ประวัติและปฏิปทา : หลวงปู่ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ กนฺตสีโล

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 23 เมษายน 2012.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ข้าวหมา

    เป็นปกติของครูบาอาจารย์เฒ่าท่านอย่างหนึ่งคือ ท่านจะสอนคน โดยที่ในตอนแรกคนที่ถูกสอนนั้นจะไม่ทราบว่าท่านสอน และต้องเป็นได้เรื่องเกือบทุกราย แต่พอนานไปจึงคิดได้ บางครั้งคนที่ถูกสอนต่างหาเรื่องใส่ท่าน ผลสุดท้ายต้องยอมท่านทุกราย นี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง

    ทุกเช้าท่านจะเข้าไปรับบิณฑบาตในหมู่บ้าน และทุกวันโยมก็จะออกมาใส่บาตรตามประเพณี เมื่อท่านรับบิณฑบาตไปถึงบ้านของโยมผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งปกติมักมาใส่บาตรทุกวัน ส่วนมากก็จะใส่แต่ข้าวเปล่า และวันนี้ก็เช่นกัน ครูบาอาจารย์เฒ่าท่านได้พูดกับชายคนนั้นว่า

    "บ๊ะ เห็นแต่หมาแหลวหน้อ กินแต่เค่าในดอก" (บ๊ะ เห็นแต่หมานะที่กินข้าวไม่มีกับข้าว)

    เมื่อได้ยินดังนั้น ชายคนนั้นได้ทำตาขวางใส่ท่าน พระเณรที่ไปรับบิณฑบาตตามหลังครูบาอาจารย์เฒ่าก็ไม่คิดอะไรเพราะเห็นท่านพูดลักษณะนี้บ่อย

    พอตกตอนเย็น โยมคนที่ครูบาอาจารย์เฒ่าพูดด้วยเมื่อเช้า ได้ถือขันดอกไม้ ธูป เทียน มากราบขอขมาท่านและได้พูดว่า

    "โอ้ย! ขออนุญาตบาดคำเด้อขะน้อย มื้อเซ้าขะน้อยคึดสูน ให้ครูบาจารย์ ว่าครูบาจารย์ฮ้ายให้ ใส่บาตรแล้วได๋จูงควายเมื่อนา ใจกะคึดสูน บ่อเซาจั๊กเทื่อ จนงายขึ่นจากนา ว่าสิไปกินเค่าฮองท้องจักหน่อย แม่เจ้าเฮือนลืมเอาหยังกินให้ จกเค่ามาฮองท้องได่สองสามคำมันกลืนบ่ลง เค่าปั้นนั้นเลยทิ่มให้หมาส่ำ จั่งคึดได่ว่าเมื่อเซ่านี่ครูบาจารย์ เพิ่นเว้าแม้นตั๋ว เพิ่นบ่ได่ฮ้าย ได่ด่าตั๋วสะมามั่วตกหม่อระฮกตั๋วนี่ คึดสูนให้ครูบาจารย์"

    (โอ้ย! ขอขมาโทษด้วยขอรับ ที่กระผมได้คิดโกรธให้พระอาจารย์ นึกต่อว่าท่านพระอาจารย์เมื่อเช้านี้ พอใส่บาตรเสร็จได้จูงควายไปนา ตะวันบ่ายจะมากินข้าวรองท้องสักหน่อย แม่บ้านลืมเอากับข้าวใส่ไปด้วย กินข้าวเปล่าได้สองสามคำ มันก็กลืนไม่ลง จึงได้ทิ้งก้อนข้าวนั้นให้หมากิน หมาแย่งกินกันใหญ่ จึงคิดได้ว่า เรามันคิดผิดที่ไปโกรธครูบาอาจารย์ เพราะท่านพูดถูกแล้ว ข้าวหมาก็คือข้าวเปล่าๆ ไม่มีกับข้าวนี่เอง เกือบตกนรกแล้วสิเรา)
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระเณรจะดี ต้องอยู่กับครูบาอาจารย์

    ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์เคยเล่าให้หลวงพ่อกิฟังว่า

    พระเณรบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาถ้าจะดี ต้องได้อยู่กับครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์ท่านจะเป็นคนสอดส่องดูแลพฤติกรรม - อุปนิสัยของลูกศิษย์แต่ละคน ว่าควรจะบอกจะสอนในลักษณะใด เพราะมานะทิฐิของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

    ท่านเล่าว่า

    สมัยอยู่กับครูบา-อาจารย์เสาร์ ครูบาอาจารย์มั่น แต่ก่อนทิฐิมานะของท่านนั้น ใครจะมีเท่าท่านได้ในโลกนี้ เพราะได้อาศัยครูบาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นคนขัดออกให้ กระทุ้งออกให้ บางครั้งครูบาอาจารย์ท่านดุ บางครั้งท่านผู้พูดให้คิด บางครั้งให้ไปอยู่ที่ที่ไม่มีใครไป แต่ก็อาศัยความเคารพศรัทธาที่มีต่อครูบาอาจารย์ จึงได้อดทนอดกลั้น กระทำตามที่ท่านบอกท่านสอน ท่านบอกอย่าก็อย่า ท่านบอกไม่ก็ไม่ ถึงมันจะฝืน ก็ต้องทน ถ้าไม่ใช่ครูบาอาจารย์เสาร์ ครูบาอาจารย์มั่น ท่านคงจะปล่อยทิ้งนานแล้ว
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ดูให้ลึกๆ

    ที่คนเขาว่าครูบาอาจารย์เฒ่าเป็นคนดุเก่ง อารมณ์รุนแรง พูดกระโชกโฮกฮาก พ่อใหญ่ทิดสาเล่าว่า

    ครูบาอาจารย์เฒ่าท่านพูดเสียงดังก็จริง แต่เท่าที่อยู่จำพรรษากับท่าน ไม่เคยเห็นว่าท่านจะโกรธหรือดุด่าใคร ทั้งพระทั้งโยม แม้แต่มีโยมมากราบท่าน ท่านยังพนมมือรับกราบ และการใช้คำพูดกับโยมจะเรียก พ่อ - แม่ บางครั้งท่านจะทำเหมือนโกรธ เช่น เมื่อมีคนอ้อนวอนขอหวยขอเบอร์จากท่าน ท่านจะทำเหมือนดุ แต่พอโยมคนนั้นไป ท่านก็จะพูดกับคนอื่นเฉย เหมือนไม่มีอะไร โดยเฉพาะพระเณร ไม่เคยที่ท่านจะดุด่า ส่วนมากท่านจะเปรียบเปรยให้ฟัง ผู้ใดมีปัญญาก็นำไปคิดได้เอง
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เซียนปราบผี

    เมื่อคนเข้าไม่ถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ก็ถือเอาต้นไม้บ้าง ภูเขาบ้าง จอมปลวกบ้าง เป็นที่พึ่งอันสูงสุด โดยเฉพาะเรื่องผีสาง ตัวเสนียดจัญไรต่างๆ ถือว่าต้องให้ความยำเกรงเหนือสิ่งอื่นใด เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆ ได้ ถ้าไปทำผิดหรือทำไม่ถูกตามที่สิ่งเหล่านั้นต้องการ สิ่งตอบแทนก็คือผีเข้าเจ้าสูน เจ็บไข้ต่างๆ สิ่งที่แก้ไขได้คือบนบานให้สิ่งตอบแทน และถ้าไม่หาย ก็ต้องหาสิ่งอื่นมาลบล้าง คือ สิ่งที่เหนือกว่าผี คือหมอผี

    โนนบักบ้าที่บ้านคุ้ม เป็นที่เชื่อกันว่าผีดุ เมื่อครูบาอาจารย์เฒ่าท่านพาพระเณรไปอยู่ได้โดยไม่เป็นอะไร ทำให้ความเชื่อถือในตัวท่านมีมากกว่าผี เป็นเหตุให้ชาวบ้านแถบนั้นเกิดศรัทธา ได้ที่พึ่งใหม่ ถ้าที่ไหนผีดุ ต้องมานิมนต์ท่านไปปราบ

    พ่อใหญ่จารย์กิเล่าว่า สมัยเมื่อท่านไปจำพรรษากับครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ ท่านได้ไปปราบผีกับครูบาอาจารย์เฒ่าอยู่บ่อย อาวุธคาถาอาคมของครูบาอาจารย์เฒ่าท่านก็ไม่มีอะไรมาก มีแต่ไม้เท้าที่ใช้ประจำ เมื่อไปถึงก็ใช้ไม้เท้ากระทุ้งไปที่ต้นไม้ โพรงไม้ ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นแหล่งที่อยู่ของผีนั้น พร้อมถามและพูดเหมือนกับพูดกับคนมีชีวิตทั่วไป เพื่อให้ชาวบ้านได้ยิน

    "เออ! ชาวบ้านเขาทำมาหากินอยู่หนี่ กะอย่าได่ไปกวนเขาได่ ต่างคนต่างอยู่"

    แล้วก็เดินกลับ ทำให้ชาวบ้านเกิดความสบายใจขึ้น

    ครูบาอาจารย์เฒ่าจึงได้ถูกยกย่องจากชาวบ้าน ว่าเป็นเซียนปราบผี เพราะท่านไม่สอนให้เชื่อผี ผีจึงไม่มี

    ท่านจะสอนให้พระเณรใส่ใจในธรรมวินัยให้มาก ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ต้องทำให้ได้

    ส่วนญาติโยมท่านจะสอนหน้าที่ของญาติโยม ที่จะปฏิบัติต่อพระสงฆ์ ไม่ให้เชื่อมงคลตื่นข่าว ให้รู้จักทาน รักษาศีล จนญาติโยมเข้าใจ ในวันพระจะมีญาติโยมมารักษาศีลมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อญาติโยมมีศีล มีธรรม มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวในจิตใจแล้ว ก็ถือว่าการทำงานเผยแผ่พระศาสนา ได้ฝังรากลึกมั่นคง
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หนึ่งเดียวที่ทรงคุณค่า

    พ่อใหญ่จารย์กิ เล่าถึงการได้มาซึ่งภาพถ่ายของครูบาอาจารย์เฒ่าว่า

    ตามปกติท่านไม่ให้ใครถ่ายรูปได้ง่ายๆ และกล้องถ่ายรูปก็มีน้อย แม้กระทั่ง (หลังจากที่) ครูบาอาจารย์เฒ่าละสังขารแล้ว บางครั้งมีโยมจะไปถ่ายรูปที่เจดีย์ท่าน ถ้าไม่กราบขอถ่ายรูปก่อน จะถ่ายไม่ติด

