ปัญหาธรรมการปฏิบัติพระกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 28 กรกฎาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ผู้ถาม : ทางที่ทำให้ดับทุกข์นั้น จะต้องเป็นทางสมถะทางเดียวใช่ไหมคะ......?

    หลวงพ่อ : ดับทุกข์ไปได้หลายทางหนู ถ้าดับทุกข์ถาวร คือทำกรรมฐานทางเดียว ถ้าดับทุกข์ชั่วคราว เชือดคอตายก็ดับทุกข์ แล้วไปทุกข์ใหม่ ใช่ไหม........?

    ผู้ถาม : "กรรมฐานคืออะไรคะ.......?

    หลวงพ่อ : กรรมฐานมันรวม ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน ตัวที่ทำให้เกิดอารมณ์จิตไม่ฟุ้งซ่าน ทำให้สมาธิทรงตัวเขาเรียกว่า "สมถกรรมฐาน" ตัวที่ใช้ปัญญารู้เท่าทันสภาวะตามความเป็นจริง ไม่หลงสภาวะของโลก นี่เป็น วิปัสสนากรรมฐาน สองอย่างนี้เราเรียกว่า กรรมฐาน เข้าใจหรือยัง........?

    ผู้ถาม : เข้าใจแล้วค่ะ แต่ว่ามีอีกเรื่องหนึ่งนะคะ เมื่ออาทิตย์ก่อนหนุไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่า คนที่หัดภาวนาอย่าหลับตา ถ้าหลับตาแล้วจะหลับไปเลย ให้ลืมตาแล้วพยายามดึงสายตาเข้ามาเรื่อย ๆ จนใกล้ ๆ ปลายจมูกแล้วให้เพ่งอยู่อย่างนั้น วันหนึ่งหนูก็ลองทำดู ภาวนาว่า พุทโธ ๆ ๆ แล้วพยายามดึงสายตาเข้ามาเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าไม่ได้ภาวนา ทีแรกหนุก็เห็นภาพลาง ๆ เหมือนคนนั่งแบบหนู นั่งหันหน้ามาทางหนู หนูตกใจรีบลุกขึ้นทันที อย่างนี้เป็นการหลอนหรือคิดไปเองคะ...?

    หลวงพ่อ : แล้วคิดไปเองหรือเปล่าล่ะ.....?

    ผู้ถาม : ไม่ได้คิดค่ะ

    หลวงพ่อ : อ้าว.......ไม่ได้คิด แต่ถามว่าคิดไปเองหรือเปล่า

    ผู้ถาม : คือหนูมองเพลินไป คิดว่ามันคิดไปเองค่ะ....

    หลวงพ่อ : ไม่ใช่หรอก มันเป็นของจริง เราไม่ได้คิดไว้ก่อนนี่ ตอนนั้นก็ต้องถือว่า จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ จึงเป็นภาพขึ้นได้ ถ้าจิตต่ำกว่าอุปจารสมาธิก็ดี หรือสุงกว่าอุปจารสมาธิก็ดี มันไม่เห็น

    ผู้ถาม : แล้วทำไมเหมือนกับเราไม่มีจิต ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลยคะ.....?

    หลวงพ่อ : ก็บอกแล้วว่าระหว่างนั้นจิตเข้าสู่อุปจารสมาธิอยู่ จิตเราบังเอิญเข้าจังหวะพอดี ตามธรรมดาเรามีสมาธิอยู่แล้วทุกคน ไม่ใช่ว่าไม่มี ถ้าเราเกิดมาไม่มีสมาธิมันพูดกันไม่รู้เรื่องหรอก ใช่ไหม.... คิดว่าจะกินข้าวดีไม่ดีไปเข้าส้วม นี่ไม่มีสมาธิ สมาธิคือการตั้งใจ ตั้งใจว่าจะทำอะไรนี่เป็นสมาธิ

    ผู้ถาม : แสดงว่าเรามีสมาธิจึงจะเห็นใช่ไหมคะ...?

    หลวงพ่อ : แต่ต้องพอดีนะ สมาธิมันมีหลายอย่างนะ มี ขณิกสมาธิ คือสมาธิเล็กน้อย อุปจารสมาธิ ก็หมายถึง สมาธิใกล้เฉียดฌานและอัปนาสมาธิ ก็หมายถึง ฌาน ฌาน แบ่งออกเป็น ๔ ขั้น ฌาน ๑,๒,๓,๔ แต่จุดที่เราจะเห็นจริง ๆ คืออุปจารสมาธิจุดนี้จุดเดียว

    ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ ถ้าขณะภาวนา หลับตาได้ไหมคะ......?

    หลวงพ่อ : หลับตาหรือลืมตาก็ใช้ได้หมด ถ้าเราไม่นึกถึงตาไม่นึกถึงยาย ก็ลืมทั้งตาทั้งยาย ใช่ไหม.....ลืมตาหรือหลับตาไม่มีความหมายหรอกหนู.....การเจริญพระกรรมฐานมิใช่หลับตาเสมอไป ถ้าเราลืมตามองเห็นอย่างอื่นมันฟุ้งซ่านก็หลับตาเสีย ถ้าหลับตาแล้วจิตมันซ่านเกินไปก็ลืมตา เวลานั่ง นั่งหน้าพระพุทธรูป เวลาหลับตาภาวนาแล้วฟุ้งซ่าน ให้ลืมตามองดุพระพุทธรูป ถ้าจิตเรานึกว่าพระพุทธรูป นี่เป็น พุทธานุสตติกรรมฐาน ถ้าคิดว่าพระพุทธรูปนี่มีสีเหลืองก็เป็น ปิตกสิณ เลยได้ ๒ อย่างควบใช่ไหม......คือว่าการเจริญพระกรรมฐานเราฝึกที่ใจไม่ใช่ฝึกที่ตา สมาธิมันอยู่ที่ใจใช่ไหมล่ะ.....

    ผู้ถาม : หนูอ่านเจอะในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เขียนว่าการนั่งสมาธิจะต้องมีความพร้อม คือพร้อมทั้งตัวเองและสภาวะแวดล้อมด้วย อย่างเช่นต้องการความสงบสภาพแวดล้อมก็ต้องสงบด้วย และตัวเราเองต้องสงบด้วย สงบทั้งข้างในและข้างนอก

    หลวงพ่อ : ไม่ต้องอธิบายหรอกหนู เป็นอรหันต์แล้ว หลวงพ่อยอมแล้ว แหม.......ตำรามันแน่จริง ๆ อ่านจบทำได้ตามนั้นก็ไม่ต้องไปฝึกแล้ว

    ผู้ถาม : ทำไม่ได้หรือคะ........?

    หลวงพ่อ : ทำได้ยังไง เขายกช้างมาให้แบก สงบนอกสงบใน หมายความว่าเป็นอรหันต์แล้ว

    ผู้ถาม : แล้วเวลานั่งสมาธิ จิตจะสบายขึ้นใช่ไหมคะ.....?

    หลวงพ่อ : ก็สุดแล้วแต่เรา เวลานั้นเราทรงอารมณ์ดีหรือไม่ดี ถ้าดีก็สบายขึ้น ถ้าไม่ดีก็กลุ้มขึ้น

    ผู้ถาม : หนูเคยนั่งที่บ้าน พอนั่งภาวนาไปครู่หนึ่ง รู้สึกมันเครียดค่ะ

    หลวงพ่อ : นั่นทำไม่ถูก หนู

    ผู้ถาม : ไม่ถูกยังไงคะ.....?

    หลวงพ่อ : ก็ทำเหนื่อย

    ผู้ถาม : แล้วจะทำยังไงคะ...?

    หลวงพ่อ : ถ้าเครียดเกินไปเราตั้งอารมณ์เสียใหม่ หายใจยาว ๆ ๒-๓ ครั้ง ก็หายเครียด แล้วเริ่มภาวนาใหม่

    ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ บางครั้งขณะภาวนาจิตใจมันฟุ้งซ่าน มากค่ะ จะแก้ไขอย่างไรดีคะ......?

    หลวงพ่อ : ถ้ามันฟุ้งซ่านจนกระทั่งคุมใจไม่ติด อันนี้ต้องเลิกเหมือนกัน ถ้ามันเป็นอย่างนี้ก็อย่าฝืนไปภาวนาเข้า ปล่อยมันไปตามสบาย มันอยากจะคิดอะไรก็เชิญมัน เราต้องรู้จักยืดหยุ่นพระพุทธเจ้าท่านแนะไว้ ๒ นับ คือ ถ้ามันฟุ้งจริง ๆ ก็ปล่อยใจให้คิดไปตามต้องการ อีกอันหนึ่งก็เลิกเสีย เวลาที่เราปล่อยใจไปตามอารมณ์อีกสักครู่เดียวไม่นานมันก็เลิกคิด พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเหมือนม้าพยศ กอดคอให้มันวิ่งไปจนเหนื่อย เหนื่อยแล้วก็บังคับให้มันทำตามต้องการ จิตใจก็เหมือนกัน สติ ตั้งใจ ถ้ามันเลิกคิดเมื่อไรเราจะภาวนาและพิจารณาต่อไปเริ่มจับอารมณ์ใหม่ คราวนี้มันทรงอารมณ์ดิ่งจริง ๆ ละเอียดและสุขุมมาก อยู่นาน บางทีครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงกว่า นี่เป็นวิธีเอาชนะความฟุ้งซ่านและรำคาญ

    ผู้ถาม : ขอนมัสการครับ กระผมขอทราบว่า สภาวะจิต สงบจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นภวังค์ จิตเป็นเอกัคคตารมณ์มีสภาวะแตกต่างกันอย่างไรครับ...?

    หลวงพ่อ : ถามมา 4 ข้อ แต่ตอบได้ 2 ข้อ มันแตกต่างกันแค่จิตเป็นภวังค์อย่างเดียว นอกนั้นอย่างเดียวกัน จิตสงบ จิตเป็นสมาธิ จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ก็คือจิตเป็นสมาธิก็หมายความว่าจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อย่างโยมอยากจะไปขอขโมยความเขา ตั้งใจว่าควายบ้านนี้กูขโมยแน่ นี่เป็นสมาธิ คือตัวตั้งใจอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเขาเรียกว่าสมาธิ แต่ว่าสมาธิแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาสมาธิ กับ มิจฉาสมาธิ
    ตั้งใจขโมยควาย เขาเป็น มิจฉาสมาธิ ถ้าตั้งใจสร้างความดีเป็น สัมมาสมาธิ

    ผู้ถาม : ตามที่กระผมอ่านในตำรา เขาบอกว่าจิตขึ้นมารับอารมณ์ชั่วขณะจิต พอหมดไปแล้วบอกว่าจิตเป็นภวังค์ แต่ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ จึงขอเรียนถามหลวงพ่อว่า จิตเป็นภวังค์ หมายความว่าอย่างไรครับ...?

    หลวงพ่อ : คำว่า ภวังค์ นี่ก็คือ อารมณ์ปกติ ส่วนมากคนมักเข้าใจกันผิด พอจิตตกมีสภาพวูบดิ่ง จิตทรงตัว บอกว่าเป็นภวังค์อย่างนี้ไม่ใช่นะ พูดง่าย ๆ อารมณ์ธรรมดานี่แหละ อารมณ์ไม่ได้ความนี่เอง
    เอาเรื่องง่าย ๆ ไม่ดีกว่าหรือ..........พระพุทธเจ้าท่านสอนง่ายกว่านี้มีเยอะ ทำไมถึงชอบยาก ๆ กินหมูมีกระดูกมาก กินปลามีก้างมาก มันจะดีรึ เอาอย่างนี้ดีกว่า ทำยังไงที่จะไม่ให้จิตคบกับนิวรณ์ ๕ ได้ มี ประโยชน์มากกว่าตั้งเยอะ อย่างที่โยมว่าอีกหลายชาติก็ยังไม่ถึงนิพพาน ระวังมัจจะมี มานะ ไปนั่งเถียงกัน แกไม่รู้จักขณะจิต พังเลย เราแย่ คนที่คิดน่ะแย่ มานะนี่หยาบมาก ยกยอดทิ้งไปเลย ไปงั้นไม่มีทางไป

    ที่ว่า มานะ ฉันอ่านมาแล้ว ฉันหมุนมาแล้ว จึงเลิก โยมยังไม่เลิก เพราะว่าศัพท์ประเภทนี้มัน เหมาะสมหรับคนสมัยนั้น คนสมัยนี้ไม่ควรจะใช้ศัพท์สมัยนั้นมาก เพราะว่าอุปนิสัยของคนไม่เท่าคนสมัยนั้น คำสอนแต่ละคนแต่ละช่วงจะเหมาะสำหรับคนแต่ละสมัย คนที่สั่งสมอบรมมาดีแล้ว ถ้าเราไปพูดยาวแทนที่จะดี กลับทำให้รำคาญ เพราะคนพวกนี้ใกล้เต็มที่ ไอ้คนจะถึงประตู ไปอธิบายต้นทางมันก็รำคาญ ใช่ไหม........ว่าไง โยม มีอะไรอีกไหม.....?

    ผู้ถาม : ขออาราธนาหลวงพ่อเทศน์เรื่อย ๆ ไปครับ

    หลวงพ่อ : ฉันก็เหนื่อยน่ะซิ เครื่องกัณฑ์มีรึยังล่ะ นิมนต์เทศน์ก็ต้องติดเครื่องกัณฑ์ ถ้าอธิบายไม่ต้องติด

    ผู้ถาม : นิมนต์หลวงพ่ออธิบายต่อไปเรื่อย ๆ ครับ

    หลวงพ่อ : เอายังงี้ดีกว่า คิดแต่เพียงว่าเราจะทำยังไง จึงจะวางภาระในขันธ์ ๕ เสียได้ เอาตรงนี้แหละ นั่งดูว่าร่างกาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย ควรจะมีอีกไหม ถ้าเราต้องการมันอีก เกิดมากี่ชาติ เราก็มีสภาพแบบนี้ มีทุกข์แบบนี้
    ทำยังไงจึงจะไม่มีทุกข์ ที่จะไม่มีทุกข์ได้ก็คือ
    ๑. ตัดโลภะ ความโลภ โดยการให้ทาน เจริญจาคานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์
    ๒. ตัดโทสะ ความถือโกรธให้ทรงพรหมวิหาร ๔ หรือกสิณ ๔ หรือตัดมานะความถือตัวถือตน
    ว่าเราดีกว่าเขา เราสมอเขา เราเลวกว่าเขา
    ๓. ตัดโมหะ ความหลง โดยการใช้ปัญญาพิจารณาและยอมรับนับถือตามความเป็นจริง
    คือว่าเกิดมาแล้วก็ต้องมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มันเป็นธรรมดา ก็เท่านี้แหละ ยากไหม......?

