยชาวพุทธเรา ใครก็ทราบอยู่แล้วอย่างเต็มใจว่า ท่านมิใช่ทหาร ท่านมิใช่วัวควายพอจะจับท่านมาฝึกหัด แบบตำรวจทหาร และจับมาใส่คราด ใส่ไถ ใส่ล้อ ใส่เกวียน ทำไมแกจึงกล้าไปจับท่านมาทำอย่างนั้นได้ลงคอ ถ้าไม่ใช่บ้าจนเกินบ้ามนุษย์ในโลกเรา นี่ก็น่าคิดถ้าจะคิด ถ้าไม่คิดก็เบาสมอง ไม่เป็นบ้าอีกแง่หนึ่งไปตามแก ผู้เปิดทางบ้าไว้ให้คนดีพลอยเป็นบ้าย่อย ๆ ไปด้วย

    เมื่อหมดฤทธิ์บ้านรกแตกแล้ว เวลาแกกลับไปถึงบ้าน แกก็เป็นคนดีมีสติอยู่เหมือนคนธรรมดา เป็นแต่อาการฉุนเฉียวยังมีอยู่ในอาการของแก ขณะนั้นใคร ๆ ก็ไม่กล้าทักทายไต่ถามแกเลย เพราะต่างก็ทราบการกระทำอันเลวทรามจนหาที่เปรียบเทียบของแกไม่ได้อยู่แล้ว ต่างคนจึงเก็บตัวสงบอาการแสดงออกใด ๆ ทั้งสิ้น กระทั่งคนในบ้านแกเอง เป็นเพียงคอยสังเกตความเคลื่อนไหวไปมาของแกอยู่เท่านั้น แกเองก็มีอาการเคร่งขรึมไม่พูดอะไร ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่น่าไว้ใจอยู่แล้ว จึงไม่มีใครกล้าแสดงกิริยาอาการใด ๆ ให้แสลงหูแสลงตาและแสลงใจแก
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย : เป็นที่น่าประหลาดและอัศจรรย์

    พอตกกลางคืนมา ได้ยินเสียงแกพูด แกบ่น ว่าคันตามร่างกาย ในลักษณะของคนมีสติทั่ว ๆ ไป คนในครอบครัวได้โอกาสก็มาไต่ถามเรื่องราวกับแก แกก็เปิดอวัยวะส่วนต่าง ๆ ให้ดู พร้อมกับบอกว่า เจ็บปวดแสบร้อนและคันมากจนแทบทนไม่ไหว อยากร้องครางให้คนมาช่วย ขณะที่แกเปิดร่างกายส่วนต่าง ๆ ให้ดูทั้งในและนอกร่มผ้า ปรากฏว่าเป็นผื่นและพองไปทั้งตัว และเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วผิดธรรมดา ทั้งการเจ็บปวดแสบร้อนก็ตาม ๆ กันมาอย่ารวดเร็วเช่นกันจนทนไม่ไหว แกร้องให้คนช่วยและร้องไห้ราวกับเด็ก ๆ ในเวลานั้น จนเรื่องกระเทือนไปทั่วทั้งหมู่บ้าน ต่างคนซึ่งคอยฟัง คอยทราบ เหตุการณ์อันลามกจกเปรตของแก ที่ทำต่อพระพุทธรูปอยู่แล้ว ต่างก็วิ่งกระหืดกระหอบมาในทันทีทันใด และเห็นเหตุการณ์อย่างประจักษ์ตาประจักษ์ใจ แต่ยังไม่มีใครกล้าพูดความจริง ที่แกทำต่อพระพุทธรูปออกมาอย่างเปิดเผย เกรงว่าจะเกิดเรื่องราวใหญ่โตเพิ่มขึ้นอีกในเวลานั้น เป็นเพียงคนแก่ผู้ฉลาด ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน หาอุบายพูดเปรียบเปรยให้แกฟังโดยทำนอง เรื่องพรรค์นี้มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่เคยเป็น ๆ กัน แต่น่าจะเป็นเรื่องเคราะห์เข็ญเวรภัยเรื่องอุบัติเหตุมากกว่า ขอให้แกคิดทบทวนดูว่า ในระหว่างนี้ได้ทำอะไรที่ไม่ดีไม่งามมาบ้าง ลองคิดทบทวนดู บางทีอาจมีได้ ดูเหตุการณ์ที่กำลังเป็นอยู่เวลานี้มันผิดธรรมดาสามัญอยู่มาก การคัน การเจ็บปวดแสบร้อนในร่างกายใคร ๆ ก็เคยเห็นเคยเป็น แต่ไม่เป็นอย่างผิดสังเกตมาก ดังที่แกกำลังเป็นอยู่เวลานี้ นี่ดูร่างกายทุกส่วนมันลุกลามไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่งยังไงพิกล ร่างกายก็เป็นผื่นและพองขึ้น ๆ รวดเร็วผิดธรรมดา มันน่าจะมีอะไรบันดาลให้เป็นไป ไม่ใช่ธรรมดาพาให้เป็นไป ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้าน ก็ว่ากรรมบันดาล กรรมพาให้เป็นไปนั่นเอง ลองพิจารณาทบทวนดูความเคลื่อนไหวไปมา และการกระทำของตนดูให้ดี คนเราย่อมมีความพลั้งเผลอและหลวมตัวได้เป็นธรรมดา ถามไปพลาง พยาบาลรักษากันไปพลาง ดูอาการดีและชั่วของคนเจ็บไปพลาง ถามเลียบ ๆ เคียง ๆ ไปพลาง ถามคนเดียวไปพลาง ผลัดเปลี่ยนกันถามทีละคน ๆ ไปพลาง เว้นแต่พวกนายพรานที่เห็นเหตุการณ์ของแก ไม่ยอมมาเยี่ยมบ้านแกเลยก็มี เพราะสะเทือนใจจากการกระทำไม่ดีของแกเป็นอย่างมาก เกินกว่าจะมาไต่ถาม อันเป็นการประจานหน้าแกต่อธารกำนัล แม้นายพรานที่มาก็ด้อม ๆ มอง ๆ ไม่ยอมให้แกเห็นหน้าเลย กลัวจะเกิดเรื่องราวไม่ดีขึ้นอีก เมื่อเล่าเรื่องดีเรื่องชั่วต่าง ๆ และซักไปถามมาหลายครั้งหลายหนจากหลายผู้หลายคน ด้วยอาการเลียบ ๆ เคียง ๆ ทางบุญทางบาป ตลอดนรกสวรรค์ไม่หยุดหย่อน ทำให้แกระลึกรู้ ดี-ชั่ว-บุญ-บาปได้ และพูดให้คนทั้งหลายฟัง ตามเหตุการณ์ที่แกไปทำกับพระพุทธรูปในถ้ำกลองเพลมา ด้วยความมีสติสตัง ระลึกรู้บุญบาปเหมือนคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป ไม่มีวิกลจริตผิดธรรมดาแฝงออกมาแต่อย่างใดเลย

    เมื่อเห็นเป็นช่องโอกาสอันดี คนแก่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและเป็นที่เคารพนับถือของตัวแกเอง ก็พูดเป็นเชิงตกใจกลัวบาปและตกนรกทั้งเป็นให้แกฟังโดยประการต่าง ๆ เช่นพูดว่าพระพุทธรูปทั้งหลายเป็นองค์แทนพระศาสดา องค์บรมครูของโลก และเป็นจุดรวมแห่งดวงใจชาวพุทธทั้งหลาย ทั่วดินแดนที่มีพระพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่ ตลอดเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค ครุฑ เปรต ผี ไม่มีประมาณ ล้วนเคารพนับถือและรักสงวนกันมาก พร้อมทั้งการอารักขาไม่ให้ใครมาแตะต้องทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นได้ พระพุทธรูปแต่ละองค์นั้นมีเทวดา นาค ครุฑ ทั้งหลายรักษาท่านอยู่เป็นประจำ ใครจะไปทำสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ได้ จะถูกเทวดาที่อารักขาทั้งหลายทำโทษเอาด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามแต่ฤทธาศักดานุภาพของเทวดานั้น ๆ จะแสดงตามความเห็นควรของตน และตามกรรมหนักเบาของผู้ไปรุกรานนั้น ๆ

    ถ้าเป็นดังที่แกเล่ามานี้ ตัวพ่อเองและชาวพุทธทั้งหลายก็ไม่อาจสงสัย ที่ร่างกายของแกกำลังเป็นไฟเผาทั้งตัวอยู่เวลานี้ ต้องเป็นเพราะแกคิดไม่ดี ทำไม่ดี ต่อพระพุทธรูปเหล่านั้นแน่นอน เอาละไม่เป็นไร เมื่อทราบต้นสายปลายเหตุแจ่มแจ้งอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขและบรรเทาเหตุเการณ์นี้ให้เบาบางและหายไปได้ไม่สุดวิสัยพ่อจะพาลูกขอขมาโทษต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ท่านให้อดโทษแก่หลานได้หายจากโรคอุบาทว์ในไม่ช้านี้แม้ตัวนายพรานบุญหนา (บาปหนา) นั้นก็เชื่อตามคำที่คนแก่ชี้แจงให้ฟังทุกอย่างไม่ขัดเขินและยิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตาสดชื่นขึ้นในเวลานั้นอย่างเห็นได้ชัดในสายตาคนทั่วไป

    ปัญหาที่ยังไม่ลงทันได้สนิทในเวลานั้นมีอยู่ว่า คนป่วยแสดงความท้อใจที่จะไปขอขมาโทษต่อพระพุทธรูปที่ถ้ำกลองเพลในเวลานั้นว่า จนใจจะทำอย่างไร เวลานี้กำลังเจ็บมาก คันมาก ออกร้อนมากอยู่ ยังไม่สามารถไปได้ จะให้ทำอย่างไร คนแก่พูดปลอบโยนในทันทีทันใดว่า ไม่เป็นไร แม้จะยังไปไม่ได้ในเวลานี้ พวกเราก็สามารถขอขมาโทษท่านได้อย่างไม่มีปัญหา คือพวกเราเชิญพระพุทธรูปซึ่งเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้ามาตั้งประดิษฐานไว้ตรงหน้านี้ แล้วหาดอกไม้ธูปเทียนมากราบคารวะขอโทษท่านที่นี้ก่อน เมื่อหายจากป่วยแล้ว ค่อยไปคารวะท่านที่ถ้ำกลองเพลทีหลัง ผลยังได้พอ ๆ กันไม่ต้องเสียใจ ว่าแล้วก็สั่งให้คนอัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งประดิษฐานไว้ตรงหน้าคนเจ็บ แล้วนำคนป่วยกล่าวคำขอขมาโทษพระพุทธรูปนั้น เสร็จลงด้วยความเบากายโล่งใจทั้งของฝ่าย งานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกอย่าง ท่ามกลางหมู่ชนจำนวนเป็นร้อย ๆ ซึ่งล้วนเป็นไทยมุง แตกตื่นแห่แหนกันมาดูเหตุการณ์ในเวลานั้นราวกับฟ้าดินถล่มและเป็นประวัติการณ์

    น่าอัศจรรย์ บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี ได้แสดงขึ้นอย่างเห็นประจักษ์ตา ประจักษ์ชัดแก่คนทั้งหลาย ที่ทราบเหตุการณ์ของนายพรานบุญหนาได้ดี โรคพิสดารเกินคนของนายพรานบุญหนาได้เริ่มสงบลงโดยลำดับ นับแต่การเห็นโทษและขอขมาพระพุทธรูปผ่านไปแล้ว และหายไปอย่างสนิทในเวลาอันรวดเร็วผิดธรรมดา นายพรานได้รับการชุบชีวิตใหม่ หลังจากได้เจอ และต่อกร กับอาจารย์ชั้นเยี่ยม คือพระพุทธรูปที่ถ้ากลองเพลมาแล้ว เขาเข็ดหลาบคาบหญ้า ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพุทธรูปว่าจะไม่ล่วงเกินท่านด้วยกิริยาอาการใด ๆ อีกเป็นอันขาดตลอดวันตาย เพราะได้ประจักษ์กับตัวเองชนิดไม่มีวันหลงลืมแล้ว

    พอเรื่องผ่านไปไม่กี่วัน โรคหายเป็นปกติแล้ว เขาก็เตรียมดอกไม้ธูปเทียน ไปขอขมาโทษพระพุทธรูปที่ถ้ำกลองเพล ซึ่งเขาเคยถือว่าท่านเป็นทหารฝึกหัดของเขา กราบแล้วกราบเล่า พร้อมกับคำขอขมาลาโทษและคำอธิษฐานจะไม่เป็นคนสันดานหยาบช้าลามก ดังที่เคยเป็นมาแล้วอีกต่อไป แม้ที่เคยเป็นนายพรานก็จะหมดอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกระทั่งวันตาย ด้วยความตั้งใจว่า บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่สงสัย เรื่องของนายพรานจึงขอจบลง

    ดังนั้นคำว่า กิเลส ตัวเศร้าหมองมืดมนที่จอมปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงตำหนิสาปแช่งมาตลอดกาลนั้น มันเป็นภัยต่อหัวใจของสัตว์โลกอย่างแท้จริงดังที่ทรงตำหนิ เพราะเป็นตัวปฏิเสธลบล้างธรรมที่แสดงไว้ตามความสัจความจริง ว่าไม่จริง ว่าไม่มี ไม่เป็นมาตลอด ไม่เคยยอมรับความจริงทั้งหลายแม้น้อย พอให้ได้ชมบ้างว่า เอ้อ กิเลสก็มีธรรม และให้ความเป็นธรรมแก่สัตว์โลกที่มันครอบครองเหมือนกัน เช่น ยอมรับว่า บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี เป็นต้น แม้จะปฏิเสธว่านิพพานไม่มีก็ตาม ก็ยังนับว่ากิเลสยังมีส่วนดี และเป็นพยานแห่งกรรมที่แสดงไว้ ไม่ปฏิเสธลบล้างเสียจนหมดสิ้น สัตว์โลกที่อยู่ใต้อำนาจของมันยังมีช่องทางได้เชื่อบุญ เชื่อบาป เชื่อนรก เชื่อสวรรค์ และพยายามละบาป บำเพ็ญบุญเพื่อไปสวรรค์กันบ้าง ไม่จมอยู่ในความมืดบอดและกองทุกข์น้อยใหญ่ เพราะกลหลอกลวง และการปิดบังของมัน โดยถ่ายเดียว

    แต่ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่ว่าชนิดใด มันเป็นโคตรแซ่ของจอมหลอกลวงต้มตุ๋นสัตว์โลกให้มืดมิดปิดทวารและนอนจมอยู่ใต้อำนาจของมันทั้งสิ้น ดังนายพรานบุญหนา (นายพรานบาปหนา) เป็นตัวอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งถูกกิเลสขโมยก่อไฟไว้ แล้วก็มาหลอกให้นายพรานเข้ากองไฟ ด้วยความคึกคะนอง จับพระพุทธรูปอันเป็นสิ่งวิเศษศักดิ์สิทธิ์โดยธรรม มาฝึกทหารและเฆี่ยนตี ด้วยประการต่าง ๆ จนกระทั่งเจอดีคือร่างกายเกิดพุพองหนองไหลขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ต่อหน้าต่อตา จะเป็นแหล่ จะตายแหล่ เตรียมลงนรกทั้งเป็นทั้งตายขณะนั้น จึงมีเทวบุตรมาโปรดให้เห็นโทษแห่งการกระทำของตน และได้กลับตัวมาทางธรรม ยอมรับความจริงว่า บาปมี บุญมี จึงรอดพ้นภัยพิบัติไปในเวลานั้น ไม่ถูกกิเลสตัวพาให้มืดบอด ลากลงนรกทั้งเป็นเสียทีเดียว ชนิดจมไปเลยไม่มีวันโผล่

    เราชาวพุทธทั้งหลายจึงควรพิจารณาไตร่ตรองด้วยดีในหลักความจริงแห่งธรรมที่จอมปราชญ์แสดงไว้ และความจอมปลอมของกิเลส ที่คอยกระซิบหลอกลวงอยู่ภายในใจตลอดเวลา อย่าเห็นแก่ได้ แก่กิน แก่คด แก่โกง อย่าเห็นแก่ตัวจัด อันเป็นสายทางให้ลบล้างทำลายทรัพย์สินสมบัติและจิตใจผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องก่อไฟนรกเผาตัวทั้งมวล ธรรมของปราชญ์ท่านสอนให้กลัว ในสิ่งที่ควรกลัวโดยธรรม เช่นบาป เป็นต้น และสอนให้กล้า ในสิ่งที่ควรกล้า เช่นบุญ เป็นต้น ซึ่งเป็นคำสั่งสอนที่ถูกต้องต่อความจริงโดยถ่ายเดียว ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนลอยเหมือนกลลวงของกิเลสทุกประเภท ใครเชื่อมันจมทั้งสิ้น ไม่มีคำว่าฟื้นว่าฟูเหมือนความเชื่อธรรม

    คำว่า กิเลส ๆ ปราชญ์ทั้งหลายขยะแขยงกันทั้งนั้น. ไม่มีท่านผู้ใดรักสนิทติดจมูกับมัน นอกจากผู้เชื่อกิเลส กลลวงของกิเลสที่เสี้ยมสอนให้เกลียดธรรมและลบล้างธรรม ผลก็คือไฟเผาตัวเท่านั้น ส่วนกิเลสตัวหลอกลวงมันไม่ยอมมารับเคราะห์กรรมกับพวกเรา นอกจากหลอกให้จมร่ำไปเท่านั้น จึงกรุณาพิจารณาด้วยดีสมกับเราเป็นมนุษย์ผู้ฉลาด และเป็นชาวพุทธ เป็นบุตรธิดาของพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมปราชญ์ ฉลาดแหลมคมเหนือกิเลสทุกประเภท ไม่ยอมหลงกลใด ๆ ของมันเลย พวกเราชาวพุทธจงพยายามเดินตามครู ด้วยความระมัดระวังทุกด้าน ทุกอาการ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่ายอมให้กิเลสจับโยนลงเหวลงบ่อได้ จะเสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งคน ของดีไม่ได้ชม ปล่อยตัวให้ล่มจมไปทั้งชาติ ไม่สมควรอย่างยิ่งกับเราทั้งหลาย ที่มีธรรมตะโกนช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ตามครูอาจารย์ตามสถานที่ต่าง ๆ และตามคัมภีร์ที่ท่านจารึกไว้ ไม่อด ไม่อั้น ไม่ตีบ ไม่ตัน ทันกับกิเลสตลอดไป ไม่มีคำว่าธรรมคือความจนตรอกจนมุม ธรรมหมุนได้รอบตัวรอบด้าน ต้านทานได้ทุกแง่ทุกมุม ที่นำมาใช้ มาช่วยตัวเอง จงอย่าเกรงธรรมที่นำไปสู่ทางดี แต่จงกลัวกิเลสที่จะนำไปสู่ทางชั่ว มั่วกับกองทุกข์ สุขไม่มีวันเจอ แบบคนหมดหวัง ทั้งที่ยังมีชีวิตลมหายใจอยู่ ไม่สมควรแก่เราอย่างยิ่ง จงอย่านิ่งนอนใจ อย่าเห็นภัยว่าเป็นคุณ อย่าเห็นบุญว่าเป็นบาป จงเข็ดหลาบกับความชั่วแลกองทุกข์ทั้งมวลเสียแต่บัดนี้ จะเป็นคนดี สุคโตเป็นที่ไป ไม่สงสัยในตัวเราเอง สมกับธรรมท่านสอนไว้ว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่วดังนี้

    นับแต่เรื่องนายพรานบุญหนา กระฉ่อนออกสู่ประชาชน ทั้งบริเวณใกล้เคียง และกว้างขวาง ได้ทราบทั่วถึงกันแล้ว ต่างก็กลัวกัน ไม่กลับมาทำปู้ยี่ปู้ยำเหมือนแต่ก่อน บริเวณถ้ำและแถบนั้นจึงเป็นสถานที่สงัดวิเวก ควรแก่การบำเพ็ญสมณธรรมของพระธุดงคกรรมฐานทั้งหลาย เพราะชาวบ้านแถบนั้นถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ไม่กล้าไปทำอะไรตามใจชอบดังแต่ก่อน

    หลวงปู่ขาวท่านพาคณะลูกศิษย์ไปเที่ยวธุดงคกรรมฐานและพักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำกลองเพลนั้น เห็นว่าที่นั่นสะดวกสบายทางร่างกายและจิตใจ ตลอดการบำเพ็ญสมณธรรมก็อำนวยอวยพรในความละเอียดแยบคายดี ท่านจึงปลงใจอยู่สถานที่นั่นเรื่อยมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ ท่านได้ปลดปล่อยธาตุขันธ์ลงที่วัดถ้ำกลองเพลตามวันเดือน ปี ดังที่ทราบกัน

    เวลาท่านครองขันธ์และปกครองพระเณรอยู่วัดถ้ำกลองเพล ท่านเมตตาให้โอวาทแก่พระเณรเถรe โดยสม่ำเสมอไม่ลดละปล่อยวางเรื่อยมา ธรรมที่ท่านมักยกขึ้นแสดงในขั้นเริ่มต้นแห่งการอบรมเสมอนั้น คือ จตุปาริสุทธิศีล คือ

    1. อินทรียสังวรศีล ได้แก่การสำรวมระวังอินทรีย์ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย เกิดความรักความชัง ความเกลียด ความโกรธ ความโลภอยากได้ในสิ่งสัมผัสนั้น ๆ ไม่อิ่มพอ เพราะอายตนะภายใน 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับอายตนะภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องถูกต้องสัมผัสและธรรมารมณ์จากสิ่งที่เข้ามาสัมผัส 6 นั้น ๆ เพราะอายตนะภายในและอายตนะภายนอกดังกล่าวนี้เป็นคู่ปรับกันที่จะยังเรื่องต่าง ๆ เข้าสู่ใจได้อย่างง่ายดาย แต่แก้ไขถอดถอนยาก ขณะที่ทั้งสองอายตนะ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมดเข้าสัมผัสกัน ท่านจึงสอนให้ระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาสำหรับนักบวชผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ไม่ปล่อยให้อายตนะภายในมี ตา เป็นต้น สัมผัสกับอายตนะภายนอก มีรูปเป็นต้นด้วยความไม่มีสติประจำใจ ผู้ตั้งใจสำรวมระวังตามที่ท่านสอนไว้ ชื่อว่าผู้บำเพ็ญตนเพื่อชำระกิเลสโดยลำดับ และไม่ชักช้าต่อทางดำเนิน จะถึงฝั่งแห่งความปลอดภัยไม่เนิ่นนาน เท่าที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายไปไม่ตลอดมักจอดจมงมทุกข์ไปเสีย ปล่อยให้ยักษ์โขยักษิณี คว้าไปกินเสียในระหว่างทาง (ระหว่างที่ปฏิบัติธรรมอยู่) ก็เพราะขาดความสำรวมระวังหรือไม่สนใจระวัง สติปัญญาก็มีน้อย แต่ชอบสุกก่อนห่ามและออกสู่สังคมยักษ์ (สนามแห่งอารมณ์ อันเป็นภัยร้อยแปดพันเก้านับไม่จบ) การสำรวมระวังก็เจ๊ง สติปัญญาหายเข้าป่าไปหมด ปล่อยให้คนเก่งสู้เสือมือเปล่า สุดท้ายก็ขึ้นเขียงให้กิเลสราคะตัณหาสับยำเป็น อาหารของมันอย่างเอร็ดอร่อย สิ่งที่เด่นในตัวก็มีแต่ “สิ้นท่า”

    ดังนั้นการสำรวมในอินทรีย์ 6 จึงเป็นงานจำเป็นของนักบวชนักปฏิบัติอยู่มาก ผู้เคยปฏิบัติงานนี้ก็รู้เองโดยไม่มีใครบอก ไม่มีงานใด ๆ หนักเทียบเท่าเสมอได้ หนักก็หนัก ลำบากก็ลำบาก เพราะตั้งท่าสำรวมระวังใจ อันเป็นตัวการใหญ่อยู่ตลอดเวลา ในอิริยาบถต่าง ๆ ทั้งตั้งท่าสู้ ตั้งท่าถอดถอนกิเลสที่เป็นลูกศรแทงอยู่ภายใน ทั้งตั้งท่าต่อสู้กิเลสซึ่งกำลังหลั่งไหลมาทางอายตนะภายใน 6 ทั้งตั้งท่าชำระถอดถอนกิเลสที่มีอยู่กับใจ ซึ่งกำลังก่อเรื่องวุ่นวายอยู่ภายใน ไม่มีงานใดหนักมากยิ่งกว่างานฆ่ากิเลส งานชำระกิเลส งานถอดถอนกิเลส ตัวเป็นฟืนเป็นไฟ ที่เผาไหม้คุกรุ่นอยู่ภายในใจตลอดเวลานี้ ปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านถือเป็นงานระดับไตรภพ ใครเรียนจบคนนั้นวิเศษ โดยไม่ต้องหาใครมาเสกสรรปั้นยอ ว่าดีว่าวิเศษ แต่ดีเอง วิเศษเองโดยหลักธรรมชาติของธรรม ที่ผู้เข้าถึง พึงทราบเองโดยสันทิฏฐิโก ไม่สงสัยไม่เป็นอื่น

    งานสำรวมอินทรีย์นี้ ครั้งพุทธกาลยังนำมาเป็นคู่แข่งกันได้ ทั้งนี้เพราะใครรักษาอายตนะใด ก็ยากราวกับไม่มีอายตนะใดและใคร รักษายากลำบากเท่าอายตนะที่ตนรักษาอยู่ เช่น ปัญจภิกขุ ภิกษุ 5 รูป ต่างรักษาคนละอายตนะ รูปหนึ่งรักษาตา เกี่ยวกับเวลาเห็นรูปโดยเฉพาะ องค์หนึ่งรักษาหู เกี่ยวกับเวลาฟังเสียงโดยเฉพาะ องค์หนึ่งรักษาจมูก เกี่ยวกับเวลาดมกลิ่นโดยเฉพาะ องค์หนึ่งรักษาลิ้น เกี่ยวกับเวลาลิ้มรสโดยเฉพาะ องค์หนึ่งรักษากาย เกี่ยวกับเวลาถูกต้องสัมผัสกับสิ่งเย็นร้อนอ่อนแข็งต่าง ๆ โดยเฉพาะ ๆ ไม่ทั่วไปกับอายตนะทั้งหลาย เวลามาสนทนากัน ต่างก็คุยอวดว่าอายตนะที่ตนกำลังรักษาอยู่นั้นยากลำบากกว่าการรักษาอายตนะอื่น ๆ จนเกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น เพราะไม่มีใครยอมรับของใครว่ายาก เหมือนอายตนะที่ตนรักษาอยู่ และไม่ยอมให้ความเสมอภาคในการรักษาอายตนะของกันและกัน จนพระพุทธเจ้าทรงตัดสินให้และประทานพระโอวาทว่า ไม่ว่าอายตนะใดมันรักษายากด้วยกันนั่นแหละ เพราะตาก็อยากเห็นรูปสวย ๆ งาม ๆ ที่พึงตาพึงใจ หูก็อยากฟังเสียงอันไพเราะเพราะพริ้ง จมูกก็อยากสูดดมกลิ่นที่หอมหวนชวนให้รื่นเริง ลิ้นก็อยากลิ้มรสอันโอชา กายก็อยากสัมผัสสัมพันธ์ กับสิ่งสัมผัสอันอ่อนนุ่มนวลชวนให้เพลิดเพลินตลอดเวลา ไม่มีความอิ่มพอ ทั้งนี้เพราะใจเป็นสำคัญของอายตนะนั้น ๆ ใจเป็นตัวคึกตัวคะนองอยู่ตลอดเวลา ไม่สนใจมองความผิด-ถูก ชั่ว-ดีประการใด ขอให้ได้อย่างใจที่อยาก ที่ต้องการ ก็เป็นพอ จึงทำให้อายตนะทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกังหันหมุนไปตามอารมณ์ใจ (อารมณ์กิเลสบีบบังคับใจให้ดิ้นรน)

    การรักษาแต่ละอายตนะ ต้องรักษาใจไปในขณะเดียวกัน เพราะใจเป็นตัวการให้อยากเห็น อยากได้ยิน อยากสูดกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ไม่มีเวลาสิ้นสุดยุติ ใจเป็นตัวอยาก ตัวหิวโหย ตัวเสาะแสวง ใจจึงใช้เครื่องมือ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นทางเดินออกหาอารมณ์ต่าง ๆ (หาอาหารแต่ส่วนมากเป็นยาพิษ) จำต้องรักษาใจด้วยสติ พินิจพิจารณาด้วยปัญญา อย่าให้ออกเพ่นพ่านเกี่ยวเกาะในสิ่งเป็นภัย ใช้สติควบคุม ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอารมณ์ที่เกิดจากการสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ให้รู้เห็นตามความจริงของสิ่งนั้น ๆ ใจจะไม่ไม่ยินดียินร้าย รัก ชัง เกลียด โกรธ ใจจะย้อนเข้าสู่ความสงบเย็น ไม่เป็นภาระกังวลกับสิ่งใด ๆ ภายนอก เมื่อจิตอิ่มตัวในความสงบแล้ว ก็ออกพิจารณาอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือของใจเท่านั้น และพิจารณาอารมณ์กับใจที่กลมกลืนกันอยู่อย่างแนบสนิทราวกับเป็นอันเดียวกัน .

    การพิจารณาร่างกายตามแต่ถนัดทางอสุภะอสุภัง หรือ อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา แยกเป็นชาติ เป็นขันธ์ ตามความสะดวกและถนัดใจ การพิจารณาอารมณ์ของใจในเบื้องต้นมักประสานกับสิ่งภายนอก เช่น รูป เป็นต้น แยกแยะตลบทบทวน จนเข้าใจทั้งอารมณ์ว่าเป็นสิ่งที่แฝงหรือแทรกซึม มิใช่อันเดียวกันกับใจ พิจารณาจนเป็นที่เข้าใจในงานของตน โดยถืออายตนะภายนอก กับอายตนะภายใน เป็นที่ทำงานทางสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ไม่ลดละท้อถอย เมื่อพิจารณารอบแล้ว ส่วนที่ปลอมจะหลุดลอยออกไปจากใจ ส่วนที่จริงจะเป็นคู่เคียงของใจ และสนับสนุนใจให้ดำเนินงาน ด้วยความสะดวกคล่องตัวต่อไป จนถึงจุดหมายปลายทาง ไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรคได้

    เมื่อประทานพระโอวาทเกี่ยวกับการรักษาอายตนะสิ้นสุดลง พระทั้งห้าองค์นั้นได้สำเร็จอรหัตภูมิต่อพระพักตร์ของพระศาสดา สิ้นภาระกังวลกับการระวังรักษาอินทรีย์แบบนักโทษในเรือนจำแต่บัดนั้น พร้อมทั้งการยุติข้อทะเลาะวิวาทกัน

    ดังนั้นการรักษาอินทรีย์เกี่ยวกับอายตนทั้ง 6 จึงเป็นสิ่งที่รักษายากมากเสมอกัน ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะเป็นทางผลักดันของกิเลสตัวมหาอำนาจด้วยกัน กิเลสออกทางใดถ้าไม่มีสติระวังตั้งตัว มีปัญญากลั่นกรองด้วยดีแล้ว ต้องล้มทั้งหงายกันทั้งนั้น ไม่มีใครกล้ามาคุยอวดว่าเก่งกล้าสามารถและบริสุทธิ์พุทธะได้ เพราะการปล่อยตัว ปล่อยใจเลยดังนั้น จตุปาริสุทธิศีล จึงเป็นธรรมจำเป็น และสำคัญมากในวงชาวพุทธ และนักปฏิบัติง่ายดายนั่นเอง สำหรับผู้เขียนแล้วไม่อาจเอื้อมกับกิเลสทุกชนิด ทั้งที่ไม่มีธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับมัน หาญสู้ก็จบ ไม่มีทางชนะฉันได้เลย เพราะท่านผู้หลุดพ้นจากกิเลส เป็นบุคคลพิเศษขึ้นมาให้โลกกราบไหว้บูชา เป็นขวัญตาขวัญใจอยู่เวลานี้ ล้วนเป็นผู้เหนียวแน่นแก่นนักรบ จบพรหมจรรย์ด้วยธรรมเหล่านี้ทั้งนั้น

    2. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมระวัง พร้อมกับการรักษาตนด้วยศีล ในพระปาฏิโมกข์ ไม่ล่วงเกินฝ่าฝืนสิกขาบทน้อยใหญ่ อันเป็นมรรยาทและทางดำเนินอันดีงามของนักบวช ศีลในพระปาฏิโมกข์มี 227 ข้อ อนุบัญญัติที่ทรงบัญญัติในลำดับต่อ ๆ มามีมาก ถ้าเทียบแล้ว ที่มาในพระปาฏิโมกข์มีเพียงนิดเดียว ที่มานอกปาฏิโมกข์มีมากมายหลายร้อยหลายพันข้อ ผู้เป็นลูกศิษย์ที่ดี เดินตามครู คือศาสดา ย่อมเคารพในศีลอันเป็นฝ่ายพระวินัยซึ่งเป็นองค์แทนศาสดา

    3. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพแบบพระ แบบลูกศิษย์พระตถาคต เช่นเที่ยวบิณฑบาตด้วยกำลังปลีแข้งมาบริโภคขบฉัน ไม่แสวงหาด้วยกลมารยาปลิ้นปล้อนหลอกลวง ปัจจัยสี่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ผู้ใหญ่ก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผู้รับก็รับด้วยความบริสุทธิ์ในการแสวงหา และการรับไม่มีเล่ห์กลแฝงอยู่แบบโลกที่เป็นกัน แสวงหาแบบพระ ฉันแบบพระ อยู่แบบพระ ใช้สอยปัจจัยสี่แบบพระล้วน ๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อคะนอง ตั้งอยู่ในธรรมสันโดษ มักน้อย อันเป็นพื้นฐานของความเป็นอยู่และการดำเนินของพระผู้มีอาชีวปาริสุทธิศีลเป็นเครื่องประดับเพศ จะอดหรืออิ่ม ก็งดงามในเพศ ไม่ข้ามเขตข้ามแดนแห่งความสวยงามของพระ ธรรมข้อนี้เป็นเครื่องประดับปาก ประดับท้อง และประดับเพศของพระให้สวยงาม ไม่มีวันจืดจางตลอดอวสาน

    4. ปัจจยสันนิสสิตศีล สำรวมระวังเพื่อความบริสุทธิ์ในปัจจัยสี่ที่ตนอาศัย ไม่โลเลในอาหารปัจจัยต่าง ๆ อันเป็นทางไหลมาแห่งมลทิน ความไม่ดีทั้งหลาย ปัจจัยเครื่องอาศัยของสมณะนั้นมี 4 คือ

    จีวร เครื่องนุ่งห่มตามเพศของพระ มีขนาดความสั้นยาวพอดีกับเจ้าตัวผู้ครอง สีย้อมด้วยน้ำฝาด ที่ท่านเรียกว่า ผ้ากาสาวะ ผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด ที่ต้องมีประจำองค์พระขาดไม่ได้มีอยู่ 3 ผืน คือ จีวร สังฆาฏิ อันตรวาสก-ผ้านุ่ง นอกนั้นก็ผ้าอังสะ ผ้าอาบน้ำฝน และผ้าบริขารเครื่องใช้สอยเล็ก ๆ น้อย ๆ

    บิณฑบาต คือก้อนข้าว คืออาหารพื้นที่โลกอาศัยรับประทานกันเป็นอาชีพตลอดมา อาหารหวานคาวที่ไม่ผิดพระวินัยจัดเข้าในบิณฑบาตด้วยกัน ที่พระผู้บวชแล้วต้องอาศัยเช่นโลกทั่วไป