    ในช่วงหนึ่งที่บ้านโคกสว่าง มีพระเพื่อนสหธรรมิกของพระโก้ พระกิ ได้ไปเยี่ยมและมีกล้องถ่ายรูปไปด้วย จึงขอโอกาสถ่ายรูปครูบาอาจารย์เฒ่า แต่ท่านไม่ยอมให้ถ่าย ได้ขอท่านหลายวัน ผลก็เหมือนเดิม

    ในที่สุดพระกิได้นิมนต์ท่านห่มจีวรพร้อมพาดสังฆาฏิ นิมนต์ท่านนั่งเก้าอี้ และกราบขอถ่ายรูปในเวลานั้นเอง ทำให้ท่านไม่มีทางที่จะเลี่ยงคำลูกศิษย์ได้

    จึงมีภาพถ่ายของท่านเพียงภาพเดียวเท่านั้น ในชีวิตของท่าน
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ไผว่าเนื้อหมูมันผิด

    ช่วงในพรรษา ครูบาอาจารย์เฒ่าท่านอาพาธเป็นโรคประดง ปวดตามข้อ ตามกล้ามเนื้อ เวลาจะลุก จะเดิน ปวดระบมไปทั้งตัว หมอได้มาตรวจ และบอกไม่ให้ฉันเนื้อหมูเด็ดขาดเพราะโรคจะกำเริบ เวลาจะฉัน พระโก้ พระกิ ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากจะต้องคอยดูแลเรื่องอาหาร ไม่เอาเนื้อหมูถวายท่าน เมื่อรับประเคนจากโยมแล้ว ถ้าไม่ใช่เนื้อหมูจึงถวายท่าน เพราะท่านจะถามก่อน ต้องตอบให้เร็ว ถ้าตอบช้าต้องถูกดุ ท่านจะทำทีเล่นทีจริงกับลูกศิษย์บ่อยๆ ท่านรับแล้วก็ส่งต่อให้พระเณรรูปต่อไป เมื่อเป็นเนื้อหมูจะไม่ถวายท่าน จะส่งต่อไปเลย

    มีอยู่คราวหนึ่งท่านเห็นเนื้อย่าง พระอุปัฏฐากรู้ว่าเป็นเนื้อหมูจึงไม่ถวายท่าน แต่ท่านก็แย่งเอาจนได้ เมื่อฉันเสร็จ ลูกศิษย์ต้องคอยเป็นห่วงท่าน กลัวท่านจะไม่สบาย

    พอตกตอนบ่าย ท่านกลับเดินไปไหนมาไหนสบาย ซึ่งผิดจากเมื่อก่อน ถ้าฉันเนื้อหมูต้องเป็นได้เรื่องทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ท่านกลับไม่เป็นอะไรและยังพูดล้อกับลูกศิษย์ว่า

    "นี่เห็นบ่ ไผ๋ว่าเนื้อหมูมันผิด มันสิผิดมาแต่ไส" (เห็นมั้ยใครบอกว่าเนื้อหมูแสลงโรค)

    ในพรรษาท่านจะพาพระเณรปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ตลอดทั้งพรรษา และจะคอยสอดส่องดูพฤติกรรมของลูกศิษย์ไม่ให้คลาดสายตา ท่านบอกว่า หน้าที่ของพระของเณร คือเดินจงกรมนั่งสมาธิ สวดมนต์ ไหว้พระ ทุกคนที่บวชเข้ามา ต้องตั้งใจทำให้มันเป็นอุปนิสัย
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ประเพณีบุญกฐินในสมัยนั้น

    เมื่อออกพรรษาที่วัดป่าติ้ว บ้านโคกสว่าง ญาติโยมได้รวมกันจัดตั้งกองกฐินมาทอด ถือว่าเป็นปีแรกที่มีวัดเกิดขึ้นที่หมู่บ้านนี้ และเป็นปีแรกที่มีการร่วมกันจัดงานบุญกฐินขึ้น

    โดยก่อนออกพรรษา ชาวบ้านได้ร่วมกันทอผ้า ซึ่งได้จากการนำปุยฝ้ายมาปั่นทำเป็นเส้นแล้วนำมาทอกี่ ถึงจะเป็นผ้าที่มีเนื้อหยาบ แต่ละเอียดในขั้นตอนการทำ จึงได้ผ้านั้นมาตัดเปลี่ยนผ้าที่ท่านใช้ประจำ ซึ่งขาดจนจะใช้งานไม่ได้อยู่แล้ว พระโก้ พระกิ ก็ได้อาศัยความรู้จากเมื่อครั้งไปพักและเรียนเย็บผ้ากับครูบาอาจารย์ชา ที่วัดหนองป่าพง

    ครูบาอาจารย์เฒ่าท่านจะเป็นคนฝั้นด้าย ส่วนพระเณรเป็นคนช่วยกันเย็บ เย็บไปด้วยท่านจะเร่งลุ้นไปด้วย เมื่อเย็บเสร็จนำไปซักและย้อมน้ำเคี่ยวแก่นขนุนจนได้สีในวันนั้น จึงนำมากรานกฐิน

    หลังจากนั้นหลายวันต่อมา พระโก้ พระกิ จึงได้กราบลาท่าน เพื่อไปกราบครูบาอาจารย์บุญมาก ที่วัดอำมาตย์ ประเทศลาว และจำพรรษาได้ ๑ พรรษา ส่วนท่านได้พาพระเณรออกวิเวกใกล้ๆแถบนั้น และเมื่อเข้าพรรษาจึงได้กลับไปจำพรรษาที่บ้านคุ้มอีก ส่วนวัดป่าติ้วท่านให้ลูกศิษย์ไปอยู่แทน
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ธรรมะอันสูงสุด

    พ่อใหญ่กูลิงเป็นคนเจ้าคัมภีร์ อาศัยว่าได้เรียนมามาก จึงไม่ยอมฟังใครง่ายๆ เมื่อทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์มาพำนักอยู่ที่บ้านคุ้ม จึงได้มุ่งหน้าไปหา เพื่อลองวิชาหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ได้ไปถามปัญหาต่างๆ กับครูบาอาจารย์เฒ่าเป็นนานสองนาน ถามจุดไหน ครูบาอาจารย์เฒ่าก็แก้จุดนั้นๆ ได้ จนพระเณรที่นั่งอุปัฏฐากพลิกแล้วพลิกอีก ก็ยังไม่ยอมเลิกถามปัญหา ตั้งแต่ฉันเสร็จจนตะวันบ่าย

    เมื่อเห็นเฒ่ากูลิงหมดปัญหาถามแล้ว ครูบาอาจารย์เฒ่าจึงชวนเฒ่ากูลิงว่า

    "อยากเห็นบ้อ ธรรมะอันสูงสุด ป๊ะสิพาไปเบิ่ง" (อยากเห็นมั้ย ธรรมะอันสูงสุด จะพาไปดู)

    พร้อมทั้งได้ห่มจีวร พาดสังฆาฏิอย่างดี พาเฒ่ากูลิงเดินไปหลังกุฏิ

    พอไปถึง เห็นตอไม้ถูกเผาดำเป็นตอตะโก ครูบาอาจารย์เฒ่าได้ใช้เท้าถีบไปที่ตอไม้นั้นอย่างแรง จนตอไม้ล้มลงพร้อมพูดว่า

    "นี่ละ ธรรมะอันสูงสุด"

    แล้วเดินกลับ ปล่อยให้เฒ่ากูลิงยืนดูตอไม้ที่ล้มลงอย่างงงงวย
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เข้าวัดเพราะหวย

    ในช่วงที่ท่านจำพรรษาที่บ้านคุ้ม จะมีโยมมากราบท่านมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้ง ถ้าคนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จะคิดว่ามีงานบุญประจำปี คนที่มาส่วนใหญ่รู้กิตติศัพท์ท่านดีว่า ท่านเทศน์ไม่เหมือนคนอื่น ท่านจะพูดตรงและถูกด้วย พูดไม่กลัวใครโกรธ และคนส่วนมากก็ไม่เคยฟังเทศน์ในแนวท่านนี้มาก่อน จึงเป็นของแปลกใหม่สำหรับคนที่เพิ่งมาได้ยินได้ฟัง และมีบางคนบอกว่าท่านให้หวยแม่น

    พ่อใหญ่เขียนเล่าว่า

    ตั้งแต่ผ่านมาอยู่ที่บ้านคุ้ม จนถึงท่านล่วงไป ก็ไม่เคยเห็นว่าท่านจะบอกหวยอะไร ถ้าท่านบอกจริงผมคงรวยก่อนเพื่อนแล้ว

    และพ่อใหญ่เขียนได้มีโอกาสถามท่านตัวต่อตัวว่า

    "ครูบาจารย์ขะน้อย ครูบาจารย์ฮู้อีหลีบ้อ เรื่องเลขเรื่องเบอร์นั้น คนคือมาหลายแท้" (ท่านพระอาจารย์ครับ จริงๆ หรือที่เขาว่าพระอาจารย์รู้หวยรู้เบอร์ คนถึงได้มาหาพระอาจารย์มาก)

    ท่านตอบว่า

    "คนอย่างทองรัตน์บ่ฮู้ของพอปานนี่ บ่ขี่ใส่ถานดอก" (คนอย่างทองรัตน์ไม่รู้ของเหล่านี้ จะไม่ขอขี้ใส่ส้วมดอก)

    มีตัวอย่างให้ดูมากมายที่ท่านพูด แต่คนนำไปแปลเป็นหวย บางครั้งท่านจับโน่นจับนี่ก็ตีกันไป เท่าที่อยู่ใกล้ชิดท่าน ก็ได้เคยเห็นใครสักคนที่ร่ำรวยเพราะหวย แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าคนทำไมถึงชอบนักชอบหนา

    มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้ใช้คราดกวาดใบไม้อยู่ มีโยมคนหนึ่งมาอ้อนวอนให้ท่านบอกหวย แต่ท่านก็กวาดเฉยทำไม่สนใจ โยมคนนั้นได้อ้อนวอนหนักเข้าๆ ท่านได้ยกคราดไล่ตีพร้อมทั้งพูดว่า

    "ไป...หนีไป โคตรพ่อ โคตรแม่มึง สะมากวนแท่ สิเฮ็ดหยั่งกะบ่พอได๋เฮ็ด" (ไป หนีไป โคตรพ่อ โคตรแม่แก ทำไมถึงได้รบกวนจัง จะทำอะไรก็ไม่เป็นอันทำ)