    ผู้ถาม : ฟังดูก็ไม่ยากหรอกครับ แต่ทำไม่ค่อยจะได้ แต่ก็จะพยายามครับ" "ผมอยากจะถามหลวงพ่อหน่อยครับ คือตอนที่นั่งสมาธินี่ครับ จิตมันอยู่ที่ไหนครับ.....?

    หลวงพ่อ : เวลานั่งสมาธินี่จิตมันอยู่ที่ใจโยม ใช่ไหม..?

    ผู้ถาม : แต่กระผมได้ยินเขาบอกว่าอยู่ที่ระหว่างคิ้วบ้าง อยู่ที่ปลายจมูกบ้าง ผมก็ยังสงสัยอยู่ครับ

    หลวงพ่อ : นั่นเขาเอาอารมณ์เข้าไปจับ คือว่าอารมณ์เข้าไปจับมันที่ไหนก็ได้นะ แต่ว่าตามปกติแล้วพระพุทธเจ้าตรัส ท่านให้จับอยู่ตรงลมหายใจเข้าออก นี่เป็นพุทธพจน์นะ เป็นของพระพุทธเจ้าจริง ๆ เวลาทำสมาธิถ้าทิ้งลมหายใจเข้าออก สมาธิกองอื่น ๆ จะเกิดไม่ได้เลย นี่เราเรียกว่า อานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าทิ้งกรรมฐานกองนี้แล้วกองอื่น ๆ ทำไม่ได้เลย

    ผู้ถาม : ระหว่างที่นั่งลงไปแล้ว ไอ้จิตมันก็คอยคิดแต่เรื่องงานเรื่องการ อันนี้จะทำยังไงครับ.....?

    หลวงพ่อ : อันนี้เป็นธรรมดาโยม เขาเรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ มันเป็นธรรมดาของจิต จิตมันมีสภาพดิ้นรน คิดอยู่เสมอ และเวลาที่เราทำสมาธิก็ต้องเผลอบ้างเป็นธรรมดา ถ้าจะไม่มีการเผลอเลย มีการทรงตัวจริง ๆ เวลานั้นจิตต้องอยู่ในช่วงของฌาน ๔ อันนี้เป็นเรื่องจริง ๆ นะ

    ผู้ถาม : วิธีจะดับ จะดับอย่างไรครับ..........?

    หลวงพ่อ : ผูกคอตายก็ได้

    ผู้ถาม : (หัวเราะ)

    หลวงพ่อ : ไอ้คำว่าดับ ในที่นี้นะคือ ให้จิตหยุดจากอารมณ์โยมทำไม่ได้หรอก โยมทำจริง ๆ โดยไม่คิดอะไรอื่นไม่ได้ เพราะยังไม่อยู่ในฌาน ๔ และไอ้จิตของเราถ้าให้มันอยู่ในฌาน ๔ จริง ๆ ก็ยาก เพราะว่าต้องให้จิตเข้าถึงฌาน ๔ ก่อน ถ้าเป็นฌาน ๑,๒,๓ ก็ยังดิ้นอยู่ ยังส่ายอยู่

    เอาอย่างนี้ดีกว่า การเจริญพระกรรมฐานถ้ามุ่งแบบนี้มันไม่สำเร็จหรอก มุ่งเอาแต่สบายใจ ทำเวลาไหน สบายแค่ไหนพอใจแค่นั้น คือเราไม่ตั้งอารมณ์ไว้ก่อน ถ้าตั้งอารมณ์ไว้ก่อนว่าวันนี้เราต้องการฌาน ๓ ฌาน ๔ วันนั้นจะไม่ได้อะไรเลย มันเกร็งเกินไปถ้าตั้งใจมากวันนั้นโยมทรงตัวไม่อยู่ จะต้องใช้แบบพระพุทธเจ้าที่เรียกกันว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทำแบบปานกลาง วันไหนสบายใจแค่ไหนวันนั้นเราทำแค่นั้น พอใจแค่นั้น

    การที่จะให้จิตได้จริง ๆ ต้องฝึกโดยการตั้งเวลา ถ้าทำสมาธิได้พอสมควรแล้วก็เริ่มตั้งเวลา ถ้าฌานน้อย ๆ ก็สัก ๓ นาที หรือใช้นับลูกประคำ ตั้งแต่ ๑ ถึง ๒๐ ในช่วง ๒๐ ไม่ให้จิตไปไหนเลย ถ้าจิตเราวอกแวกไปไหนนิดหนึ่ง เราตั้งต้นนับใหม่ ภาวนาว่า พุทโธ ก็ได้ สัมมาอรหัง ก็ได้ ภาวนาไปจบก็ดึงไปเม็ดหนึ่ง ในช่วง ๒๐เม็ด เราจะไม่ยอมให้จิตคิดเรื่องอื่นเป็นอันขาด นอกจากคำภาวนา ถ้ามันเริ่มคิดก็ตั้งต้นใหม่ ทำอย่างนี้ ค่อยทำไปถ้าเห็นจิตจะเฟื่องเลิกเสีย ทำอย่างนี้จนชิน จนกระทั่งหลายวันจิตไม่ไปไหนก็ขยับไป ๓๐ เม็ด ให้มันทรงตัวจริง ๆ ตอนหลังการทรงฌานสบายมาก

    ผู้ถาม : นอกจากเราจะใช้คำว่า พุทโธ หรือ สัมมาอรหัง เราจะใช้คำภาวนาอย่างอื่นได้ไหมครับ เช่น วิระทะโย หรือเป็นคำภาวนาแบบภาษาไทย

    หลวงพ่อ : อันนี้อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้หมดนี่คุณ เป็นสมถะ อาตมาไม่ได้ห้าม สัมมาอรหังก้เป็นพุทธานุสตติกรรมฐาน ถึงแม้ วิระทะโย กล่าวถึงพระก็ใช้ได้หมด เป็นกุศลเหมือนกัน

    ผู้ถาม : ถ้าหากว่านึกถึงครูบาอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งได้ไหมครับ...?

    หลวงพ่อ : ได้ ถ้าครุบาอาจารย์องค์นั้นเป็นพระสงฆ์ ก็เป็น สังฆานุสสติ
    กรรมฐาน นึกถึงความดีของพระธรรม เป็น ธัมมานุสสติกรรมฐาน แต่ไอ้ตอนนึก ถ้าเห็นว่าจิตมันซ่านเกินไปก็ใช้คำภาวนาสั้น ๆ แทน ทั้งสองอย่างอนุญาตให้ทำได้หมด เพราะถูกต้องตามแบบ

    ผู้ถาม : เวลาไปชวนเขาทำสมาธิ บางคนเขาบอกว่า กลัวเป็นบ้า กลัวจะไปเห็นของน่าเกลียดน่ากลัว อันนี่เป็นความจริงไหมครับ....?

    หลวงพ่อ : ความจริงการเจริญสมาธิไม่มีอะไรน่ากลัว อย่าลืมว่าถ้าจิตเราดีแล้ว อย่างน้อยที่สุดจิตต้องเข้าถึงอุปจารสมาธิมีปีติถึงจะเห็นภาพ แต่ภาพที่เราเห็นในสมาธินั้นเป็นภาพสวย เป็นภาพน่ารัก ไม่ใช่ภาพน่ากลัวที่ว่าเป็นบ้าน่ะก็เพราะ ฝืนอาจารย์ ฝืนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าการปฏิบัติต้องเว้นส่วนสุด ๒ อย่างคือ
    ๑. อัตตกิลมถานุโยม อย่าเครียดเกินไป
    ๒. กามสุขัลลิกานุโยค อย่าอยากเกินไป
    ต้องใช้ มัชฌิมาปฏิปทา คือต้องทำกลาง ๆ แบบสบาย ๆ ไม่บ้านะ
    (แหม........ไอ้คนกลัวดีนี่มีเยอะจัง ทั้ง ๆ ที่เป็นของดี ถ้าไม่ดีก็คงไม่มีใครเขาแนะนำ ทีมีคนไปชวนกินเหล้าไปเห็นกลัวกันบ้างน่าแปลกแฮะ)

    ผู้ถาม : เวลานั่งปฏิบัติกรรมฐานตอนกลางคืนนะคะ นั่งไปก็มีความกลัว ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไรคะ.....?

    หลวงพ่อ : เราก็บอก ฉันไม่กลัว ๆ ๆ ๆ ๆ

    ผู้ถาม : (หัวเราะ)

    หลวงพ่อ : เอายังงี้หนู ไอ้เรื่องกลัวนี่เป็นของธรรมดา แต่ก็ต้องระวังนะ มันกลัวมากจริง ๆ เราต้องเลิกเสียก่อนนะ ถ้าประสาทหวั่นไหวมาก มันเสียผลเหมือนกัน วิธีจะให้กลัวน้อยต้องให้มีคนอยู่ใกล้ ๆ อย่าไปฝืนอยู่นะรีบเลิกเสียแล้วก็นอนภาวนาให้หลับไปเลย แค่นี้พอ

    ผู้ถาม : นอนภาวนาได้หรือคะ.....?

    หลวงพ่อ : ได้.....ถ้าภาวนาให้หลับไปนี่ได้กำไร ถ้าเราภาวนาอยู่ ถ้าจิตเข้าไม่ถึงฌานมันจะไม่หลับ พอจิตเข้าถึงฌานปั๊บมันจะตัดหลับทันที นอนหลับภาวนาสัก ๑ ชั่วโมง มันจะมีความชุ่มชื่นดีกว่านอนหลับไม่ภาวนาหลายชั่วโมง และในช่วงแห่งการหลับเราถือว่าหลับอยู่ในสมาธิตลอดเวลา เวลาตื่นขึ้นมาจิตจะสบาย

    เวลาที่เราหลับอยู่ในฌาน เราจะสังเกตได้ว่า ถ้าเราตื่นขึ้นมารู้สึกเต็มที่แล้ว นอนอยู่แบบนั้น ต้องบังคับให้มันภาวนา อย่างนี้แสดงว่าขณะหลับเราเข้าถึง ฌานหยาบ

    หากพอตื่นขึ้นมา มีความรู้สึกตัวเต็มที่ แล้วมันภาวนาเองแสดงว่า เมื่อหลับเราเข้าถึงฌานอย่างกลาง

    ถ้ารู้สึกตัวครึ่งหลับครึ่งตื่น มันภาวนาของมันเอง แสดงว่าตอนที่หลับเราเข้าถึง ฌานละเอียด

    ฉะนั้นการนอนภาวนาให้หลับไปเลย ควรใช้ให้เป็นปกติ การนอนภาวนานี่ถ้ามันจะหลับ อย่าไปดึงมันไว้นะ ถ้าภาวนาถึง "พุท" ไม่ทัน "โธ" มันจะหลับ ปล่อยเลย เพราะการเข้าฌานเราต้องเข้าให้เร็วที่สุด ไม่ต้องการภาวนานาน

    ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ เวลานั่งสมาธิ แล้วมีความรู้สึกว่ามีเสียงมากระทบ ทำให้รู้สึกวูบไป

    หลวงพ่อ : ตกใจไหม.......?

    ผู้ถาม : ก็ไม่เชิงตกใจค่ะ

    หลวงพ่อ : ฉันก็เคยเจอะเหมือนกัน แต่นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดานะ มันซู่มันซ่าก็ช่างมันปะไร

    ผู้ถาม : แล้วจะเป็นอะไรไหมคะ......?

    หลวงพ่อ : ไม่เป็นไรหรอก เวลาจะนั่งกรรมฐาน ต้องคิดไว้เสมอไว้ จะเป็นผีเป็นเทวดานี่เขาเข้าถึงตัวเราไม่ได้ วัดจากตัวเราไปได้ ๑ วา รอบ ๆ อย่างเก่าก็มีฤทธิ์ได้แค่นั้น แต่ว่าจิตอยู่ในเกณฑ์ของสมาธิมากหรือน้อยก็ตามถ้าเราสมาทานแล้ว คำว่าผีจริง ๆ เข้ามาไม่ได้เลย ที่จะเข้าใกล้เราได้มีพวกเทวดาเท่านั้น นี่จำไว้เลย ถ้าเห็นภาพปรากฏเป็นคน เป็นอะไรก็ตาม เป็นเทวดาทั้งหมด ผีต่าง ๆ ไม่มีสิทธิ์จะเข้ามา

    แต่ว่าถ้าเจริญกรรมฐาน จิตจะเริ่มเข้าถึงปีติ อันนี้ท้าวมหาราชจะส่งเทวดาเข้าคุมทุกคนนะ ปีติ นั้นคือจิตใจของเรามีความแน่วแน่หรือว่าเราต้องการ เวลาเจริญพระกรรมฐานนี่นะ การทำสมาธิจิตจะแบบไหนก็ตาม ถ้าเรามีความชอบใจ อันนี้เป็นปีติตั้งแต่ระยะนี้เป็นต้นไป ท้าวมหาราชจะส่งคนมาคุม กันผีเข้ามารบกวน

    แต่ว่าพวกผีหรือที่เรียกว่า อมนุษย์ ถ้าจะมาทำร้ายเราล่ะเขาเข้าไม่ได้เลย แต่ว่าถ้าบังเอิญเขาเห็น เรานั่งไปเราก็เห็นว่ามีคนสักคนหนึ่งลากคอคนหรือรัดมือรัดเท้าลากไป อย่าไปห้ามนะถ้าหากมาเป็นศัตรูเขาก็จัดการทันที
    ถ้ามันจะมาขอส่วนบุญ ถ้าเข้ามาใกล้ แค่มายืนได้แค่วากว่า ๆ ถ้าเราสงสัย เราเห็นเข้าก็อุทิศส่วนกุศลให้แก รูปร่างหน้าตาแจ่มใสแกก็ไป ไม่มีอะไร ไม่ต้องกลัว

    ผู้ถาม : หนูไม่ทราบว่าได้ฌานอะไรค่ะ คือว่าจิตนิ่ง แต่ว่ามองอะไรไม่เห็น

    หลวงพ่อ : ดีมาก......เขาเรียกว่า ฌานมัว ไอ้เรื่องของฌานเขาไม่ได้เห็นหรอกหนู การทำสมาธิไม่ใช่เรื่องของการเห็น เรื่องของการเห็นเขาต้องฝึกอีกระดับหนึ่ง คือ ในเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วต้องฝึก ทิพจักขุฌาน มันจึงจะเห็น แต่ว่าการฝึกสมาธิแล้วเห็นภาพว้อบ ๆ แว้บ ๆ ผ่านไปผ่านมา นั่นจิตเข้าขั้น อุปจารสมาธิ ขั้นนอุปจารสมาธินี้อาจจะได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ แต่ก็แว้บเดียว อันนี้เขาไม่ใช้ เขาไม่ถือว่าเป็นของดี ยังไม่ต้องการ

    กรรมฐานน่ะมันมี ๒ อย่างคือ สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน สองอย่างนี้ต้องควบคู่กันไป ต้องเข้าใจว่าการทำสมถภาวนาเป็นอุบายเพื่อทำให้ใจสงบ ทำจิตให้เป็นสุขไม่ใช่ต้องการเห็น วิปัสสนาภาวนาทำให้ใจมีปัญญาขึ้น คือยอมรับนับถือกฏของความเป็นจริง

    เขาต้องการแบบนี้นะ เขาไม่ต้องการเห็นหรอก ถ้าอยากเห็นก็ลืมตา ถ้าดับไฟเห็นไม่ถนัดก็เปิดไฟฟ้า จะได้เห็นทั่ว ใช่ไหม........อย่างนี้ก็พลาดจุดหมายน่ะซิ

    ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ เวลานั่งปฏิบัติสมาธิคล้าย ๆ จิตตกจากที่สูง มันเป็นยังไงคะ.......?

