ประวัติและปฏิปทา : หลวงปู่ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ กนฺตสีโล

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 23 เมษายน 2012.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประเพณีที่ฝากไว้

    [​IMG]

    วัดป่าเมธาวิเวก เดิมเป็นสถานที่คั่นกลางระหว่างที่นา ๒ แปลง มีทิศตะวันตกติดกับลำห้วยแคน ชาวบ้านต่างมีความพยายามที่จะเข้าทำประโยชน์จากสถานที่แห่งนี้ ต่างคนต่างพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ต้องมีอันเป็นไปทุกราย บางครั้งแม้แต่มาหาหน่อไม้ หาฟืน พอตกเย็นต้องเจ็บป่วย หลายคนที่ต้องจบชีวิตลงเนื่องจากการล่วงละเมิดความอาถรรพ์

    ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ครูบาอาจารย์โสมซึ่งเป็นหนึ่งในศิษย์หลวงปู่มั่น และเป็นสหธรรมิกของหลวงปู่กินรี ได้เดินธุดงค์มาแถบนั้นพอดี ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันไปนิมนต์ท่านให้มาพำนักปักกลดดูบ้าง ลำพังชาวบ้านแล้ว ไม่มีใครก้าวย่างเข้าไปในเขตนั้นมานานแล้ว ท่านก็รับและมาพำนักให้ระยะหนึ่งแล้วก็จากไป

    ในระหว่างนั้นหลวงปู่กินรี จนฺทิโย ท่านได้มาเป็นสมภารที่วัดดำรงเมธยาราม และได้เอาสามเณรยศ มาภา ซึ่งเป็นหลานมาบวชอยู่ด้วย เพื่อสอนศีลธรรมและหนังสือไปด้วย ซึ่งแต่ก่อนบ้านหนองฮียังไม่มีโรงเรียน ชาวบ้านที่ต้องการรู้หนังสือ จึงอาศัยเรียนจากครูบาอาจารย์ที่ได้มีโอกาสบวช แล้วออกจากบ้าน เพื่อไปแสวงหาความรู้มาจากที่อื่น แล้วนำมาถ่ายทอดกันเป็นทอดๆ หลังจากที่หลวงปู่กินรีได้นำวิชาความรู้มาสอนลูกหลานให้มีความรู้อ่านออกเขียนได้แล้ว ในเวลาต่อมาชาวบ้านที่มีลูกชายจึงได้นำมาฝากเป็นลูกศิษย์วัดเพิ่มมากขึ้นบ้างก็บวชเป็นพระเณรแล้วลาไปศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักต่างๆก็มาก

    พ่อใหญ่ธรรมรส แสงผา อดีตพระธรรมรส โอภาโส ซึ่งเคยได้ศึกษาพระธรรมวินัยตลอดทั้งหลักภาษาไทยกับหลวงปู่กินรี เมื่อศึกษาได้ขั้นหนึ่งแล้ว หลวงปู่ได้ส่งไปเรียนขั้นสูงต่อไปจากสำนักอื่น จนพระธรรมรสมีความรู้ความสามารถพอจะถ่ายทอดได้ จึงกลับถิ่นฐานเดิม และกราบเรียนปรึกษากับหลวงปู่กินรี เพื่อขอให้สร้างอาคารเรียนในวัด เพื่อลูกศิษย์วัดจะได้มีที่ศึกษาเล่าเรียนเป็นหลักเป็นแหล่งบ้าง

    ด้วยหลวงปู่กินรีเป็นผู้ที่มองการณ์ไกล จึงได้แนะนำให้ไปสร้างในสถานที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนหนองฮีในปัจจุบัน พระธรรมรสจึงถือได้ว่าเป็นครูคนแรกของโรงเรียน และได้ถ่ายทอดสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

    จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกวันนี้เมื่อมีคนต่างถิ่นเข้าไปในวัด มักจะเห็นลูกศิษย์วัดมาให้การปฏิสันถารเป็นประจำ เพราะในอดีตที่ผ่านมา เรื่องความเคารพความผูกพันระหว่างพระเณรและเด็กได้ถูกปลูกฝังสืบทอดกันมามิได้ขาด

    ประเพณีอันงดงาม ที่ชาวหนองฮีได้ถูกปลูกฝังมาจากอดีต ที่ยังตราตรึงต่อผู้พบเห็นในปัจจุบันอีกอย่างคือ ความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ถึงแม้บ้านหนองฮีจะเป็นหมู่บ้านใหญ่ แยกออกเป็น ๔ หมู่ มีวัด ๓ วัด โรงเรียน ๒ โรงเรียน แต่ความสามัคคีของชาวบ้านจะแบ่งแยกกันก็หาไม่ เมื่อมีงานที่บ้านไหน ทุกหมู่ต่างต้องไปร่วมด้วยช่วยกันหาได้แบ่งแยกไม่ โครงการต่างๆ ที่ทางราชการจัดตั้งขึ้น ไม่ว่าโครงการสาธิตการตลาด ตลอดถึงโครงการอื่นๆ หลายโครงการ บ้านหนองฮีต้องถูกบรรจุชื่อเข้าไปแทบทุกโครงการ

    พ่อใหญ่ยศ มาภา อดีตสามเณรยศ เล่าว่า หลวงปู่กินรีท่านเป็นคนเคร่งครัดมาก โดยเฉพาะเรื่องอาบัติเล็กน้อย ท่านไม่มองข้าม เช่น การประเคนของ ถ้าวันไหนมีแต่ผู้หญิงมาวัดเพื่อถวายของ ท่านจะไม่รับเด็ดขาด แม้จะทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืนก็ทิ้งไป ทำให้แม่ออกเกรงท่านมาก วันๆ อย่าแม้แต่คิดที่จะทำตัวสนิทสนมกับท่าน แม้แต่ผู้เป็นมารดาบังเกิดเกล้าก็ไม่มีเว้น

    หลังจากท่านรักษาการสมภารได้ ๓ ปีก็ออกปฏิบัติต่อไป จะกลับมาบ้างก็ชั่วครั้งชั่วคราว จะจากบ้านแต่ละครั้ง โยมมารดาไม่เคยได้สั่งเสียทันทุกที เพราะท่านไม่เคยบอกล่วงหน้า และไม่ต้องการให้ใครติดตามด้วย แม้แต่สามเณรยศซึ่งเป็นหลานแท้ๆ ก่อนท่านออกไปธุดงค์ ท่านได้นำมาฝากไว้กับหลวงปู่วิเศษ ที่วัดป่าเมธาวิเวก ซึ่งหลวงปู่วิเศษท่านได้มาอยู่สืบต่อจากหลวงปู่โสม

    ปี พ.ศ.๒๔๗๗ ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ได้มีโอกาสมาแวะ และพักจำพรรษาที่วัดป่าเมธาวิเวก ครูบาอาจารย์เฒ่าถือได้ว่าเป็นบูรพาจารย์สำคัญ ของเหล่าอุบาสกอุบาสิกาบ้านหนองฮีอีกรูปหนึ่ง เพราะประเพณีอันดีงามและเด่นหลายอย่าง ที่ทำให้บ้านหนองฮีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นการตักบาตร ทุกเช้าชาวบ้านจะพร้อมกันออกทำบุญตักบาตร ไม่ว่าหญิงหรือชายจะนั่งลงเวลาจบข้าวใส่บาตร จะหงายมือใส่บาตร เวลาพระเณรเดินผ่านก็จะถอดรองเท้า ถอดหมวก นั่งลงพร้อมกับพนมมือจนกว่าพระเณรจะเดินพ้นไป

    เมื่อมาจำพรรษาที่วัดป่าเมธาวิเวก ในวันพระช่วงกลางพรรษา ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ ต้องการจัดให้มีการเทศน์ขึ้น แต่ทางวัดป่าเมธาวิเวกไม่มีสถานที่ เลยไปจัดเทศน์ที่วัดในบ้าน คือวัดดำรงค์เมธยาราม มีการเทศน์ตลอดคืน ญาติโยมพากันไปฟังเทศน์เป็นจำนวนมาก และไม่มีใครลุกก่อนที่จะมีการเทศน์จบ ตลอดคืน เมื่อญาติโยมง่วงนอน ครูบาอาจารย์เฒ่าจะขึ้นเทศน์แทนเพื่อให้ญาติโยมหายง่วง เมื่อหายง่วงแล้ว รูปอื่นจึงจะขึ้นเทศน์ต่อ

    สาเหตุที่ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์มาจำพรรษาที่วัดป่าเมธาวิเวก เพราะต้องการมาเยี่ยมญาติโยมของลูกศิษย์ คือหลวงปู่กินรี หลวงปู่กินก็ได้ไปกราบและปฏิบัติธรรมกับครูบาจารย์เฒ่าอยู่บ่อยๆ

    [​IMG]

    ในช่วงที่ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์มาจำพรรษานั้น หลวงปู่กินรีได้ออกธุดงค์ไปที่อื่นแล้ว เวลานั้นมีแม่ชีพักอยู่ที่วัดนั้น ๔ คน

    การเทศน์สอนคณะชีของครูบาอาจารย์เฒ่านั้น แม่ชีเลียนเล่าว่า

    ส่วนมากท่านจะสอนเน้นการปฏิบัติภาวนาให้รู้หน้าที่ของตนเอง

    "เฮาเป็นชีให้รู้จักหน้าที่เจ้าของ อย่าคิดจะไปฮั่นมานีคือผู้ชาย เขาเป็นหญิง หน้าที่ของเขาเก็บผักหักฟืน อุปัฏฐากอุปถัมภ์พระสงฆ์องค์เจ้า"

    ท่านจะไม่ให้โอกาสชีติดต่อกับพระสงฆ์ เท่าที่จำได้ในพรรษาที่ครูบาอาจารย์เฒ่ามาจำพรรษาที่บ้านหนองฮี ได้มีโอกาสตอบคำถามท่านประมาณ ๒ ครั้ง และไม่เคยพูดคุยกับท่าน หรือแม้กระทั่งพระเณรเลยแม้แต่ครั้งเดียว

    หลังจากที่พระเณรฉันเสร็จ จะแยกย้ายกันทำความเพียร เป็นโอกาสที่เหล่าแม่ชีจะได้มีโอกาสอุปัฏฐากสงฆ์คือ ตักน้ำใช้น้ำฉันให้เต็มตุ่มแล้วต้องรีบหนีไป กลัวจะเจอกับพระเณร แม้แต่การประเคนสิ่งของ หลวงปู่กินรีท่านก็ได้ฝึกไว้คือ ถ้ามีเฉพาะแม่ชีหรือผู้หญิง ท่านจะไม่รับสิ่งของนั้น แม้จะรับด้วยผ้าท่านก็ไม่ทำ