    ทั้งไล่ทั้งทำท่าจะตี พระเณรที่เห็นบอกว่าถ้าท่านตีจริงๆ โยมคนนั้นจมดินไปแล้ว โยมคนนั้นโกรธท่านมาก ไปบอกชาวบ้านว่า ท่านด่าบรรพบุรุษเขา ไม่สมกับเป็นพระเป็นเจ้า กะว่าจะรวมกันขับไล่ท่านออกไปจากวัด เมื่อไปพูดให้ใครฟัง เขาก็ไม่เชื่อ เขากลับแนะนำว่า ไม่ใช่ท่านให้หวยหรือ คิดให้ดี

    หลังจากหวยออกแล้ว ชายคนนั้นทำเหมือนไม่เคยโกรธครูบาอาจารย์เฒ่ามาก่อน ได้ปะปนเข้าไปในวัด พร้อมกับญาติโยมที่ไปถวายภัตตาหาร และแกล้งเอาคราดที่ครูบาอาจารย์ท่านไล่ตีมากวาดลานวัด พร้อมทั้งได้นับฟันคราด บวกกับกิริยาที่ท่านทำเหมือนโกรธ

    เมื่อแปลออกมา ชายคนนั้นถึงกับตบหัวตัวเองอย่างแรง ที่คิดว่าครูบาอาจารย์ท่านโกรธจริงๆ

    ต่อมาชายนั้นได้เข้าวัดอยู่บ่อยๆ จนในเวลาต่อมา ได้เป็นโยมอุปัฏฐากประจำของวัด เรื่องหวยเรื่องเบอร์ก็เลิกเล่นโดยไม่มีใครบอก ราวปาฏิหาริย์
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สะกิดครูบาอาจารย์

    ความพลั้งเผลอหรือความผิดพลาดต่างๆ ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน พระครูกมลภาวนากรได้เล่าว่า

    เป็นปกติธรรมดาของครูบาอาจารย์เฒ่ากับลูกศิษย์ ต้องติดตามทุกข์สุขกันตลอดตามธรรมวินัย ทั้งครูบาอาจารย์และลูกศิษย์ต่างจะเปิดโอกาสให้เตือนกันได้ เพื่อกันความเศร้าหมองอันอาจจะเกิดขึ้น ครูบาอาจารย์ทองรัตน์ ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรม และใจกว้าง พอที่จะยอมรับคำที่คนอื่นเตือนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์ทั้งพระทั้งโยม ท่านไม่เคยถือตัวแต่อย่างใด ผิดก็ยอมแก้ ยอมปรับปรุง

    ครูบาอาจารย์บุญมาก ซึ่งเป็นศิษย์ของครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์อยู่ที่วัดอำมาตย์ แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว วันหนึ่งได้ทราบว่าครูบาอาจารย์เฒ่าจะไปเยี่ยม จึงได้ให้พระเณรเก็บกวาดทำความสะอาดสถานที่ให้เรียบร้อย เพื่อต้อนรับครูบาอาจารย์ และได้ให้โยมซื้อน้ำหอมมาพรมตามกุฏิและที่อาสนะรองรับ เพื่อให้เกิดความหอม ทั้งที่รู้ว่าครูบาอาจารย์เฒ่าท่านเน้นหนักมากเรื่องนี้ จะเป็นการลองหรืออย่างไรไม่ทราบได้

    เมื่อครูบาอาจารย์เฒ่าไปถึง ครูบาอาจารย์บุญมากได้ไปรับย่ามล้างเท้าให้ท่าน และนำนิสีทนะของท่านไปปูทับอาสนะที่จัดไว้แล้ว เมื่อครูบาอาจารย์เฒ่าผ่านขึ้นไปถึง กำลังก้มกราบพระอยู่นั้น ท่านได้กลิ่นน้ำหอม ท่านจึงจับผ้านิสีทนะขึ้นดมพร้อมกับพูดในเชิงดุว่า

    "พระนี่ มันบ่ฮู้จักหยังตั๋ว อยู่ไกลหมู่ไกลพวก เฮ็ดไปมะลำมะลอยนี่" (พระนี่ไม่รู้จักอะไร อยู่ไกลหมู่ไกลคณะ ไกลครูบาอาจารย์ อยากทำอะไรก็ทำไม่คำนึงถึงธรรมวินัยนี่)

    และได้เดินลงกุฏิไปปูผ้านิสีทนะที่ใต้ร่มไม้ครูบาอาจารย์บุญมากจึงได้ไปกราบท่าน และแกล้งกราบเรียนท่านว่า

    "ขอโอกาสขะน้อย โยมเขามีศรัทธาสร้างกุฏิใหม่ จึงอยากให้ครูบาอาจารย์ได้อนุโมทนาตามประเพณี" ครูบาอาจารย์เฒ่าฉุกคิดนิดหนึ่งแล้วพูดเรื่องอื่นต่อไป
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เตือนสติลูกศิษย์

    "การทำให้ดู ดีกว่าพูดให้ฟัง" เป็นการสอนที่ครูบาอาจารย์เฒ่าชอบใช้กับลูกศิษย์ เพราะการใช้คำพูดบางครั้ง บางสถานการณ์อาจไม่เหมาสม แต่ถึงอย่างไรการเตือนหรือให้สติก็เพื่อมุ่งประโยชน์ต่อผู้ถูกเตือน เพราะความผิดพลาด ถ้าดูเองแก้ไขเอง บางครั้งอาจมองเห็นไม่ทั่วถึงทุกอย่าง

    ครั้งหนึ่งครูบาอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง ซึ่งอยู่ในย่านที่ใกล้ความเจริญ ท่านจะกลัวลูกศิษย์เพลิดเพลินในเอกลาภหรืออย่างไรไม่อาจทราบได้ ได้ไปกราบครูบาอาจารย์บุญมาก ที่วัดอำมาตย์ประเทศลาว

    ปกติของครูบาอาจารย์บุญมาก ท่านชอบลองชอบทดสอบ ถึงความรอบคอบในธรรมวินัยต่างๆ ท่านทราบว่าครูบาอาจารย์ชาเป็นพระที่ละเอียดในธรรมวินัยรูปหนึ่ง จึงได้จัดกุฏิให้รกรุงรังไม่เหมือนกับที่เคยทำในเวลาปกติ ที่เคยนุ่งห่มผ้าสีแก่นขนุนก็เก็บผ้านั้นไว้ นำผ้าสีเหลืองสีขาวที่ไม่ได้ย้อมมานุ่ง นำผ้าสบงมาห่มแทนจีวร นั่งสูบบุหรี่มวนโตๆ พร้อมเคี้ยวหมากให้หกเรี่ยราดไปหมด ไม่เหมือนกับที่เคยปฏิบัติมาปกติทุกวัน

    เมื่อครูบาอาจารย์ชาได้ไปถึง ไม่รู้ว่าจะกราบลงตรงไหน เพราะมีแต่ของและฝุ่นเต็มไปหมด ครูบาอาจารย์ชาได้พูดเชิงตำหนิว่า

    "โอ้ยครูบาจารย์จั๊กเฮ็ดจั่งได๋ เฮ็ดบ่ให้ลูกศิษย์ลูกหาเอาแบบอย่างได่" (โอ้ย พระอาจารย์ไม่ทราบทำอย่างไร ทำไม่ให้ลูกศิษย์เอาเป็นตัวอย่างได้

    ครูบาอาจารย์บุญมากก็เลยพูดว่า

    "โอ้ย จั๊กสิเฮ็ดจั่งได๋แหล้ว แนวพระอยู่บ้านนอกคอกนาสิเลือกไซ่เลือกสอย คืออยู่ในเมืองในนาบ่ได้แหล่ว" (โอ้ย ไม่รู้จะทำอย่างไร อยู่ตามชนบทจะเลือกใช้เลือกสอยเหมือนกับในเมืองมันก็ทำไม่ได้)

    มีอีกคราวหนึ่ง ครูบาอาจารย์บุญมากได้มาเยี่ยมครูบาอาจารย์กิที่วัดสนามชัย อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ปกติครูบาอาจารย์กิท่านไม่ชอบแปรงฟัน ทำให้มีกลิ่นปากเวลาพูดกับคนที่ไปร่วมสนทนาด้วย ทำให้เกิดความรังเกียจ เมื่อครูบาอาจารย์บุญมากกลับไปไม่นานได้ฝากไม้เจียที่พระใช้เป็นแปรงสีฟันและยาสีฟันเกลือมาให้ครูบาอาจารย์กิ พร้อมมีจดหมายว่า

    "ท่านกิให้ช่วยใช้ไม้สีฟันให้ด้วย"

    พอกะว่าจะหมดก็ฝากมาอีก ทำอยู่หลายครั้งจนครูบาอาจารย์กิใจอ่อนยอมใช้
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เตรียมการก่อนละสังขาร

    ก่อนหน้าที่ครูบาอาจารย์เฒ่าจะละสังขารประมาณเดือนหนึ่ง ท่านได้พาพระเณรพร้อมญาติโยมหาฟืน ตัดถนน จัดสถานที่ เหมือนกับทางวัดจะมีงานบุญอะไรสักอย่าง ทุกคนที่ทำงานต่างก็สงสัยว่า ทางวัดจะจัดงานอะไร ถามท่าน ท่านก็บอกให้รีบเตรียมเดี๋ยวจะไม่ทันกาล ตัดถนนก็ตัดให้กว้างๆ เพราะรถจะมาเยอะ ทั้งที่ตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านมา นานๆ จะมีรถเข้ามาครั้งหนึ่ง บางคนตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นรถเลยก็ยังมี รถที่ไหนจะมา ที่นาที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็ให้ปรับให้เรียบร้อย การเตรียมสถานที่ได้ร่วมกันจัดเตรียมเกือบเดือน แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีญาติโยมหรือใครต่างถิ่นมาติดต่อว่าจะมีงานอะไร

    มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านได้พาโยมไปตัดต้นไม้ ตกแต่งสถานที่แถวริมห้วยข้าวสาร ท่านได้เอ่ยขึ้นเป็นทีเล่นทีจริงว่า

