ประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย saksit5455, 3 มีนาคม 2012.

  1. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    ถามปัญหาเรื่องรักษาศีลข้อเดียว

    ในระยะที่พักอยู่ที่นั้นปรากฏว่ามีคนมาถามปัญหากับท่านมาก มีปัญหาของบางรายที่แปลกกว่าปัญหาทั้งหลายจึงได้นำมาลง มีใจความว่า

    “ได้ทราบว่าท่านรักษาศีลองค์เดียว มิได้รักษาถึง ๒๒๗ องค์ เหมือนพระทั้งหลายที่รักษากันใช่ไหม?”

    ท่านตอบว่า “ใช่ อาตมารักษาเพียงอันเดียว”

    เขาถามว่า “ที่ท่านรักษาเพียงอันเดียวนั้นคืออะไร”

    ท่านตอบว่า “คือใจ”

    เขาถามว่า “ส่วน ๒๒๗ นั้นท่านไม่ได้รักษาหรือ”

    ท่านตอบว่า “อาตมารักษาใจไม่ให้คิดพูดทำในทางผิด อันเป็นการล่วงเกินข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ จะเป็น ๒๒๗ หรือมากกว่านั้นก็ตาม บรรดาที่เป็นข้อทรงบัญญัติห้าม อาตมาก็เย็นใจว่า ตนมิได้ทำผิดต่อพุทธบัญญัติ ส่วนท่านผู้ใดจะว่าอาตมารักษาศีล ๒๒๗ หรือไม่นั้น สุดแต่ผู้นั้นจะคิดจะพูดเอาตามความคิดของตน เฉพาะอาตมาได้รักษาใจอันเป็นประธานของกายวาจาอย่างเข้มงวดกวดขันตลอดมา นับแต่เริ่มอุปสมบท”

    ถามว่า “การรักษาศีลต้องรักษาใจด้วยหรือ?”

    ท่านตอบว่า “ถ้าไม่รักษาใจจะรักษาอะไรถึงจะเป็นศีลเป็นธรรมที่ดีงามได้ นอกจากคนที่ตายแล้วเท่านั้นจะไม่ต้องรักษาใจ แม้กายวาจาก็ไม่จำต้องรักษา แต่ความเป็นเช่นนั้นของคนตาย นักปราชญ์ท่านไม่ได้เรียกว่าเขามีศีล เพราะไม่มีเจตนาเป็นเครื่องส่อแสดงออก ถ้าเป็นศีลได้ควรเรียกได้เพียงว่าศีลคนตาย ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์ตามคำเรียกแต่อย่างใด ส่วนอาตมามิใช่คนตาย จะรักษาศีลแบบคนตายนั้นไม่ได้ ต้องรักษาใจให้เป็นศีลเป็นธรรมสมกับใจเป็นผู้ทรงไว้ทั้งบุญทั้งบาปอย่างตายตัว”

    เขาถามว่า “ได้ยินในตำราว่าไว้ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยเรียกว่าศีล จึงเข้าใจว่า การรักษาศีลไม่จำต้องรักษาใจก็ได้ จึงได้เรียนถามอย่างนั้น”

    ท่านตอบว่า “ที่ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นศีลนั้นก็ถูก แต่ก่อนกายวาจาจะเรียบร้อยเป็นศีลได้นั้น ต้นเหตุเป็นมาจากอะไร ถ้าไม่เป็นมาจากใจผู้เป็นนายคอยบังคับกายวาจาให้เป็นไปในทางที่ถูก เมื่อเป็นมาจากใจ ใจจะควรปฏิบัติอย่างไรต่อตัวเองบ้าง จึงจะควรเป็นผู้ควบคุมกายวาจาให้เป็นศีลเป็นธรรมที่น่าอบอุ่นแก่ตนเอง และน่าเคารพเลื่อมใสแก่ผู้อื่นได้ ไม่เพียงแต่ศีลธรรมที่จำต้องอาศัยใจเป็นผู้คอยควบคุมรักษาเลย แม้กิจการอื่น ๆ จำต้องอาศัยใจเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่โดยดี การงานนั้น ๆ จึงจะเป็นที่เรียบร้อยไม่ผิดพลาด และทรงคุณภาพโดยสมบูรณ์ตามชนิดของมัน

    การรักษาโรคเขายังค้นหาสมุฏฐานของมัน จะควรรักษาอย่างไรจึงจะหายได้เท่าที่ควร ไม่เป็นโรคเรื้อรังต่อไป การรักษาศีลธรรมไม่มีใจเป็นตัวประธานพาให้เป็นไป ผลก็คือความเป็นผู้มีศีลด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ ความเป็นผู้มีธรรมที่น่าสลดสังเวช ธรรมพาอยู่ธรรมพาไปอย่างไม่มีจุดหมาย ธรรมบอ ธรรมบ้า ธรรมแตก ซึ่งล้วนเป็นจุดที่ศาสนาจะพลอยได้รับเคราะห์กรรมไปด้วยอย่างแยกไม่ออก ไม่เป็นศีลธรรมอันน่าอบอุ่นแก่ผู้รักษา และไม่น่าเลื่อมใสแก่ผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างเลย

    อาตมาไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก บวชแล้วอาจารย์พาเที่ยวและอยู่ตามป่าตามเขา เรียนธรรมก็เรียนไปกับต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำลำธาร หินผาหน้าถ้ำ เรียนไปกับเสียงนกเสียงกา เสียงสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ตามทัศนียภาพที่มีอยู่ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง ไม่ค่อยได้เรียนในคัมภีร์ใบลานพอจะมีความรู้แตกฉานทางศีลธรรม การตอบปัญหาจึงเป็นไปตามนิสัยของผู้ศึกษาธรรมเถื่อน ๆ รู้สึกจนปัญญาที่ไม่สามารถค้นหาธรรมที่ไพเราะเหมาะสม มาอธิบายให้ท่านผู้สนใจฟังอย่างภูมิใจได้”

    เขาถามท่านว่า “คำว่าศีลได้แก่สภาพเช่นไร และอะไรเป็นศีลอย่างแท้จริง?”

    ท่านตอบว่า “ความคิดในแง่ต่าง ๆ อันเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ควร ระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม คอยบังคับกายวาจาใจให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ ศีลที่เกิดจากการรักษาในลักษณะดังกล่าวมาชื่อว่ามีสภาพปกติ ไม่คะนองทางกายวาจาใจให้เป็นกิริยาที่น่าเกลียด นอกจากความปกติดีงามทางกายวาจาใจของผู้มีศีลว่าเป็นศีลเป็นธรรมแล้ว ก็ยากจะเรียกให้ถูกได้ว่า อะไรเป็นศีลเป็นธรรมที่แท้จริง เพราะศีลกับผู้รักษาศีลแยกกันได้ยาก ไม่เหมือนตัวบ้านเรือนกับเจ้าของบ้านเรือนซึ่งเป็นคนละอย่าง ที่พอจะแยกกันออกได้ไม่ยากนัก ว่านั่นคือตัวบ้านเรือน และนั่นคือเจ้าของบ้าน

    ส่วนศีลกับคนจะแยกจากกันอย่างนั้นเป็นการลำบาก เฉพาะอาตมาแล้วแยกไม่ได้ แม้แต่ผลคือความเย็นใจที่เกิดจากการรักษาศีลก็แยกกันไม่ออก ถ้าแยกออกได้ศีลก็อาจกลายเป็นสินค้ามีเกลื่อนตลาดไปนานแล้ว และอาจจะมีโจรมาแอบขโมยศีลธรรมไปขายจนหมดเกลี้ยงจากตัวไปหลายรายแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ศีลธรรมก็จะกลายเป็นสาเหตุก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของเช่นเดียวกับสมบัติอื่น ๆ ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเอือมระอาที่จะแสวงหาศีลธรรมกัน เพราะได้มาแล้วก็ไม่ปลอดภัย ดังนั้นความไม่รู้ว่าอะไรเป็นศีลอย่างแท้จริง จึงเป็นอุบายวิธีหลีกภัยอันอาจเกิดแก่ศีล และผู้มีศีลได้ทางหนึ่งอย่างแยบยลและเย็นใจ อาตมาจึงไม่คิดอยากแยกศีลออกจากตัวแม้แยกได้ เพราะระวังภัยยาก แยกไม่ได้อย่างนี้รู้สึกอยู่สบาย ไปไหนมาไหนและอยู่ที่ใดไม่ต้องห่วงว่าศีลจะหาย ตัวจะตายจากศีล แล้วกลับมาเป็นผีเฝ้ากองศีล เช่นเดียวกับคนเป็นห่วงสมบัติ ตายแล้วกลับมาเป็นผีเฝ้าทรัพย์ ไม่มีวันไปผุดไปเกิดได้ฉะนั้น”
     
  2. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    พระมหาเถระถามปัญหาท่านพระอาจารย์มั่น

    โอกาสว่าง ๆ พระมหาเถระสั่งพระมาอาราธนานิมนต์ท่านอาจารย์มั่นไปหา เพื่อสัมโมทนียกถาเฉพาะ โดยปราศจากผู้คนพระเณรเข้าไปเกี่ยวข้อง

    พระมหาเถระถามประโยคแรกว่า

    “ท่านชอบอยู่แต่ผู้เดียวในป่าในเขา ไม่ชอบเกี่ยวข้องกังวลกับพระเณรตลอดฆราวาส เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาท่านไปศึกษากับใครจึงจะผ่านปัญหานั้น ๆ ไปได้ แม้ผมเองอยู่ในพระนครที่เต็มไปด้วยนักปราชญ์เจ้าตำรับตำราพอช่วยปัดเป่าข้อข้องใจได้ บางคราวยังเกิดความงงงันอั้นตู้ไปได้ ไม่มีใครสามารถช่วยแก้ให้ตกไปได้ ยิ่งท่านอยู่เฉพาะองค์เดียวเป็นส่วนมาก ตามที่ทราบเรื่องตลอดมา เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ท่านศึกษาปรารภกับใคร หรือท่านจัดการกับปัญหานั้น ๆ ด้วยวิธีใด นิมนต์อธิบายให้ผมฟังด้วย”

    ท่านเล่าว่า

    ท่านกราบเรียนด้วยความอาจหาญเต็มที่ไม่มีสะทกสะท้านเลย เพราะได้ศึกษาจากหลักธรรมชาติอย่างนั้น จึงกราบเรียนท่านว่า

    “ขอประทานโอกาส เกล้าฯ ฟังธรรมและศึกษาธรรมอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีอิริยาบถต่าง ๆ นอกจากหลับไปเสียเท่านั้น พอตื่นขึ้นมาใจกับธรรมก็เข้าสัมผัสกันทันที ขึ้นชื่อว่าปัญหาแล้วกระผมไม่มีเวลาที่หัวใจจะว่างอยู่เปล่า ๆ เลย มีแต่การถกเถียงโต้ตอบกันอยู่ทำนองนั้น ปัญหาเก่าตกไป ปัญหาใหม่เกิดขึ้นมา การถอดถอนกิเลสก็เป็นไปในระยะเดียวกันกับปัญหาแต่ละข้อตกไป ปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาก็เท่ากับรบกันกับกิเลสใหม่ ปัญหาทั้งใกล้ทั้งไกล ทั้งวงกว้างวงแคบ ทั้งวงในวงนอก ทั้งลึกทั้งตื้น ทั้งหยาบทั้งละเอียด ล้วนเกิดขึ้นและปะทะกันที่หัวใจ ใจเป็นสถานที่รบข้าศึกทั้งมวล และเป็นที่ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวงในขณะที่ปัญหาแต่ละข้อตกไป

    ที่จะมีเวลาไปคิดว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะหน้าเราจะไปศึกษาปรารภกับใครนั้น เกล้าฯ มิได้สนใจคิดให้เสียเวลายิ่งไปกว่าจะตั้งท่าฆ่าฟันห้ำหั่นกันกับปัญหา ซึ่งเป็นฉากของกิเลสแฝงมาพร้อม ให้สะบั้นหั่นแหลกกันลงไปเป็นทอด ๆ และถอดถอนกิเลสออกได้เป็นพัก ๆ เท่านั้น จึงไม่วิตกกังวลกับหมู่คณะว่าจะมาช่วยแก้ไขปลดเปลื้องกิเลสออกจากใจได้รวดเร็ว ยิ่งกว่าสติปัญญาที่ผลิตและฝึกซ้อมอยู่กับตนตลอดเวลา คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนนั้น เกล้าฯ ได้ประจักษ์ใจตัวเองขณะปัญหาแต่ละข้อเกิดขึ้น และสามารถแก้ไขกันลงได้ทันท่วงที ด้วยอุบายวิธีของสติปัญญาที่เกิดกับตนโดยเฉพาะ มิได้ไปเที่ยวคว้ามาจากตำราหรือคัมภีร์ใดในขณะนั้น แต่ธรรมคือสติปัญญาในหลักธรรมชาติ หากผุดออกรับออกรบและแก้ไขกันไปในตัว และผ่านพ้นไปได้โดยลำดับไม่อับจน

    แม้จะมีอยู่บ้างที่เป็นปัญหาลึกลับและสลับซับซ้อน ที่จำต้องพิจารณากันอย่างละเอียดลออและกินเวลานานหน่อย แต่ก็ไม่พ้นกำลังของสติปัญญาที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วไปได้ จำต้องทลายลงในเวลาหนึ่งจนได้ ด้วยเหตุดังที่กราบเรียนมา เกล้าฯ จึงมิได้สนใจใฝ่ฝันในการอยู่กับหมู่คณะ เพื่ออาศัยเวลาเกิดปัญหาจะได้ช่วยแก้ไข แต่สนใจไยดีต่อการอยู่คนเดียว ความเป็นผู้เดียวเปลี่ยวกายเปลี่ยวใจเป็นสิ่งที่พอใจแล้วสำหรับเกล้าฯ ผู้มีวาสนาน้อย แม้ถึงคราวเป็นคราวตายก็อยู่ง่ายตายสะดวก ไม่พะรุงพะรังห่วงหน้าห่วงหลัง สิ้นลมแล้วก็สิ้นเรื่องไปพร้อม ๆ กัน ต้องขอประทานโทษที่เรียนตามความโง่ของตนจนเกินไป ไม่มีความแยบคายแสดงออกพอเป็นที่น่าฟังบ้างเลย”

    ท่านว่าพระมหาเถระฟังท่านกราบเรียนอย่างสนใจ และเลื่อมใสในธรรมที่เล่าถวายเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกับอนุโมทนาว่า เป็นผู้สามารถสมกับชอบอยู่ในป่าในเขาคนเดียวจริง ๆ ธรรมที่แสดงออก ท่านว่า จะไปเที่ยวค้นดูในคัมภีร์ไม่มีวันเจอ เพราะธรรมในคัมภีร์ กับธรรมที่เกิดจากใจอันเป็นธรรมในหลักธรรมชาติต่างกันอยู่มาก แม้ธรรมในคัมภีร์ที่จารึกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ เพราะผู้จารึกเป็นคนจริงคือเป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนพระองค์ แต่พอตกมานาน ๆ ผู้จารึกต่อ ๆ มาอาจไม่เป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริงเหมือนรุ่นแรก ธรรมจึงอาจมีทางลดคุณภาพลงตามส่วนของผู้จารึกพาให้เป็นไป ฉะนั้น ธรรมในคัมภีร์กับธรรมที่เกิดขึ้นจากใจอย่างสด ๆ ร้อน ๆ จึงน่าจะต่างกันแม้เป็นธรรมด้วยกัน

    ผมหายสงสัยในข้อที่ถามท่านด้วยความโง่ของตนแล้ว แต่ความโง่ชนิดนี้ทำให้เกิดประโยชน์ได้ดี เพราะถ้าไม่ถามแบบโง่ ๆ ก็จะไม่ได้ฟังอุบายแบบฉลาดแหลมคมจากท่าน วันนี้ผมจึงเป็นทั้งฝ่ายขายทั้งความโง่และซื้อทั้งความฉลาด หรือจะเรียกว่าถ่ายความโง่เขลาออกไปไล่ความฉลาดเข้ามาก็ไม่ผิด

    ผมยังสงสัยอยู่อีกเป็นบางข้อ คือที่ว่า

    พระสาวกท่านทูลลาพระศาสดาออกไปบำเพ็ญอยู่ในที่ต่าง ๆ เวลาเกิดปัญหาขึ้นมาก็กลับมาเฝ้าทูลถาม เพื่อทรงช่วยชี้แจงปัญหานั้น ๆ จนเป็นที่เข้าใจ แล้วทูลลาออกบำเพ็ญตามอัธยาศัย นั้นเป็นปัญหาประเภทใด พระสาวกจึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ต้องมาทูลถามให้พระองค์ทรงช่วยชี้แจงแก้ไข

    ท่านกราบเรียนว่า

    “เมื่อมีผู้ช่วยให้เกิดผลรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลานาน นิสัยคนเราที่ชอบหวังพึ่งผู้อื่นย่อมจะต้องดำเนินตามทางลัด ด้วยความแน่ใจว่าต้องดีกว่าตัวเองพยายามไปโดยลำพัง นอกจากทางไกลไปมาลำบากจริง ๆ ก็จำต้องตะเกียกตะกายไปด้วยกำลังสติปัญญาของตน แม้จะช้าบ้างก็ทนเอา เพราะพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้เห็นโดยตลอดทั่วถึงทรงแก้ปัญหาข้อข้องใจ ย่อมทำให้เกิดความกระจ่างแจ้งชัด และได้ผลรวดเร็วผิดกับที่แก้ไขโดยลำพังเป็นไหน ๆ ดังนั้นบรรดาสาวกที่มีปัญหาข้องใจจึงต้องมาทูลถามให้ทรงพระเมตตาแก้ไข เพื่อผ่านไปได้อย่างรวดเร็วสมปรารถนา แม้กระผมเอง ถ้าพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่และอยู่ในฐานะจะพอไปเฝ้าได้ก็ต้องไป และทูลถามปัญหาให้สมใจที่หิวกระหายมานาน ไม่ต้องมาถูไถคืบคลานให้ลำบากและเสียเวลาดังที่เป็นมา เพราะการวินิจฉัยโดยลำพังตัวเองเป็นการลำบากมาก แต่ต้องทำเพราะไม่มีที่พึ่ง นอกจากตัวต้องเป็นที่พึ่งของตัวดังที่เรียนแล้ว

    ความมีครูอาจารย์สั่งสอนโดยถูกต้องแม่นยำคอยให้อุบาย ทำให้ผู้ปฏิบัติตามดำเนินไปโดยสะดวกราบรื่นและถึงเร็ว ผิดกับการดำเนินไปแบบสุ่มเดาโดยลำพังตนเองอยู่มาก ทั้งนี้เกล้าฯ เห็นโทษในตัวเกล้าฯ เอง แต่ก็จำเป็นเพราะไม่มีอาจารย์คอยให้อุบายสั่งสอนในสมัยนั้น ทำไปแบบด้นเดาและล้มลุกคลุกคลาน ผิดมากกว่าถูก แต่สำคัญที่ความหมายมั่นปั้นมือเป็นเจตนาที่เด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก ไม่ยอมลดละล่าถอย จึงพอมีทางทำให้สิ่งที่เคยขรุขระมาโดยลำดับ ค่อย ๆ กลับกลายคลายตัวออกทีละเล็กละน้อย พอให้ความราบรื่นชื่นใจได้มีโอกาสคืบคลานและเดินได้เป็นลำดับมา พอได้ลืมตาดูโลกดูธรรมได้เต็มตาเต็มใจดังที่เรียนให้ทราบตลอดมา

    ปัญหาระหว่างพระมหาเถระยังมีอยู่อีก แต่ที่เห็นว่าสำคัญได้นำมาลงบ้างแล้วจึงขอผ่าน

    ขณะท่านพักอยู่กรุงเทพฯ มีผู้มาอาราธนานิมนต์ไปฉันในบ้านเสมอ แต่ท่านขอผ่านเพราะไม่สะดวกแก่การปฏิบัติต่อสรีรกิจประจำวันหลังจากฉันเสร็จแล้ว

    พอควรแก่กาลแล้วท่านเริ่มออกเดินทางมาพักโคราช ตามคำอาราธนาของคณะศรัทธาชาวนครราชสีมา พักที่วัดป่าสาลวัน ขณะพักอยู่ที่นั้นก็มีท่านผู้สนใจมาถามปัญหาหลายราย
     
  3. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    ปัญหาที่อุบาสกชาวโคราชถาม

    มีปัญหาที่น่าคิดอยู่ข้อหนึ่ง ผู้เขียนฟังจากท่านแล้วยังจำได้ไม่หลงลืม ชะรอยปัญหานั้นจะกลับมาเป็นประวัติท่านอีกก็อาจเป็นได้ จึงบันดาลไม่ให้หลงลืม ทั้งที่ผู้เขียนเป็นคนชอบหลงลืมเก่ง ปัญหานั้นเป็นเชิงหยั่งหาความจริงในท่าน ว่าจะมีความจริงมากน้อยเพียงไร สมคำเล่าลือของประชาชนหรือหาไม่ เจ้าของปัญหาก็ลูกศิษย์กรรมฐานเพื่อมุ่งหาความจริงอยู่อย่างเต็มใจจริง ๆ

    เริ่มต้นปัญหาว่า

    “เท่าที่ท่านอาจารย์มาโคราชคราวนี้ เป็นการมาเพื่ออนุเคราะห์ประชาชนตามคำนิมนต์เพียงอย่างเดียว หรือยังมีหวังเพื่อมรรคผลนิพพานอยู่ด้วยในการรับนิมนต์คราวนี้”

    ท่านตอบว่า

    “อาตมาไม่หิว อาตมาไม่หลง จึงไม่หาอะไรให้ยุ่งไป อันเป็นการก่อทุกข์ใส่ตัว คนหิวอยู่เป็นปกติสุขไม่ได้จึงวิ่งหาโน่นหานี่ เจออะไรก็คว้าติดมือมา โดยไม่คำนึงว่าผิดหรือถูก ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็มาเผาตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ อาตมาไม่หลงจึงไม่แสวงหาอะไร คนที่หลงจึงต้องแสวงหา ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา จะหาไปให้ลำบากทำไม อะไร ๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว จะตื่นเงาและตะครุบเงาไปทำไม เพราะรู้แล้วว่าเงาไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริงคือสัจจะทั้งสี่ก็มีอยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว และรู้จนหมดสิ้นแล้ว จะหาอะไรกันอีกถ้าไม่หลง ชีวิตลมหายใจยังมีและผู้มุ่งประโยชน์กับเรายังมี ก็สงเคราะห์กันไปอย่างนั้นเอง

    หาคนดีมีธรรมในใจนี้หายากยิ่งกว่าหาเพชรนิลจินดาเป็นไหน ๆ ได้คนเป็นคนเพียงคนเดียวย่อมมีคุณค่ามากกว่าได้เงินเป็นล้าน ๆ เพราะเงินล้าน ๆ ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจเหมือนได้คนดีมาทำประโยชน์ คนดีแม้เพียงคนเดียวยังสามารถทำความเย็นใจให้แก่โลกได้มากมายและยั่งยืน เช่น พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง คนดีแต่ละคนมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นก่ายกอง และเห็นคุณค่าแห่งความดีของตนที่จะทำต่อไปมากกว่าเงิน แม้จะจนก็ยอมจน ขอแต่ให้ตัวดีและโลกมีความสุข

    แต่คนโง่ชอบเงินมากกว่าคนดีและความดี ขอแต่ได้เงินแม้ตัวจะเป็นอย่างไรไม่สนใจคิด ถึงจะชั่วช้าลามกหรือแสนโสมมเพียงไรก็ตาม ขนาดนายยมบาลเกลียดกลัวไม่อยากนับเข้าบัญชีผู้ต้องหา กลัวจะไปทำลายสัตว์นรกด้วยกันให้เดือดร้อนฉิบหายก็ไม่ว่า ขอแต่ได้เงินก็เป็นที่พอใจ ส่วนจะผิดถูกประการใด ถ้าบาปมีค่อยคิดบัญชีกันเองโดยเขาไม่ยุ่งเกี่ยว

    คนดีกับคนชั่วและสมบัติเงินทองกับธรรมคือคุณงามความดีผิดกันอย่างนี้แล ใครมีหูมีตาก็รีบคิดเสียแต่บัดนี้อย่าทันให้สายเกินไป จะหมดหนทางเลือกเฟ้น การให้ผลก็ต่างกันสุดแต่กรรมของตนจะอำนวย จะทักท้วงหรือคัดค้านไม่ได้ กรรมอำนวยให้อย่างใดต้องยอมรับเอาอย่างนั้น ฉะนั้นสัตว์โลกจึงต่างกัน ทั้งภพกำเนิด รูปร่าง ลักษณะ จริต นิสัย สุข ทุกข์อันเป็นสมบัติประจำตัวของแต่ละราย แบ่งหนักแบ่งเบากันไม่ได้ ใครมีอย่างไรก็หอบหิ้วไปเอง ดีชั่ว สุขทุกข์ก็ยอมรับ ไม่มีอำนาจปฏิเสธได้ เพราะไม่ใช่แง่กฎหมาย แต่เป็นกฎของกรรมหรือกฎของตัวเองที่ทำขึ้น มิใช่กฎของใครไปทำให้ ตัวทำเอาเอง ถามอาตมาเพื่ออะไรอย่างนั้น”

    การตอบปัญหาท่านคราวนี้รู้สึกเข้มข้นพอดู นี้ทราบจากท่านเองและพระที่ติดตามเล่าให้ฟัง รู้สึกว่าถึงใจและจำไม่ลืม

    เขาตอบท่านว่า

    “ขอประทานโทษ พวกกระผมเคยได้ยินกิตติศัพท์กิตติคุณท่านอาจารย์โด่งดังมานานแล้ว ไม่ว่าครูอาจารย์หรือพระเณรองค์ใดตลอดฆราวาส ใครพูดถึงอาจารย์ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจารย์มิใช่พระธรรมดา ดังนี้จึงกระหายอยากฟังเมตตาธรรมท่าน แล้วได้เรียนถามไปตามความอยากความหิว แต่ไม่มีความฉลาดรอบคอบในการถามซึ่งอาจจะทำความกระเทือนแก่ท่านอยู่บ้าง กระผมก็สนใจปฏิบัติมานานพอสมควร จิตใจนับว่าได้รับความเย็นประจักษ์เรื่อยมา ไม่เสียชาติที่เกิดมาพบพระศาสนา และยังได้กราบไหว้ครูอาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์วิเศษด้วยการปฏิบัติและคุณธรรม แม้ปัญหาธรรมที่เรียนถามวันนี้ก็ได้รับความแจ้งชัดเกินคาดหมาย วันนี้เป็นหายสงสัยเด็ดขาดตามภูมิของคนยังมีกิเลส ที่ยังอยู่ก็ตัวเองเท่านั้นจะสามารถปฏิบัติให้ได้ให้ถึงมากน้อยเพียงใด”

    ท่านตอบซ้ำอีกว่า

    “โยมถามมาอย่างนั้น อาตมาก็ต้องตอบไปอย่างนั้น เพราะอาตมาไม่หิวไม่หลง จะให้อาตมาไปหาอะไรอีก อาตมาเคยหิวเคยหลงมาพอแล้วครั้งปฏิบัติที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรโน้น อาตมาแทบตายอยู่ในป่าในเขาคนเดียวไม่มีใครไปเห็น จนพอลืมหูลืมตาได้บ้าง จึงมีคนนั้นไปหาคนนี้ไปหา แล้วร่ำลือกันว่าวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะอาตมาสลบสามหนรอดตายครั้งนั้น ไม่เห็นใครทราบและร่ำลือบ้าง จนเลยขั้นสลบและขั้นตายมาแล้ว จึงมาเล่าลือกันหาประโยชน์อะไร อยากได้ของดีที่มีอยู่กับตัวเราทุกคนก็พากันปฏิบัติเอาทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจึงพากันวุ่นวาย หานิมนต์พระมาให้บุญกุสลามาติกา นั่นไม่ใช่เกาถูกที่คันนะ จะว่าไม่บอก ต้องรีบเกาให้ถูกที่คันเสียแต่บัดนี้ โรคคันจะได้หาย คือเร่งทำความดีเสียแต่บัดนี้ จะได้หายห่วงหายหวงกับอะไร ๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา แต่พากันจับจองเอาแต่ชื่อของมันเปล่า ๆ ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล

    สมบัติในโลกเราแสวงหามาเป็นความสุขแก่ตัวก็พอหาได้ จะแสวงหามาเป็นไฟเผาตัวก็ทำให้ฉิบหายได้จริง ๆ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย ท่านผู้พ้นทุกข์ไปได้ด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตนจนกลายเป็นสรณะของพวกเรา จะเข้าใจว่าท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทองเครื่องหวงแหนอย่างนั้นหรือ เข้าใจว่าเป็นคนร่ำรวยสวยงามเฉพาะสมัยของพวกเราเท่านั้นหรือ จึงพากันรักพากันหวงพากันห่วงจนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย

    บ้านเมืองเราสมัยนี้ไม่มีป่าช้าสำหรับฝังหรือเผาคนตายอย่างนั้นหรือ จึงสำคัญว่าตนจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมเนื้อลืมตัว กลัวแต่จะไม่ได้กินได้นอน กลัวแต่จะไม่ได้เพลิดได้เพลิน ประหนึ่งโลกจะดับสูญจากไปในเดี๋ยวนี้ จึงพากันรีบตักตวงเอาแต่ความไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว อันสิ่งเหล่านี้แม้แต่สัตว์เขาก็มิได้เหมือนมนุษย์เรา อย่าสำคัญตนว่าเก่งกาจสามารถฉลาดรู้ยิ่งกว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอก อาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ใครจะไปทราบได้ ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ซึ่งอยู่ในฐานะที่ควร

    อาตมาต้องขออภัยด้วยถ้าพูดหยาบคายไป แต่คำพูดที่สั่งสอนให้คนละชั่วทำดียังจัดเป็นคำหยาบคายอยู่แล้ว โลกเราก็จะถึงคราวหมดสิ้นศาสนา เพราะไม่มีผู้ยอมรับความจริง การทำบาปหยาบคายมีมาประจำตนแทบทุกคนทั้งให้ผลเป็นทุกข์ ตนยังไม่อาจรู้ได้และตำหนิมันบ้างพอมีทางคิดแก้ไข แต่กลับตำหนิคำสั่งสอนว่าหยาบคาย นับว่าเป็นโรคที่หมดหวัง”

    ตอนนี้ต้องขออภัยท่านสุภาพชนทั้งหลาย ที่ได้บังอาจเขียนแบบคนไม่มีสติอยู่กับตัวเอาเลย ทั้งนี้ความมุ่งหมายเพื่อสงวนธรรมที่ท่านเมตตาแสดงในบางครั้งให้คงเส้นคงวาไว้บ้าง เพื่อบางท่านได้พิจารณาถือเอาความจริงในธรรมนี้ ไม่อยากให้ลดลงจากระดับเดิมของท่าน จึงพยายามหลับหูหลับตาเขียนไปตามเนื้อหา

    สำหรับปัญหาธรรมนั้นไม่ว่าท่านไปพักที่ไหน มีคนมาเรียนถามมิได้ขาด แต่ไม่สามารถจดจำได้ทุกบททุกบาท ทั้งอาจารย์ทั้งหลายที่กรุณาให้ต้นฉบับมาแต่ละองค์ และผู้เขียนจำมาเอง ประโยคใดที่สะดุดใจประโยคนั้นก็จำไว้ได้และบันทึกไว้ ประโยคที่ไม่สะดุดใจก็หลงลืมจำต้องปล่อยให้ผ่านไป