    แม่ชีสุวันดี (โยมแม่ของหลวงปู่กินรี) แม่ชีคำ แม่ชีเลียน (หลานของหลวงปู่กินรี) ผู้ได้มีโอกาสอุปัฏฐากและติดตามไปกราบครูบาอาจารย์เฒ่าในที่ต่างๆ หลายที่ เช่น บ้านชีทวน บ้านคุ้ม การไปมาสมัยก่อนยังไม่มีรถยนต์มาก ถนนจะมีเฉพาะทางเกวียน ในปีที่ครูบาอาจารย์เฒ่ามาจำพรรษามีพระเณร ๕-๖ รูป
    หลังจากออกพรรษาแล้ว ครูบาอาจารย์เฒ่าได้ออกธุดงค์ต่อไป และนานๆ จะมาแวะครั้งหนึ่ง จะมีแต่ครูบาอาจารย์ชา (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) เท่านั้นที่แวะมาเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์หลวงปู่กินรีบ่อยๆ การมาแต่ละครั้งท่านจะต้องนำของใช้ต่างๆ ไปให้

    ชีวิตชีสมัยก่อน ถึงเวลาตอนบ่าย ต้องตักน้ำใช้ ตักน้ำล้างเท้าถวายครูบาอาจารย์ การตักน้ำก็ตักตอนที่ครูบาอาจารย์ไม่อยู่ และจะไม่ได้พูดคุยกันกับครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ถามจะไม่พูดเด็ดขาด ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ท่านเน้นเรื่องนี้มาก บางครั้งครูบาอาจารย์ถาม ต้องรีบก้มหน้าพนมมือพูด โดยไม่มองหน้าท่าน
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ติดตามหลวงปู่เสาร์กลับมาตุภูมิ

    [​IMG]

    พ.ศ. ๒๔๗๘ ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์จำพรรษาอยู่ที่วัดห้วยศรีคูณ อำเภอนานนก จ.นครพนม ที่วัดนี้เองครูบาอาจารย์เฒ่าได้ผู้ที่สืบทอดพระศาสนาเพิ่ม คือ พระกิ โสธโร (ต่อมาได้ญัตติเป็นธรรมยุต เปลี่ยนฉายาเป็น ธมฺมุตตโม) โดยหลวงพ่อบุญมาก ฐิติปญฺโญ เป็นผู้นำไปฝากจากมาตุภูมิ บ้า้นหนองผำ เมืองจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

    ช่วงออกพรรษา หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ส่งข่าวให้ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์นำลูกศิษย์ไปรวมกันที่วัดศรีวันชัย เพื่อฉลองศาลาที่เพิ่งสร้างเสร็จ ซึ่งพระอาจารย์บุญมาและอาจารย์ยังเป็นผู้สร้างวัดนี้ โดยหลวงปู่เสาร์ได้ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ในราวเดือนธันวาคม เพื่อประชุมปรึกษาหารือ เกี่ยวกับการที่หลวงปู่เสาร์ มีความประสงค์จะกลับไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่บ้านเกิด คือบ้านข่าโคม อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพราะได้จากมานาน และยังไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับถิ่นมาตุภูมิเลย จึงได้ปรึกษาศิษยานุศิษย์ และมีข้อตกลงว่า หลวงปู่เสาร์ควรปรึกษากับท่านเจ้าคุณศาสนดิลก วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนารามในปัจจุบัน) และท่านเจ้าคุณศรีธรรมวงศาจารย์ วัดสุปัฎนารามก่อน

    หลวงปู่เสาร์จึงให้ลูกศิษย์ติดต่อโทรเลขเพื่อปรึกษาท่านเจ้าคุณทั้งสอง ซึ่งท่านเจ้าคุณทั้งสองก็เห็นดีด้วย และในช่วงเดือนสาม หลวงปู่เสาร์จึงได้ส่งข่าวให้ลูกศิษย์ที่กระจายอยู่ในสถานที่ต่างๆ ให้มารวมกันอีกครั้งหนึ่ง ที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน เพื่อร่วมประชุมปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งปกติทุกปีก็มีการเรียกประชุมในวันมาฆบูชาอยู่แล้ว
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สามีจิกรรมร่วมกันเป็นประจำทุกปี

    [​IMG]

    หลวงพ่ออวนเล่าว่า

    ในการประชุมกันที่วัดเกาะแก้วในปีพ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นปีสุดท้ายที่หลวงปู่เสาร์ท่านออกปฏิบัติศาสนกิจแถบอีสานตอนเหนือ หลังจากการประชุมแจกแจงแบ่งสายงานออกเผยแผ่แล้ว หลวงปู่เสาร์ได้ลงไปที่บ้านข่าโคมเลย ส่วนหลวงปู่มั่นจะทำหน้าที่อยู่เขตอีสานเหนือ เลยไปถึงภาคเหนือ

    ในปีนี้มีครูบาอาจารย์ทั้งลูกศิษย์มหานิกายและธรรมยุตมารวมประชุมกันเป็นจำนวนมาก หลวงพ่ออวนก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะนัดประชุมทุกปี ไม่ก่อนวันมาฆบูชาก็หลังวันมาฆบูชาเล็กน้อย จะมีที่ร่วมประชุมใหญ่ ที่วัดเกาะแก้ว ซึ่งไม่ห่างจากองค์พระธาตุพนมมากนัก หรือที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งทั้งสองวัดนี้ เป็นวัดที่บูรพาจารย์ทั้งสององค์เป็นผู้ดำริสร้าง
    หลวงพ่ออวนเล่าถึงสาเหตุของการดำริสร้างวัดเกาะแก้วอัมพวัน อาจจะเป็นเพราะว่า ที่แห่งนี้อยู่ใกล้ชุมชน และเป็นศูนย์กลางที่ลูกศิษย์ลูกหาจะไปมาสะดวก ประกอบกับเมื่อมีการรวมกันแต่ละครั้ง จะมีพระภิกษุสามเณรมารวมกันเป็นจำนวนมาก การขบฉันต้องอาศัยชุมชนบิณฑบาตเป็นหลัก

    บางทีถ้ามีญาติโยมมารวมกันมาก ท่านจะมีการเทศนาให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง หลังจากร่วมประชุมกันเสร็จเป็นเวลาค่ำคืน บางปีจะมีการเทศน์ตลอดคืน จะเปลี่ยนองค์เทศน์ไปเรื่อยๆ โดยจะมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์เสาร์ ครูบาอาจารย์มั่นเป็นหลัก ถ้ารู้สึกว่าดึกหน่อย ญาติโยมเริ่มมีอาการง่วง ก็จะนิมนต์ครูบาอาจารย์เฒ่าขึ้นเทศน์ เพราะท่วงทำนองการเทศน์ของท่านเสียงดังฟังชัด ท่านมีมุกที่ทำให้ญาติโยมตื่นตัวได้ จะหมุนเวียนกันขึ้นเทศน์ โดยการเทศน์แต่ละองค์จะเทศน์จากประสบการณ์ที่ได้ประพฤติปฏิบัติมา

    หลวงพ่อกิ เล่าว่า หลวงปู่เสาร์ได้สั่งให้ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ไปจำพรรษาที่บ้านชีทวน โดยส่งว่า

    "ท่านทองรัตน์ ปีนี้ให้ไปจำพรรษาอยู่บ้านชีทวน บ้านชีทวนผมเคยไปอยู่ เป็นที่สำคัญที่หนึ่ง เป็นที่ๆ มีคนมีความรู้ความฉลาดหลาย คนดีก็มีหลาย คนขี้ฮ้ายกะมีมาก ผู้อื่นไปอยู่ไม่ได้ ส่วนผมจะไปจำอยู่บ้านข่าโคมซึ่งเป็นบ้านเกิด และถ้าไปถึงให้ไปรวมกันที่วัดบูรพารามในเมืองอุบลฯ ก่อน"

    เมื่อตกลงกันได้แล้ว ก็แยกย้ายกันเดินธุดงค์ลงมาเมืองอุบลราชธานีเป็นหมู่คณะ ๕ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง ส่วนครูบาอาจารย์กิมากับครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ ได้เดินมาสองรูป

    เมื่อถึงวัดบูรพารามแล้ว หลวงปู่เสาร์ได้แบ่งสายอีกทีหนึ่ง ให้ครูบาอาจารย์ดีจำพรรษาที่บ้านกุดแห่ ครูบาอาจารย์ทองอยู่บ้านสวนงัว ครูบาอาจารย์บุญมากอยู่วัดป่าเรไรบ้านท่าศาลา หลวงปู่เสาร์อยู่บ้านข่าโคม ส่วนครูบาอาจารย์ทองรัตน์อยู่ที่บ้านชีทวน

    พ่อใหญ่จารย์เพ็ง คำพิพาก (หลานหลวงปู่เสาร์) ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า

    ได้บวชเป็นสามเณรในสำนักของหลวงปู่เสาร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งเป็นพรรษาแรกที่หลวงปู่เสาร์ได้พาพระเณรกลับมาตุภูมิ ได้บวชเป็นพระระหว่างปี ๒๔๘๐ – ๒๔๙๐ ได้อาศัยแนวการประพฤติปฏิบัติที่ได้รับจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์จึงได้มีความเข้าใจ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเพศนักบวช แต่ด้านการประพฤติปฏิบัติก็ไม่เคยทิ้ง เพราะมีลูกหลานอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ทุกวันจะปฏิบัติเป็นส่วนตัว จะออกมาเฉพาะเวลารับประทานอาหารเท่านั้น รู้ตัวดีว่าตัวเองนี้มีโอกาสน้อย จะประมาทไม่ได้แล้ว และมีความคิดว่า

    "ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัดเสมอไป หากแต่อยู่ที่เจ้าของ อยู่ที่ทุกคนที่รู้จักธรรมะ"

    และเล่าต่อไปว่า หลังจากครูบาอาจารย์เสาร์ได้ออกปฏิบัติศาสนกิจตามจังหวัดต่างๆ แล้ว บั้นปลายชีวิตจึงได้กลับมาที่บ้านเกิด และมาตั้งวัดป่าหนองอ้อ บ้านข่าโคม วัดป่าหนองอ้อเดิมเป็นสนม (ดินหล่ม) มีหนองน้ำเป็นหย่อมเหมือนปัจจุบัน และเป็นป่าดอนเจ้าปู่ ของบ้านข่าโคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

    เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงปู่เสาร์ได้ธุดงค์มาจากวัดบูรพารามในตัวเมืองอุบลฯ พร้อมกับครูบาอาจารย์ทองรัตน์และพระเณร ได้มาที่บ้านข่าโคม อยู่ได้ระยะหนึ่ง หลวงปู่เสาร์ได้ไปกรุงเทพฯ เพื่อไปฝากสามเณรพุธ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาละวัน ให้เรียนหนังสือกับเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) วัดสระปทุม ขณะนั้นองค์ท่านหลวงปู่เสาร์ชราภาพมากแล้ว ต้องถือไม้เท้าไป