    หลวงพ่อ : อ๋อ........ตอนนั้นถ้าจิตมันอยู่ในฌาน มันจะมีอารมณ์ดิ่งสบาย จิตเป็นสุข ถ้าจิตพลัดจากฌานแรงเกินไป มันก็วาบเหมือนกับตกในที่สูง อาการอย่างนี้บางคนก็ประสบ บางคนก็ไม่ประสบ ถ้าป้องกันอาการอย่างนี้ไม่ให้เกิด พอเริ่มต้นจะภาวนาให้หายใจยาว ๆ เหมือนกับเขาเกณฑ์ทหาร หายใจสัก ๓-๔ ครั้ง เป็นการระบายลมหยาบ ตอนเริ่มต้นมันหยาบ พอจิตเป็นสมาธิ จิตมันจะละเอียดอยู่ข้างล่าง พอเป็นฌานจิตมันละเอียดมากมันก็ดันลมหยาบออก

    ผู้ถาม : แต่สังเกตดูลมหายใจบางครั้งเหมือนกับลมหยุดเบาเหลือเกินค่ะ เราควรจะกระตุ้นมันไหมคะ...?

    หลวงพ่อ : อย่า อย่า ความรู้สึกคล้ายว่าลมหยุดตอนนั้นจิตเป็นฌาน ๔ ลมมันไม่ได้หยุดหรอก ถ้าหยุดเราก็ตาย ถ้าเป็นฌานสูงขึ้นจะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง ความจริงลมปกติ แต่จิตมันแยกกับประสาท พอถึงปฐมฌาน

    จิตแยกจากประสาทนิดหนึ่ง ถ้าตามธรรมดาเราต้องการเงียบ หูได้ยินเสียงมันจะรำคาญ พอถึงปฐมฌานมันจะไม่รำคาญ พอถึงฌานที่สอง ลมจะรู้สึกเบาลงไปหน่อยพอถึงฌานที่ ๔ จะไม่มีความรู้สึกว่าหายใจ ความจริงร่างกาย
    หายใจเป็นปกติ แต่จิตมันแยกจากประสาท จิตมันแยกห่างออกมา

    ผู้ถาม : ต้องปล่อยลงไปเรื่อย ๆ นะคะ.....?

    หลวงพ่อ : ปล่อยไป ถ้าจิตมันเต็มกำลังมันก็ลดของมันเอง

    ผู้ถาม : ดิฉันจับอานาปาค่ะถึงมีอารมณ์อย่างนั้น......?

    หลวงพ่อ : ความจริงกรรมฐานทุกกองต้องควบอานาปา ถ้าไม่งั้นจิตไม่ทรงฌาน อานาปาต้องใช้เป็นพื้นฐานกรรมฐาน ๓๙ อย่าง เราใช้ได้ แต่ว่าต้องควบคุมอยู่กับอานาปาเสมอไป ถ้าไม่มีอานาปาควบ จิตจะเป็นฌานไม่ได้

    ผู้ถาม : ถ้าไม่จับอานาปาก็ภาวนาแทนได้ไหมคะ.....?

    หลวงพ่อ : ภาวนาเฉย ๆ จิตไม่เข้าถึงฌาน จะต้องมีอานาปาควบคู่กับคำภาวนา หายใจเข้า นึกว่า "พุท" หายใจออกนึกว่า "โธ" "พุทโธ" เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน แต่เรารู้ลมหายใจเข้าออกด้วย เป็นอานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าใช้คู่กันจิตจะเป็นฌานเร็ว

    ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ ในขณะที่เรานั่งภาวนาไปพักหนึ่งแลัวก็ได้เห็นแสดงเป็นวงสีขาว แต่เราจับไม่นิ่ง แล้วจะทำยังไงคะ........?

    หลวงพ่อ : เอาอะไรจับ..........?

    ผู้ถาม : จิตซิคะ

    หลวงพ่อ : ไม่มีทาง เพราะแสงนั้นไม่ใช่แสงสำหรับจับ แสงสำหรับจับต้องเป็นกสิฯ ถ้าสีขาว เขียว แดง เหลือง ถ้าปรากฏขึ้นขณะภาวนา มันเป็น นิมิตของอานาปานุสสติ ไม่มีทางจับ

    ผู้ถาม : ที่เห็นอันนี้เหมือนดาวค่ะ

    หลวงพ่อ : เหมือนดาว เหมือนเดือน เหมือนพระอาทิตย์ก็เหมือนกันแหละ คล้าย ๆ กับดาวเป็นดวง ๆ ใช่ไหม........?

    ผู้ถาม : ใช่ค่ะ

    หลวงพ่อ : นั่นแหละเขาเรียกว่าเป็นนิมิตของอานาปา จับไม่ได้เพราะอะไรจึงจับไม่อยู่ เพราะจิตเราไม่หยุด ถ้าจิตเคลื่อนนิดนั่นก็ไหวตัวหน่อย นิมิตน่ะ เป็นเครื่องวัดจิตของเราว่า ในขณะนั้นมันทรงตัวขนาดไหน และจิต แค่อุปจารสมาธิ มันไม่ทรงตัว ต้องเป็นฌาน ที่เห็นนั่นน่ะ จิตถึงอุปจารสมาะพอดี เพราะจิตพอเริ่มเข้าสู่อุปกจารสมาธิ อารมณ์เริ่มเป็นทิพย์ ที่เห็นแสงสีน่ะเบาเกินไปถ้าอารมณ์ดีกว่านั้นจะเห็นภาพเทวดา เห็นภาพพรหมได้เลย แต่ก็แว้บเดียวอีกนั้นแหละ พอเห็นปั๊บเราตกใจ สะดุดนิด เคลื่อนจิตไม่ทรงตัว

    ผู้ถาม : แล้วที่อย่างมีแสง คล้ายแสงไฟฉายวุบมาอย่างนี้ล่ะคะ.........?

    หลวงพ่อ : ก็เหมือนกันนะแหละ ยี่ห้อเดียวกัน

    ผู้ถาม : แต่ที่เห็นมันลักษณะไม่เหมือนกันคะ หลวงพ่อ

    หลวงพ่อ : ก็เหมือนกันนั่นแหละ แสงต่างกัน หายครือกันจับไม่อยู่เหมือนกัน

    ผู้ถาม : (หัวเราะ)

    หลวงพ่อ : ถ้านิมิตเกิดขึ้น จับไม่อยู่ ต้องเริ่มตั้งต้นด้วยกสิณต้องเป็นนิมิตของสกิณจึงจะทรงตัว คือนิมิตหรือแสดงหรือสีนั้น เราต้องจับไว้ก่อนตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ปล่อยลอยมา

    ผู้ถาม : ถ้าอย่างนั้นก็ต้องไปเริ่มต้นจับภาพกสิณ ใช่ไหมคะ........?

    หลวงพ่อ : เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องไปทำกสิณแล้ว เพราะคนที่มีกำลังสูงด้านศรัทธามีบุญเก่า เวลานี้เขาใช้ ฝึกผลของกสิณเลย ถึงได้เร็วไงล่ะ ถ้าเริ่มต้นฝึกทางกสิณ ในบาลีท่านเรียกว่า อาทิ กัมมิกบุคคล หมายถึงคนทีไม่เคยได้มาเลยในชาติก่อน ต้องขึ้นต้นด้วยกสิณ อย่างนี้ช้ามาก แต่กสิณกองเดียวให้ถึงฌาน ๔ ดีไม่ดีหลายตาย ไม่ใช่ตายเดียวนะ เกิดมาชาตินี้ทำจนตาย เกิดาชาติใหม่ทำต่ออีก กว่าจะถึงฌาน ๔ ไม่ใช่เบา หนักมาก

    ทีนี้หากว่าคนที่เคยได้มาก่อน อย่างทิพจักขุญาณในวิสุทธิมรรคท่านบอกว่า แม้แต่มองแสงสว่างที่รอดมาจากช่องฝาหรือช่องเพดานก็สามารถได้ทิพจักขุญาณเลย

    อย่างที่พวกเราฝึกเวลานี้ ฝึก มโนมยิทธิ มันหนักกว่า ใช่ไหม......ฝึกประเดี๋ยวได้ ๆ เพราะพวกนี้เคยได้มาก่อน แต่ว่าผู้ฝึกจะต้องทราบ เวลานี้ฉันสอนคนเก่าที่ได้มาก่อนทั้งนั้นนะ คนที่ยังไม่ได้ไปหาที่อื่น ฉันขี้เกียจสอน

    ผู้ถาม : แล้วหนูจะทราบได้อย่างไรคะ ว่าเคยได้มาก่อน........?

    หลวงพ่อ : "ก็ต้องดูขั้นพอใจ เขาฝึกกันแบบนี้เราพอใจหรือเปล่า ถ้าพอใจด้วยความจริงใจ อันนี้ใช่ละ ต้องเคยได้มาก่อน ไม่งั้นไม่เอาเลย ต้องดูศรัทธาตรงนี้นะ คือเห็นเขาฝึกกันเราก็อยากได้บ้างเกิดความต้องการขึ้นมาจริงจัง อันนี้ของเก่ามันบอก"

    ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ กสิณนี่เป็นมโนภาพใช่ไหมครับ........?

    หลวงพ่อ : กสิณไม่ใช่มโนภาพนะ กสิณนี่ต้องใช้นิมิตตรง

    ผู้ถาม : ต้องใช้ดูวัตถุ ใช่ไหมครับ.....?

    หลวงพ่อ : ใช่ ต้องใช้ดูวัตถุแล้วจำภาพ ไม่ใช่มโนภาพ ถ้าเราจะตั้งก็ได้ แต่เป๋ ถ้าดูวัตถุยังไม่ค่อยจำ นี่เล่นมโนภาพ ระวังกสิณโทษจะเกิด อย่างเราเจริญปฐวีกสิณ จะต้องเอาจิตจับไว้เฉพาะปฐวีกสิณอย่างเดียว ถ้าภาพอื่นข้ามาแทรกต้องตัดทิ้งทันที นั่นเขาถือว่าเป็นกสิณโทษ จนกว่ากสิณกองนั้นเข้าถึงฌาน ๔ แล้วก็คล่องตัว จึงจะย้ายไปเป็นกสิณกองอื่นต่อไป

    ถ้ากสิณกองต้นเราได้แล้ว ถ้าภาพอื่นเข้ามาเราตัดเลย เพราะว่าเราเจริญปฐวีกสิณ ดูดิน ถ้าบังเอิญกสิณอย่างอื่นเข้ามาแทน เช่น กสิณน้ำ กสิณลม กสิณไฟ มันแจ่มใสกว่า เราจะยึดเอาไม่ได้ต้องตัดทิ้งทันที จนกว่ากสิณกองนั้นจะจบถึง ฌาน ๔ ให้มันคล่องจริง ๆ ไม่ใช่แต่ทำได้นะ

    คำว่าคล่องจริง ๆ หมายความว่า ถ้าเรากำลังหลับอยู่ ถ้าเราตื่นขึ้นมา เราจะจับฌาน ๔ ถ้าคนกระตุกพั้บเราจับฌาน ๔ ได้ทันที กสิณกองนั้นจึงชื่อว่าคล่อง
    ถ้าเหน็ดเหนื่อยมาแต่ไหนก็ตาม ถ้าจะจับฌาน ๔ ต้องได้ทันทีทันใด เสียเวลาแม้แต่ ๑ วินาที ใช้ไม่ได้ถ้าคล่องแบบนี้ละก็กสิณอีก ๙ กอง เราจะได้ทั้งหมด ไม่เกิน ๑ เดือน เพราะว่าอารมณ์มันเหมือนกัน เปลี่ยนแต่รูปกสิณเท่านั้น
    ฉะนั้นการได้กสิณกองใดกองหนึ่ง ก็ต้องถือว่าได้ทั้ง ๑๐ กอง เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ยาก ของเหมือนกัน แต่เพียงแค่เปลี่ยนสีสันวรรณะเท่านั้นเอง มันจะขลุกขลักแค่ครึ่งชั่วโมงแรก เดี๋ยวก็จับภาพได้ แล้วจิตก็เป็นฌาน ๔ นี่เราฝึกกันจริง ๆ นะ ถ้าฝึกเล่น ๆ ก็อีกอย่างหนึ่ง

    ผู้ถาม : การปฏิบัติพระกรรมฐาน ถ้าเราจะไม่ใช้กสิณแต่เราใช้กำหนด
    อัสสาสะ ปัสสาสะ ได้ไหมครับ..?