    ท่านพักนครราชสีมาพอสมควรแล้วออกเดินทางต่อไปจังหวัดอุดรธานี มาถึงขอนแก่น ทราบว่า พี่น้องชาวขอนแก่นไปรอรับท่านที่สถานีคับคั่ง และพร้อมกันอาราธนาท่านให้ลงแวะพักเมตตาที่ขอนแก่นก่อน แล้วค่อยเดินทางต่อไปอุดรฯ แต่ท่านไม่อาจแวะตามคำนิมนต์ได้ จึงพากันพลาดหวังไปบ้างในโอกาสที่ควรจะได้นั้น

    เมื่อท่านถึงอุดรฯ ทราบว่า ท่านตรงไปพักวัดโพธิสมภรณ์กับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก่อน มีประชาชนจากจังหวัดหนองคายบ้าง สกลนครบ้าง อำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดอุดรบ้าง มารอกราบนมัสการท่าน จากวัดโพธิสมภรณ์ก็ไปพักที่วัดโนนนิเวศน์และจำพรรษาที่นั่น

    เวลาท่านจำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ ทราบว่าท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์วัดโพธิฯ ได้พาคณะศรัทธาทั้งข้าราชการและพ่อค้าประชาชนไปรับโอวาทท่านทุกวันพระตอนเย็น ๆ มิได้ขาด เพราะท่านเจ้าคุณธรรมฯ เองอุตส่าห์เดินทางไปอาราธนานิมนต์ท่านอาจารย์มั่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไกลแสนไกล และยังอุตส่าห์ด้นดั้นเข้าไปจนถึงที่อยู่ของท่านด้วย จึงได้องค์ท่านมาโปรดชาวอุดรฯ เป็นต้น สมความปรารถนา ท่านเจ้าคุณธรรมฯ จึงเป็นผู้มีพระคุณมากแก่พวกเราที่ได้เห็นได้ยินธรรมท่านเวลามาถึงอุดรฯ แล้ว

    ปกติท่านเจ้าคุณเป็นผู้สนใจในธรรมปฏิบัติเป็นประจำนิสัยมาดั้งเดิม ถ้าพูดคุยธรรมกับท่านนานเท่าไร ท่านไม่แสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้ปรากฏเลย ยิ่งเป็นธรรมฝ่ายปฏิบัติด้วยแล้ว ท่านยิ่งชอบเป็นพิเศษ ท่านรักและเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นมาก เวลาท่านพระอาจารย์อยู่อุดรฯ ท่านเป็นผู้เอาใจใส่เป็นพิเศษ และคอยสอบถามความสุขทุกข์ท่านอาจารย์จากใครต่อใครอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังพยายามชักชวนให้ประชาชนไปรู้จักและสนิทสนมกับท่านอาจารย์อยู่เสมอ ถ้าเขาไม่กล้าไป ท่านเป็นผู้พาไปเองโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย คุณธรรมท่านในข้อนี้รู้สึกว่าเด่นมากเป็นพิเศษและน่าเลื่อมใสมาก

    ออกพรรษาแล้วอากาศแห้งแล้ง ท่านอาจารย์ชอบออกไปวิเวกอยู่ตามบ้านนอกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมตามนิสัย บ้านหนองน้ำเค็มที่อยู่ห่างตัวเมืองราว ๓๐๐ เส้น เป็นหมู่บ้านที่ท่านชอบไปพักเป็นเวลานาน ๆ หมู่บ้านนี้มีป่าไม้ร่มรื่นดีเหมาะกับการบำเพ็ญธรรม ท่านพักจำพรรษาอยู่จังหวัดอุดรฯ นับว่าได้ทำประโยชน์แก่ประชาชนพระเณรอย่างมากมาย แถบจังหวัดและอำเภอใกล้เคียงกับจังหวัดอุดรฯ ที่ท่านพักอยู่ มีประชาชนและพระสงฆ์ทยอยกันมาบำเพ็ญกุศลและสดับธรรมท่านมิได้ขาด เพราะท่านเหล่านี้โดยมากก็เคยเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ สมัยที่ท่านมาบำเพ็ญอยู่ก่อนเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ดังนั้น เมื่อทราบว่าท่านมาจึงต่างมีความดีใจกระหยิ่มยิ้มแย้ม อยากมาพบมาเห็นและทำบุญให้ทานสดับตรับฟังโอวาทกับท่าน

    ในระยะนั้นอายุท่านยังไม่แก่นัก ราว ๗๐ ปี การไปมาในทิศทางใดก็พอสะดวกอยู่บ้าง ประกอบกับท่านมีนิสัยคล่องแคล่วว่องไวลุกง่ายไปเร็วอยู่ด้วย และไม่ชอบอยู่ในที่แห่งเดียวเป็นประจำ ชอบเที่ยวซอกแซกตามป่าตามเขาที่เห็นว่าสงบสงัดปราศจากสิ่งก่อกวน
     
  4. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    ปัญหาที่อุบาสกชาวอุดรฯ ถาม

    ที่อุดรฯ ก็ปรากฏว่า มีผู้มาเรียนถามปัญหาธรรมกับท่านบ่อย ๆ เช่นที่อื่น ๆ เหมือนกัน ปัญหาที่เขาถามท่านมีคล้ายคลึงกับปัญหาที่ผ่านมาแล้วก็มี ที่แปลกต่างกันออกไปตามความคิดเห็นของผู้ถามก็มี

    ที่คล้ายคลึงกันได้แก่ ปัญหาที่เกี่ยวกับบุพเพสันนิวาสของสัตว์ที่เคยสร้างความดีมาเป็นลำดับ ไม่ละนิสัยวาสนาของตนหนึ่ง บุพเพสันนิวาสของสามีภริยาที่เคยครองรักอยู่ร่วมกันมาหนึ่ง ทั้งสองข้อนี้ท่านว่ามีผู้สงสัยถามมากกว่าข้ออื่น ๆ ในข้อแรกท่านมิได้ระบุปัญหาที่เขาถามลงอย่างชัดเจนว่า เขาถามอย่างนั้น ๆ เป็นแต่ท่านปรารภแล้วอธิบายไปเองทีเดียวว่า สิ่งเหล่านี้ ต้องมีการริเริ่มก่อตั้งเจตนาขึ้นมา ให้เป็นทางเดินแห่งภพชาติของผู้จะเกี่ยวข้องกับตน และตนจะเกี่ยวข้องกับผู้นั้น

    ส่วนข้อต่อมาท่านระบุปัญหาที่เขาถามว่า

    คำว่า บุพเพสันนิวาสนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า หญิงชายรักกันอย่างนี้เป็นบุพเพสันนิวาส รักกันอย่างนั้นไม่ใช่บุพเพสันนิวาส และอยู่ร่วมกันกับคนนี้เป็นบุพเพสันนิวาส อยู่ร่วมกันกับคนนั้นมิใช่บุพเพสันนิวาส

    ท่านตอบว่า

    สำหรับพวกเรายากจะมีทางทราบได้ว่า รักอย่างนั้นและรักคนนั้นเป็นบุพเพสันนิวาส รักอย่างนั้นและรักคนนั้นมิใช่บุพเพสันนิวาส ก็รักและอยู่ร่วมกันไปแบบคนตาบอด เกิดความหิวจัดคว้าหาอาหารมารับประทานนั่นแล อะไรถูกมือก็รับไปพอประทังชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ บุพเพสันนิวาสก็เช่นเดียวกัน ทั้งที่มีอยู่กับสัตว์บุคคลทั่วไป แต่จะคว้าถูกจุดของบุพเพสันนิวาส คือรักและอยู่ร่วมกับผู้เคยเป็นบุพเพสันนิวาสกันนั้น เป็นสิ่งที่หาเจอได้ยากมาก เนื่องจากกิเลสตัวรัก ๆ นี้มันมิได้ไว้หน้าใคร และมิได้รอคอยให้บุพเพสันนิวาสมาวินิจฉัยหรือตัดสินก่อนมัน ขอแต่ว่าเป็นหญิงหรือเป็นชายที่ต้องกับเพศและนิสัยของมันแล้ว เป็นต้องรักและคว้าดะไปเลย

    กิเลสตัวรักนี่แลพาให้คนเป็นนักต่อสู้แบบไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย ไม่รู้จักสูงจักต่ำ ไม่รู้จักใกล้จักไกล ไม่รู้จักเลือกสรรปันแบ่งว่ามากไปหรือน้อยไป ควรหรือไม่ควรเพียงใด มีแต่จะสู้ตายเอาท่าเดียวไม่ยอมแพ้ แม้จะพลาดท่าหรือตายไปก็ยังไม่ยอมทิ้งลวดลายที่เคยเป็นนักต่อสู้เอาเลย นี่แลเรื่องของกิเลสตัวรัก มันแสดงตัวเด่นอยู่ในหัวใจของสัตว์โลกอย่างเปิดเผย ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของใครเอาง่าย ๆ ผู้ต้องการมีหลักฐานและความมีประมาณเป็นเครื่องทรงตัวไว้บ้าง จึงไม่ควรปล่อยให้มันวิ่งแซงหน้าไปตามนิสัยโดยถ่ายเดียว ควรมีการหักห้ามกันบ้างพอมีทางตั้งตัว แม้จะไม่ทราบบุพเพสันนิวาสของตัว ก็ยังพอมีทางยับยั้งใจได้บ้าง ไม่ถูกมันจับถูไถเข้าถ้ำเข้ารูลงเหวตกบ่อไปท่าเดียว

    ความรู้บุพเพสันนิวาสของตนนี้ ถ้าไม่ใช่นักปฏิบัติจิตตภาวนา ซึ่งมีนิสัยในทางรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ยากที่จะทราบได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราควรมีสติหักห้ามมันอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้มันพาไหลลงสู่ที่โสมมแบบน้ำล้นฝั่งไม่มีอะไรกั้นก็แล้วกัน ยังพอจะมีหวังครองตัวไปได้ ไม่จอดจมหล่มลึกลงในกลางทะเลแห่งความรักอันไม่มีประมาณโดยถ่ายเดียว

    เขาถามท่านอีกปัญหาหนึ่งว่า

    “ระหว่างสามีภริยาที่อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกเย็นใจตลอดมา ไม่ประสงค์จะให้พลัดพรากจากกันในภพต่อไป เกิดในชาติใดภพใดขอให้ได้เป็นสามีภริยากันตลอดไป จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะสมหวัง ถ้าต่างคนต่างตั้งความปรารถนาให้ได้พบกันทุกภพทุกชาติจะเป็นไปได้ไหม”

    ท่านตอบว่า

    “ความปรารถนานั้นเป็นเพียงเส้นทางเดินของจิตใจผู้มุ่งหมายเท่านั้น ถ้าไม่ดำเนินตามความปรารถนาก็ไม่เกิดประโยชน์ตามความมุ่งหมาย เช่น คนต้องการเป็นคนร่ำรวย แต่เกียจคร้านในการแสวงหาทรัพย์ ความร่ำรวยก็เป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยความขวนขวายตามเจตนาจำนงที่ตั้งไว้ด้วยจึงจะสมหวัง

    นี่ก็เหมือนกัน ถ้าต้องการเป็นสามีภริยาครองรักกันอย่างมีความสุขทุกภพทุกชาติไป ไม่อยากพลัดพรากจากกัน ต้องมีจิตใจคือทรรศนะตรงกัน ต่างคนต่างอยู่ในขอบเขตของกันและกัน ไม่ชอบแสวงหาเศษหาเลยอันเป็นการทำลายจิตใจและความสุขความไว้วางใจกัน ต่างคนเป็นผู้รักศีลรักธรรม มีความประพฤติดีไว้วางใจกันได้ ความรู้ความเห็นลงรอยกัน ต่างพยายามรักษาความปรารถนาด้วยการทำดี ย่อมมีทางสมหวังได้ ไม่เหนือความพยายามของผู้ปรารถนาไปได้เลย แต่ถ้าความประพฤติทุกด้านแบบตรงกันข้าม หรือสามีดีแต่ภริยาชั่ว หรือภริยาดีแต่สามีชั่ว ต่างคนต่างทำความชอบใจ ไม่ลงรอยกัน แม้ต่างจะปรารถนาสักกี่ร้อยกี่พันครั้งก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะเป็นการทำลายความปรารถนาของตน”

    ท่านย้อนถามว่า

    “โยมปรารถนาเพียงอยากอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ปรารถนาอะไรอื่นบ้างหรือ”

    เขาตอบท่านว่า

    “นอกนั้นก็ไม่ทราบว่าจะปรารถนาอะไรอีก เพราะความปรารถนาอยากได้เงินได้ทอง อยากได้บริษัทบริวาร อยากได้ยศถาบรรดาศักดิ์ อยากเป็นพระมหากษัตริย์ อยากไปสวรรค์นิพพาน ก็ยังอดลืมภริยาซึ่งเป็นที่รักไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะนี้เป็นจุดใหญ่แห่งความปรารถนาของโลก เลยต้องปรารถนาสิ่งนี้ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับปุถุชนก่อน จากนั้นถ้าพอเป็นไปได้ค่อยพิจารณากันไป กระผมจึงเรียนถามเรื่องนี้ก่อน แม้กลัวท่านดุและอายท่านก็ทนเอา เพราะความจริงของโลกโดยมากเป็นกันอย่างนี้ทั้งนั้น เป็นแต่จะกล้าพูดหรือไม่เท่านั้น”

    ท่านหัวเราะแล้วถามเขาว่า

    “ถ้าเป็นดังที่ว่านี้ โยมไปไหนก็จะต้องเอาแม่เด็กไปด้วยใช่ไหม”

    เขาหัวเราะบ้างแล้วเรียนท่านว่า

    “กระผมอายจะเรียนท่านตามความหยาบของปุถุชนที่เป็นอยู่ภายใน แต่ความจริงแล้วเท่าที่กระผมยังบวชไม่ได้จนบัดนี้ ก็เพราะเป็นห่วงแม่เด็ก กลัวเขาจะว้าเหว่เป็นทุกข์ ไม่มีผู้ปรึกษาปรารภและให้ความอบอุ่นแก่เขาเท่าที่ควร ลูก ๆ นอกจากจะมารบ กวนขอเงินไปซื้อนั่นซื้อนี่ และเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องกวนใจให้ยุ่งแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นว่าเขาจะมีความสามารถทำให้แม่มีความอบอุ่น และสบายใจได้ในทางใดบ้าง ผมจึงอดเป็นห่วงเขามิได้

    อีกประการหนึ่งสวรรค์ชั้นนั้น ๆ ตามธรรมท่านบอกไว้ว่ามีทั้งเทวบุตรเทวธิดา ซึ่งแสดงว่ามีทั้งหญิงทั้งชายเหมือนแดนมนุษย์เรา และมีความสุขความสำราญด้วยเครื่องบำรุงบำเรอนานาชนิด ซึ่งเป็นสถานที่น่าไปและน่าอยู่มาก แต่พรหมโลกไม่ปรากฏว่ามีเทวบุตรเทวธิดาเหมือนมนุษย์และสวรรค์เลย เมื่อเป็นเช่นนั้นจะไม่ว้าเหว่ไปหรือ เพราะไม่มีผู้คอยปลอบโยนเอาอกเอาใจในเวลาเกิดความหงุดหงิดใจขึ้นมา ยิ่งนิพพานด้วยแล้วยิ่งไม่มีอะไรไปเกี่ยวข้องสัมผัสเอาเลย เป็นตัวของตัวโดยสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นผู้อื่นใดเข้าไปช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องบ้างเลย เป็นตัวของตัวแท้ ๆ แล้วจะมีอะไรเป็นที่ภาคภูมิใจและเทิดเกียรติว่า ผู้ถึงนิพพานแล้วเป็นผู้ได้รับความภาคภูมิใจ ทั้งเกียรติยศชื่อเสียงเรียงนามและความสุขความสบายจากบรรดาท่านผู้ถึงนิพพานด้วยกัน อย่างมนุษย์ผู้มีฐานะดีมีสมบัติมาก มีเกียรติยศสูงได้รับความยกย่องสรรเสริญจากเพื่อนมนุษย์หญิงชายด้วยกัน

    ท่านที่ไปนิพพานแล้วเห็นเงียบไปเลย ไม่มีพวกเดียวกันยกย่องสรรเสริญท่าน จึงทำให้สงสัยว่าการเงียบไปเลยเช่นนั้นจะเป็นความสุขได้อย่างไร กระผมต้องขอประทานโทษที่มาถามบ้า ๆ บอ ๆ ไม่เข้าเรื่องเข้าราวเหมือนคนที่มีสติทั่ว ๆ ไป แต่ก็เป็นความสงสัยทำให้ลำบากใจอยู่ไม่หาย ถ้าไม่ได้เรียนถามท่านผู้รู้ให้หายสงสัยเสียก่อน”
     
  5. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    ท่านตอบว่า

    “สวรรค์ พรหมโลก และนิพพานมิได้มีไว้เฉพาะคนขี้สงสัยแบบโยม แต่มีไว้สำหรับผู้มองเห็นคุณค่าของตัว และคุณค่าของสวรรค์ พรหมโลก และนิพพาน ว่าเป็นของดีมีคุณค่าต่างกันขึ้นไปตามลำดับชั้น และความดีของผู้ที่ควรจะได้จะถึงตามลำดับ คนแบบโยม สวรรค์ พรหมโลก และนิพพานคงมิได้ฝันถึงเลย แม้โยมจะไปก็ยังไปไม่ได้ถ้าแม่เด็กยังอยู่ หรือแม้แม่เด็กตายไป โยมก็จะอดคิดถึงไม่ได้ แล้วจะมีโอกาสคิดถึงสวรรค์นิพพานพอจะหาเวลาคิดเพื่อจะไปได้อย่างไร แม้พรหมโลกและนิพพานก็มิได้ดีกว่าแม่เด็กสำหรับความรู้สึกของโยม เพราะพรหมโลกและนิพพานบำรุงบำเรอโยมไม่เป็นเหมือนแม่เด็ก โยมจึงสงสัยและไม่อยากไป กลัวจะขาดผู้บำเรอ (ตอนนี้ท่านว่าทั้งท่านทั้งเขาหัวเราะถูกใจ)

    อันความสุขที่เกิดจากสิ่งต่าง ๆ นั้น แม้ในโลกมนุษย์เรายังต่างกันตามชนิดของสิ่งนั้น ๆ ที่มีรสต่างกัน แม้ประสาทเครื่องรับสิ่งเหล่านั้นที่มีอยู่ในร่างกายอันเดียวกัน ก็ยังนิยมรับสัมผัสต่าง ๆ กัน เช่น ตาชอบสัมผัสทางรูป หูชอบสัมผัสทางเสียง จมูกชอบสัมผัสทางกลิ่น ลิ้นชอบสัมผัสทางรส กายชอบสัมผัสทางเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจชอบสัมผัสทางอารมณ์ต่าง ๆ ตามหน้าที่และความนิยมของตน จะให้รสนิยมเหมือนกันย่อมไม่ได้ การรับประทานเป็นความสุขทางหนึ่ง การพักผ่อนนอนหลับเป็นความสุขทางหนึ่ง การครองรักตามประเพณีของโลกเป็นความสุขทางหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า การทะเลาะกันเพราะความเห็นขัดแย้งกันด้วยเรื่องต่าง ๆ ก็เป็นความทุกข์ทางหนึ่ง ฉะนั้น โลกจึงไม่ขาดจากการสัมพันธ์ติดต่อกันกับสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นความสุขตลอดมา และจำต้องแสวงกันทั่วโลก จะขาดมิได้

    ความสุขในมนุษย์และสัตว์ที่ได้รับตามภูมิของตนเป็นความสุขประเภทหนึ่ง ความสุขในสวรรค์และพรหมโลกเป็นความสุขประเภทหนึ่ง ความสุขในพระนิพพานของท่านผู้สิ้นกิเลสเครื่องกังวลใจโดยประการทั้งปวงเป็นความสุขประเภทหนึ่ง ต่างจากความสุขที่โลกมีกิเลสทั้งหลายได้รับกัน จะให้เป็นความสุขเหมือนแม่เด็กเสียทุกอย่างแล้ว โยมก็ไม่จำเป็นต้องดูรูปฟังเสียง รับประทานอาหารพักผ่อนหลับนอน และแสวงหาคุณงามความดีมีการให้ทานรักษาศีลภาวนาเป็นต้นให้ลำบาก เพียงอยู่กับแม่เด็กเท่านั้น ความสุขจากสิ่งต่าง ๆ ก็ไหลมารวมในที่นั้นหมด ซึ่งเป็นการตัดปัญหาความยุ่งยากลงได้เยอะแยะ แต่คุณจะให้เป็นดังที่ว่านี้ได้ไหม?”

    เขาตอบว่า

    “โอ้โฮ จะได้อย่างไรท่านอาจารย์ แม้แต่กับแม่เด็กบางครั้งยังมีการทะเลาะกันได้ จะสามารถนำความสุขจากสิ่งต่าง ๆ มารวมกับเขาคนเดียวได้อย่างไร ก็ยิ่งจะทำให้ยุ่งใหญ่”

    ท่านเล่าว่า เขาเป็นคนมีนิสัยอาจหาญและตรงไปตรงมา ทั้งรักศีลรักธรรมดีมาก สำหรับฆราวาสที่มีความใฝ่ใจในธรรมและมีความจงรักภักดีต่อครูอาจารย์มากมาย ท่านจึงได้สละเวลาพูดคุยธรรมกันแบบพิเศษ เป็นกันเองแทบทุกครั้งที่เขามาเยี่ยมท่านเวลาปลอดจากแขก ปกติก็ไม่ค่อยมีใครสามารถมาถามท่านแบบเขาได้เลย เขาเป็นคนมีนิสัยรักลูกรักเมียมาก เคยมากราบเยี่ยมท่านบ่อยด้วยความรักเลื่อมในท่านมาก เวลามีแขกอยู่กับท่าน เขาเพียงมากราบแล้วก็หลีกหนีไป ทำงานอะไรช่วยพระเณรไปตามนิสัยของคนสนิทกับวัด ถ้าไม่มีคนนั่นแลเป็นโอกาสที่เขาจะกราบเรียนถามเรื่องอะไรต่าง ๆ ตามแต่เขาถนัด ท่านชอบเมตตาเขาด้วยแทบทุกครั้งที่เขามาสบโอกาส เหมาะ ๆ

    สำหรับท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านฉลาดและรู้นิสัยของคนได้ดีมากหาที่ตำหนิมิได้ คนทุกชั้นทุกเพศทุกวัยมาหาท่าน การปฏิสันถารทางกิริยาจะไม่เหมือนกันเลย ทั้งการพูดธรรมดาและอรรถธรรมต้องต่างกันไปเป็นราย ๆ ของผู้มาเกี่ยวข้อง ดังที่เขียนผ่านมาบ้างแล้ว

    ท่านพักอยู่วัดโนนนิเวศน์ อุดรฯ พระมาจำพรรษากับท่านมากและที่มาอบรมศึกษามีมากตลอดมา วัดโนนนิเวศน์แต่สมัยก่อนที่ท่านพักอยู่มีความสงบมากกว่าทุกวันนี้ รถราผู้คนไม่มาก ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับวัดโดยมากเป็นผู้หวังบุญกุศลจริง ๆ มิได้เข้าไปแบบทำลายทั้งที่มีเจตนาและไม่มีเจตนา การบำเพ็ญเพียรของพระเณรก็เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามเวลาที่ต้องการ ฉะนั้นพระที่ทรงคุณธรรมทางใจจึงมีมากพอเป็นเครื่องอบอุ่นแก่ตัวเอง และประชาชนผู้หวังพึ่งความร่มเย็นของพระ
     
  6. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    การอบรมพระเณรที่อุดรฯ

    ตอนกลางคืนท่านอบรมพระเณร การแสดงธรรมโดยมากท่านเริ่มแต่ ศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นไปเป็นขั้น ๆ อย่างไม่มีจุดหมายว่าท่านจะไปจบในธรรมขั้นใด แสดงจนถึงวิมุตติหลุดพ้นอันเป็นจุดสำคัญของธรรม แล้วย้อนกลับมาแสดงเกี่ยวแก่ผู้ปฏิบัติว่าจะควรปฏิบัติตนอย่างไร จึงจะสามารถบรรลุจุดประสงค์ตามธรรมที่ท่านอบรมสั่งสอน

    การสอนพระในวงปฏิบัติ ท่านสอนเน้นลงในความเป็นผู้มีศีลสังวร โดยถือศีลเป็นสำคัญในองค์พระ พระจะสมบูรณ์ตามเพศของตนได้ต้องเป็นผู้หนักแน่นในศีล เคารพในสิกขาบทน้อยใหญ่ ไม่ล่วงเกินโดยเห็นว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อยไม่สำคัญอันเป็นลักษณะของความไม่ละอายบาป และอาจล่วงเกินได้ในสิกขาบททั่วไป เป็นผู้รักษาวินัยเคร่งครัด ไม่ยอมให้ศีลของตนด่างพร้อยขาดทะลุได้ อันเป็นเครื่องเสริมให้เป็นผู้มีความอบอุ่นกล้าหาญในสังคม ไม่กลัวครูอาจารย์หรือเพื่อนพรหมจรรย์จะรังเกียจหรือตำหนิ

    พระในใจจะสมบูรณ์เป็นขั้น ๆ นับแต่พระโสดา ฯลฯ ถึงพระอรหัตได้ ต้องเป็นผู้หนักในความเพียรเพื่อสมาธิและปัญญาทุกชั้นจะมีทางเกิดขึ้นและเจริญก้าวหน้า สามารถชำระล้างสิ่งสกปรกรุงรังภายในใจออกได้โดยสิ้นเชิง อนึ่งคำว่าพระควรเป็นผู้เยี่ยมด้วยความสะอาดแห่งความประพฤติทางกายวาจา และเยี่ยมด้วยจิตที่ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม คือสมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะตามลำดับ ไม่ควรเป็นพระที่อับเฉาเศร้าใจ ไม่สง่าผ่าเผย หลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะปมด้อยคอยกระซิบอยู่ภายใน มีอะไรลึกลับทำให้ร้อนสุมอยู่ในใจนั้น มิใช่พระลูกศิษย์พระตถาคตผู้งดงามด้วยความประพฤติภายในภายนอก ไม่มีที่ต้องติ

    แต่ควรเป็นพระที่องอาจกล้าหาญต่อการละชั่วทำดี ดำเนินตามวิถีรอยพระบาทที่ศาสดาพาดำเนิน เป็นผู้ซื่อตรงต่อตนเองและพระธรรมวินัยตลอดเพื่อนฝูง อยู่ที่ใดไปที่ใดมีสุคโตเป็นที่รองรับ มีโอชารสแห่งธรรมเป็นที่ซึมซาบ มีความสว่างไสวอยู่ด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องส่องทาง ไม่อยู่อย่างจนตรอกหลอกตัวเองให้จนมุม นั่นคือพระลูกศิษย์พระตถาคตแท้ ควรสำเหนียกศึกษาอย่างถึงใจ ยึดไว้เป็นหลักอนาคตอันแจ่มใสไร้กังวล จะเป็นสมบัติที่พึงพอใจของผู้นั้นแน่นอน

    นี่เป็นปกตินิสัยที่ท่านอบรมพระปฏิบัติ

    หลังจากการประชุมแล้ว ท่านผู้ใดมีข้อข้องใจก็ไปศึกษากับท่านเป็นราย ๆ ไปตามโอกาสที่ท่านว่างกิจประจำวัน ซึ่งมีติดต่อกันที่ท่านต้องปฏิบัติไม่ลดละไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด คือตอนเช้าออกจากที่ภาวนาแล้วลงเดินจงกรมก่อนบิณฑบาต พอได้เวลาแล้วก็ออกบิณฑบาต จากนั้นเข้าทางจงกรมเดินจงกรมจนถึงเที่ยงเข้าที่พัก พักจำวัดบ้างเล็กน้อย ลุกขึ้นภาวนาแล้วลงเดินจงกรม บ่าย ๔ โมงเย็นปัดกวาดลานวัดหรือที่พักอยู่ขณะนั้น สรงน้ำแล้วเข้าทางจงกรมอีกเป็นเวลาหลายชั่วโมง ออกจากที่จงกรมก็เข้าที่ไหว้พระสวดมนต์

    การสวดมนต์ท่านสวดมากและสวดนานเป็นชั่วโมง ๆ เสร็จแล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อไปตั้งหลายชั่วโมง คืนหนึ่ง ๆ ท่านพักจำวัดราว ๔ ชั่วโมงเป็นอย่างมากในเวลาปกติ ถ้าเป็นเวลาพิเศษก็นั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่งไม่พักจำวัดเลย

    ในวัยหนุ่มท่านทำความเพียรเก่งมาก ยากจะมีผู้เสมอได้ แม้ในวัยแก่ยังไม่ทิ้งลวดลาย เป็นแต่ผ่อนลงบ้างตามวิบากที่ทรุดโทรมลงทุกวันเวลา ที่ผิดกับพวกเราอยู่มากคือจิตใจท่านไม่แสดงอาการอ่อนแอไปตามวิบากธาตุขันธ์เท่านั้น นี่คือวิธีการของท่านผู้ดีเป็นคติแก่โลกดำเนินมา มิได้ทอดทิ้งปล่อยวางหน้าที่ของตนนับแต่ต้นเป็นลำดับมา ไม่ลดละความเพียรซึ่งเป็นแรงหนุนอันสำคัญ แดนแห่งชัยชนะที่ท่านได้รับอย่างพอใจนั้นได้ที่เขาลึกในจังหวัดเชียงใหม่ที่เขียนผ่านมาแล้ว

    เราที่เกิดมาในชาติมนุษย์ซึ่งเป็นชาติที่พร้อมด้วยคุณสมบัติที่ควรจะได้จะถึงอยู่แล้ว แต่ละท่านที่จะได้ประสบความสำเร็จดังใจหมายเช่นท่านที่ได้ประสบมาแล้ว จนได้กลายมาเป็นประวัตินั้น แม้จะมีคนมากแทบล้นโลกสมัยปัจจุบัน แต่ผู้จะได้ประสบกับแดนสมหวังดังที่กล่าวมานี้มีจำนวนน้อยมากเหลือเกิน แทบจะไม่มีในโลกสมัยปัจจุบัน

    ที่แตกต่างกันมากทั้งนี้ เพราะความรู้ความเห็นความขะมักเขม้นและอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ในทางจะให้เกิดผลดังมุ่งหมายมีมากน้อยต่างกันมาก ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้ต่างกันมากจนแทบไม่น่าเชื่อทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว แต่เป็นสิ่งที่โลกได้ประจักษ์ตาประจักษ์ใจกันมานานแล้ว จนหาทางปฏิเสธไม่ได้ นอกจากต้องยอมรับโดยทั่วกันตามสิ่งที่ปรากฏ ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งสุขทั้งทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นกับตนแต่ละราย ไม่มีทางสลัดปัดทิ้งได้เท่านั้น

    ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้มีประวัติอันงดงามมากในบรรดาครูอาจารย์สมัยปัจจุบัน เป็นประวัติที่ทรงดอกทรงผลตลอดต้นชนปลาย สวยงามมาทุกระยะ น่าเคารพเลื่อมใสของคนทุกชั้นทุกเพศทุกวัย กิตติศัพท์กิตติคุณฟุ้งขจรไปถึงไหน เกิดความหอมหวนชวนให้เคารพเลื่อมใสในที่นั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เวลาท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านพุทธศาสนิกชนที่มีความรักใคร่ใฝ่ธรรมไม่ค่อยมีโอกาสได้ทราบ และได้เข้าใกล้ชิดสนิทกับท่านซึ่งมีอยู่มากมาย ทั้งที่ประสงค์อยากพบท่านผู้ดีมีคุณธรรมสูงอยู่ตลอดมา