    เมื่อหลวงปู่เสาร์เข้ากรุงเทพฯ เจ้าจอมมารดาทับทิมซึ่งกำลังประชวรอยู่ ได้ให้คนมานิมนต์หลวงปู่เข้าวังเพื่อเทศน์โปรด เพราะทราบกิตติศัพท์ของหลวงปู่เสาร์จากสามเณรนาค ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่รูปหนึ่ง ซึ่งเจ้าจอมฯ อุปถัมภ์ในการบวชพระ และเจ้าจอมได้เป็นผู้อุปถัมภ์วัดป่าหนองอ้อ บ้านขาโคม เรื่อยมา

    เมื่อออกพรรษาแล้ว วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปี ๒๔๘๐ คณะเจ้าจอมฯ มีผู้ติดตามเช่น คุณหวัด คุณนายชม คุณนายพริ้ง เป็นต้น พร้อมทั้ง พระนาค พระมหาสมบูรณ์ ได้นำกฐินมาจอดที่วัดป่าหนองอ้อ และเจ้าจอมฯได้อุปถัมภ์ในการอุปสมบทให้แก่สามเณรเพ็ง คำพิพาก อีกรูปหนึ่งในวันนั้นด้วย

    [​IMG]
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    บ้านชีทวน

    พ่อใหญ่กัณหา สุทธิพันธ์เล่าว่า

    พ่อใหญ่พร้อมกับญาติโยมบ้านชีทวน เมื่อทราบว่าหลวงปู่เสาร์กลับมาพำนักที่บ้านข่าโคม จึงได้ร่วมกันนำผ้าไหมไปถวายหลวงปู่เสาร์เพื่อบังสุกุลเย็บจีวร
    เมื่อทำพิธีเสร็จ ได้กราบอาราธนานิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษาที่บ้านชีทวนอีก
    ครั้งหนึ่ง เพราะแต่ก่อนท่านเคยธุดงค์ไปพำนักและสั่งสอนที่บ้านชีทวน จนญาติโยมส่วนใหญ่เข้าใจแนวทางการปฏิบัติ ต่อมาท่านได้ออกธุดงค์ไปตามทิศต่างๆ วัดนั้นจึงว่างจากพระกรรมฐานไปนาน ในสมัยก่อนการจะหาพระปฏิบัติกรรมฐานนี้ยากมาก บางหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเห็นพระกรรมฐานต่างก็กลัวกัน หลบเข้าป่าไปคนละทิศละทาง เข้าไปบิณฑบาตในบางหมู่บ้านแทบจะไม่ได้ข้าวฉัน เพราะคนกลัวพระกรรมฐาน

    หลวงปู่เสาร์ เมื่อเห็นญาติโยมยังให้ความศรัทธา ที่จะนำข้อประพฤติปฏิบัติไปใช้ เพื่อพัฒนาตนเอง จึงได้บอกญาติโยมไปว่า ถ้าจะให้ท่านไปจำพรรษาที่บ้านชีทวนท่านไปไม่ได้ เพราะรับนิมนต์ญาติโยมทางบ้านข่าโคมไว้แล้ว

    ญาติโยมที่มีศรัทธาเป็นทุนอยู่เดิมแล้ว ได้พยายามกราบอ้อนวอนทุกวิถีทางที่จะนิมนต์พระกรรมฐานไปเป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ หรือท่านอาจจะหยั่งดูความศรัทธาของญาติโยมก็ยากที่จะเดาได้ จึงไม่บอกรับง่ายๆ เมื่อทราบแน่ว่าความศรัทธาในพระศาสนาของญาติโยมที่บ้านชีทวนยังแน่นแฟ้นดี จึงให้ความหวังกับพ่อใหญ่กัณหาและญาติโยมที่ไปด้วยกันว่า

    "ถ้าจะเอาพระไปเดี๋ยวนี้ ยังไม่ได้ เพราะพระยังไม่มา"

    ญาติโยมก็เห็นพระมีตั้งเยอะตั้งแยะ ทำไมหลวงปู่จึงบอกว่ายังไม่มา ญาติโยมกลัวว่าจะไม่ได้พระเณรไปจำพรรษา ซึ่งเหลือเวลาเพียง ๓ วันก็จะเข้าพรรษาแล้ว ได้ถามหลวงปู่ไปว่า

    "หลวงปู่ขะน้อย พระอยู่ในวัดมีหลายองค์อยู่ แบ่งให้ไปก่อนบ่ได้บ้อขะน้อย"

    หลวงปู่ได้บอกปฏิเสธและบอกว่า

    "บ้านชีทวนเป็นบ้านเจ้าคัมภีร์ใหญ่ ถ้าให้พระที่มีภูมิจิตภูมิธรรมไม่แก่กล้าพอ เกรงว่าจะเอาไม่อยู่ ให้รออีกสัก ๒ วัน ท่านจึงจะมาถึง"

    ในช่วงนั้นครูบาอาจารย์เฒ่าไม่ทราบว่าไปธุระที่ไหน ญาติโยมเมื่อได้ยินหลวงปู่เสาร์รับปากว่าจะให้พระไปจำพรรษาด้วย แม้ว่าเป็นเวลาที่ใกล้จะเข้าพรรษาเต็มที ต่างพากันดีอกดีใจ และลาท่านกลับบ้าน

    ทุกคนได้ตั้งความหวังและดีใจกันเป็นที่สุด ที่จะได้พระกรรมฐานไปจำพรรษาใกล้บ้าน เมื่อกลับถึงบ้าน ต่างก็จัดสถานที่ ซ่อมแซมกุฏิวิหาร ทำความสะอาดวัดให้เป็นที่รื่นรมย์เหมาะแก่การพำนักของแขกสำคัญที่จะมาพักด้วย

    เมื่อครบ ๒ วัน ญาติโยมบ้านชีทวนต่างมุ่งหน้าไปยังบ้านข่าโคมพร้อมภัตตาหาร ต่างออกเดินทางแต่เช้ามืด เมื่อไปถึงและได้ถวายภัตตาหารแล้ว จึงได้กราบเรียนถามถึงพระที่จะรับไปจำพรรษาที่บ้านชีทวน
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ได้รับมอบหมายให้ไปจำพรรษาที่บ้านชีทวน

    หลวงปู่เสาร์จึงบอกว่า

    "นั่น พระที่ท่านจะไปจำพรรษากับพวกเจ้า"

    หลวงปู่เสาร์ชี้ไปทางครูบาอาจารย์เฒ่า ญาติโยมรู้สึกพอใจ ที่หลวงปู่เสาร์ท่านได้จัดพระให้ ถึงแม้ไม่ใช่หลวงปู่เสาร์ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ และกราบนิมนต์ครูบาอาจารย์เฒ่า เพื่อเดินทางไปจำพรรษาที่บ้านชีทวนพร้อมพระอีก ๓ รูป

    ในระหว่างที่จำพรรษาที่บ้านชีทวนนั่นเอง ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ต้องเจออุปสรรคปัญหาหลายประการ อย่างที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์เสาร์ท่านบอกไว้ก่อนมาไม่มีผิด พ่อใหญ่กันหา โยมอุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดได้เล่าให้ฟังว่า

    "ปัญหาแต่ละอย่าง ถ้าไม่ใช่ครูบาอาจารย์ทองรัตน์คงจะอยู่ไม่ได้ เพราะมันหนักและยุ่งยากมากในการแก้ทิฐิคน"

    ปัญหาอันดับแรก เช่น เมื่อกราบอาราธนาท่านไปจำพรรษา โยมก็ได้แบ่งแยกกันเป็นสองฝ่าย

    ฝ่ายหนึ่งบอกว่า

    "เป็นพระเป็นเจ้าไปอยู่ป่า นั่งหลับหูหลับตาสิเห็นหยัง แม้แต่คนตาดีๆ มืนตาเบิ่ง มันยั๋งบ่เห็น" (เป็นพระเป็นเจ้าอยู่ในป่า นั่งหลับหูหลับตามันจะเห็นอะไร แม้แต่คนตาดีๆ ลืมตาดูมันยังไม่เห็น)

    ส่วนอีกฝ่ายก็บอกว่า

    "ซ่างเขา คนเขาเว่า เขาบ่เห็นนำเฮา" (ช่างเขา คนเขาพูดเขาไม่เห็นกับเรา)

    พวกผู้หญิงชอบเอาครุ (ถังน้ำสานด้วยไม้ไผ่พอกด้วยชัน) ไปตักน้ำในบ่อของวัดป่า ครูบาอาจารย์ก็บอกว่า

    "แม่เอ๊ย อย่าเอาครุลงตักน้ำในส้าง (บ่อน้ำ) เด้อ ให้เอาครุที่ลูกหาให้นั้นตัก"

    พวกโยมที่เป็นปฏิปักษ์ท่าน หาว่าครูบาอาจารย์เฒ่าหวงน้ำ โยมอุปัฏฐากก็ได้ถามครูบาอาจารย์ว่า

    "เป็นหยัง ครูบาจารย์จั๋งห่ามแนวนั่น หรือแพงน้ำบ่" (ทำไมพระอาจารย์จึงห้ามเอาถังลงตักน้ำในบ่อ หรือว่าหวงน้ำรึ)

    ได้รับคำตอบเป็นที่พอใจว่า

    "เมื่อพวกแม่ เอาครุคาวปูคาวปลาตักน้ำ เมื่อพระเจ้าพระสงฆ์ไปตักน้ำนั้นมากินมาฉัน พระนั่น เพิ่นกะเป็นอาบัติตั๋วพ่อ" (พวกผู้หญิงเอาครุที่มีคาวปูคาวปลาติดอยู่มาใช้ตักน้ำ คาวปูคาวปลาก็จะปนลงไปในน้ำบ่อ เมื่อพระนำเอาน้ำดังกล่าวมากินมาฉัน ก็จะเป็นอาบัติโดยไม่รู้ตัว)

    อดีตพ่อกำนันใจ เชื้อปทุม บ้านชีทวน เล่าว่า ครูบาอาจารย์จะใช้สรรพนามแทนตัวว่า "ลูก" จะพูดกับญาติโยมทั้งผู้หญิงผู้ชายว่า "พ่อ" "แม่" หมดทุกคน และเคยถามท่านเป็นการส่วนตัว ท่านได้ให้คำตอบว่า

    "ที่ใช้คำพูดอย่างนั้น ต้องการหัดให้ลูกเขา รู้จักพูดกับพ่อแม่ ด้วยคำพูดที่สุภาพ"

    น่าจะเป็นไปได้ที่เด็กสมัยก่อน เวลาพูดกับผู้ใหญ่มักพูดใช้นำหน้าสรรพนามว่า
    "อี" เช่น อีพ่อ อีแม่ พี่ชายก็ "บัก" พี่สาวก็ "ไอ้นั่น ไอ้นี่" ซึ่งฟังดูแล้วไม่สุภาพ
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ต้องยกให้ทองรัตน์