    หลวงพ่อ : ได้ ถือว่าอัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าออกคือจริตของคน พระพุทธเจ้าทรงจัดแยกไว้เป็น ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต ศัทธาจริต พุทธจริต และก็พระพุทธเจ้าตรัสพระกรรมฐานไว้ ๔๐ แต่ว่าเป็นกรรมฐานเฉพาะจริตเสีย ๓๐ อย่าง พวกราคจริต ถ้าใช้อสุภ ๑๐ กับกายคตานุสสติ ๑ เป็น ๑๑และพวกโทสจริตมีกรรมฐาน ๘ คือ มีพรหมวิหาร ๔ แล้วก็กสิณอีก ๔

    สำหรับกสิณ ๔ คือกสิณสีแดง กสิณสีเหลือง กสิณสีเขียว กสิณสีขาว สำหรับวิตกจริตกับโมหจริต ให้ใช้กรรมฐานอย่างเดียวคือ อานาปานุสสติ อย่างที่โยมว่า อัสสาสะ ปัสสาสะ แล้วก็ศรัทธาจริต ใช้กรรมฐาน ๖ อย่าง คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ แล้วก็เทวตานุสสติ
    ต่อไปนี้เป็นพุทธจริต พุทธจริตนี่ก็มีกรรมฐาน ๔ คือ มรณานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุวัตถาน อุปสมานุสสติ รวมแล้วเป็น ๓๐ เหลืออีก ๑๐ เป็นกรรมฐานกลาง

    ฉะนั้นการเจริญพระกรรมฐาน ถ้าหากเดินสายสุกขวิปัสสโกจะต้องใช้กรรมฐานให้ถูกกับจริต ถ้าไม่ถูกกับจริต กรรมฐานนั้นจะมีผลสูงไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังหักล้าง

    ทีนี้ถ้าหากว่านักเจริญกรรมฐานทั้งหมด ไม่ต้องการอย่างอื่นจะใช้อานาปานุสสติก็ได้ ถ้าคนทุกคนคล่องในอานาปานุสสติกรรมฐาน จะมีประโยชน์เมื่อป่วยไข่ไม่สบาย เมื่อทุกขเวทนามันเกิดขึ้นถ้าใช้อานาปาเป็นฌาน ทุกขเวทนามันจะเบามาก จะไม่มีความรู้สึกเลย นี่อย่างหนึ่ง

    แล้วก็ประการที่สอง คนที่ชำนาญในอานาปาจะรู้ เวลาตายของตัว แล้วก็จะรู้ว่าตายด้วยอาการอย่างไร แล้วก็ประการที่สาม อานาปานุสสติสามารถควบคุมกำลังฌาน สามารถเข้าฌานได้ทันทีทันใด ประโยชน์ใหญ่มาก

    ผู้ถาม : เมื่อกำหนดลมหายใจด้วย ภาวนาด้วย สมาธิมันวอกแวก ๆ ครับ.......

    หลวงพ่อ : ก็แสดงว่าจริตของคุณโยมหนักไปในด้านวิตกจริต กับ โมหจริต ฉะนั้นคนที่มีวิตกจริงต้องใช้อัสสาสะ ปัสสาสะ ไม่ต้องภาวนา ขืนภาวนาแล้วยุ่ง พระพุทธเจ้าทรงจำกัดไว้เลยว่าเรามีจริตอะไรเป็นเครื่องนำ ต้องใช้เป็นกรรมฐานอย่างนั้นเฉพาะกิจ ถ้าใช้ผิดก็ไม่ได้ ผลมันไม่มี ที่โยมถามก็เหมาะสำหรับคุณโยม

    ผู้ถาม : เมื่อจิตสงบแล้วเป็นเอกัคคตารมณ์ เราจะพิจารณาตอนนี้ หรือว่าต้องถอนจิตมาพิจารณาครับ?

    หลวงพ่อ : ไม่ต้องถึงอย่างนั้นหรอกโยม เรื่องพิจารณานี่เราจะเริ่มตั้งแต่ตอนต้นได้เลย คือว่าวิธีปฏิบัติเพื่อมรรคผลจริง ๆ เขาทำกันแบบนี้นะ คือว่าในตอนนั้น หรือจุดเริ่มต้นน่ะ เราพอใจในอะไร ถ้ามันกระสับกระส่ายก็ใช้อานาปาเข้าควบคุมให้จิตสงบเสียก่อน เมื่อจิตสงบดีแล้ว ก็ถอยมาสู่อุปจารสมาธิมาพิจารณาขันธ์ ๕ ไม่ใช่พิจารณาเฉย ๆ ต้องเอาสังโยชน์เข้ามาคุมเป็นพื้นฐานด้วยว่า เราจะตัดจุดไหนกันแน่ พอพิจารณาไปอารมณ์มันจะซ่านออก พอซ่านออกต้องทิ้งการพิจารณาเสีย แล้วมาจับอานาปาใหม่ ให้จิตทรงตัวดีแล้วมีอารมณ์เป็นสุข จิตมันทรงตัวดีก็ไปพิจารณาใหม่ สลับกันไปสลับกันมาแบบนี้นะ นี่เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อมรรคผลจริง ๆ

    บางท่านก็พิจารณาได้ดี พอเริ่มต้นพิจารณาอยู่ในขอบเขตได้ดี ตัวพิจารณานี่เป็นตัวตัดกิเลศตรง ถ้าหากว่าใครพิจารณาได้ตลอด โดยไม่ภาวนาเลยยิ่งดีใหญ่ เพราะการพิจารณานี่เป็นตัวปัญญา เป็นตัวตัด อารมณ์ทรงมีจิตเป็นสุข พิจารณาเฉย ๆ สบาย ๆ จนกระทั่งกังวลทั้งหมด กังวลที่ตัด ก็คือร่างกายของเรา เรียกว่า ขันธ์ ๕ ถ้าเราตัดตัวเราได้ ก็ตัดคนอื่นได้ ใช่ไหม.......ดีไม่ดี เราตัดคนอื่นได้ แต่เราตัดตัวเราไม่ได้ เพราะยังเกาะ

    ฉะนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านให้ตัดจุดเดียวคือ สักกายทิฏฐิ ในสังโยชน์ ๑๐ น่ะ ตัดสักกายทิฏฐิจุดเดียว ถ้าอารมณ์มันเบาลงไปหน่อยก็เป็นพระโสดาบัน เบามากไปอีกนิดก็เป็นสกิทาคามี เบามากขึ้น ไปก็เป็นพระอนาคามี ตัดได้หมดเป็นพระอรหันต์

    ผู้ถาม : ถ้าผู้ฝึกมโนมยิทธิแล้ว จะทำให้เป็นพระอรหันต์ได้เร็วไหมครับ........?

    หลวงพ่อ : ความจริงพวกที่ได้มโนมยิทธินี่ตัดง่าย เป็นกำไรเพราะว่าพวกที่ได้ทิพจักขุญาณอย่างหนึ่ง และพวกที่ได้มโนมยิทธิอย่างหนึ่ง ท่านมีขอบเขต ท่านบอกว่าคนพวกนี้
    ถ้ามีบารมีแก่กล้า ก็จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ วัน
    ถ้ามีบารมีอย่างกลาง จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ เดือน
    ถ้ามีบารมีอ่อน จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ ปี
    ท่านไม่ได้บอกว่าไม่ได้เลย ถ้าอ่อนก็ภายใน ๗ ปี อาจจะเป็น ๑ ปีก็ได้
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ ไม่ทราบว่าหนูพอจะสร้างบารมีไหวไหมคะ.......?

    หลวงพ่อ : บารมี เขาแปลว่า กำลังใจ หนู ก็พยายามกระตุ้น ๆ มัน อารมณ์ของเรามันมี ๒ อารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง อารมณ์ที่เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง

    คำว่า กุศลนี่เขาแปลว่า ฉลาด อกุศลแปลว่าไม่ฉลาด ที่ไม่ฉลาดก็เพราะสร้างอารมณ์ที่มีความเร่าร้อนเกิดขึ้น นี่เรียกว่าอารมณ์ไม่ฉลาด ทีนี้อารมณ์ที่ไม่ฉลาดมันมีกำลังมาก มันคุมกำลังใจเราไว้มากมานานแล้ว เราก็ก็ต้องแพ้มันบ้างชนะมันบ้าง นี่เราพยายามค่อย ๆ คุมมันจนกว่ามันจะแพ้ อย่าลืมนะ บารมีแปลว่ากำลังใจ ทำกำลังใจให้เต็มในด้านของความดี

    ๑. ทานบารมี เราคิดจะสงเคราะห์คนและสัตว์อื่นแทนที่จะคิดเบียดเบียน

    ๒. ศีลบารมี มีศีลนี่เขาแปลว่าปกติ เราต้องรักษาอารมณ์ไว้อย่าให้มันผิดปกตินะ ปกติของคนและสัตว์มีความรู้สึกว่า
    ข้อ ๑ ร่างกายของเรา เราไม่ต้องการให้ใครมาทำร้านร่างกายไม่ต้องการให้ใครมาฆ่า เรามีความคิดอย่างไร สัตว์อื่นและบุคคลอื่นก็มีความคิดเหมือนเรา เราก็เว้น
    ข้อ ๒ ทรัพย์สินของเรามีอยู่ เราไม่ต้องการให้ใครมาลักมาขโมยยื้อแย่งของเราไป เรามีความคิดเห็นเช่นไร คนอื่นเขาก็มีความคิดเห็นเหมือนเรา เราก็เว้น
    ข้อ ๓ คนรัก เราไม่ต้องการให้ใครมาแย่งคนรักฉันใด คนอื่นเขาก็ไม่ต้องการให้แย่งคนรักเหมือนกัน
    ข้อ ๔ วาจาที่เรารับฟังต้องการความจริง คนอื่นเขาก็ต้องการความจริงเหมือนกัน
    ข้อ ๕ เราไม่ต้องการเป็นคนบ้า ขาวบ้านเขาก็ไม่ต้องการให้เราบ้า

    ก็รวมความว่า อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม มุสาวาท ดื่มสุราเมรัย ต้องไม่มีสำหรับเรา ถ้าเราพลาดไปข้อใดข้อหนึ่ง แสดงว่าเราผิดปกติ ใช่ไหม..........
    ถ้าจะสร้างบารมีที่ ๓ คือ เนกขัมมบารมี ต้องแยกออกเป็น ๔ คือ เนกขัมมบารมีของศีล ๕ เนกขัมมบารมีของศีล ๘ เนกขัมมบารมีของศีล ๒๒๗ แล้วก็ เนกขัมมบารมีของพระอริยเจ้า ข้อหลังนี่ฉันตั้งเอง อ้าว.......ไม่งั้นเนกขัมมบารมีเขาแปลว่าถือบวชก็เจ๊งหมด ชาวบ้านรักษาไม่ได้

    เนกขัมมบารมีของศีล ๕ ก็คือ เราไม่สนใจกับรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศซึ่งไม่เนื่องกับเราคู่ครองของใครก็ไม่ไปยื้อแย่งใคร
    เนกขัมมบารมีของศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่ต้องพยายามระงับอาการ ๕ อย่าง ให้มันครบถ้วน นั่นก็คือว่า

    ๑. กามฉันทะ อารมณ์ต้องไม่ข้องในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ แต่ไม่ใช่ตัดเลยเนกขัมมบารมีนี่สำหรับเรื่องศีลเราแค่ยับยั้ง
    ๒. เราจะต้องพยายามระงับความโกรธ ความพยายามในบางขณะ มันไม่ใช่ทุกขณะนะ
    ๓. ระงับความง่วงขณะทำความดี
    ๔. จะไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่าน ไปนอกอารมณ์ที่เราต้องการ คือเป็นด้านอารมณ์ของความดี
    ๕. จะไม่สงสัยในผลปฏิบัติที่ความดีเกิดขึ้น คือผลของความดีที่เกิดจากการปฏิบัติเราจะไม่สงสัย ขณะที่เรารวบรวมกำลังใจให้จิตทรงตัวในด้านของความดี จะต้องป้องกันในเหตุ ๕ ประการ ไม่ให้เข้ามายุ่งกับจิต นี่ก็ต้องถือเป็นบางเวลานะ

    สำหรับเนกขัมมบารมีของพระอริยเจ้า ต้องทำลายให้มันพังไปเลย
    ๑. กามฉันทะ ต้องไม่มีในจิต คิดฆ่าตลอดเวลา
    ๒. ความโกรธ ความพยาบาท ต้องไม่ให้มันมีเหมือนกันต้องพยายามฆ่ามันเรื่อย จนหมด
    ๓. ไม่ยอมให้ความง่วงเข้ามาครอบงำ ในขณะปฏิบิตความดี
    ๔. จะไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่านไปนอกอารมณ์ดีที่เราตั้งไว้คือ นิพพาน
    ๕. จะไม่สงสัยในผลปฏิบัติที่ความด

    ถ้าหากว่าสามารถฆ่านิวรณ์ ๕ ประการนี้ได้เมื่อไร เป็นอรหันต์ได้เมื่อนั้น ต้องฆ่าทีละตัวสองตัวนะ ฆ่าทีเดียวหมดพระพุทธเจ้าอาย ใช่ไหม.......
    อันดับแรกแค่ระงับยับยั้งก่อนนะ ต้องยั้งเป็นเวลาก่อน จะคิดฆ่ามันทีเดียวหมดมันไม่ได้ ถ้าฆ่าทีเดียวหมดได้ก็ดี ยิ่งดี แต่ว่ามันเป็นไปได้ยาก

    ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ ถ้าหากว่าตอนปฏิบัติพระกรรมฐานถ้าเราไม่สนใจต่อร่างกาย คือว่าให้ยุงกัด เสร็จแล้วเราแกล้งหลับ แต่ว่ามีสติอยู่นะครับ แล้วจะเอาจิตไปเกิดยังไงครับ..........?

    หลวงพ่อ : เอาใจไปเกิดที่ไหนล่ะ แกยังไม่ตายนี่ ยังไม่ตายไปเกิดได้เรอะ......?