    "คั่นถ่าพ่อตาย ย่านแต่เขาเอาดูกพ่อไปขายกินแล่ว คันสิเป็นจั่งสั่นอีหลีให้ฟาวเผา แล้วเขี่ยลงห้วยข้าวสารหนี่ ให้ปลากินหยังสิเป็นประโยชน์กว่า" (เมื่ออาตมาตาย กลัวจริงๆ กลัวคนเขาจะเอากระดูกไปขายกิน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าอาตมาตายก็ให้พากันรีบจัดการเผา และโปรยกระดูกลงห้วยข้าวสารนี้นะ ปลาจะได้กินเป็นประโยชน์กว่า)

    เพราะครูบาอาจารย์เฒ่า คือ ครูบาอาจารย์เฒ่า จึงยากจะหาใครเปรียบเหมือนท่านได้ ไม่ว่าเรื่องการปฏิบัติ การเทศนา การใช้อุบายสั่งสอนลูกศิษย์ ตลอดทั้งปฏิปทาอันงดงามต่างๆ ที่ท่านฝากไว้ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์และอนุชนรุ่นหลัง บ่อยครั้งการใช้อุบายการสอนของท่านต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยง ต้องเอาชื่อเสียงเกียรติยศเข้าแลก เพียงเพื่อต้องการลบรอยฝ้าที่ฝังอยู่ในจิตในใจปุถุชนทั้งหลาย ให้ใสสว่างขึ้น เพื่อรองรับรสพระธรรม

    วัดทุกวัด กุฏิทุกหลัง ตลอดทั้งปัจจัยสี่ที่ท่านได้อาศัยพำนักบำเพ็ญเพียร ตลอดทั้งใช้เป็นสถานที่ในการอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ก็ไม่เคยปรากฏเป็นหลักฐานให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นแม้แต่ชิ้นเดียว คงเหลือแต่วัดป่ามณีรัตน์ และเจดีย์บรรจุอัฐิของท่าน ที่คณะศิษย์สร้างถวายเพื่อเป็นที่ระลึกไว้กราบไหว้บูชาพระคุณอเนกนานัปการหาใครเสมอเหมือนได้ยาก

    "ทองรัตน์" ชื่อนี้เป็นที่ยอมรับและได้ความไว้วางใจจากบูรพาจารย์ทั้งสอง คือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นที่เคารพนับถือของพระภิกษุ สามเณร ตลอดทั้งเป็นที่ศรัทธาอย่างมากของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วไป ท่านเปรียบเสมือนเป็นแม่ทัพนายกองใหญ่ แห่งกองทัพธรรมฝ่ายมหานิกาย ในการเผยแผ่ แนวทางการปฏิบัติกรรมฐานสายพระป่า ด้วยปฏิปทาอันเด็ดเดี่ยวของครูบาอาจารย์เฒ่า ท่านไม่เคยยอมให้มีสิ่งใดเป็นสัญลักษณ์แทนองค์ท่าน ยามเมื่อท่านจากไป จึงยากที่บุคคลจะรู้จัก ท่านจึงเป็นบูรพาจารย์ที่น้อยคนนักจะรู้จักในยุคนี้ อีกทั้งเป็นนาบุญอันยิ่งใหญ่ อยากจะหาใดเปรียบได้

    เมื่อจัดสถานที่เกือบเสร็จสมบูรณ์ พอที่จะรองรับผู้คนที่อาจจะมาจากทางไกลได้แล้ว เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น สองคืนที่ผ่านมา ดวงจันทร์เคยแจ่ม บ่งบอกฤกษ์แห่งพระจันทร์เต็มดวง แต่ค่ำคืนนี้ดวงจันทร์ได้มืดลง บรรยากาศในบ้านคุ้ม บ้านโคกสว่างและหมู่บ้านใกล้เคียงเงียบวังเวงกว่าทุกวัน สุนัขที่เคยเห่า ไก่ที่เคยขันกลับไม่ได้ยินเสียง ไม่ต่างจากบ้านร้าง ชายที่เป็นผู้นำของครอบครัวทุกคน ต่างมุ่งหน้าสู่วัดโนนบักบ้า

    หลวงปู่ครูบาอาจารย์เฒ่าปกติเป็นคนแข็งแรง สูงใหญ่ ผิวหมึกบึกบึน เสียงห้าวราวกับราชสีห์ ยากนักที่คนจะได้เห็นกิริยาล้มหมอนนอนเสื่อ แต่ทุกคนต้องได้ประจักษ์ในคืนนี้เอง แม้กระนั้นก็ไม่วายที่จะเตือนลูกศิษย์ทั้งหลายให้เร่งภาวนา

    "อย่าเสียเวลาในการมาเฝ้าไข้เลย พ่อไม่เป็นอะไรมากดอก"

    ทุกคนที่มองดูอาการของครูบาอาจารย์เฒ่า ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คืนนี้ครูบาอาจารย์เฒ่าดูอ่อนเพลียมาก เนื่องจากท้องร่วงตั้งแต่เย็นวานนี้ ทุกคนได้แต่ภาวนาให้สว่างเร็วๆ ตลอดทั้งคืน ทุกคนต่างแปลกใจ ที่ทุกวัน เมื่อถึงเวลาประมาณตีหนึ่งและตีสี่ ไก่ซึ่งเคยขันไม่เคยผิดพลาด แต่ทำไมคืนนี้เจ้าไก่จึงไม่ทำหน้าที่เหมือนกับทุกวัน

    อาการของครูบาอาจารย์เฒ่าได้เริ่มทรุดลงเรื่อยๆ ทุกคนต้องกระสับกระส่าย เมื่อเห็นอาการของครูบาอาจารย์เฒ่าเป็นเช่นนั้นทุกคนต่างปรึกษากันว่าจะไปตามหมอที่บ้านโคกสว่าง แต่ท่านพูดด้วยเสียงแผ่วเบาว่า

    "ไม่ต้องไปดอกลูกเอ๋ย พ่อบ่เป็นหยังดอก"

    ทุกคนจึงเงียบและเฝ้ามองดูอาการน่าเป็นห่วงของท่าน เมื่อเห็นสีหน้าครูบาอาจารย์เฒ่าซีดเผือด ริมฝีปากแห้ง พ่อใหญ่เขียนซึ่งนั่งเฝ้าดูอาการท่านตลอดคืนไม่ยอมหลับ เมื่อเห็นอาการดังกล่าว ถึงครูบาอาจารย์จะห้าม แต่ถือเป็นหน้าที่ของศิษย์ที่จะต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุด คิดได้อย่างนั้นจึงคว้าผ้าขะม้าคาดพุง วิ่งข้ามทุ่งนา จุดหมายคือบ้านหมอที่บ้านโคกสว่าง แต่ถึงกระนั้นก็ช้าไปเสียแล้ว

    ลมหายใจของครูบาอาจารย์เฒ่าได้แผ่วเบาลงตามลำดับ ในเวลาที่แสงทองเริ่มจับขอบฟ้า บ่งบอกถึงเวลาของวันใหม่ การเดินทางของครูบาอาจารย์เฒ่าได้สิ้นสุดลงในวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๙๙ ครูบาอาจารย์เฒ่าได้ทิ้งสังขารอันทรุดโทรมไป โดยไม่มีเยื่อใยอีกต่อไป รวมสิริอายุได้ ๖๘ ปี ๔๑ พรรษา สร้างความเศร้าโศกให้แก่ศิษยานุศิษย์ที่อยู่เบื้องหลังหาประมาณมิได้
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    งานถวายเพลิง ครูบาอาจารย์เฒ่า

    ในวันที่ท่านละสังขาร ลูกศิษย์ของท่านทั้งพระทั้งโยม เมื่อได้ยินข่าวต่างก็พากันมาอย่างล้นหลาม ก่อนที่ครูบาอาจารย์เฒ่าจะละสังขาร ครูบาอาจารย์บุญมากได้นิมิตว่า ภูมะโรงสั่นสะเทือนไปทั้งลูก จึงคิดว่าสิ่งนี้คงเป็นนิมิตเตือนให้ทราบว่า ครูบาอาจารย์เฒ่าคงใกล้จะจากไปแล้ว จึงได้รีบมาที่บ้านคุ้ม เมื่อมาถึง ก็เป็นตามนิมิตที่เกิดขึ้นจริงๆ และท่านได้เป็นกำลังสำคัญคือ เป็นองค์ประธานในการจัดการสรีระของครูบาอาจารย์เฒ่า อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเคารพและเทิดทูนในพระคุณของครูบาอาจารย์เฒ่า

    ชาวบ้านชีทวน เมื่อทราบว่าครูบาอาจารย์เฒ่าได้ละสังขารไปแล้ว ต่างพากันมาเพื่อจะขอนำสรีระท่านกลับไปทำบุญที่บ้านชีทวน แต่ชาวบ้านคุ้มไม่ยอมให้ จึงเกิดโกลาหลวุ่นวายขึ้น พ่อใหญ่แท่ง พ่อใหญ่กัณหา พ่อใหญ่เขียน พ่อใหญ่อ่วม และชาวบ้านคุ้มได้คัดค้านว่า ถึงอย่างไรก็ไม่ยอมให้ไปเด็ดขาด ถึงแม้ตายก็ยอม

    ชาวบ้านชีทวนเห็นความเด็ดเดี่ยวดังนั้นจึงยอม แต่มีข้อแม้ว่า ต้องทำให้สมเกียรติสมศักดิ์ศรีของครูบาอาจารย์เฒ่า และขอให้ช่างตกแต่งจากบ้านชีทวนชื่อ จารย์ครูคำหมา แสงงาม มาเป็นช่างตกแต่ง

    พ่อใหญ่ทั้งหลายและชาวบ้านจึงรับปาก จารย์ครูหมาจึงได้มาตกแต่งสรีระและหีบเพื่อบรรจุรอการสร้างเมรุ โดยหีบจะทำข้างหนึ่งเป็นกระจกปิดเปิดได้ เพื่อให้คนปิดแผ่นทองได้ ส่วนเมรุได้นำเข่งกว่า ๒๐๐ ลูก มาทำเป็นฐานและเป็นเชื้อเพลิงในตัว ชั้นถัดขึ้นมาเป็นสรีระครูบาอาจารย์เฒ่าบรรจุหีบ ชั้นล่างและชั้นบนบรรจุขี้เลื่อย

    เมื่อตกแต่งเมรุเสร็จ ประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้กำหนดพิธีถวายเพลิง โดยมีทั้งพระทั้งโยมมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทุ่งนาที่มีเนื้อที่สุดลูกหูลูกตาเต็มไปด้วยคนและรถ พระเณรต้องข้ามไปปักกลดอีกฝั่งของห้วยข้าวสาร ส่วนญาติโยมจะทำเป็นผามยกร้านเอาใบมะพร้าวมามุงเป็นหลังคากันแดด ใช้แทนเต็นท์ ใช้ใบตองเหียงหรือใบชาด เย็บเป็นภาชนะใส่อาหาร เพราะถ้วยจานที่มีไม่พอใช้