    แต่เนื่องจากท่านไม่ค่อยชอบออกมาตามบ้านเมืองที่มีผู้คนชุกชุม ท่านเห็นเป็นความสะดวกสบายใจในการอยู่ในป่าเขาตลอดมาแต่ต้นจนอวสาน แม้พระสงฆ์ผู้มีความมุ่งมั่นต่ออรรถธรรมซึ่งมีอยู่มาก ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าไปถึงองค์ท่านได้ง่าย ๆ เพราะทางลำบากกันดาร รถราไม่มี การเข้าไปหาจนถึงที่อยู่ท่านต้องเดินทางเป็นวัน ๆ ผู้ไม่เคยเดินก็ไปไม่ไหว ทั้งความไม่กล้าหาญพอที่จะรับธรรมอันแท้จริงจากท่านบ้าง กลัวท่านจะไม่รับให้อยู่ด้วยบ้าง กลัวท่านจะดุบ้าง กลัวตัวจะปฏิบัติไม่ได้อย่างท่านบ้าง กลัวอาหารการเป็นอยู่จะขาดแคลนกันดารบ้าง กลัวจะฉันมื้อเดียวอย่างท่านไม่ได้บ้าง

    เรื่องที่จะเป็นอุปสรรคต่อการไปนั้น รู้สึกว่าสร้างไว้อย่างมากมาย จนไม่อาจจะฝ่าฝืนเล็ดลอดไปได้ ทั้งที่มีความมุ่งหวังอยู่อย่างเต็มใจ สิ่งเหล่านี้แลที่เป็นอุปสรรคต่อตัวเอง จึงปล่อยโอกาสให้ผ่านไปโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากความคิดชนิดต่าง ๆ เหล่านี้เลย กระทั่งได้ยินแต่ประวัติท่านที่ไม่มีรูปร่างเหลืออยู่แล้ว จึงได้ทราบว่าท่านเป็นพระเช่นไรในวงพระศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ทรงมรรคทรงผลตลอดมานับแต่พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก ลำดับลำดากันลงมาถึงพระสาวกผู้ทรงมรรคทรงผล นับจำนวนไม่ได้ ถ่ายทอดกันเรื่อยมาด้วย สุปฏิบัติ อุชุ ญายะ สามีจิปฏิบัติ อันเป็นเหมือนทำนบใหญ่ที่ไหลออกมาแห่งน้ำอมตมหานิพพานจากจิตสันดานของทุกท่าน ผู้ทรงไว้ซึ่งปฏิปทา ตามทางศาสดาที่ประทานไว้

    ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นองค์หนึ่งในจำนวนพระสาวกอันดับปัจจุบัน ซึ่งเพิ่งมรณภาพผ่านไปเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ ถ้ารวมเวลาที่ผ่านไปก็ราว ๒๐ ปีกว่าเท่านั้น แต่การมรณภาพท่านจะรอลงข้างหน้าเวลาเรื่องท่านดำเนินไปถึง แต่อย่างไรก็ตามการผ่านไปแห่งรูปธรรมนั้นเป็นของมีมาดั้งเดิม ทั้งยังจะมีต่อไปตลอดกาลเมื่อความเกิดของสิ่งสมมุติต่าง ๆ ยังเป็นไปอยู่ ความอัศจรรย์สำคัญที่ยังคงอยู่ คือ พระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้าที่สถิตอยู่กับพระศาสนาไม่ได้ผ่านไปด้วย แม้เมตตาคุณ ปัญญาคุณ และวิสุทธิคุณของท่านพระอาจารย์มั่นก็คงยังอยู่เช่นเดียวกับของพระศาสดา เพราะเป็นคุณสมบัติลักษณะเดียวกัน สำคัญอยู่ที่ผู้จะปฏิบัติให้เป็นไปตามพระโอวาทที่ท่านประทานไว้ จะสามารถตักตวงได้มากน้อยเพียงไร ในกาลอันควรที่กำลังเป็นไปอยู่กับพวกเราเวลานี้ นี่เป็นสิ่งที่ยังควรและน่าสนใจอยู่มาก สำหรับผู้ยังมีชีวิตครองตัวอยู่ ถ้าหาไม่แล้วหมดหนทาง ไม่มีสิ่งใดมาแก้ไขให้กลับคืนได้

    ตอนท่านแก้ปัญหาพี่น้องชาวนครราชสีมานั้น มีเนื้อความสะดุดใจผู้เขียนตลอดมา จึงขอถือเอาความย่อ ๆ มาลงอีกเล็กน้อย ว่า

    อย่าทำความรู้ ความเห็นและความประพฤติทุกด้านเหมือนเราไม่มีป่าช้าอยู่กับตัว อยู่กับบ้านเมืองเรา อยู่กับญาติมิตรของเรา บทถึงคราวเป็นอย่างโลกที่มีป่าช้าทั่ว ๆ ไปขึ้นมา จะแก้ตัวไม่ทัน แล้วจะจมลงในที่ตนและโลกไม่ประสงค์อยากลงกัน จะคิดจะพูดจะทำอะไร ควรระลึกถึงป่าช้าคือความตายบ้าง เพราะกรรมกับป่าช้าอยู่ด้วยกัน ถ้าระลึกถึงป่าช้า ในขณะเดียวกันได้ระลึกถึงกรรมด้วย พอทำให้รู้สึกตัวขึ้นบ้าง อย่าอวดตัวว่าเก่งทั้ง ๆ ที่ไม่เหนืออำนาจของกรรม แม้อวดไปก็เป็นการทำลายตัวให้ล่มจมไปเปล่า ๆ ไม่ควรอวดเก่งกว่าศาสดาผู้รู้ดีรู้ชอบทุก ๆ อย่าง ไม่ลูบ ๆ คลำ ๆ เหมือนคนมีกิเลสที่อวดตัวว่าเก่ง สุดท้ายก็จนมุมของกรรมคือความเก่งของตัว (ผลร้ายที่เกิดจากการทำด้วยความอวดเก่งของตัวเอง)
     
  7. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    นี้ฟังแล้วใจสะดุ้งและหมอบยอมจำนนต่อกรรมจริง ๆ ไม่ผยองพองตัวจนลืมตน ว่ามิใช่คนเดินดินเหมือนโลก ๆ เขา จึงได้นำมาลงซ้ำอีก ที่ลงมาแล้วบางตอนก็มีบกพร่องบ้าง ไม่สมบูรณ์ตามที่ท่านอธิบาย มาระลึกได้ทีหลังก็มี อย่างนี้เองความรู้ความจำของปุถุชนคนหนามันหลอก ๆ ลวง ๆ ขวางธรรมของจริงอยู่อย่างนี้เอง จึงขออภัยท่านผู้อ่านไว้ด้วยที่เขียนซ้ำบ้างเป็นบางตอน

    ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีความรู้ความสามารถ ประสาทธรรมให้แก่คณะลูกศิษย์ฝ่ายพระเป็นต้นโพธิ์ต้นไทรขึ้นมาหลายองค์ ซึ่งเป็นประเภทที่ปลูกให้เจริญเติบโตขึ้นยากอย่างยิ่ง เพราะเป็นประเภทที่ชอบมีอันตรายรอบด้าน

    ครูอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ท่านยังมีอยู่หลายองค์ ที่ระบุนามมาบ้างแล้วตอนต้นก็มี คือ ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านอาจารย์มหาปิ่น อุบลฯ ท่านอาจารย์เทสก์ ท่าบ่อ หนองคาย ท่านอาจารย์ฝั้น สกลนคร ท่านอาจารย์ขาว วัดถ้ำกลองเพล อุดรฯ ท่านอาจารย์พรหม บ้านดงเย็น อำเภอหนองหาร อุดรฯ แต่ท่านมรณภาพไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านอาจารย์ลี วัด อโศการาม สมุทรปราการ ท่านอาจารย์ชอบ ท่านอาจารย์หลุย จังหวัดเลย ท่านอาจารย์อ่อน หนองบัวบาน ท่านอาจารย์สิม เชียงใหม่ ท่านอาจารย์ตื้อ เชียงใหม่ ท่านอาจารย์กงมา สกลนคร ที่หลงลืมจำไม่ได้ก็ยังมีอยู่มาก

    ท่านอาจารย์เหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีคุณธรรมในลักษณะต่าง ๆ กัน องค์หนึ่งเด่นไปทางหนึ่ง อีกองค์หนึ่งเด่นไปทางหนึ่ง รวมแล้วท่านเป็นผู้น่ากราบไหว้บูชาอย่างสนิทใจแทบทุกองค์ บางท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมีประชาชนพระเณรรู้จักมาก บางท่านชอบเก็บตัว และชอบอยู่ในที่สงัดตามอัธยาศัย บรรดาลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น บางท่านมีสมบัติมาก (คุณธรรม) แต่ไม่มีคนค่อยทราบก็มีอยู่หลายองค์ เพราะท่านชอบอยู่อย่างเงียบ ๆ ตามนิสัย นับว่าท่านสามารถปลูกพระให้เป็นต้นโพธิ์ธรรมได้มากกว่าทุกอาจารย์ในภาคอีสาน โพธิ์คือความรู้ความฉลาด ถ้าเป็นโพธิ์ของพระพุทธเจ้าก็เรียกว่าตรัสรู้ แต่เป็นอาจารย์ก็ควรเรียกตามฐานะ หรือตามวิสัยป่าของผู้เขียนว่าโพธิ์ธรรมซึ่งรู้สึกถนัดใจ

    การปลูกพระก็เหมือนที่โลกเลี้ยงลูกปลูกโพธิ์นั่นเอง การแนะนำสั่งสอนเพื่อปลูกฝังหลักฐานทางมรรยาท ความประพฤติตลอดความรู้ ความฉลาด ทางภายในถึงขั้นปกครองตนได้ ไม่มีภัยเข้าไปอาจเอื้อมทำลายได้ เพียงแต่ละองค์นับว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เจริญได้ยากมาก เพราะการปลูกคุณธรรมให้ฝังลึกลงในหัวใจของคนมีกิเลสแสนแง่แสนงอนนั้น เป็นภาระที่หนักหน่วงถ่วงใจ ผู้เป็นอาจารย์แทบไม่มีเวลาปลงวางได้ และต้องเป็นผู้มีอำนาจเหนือกิเลสโดยประการทั้งปวงแล้ว จึงจะพอมีทางทำให้ผู้มารับการอบรมได้รับความซาบซึ้งถึงใจ และพอใจปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ นิสัยกับธรรมจะพอมีทางกลมกลืนกันได้ กลายเป็นผู้มีความมั่นคงทางใจไปโดยลำดับ

    ลำพังเราก็มีกิเลส ผู้มารับการอบรมต่างก็มีกิเลสเต็มตัวด้วยกัน ยากที่จะมีกำลังฉุดลากกันไปให้ถึงที่ปลอดภัยได้ จึงอยากจะพูดว่า สิ่งที่ทำได้ยากในโลกมนุษย์เราก็คือการสร้างพระธรรมดาให้เป็นพระที่น่ากราบไหว้บูชา และเสกสรรหรือส่งเสริมให้เลื่อนจากฐานะเดิมของจิตขึ้นสู่พระโลกุตระ คือพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา และพระอรหันต์นั้น ยิ่งยากแสนยากขึ้นเป็นขั้น ๆ ดีไม่ดียังไม่แตกกิ่งแตกแขนงก็ถูกตัวแมลงมากัดมาไช มาโค่นรากแก้วรากฝอยให้โค่นล้มจมดินอย่างไม่เป็นท่าเสียมากกว่าจะเจริญเป็นต้นเป็นลำขึ้นมาพอทำประโยชน์ได้ โดยมากเราเคยเห็นกันมาอย่างนั้นแทบทั้งนั้น ไม่ค่อยมีรากฝังลึกพอจะทนลมทนฝนทนตัวแมลงกัดไชได้

    เราปลูกต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ไว้ทำประโยชน์ ไม่กี่ปีก็ได้รับผล แต่ปลูกพระนี้กี่ปีคอยแต่จะโค่นล้มอยู่นั่นเอง แม้ไม่มีอะไรมาตอม แต่ตัวเองคอยส่ายแส่หาตัวแมลงมาตอมเพื่อทำลาย และตัวก็คอยทำลายตัวเองอยู่แล้ว จึงเป็นความเจริญได้ยากในการปลูกพระ ถ้าไม่เชื่อว่าเป็นความจริงก็เชิญเข้ามาลองบวชบำรุงตนด้วยสิกขาบทกฎบัญญัติที่ประทานไว้ดู น่ากลัวว่าข้าวเย็นก็จะหิวก่อนเวลาทั้งที่ตะวันยังไม่ตก เที่ยวก็อยากเที่ยวตลอดเวลาทั้งที่ศีรษะก็ไม่เหมือนโลกเขา ตาหูเป็นต้นต่างก็อยากดูอยากฟัง อยากดมกลิ่นลิ้มรส สัมผัสสิ่งอ่อนนุ่มภูมิใจ ไม่มีเวลาอิ่มพอตลอดเวลา โดยไม่เลือกว่าเช้าสายบ่ายเย็นอะไรเลย จนลืมว่าตัวเป็นอะไรขณะนี้ ส่วนจะสนใจบำรุงต้นโพธิ์ คือใจให้มีเหตุมีผลรู้จักอดทนต่อคำสั่งสอน น้อมเข้ามาฝึกฝนอบรมตนให้มีความสงบเย็นใจนั้น น่ากลัวจะไม่สนใจนำพาเสียแล้ว ต้นโพธิ์คือใจเมื่อขาดการบำรุง ก็มีแต่จะเหี่ยวแห้งยุบยอบลงโดยลำดับ สิ่งคอยทำลายก็นับวันเวลามีโอกาสหักรานไปทุกระยะ ต้นโพธิ์ต้นไหนบ้างจะทนตั้งโด่อยู่ได้ เพราะโพธิ์ของพระเป็นโพธิ์ที่มีหัวใจ จะต้องโอนไปเอนมาตามสิ่งร้าวราน ทนไม่ไหวก็โค่นล้มลงจมดินจมน้ำอย่างไม่เป็นท่าเท่านั้นเอง

    ฉะนั้น การปลูกโพธิ์จึงเป็นของปลูกยากอย่างนี้ ใครไม่เคยปลูกก็ไม่รู้ฤทธิ์ของมันซึ่งไม่ค่อยชอบปุ๋ยธรรมดาเหมือนต้นไม้ทั้งหลาย แต่แหวกไปชอบปุ๋ยประเภทสังหารทำลายเสียมาก ฉะนั้น โพธิ์ต้นนี้จึงมักอับเฉาและตายได้ง่ายกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ๆ คือตายจากศีลธรรมความดีงามนั่นเอง ผู้เขียนเคยปลูกและบำรุงมาบ้าง และเคยทำลายมาบ้างด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงพอทราบฤทธิ์ของมันว่าเป็นธรรมชาติที่ปลูกยากบำรุงยาก คอยแต่จะอับเฉาเหี่ยวแห้งและฉิบหายอยู่ตลอดมา แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่อาจรับรองได้ว่า โพธิ์ต้นนี้จะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงไปถึงไหนเพียงไร เพราะปกติก็คอยแต่จะเสื่อมลงท่าเดียว ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นว่ามีอะไรเจริญขึ้นพอให้เสื่อมลงอันเป็นของคู่กัน แต่ยังอุตส่าห์เสื่อมลงได้อยู่นั่นเอง

    ปุ๋ยประเภททำลายนี้ โพธิ์ชนิดนี้รู้สึกชอบและแสวงหามาทำลายตัวเองเป็นประจำแทบมองไม่ทัน โดยไม่มีใครมาเกี่ยวข้องและช่วยทำลาย ดังนั้นท่านที่อุตส่าห์ฝ่าฝืนและทรมานใจให้อยู่ในอำนาจได้จนกลายเป็นโพธิ์ขึ้นมาอย่างสมบูณ์ จึงเป็นผู้ที่น่ากราบไหว้สักการะอย่างถึงใจ สมัยปัจจุบันก็มีท่านอาจารย์มั่น เป็นต้น ซึ่งเป็นที่อบอุ่นแก่บรรดาศิษย์โดยทั่วกัน ทั้งนี้เพราะท่านสามารถบำรุงรักษาต้นโพธิ์ท่านไว้ได้จนทรงดอก ทรงผล ทรงต้น ทรงกิ่ง และทรงใบไว้ได้อย่างสมบูรณ์และร่มเย็นแก่ผู้เข้าอาศัยตลอดมา แม้ท่านมรณภาพผ่านไปแล้วเพียงได้อ่านประวัติก็ยังสามารถทำความดึงดูดจิตใจให้เกิดความเลื่อมใสในท่านและในธรรมขึ้นอีกมาก ประหนึ่งท่านยังมีชีวิตอยู่กับพวกเรามิได้พลัดพรากจากไปไหนเลยฉะนั้น
     
  8. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    จำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี

    ท่านพักจำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๒ พรรษา นับแต่จากจังหวัดเชียงใหม่มา พอออกพรรษาปีที่สองแล้ว คณะศรัทธาทางจังหวัดสกลนคร มีคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ เป็นต้น ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของท่าน พร้อมกันมาอาราธนานิมนต์ท่านให้ไปโปรดทางจังหวัดสกลนคร ซึ่งท่านเคยอยู่มาก่อน ท่านยินดีรับอาราธนา คณะศรัทธาทั้งหลายต่างมีความยินดีพร้อมกันเอารถมารับท่านไปที่จังหวัดสกลนคร ในปลายปีพ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านไปพักวัดสุทธาวาส สกลนคร ขณะที่ท่านพักอยู่มีประชาชนพระเณรพากันมากราบเยี่ยมและฟังโอวาทท่านมิได้ขาด ท่านพักวัดสุทธาวาสครั้งนั้นมีผู้มาขอถ่ายภาพท่านไว้กราบไหว้บูชา

    ท่านอนุญาตให้ถ่ายภาพท่านคราวมาพักนครราชสีมาครั้งหนึ่ง คราวมาพักที่สกลนครครั้งหนึ่ง ที่บ้านฝั่งแดง อำเภอพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม คราวกลับจากงานฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์เสาร์ครั้งหนึ่ง ที่ท่านผู้เคารพเลื่อมใสในท่านได้รับแจกไว้สักการบูชาทุกวันนี้ ก็เนื่องมาจากที่ท่านอนุญาตให้ถ่ายสามวาระนั่นแล ไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีอะไรปรากฏเป็นพยานแห่งความเลื่อมใสในทางรูปกายท่านบ้างเลย เพราะปกติท่านไม่ชอบให้ถ่ายอย่างง่าย ๆ กว่าจะอนุญาตให้ใครแต่ละครั้ง ผู้นั้นต้องรู้สึกอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย ต้องนั่งถอยเข้าถอยออก และเปลี่ยนท่าเปลี่ยนทีอยู่หลายครั้ง จนเหงื่อแตกโชกไปทั้งตัวโดยไม่รู้สึก เพราะเคยทราบมาแล้วว่า ท่านไม่ค่อยอนุญาตให้ใครถ่ายเลย ดีไม่ดีถ้าเข้าไม่สบโอกาสอาจโดนดุก็ได้ จึงต้องกลัวกันทุกรายไป

    a8a8a8a8a8a8a8a8a8a

    ท่านพักวัดสุทธาวาสพอควรแล้ว ก็ออกเดินทางไปพักที่สำนักป่าบ้านนามน ซึ่งเป็นที่สงัดวิเวกดีทั้งกลางวันกลางคืน เหมาะกับอัธยาศัยท่านที่ชอบเช่นนั้นมาประจำนิสัย พระเณรที่ไปอาศัยอยู่กับท่านเห็นแล้วน่าเลื่อมใสอย่างจับใจ มีแต่องค์พูดน้อยแต่ชอบต่อยมาก ๆ กันทั้งนั้น คือท่านไม่ชอบพูดคุยกัน ต่างองค์ประกอบความเพียรตลอดเวลาในที่ของตน ๆ อยู่ในกระต๊อบเป็นหลัง ๆ บ้าง อยู่ในที่จงกรมในป่าริมที่พักบ้าง ถึงเวลาบ่าย ๔ โมงเย็นเวลาปัดกวาดลานวัด ถึงจะเห็นท่านเดินออกมาจากที่ต่าง ๆ แล้วปัดกวาดลานวัดโดยพร้อมเพรียงกัน จากนั้นก็พากันขนน้ำขึ้นใส่ตุ่มล้างเท้า ตุ่มล้างบาตร และสรงน้ำอย่างสงบเสงี่ยมงามตา ต่างองค์ต่างมีท่าอันสำรวม มีสติปัญญาพิจารณาธรรมไปกับกิจวัตรที่ทำ มิได้เลินเล่อเผลอตัวคะนองปากพูดไปต่าง ๆ

    พอเสร็จกิจวัตรแล้วต่างองค์ต่างปลีกตัวหาที่บำเพ็ญเพียรในที่และท่าต่าง ๆ ประหนึ่งไม่มีพระอยู่ในสำนักเลยฉะนั้น เพราะไม่มองเห็นพระยืนพูดนั่งคุยกันในที่ต่าง ๆ เลย ถ้าก้าวเข้าไปในป่าริมสำนัก จะเห็นแต่ท่านเดินจงกรมไปมาอยู่บ้าง นั่งสมาธิภาวนาอยู่บ้าง นั่งทำความสงบอยู่ในกระต๊อบเล็ก ๆ บ้าง อย่างนั้นเป็นประจำทุกวันเวลา นอกจากเวลาประชุม บิณฑบาตและเวลามีกิจจำเป็นอย่างอื่นหรือเวลาฉันจังหันเท่านั้น จึงจะเห็นท่านอยู่รวมกัน แม้ขณะบิณฑบาตก็ต่างองค์ต่างสำรวมระวังตั้งสติปัญญาใกล้ชิดติดแนบอยู่กับความเพียรไปตามสายทาง มิได้ไปแบบคนไม่มีสติอยู่กับตัว ตาส่งไปในสิ่งโน้น ปากพูดพล่ามกับคนนี้ อะไรเช่นนั้น ในอิริยาบถและความเคลื่อนไหวไปมาของพระท่านเป็นที่เย็นตาเย็นใจน่าเคารพเลื่อมใส

    ก่อนฉันต่างพิจารณาอาหารปัจจัยที่รวมอยู่ในบาตรด้วยอุบายที่เห็นภัย ไม่ให้ติดใจในอาหาร ไม่แสดงอาการเพลิดเพลินในอาหารชนิดต่าง ๆ ขณะฉันก็ทำความรู้สึกแบบคนมีสติอยู่กับตัวและฉันด้วยท่าสำรวม ไม่พูดคุยกันในเวลาฉัน และไม่มองโน้นมองนี่ การขบเคี้ยวอาหารก็มีสติระวังไม่ให้มีเสียงดังเกินความงาม อันเป็นที่รำคาญแก่ผู้อื่นที่ฉันอยู่ด้วยกัน

    หลังจากฉันเสร็จต่างเก็บสิ่งของบริขารและปัดกวาดเช็ดถูที่ฉันให้สะอาด แล้วล้างบาตรเช็ดบาตรให้แห้ง ผึ่งแดดครู่หนึ่ง แล้วเก็บไว้ในที่ควร หลังจากนั้นต่างเข้าหาที่วิเวกเพื่อความเพียร คือการฝึกอบรมใจตามแต่เห็นสมควรจะปฏิบัติต่อใจอย่างไร หนักบ้างเบาบ้าง โดยมิได้คำนึงถึงกับเวล่ำเวลาว่าเช้าสายบ่ายเย็น และความเพียรว่าทำมากไปหรือน้อยไป จุดที่หมายอย่างน้อยก็หวังให้จิตอยู่ในคำบริกรรมภาวนาที่นำมาบังคับหรือกำกับให้เป็นอารมณ์ที่พึ่งพิง เพื่อความสงบเย็นใจหนึ่ง เพื่อบังคับใจให้อยู่ในเหตุผลที่ปัญญาชี้แจงหรืออบรมในกรณีนั้น ๆ หนึ่ง เพื่อภูมิจิตภูมิธรรมขั้นละเอียดขึ้นไปโดยลำดับจนถึงจุดที่หมายหนึ่ง องค์ใดอยู่ในภูมิใดก็พยายามอบรมจิตของตนให้ดำเนินไปตามภูมินั้นไม่ลดละความเพียร

    คำว่าสติย่อมถือเป็นธรรมสำคัญของความเพียรทุก ๆ ประโยค และคำว่าปัญญาก็ย่อมถือเป็นสำคัญในเวลาที่ควรใช้ตามกาลของตน เพราะปัญญาเป็นธรรมจำเป็นไปตามภูมิของธรรม ส่วนสติเป็นธรรมจำเป็นตลอดไปในอิริยาบถต่างๆ กาลใดที่ขาดสติ กาลนั้นเรียกว่าขาดความเพียร แม้กำลังเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ก็สักแต่ว่าเท่านั้น แต่มิได้เรียกว่าเป็นความเพียรชอบ

    ดังนั้นท่านจึงสอนเน้นลงในความมีสติมากกว่าธรรมอื่น ๆ เพราะสติเป็นรากฐานสำคัญของความเพียรทุกประเภทและทุกประโยคที่ทำ จนกลายเป็นมหาสติขึ้นมาและผลิตปัญญาให้เป็นไปตาม ๆ กัน ภูมิต้นเพื่อความสงบต้องใช้สติให้มาก ภูมิต่อไปสติกับปัญญาควรเป็นธรรมควบคู่กันไปตลอดสาย

    ท่านอาจารย์มั่นท่านสอนพระให้เด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก ใครไม่ตั้งใจจริงจังอยู่กับท่านไม่ค่อยได้ ราว ๖-๗ คืนมีการประชุมธรรมครั้งหนึ่ง คืนนอกนั้นท่านเปิดโอกาสให้พระเณรเร่งความเพียร ผู้ใดมีข้อข้องใจไปเรียนถามท่านได้โดยไม่รอจนถึงวันประชุม ขณะอยู่กับท่านบรรยากาศรู้สึกอบอวลไปด้วยอรรถด้วยธรรม ประหนึ่งมรรคผลนิพพานราวกับอยู่แค่เอื้อมมือ เพราะความอบอุ่นและความมุ่งมั่นมีกำลังกล้า ต่างองค์ต่างเป็นเครื่องพยุงจูงใจกันในทางความเพียร ตลอดมรรยาทที่แสดงออก ราวกับต่างองค์ต่างเอื้อมเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยกัน จึงต่างองค์ต่างมีความขยันหมั่นเพียรมาก กลางวันกับกลางคืนเหมือนเป็นราตรีเดียวในการประกอบความเพียรของพระทั้งหลาย ถ้าเดือนมืดก็มองเห็นไฟโคมที่จุดด้วยเทียนไขสว่างไสวอยู่ทั่วบริเวณ ถ้าเดือนหงายก็ยังพอสังเกตได้ในการประกอบความเพียรของท่าน ซึ่งต่างองค์ต่างเร่งไม่ค่อยหลับนอนกัน

    เฉพาะองค์ท่าน (พระอาจารย์มั่น) สวดมนต์ภาวนาเก่งไม่แพ้ใครเลย สวดมนต์เป็นชั่วโมง ๆ ถึงจะหยุด และสวดเป็นประจำทุกคืนมิได้ขาด สูตรยาว ๆ เช่น ธรรมจักรและมหาสมัย เป็นต้น ท่านสวดเป็นประจำ นอกจากนั้นเวลามีโอกาสท่านยังแปลให้เราฟังอีกด้วย แต่การแปลสูตรต่าง ๆ ท่านแปลอิงภาคปฏิบัติโดยมาก คือแปลเอาใจความเลยทีเดียว ไม่ค่อยเป็นไปตามวิภัติ ปัจจัย ธาตุ อายตนนิบาต เพื่อรักษาศัพท์แสงเหมือนพวกเราแปลกัน แต่กลับได้ความชัดและเห็นจริงตามท่านอย่างหาที่ค้านไม่ได้เลย จึงเกิดอัศจรรย์ใจอย่างลึก ๆ ว่าการเรียนศัพท์เรียนแปล ท่านไม่ค่อยได้เรียนมากมายอะไรนัก แต่เวลาแปลทำไมท่านแปลเก่งกว่ามหาเปรียญเสียอีก พอยกศัพท์ปุ๊บก็แปลปั๊บในขณะนั้น อย่างคล่องแคล่วว่องไวแทบฟังไม่ทัน

    เช่น ท่านยกศัพท์ธรรมจักรหรือมหาสมัยสูตรขึ้นแปลเป็นบางตอน ที่สัมผัสกับธรรมท่านในเวลาเทศน์นั้น ๆ ท่านแปลอย่างรวดเร็วทันใจราวกับได้เปรียญ ๑๐ ประโยคฉะนั้น ที่ไม่อยากว่า ๙ ประโยคตามที่นิยมกันก็เพราะเคยได้ฟังท่านที่สอบได้เปรียญ ๙ ประโยคแปลมาบ้างแล้ว เวลาแปลยังอึกอัก ๆ และแปลเชื่องช้ามาก กว่าจะได้แต่ละศัพท์ละแสงรู้สึกกินเวลานาน นอกจากนั้น ยังไม่แน่ใจในคำแปลของตนอีกด้วยก็มี ส่วนท่านทั้งแปลก็รวดเร็ว ทั้งอาจหาญต่อความจริงที่แปลออกมา ทั้งเคยได้เห็นผลจากความหมายแห่งธรรมนั้น ๆ มาแล้วอย่างประจักษ์ใจ จึงไม่มีความสะทกสะท้านในการแปล

    แม้คาถาที่ผุดขึ้นจากใจท่านเป็นคำบาลีก็ยังมีแปลกจากบาลีอยู่บ้างไม่ตรงกันทีเดียว เช่น วาตา รุกฺขา น ปพฺพโต เป็นต้น ท่านแปลว่า ลมพัดต้นไม้ทั้งหลายให้แหลกวิจุณไป แต่ไม่สามารถพัดภูเขาหินให้หวั่นไหวได้ดังนี้ รู้สึกจะเป็นเชิงอรรถธรรมที่ผุดขึ้นทั้งความหมายที่นำออกมาแปลให้เราฟัง การกล่าวเกี่ยวกับเปรียญประโยค ๙ ประโยค ๑๐ นั้น กล่าวไปตามภาษาป่า ๆ ตามนิสัยอย่างนั้นเอง กรุณาให้อภัยอย่าได้ถือสาผู้เขียนซึ่งเป็นพระป่า เหมือนวานรที่เคยชินกับป่ามาแต่วันเกิด แม้จะจับมาเลี้ยงอยู่กับมนุษย์จนเชื่องชินก็คงเป็นนิสัยของตัวอยู่นั้นแล ไม่อาจเปลี่ยนแปลงตัวเองและมรรยาทให้เป็นเหมือนมนุษย์ได้ แม้การแปลของท่านกับของพวกเราที่ผู้เขียนบังอาจนำมาลงก็กรุณาให้อภัยด้วย ซึ่งอาจจะเห็นว่าสูงไปหรือต่ำไปที่ไม่ควรอาจเอื้อมนำมาลง
     
  9. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    จำพรรษาที่บ้านโคก

    ท่านพักบ้านนามนพอควรแล้วก็มาพักและจำพรรษาที่บ้านโคก ซึ่งห่างจากบ้านนามนราว ๒ กิโลเมตร ที่บ้านนี้มีความสงัดพอสมควร แต่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ถึงกิโลเมตร เพราะหาทำเลยากบ้าง ทั้งสองแห่งนี้มีพระเณรอยู่กับท่านไม่มากนักราว ๑๑–๑๒ องค์เท่านั้น พอดีกับเสนาสนะ ตอนที่ท่านมาพักบ้านโคกผู้เขียนก็ไปถึงท่านพอดี ท่านได้เมตตารับไว้แบบขอนซุงทั้งท่อน ไม่เป็นท่าเป็นทางอะไรเลย อยู่กับท่านแบบทัพพีอยู่กับแกงเราดี ๆ นี่เอง คิดแล้วน่าอับอายขายหน้าที่พระซุงทั้งท่อนไปอยู่กับท่านผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องลือระบือทั่วทั้งจักรวาล เบื้องบน เบื้องล่าง