    ผู้ถาม : คือเตรียมตายล่วงหน้าครับ

    หลวงพ่อ : เตรียมตายใช้ได้ แต่ยังไม่ตายนี่ ไอ้หนูมันเป็นไปไม่ไหรอก ไอ้ยุงมันกัด ถ้าแกทนเจ็บได้ก็ถือเป็นบุญใหญ่ อย่าทำให้มันเกินคนไปเลย ทำแค่คนเขาทำน่ะพอแล้ว ยุงมันกัดเราทนไม่ไหวเราก็เข้ามุ้ง การเจริญพระกรรมฐานเขาไม่ได้จำกัดว่าจะต้องนั่ง กลางแจ้งนี่ ในมุ้งก็ได้ ใช่ไหม....... เอาแค่พอเหมาะ ๆ ซิ เอ็งอย่างแกล้งตายเลย ชักจะยุ่งแล้ว เดี๋ยวพระยายามท่านก็แกล้งลงนรก เอามันจริง ๆ ดีกว่า อย่าเอาแกล้ง ๆ เลย

    ถ้าหากขืนปล่อยให้ยุงกัดก็ไม่มีผล เพราะยุงกัดมันเจ็บ เจ็บแล้วจะเอาสมาธิจิตที่ไหนมา มันก็มีอย่างเดียวได้รับเชื้อโรคจากยุง รับความเจ็บจากยุง จิตมันก็อยู่ที่เจ็บ จิตที่เป็นกุศลไม่มี ในที่สุดเสียผลเปล่า ค่อย ๆ ทำไปนะไอ้หนู อย่าไปคิดอะไรมากเลย ถ้าคิดมากไม่เป็นผล ต้องทำแบบสบายตามปกติ กลางคืนถ้าเราไม่มีมุ้งยุงมันมากเราก็ใช้เวลากลางวัน กลางวันใช้ไม่ได้มาก ใช้นิดหน่อยก็ได้
    การเจริญพระกรรมฐาน ไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิเสมอไป ถ้าเป็นสุกขวิปัสสโกก็คิดใคร่ครวญไปตามเรื่องตามราว คิดหาทางตัดกิเลส โลภะมันโลภแบบไหน ความโลภหมายถึงแย่งทรัพย์เขา ขโมยทรัพย์เขา โกงเขาเรียกว่าโลภ ถ้าหากินโดยทางสุจริตเขาไม่เรียกว่าโลภ อย่าไปนึกว่าหากินทุกอย่างเป็นโลภไปหมด ไม่ใช่นะต้องถือว่าการหากินไม่เป็นความโลภ นั่นเป็นผลจากการทำความดีโลภจริง ๆ มันต้องขโมยเขา แย่งเขา โกงเขา จิตคิดอย่างนี้จึงเรียกว่าจิตโลภ ต่อไปก็หาทางว่าไอ้ความโลภประเภทนั้นมันชั่วเพราะเป็นศัตรูสร้างความทุกข์แก่ตัวเอง เราไม่ทำ

    ต่อมาก็ความโกรธ โกรธเป็นการสร้างศัตรู เราก็ไม่ทำอารมณ์มันก็ตัด ถ้าด้านภาวนานี่ก็เหมือนกัน ไม่ต้องตั้งท่า เดินไปเราก็ภาวนาของเราเรื่อยไป ภาวนาบ้างลืมไปบางนั่งรถไปภาวนาไปกระจุ๋มกระจิ๋ม นิด ๆ หน่อย ๆ อย่างนี้ดีมาก ถ้าแบบนี้มันจะใช้อารมณ์ได้ทุกเวลา

    และการเจริญพระกรรมฐาน ถ้ายังเก่งในมุ้งอยู่ยังอีกนาน ถ้าไม่ถึงเวลาสงัดเราทำสมาธิไม่ได้ ยังอยู่ไกลมาก ถ้าทำจุ๋ง ๆ จิ๋ง ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ ตามเรื่อง ตามราว นั่งคุยอยู่กับเพื่อน เพื่อนเขาลุกไปทำธุระ เราจับลมหายใจเข้าออก ภาวนา ๒-๓ คำ เพื่อนมาก็คุยกันใหม่ ดีไม่ดีทำงานทำการไป เหนื่อย ๆ ก็วางปากกาวางเครื่องมือจับคำภาวนาเสียนิด ไม่ต้องขัดสมาธิ อย่างนี้ดีไหม

    ผู้ถาม : ดีครับ หลวงพ่อครับ เพื่อนของผมเวลานั่งสมาธิแล้วมีอาการเหมือนตัวใหญ่หนาขึ้น และตัวจะเอนลงไปข้างหลัง จะแนะนำให้เขาปฏิบัติอย่างไรต่อไปครับ......?

    หลวงพ่อ : ก็ต้องขอแนะนำว่า เวลาปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น อาการทางกายมันจะเกิดขึ้นอย่างไร ก็อย่าไปสนใจ เพราะเป็นอาการของจิตที่จะเข้าถึงอุปจารสมาธิ นี่ต้องเข้าถึงปีติก่อน ปีติแปลว่า ความอิ่มใจ แบ่งเป็น ๕ ขั้น
    ขั้นที่ ๑ ขนลุกชัน ขนพองสยองเกล้า เวลาทำไปบางทีขนลุกซู่ซ่า
    ขั้นที่ ๒ น้ำตาไหล
    ขั้นที่ ๓ ร่างกายโยกโคลง
    ขั้นที่ ๔ มีอาการสั่นเทิ้มเหมือนกับปลุกพระ หรือว่าตัวลอยขึ้นบนอากาศ
    ขั้นที่ ๕ มีอาการซาบซ่าน ถ้ามีขนาดถึงที่สุด จะมีความรู้สึกว่าตัวไม่มี มีแต่หน้า

    รวมความว่าอาการ ๕ อย่าง ๆ ใดอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดขึ้นก็ต้องปล่อยมัน เรารักษากำลังใจของเราให้เป็นสุขก็แล้วกัน อาการอย่างนั้นมันเกิดขึ้นจริง แต่ใจมันจะทรงสมาธินั่งสบาย ๆ มีอารมณ์เป็นสุข เป็นอาการของปีติ ในเมื่อสมาธิมันสูงขึ้นมันก็ผ่าน อาการอย่างนั้นมันก็หายไป

    ผู้ถาม : หลวงพ่อคะ เวลาพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าสกปรกรู้สึกว่าจิตมันเศร้า ๆ ค่ะ อย่างนี้เวลาตาย แล้วก็ตกนรกซิคะ........?

    หลวงพ่อ : สาธุ......เขาไม่ได้ให้ทำอย่างนั้น ให้เห็นว่าร่างกายสกปรกมันเป็นของไม่ดี ร่ากายนอกจากสกปรกมันก็ไม่เที่ยงไม่ทรงตัว ในเมื่อไม่ทรงตัวมันก็มีอาการเป็นทุกข์ ถ้าเราเข้าไปยึดถือมันแล้ว ในที่สุดมันก็เป็นอนัตตามันสลายตัว เราห้ามปราบไม่ได้ เมื่อพิจารณาแบบนี้แล้วท่านให้พิจารณาต่อไป ขึ้นชื่อว่าร่างกายประเภทเลว ๆ อย่างนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก สิ่งที่เราต้องการก็คือพระนิพพาน

    ถ้าใจมันเศร้ามันก็ไม่ควรจะเศร้า เพราะว่าเราเกิดมาเป็นทาสของตัณหา เราจึงมีร่างกายอย่างนี้ ตั้งแต่นี้ไปเราจะไม่ยอมเป็นทาสของตัณหาอีก เขาใช้แบบนี้นะ ให้พิจารณาร่างกายว่าสกปรก พิจารณาร่างกายว่ามันเป็นทุกข์ มันจะเกิดนิพพิทาญาณ คือตัวเบื่อหน่ายร่างกายประเภทนี้มันสกปรกด้วย มันไม่ทรงตัวด้วย มันเป็นทุกข์ด้วยแล้วก็พังในที่สุด

    พร้อมกันนั้นท่านให้ใช้ สังขารุเปกขาญาณ ควบคู่กันไปสังขารุเปกขาญาณคือวางเฉย เมื่อเกิดมาแล้วมีขันธ์ ๕ ก็ช่างมัน เรามี่ขันธ์ ๕ ได้ เพราะอำนาจของความโง่ ถ้าเราไม่โง่ เราก็ไม่มีขันธ์ ๕ ในเมื่อมันโง่มาแล้วก็ให้มันโง่ไป ต่อไปเราจะไม่ยอมโง่อีก

    ขันธ์ ๕ มันมีอยู่เราจะพยายามทำภารกิจตามความจำเป็นของขันธ์ ๕ ที่จะต้องทำนุบำรุงรักษา แต่ว่าถ้ามันพังเมื่อไรเราจะไม่มีขันธ์ ๕ แบบนี้อีก สิ่งที่เราต้องการก็คือ นิพพาน อย่างนี้ไม่ตกนรกหรอก ที่บอกว่าพิจารณาแบบนี้แล้วตกนรก ฉันก็เฉยสาธุ แปลว่าดีใจด้วย เพราะหายากคนที่พิจารณาแบบนี้แล้วลงนรกน่ะ มีแต่เขาจะไปนิพพานกัน ก็ต้องถือว่าเป็นเอตทัคคะหาคนอื่นเปรียบเทียบอีกไม่ได้แล้ว

    ผู้ถาม : (หัวเราะ)

    หลวงพ่อ : ว่าไง ตายแล้วไปไหน......?

    ผู้ถาม : ไปนิพพานค่ะ......

    หลวงพ่อ : ฉันว่าถ้าฉันตายแล้ว ฉันจะไปหลุมฝังศพนะ

    ผู้ถาม : (หัวเราะ)

    หลวงพ่อ : ดี ตั้งใจไว้นะ ตั้งใจให้แน่นอน คิดไว้แล้วก็มีความหวังไว้ด้วย ถือว่าเราก็ไปได้ ตัวนี้สำคัญมาก ก็คือว่าเป็น อธิษฐานบารมี คือว่าเราต้องไปได้แน่นอน ให้เกิดความมั่นใจนะ ถ้าอารมณ์ทรงตัวแล้วมันไปแน่ ถ้าเขาถามว่าเวลานี้ยังไม่ได้เป็นอรหัตผลจะไปได้ยังไง ก็ไม่สำคัญ สำคัญจวนจะตาย พอจวนจะตายทุกขเวทนา มันเบียดเบียนเรามาก ใช่ไหม......ปวดโน้นปวดนี่ จับตายแล้วมันยังหาความสบายไม่ได้ ไอ้ตัวนี้แหละมันจะเห็นโทษของร่างกาย แล้วอารมณ์ที่คิดว่าต้องการนิพพานมันจะหนักแน่นมาก พอมันจับหนักเข้า พอออกปึ้ดก็ไปเลย

    ผู้ถาม : ฟังหลวงพ่อพูดแล้วรู้สึกว่าไม่ยาก แต่เมื่อก่อนอ่านหนังสือเขาอธิบายเรื่องนิพพานรู้สึกมันยากค่ะ......

    หลวงพ่อ : ไม่ยาก คือว่า ในสมัยพระพุทธเจ้าท่านก็เทศน์ไม่ยาก คนจึงไปนิพพานง่าย ความจริงมันของไม่ยาก แต่คนพูดพยายามพูดให้มันยาก คนรับฟังก็คิดว่าไม่ไหว คิดว่าทำไม่ได้เลยไม่เอาดีกว่า คำว่ายากหรือไม่ยาก มันอยู่ที่กำลังใจเหมือนกัน ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า อาศัยบารมีทั้งเก่าและใหม่มาประสานกัน ถ้าเก่าเราทำมาดีแล้ว ฟังแล้วก็รู้สึกว่าไม่ยาก ถ้ากำลังเก่าไม่ถึงก็ยาก ใช่ไหม...

    บารมีท่านแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ บารมีต้น บารมีกลาง เรียกว่า อุปบารมี แล้วก็ ปรมัตถบารมี บารมีสูงสุด

    ถ้ากำลังใจคนอยู่ในบารมีต้น แนะนำกันได้แค่ทานกับศีลแค่นี้เขาพอใจ ถ้าบารมีกลางจะแนะนำได้เฉพาะสมถภาวนา เฉพาะฌานดลกีย์ วิปัสสนาญาณแนะนำได้น้อย ๆ กำลังรับไม่มีแต่ฌานสมาบัติเขาต้องการ

    ถ้ากำลังใจถึงขั้นปรมัตถบารมีเมื่อพูดถึงนิพพานรู้สึกไม่ยากเป็นขึ้นเป็นตอนเหมือนกันนะ ถ้ารู้สึกว่าไม่ยากชาตินี้ก็ไปได้ซิไปไม่ยาก กลัวไม่ไปอย่างเดียว
    คือสมัยพระพุทธเจ้าท่านแนะนำไม่ยาก แต่มาสมัยเราหนังสือเรียนมากเกินไป โดยมากคนที่จะเป็นพระอริยเจ้าเขามีเครื่องวัดอยู่ ๑๐ ข้อ ที่เรียกว่า สังโยชน์ คือคนที่จะเป็นพระโสดาบัน หรือพระสกิทาคามี ละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

    สักกายทิฏฐิ เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา
    วิจิกิจฉา ไม่สงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
    สีลัพพตปรามาส ทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์

    การตัดสักกายทิฏฐิ ถ้าตัดเบา ๆ ก็เป็นพระโสดาบัน ละเอียดอีกนิดหนึ่งก็เป็นสกิทาคามี ละเอียดมากเป็นอนาคามี ตัดได้หมดเป็นอรหันต์ เขาตัดตัวเดียวนะกิเลสน่ะ

    สำหรับพระโสดาบันแบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ เอพีชี, โกลังโกละ สัตตักขัตตุง
    เอกพีชี เป็นพระโสดาบันขั้นอารมณ์ จิตละเอียด เราจะต้องเกิดเป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติ แล้วจึงจะถึงอรหันต์ เรื่องอบายภูมิหมดกัน ไอ้กรรมที่เป็นอกุศลทั้งหมดมันจะให้ผลแค่เพียงเศษในเมื่อเรามีขันธ์ ๕ เป็นมนุษย์

    ถ้าเป็นพระโสดาบัน จิตอันดับกลาง คือ โกลังโกละ ก็เกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ ๓ ชาตินี้ก็รับแต่เศษกรรม

    ถ้าเป็นพระโสดาบัน ขั้นอ่อน มีจิตอ่อน คือ สัตตักขัตตุง ก็เป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ จึงเป็นอรหันต์ นี่เราก็ลำบากแค่มนุษย์ไม่เหมือนไฟไหม้ในนรก ใช่ไหม........