    เสนาสนะ ที่อยู่อาศัยหลับนอนและบำเพ็ญสมณธรรมตามอิริยาบถอัธยาศัยของผู้ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย เช่น รุกขมูลร่มไม้ ตามถ้ำ เงื้อมผา ในป่า ในเขาหลังเขา ไหล่เขา ชายเขา ป่าช้า ป่าช้าและกระต๊อบเล็ก ๆ พอหมกตัวหลับนอนและบำเพ็ญธรรมในวันคืนหนึ่ง ๆ เหล่านี้ท่านเรียกว่า เสนาสนะ คือที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมสำหรับพระผู้บวชและปฏิบัติเพื่ออรรถ เพื่อธรรม เพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อความหลุดพ้นจริง ๆ เสนาสนะเหล่านี้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการอยู่บำเพ็ญได้เป็นอย่างดี ถ้าจะนำออกประกวดดังโลกเขาประกวดวัตถุต่าง ๆ กัน โดยพระพุทธเจ้าทรงนำออกประกวดด้วยพระองค์เอง มิใช่คลังกิเลสนำออกประกวด ก็น่าจะได้คะแนนนำตามหลักศาสนธรรม มิน่าเป็นชนิดหรู ๆ หรา ๆ แน่นหนามั่นคง สวยงาม หลายชั้นหลายเชิงหลายห้องหลายหับ ราคาแพง ๆ จะเป็นคะแนนนำ เสนาสนะที่เป็นคะแนนนำในครั้งพุทธกาลท่านนิยมและสนใจกันมาอย่างนั้น นับแต่พระบรมศาสดาเป็นลำดับมาถึงสาวกทั้งหลาย มิได้ก้าวก่ายกันถึงกับประกาศไว้ในธรรมทั้งหลายอย่างเปิดเผย กุลบุตรทั้งหลายได้อ่านได้ศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติตามสืบทอดกันมาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้

    ส่วนมากต่อมาก สรณะของโลกชาวพุทธเรา ท่านมักอุบัติขึ้นตามเสนาสนะ อันอุดมสมบูรณ์ ด้วยคุณสมบัติที่ส่งเสริมอรรถธรรมโดยถ่ายเดียว ดังกล่าวนี้แทบทั้งนั้น เพราะเป็นสถานที่ให้ความสะดวกแก่การอยู่ การบำเพ็ญ การพักผ่อนหลับนอนตามอัธยาศัยของผู้เห็นภัยในวัฏสงสารด้วยใจจริง พุทธะ ธรรมะ สังฆะ มักเกิดขึ้นในที่เหล่านั้นและเกิดได้ง่ายกว่าที่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย ซึ่งร้อยทั้งร้อยมักเป็นที่เพาะและบำรุงส่งเสริมกิเลสวัฎ เพื่อกรรมวัฏ วิปากวัฎ เป็นกงล้อกงจักร หมุนไปเวียนมาเป็นวงกลม หาทางออกไม่ได้ ราวกับมดแดงไต่ขอบด้งฉะนั้น

    สรุปความแล้ว เสนาสนะดังที่ธรรมแสดงไว้แล้วมีรุกขมูลเสนาสนะเป็นต้น เหล่านั้นแล เป็นเสนาสนะที่ทันสมัยและหนุนความเพียรเพื่อขับไล่กิเลสให้จนตรอกจนมุม และพังทลายออกจากใจได้ไม่เนิ่นนาน

    ดังนั้นผู้ที่เริ่มบวชใหม่ พระอุปัชฌาย์จำต้องบอกสอนเสนาสนะที่เหมาะสมทันสมัยให้ทุก ๆ รูปเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีคำว่า รุกฺขมูลฺเสนาสนํ จะล้าสมัย ถ้าไม่ใช่ตัวผู้บวช ถูกกิเลสฉุดลากบีบบังคับให้ล้าสมัยในธรรมเหล่านี้เสียเอง จึงไม่มีที่คัดค้านสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วได้เรื่อยมา เพราะผู้มุ่งรู้เห็นธรรมภายในใจด้วยการปฏิบัติจิตภาวนาตามทางศาสดาทรงดำเนินและสอนไว้ กับความรักชอบรุกขมูล ร่มไม้ในถ้ำ เงื้อมผา ป่าช้า ป่าชัฏ ย่อมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะเป็นสถานที่เหมาะสมและสนับสนุนทางความเพียรได้ดีกว่าที่ทั้งหลาย แม้โลกนิยมว่าดีมีราคามากเช่น ที่ย่านชุมนุมชน ที่สร้างตลาดร้านค้า ทำเลดี ๆ ราคาแพง ๆ เนื่องจากธรรมและผู้แสวงธรรมไม่เหมือนโลกแม้อยู่ด้วยกัน เพราะความความเห็นความคิดอ่านไตร่ตรองต่างกัน การอยู่และการเสาะแสวงจึงต่างกัน ฉะนั้น สถานที่ธรรมนิยมดังกล่าวจึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับการบำเพ็ญธรรมอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่มีคำว่า ครึ ล้าสมัยแต่เป็นชัยสมรภูมิที่ทันกับการต่อการต่อกรกับกิเลสประเภทต่าง ๆ เสมอไปตราบเท่าฟ้าดินสลาย (ศาสนธรรมหมดจากความนับถือของหมู่ชน) นั่นแล

    คิลานเภสัช คือยาแก้โรคภัยต่าง ๆ ที่ควรนำมาเยียวยารักษาเช่นโลกทั้งหลาย เพราะธาตุขันธ์ของนักบวช กับธาตุขันธ์ของโลกทั่วไปย่อมเหมือน ๆ กันในความเป็นอยู่ และการรักษาด้วยอาหารและหยูกยาต่าง ๆ แต่ครั้งพุทธกาลรู้สึกจะมีหยูกยาน้อยผิดกับสมัยนี้อยู่มาก แม้โรคก็น่าจะไม่พิสดารเหนือเมฆดังสมัยนี้ เพราะยังขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อม ตลอดเครื่องส่งเสริมอยู่บ้าง ในอนุศาสน์จึงมีเพียงฉันยาดองด้วยน้ำปัสสาวะหรือสมุนไพรบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มากจนกลายเป็นสินค้าล้นตลาดดังสมัยปัจจุบันนี้ สมัยนี้คนก็มาก โรคก็มาก หมอก็มาก ยาก็มาก คนล้มตายเพราะโรคชนิดต่าง ๆ ที่ยาและหมอตามไม่ทันก็มาก สมัยก่อน ๆ คนมีน้อย โรคมีน้อย หยูกยาก็มีน้อย การตายเพราะโรคพิสดารเกินคาดก็มีน้อย ใคร ๆ จึงไม่กระตือรือร้นกับหยูกยาและหมอเหมือนสมัยปัจจุบัน

    พระครั้งพุทธกาลตามตำราที่จารึกไว้ ท่านไม่ค่อยแสดงความกังวลและหนักใจกับโรคภัยไข้เจ็บอะไรมากนัก คำว่านำยาติดตัวนั้นน่าจะไม่มี ถ้าจะมีก็เพียงมะขามป้อม สมอ เพื่อแก้ความอ่อนเพลียเป็นบางเวลาของธาตุขันธ์เท่านั้น แต่สิ่งที่ท่านถือเป็นข้อหนักแน่นกว่าสิ่งใดนั้น น่าจะได้แก่มรรคผลนิพพาน จิตท่านหมุนไปทางด้านอรรถด้านธรรมเพื่อความหลุดพ้น มากกว่าจะหมุนมาหาความกลัวโรคภัยไข้เจ็บ ความล้มความตาย และหยูกยา ความกลัวตายมีน้อย แต่ความกลัวจะไม่หลุดพ้นจากกิเลสแลกองทุกข์นั้นมีมาก วันคืนและอิริยาบถหนึ่ง ๆ จิตท่านหมุนอยู่กับธรรมทั้งหลาย คือศรัทธาธรรม วิริยธรรม สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ตลอดเวลา หากเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ขึ้นมา ท่านมักพิจารณาลงในสัจธรรม กลายเป็นเรื่องเยียวยาทั้งโรค ฆ่าทั้งกิเลสไปในขณะเดียวกัน ไม่อ่อนเปียกเรียกหายาและหมอมาเป็นคู่ชีวิตจิตใจ คู่พึ่งเป็น พึ่งตาย จนเกินกว่าความพอดีของพระผู้เชื่อธรรม เชื่อกรรมและเชื่อสัจธรรม ซึ่งเป็นของจริงอันตายตัว เวลาปกติท่านก็สงบงามตา เวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์ท่านก็ไม่แสดงอาการทุรนทุรายระส่ำระสาย ทึ้งเนื้อทึ้งตัว ทิ้งกิริยามรรยาทอันดีงามของสมณะ มีสติประคองตัวไม่โศกเศร้าเหงาหงอย ไม่ลืมอรรถลืมธรรมประจำใจ

    แม้พระธุดงคกรรมฐานในสมัยปัจจุบัน ท่านก็ปฏิบัติต่อตัวท่านเอง ในเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับพระที่กล่าวมาในครั้งพุทธกาล ท่านไม่วิตกกังวลกับไข้ ว่าจะหายหรือไม่หาย จะเป็นหรือจะตาย มากไปกว่าการพิจารณาเป็นสัจธรรมเพื่อรู้เท่าทันกายและทุกขเวทนา สัญญา สังขารอันเป็นเครื่องหลอกจิตในเวลานั้น ซึ่งเป็นการทำลายกิเลสไปในขณะเดียวกัน การที่โรคจะหายหรือไม่นั้น ท่านมอบไว้กับความจริงของโรคของทุกข์ที่ปรากฏอยู่ในเวลานั้น แต่กลมารยาของใจ อันถูกผลักดันออกมาจากกำลังของกิเลสนั้น ท่านถือเป็นสำคัญมาก สติปัญญาต้องจดจ่อต่อเนื่องกันกับทุกข์ กับกาย และกับใจ ที่เกี่ยวโยงกัน เพื่อความรู้แจ้งเห็นชัดตามความจริงที่มีอยู่ แสดงอยู่ด้วยปัญญา และปล่อยวางกันตามลำดับที่สติปัญญาหยั่งทราบความจริง การรักษาด้วยยา ท่านก็รักษา การรักษาด้วยธรรมโอสถ ท่านก็รักษา ซึ่งเป็นการเข่นฆ่ากิเลสไปในขณะเดียวกัน ท่านไม่นั่งนอนเฝ้าทุกข์ให้หายด้วยยาอย่างเดียว ด้วยใจอ่อนเปียกเรียกหาแต่คนมาช่วยแบบนั้น แต่ท่านเรียกหา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มาช่วยบำบัดรักษาไข้และฆ่ากิเลสด้วยในประโยคแห่งความเพียรอันเดียวกัน ผลที่ได้รับ โรคก็ทราบว่าโรค เกิดในกายแต่ไม่อาจเสียดแทงจิตใจท่านได้ ใจก็อาจหาญ เชื่อต่อสัจธรรมประจักษ์ตัว สติปัญญาก็คล่องตัวไม่กลัวทุกข์ ไม่กลัวตาย อยู่อย่างสบายหายห่วง นี่คือการรักษาโรคด้วยธรรมโอสถของพระธุดงคกรรมฐานในสมัยปัจจุบัน ซึ่งท่านทำกันเป็นประจำในวงสัจธรรม
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย

    หลวงปู่ขาวท่านมีลูกศิษย์มากมาย ทั้งพระเณรและฆราวาสจากภาคต่าง ๆของเมืองไทย มาศึกษาอบรมศีลธรรมกับท่านเสมอมิได้ขาด แต่เมื่อชราภาพลงท่านพยายามรักษาความสงบเฉพาะองค์ท่านมากกว่าปกติที่เคยเป็นมา เพื่อวิบากขันธ์จะได้สืบต่อกันไปเท่าที่ควร และเพื่อทำประโยชน์แก่โลกที่ควรได้รับซึ่งมีอยู่มากมาย

    ปกติหลังจากฉันเสร็จแล้วท่านเริ่มเข้าทางจงกรมทำความเพียรราวหนึ่งถึงสองชั่วโมง แล้วออกจากทางจงกรมเข้าห้องพักและทำภาวนาต่อไปจนถึงบ่ายสองโมง ถ้าไม่มีธุระอื่น ๆก็เข้าทางจงกรมทำความเพียรต่อไป จนถึงเวลาปัดกวาดลานวัด ท่านถึงจะออกมาจากที่ทำความเพียร หลังจากสรงน้ำเสร็จก็เข้าทางจงกรม และเดินจงกรมทำความเพียรต่อไปถึงสี่หรือห้าทุ่มจึงหยุด แล้วเข้าที่สวดมนต์ภาวนาต่อไป จนถึงเวลาจำวัดแล้วพักผ่อนร่างกาย ราวสามนาฬิกา คือเก้าทุ่มเป็นเวลาตื่นจากจำวัด และทำความเพียรต่อไปจนถึงเวลาโคจรบิณฑบาต จึงออกบิณฑบาตมาฉัน เพื่อบำบัดกาย ตามวิบากที่ยังครองอยู่

    นี่เป็นกิจวัตรประจำวันที่ท่านจำต้องทำมิให้ขาดได้ นอกจากมีธุระจำเป็นอย่างอื่น เช่นถูกนิมนต์ไปในที่ต่าง ๆ ก็มีขาดไปบ้าง ท่านผู้มีคุณธรรมสูงขนาดนี้แล้ว ท่านไม่หวังความสุขรื่นเริงจากอะไร ยิ่งกว่าความสุขรื่นเริงในธรรมภายในใจโดยเฉพาะ ท่านมีความเป็นอยู่กันสมบูรณ์ด้วยธรรมภายใน อยู่ในท่าอิริยาบถใดใจก็มีความสุขเสมอตัว ไม่เจริญขึ้นและเสื่อมลง อันเป็นลักษณะของโลกที่มีความเจริญกับความเสื่อมเป็นของคู่กัน ทั้งนี้เพราะท่านมีใจดวงเดียวที่บริสุทธิ์สุดส่วน มีธรรมแท่งเดียวเป็นเอกีภาพ ไม่มีสองกับอะไรพอจะเป็นคู่แข่งดีแข่งเด่น จึงเป็นความสงบสุขที่หาอะไรเปรียบมิได้

    จิตที่มีความบริสุทธิ์เต็มภูมิ เป็นจิตที่มีความสงบสุขอย่างพอตัว ไม่ต้องการอะไรมาเพิ่มเติมส่งเสริมให้เป็นความกระเพื่อมกังวลเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์แก่จิตดวงนั้นเลยแม้แต่น้อย ท่านที่ครองจิตดวงนี้จึงชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบความเกลื่อนกล่นวุ่นวาย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องรบกวนความสงบสุขในหลักธรรมชาติที่เป็นอยู่อย่างพอตัว ให้กระเพื่อมรับทราบทางทวารต่าง ๆ ท่านจึงชอบหลีกเร้นอยู่ตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการเหมาะกับจริตนิสัยที่สุด

    แต่ผู้ไม่เข้าใจตามความจริงของท่านก็มักคิดไปต่าง ๆ ว่าท่านไม่ต้อนรับแขกบ้าง ท่านรังเกียจผู้คนบ้าง ท่านหลบหลีกเอาตัวรอดแต่ผู้เดียว ไม่สนใจอบรมสั่งสอนประชาชนบ้าง ความจริงก็เป็นดังที่เรียนมานั่นเอง การอบรมสั่งสอนคน จะหาใครที่อบรมด้วยความบริสุทธิ์ใจและเต็มไปด้วยความเมตตา ไม่สนใจกับอามิสหรือสิ่งตอบแทนใด ๆ เหมือนท่านรู้สึกจะหายากมาก เพราะการอบรมสั่งสอนคนทุกชั้นทุกเพศทุกวัย ท่านสอนด้วยความรู้จริงเห็นจริง จริง ๆ และมุ่งประโยชน์แก่ผู้รับด้วยความเมตตาหาที่ตำหนิมิได้ นอกจากที่ไปรบกวนท่านแบบนอกลู่นอกทาง จึงไม่อาจต้อนรับและสั่งสอนได้ทุกรายไป เพราะสุดวิสัยของพระ จะทำไปนอกที่นอกทาง ตามคำขอร้องเสียทุกอย่าง ของผู้ไม่มีขอบเขตความพอดี ท่านเองก็พลอยได้รับความลำบาก และเสียหายไปด้วย ที่น่าสงสาร

    เวลาท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้ให้ความเมตตาอบอุ่น แก่พระเณรจำนวนมาก ตลอดประชาชนในภาคต่าง ๆ แห่งประเทศไทย พากันไปกราบไหว้บูชา ฟังการอบรมกับท่านเสมอมิได้ขาด ทางวัดเห็นความลำบากในองค์ท่าน เพราะเข้าวัยชราแล้ว จำต้องจัดให้มีกาลเวลาที่คณะเข้ากราบเยี่ยม รับการอบรม และเวลาพักผ่อนพอสมควรเพื่อทำประโยชน์แก่โลกไปนาน ไม่หักขาดสะบั้นลง ในระหว่างที่อายุยังไม่ถึงกาลที่ควรจะเป็น

    โดยมากการต้อนรับขับสู้กันระหว่างพระผู้เป็นครูอาจารย์ กับประชาชนจำนวนมากที่มาจากที่ต่าง ๆ ประกอบนานาจิตตังด้วยแล้ว พระอาจารย์องค์นั้น ๆ มักจะเป็นฝ่ายบอบช้ำอยู่เสมอ ทุกเวลานาทีที่มีผู้ไปเกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนมากก็หวังให้ได้อย่างใจของตัว ไม่คำนึงถึงความลำบากและหน้าที่การงานของท่าน ที่ทำประจำวันเวลาบ้างเลย จึงมักถูกรบกวนยิ่งกว่าน้ำบึงน้ำบ่อเสียอีก หากไม่สมใจหวังบ้างก็ทำให้เกิดความขุ่นมัวภายในว่า ท่านรังเกียจถือตัว ไม่ให้การต้อนรับขับสู้สมกับเพศที่บวชมาเพื่อชำระกิเลส ประเภทถือตัวและขัดใจคน นอกจากนั้นก็ตั้งข้อรังเกียจขึ้นภายใน และระบายออกในที่ต่าง ๆ อันเป็นทางให้เกิดความเสื่อมเสียตาม ๆ กันมาไม่มีสิ้นสุด พระที่ควรเคารพเลื่อมใส และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็อาจกลายเป็นพระที่มีคดีติดตัว โดยไม่มีศาลใดกล้าตัดสินลงได้

    ความจริงพระบวชมา ก็เพื่อทำประโยชน์แก่ตน และแก่โลก เต็มความสามารถไม่นิ่งนอนใจ เวลาหนึ่งทำงานอย่างหนึ่ง อีกเวลาหนึ่งทำงานอย่างหนึ่ง ไม่ค่อยมีเวลาว่างในวันคืนหนึ่ง ๆ ทั้งจะเจียดเวลาไว้สำหรับโลก ทั้งจะเจียดไว้สำหรับพระเณรในปกครอง และทั่วไปที่มาเกี่ยวข้อง ทั้งจะเจียดไว้สำหรับธาตุขันธ์และจิตใจให้จีรังไปนานเพื่อทำประโยชน์แก่โลกสืบไป วันคืนหนึ่ง ๆ กายกับใจหมุนตัวเป็นกงจักร ไม่มีเวลาพักผ่อนหย่อนกายหย่อนใจบ้างเลย คิดดูแล้วแม้แต่เครื่องใช้สอยต่าง ๆ เช่นรถยนต์เป็นต้นยังมีเวลาพักเครื่องหรือเข้าโรงซ่อมแก้ไขส่วนบกพร่องให้สมบูรณ์เพื่อทำประโยชน์ต่อไป ไม่เช่นนั้นก็ฉิบหายบรรลัยไปในไม่ช้า พระก็มิใช่พระอิฐพระปูนที่ต้องถูกโยนขึ้นบนตึกนั้นร้านนี้เพื่อการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ สุดแต่นายช่างเห็นสมควรจะโยนขึ้น ณ ที่แห่งใด เมื่อเป็นเช่นนี้ จำต้องมีเมื่อยหิวอ่อนเพลีย และมีการพักผ่อนหย่อนภาระ ที่ตึงเครียดมาตลอดเวลา พอได้มีเวลาเบากายสบายจิตบ้าง

    โดยมากญาติโยมเข้าหาพระ มักจะนำนิสัยและอารมณ์ตามชอบใจ เข้าไปทับถมรบกวนพระ ให้ท่านอนุโลมทำตาม โดยมิได้คิดคำนึงว่าผิดหรือถูกประการใด เพราะนิสัยเดิมมิได้เคยสนใจในเหตุผล ผิดถูกดีชั่วเท่าที่ควรมาก่อน เมื่อเกิดความต้องการ ประสงค์ในแง่ใด และจะให้ท่านช่วยเหลือในแง่ใด จึงไม่ค่อยคิดนึกว่า พระกับฆราวาส มีจารีตประเพณีต่างกัน

    คือพระท่านมีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องประพฤติดำเนิน จารีตประเพณีของพระ ก็คือพระธรรมวินัยเป็นเครื่องแสดงออก ซึ่งจำต้องคำนึงความผิดถูกชั่วดีอยู่ตลอดเวลา ว่าสิ่งนี้ควรหรือไม่ควรเป็นต้น ส่วนฆราวาสไม่ค่อยมีธรรมวินัยประจำตัวเป็นหลักปฏิบัติ โดยมากจึงมักถือความชอบเป็นความประพฤติ

    เมื่อนำเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระ ฝ่ายพระจึงมักถูกรบทวน และทำลายโดยไม่มีเจตนา หรือถูกทำลายทางอ้อมอยู่เสมอ เช่นไปขอให้ท่านบอกเบอร์ ซึ่งเป็นการขัดต่อพระธรรมวินัยของพระ ไปขอให้ท่านทำเสน่ห์ยาแฝด อันเป็นการทำให้หญิงกับชายรักชอบกัน ไปขอให้ท่านบอกฤกษ์งามยามดีเพื่อโชคลาภร่ำรวย หรือเพื่ออะไรร้อยแปดพรรณนาไม่จบ ให้ท่านดูดวงชะตาราศี ทำนายทายทักให้ท่านบอกคาถาอาคมเพื่ออยู่ยงคงกระพันชาตรี ยิงฟันไม่ออก แทงไม่เข้า ทุบตีไม่แตก ไปขอให้ท่านรดน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์เข็ญเวรภัยร้ายดีต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งเป็นการขัดต่อจารีตประเพณี คือพระธรรมวินัยของพระ ที่จะอนุโลมได้ ยิ่งครูอาจารย์ที่ประชาชนเคารพนับถือ ก็ยิ่งได้รับความกระทบกระเทือนด้วยเรื่องดังกล่าว และเรื่องอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันมากมาย จนไม่อาจพรรณนาได้ ในวันหนึ่ง ๆ

    เฉพาะพระธุดงค์ที่ท่านมุ่งอรรถ มุ่งธรรม มุ่งความหลุดพ้น ในสายท่านอาจารย์มั่น ท่านมิได้สนใจกับสิ่งพรรค์นี้ ท่านถือว่า เป็นข้าศึกต่อการดำเนินโดยชอบธรรม และเป็นการส่งเสริมคนให้หลงผิดมากขึ้นหนักเข้า อาจเป็นการทำลายพระ และพระศาสนาอย่างออกหน้าออกตาก็ได้ เช่น เขาให้นามว่าพระบัตรพระเบอร์ ศาสนาบัตรเบอร์ พระเสน่ห์ยาแฝด ศาสนาเสน่ห์ยาแฝด เป็นต้น ซึ่งทำให้พระและศาสนามัวหมอง และเสื่อมคุณภาพลงโดยลำดับ อย่างหลีกไม่พ้น ที่ผลนั้นสืบเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว การกล่าวทั้งนี้ มิได้คิดตำหนิท่านสาธุชนทั่ว ๆ ไป และมิได้คิดตำหนิท่านผู้เข้าหาพระโดยชอบธรรม เป็นเพียงเรียนเผดียงเพื่อทราบวิธีปฏิบัติต่อกัน ระหว่างพระกับประชาชน ซึ่งแยกกันไม่ออกแต่ไหนแต่ไรมา จะได้ปฏิบัติต่อกันโดยสะดวกราบรื่น สมกับต่างฝ่ายต่างหวังดี และพึ่งเป็น พึ่งตาย กันตลอดมา และต่างฝ่ายต่างหวังเชิดชูพระศาสนาด้วยกัน
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติอาจารย์หลวงปู่ขาว อนาลโย :หลวงปู่ป่วยหนัก

    เริ่มแต่วันที่ 18 มกราคม 2510 หลวงปู่เริ่มป่วย ขั้นเริ่มแรกก็เป็นไข้หวัดแต่อาการของหวัดนั้นผันแปรไปในแง่ต่าง ๆ ที่จะยังโรคอื่น ๆ ให้แทรกซ้อนและกำเริบรุนแรงไปตาม ๆ กัน หนักเข้าจนฉันไม่ได้ เริ่มแรกเป็นไข้หวัดใหญ่ที่ยังไม่แปรเป็นโรคอื่น ๆ หลายชนิดในธาตุขันธ์นั้น ท่านยังอุตส่าห์ลงไปฉันจังหันร่วมพระเณร ในวัดที่หน้าถ้ำกลองเพลได้ตามปกติ ในสายตาคนภายนอก ก็อาจคิดว่า ท่านมิได้เป็นอะไร นอกจากโรคชราประจำคนแก่อย่างเดียวเท่านั้น แต่เพราะโรคกำเริบแปรเป็นอย่างอื่นไปไม่มีสิ้นสุด กำลังธาตุขันธ์ก็ทรุดลงทุกวันเวลา จนไม่สามารถไปฉันร่วมหมู่คณะที่ถ้ำได้ ท่านยังยอมอดยอมทนและฝืนฉันแม้จะได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่กุฎีท่านเอง จนฉันไม่ได้ กำลังอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด การพลิกแพลงอวัยวะจำต้องมีพระเณรคอยดูแลอุปัฏฐากตลอดเวลา

    ข่าวคราวความไม่สบายของหลวงปู่กระจายไปถึงไหน คลื่นมนุษย์ ประชาชนพระเณร มาถึงนั้นอย่างรวดเร็ว เพราะต่างคนต่างมีจิตใจใฝ่ฝัน ยึดมั่นในองค์ท่านเป็นที่ฝากเป็นฝากตายภายในใจ อย่างแนบสนิทอยู่แล้ว เมื่อทราบข่าวว่า ท่านไม่สบาย ก็จำต้องสะเทือนใจอย่างหนัก ราวกับฟ้าดินถล่ม ขั้วหัวใจจะขาดหายไปจากร่างในเวลานั้นจนได้ นับแต่ข่าวนั้นผ่านเข้าความรู้สึก ต่างก็หลั่งไหลมาทุกทิศทุกทาง ทั้งประชาชนทั้งพระเณรจากทิศต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลต่างหลั่งไหลมาเยี่ยมอาการของท่านด้วยความกระหาย อยากพบ อยากเห็น อยากกราบไหว้บูชา เป็นขวัญตาขวัญใจ ในขณะที่เข้ามากราบไหว้ท่าน

    วัดถ้ำกลองเพลในช่วงที่ท่านป่วยนั้น จึงเป็นเหมือนมีงานในวัด แออัดไปด้วยผู้คนหญิงชาย พระเณรแลฆราวาสที่มาจากที่ต่าง ๆ จนทางวัดไม่อาจรับรองได้ทั่วถึง ทั้งที่พักหลับนอน อาหารการบริโภค ต่างให้ช่วยตัวเองบ้าง ช่วยกันเองบ้าง ในเวลาขาดแคลนจำเป็น เพราะวัดก็เป็นสถานที่อยู่ของนักบวช ผู้ขอทานชาวบ้านมาฉัน มิใช่สถานที่อยู่ของมหาเศรษฐีซึ่งต่างก็ทราบกันอยู่แล้ว แต่ก็ดีอย่างหนึ่ง ที่วัดถ้ำกลองเพลมีบริเวณอันกว้างขวาง และเต็มไปด้วยป่าด้วยเขา ร่มไม้ เงื้อมผาต่าง ๆ การพักอยู่หลับนอนจึงสะดวก โดยยึดเอาป่าเขาร่มไม้ในบริเวณวัด เป็นที่พักผ่อนหลับนอนเลยทีเดียว อย่างสบายหายห่วง เป็นความสะดวกทั้งพระเณร และประชาชนจำนวนมาก ที่มาพักเยี่ยมอาการท่านชั่วคราว

    เฉพาะอาหารการบิณฑบาตสำหรับพระเณรและประชาชน แทนที่จะอดอยากขาดแคลน เพราะคนมากด้วยกัน แต่ก็มีอุดมสมบูรณ์ แต่ต้นชนปลายที่ท่านป่วยซึ่งเป็นเวลา 4 เดือนกว่า ไม่บกพร่องขาดเขินเลย นับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ในบุญวาสนาบารมีของหลวงปู่ท่านคุ้มครอง แม้ผู้คนพระเณรจำนวนมาก ที่มาคละเคล้ากันก็เป็นประหนึ่งลูกของพ่อแม่เดียวกัน หรือเป็นเหมือนอวัยวะอันเดียวกัน อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ไม่มีอธิกรณ์หรือเรื่องราวใด ๆ เกิดขึ้นเลย ต่างมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พบปะทักทายกันอย่างนุ่มนวลอ่อนหวาน ราวกับเคยพบเห็น และสนิทสนมกันมาเป็นเวลานานปี เริ่มแรกที่ท่านป่วย ทางวัดและครูอาจารย์ทั้งหลายปรึกษากันไว้ เกี่ยวกับผู้คนพระเณรมามาก อาจเกิดความไม่สงบขึ้นได้ พร้อมกับความเข้มงวดกวดขันพระเณรที่ก้าวเข้ามาในวัด เพื่อรักษาความสงบในหมู่คณะที่เข้าเกี่ยวข้องกันไว้ ไม่ประมาท เรื่องราวก็ผ่านไป ด้วยความสงบราบรื่นดีงามทุกประการ น่าอนุโมทนาอย่างยิ่งไม่น่าจะหลงลืมได้ลงคอ ในชีวิตของผู้เขียนและท่านผู้เคยได้พบเห็นเหตุการณ์นี้ด้วยกัน

    หลวงปู่ฉันไม่ได้และทอดลงโดยลำดับ ประชาชนพระเณรยิ่งหลั่งไหลมาทุกทิศทุกทาง ระยะที่ท่านป่วยนับแต่เริ่มต้นป่วยหนัก ผู้เขียน (หลวงตาบัว) ก็มาอยู่กับท่านเป็นประจำ หลายวันจะกลับไปค้างวัดสักคืนสองคืนก็ต้องรีบกลับมา ทั้งนี้เพราะเป็นห่วงท่านมาก และเพื่อความสงบเรียบร้อยในด้านอื่น ๆ แต่ก็เดชะบารมีของหลวงปู่ท่านคุ้มครองรักษา สถานการณ์ทุกด้านสงบเรียบร้อยดี

    สำหรับอาการของท่านเมื่อขบฉันอะไรไม่ได้ ธาตุขันธ์ก็ยิ่งทอดลงอย่างเห็นได้ชัดในสายตาทั่ว ๆ ไป เมื่อเรียนถามถึงความเป็นอยู่และการจากไป ท่านให้เหตุผลอย่างจับใจไพเราะมาก ว่า

    จะมีอะไรในธาตุขันธ์อันนี้ จะไปเมื่อไรก็มิได้วิตกวิจารณ์อาลัยเสียดายมันนี่ เพราะก็เห็นแต่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นส่วนผสมของชาติรวมตัวกันอยู่เท่านั้น ถ้าผู้รู้คือใจไปปราศเสียเมื่อไร เมื่อนั้นมันก็กระจายลงไปสู่ธาตุเดิมของตนทันที ไม่รอฟังเสียงใคร ๆ ทั้งสิ้นเลยแหละ

    ถ้าไม่คิดเกี่ยวข้องกับหมู่คณะและประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียรวมอยู่ด้วยแล้ว แม้ขันธ์จะแตกไปเดี๋ยวนี้ก็ให้แตกไป เราก็หมดความรับรู้ความรับผิดชอบลงทันที ไม่มีภาระใดต้องแบกหามอีกแล้ว คำว่า อนาลโย ที่เป็นฉายาของเรามาแต่วันเริ่มบวช จะได้เป็นความจริงตัวจริงขึ้นมาอย่างสมบูรณ์

    เวลานี้ที่ อนาลโย ของเรายังไม่สมบูรณ์ ก็เพราะ ขันธสมมติ ขันธปัญจก ขอแบ่งไว้ ต้องรับผิดชอบเขาทุกด้านทุกทาง คือต้องพาอยู่ พากิน พาหลับ พานอน พาขับ พาถ่าย พาเปลี่ยนอิริยาบถท่านั้นท่านี้ ไม่ได้หยุดหย่อนผ่อนคลายบ้างเลย ราวกับพัดลมหมุนติ้ว ๆ อยู่ทำนองนั้น

    ขึ้นชื่อว่าสมมติ ๆ มันมีความสงบนิ่งอยู่เป็นปกติสุขได้เมื่อไร ต้องหมุนของมันอยู่ทำนองนั้น ข้างนอกก็หมุน ข้างในก็หมุน แม้ขันธ์ห้าในร่างกายของเรานี้ก็หมุน มันอยู่สงบสุขไม่ได้ จะไปหวังเอาความสุขความสบายจากมัน ซึ่งเป็นตัวหมุนติ้ว ๆ อยู่นี้ได้อย่างไร ถ้าใครจะหวังเอาความสุขความสบายจากขันธ์ อันเป็นบ่อแห่งความทุกข์ความกังวลนี้ ผู้นั้นก็คือผู้พลาดหวังตลอดไป จะไม่มีขันธ์ใดมาสนองตอบความสมหวังนั้นเลย

    ผมเองก็ครองขันธ์นี้ แบกขันธ์นี้ มาร่วมเข้าแปดสิบปีนี้แล้ว ก็ไม่เห็นได้สิ่งพึงใจสนองตอบจากขันธ์อันนี้ ที่เด่น ๆ ก็มีแต่ทุกข์เท่านั้น ทั้งทุกข์ย่อยทุกข์ใหญ่แสดงอยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ ไม่เคยเห็นความสงบสุขของขันธ์ ปรากฏให้รู้เห็นอย่างชัดเจนบ้างเลย เวลาปกติไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็แสดงทุกข์ประจำขันธ์ขึ้นมาอยู่นั่นแล เช่น เจ็บนั้นปวดนี้ตามอวัยวะน้อยใหญ่ ไม่เห็นแสดงความสุขให้เห็นนี่นา ที่ว่ากันว่า สุข ๆ นั้นก็เสกสรรเอาเฉย ๆ ด้วยความติดปากติดใจในสุขต่างหาก ความจริงแล้วร่างกายส่วนต่าง ๆ ไม่เคยแสดงความสุขอย่างเด่นชัดให้เห็น เหมือนแสดงความทุกข์ให้แบกหามซึ่งแต่ละครั้งแทบสลบไสลและตายได้ ถ้าทุกข์นั้นไม่หยุดการแสดงตัว ใคร ๆ อย่าไปหลงลมหลงแล้งในขันธ์ ว่าจะเอาสุขมาแจกแบ่งพอให้ดีใจบ้าง นอกจากทุกข์ร้อยแปด คณนาไม่จบสิ้นเท่านั้น ที่มันมาทุ่มให้แบกให้หามเรื่อยมา ผมเองก็ยอมรับว่า แบกขันธ์อันเป็นกองทุกข์นี้มาแปดสิบปีนี้เอง ยังจะให้ทนแบกไปถึงไหนกันอีก