    แต่พอเบาใจหน่อยในการเขียนประวัติท่าน ไม่ตีบตันอั้นตู้นักเหมือนที่แล้ว ๆ มา ซึ่งไปเที่ยวจดและอัดเทปเอาจากพระอาจารย์ทั้งหลายในที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่เคยอยู่กับท่านมาในยุคนั้น ๆ นับแต่เที่ยวจดบันทึกอยู่กว่าจะได้มาลงเป็นอักษรให้ท่านได้อ่าน ก็เสียเวลาไปเป็นปี ๆ แม้เช่นนั้นยังต้องมาเรียงตามลำดับกาลสถานที่เท่าที่จดจำได้ กว่าจะเข้ารูปรอยพออ่านได้ความก็แย่ไปเหมือนกัน

    ที่จะเขียนต่อไปนี้ แม้เรื่องราวของท่านจะไม่ประทับใจท่านผู้อ่านเท่าที่ควร แต่ก็ยังเบาใจสำหรับผู้เรียบเรียงอยู่บ้าง เพราะได้รู้เห็นท่านด้วยตาตนเองตลอดมาจนวาระสุดท้าย

    ท่านพาหมู่คณะจำพรรษาที่สำนักป่าบ้านโคกด้วยความผาสุกทั้งทางกายและจิตใจ ไม่มีการเจ็บไข้ได้ทุกข์ตลอดพรรษา ขณะที่พักอยู่ทั้งในและนอกพรรษา มีการประชุมธรรมเป็นประจำ ๖-๗ คืนต่อครั้ง การแสดงธรรมแต่ละครั้ง นับแต่ ๒ ชั่วโมงขึ้นไปถึง ๓-๔ ชั่วโมง ผู้ฟังนั่งทำจิตตภาวนาไปพร้อมอย่างเพลิดเพลินลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในขณะฟังธรรมท่าน แม้องค์ท่านเองก็รู้สึกเพลิดเพลินไปด้วยในการแสดงธรรมแก่พระเณรแต่ละครั้ง ท่านแสดงอย่างถึงเหตุถึงผลและถึงใจผู้ฟังซึ่งมุ่งต่ออรรถธรรมจริง ๆ ธรรมที่ท่านแสดงล้วนถอดออกมาจากใจที่รู้เห็นมาอย่างประจักษ์แล้วทั้งนั้น จึงไม่มีอะไรที่น่าสงสัยว่าไม่เป็นความจริง นอกจากจะสามารถปฏิบัติได้อย่างท่านแสดงหรือไม่เท่านั้น

    ขณะที่ฟังท่านแสดงทำให้จิตประหวัดถึงครั้งพุทธกาล ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุบริษัทโดยเฉพาะในสมัยนั้น แน่ใจว่าพระองค์ทรงหยิบยกเอาแต่ธรรมมหาสมบัติ คือมรรคผลนิพพานอออกแสดงล้วน ๆ ไม่มีธรรมอื่นแอบแฝงอยู่ในขณะนั้นเลย จึงสามารถทำให้ผู้ฟังบรรลุมรรคผลนิพพานไปตาม ๆ กัน ไม่ขาดวรรคขาดตอนตลอดวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะพระพุทธเจ้าผู้ประกาศธรรม ก็เป็นผู้ทรงความบริสุทธิ์สุดส่วนแห่งธรรมในพระทัย พระธรรมที่แสดงออกก็เป็นธรรมประเสริฐอัศจรรย์ ทรงมรรคทรงผลล้วน ๆ ผู้ฟังจึงกลายเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลไปตาม ๆ กัน

    ท่านอาจารย์มั่นแสดงธรรมก็ล้วนเป็นธรรมปัจจุบันกลั่นกรองออกจากใจล้วน ๆ มิได้แสดงแบบลูบ ๆ คลำ ๆ กำดำกำขาวออกมาให้ผู้ฟัง ซึ่งต่างมีความสงสัยอยู่แล้ว ให้เพิ่มความสงสัยยิ่งขึ้น แต่กลับเป็นธรรมเพื่อทำลายความสงสัยนั้น ๆ ให้ทลายหายไปทุกระยะที่แสดง ผู้ฟังธรรมประเภทอัศจรรย์จากท่านจึงมีทางบรรเทากิเลสไปได้มากมาย ยิ่งกว่านั้นก็มีทางให้สิ้นความสงสัยโดยประการทั้งปวงเสียได้

    วันที่ไม่มีการประชุมธรรม พอขึ้นจากทางจงกรม ราว ๒ ทุ่ม จะได้ยินเสียงท่านทำวัตรสวดมนต์เบา ๆ ทุกคืน เป็นเวลานาน ๆ กว่าจะจบ และนั่งสมาธิภาวนาต่อไปจนถึงเวลาท่านจำวัด ถ้าวันที่มีการประชุม จะได้ยินตอนหลังจากเลิกประชุมแล้วทุกคืนเช่นเดียวกัน และได้ยินท่านสวดอยู่เป็นเวลานาน เช่นเดียวกับคืนที่ท่านสวดแต่หัวค่ำ วันเช่นนั้นท่านต้องเลื่อนการจำวัดไปพักเอาตอนดึก ราวเที่ยงคืนหรือตีหนึ่งนาฬิกา บางครั้งผู้เขียนที่นึกคะนองบ้าขึ้นมา พอได้ยินเสียงท่านสวดมนต์ก็แอบเข้าไปฟังบ้าง เพื่อทราบว่าท่านสวดสูตรใดบ้างถึงได้นานนักหนากว่าจะจบแต่ละคืน พอแอบเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อจะฟังให้ชัด แต่ท่านกลับหยุดนิ่งไปเสียเฉย ๆ นี่เอง พอเห็นท่าไม่ดี เราก็รีบออกมายืนรอฟังอยู่ห่าง ๆ หน่อย พอเราถอยออกมาท่านก็เริ่มสวดขึ้นอีก เราก็แอบเข้าไปฟังอีก ท่านก็หยุดนิ่งไปอีก เลยไม่ทราบชัดว่าท่านสวดสูตรใดกันบ้าง

    ถ้าจะขืนดื้อแอบรอฟังอยู่ที่นั้นนาน ๆ ก็กลัวฟ้าจะผ่าลงที่นั้น คือตะโกนดุออกมาในขณะนั้น แม้เช่นนั้นพอตื่นเช้าเวลาท่านออกจากที่พักมา เรามองดูท่านยังไม่เต็มตาเลย ท่านเองก็มองดูเราด้วยสายตาอันคมกล้าน่ากลัวมาก เลยเข็ดแต่วันนั้นไม่กล้าไปแอบฟังท่านสวดมนต์อีกต่อไป กลัวจะโดนอะไรอย่างหนัก ๆ เท่าที่สังเกตดู ถ้าขืนไปแอบฟังท่านอีกมีหวังโดนอะไรแน่ ๆ ข้อนี้มา ทราบเรื่องท่านได้ชัดเมื่อภายหลัง ว่าท่านทราบเรื่องต่าง ๆ ได้ดีจริง ๆ คิดดูเวลาเราไปยืนส่งจิตจดจ้องมองท่านแบบไม่มีสติเช่นนั้น ท่านจะไม่ทราบอย่างไรเล่า ต้องทราบอย่างเต็มใจทีเดียว เป็นแต่ท่านรอฟังดูเหตุการณ์กับพระที่ดื้อไม่เข้าเรื่องไปก่อน หากยังขืนทำอย่างนั้นอีกต่อไป ท่านถึงจะลงอย่างหนัก ที่แปลกใจอยู่มากคือเวลาเราแอบเข้าไปทีไร ท่านต้องหยุดสวดทุกครั้ง แสดงว่าท่านทราบได้อย่างชัดเจนทีเดียว

    กลางวันวันหนึ่งซึ่งผู้เขียนไปถึงใหม่ ๆ กำลังกลัวท่านเป็นกำลัง เผอิญเอนกายลงเลยเคลิ้มหลับไป ขณะที่เคลิ้มหลับไปนั้น ปรากฏว่าท่านมาดุใหญ่ว่า

    “ท่านมานอนเหมือนหมูอยู่ทำไมที่นี่ เพราะที่นี่มิใช่โรงเลี้ยงหมู ผมจึงไม่ส่งเสริมพระที่มาเรียนวิชาหมู เดี๋ยววัดนี้จะกลายเป็นโรงเลี้ยงหมูไป” ดังนี้

    เสียงท่านเป็นเสียงตะโกนดุด่าขู่เข็ญให้เรากลัวเสียด้วย จึงสะดุ้งตื่นทั้งหลับ และโผล่หน้าออกมาประตูมองหาท่าน ทั้งตัวสั่นใจสั่นแทบเป็นบ้าไปในขณะนั้น เพราะปกติก็กลัวท่านแทบตั้งตัวไม่ติดอยู่แล้ว แต่บังคับตนอยู่กับท่านด้วยเหตุผลที่เห็นว่าชอบธรรมเท่านั้น แถมท่านยังนำยาปราบหมูมากรอกเข้าอีก นึกว่าสลบไปในเวลานั้น พอโผล่หน้าออกมามองโน้นมองนี้ไม่เห็นท่านมายืนอยู่ตามที่ปรากฏ จึงค่อยมีลมหายใจขึ้นมาบ้าง

    พอได้โอกาสจึงไปกราบเรียนความเป็นไปถวายท่าน ท่านแก้เป็นอุบายปลอบโยนดีมาก แต่เราคิดว่าไม่ค่อยดีนักในบางตอน ซึ่งอาจทำให้คนนอนใจประมาท เมื่อได้รับคำปลอบโยนที่เคลือบด้วยน้ำตาลเช่นนั้น ท่านอธิบายนิมิตให้ฟังว่า

    “เรามาหาครูอาจารย์ใหม่ ๆ ประกอบกับมีความระวังตั้งใจมาก เวลาหลับไปทำให้คิดและฝันไปอย่างนั้นเอง ที่ท่านไปดุว่าเราเหมือนหมูนั้น เป็นอุบายของพระธรรมท่านไปเตือน ไม่ให้เรานำลัทธินิสัยของหมูมาใช้ในวงของพระและพระศาสนา

    โดยมากคนเราไม่ค่อยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของตัวว่ามีคุณค่าเพียงไร เวลาอยากทำอะไรทำตามใจชอบ ไม่คำนึงถึงความผิด ถูก ชั่ว ดี จึงเป็นมนุษย์เต็มภูมิได้ยาก ที่โบราณท่านว่ามนุษย์ขาดตาเต็งตาชั่งไม่เต็มบาทนั้น คือไม่เต็มตามภูมิของมนุษย์นั่นเอง เพราะเหตุแห่งความไม่รู้สึกตัวว่าเป็นมนุษย์ที่มีคุณสมบัติสูงกว่าสัตว์ จึงทำให้มนุษย์เราต่ำลงทางความประพฤติ จนกลายเป็นคนเสียหายที่ไม่มีอะไรวัดระดับได้ เหลือแต่ร่างความเป็นมนุษย์ เจ้าตัวยังไม่รู้ว่าตนได้เสียไปแล้วเพราะเหตุนั้น ๆ ผู้ที่ควรจะมีสติปัญญาพิจารณาตามได้บ้าง พระธรรมท่านมาสั่งสอนดังที่ท่านปรากฏนั้น เป็นอุบายที่ชอบธรรมดีแล้ว จงนำไปเป็นคติเตือนใจตัวเอง เวลาเกิดความเกียจคร้านขึ้นมาจะได้นำอุบายนั้นมาใช้เตือนสติกำจัดมันออกไป

    นิมิตเช่นนี้เป็นของดีหายาก ไม่ค่อยปรากฏแก่ใครง่ายๆ ผมชอบนิมิตทำนองนี้มาก เพราะจะพลอยได้สติเตือนตนมิให้ประมาทอยู่เนืองๆ ความเพียรจะได้เร่งรีบ จิตใจจะได้สงบอย่างรวดเร็ว ถ้าท่านมหานำอุบายที่พระธรรมท่านมาเทศน์ให้ฟังไปปฏิบัติอยู่เสมอ ๆ ใจท่านจะสงบได้เร็ว ดีไม่ดีอาจถึงธรรมก่อนพวกที่ปฏิบัติมาก่อนเหล่านี้ด้วยซ้ำ นิมิตที่เตือนท่านมหานั้นดีมาก มิใช่นิมิตที่สาปแช่งแบ่งเวรในทางไม่ดี เรามาอยู่กับครูอาจารย์อย่ากลัวท่านเกินไป ใจจะเดือดร้อนนั่งนอนไม่เป็นสุข ผิดถูกประการใดท่านจะสั่งสอนเราไปตามจารีตแห่งธรรม การกลัวท่านอย่างไม่มีเหตุผลนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย จงกลัวบาปกลัวกรรมที่จะนำทุกข์มาเผาลนตนให้มากกว่ากลัวอาจารย์

    ผมเองมิได้เตรียมรับหมู่คณะไว้เพื่อดุด่าเฆี่ยนตีโดยไม่มีเหตุผลที่ควร การฝึกทรมานตัวก็ทำไปตามคลองธรรมที่ท่านแสดงไว้ การอบรมสั่งสอนหมู่คณะก็จำต้องดำเนินไปตามหลักธรรม คือเหตุผล ถ้าปลีกแวะจากทางนั้นย่อมเป็นความผิด ไม่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ฉะนั้น นิมนต์อยู่เย็นใจและประกอบความเพียรให้เป็นชิ้นเป็นอัน อย่าลดละท้อถอยความเพียร ธรรมเป็นสมบัติกลางและเป็นสมบัติของทุกคนที่ใคร่ต่อธรรม พระพุทธเจ้ามิได้ผูกขาดไว้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ต่างมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ด้วยการปฏิบัติดีของตนด้วยกัน อย่าลืมนิมิตอันดีงามซึ่งเป็นมงคลอย่างนี้ไปเสีย จงระลึกถึงอยู่เสมอ ลัทธินิสัยหมูจะได้ห่างไกลจากพระเรา มรรคผลนิพพานจะนับวันใกล้เข้ามาทุกเวลานาที แดนแห่งความพ้นทุกข์จะปรากฏเฉพาะหน้าในวันหรือเวลาหนึ่งแน่นอนหนีไม่พ้น

    ผมยินดีและอนุโมทนาด้วยนิมิตท่านมหาอย่างจริงใจ แม้ผมสั่งสอนตัวผมเองก็สั่งสอนแบบเผ็ดร้อนทำนองนี้เหมือนกัน และชอบได้อุบายต่าง ๆ จากอุบายเช่นนี้เสมอมา จึงจำต้องใช้วิธีแบบนี้บังคับตัวตลอดมา แม้บางครั้งยังต้องสั่งสอนหมู่คณะโดยวิธีนี้เหมือนกัน”
     
  10. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    นี้เป็นคำอธิบายแก้นิมิตที่ท่านใช้ปลอบโยนเด็กที่เริ่มฝึกหัดใหม่ ๆ กลัวจะเสียใจและท้อถอยปล่อยวางความเพียรเวียนไปเป็นมิตรกับหมู ท่านจึงหาอุบายสอนแบบนี้ นับว่าท่านแยบคายในเชิงการสอนมาก ยากจะหาผู้เสมอได้

    แม้ขณะที่ไปหาท่านซึ่งเป็นขณะที่จิตกำลังเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วกลับเจริญ และเป็นขณะที่กำลังได้รับความทุกข์ร้อนและกระวนกระวายมาก ท่านก็มีอุบายสั่งสอนแบบอนุโลมไปตามทำนองนี้เหมือนกัน คือเวลาไปกราบท่าน ท่านถามว่าจิตเป็นอย่างไร ถ้าเป็นขณะที่จิตกำลังเจริญ ก็เรียนท่านว่าระยะนี้กำลังเจริญ ท่านก็ให้อุบายว่า

    “นั่นดีแล้ว จงพยายามให้เจริญมาก ๆ จะได้พ้นทุกข์เร็ว ๆ”

    ถ้าเวลาจิตกำลังเสื่อม ไปหาท่าน ท่านถามว่า “จิตเป็นอย่างไรเวลานี้”

    เราเรียนท่านตามตรงว่า “วันนี้จิตเสื่อมไปเสียแล้ว ไม่มีร่องรอยแห่งความสุขเหลืออยู่เลย”

    ท่านแสดงเป็นเชิงเสียใจไปด้วยว่า

    “น่าเสียดายมันเสื่อมไปที่ไหนกันนา เอาเถอะท่านอย่าเสียใจ จงพยายามทำความเพียรเข้ามาก ๆ เดี๋ยวมันจะกลับมาอีกแน่ ๆ มันไปเที่ยวเฉย ๆ พอเราเร่งความเพียรมันก็กลับมาเอง หนีจากเราไปไม่พ้น

    เพราะจิตเป็นเหมือนสุนัขนั่นแล เจ้าของไปไหนมันต้องติดตามเจ้าของไปจนได้ นี่ถ้าเราเร่งความเพียรเข้าให้มาก จิตก็ต้องกลับมาเอง ไม่ต้องติดตามมันให้เสียเวลา มันหนีไปไหนไม่พ้นเราแน่ ๆ จงพยายามทำความเพียรเข้าให้มากเชียว มันจะกลับมาในเร็ว ๆ นี่แล ไม่ต้องเสียใจให้มันได้ใจ เดี๋ยวมันว่าเราคิดถึงมันมากมันจะไม่กลับมา จงปล่อยความคิดถึงมันเสีย แล้วให้คิดถึงพุทโธติด ๆ กันอย่าลดละ พอบริกรรมพุทโธถี่ยิบติด ๆ กันเข้า มันวิ่งกลับมาเอง คราวนี้แม้มันกลับมาก็อย่าปล่อยพุทโธ มันไม่มีอาหารกินเดี๋ยวมันก็วิ่งกลับมาหาเรา จึงนึกพุทโธเพื่อเป็นอาหารของมันไว้มาก ๆ เมื่อมันกินอิ่มแล้วต้องพักผ่อน เราสบายขณะที่มันพักสงบตัวไม่วิ่งวุ่นขุ่นเคืองเที่ยวหาไฟมาเผาเรา ทำจนไล่มันไม่ยอมหนีไปจากเรานั่นแล พอดีกับใจตัวหิวโหยอาหารไม่มีวันอิ่มพอ ถ้าอาหารพอกับมันแล้ว แม้ไล่หนีไปไหนมันก็ไม่ยอมไป ทำอย่างนั้นแล จิตเราจะไม่ยอมเสื่อมต่อไป คือไม่เสื่อมเมื่ออาหารคือพุทโธพอกับมัน จงทำตามแบบที่สอนนี้ท่านจะได้ไม่เสียใจเพราะจิตเสื่อมแล้วเสื่อมเล่าอีกต่อไป”

    นี่ก็เป็นอีกอุบายหนึ่งที่ท่านสอนคนที่แสนโง่ แต่ดีไปอย่างหนึ่งที่เชื่อท่านตามแบบโง่ของตน ไม่เช่นนั้นคงจะวิ่งตามหาใจดวงเสื่อมแล้วเสื่อมเล่าไม่มีวันเจอและหยุดได้

    ที่เขียนนี้เพื่อท่านผู้อ่านที่อาจได้ข้อคิดในแง่ต่าง ๆ ของคนฉลาดสั่งสอนคนโง่บ้างเท่าที่ควร แต่มิได้เขียนเพื่อชมเชยพระผู้แสนโง่ซึ่งรับคำชี้แจงอนุโลมและปลอบโยนจากท่านในเวลานั้น

    พอออกพรรษาแล้วท่านกลับไปพักที่บ้านนามนที่ท่านเคยพักอีก จากนั้นก็ไปพักที่บ้านห้วยแคนในป่า และพักวัดร้างชายเขา บ้านนาสีนวนหลายเดือน และไปป่วยเป็นไข้ที่บ้านนาสีนวนอยู่หลายวัน จึงหายด้วยอุบายแห่งธรรมโอสถที่ท่านเคยบำบัดองค์ท่านตลอดมา

    ตกเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านออกเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีในงานฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์เสาร์ ที่เป็นอาจารย์ท่าน เสร็จงานศพแล้ว ท่านกลับมาจำพรรษาที่บ้านนามน

    ปีนี้ก็เป็นปีที่ท่านกลั่นกรองความเพียรของคณะลูกศิษย์โดยอุบายวิธีต่าง ๆ ทั้งเทศน์อบรม ทั้งใช้อุบายขู่เข็ญไม่ให้นอนใจในความเพียร ในพรรษาท่านเว้น ๔ คืนมีการประชุมครั้งหนึ่งจนตลอดพรรษา

    ปีนั้นปรากฏว่ามีพระได้กำลังทางจิตใจกันหลายองค์และมีความรู้ความเห็นแปลก ๆ ไปเล่าถวายท่าน ผู้เขียนพลอยได้ฟังด้วย แม้ไม่มีความรู้ความสามารถเหมือนท่านผู้อื่น ในพรรษานั้นก็พลอยมีอะไร ๆ เป็นเครื่องระลึกอย่างฝังใจมาจนบัดนี้ คงไม่มีวันหลงลืมตลอดชีวิต เพราะเป็นสิ่งที่ไม่น่าหลงลืมในชีวิตเป็นของหายากนี้

    ท่านพระอาจารย์มั่นเริ่มดุด่าขู่เข็ญเรานับแต่พรรษานั้นเป็นต้นมา จนกลายเป็นที่รองเช็ดเท้าท่านเรื่อยมา แต่ก่อนท่านมีแต่ใช้อุบายอนุโลม และเออออกับเราไปเรื่อย ๆ จากนั้นท่านคงคิดว่าควรจะเขกเสียบ้าง ขืนอนุโลมไปนานก็หนักอกเปล่า ๆ ผู้นั้นก็จะมัวนอนหลับแบบไม่มีวันตื่นขึ้นมองดูดินฟ้าอากาศ เดือนดาว ตะวันบ้างเลย

    พรรษานี้พระทั้งหลายรู้สึกตื่นเต้นกันมาก ทั้งทางความเพียรและความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดจากจิตตภาวนา เวลาประชุมธรรมหรือเวลาธรรมดา มีผู้เล่าธรรมในใจถวายท่านเสมอเพื่อขอความอนุเคราะห์ชี้แจงจากท่าน และนำไปส่งเสริมเติมต่อจากจุดที่เห็นว่ายังบกพร่อง ท่านเองก็อนุเคราะห์เมตตาอย่างเต็มที่ที่มีผู้มาเรียนถาม ทำให้เกิดความเพลิดเพลินในธรรมอย่างมาก

    ขณะที่มีท่านผู้มาเรียนถามและท่านเป็นผู้ชี้แจงซึ่งเป็นเนื้อธรรมต่าง ๆ กันเป็นราย ๆ ไป ธรรมที่ท่านอธิบายแก้ไขและเพิ่มเติมแก่ผู้มาเล่าถวายและมาเรียนถามปัญหานั้น ไม่แน่นอนนัก ตามแต่ผู้เล่าถวายจะออกมาในรูปใด และเรียนถามปัญหาท่านในรูปใด ท่านก็อธิบายแก้ไขและเพิ่มเติมไปในรูปนั้นตามขั้นของผู้มาศึกษา ที่รู้สึกสนุกมากก็เวลาที่มีท่านผู้มีภูมิธรรมอันสูงมาเล่าถวายและเรียนถามปัญหาท่าน นั่นยิ่งได้ฟังอย่างถึงใจจริง ๆ ไม่อยากให้จบลงอย่างง่าย ๆ และอยากให้มีผู้มาถามท่านบ่อย ๆ เราผู้เป็นกองฉวยโอกาสอยู่ข้างหลังได้สนุกแอบดื่มธรรมอย่างจุใจหายหิวไปหลายวัน

    เวลาโอกาสดี ๆ ท่านเล่าอดีตชาติของท่านให้ฟังบ้าง เล่าการปฏิบัติบำเพ็ญนับแต่ขั้นเริ่มแรกให้ฟังบ้าง เล่าความรู้ความเห็นต่าง ๆ ทั้งภายในภายนอกที่เกิดจากจิตตภาวนาให้ฟังบ้าง เล่าวิถีจิตที่พยายามตะเกียกตะกายขึ้นจากตมจากโคลน จนถึงขณะที่จะหลุดพ้นจากโลกสมมุติ ตลอดขณะที่จิตหลุดพ้นไปจริง ๆ ให้ฟังบ้าง

    ตอนสุดท้ายนี้ทำให้เราผู้นั่งฟังอยู่ด้วยความกระหายในธรรมประเภทหลุดพ้น เกิดความกระวนกระวายอยากได้อยากถึงเป็นกำลัง จนเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่า เรานี้พอมีวาสนาบารมีควรจะบรรลุถึงแดนแห่งธรรมที่ท่านรู้เห็นได้ หรือจะมัวนอนจมดินจมโคลนอยู่ทำนองนี้เรื่อยไปไม่มีวันโผล่ขึ้นจากหล่มลึกได้บ้างเลยหรืออย่างไร ทำไมท่านรู้ได้เห็นได้หลุดพ้นได้ ส่วนเราทำไมจึงยังนอนไม่ตื่น เมื่อไรจะรู้จะเห็นจะหลุดพ้นได้เหมือนอย่างท่านบ้าง

    ที่คิดอย่างนี้ก็ดีอย่างหนึ่ง ทำให้มีมานะความมุ่งมั่นอดทน ความเพียรทุกด้านได้มีโอกาสดำเนินสะดวก มีความดูดดื่มในธรรมที่ท่านเมตตาอธิบายให้ฟังเป็นกำลังใจ ทำให้หายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีศรัทธากล้าแข็ง มีเรี่ยวแรงที่จะลากเข็นภาระแม้หนักไปได้อย่างพอใจ

    ที่ท่านสอนว่าให้คบนักปราชญ์นั้น เป็นความจริงหาที่แย้งไม่ได้เลย ดังคณะลูกศิษย์เข้าอยู่อาศัยสดับตรับฟังความดีงามจากครูอาจารย์วันละเล็กละน้อย ทำให้เกิดกำลังใจและซึมซาบเข้าภายในไปทุกระยะ จนกลายเป็นคนดีตามท่านไปได้ แม้ไม่เหมือนท่านทุกกระเบียด ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ของลูกศิษย์ที่มีครูอาจารย์สั่งสอน อนึ่งการคบคนพาลก็ทำให้มีส่วนเสียได้มากน้อยตามส่วนแห่งความสัมพันธ์กัน ที่ท่านสอนไว้ทั้งสองภาคนี้มีความจริงเท่ากัน คือทำให้คนเป็นคนดีได้เพราะการคบกับคนดี และทำให้คนเสียได้เพราะการคบกับคนไม่ดี เราพอทราบได้ระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ที่คบกันนาน ๆ อย่างน้อยลูกศิษย์นั้น ๆ ย่อมพอมีหลักยึดได้จากอาจารย์ และคนที่หลวมตัวเข้าไปอยู่กับคนพาล อย่างน้อยย่อมมีการแสดงออกในลักษณะแห่งคนพาลจนได้ มากกว่านั้นก็ดังที่เห็น ๆ กันไม่มีทางสงสัย นี่กล่าวถึงพาลภายนอก แต่ควรทราบว่า พาลภายในยังมีและฝังจมอยู่อย่างลึกลับในนิสัยของมนุษย์เราแทบทุกราย แม้สุภาพชนทั่ว ๆ ไปตลอดพระเณรเถรชีผู้ทรงเครื่องแบบของพระศาสนาอันเป็นเครื่องประกาศตนว่าเป็นลูกศิษย์พระตถาคตอย่างเปิดเผย

    คำว่าพาลในที่นี้หมายถึงความขลาดเขลาย่อหย่อนต่อกลมารยาของใจที่เป็นฝ่ายต่ำ ซึ่งคอยแสดงออกในทางชั่วและต่ำทรามโดยเจ้าตัวไม่รู้ หรือแม้รู้แต่เข้าใจว่าเป็นเพียงอยู่ภายในไม่ได้แสดงออกภายนอกให้เป็นสิ่งที่น่าเกลียด ความจริงขึ้นชื่อว่าของไม่ดีแล้ว จะมีอยู่ ณ ที่แห่งใด ย่อมเป็นของน่าเกลียดอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ถึงกับต้องแสดงออกมาจึงจะเป็นของน่าเกลียด เพราะมันเป็นของน่าเกลียดน่ากลัวอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมปราชญ์ฉลาดแหลมคม จึงทรงสอนให้ละและถอดถอนโดยลำดับจนหมดสิ้นไป ไม่มีคำว่า “สิ่งไม่ดี” เหลืออยู่เลยนั่นแล ดังพระองค์และพระสาวกอรหันต์เป็นตัวอย่าง จัดว่าเป็นผู้หมดมลทินทั้งภายนอกภายใน อยู่ที่ใดก็เย็นกายสบายใจไม่มีสิ่งเสียดแทงรบกวน ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้หนึ่งในบรรดาท่านผู้หมดมลทินโดยสิ้นเชิง ในความรู้สึกของผู้เขียนที่ได้สังเกตตามสติกำลังตลอดมา จึงกล้าเขียนลงด้วยความสนิทใจ แม้จะถูกตำหนิก็ยอมรับความจริงที่แน่ใจแล้วนั้น ไม่ให้กระทบกระเทือนถึงองค์ท่านผู้ไปดีแล้วด้วยความหมดห่วงจากบ่วงแห่งมาร

    ออกพรรษาแล้วท่านยังพักบำเพ็ญวิหารธรรมอยู่ที่นั้นเป็นเวลานาน พรรษาต่อมาจึงมาจำพรรษาที่บ้านโคกอีก แต่มิได้จำสำนักเดิมที่เคยจำมาแล้ว สำนักใหม่แห่งนี้ท่านอาจารย์กงมา จิรปุญโญ สร้างถวาย ท่านมาจำพรรษาที่สำนักป่าแห่งนี้ด้วยความผาสุกทั้งทางกายและทางใจ การประชุมอบรมพระเณรย่อมดำเนินไปตามที่เคยปฏิบัติมา

    สรุปความในตอนนี้ท่านมาพักอยู่แถบบ้านห้วยแคน บ้านนาสีนวน บ้านโคก บ้านนามน ตำบลตองโขบ เขตอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ๓ พรรษาติด ๆ กัน ในระยะที่พักอยู่แถบนี้ทั้งในและนอกพรรษา
     
  11. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    การติดต่อสั่งสอนพวกเทพฯ และชาวมนุษย์ ท่านว่า ท่านดำเนินไปโดยสม่ำเสมอ เฉพาะพวกเทพไม่ค่อยมีมากและไม่มาบ่อยนักเหมือนอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้คงเกี่ยวกับสถานที่มีความเงียบสงัดต่างกัน จะมีบ้างก็หน้าเทศกาลโดยมาก เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา กลางพรรษา และวันปวารณาออกพรรษาเท่านั้น วันนอกนั้นไม่ค่อยมีพวกเทพฯ มาเกี่ยวข้องเหมือนเวลาท่านพักอยู่ที่เชียงใหม่

    ในพรรษาพระเณรไม่มีมากเพราะเสนาสนะมีจำกัด พอดีกับพระเณรที่อาศัยอยู่กับท่านโดยเฉพาะเท่านั้น ส่วนพระเณรจากทิศต่าง ๆ ที่ไปรับการอบรมกับท่านตอนนอกพรรษานั้นมีไม่ขาด เข้า ๆ ออก ๆ สับเปลี่ยนกันเสมอมา ท่านอุตส่าห์เมตตาสั่งสอนด้วยความเอ็นดูสงสารอย่างสม่ำเสมอ