    หลังจากได้มอบหมายให้ไปจำพรรษาที่บ้านชีทวนแล้ว ก่อนไปหลวงปู่เสาร์ได้สั่งกำชับว่า บ้านชีทวนนี้เป็นบ้านที่มีการศึกษามาก เป็นมหาก็เยอะ เรื่องที่จะไปพูดเฉยๆ ไม่มีอุบาย จึงยากที่คนเหล่านั้นจะเชื่อ เคยส่งพระไปหลายรูปแล้ว ต้องหันหลังกลับอย่างไม่เป็นท่าเพราะถูกลองภูมิ แม้แต่หลวงปู่เสาร์สมัยที่ไปสร้างวัดใหม่ๆ ยังเคยถูกลองดีมาแล้ว หลวงปู่เสาร์ได้บอกว่า

    "ถ้าบ่แม่นท่านทองรัตน์ บ่มีไผสิเอาอยู่" (ถ้าไม่ใช่ท่านทองรัตน์แล้ว ไม่มีใครสอนคนบ้านนี้ได้)

    ในช่วงที่มาพักกันในแถบนี้ มีหลวงปู่เสาร์อยู่บ้านข่าโคม ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์อยู่บ้านชีทวน ครูบาอาจารย์บุญมากอยู่บ้านท่าศาลา วัดป่าเรไร ครูบาอาจารย์ทอง อยู่บ้านสวนงัว

    ในพรรษาลูกศิษย์ทั้งมหานิกายและธรรมยุตนิกายที่ไปจำพรรษาอยู่วัดต่างๆ ต่างก็มาลงอุโบสถร่วมกันที่วัดป่าหนองอ้อ ต่อมาพระผู้ใหญ่ทางเมืองหลวงทราบข่าวว่า มีพระธรรมยุตกับมหานิกายร่วมลงอุโบสถกัน จึงได้แจ้งมายังหลวงปู่เสาร์ ให้พระทั้งสองนิกายงดลงอุโบสถร่วมกัน หลวงปู่เสาร์เลยบอกว่า ถ้าทางการเขาไม่ให้รวม ก็ให้ลูกศิษย์แต่ละวัดลงอุโบสถกันเอง เมื่อมีงานจึงมาร่วมปรึกษาประชุมกัน

    [​IMG]

    โยมบ้านชีทวนในสมัยนั้น หาผู้ที่เห็นความดีครูบาอาจารย์เฒ่าท่านยากมาก เพราะครูบาอาจารย์เฒ่า ท่านจะสอนทุกวิถีทาง ที่จะให้โยมรู้จักการทำบุญทำทาน เช่น บ้านไหนที่เตรียมจะใส่บาตรแล้วลืมมองดูพระ ท่านก็จะยืนรอ แล้วร้องบอกให้มาใส่บาตร และรอจนโยมคนนั้นมาใส่บาตร ท่านจึงจะไปรับบาตรบ้านหลังอื่น ท่านจะไม่ถือโทษโกรธเคือง เมื่อไปบิณฑบาต ท่านจะทำความคุ้นเคยกับญาติโยมทุกคน แม้แต่วันไหนฝนตก ท่านก็บอกว่า

    "แม่ไม่ต้องลงมาจากบ้านหรอก มันเปียก ลูกจะไปรับเอง"

    จนบางคนคิดรังเกียจท่าน หาว่าเป็นพระเป็นเจ้าทำตัวประจบญาติโยม แต่ท่านไม่เดือดร้อนแต่อย่างไรถ้าบ้านไหนไม่เคยใส่บาตร ท่านก็พยายามให้โยมคนนั้นใส่จนได้

    บางครั้งเห็นกล้วยสุกอยู่บนต้น ท่านก็พูดกับโยมว่า

    "แม่! กล้วยมันสุกคาเครือ บ่อยากได้บุญบ้อ คันอยากได๋กะเอามาใส่บาตรตี้" (แม่! เห็นกล้วยสุกอยู่บนต้น ไม่อยากได้บุญบ้างหรือ ถ้าอยากได้ก็เอามาใส่บาตรบ้างสิ)

    ท่านยืนรอจนโยมนำกล้วยมาใส่บาตร เมื่อถึงวัดท่านก็ไม่ฉัน ถือว่าของนั้นได้มาไม่บริสุทธิ์ขัดต่อธรรมวินัย แต่ที่ทำไปเพื่อสอนให้คนรู้จักเสียสละ
    มีโยมบางคนเห็นท่านไปที่บ้านทุกวันก็บอกว่า

    "ข้าวยังไม่สุก"

    วันต่อมาท่านได้แบกฟืนไปให้พร้อมทั้งพูดว่า

    "เอ้า! แม่ฟ้าวเร่งไฟเข้า ลูกสิท่า" (เอ้า! แม่รีบเร่งไฟเข้า ลูกจะรอ)
    ท่านรอจนข้าวสุก โยมนำมาใส่บาตรแล้วท่านจึงไป กลับมาถึงวัดท่านก็เอาออก ไม่ฉัน

    แม่ชีเลียนเล่าว่า

    แม่ชีคำที่เคยประพฤติปฏิบัติร่วมกันที่บ้านหนองฮีและได้มีโอกาสติดตามไปกราบครูบาอาจารย์เฒ่าในที่ต่างๆ เล่าให้ฟังว่า

    บางครั้ง ถ้าบ้านไหนไม่เคยเข้าวัดให้ทานเลย ครูบาอาจารย์เฒ่าท่านจะสั่งให้แม่ชีไปขอเอาอะไรก็ได้ หมากพลู บุหรี่ ตามแต่จะให้ พอได้มา จะไม่ใช้ประโยชน์จากของที่ได้มาจากการร้องขอ

    การกระทำดังกล่าว ทำให้โยมบางคนที่ไม่เข้าใจ ต่างก็แกล้งหาเรื่องใส่ท่านต่างๆ นานา บางครั้งเมื่อท่านออกไปบิณฑบาตก็พูดใส่ท่านว่า ท่านทำตัวไม่เหมาะสม แต่ท่านไม่สนใจ บางคนทนไม่ได้จริงๆ ถึงกับเอาค้อนตอกสิ่วใส่บาตรให้ท่าน เมื่อไปถึงวัด ท่านพูดกับพระเณรว่า

    "โยมเขาคิดว่าทางวัดป่าบ่มีค้อนตอกสิ่ว เขาเลยใส่บาตรให้"
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ได้อาหารประหลาด

    [​IMG]

    ทุกวัน ครูบาอาจารย์เฒ่าท่านก็บิณฑบาตตามปกติ เหมือนไม่มีอะไร หลายวันต่อมา โยมคนนั้นทำทีมาใส่บาตรเหมือนเดิม มีข้าวและห่อใบตองกล้วยอย่างดี ห่อใหญ่เป็นพิเศษ

    ขากลับวัด ครูบาอาจารย์เฒ่าก็ได้พูดกับพระเณรว่า โยมคนที่เอาค้อนตอกสิ่วใส่บาตรให้ วันนี้เขาเอาอะไรหนอใส่บาตรให้ ห่อใหญ่ผิดปกติ

    เมื่อไปถึงวัด ทุกวันครูบาอาจารย์เฒ่าจะจัดอาหารออกจากบาตร ถ้ามีอาหารส่วนไหนที่ว่าไม่ถูกตามธรรมวินัย เช่น ของนั้นเอ่ยปากขอมา อาหารดิบ ท่านจะเลือกออกไม่ฉัน เมื่อเลือกเสร็จจะแบ่งให้พระเณรได้ฉันทุกรูป

    วันนี้ก็เช่นกัน ท่านเลือกอาหารเสร็จ จะแกะอาหารแบ่งแจกพระเณร แต่ผิดสังเกตว่าวันนี้ได้ห่อใบตองซึ่งห่อใหญ่ผิดปกติ ประกอบกับโยมคนนี้ได้ต่อว่าท่านหลายครั้งแล้ว ท่านเลยค่อย ๆ แกะไม้กลัดห่อใบตองนั้นออก

    ทันใดนั้น สิ่งที่ไม่คาดว่าจะเป็นไปได้ก็เป็นไปได้ เมื่ออาหารประหลาดมีสี่ขากระโดดออกมาจากห่ออย่างรวดเร็ว

    ด้วยความว่องไวเป็นทุนเดิมของครูบาอาจารย์เฒ่า ท่านรีบตะครุบอาหารประหลาดนั้นไว้ได้พร้อมกับพูดว่า

    "เอ้อ สะมามัวเขาบ่ใส่บาตรให้พ่อน้อเจ้าน้อ เกือบเจ้าไปเข่าหม้อต้มเขาแล้วน้อ" (หากว่าเขาไม่เอาเจ้าใส่บาตรพ่อนะ เจ้าคงจะเข้าหม้อให้เขาต้มเสียแล้ว)
    เสร็จแล้วให้สามเณรนำอาหารประหลาด คือกบนั้นไปปล่อย
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ตัวโลกธรรม

    วันต่อมา ท่านออกบิณฑบาตตามปกติ ไม่ผิดสังเกตอะไร โยมคนที่ใส่กบให้ท่านเมื่อวานนี้ก็มายืนมองท่านด้วยอาการขำขำ แต่ท่านทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และต่อมาเมื่อท่านออกไปรับบิณฑบาตตอนเช้า ได้มีคนเขียนบัตรสนเท่ห์ใส่บาตรท่าน เมื่อกลับถึงวัด ท่านได้ห่มจีวรพาดสังฆาฏิอย่างดี เอาบัตรสนเท่ห์นั้นให้พระเณรอ่านว่า

    "เอ้า ลูกอ่าน อมฤตธรรมแน่นี่ เทวดาเขาใส่บาตรมา หาฟังยากตั๋ว"

    พระเณรได้อ่านไป ตัวท่านได้พนมมือฟังไป ใจความมีว่า

    "พระผีบ้า เป็นพระเป็นเจ้า ไม่มีสำรวม ไม่มีศีล ไม่มีวินัย ประจบสอพลอขอของจากชาวบ้าน พระแบบนี้ถึงจะเหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ไม่นับถือเป็นพระ ให้รีบออกจากวัดไป ถ้าไม่ไปจะเอาลูกตะกั่วมาฝาก"

    พอพระเณรอ่านจบ ท่านได้พนมมือสาธุจนพระเณรได้ยินทุกรูป และท่านได้พูดว่า

    "เอาเก็บไว้ใต้แท่นพระบูชาเด้อ โลกธรรมแปดมันนี่เองแต่ก่อนได้ยินแต่ชื่อว่า มีลาภ - เสื่อมลาภ มียศ - เสื่อมยศ มีสรรเสริญ - มีนินทา มีสุข - มีทุกข์ โอ๊ยของดีตั๋วนี่ สาธุ...พ่อได้ฟังแล้วแก่นธรรมเพิ่งมามื่อนี่ (วันนี้) เอง เก็บไว้เก็บไว้"