    พูดจบประโยคแล้วท่านยิ้มนิด ๆ ราวกับท่านยิ้มเยาะเย้ยกิเลสและวิบากของกิเลส คือขันธ์ที่ท่านกำลังครองอยู่

    จะให้ผมแบกกองฟืนกองไฟไปหาอะไรโดยเข้าใจว่าขันธ์นี้จะเอาของอัศจรรย์มาหยิบยื่นให้ ผมไม่สงสัยในขันธ์นี้ทั้งที่กำลังครองตัวอยู่ และสลายจากกันไป ผมเป็นผม ขันธ์เป็นขันธ์ จะให้คว้ายึดมาบวกกันหาอะไร การปล่อยขันธ์โดยสิ้นเชิงเท่านั้น อนาลโย จึงสมบูรณ์แบบ

    การเมตตาสงสารหมู่เพื่อนและประชาชนนั้น ยอมรับว่าเต็มดวงใจไม่มีบกพร่อง การฝืนอยู่ทั้งที่รู้ว่าขันธ์นี้เป็นทุกข์ ก็ฝืนอยู่ เพราะความเล็งประโยชน์แก่ผู้ควรได้รับ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากต่อมากนั้นแล ลำพังตัวผมเองพร้อมเสมอที่จะปล่อย ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ที่เคยเป็นบ่อแห่งน้ำตาของสัตว์โลกและของเราผู้เคยหึงหวงมัน เวลานี้เราไม่หวังไม่หวง และพร้อมที่จะปล่อยวางลงตามธาตุเดิมของเขา ไม่ขัดไม่ขืนไม่ฝืนความจริง เนื่องจากเคยฝืนมาแล้ว เจอแต่ทุกข์จนเข็ดหลาบอย่างถึงใจ มาบัดนี้จึงไม่ฝืน พลอยตามคติธรรมดาซึ่งเป็นทางเดินของธรรมคือความจริงอันตายตัว

    ท่านผู้เคยรับผิดชอบกอบกู้ตัวเองมาโดยหลักธรรมชาติ ไม่มีใครบอก ไม่มีใครบังคับ แต่ความจำเป็นหากบังคับตัวเอง ให้จำต้องรับผิดชอบในตัวเองด้วยกันทุกตัวสัตว์ จงอย่าประมาท และจงถือจิตเป็นรากฐานสำคัญพาดำเนินทั้งการอาชีพและการบำเพ็ญความดีทั้งหลาย ตลอดความประพฤติอัธยาศัย การแสดงออกทุกอาการ จงแสดงออกด้วยการรับผิดชอบตัวเอง โดยทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เราเป็นผู้ทำดีทำชั่ว เราเป็นผู้แสดงออกด้วยอาการต่าง ๆ ซึ่งมีเจ้าของเป็นผู้รับผิดชอบ คือเราเองเป็นผู้คอยรับผลดี-ชั่วของงานนั้น ๆ ผลงานนั้น ๆ ไม่สูญหายไปไหน จะไหลเข้าสู่ต้นเหตุคือเราซึ่งเป็นผู้ทำ ผู้แสดงออก

    คำว่าเราอันเป็นหลักใหญ่ในตัวคนก็คือใจ ใจเป็นของไม่ตาย และไม่เคยตายมาแต่กาลไหน ๆ นอกจากระเหเร่ร่อนไปเกิดในกำเนิดดี-ชั่วต่าง ๆ ตามอำนาจของวิบากกรรมดี-ชั่วที่ตนทำไว้พาให้เป็นไปเท่านั้น ยิ่งคำว่าตายแล้วสูญ นั่นไม่มีในใจดวงใด ๆ เลยทั้งใจสัตว์ใจบุคคล แม้ใจพระพุทธเจ้าและใจพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลสตัวพาให้เกิด-ตายแล้วก็ไม่สูญ แต่ไม่เที่ยวแสวงหาที่เกิดต่อไปเหมือนใจที่มีกิเลสเป็นเชื้อพาให้เกิด-ตายเท่านั้น เพราะใจนั้นเป็นใจ อนุปาทิเสสนิพพานของผู้สิ้นกิเลสโดยสมบูรณ์แล้ว

    อันคำว่า ตายแล้วสูญ ก็ดี คำว่าบาปไม่มีก็ดี คำว่าบุญไม่มีก็ดี คำว่านรกไม่มีก็ดี คำว่าสวรรค์ไม่มีก็ดี คำว่านิพพานไม่มีก็ดี เหล่านี้เป็นหลักวิชาในคัมภีร์ของกิเลสตัวครองไตรภพ มันเรียนจบวิชาเหล่านี้แล้วจึงครองหัวใจสัตว์โลก แม้มันจะโขกจะสับสัตว์โลกลงหนักเบามากน้อยเพียงไร ก็ทำได้ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงและสะทกสะท้าน ต่อผู้พูดว่าจะมาหาญสู้กับมัน เพราะวิชามันดี ทันสมัย สัตว์โลกยอมรับอย่างหมอบราบไม่กล้าฝ่าฝืน ร้อยทั้งร้อย วิชาทุกแขนงจากคัมภีร์กิเลสที่เสี้ยมสอนไว้ ต้องเป็นวิชาลบล้างความจริงของธรรมที่แสดงไว้ทั้งสิ้น เช่น ความจริงแห่งธรรมแสดงไว้ว่า ตายแล้วเกิด วิชาจากคัมภีร์ของกิเลส ต้องสอนกลับกันว่า ตายแล้วสูญ เช่นธรรมว่า บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี นิพพานมี วิชาของกิเลสจะปฏิเสธ หรือลบล้างทันทีว่า บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี นิพพานไม่มี ดังนี้ ทุกคัมภีร์ไม่ก้าวก่ายกัน



    ดังนั้นพวกเราชาวพุทธ จำต้องได้พิจารณาเลือกเฟ้น ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ไม่ทั้งนี้ต้องโดนคัมภีร์ของกิเลสฉุดลากลงเหวลงบ่อ ลงนรกอเวจีเพราะความหลงเชื่อกลมัน ชนิดไม่มีใครช่วยได้ เพราะสายเกินแก้เสียแล้ว การแก้หรือการชำระล้างกิเลส และคัมภีร์ของกิเลส ที่ฝังจมอยู่ภายในใจเรา จึงควรแก้ควรล้างด้วยคัมภีร์พุทธธรรมเสียแต่บัดนี้ ที่ยังมีชีวิตและเป็นกาลอันควรอยู่ ตายแล้วหมดโอกาสจะทำได้ นอกจากเสวยผลดี-ชั่วที่ตนเคยทำไว้เมื่อคราวเป็นมนุษย์เท่านั้น

    คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นั้นท่านสอนให้พึ่งตัวเอง ไม่ให้หวังพึ่งใครในภพกำเนิดใดทั้งสิ้น ท่านสอนให้ทำความดีเพื่อตัวเองเสียแต่บัดนี้ จะอบอุ่นภายในใจทั้งยังมีวิตอยู่ และเวลาตายไป เนื่องจากความมีคุณธรรมคุ้มครองป้องกันตัว ผิดกับผู้ไม่มีบุญมีธรรมอยู่มาก ส่งไปถือกำเนิดเกิด ณ ที่สุดก็มีแต่กำเนิดที่เกิดที่อยู่อันเป็นฟืนเป็นไฟไปตาม ๆ กันหมด

    ขึ้นชื่อว่ากิเลสตัวเป็นมารของธรรมแล้ว ต้องเป็นมารของสัตว์โลกไม่มีทางสงสัย การแสดงออกของมัน มีแต่การหลอกลวงสัตว์โลก ให้เข้าสู่หลุมถ่านเพลิง คือกองทุกข์ไม่มีประมาณ โดยถ่ายเดียว หาที่พอเชื่อถือและยึดเป็นที่อาศัยชั่วระยะเดียวก็ไม่ได้ ผลเต็มไปด้วยฟืนด้วยไฟทุกกิ่งทุกแขนง ไม่มีเกาะมีดอนพอให้หายใจด้วยมันได้ ปราชญ์ท่านจึงตำหนิติเตียนมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยยกยอบ้างเลยว่า กิเลสก็ทำให้โลกร่มเย็น กิเลสก็เป็นธรรม ให้ความเสมอภาคยุติธรรมแก่โลกเป็นต้น นอกจากกลหลอกลวงเต็มตัวของมันมาทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยทิ้งลวดลายแห่งการปลิ้นปล้อนหลอกลวงสัตว์โลกผู้โง่เขลาที่น่าสงสารบ้างเลย

    สำหรับธรรมมีแต่ความอ่อนโยน เมตตาสงสาร กรุณาช่วยให้สัตว์โลก พ้นจากความโง่เขลาเบาปัญญา ให้พ้นจากความทุกข์ทรมานต่าง ๆ พึงส่งเสริมให้บรรเทาเบาบางจากทุกข์ ให้มีความสงบสุขโดยถ่ายเดียว ระหว่างกิเลสกับธรรมต่างกันมาก จนหาส่วนเทียบกันไม่ได้ เดินสวนทางกันร้อยเปอร์เซ็นต์ กิเลสหลอกลวงสัตว์ ผูกมัดสัตว์ให้จมอยู่ในวัฏทุกข์โดยถ่ายเดียว ส่วนธรรมพยุงส่งเสริมสัตว์ รื้อขนสัตว์ให้ขึ้นจากวัฏทุกข์โดยลำดับจนถึงวิมุตติหลุดพ้น ไปได้โดยสิ้นเชิง ฉะนั้น ระหว่างกิเลสกับธรรมจึงต่างกันมากดังที่กล่าวมาดังนี้

    หลวงตาบัว ผู้เขียนกราบเรียนถามความรู้สึกของท่านที่มีต่อขันธ์เวลานั้น ท่านเทศน์เสียยกใหญ่ราวกับไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอ่อนเพลียในธาตุขันธ์บ้างเลย พูดจนผู้ฟังสะดุ้งไปตาม ๆ กัน ทั้งสุ้มเสียง ทั้งกิริยาการแสดงออก ทั้งความเข้มข้นแห่งธรรมที่หลั่งไหลออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ของท่านเวลานั้น ซึ่งไม่มีใครคาดฝันว่า ท่านจะสามารถฝืนขันธ์ แสดงได้อย่างถึงพริกถึงขิง ถึงกิเลส ถึงธรรมขนาดนั้น ผู้ฟังทั้งหลายต่างยิ้มแย้มแจ่มใส หูตาสว่างไปตาม ๆ กัน

    ในขณะนั้น ผู้เขียนมีนิสัยไม่พอดี จึงมักไม่มีความอิ่มพอในธรรมที่ท่านเมตตาอธิบายให้ฟัง ยังอยากฟังให้ยิ่งขึ้นไป แล้วสอดแนบปัญหาธรรมแถมพกถวายท่านตอนท้าย ต่อไปนี้ครูบาอาจารย์จะนับวันหายวันหายคืนไปโดยลำดับและหายขาดเป็นปกติในธาตุขันธ์ ไม่อาจสงสัยเลย เพราะธรรมที่ครูบาอาจารย์โปรดเมตตาครั้งนี้ เป็นธรรมประเภทเผาเกลี้ยงเตียนโล่งโรคในขันธ์ โรคต้องแตกกระจายไปหมด ไม่มีโรคชนิดใดจะหาญสู้ธรรมประเภทเผาเกลี้ยงนี้ได้ แม้แต่กิเลสที่เหนียวแน่นกว่าโรคชนิดต่าง ๆ มันยังต้องพินาศไปเพราะธรรมประเภทนี้สังหารทำลาย

    ท่านตอบอย่างน่าฟังและฝังใจไม่มีวันลืมว่า

    ขันธ์เป็นขันธ์ โรคเป็นโรค กิเลสเป็นกิเลส ธรรมเป็นธรรม มันคนละอย่าง หยูกยาควรแก่การรักษาโรค ปราบโรค ธรรมควรแก่ทางแก้กิเลสปราบกิเลส จะนำมาปราบโรคบางชนิดมันไม่เหมาะสมกัน โรคที่ควรจะหายด้วยธรรมก็มี ที่ไม่อาจหายได้ด้วยธรรมก็มี ผู้ปฏิบัติควรทำความเข้าใจเอาไว้ อย่าให้ความรู้ ความเชื่อ การกระทำ เลยเถิดแห่งกรรมคือความพอดี

    การแสดงวันนี้ เราแสดงเป็นธรรมล้วน ๆ เพื่อความรื่นเริงในธรรมทั้งหลาย และเพื่อถอดถอนกิเลสในขณะฟัง มิได้เกี่ยวกับขันธ์จะหาย โรคจะพินาศดังที่เข้าใจนั้น ขันธ์จะหายหรือจะตายไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ให้กิเลสตายจากใจ เพราะกรรมที่แสดงนี้เผาผลาญ นั่นเป็นความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพวกเรานักปฏิบัติธรรม ดังนั้นจงพากันพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาในธรรมที่กล่าวมา จะเป็นกำลังใจและส่งเสริมอุบายสติปัญญา ถอดถอนกิเลสภายในออกได้เป็นวรรคเป็นตอน

    ครั้งพุทธกาลท่านฟังธรรมด้วย โอปนยิโก น้อมธรรมเข้าสู่ตนโดยลำดับที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ยอมให้ธรรมนั้นรั่วไหลหลุดลอยผ่านหูผ่านใจไปเปล่า ๆ ดังพวกเราส่วนมากฟังกัน ผลคือการแก้ การถอดถอนกิเลสในขณะฟัง จึงไม่ค่อยปรากฏเท่าที่ควร ดีไม่ดีคอยสั่งสมกิเลสในขณะฟังยังมีดาษดื่น เพียงแต่ไม่สนใจคิดกัน จึงไม่ทราบได้ว่า ตนฟังเพื่อธรรม หรือฟังเพื่อกิเลสพอกพูนตัว หัวเราะธรรม

    พระพุทธเจ้าแลสาวกท่านเทศน์ เทศน์จากธรรมของจริงภายในพระทัยและใจล้วน ๆ มิได้เทศน์จากความจำของสัญญา ดังพวกเราเทศน์ ปฏิปทาเครื่องดำเนินทุกประเภท ทั้งหยาบ ทั้งกลาง ทั้งละเอียด ท่านบำเพ็ญมาอย่างเต็มกำลังและรู้อย่างเต็มพระทัยและเต็มหัวใจ ทั้งฝ่ายมรรคเป็นขั้น ๆ ทั้งฝ่ายผลเป็นภูมิ ๆ นับแต่ภูมิต่ำจนถึงภูมิอันสูงสุดวิมุตติหลุดพ้น ท่านจึงเทศน์อย่างไม่อดไม่อั้น มีแต่ธรรมบริสุทธิ์ล้วน ๆ หลั่งไหลออกมาจากกระแสแห่งใจ กลมกลืนกันออกมา กับกระแสเสียง ผู้ฟังด้วยความสนใจมุ่งต่อความจริงล้วน ๆ จึงสามารถตักตวงเอาธรรมของจริงขึ้นมาอย่างเต็มหัวใจ ไม่ขาดทุนสูญดอกจากการฟังธรรมแต่ละครั้ง ๆ

    กิเลสจะเป็นประเภทใดก็ตาม แม้ฝังลึกลงขั้วหัวใจ เมื่อสติปัญญาธรรมเป็นต้น เขย่าก่อกวนลวนลามอยู่ไม่หยุดยั้ง กิเลสย่อมโยกคลอนและถูกถอนขึ้นมาทีละชิ้นละอัน สุดท้ายใจก็เป็นเรือนร้างว่างเปล่าจากกิเลสทั้งปวง กลายเป็นใจที่สมบูรณ์ด้วยธรรมขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน

    ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จงพากันตั้งใจฟัง ตั้งใจปฏิบัติภาวนาให้ถึงใจทุกอย่าง ความจริงใจต่อธรรมเข้าถึงไหน ความโยกคลอนถอนตัวของกิเลสจะกระเทือนถึงนั้น โดยไม่ต้องสงสัย ทั้งครั้งนี้และครั้งพุทธกาล ผู้ปฏิบัติจริงสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้เท่าเทียมกัน สมกับธรรมเป็นหลักธรรมชาติคงเส้นคงวา มัชฌิมาปฏิปทาเป็นธรรมเหมาะสมกับการฆ่ากิเลสให้หลุดลอยจากใจมาแล้วทุกยุคทุกสมัย ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่า จงระวังกิเลสอย่างเดียวที่เป็นคู่แข่งธรรม อย่าให้มันปีนขึ้นบนหัวได้ จะถ่ายรดลงทันที จงระวังให้ดี เอาละพูดพอเป็นคติเตือนใจท่านผู้มีความจงรักภักดีต่อครูอาจารย์ อุตส่าห์มาเยี่ยมเยียนตามจารีตประเพณีของคนผู้เคารพนับถือกัน

    อาการป่วยท่านค่อยทุเลาและหายเป็นปกติในที่สุด





    นับแต่ท่านเริ่มป่วยดังที่เขียนผ่านมาแล้ว เป็นเวลา 4 เดือนกว่า บรรดานายแพทย์ผู้พยาบาลรักษา มี ศ.จ.นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ เป็นต้น ตลอดนายแพทย์และพยาบาลทางโรงพยาบาลอุดรธานี ต่างท่านมิได้นิ่งนอนใจช่วยกันพยาบาลรักษาท่านสุดกำลังความสามารถ เรื่อยมาแต่เริ่มแรกป่วย จนอาการกลับดีขึ้นเพราะคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพยาบาลรักษา และค่อยดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นปกติได้ นับว่าหลวงปู่ท่านชุบชีวิตใหม่ เป็นผู้ใหม่ขึ้นมาในหลวงปู่องค์เก่า ต้องขออภัยท่านผู้อ่านมาก ๆ ด้วยที่เรียนเล่าประวัติการป่วยของหลวงปู่ขาวเพียงย่อ ๆ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่ายตามความเป็นมา ทั้งนี้เพราะหลวงตาผู้เขียนก็แก่มากแล้ว สุขภาพไม่อำนวย งานก็ยุ่งและสับสนราวกับตามรอยโคในคอกนั่นแล จึงหวังได้รับอภัยจากท่านผู้อ่านด้วยดี
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ปฏิปทาการดำเนินของหลวงปู่ขาวทั้งสมัยยังหนุ่มและชราภาพ

    หลวงปู่ขาวท่านมีนิสัยใจเด็ดเดี่ยว ความเพียรกล้าทั้งสามอิริยาบถ คือเดินจงกรมก็เก่ง เดินแต่ฉันเสร็จแล้วถึงเที่ยง เข้าพักร่างกายพอบรรเทาขันธ์ แล้วเข้านั่งสมาธิพอประมาณราว 1-2 ชั่วโมง จากนั้นก็เข้าสู่ทางจงกรม ทำความเพียร ละหรือถอดถอนกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่เคยฝังจมอยู่ภายในใจสัตว์โลกไม่เคยบกบางเหมือนสิ่งอื่น ๆ กี่ชั่วโมงท่านไม่ค่อยกำหนด จนถึงเวลาปัดกวาดบริเวณที่อยู่ของพระองค์เดียว ที่ไม่ชอบกังวลกับสิ่งใดผู้ใด ท่านจึงออกมาปัดกวาด สรงน้ำ นั่งรำพึงไตร่ตรองอรรถธรรมในแง่ต่าง ๆ ตามอัธยาศัย หลังจากนั้นส่วนมากท่านมักเข้าทางจงกรมมากกว่าการเข้านั่งสมาธิภาวนา

    ท่านเดินจงกรมแต่ละครั้งราว 3-4-5 ชั่วโมง บางครั้งถึง 6 ชั่วโมง จึงจะเข้าที่พัก ซึ่งส่วนมากมักเป็นเพิงบ้าง เป็นปะรำเล็ก ๆ บ้างในหน้าแล้งฝนไม่ตก ถ้าหน้าฝนก็อยู่กุฎี ซึ่งเป็นกระต๊อบพอหมกตัวอยู่ได้ ไม่หรูหราน่าอยู่อะไรเลย ยังน่าสังเวชด้วยซ้ำ ในสายตาของผู้เคยอยู่ด้วยความปรนปรือหรูหรามาก่อน เริ่มไหว้พระสวดมนต์ ก่อนนั่งสมาธิภาวนา ท่านชอบสวดมนต์นานด้วย กว่าจะหยุดเวลาเป็นชั่วโมง ๆ หลังจากไหว้พระสวดมนต์ ก็เข้าที่ทำสมาธิภาวนาต่อไปเป็นหลาย ๆ ชั่วโมงกว่าจะพักผ่อนหลับนอน การเดินจงกรมของท่านก็นาน การนั่งภาวนาก็นานเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง การยืนก็นาน เมื่อถึงวาระที่ควรยืนรำพึงอรรถธรรมภายในใจด้วยปัญญา ท่านยืนได้เป็นชั่วโมง ๆ เช่นกัน จนกว่าจะหมดปัญหาจากข้อธรรมที่รำพึงไตร่ตรองนั้น ๆ ท่านจึงก้าวเดินจงกรมในท่าเดิมต่อไป การนั่งสมาธิภาวนา ท่านนั่งจนตลอดรุ่งได้ในบางคืน ท่านเคยนั่งตลอดรุ่งอยู่บ่อย ๆ สมัยยังหนุ่มอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับหนุ่มฟ้อดังพระเณรหนุ่มทั้งหลาย เพราะตอนท่านออกบวชอายุท่านก็ได้สามสิบกว่าปีแล้ว ท่านเป็นนักรบนักต่อสู้ในทางธรรมจริง ๆ

    ท่านเคยเทศน์ให้พระเณรฟังอย่างเด็ด ๆ ก็มีในบางโอกาสว่า

    ท่านทั้งหลายทราบไหมว่า สกุลของกิเลสที่ครองอำนาจบนหัวใจสัตว์โลกในไตรภพมานาน จนประมาณกาลเวลาของมันไม่ได้นั้น เป็นสกุลที่เหนียวหนับตับแข็งมาก มีกำลังมากฉลาดแหลมคมมากยิ่งกว่าน้ำซับน้ำซึมเป็นไหน ๆ กลมารยามาก ร้อยสันพันคม คว่ำกิน หงายกิน ปลิ้นปล้อนหลอกลวง สัตว์โลก ไม่อาจพรรณนาวิชาการและลวดลายของมันให้จบสิ้นลงได้ เนื่องจากมันมีมากยิ่งกว่าท้องฟ้ามหาสมุทรสุดสาครเป็นไหน ๆ ในสามแดนโลกธาตุนี้ อยู่ในข่ายแห่งวิชา และอำนาจของมันครอบงำทั้งสิ้น ไม่มีช่องว่างแม้เม็ดทรายหนึ่ง ที่วิชากลอุบายอันแยบคายของมันจะไม่เข้าไปเคลือบแฝงหรือซึมซาบอยู่ หากเป็นตุ่ม ก็เต็มตุ่มล้นตุ่ม เป็นยุ้งก็เต็มยุ้ง เป็นฉางก็เต็มฉาง เป็นบ้านก็เต็มบ้าน เป็นเมืองก็เต็มเมือง เป็นโลกก็เต็มโลก เป็นท้องฟ้ามหาสมุทร ก็เต็มท้องฟ้ามหาสมุทร เป็นโลกธาตุก็เต็มโลกธาตุ ไม่มีว่างเว้นจากมัน คือสกุลกิเลสที่ทรงพลังมหาศาลจะไม่ดักข่ายครอบไว้

    ทั้งสามโลกธาตุนี้คืออาณาจักรและขอบข่ายแห่งอำนาจของสกุลกิเลสทั้งมวล และแน่นหนามั่นคงมาก ยากที่สัตว์ทั้งหลายจะเล็ดลอด หรือทำลายออกมาได้ นอกจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าท่านทั้งหลายยังไม่ทราบวิชาร่ายมนต์กล่อมสัตว์โลกของมัน ก็ขอนิมนต์ทราบแต่ขณะนี้ จะได้มีสติตื่นตัวตื่นใจไม่นิ่งนอนดังที่เป็นมาและเป็นอยู่เวลานี้

    การพูดสกุลกิเลสให้ท่านทั้งหลายฟังนี้ ผมพูดออกมาจากความที่เคยเคียดแค้นต่อมันตามระยะเวลา และกำลังแห่งความเพียร ที่เคยต่อสู้ห้ำหั่นกับมัน ขั้นเริ่มแรกมีแต่แพ้มันอย่างหลดลุ่ย หมดทางต่อสู้เป็นพัก ๆ ฟิตใหม่สู้ใหม่ สู้ใหม่เป็นพัก ๆ และแพ้มันแบบล้มลุกคลุกคลานเป็นตอน ๆ พอโงหัวขึ้นได้บ้างก็สู้ใหม่ ๆ ด้วยใจของนักต่อสู้ โดยยึดเอาตาย กับชัยชนะมันเป็นเดิมพัน สู้ไม่ถอย นั่งอยู่ก็สู้ คือก็เพียร เดินอยู่ก็สู้ ยืนอยู่ก็เพียร นอนอยู่ถ้ายังไม่หลับก็สู้ ในท่าต่าง ๆ เป็นท่าต่อสู้ทั้งนั้น แม้จะแพ้แล้วแพ้เล่าก็ไม่ถอย เพราะยังไม่ถึงจุดที่ตั้งเอาไว้ดั้งเดิม คือตายและชนะอย่างเด็ดขาดเท่านั้น จึงเป็นจุดที่ยุติการต่อสู้ เมื่อสู้ไม่ถอย เพียรไม่ถอย กำลังและความคล่องตัวแห่งสติปัญญาก็ค่อย ๆ ขยับตัวขึ้นมา ใจที่เคยคึกคะนอง เหมือนม้าตัวผาดโผน ก็ค่อยสงบลงได้

    ใจที่เคยเรียน เคยจำได้แต่ชื่อแต่นามว่า สมาธิ ๆ ความสงบมั่นคงก็ค่อยปรากฏเป็นสมาธิ ความสงบมั่นคงขึ้นมาในตัวเองให้ได้เห็นได้ชม จนประจักษ์กับตัวเองว่า อ้อ คำว่าสมาธิ ๆ ที่ท่านจารึกไว้ในตำรานั้น ความจริง ความมี ความเป็น ความปรากฏแห่งสมาธิแท้นั้น ปรากฏขึ้นที่ใจนี้เองหรือ เออ บัดนี้เราหายสงสัยเรื่องสมาธิในตำราแล้ว เพราะได้มาปรากฏองค์สมาธิอยู่กับใจของเราเอง เวลานี้ ใจสงบ ใจสว่าง โล่งภายในใจที่เคยอัดอั้นตีบตันและปิดทางตัวเองมานานแสนนาน เริ่มลืมตาอ้าปาก พูดจาปราศรัยกับเพื่อนฝูงได้ ด้วยความโล่งใจ แน่ใจ และมั่นใจต่อมรรคผลนิพพาน ว่าจะไม่ตายเสียก่อนจะได้ชม แม้เพียงขั้นสมาธิความสงบ ก็นับว่าพอกินพอใช้ ไม่ฝืดเคืองสำหรับฐานะเรา คนจนมาตลอดภพชาติต่าง

    ต้นทุนแห่งอัตสมบัติคือสายทางแห่งมรรคผลนิพพานที่เรามั่นใจว่าจะต้องถึงในวันเวลาข้างหน้า คือสมาธิสมบัติ ความสงบเย็นใจ เราได้เป็นต้นทุนประจักษ์แล้วเวลานี้ เรามีหวังในธรรมสมบัติขั้นสูงส่งขึ้นไปโดยลำดับด้วยความพากเพียรที่เป็นมาและเป็นอยู่ อิทธิบาทสี่นี้เริ่มปรากฏขึ้นมาบ้างแล้ว คือ ฉันทะ พอใจทั้งการบำเพ็ญเพียรภาวนา พอใจทั้งผลที่ปรากฏกับใจขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่ขาดวรรคขาดตอน ราวกับน้ำซับน้ำซึม จิตใจชุ่มเย็นโดยสม่ำเสมอในอิริยาบถต่าง ๆ วิริยะ เพียรไม่ถอย ทุกอิริยาบถเป็นไปด้วยความเพียร ปราบกิเลส ถอนกิเลสสกลมหิมา จิตตะ มีความฝักใฝ่ใคร่ต่อการบรุงรักษาใจเพื่อธรรมรสอันโอชา พยายามระวังรักษาไม่ให้รสอันเป็นพิษภัยแทรกสิงใจ วิมังสา พิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองมองหาเหตุหาผลที่มาเกี่ยวข้องกับใจด้วยความไม่ประมาท พยายามฝึกจิตที่เคยโง่เพราะความปิดบังของกิเลส ให้คลี่คลายขยายตัวขึ้น สัจธรรมคือความฉลาดของสติปัญญา ใจไม่อับเฉาเมาหัวเหมือนแต่ก่อน อิทธิบาททั้งสี่ นับวันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นตาม ๆ กัน ทั้งฉันทะ ทั้งวิริยะ ทั้งจิตตะ และวิมังสาธรรม กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีกำลังกล้าพร้อมเผชิญหน้ากิเลส โดยไม่เลือกกาล สถานที่ และเหตุการณ์ใด มีจิตมุ่งมั่นจะหั่นแหลกกันโดยถ่ายเดียว

    เมื่อสมาธิปรากฏเป็นปากเป็นทางพอตั้งตัวได้แล้ว ก็เร่งทางปัญญาออกพิจารณาธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในภายนอก ประสานกัน รวมลงในไตรลักษณ์คือ อนิจจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อิทธิบาททั้งสี่จึงเริ่มประสานงานกันอย่างสนิทติดพัน กลายเป็นอิทธิบาทอัตโนมัติไปตามสติปัญญาที่พาให้เป็นไป นับแต่บัดนั้นแล จะเรียกว่าเข้าสู่สงครามกับกิเลสชนิดต่าง ๆ แบบตลุมบอนก็ไม่ผิด เพราะความรู้สึกนึกคิดที่หนักไปในธรรมวิมุตติ นับวันเวลามีกำลังและสะกิดใจไม่หยุดหย่อน ในลักษณะสู้ไม่ถอย เอาให้หลุดพ้นโดยถ่ายเดียว แม้จะตายก็ขอให้ตายในสนามรบ คือตายในวงความเพียรท่าต่อสู้อย่างเดียวหากยังไม่ตายก็เอาให้กิเลสหมอบราบและตายเกลื่อนให้เห็นประจักษ์ใจทุกระยะแห่งการต่อสู้ด้วยสติปัญญาซึ่งเป็นธรรมาวุธอันทันสมัย

    ปฏิปทาที่ผาดโผนมากและเห็นผลประจักษ์



    การทำความพากเพียรในขั้นเริ่มแรกและต่อมาจนจิตสงบลงเป็นสมาธิได้แม้จะเป็นความเพียรผาดโผน ด้วยการเอาชีวิตเข้าประกันก็ตาม แต่การเพียรการต่อสู้ในระยะนี้ เป็นการต่อสู้ที่บอบช้ำมาก แต่ผลปรากฏมีน้อยไม่สมดุลย์กัน ทั้งนี้เพราะยังไม่รู้วิธีการต่อสู้และพากเพียรเท่าที่ควร แต่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจำต้องยอมรับยอมโดนความบอบช้ำไปก่อน เพื่อทราบเหตุผลจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา แล้วปรับตัวปรับความเพียรให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในอันดับต่อไปสำหรับผมเองเคยเป็นดังที่กล่าวมานี้(หลวงปู่พูด) กว่าจะจับหลักเกณฑ์ได้ก็เกือบเป็นเกือบตาย

    เมื่อการปฏิบัติทางด้านปัญญาแยกแยะร่างกายส่วนต่าง ๆ ออกคลี่คลายดูด้วยปัญหาจนปรากฏชัดทั้งอสุภะอสุภัง ทั้งทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตาในร่างกายโดยลำดับแล้วนั่นแลความเพียรจึงนับวันผาดโผนโจนทะยาน ทั้งประโยคพยายาม ทั้งสติปัญญาที่ก้าวออกสู่งานในวงกรรมฐานห้า มีเกสา โลมา เป็นต้น ตลอดสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป ด้วยความเพลิดเพลินในการพิจารณา และความเห็นตามเป็นจริงในสกลกายส่วนต่าง ๆ จนตลอดทั่วถึง ประสานกับสภาพธรรมภาวนอกซึ่งมีอยู่ทั่วไปว่า มีลักษณะอย่างเดียวกัน หายสงสัยและปล่อยวางไปโดยลำดับ สติปัญญาขั้น พิจารณารูปขันธ์นี้ ผาดโผนมากผิดธรรมดาของความเพียรภาคทั่ว ๆ ไป แต่ก็เหมาะสมกับงาน ซึ่งเป็นงานหยาบ ที่จำต้องใช้สติปัญญาอันผาดโผนไปตาม ๆ กัน เช่นเดียวกับท่อนไม้ซึ่งอยู่ในขั้นที่ควรถากอย่างหนักมือ ก็จำต้องทำเช่นนั้น สติปัญญาที่ทำการพิจารณาร่างกาย ซึ่งเป็นขันธ์หยาบ ก็จำต้องดำเนินไปตามความเหมาะสมของงาน เมื่อสติปัญญารู้เท่าและปล่อยวางขันธ์นี้แล้ว ก็ลดการพิจารณาแบบนั้นลงไปเอง เช่นเดียวกับไม้ซึ่งนายช่างดัดแปลงลงถึงขั้นที่ควรลดจากการถากการฟันอย่างหนักมือแล้ว ก็ลดไปเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกฉะนั้น

    ส่วนนามขันธ์ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ นั้นเป็นขันธ์ละเอียด การพิจารณาทางด้านปัญหาก็ละเอียดไปตาม ๆ กัน สติปัญญาที่พิจารณาขันธ์ทั้งสี่นี้ย่อมเป็นไปอย่างละเอียดสุขุมราวกับน้ำซับน้ำซึมนั่นแหละ แต่การพิจารณาขันธ์ทั้งสี่นี้ พิจารณาลงในไตรลักษณ์ล้วน ๆ จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็ได้ตามแต่ความถนัดของการพิจารณา ไม่มีคำว่าอสุภะอสุภังเหมือนพิจารณาร่างกายอันเป็นขันธ์หยาบ

    การพิจารณาขันธ์สี่นี้จะพิจารณาขันธ์ใดก็ได้ตามแต่ถนัด เช่น ทุกขเวทนาขันธ์เป็นต้น ประสานกันกับกายกับจิตกับทุกขเวทนา โดยพิจารณาแยกแยะเทียบเคียง รูป ลักษณะ อาการความรู้สึก ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งสามอย่างนี้เป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอย่าง แยกแยะดูให้ชัดเจนด้วยปัญญาจริง ๆ อย่าสักแต่พิจารณาพอผ่าน ๆ ไป นั้นเป็นลักษณะของกิเลสทำงาน เอาความขี้เกียจอ่อนแอมาทับเราต่างหาก ซึ่งมิใช่ทางเดินของธรรมคือสติปัญญาอย่างแท้จริงดำเนิน จะไม่เห็นความจริงแต่อย่างใด ต้องพิจารณาแบบสติธรรม ปัญญาธรรม จนเป็นที่เข้าใจตามความจริงอย่างถึงใจทุกส่วน

    อันความอยากหายจากทุกขเวทนานั้น อย่าอยาก ๆ อยากให้หายเท่าไร ยิ่งเพิ่มสมุทัย ตัวผลิตทุกข์มากขึ้นเท่านั้น แต่ให้อยากรู้ อยากเห็นความจริงของทุกขเวทนาที่แสดงอยู่กับกายกับใจเท่านั้น นั่นคือความอยากอันเป็นมรรคทางเหยียบย่ำกิเลส ซึ่งจะทำให้เกิดผล คือการเห็นแจ้งตามความจริงของกายเวทนา จิต ที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนั้น ความอยากรู้จริงเห็นจริงนี้มีมากเท่าไร ความเพียรพยายามทุกด้านยิ่งมีกำลังมากเท่านั้น