    พอตกหน้าแล้งของพรรษาที่สาม ก็มีญาติโยมจากบ้านหนองผือนาในไปอาราธนาท่านให้มาโปรดที่หมู่บ้านนั้น ท่านรับคำนิมนต์เขาแล้ว ไม่นาน ญาติโยมก็พร้อมกันไปรับท่านมาพักและจำพรรษาที่บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านออกเดินทางจากบ้านโคกมาบ้านหนองผือด้วยเท้าเปล่า และพักแรมมาตามรายทางราว ๓-๔ คืนจึงถึงหมู่บ้านหนองผือ เพราะทางเต็มไปด้วยป่าดงพงลึก ต้องด้นดั้นซอกซอนมาตลอดสายจนถึงหมู่บ้านหนองผือ

    เพียงไม่กี่วันที่มาถึงบ้านหนองผือ ท่านเริ่มป่วยเป็นไข้มาลาเรียแบบจับสั่น ชนิดเปลี่ยนหนาวเป็นร้อนและเปลี่ยนร้อนเป็นหนาว ซึ่งเป็นการทรมานอย่างยิ่งอยู่แรมเดือน

    ไข้ประเภทนี้ใครโดนเข้ารู้สึกจะเข็ดหลาบไปตาม ๆ กัน เพราะเป็นไข้ชนิดที่ไม่รู้จักหายลงได้ เป็นเข้ากับรายใดแล้วตั้งแรมปีก็ไม่หาย คงแอบมาเยี่ยม ๆ มอง ๆ อยู่ทำนองนั้น คือหายไปตั้ง ๑๕ วันหรือเดือนหนึ่ง นึกว่าหายสนิทแล้วก็กลับมาเป็นเข้าอีก หรือตั้งเป็นเดือน ๆ แล้วก็กลับมาเป็นอีก ซึ่งเคยเขียนเรื่องไข้ประเภทนี้บ้างแล้วว่า ถ้าลูกเขยเป็น ก็อาจทำเอาจนพ่อตาแม่ยายเบื่อ ถ้าพ่อตาหรือแม่ยายเป็น ก็ทำเอาจนลูกเขยเบื่อ เพราะทำงานหนักหนาอะไรไม่ได้ แต่รับประทานได้มาก นอนหลับสนิทดีชนิดไม่รู้จักตื่น และบ่นได้เก่งชนิดไม่หยุดปาก พอให้คนดีเบื่อกันดีนั่นแล ผู้เป็นไข้ชนิดนี้ใครไม่เบื่อเป็นไม่มี เพราะเป็นไข้ที่น่าเบื่อเอามากทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากสมัยนั้นไม่มียาแก้กันให้หายเด็ดขาดได้เหมือนสมัยนี้ เมื่อเป็นเข้าแล้วต้องปล่อยให้หายไปเอง มิฉะนั้นก็กลายเป็นโรคเรื้อรังไปเป็นปี ๆ ถ้าเป็นเด็กโดยมากก็ลงพุง จนกลายเป็นเด็กพุงโตหรือพุงโร หน้าไม่มีสีสันวรรณะเลย

    ไข้ประเภทนี้ชอบเป็นกับคนที่เคยอยู่บ้านทุ่ง ๆ แล้วย้ายภูมิลำเนาเข้าไปอยู่ในป่าตามไร่นา แม้คนที่เคยอยู่ป่าเป็นประจำมาแล้วก็ยังเป็นได้ แต่ไม่ค่อยรุนแรงเหมือนคนมาจากทางทุ่ง และชอบเป็นกับพระธุดงคกรรมฐานที่ชอบเที่ยวซอกแซกไปตามป่าตามเขาโดยมาก สำหรับผู้เขียนแล้ว ถ้าเป็นสิ่งที่มีค่าควรออกอวดโลกได้เกี่ยวกับไข้ชนิดเข็ดหลาบตลอดวันตายนี้ ก็คงได้อวดอย่างเต็มภูมิไม่ยอมแพ้ใครอย่างง่าย ๆ ทีเดียว เพราะเคยโดนมามากมายหลายครั้ง และรู้ฤทธิ์ของมันชนิดไม่กล้าสู้ตลอดวันตายเลย ขณะเขียนก็ยังกลัวอยู่เลย แม้มาอยู่บ้านหนองผือปีแรกก็โดนไข้นี้ดัดสันดานจนตลอดพรรษาและเตลิดถึงหน้าแล้งไม่ยอมหายสนิทได้เลย จะไม่ให้เข็ดหลาบอย่างไรเพราะพระก็คือคนที่มีหัวใจและรู้จักสุข ทุกข์ ดี ชั่วอย่างเต็มใจเช่นเดียวกับคนทั่ว ๆ ไปนั่นเอง สิ่งที่น่าเข็ดน่ากลัวจึงต้องเข็ดต้องกลัวเช่นเดียวกับคนทั้งหลาย

    ท่านพักอยู่ที่หนองผือ ปรากฏมีพระเณรมากขึ้นโดยลำดับ เฉพาะภายในวัดในพรรษาหนึ่ง ๆ ก็มีถึง ๒๐-๓๐ กว่าองค์อยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีพระเณรพักและจำพรรษาอยู่ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ แถบใกล้เคียงอีกหลายแห่ง แห่งละ ๒ องค์บ้าง ๓ องค์บ้าง ๔-๕ องค์บ้าง แห่งละ ๙-๑๐ องค์บ้าง วันประชุมทำอุโบสถ ปรากฏมีพระมารวมทำอุโบสถถึง ๓๐-๔๐ องค์ก็มี รวมทั้งในวัดและบริเวณใกล้เคียงแล้วมีพระเณรไม่ต่ำกว่า ๕๐-๖๐ องค์ นอกพรรษายังมีมากกว่านั้นในบางครั้ง และมีมากตลอดมานับแต่ท่านไปจำพรรษาที่นั้น

    เวลากลางวันพระเณรต่างปลีกตัวเข้าไปอยู่ในป่าลึกนอกบริเวณวัดเพื่อประกอบความเพียร เพราะป่าดงที่ตั้งสำนักรู้สึกกว้างขวางมากเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร ยิ่งด้านยาวด้วยแล้วแทบจะหาที่สุดป่าไม่เจอ เพราะยาวไปตามภูเขาที่มีติดต่อกันไปอย่างสลับซับซ้อนจนไม่อาจพรรณนาได้

    อำเภอพรรณานิคมทางด้านทิศใต้ โดยมากมีแต่ป่าแต่เขาทั้งนั้น จนไปจดจังหวัดกาฬสินธุ์ ฉะนั้นเวลาท่านพระอาจารย์มั่นไปพักอยู่วัดหนองผือ จึงเป็นจุดศูนย์กลางแห่งพระธุดงคกรรมฐานดีมาก ที่ท่านต้องมารวมฟังปาฏิโมกข์และฟังโอวาทตามโอกาสตลอดเวลา เกิดข้อข้องใจทางด้านภาวนาขึ้นมาก็มาศึกษาได้สะดวก

    พอออกพรรษาหน้าแล้ง ท่านผู้ประสงค์จะขึ้นไปพักอยู่บนเขาก็ได้ ในถ้ำหรือเงื้อมผาก็ได้ จะพักอยู่ตามป่าดงธรรมดาก็สะดวก เพราะหมู่บ้านมีประปรายอยู่เป็นแห่ง แห่งละ ๑๐ หลังคาเรือนบ้าง ๒๐-๓๐ หลังคาเรือนบ้าง แม้บนไหล่เขาก็ยังมีหมู่บ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาศัยทำไร่ทำสวนอยู่แทบทั่วไป แห่งละ ๕-๖ หลังคา ซึ่งปลูกเป็นกระต๊อบเล็ก ๆ พอได้อาศัยเขาโคจรบิณฑบาต

    บ้านหนองผือตั้งอยู่ในหุบเขาซึ่งทั้งสี่ด้านหรือสี่ทิศมีป่าและภูเขาล้อมรอบ แต่เป็นหุบเขาที่กว้างขวางพอสมควร ประชาชนทำนากันได้สะดวกเป็นแห่ง ๆ ไป ป่ามีมาก ภูเขาก็มีมาก สนุก เลือกหาที่วิเวกเพื่ออัธยาศัยได้อย่างสะดวกเป็นที่ ๆ ไป ฉะนั้นพระธุดงค์จึงมีมากในแถบนั้น และมีมากทั้งหน้าแล้งหน้าฝน

    สมัยที่ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่ พระธุดงค์ทยอยกันเข้าออกวัดหนองผือไม่ค่อยขาดแต่ละวัน ทั้งมาจากป่า ทั้งลงมาจากภูเขาที่บำเพ็ญมาฟังการอบรม ทั้งออกไปป่าและขึ้น ภูเขาเพื่อสมณธรรม ทั้งมาจากอำเภอ จังหวัดและภาคต่าง ๆ มารับการอบรมกับท่านมิได้ขาด ยิ่งหน้าแล้งพระยิ่งหลั่งไหลมาจากที่ต่าง ๆ ตลอดประชาชนจากอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล พากันมากราบเยี่ยมและฟังโอวาทท่านมิได้ขาด แต่ล้วนเดินด้วยเท้าเปล่ากันทั้งนั้น นอกจากผู้หญิงที่ไม่เคยคิดเดินทางไกลและคนแก่เท่านั้น ที่ว่าจ้างล้อเกวียนเขาไปส่งถึงวัดหนองผือ

    ทางจากอำเภอพรรณนานิคมเข้าไปถึงหมู่บ้านหนองผือ ถ้าไปทางตรง แต่ต้องเดินตัดขึ้นหลังเขาไปราว ๕๐๐ เส้น ถ้าไปทางอ้อมโดยไม่ต้องขึ้นเขาก็ราว ๖๐๐ เส้น ผู้ไม่เคยเดินทางไปไม่ตลอด เพราะทางตรงไม่มีหมู่บ้านในระหว่างพอได้อาศัยหรือพักแรม ส่วนทางอ้อมยังพอมีหมู่บ้านบ้างห่าง ๆ ซึ่งไม่ค่อยสะดวกนัก พระที่ไปหาท่านต้องเดินด้วยเท้ากันทั้งนั้น เพราะไม่มีทางที่รถยนต์พอเข้าไปได้ แม้รถมีก็เฉพาะที่วิ่งตามทางใหญ่จากจังหวัดถึงตัวจังหวัดเท่านั้น ทั้งไม่ค่อยมีมากเหมือนสมัยนี้ ไปผิดเวลาบ้างก็มีหวังตกรถและเสียเวลาไปอีกหนึ่งวัน

    พระธุดงค์ปกติท่านชอบเดินด้วยเท้ากัน ไม่ชอบขึ้นรถขึ้นรา เพราะไม่สะดวกเกี่ยวกับคนมาก เวลาท่านเดินธุดงค์ท่านถือเป็นความเพียรไปพร้อมในเวลานั้นด้วย ไม่ว่าจะไปป่าใดหรือภูเขาลูกใด เพียงตั้งความมุ่งหมายไว้แล้วท่านก็เดินจงกรมไปกับการเดินทางนั่นแล โดยไม่คิดว่าจะถึงหมู่บ้านวันหรือค่ำเพียงไร ท่านถือเสียว่าค่ำที่ไหนก็พักนอนที่นั่น ตื่นเช้าค่อยเดินทางต่อไป ถึงหมู่บ้านแล้วเข้าโคจรบิณฑบาตมาฉันตามมีตามเกิด ไม่กระวนกระวายในอาหารว่าดีหรือเลวประการใด เพียงยังอัตภาพให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ท่านถือเป็นความสบายสำหรับธาตุขันธ์แล้ว จากนั้นก็เดินทางต่อไปอย่างเย็นใจจนถึงที่หมาย
     
  12. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    อันดับต่อไป ท่านเดินเที่ยวหาทำเลที่เหมาะกับอัธยาศัย จนกว่าจะพบที่มุ่งหมายไว้ แต่น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการพักบำเพ็ญ เมื่อได้ทำเลที่เหมาะแล้ว จากนั้นก็เร่งความพากเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ทั้งกลางวันกลางคืน

    มีสติประคองใจ มีปัญญาเป็นเครื่องรำพึงในธรรมทั้งหลายที่มาสัมผัสกับอายตนะ พยายามเกลี้ยกล่อมใจด้วยธรรมที่ถูกกับจริต ให้มีความสงบเย็นเป็นสมาธิ เมื่อจิตถอนขึ้นมาจากสมาธิแล้ว พิจารณาธรรมทั้งหลายโดยทางปัญญา ทั้งข้างนอกคือทัศนียภาพที่สัมผัสกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งข้างในคือธาตุขันธ์อายตนะที่แสดงอาการกระเพื่อมตัวอยู่ทุกขณะ ไม่มีเวลาสงบนิ่งอยู่ได้ ว่าเป็นวิปริณามธรรม มีความแปรปรวนอยู่เสมอมาและเสมอไป ใจไม่นิ่งนอนอยู่กับอะไร ซึ่งจะเป็นเหตุให้ติดข้องพัวพัน

    กำหนดคลี่คลายดูร่างกายจิตใจให้เห็นชัดด้วยปัญญา จนรู้เท่า และปล่อยวางไปเป็นระยะ ๆ ปัญญาทำการขุดค้นทั้งรากแก้วรากฝอยและต้นตอของกิเลสทุกประเภทไม่ลดละ มีความเพลิดเพลินอยู่กับความเพียรสืบเนื่องกับธรรมทั้งหลาย สิ่งที่มาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับใจก็พิจารณาลงในธรรม คือไตรลักษณ์ เพื่อความรู้แจ้งและถอดถอนไปโดยลำดับ

    เมื่อมีข้อข้องใจเกิดขึ้นที่ไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิด ก็รีบมาเรียนถามท่าน พอได้รับคำชี้แจงเป็นที่แน่ใจแล้ว ก็กลับไปบำเพ็ญเพื่อความก้าวหน้าของจิตต่อไป

    พระธุดงคกรรมฐานจำนวนมากที่อาศัยอยู่กับท่านอาจารย์มั่นเพื่อการศึกษาอบรม เมื่อที่พักในสำนักท่านมีไม่เพียงพอ ท่านก็แยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ โดยปลีกออกไปอยู่ที่ละองค์บ้าง ๒ องค์บ้าง ต่างองค์ต่างไปเที่ยวหาที่วิเวกสงัดของตน และต่างองค์ต่างอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ในป่าและในภูเขา ซึ่งไม่ห่างจากสำนักท่านนัก พอไปมาหาสู่กันได้สะดวก ราว ๖-๗ กิโลเมตรบ้าง ๘-๙ กิโลเมตรบ้าง ๑๑-๑๒ กิโลเมตรบ้าง ๑๕-๑๖ กิโลเมตรบ้าง หรือราว ๒๐-๓๐ กิโลเมตรบ้าง ตามแต่ทำเลเหมาะกับอัธยาศัย ที่อยู่ไกลราว ๒๐ กิโลเมตรขึ้นไป เวลามากราบเยี่ยมท่านก็พักค้างคืนฟังการอบรมพอสมควรก่อนแล้วค่อยกลับไปที่พักของตน บางท่านอาจจะไม่เข้าใจว่ากิโลเมตรหนึ่งมีประมาณกี่เส้น จึงขอชี้แจงไว้พร้อมนี้คือกิโลเมตรหนึ่งมี ๒๕ เส้น ๔ กิโลเมตรก็เท่ากับ ๑๐๐ เส้น โปรดเทียบตามหลักเกณฑ์ที่ให้ไว้นี้

    หนทางตามบ้านป่าบ้านเขาไม่เหมือนทางถนนจากอำเภอไปสู่อำเภอ จากจังหวัดไปสู่จังหวัดดังที่เห็น ๆ กัน แต่เป็นทางของชาวบ้านป่าบ้านเขา เขาเดินท่องเที่ยวหากันอย่างนั้นมาดั้งเดิม และเป็นความเคยชินของเขาอย่างนั้น นานวันจึงจะไปหากันครั้งหนึ่ง ทางจึงเต็มไปด้วยป่าดงพงลึกและขวากหนาม บางแห่งถ้าไม่สังเกตให้มากอาจเดินผิดทาง และหลงเข้าป่าเข้าเขาซึ่งไม่มีหมู่บ้านเลยก็ได้

    ระหว่างทางบางตอนไม่มีหมู่บ้านคนเลย มีแต่ป่าแต่เขาทั้งนั้น และยาวตั้ง ๒๐-๓๐ กิโลเมตรถึงจะพบหมู่บ้านชาวป่าชาวเขาก็มี ระหว่างทางนั้นสำคัญมาก ถ้าเกิดไปหลงทางเข้าแล้วมีหวังนอนค้างป่าค้างเขาและอดอาหารแน่นอน ทั้งอาจไม่ถูกหมู่บ้านเลยก็ได้ นอกจากจะพบพวกนายพรานที่เที่ยวล่าสัตว์ และอาศัยเขาบอกทาง หรือเขานำออกไปหาทางไปยังหมู่บ้านจึงจะพ้นภัย

    อุบายในการบำเพ็ญเพียร

    พระธุดงคกรรมฐานผู้หวังในธรรมอย่างยิ่ง ท่านรู้สึกลำบากอยู่ไม่น้อยในการอยู่ การบำเพ็ญ การเดินทาง และการแสวงหาครูอาจารย์ผู้อบรมโดยถูกต้องและราบรื่นชื่นใจ เช่น ท่านอาจารย์มั่น มาพบเห็นท่านแล้วดีอกดีใจเหมือนลูกเล็ก ๆ เห็นพ่อแม่เราดี ๆ นี่เอง ทั้งรักทั้งเคารพทั้งเลื่อมใส และอะไร ๆ รวมเป็นความไว้วางใจหมดทุกอย่าง หรือจะเรียกว่าหมดชีวิตจิตใจรวมลงในท่านองค์เดียวก็ถูก เพราะนิสัยพระธุดงคกรรมฐานมีความเชื่อถือและเคารพรักอาจารย์มาก ขนาดสละชีวิตแทนได้โดยไม่อาลัยเสียดายเลย แม้จะแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ก็ตาม แต่ท่านมีความผูกพันในอาจารย์มากผิดธรรมดา

    การอยู่ การบำเพ็ญ หรือการไปมาแม้จะลำบาก ท่านพอใจที่จะพยายาม ขอแต่มีครูอาจารย์คอยให้ความอบอุ่นก็พอ ความเป็นอยู่หลับนอน การขบฉันท่านทนได้ อดบ้างอิ่มบ้าง ท่านทนได้ เพราะใจท่านมุ่งต่อธรรมเป็นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

    บางคืนท่านนอนตากฝนทั้งคืนทนหนาวจนตัวสั่นเหมือนลูกนก ท่านก็ยอมทนเพราะความเห็นแก่ธรรม เวลาท่านสนทนาธรรมกันเกี่ยวกับการบำเพ็ญการพักอยู่ในที่ต่าง ๆ กันและการไปมาตามป่าตามเขา รู้สึกว่าน่าฟังมาก ทั้งน่าสงสารท่านเหมือนสัตว์อยู่ในป่าตัวหนึ่ง ไม่มีราคาอะไรเลย เพราะความลำบากจนมุม ที่อยู่หลับนอนในบางครั้งเหมือนของสัตว์ เพราะความจำเป็นบังคับที่จำต้องอดทน

    การบำเพ็ญ ท่านมีอุบายวิธีต่าง ๆ กันไปตามจริตนิสัยชอบ คืออดนอนบ้าง ผ่อนอาหารบ้าง อดอาหารบ้าง กี่คืนหรือกี่วันตามแต่ความเหมาะสมกับจริตและธาตุขันธ์จะพอทนได้ เดินจงกรมแต่หัวค่ำตลอดสว่างบ้าง นั่งสมาธิหลาย ๆ ชั่วโมงบ้าง นั่งสมาธิแต่หัวค่ำจนสว่างบ้าง ไปนั่งสมาธิอยู่ทางเสือเข้าถ้ำของมันบ้าง ไปนั่งสมาธิอยู่ที่ด่านอันเป็นทางมาของเสือบ้าง ไปนั่งสมาธิอยู่ในป่าช้าที่กำลังเผาผีอยู่ในวันนั้นบ้าง ไปนั่งอยู่ริมเหวลึก ๆ บ้าง กลางคืนดึก ๆ เดินเที่ยวบนภูเขา พอไปเจอทำเลเหมาะ ๆ คือที่น่ากลัวมากก็นั่งสมาธิอยู่เสียที่นั้นบ้าง ไปนั่งสมาธิใต้ร่มไม้กลางภูเขาดึก ๆ คอยให้เสือมาที่นั้นจิตจะได้สงบในขณะนั้นบ้าง

    วิธีเหล่านี้ท่านมีความมุ่งหมายลงในจุดเดียวกัน คือเพื่อทรมานจิตให้หายพยศ ซึ่งก็เป็นไปตามความมุ่งหมายจริง ๆ โดยมากท่านได้อุบายจากวิธีเหล่านี้ แต่ละวิธีของแต่ละนิสัย ทำให้ท่านมีกำลังใจทำได้ตามวิธีที่ถูกกับจริตนิสัยของตน ฉะนั้นท่านจึงชอบอุบายวิธีทรมานต่าง ๆ กัน แม้ท่านอาจารย์มั่นเองก็เคยทำมา และส่งเสริมพระที่ฝึกและทรมานโดยวิธีต่าง ๆ ว่าเป็นผู้ฉลาดฝึกอบรมตน วิธีเหล่านี้พระธุดงค์ท่านยังทำของท่านอยู่มิได้ลดละตลอดมา

    การฝึกตัวให้เป็นคนมีคุณค่าทำใจให้มีราคาย่อมเป็นสิ่งที่ฝืนอยู่บ้าง ความยากลำบากนั้นไม่สำคัญเท่าผลที่จะทำให้เป็นคนดี มีความสุข มีขื่อมีแป และมีธรรมเป็นเครื่องกำกับรักษา ไม่ว่าโลกหรือธรรมเคยถือกันมาอย่างนั้น นอกจากสิ่งของที่ใช้การอะไรไม่ได้หมดความหมายไร้ค่าและคนตายแล้วเท่านั้นจึงไม่มีการรักษากัน คนเรายังมีคุณค่าควรจะได้รับจากการปรับปรุงรักษาอยู่ จึงควรสงวนรักษาตัวอย่างยิ่ง ผลแห่งการรักษาจะยังผู้นั้นให้เป็นคนดีมีความสุขความเจริญ ทั้งปัจจุบันและอนาคตไม่มีสิ้นสุด ดังนั้น ที่พระธุดงค์ท่านปฏิบัติบำเพ็ญโดยไม่เห็นแก่ความยากลำบากมาเป็นอุปสรรค จึงเป็นการเบิกทางเพื่อความก้าวหน้าแห่งธรรมภายในใจ อันเป็นที่น่ากราบไหว้บูชาอย่างยิ่ง

    ตราบใดที่ยังมีผู้สนใจและปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่ พระศาสนาก็ยังดำรงคงอยู่กับโลกตลอดไป และแสดงผลให้โลกที่ใคร่ต่อธรรมเห็นอยู่ตามลำดับที่ปฏิบัติได้ ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ทำจริง รู้จริง และสอนโลกด้วยธรรมจริง ผู้เชื่อถือศาสนาก็เป็นผู้ทำจริงเพื่อความรู้จริงเห็นจริง ไม่เหลาะแหละย่อหย่อนอ่อนความสามารถ อันเป็นการกดถ่วงและลดคุณค่าของพระศาสนาลงให้พาหิรชนเขาดูถูกเหยียดหยามดังที่ทราบกันอยู่ เพราะศาสนาที่แท้จริงเป็นคุณธรรมที่ควรนำออกแสดงได้อย่างเปิดเผยทั่วไตรโลกธาตุ โดยไม่มีความสะท้านหวั่นไหวว่าไม่จริง เพราะเป็นธรรมที่จริงตามหลักธรรมชาติด้วย ศาสดาที่สอนก็เป็นผู้บริสุทธิ์และทรงสอนตามความจริงแห่งธรรมด้วย นอกจากจะไม่สนใจหรือไม่สามารถค้นให้ถึงความจริงตามที่ศาสนาสอนไว้เท่านั้น จึงอาจเป็นไปตามความรู้ความเห็นที่ไม่มีประมาณของแต่ละหัวใจที่มีธรรมชาติหนึ่งปิดบังอย่างลึกลับและฝังลึกอยู่ในใจ ทั้งปกปิดดวงใจไว้ตลอดกาล ซึ่งศาสนาแทงทะลุปรุโปร่งไปหมดแล้ว

    ขออภัยที่เขียนเลยเถิดไปบ้างตามนิสัยของคนไม่มีหลักยึดที่แน่นอน ขอย้อนอธิบายวิธีฝึกทรมานต่าง ๆ ที่พระธุดงค์ท่านชอบทำเป็นประจำนิสัยตลอดมาอีกเล็กน้อย พอทราบความมุ่งหมายและผลที่เกิดจากวิธีนั้น ๆ บ้าง
     
  13. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    วิธีฝึกทรมานต่าง ๆ ที่พระธุดงค์ท่านชอบทำ

    การฝึกแต่ละวิธีท่านเห็นผลประจักษ์ใจเป็นลำดับ คือทำให้จิตที่มีความพยศลำพองเพราะร่างกายมีกำลังมาก ให้ลดลงด้วยวิธีผ่อนอาหาร อดอาหารหรืออดนอน ตลอดการหักโหมด้วยวิธีต่าง ๆ คือเดินจงกรมนาน ๆ บ้าง นั่งสมาธิภาวนานาน ๆ บ้าง เพื่อใจจะได้มีกำลังก้าวหน้าไปตามแถวแห่งธรรมด้วยความสะดวก เพื่อใจที่หวาดกลัวต่ออันตรายมีเสือหรือผีเป็นต้น แล้วย้อนเข้ามาสู่ภายในอันเป็นที่สถิตอยู่ของใจอย่างแท้จริง จนเกิดความสงบและกล้าหาญขึ้นมา ซึ่งเป็นการบรรเทาหรือกำจัดความหวาดกลัวต่าง ๆ เสียได้ เพื่อจิตได้รู้กำลังความสามารถของตนในเวลาเข้าที่คับขันคือความจนตรอกจนมุม หรือคราวเกิดทุกขเวทนากล้าจนถึงเป็นถึงตายจริง ๆ จะมีทางต่อสู้เพื่อชัยชนะเอาตัวรอดได้

    ตามปกติถ้าไม่เข้าที่คับขันสติปัญญาไม่ค่อยเกิด และไม่อาจรู้ความสามารถของตน การหาวิธีทรมานต่าง ๆ ตามจริตนิสัยและความแยบคายของแต่ละรายนั้น เป็นวิธีฝึกซ้อมสติปัญญา ให้มีความสามารถอาจหาญ และทราบกำลังของตนได้ดี ไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่เลือกกาลสถานที่ ผลที่ปรากฏแก่ผู้ชอบฝึกทรมานตนด้วยวิธีต่าง ๆ คือ ผู้ที่เคยกลัวผีมาดั้งเดิม ก็หายกลัวผีได้ ด้วยวิธีฝืนใจเข้าไปเยี่ยมป่าช้า ผู้เคยกลัวสัตว์ร้ายต่าง ๆ มีเสือเป็นต้น ก็หายกลัวได้ ด้วยวิธีฝืนใจเข้าไปอยู่ในที่เปลี่ยวอันเป็นที่น่ากลัว ผู้มักเห็นแก่ปากแก่ท้อง ชอบโลเลในอาหารปัจจัย ก็บรรเทาหรือหายเสียได้ ด้วยการผ่อนอาหารหรืออดอาหาร

    ตามปกตินิสัยของคนเราโดยมากย่อมชอบอาหารดี ๆ รับประทานได้มาก ๆ ถือว่าเป็นความสุขเพราะถูกกับใจ ผู้มักโลภไม่เคยมีความพอดีแอบซ่อนอยู่ด้วยได้เลย แม้ใจจะทุกข์เพียงไรก็ไม่ค่อยสนใจ คิดว่ามีสาเหตุเป็นมาจากอะไร แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความรู้สิ่งเกี่ยวข้องกับตนอันมีมากมายและต่าง ๆ กัน จำต้องพิจารณาและทรมานกันบ้าง เพื่อรู้ฤทธิ์ของกันและกัน

    ดังนั้นพระธุดงค์บางองค์ ท่านจึงทรมานท่านจนเป็นที่น่าสงสารอย่างจับใจก็มี คืออาหารดี ๆ ตามสมมุตินิยมที่ท่านได้มา หรือมีผู้นำมาถวาย พอเห็นจิตแสดงอาการอยากได้ จนเป็นที่น่าเกลียด อยู่ภายใน ท่านกลับทรมานใจเสีย ไม่ยอมเอาอาหารชนิดนั้น แต่กลับไปเอาชนิดที่จิตไม่ต้องการไปเสียอย่างนั้น ถ้าจิตต้องการมาก ท่านก็เอาแต่เพียงเล็กน้อย หรือบางคราวท่านบังคับให้ฉันข้าวเปล่า ๆ ทั้งที่อาหารมีอยู่ อย่างนี้ก็มี

    อาหารบางชนิดเป็นคุณแก่ร่างกายแต่กลับเป็นภัยแก่ใจ คือทับถมจิตใจ ภาวนายากหรือไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งที่ทำความเพียรดังที่เคยทำมาเป็นประจำ เมื่อทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด จิตจึงไม่ก้าวหน้า ท่านก็พยายามตัดต้นเหตุนั้นออกไป โดยไม่ยอมเสียดาย และตามใจที่เป็นเจ้ากิเลสตัวโลโภ สมกับท่านมาฝึกทรมานใจกับครูอาจารย์จริง ๆ มิได้ปล่อยตามใจที่เคยเอาแต่ใจตัวมาจนเป็นนิสัย

    การฉันท่านก็ฝึกให้มีประมาณและขอบเขตจำกัด การหลับนอน ท่านก็ฝึกให้นอนและตื่นตามเวลาที่กำหนดไว้ ไม่ปล่อยให้นอนตามใจชอบหรือตามยถากรรม การไปมาในทิศทางใด ควรหรือไม่ควร ท่านก็ฝึก แม้ไม่ผิดพระวินัยแต่ผิดธรรม ท่านก็บังคับไม่ให้ฝ่าฝืน ในสิ่งที่เห็นว่าไม่ควรนั้น ๆ

    การพยายามปลูกธรรมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ภายในใจ ไม่ให้เสื่อมทรามลง จึงแสนปลูกยากอย่างยิ่ง แทบพูดได้ว่า ไม่มีอะไรจะลำบากยากเย็นเสมอเหมือนเลย

    ส่วนการปลูกโลก ผู้เขียนอยากจะพูดว่า มันคอยแต่จะแย่งเกิดและเจริญขึ้น เพื่อทำลายจิตใจเราอยู่ทุกขณะที่เผลอ จนไม่ชนะที่จะปราบปรามมัน เพียงนาทีหนึ่งมันก็แอบเข้ามาเกิดและเจริญในใจเสียแล้ว ไม่รู้ว่ากี่ประเภท โดยมากก็เป็นประเภทสังหารทำลายตัวเรานั่นแล มันเกิดและเจริญเร็วที่สุด ชั่วพริบตาเดียวเท่านั้นก็มองไม่ทั่ว ตามแก้ไม่ทัน

    สิ่งที่เกิดง่ายแต่ทำลายยาก คือต้นราคะตัณหา ตัวทำความพินาศบาดหัวใจ นี่แลเป็นสิ่งที่เก่งกล้าสามารถกว่าอะไรในโลก ไม่ว่าท่าน ว่าเรา ต่างก็ชอบมันเสียด้วย มันจึงได้ใจ และก่อความพินาศให้โลกอย่างไม่มีประมาณ และไม่เกรงขามใครเลย ที่มีกลัวอยู่บ้างก็ผู้มีธรรมในใจ และที่กลัวจริง ๆ คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านเท่านั้น มันไม่กล้าเข้าไปแอบได้ เพราะท่านทำลายโรงลิเกละครและโรงอะไร ๆ ของมันพังพินาศไปหมดแล้ว มันจึงกลับมาเล่นงานกับพวกเรา ผู้ยังอยู่ใต้อำนาจของมัน