    วันต่อมาท่านได้ออกบิณฑบาตเหมือนเดิม โยมที่เอาบัตรสนเท่ห์ใส่บาตรเมื่อวาน ยืนยิ้มหน้ารั้วบ้านที่ท่านเดินผ่าน พระเณรสังเกตดูอาการท่าน ก็ไม่เห็นอาการโกรธเคืองโยมคนนั้นแต่อย่างใด
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    น้ำตาผู้เห็นผิด


    ๒-๓ วันต่อมา ครอบครัวของโยมคนนั้น เกิดความวุ่นวายขึ้น ทั้งตบทั้งตีกัน จนในที่สุดโยมคนนั้นเกิดเป็นบ้าขึ้น อยู่บ้านก็หวาดระแวงว่าจะมีคนมาฆ่า ต้องไปหลบซ่อนอยู่ในป่า ถึงญาติพี่น้องจะตามไปเกลี้ยกล่อมอย่างไร ก็ไม่ยอมกลับบ้าน พูดได้คำเดียวว่ากลัวคนจะมาฆ่า

    สุดท้ายญาติพี่น้องต้องนำขันดอกไม้มาขอขมาต่อครูบาอาจารย์เฒ่า ถึงท่านจะบอกว่าไม่ได้ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน แต่ญาติของโยมคนนั้นก็ไม่เชื่อ ผลสุดท้ายครูบาอาจารย์เฒ่าจึงได้โอกาสเทศนาให้ฟังถึงโทษและกรรมต่างๆ ที่ใส่ร้ายคนอื่น แล้วบอกให้ญาติของโยมคนนั้นกลับ

    พอกลับไปถึงบ้าน โยมคนที่ใส่ร้ายท่านก็มีอาการปกติดี

    ชาวบ้านทนดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์เฒ่าท่านถูกแกล้งไม่ไหว จึงได้ถามท่านว่า

    "ขอโอกาสขะน้อย ครูบาจารย์บ่เคียด บ่ขมเขาบ้อ ที่เขาแกล้งทุกมื่อทุกเว่น แม้นขะน้อยสิหนีมันแต่ดน บ่อยู่ให้เขาแกล้งดนปานนี้ดอก" (ขอโอกาสครับ ครูบาจารย์ไม่โกรธเขาเหรอที่เขาแกล้งต่างๆ ทุกวี่ทุกวัน ถ้าเป็นกระผมจะหนีไปนานแล้ว ไม่อยู่ให้เขาย่ำยีนานขนาดนี้หรอก)

    และท่านได้พูดว่า

    "ท่าไทบ้านชีทวนบ่ไห้นำ สิบ่หนี" (ถ้าชาวบ้านชีทวนไม่ร้องไห้ตาม จะไม่ยอมหนี)
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    จ้องจับมาตั้ง ๓ ปี

    การที่คนมีการศึกษามาก แต่ไม่เข้าใจในการศึกษาอย่างถ่องแท้ ความรู้ที่เรียนมานั้น อาจจะกลายเป็นอาวุธห้ำหั่นตนเอง หลังจากที่ครูบาอาจารย์เฒ่าได้รับคำบัญชาจากหลวงปู่เสาร์ ให้ไปจำพรรษาที่บ้านชีทวนแล้ว ครูบาอาจารย์เฒ่าได้พยายามอย่างยิ่ง ที่จะทำให้คนมองดูตนเองให้เห็น บางครั้งต้องเอาความกล้าหาญ เข้าแลกกับความเห็นผิด บางครั้งก็เอาชีวิตของตัวเอง เข้าแลกกับความถูกต้องก็ยอม

    ทั้งพระทั้งโยมที่ไม่เข้าใจท่าน ต่างต้องหาความผิดจากท่านให้ได้

    มีพระอาจารย์รูปหนึ่งชื่อ อาจารย์สี ท่านเป็นคนเคร่งวินัยมาก ที่มาอยู่กับครูบาอาจารย์เฒ่า ก็มาเพื่อจะมาหาเรื่องจับผิดครูบาอาจารย์เฒ่า และตลอดเวลาที่อยู่กับครูบาอาจารย์เฒ่ามา ๓ ปี ก็หาข้อจับผิดไม่ได้

    มีอยู่วันหนึ่ง ครูบาอาจารย์เฒ่าเห็นอาจารย์สีท่านนั่งอยู่ใกล้พอจะมองเห็นรางปัสสาวะ ครูบาอาจารย์เฒ่าแกล้งเดินไปปัสสาวะ และบ้วนน้ำลายลงในรางปัสสาวะ บังเอิญอาจารย์สีซึ่งจ้องจะจับผิดครูบาอาจารย์เฒ่าอยู่แล้ว เลยรีบเดินไปต่อว่าครูบาจารย์เฒ่าว่า

    "ไหนว่าเคร่งวินัย ทำไมถึงบ้วนน้ำลายลงรางปัสสาวะ ไม่รู้หรือว่ามันผิดวินัย"
    ครูบาอาจารย์เฒ่าเลยตอบไปว่า

    "ผมสงสารท่าน ที่มาคอยจับผิดผมตั้ง ๓ ปี ถ้าว่าผมผิด ท่านซ่อนอะไรไว้ใต้อาสนะนั่ง ท่าน ท่านไม่รู้หรือว่า ศัสตรานั้นมันคู่ควรกับสมณะหรือเปล่า"

    อาจารย์สีเมื่อได้ฟังอย่างนั้นถึงกับหน้าเปลี่ยนสี ด้วยคิดไม่ถึงว่าครูบาอาจารย์เฒ่าท่านจะรู้ว่าตนเองซ่อนมีดไว้ใต้อาสนะ
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ภิกขุคือผู้ขอ

    [​IMG]

    ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ต้องเอาด้วยกล เมื่อความไม่พอใจได้ระอุขึ้นคนแล้วคนเล่า จนเรื่องได้ไปถึงฝ่ายปกครองเบื้องสูง และได้ลงมาตัดสินด้วยตนเอง พระบางรูปได้พูดถึงการประพฤติตัวไม่เหมาะสมต่างๆ นานาของหลวงปู่เฒ่า บ้างก็บอกว่าทำตัวไม่เหมาะสม เพราะไปขอของชาวบ้าน บ้างก็ว่าเวลาเข้าไปในบ้านไม่สำรวม

    พระมหาเถระฝ่ายปกครองก็ได้ถามแต่ละข้อที่ว่ามาว่า

    "ถูกไหม"

    ครูบาอาจารย์เฒ่าได้พนมมือตอบ

    "โดย ขะน้อย" (ถูกขอรับ) ทุกคำถาม

    เมื่อจบแล้วได้ถามครูบาอาจารย์เฒ่าว่า

    "เมื่อเป็นอย่างนี้ จะมีข้อแก้ตัวอย่างไร ท่านทองรัตน์"

    ครูบาอาจารย์เฒ่าตอบว่า

    "ภิกขุคือใคร ถ้าแปลออกมาก็คือ ผู้ขอ ไม่ใช่หรือ ที่ขอก็เพราะไม่มี ถึงขอ ถ้าไม่ขอก็หาอยู่หากินเอง เขาก็เรียกคฤหัสถ์ญาติโยมเท่านั้นแหละ ถ้าว่าการกระทำของกระผมผิด จะฆ่าจะแกงกระผมก็ยอม"

    ทุกรูปที่ประชุมต่างก็อึ้ง ไม่มีใครพูดอะไรอีก เพราะมองไม่เห็นความผิดที่ครูบาอาจารย์เฒ่าทำ
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    โจรกลับใจ

    ในระยะต่อมา ชาวบ้านที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับท่าน เริ่มเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ เริ่มเห็นความดีของท่าน ครั้งหนึ่งท่านได้พูดให้ชาวบ้านฟังว่า เมื่อคืนได้นิมิตเห็นหญิงตายท้องกลมอุ้มลูกมาหาท่านเพื่อขอส่วนบุญจากท่าน ให้ท่านช่วยบอกญาติทำบุญอุทิศให้ด้วย

    ท่านเล่าว่า ได้ถามไปว่า

    "มึงเป็นเผดมานี่จั๊กปีแล้ว" (แกเป็นเปรตมาแล้วกี่ปี)

    หญิงนั้นได้พาลูกนั่งพนมมือตอบครูบาอาจารย์เฒ่าว่า

    "ผู้ข่าได้แต่งงานอยู่กินกับอ้ายคำหล้าจนมีท้อง แล้วได้ตายลงในขณะลูกอยู่ในท้อง และอ้ายคำหล้าเผิ่นไปเอาเมียใหม่อยู่บ้านหัวดอน บ่มีไผเฮ็ดบุญให้ผู้ข่า ขอฝากหลวงปู่ได้บอกพี่น้องของผู้ข่าแน่" (ดิฉันได้แต่งงานอยู่กินกับพี่คำหล้าจนตั้งท้อง และได้ตายลงในขณะที่ลูกอยู่ในท้อง และพี่คำหล้าเขาไปมีเมียใหม่ที่บ้านหัวดอน ไม่มีใครทำบุญอุทิศให้ดิฉันเลย ดิฉันขอฝากหลวงปู่ได้โปรดบอกญาติของดิฉันให้ทราบด้วย)

    เมื่อครูบาอาจารย์เฒ่าเล่าเรื่องดังกล่าวให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านก็ว่าเป็นจริงดังหญิงเปรตนั้นพูด คือหลังจากเมียนายคำหล้าตายท้องกลม นายคำหล้าก็ได้มีเมียใหม่ที่บ้านหัวดอน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านชีทวน

    หลังจากชาวบ้านบางคนได้กลั่นแกล้งครูบาอาจารย์เฒ่าแล้วกลายเป็นบ้า บางครั้งก็มีการล้มตายโดยไม่มีสาเหตุติดต่อกัน บางครั้งคนในครอบครัวอยู่ดีๆ เกิดมีปากเสียงกันขึ้น ทั้งที่ไม่เคยมีเรื่องมีราวกันมาก่อน เรื่องประเภทนี้ ได้เกิดขึ้นกับคนที่แกล้งครูบาอาจารย์เฒ่ามากขึ้นเรื่อยๆ จนชาวบ้านในละแวกนั้น เกิดความเกรงกลัวต่อผลกรรม ที่ตนเองกระทำต่อครูบาอาจารย์เฒ่า ต่างคนต่างนำดอกไม้ธูปเทียน มากราบขอขมาโทษกับครูบาอาจารย์เฒ่า บางคนไม่เคยทำกับท่าน แต่ก็กลัวว่าสิ่งที่ตนเองกระทำมาอาจจะล่วงเกินท่านก็ได้ ก็มาขอขมาท่านเหมือนกัน ถึงท่านจะพูดกับแต่ละคนว่าท่านไม่ได้ทำอะไรให้ใคร ญาติโยมเขาก็ไม่ยอมฟัง ในที่สุด ความเกรงกลัวต่อผลกรรมที่ตนเองกระทำต่อครูบาอาจารย์เฒ่าได้แพร่กระจายมากขึ้น