    ฉะนั้น จงสนใจเฉพาะความอยากรู้จริง เห็นจริง ประเภทนี้อย่างเดียว และผลักความอยากให้ทุกข์หาย ออกจากวงการพิจารณาในเวลานั้นทันที ๆ อย่าให้โผล่หน้าขึ้นมาขัดขวางได้ จะมาทำลายความอยาก ประเภทมรรคเพื่อผล ให้จมหายไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่ต้องการจะไม่เจอ แต่จะไปเจอแต่ความกลัวตาย ความอ่อนเปียกเรียกหาคนอื่นมาช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสสมุทัยทั้งมวลเข้าทำงานในวงความเพียร จึงรีบเตือนนักปฏิบัติจิตภาวนาไว้ เกรงจะเสียท่าให้มัน เพราะกิเลสมักรวดเร็วมากกว่าธรรมจะตามรู้ตามเห็นทันมัน

    นักปฏิบัติจิตภาวนาเท่านั้น จะรู้มารยาของกิเลสประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวมาได้ดีประจักษ์ใจและขับไล่ให้สิ้นซากไปได้ไม่สงสัย

    การพิจารณาทุกขเวทนาในขันธ์มีรูปขันธ์เป็นสำคัญ จงอย่าคำนึงความเจ็บปวดรวดร้าวจะหาย ตัวจะเป็นจะตาย ยิ่งกว่าความอยากรู้อยากเห็นความจริงจากกาย จากเวทนา จากจิต ซึ่งพร้อมจะแสดงความจริงให้นักปฏิบัติผู้แกล้วกล้าหน้านักรบ เพื่อเรียนจบอริยสัจ รู้ประจักษ์ด้วยสติปัญญาอันคมกล้าของตนอยู่แล้ว อันความกลัวเป็นกลัวตายความอยากให้ทุกข์หายในเวลานั้น นั่นคือแม่ทัพใหญ่ของสกลกิเลส จะคอยทำลายบัลลังก์แห่งความเพียรทุกด้าน ให้ล้มละลายแบบไม่เป็นท่า จงพากันทราบไว้ทุก ๆ องค์ อย่าหลงกลมัน ซึ่งดักรออยู่ปากคอก จะออกกีดขวางต้านทานทางเดินของธรรมอยู่ตลอดเวลาที่ได้ช่องได้โอกาส

    กรุณาทราบไว้ด้วยว่า กิเลสทุกประเภท ไม่เผลอเรออ่อนแอท้อแท้เหลวไหลเซ่อซ่าเซอะซะ เหมือนนักปฏิบัติภาวนาแต่กิริยา ส่วนใจปล่อยให้กิเลสฉุดลากไปถลุงหุงต้มกินเลี้ยงกันอย่างเอร็ดอร่อยพุงมันน่ะ ดังนั้นในเวลาที่เข้าด้ายเข้าเข็มระหว่างทุกขเวทนากล้ากับสติปัญญาพิจารณาแยกแยะกัน เพื่อหาความจริง จงขยับสติปัญญาเพื่อต่อยเพื่อสู้ท่าเดียว คือสติปัญญาหมุนติ้วเข้าสู่จุดที่ทุกขเวทนากล้าสาหัสปรากฏอยู่ในวงของกาย สติจดจ่อ ปัญญาคลี่คลายเวทนา กาย ใจ ที่กำลังคลุกเคล้ากันอยู่ ว่าทั้งสามนี้เป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอัน แยกแยะดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ย้อนหน้าย้อนหลัง ตลบทบทวนในระหว่างกาย เวทนา จิต ด้วยสติปัญญา อย่าสนใจกับเรื่องทุกข์จะหาย และการจะเป็นจะตาย ตลอดสถานที่เวล่ำเวลาใด ๆ ทั้งสิ้นในขณะนั้น จงสนใจแต่การพิจารณาเพื่อความรู้แจ้งในกาย ในเวทนา ในจิตอย่างเดียว สติปัญญาจงใช้เป็นปัจจุบัน จดจ่อต่องานอย่างใกล้ชิด ติดพัน อย่าหันเห อย่าคาดคะเน อย่าด้นอย่าเดา ทั้งสมุทัย ทุกข์ ทั้งมรรค - นิโรธ ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะทั้งนี้ล้วนเปิดช่องให้สมุทัยทำงานของมันในวงความเพียรและเพิ่มโทษเพิ่มทุกข์ให้แก่เราถ่ายเดียว ผู้ปฏิบัติจงระวังให้มาก เพราะเป็นกิเลสโดยแท้ที่ต้องระวังตั้งตัวอยู่เสมอ ไม่เผลอให้มัน ขณะเดียวกันก็ตั้งท่าพิจารณาดังกล่าวแล้ว จงพิจารณาแบบตลุมบอน ใครดีใครอยู่เป็นคู่เคียงของสัจธรรม วิมุติธรรม ใครไม่ดีจงพังไป แต่อย่าให้เราผู้ทรงความเพียรพังก็แล้วกัน ต้องสู้เพื่อให้กิเลสพังท่าเดียว ท่าอื่นไม่ถูก ไม่เหมาะสำหรับนักปฏิบัติผู้เป็นเหมือนนักรบในสงครามเพื่อชัยชนะโดยถ่ายเดียว

    การพิจารณาทุกขเวทนาในกายประสานกันกับจิต แยกแยะทั้งสามอย่างนี้ ออกสู่ความจริงด้วยปัญญาไม่หยุดยั้ง ย่อมจะทราบความจริงของกาย ของเวทนา ของจิตได้อย่างชัดเจนหายสงสัย และได้ชัยชนะเป็นพัก ๆ ตอน ๆ ได้ความอาจหาญในทุกขเวทนาตลอดความล้มความตายก็กลายเป็นความจริงขึ้นมาเช่นเดียวกับ กาย เวทนา จิต และหายจากความกลัวตาย ดังที่กิเลสเคยหลอกมาเป็นประจำ พอความจริงเข้าถึงกันแล้ว ต่างอันก็ต่างจริง กายก็จริงตามสภาพของกาย เวทนาก็จริงตามสภาพของเวทนา จิตก็จริงตามสภาพของจิต ต่างอันต่างจริงแล้วไม่กระทบกระเทือนกัน แม้ความตายก็เป็นสัจธรรมความจริงอันหนึ่ง จะตื่นให้กิเลสหัวเราะทำไม

    เมื่อสติปัญญาพิจารณาไม่ถอยจนทราบความจริง กองกาย เวทนา จิต ประจักษ์ใจแล้ว.

    1. ทุกขเวทนาดับวูบลงในขณะนั้น
    2. แม้ทุกขเวทนาไม่ดับก็ไม่ประสานกันกับจิตดังที่เคยเป็นมา
    3. จิตสงบตัวอย่างละเอียดลออและอัศจรรย์เกินคาด
    4. จิตที่สงบตัวนั้นปรากฏสักแต่ว่ารู้และอัศจรรย์เท่านั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง
    5. ขณะจิตสงบเต็มที่ กายหมดไปจากความรู้สึกโดยสิ้นเชิง
    6. ถ้าจิตพิจารณารอบตัวและตัดขาดจากเวทนาแล้ว แต่ไม่รวมลงเป็นเอกเทศ เป็นเพียงรู้ ๆ อยู่ด้วยความรอบตัว ร่างกายก็สักแต่ปรากฏว่ามี แต่ไม่ประสานกันกับจิต

    นี่คือผลแห่งการพิจารณาด้วยอุบายวิธีที่กล่าวมาเป็นดังนี้ในวงปฏิบัติ ถ้าอยากรู้อยากเห็นอยากชม จงปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวมา ที่เคยได้อ่านในหนังสือซึ่งท่านอธิบายไว้จะมาปรากฏที่ใจของเราเอง โดยไม่อาจสงสัย นี่คือวิธีการพิจารณาทุกขเวทนา เวลาเกิดขึ้นกับร่างกาย จงพิจารณาอย่างนี้ จะรู้อย่างนี้จะเห็นอย่างนี้ไม่เป็นอื่น

    ในนามขันธ์หรือนามธรรมทั้งสามคือ สัญญา สังขารและวิญญาณ เวลาพิจารณาก็เกี่ยวโยงกับกายเหมือนกันในบางกรณี ข้อนี้ยกให้เป็นข้อคิดข้อพิจารณาของผู้ปฏิบัติจะพึงรู้ และปฏิบัติต่อตัวเอง ตามเหตุการณ์ที่เกิดกับตน เพราะนามขันธ์ทั้งสามนี้ ท่านพิจารณาเป็นการเป็นงานอย่างแท้จริง หลังจากจิตรู้เท่า ปล่อยวางรูปขันธ์เรียบร้อยแล้ว

    เมื่อจิตยังไม่ปล่อยรูปขันธ์ การพิจารณาจำต้องประสานถึงรูปขันธ์อย่างแยกไม่ออก แต่ทั้งนี้เป็นหน้าที่ และเป็นกิจจำเป็นของนักปฏิบัติจิตภาวนาโดยเฉพาะ เป็นราย ๆ ไป หากรู้กับตัวเองว่า จะควรพิจารณาทั่วไปกับขันธ์ทั้งหลาย หรือจะพิจารณาขันธ์ใดในกาลเช่นไร โดยเฉพาะ ผู้ปฏิบัติจิตภาวนาเท่านั้นจะเข้าใจ ในการพิจารณาขันธ์ห้า ให้เหมาะสมกับการปล่อยวางเป็นวรรคเป็นตอนไป การพิจารณาอย่างกว้างขวางก็ในวงรูปขันธ์เท่านั้น

    รูปขันธ์นี้พิสดารอยู่มาก การพิจารณาจึงไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใด สุดแต่ถนัดต่อการพิจารณาจะแยกแยะร่างกายส่วนต่าง ๆ ออกเป็นชิ้นเป็นอัน จากคำว่าสัตว์ ว่าบุคคลก็ได้ จะพิจารณาเป็นอสุภะสิ่งปฏิกูลโสโครกหมดทั้งร่างก็ได้ จะพิจารณาไปทางไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามไตรลักษณ์ก็ได้ จนจิตมีความชำนิชำนาญทั้งภาคอสุภะและภาคไตรลักษณ์ จนหาที่ติดที่ข้องไม่ได้แล้วก็ปล่อยวางไปเอง

    เมื่อจิตปล่อยวางรูปขันธ์แล้ว จิตจะหมุนเข้าสู่นามขันธ์ทั้งสาม คือ สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างเต็มสติปัญญาที่มีอยู่ต่อไป ไม่มีคำว่าท้อถอยลด-ละเลย สติปัญญาจะหมุนตัวไปเองโดยไม่ถูกบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นขั้นสติปัญญาคล่องตัวแล้ว เรื่องสติปัญญาคล่องตัวนี้ เริ่มเป็นมาแต่ขั้นพิจารณาอสุภะในรูปขันธ์คล่องตัวอยู่แล้ว จนถึงขั้นปล่อยวาง เมื่อก้าวเข้าสู่ สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงคล่องตัวต่อการพิจารณาทุกแง่ทุกมุม ไม่มีคำว่าอืดอาดเนือยนายดังที่เคยเป็นมา นอกจากต้องรั้งเอาไว้เมื่อเห็นว่าจะเพลินต่อการพิจารณาจนเกินไป ไม่ยอมพักตัวในเรือนคือสมาธิ ที่เคยเห็นในตำราว่า มหาสติ มหาปัญญา นั่นจะปรากฏกับสติปัญญาของผู้ปฏิบัติ ที่หมุนตัวไปกับการพิจารณาไม่หยุดหย่อนผ่อนคลายในการทำงานไปเอง ไม่ต้องถามใคร

    นับแต่ขั้นรู้เห็นอสุภะเด่นชัดด้วยการพิจารณาเรื่อยมา ความขี้เกียจ ความท้อแท้อ่อนแอ ความอิดหนาระอาใจ หายหน้าไปหมด ไม่ปรากฏในจิตดวงนั้นเลย ด้วยเหตุนี้แลจึงทำให้รู้ประจักษ์ใจว่า อันความขี้เกียจไม่เอาไหนเป็นต้น มันเป็นสกลกิเลสทั้งมวล เป็นตัวมัดแข้งมัดขามัดจิตมัดใจสัตว์โลกไว้ ให้ก้าวสู่ความดีงามไม่ออก พอถูกตปธรรม มีสติปัญญาเป็นต้นเผาผลาญให้พินาศไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่มีในจิตใจเลย มีแต่ความเข้มข้นแห่งความเพียรทุก ๆ อิริยาบถเว้นแต่หลับเท่านั้น นอกนั้นเป็นท่าแห่งความเพียรทั้งสิ้น กิเลสเหล่านั้นไม่กล้ามาขัดขวาง แม้จะยังมีอยู่ภายในใจก็ตาม เพราะนับวันจะ กุสลา มนุษย์แล้วอย่างมั่นใจ เพราะฉะนั้นการพิจารณานามขันธ์ทั้งสาม ของท่านผู้มีสติปัญญาอันเกรียงไกรมาแต่รูปขันธ์แล้ว จึงคล่องตัวรวดเร็วไม่มีสติปัญญาใดในโลกสมมุติจะรวดเร็วเทียมเท่าได้

    จิตที่ปล่อยรูปขันธ์แล้ว ยังต้องฝึกซ้อมสติปัญญาจากความคิดปรุงภาพแห่งขันธ์ให้ปรากฏขึ้นแล้วดับไป ปรากฏขึ้นแล้วดับไป ๆ จนรูปขันธ์ที่ปรากฏขึ้นจากความปรุงดับอย่างรวดเร็วราวกับฟ้าแลบ จากนั้นก็เป็นจิตว่างจากรูป จากวัตถุต่าง ๆ ทั้งภายในภายนอก หมดความสนใจพิจารณาต่อไปอีก มีแต่หมุนเข้าสู่นามธรรมทั้งสาม อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสาม โดยถ่ายเดียว โดยถือจิตเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เนื่องจากอาการทั้งสามนี้ปรากฏขึ้นจากจิตและดับไปที่จิต สังเกตสอดรู้อาการเหล่านี้ขณะเกิดและดับ เมื่อสติปัญญารู้เท่าทัน ปัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี จะมีเพียงปรากฏขึ้นแล้วดับไป ๆ ไม่สืบต่อกับอะไร

    จิตขึ้นพิจารณานามธรรมนี้ เป็นจิตว่างจากสิ่งภายนอกทั้งปวง แต่ยังไม่ว่างจากจิตและนาม ธรรมทั้งสามนี้ จึงต้องพิจารณาจุดนี้โดยความเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนจิตพอกับขันธ์และหยั่งเข้าสู่จิตล้วน ๆ อันเป็นเรือนรังของอวิชชาโดยเฉพาะ พิจารณากันในจุดนั้นกับนามขันธ์ประสานกัน จนสติปัญญาเห็นความเหลวไหลหลอกลวงของนามขันธ์พร้อมทั้งจิตอวิชชาประจักษ์ใจแล้ว อวิชชาภายในใจก็พังทลายหายซากลงไปในขณะนั้นด้วยสติปัญญาที่ทันสมัย

    อวิชชาอันเป็นกิเลสโดยตรงนั้นดับ ส่วนขันธ์อันเป็นเครื่องมือของกิเลสอวิชชานั้นไม่ดับไม่หายซากไปกับอวิชชา แต่กลับมาเป็นเครื่องมือของจิตบริสุทธิ์และเป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีกิเลสเข้าครองอำนาจเหมือนแต่ก่อน เพราะจิตบริสุทธิ์ธรรมบริสุทธิ์นั้นไม่บีบบังคับขันธ์เหมือนกิเลส และไม่ยึดเหมือนกิเลส เพียงอาศัยขันธ์เป็นเครื่องมือด้วยความยติธรรมเท่านั้น นี่คือการล้างป่าช้าความเกิด - ตายให้สิ้นซากไปจากใจ ปราชญ์ท่านล้างอย่างนี้แล จงพากันจำไว้ให้ตั้งใจและนำไปปฏิบัติให้ถึงธรรม จะเข้าถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในขณะที่จิตเข้าถึงธรรมบริสุทธิ์เต็มดวงนั่นแล หายสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์โดยประการทั้งปวง

    สงครามระหว่างกิเลสกับธรรม ต่อสู้กันภายในวงความเพียรของนักปฏิบัติจิตภาวนา โดยยึดใจเป็นเวทีสนามรบ มาจบมายุติกันที่ใจดวงบริสุทธิ์ หลังจากกิเลสสิ้นซากไปหมดแล้ว ปัญหาทั้งมวลมาหมดกันที่นี่แล

    ดังนั้นจึงขอนิมนต์พระลูกพระหลานทั้งหลาย รู้เนื้อรู้ตัวด้วยธรรมกระเทือนโลก ที่ปลุกสัตว์ทั้งหลายให้ตื่นจากความหลับของกิเลสแต่บัดนี้ ที่กำลังมีครูอาจารย์สั่งสอนอยู่ จะไม่เสียทีให้กิเลสชนิดต่าง ๆ อยู่ร่ำไป ดังที่เคยเป็นมา ซึ่งน่าทุเรศเอานักหนาในสายตาของนักปราชญ์ ผู้ฉลาดแหลมคมเหนือกิเลส โดยประการทั้งปวงแล้ว พวกเราที่ถูกกิเลสกล่อมใจให้หลับทั้งที่ตื่นอยู่ มักเห็นขี้ดีกว่าไส้ เห็นภัยว่าเป็นคุณ เห็นบุญว่าเป็นบาป เห็นหาบเห็นหามอันเป็นภาระหนัก ว่าเป็นเครื่องประดับตกแต่งที่สวยงามอร่ามตาแช่มชื่นใจ ทำอะไรที่เป็นสารคุณจึงมักทำแบบสุกเอาเผากิน แบบขอไปที ๆ ผลจึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ หาความสม่ำเสมอและหลักเกณฑ์ไม่ได้ ราวกับไม้ปักกองขี้ควาย คอยแต่จะหกล้มก้มกราบ หาความเป็นตัวของตัวไม่ได้ มีแต่ความไร้สาระเต็มตัวเต็มใจ กิริยาใด ๆ แสดงออก มีแต่กิริยาอาการทำลายตัวเอง ทั้งนี้เพราะความเคยชินของนิสัยที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากเจ้าของในทางที่ถูกที่ดีเท่าที่ควร พระทั้งองค์ คนทั้งคนจึงกลายเป็นเศษพระเศษคนไปได้ และเกลื่อนกล่นอยู่ในท่ามกลางแห่งคนดี ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าประเภทเศษเดนระหว่างแห่งพระดี พระแท้ ด้วยสุปฏิบัติ คนดี คนแท้ ด้วยทาน ศีล ภาวนา สัมมาคารวะ กับพระเศษ พระเดน คนเศษ คนเดน

    เราจะสมัครทางไหน จงรีบตัดสินใจจากการพิจารณาด้วยดีเสียแต่บัดนี้ เวลาตายแล้ว ความดีงามที่พึงหวังมิได้ขึ้นอยู่กับผ้าเหลืองที่ห่มคลุมและการนิมนต์พระมา กุสลา มาติกา บังสกุลอะไรนะ แต่มันขึ้นอยู่กับตัวเราฝึกเราให้มี กุสลาธรรม คือความฉลาด เปลื้องตนจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ขณะที่มีชีวิตอยู่ต่างหาก จะว่าผมไม่บอกไม่เตือน นี่คือคำบอกคำเตือนท่านทั้งหลายโดยแท้จริงอย่างถึงใจเรื่อยมา ไม่มีเพียงครั้งนี้หนเดียว จงจดจำให้ตั้งใจและปฏิบัติตามตลอดไป ด้วย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ พยายามทำตนให้เป็นเนื้อเป็นหนังของตนด้วยธรรมเครื่องดำเนินและส่องทาง จะไม่เป็นพระครึ เณรครึ พระล้าสมัย เณรล้าสมัย คนครึ คนล้าสมัยต่อความดีงามและมรรคผลนิพพานที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างสด ๆ ร้อน ๆ ด้วยพระเมตตาสุดส่วนไม่มีใครเสมอเหมือน

    ผมเองก็นับวันแก่ลง การแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนก็ไม่สะดวก พระเณรก็นับวันหลั่งไหลมามากเพื่อรับการอบรมสั่งสอน ขณะมาอยู่และศึกษาอบรมก็จงตั้งใจจริง อย่านำความเหลาะ ๆ แหละ ๆ มาสังหารตนและทำลายเพื่อนฝูงผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรม จะเสียไปทั้งเราและผู้อื่น ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่ไว้หน้าใคร มันทำลายทั้งสิ้น คำว่าพระ ๆ เณร ๆ หรือความเข้าใจว่าเราเป็นพระเป็นเณรนั้น พึงทราบว่ากิเลส คือกิเลสที่เคยเป็นข้าศึกต่อเราเต็มตัว ไม่กลัวใคร อย่าเข้าใจว่ามันจะมาถวายตัวเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ ถวายการอุปัฏฐากรักษา เพื่อเป็นความสะดวกปลอดภัยไร้สิ่งรบกวนในการประกอบความพากเพียรของพระ ที่ตนเข้าใจว่าเป็นอาจารย์ของมันเลย จงทราบว่า แม้เราบวชเป็นพระเป็นแน่แล้ว แต่กิเลสมันก็คือกิเลสอย่างเต็มตัว และขึ้นอยู่บนหัวคน หัวพระ หัวเณรเรื่อยมา แต่ก่อนบวชจนบัดนี้ไม่ยอมลงเลย ฉะนั้น มันจึงไม่กลัวพระกลัวเณรและกลัวคนกลัวสัตว์โลกใด ๆ ทั้งสิ้น แต่มันเป็นนายและเป็นข้าศึกของคนของสัตว์ของพระเณรเรื่อยมา และยังจะเรื่อยไป ถ้าไม่รีบกำจัดมันเสียแต่บัดนี้ ให้ฉิบหายสิ้นซากไปจากใจ

    การเทศน์วันนี้ก็เทศน์อย่างหมดไว้หมดพุง ไม่มีอะไรหลงเหลือตกค้างอยู่ภายในใจเลย ทั้งเหตุ คือปฏิปทาเครื่องดำเนิน เผ็ดร้อนหนักเบาประการใดที่เคยต่อสู้กับกิเลสมา ทั้งผล ที่ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติมากน้อย หยาบละเอียด ก็ได้ขุดคุ้ยมาแสดงให้ฟัง อย่างหมดเปลือกหมดไส้หมดพุง ไม่มีลี้ลับปิดบังไว้แม้แต่น้อย

    ดังนั้นจงนำอุบายวิธีเหล่านี้ไปฝึกหัดดัดสันดาน กิเลสตัวร้ายกาจแสนพยศของแต่ละท่าน อย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ระวังอย่าให้กิเลสฝึกหัดดัดสันดาน เอาเสียอย่างหมอบราบ แทนที่จะดัดมันก็แล้วกัน ข้อนี้ผมกลัวนักกลัวหนา ไม่อยากเห็นไม่อยากได้ยิน เพราะผมเองเคยโดนมันดัดสันดานมาแล้ว จึงเป็นบทเรียนอย่างดีที่สุดจะนำมาเตือนท่านทั้งหลายไม่ได้ ขอจบเสียที จงพากันสวัสดีมีชัยทั่วหน้ากัน

    หลวงปู่เริ่มป่วยจากโรคชรา
    นับแต่ปี ๒๕๒๖ ย่างเข้ามา อาการเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ ของหลวงปู่ก็เริ่มปรากฏมาพร้อม ๆ กันราวกับได้นัดแนะกันไว้ ท่านมักเจ็บป่วยบ่อย ๆ ทั้งที่ปกติโรคชราก็ทำงานประจำขันธ์อยู่แล้ว เริ่มลุกและเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่เป็นปี ๆ อยู่แล้ว โรคที่เพิ่มความทรุดโทรมก็ปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้เห็นได้ชัดในสายตาและความรู้สึกของบรรดาศิษย์และประชาชนที่เข้ากราบเยี่ยม ส่วนคณะนายแพทย์ที่คอยดูแลรักษาหลวงปู่เป็นประจำไม่ขาดตลอดมานั้น คือ คณะแพทย์ทางอำเภอหนองบัวลำภู และคณะแพทย์ทางโรงพยาบาลอุดร ฯ ได้ควบคุมดูแลอาการของท่านเป็นประจำ ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ นับว่าได้ดูแลท่านหลวงปู่อย่างใกล้ชิดท่านหนึ่ง ทั้งเวลาปกติและเวลาเจ็บป่วย มีการไป ๆ มา ๆ อยู่เสมอมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทั้งหมอที่มาจากสำนักพระราชวังเป็นครั้งคราว ช่วยกันพยาบาลรักษาท่านอย่างใกล้ชิด ด้วยความสนิทใจและเคารพเลื่อมใสในหลวงปู่จริง ฟ แม้เช่นนั้น อาการต่าง ๆ ก็คอยแต่จะกำเริบอยู่เสมอ ท่านมีอาการเวียนศีรษะเป็นประจำ นั่งนานไม่ค่อยได้ นี่เป็นสาเหตุแห่งโรคชนิดอื่นจะตามมา เช่น โรคบวมตามหลังมือ หลังเท้า อ่อนเพลียมาก ฉันไม่ได้ อาการเหล่านี้ค่อยทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันเวลา จนกลายเป็นคนไข้หนัก ทั้ง ๆ ที่หาไข้จริง ๆ ไม่เจอ เจอแต่อาการเหล่านี้ในองค์ท่าน ไม่ปรากฏมีโรคชนิดใดอย่างแท้จริงปรากฏเลย ในความรู้สึกของหมอและคนทั่วไปจึงรวมลงในจุดเดียวกันว่า ท่านมรณภาพด้วยโรคชราโดยแท้ การเขียนเรื่องอาการป่วยของท่าน เห็นว่าไม่มีอะไรแปลกและพิสดารผิดธรรมดา จึงเขียนเพียงย่อ ๆ พอท่านผู้อ่านทั้งหลายเข้าใจกัน

    จันทร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลา ๐๕.๔๕ น. หลวงปู่ก็มรณภาพด้วยอาการอันสงบท่ามกลางสานุศิษย์ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักในเวลานั้น เพราะเป็นตอนเช้า พระก็เริ่มออกบิณฑบาต ประชาชนก็ยังไม่มีมาก ที่กุฎีใหญ่ที่ท่านพักเป็นประจำ ในวัดถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี

    เมื่อข่าวมรณภาพของท่านแผ่กระจายออกไป ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน พระ เณร ทราบต่างก็หลั่งไหลมากราบเยี่ยมศพท่านเป็นจำนวนมากจนไม่อาจพรรณนา ทางจังหวัดได้รายงานเรื่องนี้ไปยังสำนักพระราชวังโดยด่วน

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นศพในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด เวลา ๙.๐๐ น. ได้เคลื่อนย้ายศพหลวงปู่มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่ “ศาลาเมตตาอนาลโย” โดยเปิดโอกาสให้ศรัทธาประชาชนทั่วไปเข้ากราบนมัสการรดน้ำศพ ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ถึง ๑๕.๐๐ น. เวลา ๑๖.๓๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาพระราชทานน้ำอาบศพ และทรงเป็นประธานในงาน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นศพในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และตั้งศพบำเพ็ญกุศลพระราชทาน ๗ วัน

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน โกศโถ ฉัตรเบญจา ตั้งประดับ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชทานเงินสี่แสนบาท เป็นค่าอาหารถวายพระและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอด ๗ วันด้วย
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงพ่อเขมธัมโม

    ไปกราบ... หลวงพ่อเขมธัมโม


    วัดป่าสันติธรรม อังกฤษ

    แล่ม จันท์พิศาโล


    นสพ.คมชัดลึก 7 ต.ค.45

    คัดลอกจาก http://www.phrathai.net/article/show.php?No=45100701


    [​IMG]

    เมื่อตอนที่ผมได้เดินทางไปเยือนประเทศอังกฤษ มีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดไทยใกล้กรุงลอนดอน 2 วัด คือ วัดพุทธปทีป กับ วัดป่าสันติธรรม... กลับมาหลายเดือนแล้วยังไม่ได้เขียนถึงเลย วันนี้ได้ฤกษ์ดีแล้ว จึงขอนำเสนอเสียที

    ขอเริ่มที่ วัดป่าสันติธรรม ก่อน วัดนี้มีชื่อและที่ตั้งดังนี้ The Forest Hermitage Lower Fulbrook nr Sherbourne Warwick CV 35 8 AS England

    วัดนี้เป็นวัดที่ลูกศิษย์ "หลวงพ่อชา" วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ไปจัดตั้งขึ้น คือ หลวงพ่อเขมธัมโม ซึ่งเป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด

    โดยปกติ หลวงพ่อเขมธัมโม จะไม่อยากพูดถึงประวัติความเป็นมาของตัวท่านเองมากนัก แม้แต่ชื่อเดิมของท่าน โดยท่านให้เหตุผลว่า ตอนนี้ท่านเป็น "พุทธบุตร" โดยแท้แล้ว มีนามฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า "เขมธัมโม" ขอให้รู้จักท่านในชื่อนี้ก็แล้วกัน ลูกศิษย์และผู้ที่เคยไปกราบไหว้ท่านจึงรู้จักท่านในชื่อ "หลวงพ่อเขมธัมโม" ตลอดมา

    ตามประวัติโดยสังเขปของท่าน ทราบเพียงสั้นๆว่า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2487 ทางตอนใต้ของอังกฤษ เข้ารับการศึกษาตามเกณฑ์บังคับ พอถึงอายุ 17 ปีได้เข้าศึกษาต่อด้านการแสดงที่โรงเรียน Central School of Speech & Drama ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนการแสดงที่ดีที่สุดของประเทศนี้

    2 ปีต่อมา ท่านได้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งศูนย์การแสดง Drama Centre London ในกรุงลอนดอน โดยใช้เวลาตรงนั้น 1 ปี ก่อนที่จะออกจากกลุ่มเพื่อไปตั้งกิจการบริษัทโรงภาพยนตร์ของตัวเอง

    ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ ปี พ.ศ.2508 ท่านได้ออกเดินทางตระเวนทั่วสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 4 เดือน และใน ปี พ.ศ.2509 ท่านได้เข้าร่วมทำงานในบริษัท National Theatre Company อยู่กับบริษัทนี้เป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ในช่วงนั้นท่านได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนเกิดความสนใจมาก จึงหันมานับถือศาสนาพุทธ และได้ตัดสินใจที่จะมาเมืองไทย เพื่อบำเพ็ญภาวนาในทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มตัว จึงได้ขายบ้านหลังหนึ่งที่เคยซื้อไว้ในอังกฤษ

    หลวงพ่อเขมธัมโม เล่าว่า ความประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้เพื่อเป็นการแสวงบุญโดยแท้จริง การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลครั้งนั้นได้ผ่านหลายประเทศอาทิ อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย

    สำหรับที่อินเดีย ท่านได้ใช้เวลา 2 เดือนในการเดินทางแสวงบุญไปยังสังเวชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา จากนั้นจึงได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย เมื่อราวต้นเดือนธันวาคม ปีพ.ศ.2514 แล้วได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุฯ ในกรุงเทพฯ ต่อมาในช่วงปีใหม่พ.ศ.2515 ท่านจึงได้ไปยัง จ.อุบลราชธานี

    หลวงพ่อเขมธัมโม มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง มากเป็นพิเศษ เพราะได้ยินชื่อเสียง เกียรติคุณของหลวงพ่อชา มาตั้งแต่ยังอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านได้เขียนบันทึกเป็นหนังสือเล่มเล็กๆเล่มหนึ่ง ชื่อ "รำพึงถึงความหลังกับพระอาจารย์ชา" โดยสรุปได้ว่า

    เมื่อตอนที่ท่านกำลังจะเดินทางมาบวชในประเทศไทย ซึ่งช่วงนั้น หลวงพ่อชา ยังไม่เป็นที่รู้จักกันดีนัก แต่ได้มีพระรูปหนึ่งซึ่งขณะนั้น กำลังพักอยู่ที่วัดไทยในกรุงลอนดอน ได้รู้จักหลวงพ่อชา มาก่อนแล้ว พระรูปนั้นได้แนะนำว่าท่านว่า เมื่อมาถึงเมืองไทยควรจะไปหาหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง ให้ได้

    ต่อมาเมื่อท่านได้มาถึงเมืองไทยแล้ว และได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กทม. ปรากฏว่าพระภิกษุที่ท่านได้รู้จักในกรุงลอนดอนรูปนั้นก็ได้มาถึงเมืองไทยเช่นกัน และได้อยู่ควบคุมดูแลการบวชเณรของท่านด้วย

    พระภิกษุรูปนั้นได้คะยั้นคะยอที่จะพาท่านไปกราบ หลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพง ก่อนที่ท่านจะออกเดินทาง ท่านได้ออกไปยืนบนถนนอันวุ่นวายคับคั่งของกรุงเทพฯ เมื่อมองออกไปไกลก็ได้แลเห็นเพื่อนสนิทเก่าแก่คนหนึ่งซึ่งท่านเคารพเชื่อถือในความคิดเห็นตัดสินของเพื่อนท่านผู้นั้นมาก ตอนนี้ท่านผู้นั้นได้บวชเป็น พระสงฆ์ครองผ้าเหลือง มาแล้วเป็นเวลานานพอสมควร

    และจากการได้เยี่ยมเยือนวัดมาหลายแห่ง พระสงฆ์รูปนี้ได้บอกท่านอย่างมั่นอกมั่นใจว่า สถานที่ดีที่สุดสำหรับ การบวชและฝึกอบรมเป็นพระภิกษุนั้นก็คือกับพระอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง

    ดังนั้นในวันขึ้นปีใหม่ หลวงพ่อเขมธัมโม กับพระสงฆ์ไทยจากลอนดอนก็ได้เดินทางไปยังจ.อุบลราชธานี และได้เข้าไปกราบนมัสการ หลวงพ่อชา ณ วัดหนองป่าพงเป็นครั้งแรก

    หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกถึงตอนนี้ว่า "...หลวงพ่อชา เดินลงบันไดมา ท่านนั่งขัดสมาธิบนม้านั่ง ยกสูงทำด้วยไม้แข็ง อยู่ต่อหน้าเราพร้อมกับจิบน้ำชาจากแก้วไปด้วย ขณะกำลังคุยกับเรา ท่าทางท่านดูเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ยิ้มแย้มร่าเริง เราได้พยายามสื่อสารอย่างเต็มที่กับท่าน โดยมีพระไทยซึ่งไม่สู้จะคล่องภาษา (อังกฤษ) นักช่วยเป็นล่าม...."

    หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกต่อไปอีกว่า...เมื่อหลวงพ่อชาตอบรับท่านเป็นศิษย์แล้ว ท่านก็ได้เริ่มใช้ชีวิตภายใต้ การชี้นำของหลวงพ่อชา ซึ่งมิใช่เป็น ชีวิตบนแปลงดอกกุหลาบโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว

    ปัญหาทั้งหมดเกิดจากตัวของท่านเองทั้งสิ้น แต่นั่นมักจะเป็นสิ่งที่คนเรามักจะมองไม่เห็น อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อเขมธัมโม ก็ได้อยู่กับหลวงพ่อชาด้วยดีตลอดมา เพราะเริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น จนเกิดความซาบซึ้งใจในหลายสิ่งหลายอย่างของความเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

    [​IMG]

    หลวงพ่อเขมธัมโม ได้เขียนบันทึกอย่างเปิดใจตอนหนึ่งว่า "...เมื่อหลายปีผ่านไป อาตมาก็หันมานิยมชมชื่น ในตัวหลวงพ่อชามาก อาตมาได้เรียนรู้และซึมทราบจากท่านมากขึ้นทุกทีทุกที ความรักของอาตมา ที่มีต่อหลวงพ่อชานั้นเกิดขึ้นช้าๆ ทว่ามันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ..."