    พระธุดงค์ท่านแทบเป็นแทบตายในการฝึกทรมานตน ก็เพราะกิเลสสองสามตัวนี่แลเป็นเหตุ และทำการกีดขวางถ่วงใจท่านให้ได้รับความลำบาก แม้เปลี่ยนเพศเป็นพระ มีผ้าเหลืองซึ่งเป็นเครื่องหมายของท่านผู้ชนะมารมาแล้วมาครองประกาศตัว แต่กิเลสประเภทนี้มันยังไม่ยอมเกรงกลัวท่านบ้างเลย แถมมันยังพยายามตามฉุดลากท่านให้เปลื้องผ้าเหลืองอยู่ตลอดไป ไม่ยอมปล่อยตัวเอาง่าย ๆ ทั้งไม่เลือกวัยเสียด้วย

    ท่านจึงจำต้องตะเกียกตะกายด้วยการฝึกทรมานโดยวิธีต่าง ๆ ที่เห็นว่าเป็นวิธีกำจัดมันออกจากใจได้ ยากก็ทน ลำบากก็ทำ ทุกข์ก็ต้องต่อสู้ ไม่ยอมถอยหลัง เดี๋ยวมันจะหัวเราะเยาะเข้าอีก ยิ่งขายทั้งหน้า ขายทั้งผ้าเหลือง ขายทั้งเพศนักบวช ที่เป็นเพศแห่งนักต่อสู้ไม่ยอมจนมุม และขายทั้งศาสนา ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของมวลมนุษย์ ยิ่งเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จำต้องพลีชีพเพื่อกู้หน้า กู้ผ้าเหลือง กู้เพศแห่งนักบวช และกู้พระศาสนาและองค์พระศาสดาไว้ดีกว่าจะตายแบบล่มจมป่นปี้

    เหล่านี้เป็นอุบายที่พระธุดงค์ท่านนำมาพร่ำสอนตัวเพื่อความกล้าหาญชาญชัย เทิดไว้ซึ่งธรรมดวงเลิศ อันจักนำให้ถึงแดนประเสริฐพ้นทุกข์ไปได้ในวันหนึ่งโดยไม่สงสัย เพราะทางพ้นทุกข์ถึงความเป็นผู้ประเสริฐมีอยู่กับศาสนธรรมที่ประทานไว้นี้เท่านั้น ที่เป็นทางตรงแน่วต่อความพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวงไม่สงสัย ไม่มีอยู่ในที่อื่นใดที่จะพอหลบหลีกปลีกตัว และผ่อนคลายไปได้ โดยไม่ต้องลำบากในการขวนขวาย นอกนั้นเต็มไปด้วยขวากหนามที่จะคอยทิ่มแทงร่างกายจิตใจให้เป็นทุกข์ จนหาที่ปลงวางไม่ได้ ตลอดกัปกัลป์ ไม่มีประมาณว่าจะผ่านพ้นไปได้

    แม้ท่านอาจารย์มั่น ก่อนหน้าท่านจะปรากฏองค์ขึ้นมา ให้พวกเราได้กราบไหว้เป็นขวัญใจ และเป็นอาจารย์สั่งสอนบรรดาศิษย์ ท่านก็เคยเป็นมาแล้วชนิดตายไม่มีป่าช้า คือสิ้นลมที่ไหนปล่อยร่างกันที่นั่น ไม่อาลัยเสียดายชีวิตยิ่งกว่าธรรม ดังที่เขียนผ่านมาบ้างแล้ว

    เวลาเป็นอาจารย์สั่งสอนศิษย์ ท่านสั่งสอนอย่างเด็ด ๆ เผ็ด ๆ ร้อน ๆ ด้วยอุบายอันแหลมคม ตามแนวทางท่านเคยดำเนินและเห็นผลมาแล้วนั่นแล ท่านสั่งสอนแบบปลุกจิตปลุกใจ และฟื้นฟูความฉลาดให้ทันกับกลมารยาของกิเลส ที่เคยเป็นนายบนหัวใจคนมานาน เพื่อการถอดถอนทำลายกิเลสออกให้หมด จะได้หมดโทษหมดภัยอยู่สบาย ไปอย่างผู้สิ้นทุกข์ ไม่ต้องมีการวกเวียนเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ แต่ความทุกข์ที่ฝังอยู่ในใจไม่ยอมเปลี่ยน

    แม้จะเปลี่ยนภพกำเนิดไปสักเท่าไร ก็เท่ากับเปลี่ยนเครื่องมือสังหารตนอยู่นั่นเอง จึงไม่ควรยินดีในการเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ อันเป็นลักษณะนักโทษย้ายที่อยู่หลับนอนในเรือนจำ ซึ่งไม่มีอะไรดีขึ้นเลย

    การเกิดตาย นักปราชญ์ท่านถือเป็นภัยโดยจริงใจ เหมือนย้ายที่ที่ถูกไฟไหม้ แม้จะย้ายที่อยู่ไปไหนก็ไม่พ้นจากการระวังภัยอยู่นั่นเอง

    เหล่านี้นำมาลงเพียงเล็กน้อยสำหรับโอวาทที่ท่านอาจารย์มั่นสั่งสอนพระธุดงค์ตลอดมา ที่นำมาลงบ้างนี้พอเป็นคติแก่ท่านที่ชอบในอุบายท่าน
     
  14. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    การให้โอวาทวันทำอุโบสถและวันประชุมฟังธรรม

    การให้โอวาทวันทำอุโบสถและวันประชุมฟังธรรมโดยเฉพาะ มีน้ำหนักแห่งธรรมต่างกันอยู่มาก วันอุโบสถมีพระมามากจากสำนักต่าง ๆ ราว ๔๐-๕๐ องค์ การสั่งสอนแม้จะเด็ดเดี่ยวและลึกซึ้ง ก็ไม่เหมือนวันประชุมธรรมในสำนักท่านโดยเฉพาะ

    วันประชุมรู้สึกเด็ดและซึ้งจริง ๆ อำนาจแห่งธรรมที่แสดงออกแต่ละครั้ง ขณะท่านให้โอวาท ในความรู้สึกของผู้ฟังทั่ว ๆ ไป ประหนึ่งโลกธาตุดับสนิทไปตามกิเลสที่ท่านเทศน์ ขับไล่ออกจากดวงใจพระธุดงค์ ปรากฏเฉพาะธรรมกับใจที่เข้าสัมผัสกันอยู่ขณะนั้นเท่านั้น เป็นความซาบซึ้งตรึงใจและอัศจรรย์อย่างบอกไม่ถูก

    แม้หลังจากนั้นยังปรากฏเหมือนไม่มีอะไรเหลืออยู่ในใจ จิตหมอบอยู่เป็นเวลาหลายวัน เพราะอำนาจธรรมที่ท่านแสดงอย่างเผ็ดร้อน ประหนึ่งท่านท้าทายกิเลสทั้งหลาย พอผ่านไปหลายวันกิเลสค่อย ๆ โผล่หน้าออกมาทีละน้อย ๆ นานไปพองตัวขึ้นอีก พอดีถึงวันประชุมท่านก็ปราบให้อีก พอบรรเทาเบาบางให้สบายใจไปได้เป็นระยะ ๆ

    ด้วยเหตุดังกล่าวมา พระธุดงค์ทั้งหลายผู้ใคร่ต่อธรรมแดนพ้นทุกข์ จึงมีใจผูกพันในอาจารย์มากผิดธรรมดา เพราะการถอดถอนกิเลสนั้น ทั้งทำโดยลำพังตนเอง ทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาจารย์ ผู้คอยให้อุบายด้วยอย่างแยกไม่ออก บางครั้งพระไปบำเพ็ญเพียรอยู่โดยลำพัง พอเกิดข้อข้องใจซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสขึ้นมา ไม่สามารถแก้ไขโดยลำพังได้ ต้องรีบมาเล่าถวายอาจารย์เพื่อท่านได้ชี้แจงให้ฟัง

    พอมาเล่าถวาย ท่านก็อธิบายให้ฟังตามสาเหตุนั้น ๆ ย่อมได้สติและหายสงสัยไปในขณะนั้นนั่นเอง บางครั้งกำลังเกิดความสงสัยวุ่นวายอยู่กับจุดใดจุดหนึ่งที่สลับซับซ้อน เหลือที่จะแก้ให้ตกได้ โดยลำพังสติปัญญาของตน พอท่านอธิบายธรรมไปถึงจุดนั้น ปรากฏเหมือนท่านเข้าไปทำลายความสงสัยของตนเสียได้ และผ่านไปได้ในขณะนั้นเป็นพัก ๆ

    ในระหว่างนักปฏิบัติด้วยกันจะทราบภูมิของกันและกัน

    ในวงพระปฏิบัติระหว่างเพื่อนนักปฏิบัติด้วยกัน และระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ จะทราบภูมิของกันและกันได้ และทำให้เกิดความเคารพเลื่อมใสต่อกันมาก ย่อมทราบจากการสนทนาธรรมกันทางภาคปฏิบัติ เมื่อเล่าความจริงที่จิตประสบและผ่านไปสู่กันฟัง ย่อมทราบถึงภูมิจิตภูมิธรรมของผู้นั้นทันทีว่าอยู่ในภูมิใด บรรดาศิษย์ที่ทราบภูมิของอาจารย์ได้ ย่อมทราบในขณะที่เล่าธรรมภายในจิตของตนถวายท่าน หรือเล่าตอนที่จิตติดขัดอยู่กับอารมณ์ที่ยังแยกจากกันไม่ออก ว่าจะควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร ถ้าอาจารย์เป็นผู้รู้หรือผ่านไปแล้ว ท่านจะต้องอธิบายเพิ่มเติมต่อจากที่ตนเล่าถวายท่านแล้วนั้น หรือชี้แจงตอนที่ตนกำลังติดขัดอยู่ ให้ทะลุปรุโปร่งอย่างไม่มีที่ขัดข้องต้องติใด ๆ เลย

    อีกประการหนึ่งลูกศิษย์เกิดความสำคัญตนผิด คิดว่าตนผ่านพ้นไปโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ท่านทราบว่าเป็นความเห็นที่ยังไม่ตรงตามความเป็นจริงที่ท่านผู้เห็นมาโดยถูกต้อง ท่านจำต้องอธิบายเหตุผลและชี้แจงให้ฟังตามจุดที่ผู้นั้นสำคัญผิด จนยอมรับเหตุผลอันถูกต้องจากท่านเป็นตอน ๆ ไปจนถึงที่ปลอดภัย

    เมื่อต่างได้สนทนากันตามจุดต่าง ๆ แห่งธรรม จนเป็นที่ทราบและลงกันได้ ย่อมยอมรับความจริงจากกันโดยไม่มีอะไรมาประกาศยืนยัน เพราะหลักความจริงเป็นเครื่องยืนยันกันพร้อมมูลแล้ว

    นี่แลเป็นหลักพิสูจน์ภูมิของนักปฏิบัติธรรมด้วยกันว่า ท่านผู้ใดอยู่ในภูมิจิตภูมิธรรมขั้นใด นับแต่ขั้นอาจารย์ลงมาหาพระปฏิบัติทั่ว ๆ ไป ท่านทราบกันได้ด้วยหลักฐานดังกล่าวมา

    ส่วนการทราบด้วยญาณวิถีนั้นเป็นเรื่องภายในอีกขั้นหนึ่ง ผู้เขียนไม่อาจนำมายืนยัน จึงขอมอบไว้กับท่านผู้มีความชำนาญในทางนี้เป็นกรณีพิเศษ จะพึงปฏิบัติเองเป็นราย ๆ ไป

    ที่บรรดาศิษย์มีความเคารพเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นอย่างถึงใจ ฝากเป็นฝากตายถวายชีวิตจริง ๆ เพราะความใกล้ชิดสนิททั้งภายนอกภายใน เกี่ยวกับการสนทนากับท่านอยู่เสมอนั่นแล ทำให้จิตยอมรับความจริงจากท่านอย่างสนิทและตายใจ มิได้เป็นแบบสักแต่ว่าเห็น ได้ยินคำเล่าลือจากที่ใกล้ที่ไกลแล้วเชื่อสุ่ม ๆ ไปอย่างนั้น

    เฉพาะผู้เขียนซึ่งเป็นพระที่มีทิฐิจัด ไม่ยอมลงใครเอาง่าย ๆ แล้ว ยอมรับว่าเป็นตัวเก่งที่น่ารำคาญและน่าเกลียดอยู่ไม่น้อยผู้หนึ่ง ในการโต้เถียงกับท่านอาจารย์มั่น เป็นนักโต้เถียงจนลืมสำนึกตัวว่า เวลานี้เรามาในนามลูกศิษย์เพื่อศึกษาธรรมกับท่าน หรือมาในนามอาจารย์เพื่อสอนธรรมแก่ท่านเล่า อย่างนี้ก็มีในบางครั้ง

    แต่ก็ยังภูมิใจในทิฐิของตน ที่ไม่ยอมเห็นโทษและกลัวท่าน แม้ถูกท่านสับเขกลงจนกะโหลกศีรษะจะไม่มีชิ้นต่อกันเวลานั้น หลักใหญ่ก็เพื่อทราบความจริงว่าจะมีอยู่กับทิฐิเรา หรือจะมีอยู่กับความรู้ความฉลาดของท่านผู้เป็นอาจารย์ ขณะที่กำลังโต้แย้งกันอยู่อย่างชุลมุนวุ่นวาย

    แต่ทุกครั้งที่โต้กันอย่างหนัก ความจริงเป็นฝ่ายท่านเก็บกวาดไว้หมด แต่ความเหลวไหลไร้ความจริงมากองอยู่กับเราผู้ไม่เป็นท่า ที่เหลือแต่ใจสู้จนไม่รู้จักตาย พอโต้เถียงกับท่านยุติลง เราเป็นฝ่ายนำไปขบคิดเลือกเฟ้นและยอมรับความจริงของท่านไปเป็นตอน ๆ ส่วนใดที่เราเหลว ก็กำหนดโทษของตนไว้ และยอมรับความจริงจากท่านด้วยการเทิดทูนบนเศียรเกล้า ตอนใดที่ไม่เข้าใจซึ่งยังลงกันไม่ได้ วันหลังมีโอกาสขึ้นไปโต้กับท่านใหม่ แต่ทุกครั้งต้องศีรษะแตกลงมาด้วยเหตุผลของท่านมัดตัวเอา แล้วอมความยิ้มในธรรมของท่านลงมา

    องค์ท่านเองทั้งที่ทราบเรื่องพระบ้าทิฐิจัดได้ดี แทนที่จะดุด่าหรือหาอุบายทรมานให้หายบ้าเสียบ้าง แต่ขณะที่ท่านมองหน้าเราทีไร อดยิ้มไม่ได้ ท่านคงนึกหมั่นไส้ หรือนึกสงสาร คนแสนโง่แต่ชอบต่อสู้แบบไม่รู้จักตาย ผู้เขียนจึงมิใช่คนดีมาแต่เดิม แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ ขนาดอาจารย์ยังกล้าต่อสู้ไม่ละอายตัวเองเลย แต่ดีอย่างหนึ่งที่ได้ความรู้แปลก ๆ จากวิธีนั้นมาเป็นคติสอนตนเรื่อยมาจนทุกวันนี้ ท่านเองก็ไม่เคยถือสาอะไรเลย นอกจากนึกขันไปด้วยเท่านั้น เพราะนาน ๆ จะมีพระหัวดื้อมากวนใจเสียครั้งหนึ่ง ปกติไม่ค่อยมีท่านผู้ใดมาสนทนาและถกเถียงท่าน พอให้พระเณรในวัดตื่นตกใจและงงไปตาม ๆ กันบ้างเลย
     
  15. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    เมื่อกลับมาอิสานก็มีผู้มาศึกษาธรรมกับท่านมากทั้งพระและฆราวาส

    หลังจากที่ท่านผ่านดงหนาป่าทึบ คือ วัฏวนที่เชียงใหม่ตามที่เขียนผ่านมาแล้ว ท่านไปพักอยู่ในสถานที่ใดนานหน่อย สถานที่นั้นรู้สึกจะมีความหมายอยู่อย่างลึกลับสำหรับท่าน โดยมิได้บอกใครให้ทราบ พอสังเกตได้ตอนมาจากเชียงใหม่มาแวะพักที่นครราชสีมา ก็มีพระและฆราวาสที่มีนิสัยใคร่ธรรมเป็นหลักใจและภาวนาดีอยู่หลายท่าน เข้ามาศึกษาธรรมกับท่านในขณะมาพักที่นั้น หลังจากนั้นก็ได้ติดตามไปอบรมศึกษากับท่านที่จังหวัดอุดรธานีบ้าง ที่สกลนครบ้าง เสมอมาจนวาระสุดท้าย

    ทั้งพระและฆราวาสที่กล่าวถึงนี้ ก็ได้เป็นผู้มั่นคงทางด้านจิตตภาวนาตลอดมา ฝ่ายพระก็ได้กลายเป็นอาจารย์ที่มีหลักธรรมมั่นคงในใจ กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นอาจารย์สั่งสอนบรรดาศิษย์ทั้งพระ ฆราวาสหญิงชายตลอดมาถึงปัจจุบันนี้ ฝ่ายฆราวาสก็เป็นผู้มั่นคงทางจิตตภาวนาและศรัทธาอย่างอื่น ๆ เรื่อยมาจนทุกวันนี้ และเป็นผู้นำฝ่ายอุบาสกสีกา ทั้งด้านจิตใจและการเสียสละต่าง ๆ เป็นที่น่าชมเชยในแถบนั้นตลอดมา

    เวลาท่านมาพักจำพรรษาที่อุดรฯ ก็มีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ซึ่งเป็นพระสำคัญและเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อุดรฯ เป็นผู้นำทั้งฝ่ายพระและประชาชน ให้รู้จักคุ้นเคยกับท่านอาจารย์ซึ่งเป็นพระสำคัญ ตลอดการทำบุญให้ทานและรับการอบรมสั่งสอนจากท่าน ประกอบกับท่านเจ้าคุณท่านก็เคยเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นมาดั้งเดิมที่ท่านรักและเมตตามากเสมอมา จึงได้มาอนุเคราะห์เป็นวาระสุดท้าย

    เวลาไปพักที่บ้านนามน จังหวัดสกลนคร ก็มีอุบาสิกานุ่งขาวแก่ ๆ คนหนึ่งเป็นหัวหน้าสำนักอยู่ในหมู่บ้านนั้นเป็นสาเหตุ ท่านได้เมตตาสั่งสอนอุบาสิกาแก่คนนั้นโดยสม่ำเสมอ อุบาสิกาคนนั้นภาวนาดี มีหลักใจทางด้านจิตตภาวนา ท่านเองก็ชมเชยว่าแกภาวนาดี ซึ่งนาน ๆ จะได้พบสักรายหนึ่ง

    ท่านมาพักบ้านหนองผือ นาใน ก็ทราบว่ามีสถานที่และผู้เกี่ยวข้องเป็นสาเหตุสำคัญไม่ด้อยกว่าที่อื่น ๆ สถานที่ที่บ้านหนองผือตั้งอยู่นั้นเป็นศูนย์กลาง มีภูเขาล้อมรอบแต่เนื้อที่ในหุบเขานั้นกว้างขวางมาก และเหมาะเป็นทำเลบำเพ็ญสมณธรรมของพระธุดงค์ทั้งหลายได้ดี

    ในหมู่บ้านหนองผือนั้นมีอุบาสิกาแก่นุ่งห่มขาวคนหนึ่งอายุราว ๘๐ ปี เช่นเดียวกับอุบาสิกาบ้านนามน เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่งที่ท่านเมตตาแกเป็นพิเศษเสมอมา แกพยายามตะเกียกตะกายออกไปศึกษาธรรมกับท่านเสมอ แกพยายามเดินด้วยเท้ากับไม้เท้าเป็นเครื่องพยุงออกไปหาท่านอาจารย์ กว่าจะถึงวัดต้องพักเหนื่อยระหว่างทางถึงสามสี่ครั้ง ทั้งเหนื่อยทั้งหอบน่าสงสารมาก

    บางทีท่านอาจารย์ก็ทำท่าดุเอาบ้างว่า โยมจะออกมาทำไม มันเหนื่อยไม่รู้หรือ แม้แต่เด็ก ๆ เขายังรู้จักเหนื่อย แต่โยมแก่จนอายุ ๘๐-๙๐ ปีแล้วทำไมไม่รู้จักเหนื่อยเมื่อยล้า มาให้ลำบากทำไม แกเรียนตอบท่านอย่างอาจหาญตามนิสัยที่ตรงไปตรงมาของแก จากนั้นท่านก็ถามเกี่ยวกับจิตตภาวนาและอธิบายธรรมให้ฟัง

    อุบาสิกาแก่คนนี้นอกจากแกภาวนาดีมีหลักเกณฑ์ทางจิตแล้ว แกยังมีปรจิตตวิชชา คือสามารถรู้พื้นเพดีชั่วแห่งจิตของผู้อื่นได้ด้วยและมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลก ๆ ภายนอกด้วย เวลาแกมารับการอบรมกับท่านอาจารย์ แกเล่าความรู้แปลก ๆ ถวายท่านด้วยความอาจหาญมาก ท่านทั้งขบขันทั้งหัวเราะ ทั้งเมตตาว่ายายแก่นี้อาจหาญจริง ไม่กลัวใคร แม้พระเณรจะนั่งฟังอยู่เวลานั้นร่วมครึ่งร้อย แกพูดของแกอย่างสบาย ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร ที่น่าฟังมากก็ตอนที่แกทายใจท่านอาจารย์อย่างอาจหาญมาก ไม่กลัวท่านจะว่าจะดุอะไรบ้างเลย

    แกทายว่าจิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว

    “ฉันทราบจิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใครเสมอ ทั้งในวัดนี้หรือที่อื่น ๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐเลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไรอีก”

    ท่านตอบแกทั้งหัวเราะว่า “ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้นมิใช่ศิษย์ตถาคต”

    ดังนี้ ซึ่งเป็นอุบายสั่งสอนไปในตัว แกเรียนท่านว่า

    “ถ้าไปได้ก็พอไป แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว มีแต่ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิตอยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า ฉันดูจิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด ไม่มีอะไรปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย แต่จิตฉันมันยังไม่ประเสริฐอย่างจิตหลวงพ่อ จึงต้องออกมาเรียนถามเพื่อหลวงพ่อได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่างหลวงพ่อด้วยดังนี้”

    ขณะที่ฟังแกสนทนากับท่านอาจารย์รู้สึกว่าแกภาวนาดีจริง ๆ เวลาภาวนาติดขัดแกต้องพยายามเดินคืบคลานออกมาด้วยไม้เท้าเป็นเพื่อนร่วมทาง ท่านอาจารย์ก็เมตตาแกเป็นพิเศษด้วย ทุกครั้งที่แกมาจะได้รับคำชี้แจงจากท่านทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี

    ขณะที่แกมาหาท่านอาจารย์ พระเณรต่างองค์ต่างมาแอบอยู่แถวบริเวณข้าง ๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่ยายแก่มาสนทนาธรรมกับท่าน เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตตภาวนาระหว่างท่านอาจารย์กับยายแก่สนทนากัน เท่าที่ฟังดูแล้ว รู้สึกน่าฟังอย่างเพลินใจ เพราะเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพพวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายในและภายนอก เมื่อยายแก่เล่าถวายจบลง ถ้าท่านเห็นด้วยท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วย ก็อธิบายวิธีแก้ไข และสั่งสอนให้ละวิธีนั้นไม่ให้ทำต่อไป

    ยายแก่มาเล่าถวายท่านถึงการรู้จิตท่านและรู้จิตพระเณรในวัด รู้สึกน่าฟังมาก พระเณรทั้งแสดงอาการหวาด ๆ บ้าง แสดงอาการอยากฟังแกเล่าบ้าง แกว่านับแต่จิตท่านอาจารย์ลงถึงจิตพระเณร ความสว่างไสวลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับลำดา เหมือนดาวใหญ่กับดาวเล็ก ๆ ทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันฉะนั้น รู้สึกน่าดูและน่าชมเชยมาก ที่มองดูจิตพระจิตเณรมีความสว่างไสวและสง่าผ่าเผย ไม่เป็นจิตที่อับเฉาเฝ้าทุกข์ที่กลุ้มรุมดวงใจ แม้เป็นจิตพระหนุ่มและสามเณรน้อย ๆ ก็ยังน่าปีติยินดีและน่าเคารพนับถือตามภูมิของแต่ละองค์ ที่อุตส่าห์พยายามชำระขัดเกลาได้ตามฐานะของตน ๆ

    บางครั้งแกมาเล่าถวายท่านเรื่องแกขึ้นไปพรหมโลก ว่าเห็นแต่พระจำนวนมากมายในพรหมโลก ไม่เห็นมีฆราวาสสลับปนอยู่บ้างเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

    ท่านตอบว่า “เพราะที่พรหมโลกโดยมากมีแต่พระที่ท่านบำเพ็ญจิตสำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผลแล้ว เวลาท่านตายก็ไปเกิดในพรหมโลก ส่วนฆราวาสมีจำนวนน้อยมากที่บำเพ็ญตนจนได้สำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผล แล้วไปเกิดและอยู่ในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง ฉะนั้น โยมจึงเห็นแต่พระไม่เห็นฆราวาสสับปนอยู่เลย อีกประการหนึ่ง ถ้าโยมสงสัยทำไมจึงไม่ถามพระท่านบ้าง เสียเวลาขึ้นไปถึงแล้ว มาถามอาตมาทำไม”

    แกหัวเราะแล้วเรียนท่านว่า “ลืมเรียนถามพระท่าน เวลาลงมาแล้วจึงระลึกได้ก็มาเรียนถามท่าน ต่อไปถ้าไม่ลืมเวลาขึ้นไปอีกจึงจะเรียนถามพระท่าน”

    ท่านอาจารย์ตอบปัญหายายแก่มีความหมายเป็นสองนัย นัยหนึ่งตอบตามความจริง นัยสองตอบเป็นเชิงแก้ความสงสัยของยายแก่ที่ถาม ต่อมาท่านห้ามไม่ให้แกออกรู้สิ่งภายนอกมากไป เสียเวลาพิจารณาธรรมภายในซึ่งเป็นทางมรรคทางผลโดยตรง ยายแก่ก็ปฏิบัติตามท่าน ท่านอาจารย์เองชมเชยยายแก่คนนั้นให้พระฟังเหมือนกันว่า แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรามีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนยายแก่

    คงเป็นด้วยเหตุเหล่านี้ที่ทำให้ท่านพักอยู่วัดหนองผือนานกว่าที่อื่น ๆ บ้าง คือวัดหนองผือเป็นศูนย์กลางของคณะปฏิบัติทั้งหลายทั้งที่เที่ยวอยู่ในที่ต่าง ๆ แถบนั้น ทั้งที่พักอยู่ตามสำนักต่าง ๆ ที่ไปมาหาสู่ท่านได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งทำเลบำเพ็ญสมณธรรมมีมาก หาเลือกได้ตามชอบใจ เพราะมีทั้งป่าธรรมดา มีทั้งภูเขา มีทั้งถ้ำ ซึ่งเหมาะแก่ผู้แสวงหาที่บำเพ็ญอยู่มาก

    ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่วัดหนองผือ ๕ พรรษา เฉพาะองค์ท่านเองพักอยู่กับที่ ไม่ค่อยได้ไปเที่ยววิเวกทางไหนเหมือนเมื่อก่อน เพราะอายุท่านราว ๗๕ ปีเข้าไปแล้ว สุขภาพก็นับวันทรุดลง เพียงพักอยู่เป็นร่มเงาของบรรดาศิษย์ที่กำลังแสวงหาธรรมได้อาศัยความร่มเย็น ก็เป็นที่ภาคภูมิใจพอแล้ว

    ท่านพักอยู่ที่นี่ เหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับภูตผีเทวดาไม่ค่อยมีมาก มีมาหาท่านก็เป็นบางสมัย ไม่ค่อยมีบ่อยนักเหมือนท่านพักอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ท่านทำประโยชน์แก่พระเณรและประชาชนได้มากกว่าที่อื่น ๆ
     
  16. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    เมื่อป่วยต้องใช้ธรรมโอสถแทนยา

    ในเขตจังหวัดสกลนคร ที่วัดหนองผือโดยมากเป็นป่าดงพงลึกไข้ป่าชุกชุมมาก พระเณรไปกราบเยี่ยมท่าน ท่านต้องสั่งให้รีบออกถ้าจวนเข้าหน้าฝน ถ้าหน้าแล้งก็อยู่ได้นานหน่อย

    ผู้ป่วยต้องใช้ความอดทนเพราะยาแก้ไข้ไม่มีใช้กันเลยในวัดนั้น เนื่องจากยาหายาก ไม่เหมือนสมัยทุกวันนี้ ถ้าเป็นไข้จำต้องใช้ธรรมโอสถแทนยา คือต้องพิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วยสติปัญญาอย่างเข้มแข็งและแหลมคม ไม่เช่นนั้นก็แก้ทุกขเวทนาไม่ได้ ไข้ไม่สร่างไม่หายได้เร็วกว่าธรรมดาที่ควรเป็นได้

    ผู้ที่สติปัญญาผ่านทุกขเวทนาในเวลาเป็นไข้ไปได้อย่างอาจหาญ ย่อมได้หลักยึดทั้งเวลาปกติและเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์ ตลอดเวลาจวนตัวจริง ๆ ไม่ท้อแท้อ่อนแอและเสียทีในวาระสุดท้าย เป็นผู้กำชัยชนะในทุกขสัจไว้ได้อย่างประจักษ์ใจ และอาจหาญต่อคติธรรมดา คือความตาย การรู้ทุกขสัจด้วยสติปัญญาจริง ๆ ไม่มีการอาลัยในเวลาต่อไป จิตยึดความจริงที่เคยพิจารณารู้แล้วเป็นหลักใจตลอดไป เมื่อถึงคราวจวนตัวเข้ามา สติปัญญาประเภทนั้นจะเข้ามาเทียมแอกเพื่อลากเข็นทุกข์ ด้วยการพิจารณาให้ถึงความปลอดภัยทันที ไม่ยอมทอดธุระนอนจมทุกข์อยู่ดังแต่ก่อนที่ยังไม่เคยกำหนดรู้ทุกข์เลย แต่สติปัญญาประเภทนี้จะเข้าประชิดข้าศึกทันที

    กิริยาท่าทางภายนอกก็เป็นเหมือนคนไข้ทั่ว ๆ ไป คือมีการอิดโหยโรยแรงเป็นธรรมดา แต่กิริยาภายในคือใจกับสติปัญญาจะเป็นลักษณะทหารเตรียมออกแนวรบ ไม่มีการสะท้านหวั่นไหวต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมากน้อยในขณะนั้น มีแต่การค้นหามูลความจริงของกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นที่รวมแห่งทุกข์ในขณะนั้นอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่กลัวว่าตนสู้หรือทนทุกข์ไม่ไหว กลัวแต่สติปัญญาจะไม่รู้รอบทันกับเวลาที่ต้องการเท่านั้น การพิจารณาธรรมของจริงมีทุกขสัจเป็นต้น กับผู้ต้องการรู้ความจริงอยู่อย่างเต็มใจที่เคยรู้เห็นมาแล้วนั้น ท่านไม่ถือเอาความลำบากมาเป็นเครื่องกีดขวางทางเดินให้เสียเวลา และทำความอ่อนแอแก่ตนอย่างไร้ประโยชน์ที่ควรจะได้เลย มีแต่คิดว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ ทำอย่างไรจึงจะเห็นความจริงดังที่เคยเห็นประจักษ์มาแล้ว ก็ต้องทำอย่างนั้นจนรู้ประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบัน ไม่พ้นมือสติปัญญาศรัทธาความเพียรไปได้