    หลวงพ่ออวนเล่าว่า หลังจากทราบข่าวครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ละสังขาร ความโศกเศร้าได้ครอบคลุมถึงบ้านหนองฮี นครพนม จึงได้พากันไปถวายเพลิงครูบาอาจารย์เฒ่าเป็นจำนวนมาก โดยการนั่งรถไป แต่ไม่มีทางลาดยาง จะมีเฉพาะทางเกวียนเป็นหลัก

    ผู้ไปร่วมงาน มีทั้งพระเณรและญาติโยมจำนวนมาก ได้แก่

    หลวงพ่อบุญมาก ฐิตปุญฺโญ วัดอำมาตย์

    หลวงพ่อสาย จารุวณฺโณ วัดป่าหนองยาว

    หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง

    หลวงพ่อกิ ธมฺมุตฺตโม วัดสนามชัย

    หลวงพ่ออวน ปคุโณ* วัดป่าจันทิยาวาส ฯลฯ

    บรรยากาศในวันงานตอนเช้าปลอดโปร่งแจ่มใสดีมาก ไม่มีเค้าว่าฝนจะตกแต่อย่างใด พอจะเริ่มพิธีตอนบ่าย ท้องฟ้าเกิดปั่นป่วน พร้อมทั้งมีลมพัดฝุ่นตลบไปทั่วบริเวณ เมื่อจุดไฟถวายเสร็จแล้ว ลมจึงสงบลงและมีละอองฝนปรอยๆ ทำให้คนที่มาร่วมงานต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา

    ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านได้สร้างประโยชน์มาก สุดท้ายต้องมาจากไปตามกฎธรรมชาติ แทบจะไม่เหลืออะไรเป็นสมบัติพอให้ลูกศิษย์ และอนุชนรุ่นหลังได้กราบไหว้ระลึกถึงเลย นอกจากสมบัติส่วนตัวติดย่าม ซึ่งมีแต่ผ้านิสีทนะและมีดโกนที่คมกร่อนจนเกือบจะถึงสันเท่านั้น เมื่อมาก็มาเปล่า ไปก็ไปแบบบริสุทธิ์จริงๆ.

    * ในวันนั้น หลวงปู่กินรีอาพาธหนักจึงให้หลวงพ่ออวน ปคุโณไปแทน
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล ๑
    วัดป่าบ้านคุ้ม ต.โคกสว่าง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี
    จากหนังสือ แก้วมณีอีสาน​


    ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
    หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล เป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม สายหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ฝ่ายมหานิกาย ที่มีอาจาระงดงาม ไม่ติดที่ไม่ติดวัด สมณะสันโดษเป็นที่สุด หลวงปู่มั่นได้กล่าวกับพระอาจารย์ทองรัตน์ ครั้งหนึ่งว่า “จิตท่านเท่ากับจิตเราแล้ว จงไปเทศนาอบรมสั่งสอนได้” ด้วยเห็นว่าหลวงปู่เป็นพระแล้ว ปฏิบัติดีแล้ว เป็นพระแท้จริง หลวงปู่มั่นจึงไม่ญัตติให้เป็นธรรมยุต ดังลูกศิษย์รูปอื่น ๆ หลวงปู่ทองรัตน์จึงเป็นพระภิกษุผู้ประสานติดต่อภิกษุสงฆ์มหานิกายให้เป็นพระป่า ยึดธรรมปฏิบัติตามบูรพาจารย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น

    พระอาจารย์ทองรัตน์ กันตสีโล ชาติภูมิเดิม นามทองรัตน์ บรรพบุรุษของตระกูลเป็นชาวบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี แล้วอพยพย้ายถิ่นไปสู่บ้านสามผง อำเภอศรีเวินชัย หรืออำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เกิดที่บ้านสามผง หรือ บ้านชีทวน ยังไม่ทราบแน่ชัด เมื่อ พ.ศ. 2431 เป็นบ้านเดียวกับท่านอาจารย์เกิ่ง และพระอาจารย์วัง แห่งภูลังกา พี่ชายท่านคนหนึ่ง เป็นกำนันของตำบลนี้ คือ กำนันศรีทัศน์ บิดาเป็นคหบดี คนมั่งคั่งในหมู่บ้าน และมีหน้าที่เก็บส่วย

    ในวัยเด็ก ท่านเป็นคนค่อนข้างจะหัวดื้อ นิสัยออกจะนักเลง งานบุญประจำปี หรือเทศกาลของหมู่บ้าน ช่วงวัยเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม ชอบไปทางนักเลงสุรา สะพายบั้งทิงเหล้าหรือกระบอกสุราเหมือนนักเลงเหล้า พระอาจารย์หลวงปู่กิ ธัมมัตตโม แห่งวัดป่าสนามชัย บ้านสนามชัย อำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ศิษย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของพระอาจารย์ทองรัตน์ เล่าถึงภูมิหลังของท่าน

    การศึกษามูลฐาน ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนบ้านเกิด
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

    จากชีวิตคฤหัสถ์ที่สนุกสนานคึกคะนอง ค่อนไปทางนักเลงสุรากลางบ้าน พูดจาโผงผาง พูดขำขันตลกขบขัน และช่วยบิดามารดาทำมาหากินอย่างขยันขันแข็ง จนล่วงเลยวัยเบญจเพส ชีวิตของท่านจึงเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

    เหตุที่จูงใจที่ทำให้พระอาจารย์ทองรัตน์ ตัดสินใจออกบวชก็คือ มีสาวชาวบ้านคนหนึ่งมารักถึงขั้นจะหนีตาม ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ฟังว่า “บวชหนีผู้สาว” (บวชหนีหญิงสาว)

    แต่เมื่อพระอาจารย์ได้บวชแล้ว ซาบซึ้งในรสพระธรรมจึงไม่ยอมลาสิกขาบท พระอาจารย์ทองรัตน์ได้บรรพชาเป็นเณร แล้วลาสิกขาเป็นเซียงทองรัตน์ มีชีวิตเสพสุขสนุกสนาน และช่วยงานการบิดามารดา จนประมาณอายุ 26 ปี พระอาจารย์จึงอุปสมบท โดยบวชที่บ้านสามผง มีเจ้าอาวาสวัดบ้านสามผงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกิ่ง และพระอาจารย์อุ่น เป็นพระกรรมวาจารย์ ได้ฉายาว่า กันตสีโล พระอาจารย์สนใจและตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย ปริยัติธรรม ด้วยความเอาใจใส่โดยอยู่ในสายพระวัดบ้านนานถึง 5 พรรษา จึงเป็นพระปาฏิโมกข์ ที่แตกฉานในการสวดปาฏิโมกข์

    ในพรรษาที่ 6 พระอาจารย์เริ่มเบื่อหน่ายต่อการศึกษาปริยัติ นึกเปรียบเทียบการปฏิบัติกับพระธรรมวินัย ของตนแล้วดูจะห่างไกลกันมาก ยิ่งมีความสงสัยในการประพฤติปฏิบัติว่าจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง อีกทั้งได้ยินข่าวครูบาอาจารย์ในทางวิปัสสนากรรมฐานที่สกลนคร คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ซึ่งพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส และวัดป่าในละแวกเขตอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ว่าเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ชำนาญด้านวิปัสสนาธุระ มีประชาชนเคารพเลื่อมใสศรัทธามาก

    ดังนั้น ในพรรษาที่ 6 พระอาจารย์ทองรัตน์ได้เดินทางไปจังหวัดสกลนคร เข้านมัสการ และขอโอกาสถามปัญหาในข้อวัตรปฏิบัติ ปกิณกธรรม และวิสุทธิมรรค จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์

    พระอาจารย์อวน ปัคโณ (อายุ 66 ปี 46 พรรษา) แห่งวัดจันทิยาวาส นครพนม ศิษย์ผู้ใกล้ชิดรูปหนึ่ง ได้เล่าถึงการไปศึกษาธรรมของพระอาจารย์ทองรัตน์ กับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตมหาเถระไว้ว่า

    ขั้นแรกของการศึกษา หลวงปู่ทองรัตน์ไม่รู้สึกอะไร ภาวนาตามธรรมดา หลวงปู่มั่นได้แนะนำว่า รู้ไม่รู้ไม่สำคัญ ขอให้ทำจิตใจให้รู้จักจิตว่าสงบหรือไม่สงบ พระอาจารย์ทองรัตน์ได้ออกวิเวกเที่ยวธุดงค์ไปแล้วกลับมาถามพระอาจารย์มั่นอีก โดยถามว่า จิตสงบเป็นอย่างไร

    พระอาจารย์มั่นถาม “เท่าที่ทองรัตน์ ปฏิบัติทุกวันนี้ รู้สึกว่าเป็นแบบใด”

    พระอาจารย์ทองรัตน์ตอบว่า “มีเหตุหนักกายหนักใจ ใจฝืดเคืองนัก”

    พระอาจารย์มั่นแนะนำว่า

    “เรื่องที่หนักกายหนักใจนั่น ไม่ใช่เพราะการบำเพ็ญภาวนา แสดงว่ามีความเชื่อมั่นศรัทธาอยู่ในการปฏิบัติ อยากทำ แต่ไม่รู้จักวิธี การปฏิบัติให้รักษาจิต รักษาระเบียบวินัย กิจวัตร ข้อวัตรวินัยต้องเข้มงวด ปฏิบัติถึงแล้วก็จะเกิดเมตตา มีเมตตาแล้วแสดงว่ามีศีลบริสุทธิ์ มีศีลบริสุทธิ์แล้วจิตก็สงบ จิตสงบแล้วจะเกิดสมาธิ”

    พระอาจารย์ทองรัตน์ได้อุบายธรรมปฏิบัติแล้วได้นมัสการลาออกหาวิเวกธุดงค์ จนกระทั่งรู้จักสมาธิแล้ว จึงมาหาท่านพระอาจารย์มั่น และได้เล่าให้ท่านฟังว่า ผมรู้จักแล้วสมาธิ

    ท่านพระอาจารย์มั่นจึงถามว่า ที่ว่ารู้จักนั้น รู้จักแบบไหน

    พระอาจารย์ทองรัตน์ตอบว่า รู้จักแบบ เมื่อเป็นสมาธิแล้วก็เบากาย เบาจิต
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่มั่น ได้แนะนำต่อว่า