    พระป่าชาวอังกฤษ กล่าวว่า การใช้ชีวิต อยู่กับหลวงพ่อชานั้นก็มิใช่ง่ายเสมอไป บางอย่างดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เอาทีเดียว ท่านยังจำได้ดีถึงความอึดอัดใจที่ทำอะไรผิดๆ นับครั้งไม่ถ้วน และต่อหน้าผู้คนด้วย

    การกระทำทุกอย่างนั้นมีวิธีการของมันอยู่ และมีมาก ทีเดียวที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย แต่บางอย่างนั้นก็เป็นของตัวหลวงพ่อเอง ในขณะที่หลวงพ่อสามารถที่จะบอกกับอาตมา ได้เสมอว่าอะไร ผิดแต่ท่าน ก็จะไม่บอกอาตมาเสมอไปว่าอะไรถูก ปล่อยให้ท่านเข้าใจเอาเอง

    หลวงพ่อเขมธัมโม กล่าวว่า ในเวลาต่อท่านก็เข้าใจว่า อะไรถูกอะไร ผิดพร้อมกับยกย่องว่า หลวงพ่อชา มีลักษณะพิเศษเฉพาะตน ในการสั่งสอนอบรม ลูกศิษย์ได้เป็นอย่างดีเลิศ ทำให้เข้าใจในหลักธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างง่าย

    พระป่าชาวอังกฤษ กล่าวถึงวิธีการทำสมาธิตาม แบบที่หลวงพ่อชา ส่งเสริมให้ปฏิบัตินั้น มักจะไม่รวมเอาการแผ่เมตตาเข้าไว้ด้วย แต่ก็ยังไม่เคยพบ ผู้ใดที่มีความเมตตา กรุณามากเท่ากับ หลวงพ่อชา มาก่อนเลย หลวงพ่อชาได้ดูแล ลูกศิษย์ทุกคนด้วย ความรักอันบริสุทธิ์ ตลอดเวลา แม้บางครั้งท่านจะดุด่าว่ากล่าวบ้างก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิด มาจากความห่วงใย อยากให้ลูกศิษย์ได้รับความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง มากกว่า ลูกศิษย์ที่เข้าใจในเจตนาอันดี นี้ต่างมีแต่ความปลาบปลื้มใจ ในตัวของหลวงพ่อมาก

    หลวงพ่อชาชอบเดินเล่นรอบๆ วัดในตอนเช้า หลังจากออกบิณฑบาต ขณะที่พระรูปอื่นๆ ซึ่งออกไปบิณฑบาตไกลๆ เพิ่งจะกลับมา และมีการตระเตรียมอาหาร

    บางครั้งหลวงพ่อชาจะเดินตามลำพัง และมักจะกวักมือเรียกใครสักคนให้เดินไปกับท่าน เพื่อสนทนาธรรมไปในตัว

    ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเขมธัมโม กำลังมีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับคำสอน หลวงพ่อชาก็จะพาท่านไปเดินด้วย 2-3วัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ การได้อยู่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อชาเป็นส่วนตัวนี้ ทำให้หลวงพ่อเขมธัมโมมีความยินดีมาก

    วันหนึ่ง มีกิ่งไม้หนักขวางทางอยู่ หลวงพ่อชาได้ยกไม้ท่อนนั้นขึ้น พร้อมกับบอกให้หลวงพ่อเขมธัมโม ยกอีกข้างหนึ่ง แล้วถามว่า "หนักไหมล่ะนี่ ?" และเมื่อได้เหวี่ยงท่อนไม้นั้นเข้าไปในป่าแล้วก็ถามอีกว่า "ตอนนี้ล่ะเป็นไง หนักไหม ?"

    หลวงพ่อชาจะสอนลูกศิษย์ให้เห็นธรรมะในสิ่งที่พบเห็นใกล้ตัว ให้รู้จัก "การปล่อยวาง" ถ้าทำได้ก็จะเบาตัว (เหมือนกิเลสตัณหา)

    การฝึกปฏิบัติกับหลวงพ่อชานั้น ทำให้กฎระเบียบพิธีการและรูปแบบของชีวิตนักบวชในวัด มิใช่เป็นเพียงประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาอย่างไม่มีจุดหมายเหมือนในวัดอื่นๆ การสอนของหลวงพ่อชาทุกอย่างเป็น "วิธีการอันแยบยล" ในการสร้างทัศนคติแห่งการรู้แจ้งเห็นจริง

    หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า "เราคือพระภิกษุผู้ซึ่งมิใช่อยู่เพื่อแสวงหาลาภสักการะ หรือชื่อเสียง มิใช่เพื่อความก้าวหน้าทางโลก เราเป็นพระภิกษุที่ต้องเผชิญกับกิเลส และสิ่งที่เป็นอิทธิพลทำลายหัวใจและจิตใจของ มองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แล้วทิ้งมันไป เพื่อบรรลุถึงความสงบอันจริงแท้แน่นอน คือความสุขแห่งพระนิพพาน"

    ครั้งหนึ่งเพื่อนของหลวงพ่อเขมธัมโมได้พูดถึงความประทับใจที่มีต่อหลวงพ่อชาว่า ท่านเหมือนกับกบตัวใหญ่ ที่มีความสุขที่นั่งอยู่บนใบบัว เรามักจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับชีวิต ความเป็นอยู่เป็นเรื่องที่ถูกเมินเฉย เพราะพุทธศาสนาจะพูดเกี่ยวกับความทุกข์และแนวโน้มทางลบของใจ การวิเคราะห์จิตและสังขาร รวมทั้งคำนิยามต่างๆ ที่เข้าใจยาก

    แต่สำหรับหลวงพ่อชาแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้น หลวงพ่อจะแผ่ความสุขให้กับทุกคน ดึงดูดผู้คนเข้าหาท่าน และอยากจะอยู่กับท่าน แล้วท่านก็จะอบรมสั่งสอนธรรมแบบง่ายๆ โดยไม่ทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่ายกับการเทศน์แบบแห้งแล้งที่มีแต่คำบาลียาวๆ แต่ท่านจะนั่งคุยกับผู้คนอย่างสนุกสนาน หัวเราะพูดเล่น และเมื่อมีจังหวะท่านก็จะสอดแทรกธรรมะที่เป็นประโยชน์ต่อ ชีวิตให้กับพวกเขา หลวงพ่อชาจะอบรมสั่งสอนชาวบ้านอย่างนี้ตลอดทั้งวัน หลังจากฉันอาหาร จนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน ในขณะที่ผู้คนพากันมากราบไหว้ท่านอย่างต่อเนื่อง กลุ่มหนึ่งไปกลุ่มหนึ่งมาเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา หลวงพ่อมีความอดทนในเรื่องนี้มาก และไม่เคยเบื่อหน่ายเลย

    หลวงพ่อเขมธัมโม ได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่างจากหลวงพ่อชา ที่ท่านได้หยิบยกเอาสภาพสิ่งแวดล้อมที่พบเห็นใกล้ตัวมา เป็นตัวอย่างในการสอนธรรมะ

    ปีพ.ศ.2520 หลวงพ่อเขมธัมโม ได้นิมนต์ หลวงพ่อชา เดินทางไปประเทศอังกฤษเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยได้ที่เมืองแฮมป์สเตด อันเป็นสถานที่หลวงพ่อเขมธัมโมได้พบกับสัจจธรรมแห่งพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังได้พาหลวงพ่อไปทางตอนใต้ของอังกฤษ เพื่อเยี่ยมโยมพ่อโยมแม่ ของหลวงพ่อเขมธัมโมด้วย นับเป็นเวลาที่หลวงพ่อเขมธัมโมได้ใกล้ชิดกับหลวงพ่อชามากที่สุด และนานที่สุด

    หลวงพ่อชาได้เดินทางกลับเมืองไทย แต่หลวงพ่อเขมธัมโม ยังอยู่ต่อในอังกฤษต่อไป ทั้ง 2 ไม่ได้พบกันเป็นเวลานานถึง 9 ปีครึ่ง แล้วก็มีข่าวว่าหลวงพ่อชาอาพาธหนัก หลวงพ่อเขมธัมโมจึงรีบเดินทางมาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกราบเยี่ยมพระอาจารย์ของท่าน ช่วงนั้นหลวงพ่อชามีอาการที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลย

    หลวงพ่อเขมธัมโมต้องเดินทางมาเมืองไทยทุกปี เพื่อกราบเยี่ยม หลวงพ่อชา หลวงพ่อชากล่าวว่า...นี่เป็นกรรมของ ท่านและไม่มี ความจำเป็น ที่จะต้องทำอะไรกับมัน ท่านต้องอยู่กับเตียง และเก้าอี้ตลอดเวลา ต้องอาศัยผู้อื่นให้ทำทุกอย่าง เกี่ยวกับร่างกาย ของท่านเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ก่อนที่ท่านจะมรณภาพไป

    หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกไว้ในตอนท้ายว่า..."เราไม่อาจทราบได้ว่า ในช่วงเวลานั้น (หลวงพ่อชา) ท่านทำอะไรบ้าง หรือทำไมมันจึงต้อง เป็นแบบนั้น แต่หลังจากที่ท่านได้มีเวลาให้กับตนเอง บางทีท่านอาจจะ ได้สำเร็จในกิจภาระ ของตัวท่านเองแล้ว เราไม่มีทางรู้ได้เลย แต่อาตมาก็หวังว่าท่านได้จบชีวิตลงเมื่อสำเร็จเป็น พระอรหันต์ แล้ว..."

    หลวงพ่อเขมธัมโม ได้พูดถึงตัวเองว่า...ในชีวิตของท่าน นับว่าโชคดี ที่ได้รู้จักกับบุคคลที่เด่นด้วยคุณค่าหลายท่าน โดยมี หลวงพ่อชา เป็นผู้ที่ดีเด่นที่สุด ชื่นชอบในตัวท่านมาก เคารพและรักท่าน อีกทั้งรู้สึกสำนึกในบุญคุณเสมอ ที่โชคดีได้เป็นลูกศิษย์ของท่าน

    เมื่อข่าวว่า หลวงพ่อชา ได้มรณภาพแล้ว ความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในสมองของหลวงพ่อเขมธัมโมก็คือ ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพยายามทำตัวให้มีคุณค่ามากขึ้น เพื่อ หลวงพ่อชา และสามารถดำเนินภารกิจสืบทอดสิ่งที่ หลวงพ่อชา ท่านได้มอบให้กับลูกศิษย์ทุกคน

    หนึ่งสัปดาห์หลังจากการมรณภาพของ หลวงพ่อชา หลวงพ่อเขมธัมโมก็ได้เดินทางมาถึงเมืองไทย และตรงไปยัง วัดหนองป่าพง ทันที เพื่อแสดงความคารวะแด่สรีระของ หลวงพ่อชา พระอาจารย์ผู้มีพระคุณอย่างใหญ่หลวง สำหรับ หลวงพ่อเขมธัมโม ลูกศิษย์ชาวอังกฤษที่ได้มีโอกาสบวชเรียนเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศอังกฤษ

    ภารกิจของ "หลวงพ่อเขมธัมโม" ในประเทศอังกฤษมีอะไรบ้าง เอาไว้พรุ่งนี้ผมจะนำมา เล่าสู่กันฟังต่อ

    หลวงพ่อเขมธัมโม ต้องเดินทางมาเมืองไทยทุกปี เพื่อกราบเยี่ยม หลวงพ่อชา ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชาได้กล่าวกับหลวงพ่อเขมฯว่า... นี่เป็นกรรมของท่าน และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรกับมัน

    หลวงพ่อชาต้องอยู่กับเตียงและเก้าอี้ตลอดเวลา ต้องอาศัย ผู้อื่นให้ทำทุกอย่าง เกี่ยวกับร่างกายของท่านเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ก่อนที่หลวงพ่อชาจะมรณภาพเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2535 ณ วัดหนองป่าพง สิริรวมอายุ 74 ปี พรรษา 52 ขณะดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะที่ "พระโพธิญาณเถร"

    หลวงพ่อเขมธัมโม บันทึกไว้ในตอนท้ายว่า..."เราไม่อาจทราบได้ว่า ในช่วงเวลานั้น (หลวงพ่อชา) ท่านทำอะไรบ้าง หรือทำไมมันจึง ต้องเป็นแบบนั้น แต่หลังจากที่ท่านได้มีเวลาให้กับตนเอง บางทีท่านอาจจะได้สำเร็จในภารกิจ ของตัวท่านเองแล้ว เราไม่มีทางรู้ได้เลย แต่อาตมาก็หวังว่าท่านได้จบชีวิตลงเมื่อสำเร็จเป็น พระอรหันต์ แล้ว..."

    หลวงพ่อเขมธัมโม ได้พูดถึงตัวเองว่า... ในชีวิตของท่านนับว่าโชคดีที่ได้รู้จักกับบุคคลที่เด่นด้วยคุณค่าหลายท่าน โดยมี หลวงพ่อชา เป็นผู้ที่ดีเด่นที่สุดในชีวิตของท่าน ท่านชื่นชอบในตัวหลวงพ่อชามาก เคารพและรักหลวงพ่อชา อย่างสุดชีวิตและจิตใจ อีกทั้งยังรู้สึกสำนึก ในบุญคุณเสมอที่โชคดีได้เป็นลูกศิษย์ของท่าน เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ท่าน ในฐานะเป็น "พุทธบุตร" ที่ท่านได้เลือกทางเดินเองแล้ว และนี่คือ...เส้นทางเดินของชีวิตที่ประเสริฐสุด

    เมื่อทราบข่าวว่า หลวงพ่อชา ได้มรณภาพแล้ว ความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในสมองของหลวงพ่อเขมฯก็คือ ความตั้งใจ แน่วแน่ที่จะพยายามทำตัวให้มีคุณค่ามากขึ้น เพื่อ หลวงพ่อชา และสืบทอดภารกิจที่ หลวงพ่อชา ได้มอบให้กับท่านและลูกศิษย์ทุกคน

    หนึ่งสัปดาห์หลังจากการมรณภาพของ หลวงพ่อชา หลวงพ่อเขมฯก็ได้เดินทางมาถึงเมืองไทย และตรงไปยัง วัดหนองป่าพง ทันที เพื่อแสดงความเคารพแด่สรีระของ หลวงพ่อชา พระอาจารย์ผู้มีพระคุณอย่างใหญ่หลวง สำหรับ หลวงพ่อเขมธัมโม ลูกศิษย์ชาวอังกฤษที่ได้มีโอกาสบวชเรียนเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศอังกฤษ

    ภารกิจสำคัญของ "หลวงพ่อเขมธัมโม" ในประเทศอังกฤษคือการจัดตั้งวัดในทางพระพุทธศาสนาขึ้นใน เมืองวอริค เป็นรูปแบบของ "วัดป่า" ตามแบบของ หลวงพ่อชา เมื่อปี พ.ศ.2530โดยตั้งชื่อว่า "วัดป่าสันติธรรม" (Santidhamma Forest Hermitage) ดำเนินการเผยแพร่หลักธรรม คำสอน ในทางพระพุทธศาสนาแก่ชาวอังกฤษโดยเฉพาะ รวมทั้งชาวต่างชาติอื่นๆ ที่สนใจ ทั้งนี้ หลวงพ่อเขมฯ จะสอนวิธีนั่งสมาธิแบบง่ายๆ และแนะแนวทางการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันด้วย หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง โดยสรุปว่าเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดที่สุด

    การทำงานของ หลวงพ่อเขมธัมโม ได้รับการสนับสนุนจากชาวไทยที่ไปทำงานในอังกฤษ รวมทั้งบรรดานักเรียนนักศึกษาไทยต่างก็ให้ความร่วมมืออย่างกว้างขวาง ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบัน วัดป่าสันติธรรม ได้เติบโตขยายตัวออกไปมาก มีพระภิกษุพำนักอยู่ที่วัดนี้รวมทั้งหมด 4 รูป ซึ่งล้วนเป็นชาวอังกฤษทั้งสิ้น

    [​IMG]

    เมื่อวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมวัดนี้ก็ได้พบกับ พระภิกษุหนุ่มชาวอังกฤษ หน้าตาดีมาก 3 รูป ท่านนั่งรอ หลวงพ่อเขมธัมโม เพื่อฉันภัตตาหารเพล ด้วยอาการที่วางนิ่งเฉยมาก สำรวมอย่างที่สุด ได้กราบเรียนถามท่านอะไร ท่านก็ตอบสั้นๆ แต่เพียงว่า ให้รอถาม หลวงพ่อเขมธัมโม และที่สำคัญคือท่านพูดภาษาไทยไม่ได้เลย เพราะท่านเกิดที่อังกฤษ ไม่เคยมาเมืองไทยเลย จึงพูดแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น และพูดน้อยมาก การเรียนหนังสือธรรมะก็เรียนฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษ

    สำหรับ การฉันภัตตาหารเพลของหลวงพ่อเขมฯและพระลูกศิษย์ทั้ง 3 รูป เป็นการ ฉันรวมในบาตร ด้วยอาหารมังสวิรัติ และ ฉันเพียงมื้อเดียวใน 1 วัน

    ภารกิจอันยิ่งใหญ่อีกด้านหนึ่งของหลวงพ่อเขมฯ คือการจัดตั้ง สำนักงานใหญ่ขององคุลีมาล ซึ่งเป็นองค์กรการสอนพุทธศาสนา ในเรือนจำ และจัดอบรมการปฏิบัติงานด้านพระพุทธศาสนา สำหรับอนุศาสนาจารย์ด้วย

    ที่ วัดป่าสันติธรรม มีการอบรมสมาธิสำหรับผู้ที่สนใจทุกๆ วันจันทร์และวันศุกร์ รวมทั้งจัดงานทำบุญใน วันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนการแนะนำพระพุทธศาสนาให้แก่กลุ่มนักเรียน และองค์กรต่างๆ ที่มาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธ

    นับเป็นความวิริยะอุตสาหะอย่างสูงของหลวงพ่อเขมฯ ที่ท่านได้เพียรพยายามเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่เพื่อน ร่วมชาติของท่านเอง เพื่อให้เขาเหล่าได้พ้นทุกข์ และประสบแสงสว่างแห่งชีวิต ประสบปัญญาแห่งธรรมะโดยแท้จริง สมควรที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยในเมืองไทยจะได้มีส่วนช่วยเหลือ หลวงพ่อเขมธัมโม ท่านบ้าง เมื่อมีโอกาส

    หลวงพ่อเขม ได้ก่อตั้ง วัดป่าสันติธรรม ขึ้นเมื่อปีค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) โดยได้รับการสนับสนุน จากพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและชาวอังกฤษอย่างกว้างขวาง

    ผมได้มีโอกาสไปกราบไหว้ท่านเมื่อ หลายเดือนก่อน มาเมื่อเร็วๆ นี้ ทางวัดได้ส่งข่าวมาให้ผมทราบเพิ่มเติมว่า

    ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมา วัดป่าสันติธรรม ได้เติบโต ขยายตัวมาก จนกระทั่งปัจจุบันมี พระภิกษุ พำนักอยู่ที่วัดรวมทั้งหมด 4 รูป นอกจากนี้ วัดป่าสันติธรรม ยังเป็นที่ตั้งของ สำนักงานใหญ่ขององคุลิมาล (องค์กรการสอน พุทธศาสนาในเรือนจำ) ซึ่งจัดอบรม ปฏิบัติงานด้านศาสนาสำหรับอนุศาสนาจารย์ด้วย

    ที่ วัดป่าสันติธรรม มีการ อบรมสมาธิสำหรับผู้ที่สนใจทุกๆ วันจันทร์และวันศุกร์ รวมทั้งจัดงาน ทำบุญในวันสำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา และแนะนำพระพุทธศาสนาให้แก่กลุ่มนักเรียนและองค์กรต่างๆ ที่มาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

    หลวงพ่อเขม กล่าวว่า เนื่องจาก คณะสงฆ์ได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทางวัดจึงไม่สามารถที่จะรองรับ การขยายตัว ดังกล่าวได้อีกต่อไป เนื่องจากมีที่พำนักอาศัย และที่เก็บของจำกัด ทั้งยังไม่มีห้องพัก รับรอง พระอาคันตุกะ (พระสงฆ์ที่มาเยี่ยมเยือน) นอกจากนี้ ยังขาดที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิง ทำให้ไม่สามารถรับบวชแม่ชีได้ การรองรับผู้มาเก็บตัวเพื่อปฏิบัติธรรมที่วัดก็ทำได้ไม่เต็มที่

    หลวงพ่อเขม กล่าวว่า ในละแวกวัดป่าสันติธรรม มีบ้าน วู้ด คอทเทจ (Wood Cottage) อยู่หลังหนึ่งซึ่ง เป็นสถานที่เหมาะ มากที่สุดสำหรับรองรับการขยายตัวของวัดป่าสันติธรรม ด้วยอาณาเขต ที่ใกล้เคียงกัน ทั้งความเก่าแก่และรูปแบบ อาคารก่อสร้าง ก็คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ มณฑลวอริคที่สงบ ห่างไกลจากถนน และความวุ่นวายอึกทึก เจ้าของ วู้ด คอทเทจ คนปัจจุบันได้ปรับปรุง สถานที่จนมีสภาพที่ดีเยี่ยม พร้อมที่จะรองรับการขยายตัว ของวัดป่าสันติธรรมได้ทันที

    เจ้าของบ้านประกาศจะขายบ้านหลังนี้ และเห็นว่า ทางวัดป่าสันติธรรม สนใจ จึงยังไม่ติดป้ายประกาศขาย โดยจะเปิดโอกาสให้ทางวัดจัดหาเงินมาซื้อภายในเวลา 3 เดือน ในราคา 425,000 ปอนด์ (1 ปอนด์ เท่ากับเงินไทยประมาณ 66 บาท) เมื่อเปรียบเทียบกับ ราคาบ้านและที่ดินประเภทเดียวกันในพื้นที่นี้ ราคาดังกล่าวนับว่าไม่แพงเกินไป อีกประการหนึ่ง การก่อสร้างอาคาร สถานที่ในพื้นที่ชนบทของมณฑล วอริคทำได้ยากมาก เนื่องจากมีระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้ ผู้คนจึงนิยมหาซื้ออาคารสถานที่ซึ่งมีอยู่แล้ว จะสะดวกกว่า

    คริส เอคเคิลส์ กรรมการสมาคมพุทธธรรม ลูกศิษย์หลวงพ่อเขม จึงได้กล่าวเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคปัจจัยให้ได้ครบ 100,000 ปอนด์ เพื่อเป็นเงินดาวน์ สำหรับการผ่อนซื้อ วู้ดคอทเทจ ส่วนหนี้ที่เหลืออีก 325,000 ปอนด์ จะใช้วิธีผ่อนชำระกับทางธนาคาร โดยอาศัยผู้ให้บริจาคเป็นรายเดือน จนกว่าจะสามารถ หาปัจจัยก้อนใหญ่มาชำระหนี้ทั้งหมดได้

    ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเท่าที่จะให้ได้ ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม หรือจะให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยก็ได้ โดยทางวัดจะใช้คืนภายในเวลา 5 ปี

    ทางวัดมีจุดมุ่งหมายที่จะชำระหนี้ให้ได้มากที่สุดภายในเวลา 5 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ผ่อนชำระที่เหลือ (ซึ่งคงไม่มากนัก) ให้กับทาง ธนาคารโดยอาศัยปัจจัยรายได้ตามปกติต่อไป

    ท่านที่ประสงค์จะร่วมทำบุญครั้งนี้ กรุณาโทรศัพท์ถึง แมทธิว ริชาร์ดส หมายเลข 0-1926-624-564 การทำบุญกับ วัดป่าสันติธรรม ครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้ท่านมีส่วนช่วยปลูกฝัง พระพุทธศาสนาให้ยืนยงคงอยู่ต่อไป ในประเทศอังกฤษ ทางวัดขออนุโมทนาและขอขอบพระคุณทุกท่านที่มีจิตใจเป็นกุศล พร้อมที่จะร่วมมือกัน สร้างความมั่นคงให้กับคณะสงฆ์ ณ วัดป่าใจกลางประเทศอังกฤษนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน

    การติดต่อกับ ทางวัดป่าสันติธรรม ติดต่อได้ที่ The Forest Hermitage (Watpah Santidhamma) Lower Fulb rook, near Sherbourne Warwichshire CV35 8AS United Kingdom Tel&Fax 01926624385

    หรือส่ง E-mail ถึง หลวงพ่อเขม ได้ที่ prakhem@foresthermitage.org.uk
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

    [​IMG]<SCRIPT type=text/javascript src="http://cdn1.hikiwake.com/scripts/shared/enable.js?si=10186"></SCRIPT>


    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
    วัดป่าสุคะโต ตำบล ท่ามะไฟหวาน
    อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ​



    ๑. บ้านเกิดและชีวิตช่วงปฐมวัย

    หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ เกิดที่บ้านหนองเรือ ตำบลหนองเรือ (เดิมชื่อ ตำบลบ้านเม็ง)อำเภอหนองเรือ (เดิมอยู่ในเขตอำเภอเมือง) จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ตรงกับวันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด โยมพ่อชื่อ นายสมาน เหล่าชำนิ โยมมารดาชื่อ นางเฮียน แอมปัชฌาย์ (เหล่าชำนิ) มีพี่น้อง รวม ๗ คน คือ
    ๑. นางเหรียญ บุญหลง (เหล่าชำนิ)
    ๒. นางสุดตา แอมปัชฌาย์ (เหล่าชำนิ)
    ๓. หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ
    ๔. นายดำ เหล่าชำนิ
    ๕. นางเอื้อน ดวงโพธิ์ศรี (เหล่าชำนิ)
    ๖. นายสุพล เหล่าชำนิ
    ๗. นางอุบล - (เหล่าชำนิ)

    เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๐ ขวบ บิดาและมารดาของท่านได้ย้ายไปอยู่บ้านหนองแก อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ทำการบุกเบิกที่ทำกิน ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ในช่วงแรกต้องเดินทางไปมาระหว่างบ้านหนองแกและบ้านหนองเรือ ซึ่งมีระยะทางประมาณ ๓๐ – ๔๐ กิโลเมตร เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทาง มีเพียงทางเกวียนช่วงสั้นใกล้ๆหมู่บ้าน และยังมีรถยนต์โดยสาร จึงต้องเดินเท้าหอบหิ้วสัมภาระบุกป่าฝ่าดงด้วยความยากลำบาก

    ในช่วงเวลานั้น บิดาและมารดาของท่านต้องทำงานหนัก โดยเฉพาะบิดาของท่านต้องหาบสัมภาระเดินทางไกลตลอดวันและพักแรมกลางป่ากลางดงในเวลากลางคืน ท่านรู้สึกสงสารบิดาของท่านมาก คิดอยากช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง แต่ก็ช่วยไม่ได้มาก เพราะท่านเองก็ยังเล็ก ได้แต่รู้สึกชื่นชมว่าบิดาของท่านมีความเข้มแข็ง อดทนและทำงานหนักมาก ทำให้ท่านเก็บความประทับใจนั้นไว้และนำมาเป็นแบบอย่างในเวลาต่อมา

    ชีวิตวัยเด็กของท่านเหมือนกับเด็กไทยในชนบททั่วไปที่ครอบครัวทำเกษตรกรรม มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้ไม่มีเงินก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีข้าวปลาอาหาร ผัก ผลไม้ รวมถึงมียาสมุนไพรอยู่รอบบ้าน เลี้ยงวัว เลี้ยงความไว้ใช้แรงงาน รวมทั้งในป่า มีเห็ด มีหน่อไม้ และผักต่างๆ

    ท่านใช้ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีกับการงานเหล่านี้ อยู่กับครอบครัว แต่ไม่มีโอกาสได้เที่ยวเล่นสนุกสนานเช่นเด็กทั่วไป เนื่องจากบิดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ ประกอบกับพี่ของท่าน ๒ คน ไปอยู่กับปู่และย่า ท่านจึงต้องรับผิดชอบการงานแทนบิดาของท่าน

    ในชนบทสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนภาคบังคับของรัฐบาล ผู้ชายส่วนใหญ่นิยมบวชเป็นระยะเวลานานๆเพื่อศึกษาเล่าเรียน ท่านบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ที่วัดหนองแก ระยะเวลาที่ท่านบวชได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมขั้นต้น จนสามารถจดจำข้อธรรมต่างๆได้อย่างแม่นยำ ท่านเองต้องการเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น โดยตั้งใจว่าจะไปเรียนที่วัดธาตุ จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่อาจทำได้ด้วยความห่วงใยโยมแม่และน้องๆที่ยังเล็กอยู่ แม้ว่าท่านบวชเป็นสามเณรอยู่ ท่านยังดูแลเอาใจใส่และช่วยเหลือโยมแม่และโยมน้องอยู่เสมอ บางครั้งหลังคาบ้านรั่วท่านก็ไปซ่อมให้ บันไดบ้านหักท่านก็ทำแล้วแบกไปใส่ให้ที่บ้าน ทั้งนี้เพราะไม่มีผู้ใดช่วยเหลือดูแล นอกจากนั้นแล้ว ที่ดินพื้นที่ไร่นาก็ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ในที่สุดท่านจำต้องลาสิกขา ออกไปช่วยงานของครอบครัว หลังจากที่บวชเป็นสามเณรอยู่ได้ประมาณ ๒ ปี

    หลังจากลาสิกขาบทมาแล้ว ได้กลับมาช่วยกิจการของครอบครัวอย่างเต็มที่ ท่านเล่าว่าชีวิตประจำวันของท่าน ตั้งแต่เช้าจนค่ำอยู่แต่ในไร่ ในนา ถ้าใครต้องการพบท่าน ต้องไปที่นั่น ท่านไม่มีเวลาไปเที่ยวเตร่เฮฮาที่ใด ทุกวันท่านจะออกจากบ้านแต่เช้าไปทำงานในไร่ในนา ตอนกลางวัน มารดาของท่านจะให้น้องนำอาหารไปส่ง แม้บางครั้งมารดาของท่าน หรือน้องๆลืมไปส่งอาหาร ท่านก็ยังคงทำงานต่อไป

    ด้วยความจริงจังกับงานและขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอนี้เอง ทำให้ท่านเป็นที่ยกย่องของคนในหมู่บ้าน ในช่วงเวลานั้นเองท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคม ทำน้ำมนต์ ปัดรังควาน ไล่ผี และรักษาคนป่วยไปด้วย ฉะนั้นทุกคืนก่อนนอนท่านต้องสวดมนต์ภาวนาบริกรรมท่องคาถาอาคมต่างๆ จนคล่องแคล่ว เกิดความชำนาญ จนสามารถใช้วิชาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ยามชาวบ้านเดือดร้อน ท่านได้เข้าทำการช่วยเหลือ นับตั้งแต่เจ็บไข้ได้ป่วย ไล่ผี ทำคลอด ตลอดจนผูกข้อมือให้เด็ก จนเป็นที่เรียกขานกันในหมู่บ้านว่า ท่านเป็นหมอธรรม

    ขณะเดียวกันนั้น ท่านได้ถือศีล ๕ และรักษาอุโบสถศีลทุกวันพระ ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอย่างเคร่งครัด ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อาฆาตมาดร้ายผู้ใด ครั้งหนึ่งมีคนมาขโมยควายไปหมดทั้งคอก ซึ่งมีทั้งหมด ๗ ตัว ท่านก็ไม่ได้มีความรู้สึกโกรธแค้นแม้แต่น้อย ได้แต่คิดว่าเมื่อสูญหายไปแล้วก็หาเอาใหม่ ด้วยเหตุผลหลายประการประกอบกันนี้ เมื่อก้าวเข้ามาสู่เส้นทางแห่งการปฏิบัติธรรม ท่านจึงสามารถปฏิบัติได้อย่างราบรื่น ไม่มีอดีตกรรมหยาบมาฉุดรั้งให้หลงทาง หรือดำเนินไปอย่างเชื่องช้า.
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

    ๒. มีครอบครัว

    เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี หลังจากการตรวจเลือกทหารแล้ว ท่านได้แต่งงานตามจารีตประเพณี เมื่อมีครอบครัวแล้ว ท่านยังคงรักษาศีลาจารวัตรและเป็นหมอธรรมดังเดิม นอกจากนั้นแล้วท่านต้องทำงานหนักขึ้น ด้วยต้องช่วยงานของครอบครัวทางภรรยาด้วย ต้องไปมาระหว่างบ้านมารดาของท่านและบ้านภรรยา

    ในระหว่างนั้น ท่านได้ฝึกสมาธิแบบพุทโธ เมื่อปฏิบัติมานานจนทำให้จิตสงบได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจนัก เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ ๓๐ หลังจากมีครอบครัวมาได้ ๗ – ๘ ปี ท่านได้เริ่มแสวงหาครูบาอาจารย์ที่แนะนำเรื่องสมาธิวิปัสสนาตามแนวทางอื่นๆที่เหมาะสมกับตัวท่านบ้าง.


    ๓. ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

    ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านได้ยินกิตติศัพท์จากผู้คนทั้งหลายว่า หลวงพ่อเทียนตั้งสำนักสอนกรรมฐานอยู่ที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย ผู้ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนจะรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม ไม่สงสัยเรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องมรรค เรื่องผล มีผู้คนชักชวนให้ไปศึกษาดู ในช่วงนั้นท่านขวนขวายศึกษาฝึกสมาธิแบบพุทโธ เข้าถึงสมถะและได้รับความสุข ความสงบพอสมควร อย่างไรก็ตาม ท่านยังคงสงสัยเรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องนรก เรื่องสวรรค์และเรื่องมรรคผลนิพพานอยู่ ทำให้นึกถึงหลวงพ่อเทียนอยู่ตลอดเวลาและพยายามหาโอกาสไปศึกษาด้วย.

    เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านมีโอกาสได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน ที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย หลวงพ่อเทียนสอนให้สร้างจังหวะและเดินจงกรม ท่านเองเคยฝึกหัดมาแบบพุทโธ โดยนั่งนิ่งๆสามารถเข้าถึงความสงบได้อย่างว่องไว ทำให้ไม่ชอบการสร้างจังหวะ แต่หลวงพ่อเทียนสอนไม่ให้สงบแต่เพียงอย่างเดียว ท่านสอนให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ กำหนดรู้ไปกับการสร้างจังหวะและไม่ให้เข้าไปอยู่ในความสงบ.

    คำสอนของหลวงพ่อเทียนนี้ สวนทางกับวิธีที่ท่านฝึกหัดมา ทำให้บางทีท่านไม่อยากทำ เกิดความรู้สึกคัดค้านอยู่ในใจ หลวงพ่อเทียนก็พูดให้ฟัง ทำให้ดูและบางทีก็พูดท้าทายให้ปฏิบัติ โดยพูดว่า “ คุณทำงานอยู่ที่บ้าน ถ้าคิดเป็นเงินจะได้เดือนละกี่บาท? ” ท่านก็ตอบว่า “ อย่างน้อยก็ได้เดือนละ ๑๐๐๐ บาท ” หลวงพ่อเทียนก็พูดว่า “ คุณมาอยู่ปฏิบัติธรรม สร้างจังหวะและเดินจงกรมให้มีสติสัมปชัญญะนี้ ถ้าคุณไม่รู้อะไรเลยและจิตใจไม่เปลี่ยนไปจากเดิม อาตมาจะเสียเงินให้ เดือนละ ๑๐๐๐ บาท แต่ต้องทำจริงๆนะ ให้ทำตามที่อาตมาสอนทุกอย่างนะ ”

    หลวงพ่อเทียนพูดอย่างนี้ อาจเป็นเพราะเห็นว่าท่านเป็นคนมีทิฏฐิมาก ในที่สุดท่านก็ตกลงทำ เพราะอย่างไรก็ตั้งใจมาปฏิบัติแล้ว จึงทดลองดู โดยพยายามทวนความรู้สึกเดิม ตั้งใจสร้างจังหวะ เพื่อปลูกสติสัมปชัญญะและสร้างสติ จากนั้นจึงเริ่มต้นปฏิบัติไปเรื่อยๆ.