    สำหรับสกิทาคามีก็ต้องเกิดมาเป็น มนุษย์อีก ๑ ชาติ อย่างเลวที่สุดชาตินี้เราควรเป็นอนาคามี ถ้าตายจากความเป็นคนจะเกิดเป็นเทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี ก็ตัดกิเลสเป็นอรหันต์เลยไม่ต้องลงมาเกิดอีก สบายกว่าเยอะ

    บาลีอีกตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระโสดาบันและพระสกิทาคามี เป็นผู้มีสมาธิเล็กน้อย เป็นผู้มีปัญญาเล็กน้อย แต่ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์ เท่านั้นเอง

    แล้วก็อีกตอนหนึ่งท่านตรัสว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีเป็นผู้ทรง อธิศีล พระอนาคามีเป็นผู้ทรงอธิจิต พระอรหันต์เป็นผู้ทรง อธิปัญญา
    แล้วก็ไปดูองค์ของพระโสดาบัน คำว่าองค์ก็หมายความว่า คนที่เขาเป็นพระโสดาบันแล้ว เขาจะทรงปฏิปทานตามนั้น องค์ของพระโสดาบันมี ๓ คือ
    ๑. เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์จริง
    ๒. มีศีล ๕ บริสุทธิ์จริง และ
    ๓. จิตต้องการนิพพานเป็นอารมณ์ เท่านี้เอง

    พระโสดาบันกับสกิทาคามี คือชาวบ้านชั้นดี ข้อสำคัญที่สุดคือ ศีล ๕ บริสุทธิ์ แต่ว่าถ้ามีศีล ๕ บริสุทธิ์ มีความเคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง แต่ว่า จิตไม่มุ่งพระนิพพาน เขาก็ไม่เรียกพระโสดาบัน เขาถือว่าเป็นผู้เข้าถึง ไตรสรณคมน์ ยังเป็น อนิยตบุคคล อยู่ คือยังไม่แน่ คือจิตจะต้องปักมั่นโดยเฉพาะว่า เราต้องการพระนิพพาน อันนี้จึงจะเรียกว่า พระโสดาบัน และ สกิทาคามี

    ผู้ถาม : พระโสดาบันแต่งงานได้ไหมคะ.....?

    หลวงพ่อ : พระโสดาบันนี่มีทุกอย่างเหมือนชาวบ้านธรรมดายังมีการแต่งงาน ยังมีความรักในระหว่างเพศ ยังมีความโกรธแต่ไม่ละเมิดศีล ๕ ยังมีความหลง ยังมีความอยากรวยอยู่ แต่เป็นสัมมาอาชีวะไม่โกงใคร

    ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ การบรรลุมรรคผลต้องเป็นไปตามลำดับขั้นไหมครับ.....?

    หลวงพ่อ : การบรรลุมรรคผลจริง ไม่ใช่บรรลุมรรคผลตามลำดับว่า ถ้าเป็นพระโสดาปัตติมรรคแล้วก็เป็นพระโสดาปัตติผล มันไม่ใช่อย่างนั้น การบรรลุจริง ๆ ไปติดปั๊บเดียวแค่พระโสดาบัน ๕ ปี ๖ ปี เผลอแพล๊บเดียวชนตุงแค่อรหันต์เลย บางท่านไม่รู้ว่าเป็นโสดา สกิทาคา อนาคาเลย ปุ๊บปั๊บเป็นอรหันต์ทันที คือว่า ระดับของพระอริยะมีอยู่ แต่ว่าการบรรลุไม่ได้เป็นไปตามลำดับทั้งนี้สุดแล้วแต่กำลังใจ

    การที่บรรลุมรรคผลนี่มันก็ขึ้นกับกาลเวลาเหมือนกัน บางคนสร้างความดีมามาก แต่กาลเวลายังไม่ถึง หมายถึง ขณะใดจิตมีอกุศลมันเข้ามาแทรกตอนนั้นเขาจะไม่เห็นเหตุเห็นผลในด้านของความดี แต่จะไปว่าเขาไม่ดีไม่ได้นะ ความดีเขามีอยู่แต่วาระมันยังไม่มาถึง สักวันหนึ่งข้างหน้าความดีที่เป็นกุศลอาจจะให้ผลแก่เขา ตัวอย่างมีเยอะ

    ผู้ถาม : แล้วคนที่เป็นพระอริยเจ้าแล้วจะเสื่อมไหมครับ?

    หลวงพ่อ : น่ากลัวจะเป็นพระอริยะศาสนาอื่น

    ผู้ถาม : ไม่เสื่อมใช่ไหมครับ..?

    หลวงพ่อ : ไม่มี พระอริยะนี่ไม่มีเสื่อม

    ผู้ถาม : เมื่อปฏิบัติได้มรรคผลแล้ว จะมีอะไรเป็นเครื่องชี้บอกคะ.....?

    หลวงพ่อ : มีความสุขใจ

    ผู้ถาม : ถ้าผู้รักษาศีล ๘ บริสุทธิ์ โดยใจรักษาได้ด้วยความสุข คนนั้นจะเรียกว่าเป็นพระอนาคามีใช่ไหมคะ....?

    หลวงพ่อ : เรียกว่าเข้าสู่เขตของอนาคามีมรรค แต่ก็ไม่แน่บางทีเข้ามีกำลังใจแค่รักษาศีล ๘ ธรรมดา แต่ว่าถ้าเป็นนักปฏิบัติพอถึงเขตรักษาศีล ๘ ปกติแล้ว จิตมันเกิดนิพพิทาญาณ มันเบื่อการมีคู่ครอง และอารมณ์ความโกรธต่ำลง ถ้าเข้าถึงแล้วมันรู้เอง อารมณ์ราคะไม่มี ความรักระหว่างเพศไม่มี

    ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ สมมุติว่าพวกเราบำเพ็ญบารมียังไม่ถึงอรหัตผล เกิดมาป่วยเสียก่อนแล้วก็ตายขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า เราจะทรงกำลังใจอย่างไร เมื่อตายแล้วจิตจะไม่พลาดจากพระนิพพานครับ.....?

    หลวงพ่อ : เอาอย่างนี้ซิ อย่าไปรอเมื่อป่วย รอเมื่อป่วยมันเจ๊ง ต้องคิดไว้ทุกวันแล้ว โลกนี้มันเป็นทุกข์ เทวโลกและพรหมโลกก็ไม่สุขจริง เราไม่ต้องการ ถ้าขันธ์ ๕ นี่พังเมื่อไร เราต้องการพระนิพพานจุดเดียว คิดมันอย่างเดียวเท่านี้
    ถ้าคิดอย่างนี้แล้วอย่าไปนั่งด่าชาวบ้านนะ คิดอย่างนี้ด้วยแล้วก็หาทางตัดโลภะ ความโลภ ถ้าเราหากินโดยสุจริตท่านไม่เรียกว่าโลภ แต่อย่าไปคดโกงเขา อย่าแย่งเขา อย่าขโมยเขา แล้วก็ตัดความโลภด้วยการให้ทานแล้วก็ตัดความโกรธ พยายามให้อภัยแก่บุคคลที่มีความผิด ถ้าไม่ผิดระเบียบวินัยนะ

    อย่างเขาพูดไม่ดีทำไม่ดี เราพยายามให้อภัยหรือนิ่งแล้วก็ตัวสุดท้าย ความหลง ตัวเมื่อกี้มันตัดความหลงอยู่แล้ว เราต้องคิดไว้ ตั้งแต่ปัจจุบัน ถ้าไปคิดเมื่อป่วยละลงนรกทุกราย

    ผู้ถาม : ถ้าจิตเราจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ เวลาตายเราจะมีสติไหมคะ.....?

    หลวงพ่อ : อ้าว.......ถ้าเราจับเป็นอารมณ์เวลานั้นมีสติ เพราะเวลานั้นอารมณ์มันสูงจัด ถ้าเวลาเริ่มป่วยเอาจิตจับไว้เลยนะ ทีนี้ในช่วงกลางระหว่างที่ป่วย มันจะดิ้นตูมตามอย่างไรก็ตามจิตมันจะไม่ปล่อย

    ถ้าจิตนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรียกว่า อุปสมานุสสติกรรมฐาน ถ้าทำเป็นฌาน เป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์อันเดียว และเวลาที่เราตายน่ะ ตัวมันตาย แต่ใจเราไม่ตาย ใจมันก็หาที่ไป

    ฉะนั้นเมื่อมีชีวิตอยู่ ใจเราก็นึกถึงพระนิพพาน มันก็ไปที่นั้นแหละ ไม่ชอบไปที่อื่น ชวนไปนิพพานแห่งเดียว สรุปแล้วจงตั้งอารมณ์ไว้อย่างนี้เสมอ คือ
    ๑. เราจะเคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เป็นปกติ ไม่สงสัยในคำสอน
    ๒. ชีวิตนี้มีความตายเป็นที่สุด ก่อนตายขอทำความดีเพื่อความสุขในชาตินี้ และมีพระนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
    ๓. รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ตลอดเวลา พยายามระวังในศีล ๕ ใหม่ ๆ อาจจะพลาดบ้าง ถ้าล่วงไปโดยที่ไม่ตั้งใจ ศีลไม่ขาด
    เมื่อใจทรงศีล ๕ เป็นปกติ และอารมณ์อื่นก็ทรงตามที่กล่าวมา ท่านเรียกว่า พระโสดาบัน มีพระนิพพานเป็นที่ไปแน่นอนถ้าทำได้ตามที่บอกนะ
    ต่อไปเป็นการสนทนาธรรมระหว่างหลวงพ่อกับนายทหารยศพันเอกท่านหนึ่ง ซึ่งมีความรู้ด้านปริยัติพอสมควร

    ผู้ถาม : ตรงที่ว่า จิตตัวนี้ไปแจ้งนิพพาน แล้วจิตตัวนั้นไปไหนครับ........?

    หลวงพ่อ : จิตก็ไปอยู่ที่นิพพาน

    ผู้ถาม : จิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ใช่ไหมครับ........?

    หลวงพ่อ : จิตเกาะที่นิพพาน จิตก็มีนิพพานเป็นอารมณ์

    ผู้ถาม : แค่นี้แหละ ผมสงสัยมาหลายปีแล้ว

    หลวงพ่อ : โธ่เอ๋ย.......

    ผู้ถาม : เขาบอกว่าจิตมีลักษณะ ๔ ประการครับหลวงพ่อ
    ๑. มันไปได้ไกล
    ๒. มันไม่มีรูปร่าง
    ๓. มันคิดได้ทีละอารมณ์
    ๔. มันอาศัยอยู่ใน...ตอนนี้จำไม่ได้เสียแล้ว ผมยังไม่เข้าใจ

    หลวงพ่อ : มัวคิดอย่างนี้มันก็แค่ปากขุมนรก

    ผู้ถาม : ขยับหน่อยไม่ได้หรือครับ........?

    หลวงพ่อ : ขยับให้ลงน่ะซิ

    ผู้ถาม : ผมนั่งคิดมาหลายปีแล้วครับไม่เข้าใจ

    หลวงพ่อ : มันจะคิดได้อย่างไร มันไม่ใช่เรื่องของคนคิด

    ผู้ถาม : เป็นอันว่าไม่ควรคิดนะครับ แต่ก็มีเรื่องที่ผมสงสัยอีกครับหลวงพ่อ คือว่าเวลานี้ชาวพุทธทั้งหลายเขาศึกษาปริยัติกันจนได้เปรียญ ๘ ประโยคบ้าง ๙ ประโยคบ้าง แล้วก็ศึกษาในมหาวิทยาลัยถึง ๒ มหาวิทยาลัย อย่างนี้จะมีความเข้าใจเรื่องของจิตเรื่องนิพพานจริงไหมครับ......?

    หลวงพ่อ : ยัดตะพึด ไม่ถ่าย อย่างนี้ไม่มีทางรู้จริง อาศัยปริยัติการศึกษา อ่านหนังสือเท่าไรมันก็ไม่เข้าใจจริง เปรียญอะไรก็ตามเถอะ เอาแค่เรื่องฌาน ปฐมฌานมีองค์ ๕ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ถ้าปฏิบัติจริง ๆ แค่นี้ก็ตายแล้ว ไม่รู้แล้ว เสร็จหรือถ้าเป็นนักปฏิบัติเองได้ขั้นฌานโลกีย์ ปฏิบัติได้ถึงสมาบัติ ๘ พอดี ได้อภิญญา ๕ ก็ดี ได้หรือ ๒ ใน ๓ ของวิชชาสามก็ดี ก็ยังไม่รู้เรื่องของนิพพาน ยังตาบอดอยู่นั่นแหละ อย่างน้อยที่สุดต้องตัดสั่งโยชน์
    ๓ ให้ได้นั่นแหละ จึงจะเข้าใจเรื่องนิพพาน

    ผู้ถาม : หมายความว่า ต้องเป็นพระโสดาบันก่อนใช่ไหมครับ..............?

    หลวงพ่อ : ใช่

    ผู้ถาม : ถ้าต้องการเป็นพระโสดาบัน เราปฏิบัติแบบสบาย ๆ แบบสุกขวิปัสสโก ได้ไหมครับ......?

    หลวงพ่อ : ได้

    ผู้ถาม : ถ้าปฏิบัติแบบสุกขวิปัสสโก ก็มุ่งเอาแต่วิปัสสนาอย่างเดียว ไม่ต้องปฏิบัติทางด้านสมถะใช่ไหมครับ......?

    หลวงพ่อ : ถ้าแบบนี้แสดงว่าไม่รู้จริงเลย ถึงจะปฏิบัติแบบสุขวิปัสสโกก็ต้องมีสมถะ สุกขวิปัสสโกนี่ เขาขึ้นต้นตั้งแต่สมาธิขั้นต่ำ ตั้งแต่ขณิกสมาธิ มันขึ้นไปตั้งแต่เล็ก ใช้ปัญญาพิจารณาไปเลย อารมณ์คิดควบคุมจิตโดยเฉพาะจุด เขา
    เขาเรียกว่า สมถะ แต่ว่าถ้าคุมได้น้อยมันจะตัดกิเลสไม่ได้ ต้องคุมเข้าไปถึงปฐมฌาน จึงจะสามารถตัดกิเลสได้เป็นพระโสดาบันได้ ถ้าหากว่าแค่ปฐมฌานมันจะอยู่ได้แค่พระโสดาบันและพระสกิทาคามี จะเป็นพระอนาคามีไม่
    ได้ ถ้าจะถึงพระอนาคามีได้จิตต้องเข้าถึงฌาน ๔ มันต้องใช้ควบคู่กันไป คือทั้งสมถะและวิปัสสนา

    ผู้ถาม : หมายความว่า ถ้าไม่ใช้ฌานสมาบัติช่วยจะไม่ได้ อะไรเลยหรือครับ......?