    จนในที่สุดโยมคนที่แกล้งท่าน โดยเอากบ เอาค้อนตอกสิ่วใส่บาตรให้ท่านก็เกิดความกลัวเหมือนกัน ได้นำขันดอกไม้มาขอขมาโทษต่อท่านเหมือนกับทุกคน และโยมคนนั้นได้ร้องห่มร้องไห้เสียใจในสิ่งที่ตนเองทำลงไป ถึงแม้ว่าท่านจะบอกว่าไม่ถือโทษโกรธเคืองใคร โยมคนนั้นก็ไม่ละความพยายาม ที่จะให้ท่านรับขันขอขมาจนได้

    ต่อมาโยมคนนั้นไม่ทราบมีอะไรดลใจ ได้เข้าวัดมาอุปัฏฐากท่านทุกวันอย่างไม่มีใครคาดถึง และเมื่อท่านได้ออกธุดงค์ไปกับหลวงปู่เสาร์ที่เมืองโขงประเทศลาว ได้มาพำนักอยู่ที่บ้านคุ้ม โยมคนนั้นเมื่อทราบข่าวก็ได้ย้ายครอบครัวไปอยู่กับท่านที่บ้านคุ้ม ครูบาอาจารย์เฒ่าท่านมักเรียกโยมคนนั้นว่า "มหาแก้ว" เพราะเดิมโยมชื่อ แก้ว เคยบวชเรียนอยู่นานจนได้เปรียญธรรม ๔-๕ ประโยค
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สิ่งมีพิษใต้อาสนะ

    หลังจากสถานการณ์ที่เคยตึงเครียด เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีแล้ว ชาวบ้านเริ่มให้ความเคารพนับถือครูบาอาจารย์เฒ่า และได้นิมนต์ท่านไปในงานต่างๆ ดังเช่น งานบุญกลุ้มข้าวที่บ้านชีทวน ได้นิมนต์พระเณรไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเตรียมจัดอาสนะสงฆ์ให้นั่งตามลำดับพรรษา เมื่อจวนจะถึงเวลาเจริญพระพุทธมนต์ พระเณรต่างเดินทางมาร่วมงานและนั่งตามอาสนะของตน

    ครูบาอาจารย์เฒ่าก็มาตามนิมนต์เช่นกัน ด้วยการล่วงรู้มาก่อนอย่างไรไม่อาจทราบได้ เมื่อมาถึง แทนที่ครูบาอาจารย์เฒ่าจะเข้านั่งอาสนะที่จัดไว้ ครูบาอาจารย์เฒ่ากลับไปนั่งที่อื่น และพูดคุยกับญาติโยมไปเรื่อย เมื่อพระเณรทุกรูปได้เข้านั่งอาสนะหมดทุกรูปแล้ว ญาติโยมได้นิมนต์ให้ครูบาอาจารย์เฒ่าขึ้นนั่งอาสนะ ครูบาอาจารย์เฒ่าก็พูดเรื่องอื่นๆ เรื่อยไป จนญาติโยมนิมนต์ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง

    เมื่อเห็นว่าญาติโยมนิมนต์หลายครั้งแล้ว ครูบาอาจารย์เฒ่าเลยพูดว่า

    "ทำไมจึงอยากให้นั่งนักล่ะ ไม่รู้หรือว่าอาสนะนั้นมันมีอะไรอยู่"

    ญาติโยมก็บอกว่า ไม่มีอะไร ปกติดีนี่

    ครูบาอาจารย์เฒ่าจึงบอกให้โยมดูดีๆ ซิ

    เมื่อญาติโยมไปพลิกอาสนะดูถึงกับตกใจไปตามๆ กัน เมื่อรู้ว่า มีงูตัวเขื่องขดตัวอยู่ใต้อาสนะนั้น
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    แนวการอบรมธรรมะของครูบาอาจารย์เฒ่า

    หลวงพ่อเทียบ ถิรธมฺโม ซึ่งเคยบวชอยู่กับครูบาอาจารย์เฒ่าในพรรษานั้น ท่านให้อ่านพุทธประวัติ ให้อ่านสวดมนต์แปลฉบับหลวง อ่านเจ็ดตำนานแปล ประวัติอนุพุทธ ๘๐ องค์ ซึ่งหนังสือเหล่านี้มหาเพียร พลเกื้อ ปธ.๖ วัดบวรนิเวศ ศึกษาธิการอำเภอเขื่องใน ลูกบ้านชีทวนเป็นผู้นำมาถวาย

    ในวันพระใหญ่ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ท่านเทศน์สอนโยมเกี่ยวกับศีล ๕ ให้โยมตั้งใจงดเว้นข้อห้าม ๕ ข้อนี้ให้ได้ เพราะด้วยอานิสงส์ของศีล จะทำให้เป็นผู้มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ มีความสุขกายสุขใจ สามารถก้าวไปสู่มรรคผลนิพพานได้ ส่วนคนไม่มีศีลเป็นคนบาป ผลของบาปจะเผาลนไปชั่วชีวิต และจะติดตามไปทุกภพทุกชาติ ท่านจะเน้นให้ธรรมะในแนวรักษาศีล ๕ ศีล ๘ อยู่เสมอ

    ครูบาอาจารย์เฒ่ามักสอนว่า

    คนที่ทำอกุศลกรรมไว้มาก ทำบาปไว้มาก ไม่รักษาศีล ๕ จะมีคติกรรมนิมิต หรือกรรมนิมิตอารมณ์ มาปรากฏให้เห็นก่อนตาย เช่น เห็นแห อวน มีด ปืน เห็นสัตว์ที่เราฆ่า อารมณ์ที่สั่งสมไว้ เป็นอารมณ์ของอกุศลกรรม จะปรากฏก่อนตาย กรรมนิมิตฝ่ายอกุศลธรรมจะนำไปสู่อบายภูมิ

    ถ้ารักษาศีล ๕ ทำบุญกุศล ตักบาตร ถวายสังฆทาน ทอดผ้าป่า สร้างกุฏิ ศาลา สร้างโบสถ์ จะเห็นโบสถ์ เห็นพระพุทธรูป เห็นเทวดา กรรมนิมิตฝ่ายกุศลจะมาปรากฏ ตายไปจะขึ้นสู่สุคติโลกสวรรค์

    ท่านเตือนญาติโยมทั้งหลายว่า อย่าได้ประมาท ให้ฝึกภาวนาตายก่อนตายไว้ทุกๆ วัน คืนนี้แหละ ตี ๔ ตี ๕ ต้องตายก่อนสว่าง จะเตรียมตัวตายกันอย่างไร?

    ก่อนนอนไหว้พระสวดมนต์แล้ว สมาทานศีล ๕ ด้วยตนเองสำรวมศีล ๕ ข้อใดไม่บกพร่องแล้ว ดีใจ ปลื้ม ปีติยินดี บริกรรม พุทโธ เม นาโถ ธัมโม เม นาโถ สังโฆ เม นาโถ นอนด้วยความมีสติ หายใจเข้าภาวนาว่า "พุท" หายใจออกภาวนาว่า "โธ" ให้หลับไปด้วยอารมณ์ "พุทโธ" ฝันก็ฝันดี มีนิมิต ก็มีนิมิตดี ตายไปก็ตายดี ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์แน่ ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์อีก เกิดใหม่ก็จะดีกว่าเก่า เพราะมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ก่อนตาย ให้พากันอย่าประมาท ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มี "พุทโธ" เป็นอารมณ์อยู่ทุกขณะทุกอิริยาบถ เป็นผู้ตายก่อนตาย เป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    อบรมพระด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

    ครูบาอาจารย์ทองรัตน์ ท่านให้ปฏิบัติตามหนังสือนวโกวาท บทสวดมนต์ต่างๆ สงสัยในข้อใดให้มาถามท่าน เช่น ให้ศึกษาคำแปล ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นโอกาสที่มีพระสงฆ์รูปแรกเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ให้ศึกษาในอริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ ให้ศึกษาอานาปานสติ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ไม่เข้าใจสงสัยในข้อใดท่านอธิบายให้ฟังโดยแจ่มแจ้ง

    ท่านว่า

    ใครมาบวชปฏิบัติในสำนักนี้ ให้มีความพากเพียร นั่งสมาธิ เดินจงกรม อย่าให้น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง วันหนึ่งกับคืนหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ให้กิเลสเอาไป ๒๑ ชั่วโมง ถ้าทำความเพียร ทำจิตให้สงบจากกิเลสได้ไม่ถึง ๓ ชั่วโมงต่อวันเป็นอย่างน้อย ออกพรรษาให้สึกออกไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา ช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว ดีกว่ามาบวชแล้วไม่มีความเพียร

    นี่เป็นโอวาทอันสำคัญ ที่ท่านครูบาอาจารย์ทองรัตน์เตือนสติ ให้ทำความเพียรไม่น้อยกว่าวันละ ๓ ชั่วโมง อย่างอื่นยังมีอีกมาก ท่านอธิบายได้แจ่มแจ้ง ชัดเจน เข้าใจง่ายในฉับพลัน เช่น

    พระสำเนียงเมื่อบวชได้ ๓ พรรษา ถามท่านเรื่อง กรรมฐาน ๕ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

    ท่านอธิบายว่า แต่ละอย่าง มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเป็นพระไตรลักษณะ แต่ละอย่าง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อพิจารณาแล้วมันจะถอนอัตตา - อุปาทานออก ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ นี่ท่านอธิบายไว้ให้ทราบโดยละเอียดแล้ว ว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ ขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์ ทุกๆ สิ่งในโลกนี้ ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ล้วนถูกตราพระไตรลักษณ์ประทับไว้หมดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วเสื่อมสลายไป หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรคงทนจีรังยั่งยืนได้ตลอดไป

    หลังสวดมนต์เย็นแล้วประมาณ ๓ ทุ่ม ท่านจะอธิบายธรรมะ ตอบข้อข้องใจให้ทราบโดยแจ่มแจ้ง และท่านมักจะเน้นสอนเป็นพิเศษ คือให้ระมัดระวังสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้หลงเพลินไปตามกิเลส ถ้ามีสติสัมปชัญญะ สำรวมระวังอินทรีย์ ๖ อยู่ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน จะควบคุมศีล ๒๒๗ ได้เป็นอย่างดี
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ระวังการล่วงอาบัติเล็กๆน้อยๆ