    ในการปฏิบัตินั้น เมื่อเริ่มคิดให้กลับมาอยู่กับการสร้างจังหวะจะเกิดความสงบความรู้สึกตัว ไม่เข้าไปอยู่ในความสงบ รู้กาย รู้ใจชัดขึ้น มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น รู้ทันต่อการเคลื่อนไหว รู้ทันต่อใจที่คิด เกิดปัญญาญาณขึ้นมา รู้เรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องกาย เรื่องใจ ตามความเป็นจริง ลำดับไปจนจบรูปนามเบื้องต้น. จากนั้นจิตใจของท่านได้เปลี่ยนไป พ้นจากภาวะเดิม ความลังเลสงสัยหมดไป ได้รู้เรื่องสมถะและเรื่องวิปัสสนา. ท่านรู้สึกว่าความทุกข์ที่มีอยู่ หมดไป ๖๐ % จึงมั่นใจในคำสอนของหลวงพ่อเทียนมาก จนไม่สงสัยต่อความรู้เดิมที่มีอยู่.

    คาถาอาคมเครื่องรางของขลังที่เคยเรียนมานั้น ท่านเริ่มเห็นว่าเป็นเรื่องสมมุติ พิธีรีตองต่างๆที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั้น ก็เริ่มวางได้ มีความเชื่อในการกระทำ รู้เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ รู้เรื่องศาสนา พุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านมีความรู้สึกเหมือนว่า แบกของหนักมา ๑๐๐ กิโลกรัม พอเกิดปัญญาญาณขึ้น น้ำหนักที่แบกไปนั้นหาบไป ๖๐ กิโลกรัมทันที.

    ท่านจึงคิดไปว่า เมื่อทำเพียงเท่านี้ ความทุกข์ที่มียังหลุดไปได้ถึงเพียงนี้ หากทำมากกว่านี้ จะเป็นอย่างไร ทำให้ท่านคิดปฏิบัติต่อไป และมีความมั่นใจต่อการเจริญสติสัมปชัญญะแบบเคลื่อนไหวมากขึ้น

    วันหนึ่งหลวงพ่อเทียนให้ อารมณ์ โดยบอกว่า “ นี้เป็นอารมณ์ของกรรมฐานเบื้องต้น อย่าไปหลงติด คิดว่าตัวเองรู้มาก ที่จริงยังมีอีกมากที่ยังไม้รู้ ต้องตั้งใจปฏิบัติต่อไป ให้บำเพ็ญทางจิตต่อ จึงจะรู้อารมณ์ของปรมัตถ์ ” จากนั้นหลวงพ่อเทียนถามว่า “ ทำอย่างนี้รู้ได้ไหม เห็นจริงได้ไหม เชื่ออาตมาหรือเชื่อตัวเอง ” ท่านก็ตอบหลวงพ่อเทียนว่า “ เชื่อตัวเอง ”.

    หลวงพ่อเทียนได้สอนให้เห็นความจริงของชีวิต จากนั้นมาท่านไม่แสวงหาครูบาอาจารย์และไม่แสวงหาวิธีปฏิบัติตามแนวทางอื่นอีก เพราะได้บทเรียนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิตแล้ว.

    ปฏิปทาของหลวงพ่อเทียน
    ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ระหว่างที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนนั้น หลวงพ่อเทียนยังอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ อ่านได้แต่ภาษาลาว หลวงพ่อเทียนได้ฝึกฝนการอ่านและการเขียนภาษาไทยพร้อมๆกับการสั่งสอนการปฏิบัติธรรมให้กับลูกศิษย์ และมีหลายๆครั้งที่ท่านได้สอนหลวงพ่อเทียนอ่านหนังสือภาษาไทย.

    หลวงพ่อเทียนสอนโดยการปฏิบัติให้ดูและพูดให้ฟัง หลวงพ่อเทียนใช้ชีวิตเรียบง่าย แม้การนั่ง การนอนหรือการขบฉัน จะมีระเบียบและเอาใจใส่ต่อลูกศิษย์ ไม่เห็นแก่ความยากลำบาก เสียสละทุกอย่างทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์เพื่อผู้อื่น เพราะท่านอยากให้ทุกคนรู้ธรรมะจริง แม้เวลาผ่านไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ปฏิปทาของหลวงพ่อเทียนไม่เคยเปลี่ยนแปลง ท่านจึงมีความเคารพนับถือว่า หลวงพ่อเทียนเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ไม่มีวันเสื่อมคลายได้ในชีวิตนี้.

    การปฏิบัติธรรมในป่าพุทธยาน

    ผู้ที่ไปใช้ชีวิตในป่าพุทธยานในครั้งกระโน้น ทุกคนมีความตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกัน ไม่ต้องตั้งกฎหรือระเบียบติดไว้ที่ประตู อยู่กันด้วยความเงียบสงบ ๒๐ – ๓๐ ชีวิต ยามไต่ถามกันก็ทำด้วยความระมัดระวัง ทุกคนนั่งสร้างจังหวะและเดินจงกรม ท่านเคยลองถามสามเณรที่สร้างจังหวะอยู่ สามเณรผู้นั้นยังไม่ค่อยอยากจะพูด.

    การสอนกรรมฐานของหลวงพ่อเทียนในครั้งกระโน้น มีแต่การเน้นการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ ที่นั่น มีน้ำค้างมาก หากได้ยินเสียงน้ำค้างตกลงบนใบตองก็เป็นเวลาตีสามพอดี ทุกชีวิตก็ลุกขึ้นปรารภความเพียร เสียงเดินจงกรมในตอนเช้ามืดกับเสียงน้ำค้างตกลงใส่ใบตองดังตับๆๆ แสงตะเกียงผ่านละอองน้ำค้างสลัวๆ แต่ละวันได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับได้รับรสของพระธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติ และได้รับคำตอบของชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน.

    ที่อยู่ที่ใช้อาศัยยามปฏิบัติธรรมเป็นกระต๊อบหลังเล็ก เวลาฝนตกก็เปียกบ้างเล็กน้อย ได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตที่ไม่ปรุงแต่ง การขบฉันบางครั้งก็ได้จากการเอาน้ำในกาเทผสมลงในน้ำพริกที่ใกล้จะหมด เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า น้ำที่ใช้ล้างบาตรแล้ว ไม่เททิ้ง ต้องเทรวมกันไว้ในภาชนะรองรับ แล้วนำน้ำนั้นไปใช้ล้างถ้วยชามอีกทีก่อน แล้วนำน้ำไปรดน้ำตนไม้ที่ปลูกไว้ต่อไป.

    แหล่งน้ำที่เป็นน้ำดื่มน้ำใช้อยู่ห่างจากป่าพุทธยานมากกว่า ๑ กิโลเมตร เวลาไปอาบน้ำต้องหาภาชนะสำหรับใส่น้ำกลับมากุฏิด้วย ทุกคนต้องช่วยตนเอง พระผู้เฒ่าก็หิ้วกระป๋องใส่น้ำกลับมา ส่วนพระหนุ่มก็ใช้การหาบ ความยากจนทำให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีระบบ ไม่ท้อถอย ไม่กลัวความทุกข์ ไม่กลัวความยากลำบาก ในบางครั้งถุงพลาสติกที่ญาติโยมห่ออาหารใส่บาตรก็เก็บไว้ใช้อุดหลังคาที่รั่ว.

    การปรารภความเพียรอย่างแน่วแน่มั่นคงและกระตือรือร้นนี้ เห็นได้จากทางเดินจงกรมเป็นมัน ที่นั่งบนกุฏิเป็นรูปรอยนั่ง เมื่อได้สร้างจังหวะและได้เดินจงกรม ท่านมีความรู้สึกเหมือนว่าในโลกนี้มีตัวคนเดียว ไม่ถูกแบ่งแยกไปทิศทางใดเลย.

    เวลาที่ญาติโยมนิมนต์ไปขบฉัน ไปประกอบพิธีต่างๆที่บ้าน เป็นเวลาที่ฝืนความรู้สึกอย่างมาก ท่านได้แต่คิดถึงทางจงกรม คิดถึงที่นั่งบนกุฏิ ที่ให้แต่ความสงบร่มเย็น มีความรู้สึกภาคภูมิใจ มีความรู้สึกเป็นสง่าและรู้สึกว่ากำลังทำงานที่มีเกียรติในชีวิต ในเวลาที่ได้เดินจงกรม ในเวลาที่ได้นั่งสร้างจังหวะและเจริญสติ ไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่าย.

    มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งสร้างจังหวะในกุฏิ หลวงพ่อเทียนเดินมา หลวงพ่อเทียนได้เอ่ยทักทายว่า “อยู่ที่นี่หรือ”

    “ อยู่ครับหลวงพ่อ” ท่านตอบ
    “ทำอะไร?” หลวงพ่อเทียนถามต่อ
    “สร้างจังหวะครับ” ท่านตอบโดยพลัน
    “เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในไหม” หลวงพ่อเทียนถามตรงประเด็น
    “ไม่เห็นข้างนอกครับ เห็นแต่ข้างใน” ท่านตอบอย่างรวดเร็ว
    “ถ้าอยากเห็นข้างนอกทำอย่างไร” ผู้เป็นบูรพาจารย์ถามต่อ
    “เปิดประตูออกครับ” ท่านตอบโดยเร็ว
    “เอ้า ! ลองเปิดประตูออกมาดู”

    พอเปิดประตูออกมา หลวงพ่อเทียนก็บอกว่า “ให้เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในนะ อย่าให้เห็นแต่ข้างนอกและอย่าให้เห็นแต่ข้างในนะ ดูตรงกลางๆนี้นะ” หลวงพ่อเทียนย้ำ ว่าแล้วท่านก็เดินผ่านไปกุฏิอื่น.

    ท่านก็เข้าใจได้ในทันทีว่า หลวงพ่อเทียนพูดภาษาใจ คือ การดูกาย การดูจิตใจ การบำเพ็ญทางจิต ต้องทำอย่างนี้ หากเข้าไปอยู่ในความคิดก็ผิด หากคิดออกนอกตัวก็ผิด ต้องเพียงแต่เป็นผู้ดู อะไรเกิดขึ้นให้ดูด้วยตาใน คือ สติและปัญญา อย่าไปยึดเอาความคิดและอย่าไปเป็นกับความคิดที่เกิดขึ้น.

    ตอนเช้าและเย็น หลังจากทำวัตรแล้ว หลวงพ่อเทียนจะให้การอบรมทุกวัน เพราะที่นี่ไม่มีเทปฟัง ไม่มีหนังสืออ่าน ได้แต่ฟังคำสอนของหลวงพ่อเทียนตลอดเวลา จนสามารถลำดับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญสติได้ คือ จิตใจเปลี่ยนไปเรื่อย รู้เอง เห็นเอง.

    การชี้แนะของหลวงพ่อเทียน ประกอบกับการบำเพ็ญเพียร ทำให้ท่านเข้าใจภาษาธรรมและปฏิบัติเป็น และรู้ว่าการสอบอารมณ์ไม่ใช่คิดเอามาถาม ไม่ใช่คิดจากจินตนาการ หรือไม่ใช่คิดด้วยเหตุด้วยผลใดทั้งสิ้น แต่ต้องพบเห็นจริงด้วยผลของกรรมฐาน นี้เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติที่มีอยู่คือ ตั้งต้นจากการเห็นรูปเห็นนาม ที่เป็นของจริงที่มีอยู่.

    เมื่อรู้กฎเกณฑ์นี้แล้ว ก็ดูไปจนทุกข์หาที่ตั้งไม่ได้ ไม่มีตัว ไม่มีตน หลวงพ่อเทียนสอนแต่เรื่องอย่างนี้ ชี้ให้เห็นชัด เหมือนจูงมือมาดู ไม่ใช่เห็นโดยคิดเอาไปเอง.

    เมื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอีก เรียกตามอาการที่เป็นว่า การดับไม่เหลือของนาม-รูป. คำสั่งของหลวงพ่อเทียนชี้ได้ชัดมากในเรื่องนี้ ไม่ใช่แต่เพียงสอนให้รู้ ให้เข้าใจเท่านั้น แต่สอนให้เป็นจริงๆ เปรียบเสมือนถูกปลิงเกาะดูดเลือด ขณะที่ปลิงเกาะอยู่ไม่รู้สึกและไม่เห็น แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้ปลิงหลุดออก จึงรู้ว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เช่นเดียวกันกับที่ปล่อยให้กิเลสตัณหาอยู่ในใจ เมื่อได้รู้ได้เห็น กิเลสตัณหานั้นจึงหลุดออกไป.

    เมื่อเป็นแล้วจึงรู้ จึงเข้าใจ เมื่อรู้แล้วไม่ต้องไปถามใครอีก ชีวิตคนเราจบที่ตรงนี้ โดยตั้งต้นศึกษาปฏิบัติธรรมตามแบบของการเคลื่อนไหว สร้างจังหวะ เดินจงกรมและเจริญสติสัมปชัญญะ.

    ท่านได้ยึดหลักการเจริญสติแบบการเคลื่อนไหว โดยมีหลวงพ่อเทียนเป็นครู ท่านได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้จนยืนยันได้ว่า ทุกคนที่ได้ปฏิบัติ นั่งสร้างจังหวะ เดินจงกรม เจริญสติ ดูการเคลื่อนไหวทั้งกายและใจอย่างจริงจัง จะได้รับอิสรภาพ ชีวิตจะเป็นอมตะ เหนือการเกิด แก่ เจ็บและตาย.

    งานสอนธรรมของหลวงพ่อเทียน แพร่หายออกไปตามลำดับ จากจังหวัดเลยเข้าสู่เมืองหลวงและไปยังต่างประเทศ หลวงพ่อเทียนได้ประกาศว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเป็นชนชาติใด ไม่ว่าอ่านหนังสือได้หรือไม่ ถ้ามาศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง จะสามารถพบเห็นได้เช่นเดียวกันทุกคน.

    ยามอาพาธหนักหลวงพ่อเทียนยังคงสั่งสอนและอุทิศชีวิตเพื่อผู้อื่น ถึงแม้เมื่อครั้งหลวงพ่อเทียนยังไม่ได้บวช ก็ขวนขวายที่จะสอนให้คนได้พบเห็นเรื่องนี้ เห็นได้จากท่านได้สร้างกุฏิหลังเล็กนับสิบหลังด้วยทรัพย์สินส่วนตัว ให้ผู้สนใจมาอยู่ปฏิบัติที่บ้านของท่าน พร้อมจัดอาหารให้ โดยไม่มีผู้อื่นรับภาระ (บ้านเกิดของหลวงพ่อเทียน คือ บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตระกูลของหลวงพ่ออยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ หลวงพ่อเทียน เมื่อครั้งเป็นฆราวาสนั้น เป็นผู้มีฐานะดี เป็นพ่อค้าใหญ่ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีเรือจักรขนาดใหญ่ล่องสินค้าในแม่น้ำโขง ขึ้นล่องระหว่างหลวงพระบางกับจังหวัดนครพนม ในสมัยก่อน การค้าขายกับประเทศลาวทำได้โดยอิสระ สองฝั่งแม่น้ำโขงจะรู้จักหลวงพ่อเทียนในชื่อว่า “นายฮ้อย พ่อเทียน” นายฮ้อยเป็นภาษาอีสาน เป็นคำใช้เรียกพ่อค้า ชื่อหลวงพ่อเทียนจริงๆ ไม่ใช่ชื่อเทียน ชื่อว่าหลวงพ่อพันธ์ แต่ประเพณีของคนเมืองเลยและเมืองลาว ไม่นิยมเรียกว่า หลวงพ่อพันธ์ เพราะเป็นการเสียมารยาทและไม่ให้ความเคารพท่าน ประเพณีเช่นนี้เป็นเช่นเดียวกับที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย หรือในประเทศลาว แต่จะนิยมเรียกชื่อตามชื่อของบุตรคนโต หลวงพ่อมีบุตรสองคน บุตรคนแรกของหลวงพ่อชื่อนายเทียน บุตรคนที่สองชื่อนายเตรียม เมื่อบวชจึงได้ชื่อว่าหลวงพ่อเทียน. หลวงพ่อเทียนเมื่อครั้งเป็นฆราวาส ท่านเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีคนเคารพเชื่อฟังมาก ท่านมักเป็นผู้นำเรื่องการทำบุญให้ทาน ท่านสร้างอุโบสถด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว ความจริงแล้วท่านก็เป็นคนธรรมดาๆแต่สามารถค้นพบสัจธรรมได้ สมควรที่ผู้คนจะได้เอาเป็นตัวอย่าง.)

    เมื่อท่านไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนนั้น หลวงพ่อเทียนมักจะเล่าให้ฟังว่า เคยทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างโบสถ์วิหาร ทำทุกอย่างที่เป็นการทำบุญแบบพิธี แต่ไม่รู้ธรรม. ท่านก็คิดว่า ตัวเองนั้นไม่ได้ทำบุญเหมือนหลวงพ่อเทียน คงไม่มีโอกาสรู้ธรรมเห็นธรรมเป็นแน่ เมื่อปฏิบัติจึงรู้ว่า ที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนมี ก็รู้ได้ทั้งนั้น หากปฏิบัติจริงๆ ให้มีสติสัมปชัญญะอย่างเพียงพอ. หลวงพ่อเทียนเองได้ยืนยันในเรื่องนี้ ได้ท้าทายและเชิญชวนผู้คนให้มาพิสูจน์ด้วยตนเองเสมอ.

    ท่านได้ย้ำหลายครั้งว่า ที่ได้มาเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนนี้ ไม่ใช่เพราะประวัติของหลวงพ่อเทียน ไม่ใช่เพราะกิริยามารยาท ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินคำพูด คำเล่าลือของผู้คนทั้งหลาย หากแต่เมื่อได้ทดลองวิธีการเจริญสติสัมปชัญญะแบบการเคลื่อนไหวและได้เกิดผลแก่ท่านมากมายหลายอย่าง เพราะการกระทำตามแบบอย่างที่หลวงพ่อเทียนสอนนั้น จะกล่าวว่าเป็นวิธีแบบที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ก็ไม่ผิด .

    ท่านได้ทำตามที่หลวงพ่อเทียนสอนทุกอย่าง เช่น สร้างจังหวะและเดินจงกรม เพื่อเป็นการปลูกสติให้เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจที่คิด สติสัมปชัญญะเป็นดวงตาภายใน เป็นผู้เฝ้า ดูกาย ดูใจ จนเห็นกายกับใจว่า เป็นเพียงแต่รูปธรรม นามธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน เป็นธรรมชาติล้วนๆ.

    จากนั้นหลวงพ่อเทียนสอนให้ดูทุกข์ที่อยู่กับรูปและให้ดูทุกข์ที่อยู่กับนาม. ให้เริ่มต้นจากดูรูปก่อน รูปที่เป็นรูปธรรม เมื่อมีสติสัมปชัญญะ ดูรูป ก็เห็นว่า เป็นรูปทุกข์ เป็นกองทุกข์ เป็นก้อนทุกข์ หายใจก็คือแก้ทุกข์ กินก็คือแก้ทุกข์ ตลอดถึงยืน เดิน นั่ง นอน คือแก้ทุกข์ให้รูป เมื่อเห็นว่ารูปเป็นโรค การเจ็บไข้ก็ต้องหาวิธีแก้ทุกข์ นี้เป็นเรื่องของรูปธรรม.

    จากนั้น ให้มาดูที่นามหรือดูจิตใจ เปรียบเสมือนนั่งอยู่ในห้องกระจก สิ่งใดเข้ามาก็เห็นได้ทันที ใจหรือจิตใจแต่เดิมก็ปกติ แต่อารมณ์เมื่อจรเข้ามา คือ เมื่ออาคันตุกะจรมา จะเป็นความดีใจ เสียใจ ก็เห็น จะเป็นความรัก จะเป็นความโกรธ จะเป็นความโลภ จะเป็นความหลง ก็เห็น. เห็นทุกๆอย่างเพราะเมื่อเป็นผู้ดูก็เห้น เห็นแล้วละได้ ไม่เป็นไปกับมัน ไม่เหมือนกับดูรูปธรรม ทุกข์ของรูปละไม่ได้ ทำได้แต่เพียงบรรเทาอยู่อย่างนั้น จะไม่ให้หิวไม่ได้ ไม่เหมือนกับใจ จิตใจนี้ละได้เด็ดขาด ละทีเดียว จะละได้ตลอดชีวิต. หากได้มาศึกษาถูกจุด ตรงเป้า จะไม่ยาก เหมือนกับการไขกุญแจที่ถูกลูกก็เปิดออกได้ทันที ไม่เสียเวลา.

    หลักของสติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกุญแจ หรือเหมือนกับเครื่องมือการเดินทางที่สมบูรณ์แบบ ก็จะผ่านได้ตลอด แม้กาย เวทนา จิต ธรรมซึ่งเป็นด่านกักขังมนุษย์ให้ยากที่จะพ้นไปได้ แต่ถ้าได้เจริญสติปัฏฐาน ทำให้มาก สติสัมปชัญญะก็จะเป็นแชมป์ในเรื่องนี้ ได้ชัยชนะผ่านได้ตลอด เพราะรู้ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่ไหน จึงสารภาพและยอมจำนนต่อสติ.

    ความจริงหนีความจริงไปไม่ได้ ความไม่จริงก็ทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้ หลักของสติปัฏฐานสี่นี้ เปรียบเหมือนผู้พิพากษาตุลาการที่พิพากษาคดีอย่างยุติธรรมไม่ลำเอียงเข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด.
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

    ๔. ออกบวช
    เมื่อตัดสินใจปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้คำตอบที่เคยสงสัย ได้คำตอบกระจ่างขึ้นเรื่อยๆ เห็นว่าเป็นทิศทางที่ทำให้จิตใจเปลี่ยนแปลงได้ จากความที่ไม่เข้าใจ ก็เกิดความเข้าใจขึ้น เห็นว่าการเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของท่านไปในทางที่ถูก รู้สึกเบากายเบาใจ เห็นถูกเป็นถูก เห็นผิดเป็นผิด การปฏิบัติในช่วงแรกก็เข้าใจเท่านั้น แต่ถ้าไม่ปฏิบัติต่อไปก็รู้เท่าเดิม

    ครั้งแรกท่านไม่คิดจะบวช คิดเพียงแต่จะมาศึกษาและปฏิบัติ พร้อมกันนั้นก็ยังดูแลรับผิดชอบทางบ้านไปด้วย เพราะท่านมีความรู้สึกต้องทำหน้าที่และยังต้องรับผิดชอบพ่อแม่พี่น้อง มารดาของท่านไม่ให้ท่านบวชอีกและเคยบอกกับท่านว่าลูกทั้งหมด ๗ คนนั้นท่านไม่หวังพึ่งใครเลย นอกจากพึ่งท่านเพียงคนเดียว มารดาของท่านพูดให้ท่านได้ยินอย่างนี้หลายครั้ง ท่านจึงไม่คิดที่จะบวชอีก.

    พอได้มาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนเข้า รู้ว่าทำเพียงเท่านี้ ก็รู้ว่าไม่เป็นบาป ถ้าหากทำได้มากขึ้น ท่านอาจจะรู้มากกว่านี้ วิธีที่จะทำได้มากและมีโอกาสทำอย่างเต็มที่ ก็คือ ต้องบวช ท่านคิดว่าการบวชเป็นพระหรือชีวิตนักบวชนี้เหมาะกับการปฏิบัติที่สุด เพราะจะปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ ท่านจึงตัดสินใจบวช .

    เมื่อท่านได้บวชแล้ว ท่านก็มาอยู่ปฏิบัติธรรมเต็มที่กับหลวงพ่อเทียน ได้ใช้ชีวิตทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที ปฏิบัติเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์.

    ท่านได้คำตอบมากขึ้นเรื่อยๆจนไม่สงสัย เรื่องกาย เรื่องใจ เหมือนครั้งก่อนๆ ที่เคยมีปัญหา เรื่องกาย เรื่องใจ.

    ท่านเคยเป็นคนขี้โรค เคยปวดท้องกระทั่งถูกหามเข้าโรงพยาบาล และเคยคิดว่าตัวเองจะตายเพราะโรคท้อง. ท่านเคยเป็นเคยช่างลังเลสงสัย เมื่อมาฝึกมาปฏิบัติก็เลยหายจากโรคภัยไข้เจ็บ และหมดความลังเลสงสัย เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ปฏิบัติมา จนถึงบัดนี้เกือบ ๓๐ ปีแล้วซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นอมตะ สุขภาพก็ดีตลอด จิตใจก็ปกติมาตลอด.

    ท่านว่าท่านไม่ได้เกิดเมื่อครั้งพุทธกาล ท่านไม่เคยได้ยินพระพุทธเจ้าเทศน์ ไม่เคยได้ยินพระพุทธเจ้าแสดงธรรม แต่ท่านคิดว่าหลวงพ่อเทียนนี้เป็นครู เรียนตามพ่อ ก่อตามครูจริงๆไม่ใช่ใครที่ไหนเลยเป็นคนสอน ฉะนั้นท่านจึงว่า หลวงพ่อเทียนเป็นผู้ให้ท่านเกิดเรื่องนี้ หลวงพ่อเทียนเป็นคนสอน แต่ครูบาอาจารย์อื่นสอนอย่างไร ท่านไม่รู้ สำหรับหลวงพ่อเทียนสอนอย่างนี้ ท่านก็รู้อย่างนี้ .

    ๕. ออกเผยแพร่ธรรมร่วมกับหลวงพ่อเทียน
    หลังจากออกบวชอยู่ปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนได้ ๗ ปี จนหมดความลังเลสงสัยการปฏิบัติในแนวทางนี้แล้ว ในปี ๒๕๑๘ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุได้พบกับเจ้าคระจังหวัดเลยและปรารภว่าต้องการให้พระกรรมฐานมาสอนที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ. ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี .

    หลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดเลย (สีหนาทภิกขุ) จึงแนะนำให้หลวงพ่อเทียนไปช่วยสอน ท่านได้ติดตามหลวงพ่อเทียนมาจำพรรษาที่วัดชลประทานฯ นับเป็นครั้งแรกที่ท่านได้ลงมาจำพรรษาและร่วมเผยแผ่ธรรมในภาคกลาง.

    ในขณะนั้นพระอาจารย์โกวิท เขมานันโท ซึ่งเป็นพระที่บวชอยู่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลายปี ท่านมีภูมิรู้ทางธรรมแตกฉานในพระไตรปิฎก สามารถบรรยายธรรมได้อย่างลึกซึ้งไพเราะ เป็นที่สนใจของนักศึกษา ครู อาจารย์ และปัญญาชนทั่วไป ท่านมาจำพรรษาที่สัดชลประทานฯด้วยและเป็นผู้สอนกรรมฐานแบบอานาปานสติ ตามแนวทางของสวนโมกข์.

    เมื่อหลวงพ่อเทียนกับท่าน มาอยู่ที่วัดชลประทานฯใหม่ๆนั้น ไม่เป็นที่รู้จัก คนจะรู้จักพระอาจารย์โกวิทเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพระมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมและมีบุคลิกน่าเลื่อมใสศรัทธา ส่วนหลวงพ่อเทียนเป็นพระหลวงตาแก่ๆมาจากบ้านนอก พูดภาษากลางก็ไม่ค่อยชัด จึงไม่มีใครให้ความสนใจ มาอยู่ ๑ อาทิตย์แล้ว ยังไม่ได้พูดแนะนำสั่งสอนใครเลย พระเณรทั้งหมดไปปฏิบัติแบบอานาปานสติอยู่กับพระอาจารย์โกวิท.

    หลวงพ่อเทียนกับท่านจึงได้ชวนลูกศิษย์ของพระอาจารย์โกวิทมาแอบสอนกันลับๆ จนเวลาผ่านไป ๑ เดือน พระบางรูปก็เข้าใจเรื่องรูปนาม เมื่อเข้าใจแล้วก็ไปชวนพระรูปอื่นๆมาเพิ่มขึ้นอีก จนกระทั่งพระอาจารย์โกวิทแปลกใจว่าทำไมลุกศิษย์ได้หายไปเรื่อยๆจึงถามพระ พระก็เล่าให้ฟัง พระอาจารย์โกวิทจึงได้สนใจหลวงพ่อเทียนและมาพบหลวงพ่อเทียน หลังจากสนทนาธรรมกันแล้ว พระอาจารย์โกวิทเกิดศรัทธาเลื่อมใส ยินยอมให้หลวงพ่อเทียนสอนลูกศิษย์ทั้งหมด รวมทั้งตัวท่านเองด้วย.

    นับแต่นั้นมา คำสอนตามแนวของหลวงพ่อเทียนได้แผ่ขยายออกสู่คนรุ่นใหม่ โดยพระอาจารย์โกวิทเป็นกำลังสำคัญ ในช่วงนั้นท่านได้มีโอกาสพูดแนะนำและสอนการปฏิบัติเคียงข้างกับหลวงพ่อเทียนอย่างเต็มความสามารถ จนกระทั่งมีทั้งพระและฆราวาสเกิดความสนใจในการปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ.

    ต่อมาเห็นว่าที่นั้นไม่เหมาะสมอีกต่อไป ยาติโยมจึงชวนหลวงพ่อเทียนมาหาที่แห่งใหม่ ในครั้งแรกคุณวิโรจน์ ศิริอัฐ ได้นำหลวงพ่อเทียนมาดูวัดสนามใน ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ ขณะนั้นมีร่องรอยของโบสถ์ เจดีย์เก่า วากอิฐกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดิน พอให้เห็นร่องรอยว่าเคยเป็นวัดมาก่อน บางครั้งพระธุดงค์มาแวะพักแรมบ้างแล้วผ่านไป มีที่ดินเหลืออยู่เฉพาะบริเวณโบสถ์และเจดีย์เท่านั้น ที่นอกนั้นชาวบ้านได้ยึดไปทำสวนหมดแล้ว หลวงพ่อเทียนรู้สึกพอใจในสถานที่นี้ จึงตัดสินใจที่จะมาอยู่บูรณะให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง.

    ร่วมบุกเบิกวัดสนามใน
    เมื่อหลวงพ่อเทียนตกลงใจจะอยู่บูรณะวัดสนามในเพื่อให้เป็นที่เผยแผ่ธรรมนั้น ท่านได้มาร่วมงานด้วย ในตอนแรกเริ่ม พระอาจารย์โกวิทได้ติดตามมาจากวัดชลประทานฯ พร้อมด้วยญาติโยมหลายคน นอกจากนั้นแล้ว ยังมีพระอาจารย์ทองล้วน ได้เข้าร่วมงานด้วย ทุกคนต้องทำงานหนัก นับตั้งแต่หารูปแบบ รวมถึงงานก่อสร้างศาลา กุฏิ และปรับพื้นที่ งานที่หนักที่สุดคือ ได้แก่ งานปรับพื้นที่ ต้องหาบ ต้องแบกทรายจากหมู่บ้านเดินข้ามทางรถไฟมาถมลานวัด กว่าจะเป็นรูปร่างเรียบร้อยให้ใช้สอยได้ก็เป็นเวลาหลายเดือน ท่านได้อยู่ช่วยงานก่อสร้างและปรับปรุงวัด ตลอดจนร่วมกับหลวงพ่อเทียนในการสอนธรรม.

    จนกระทั่งใกล้เวลาเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านได้ลาหลวงพ่อเทียนไปจำพรรษาที่วัดป่า สุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ.
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

    ๖. ความเป็นอยู่ของวัดป่าสุคะโต
    อยู่ท่ามกลางสัตว์ป่า

    ในขณะนั้น วัดป่าสุคะโต ติดต่ออยู่กับป่าผืนใหญ่ รอบๆยังไม่มีไร่มัน ไร่ข้าวโพดและไร่ยูคาลิปตัส บ้านคนยังไม่มี มีแต่สัตว์ต่างๆอาศัยอยู่มากมาย. ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านอยู่กับอีเก้ง ได้เอาน้ำปลา เอาปลาไปให้มันกิน แล้วท่านก็นั่งดู เห็นมันชนกัน มันไถกัน มันจำกลิ่นท่านได้. จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๒ แถวนั้นยังมี เม่น เสือดาว หมูป่า และสัตว์ต่างๆอีกมากมาย ตอนนั้นกุฏิหมายเลข ๒ ที่อยู่ในเขตอุบาสิกาปัจจุบัน สมัยนั้นยังไม่มีแบ่งเขต บางครั้งท่านก็พักอยู่หลังนี้ คืนหนึ่งมีเสียงเหมือนรถติด ดังตืดๆๆๆ ท่านได้ส่องไฟดู เห็นเม่นทำขนพองทั้งตัว พอเวลามันวิ่ง มันก็ลู่ขนก่อน เวลาปราบศัตรู มันจะสั่นขน เสียงดังตืดๆๆๆ.

    มีครั้งหนึ่ง ท่านนอนหันศีรษะไปทางกอไผ่ ตัวลิ่น(นิ่ม) เอาหางมาแหย่ท่าน เสียงดับตีบๆ ท่านอยู่ในมุ้งมองไป นึกว่างูมาตอด เหมือนงูขดแล้วเอาหัวลงมาตอด. ท่านจึงปีนกอไผ่ขึ้นไปดู จึงรู้ว่าเป็นตัวลิ่น ท่านทำท่านอนสงบอยู่ในมุ้ง มันจึงถอยลงมา เอาหางบ้าง หัวบ้าง มาแหย่ พอจับหางมาดึงไว้ มันก็ขด. พอดีถึงเวลาทำวัตร ท่านก็อุ้มตัวลิ่นไปศาลาไก่ด้วย คนผ่านไปผ่านมาก็สงสัยว่าตัวอะไร ท่านไปตีระฆัง มันก็เฉย ไม่ตกใจเสียงระฆัง. ทุกวันนี้ ไม่มีสภาพเช่นนี้แล้ว ท่านเล่าว่า เมื่อท่านไปอยู่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่นหนึ่งเดือน อีเก้งที่อยู่แถบนี้ตายเกือบหมด.

    สมัยแรกๆที่ท่านไปอยู่วัดป่าสุคะโต การเลี้ยงชีพลำบากมากและขัดสน พระต้องบิณฑบาตไกลจากวัดมาก ได้มาแต่ข้าวเหนียวเปล่าๆ พระต้องมาทำกับข้าวเอง กับข้าวที่มีทุกวันคือ น้ำปลาผสมพริกไว้จิ้มกับข้าวเหนียวและยอดผักป่าที่หาได้บริเวณนั้น การเดินทางขึ้นไปก็ลำบากมาก ต้องปีนเขาขึ้นไปทางอำเภอแก้งคร้อ ซึ่งมีความชันมาก ในขณะนั้นทั้งพระและญาติโยมต้องแบกสัมภาระที่จำเป็นติดตัวขึ้นไปด้วย เมื่อถึงยอดเขาแล้ว ต้องลัดเลาะไปตามไร่ ตามนา กว่าจะถึงบ้านท่ามะไฟหวานและถึงวัดป่า สุคะโต ก็รู้สึกเหนื่อยอ่อนเป็นกำลัง.

    วันหนึ่งท่านเดินจากวัดป่าสุคะโตไปท่ามะไฟหวาน เห็นชาวบ้านอุ้มลูกซึ่งเป็นไข้มาลาเรียออกมาจากป่ามาตายกลางทางพอดี ท่านเห็นพ่อแม่เด็กเป็นทุกข์ จึงถือว่าเป็นธุระของท่านด้วย ท่านคิดว่า จะทำวิธีใดหนอจึงจะช่วยเด็กให้พ้นอันตรายได้บ้าง.