    จิตสงบแล้วก็ให้พิจารณาขันธ์ 5 ให้รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    พระอาจารย์ทองรัตน์ จึงได้ออกวิเวกธุดงค์ไปตามหุบห้วยภูผาป่าช้าต่าง ๆ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้เป็นบูรพาจารย์ เช่น ห้ามเทศน์เด็ดขาด ให้ระวังสำรวม ให้อยู่ตามต้นไม้ อยู่ป่า สหธรรมิกที่มีอุปนิสัยต้องกันในระหว่างจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์มั่น คือ พระอาจารย์บุญมี บ้านสูงเนิน กุดจิก นครราชสีมา

    หลวงปู่กิ เล่าถึงพระอาจารย์ทองรัตน์ไว้ว่า นอกจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้ว พระอาจารย์ทองรัตน์ ท่านเคารพนับถือ พระอาจารย์เสาร์ เป็นอาจารย์อีกรูปหนึ่ง ซึ่งท่านกล่าวถึงมากที่สุด

    เมื่อออกธุดงค์ใหม่ ๆ ในพรรษาที่ 7 กับพระอาจารย์มี ได้มีญาติโยมมาสนทนาธรรมและขอฟังเทศน์จากท่าน หลวงปู่ก็มักจะบ่ายเบี่ยงว่าเราบวชน้อย อายุพรรษาไม่มาก ครูบาอาจารย์ยังไม่ให้เทศน์

    พระอาจารย์ทองรัตน์ ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ และปฏิบัติมาก ถือการอยู่ป่าตามโคนต้นไม้ บางทีท่านเอาศีรษะหนุนโคนต้นไม้ บางทีนอนหนุนกิ่งไม้มัดรวมกับใบไม้ หรือบางทีก็เอาฟางข้าวมามัดเป็นหมอนหนุน บางครั้งนั่งสมาธิกลางป่าไม่มีมุ้ง บางทีได้กระบอกน้ำก็สะพายปลีกตัวขึ้นไปอยู่รูปเดียวหลังภูเขา พยายามพากเพียรภาวนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

    ความมักน้อย และเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ไม่ใช้สิ่งของที่เขาไม่ถวายและไม่ออกปากขอ เพราะถือว่าเขาไม่ใช่ญาติโยม ไม่มีด้ายและผ้าเอามาปะชุนผ้าจีวร ท่านได้หาหนามและไม้ป่ามาเย็บสอดยึดส่วนที่ขาดเอาไว้ ครั้งหนึ่งผ้าจีวรขาดจนไม่สามารถหาอะไรมายึดไว้ได้ หลังจากกลับจากธุดงค์ ท่านได้เข้าไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ขอลากลับบ้านสามผง จะไปขอผ้ามาทำจีวร พระอาจารย์มั่นทรมานจิตของท่านโดยกล่าวว่า

    “อยากจะได้ธรรมไม่ใช่หรือจึงมาบวช จะแสวงหาธรรมะมันไม่ใช่ของง่าย”

    และท่านยังพูดต่ออีกว่า

    “ไม่ใช่คิดถึงบ้านหรือ ถ้ามัวมาคิดถึงบ้านจะไปถึงไหน ทำความเพียรให้มาก จะได้เห็นธรรมเร็วขึ้น”

    พระอาจารย์มั่นแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระบทว่าจะสำเร็จเร็วขึ้น

    พระอาจารย์ทองรัตน์ เรียนว่า ถ้ำพระบทนั้นได้ยินว่า พระรูปใดไปแล้วมีแต่ตายกับตาย ไม่เคยกลับมา ที่กลับมามีแต่เป็นล่อย ล่อย (เป็นห้อย) ทั้งนั้น (เป็นล่อย หรือหล่อย คือเป็นง่อยเปลี้ยทำนองนี้ครับ ไม่มีแรง, กำลังกาย)

    พระอาจารย์ทองรัตน์ ได้เดินทางไปถ้ำพระบท ซึ่งขึ้นชื่อว่า เจ้าที่แรง และไปบำเพ็ญภาวนาจำพรรษาอยู่รูปเดียว ในเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ พระอาจารย์ได้นั่งสมาธิสงบนิ่งอยู่ในถ้ำในกลางดึก ได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครม เหมือนเสียงฝูงสัตว์และคนจำนวนมากวิ่งอยู่บนภูเขาทั้งลูกเหนือน้ำ ภูเขาทั้งลูกสั่นสะเทือนไปทั่ว มีเสียงหวีดร้องคล้ายสัตว์และคน

    พระอาจารย์เล่าให้ศิษย์ฟังว่า พระอาจารย์ขนลุก ผมบนศีรษะตั้งอยู่หลายวัน ตั้งใจอยากจะออกไปดู แต่ก็นั่งเป็นสมาธิสงบระงับอยู่อย่างนั้น และความคิดหนึ่งก็โต้แย้งว่า ไม่ใช่ธุระอะไรของเรา เรื่องของเขาเขาจะเป็นอะไรก็อยู่ต่างหาก เรื่องของเราเราก็อยู่ต่างหาก

    เมื่อตั้งสติได้มั่นแล้ว ทำให้เกิดความสงบเยือกเย็น เบิกบาน ไม่มีความกลัวใด ๆ และความกลัวตอนแรก ๆ หายไปหมดสิ้น มีความรู้สึกใหม่เกิดขึ้นคือ อยากเทศน์ อยากจะโปรดสัตว์ทั้งหลาย มันเหมือนว่าแม้จะมีด้ายมาเย็บปากไว้ ด้ายก็จะขาด มันอยากเทศน์ อยากจะเทศน์โปรดคนทั้งโลก อยากไปเทศน์ประเทศใกล้เคียงทั้งพม่า มลายู จึงนั่งเทศน์อยู่คนเดียว เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอน

    ญาติโยมที่อยู่หมู่บ้านใกล้ภูเขาเห็นท่านไม่ไปบิณฑบาตหลายวัน คิดว่าคงมีอะไรเกิดขึ้นกับท่าน และได้ขึ้นมาดู ท่านจึงรู้สึกตัว

    วันต่อมา หลังจากรู้สึกตัว ท่านได้ลงไปบิณฑบาต เนื่องจากไม่ได้นอน 7 วัน 7 คืน ตาจึงแดงก่ำไปหมดทั้ง 2 ตา

    โยมทักว่า อาจารย์ป่วยหรือตาจึงแดง

    ท่านตอบโยมไปว่า สบายดี

    โยมถามต่อไปว่า ท่านฉันอาหารได้ดีอยู่หรือ

    ท่านตอบว่า ฉันได้ดีอยู่

    แต่พอถึงเวลาฉัน เนื่องจากไม่ได้ฉันมาหลายวัน ร่างกายไม่รับอาหาร ฉันได้ 2-3 คำ จึงได้รู้สึกตัวว่าได้โกหกญาติโยมไปแล้ว จึงได้ตั้งสติใหม่ และตั้งจิตให้มั่นคง จิตจึงได้กลับเป็นปกติ และเกิดความสงบเยือกเย็นเบิกบาน

    เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์ได้เดินทางกลับไปนมัสการพระอาจารย์มั่น และได้เล่าเหตุการณ์ให้พระอาจารย์ฟัง

    ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า จิตท่านกับจิตเราเท่ากันแล้ว ต่อไปท่านอยากจะเทศน์ก็เทศน์

    พระอาจารย์ทองรัตน์ ท่านเป็นพระที่ไม่ยึดติดในเสนาสนะ ชอบสันโดษ จำพรรษาแต่ละแห่งไม่นานมักจะย้ายวัด หรือออกธุดงค์ตามป่าเขาเป็นส่วนใหญ่ ในพรรษาต่อ ๆ มา ท่านได้ธุดงค์ไปถึงประเทศพม่ากับพระอาจารย์มี นอกจากนี้ก็ยังธุดงค์ไปทั่วภาคอีสานและภาคเหนือภาคกลาง

    ด้านอุปนิสัยของพระอาจารย์ทองรัตน์ เป็นผู้มีอารมณ์ขัน พูดจาโผงผาง เสียงดังกังวาน ลูกศิษย์ลูกหายำเกรง ท่านมีนิสัยทำอะไรแผลง ๆ แปลก ๆ

    หลวงพ่อชา สุภัทโท ซึ่งนับถือพระอาจารย์ทองรัตน์เป็นพระอาจารย์ของท่านรูปหนึ่ง เคยเล่าให้ศิษย์ฟังถึงพระอาจารย์ทองรัตน์เสมอในความเคารพที่ท่านมีต่อพระอาจารย์ ความชื่นชอบปฏิปทาที่ห้าวหาญอีกทั้งปัญญาบารมี และอารมณ์ขันของท่าน เป็นต้นว่า เมื่อไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ท่านไปหยุดยืนที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง เมื่อเจ้าของบ้านเหลือบมาเห็นพระ ก็ร้องว่า

    “ข้าวยังไม่สุก”

    แทนที่พระอาจารย์ทองรัตน์ จะเดินจากไป ท่านกลับร้องบอกว่า

    “บ่เป็นหยังดอกลูก พ่อสิท่า ฟ่าว ๆ เร่งไฟเข้าเด้อ” (ไม่เป็นไรลูก พ่อจะคอย เร่งไฟเข้าเถอะ)
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ระหว่างพำนักอยู่กับหลวงปู่มั่น และไม่ค่อยได้ฟังเทศน์ พระอาจารย์ทองรัตน์ก็มีอุบายหลายอย่าง ที่ทำให้หลวงปู่มั่นต้องแสดงธรรมให้ฟังจนได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง ไปบิณฑบาต ท่านก็เดินแซงหน้าหลวงปู่มั่น แล้วก็ควักเอาแตงกวาจากบาตรออกมากัดดังกร้วม ๆ และอีกครั้งหนึ่งท่านไปส่งเสียงเหมือนกำลังชกมวย เตะถึงต้นเสาอยู่อย่างอุตลุดใต้ถุนกุฏิหลวงปู่มั่นนั่นเอง ในขณะที่เพื่อนสหธรรมิกต่างก็กลัวกันหัวหด ผลก็คือ ตกกลางคืน ลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ได้ฟังเสียงหลวงปู่มั่นอบรมด้วยเทศน์กัณฑ์ใหญ่ ทั้ง 2 ครั้ง