    เวลาไปบิณฑบาต ถ้าปวดปัสสาวะ ให้เข้าข้างทางนั่งลง เอาใบไม้แห้ง ๔-๕ ใบต่อกันให้ยาวจึงปัสสาวะ ถ้าไม่เอาใบไม้รอง ปัสสาวะที่ร้อนและเค็มจะถูกแมลง สัตว์ตัวเล็กๆ หรือถูกพืชตาย เป็นอาบัติ ถ่มน้ำลาย ขากเสลด ให้นั่งลงเอาใบไม้รองเช่นเดียวกัน อย่าคุยกันเสียงดัง อย่าตะโกนเรียกกัน เดินเข้าไปใกล้ๆ จึงพูดกันเบาๆ ส่งของให้กันอย่าโยน ถ้าพระอาวุโสพรรษามากกว่าเอาหนังสือให้ผู้อาวุโสต่ำกว่า เช่นพระ ๓ พรรษา เอายื่นให้พระ ๒ พรรษา พระ ๒ พรรษาต้องนั่งลง จึงจะยื่นมือไปรับด้วยความเคารพ พระอาวุโสเดินมาข้างหลัง พระพรรษาอ่อนกว่าต้องหลีกให้พระอาวุโสเดินนำหน้าไปก่อนเสมอ ไปบิณฑบาตให้ภาวนาทุกก้าว ห้ามพูดคุยกัน ถ้าจำเป็นจะต้องพูดคุยกันให้หยุด แอบลงข้างทางแล้วพูดกัน พรรษาน้อยต้องนั่งลงเสมอ เป็นการเคารพวินัยของพระพุทธเจ้า เป็นการสำรวมอินทรีย์ เป็นผู้ไม่ประมาทในพระธรรมวินัย การภาวนาการปฏิบัติธรรมจึงจะก้าวหน้า จะเกิดปัญญาเห็นชอบอยู่เสมอ ท่านนึกอะไรได้ เห็นข้อควรแนะนำอะไร จะรีบเตือนเสมอ

    เรื่องความเพียรท่านกล่าวอยู่เสมอว่า

    "ผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวันกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาท ย่อมเป็นผู้เจริญในธรรม"

    เหมือนพระกัจจายนะ ที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้มีราตรีเดียวเจริญ ท่านยกตัวอย่างให้ขยันทำความเพียรมากๆ เพื่อให้เกิดปัญญา ให้เห็นทางมรรคผลขึ้นในจิต ท่านว่าผู้มีความเพียรเป็นผู้มีจิตใจร่าเริง มีใจดี มีอารมณ์ดีอยู่เสมอ
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    โอวาทก่อนลาสิกขาบท

    ครูบาอาจารย์ทองรัตน์ให้โอวาทพระเทียบก่อนลาสิกขาว่า

    ให้ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ภาวนา "พุทโธ"
    ทุกลมหายใจเข้าออก ก้าวเท้าขวา "พุท" เท้าซ้าย "โธ" ทุกย่างก้าว จะเห็นความมหัศจรรย์ของพุทโธภายใน ๑ ปี

    เวลากราบพระพุทธ กราบที่ไหนก็ตามให้โยนิโสมนสิการ น้อมใจกราบลงใกล้ฝ่าพระบาทพระพุทธเจ้า เสมือนกับท่านมายืนหรือประทับนั่งอยู่ใกล้ๆ เรา เป็นพ่อ ติดตามดูแลเราทุกเวลา

    กราบพระธรรม พระธรรมเหมือนแม่คุ้มครองดูแลเราตลอดเวลา

    กราบพระอริยสงฆ์ พระสงฆ์เป็นพระพี่เลี้ยง นำเราให้คิดดี พูดดี ปฏิบัติดีด้วยกายวาจาใจในทุกสถานที่

    คุณพระรัตนตรัยนี้จะทำให้เราประสบความสุขความเจริญในชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เทศน์ ๒ ธรรมาสน์กับเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน

    ครั้งหนึ่งครูบาอาจารย์เฒ่ารับนิมนต์เทศน์ ๒ ธรรมาสน์ กับเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน เป็นการเทศน์ "ปุจฉา-วิสัชนา" กับเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน ซึ่งมีการศึกษาระดับมหาเปรียญ ที่มีความมั่นใจในภูมิปัญญาของตนเองอย่างมาก ฝ่ายครูบาอาจารย์เฒ่าท่านมีการศึกษาน้อย แต่ท่านก็รับนิมนต์เทศน์ ได้มีชาวบ้านรอบๆ บ้านชีทวนเดินทางมาฟังกันที่ศาลาวัดพระธาตุสวนตาลเป็นจำนวนมาก

    วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครูใหญ่โรงเรียนต่างๆ รวมกันจัดขึ้น ใครๆ ก็อยากฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์เฒ่า ท่านเสียงห้าว เสียงดัง เสียงกังวานใส ใบหน้าท่านยิ้มแย้มเบิกบานชาวบ้านต่างคุกเข่ายกมือไหว้ท่าน รอฟังเสียงอาจหาญร่าเริงของท่าน คำพูดของท่านเป็นคติธรรม พูดตรง พูดจริง ไม่กลัวใคร มีความเชื่อมั่นในตนเอง ในธรรมะของพระพุทธเจ้า

    การเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาคราวนั้นดังกระฉ่อนไปทั่ว คนฟังตั้งใจฟังอย่างเงียบสงบ

    เจ้าคณะอำเภอถามขึ้นก่อนว่า "พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อะไรบ้าง?"

    ท่านตอบว่า "ตรัสรู้อริยสัจ ๔" แล้วขยายทุกข์ สมุทัย นิโรธมรรค สั้นๆ พอเข้าใจ

    ถามว่า "ท่านสั่งสอนประชาชนมีอะไรบ้าง?"

    ท่านตอบว่า "สอนพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สรุปแล้วท่านสอนศีล สมาธิ ปัญญา สอนพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สอนให้ปฏิบัติตามอริยมรรค มีองค์ ๘"

    ถามว่า "ท่านสอนประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติอะไรเป็นอันดับแรก ๆ"

    ท่านตอบว่า "สอนเรื่องศีล ๕ ศีล ๕ นี้ พระโพธิสัตว์สอนมาตั้งแต่ต้นกัลป์ ตั้งแต่พระกุกกุสันโธโน่น ให้มนุษย์ในสมัยกัลป์โน้นอยู่ด้วยความสงบ มีศีล ๕ ข้อนี้ เป็นธรรมคุ้มครองโลกให้ปกติสุข ไม่มีคุกตะราง ไม่มีตำรวจ ใครมีศีล ๕ ในหัวใจ ดีทั้งนั้น กลุ่มคนใดมีศีล ๕ กลุ่มนั้นก็ดี เมืองไหนมีศีล ๕ เมืองนั้นก็สงบสุข"

    เจ้าคณะเขื่องในถามว่า

    "คนเช่นไรไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์? คนเช่นไรตายไปแล้วลงสู่อบายภูมิ?"

    ครูบาอาจารย์เฒ่าตอบว่า

    "คนรักษาศีล ๕ อยู่เป็นนิจ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ เว้นจากการเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน เว้นจากประพฤติผิดในบุตรภรรยา - สามีคนอื่น เว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เว้นจากการเสพสุรายาเสพติดทั้งปวง ถ้ารักษาศีล ๕ ได้ จะมีโภคทรัพย์บริบูรณ์ จะมีความสุขกายสบายใจ ตายไปแล้วขึ้นสู่สุคติโลกสวรรค์หมด

    แต่ถ้าละเมิดศีล ๕ ข้อนี้ จะลงสู่อบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉานหมด ไม่มีเหลือ คนลงนรกมากมายเหมือนขนวัวนั่นแหละ พวกทำแต่กรรมดี ทำบุญกุศล ไม่ประมาทรักษาศีล ๕ มีจำนวนเหมือนเขาวัวสองเขานั่นแหละ พวกเขาไปขึ้นสวรรค์หมด"

    เจ้าคณะอำเภอถามว่า "เมื่อใกล้ตายจะทำจิตใจอย่างไรจึงจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์?"

    ครูบาอาจารย์เฒ่าตอบว่า

    "ให้ระลึกนึกถึงบุญกุศลความดีทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้แล้ว ระลึกถึงพุทธานุสติเป็นพ่อ ธรรมานุสติเป็นแม่ เห็นพระสงฆ์เป็นพี่เลี้ยงนำทาง หายใจเข้าภาวนาว่า ‘พุุท’ หายใจออกภาวนาว่า ‘โธ’ อยู่เสมอทุกขณะจิต เมื่อจิตเคลื่อนออกจากร่าง จิตจึงจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์"

    การเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาตั้งแต่เพลถึงบ่ายแก่ๆ ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบ ฝ่ายเจ้าคณะอำเภอท่านคงจะทนไม่ไหวหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ลงจากธรรมาสน์กลับวัดโดยไม่รับกัณฑ์เทศน์

    คณะครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้นำปัจจัยที่ใส่ลงในขันหลายใบมารวมกัน ได้เงินเกือบสองพันบาท ในสมัยนั้นครูประชาบาลเงินเดือน ๘ บาท ครูใหญ่ ๑๒ บาท ทำงานมานานปีจึงจะได้ ๒๐ บาท กัณฑ์เทศน์จากขันคนละ ๑ สตางค์ ๕ สตางค์ รวมกันเกือบสองพันบาท นับว่าได้เงินมากเป็นพิเศษ

    วันนั้นหลวงปู่ทองรัตน์ท่านไม่รับกัณฑ์เทศน์ที่ถวาย ท่านยกให้วัดพระธาตุสวนตาล นับว่าท่านไม่ติดในลาภ ในปัจจัย ท่านพอใจในการชักจูงให้ญาติโยมเข้าใจธรรมะ รู้จักรักษาศีล รู้จักทำสมาธิ รู้จักทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป รู้จักฝึกตายก่อนตาย รู้จักทำอานาปานสติ มีสติสัมปชัญญะ กำหนดดูลมหายใจเข้าออกทุกขณะจิต ทุกอิริยาบถ จึงเป็นผู้มีความไม่ประมาท
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ด้วยเคารพและศรัทธา

    พ่อใหญ่กัญหา สุทธิพันธ์ เป็นโยมอุปัฏฐากใกล้ชิดครูบาอาจารย์เฒ่ามาโดยตลอด หลังจากที่ได้ร่วมกับคณะ เป็นคนไปนิมนต์ครูบาอาจารย์เฒ่าที่บ้านข่าโคม ให้ไปจำพรรษาที่บ้านชีทวน เมื่อครูบาอาจารย์เฒ่าได้ออกจากบ้านชีทวนหลายพรรษาแล้ว ได้ไปอยู่ที่บ้านคุ้ม อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าของพ่อใหญ่จึงได้อพยพครอบครัวไปด้วย และได้ทำกิจการค้าข้าวควบคู่ไปด้วยเพื่อจุนเจือครอบครัว แต่ยังไม่มีที่นาทำกินขณะนั้น