    ท่านได้เรียกประชุมชาวบ้าน ตกลงให้เด็กที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในไร่ ในป่า ให้มาอยู่วัด ท่านจะเลี้ยงดูให้ ชาวบ้านไม่เคยมีใครทำอย่างนี้ก็กลัวบาป จะนำลูกมาให้พระเลี้ยง พระดูแลได้อย่างไร ก็กลัวเป็นบาป เมื่อประชุมกัน ท่านได้ให้ความคิดเห็นต่างๆรวมถึงอธิบายเรื่องราวต่างๆจนชาวบ้านยอมให้ลูกมาอยู่วัด ท่านเป็นผู้ดูแลเองและพระในวัดก็ช่วยกันรับผิดชอบ จึงเกิดเป็นศูนย์เด็กเล็กขึ้นที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน.

    ต่อมาวัดป่าสุคะโตขาดพระดูแล หลวงพ่อบุญธรรมลงไปอยู่หนองแก ท่านต้องรับผิดชอบทั้ง ๒ วัด เดินไปเดินมา บางทีก็มีพระมาอยู่ ท่านก็เดินมาสอนที่วัดป่าสุคะโต แล้วก็เดินทางกลับไป เดินทุกวันในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๑- ๒๕๒๓ ตอนนั้นพระไพศาลยังไม่มา (พระไพศาลมาอยู่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖) เมื่อมีคนมาปฏิบัติ พอฉันเช้าเสร็จ ท่านก็เดินมาสอนที่วัดป่าสุคะโต ทำวัตรเย็นเสร็จ ท่านก็เดินกลับวัดท่ามะไฟหวาน นับการเดินจากศาลาไก่ วัดป่าสุคะโต ถึงประตูวัดบ้านท่ามะไฟหวาน นับได้ ๕๓๐๗ ก้าว สมัยก่อนเป็นหนุ่มท่านเดินได้ทุกวัน เพราะมีคนมาปฏิบัติเรื่อยๆไม่ขาด.

    ประมาณปี ๒๕๒๕ กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมก็รู้จักหลวงพ่อ เมื่อครั้งท่านปรับปรุงวัดป่า สุคะโตนั้นท่านไม่คิดจะสร้างอะไรมาก เมื่อมีกลุ่มมากันมากขึ้น ไม่มีที่อยู่ จึงเกิดมีศาลาหลังใหญ่ขึ้นมา มีกุฏิหลายหลังที่มีเจ้าภาพสร้าง จึงคิดไปว่าถ้าสร้างตามศรัทธาญาติโยมคงไม่จบสิ้น ก็เลยหยุดสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๒๗.

    ศาลาหลังใหญ่ในบริเวณวัดป่าสุคะโต เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ เพราะกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม ตอนนั้นคุณวุฒิชัย ทวีศักดิ์ศิริผล (อดีตประธานกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม) เป็นผู้นำคณะมา คุณวุฒิชัยรู้จักหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามใน เมื่อรู้จักท่าน(หลวงพ่อคำเขียน)ที่วัดสนามใน จึงช่วยกันสนับสนุนวัดป่าสุคะโต ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติให้มีสัปปายะตามสมควรและเป็นไปตามฐานะ.

    ปัญหาการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่าเป็นปัญหาหนึ่งของท่าน บางทีคนที่ไม่ปรารถนาดีเขาอยากได้ป่าเป็นไร่ของเขา อยากได้ไม้สร้างบ้านสร้างเรือนของเขา เขาก็ลักลอบตัด แล้วถาง ท่านคนเดียวก็ดูไม่ไหว ดูไม่ทั่วถึงก็เกิดความขัดแย้งกัน บางคนถึงกับยิงปืนข้ามหัว จนใบไม้ร่วงเป็นแถวก็มี ท่านอยู่ไม่สบายต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อรักษาป่าให้มีหลงเหลือเท่านี้.

    นอกจากเรื่องของคนแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องไฟป่า แต่ก่อนป่าในรัศมีของวัดป่าสุคะโตมีป่าล้อมรอบ ไร่ของคนไม่จรดเขตวัด ต่อมาคนถางป่าหมดก็เหลือแต่เขตวัดป่าสุคะโต ไฟก็ลามเข้าได้ง่าย แต่ก่อนไฟเข้าไม่ถึง สมัยนี้ลมพัดทะลุไปเลย ต้นไม้ก็ล้ม ไฟก็ไหม้ ป่าก็ทรุดโทรม ทุกๆปี.

    ปัญหาเรื่องไฟป่า เกือบทำให้เสียชีวิตไปหลายครั้ง กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม จึงได้จัดแนวร่วมป้องกันไฟป่าให้ โดยสร้างแท๊งค์น้ำที่หอไตรและที่เรือนธรรม และล้อมรั้วในเขตรัศมีของวัดป่าสุคะโตประมาณ ๕๕๙ ไร่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ถูกทางสวนป่าตัดไปคงเหลือไม่ถึง ๕๐๐ ไร่.

    สมัยก่อนการกันไฟก็ต้องจ้างคนมาเดินรอบทุกวัน ไม่ต้องให้เขาทำอะไร ให้เดินรอบวัด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน จ้างคน ๓ คน รับผิดชอบ. ถ้ามีไฟมีเกิดลุกลามเข้ามาเขาก็ดับ ทั้ง ๓ คนอยู่แถวนี้ให้เขารับผิดชอบ โดยให้เงินเดือน เดือนละ ๓๐๐ บาท ต่อมาพวกนี้มีกิจกรรมอื่นจะจ้างราคานี้ไม่ได้ ท่านจึงจ้างรถแทรกเตอร์ จ้างให้ไถรอบวัด บางปีก็กันไฟได้ บางปีก็กันไม่ได้.

    วัดป่าสุคะโตมักเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มาจากที่อื่น เช่น กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม คนแถวนี้แทบไม่มีใครสนใจการปฏิบัติ ท่านกล่าวว่า ทุกวันนี้คนหลงในเงินตรามาก ต้องการเงินมาก ถือว่าเงินเป็นใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องเงินมาก ถ้าเงินนี้เข้าสู่ชุมชนใด จะทำลายเครือญาติ ทำลายวัฒนธรรมประเพณี ทำลายวัดวาอารามไปหมด จะให้คนมาปฏิบัติภาวนา โดยเฉพาะคนแถวนี้ (รอบๆวัดป่าสุคะโต) ก็น่าเห็นใจเขาเพราะอาชีพการงานต่างๆความยาก ความลำบากทำให้เขาคิดไม่ถึง ถ้าจะไปสอนเรื่องภาวนาที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับเรา ชาวบ้านก็ถือว่าไม่มีความสำคัญ เขาเข้าไม่ถึงภาวนา.

    ทุกวันนี้ถือว่าอุปสรรคการสอนธรรมข้อหนึ่งก็คือเรื่องเงิน ชาวบ้านแถวนี้โตขึ้นมาก็หาแต่เงิน เงินเป็นใหญ่ ทำลายระบบครอบครัว ระบบเครือญาติ ทำลายระบบเศรษฐกิจ ทำลายอะไรทุกอย่าง การปกครองก็เสียไป การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็น้อยลง.

    แม้ชาวบ้านเคารพเชื่อฟังบ้าง แต่จะให้สนใจปฏิบัติจนเข้าถึงธรรมนั้นยาก ท่านว่าท่านพูดอะไรเขาก็เคารพอยู่พอสมควร พอดุว่าได้ พอเฆี่ยนพอตีกันได้ ว่าอะไรหนักๆบ้าง. แม้แต่ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ท่านก็ว่าได้ เพราะเขาให้ความเคารพท่าน เขาไม่ทำลายท่าน.

    ท่านจึงยังคงอยู่ที่วัดป่าสุคะโตต่อไปด้วยเหตุผลว่า เพราะคนแถวนี้ยังไม่ดีพอ ถ้าจะเปรียบเทียบกับคนที่อื่น ท่านจึงทุ่มเทกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญาให้กับที่นี่ ท่านยังไปจากแถวนี้ไม่ได้ ถ้าคนยังไม่เป็นคนดี.

    ดังนั้นการให้อุปถัมภ์จึงให้ตามสภาพของเขา เช่น ที่ผ่านมากลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมให้การสนับสนุนกิจกรรม เช่น จัดธรรมหรรษาสู่วัดป่าสุคะโต เป็นต้น ชาวบ้านจึงได้รับแจกเสื้อผ้า สิ่งของ ของเล่น บางสิ่งบางอย่าง ชาวบ้านก็พลอยมีฟ้ามีฝนไปด้วย คนบางคนก็บอกว่าได้นุ่งได้ห่มเพราะท่าน.

    เหตุที่มากลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมมีกิจกรรมแจกเสื้อผ้าเพราะสมัยหนึ่งไปประชุมร่วมกับชาวบ้าน ประชุมเวลากลางคืน ตอนนั้นหน้าหนาว ท่านก็เดินตรวจรอบๆเห็นชาวบ้านบางคนห่มผ้าเปียกๆ เสื้อไม่มี ท่านถามเขาว่า ทำไมไม่ใส่เสื้อ เขาตอบว่า มีเสื้อตัวเดียวไปทำงาน เสื้อมันเปียก ไม่มีเสื้อผ้า ท่านจึงปรารภให้กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมฟัง กลุ่มฯก็เลยจัดเสื้อผ้ามาแจก.
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

    ๗. คำปรารภของหลวงพ่อคำเขียน
    ความตั้งใจของท่าน คือ งานสอนธรรม ส่วนกิจกรรมอื่นๆเป็นงานอดิเรก เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับชุมชน เกี่ยวกับการสงเคราะห์ อนุเคราะห์.

    ท่านเล่าว่า ถ้าจะถามว่า การทำเภสัช การทำน้ำมนต์ การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ท่านได้ทิ้งไปแล้ว แต่คนยังสนใจ บางคนถือว่าท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ เช่น เขาถอยรถมา เขาก็ต้องขับเข้ามาวัดก่อน เอามามอบให้หลวงพ่อ บางทีก็เจิมให้ ท่านบอกว่าท่านเจิมไม่เป็น เขาขอให้นั่งให้ก็ได้ ก็ต้องไปนั่งให้เขา เขาก็ยังถือว่า ท่านเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ไปอย่างนั้น สอนบอกว่ารถมันไม่เป็นไร น้ำมนต์ก็ช่วยอะไรไม่ได้นอกจากตัวเรา สอนให้เห็นสัจธรรม ให้เหตุ ให้ผล ให้พึ่งตัวเอง บางคนไม่ยอมเอา จะเอาน้ำมนต์ จะเอาด้ายผูกแขน จะให้พ่นน้ำมนต์ บางทีก็ทำ แต่ท่านว่า ไม่ใช่สิ่งที่ท่านอยากทำแต่ทำไปเพื่อให้มันแล้วๆ รอดๆ ไป แต่ก็สอนเขาอยู่

    ที่ผ่านมามีคนนิมนต์ไปสอนธรรม บางทีก็ไปต่างประเทศ ท่านได้ลองไปหลายประเทศแล้ว ท่านได้พิจารณาแล้วว่า การเดินทางไปต่างประเทศไม่เหมาะกับท่านเพราะปัญหาของการใช้ภาษา ท่านจึงต้องอาศัยผู้อื่นเป็นล่าม ท่านเล่าว่า คนต่างชาติ มีความสนใจการปฏิบัติ เขาศึกษาตรง เขาไม่ให้สอน เขาให้เราสั่งให้เขาทำ ถ้าไปสอน เขาไม่เอา ให้เขาทำอะไรก็บอกเขา ท่านจึงให้เขาเจริญสติ เขาก็ชอบ เขาพอใจ แต่ท่านว่า หากเป็นไปได้ ท่านคงไม่ไปต่างประเทศ ท่านจะอยู่เมืองไทยและจะสอนคนไทย

    ท่านมีความตั้งใจอย่างนี้ ท่านเคยพูดกับเพื่อนพระว่า เมื่ออายุ ๖๐ ปี จะขออยู่ประจำที่ ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน หลายคนก็ให้ความสนับสนุน ให้อยู่เป็นหลักเป็นที่ และบางโอกาสก็เดินทางบ้าง ถ้าจำเป้น แต่ถ้ามีสงฆ์ มีเพื่อนพอที่จะเข้าใจกันให้ทำงานแทนกันได้ ท่านก็อยากมี

    ท่านเคยพูดว่า ท่านนั้นอาภัพเรื่องการเผยแผ่ธรรม กล่าวคือ สมัยก่อนท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียนท่านได้พูดสิ่งที่ได้พบเห็นให้หลวงพ่อเทียนฟัง หลวงพ่อเทียนก็ได้ยินคำพูดที่เกิดจากสิ่งที่ท่านได้พบเห็น

    แต่เมื่อท่านสอนคนมา ท่านไม่เคยได้ยินจากคนที่ท่านสอนเหมือนกับที่ท่านเคยพูดให้หลวงพ่อเทียนฟังเลย ท่านจึงเป็นพระกรรมฐานที่อาภัพลูกศิษย์ แม้คนที่ศรัทธาท่านจะพอมี แต่จะให้ถึงขั้นภูมิใจในคำสอน ภูมิใจในผลการสอนท่านยังไม่ภูมิใจ

    ท่านว่า ถ้าผู้ปฏิบัติเข้าถึงจริงๆ จะอดพูดไม่ได้จะห้ามก็ไม่อยู่ มันจะกระตือรือร้นในการสอนคน จะมีความยากลำบากแค่ไหน ก็ไม่เกรงกลัว เพราะว่าจะพูดความจริงให้คนฟัง

    สำหรับกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น ท่านปรารภว่า อยากให้มาปฏิบัติธรรมโดยตรง วิธีใดที่เราจะเจริญสติ ให้ปรารภเรื่องนี้เป็นใหญ่ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย เล็กๆ น้อย อย่าไปมุ่งทำอะไรให้มาก การมาวัดป่าสุคะโตให้มีจุดประสงค์มาเจริญสติ โอกาสเจริญสติ วันหนึ่ง สองวัน ก็มีโอกาสได้เจริญสติ อย่าไปทำกิจกรรมอื่น.

    ๘ . วัดที่อยู่จำพรรษาของหลวงพ่อ
    เมื่อบุคคลมาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้วจะต้องอยู่จำพรรษาในช่วงฤดูฝน ทุกปีตามพุทธบัญญัติซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระภิกษุ สามเณร และชาวพุทธผู้อยู่ในแวดวงการปฏิบัติ ธรรม ถ้าพระภิกษุรูปใดขาดการอยู่ประจำที่ในฤดูฝน ซึ่งกำหนดไว้ ๓ เดือนเป็นอย่างน้อย ก็ถือว่าขาดพรรษา และเป็นผลให้อายุการเป็นนักบวชของท่านไม่เพิ่มขึ้น หรือไม่เพิ่มความอาวุโสตามลำดับที่ควรจะเป็น สิทธิพิเศษที่จะพึงได้ก็ถูกตัดออกไป การอยู่จำพรรษาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นการสืบต่อเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย การอยู่กับที่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แนะนำสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร ผู้บวชใหม่ ผู้ยังจะต้องศึกษาจากครูบาอาจารย์หรือรุ่นพี่ ๆ ผู้มีประสบการณ์มาก่อน

    เมื่อบวชแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาตามวัดต่าง ๆ ดังนี้

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่ป่าพุทธยาน อ.เมือง จ.เลย ภายหลังจากการไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนอยู่ ๑ เดือน จนจิตใจเปลี่ยนแปลงระดับหนึ่งแล้ว ท่านได้กราบลามารดาของท่านและญาติพี่น้องและภรรยา เพื่อจะไปบวช แม้ว่าถูกคัดค้านก็ตาม ท่านไม่เปลี่ยนแปลงความตั้งใจ ได้เดินทางออกจากบ้านไปหาหลวงพ่อเทียนและบวชที่จังหวัดเลย และอยู่จำพรรษาที่ป่าพุทธยาน อ.เมือง จ.เลย

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ที่วัดบ้านบุฮม ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย เมื่อย่างเข้าพรรษาที่ ๒ ภายหลังจึงมุ่งมั่นปฏิบัติทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง จนจิตใจมั่นคงแน่วแน่ในธรรมแล้ว หลวงพ่อเทียนได้นิมนต์ให้ท่านไปอยู่จำพรรษาที่บ้านบุฮม ซึ่งเป็นบ้านเกิดหลวงของพ่อเทียนเอง เพื่ออนุเคราะห์ชาวบ้านในช่วงฤดูเข้าพรรษา ตามความต้องการของศรัทธาญาติโยมที่นั่น

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๔ ที่ป่าพุทธยาน อ.เมือง จ.เลย กลับมาป่าพุทธยานอีกและจำพรรษาติดต่อกันเป็นเวลา ๓ พรรษา

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ วัดโมกขวนาราม (ป่าห์) ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปีนั้นหลวงพ่อเทียนเริ่มเผยแพร่ธรรมเข้าสู่จังหวัดขอนแก่น ท่านจึงได้มาช่วยการงานของหลวงพ่อเทียนและอยู่จำพรรษาที่นั่น ร่วมกับเพื่อนพระอีกหลายรูป

    ปี พ.ศ. ๒๖๑๖-๒๕๑๗ ที่ป่าพุทธยาน ในปีนี้ทางราชการได้ก่อตั้งวิทยาลัยครู และได้ใช้สถานที่ครอบคลุมเขตป่าพุทธยานเดินเข้าด้วย และให้ย้ายป่าพุทธยานมาอยู่ข้างนอก ซึ่งไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก คือที่อยู่ปัจจุบันนี้ ท่านจึงได้กลับมาช่วยการงานของวัด และอยู่จำพรรษาที่ป่าพุทธยานที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่แห่งนี้

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ปีนั้นท่านได้ติดตามหลวงพ่อเทียนมาช่วยเผยแผ่ธรรมกับคนกรุงเทพเป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นที่แนวคำสอนของหลวงพ่อเทียนได้แผ่กระจายเข้าสู่วงสังคมเมือง โดยเฉพาะกลุ่มปัญญาชน คนรุ่นใหม่ และต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมาถึงปัจจุบัน

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่วัดป่าสุคะโต (ชื่อทางการเรียก วัดเอราวัณ) ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ หลังจากออกมาจากวัดชลประทานฯแล้ว ได้มาช่วยบูรณะวัดในสนาม อยู่ช่วงระยะหนึ่งเมื่อใกล้เข้าพรรษาท่านได้ลาหลวงพ่อเทียนขึ้นไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต

    ปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๕ วัดบ้านท่ามะไฟหวาน (ชื่อทางการเรียก วัดภูเขาทอง) ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ หลังจากท่านได้คลุกคลีกับชาวบ้านและเห็นความเดือดร้อนทุกข์ยากก็นึกสงสารชาวบ้านต้องการจะช่วยเหลือ จึงได้มาอยู่กับชาวบ้านที่วัดบ้านท่ามะไฟหวานซึ่งอยู่ท่ามกลางชุมชน ขณะเดียวกันก็ได้ดูแล และสั่งสอนแนะนำผู้สนใจปฏิบัติที่วัดป่าสุคะโตด้วย

    ปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๓๐ ที่ วัดป่าสุคะโต

    ปี พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๕ ที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน

    ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ที่วัดโมกขวนาราม ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น คณะสงฆ์และญาติโยมได้นิมนต์ให้ท่านไปอยู่จำพรรษาที่นั่น เพื่อแนะนำสั่งสอนอบรมการปฏิบัติแก่ผู้สนใจการเจริญสติ ตามแนวทางของ หลวงพ่อเทียน

    ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่วัดจวงเหยน เมืองคาร์เมล มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา กลุ่มผู้สนใจการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ได้นิมนต์ให้ไปสอนและจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา ๕ เดือน

    ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่วัดบ้านท่ามะไฟหวาน ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

    ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่วัดป่าสุคะโต เมษายน ๒๕๓๙ พระอาจารย์หลายรูปที่เคารพนับถือท่านพร้อมด้วยญาติโยมได้ประชุมปรึกษาหารือและมีมติเห็นพ้องกันตามความดำริของท่านว่าต่อไปจะไม่นิมนต์ท่านมาให้การแนะนำสั่งสอนอีก ผู้ที่สนใจทุกคนควรจะไปหาท่านที่วัด เพื่อถนอมชีวิตสุขภาพของท่านให้อยู่ยืนยาวและสงบสุข ทั้งได้มีเวลาอบรมสั่งสอนผู้ปฏิบัติได้เต็มที่และมีเวลาดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิด.

    สิงหาคม ๒๕๓๙ ครบรอบ ๖๐ ปี ขอพักการเดินทางไกล เนื่องจากปฏิปทาและคำสอนของท่านเป็นที่ประทับใจของผู้ได้พบเห็นได้ฟังธรรมหรือได้ปฏิบัติตาม จึงมีผู้นิมนต์ท่านไปงานอบรมตามที่ต่างๆทั่วประเทศ ท่านจึงต้องเดินทางไกลอยู่บ่อยๆเวลาส่วนใหญ่ของท่านจึงหมดไปกับการเดินทางและทำให้สุขภาพของท่านก็ทรุดโทรมไปด้วย ท่านจึงปรารภว่า เมื่ออายุท่าน ๖๐ ปี อยากจะพักอยู่กับที่.

    ตำแหน่งและสมณศักดิ์ที่ได้รับ

    ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสวัดบ้านท่ามะไฟหวาน ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ. ชัยภูมิ

    ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์จากคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองให้เป็น พระครูบรรพตสุวรรณกิจ

    ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล

    ปัจจุบัน

    ท่านประจำอยู่วัดป่าสุคะโตและดูแลวัดบ้านท่ามะไฟหวานควบคู่กันไปด้วย นอกจากนั้นได้ดูแลวัดป่ามหาวัน(ภูหลง) อีกแห่งหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นวัดป่าในสาขาและอยู่ไม่ไกลจากกันนัก คือ ราว ๑๕ กิโลเมตรจากวัดป่าสุคะโต.
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงปู่คำดี ปภาโส

    [​IMG]<SCRIPT type=text/javascript src="http://cdn1.hikiwake.com/scripts/shared/enable.js?si=10186"></SCRIPT>


    หลวงปู่คำดี ปภาโส
    วัดผาปู่ อ.เมือง จ.เลย
    โพสท์ในลานธรรมเสวนาโดยคุณ : นักเรียนใหม่ [ 31 ก.ค. 2542 / 15:04:28 น. ]


    ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

    หลวงปู่คำดี ปภาโส เกิดวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๕ ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ ปีขาล ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ของนายพร-นางหมอก นินเขียว เกิดที่บ้านหนองคู ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดากัน คือ ชาย ๓ คน หญิง ๓ คน รวม ๖ คน

    หลวงปู่คำดี เมื่อเป็นเด็ก ท่านไม่ได้เข้าโรงเรียน เพราะสมัยนั้นตามชนบทบ้านนอกไม่มีโรงเรียน ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยเข้าเรียนโรงเรียนผู้ใหญ่จบชั้นประถมปีที่ ๔ บริบูรณ์

    ในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและมีจิตใจเลื่อมใสในทางพระพุทธศาสนาตลอดมา เมื่ออายุพอบวชเป็นสามเณรได้
    ท่านขออนุญาตโยมบิดา-มารดาบวช แต่ไม่ได้รับอนุญาต กลับบอกว่า เอาไว้อายุครบบวชเป็นพระแล้วค่อยบวชทีเดียวเลย เพราะตอนนี้ทางบ้านกำลังต้องการให้อยู่ช่วยทำงานก่อน ท่านก็ได้อยู่พ่อแม่ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความอดทนมาตลอด

    จนกระทั่งอายุครบ ๒๒ ปีบริบูรณ์ จึงได้ขออนุญาตบิดา-มารดาของท่านบวชอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จึงยินดีอนุญาตให้ท่านบวชได้ตามต้องการ ท่านดีใจมาก เพราะสมใจที่คิดไว้ ท่านพูดว่าสมัยท่านเป็นเด็ก มองเห็นภูเขาเขียวๆที่ใกล้บ้านท่าน เป็นสถานที่ที่เหมือนว่าเคยอาศัยอยู่มาแต่ก่อนแล้ว และคิดว่าบวชครั้งนี้แล้ว คงจะได้ไปอยู่อาศัยทำความเพียรแน่ เกิดความปีติ และเกิดความชื่นใจตลอดเวลา

    ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

    หลวงปู่คำดี ปภาโส บวชเป็นพระมหานิกาย ที่วัดหนองแวง บ้านเมืองเก่า ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พระอาจารย์ที่บวชให้คือ

    พระครูเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์
    พระอาจารย์โพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    และ พระอาจารย์ชานุหลิด เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    เมื่อบวชแล้วท่านไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น กับอาจารย์ของท่าน ต่อมาไม่นาน อาจารย์ได้ลาสิกขาจากท่านไป ท่านจึงต้องทำหน้าที่เป็นสมภารวัดแทน ท่านได้บวชอยู่ ๔ พรรษา ในระหว่างที่บวชอยู่นั้น ไม่มีความยินดีและพอใจในความเป็นอยู่ เพราะท่านได้พิจารณาเห็นแล้วว่าการบวชตามประเพณีเช่นนี้ คงจะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ถ้าฝืนบวชและจำพรรษาอยู่อย่างนี้แล้ว คงขาดทุนในการบวชอย่างแน่นอน เพราะเป็นการอยู่ด้วยความประมาททั้งวันทั้งคืนอยู่ตลอดเวลา เมื่อท่านพิจารณาเห็นโทษในความเป็นอยู่ ท่านจึงคิดอยากที่จะไปธุดงค์กรรมฐานปฏิบัติภาวนาให้รู้แจ้งเห็นจริงให้ได้

    การจะออกธุดงค์กรรมฐานนั้น ท่านมีความตั้งใจตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระฝ่ายมหานิกายอยู่ โดยครั้งหนึ่งท่านเคยพาสามเณรออกไปนั่งกรรมฐานที่ป่าช้า ท่านเล่าว่า วันหนึ่งมีคนตายใหม่เพิ่งเอาไปเผา เวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ท่านไปกับสามเณรเพียง ๒ รูป ถึงป่าช้าท่านกับสามเณรแยกกัน ท่านอยู่ที่โคนไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง และสามเณรอยู่อีกที่หนึ่ง เมื่อแยกย้ายกันหาที่ภาวนาเรียบร้อยแล้ว ต่างคนก็ต่างภาวนากัน การภาวนาของท่านครั้งนั้นยังไม่มีครูบาอาจารย์สอน ท่านได้ศึกษาตามแบบแผนที่ท่านอ่านพบ และปฏิบัติภาวนาคือให้บริกรรมพุทโธ ท่านภาวนาไปสักพัก ทำให้จิตว่างจากความนึกคิด กายก็ปรากฏว่าหายไปหมด มีสติกับความรู้เฉยอยู่ มีแต่ความสุขใจ ท่านนั่งประมาณ ๓ ชั่วโมง จิตจึงถอนออก

    จากพรรษาที่ ๑-๒-๓ ผ่านไป มีอยู่วันหนึ่ง หลวงปู่คำดีมีความสงสัยเรื่องพระนั่งหลับตามาก จึงเข้าไปถามพระอาจารย์ ท่านตอบว่า “นั่นเขานั่งภาวนา เรียกว่านั่งกรรมฐาน เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ท่านเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาอยู่ในถ้ำบำเพ็ญเพียรของท่าน” ความนึกคิดและความรู้ใหม่ๆนี้ ทำให้หลวงปู่คำดีสนใจมากเป็นพิเศษ ได้เก็บความรู้สึกนอนเนื่องในหัวใจตั้งแต่บัดนั้นมา ไม่เคยลืม แม้จะศึกษาทางด้านปริยัติธรรม สวดมนต์ทำวัตรโดยปกติก็ตาม

    ต่อมาพรรษาที่ ๔ หลวงปู่คำดีเกิดเบื่อหน่ายในการศึกษาพระธรรมวินัยตามที่เคยเรียนอยู่ ท่านจึงมาพิจารณาเอาเองว่า การบวชของเรานี้ดูแล้วไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลย คงเป็นการบวชตามประเพณีอย่างที่เขาบวชกันเฉยๆนั่นเอง แต่ถ้าเราได้ออกเดินธุดงค์เหมือนอย่างพระมาปักกลดข้างๆวัด เราก็จะมีประโยชน์มาก อีกทั้งยังได้ประสบการณ์ที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นอีกด้วย ถ้ายังเป็นอยู่เช่นนี้ คงไม่เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์เสียแล้ว เมื่อคิดได้ดังนั้น ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานไปว่า

    “ถ้าแม้ว่าข้าพเจ้ายังดำเนินชีวิตอยู่เช่นนี้ เห็นทีจะต้องลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตภายนอกแน่นอน แต่ถ้าแม้ว่าข้าพเจ้าสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมตามเยี่ยงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ทางพ้นทุกข์ดังเช่นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เดินธุดงค์มาปักกลดเมื่อไม่นานมานี้แล้ว ก็ขอให้พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาโปรดสั่งสอนแนะแนวทางแก่ข้าพเจ้าภายในสองวันนี้ด้วยเถิด”
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงปู่คำดี ปภาโส


    หลังจากหลวงปู่ได้อธิษฐานแล้ว ๒ วัน ก็ปรากฏพระกรรมฐานเดินธุดงค์ผ่านมาและพักตรงบริเวณใต้ต้นไม้ ใกล้ๆวัด ที่เดียวกับพระธุดงค์ชุดก่อน ท่านมานึกถึงคำอธิษฐานได้ก็แสนจะดีใจ รีบหาน้ำฝนที่สะอาดไปถวาย ซึ่งในครั้งนี้มากันหลายองค์กระจายกันพักเป็นจุดๆ ไป เมื่อหลวงปู่ถวายน้ำแล้วได้กราบเรียนถามตามที่ตนสงสัยนั้นว่า

    “นี่พระคุณเจ้ามาจากไหนและจะเดินทางไปไหนครับกระผม” พระธุดงค์ตอบว่า

    “พวกผมพากันเดินธุดงค์เพื่อจะขึ้นเขา แต่นี่ผ่านมาจึงแวะพักเหนื่อย”

    หลวงปู่คำดีถามว่า

    “การเดินธุดงค์นี้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์สิ่งใดครับกระผม”

    พระธุดงค์ตอบว่า “เพื่อความวิเวก เพื่อหาความสงบและเพื่อโมกขธรรมคือ ความพ้นทุกข์”

    หลวงปู่คำดีนิ่งคิด เพราะเรื่องนี้เคยได้ถามพระอาจารย์มาแล้วท่านว่าหาทางพ้นทุกข์เหมือนกัน ท่านยิ่งเกิดความปีติยินดีในปฏิปทาของท่านเหล่านั้นมาก ท่านมีความศรัทธาในอิริยาบถต่างๆที่พระธุดงค์แสดงออกมาให้เห็น ท่านจึงออกปากพูดไปว่า

    “กระผมมีความสนใจมานาน พระคุณเจ้าจะรังเกียจหรือไม่ถ้ากระผมจะขอติดตามเดินธุดงค์ไปด้วย เพื่อพระคุณเจ้าจะได้อบรมสั่งสอนให้กระผมได้มีความรู้ความเข้าใจตามแนวทางปฏิบัติอย่างที่พระคุณเจ้ากระทำอยู่”

    พระธุดงค์จึงถามว่า “ท่านเป็นพระมหานิกายหรือธรรมยุต”

    หลวงปู่คำดีตอบว่า “กระผมเป็นพระมหานิกายครับกระผม”

    พระธุดงค์พูดว่า “ท่านเป็นพระมหานิกายไปกับพวกผมไม่ได้ เพราะบางสิ่งบางอย่างหลักธรรมวินัยเข้ากันไม่ได้ หมายถึงไม่เหมือนกัน อย่างเช่นพิธีการต่างๆ พวกผมไม่ได้รังเกียจท่านหรอก แต่ทางที่ดีถ้าท่านอยากไปกับพวกผมจริงๆแล้ว ขอให้ท่านไปญัตติใหม่เป็นธรรมยุตเสียก่อน จึงจะไปกับพวกผมได้ เอาละพวกผมก็พักเป็นเวลาสมควรแล้ว จะต้องรีบเดินธุดงค์ต่อไป”

    หลังจากที่พระธุดงค์ชุดดังกล่าวจากไปแล้ว หลวงปู่มีความอึดอัดใจ เพราะว่าพระธุดงค์บอกว่าถ้าจะร่วมไปกับท่านจริงต้องไปญัตติเป็นธรรมยุติก่อน ส่วนเราหรือก็ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ ตลอดจนญาติโยมมากมาย แต่ใจหลวงปู่ก็ไม่อยากทิ้งความพยายามที่จะออกธุดงค์ ท่านรุ่มร้อนจิตใจจนทนไม่ได้จึงอยากจะกราบพระอาจารย์ขออนุญาตลาไปญัตติใหม่ ถ้าท่านเมตตาเราแล้วท่านคงไม่ขัดขวาง ต้องยินดีกับการดำเนินชีวิตที่ดีที่ชอบของลูกศิษย์อย่างแน่นอน เพราะการเดินธุดงค์เป็นไปเพื่อหาทางพ้นเสียจากทุกข์ พระอาจารย์คงจะอนุโมทนากับเรา

    จึงได้หาโอกาสในวันหนึ่งเข้านมัสการพระอาจารย์เพื่อขอลาญัตติใหม่

    เมื่อเข้าถึงตรงหน้าแล้วพระอาจารย์ถามว่า “มีธุระอะไรหรือ”

    หลวงปู่ตอบไปว่า “กระผมมีปัญหาอยู่ว่า กระผมมีความประสงค์ที่จะออกธุดงค์ แต่ในการเดินธุดงค์นั้น กระผมได้รับคำแนะนำว่า ให้ไปแปรนิกายใหม่เป็นธรรมยุต กระผมจึงมีความอัดอั้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์จะเห็นเป็นการสมควรประการใดครับกระผม”

    พระอาจารย์ตอบว่า “เป็นการคิดที่ชอบแล้ว เพราะการเดินธุดงค์นั้นเราจะต้องเข้าหมู่คณะ อีกอย่างหนึ่ง พระอาจารย์มั่นภูริทตโต ผู้เป็นพระคณาจารย์ใหญ่ในขณะนี้ท่านเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เป็นพระอาจารย์ปฏิบัติกรรมฐานที่มีความสามารถเป็นยอด ท่านได้อบรมสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ให้ประพฤติปฏิบัติแนวทางพ้นทุกข์จนสามารถมีดวงตาเห็นธรรมกันก็มากมี ถ้าแม้ว่าเป็นวาสนาของท่านคำดีแล้ว ควรจะรีบเร่งขวนขวายในขณะครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ จงไปดีนะ และขอให้ตั้งใจค้นคว้าหาสัจธรรมอันล้ำเลิศอันเป็นทางพ้นทุกข์ได้จริงแท้แน่นอน เป็นหนทางเอกของท่านคำดีแล้ว ขออนุโมทนาให้กุศลผลแห่งภาวนามัยนี้ด้วย-ขอให้พบธรรม”

    หลวงปู่คำดีแสนตื้นตันใจน้ำตาเอ่อนองด้วยความปีติ นี่แหละหนอครูบาอาจารย์ผู้ประเสริฐ พระอาจารย์ผู้อยากเห็นศิษย์ได้ดีมีวิชชาต่อไปในอนาคต ท่านย่อมส่งเสริมเช่นนี้เสมอ…

    หลวงปู่คำดีลาพระอาจารย์แล้ว ยังคิดถึงโยมอุปัฏฐาก ท่านจึงได้บอกข่าวและมาประชุมกัน เพื่อขอลาเดินธุดงค์และจะเรียนรู้ในการแปรญัตติเป็นธรรมยุตด้วย