    เมื่อรู้ความจริงแล้ว ทุกข์ก็จริง กายก็จริง ใจก็จริง ต่างอันต่างจริง ไม่มีอะไรรังควานรังแกบีบคั้นกัน สมุทัยที่ก่อเหตุให้เกิดทุกข์ก็สงบตัวลง ไม่คิดปรุงว่ากลัวทุกข์กลัวตายหรือกลัวไข้ไม่หายอันเป็นอารมณ์เขย่าใจให้ว้าวุ่นขุ่นมัวไปเปล่า ๆ เมื่อสติปัญญารู้รอบแล้ว ไข้ก็สงบลงในขณะนั้น หรือแม้ไข้ยังไม่สงบลงในขณะนั้น แต่ไม่กำเริบรุนแรงต่อไป และไม่ทับใจให้เกิดทุกขเวทนาไปด้วย ที่เรียกว่าป่วยกายป่วยใจ กลายเป็นไข้สองซ้อน

    การพิจารณาทุกขเวทนาในเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์ พระธุดงค์ท่านชอบพิจารณาเป็นข้อวัตรของการฝึกซ้อมสติปัญญาให้ทันกับเรื่องของตัว โดยมากก็เรื่องทุกข์ ทั้งทุกข์กาย ทั้งทุกข์ใจ รายใดขณะที่กำลังเป็นไข้แสดงอาการระส่ำระสายกระวนกระวาย ในวงพระปฏิบัติท่านถือว่ารายนั้นไม่เป็นท่าทางจิตใจ เกี่ยวกับสมาธิและปัญญา ไม่สามารถประคองตัวได้ในเวลาจำเป็นเช่นนั้น ไม่สมกับสร้างสติปัญญาเครื่องปราบปรามและป้องกันตัวไว้เพื่อสงคราม คือ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากเหตุต่าง ๆ แต่แล้วกลับเหลวไหลไร้มรรยาทขาดสติปัญญา แต่รายใดสำรวมสติอารมณ์ได้ด้วยสติปัญญา ไม่แสดงอาการทุรนทุรายในเวลาเช่นนั้น ท่านชมและถือว่ารายนั้นดีจริง สมเกียรติพระปฏิบัติที่เป็นนักต่อสู้ สมกับปฏิบัติมาเพื่อต่อสู้จริง ๆ เห็นผลในการปฏิบัติของตนและประกาศตนให้หมู่คณะเห็นประจักษ์โดยทั่วกันอีกด้วย

    วงพระธุดงค์ท่านถือกันตรงนี้เป็นสำคัญ แม้องค์ที่ถูกภัยคุกคามนั้น ท่านก็ถือท่านเหมือนกันว่าจะไม่ยอมแพ้แม้จนตายไปในเวลานั้น คือไม่ยอมแพ้ทางสติปัญญาอันเป็นเครื่องพิจารณาเพื่อหาทางออกอย่างปลอดภัยไร้กังวล เมื่อสุดวิสัยจะอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว

    ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงความจริงดังที่ท่านสั่งสอนไว้แล้ว จึงเป็นผู้เชื่อต่อความจริง ไม่ยอมถอยทัพกลับแพ้ข้าศึกที่เผชิญหน้าอยู่ในขณะนั้น ต้องต่อสู้จนตาย ร่างกายทนไม่ไหวก็ปล่อยให้ตายไป แต่ใจกับสติปัญญาเครื่องรักษาและป้องกันตัว ท่านไม่ยอมปล่อยวาง พยายามฉุดลากกันไปจนได้ ไม่ให้ไร้ผลในส่วนที่ตนมุ่งหมาย สมกับเป็นนักรบหวังชัยชนะเพื่อเอาตัวรอด พาไปจอดในที่เหมาะสมและปลอดภัยจริง ๆ

    ธรรมบทว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ นั้นเห็นประจักษ์อยู่กับใจผู้ปฏิบัติตามหลักความจริงไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่นแน่นอน นอกจากปฏิบัติแบบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกไม่จริงไม่จังเท่านั้น ผลก็ไม่ทราบว่าจะให้เป็นความจริงมาได้อย่างไร นอกจากจะมาขัดกับความจริงเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นที่จะพอสันนิษฐานได้ เพราะคำว่าธรรมแล้วต้องเหตุกับผลลงกันได้ จึงจะเรียกว่า สวากขาตธรรม ตามที่ประทานไว้

    พระธุดงค์ท่านมุ่งปฏิบัติเพื่อเห็นผลในปัจจุบันทันตาจากศาสนธรรมมากกว่าอื่น ในบรรดาผลที่จะควรปรากฏในปัจจุบัน เช่น สมาธิความสงบเย็นใจ ปัญญาการถอดถอนลูกศรคือกิเลสประเภทต่าง ๆ ออกจากใจ ซึ่งทั้งสองประเภทนี้เป็นความสุขเย็นใจขึ้นไปเป็นขั้น ๆ ที่ควรจะเห็นได้ประจักษ์ใจในทิฏฐธรรมปัจจุบัน ท่านจึงหมายมั่นหมั่นเพียรเพื่อรู้เห็นในปัจจุบัน อันเป็นการตัดปัญหาข้อขัดข้องและกดถ่วงใจไปเป็นพัก ๆ ถ้าควรพ้นไปได้ในวันนี้ เดือนนี้ ปีนี้ หรือชาตินี้ ก็ขอให้พ้นไปด้วยความเพียรที่กำลังตะเกียกตะกายอยู่อย่างสุดกำลังตลอดมา

    แม้ท่านอาจารย์เองก็อบรมพระเณรด้วยอุบายการปลุกจิตปลุกใจ ไม่ให้ท้อแท้อ่อนแอต่อหน้าที่ของตน ทั้งในยามปกติและเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์ ท่านเทศน์ปลุกใจให้เป็นนักต่อสู้เพื่อกู้ตัวเองให้พ้นภัยไปทุกระยะ ยิ่งเวลาป่วยไข้ด้วยแล้ว รายใดแสดงอาการอ่อนแอและกระวนกระวาย ไม่สำรวมมรรยาทและสติอารมณ์ด้วยแล้ว รายนั้นต้องถูกเทศน์อย่างหนัก ดีไม่ดีไม่ให้พระเณรไปพยาบาลรักษาเสียด้วย โดยเห็นว่า

    ความอ่อนแอความกระวนกระวายและร้องครางต่าง ๆ ไม่ใช่ทางระงับโรคและบรรเทาทุกข์แต่อย่างใด คนดี ๆ เราทำเอาก็ได้ไม่เห็นยากเย็นอะไร ทั้งไม่ใช่ทางของพระผู้มีเพศอันอดทนและใคร่ครวญเลย ไม่ควรนำมาใช้ในวงปฏิบัติ จะกลายเป็นโรคระบาดติดต่อก่อแขนงออกไป เป็นตัวอย่างไม่ดีแก่ผู้อื่นยึดเอาอย่าง กลายเป็นโรคเลอะเทอะไปด้วยการร้องครางทิ้งเนื้อทิ้งตัวเหมือนสัตว์จะตายดิ้นรนกระเสือกกระสนฉะนั้น

    เราเป็นพระและเป็นนักปฏิบัติ อย่ายึดเอาลัทธิสัตว์มาใช้จะกลายเป็นพระลัทธิสัตว์ ศาสนาของสัตว์ไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จนกลายเป็นพระโลกแตกศาสนาโลกแตกไป ซึ่งมิใช่ลัทธิของพุทธศาสนาเลย อาการหนักหรือเบาแม้จะไม่แสดงออกมา คนดีมีสติพอรู้เรื่องและดูกันรู้ เพราะการเจ็บไข้ได้ทุกข์ ใครก็เคยมีเคยเป็นมาด้วยกัน ถ้าหายได้ด้วยการกระวนกระวายร้องครางก็ไม่ต้องรักษากันด้วยหยูกยา ใครเป็นขึ้นผู้นั้นร้องครางขึ้นเสียไข้ก็หายไปเอง ยิ่งง่ายนิดเดียวไม่ต้องรักษาให้ลำบากและเสียเวลาเปล่า ๆ นี่เวลาเป็นไข้ เราร้องครางไข้มันหายไหมล่ะ ถ้าไม่หายจะร้องครางประกาศความโง่ความไม่เป็นท่าของตัวให้คนอื่นเบื่อกันทำไม
     
  17. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    นี่คือกัณฑ์เทศน์รายที่ไม่เป็นท่าต้องได้รับจากท่าน และทำให้ท่านผู้อื่นรำคาญด้วยความไม่เป็นท่าของเธอองค์นั้น แต่รายที่เข้มแข็งและสงบสติอารมณ์ด้วยดี ไม่แสดงอาการทุรนทุราย เวลาท่านไปเยี่ยมไข้ ท่านต้องแสดงความยินดีด้วย แสดงความชมเชยและเทศน์ให้ฟังอย่างจับใจและเพลินไปในขณะนั้น แม้ไข้หายไปแล้วก็แสดงความชมเชยในลำดับต่อไปอยู่เสมอ และแสดงความพอใจความไว้วางใจด้วยว่า

    ต้องอย่างนั้น จึงสมกับเป็นนักรบในสงครามกองทุกข์ไม่ต้องบ่นให้ข้าศึกว่า มามากหรือมาน้อย มาเท่าไรก็รบมันเท่านั้น จนสุดกำลังอาวุธและความสามารถขาดดิ้น ไม่ถอยทัพกลับยอมแพ้ให้ข้าศึกมาเหยียบย่ำซ้ำเติม เราเป็นนักรบในวงปฏิบัติ ไม่ต้องบ่นให้การเจ็บไข้ได้ทุกข์ว่าทุกข์มากทุกข์น้อย ทุกข์มีเท่าไรกำหนดรู้ให้หมด

    เพราะทุกข์มากหรือน้อยล้วนเป็นสัจธรรมของจริงด้วยกัน ผู้ประสงค์อยากรู้ของจริงแต่กลัวทุกข์ไม่ยอมพิจารณาจะรู้ของจริงได้อย่างไร พระพุทธเจ้าทรงรู้ของจริงก็เพราะการพิจารณา มิใช่เพราะการร้องครางต่าง ๆ ดังพระไม่เป็นท่าประกาศขายตัวอยู่เวลานี้ พระองค์ได้ตรัสไว้หรือเปล่าว่า ถ้าต้องการรู้ความจริงต้องร้องต้องครวญคราง ผมเรียนน้อยจึงไม่เจอธรรมบทนี้ การร้องครางมันอยู่ในคัมภีร์ไหนก็ไม่ทราบ ใครเรียนมาก ถ้าพบเห็นพระองค์ตรัสไว้ดังที่ว่านั้น นิมนต์นำมาบอกผมบ้าง เผื่อจะไม่ต้องสั่งสอนใครให้พิจารณาและอดทนกันให้ลำบาก ต่างคนต่างร้องเอาครางเอาให้เป็นของจริงขึ้นมาเต็มโลกธาตุโน้น จะได้เห็นนักปราชญ์ที่ สำเร็จมรรคผลด้วยการครวญครางขึ้นในโลก แข่งธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ได้สองพันกว่าปีแล้ว ว่าไม่เป็นของจริงล้าสมัยไปแล้ว

    ธรรมของนักปราชญ์รุ่นหลังนี้เป็นธรรมใหม่และจริงทันสมัย ไม่ต้องพิจารณาให้ลำบาก เพียงแต่ครางเอาครางเอาเท่านั้นก็สำเร็จมรรคผลรวดเร็วทันใจ สมกับสมัยที่คนชอบผลดีมีความสุขด้วยการทำเหตุชั่ว ๆ ซึ่งกำลังจะเกลื่อนโลกอยู่แล้ว ต่อไปน่ากลัวโลกจะคับแคบไม่มีที่ให้นักปราชญ์สมัยใหม่อยู่ ผมมันหัวโบราณ พระพุทธเจ้าว่าอย่างไรก็เชื่อตามอย่างนั้น ไม่กล้าลัดคิว กลัวเวลาเท้าพ้นจากพื้นแล้วจะกลับเอาศีรษะและปากลงฟาดกับพื้นตายแบบไม่เป็นท่า น่าอนาถใจเหลือประมาณ

    ธรรมเหล่านี้จะได้ฟังเวลาท่านเทศน์ สอนพระที่อ่อนแอไม่อดทนและเข้มแข็งต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในเวลาป่วย หรือเวลาฝึกทรมานตนด้วยตปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดความอ่อนแอท้อถอยขึ้นมาในระหว่างการบำเพ็ญ ไม่สามารถพิจารณาด้วยอุบายต่าง ๆ จนผ่านพ้นไปได้ด้วยความพากเพียรของนักต่อสู้ จึงมักได้ฟังธรรมประเภทเผ็ดร้อนจากท่านเสมอ แต่ผู้สนใจจริง ๆ ธรรมดังกล่าวกลับเป็นธรรมโอสถ เครื่องปลุกประสาทให้เกิดความอาจหาญร่าเริงในการบำเพ็ญ ไม่ลดหย่อนอ่อนกำลังลงง่าย ๆ มีทางกำชัยชนะได้เป็นพัก ๆ จนถึงแดนแห่งความเกษมได้ด้วยธรรมเหล่านี้ เพราะเป็นธรรมปลุกให้ตื่นตัวตื่นใจ ไม่นอนจมอยู่กับความเกียจคร้านอ่อนแอ อันเป็นทางเดินของวัฏทุกข์ประจำวัฏวน

    เรื่องพระที่มรณภาพในวัดหนองผือ

    ระยะที่ท่านอาจารย์พักอยู่วัดหนองผือมีพระตายในวัด ๒ องค์ ตายบ้านนาในอีก ๑ องค์ องค์แรกอายุราวกลางคน ท่านองค์นี้บวชเพื่อปฏิบัติโดยเฉพาะ และปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์แบบเข้า ๆ ออก ๆ เรื่อยมาแต่สมัยท่านอยู่เชียงใหม่ และติดตามท่านจากเชียงใหม่มาอุดรฯ สกลนคร แล้วมามรณภาพที่วัดหนองผือ ทางด้านจิตตภาวนาท่านดีมาก ทางสมาธิ ส่วนทางปัญญากำลังเร่งรัดโดยมีท่านอาจารย์เป็นผู้คอยให้นัยเสมอมา ท่านมีนิสัยเคร่งครัดเด็ดเดี่ยวมาก เทศน์ก็เก่งและจับใจไพเราะมาก ทั้งที่ไม่ได้หนังสือสักตัว เทศน์มีปฏิภาณไหวพริบปัญญาฉลาด สามารถยกข้อเปรียบเทียบมาสาธกให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ

    แต่น่าเสียดาย ท่านป่วยเป็นวัณโรคกระเสาะกระแสะมานาน มาหนักมากและมรณะที่วัดหนองผือ ตอนเช้าเวลาประมาณ ๗ น. ด้วยท่าทางอันสงบสมเป็นนักปฏิบัติทางจิตมานานพอสมควรจริง ๆ เห็นอาการท่านในขณะจวนตัวและสิ้นลมแล้วเกิดความเชื่อเลื่อมใสในท่าน และในอุบายวิธีของจิตที่ได้รับการฝึกอบรมมาเท่าที่ควร ก่อนจะมาถึงวาระสุดท้ายซึ่งเป็นขณะที่ต้องช่วยตัวเองโดยเฉพาะ ไม่มีใครแม้รักสนิทอย่างแยกไม่ออกจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ จิตจะมีทางต้านทานสู้กับสิ่งเป็นภัยแก่ตนได้อย่างเต็มกำลังฝีมือที่มีอยู่และแยกตัวออกได้โดยปลอดภัย เพราะวาระสุดท้ายเป็นข้าศึกศัตรูต่อตัวเองอย่างสำคัญ ใครมีอุบายฉลาดหรือขลาดเขลาเมามัวเพียงไร ก็ต้องมาเผชิญกับเหตุการณ์อันนี้จนได้ ผู้ช่วยตัวเองได้ก็ดีไป ผู้ช่วยตัวเองไม่ได้ก็จมไป และจมอยู่ในความไม่เป็นท่าของตนโดยไม่มีใครช่วยได้

    ฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท เป็นต้น ซึ่งแปลเอาความว่า ก็เมื่อโลกอันความมืดด้วย ราคะ โทสะ โมหะ เหมือนไฟกองใหญ่ไหม้ลุกโพลงอยู่ทั้งวันทั้งคืนเช่นนี้ ยังพากันหัวเราะเฮฮาหน้ายิ้มอยู่ได้ ทำไมไม่พากันแสวงหาที่พึ่งเสียแต่บัดนี้เล่า? อย่าพากันอยู่แบบนี้ เดี๋ยวจะพากันไปแบบนี้ ตายแบบนี้ แล้วก็เสวยผลทนทุกข์แบบนี้กันอีกไม่มีสิ้นสุดได้ดังนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อเตือนหมู่ชนไม่ให้ลืมตัวจนเกินไป พระคาถาที่ทรงเตือนไว้นั้นฟังแล้วน่าอับอายแทบมุดหน้าลงในดิน กลัวพระองค์จะทรงมองหน้าตนที่เพลิดเพลินไม่รู้จักตาย อายก็อาย อยากก็อยาก รักก็รัก เกลียดก็เกลียดเพราะนิสัยของปุถุชนมันหากดื้อด้านอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา ไม่ทราบจะทำอย่างไรจึงจะละได้ นี้เหมือนเป็นคำที่ทูลตอบพระองค์ด้วยความละอายที่ตนละไม่ได้ตามคำที่ทรงตำหนิ

    ที่เขียนเรื่องพระองค์ที่มรณภาพในวัดหนองผือแทรกลงในประวัติท่านบ้าง เนื่องจากเห็นว่าเป็นคติแก่พวกเราอยู่บ้าง ซึ่งกำลังเดินทางไปสู่จุดนั้นด้วยกัน ได้พิจารณาเพื่อตัวเองในวาระต่อไป

    ขณะท่านองค์นั้นจะสิ้นลม ท่านอาจารย์มั่นและพระสงฆ์ซึ่งกำลังจะออกบิณฑบาต ได้พากันแวะไปปลงธรรมสังเวชที่กำลังแสดงอยู่อย่างเต็มตา พอท่านสิ้นลมแล้วชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นขณะที่ท่านอาจารย์กำลังยืนรำพึงอยู่อย่างสงบ ได้พูดออกมาด้วยท่าทางเคร่งขรึมว่า

    “ไม่น่าวิตกกับเธอหรอก เธอขึ้นไปอุบัติที่อาภัสรา พรหมโลกชั้น ๖ เรียบร้อยแล้ว”

    นับว่าหมดปัญหาไปสำหรับท่านในครั้งนี้ แต่เสียดายอยู่หน่อยหนึ่ง ถ้าท่านมีชีวิตยืดเวลาเร่งวิปัสสนาให้มากยิ่งกว่านี้บ้าง ก็มีหวังได้ขึ้นพรหมโลก ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วเตลิดถึงที่สุดเลย ไม่ต้องกลับมาวกเวียนในวัฏวนนี้อีก

    ที่เป็นปัญหาอยู่มากเวลานี้ก็คือพวกเรา ไม่ทราบว่าใครจะเตรียมไปชั้นไหนกันแน่บ้าง จะไปชั้นเดียรัจฉาน เปรต ผี นรกอเวจี หรือชั้นมนุษย์ เทวบุตร เทวธิดา อินทร์ พรหม หรือนิพพาน ชั้นใดกันแน่ ฉะนั้นเพื่อความแน่ใจจงดูเข็มทิศคือใจของตน ๆ ให้ดี ว่าเบนหน้าไปทางใดมาก เป็นทางดีหรือชั่ว ควรพิจารณาด้วยดีแต่บัดนี้ ตายแล้วไม่มีทางแก้ไขได้อีก ใคร ๆ ก็ทราบกันทั่วโลกว่าความตายคือแดนสุดวิสัย ทำอะไรต่อไปอีกไม่ได้ดังนี้

    องค์ที่สองเป็นไข้ป่า ท่านเป็นพระชาวอุบลฯ นับแต่เริ่มป่วยรวมเวลาประมาณหนึ่งเดือนก่อนท่านจะมรณภาพ มีพระองค์หนึ่งท่านพิจารณาเห็นเหตุการณ์ของท่านผู้ป่วยอย่างไรไม่ทราบ วันนั้นตอนเย็น ท่านขึ้นไปกราบท่านอาจารย์และสนทนาธรรมกันในแง่ต่าง ๆ จนเรื่องวกเวียนมาถึงท่านผู้ป่วย พระองค์นั้นได้โอกาสจึงกราบเรียนเหตุการณ์ที่ตนปรากฏถวายท่านว่า คืนนี้ไม่ทราบว่าจิตเป็นอะไรไป กำลังพิจารณาธรรมอยู่ดี ๆ พอสงบลงไปปรากฏว่าเห็นท่านอาจารย์ไปยืนอยู่หน้ากองฟืนที่ใครก็ไม่ทราบเตรียมขนมากองไว้ว่า

    “ให้เผาท่าน…..ตรงนี้เอง ตรงนี้เหมาะกว่าที่อื่น ๆ ดังนี้”

    ทำไมจึงปรากฏอย่างนั้นก็ไม่ทราบ หรือผู้ป่วยจะไปไม่รอดจริงหรือ แต่ดูอาการก็ไม่เห็นรุนแรงนักที่ควรจะเป็นได้อย่างที่ปรากฏนั้น

    พอพระองค์นั้นกราบเรียนจบลง ท่านก็พูดขึ้นทันทีว่าผมพิจารณาทราบมานานแล้ว อย่างไรก็ไปไม่รอด แต่เธอไม่เสียทีแม้จะไปไม่รอดสำหรับความตาย เหตุการณ์แสดงบอกเกี่ยวกับจิตใจเธอสวยงามมาก สุคติเป็นที่ไปของเธอแน่ แต่ใคร ๆ อย่าไปพูดเรื่องนี้ให้เธอฟังเด็ดขาด เมื่อเธอทราบเรื่องนี้จะเสียใจแล้วจะทรุดทั้งกายและเสียทั้งใจ สุคติที่เธอควรจะได้อยู่แล้วจะพลาดไปได้ เพราะความเสียใจเป็นเครื่องทำลาย พออยู่ต่อมาไม่กี่วัน พระที่ป่วยก็เกิดปุบปับขึ้นในทันทีทันใดตอนค่อนคืน พอ ๓ นาฬิกากว่า ๆ ก็สิ้นลมไปด้วยความสงบ

    จึงทำให้คิดเรื่องท่านอาจารย์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่า พออะไรมาผ่านท่านคงพิจารณาไปเรื่อย ๆ ในทุกเรื่อง เมื่อทราบเหตุการณ์ชัดเจนแล้วก็ปล่อยไว้ตามสภาพของสิ่งนั้น ๆ
     
  18. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    แนะนำศิษย์ที่เป็นไข้ป่าในการพิจารณาทุกขเวทนา

    กลางวันวันหนึ่ง มีพระเป็นไข้มาลาเรียในวัดนั้น วันนั้นปรากฏว่าไข้เริ่มหนักแต่เช้า เจ้าตัวก็ไม่ไปบิณฑบาตและไม่ฉันจังหันด้วย พระที่ป่วยต่อสู้กับทุกขเวทนาด้วยการพิจารณาแต่เช้าจนบ่าย ๓ โมงไข้จึงสร่าง ตอนกลางวันที่ท่านกำลังพิจารณาอยู่ ปรากฏว่ากำลังเรี่ยวแรงอ่อนเพลียมาก ท่านเลยเพ่งจิตให้อยู่กับจุดใดจุดหนึ่งของทุกขเวทนาที่กำลังกำเริบหนัก โดยไม่คิดทดสอบแยกแยะเวทนาด้วยปัญญาแต่อย่างใด พอดีเวลานั้นเป็นเวลาที่ท่านอาจารย์ท่านพิจารณาดูพระองค์นั้นกำลังปฏิบัติอยู่อย่างชัดเจน แล้วย้อนจิตกลับมาตามเดิม

    พอบ่าย ๔ โมง ท่านที่ป่วยมาหาท่านอาจารย์พอดี ท่านก็ตั้งปัญหาถามขึ้นทันที โดยพระนั้นไม่ทราบสาเหตุบ้างเลยว่า

    ทำไมท่านจึงพิจารณาอย่างนั้นเล่า? การเพ่งจิตจ้องอยู่ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะ กาย เวทนา จิต ให้รู้เรื่องของกันและกัน ท่านจะทราบความจริงของกาย ของเวทนา ของจิตได้อย่างไร แบบท่านเพ่งจ้องอยู่นั้นมันเป็นแบบฤๅษี แบบหมากัดกัน ไม่ใช่แบบพระผู้ต้องการทราบความจริงในธรรมทั้งหลาย มีเวทนาเป็นต้น ต่อไปอย่าทำอย่างนั้น มันผิดทางที่จะให้รู้ให้เห็นความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ในกาย ในเวทนา ในจิต

    ตอนกลางวันผมได้พิจารณาดูท่านแล้วว่า ท่านจะปฏิบัติอย่างไรบ้างกับทุกขเวทนาที่กำลังแสดงอยู่ในเวลาเป็นไข้ พอดีไปเห็นท่านกำลังเพ่งจิตจ่ออยู่กับเวทนาเฉย ๆ ไม่ใช้สติปัญญาคลี่คลายดูกาย ดูเวทนา ดูจิตบ้างเลย พอเป็นทางให้สงบและถอดถอนทุกขเวทนาในเวลานั้น เพื่อไข้จะได้สงบลงดังนี้

    อนุเคราะห์ศิษย์ตามจริตของแต่ละท่าน

    การอนุเคราะห์เมตตาแก่บรรดาศิษย์ ท่านมิได้เลือกกาลสถานที่ แต่อนุเคราะห์ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามที่เห็นสมควรจะทำได้เมื่อไรและแก่ผู้ใด ท่านเมตตาอนุเคราะห์อย่างนั้นเสมอมา

    บางทีท่านก็บอกตรง ๆ ว่า

    ท่านองค์นี้ไปภาวนาอยู่ที่ถ้ำโน้นดีกว่ามาอยู่กับหมู่คณะอย่างนี้ นิสัยท่านชอบถูกดัดสันดานอยู่เป็นนิตย์ นี่ก็ไปให้เสือช่วยดัดเสียบ้าง จิตจะได้กลัวและหมอบสงบลงได้ พอเห็นอรรถเห็นธรรมและอยู่สบายบ้าง อยู่อย่างนี้ไม่ดี คนหัวดื้อต้องมีสิ่งแข็ง ๆ คอยดัดบ้างถึงจะอ่อน เช่นเสือเป็นต้น พอเป็นคู่ทรมานกันได้ คนกลัวเสือก็ต้องเอาเสือเป็นครู ดีกว่าอาจารย์ที่ตนไม่กลัวเป็นครู กลัวผีก็ควรเอาผีเป็นครูคู่ทรมาน จิตกลัวอะไรก็เอาสิ่งนั้นเป็นครูคู่ทรมาน จัดว่าเป็นผู้ฉลาดในการฝึกทรมานตน

    พระองค์นั้นแต่ก่อนที่ยังไม่บวชเธอเคยเป็นนักเลงมาแล้ว จึงมีนิสัยกล้าหาญและตรงไปตรงมา ว่าจะอยู่ต้องอยู่ ว่าจะไปต้องไป และมีนิสัยหัวดื้ออยู่บ้าง แต่ดื้อแบบพระ พอได้รับโอวาทอย่างเด็ด ๆ เช่นนั้นแล้ว เธอก็ตัดสินใจจะไปตามคำที่ท่านบอก โดยให้เหตุผลแก่ตัวเองว่า

    พระขนาดท่านอาจารย์มั่นนี้จะบอกเราไปให้เสือกินนั้น เป็นไปไม่ได้แน่ ๆ เราต้องไปอยู่ถ้ำนั้นตามคำที่ท่านบอก ตายก็ยอมตาย ไม่ต้องเสียดายชีวิตเพื่อได้เห็นเหตุเห็นผลในคำที่ท่านบอก ว่ามีความจริงมากน้อยเพียงไร เราเคยได้ยินแต่คนอื่นบอกเล่าว่า ท่านพูดอะไรต้องมีเหตุผลแฝงอยู่ในคำพูดนั้นอย่างสมบูรณ์เสมอไป คือท่านพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วนแล้วถึงได้พูดออกมา ผู้ที่ทราบความหมายของท่านพยายามปฏิบัติตามย่อมได้ผลทุกรายไป

    ก็คำที่ท่านพูดกับเราคราวนี้เป็นคำพูดที่หนักแน่นมาก ซึ่งประกอบด้วยเมตตาพร้อมทั้งความเห็นแจ้งภายใน ประหนึ่งท่านควักเอาหัวใจเราไปขยี้ขยำดูจนทราบเรื่องทุกอย่างแล้ว ถ้าเราไม่เชื่อและปฏิบัติตามท่าน เมตตาบอกอย่างตรงไปตรงมาในคราวนี้ เราก็ไม่ใช่พระ เราก็คือนาย….ดี ๆ นั้นเอง อย่างไรก็ตาม เราต้องไปอยู่ในถ้ำนั้นแน่นอนในครั้งนี้ จะตายก็ตายไป เมื่อไม่ตายขอให้รู้ธรรมแปลกประหลาดในที่นั้นจนได้ คำพูดท่านบ่งบอกชื่อเราอย่างชัดเจนไม่มีเงื่อนงำแฝงอยู่เลย แม้คำที่ท่านว่า “เราหัวดื้อไม่ยอมลงใครง่าย ๆ” นั้น ก็เป็นเครื่องวัดความถูกต้องได้อย่างสมบูรณ์แล้ว เรายังไม่สามารถรู้เรื่องเราได้เท่าท่านเลย เท่าที่ทราบบ้างก็เป็นดังท่านว่าจริง ๆ เราจึงเป็นคนชนิดที่ท่านว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นอุบายที่ท่านบอกเครื่องทรมานคือเสือให้เรา จึงเป็นคำที่ไม่ควรขัดแย้งอย่างยิ่ง นอกจากจะปฏิบัติตามท่านเท่านั้น

    ความจริงท่านองค์นี้มีนิสัยหัวดื้อไม่ลงใครง่าย ๆ ดังท่านอาจารย์ว่าจริง ๆ พอเธอนำคำพูดของท่านไปคิดเป็นที่ปลงใจแล้ว วันหลังก็มากราบลาท่านไปถ้ำนั้น พอขึ้นไปกราบ ท่านถามทันทีว่า

    “ท่าน….จะไปไหน เห็นครองผ้าเต็มยศมาหา ทำนองจะออกแนวรบอย่างเอาจริงเอาจัง”

    เธอตอบท่านตามนิสัยว่า “กระผมจะไปตายในถ้ำที่ท่านอาจารย์บอกให้ไป”

    ท่านอาจารย์พูดสวนขึ้นมาทันทีว่า “ผมบอกท่านให้ไปตายในถ้ำนั้นจริง ๆ ดังท่านว่าหรือ ผมบอกให้ท่านไปภาวนาต่างหากเล่า”

    เธอตอบท่านว่า

    “ความจริงท่านอาจารย์บอกกระผมให้ไปภาวนาต่างหาก มิได้บอกให้ไปตาย แต่กระผมทราบจากพระท่านเล่าว่า ถ้ำนั้นมีเสือโคร่งใหญ่อยู่ในถ้ำข้างบนของถ้ำที่กระผมจะไปอยู่นั้นเป็นประจำ ซึ่งถ้ำนั้นอยู่ไม่ห่างจากถ้ำที่กระผมจะไปอยู่นักเลย และทราบว่ามันเคยเข้า ๆ ออก ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ ถ้ำนั้นเสมอ เวลามันจะไปเที่ยวหากินที่ไหน ก็ลงมาผ่านหน้าถ้ำที่กระผมจะไปพักเสมอ จึงไม่แน่ใจในชีวิตเวลาไปพักอยู่ที่นั้น ฉะนั้น เวลาท่านอาจารย์ถาม กระผมจึงเรียนตอบตามความรู้สึกที่หวาดต่อมันอยู่เสมอมา”

    ท่านถามว่า

    “ก็ถ้ำนั้นเคยมีพระไปอยู่มาแล้วหลายองค์และหลายครั้ง ก็ไม่ปรากฏว่าเสือมาเอาท่านไปกิน แต่เวลาท่านไปอยู่ที่นั้น ทำไมเสือจะมาคว้าเอาไปกินเล่า? เนื้อท่านกับเนื้อพระเหล่านั้นต่างกันอย่างไรจึงทำให้เสือกลัวและกล้าและหิวโหยอยากกินต่างกันนักเล่า? ท่านไปได้เนื้อหอมหวานมาจากไหนเสือถึงได้ชอบนัก ถึงกับต้องจดจ้องมองดู และคอยจะกินเฉพาะท่านเพียงองค์เดียวเท่านั้น”

    จากนั้นท่านก็อบรมสั่งสอนเกี่ยวกับมายาของใจที่หลอกลวงคนได้ร้อยแปดพันนัย ยากที่จะตามทันได้ง่ายๆ ถ้าไม่ใช่นักทดสอบและวิพากษ์วิจารณ์จริงๆ จะทรมานใจดวงแสนปลิ้นปล้อนให้หายพยศได้ยาก นี่ยังไม่ถึงไหนก็ยอมเชื่อกิเลสกระซิบใจยิ่งกว่าเชื่ออาจารย์เสียแล้ว จะไปรอดหรือท่าน?

