--- ปัจจุบันสำคัญที่สุด ---

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 19 สิงหาคม 2016.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    726
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,503
    ปัจจุบันสำคัญที่สุด
    โดย หลวงพ่อมนตรี อาภัสสะโร​



    พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายถึงการปฏิบัติธรรมว่า "ปัจจุบัน" เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะอดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ทั้งอดีตและอนาคตจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ สิ่งที่ควรให้ความสนใจก็คือที่นี่และเดี๋ยวนี้ โดยตรัสว่า

    "บุคคลไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง บุคคลใดเห็นแจ้งในปัจจุบันธรรม ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ ผู้นั้นควรเจริญในธรรมเนือง ๆ ความเพียรควรทำเสียวันนี้เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครรู้ความตายในวันพรุ่งนี้

    เพราะการผลัดเพี้ยนกับความตาย ไม่มีใครทำได้ ผู้รู้ย่อมสงบ เรียกว่าผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนว่า ผู้นั้นมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวประเสริฐที่สุด"

    สาเหตุหนึ่งที่ทำ ให้จิตของผู้ปฏิบัติธรรมฟุ้งซ่านไม่สงบ นั้นหมายถึงความปรุงแต่งไปตามสัญญาอารมณ์ทั้งอดีตและอนาคต เราชอบเก็บเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านไปแล้วมานึกคิด ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีจิตก็สลดหดหู่เหงาหงอยเซื่องซึมไป ทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านั้นก็ผ่านพ้นเลยไปแล้ว ถ้าเป็นเรื่องสุขจิตก็กระเจิดกระเจิงโลดแล่นไป

    ทั้งเรื่องดีและไม่ดี ก็ไม่ควรเก็บมาคิดให้เปลืองเวลา เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ผ่านล่วงเลยไป กลับกลายเป็นอดีตไปแล้ว จะเรียกร้องแก้ไขให้กลับคืนก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ยากแล้วสิ่งที่เรียกว่า อนาคต ก็เป็นเรื่องของกาลเวลาข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง ก็หาควรโน้มน้าวเก็บมาครุ่นคำนึง นึกคิดสร้างความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ไว้คอยท่า เพราะเหตุการณ์ที่ถูกจัดว่าเป็นเรื่องของอนาคตนั้นเป็นสิ่งเลื่อนลอย ไม่แน่นอนเป็นจริงเป็นจังอะไรขึ้นมา รังแต่จะทำให้จิตว้าวุ่นโดยเปล่าประโยชน์

    ตัดสิ่งที่ผ่านไป และสิ่งที่ยังมาไม่ถึงทิ้งเสีย แล้วภาวะแห่งการครุ่นคำนึงเพ้อฝันก็จะดับตัวเองลง เหลือแต่จุดสว่างโพลงอยู่เบื้องหน้าที่ถูกสมมติเรียกว่า "ปัจจุบัน" ยืนเด่นรออยู่ ประคองให้ดี อย่าให้จุดนี้เอียงไปทางขวาหรือทางซ้าย ให้ดำรงความเป็นหนึ่งหรือความเป็นกลางไว้ให้ตลอด ให้ลอยอยู่อย่างนั้น อย่าให้เกาะให้ติดในความเป็นกลางคือปัจจุบันเสียเอง ! รู้แล้วปล่อย ๆ โดยใช้ความมั่นคงของจิตอันสมบูรณ์ด้วยสติเป็นเครื่องกำกับ ประคับประคองไว้ให้ดี จนกระทั่งมันอาจจะกลั่นกรองออกเป็นสูตรหรือนิยมสั้น ๆ ให้เราได้ระลึกไว้ในใจกันหลง คือ ปล่อย, ผละ, ละ, วาง

    * ปล่อย - อดีตที่ผ่านไปทั้งหมดอย่าเก็บมาปรุงมาคิด จิตจะว้าวุ่น

    * ผละ - จากสิ่งที่ยังมาไม่ถึง คือ อนาคตเสีย อย่าเก็บมาปรุงมาคิด จิตจะว้าวุ่น

    * ละ - อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง อย่าเก็บมาปรุงมาคิด จิตจะว้าวุ่น

    * วาง - ความผูกมัด เกาะติดในปัจจุบัน เพียงกำหนดรู้ ด้วยสติที่สมบูรณ์เพียบพร้อม

    รู้เฉย ๆ รู้แล้วปล่อย อย่าเข้าไปปรุงแต่งในรู้นั้น จิตจะว้าวุ่น

    การเห็นแจ้งในปัจจุบันธรรม โดยมีสติสัมปชัญญะเป็นแม่งานใหญ่คอยคุมจิตอยู่ตลอดเวลา จนจิตโพลงอยู่ทุกขณะ กลายเป็นความรู้สึกตัว อยู่ทุกลมหายใจ แล้วจิตกับสติจะผนวกแนบแน่นกลายเป็นปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นจุดหนึ่งที่มีความสำคัญของการปฏิบัติธรรมในพระศาสนานี้ ผู้เขียนสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ที่ปรารภท่ามกลางหมู่ภิกษุ อันเป็นเรื่องราวใน "ภัทเทกรัตตสูตร" ฝากท่านผู้รู้ช่วยกรุณาพิจารณาด้วย.

    ;k07​
     

แชร์หน้านี้

Loading...