    หลวงพ่อ : ต้องมีฌาน ถึงแม้พระโสดาบันก็ต้องมีกำลังอย่าต่ำแค่ปฐมฌาน

    ผู้ถาม : แต่ทางปริยัติเขาบอกว่า ใช้แค่ขณิกสมาธินี่ครับ

    หลวงพ่อ : โยมก็เอาแต่เขาว่า ไม่ลองทำนี่

    ผู้ถาม : คือผมจะพยายามหลีกลี้การปฏิบัติทางด้านสมถะ จะมุ่งเอาแต่วิปัสสนาญาณอย่างเดียว ยิ่งเป็นพวกวิชชาสาม วิชชาหก วิชชาแปดอะไรนั่น ผมไม่ต้องการเลยครับ

    หลวงพ่อ : ถ้าไม่เอาวิชชาสามยิ่งอธิบายเรื่องนิพพานไม่ได้เลย แบบสุกขวิปัสสโกจะต้องได้อย่างเดียว เมื่อเป็นอรหันต์ว่าจิตไม่เกาะอะไรทั้งหมดและถ้าหากว่าโยมยังมีจิตไม่เข้าถึงพระโสดาบันเพียงใดเรื่องนิพพานอย่าพูดกันเลย พูดเท่าไรมันก็ไม่ถูก ขืนพูดเท่าไรก็ผิดเท่านั้นแหละ

    ผู้ถาม : ก็เห็นเขาพูดกันเต็มบ้านเต็มเมือง

    หลวงพ่อ : มันก็ผิดกันเต็มบ้านเต็มเมือง ก็มันพูดกันไม่ถูกน่ะซิ ถึงไปไหนกันไม่ได้ เดี๋ยวนี้เขาตะโกนกันโหว่ย ๆ ว่านิพพานสูญนี่มันแปลกบาลีกันไม่ถูก นิพพานัง ปรมัง สูญญัง นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๒ คำ แต่จำกันได้คำเดียว

    ผู้ถาม : อันนี้ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันครับ

    หลวงพ่อ : คำว่า สูญ นี่ไม่ใช่ สูญโญ เขาแปลว่า ว่าง คนที่ถึงนิพพานจริง ๆ เขาต้องว่างจากกิเลสทั้งหมด ขึ้นชื่อว่าอารมณ์ความชั่วของจิตนิดหนึ่งไม่มีในใจ อันนี้จึงจะถึงนิพพานได้ เมื่อถึงนิพพานแล้วจะมีความสุขอย่างยิ่งคือว่าถ้าจิตว่างจากกิเลส คือ สะอาดจากกิเลสจริง ๆ แล้ว จิตมันเป็นสุข คำว่าทุกข์ไม่มี เขาหมายความว่าอย่างนี้ต่างหากล่ะเขาไม่ได้หมายความว่าคนที่ไปนิพพานไม่มีสภาวะเป็นที่อยู่ เหมือนกับควันไฟที่ลอยไปในอากาศมันไม่ใช่อย่างนั้นถ้าเป็นอย่างนั้นละก็เวลาที่ท่านจะไปนิพพานกันเช่น พระโมคคัลลานะ ท่านจะไปนิพพานท่านก็ไปลาพระพุทธเจ้า สำหรับพระสารีบุตร เวลาที่จะไปนิพพานก็ไปลาพระพุทธเจ้า ถ้าหากว่านิพพานไม่มีภาวะที่จะไปจริง ๆ ไปที่ไหนก็ได้นี่ ใช่ไหม......

    ผู้ถาม : เรื่องนี้ผมก็สงสัยมานานเหมือนกันครับ เลยลังเลใจไม่อยากไปนิพพาน

    หลวงพ่อ : ก็เคยบอกแล้วว่า ไอ้เรื่องอารมณ์ของจิตมันเป็นไปตามขั้นของการปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติได้แค่ฌานโลกีย์มันจะรู้เรื่อง ได้แค่ฌานโลกีย์ แต่คนที่ได้ปฐมฌานจะไม่มีโอกาสรู้เรื่องของคนที่ได้ทุติยฌาน คนที่ได้ทุติยฌานจะไม่มีโอกาสรู้ได้ ในเรื่องของตติยฌาน คนที่ได้ตติยฌานจะไม่มีโอกาสรู้เรื่องจตุตถฌาน อันนี้ทำไมไม่จำล่ะ อันนี้ต้องจำ ถ้าไม่จำตรงนี้พัง พวกปริยัตินี่ถ้าไปพูดเรื่องฌานเมื่อไรพังเมื่อนั้น อาตมาเคยเทศน์มาแล้ว เทศน์ยันนิพพานเลย แหม.....มันคล่องจริง ๆ ว่าตามแบบนะ พอเอาจริงเอาจังปฏิบัติถึงตายโหงละ ผิดเลย ต้องกลับไปเทศน์ใหม่ ต้องขออภัยเขา

    ผู้ถาม : ทีนี้ผมขอกราบเรียนถามอีกนะครับ ไหน ๆ ผมก็เลือกเดินทางในแนวสุกขวิปัสสโกแล้ว ขอเรียนถามหลวงพ่อว่าถ้าปฏิบัติตามนี้จะต้องศึกษาในเรื่องอะไรบ้างครับ........?

    หลวงพ่อ : อันดับแรก จะต้องตัด ปลิโพธ คือความกังวลก่อน" ๒. จะต้องรู้จริต ๓. จะต้องรู้ตัดนิวรณ์ ๔. จะต้องรู้กรรมฐานที่เหมาะกับจริต

    ผู้ถาม : โอ้โฮ......ผมอุตส่าห์เลือกเดินสายสบาย ๆ แล้วนะครับ ฟังหลวงพ่อว่าแล้วมันไม่สบายอย่างที่คิดเลยครับ

    หลวงพ่อ : สุกขวิปัสสโกนี่แปลมันง่าย คือรู้แจ้งเห็นจริงแบบสบาย ๆ แต่พอเอาจริง ๆ มันไม่สบายเลย ปฏิบัติยากที่สุด ไม่ใช่ง่ายนะ ที่เขาปฏิบัติง่าย คือพวกวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณ พวกนี้เขาทำง่ายกว่า สุกขวิปัสสโก ถ้าทำจริง ๆ จึงจะรู้เพราะว่าสุกขวิปัสสโกเหมือนกับคนหลับตาเดิน แล้วเอาผ้าดำปิดตาอีกด้วย ไม่เห็นทาง ฉะนั้น ถ้าจะฝึกตามแนวสุกขวิปัสสโก จะต้องขึ้นด้วย ปลิโพธิ คือตัวความกังวลก่อน และจะต้องรู้จริตด้วย จริตมีกี่อย่าง.......

    ผู้ถาม : ตามคำราบอกว่ามี ๖ อย่างครับ

    หลวงพ่อ : ว่ามาซิ มีอะไรบ้าง.....?

    ผู้ถาม : โธ่.....หลวงพ่อ ผมไม่ได้เปรียญอะไรเลยนะครับ

    หลวงพ่อ : ก็ไปสอนเขามาแล้วนี่ ตอบเขามาแล้ว ต้องเอากันละ

    ผู้ถาม : ผมไม่เอาทางนี้ครับ ผมเอาทางหัวกับหาง

    หลวงพ่อ : ก็เจ๋งน่ะซิ ทางเขาให้เดินไปไม่ไป อย่างนี้ไม่ขึ้นสวรรค์แล้ว ลงนรก

    ผู้ถาม : โธ่....... หลวงพ่อ ผมไม่รู้จริง ๆ ถ้าผมรู้ผมก็ไม่มาถามหลวงพ่อหรอกครับ

    หลวงพ่อ : เอ้า....ไม่รู้จะว่าให้ฟังก็ได้ จริตมี ๖ อย่างคือ
    ๑. ราคจริต ๒. โทสจริต ๓. โมหจริต ๔. วิตกจริต ๕. ศรัทธาจริต ๖. พุทธจริต

    จริตทั้ง ๖ อย่างนี่มีด้วยกันทุกคน ไม่ใช่ว่าแต่ละคนจะมีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

    ราคจริต ชอบสวยขอบงาม ขอบสะอาด ราคจริตเขาไม่ได้แปลว่า มักมากในกามคุณ ไอ้นั่นเข้าใจผิด ถ้าแปล
    ตามนี้ก็แจ๊งอย่างนี้มันมีด้วยกันทุกคนใช่ไหม........
    โทสจริต เรารู้จักโกรธ เราก็มีใช่ไหม......
    โมหจริต กับ วิตกจริต บางครั้งสมองมันตื้อ คิดอะไรไม่ออก ตัดสินอะไรไม่ได้ อันนี้ก็มี ใช่ไหม.....
    ศรัทธาจริต บางครั้งเราเกิดเชื่อง่าย อันนี้เราก็มีใช่ไหม.......ถ้าเชื่อคนก็ดี ถ้าเชื่อพวกคนเลวก็ดีอีกเหมือนกัน
    ลงนรกด้วยกันทั้งคู่ อย่างพระโกกาลิกะกับพระเทวทัต จำได้ไหมล่ะ.....?

    ผู้ถาม : ครับ......จำได้ครับ

    หลวงพ่อ : ส่วน พุทธจริต บางครั้งจิตใจมันปลอดโปร่ง มีปัญญาแจ่มใส ใครพูดอะไรมาเราเข้าใจง่าย

    รวมความว่าจริตทั้ง ๖ อย่างมีด้วยกันทุกคน ในเมื่อทุกคนมีเขาจะต้องดูว่าจริตตัวไหนมันแรงกว่าเพื่อน ถ้าตัวไหนแรงกว่าเพื่อนเราตีตัวนั้นก่อน
    อย่างราคจริตมันมีกำลังสูงเราจะทำอย่างไร...... เขาก็ใช้กรรมฐาน ๑๑ อย่างคือ อสุภกรรมฐาน ๑๐กับ กายคตานุสสติกรรมฐานอีก ๑ เอามาต่อสู้กับจริตตัวนี้

    ถ้าโทสจริต มันเกิดขึ้นบ่อย ๆ เขาก็ต้องใช้กรรมฐาน คือ พรหมวิหาร ๔ กับ กสิณ ๔ คือกสิณสีแดง กสิณสีเขียว กสิณสีเหลือง กสิณสีขาว อ ย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาตีกับจริตตัวนี้ให้มันพังยับไปเลย

    ถ้าหากว่ามีโมหจริตกับวิตกจริต ก็ใช้ อานาปานุสสติ
    ถ้ามีศรัทธาจริต ก็ใช้อนุสสติ ๖ ประการ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ สีลานุสสติ แล้วก็ เทวตานุสสติ
    ถ้าหากว่าพุทธจริตคือความฉลาดมันเกิดขึ้น จะต้องใช้กรรมฐาน ๔ กอง คือ มรณานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน

    นี่ต้องรู้จริต ต้องรู้กรรมฐานที่คู่กับจริต และต้องใช้ให้มันถูกคือ พระพุทธเจ้าท่านวางไว้อย่างนี้ และก่อนที่จะใช้อารมณ์อย่างนี้ได้ต้องตีนิวรณ์ ๕ ให้พังไปก่อนถ้านิวรณ์ไม่ระงับก็ไม่มีทางคือทั้งสมถะและวิปัสสนาไม่มีการทรงตัว ไม่ใช่ทำส่งเดชไป การทำส่งเดชน่ะโยม อย่าว่าแต่เรื่องนิพพานที่โยมพูดเลย เรื่องฌานก็พูดไม่ถูกแล้ว นี่ต้องเข้าใจตามนี้นะ
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    นี่เราว่าในแนวปฏิบัติกัน ถ้าต้องการรู้จริงต้องปฏิบัติตามนี้และแค่รู้เรื่องฌานสมาบัติโยมจะรู้เรื่องจิตยังไม่ได้เลยฌาน ๔ ถึง ฌาน ๘ ถ้าโยมได้ก็ไม่มีทางรู้เรื่องของจิตเลย จะรู้เรื่องของจิตได้จริง ๆ จะต้องตีเข้าไปถึงความเป็นพระอริยเจ้า และความเป็นพระอริยเจ้าถ้ามาตามแนวสุกขวิปัสสโก ก็ไม่มีทางพูดได้อีก ต้องตั้งแต่วิชชาสามขึ้นไป นี่หลักเกณฑ์เขามี เห็นไหม.....นี่โยมไปอธิบายเขาฟังมาแล้วซิ ดีนะ ไม่มีคนรู้เขาค้านเอา

    ผู้ถาม : หัวเราะ แล้วก็ถามต่อไปว่า "ในการตัดสักกายทิฏฐิของพระอริยเจ้าแต่ละประเภทแตกต่างกันไหมครับ......?

    หลวงพ่อ : ไม่แตกต่างกันหรอก เหมือนกัน คือตัดจริง ๆ มันตัดในด้านสุกขวิปัสสโก แต่ว่าพูดถึงการได้เปรียบ หมายถึงว่าท่านที่ฝึกมา วิชชาสามก็ดี อภิญญาหกก็ดี ในด้านปฏิสัมภิทาญาณก็ดีเขาได้เปรียบกว่าสุกขวิปัสสโก เพราะสุกขวิปัสสโกนั่งทำไปไม่เห็นอะไรเลย ถ้าพวกวิชชาสามนี่เขาสามารถระลึกชาติได้ สามารถเห็นสวรรค์ เห็นพรหมโลกได้ เห็นนรกเห็นเปรตได้ ถ้าจิตสะอาดพอก็สามารถเห็นนิพพานได้ คนเห็นกับคนไม่เห็นเดินทางต่างกันใช่ไหม......ยิ่งได้อภิญญาหกยิ่งเร็วกว่า กำลังเขาสูงถ้าหากพวกที่ฝึกสายปฏิสัมภิทาญาณก็ยิ่งเร็วมาก

    ผู้ถาม : แต่ความรู้สึกของผมคิดว่า การปฏิบัติทางสายปฏิสัมภิทาญาณนี่มันยากครับ......?