    ความตายนั้นพวกเรายังไม่เคยตายกันแต่โลกกลัวกันมาก ส่วนความเกิดอันเป็นเหยื่อล่อปลาทำให้ความตายปรากฏตัวขึ้นมา ไม่ค่อยมีใครกลัวกัน ใคร ๆ ก็อยากเกิดกันทั้งโลก ไม่ทราบอยากเกิดอะไรกันนักหนา เท่าที่เกิดมาเพียงร่างเดียวก็แสนทุกข์แสนกังวลพออยู่แล้ว ถ้ามนุษย์เราแยกแขนงเกิดได้เหมือนแขนงไม้ไผ่แล้ว ก็ยิ่งอยากเกิดกันมาก เพียงคนเดียวก็อยากแตกแขนงออกไปเป็นร้อยคนพันคน โดยไม่คิดถึงเวลาจะตายเลย ว่าจะพร้อมกันกลัวความตายทีละตั้งร้อยคนพันคน โลกนี้ต้องเป็นไฟแห่งความกลัวตายกันจนไม่มีที่อยู่แน่ ๆ เลย เราเป็นนักปฏิบัติทำไมจึงกลัวตายนัก ยิ่งกว่าฆราวาสที่ไม่เคยได้รับการอบรมมาเลย และทำไมจึงปล่อยใจให้กิเลสย่ำยีหลอกหลอนจนกลายเป็นคนสิ้นคิดไปได้ ทั้งที่ความคิดและสติปัญญามีอยู่ ทำไมจึงไม่นำออกมาใช้เพื่อขับไล่กิเลสกองต้มตุ๋นที่ซ่องสุมอยู่ในหัวใจให้แตกกระจายออกไปบ้าง จะได้เห็นความโง่เขลาของตัวที่เคยมัวเมาเฝ้ากิเลสมานานไม่เคยเห็นฤทธิ์ของมัน

    สนามชัยของนักรบก็คือความกล้าตายในสงครามนั่นเอง ถ้าไม่กล้าตายก็ไม่ต้องเข้าสู่แนวรบ ความกล้าตายนั่นแลเป็นทางมาแห่งชัยชนะข้าศึกศัตรู ถ้าท่านมุ่งต่อแดนพ้นทุกข์ด้วยความเห็นทุกข์จริง ๆ ท่านก็ต้องเห็นความกลัวตายนั้นว่าเป็นกิเลสพอกพูนทุกข์บนหัวใจ แล้วตามแก้ไขกันที่สนามชัยอันเป็นที่เหมาะสมดังที่ผมชี้บอก ท่านก็จะเห็นโทษแห่งความกลัวว่าเป็นตัวเขย่าก่อกวนใจให้กระเพื่อมขุ่นมัว และเป็นทุกข์ในวันใดหรือเวลาหนึ่งแน่นอน ดีกว่าท่านจะนั่งกอดนอนกอดความกลัวตายนั้นไว้เผาลนหัวอกให้เกิดความทุกข์ร้อนนอนครางอยู่ในใจ ไม่มีวันปลดปล่อยได้ดังที่เป็นอยู่เวลานี้

    ท่านจะเชื่อธรรม เชื่อครูอาจารย์ ว่าเป็นความเลิศประเสริฐศักดิ์สิทธิ์ หรือท่านจะเชื่อความกลัวที่กิเลสปล่อยมายั่วหัวอกให้มีความสะทกสะท้านหวั่นไหว จนไร้สติปัญญาเครื่องปลดเปลื้องแก้ไขตน มองไปทางไหนมีแต่เสือจะมากัดมาฉีกไปกินเป็นอาหารอยู่ทำนองนั้น นิมนต์นำไปคิดให้ถึงใจ ธรรมที่ผมเคยปฏิบัติดัดสันดานตนและเคยได้ผลมาแล้ว ก็มีดังที่พูดให้ท่านฟังนี้แล นอกนั้นผมยังมองไม่เห็น ขอจงคิดให้ดีตัดสินใจให้ถูก
     
  19. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    นับแต่ขณะที่ท่านเทศน์กัณฑ์หนัก ๆ ให้ฟังแล้ว เธอว่าขณะนั้นใจเหมือนจะออกแสงแพรวพราวขึ้นด้วยความกล้าหาญเพราะความปีติในธรรม พอท่านเทศน์จบลงก็กราบลาท่านลงมา และเตรียมตัวออกเดินทางไปถ้ำในขณะนั้น

    เมื่อไปถึงถ้ำด้วยความกล้าหาญและเอิบอิ่มด้วยปีติยังไม่หาย ก็ปลงบริขารลงจากบนบ่าเที่ยวดูทำเลที่พักตามบริเวณนั้น แต่ตาเจ้ากรรม ใจเจ้าเวร ทำให้ระลึกถึงเสือขึ้นมาได้ว่า ถ้ำนี้มีเสือ พร้อมกับสายตาที่มองลงไปพื้นบริเวณหน้าถ้ำ ก็ไปเจอเอารอยเท้าเสือที่เหยียบไว้แต่เมื่อไรไม่ทราบอย่างถนัดตา ใจรู้สึกสะท้านกลัวขึ้นมาในขณะนั้นแทบเป็นบ้าไปได้ จนลืมโอวาทท่านอาจารย์ที่สอนไว้ และลืมความกล้าหาญที่เคยออกแสงแพรวพราวขณะที่นั่งฟังเทศน์อยู่วัดหนองผือเสียโดยสิ้นเชิง มีแต่ความกลัวเต็มหัวใจ พยายามแก้ความกลัวด้วยวิธีต่าง ๆ ก็ไม่หาย ต้องเดินไปกลบรอยเสือด้วยฝ่าเท้าออกจนหมดก็ยังไม่หายกลัว แต่มีเบาลงเล็กน้อยที่มองไปไม่เห็นรอยมันอีก

    นับแต่ขณะที่เหลือบมองลงไปเจอรอยเสือ จนกระทั่งกลางคืนตลอดรุ่งยังแก้กันไม่ตก แม้กลางวันก็ยังกลัว ยิ่งตกกลางคืนยิ่งเพิ่มความกลัวหนักเข้า ราวกับบริเวณที่พักนั้นเต็มไปด้วยเสือทั้งสิ้น จากนั้นไข้มาลาเรียชนิดจับสั่นก็เริ่มกำเริบขึ้นอีก เท่ากับตกนรกทั้งเป็นอยู่ในถ้ำนั้น ไม่มีความสบายกายสบายใจเอาเลย แต่น่าชมเชยท่านที่ใจแข็งแกร่ง ไม่ยอมลดละความพยายามทรมานตนให้หายกลัวด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ตลอดไป ไข้ก็กำเริบรุนแรงขึ้นตาม ๆ กัน หรือจะเป็นเพราะธรรมบันดาลก็สุดจะคาดถึง ทั้งทุกข์เพราะกลัวเสือ ทั้งทุกข์เพราะไข้กำเริบ จนไม่เป็นตัวของตัว แทบเป็นบ้าไปได้ในเวลานั้น นาน ๆ ระลึกถึงโอวาทและพระคุณของท่านอาจารย์มั่นได้ทีหนึ่ง หัวใจที่เต็มไปด้วยไฟ คือความทุกข์ทรมานก็สงบลงได้พักหนึ่ง

    ตอนไข้กำเริบรุนแรงเป็นเหตุให้ท่านระลึกสละตายขึ้นมาได้ ก็รีบถามตัวเองในขณะนั้นว่า

    ก่อนจะมาอยู่ที่นี่ก็ได้คิดอย่างเต็มใจแล้วว่าจะมาสละตาย เวลาท่านอาจารย์ถามว่าจะไปไหน ได้ตอบท่านว่าจะไปตายในถ้ำนั้น แล้วก็มาด้วยความอาจหาญต่อความตายราวกับจะเหาะเหินเดินฟ้าได้ แต่เมื่อมาถึงถ้ำอันเป็นที่ตายจริง ๆ แล้ว ทำไมจึงกลับไม่อยากตาย และมีความกลัวตายจนตั้งตัวไม่ติด ใจเราคนเดียวกัน มิได้ไปเที่ยวหาเอาหัวใจคนขี้ขลาดหวาดกลัวของผู้ใดและของสัตว์ตัวใดมาสวมใส่เข้า พอจะกลายเป็นผู้ใหม่และสัตว์ตัวใหม่ที่ขี้ขลาดขี้กลัวขึ้นมาในเราคนเดียวกัน แล้วทำไมเวลาอยู่โน้นเป็นอย่างหนึ่ง บทมาอยู่ที่นี้กลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราจะเอาอย่างไรกันแน่ รีบตัดสินใจเดี๋ยวนี้อย่าชักช้า

    เอาอย่างนี้ดีไหม เราจะตัดสินใจให้ คือ

    หนึ่ง ออกไปนั่งภาวนาอยู่ริมเหว ถ้าเผลอสติก็ให้มันตกลงไปตายอยู่ในเหว ให้แร้งกาแมลงวันมาจัดการศพให้เลย ไม่ต้องให้ยุ่งยากกับชาวบ้าน เพราะเราเป็นพระไม่เป็นท่า อย่าให้ใครมาแตะต้องกายของพระไม่เป็นท่าให้แปดเปื้อนเขา แล้วกลายเป็นคนไม่เป็นท่าไปหลายคนเลย

    สอง ออกไปนั่งภาวนาอยู่ทางขึ้นถ้ำเสือ เวลาเสือออกไปเที่ยวหากิน อย่าให้มันต้องลำบาก จะได้โดดคาบคอพระไม่เป็นท่าองค์นี้ไปเป็นอาหารว่างของมันในคืนนี้

    จะเอาข้อไหนให้เลือกเอาเดี๋ยวนี้อย่าเนิ่นนาน เราจะพาจัดการเดี๋ยวนี้

    ว่าแล้วก็ออกจากมุ้งมายืนอยู่หน้าถ้ำขณะหนึ่ง รอการตัดสินใจ สุดท้ายก็ตกลงเอาตามข้อที่หนึ่ง คือออกไปนั่งภาวนาอยู่ริมเหวอย่างหมิ่นเหม่ที่สุด ถ้าเผลอก็ต้องมอบศพให้สัตว์จำพวกที่พูดฝากไว้แล้วเหล่านั้นแน่นอน แล้วก็เตรียมนั่งภาวนาหันหน้าไปทางเหวลึก หันหลังออกมาทางที่เสือเดินขึ้นถ้ำ บริกรรมภาวนาด้วย พุทโธ กับคำว่า ถ้าประมาทต้องตายในบัดเดี๋ยวใจไม่ชักช้า ขณะที่นั่งบริกรรมภาวนาได้ทำความสังเกตดูใจว่า จะกลัวตกเหวตายหรือจะกลัวเสือกินตาย ปรากฏว่ากลัวตกเหวตายเป็นกำลัง และตั้งสติมิได้พลั้งเผลอจากคำบริกรรมด้วยธรรมสองบทนั้น ตามแต่จิตจะระลึกได้บทใดเวลาใด

    พอภาวนาตั้งท่าตายอยู่ริมเหวลึกไม่นานเลย จิตก็รวมสงบตัวลงอย่างรวดเร็ว และลงถึงฐานของอัปปนาสมาธิเลย รวดเดียวดับเงียบไปเลยในขณะนั้น หมดความกังวลวุ่นวายที่เป็นไฟเผาใจ เหลือแต่เจ้าของของผู้กลัวตายคือจิตดวงเดียวเท่านั้น ทรงตัวอยู่อย่างอัศจรรย์

    ความกลัวตายได้หายไปโดยสิ้นเชิง นับแต่เวลา ๔ ทุ่มจนถึง ๔ โมงเช้าของวันรุ่งขึ้นจิตจึงได้ถอนขึ้นมา มองดูตะวันขึ้นครึ่งฟ้าแล้ว วันนั้นเลยไม่ต้องลงไปบิณฑบาตและไม่ฉันจังหันด้วย พอจิตถอนขึ้นมาความกลัวไม่ทราบหายหน้าไปไหนหมด ปรากฏแต่ความอาจหาญกับความอัศจรรย์ที่ไม่เคยปรากฏมาเท่านั้น ไข้ก็ถอนหายขาดในคืนวันนั้น ไม่มีอีกต่อไปเลย ท่านว่าธรรมโอสถรักษาได้ทั้งโรคมาลาเรีย ทั้งโรคขี้กลัวเสือ

    นับแต่วันนั้นทั้งไข้ทั้งความกลัวไม่มีมารบกวนร่างกายและจิตใจอีกเลย อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไปที่ไหนก็ไปได้อย่างสบายหายห่วง เสือจะมาหรือไม่มาเลยไม่สนใจคิด นอกจากคิดอยากให้เสือมาบ้าง จะได้ทดลองจิตด้วยวิธีเดินเข้าไปหาเสือ โดยไม่มีความสะทกสะท้านแม้แต่น้อยเลยเท่านั้น ทั้งได้ระลึกถึงพระคุณท่านอาจารย์อย่างเทิดทูนบนศีรษะอยู่ตลอดเวลา ว่าเราได้เห็นฤทธิ์ของกิเลสตัวกลัว ๆ เพราะท่านสอน

    พอท่านจับเคล็ดของจิตได้แล้ว ท่านฝึกทรมานจิตด้วยวิธีนั้นตลอดมา คือชอบเที่ยวแสวงหาที่น่ากลัวมากเป็นที่นั่งสมาธิภาวนา แม้ท่านพักอยู่ในถ้ำนั้นนับแต่วันนั้นมาแล้วก็ฝึกแบบนั้นตลอดไป โดยเที่ยวหานั่งภาวนาอยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น ทางเสือขึ้นถ้ำบ้าง ทางเสือเคยเดินผ่านไปมาบ้าง ขณะที่นั่งภาวนาในที่พักท่านก็ไม่ลดมุ้งลง โดยความหมายว่า ถ้าลดมุ้งลงจิตจะไม่นึกกลัวเสือแล้วจะไม่รวมสงบลงได้อย่างใจหมาย หรือนั่งภาวนาอยู่หน้าถ้ำบ้าง นอกมุ้งบ้าง ตามแต่วิธีที่เห็นว่าจิตจะรวมลงได้เร็ว และสนิทเต็มฐานของสมาธิ

    คืนหนึ่งจิตไม่ยอมสงบลงได้ แม้จะนั่งภาวนานานเพียงไร ท่านเลยนึกถึงเสือโคร่งตัวที่เคยขึ้น ๆ ลง ๆ และไปมาอยู่เสมอในแถบบริเวณนั้น ว่าวันนี้เสือตัวนี้ไปไหนกันนะ มาช่วยให้จิตเราภาวนารวมสงบลงบ้างเป็นไร ถ้าเสือมามันไม่ได้ภาวนายากเย็นอะไรเลย จิตคอยแต่จะรวมลงท่าเดียว หลังจากท่านคิดรำพึงถึงเสือโคร่งคู่มิตรไม่นานนัก ราวครึ่งชั่วโมงก็ได้ยินบาทย่างเท้าของเสือตัวนั้นเดินขึ้นมาบนถ้ำอย่างเป็นจังหวะจะโคนจริง ๆ เวลานั้นราว ๒ นาฬิกา พอได้ยินเสียงเสือเดินขึ้นมา ท่านก็เตือนจิตว่าบัดนี้เสือขึ้นมาแล้วนะจะมัวเพลินอยู่นี้ ไม่กลัวเสือคาบคอไปกินหรือ จะลงหาที่ซ่อนตัวเพื่อหลบภัยก็รีบลงมาซิ ถ้าไม่อยากเป็นอาหารเสือ

    พอคิดเท่านั้นก็กำหนดจิตสมมุติเอาเสือตัวกำลังเดินมานั้นโดดคาบที่คอของตน ปรากฏว่าพอกำหนดเอาเสือโดดมาคาบคอเท่านั้น จิตก็รวมลงสู่สมาธิอย่างรวดเร็วและถึงฐานอัปปนาสมาธิในขณะนั้น หายเงียบไปเลยทั้งเสือทั้งคนในความหมาย ยังเหลือแต่ความสงบอันราบคาบเป็นเอกจิต เอกธรรม ที่เต็มไปด้วยความอัศจรรย์สุดจะคาดในเวลานั้น

    นับแต่เวลาจิตรวมสงบลงเวลา ๒ นาฬิกา จนถึง ๑๐ โมงเช้า (๔ โมงเช้า) จึงถอนขึ้นมา รวมเป็นเวลา ๘ ชั่วโมงเต็ม ตอนออกจากสมาธิมองดูตะวันครึ่งฟ้า เลยต้องงดไม่ไปบิณฑบาต และไม่ฉันในวันนั้น ขณะที่จิตรวมลงอย่างเต็มที่ถึงฐานของอัปปนาสมาธิ ตามจริตนิสัยของจิตที่รวมลงอย่างรวดเร็วเหมือนคนตกเหวตกบ่อนั้น ต้องดับอายตนะภายในไม่รับทราบกับอายตนะภายนอกโดยประการทั้งปวงในเวลานั้น จิตของท่านองค์นี้ก็มีนิสัยเช่นนั้น ฉะนั้น เวลารวมสงบลงเต็มที่แล้วจึงหมดความรู้สึกกับสิ่งภายนอก

    ตอนออกจากสมาธิแล้ว จึงเดินไปดูตรงที่ได้ยินเสียงเสือมา เป็นเสือมาจริง ๆ หรือหูมันหลอกต่างหาก เวลาไปดูก็เห็นรอยเสือโคร่งใหญ่คู่มิตรตัวนั้นเดินผ่านมาด้านหลังท่านจริง ๆ ห่างกันประมาณ ๒ วา มันเดินขึ้นไปถ้ำที่อยู่ประจำของมัน โดยมิได้สนใจเดินวกเวียนดูคู่มิตรของมันเลย จึงน่าแปลกและอัศจรรย์อยู่มาก ท่านว่าพอจิตรวมลงเท่านั้น เรื่องทั้งหลายก็ดับไปหมดในขณะนั้น จนกว่าจิตจะถอนขึ้นมาถึงจะมีสิ่งมาเกี่ยวข้อง

    การฝึกจิตโดยลำพังโดยไม่มีเหตุมาบังคับ รวมสงบได้ยากไม่เหมือนมีเหตุอันตรายมาเกี่ยวข้องในเวลานั้น ซึ่งรวมได้เร็วที่สุด ชั่ววินาทีเดียวเท่านั้นก็ลงถึงที่เลยไม่ชักช้า ฉะนั้นผมจึงชอบไปเที่ยวแสวงหาอยู่ในที่กลัว ๆ สะดวกแก่การฝึกจิตดีมาก ไม่อยากอยู่ในที่ที่เป็นป่าเป็นเขาหรือถ้ำธรรมดา แต่ต้องเป็นป่าเสือ เขาที่มีเสือหรือถ้ำที่มีเสือ อย่างนั้นถูกกับจริตของผมซึ่งเป็นคนหยาบ ดังที่เป็นมานี่แล ผมจึงจำต้องชอบอยู่ในที่เช่นนั้น

    มีแปลกอยู่ตอนหนึ่งที่ผมพักอยู่ถ้ำนั้น นอกจากจิตได้รับความสงบตามความมุ่งหมายแล้ว ยังมีความรู้แปลก ๆ เกี่ยวกับพวกรุกขเทพและคนตายได้อีก บางคืนมีรุกขเทพเข้ามาหา (ตอนนี้ขอเรียนเพียงเท่านี้ : ผู้เขียน) และเวลาคนตายในบ้านต้องทราบจนได้ ไม่ทราบว่ามีอะไรมาบอก แต่ทราบขึ้นภายในใจเองและแน่ทุกครั้งเสียด้วย ถ้าจะว่าความรู้โกหกก็ไม่กล้าตำหนิ เราพักอยู่ในถ้ำนั้น ก็อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านตั้งหลายกิโลเมตรทางร่วมสองร้อยเส้น เขายังมานิมนต์ไปมาติกาบังสุกุลคนตายจนได้ ซึ่งเป็นการลำบากแก่เรามาก พอคนในบ้านตาย ต้องทราบแล้วว่าพรุ่งนี้ต้องเดินบุกป่าฝ่าดงไปป่าช้าอีกแล้ว และเขาก็มารบกวนจริง ๆ ด้วย บอกเขา ๆ ก็ไม่ฟัง โดยให้เหตุผลว่าพระหายากจึงต้องมารบกวนท่าน นึกว่าโปรดสัตว์เอาบุญเถิดดังนี้ เราก็จำต้องไปเพราะความเห็นใจและสงสาร ถ้าเวลาอดอาหารซึ่งเป็นเวลาที่ต้องเร่งความเพียรอย่างยิ่ง ไม่อยากให้เรื่องใด ๆ มากวนใจ แต่ก็ต้องมีจนได้

    เธอว่าพักอยู่ที่ถ้ำนั้นได้กำลังใจดีมาก โดยอาศัยเสือคู่มิตรตัวนั้นช่วยพยุงจิตให้เสมอมา ซึ่งเว้นเพียงคืนหนึ่งหรือสองคืน มันก็ขึ้นหรือลงมาเพื่อเที่ยวหากินตามภาษาสัตว์ที่มีปากมีท้องโดยไม่สนใจกับเราเลย ทั้ง ๆ ที่มันเดินผ่านหลังเราไปมาทุกครั้งที่ออกหากิน เพราะทางออกมีเพียงเท่านั้น ไม่ทราบจะให้มันไปที่ไหน นิสัยเธอองค์นี้แปลกอยู่บ้าง ที่เวลากลางคืนดึก ๆ ก็ออกจากถ้ำไปเที่ยวนั่งภาวนาอยู่ตามหินดานบนภูเขา อย่างไม่สนใจกับสัตว์เสืออะไรเลย และชอบเที่ยวไปองค์เดียวเป็นนิสัย

    ที่เขียนเรื่องเธอองค์นี้แทรกลงบ้างก็โดยเห็นว่า พอเป็นคติอยู่บ้างเป็นบางตอน ที่เป็นคนเอาจริงเอาจังจนเห็นข้อเท็จจริงจากใจดวงพยศและสามารถดัดกันลงได้ สิ่งที่เคยเห็นว่าเป็นภัยก็กลับถือมาเป็นมิตรในความเพียรได้ เช่น เสือเป็นต้น ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่น่าไว้ใจได้เลยยังยึดเอามาเป็นเครื่องปลุกใจทางความเพียรได้ จนเห็นผลประจักษ์ใจ
     
  20. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    วัตรปฏิบัติที่วัดหนองผือ

    ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่ที่วัดหนองผือด้วยความผาสุก พระธุดงค์ที่ไปอาศัยร่มเงาท่านก็ปรากฏว่าได้กำลังจิตใจกันมาก แม้จะมีจำนวน ๒๐-๓๐ องค์ในพรรษา ต่างก็ตั้งใจปฏิบัติต่อหน้าที่ของตน ๆ ไม่มีเรื่องราวที่น่าให้ท่านหนักใจ มีความสามัคคีกลมกลืนกันดีมากราวกับอวัยวะอันเดียวกัน ตอนออกบิณฑบาตรู้สึกน่าดูมาก เดินกันเป็นแถวยาวเหยียดไปตลอดสายทาง ชาวบ้านจัดที่นั่งเป็นม้ายาวไว้สำหรับพระสงฆ์ท่านนั่งอนุโมทนาทาน หลังจากใส่บาตรเสร็จแล้ว ท่านฉันรวมที่โรงฉันแห่งเดียวกัน โดยนั่งเรียงแถวกันตามลำดับพรรษา เมื่อเสร็จแล้วต่างองค์ต่างล้างและเช็ดบาตร ใส่ถลกนำไปเก็บไว้เรียบร้อย แล้วต่างองค์เข้าหาทางจงกรมในป่ากว้าง ๆ ติดกับวัด ทำความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิตามอัธยาศัย

    จวนบ่าย ๔ โมงเย็นถึงเวลาปัดกวาดลานวัด ต่างก็ทยอยกันออกมาจากที่ทำความเพียรของตน ๆ พร้อมกันปัดกวาดลานวัด เสร็จแล้วขนน้ำขึ้นใส่ตุ่มใส่ไห น้ำฉันน้ำล้างเท้าล้างบาตรและสรงน้ำ หลังจากนั้นต่างก็เข้าหาทางจงกรมทำความเพียรตามเคย ถ้าไม่มีการประชุมอบรมก็ทำความเพียรต่อไปตามอัธยาศัยจนกว่าจะถึงเวลาพักผ่อน ปกติ ๗ วันท่านจัดให้มีการประชุมครั้งหนึ่ง แต่ผู้ประสงค์จะไปศึกษาธรรมเป็นพิเศษกับท่านก็ได้ โดยไม่ต้องรอจนถึงวันประชุม หรือผู้มีความขัดข้องจะเรียนถามปัญหาธรรมกับท่านก็ได้ตามโอกาสที่ท่านว่าง เช่น ตอนหลังจังหัน ตอนบ่าย ๆ ตอนราว ๕ โมง และตอน ๒ ทุ่มกลางคืน

    เวลาท่านสนทนาหรือแก้ปัญหาธรรมกันตอนกลางคืนเงียบ ๆ รู้สึกน่าฟังมาก เพราะมีปัญหาแปลก ๆ จากบรรดาศิษย์ซึ่งมาจากที่ต่าง ๆ ที่ตนพักบำเพ็ญ เป็นปัญหาเกี่ยวกับธรรมภายในบ้าง เกี่ยวกับสิ่งภายนอก เช่น พวกกายทิพย์บ้าง ฟังแล้วทำให้เพลิดเพลินอยู่ภายใน ไม่อยากให้จบสิ้นลงง่าย ๆ ทั้งเป็นคติทั้งเป็นอุบายแก้ใจในขณะนั้น เพราะผู้มาศึกษากับท่านมีภูมิธรรมทางภายในเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกันเป็นราย ๆ ไปและมีความรู้แปลก ๆ ตามจริตนิสัยมาเล่าถวายท่าน จึงทำให้เกิดความรื่นเริงใจไปกับปัญหาธรรมนั้น ๆ ไม่มีสิ้นสุด

    เวลามีโอกาสท่านก็เล่านิทานที่เป็นคติให้ฟังบ้าง เล่าเรื่องความเป็นมาของท่านในชาติปัจจุบันแต่สมัยเป็นฆราวาส จนได้บวชเป็นเณรเป็นพระให้ฟังบ้าง บางเรื่องก็น่าขบขันน่าหัวเราะ บางเรื่องก็น่าสงสารท่าน และน่าอัศจรรย์เรื่องของท่าน ซึ่งมีมากมายหลายเรื่อง

    ฉะนั้นการอยู่กับครูบาอาจารย์นาน ๆ จึงทำให้จริตนิสัยของผู้ไปศึกษา มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีตามท่านวันละเล็กละน้อยทั้งภายนอกภายใน จนกลมกลืนกับนิสัยท่านตามควรแก่ฐานะของตน ทั้งมีความปลอดภัยมาก มีทางเจริญมากกว่าทางเสื่อมเสีย ธรรมค่อยซึมซาบเข้าสู่ใจโดยลำดับ เพราะการเห็นการได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ความสำรวมระวังอันเป็นทางส่งเสริมสติปัญญาให้มีกำลังก็มากกว่าปกติ เพราะความเกรงกลัวท่านเป็นสาเหตุไม่ให้นอนใจ ต้องระวังกายระวังใจอยู่รอบด้าน แม้เช่นนั้นท่านยังจับเอาไปเทศน์ให้เราและหมู่คณะฟังจนได้ ซึ่งบางเรื่องน่าอับอายหมู่คณะ แต่ก็ยอมทนเอา เพราะเราโง่ไม่รอบคอบต่อเรื่องของตัว

    เวลาอยู่กับท่านมีความเย็นกายเย็นใจเจือด้วยความปีติอย่างบอกไม่ถูก แต่ถ้าใจไม่เป็นธรรมก็ให้ผลตรงข้าม คือเกิดความรุ่มร้อนไปทุกอิริยาบถ เพราะความคิดผิดของตัวในความรู้สึกของตนเป็นอย่างนี้

    สำหรับท่านผู้อื่นก็ไม่อาจทราบได้ เรามันเป็นคนหยาบต้องอาศัยท่านคอยสับคอยเขกให้อยู่เสมอ จึงพอมีลมหายใจสืบต่อกันไปได้ กิเลสตัณหาไม่แย่งเอาไปกินเสียหมด ยิ่งเวลาท่านเล่าเรื่องจิตท่านในเวลาบำเพ็ญให้ฟังเป็นระยะ ๆ ก็ยิ่งเพิ่มกำลังใจมากขึ้น ราวกับจะเหาะเหินเดินเมฆบนอากาศได้ ปรากฏว่ากายเบาใจเบายิ่งกว่าสำลี แต่เวลาไปทำความเพียรเข้าจริง ๆ ให้สมกับใจที่จะเหาะลอยอยู่ขณะนั้น แต่กลับกลายเป็นเหมือนลากภูเขาทั้งลูก ทั้งหนักทั้งฝืด ซึ่งน่าโมโหแทบมุดดินลงได้อยู่ใต้พิภพ ไม่อยากให้ใครเห็นหน้าเลย พอดีกับจิตที่หยาบคายร้ายเลวเอาเสียจริง ๆ ไม่ยอมฟังอะไรกับใครเอาง่าย ๆ

    นี้เขียนตามความหยาบความหนาของตัวให้ท่านได้อ่านบ้าง เพื่อทราบความจมดิ่งของใจที่ถูกบรรจุเครื่องทำลายและกดถ่วงไว้อย่างอัดแน่น ว่าเป็นจิตที่แสนจะฉุดลากและฝึกทรมานยาก ถ้าไม่เอาจริง ๆ กับมัน ต้องนับวันจะพาเจ้าของจมดิ่งลงสู่ความต่ำทรามได้อย่างไม่เลือกกาลสถานที่และเพศวัยเลย ท่านผู้พยายามฝึกจิตดวงแสนพยศมาประจำกำเนิดภพชาติให้หายพยศ ดำรงตนอยู่โดยอิสระเสียได้ จึงเป็นบุคคลที่น่ากราบไหว้บูชาอย่างยิ่ง ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่างสมัยปัจจุบัน พูดตามความสนิทใจของผู้เขียนก็คือ พระอาจารย์มั่นที่พวกเรากำลังอ่านประวัติท่านอยู่เวลานี้ ที่เป็นผู้หนึ่งในบรรดาปัจฉิมสาวกของพระพุทธองค์
     

แชร์หน้านี้

Loading...