    หลวงพ่อชา เล่าว่า พระอาจารย์ทองรัตน์ เป็นผู้อยู่อย่างผ่องแผ้วจนกระทั่งวาระสุดท้าย เมื่อท่านมรณภาพนั้น ท่านมีสมบัติในย่ามคือ มีดโกนเพียงเล่มเดียวเท่านั้น

    หลวงปู่กินรี จันทิโย ศิษย์ต้นรูปแรก ผู้ใกล้ชิดที่สุดได้เล่าถึงหลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล ว่าเป็นพระอาจารย์ผู้เฒ่า ที่มีปฏิปทาสูงยิ่ง ท่านมีความรู้ ความสามารถเก่งกาจเฉพาะตัว เป็นนายทัพธรรมที่หลวงปู่มั่นท่านไว้วางใจที่สุด นิสัยของพระอาจารย์ทองรัตน์นี้ ท่านมีความห้าวหาญและน่าเกรงกลัวยิ่งนัก ซึ่งในบางครั้งกิริยาท่าทางของท่านออกจะดุดัน วาจาก้าวร้าว แต่ภายในจิตใจจริง ๆ ของท่านนั้นไม่มีอะไร หลวงปู่กินรีกล่าวต่อไปว่า มีอยู่คราวหนึ่งในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์สานุศิษย์ของหลวงปู่มั่น ซึ่งก็มีพระอาจารย์ทองรัตน์รวมอยู่ในที่นั้นด้วย

    หลวงปู่มั่นมองดูพระอาจารย์ทองรัตน์ แล้วเรียกขึ้นว่า “ทองรัตน์“

    “โดย” พระอาจารย์ทองรัตน์ประนมมือ แล้วขานรับอย่างนอบน้อม (คำว่า โดย เป็นภาษาอีสาน ซึ่งแปลว่า ขอรับกระผม เป็นคำสุภาพอ่อนน้อมที่สุดสำหรับคฤหัสถ์ และพระผู้น้อย นิยมใช้พูดกับพระภิกษุหรือพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมักจะใช้กิริยาประนมมือไหว้ระหว่างอกควบคู่ไปด้วย)

    หลวงปู่มั่น ท่านจึงพูดต่อไปว่า เดี๋ยวนี้พระเราไม่เหมือนกับเมื่อก่อนนะ เครื่องใช้ไม้สอย สบู่ ผงซักฟอก อะไร ๆ มันหอมฟุ้งไปหมดแล้วนะ

    “โดย” พระอาจารย์ทองรัตน์กล่าวตอบอีก

    ต่อมาขณะที่พระอาจารย์ทองรัตน์นั่งอยู่ที่แห่งหนึ่ง มีกลุ่มพระภิกษุ 2-3 รูป เดินผ่านท่านไป พระอาจารย์ทองรัตน์จึงร้องขึ้นว่า “โอ๊ย…หอมผู้บ่าว” (ผู้บ่าว แปลว่า ชายหนุ่ม บ่าว เป็นคำไทยแท้ ภาษาอีสาน นิยมเรียกว่า ผู้บ่าว) ในที่นี้เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของพระอาจารย์ทองรัตน์ ที่ใช้สำหรับสั่งสอนสานุศิษย์ของท่าน

    อยู่มาวันหนึ่ง พระอาจารย์ทองรัตน์ได้เป็นปัจฉาสมณะ (สมณะผู้ตามหลัง คือ พระผู้น้อยที่ไปกับพระผู้มีอาวุโสกว่า) ท่านได้ติดตามไปกับพระมหาเถระรูปหนึ่งในการเที่ยวภิกขาจารบิณฑบาต จะเป็นหลวงปู่มั่นหรือท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) องค์ใดนั้นไม่ทราบชัด พร้อมด้วยพระภิกษุ สามเณรอีกหลายรูป ในเส้นทางที่เดินไปนั้น ท่านพระมหาเถระเดินหน้า พระภิกษุทั้งหลายเดินหลัง เผอิญมาถึงที่แห่งหนึ่ง ก็มีวัวตัวผู้ตัวหนึ่งปราดเข้ามาต่อหน้าท่านพระมหาเถระ ท่าทางของมันบอกให้รู้ว่าไม่เป็นมิตรกับใคร ท่านพระมหาเถระจึงสำรวมจิตหยุดอยู่กับที่ โดยที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน ท่านอาจารย์ทองรัตน์ก็เดินรี่เข้าหาวัวตัวนั้น พร้อมกับพูดด้วยเสียงอันดังว่า “สู้รึ” วัวตัวนั้นตกใจได้วิ่งหลบหนีไปในทันที

    อีกครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับปฏิปทาในการสอนศิษย์ของพระอาจารย์ทองรัตน์ เรื่องมีอยู่ว่า เวลากลางคืนคืนหนึ่ง พระผู้ชรารูปหนึ่งกำลังนั่งทำสมาธิภาวนาอยู่นั้น “อุคหนิมิต” ได้เกิดขึ้นแก่พระชรารูปนั้น นิมิต คือ เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน ภาพที่เห็นในใจของผู้เจริญกรรมฐาน หรือภาพที่เป็นอารมณ์กรรมฐานมี 3 อย่าง คือ

    1. บริกรรมนิมิต คือ นิมิตในการกำหนด (บริกรรม) คือ การที่ภิกษุเพ่งดูวัตถุ หรือกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์ในการภาวนา สิ่งที่เพ่งนั้นเรียกว่า บริกรรมนิมิต

    2. อุคหนิมิต แปลว่า นิมิตเจนใจ คือ ภิกษุเพ่งดูวัตถุใด หรือกสิณใด เป็นอารมณ์ดังกล่าวมาแล้ว จะสามารถทำได้จนเจนใจ แม้จะหลับตาลงก็ยังสามารถมองเห็นวัตถุ หรือกสิณนั้นได้ติดตา ภาพที่ติดตาติดใจนั้นเรียกว่า อุคหนิมิต

    3. ปฏิภาคนิมิต แปลว่า นิมิตเทียบเคียง คือ เมื่อภิกษุเพ่งในนิมิตที่สองคือ อุคหนิมิต ดังกล่าวแล้ว สามารถปรุงแต่งดัดแปลงให้นิมิตนั้นใหญ่เล็กก็ได้ตามปรารถนา นิมิตอย่างนี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต

    เมื่อเกิดอุคหนิมิตขึ้น พระภิกษุชรารูปนั้นก็ได้เห็นร่างของท่านในนิมิตกลายเป็นบ่างตัวขนาดเขื่องเลยทีเดียว (บ่าง คือ สัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งตัวคล้ายกระรอก โตเกือบเท่าค่าง อยู่ตามโพรงไม้ สีข้างทั้งสองมีหนังเป็นพืดคล้าย ๆ ปีก โผไปมาได้ไกล ๆ) บ่างนั้นได้โผบินไปมาระหว่างต้นมะพร้าวในสวนแห่งหนึ่งอยู่ตลอดคืน พระชรารูปนั้นทำสมาธิ เกิดอุคหนิมิตอยู่จนอรุณรุ่ง อาการเหล่านั้นมันยังติดตาติดใจไม่หาย แม้จะลุกออกจากที่ ไปเที่ยวบิณฑบาตแล้วก็ตาม ทำให้เกิดปีติ พร้อม ๆ กับความสงสัยในอาการแห่งนิมิตเหล่านั้น ตั้งใจว่าวันนี้ฉันข้าวเสร็จแล้วจึงจะเข้าไปให้ท่านครูบาอาจารย์แนะนำ

    พอพระบิณฑบาตมาถึงวัด ก็เดินไปที่โรงฉันอันเป็นที่ซึ่งพระเณรจะมาฉันภัตตาหารรวมกันที่นี้ทุกเช้า พอเดินมาที่โรงฉันเท่านั้น ก็พลันได้ยินท่านครูบาอาจารย์ทองรัตน์ ร้องทันทีด้วยเสียงอันดังฟังชัดว่า “บ่างใหญ่มาแล้ว”
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ยังมีเรื่องที่ค่อนข้างจะขบขันอีกหลายเรื่อง ที่เกี่ยวกับปฏิปทาของพระอาจารย์ทองรัตน์ ผู้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรี ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่า

    ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์ทองรัตน์พำนักอยู่ที่ป่าช้าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านส่วนมากเป็นมิจฉาทิฐิ (มีความเห็นผิด) แต่คนที่ดีก็มีอยู่ พวกที่เห็นผิดส่วนมากมักจะเข้าใจว่าท่านเป็นบ้า และจงเกลียดจงชังด้วย เพราะเหตุว่าวิธีการสอนธรรมะของท่านค่อนข้างจะดุเดือดเผ็ดร้อน ประกอบกับท่านมักจะเน้นหนักคำสอนไปในเรื่องการให้ทาน ซึ่งชาวบ้านพวกที่ชอบการกินเล่นสนุกเฮฮา และประพฤติผิดศีลธรรมทั้งหลาย ขัดอกขัดใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

    ดังนั้น ในตอนเช้าวันหนึ่ง ขณะที่ท่านอาจารย์ทองรัตน์เที่ยวบิณฑบาต หลายคนใส่บาตรซึ่งของที่ใส่นั้นก็มีข้าวเหนียวนึ่งเป็นหลัก ก็มีห่อหมกที่ห่อด้วยใบตองห่อหนึ่งรวมอยู่ด้วย เมื่อมาถึงวัดเข้าสู่โรงฉัน สามเณรนำบาตรมาให้ท่าน พอหยิบห่อหมกห่อหนึ่งออกมาดู ปรากฏว่ามีกบเป็น ๆ ตัวใหญ่ตัวหนึ่งกระโดดจากข้างในบาตรของท่านทันที ท่านอาจารย์ทองรัตน์ถึงกับรำพึงว่า “เกือบไหมละเจ้าหนู เขาเกือบฆ่าเอ็งมาใส่บาตรเสียแล้ว” เสียงและสีหน้าของท่านปราศจากแววบึ้งตึง ท่านกลับหัวเราะชอบใจอีกเสียด้วยซ้ำ

    เรื่องของพระอาจารย์ทองรัตน์ผู้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรีนี้มีอยู่มากมาย เช่น

    ในคราวหนึ่งซึ่งเป็นขณะที่พระอาจารย์ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพงในปัจจุบัน ท่านเดินธุดงค์รอนแรมไปตามป่าเขาในเขตจังหวัดต่าง ๆ อยู่นั้น พอพระอาจารย์ชาได้ยินกิตติศัพท์ของท่านอาจารย์ทองรัตน์ จึงตั้งใจจะไปกราบคารวะและรับโอวาทธรรมจากท่าน ขณะอยู่ที่วัดป่าบ้านชีทวน เขื่องใน