    ถึงพ่อใหญ่ไม่เคยบวชเคยเรียนมาก่อน แต่ด้วยศรัทธาที่มีต่อครูบาอาจารย์เฒ่าเต็ม ๑๐๐ ในด้านการปฏิบัติ พ่อใหญ่ไม่เคยทิ้งลายกรรมฐาน ที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์เฒ่าแม้แต่น้อย ถึงแม้ปัจจุบันอายุย่างเข้าปีที่ ๘๐ ก็ตาม และลูกหลานแต่ละคนมีหน้าที่การงาน เป็นถึงผู้นำของคน ได้นำท่านไปเพื่อทำตามหน้าที่ของลูกที่พึงกระทำที่เมืองหลวง แต่ปฏิปทาทุกอย่างพ่อใหญ่ไม่เคยที่จะลืมมูลเก่าแต่อย่างใด สมกับสุภาษิตอีสาน ที่ว่า "คันได๋ขี่ช้างกั๋งห่มเป็นพระยาบ่ได้เคยลืมชาวนาผู้ขี่ควายคอนกล้าดอก" (ถึงแม้ว่าจะได้ดิบได้ดีเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ก็ไม่เคยที่จะลืมอดีตที่เป็นชาวนาขี่ควายหาบกล้า) เช่น ผ้าขาวม้าคาดพุงที่ใช้สารพัดประโยชน์ของคนอีสาน ไปไหนมาไหนพ่อใหญ่ไม่เคยทิ้ง

    ที่สำคัญเรื่องการปฏิบัติ การรับประทานอาหาร พ่อใหญ่ยังกินข้าวจานหมาเหมือนเดิม คืออาหารทุกอย่างทั้งคาวหวานต้องใส่ภาชนะเดียวกัน เรื่องการเดินจงกรม นั่งสมาธิไม่เคยขาด เรื่องสติสัมปชัญญะในบรรดาเพื่อนรุ่นเดียวกันหาตัวจับยาก สำหรับผลของการปฏิบัติ พ่อใหญ่บอกว่า ไม่สงสัยแล้ว พร้อมเสมอที่จะไปตามมัจจุราชสั่ง

    พ่อใหญ่ได้เล่าให้ฟังว่า

    ปกติครูบาจารย์เฒ่าท่านพูดเสียงดังเป็นเชิงไม่กลัวใคร ท่านชอบอยู่ตามพุ่มไม้ตามป่า และอยู่ไม่เป็นที่ การอยู่ที่เดียวนานๆ ท่านว่า จะทำให้ติดสถานที่ ท่านไม่ติดกุฏิ กลับมาจากธุดงค์ก็มาอยู่กุฏิหลังใหม่ ตามที่ได้ไปกับท่าน ท่านจะพาพักใต้ต้นไม้ เมื่อนั่งลง ท่านจะกราบก่อน เวลาไปท่านก็กราบอีก บางทีแดดจัดๆ หรือยามเย็นๆ ท่านจะพานั่งพักกลางวันตามร่มไม้ เมื่อจะนั่งลงท่านก็กราบ เมื่อไปท่านก็กราบ เลยถามท่านว่า

    "ครูบาอาจารย์กราบอะไรหรือครับ"

    ท่านตอบว่า

    "กราบต้นไม้ ต้นไม้ก็เหมือนพระพุทธเจ้า มันทำงานเลี้ยงชีวิตตัวเอง เวลามีลูกมันก็ไม่หวง นกก็กินได้ คนจะนำไปกินก็ได้"

    ส่วนบางครั้งครูบาอาจารย์กราบลงกลางแจ้งนั้น ก็กราบระลึกถึงความบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ จิตของพระพุทธเจ้าไม่ได้เกาะติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คนโบราณจึงมักเปรียบเทียบว่า เมื่อมีพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใด ต้องมีดอกบัวรองรับอยู่ที่นั่น ตามที่ได้อยู่กับท่าน ท่านถือเป็นนิสัยในการลุกการนั่ง ต้องกราบเป็นประจำ จนผู้อื่นทำตามได้ยาก

    สำหรับความเป็นอยู่ ท่านไม่ชอบอยู่กับคนหมู่มาก ชอบอยู่ตามลำพัง อยู่ตามป่าสองสามวันก็ย้ายไปที่ใหม่ ไม่ชอบอยู่ในเมือง ท่านบอกว่า จะทำให้ติดรสอาหาร ไปอยู่ตามป่า ฉันอาหารทิพย์ ถามท่านว่า อาหารทิพย์คืออะไร ท่านตอบว่า อาหารทิพย์คือ ดอกกระเจียว หน่อข่า เห็ดระโง้ หวาย หน่อโจด เวลาฉันก็มีความสะอาด ไม่ค่อยมีโรคมีภัย บางทีเขานิมนต์ไปฉันในบ้าน ท่านเอายาควินินเม็ดเหลืองๆ ออกมาประมาณ ๒๐ เม็ด นำเข้าปากแล้วฉันน้ำตาม ถามท่านว่า ทำไมฉันมากแท้ ครูบาอาจารย์บอกว่าเพื่อดับรสอาหาร ถ้าเป็นเรา ๓ เม็ดก็หูดับไปหมด นี่ท่านฉันแล้วก็เฉย

    ครั้นถึงเวลาวันพระ ๑๕ ค่ำ พระเณรมารวมกันที่ศาลา เวลาฉันอาหาร ท่านมักจะบอกพระเณรให้ฉันด้วยความสำรวม มีสติพิจารณาว่า ฉันเพื่ออะไร ฉันเพื่อบรรเทาความหิว เพื่อดำรงชีวิตหรือเพื่อความอยาก ฉันเพื่อความงามหรือฉันเพื่อเลี้ยงตัณหา ถ้ารู้สึกว่าอีก ๕ คำจะอิ่ม ให้หยุด แล้วฉันน้ำตามจะอิ่มพอดี แต่ถ้าตัณหามันสั่งให้ฉันเต็มที่คงถึงลำคอ พอดึ่มน้ำลงไปจะแน่นท้อง อึดอัด ทนไม่ไหวต้องเอามือล้วงคอให้อาเจียน อย่างนี้ผิดวินัยของพระ การฉันโดยไม่พิจารณาเป็นบาป ตายแล้วไปเกิดเป็นควาย ต้องไถนาใช้ให้เขา
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    จับไม่ถูก

    เมื่อครูบาอาจารย์เฒ่าได้สั่งสอนลูกศิษย์ให้สำรวมในการขบฉัน และท่านได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย เช่น เวลาฉันท่านจะฉันไปทีละอย่าง ฉันข้าว ฉันผัก ถ้ามีปลา ก็จะฉันปลาไปทีละอย่างๆ ทำดังนี้จนอิ่ม

    พ่อใหญ่กัญหาซึ่งแอบชำเลืองดูครูบาอาจารย์เฒ่าอยู่ เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว จึงพนมมือถามท่านว่า

    "ขอโอกาสขะน้อย ขะน้อยสังเกตเบิ่ง เวลาครูบาจารย์ฉันเป็นหยังนั่งฉันทีละอย่าง มันดีจั่งได๋" (ขอโอกาสครับกระผม กระผมสังเกตท่านอาจารย์ฉัน ทำไมจึงฉันทีละอย่าง มันดีอย่างไร)

    ครูบาอาจารย์เฒ่าบอกว่า

    "มันจั๋งบ่ติดรสชาติ" (มันจะได้ไม่ติดรสชาติ)

    อุบายการสอนลูกศิษย์แต่ละคนของครูบาอาจารย์เฒ่า จะไม่ค่อยเหมือนกัน เช่นมีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านจะสอนเรื่องการขบฉันให้อยู่ในการสำรวมระวัง อย่าฉันให้มีเสียงดัง อย่าฉันพลางพูดพลาง อย่าฉันมูมมาม ซึ่งอยู่ในกรอบของวินัยที่ว่าด้วยการขบฉัน

    ถึงเวลาฉัน ครูบาอาจารย์เฒ่าจะทำตรงข้ามกับที่สอนลูกศิษย์ ข้าวตกเรี่ยราด พูดทั้งที่มีคำข้าวอยู่ในปาก เป็นอาการที่ไม่สำรวม และมีพระลูกศิษย์ไม่ทราบเจตนารมณ์ของท่านหรืออย่างไรไม่ทราบ เกิดคิดตำหนิท่านอยู่ในใจว่า ครูบาอาจารย์เฒ่าสอนแต่คนอื่น ไม่สอนตัวเอง

    พอเก็บกวาดโรงฉันเสร็จก่อนเลิก ท่านจะมาให้โอวาท แล้วกราบพระเลิกพร้อมกัน พระรูปนั้นถึงกับอึ้งไป เมื่อครูบาอาจารย์เฒ่าท่านเทศน์ ท่านพูดถึงสิ่งที่พระรูปนั้นคิดอยู่ว่า "ไปยึดติดครูบาจารย์ ไม่ยึดติดธรรมะ"

    ในเวลาเดินอยู่นั่งอยู่ก็ให้นึกถึงศีลตัวเอง มันขาดหรือเศร้าหมองก็ต้องรู้ นี้เรียกว่า อยู่ด้วยความมีศีล พระธุดงค์ให้ระวังศีล ตลอดจนอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้ระวัง ศีลไม่บริสุทธิ์ เข้าป่า ขึ้นภูเขา เสือกัดตาย ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องเป็นพระธุดงค์ จงไปนอนเลี้ยงควายอยู่ตามบ้านดีกว่า ถ้าเป็นพระมีแต่จะตกนรก เขาอยากได้บุญเขาจึงเอาข้าวของมาทาน (ให้) ภายในกาย ภายในใจ ถ้าศีลเศร้าหมองแล้ว ภาวนาจนผมหงอก พระธรรมก็ไม่เกิด

    พวกพระพวกเณรกลัวท่านมาก ใครต้องอาบัติท่านรู้หมด ท่านทักท้วงในท่ามกลางคนหมู่มากเอาดื้อๆ ให้อาย ถ้าท่านเตือนแล้วทำผิดบ่อยๆ ท่านบอกว่าไปเอาเทียนติดหูไล่ให้มันหนี มาบวช ไม่เคารพคำสอนของพระพุทธเจ้า บวชหาประโยชน์อันใด

    ถ้าเป็นพระจากที่อื่นไปหาท่าน พอนั่งลง ท่านก็เรียกชื่อ ถามข่าวว่าจะไปไหนมาไหน ทำอะไร ถ้าพระมีความรู้ได้เรียนมามากในใจคิดว่า จะอวดความรู้ตัวเองเป็นเชิงจะดูหมิ่น ท่านรู้ทันที ท่านจะว่า

    "เรียนมามากๆ นั้น เรียนไปทำไม มีความรู้แล้วเอาตัวไม่รอด อาบัติเต็มหัวไม่รู้ตัว เป็นพระบิณฑบาต ก็มีอาหารฉัน ไม่รู้จักเคารพบาตร ไม่รู้คุณของพระพุทธเจ้า"

    ท่านพูดแบบไม่กลัวคนจะโกรธ
     

แชร์หน้านี้

Loading...