    หลังจากที่หลวงปู่คำดีได้ยินคำอธิบายจากพระธุดงค์ผ่านไปไม่กี่วัน ท่านก็บอกญาติโยมให้เตรียมบริขารที่จะไปทำการญัตติใหม่ ไม่กี่วันการเตรียมบริขารเสร็จเรียบร้อย จึงลาญาติโยมเพื่อไปญัตติเป็นพระธรรมยุต ญาติโยมต่างก็อนุโมทนาทุกคน
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงปู่คำดี ปภาโส


    ท่านจึงออกเดินทางจากวัดบ้านหนองคูซึ่งเป็นบ้านเกิดไปเมืองขอนแก่น ขออนุญาตเข้าพบ พระครูพิศาลอรัญเขต เจ้าอาวาสวัดศรีจันทราวาส ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และนมัสการกราบเรียนให้ท่านช่วยญัตติเป็นพระธรรมยุต ท่านก็รับไว้ด้วยความเมตตา และพักอยู่ที่วัดนี้จนกระทั่งหลวงปู่คำดีได้ฝึกอ่านอักขระฐานกรณ์จากอาจารย์ได้เรียบร้อยไม่ขาดตกบกพร่อง

    ท่านจึงได้อนุญาตให้ญัตติได้เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ตรงกับปีมะโรง เวลา ๑๓.๓๐ น. เป็นอันเสร็จพิธีโดยมี

    พระครูพิศาลอรัญเขต เป็นพระอุปัชฌาย์
    พระปลัดสังข์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    พระสมชาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์


    ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านจำพรรษาที่วัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ครั้งแรกท่านอยู่องค์เดียว อาศัยญาติโยมชาวบ้านหาร้านที่พักให้ชั่วคราว ต่อมามีหมู่คณะไปด้วย มีพระ ๓ รูป ตาปะขาว ๑ คน ถ้ำกวางนี้เป็นสถานที่ที่มีป่าทึบ ห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๒ กม. ก่อนที่ท่านจะมาถ้ำกวางนี้ ท่านมุ่งมั่นทำความเพียรอย่างเดียว ยอมสละชีพเพื่อพรหมจรรย์ เพื่อมรรคผลนิพพาน ท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่ถ้ำกว่างนี้ ๕ พรรษา ถ้าหากจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น ท่านก็จะไม่ยอมหนีให้เสียสัจจะเด็ดขาด

    การจำพรรษาที่นี่ท่านได้ปฏิบัติภาวนาอย่างเอาเป็นเอาตาย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านได้เป็นไข้มาลาเรียอย่างหนัก แม้แต่หมู่คณะของท่านทุกรูปก็เป็น ไม่มีใครดูแลกันได้เลย ได้อาศัยชาวบ้านหินร่องมาช่วยอุปัฏฐากดูแล ต่อมาพระ ๒ รูปมรณภาพ และตาปะขาว ๑ คนได้ตายจากไป

    ส่วนพระที่ยังไม่มรณภาพต่างก็หนีไปที่ต่างๆ ไม่มีใครกล้าอยู่เพราะกลัวไข้มาลาเรียกัน สำหรับหลวงปู่ได้มีญาติโยมมาอ้อยวอนให้หนี แต่หลวงปู่อธิษฐานไว้แล้ว ท่านอยู่ของท่านรูปเดียวตลอดฤดูแล้ง พอจวนจะเข้าพรรษามีพระไปจำพรรษาอีก ๔ รูป ตาปะขาว ๑ คน คือ พระอ่อน หลวงตาสีดา หลวงตาช่วง ตาปะขาวบัว(หลวงปู่บัว สิริปุณโณ วัดป่าหนองแซง จังหวัดอุดรธานี) ได้ร่วมกับเพื่อนพระด้วยกันปฏิบัติภาวนาจนกระทั่งออกพรรษา

    ในขณะอยู่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง กลางฤดูแล้ง ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ คิดอยากจะไปวิเวกที่ “ภูเก้า” ขณะนั้นไข้ยังไม่หายดี ก่อนไปคิดเสียสละตัดสินใจไป หากจะเป็นอย่างไรก็ยอมเป็น จะหายก็หาย จะตายก็ตาย ตัดสินใจอย่างนั้นก็เล่าให้ลูกศิษย์ซึ่งเป็นไข้เหมือนกันฟัง

    “ผมจะไปภูเก้า ท่านจะไปด้วยไหม ถ้าผมไปผมยอมสละชีพได้น่ะ จะหายก็หาย จะตายก็ตาย หากถึงภูเขาและถ้ำแล้ว ถ้าลงบิณฑบาตไม่ได้ ผมก็ไม่ลง หากชาวบ้านเขาไม่เอาอาหารมาส่ง ผมก็ไม่ฉัน” โสสุด (ตั้งใจแน่นอน) อย่างนี้ก็ตกลงไปด้วยกัน หลวงปู่เป็นนักต่อสู้ผู้ล้ำเลิศจริงจังต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นยอด ถึงแม้ว่าสังขารร่างกายจะเป็นอย่างไร หลวง)ไม่เคยคิดเดือดร้อน ท่านถือว่า ถ้าไม่ได้ธรรมแล้วขอยอมตาย สัจจะวาจาที่ตั้งไว้บังเกิดผล ได้อรรถธรรมชั้นสูงลงมาสอนอย่างน่าเคารพกราบไหว้บูชายิ่ง

    หลวงปู่คำดีไปอยู่ในถ้ำกวางแต่ละครั้ง ก็ล้มป่วยถูกชาวบ้านหามลงมาทุกครั้ง ท่านอธิษฐานอยู่ ๕ ปี ก็ถูกหามลงมาทุกปีเหมือนกัน แต่อาศัยความเพียรเป็นเลิศมุ่งตรงทางเอก ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างไม่มีอะไรจะเปลี่ยนจิตใจท่านได้ แม้สุขภาพไม่สมบูรณ์นักก็ตาม ความขยันในการประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่ไม่เคยทอดทิ้งละเลย แม้ยามเจ็บป่วย หลวงปู่ก็ยังมีสติพร้อมมูล มุ่งหวังธรรมะด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก

    ปฏิปทาในการปฏิบัติของท่าน ท่านเอาความตายเข้าสู้ บางวันเดินจงกรมตลอดคืนก็มี บางครั้งนั่งสมาธิตลอดคืน บางวันเดินจงกรมตลอดวันอีก การปฏิบัติของท่านปฏิบัติแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่ห่วงแม้แต่เรื่องการอาบน้ำ แม้เหงื่อจะไหลชุ่มโชกก็ตาม ท่านบอกว่าเหงื่อไหลตามตัวไม่เป็นไร แต่ใจมันเย็นชุ่มฉ่ำตลอดเวลา จึงไม่เกิดความรำคาญ ลูกศิษย์ที่ศึกษาปฏิบัติภาวนากับท่านกรายเรียนถามท่านอีกว่า

    “ท่านอาจารย์ กระผมเห็นท่านปฏิบัติภาวนาตลอดวันตลอดคืน ไม่ทราบว่าท่านเอาเวลาไหนนอน” ท่านตอบว่า “จิตมันพักอยู่ในตัว นอนอยู่ในตัว มีความยินดีและเพลิดเพลินในการปฏิบัติภาวนา จึงไม่รู้สึกเหนื่อยและไม่ง่วงนอน”

    ในระหว่างที่ท่านวิเวกภาวนาอยู่ที่เขาตะกุดรังนั้น ท่านได้ถือสัจจะอันหนึ่งคือ ท่านถือสัจจะฉันผลไม้แทนข้าวและอาหารสับเปลี่ยนกันไปคือ ฉันกล้วย มะพร้าว มัน เผือก น้ำอ้อย น้ำตาล ๕ วัน แล้วจึงกลับไปฉันอาหารคาว-หวาน ๓ วัน สลับกันเช่นนี้ตลอด เวลาขณะที่ท่านออกธุดงค์ประมาณ ๓-๔ เดือน ในระหว่างที่เร่งความเพียรอยู่นั้น ท่านพูดแต่น้อย ไม่มีเรื่องจำเป็นท่านไม่พูด คือ ท่านพยายามฝึกสติไม่ให้เผลอออกจากกายและใจไปทุกๆ อิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ท่านมีความเพียรพยายามจนจิตของท่านได้สมาธิใหม่สมความประสงค์ของท่าน จิตของท่านรวมอยู่เป็นวันเป็นคืนก็ได้ ขณะที่จิตของท่านได้กำลังเช่นนี้ ท่านได้พิจารณาธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดทั้งอาการ ๓๒ ตลอดไปถึงสิ่งต่างๆ ก็เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านได้เพียรพยายามพิจารณาทะลุเข้าไปถึงเวทนาทั้ง ๓ ตลอดไปถึงสิ่งต่างๆก็เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านได้พิจารณาไปจนกระทั่งจิตแสดงความบริสุทธิ์ของจิตให้เห็นอย่างชัดเจน ขณะนี้แสดงว่าจิตของท่านได้ผ่านไตรลักษณ์ไปแล้ว
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงปู่คำดี ปภาโส


    ครั้งหนึ่งเป็นฤดูแล้ง ตรงกับเดือน ๓ แรม ๓ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ขณะที่หลวงปู่คำดีเดินจงกรมอยู่นั้น ประมาณ ๓ ทุ่ม สมัยนั้นใช้เทียนไขตั้งไว้ตรงกลางโคมผ้าที่ทำเป็นรูปทรงกลมเจาะรู มันก็สว่างดี ลมพัดไฟก็ไม่ดับ มองไกลๆเห็นแดงร่า ทางจงกรมสูงขึ้นไปจากพื้นประมาณ ๒ เมตร เงียบสงัดดี ได้ยินแต่เสียงใบพลวงตกดังตั้งติ้งๆ ทันใดนั้นได้ยินเสียงสัตว์ขู่ ได้ยินเสียงขู่ครั้งแรก สงสัยเสียงอะไรแปลกๆ ใจมันบอกว่า “เสือ” แต่ก็ยังไม่แน่ใจ จึงเดินกำหนดจิตกลับไปกลับมาที่ทางจงกรมอยู่อย่างนั้น มันขู่ครั้งที่สอง นี่ชัดเสียแล้ว มันดังชัด “อา...อา..อา..อา!” เสียงหายใจดังโครกคราก โครกคราก ไกลออกไป ๑๐ เมตร ไม่นานนักได้ยินเสียงขู่คำรามอีก มาอยู่ใกล้ๆทางจงกรมแหงนหน้าขึ้นดู แล้วขู่ อา..อา..อา..อา กลัวแสนกลัว ยืนอยู่กับที่เผลอไปพักหนึ่ง จิตมันจึงบอกว่า “กรรม” พอจิตมันแสดงความผุดขึ้นในใจว่า “กรรม” ก็มีสติดีขึ้น ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และครูบาอาจารย์ พอระลึกได้แล้ว มีสติปกติ จึงได้พูดกับมันว่า ถ้าเราเคยทำกรรมทำเวรต่อกัน ถ้าจะขึ้นมากินข้าพเจ้า ก็จงขึ้นมาเถิด ถ้าเราไม่เคยทำเวรทำกรรมต่อกัน ก็จงหนีไปเสีย เรามาอยู่ที่นี่ก็ไม่เคยรบกวนใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ว่าสัตว์ตัวเล็กและสัตว์ตัวใหญ่ เรามาที่นี่เพื่อมาปฏิบัติสมณธรรมเท่านั้น

    พอระลึกได้จิตตั้งมั่นแล้ว หายกลัว ความกลัวหายหมด ไม่มีความกลัว เกิดความเมตตา รักมัน ฉวยโคมได้ออกตามหามันทันที ถ้าพบแล้วจะไม่มีความกลัว ไม่ว่าจะเป็นเสือเล็กหรือเสือใหญ่ สามารถจะเข้าลูบหลังและขี่หลังมันได้

    อีกครั้งหนึ่งหน้าแล้งปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ท่านได้เดินทางไปวัดบ้านเหล่านาดี (วัดป่าอรัญวาสี) จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เพื่อประธานสร้างกุฏิที่ญาติโยมเขามีศรัทธาที่จะสร้างเป็นอนุสรณ์ในด้านวัตถุถาวรไว้ แต่ท่านไม่รู้สึกยินดี เพราะท่านชอบสันโดษ ไม่มีนิสัยชอบก่อสร้าง ส่วนที่เห็นว่าทางวัดมีการสร้างสิ่งต่างๆ ส่วนมากเป็นศรัทธามาสร้างถวาย ท่านก็ไม่ขัดศรัทธา

    การก่อสร้างกุฏิที่วัดนี้ก็เช่นกัน มีศรัทธา ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งต้องการก่อสร้าง อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการสร้าง ไม่เป็นที่ตกลงกัน ฝ่ายที่ต้องการสร้างไม่ฟังเสียงคัดค้าน ได้ดำเนินการก่อสร้างไปเลย เมื่อรีบเตรียมหาวัสดุก่อสร้าง พวกที่คัดค้านก็หาเรื่องคัดค้านฟ้องร้องกัน หาว่าทำผิดกฎหมายบ้านเมืองให้เจ้าหน้าที่มาจับ

    พอออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านกลับไปวัดบ้านเหล่านาดีอีก พอดีกับการก่อสร้างเสร็จ ทางญาติโยมที่มีจิตศรัทธาก็ได้ทำบุญถวายกุฏิเป็นที่เรียบร้อย

    ในปีนั้น พวกโยมที่คัดค้านการก่อสร้างกุฏิและกลั่นแกล้งพูดจาก้าวร้าวท่านต่างๆ นานัปการนั้น คนที่เป็นหัวหน้าเกิดอาเจียนเป็นเลือดตาย ส่วนอีกคนนอนหลับตาย พวกญาติๆ ของฝ่ายคัดค้านเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็กลัวกันมาก เกรงว่าบาปกรรมที่ตนทำไว้กับพระสงฆ์จะตกสนองเช่นเดียวกับสองคนแรก จึงพากันไปกราบนมัสการขอขมาโทษจากท่าน ท่านจึงเทศน์ให้ฟังว่า

    “เรื่องเป็นเรื่องตายไม่ใช่เรื่องของอาตมา เป็นเรื่องของพวกเขาต่างหาก เป็นเพราะใครทำกรรมอย่างใดก็ได้รับผลของกรรมอย่างนั้น ส่วนพวกเจ้าทำกันเองพวกเจ้าคงจะรู้ว่าเป็นเพราะอะไร”

    แล้วท่านก็ให้พากันทำคารวะสงฆ์ หลวงปู่พร้อมด้วยสงฆ์ก็ให้ศีลให้พร และท่านได้เทศน์ให้สติเตือนใจอีกว่า

    “นี่แหละ การเบียดเบียนท่านผู้มีศีลย่อมได้รับกรรมตามทันตาเห็น จะหาว่าไม่มีบาปมีบุญที่ไหนได้ ศาสนามีทั้งคุณและโทษ ถ้าผู้ปฏิบัติดีก็นำพาจิตใจคนเหล่านี้ขึ้นสวรรค์นิพพาน ถ้าคนเหล่านี้ปฏิบัติไม่ดี ก็พาคนเหล่านี้ตกนรกอเวจีก็มีมาก เรื่องบาปกรรมย่อมไม่ยกเว้นให้กับใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเณร หรือเจ้านายชั้นไหนๆก็ตาม ถ้าทำบาปลงไปเป็นบาปทั้งนั้น ไม่มีการยกเว้นลำเอียง”

    พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นต้นมา หลวงปู่คำดี ปภาโส หลังจากล้มป่วยลงมาจากป่าเขาพงไพรแล้ว อาการต่างๆในร่างกายของท่านอ่อนแอมาตลอด หลวงปู่มีลูกศิษย์มากมายทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาสโดยทั่วไป บุคคลผู้ไม่เคยพบหลวงปู่คำดี เลยเพียงได้ยินชื่อหรือภาพที่เผยแพร่ออกไปยังหมู่ชนเท่านั้นก็บังเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า สละบ้านการงานมาศึกษา

    ต่อมา หลวงปู่คำดีได้ไปพบถ้ำผาปู่ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นสภาพป่า แต่เป็นสถานที่เก่าแก่ของวัดโบราณ และได้รกร้างมานาน หลวงปู่คำดีเข้าไปปักกลดบำเพ็ญภาวนาเห็นว่า มีความสงบวิเวกดี เหมาะแก่การปฏิบัติ ต่อไปภายหน้าจะมีผู้ที่สนใจใคร่ประพฤติธรรมมาใช้สถานที่แห่งนี้กันมาก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันสร้างกุฏิหลังหนึ่งเพื่อถวายหลวงปู่อยู่จำพรรษา ต่อมาชื่อเสียงของหลวงปู่คำดี พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ได้ขจรไปยังชาวจังหวัดเลยมากขึ้น

    จนมีผู้ศรัทธาทั้งหลายในจังหวัดพากันสละเงิน เสริมสร้างเสนาสนะมากขึ้นหลายหลังอีกทั้งศาลาหลังใหญ่ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ชาวบ้านทั้งหลายจึงนิมนต์หลวงปู่อยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เป็นที่น่ายินดีที่ชาวจังหวัดเลยได้เพชรน้ำงามที่เจียระไนแล้วมาเป็นมิ่งขวัญประดับจิตประดับใจแห่งชีวิต ด้วยร่างกายของท่านไม่ดี ท่านมักเตือนลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า “ร่างกายสังขารของผมแย่พอสมควรแล้ว ถ้าเป็นรถยนต์ก็ทิ้งได้แล้ว ถ้าหากผมล้มป่วยคราวนี้คงไม่ไหวแน่ ถ้าหมู่คณะจะรักษาร่างกายผม ก็รีบจัดการรักษาเสีย”
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงปู่คำดี ปภาโส


    พวกสานุศิษย์ทั้งหลายเห็นท่านพอเดินได้ พูดได้ ฉันได้ เทศน์ได้ ก็พากันเย็นใจและจัดหาให้ฉันตามปกติ แต่ไม่ได้พาหลวงปู่เข้าตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ต่อมาวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ตอนเช้าหลังจากฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เรียกญาติโยมทั้งหลายมาพร้อมกัน แล้วท่านก็พูดว่า “มาฟังเทศน์กัน อาตมาจะเทศน์ครั้งสุดท้าย ต่อไปจะไม่ได้เทศน์อีกแล้ว จะไม่ได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์อีกแล้ว และจะไม่ได้พูดกันอีกต่อไป” พระลูกศิษย์และโยมทั้งหลายเมื่อได้ฟังคำพูดของหลวงปู่อย่างนั้นก็พากันแปลกใจ แต่ไม่มีผู้ใดเฉลียวใจว่า คำพูดของท่านนั้นเป็นการพูดครั้งสุดท้ายจริงๆ หลวงปู่เริ่มเทศน์เรื่อง “ความไม่ประมาท”

    เมื่อท่านเทศน์จบ ลูกศิษย์ลากลับแล้ว ท่านเข้าพักผ่อนตามอัธยาศัยของท่าน จนกระทั่งเวลา ๑๕.๐๐ น. ของวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านเดินเข้าห้องน้ำล้างหน้าเรียบร้อยแล้ว ท่านก็พูดขึ้นว่า “ผมเป็นลม” ขณะนั้นมีพระอุปัฏฐากท่าน ๔ รูป ได้ประคองท่านนอนลงที่อาสนะ เมื่อนอนลงแล้วท่านไม่พูดไม่คุยกับใครทั้งนั้น มีแต่นอนเฉยๆ ไม่มีการขยับตัว ลูกศิษย์ต่างก็พากันตกใจ ต่างก็หายามาให้ท่านฉัน แต่ไม่หาย จนถึงเวลา ๑๘.๐๐ น. ก็ให้โยมไปเชิญหมอจากโรงพยาบาลมาตรวจดูอาการของหลวงปู่ มีการฉีดยา ให้น้ำเกลือ ท่านก็ยังไม่ฟื้น

    รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๖ คุณหมอก็สวนปัสสาวะให้ท่าน สายยางที่สวนเข้าไปทำให้เกิดแผลภายใน เลือดไหลไม่หยุด ลูกศิษย์จึงปรึกษากันว่าควรพาไปรักษาตัวในกรุงเทพฯ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ คณะศิษยานุศิษย์นำหลวงปู่ถึงโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ตรวจสอบอาการของหลวงปู่ แล้วให้การบำบัดรักษา ประมาณ ๙ เดือน อาการหลวงปู่ดีขึ้นเป็นลำดับ ศิษยานุศิษย์จึงเห็นสมควรให้ท่านกลับวัดผาปู่

    ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ อาการไข้ได้กำเริบขึ้นอีก นายแพทย์ปัญญา ส่งสัมพันธ์ จึงส่งรถพยาบาลมารับท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญาที่กรุงเทพฯ คราวนี้มีแต่ทรงกับทรุดมาตลอด พอถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๑๓.๑๓ น. หลวงปู่ท่านก็สิ้นลมจากไปด้วยอาการสงบ…

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดรับเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญพระราชกุศลตลอด ๗ วัน และบำเพ็ญพระราชกุศล ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วันตามลำดับ

    สำหรับอาพาธของหลวงปู่รวมสองครั้งดังนี้ ครั้งแรก เป็นเวลา ๙ เดือน ครั้งที่สองเป็นเวลา ๙ เดือน

    สิริรวมอายุจนถึงวันมรณภาพได้ ๘๓ ปี รวมพรรษาธรรมยุตได้ ๕๗ พรรษา ๓ เดือน ๒๓ วัน

    ปี พ.ศ. ๒๕๗๑ จำพรรษาที่ วัดบ้านยาง ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

    ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ จำพรรษาที่ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

    ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ - ๒๔๗๕ จำพรรษาที่ วัดป่าหนองกุ บ้านหนองคู ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

    ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๘๐ จำพรรษาที่ วัดป่าช้าดงขวาง ตำบลหัวทะเล บ้านโนนฝรั่ง จังหวัดนครราชสีมา

    ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ จำพรรษาที่ วัดป่าอภัยวัน บ้านทุ่ม ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

    ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๘๖ จำพรรษาที่ วัดถ้ำกวาง บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

    ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ - ๒๔๙๓ จำพรรษาที่ วัดป่าชัยวัน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

    ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จำพรรษาที่ วัดป่าอรัญญวาสี บ้านเหล่านาดี ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

    ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จำพรรษาที่ วัดป่าชัยวัน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

    ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๔๙๗ จำพรรษาที่ วัดป่าคิรีวัน คำหวายยาง ภูพานคำ ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

    ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๐๘ จำพรรษาที่ วัดถ้ำผาปู่ เขานิมิตร ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

    ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ จำพรรษาที่ วัดป่าหนองแซง ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

    ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๒๕ จำพรรษาที่ วัดถ้ำผาปู่ เขานิมิตร ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

    ปี พ.ศ. จำพรรษาที่ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา คลองตัน หัวหมาก กรุงเทพฯ

    วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูญาณทัสสี พระครูชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ

    วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประวัติหลวงปู่คำดี ปภาโส


    ธรรมโอวาท

    ท่านมักจะอบรมลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า

    “เรามีตาเท่ากับว่าไม่มีตา มีหูเท่ากับว่าไม่มีหู มีท้องก็ฉันอยู่ได้ไปวันๆเท่านั้น ไม่ต้องแสดงความโลภและตะกละ”

    ให้พากันสำเหนียกไว้เรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลง จะต้องมีด้วยกันทุกคน ถ้าพูดถึงความโลภ เมื่อมันมีเจตนาบันดาลเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะมืด ไม่รู้จักบาปบุญ ไม่กลัวคุกกลัวตะราง อันนี้เรียกว่าฤทธิ์ของมัน ท่านคงให้ระวังดีๆ ในเรื่องของสามประการนี้ทานสอนว่า อย่าไปปรุงแต่งตามมัน ให้มีสติรู้เท่าทันมัน เมื่อเราปฏิบัติได้อย่างนี้แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง เหล่านี้ก็จะเสื่อมอำนาจไป ตัวอย่างเช่น เมื่อเราประสงค์สิ่งใด เราจะต้องพิจารณาเหตุเสียก่อน เมื่อพิจารณาดูแล้วว่ามันไม่ผิดศีลธรรม เราก็สามารถเอาได้ แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วว่ามันผิดศีลผิดธรรม เราก็ละเสียไม่เอา นี่แสดงว่าเราไม่ปรุงแต่งตามมัน ในความอยากได้หรือความโลภ และเราก็มีสติรู้เท่ามัน คือมีการพิจารณาในเหตุในผลเสียก่อน ถ้าเราประพฤติได้ในลักษณะนี้ เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนดี กระทำแต่ในสิ่งที่ดี มีแต่บุญกุศล ถ้าพูดสั้นๆก็หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีผลเท่านั้น คือ ถ้าเราทำเหตุดีก็จะได้รับผลดี แต่ถ้าเราทำเหตุชั่ว เราก็จะได้รับผลชั่ว

    “แต่การที่จะทำเหตุที่ดีนั้น มนุษย์เราทำกันยากนักยากหนา ที่ว่าทำยากเพราะอะไร? คือมนุษย์บางเหล่าไม่รู้จักเหตุและผล จึงไม่รู้จักเลือกเฟ้นทำเหตุที่ดีกัน และอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเรานี้ไม่ค่อยชอบกระทำเหตุที่ดีกัน แต่ผลดีของมันนั้นชอบกันทุกคน”

    ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย คำว่าตาย ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเราตาย หมายถึงจิตใจคนเราตาย คือตายจากมรรคผลนิพพานต่างหาก ความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย คือไม่ประมาทต่อการทำดี ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา มีโอกาสจะได้ไปสวรรค์ พรหมโลก หรือมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่ง ตลอดถึงพระนิพพานข้างหน้าแน่นอน ช้าหรือเร็วแล้วแต่บุญบารมีหรือความพากเพียรของตนเอง

    “ความไม่ประมาท คือ เป็นผู้มีสติจดจ่ออยู่ที่กายและใจ ทุกอิริยาบถทั้ง ๔ คือยืน เดิน นั่งนอน ไม่มีการเผลอสติจากอิริยาบถทั้ง ๔ จึงจัดว่าเป็นผู้ไม่ประมาท เข้าใจไหม” นี่คือเทศน์ครั้งสุดท้ายของท่านก่อนที่จะล้มป่วยลง

    คำว่าฟังเทศน์หมายความว่า เอาใจฟัง อย่าให้ใจหนีจากตัว ใจผู้ใดก็ให้รักษาอยู่กับตัว อย่าให้ใจหนีจากตัว ใจผู้ใดก็ให้รักษาอยู่กับตัว ให้รู้อยู่กับภาวนาหรือให้รู้อยู่เฉพาะใจ อย่าให้ร่างกายนั่งอยู่ที่นี่แต่ใจมันคิดไปที่อื่น ก็ชื่อว่าใจไม่ฟัง คำว่าใจฟังคือใจจดจ่อ

    สอนให้ละความชั่วประพฤติความดี ความชั่วก็ได้แก่บาปนั่นแหละ ความดีก็ได้แก่บุญกุศลนั่นแหละ แต่เกี่ยวเนื่องอยู่กับจิตใจของเรา เอาเฉพาะใจความโอวาทของพระพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านก็ย่อลงมาเป็น ๓ หัวข้อด้วยกันคือ

    ๑. พระพุทธเจ้าสอนให้ละกายทุจริตและประพฤติกายให้สุจริตนี้เป็นข้อที่หนึ่ง
    ๒. ให้ละวาจาทุจริต และให้ประพฤติวาจาให้สุจริต
    ๓. ให้ละมโนทุจริต และให้ประพฤติใจให้สุจริต


    จะพูดถึงบาป อกุศลกรรมบท หมายความว่า การทำบาปทั้งหลายก็รวมอยู่ที่กุศลกรรมบท ๑๐ ประการนั่นแหละ คำว่าบุญกุศลก็รวมอยู่ที่กุศลกรรมบท ๑๐ ประการ นั่นแหละชื่อว่ากายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ คือใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง มี ๓ อย่างเท่านี้แหละเป็นต้นเหตุ ตกลงอกุศลกรรมบทก็หมายใจเท่านี้แหละเป็นต้นเหตุ ตกลง อกุศลกรรมบทก็หมายใจเท่านั้น หมายใจดวงเดียว คือใจก็หมายถึงอันเดียวเรียกว่า เอกังจิตตัง ที่เรียกว่าจิต หัวใจ ก็เรียกเป็นใจดวงเดียวเอกมโนเรียกว่า ใจอันเดียว ตกลงผู้ที่เบื่อความทุกข์ เบื่อความโง่ เบื่อความเป็นบาป ก็มาปฏิบัติแก้กายทุจริตให้เป็นกายสุจริต แก้วจีทุจริตให้เป็นวจีสุจริต แก้มโนทุจริตเป็นมโนสุจริต นี้เป็นวิธีปฏิบัติ ถ้าเราจะเทียบในทางโลกเหมือนกับพวกชาวไร่ ชาวนาที่มีไร่มีนา แต่ก่อนมันก็เป็นป่าเป็นดงนั่นแหละ เมื่อถือสิทธิ์แล้วจึงสร้างจึงถากถาง ทำให้เป็นไร่เป็นสวน ทำให้บริสุทธิ์ ทำนาให้เป็นนาจริงๆ ทำสวนให้เป็นสวนจริงๆ

    คนทุกข์คนจนในโลกนี้ไม่ใช่ทุกข์เพราะเสือกิน ไม่ใช่ทุกข์เพราะงูร้ายกัด ไม่ใช่ทุกข์เพราะช้างฆ่า แต่ทุกข์เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลงของตน จะทุกข์เพราะสิ่งใดๆก็ตาม ตัวความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่แหละเป็นผู้ฆ่า

    ความโลภ
    ความโกรธ
    ความหลง


    สามสิ่งนี้ร้ายกาจกว่าสิ่งอะไรทั้งหมด ร้ายกว่าผีร้าย ร้ายกว่าเสือร้าย ร้ายกว่างูร้าย ไม่มีสิ่งไหนจะร้ายกว่าตัวความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะฉะนั้นให้ระวังที่สุดเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลง สามประการนี้ มันสามารถทำให้ผู้รู้แจ้งเป็นคนมืดก็ได้ ฤทธิ์ของมันน่ะ มันอยู่เหนือทุกคนในโลกที่ได้เกิดมาในโลกนี้ ยกเว้นเสียแต่พระอรหันต์

    ปัจฉิมบท
    ด้วยความขยัน อดทน พากเพียร และจริงใจในการปฏิบัติบูชา เพื่อมุ่งหวังในพระธรรมเป็นผลให้หลวงปู่ได้พบทางแห่งการดับทุกข์และพ้นทุกข์ และเป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงปู่คำดี ปภาโส แห่งวัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย เป็นพระสุปฏิปันโน และการปฏิบัติของหลวงปู่ที่ปรากฏในข้อความข้างต้นนี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่หลุยกล่าวพรรณนาพระคุณหลวงปู่คำดี ปภาโส


    จากหนังสือ จันทสาโรบูชา
    คุณหญิง สุรีย์พันธุ์ มณีวัต
    .....เผอิญได้พบที่ท่าน (หลวงปู่หลุย) บันทึกไว้อีกตอนหนึ่ง เป็นการพรรณนาพระคุณของหลวงปู่คำดี ปภาโส (พระครูญาณทัสสี) และเรื่องของถ้ำผาปู่ จึงใคร่ขออัญเชิญนำมาลงด้วย เป็นคู่เคียงกัน แสดงถ้อยคำสำนวนที่ท่านเขียนไว้ใน พ.ศ. ๒๕๐๔ เช่นเดียวกัน

    “พระครูคำดี ญาณทัสสี พ.ศ.๐๔”

    “ขอท่านศาสนิกชนทั้งหลายกรุณาทราบไว้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสี (คำดี) เป็นพระเถระผู้ใหญ่ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีพรรษาไล่เลี่ยกับอาตมากับท่านอาจารย์ชอบ นับตั้งแต่ญัตติธรรมยุตมา ได้เคยไปฝึกปรือวิปัสสนาธุระกับท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น ที่จังหวัดขอนแก่น ด้วยกันกับอาตมา ท่านอาจารย์ชอบฉายความรู้มาจากอาจารย์เดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๔๗๔ - ๒๔๗๕ นั้น ๆ

    “นิสัยท่านพระครูญาณชอบอยู่ในที่วิเวก ชอบเจริญสมณธรรมในถ้ำภูเขา ชอบปกครองพุทธบริษัท เพื่อนสหธรรมิก พระภิกษุสามเณร ตลอดแม่ขาวนางชีและคณะอุบาสกอุบาสิกา ฉะนั้นท่านจึงมีลูกศิษย์ลูกหานั้นมาก นิสัยสุขุม ฉะนั้นบริษัทจึงชอบนัก แม้ท่านพระครูญาณทัสสีท่านเคลื่อนไปสู่จังหวัดไหน อำเภอไหนตำบลไหน ท่านทำอัตถประโยชน์มาก เห็นได้ว่าท่านพระครูญาณทัสสีอยู่จังหวัดขอนแก่น วัดวา ฝีไม้ลายมือของท่านก่อสร้างมีจำนวนมาก บรรดาข้าราชการพ่อค้าพาณิชย์ ตลอดชาวไร่ชาวนานิยมท่านมาก เพราะฉะนั้นการก่อสร้างของท่านจึงสำเร็จเพราะกำลังกาย กำลังวาจา กำลังทรัพย์เพียงพอทุกอย่าง ไม่บกพร่อง แม้ท่านพระครูญาณทัสสีจะดำเนินงานการใหญ่ ๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี ดูได้ที่จังหวัดขอนแก่นมีวัดป่าคำมะยาง ๑ วัด วัดศรีภาพ ๑ วัด เป็นวัดที่ทุ่มเทเงินทองก่อสร้าง มีจำนวนมาก ๆ สำเร็จได้เป็นอย่างดี”

    “อนึ่ง ท่านได้เคลื่อนพาลูกศิษย์ลูกหามาอยู่ถ้ำผาปู่ ต. นาอ้อ อ. เมือง จ.เลยของพวกเรา ดูได้ที่การก่อสร้าง ถ้ำผาปู่ ๑ วัด วัดหนองหมากผาง ๑ วัด เป็นวัดที่กว้างขวางใหญ่โต ท่านพระครูญาณทัสสีเพิ่งมาอยู่ไม่นานเท่าไรปี เวลานี้วัดถ้ำผาปู่ วัดหนองผาง กำลังก้าวหน้าเรื่อย ๆ มีคณะอุบาสกอุบาสิกาต่างจังหวัดมาเยี่ยมท่านเรื่อย ๆ และมีพระภิกษุสามเณรมาจากต่างจังหวัดอื่น ๆ มาเยี่ยม ศึกษาธรรมวินัยด้วยท่านเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น สังฆรัตนะจึงตกเข้ามาในท้องที่จังหวัดเลยมาก มีวัดป่าหนองหมากผางและถ้ำผาปู่เป็นอาทิ”

    “ท่านพระครูญาณทัสสีเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำผาปู่ก็จริง ปีไหนมีโอกาสดี ๆท่านก็ไปอำเภอเชียงคานบ้าง ไปอำเภอวังสะพุงบ้าง แผ่อริยธรรม ให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ส่วน อ. ท่าลี่ อ. ด่านซ้ายนั้นท่านไม่มีโอกาสไป ด้วยหนทางไกล ไม่สะดวกในการเดินทาง ก็มีอันเตวาสิกสานุศิษย์ของท่านไปเที่ยววิเวกเพื่อทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ ต่อคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายในถิ่นตำบลอำเภอนั้นด้วย ได้รับความอบรมศึกษาธรรมวินัยเป็นอย่างดี ฉะนั้นก็แลเห็นได้ว่า ท่านพระครูญาณทัสสีทำอัตถประโยชน์ ปรมัตถประโยชน์ให้จังหวัดเลยเป็นอันมาก ดุจท่านอยู่จังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน.....”
     

แชร์หน้านี้

Loading...