    เมื่อพระอาจารย์ชาได้เดินทางมาถึงวัดของท่านอาจารย์ทองรัตน์จึงได้ปลดบาตร ย่าม และลดจีวรลง เดินเข้าไปในอาราม ตามธรรมเนียมในอาคันตุกวัตรทุกประการ พระอาจารย์ชาได้พบกับพระภิกษุรูปหนึ่งที่พระอาจารย์ทองรัตน์บอกให้มาต้อนรับ จึงถามว่าท่านอาจารย์ทองรัตน์อยู่ไหน พระรูปนั้นได้ชี้นิ้วไปอีกทางหนึ่ง เป็นเครื่องหมายว่าท่านอาจารย์ทองรัตน์อยู่ที่โน่น

    ท่านพระอาจารย์ชาจึงวางบริขารแล้วเดินตรงไปหา ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์ทองรัตน์กำลังยืนเอามือถือไม้กวาดอยู่ พอไปถึง กำลังจะคุกเข่าก้มลงกราบ ท่านอาจารย์ทองรัตน์ก็เหลียวมามองหน้า พร้อมกับชิงถามขึ้นก่อนว่า “ชา มาแล้วหรือ” ทำเอาพระอาจารย์ชารู้สึกแปลกใจ ที่ท่านกล่าวเรียกชื่อได้ถูกต้องทั้งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    หลวงปู่ทองรัตน์เที่ยวธุดงค์สู่ประเทศลาวบ่อย ๆ ครั้งหนึ่งท่านพระอาจารย์อวน ปัคโณ ได้ธุดงค์ติดตามไปกับหลวงปู่กินรี เพื่อกราบคารวะที่บริเวณดอนพระเจ้า บ้านบุ่งแมง ใกล้บ้านแพงริมฝั่งโขง ซึ่งหลวงปู่ทองรัตน์ได้มาพำนักปฏิบัติธรรมที่นี่มากว่า 7 วันแล้ว จึงทราบเรื่องอัศจรรย์เรื่องหนึ่งของหลวงปู่ว่า

    มีนายฮ้อยช้างได้นำช้างโขลงหนึ่ง 16 ตัว เดินทางผ่านจะไปเวียงจันทน์ เมื่อมาถึงป่าบริเวณดอนพระเจ้า โขลงช้างใช้งวงกอดรัดต้นไม้ ไม่ยอมเดินทางต่อ แม้นายฮ้อยช้างใด้ทำทำพิธีขอขมา กราบคารวะพวกภูมิภูตผีต่าง ๆ ในโขงเขตนี้ โขลงช้างก็ยังใช้งวงกอดรัดต้นไม้อยู่เหมือนเดิม ชาวบ้านจึงแนะนำให้นายฮ้อยช้างไปกราบคารวะหลวงปู่ทองรัตน์

    หลวงปู่ทองรัตน์กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของพ่อ แต่ว่าอาจเป็นเพราะช้างมันหิว

    นายฮ้อยช้างตอบว่า พวกกระผมเพิ่งให้พักและเลี้ยงอาหารมาอิ่มใหม่ ๆ ขอได้กราบนมัสการหลวงปู่ แล้วยกขันธ์ 5 นมัสการ หลังจากนั้น เมื่อเดินทางไปยังโขลงช้าง ก็เห็นเหล่าช้างทั้งหลายกินใบไม้อยู่ตามปกติ

    ลูกศิษย์จึงนมัสการถามหลวงปู่กินรี ท่านบอกว่าเป็นอภินิหารของหลวงปู่ทองรัตน์ เพราะเคยเห็นเคยรู้จักมาหลายครั้งที่ร่วมเดินธุดงค์ร่วมกันมากว่า 5 ปี

    หลวงปู่กินรี เล่าต่อไปว่า หลวงปู่ทองรัตน์อยู่คนเดียวก็มีการแสดงธรรม โดยส่วนมากจะเป็นเวลากลางดึกที่สานุศิษย์ได้พักผ่อนจำวัดแล้ว แต่ท่านยังมีการเทศน์ มีเสียงการถามการตอบปัญหา คล้ายกับมีคนไปถามปัญหาตอบปัญหา หลวงปู่กินรีคิดว่าท่านมีอะไรสำคัญอยู่กับตัวท่าน คล้ายกับมีเทวดามาถามปัญหา จึงแสดงธรรมแก้ปัญหาข้อธรรมคำถามต่าง ๆ
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระอาจารย์อวน ปัคโณ ได้เล่าถึงหลวงปู่ทองรัตน์ไว้ว่า

    ไม่มีวัดอยู่ อยู่ร่มไม้ กระท่อมไม้ตลอด เป็นกุฏิกระต๊อบเพียงเพื่ออาศัยอยู่สัปดาห์เดียว เพราะท่านรักการเดินธุดงค์ บริขารบาตรใบเดียวตั้งแต่บวชจนมรณภาพ สันโดษมักน้อยที่สุด นิสัยอย่างหนึ่งคือไม่ยอมให้ลูกศิษย์ติดตามหรืออยู่ใกล้ พบศึกษาข้อธรรมแล้วให้แยกหนี กุฏิที่ชาวบ้านศรัทธาสร้างให้สวย ๆ จะไม่ฉลองศรัทธา ซึ่งยังตำหนิว่าคนไม่มีปัญญา ท่านชอบกุฏิที่สร้างวันเดียวเสร็จ ไม่รักสวยรักงาม ให้ทำง่าย ๆ เพราะไม่นานก็ธุดงค์ไป หลวงปู่เคยจำพรรษาระหว่างฝั่งโขง-บ้านสามผง บ้านดงพะเนา บ้านศรีเวินชัย อ.ศรีสงคราม นครพนม บ้างดงชน บ้านดงมะเกลือ และบ้านไผ่ล้อม บ้านโนนหอม อ.เมือง สกลนคร อุดรธานี แขวงจำปาศักดิ์ และเขมรตอนบน

    พระอาจารย์อวน ได้เล่าต่อว่า ที่วัดป่าผาศรีคุณ อำเภอนาแก มีคนเอากบมีชีวิต ไก่มีชีวิต แม้กระทั่งขี้ควายใส่บาตรท่าน ด้วยสำคัญผิดคิดว่าท่านเป็นพระมักได้ ชาวอำเภอนาแกบางคนไม่ชอบทำบุญ หลวงปู่ทองรัตน์มีเมตตาสูงส่ง อยากให้ได้บุญ จึงตะแคงบาตรรับบิณฑบาตของญาติโยม แหล่งชุมชนที่ไม่ชอบให้ทานไม่อยากทาน ท่านยิ่งชอบไปโปรดบ่อย ๆ แม้ผ้ากฐินที่ท่านนำมาเย็บเป็นจีวร ยังถูกทำลายฉีกทิ้งขณะที่ไปบิณฑบาต ญาติโยมบางคนเกลียดชังท่าน ท่านพูดคล้ายดุแต่ใจไม่ดุ

    พระอาจารย์คำดี พระผู้น้องของหลวงปู่บุญมี แห่งอำเภอหนองไผ่-วิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เป็นชาวยโสธร ผู้อยู่ร่วมและปรนนิบัติพระอาจารย์ทองรัตน์ ตั้งแต่ครั้งอยู่สกลนครเรื่อยมา จนถึงอุบลราชธานี ท่านได้เล่าให้ฟังว่า

    อุปนิสัยของท่านครูบาอาจารย์น่าเกรงกลัวมาก กิริยาท่าทางดุ วาจาโผงผาง เสียงดัง ลูกศิษย์อยู่ด้วยได้ไม่นาน ยิ่งผู้ปฏิบัติหย่อนยาน ไม่ซื่อตรงต่อตนเอง หลอกลวงตัวเอง มีภูมิจิตภูมิธรรมไม่ก้าวหน้า ปฏิบัติธรรมฝึกจิตบางขณะเวลา ต้องโดนเล่นภูมิจิต โดนทดสอบอารมณ์ ตรวจสอบอารมณ์อยู่ตลอดเวลาว่า ยินดียินร้ายในรูปรสกลิ่นเสียงหรือไม่ ลูกศิษย์เกือบทุกคนจึงกลัวท่านครูบาอาจารย์มาก

    ท่านอาจารย์คำดีเล่าต่อว่า ท่านครูบาอาจารย์ทองรัตน์มักใช้คำว่า “พ่อ” กับลูกศิษย์ การที่จะอยู่กับครูบาจารย์ได้นานนั้น จิตต้องภาวนาอยู่ตลอดเวลา จดจ่อต่อธรรมะ จิตส่ายออกทางโลกธรรมไม่ได้ เพราะท่านเฝ้าตรวจสอบการปฏิบัติจิตของลูกศิษย์อยู่เสมอ พอท่านเรียก จิตเราจะต้องรู้ความประสงค์ของท่านแล้วปฏิบัติถวายท่าน

    พระอาจารย์คำดี ท่านคือท่านที่อยู่ป่าช้านาป่งคอง อ.นาแก ที่พระอาจารย์ชาได้ไปสนทนาธรรม ขออุบายธรรม การปฏิบัติธรรมอยู่ป่าช้า ซึ่งเป็นนิสัยปกติของพระอาจารย์คำดี (ซึ่งในประวัติของหลวงปู่ชา ผู้เขียนบางท่านคิดว่าเป็นพระอาจารย์คำดี ปภาโส แต่ความจริงแล้วไม่ใช่) ครั้งไปกราบหลวงปู่มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นยังพูดว่า “อ่อ ได้ยินเขาว่าห้าวหาญ ไม่กลัวผีกลัวภัย กลัวตาย ไม่ใช่รึ” ท่านเป็นชาวบ้านทรายมูล ยโสธร ซึ่งเป็นพระปฏิบัติธรรมมหานิกายรูปหนึ่ง ณ ป่าช้าแห่งนี้ หลวงปู่ชาจึงได้พบกับสหธรรมิกที่ต่อมาได้ร่วมทางธุดงค์ด้วยกันคือ พระอาจารย์ปุ่น ฉันทาโร วัดป่าฉันทาราม บ้านคำแดง ยโสธร ซึ่งเป็นมหานิกายเช่นเดียวกัน
     

แชร์หน้านี้

Loading...