    หลวงพ่อ : ความจริงถ้าปฏิบัติกันจริง ๆ สายปฏิสัมภิทาญาณนี่ง่ายที่สุด แต่ว่าคนเราไม่ต้องการแนวปฏิบัติง่ายกว่าวิชชาสามและอภิญญาหก เพราะว่าปฏิสัมภิทาญาณนี่เราจับต้นปั๊บ อานาปานุสสติ กับ พุทธานุสสติ อย่างที่เขาภาวนาว่า พุทโธ นั่นแหละพอจิตสบายกายทรงตัวพอได้สมควรบ้าง ก็จับกสิณกองใดกองหนึ่ง กสิณ ๑๐ อย่างนี่เขาไม่เลือกเลย จะเป็นกองไหน ที่เราต้องการก็จับกสิณกองนั้นให้ได้ถึงฌาน ๔ พอคล่องตัวก็จับอรูปตั้งภาพกสิณขึ้นแล้วเพิกภาพกสิณไปจับอากาศแทนที่ เรียกว่า อากาสานัญจายตนะ
    ทีนี้การจับอรูปฌานนี่ก็จับแค่ฌาน ๔ มันเป็นฌาน ๔ เท่านั้นเอง ในเมื่อจิตมันอยู่ในฌาน ๔ เราจับอะไรก็ได้พอจับอากาศได้คล่องตัวดีแล้ว ก็จับ วิญญาณณัญจายตนะ จับวิญญาณจิตให้ทรงตัว มันก็ทรงตัวแค่ ๓ วันเท่านั้นแหละก็เปลี่ยนแล้วก็ไปจับ อากิญจัญญายตนะ อากิญจัญญายตนะนี่มีความรู้สึกว่า โลกนี้มันพังหมดไม่มีอะไรเหลือ อารมณ์ตอนนี้มีสภาพคล้ายพระอรหันต์มาก แล้วต่อไปจับตัวสุดท้ายก็คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แนวสัญญานาสัญญายตนะนี่เขาทรงฌาน ๔เป็นปกติ สัญญานี่แปลว่า ความจำ มีความจำอยู่แต่ทำตนเหมือนกับคนไม่มีความจำคือหนาวก็ช่างมัน ร้อนก็ช่างมัน ฉันไม่สนใจหนาวรู้สึกตัวว่าหนาว ร้อนรู้สึกตัวว่าร้อน หิวรู้สึกตัวว่าหิว มันมีกินไหม ไม่มีกินก็ช่างมัน มันร้อนมันมีน้ำอาบไหม....ไม่มีน้ำอาบก็ช่าง มันหนาวมีผ้าห่มไหม......... ไม่มีผ้าห่มก็ช่าง คือทำใจให้สบาย ๆ คิดว่าร่างกายเป็นเรื่อง พวกที่เจริญอรูปฌานหมายความว่าเขาเกลียดกาย คิดว่าทุกข์ทั้งหมดที่มีอยู่ได้เพราะอาศัยกายเป็นเหตุ ถ้าไม่มีกายเสียได้ก็สบาย จริยามันคล้ายพระอรหันต์จริง ๆ แต่ตัวมันไม่ถึงนิพพานตัวเดียว

    ทีนี้พอได้อรูปฌานเสียแล้ว คือ รูปฌาน ๔ และ อรูปฌาน ๔ รวมเป็น ๘ พอเริ่มต้นเจริญวิปัสสนาญาณก็จับอรูปฌานเป็นต้นเหตุตัดสักกายทิฏฐิ อย่างนี้แค่เคี้ยวหมากแหลกก็เป็นอรหันต์ นั่นก็หมายความว่า คนที่ได้ฌาน ๘ น่ะ หรือสมาบัติ ๘ ถ้าไปเจริญวิปัสสนาญาณ ถ้าเป็นพระอรหันต์เกิน ๗ วันนี่มันซวยเต็มที แต่ว่าถ้าจิตเข้าถึงอนาคามีก็เป็นปฏิสัมภิทาญาณเลย สามารถคลุมวิชชาสามและอภิญญาหกเลย

    ผู้ถาม : ครับ เข้าใจครับ ต่อไปนี้ขอถามประเด็นปลีกย่อยครับ เข่น ถามว่านิพพานนี่สูงสุดใช่ไหม.....? ผมก็ตอบว่า ใช่..เขาก็ถามอีกว่า ถ้านิพพานสูงสุด ทำไมในมงคลสูตร เอานิพพานไว้ข้อ ๓๔ แล้วไอ้ข้อ ๓๕,๓๖,๓๗,๓๘, มีไว้ทำไม......?

    หลวงพ่อ : แล้วเขาบอกได้ไหมล่ะ......?

    ผู้ถาม : ตอบได้ครับ ผมก็ตอบตามวิธีของผม

    หลวงพ่อ : ตอบแบบผิด ๆ น่ะซิ

    ผู้ถาม : ก็คนเขายอมรับนับถือผมนี่ครับ

    หลวงพ่อ : ก็คนมันไม่รู้อะไรนี่ เขาถาม "ลุง.....ควายมีรูปร่างอย่างไร"มันไม่มีควาย พอเจอ หมาก็บอก "ไอ้หนู....นี่ละควาย"ไอ้นั่นไม่รู้อ้อ.....ความมีรูปร่างแบบนี้เห่าฮ้ง ๆ ๆ ใช่ไหม......

    ผู้ถาม ถ้าเป็นหลวงพ่อจะตอบเขาว่าอย่างไรครับ.......?

    หลวงพ่อ : ไอ้นั่นมันเป็นเรื่องสำนวนการสอน เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าท่าน แล้วมรรค ๘ ทำไมขึ้นสัมมาทิฏฐิก่อนล่ะทำไมไม่ขึ้นสัมมาสมาธิก่อน หรือสัมมากัมมันตะก่อน ตัวสัมมาทิฏฐิก็คือตัวนิพพาน คือตัวปัญญา ตอบได้ไหมล่ะ......?

    ผู้ถาม : ถ้าผมตอบได้ผมก็ไม่มาถามหลวงพ่อหรอกครับ

    หลวงพ่อ อ้าว......ทีตอนนี้คุย

    ผู้ถาม : แล้วทำไมจึงเอาสัมมาทิฏฐิขึ้นก่อนล่ะครับ....?

    หลวงพ่อ : ก็เพราะว่าปัญญาตัวต้นมันยังใช้ไม่ได้ เป็นแต่เพียงเข้าใจว่า ศีลนี่ดี ทานนี่ดี สมาธินี่ดี พอรู้จักคำว่าศีลดีก็ทำตัวให้มีศีลทำจิตใจให้มีศีล เมื่อมีศีลทรงตัวเป็นปกติเรียบร้อยดีแล้วสมาธิมันก็เกิดเอง สมาธิไม่ต้องไปหาที่ไหน หาจากศีล เมื่อเรามีศีลเป็นปกติสมาธิมันก็ทรงตัว เมื่อสมาธิทรงตัวปัญญามันจึงเกิด ปัญญาเพื่ออริยมรรคเพื่ออริยผลด้วยปัญญาตัวต้นน่ะ มันเป็นปัญญาเด็กเล่น ปัญญาตัวหลังเป็นปัญญาตัวตัดกิเลส นี่มันเป็นแบบนี้นะ การปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติแบบนี้ ไม่งั้นโยมพัง

    ผู้ถาม : บางคนเขาก็ว่ามีศีลไม่จำเป็น เอาแต่สมาถะวิปัสสนาก้อได้

    หลวงพ่อ : ไอ้นั่นแหละพังแล้ว ยิ่งเป็นเปรียญไหนต่อเปรียญไหนก็เถอะ ถ้าเข้าใจแบบนี้ก็พังทั้งหมด ก็เหมือนอย่างโยมตั้งใจว่าสมถะไม่เอา จะเอาแต่วิปัสสนาอย่างเดียว นั่นก็เหมือนกันแต่ก็พวกเปรียญอีกนั่นแหละที่มักจะพูดว่าสุกขวิปัสสโกทำง่าย ๆ แต่ลองมาทำเข้าจริง ๆ ซิ มันยากที่สุด ที่ทำง่ายจริง ๆ เรียกว่า บรรจุมรรคผลได้ง่ายจริง ๆ ต้องเป็น ปฏิสัมภิทาญาณ หรือได้สมาบัติ ๘

    ผู้ถาม : อย่างผมนี่เห็นว่าท่าจะไม่ไหวล่ะครับ สมาบัติ ๘

    หลวงพ่อ : ก็ยังติดตำราอยู่อย่างนี้ มันจะไปได้อย่างไรล่ะ ไปไม่ได้หรอก ติดตำราด้วย และก็มีอารมณ์หยาบด้วย และก็ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาด้วย ก็ไปใหญ่เลย

    ผู้ถาม : ก็ต้องเอาตำราโยนทิ้ง

    หลวงพ่อ : ตำราไม่ต้องไปทิ้ง แต่ว่าอย่าไปติดตำรา อย่าลืมว่าผลที่จะพึงได้ในทางพุทธศาสนาไม่ใช่อ่านตำราอย่างเดียวจำเรื่องท่าน สุธรรมเถร ได้ไหมล่ะ..... ท่านสุธรรมเถรทรงพระไตรปิฏก ในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ว่าเวลาเฝ้าพระพุทธเจ้าคราวไรพระพุทธเจ้าบอก "ไง.....ขรัวใบลานเปล่ามาแล้วรึ" เวลาท่านสุธรรมเถรจะลากลับ พระพุทธเจ้าท่านก็บอก"เอ้า.....ขรัวใบลานเปล่ากลับแล้วรึ......เป็นไง.....?

    ผู้ถาม : ทำไมจึงเรียกแบบนั้นครับ........?

    หลวงพ่อ : ที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า "ขรัวใบลานเปล่าเพราะว่าไม่มีผลในทางปฏิบัติเลย รู้แต่หลักสูตรอย่างเดียว

    ผู้ถาม : อย่างนี้เขาเรียกบุรุษใบลานเปล่าได้ไหมครับ........?

    หลวงพ่อ : ก็ยังเรียกไม่ได้ อย่างน้อยก็ยังได้พระไตรปิฏกนี่อย่างโยมนี่ต้องเรียก เถรไร้ใบลาน

    ผู้ถาม : (หัวเราะ) เป็นอันว่าขอสรุปนะครับ ว่าการที่จะเข้าใจเรื่องของจิตก็ดี เรื่องของนิพพานก็ดี ปริยัตินี่ยังรู้ไม่จริงต้องเป็นพระอริยบุคคล และก็ต้องผ่านฌานด้วยนะครับ

    หลวงพ่อ : ไม่ต้องผ่านละ ต้องได้

    ผู้ถาม : ครับ แล้วก็แค่ขณิกสมาธิก็ไม่มีทางใช่ไหมครับ ผมขอให้หลวงพ่อยืนยันอีกครั้งครับ

    หลวงพ่อ : แค่ขณิกสมาธิก็เป็นพระอริยะไม่ได้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นพระอริยะไม่ได้ ถ้าข้าถึงปฐมฌานนี่ยังไม่แน่นักนะต้องเข็มแข็งจริง ๆ ถ้าไม่เข็มแข็งจริง ๆ เป็นพระโสดาบันไม่ได้

    ผู้ถาม : ตอนแรก หลวงพ่อบอก แค่ปฐมฌานก็เป็นพระโสดาบันได้

    หลวงพ่อ : ปฐมฌานน่ะถึงจริง แต่ทรงหรือเปล่า ถ้าทรงแค่ปฐมฌานก็ยังต้องทรงวิปัสสนาญาณขั้นต้น คือ สักกายทิฏฐิ ต้องเข้าใจในสักกายทิฏฐิจริงๆ อันดับแรกนี่คิดว่าเกิดมาจะต้องตายไม่มีใครจะทรงสภาพอยู่เช่นนี้ได้ตลอดกาลตลอดสมัย อันนี้ไม่ยากนี่เห็น ๆ กันอยู่ มีคนตายให้เห็นกันอยู่ แล้วอีกประการหนึ่งศีลจะต้องทรงตัว ถ้าจิตเข้าไม่ถึงปฐมฌานศีลมันจะไม่ทรงตัวจะเอาอะไรมาคุมศีล เรื่องศีลจะให้ทรงได้นี่เราต้องจำศีลให้ได้และรักษาศีลให้คงตัว การจะทรงได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่นี้ จะเป็นพระอริยเจ้าได้ต้องทรงศีล ๓ ขั้นคือ
    ๑. เราจะไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง
    ๒. จะต้องไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นและเมิดศีล
    ๓. จะไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว
    สามข้อนี้ ถ้าจิตไม่ถึงปฐมฌาน มันคุมได้ไหม......ไม่มีทางนี่กฏตายตัวมันอยู่ตรงนี้นะโยมนะ

    ผู้ถาม : หลวงพ่อยิ่งพูด รูสึกมันยิ่งยากขึ้นทุกทีครับ

    หลวงพ่อ : โยมรู้สึกคนเดียวนะซิ คนอื่นเขาอาจไม่ยากก็ได้ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อันดับแรกจะต้องมีศีลบริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์ แล้วสมาธิจึงจะเกิด ถ้าทรงสมาธิตัวดีแล้ว ปัญญามันจึงจะมาสามอย่างนี่ ต้องขนานขึ้นไปพร้อมกัน ถ้าไม่งั้นความเป็นพระอริยเจ้า หรือการทรงฌานจะไม่มี การเจริญสมถะก็ต้องใช้วิปัสสนาฌานควบ ถ้าไม่ใช้วิปัสสนาญานควบจะเข้าถึงฌานไม่ได้ ไม่มีทางลอง ไปปฏิบัติดูก่อนจนกว่าจะมีผล

    ผู้ถาม : ทีนี้เราเริ่มยังไงครับ ฌาน ๑, ฌาน ๒, ฌาน ๓, ฌาน ๔

    หลวงพ่อ : ไปดูตำราซิ ไปซื้อวิสุทธิมรรคเสียเลย อ่านให้เสียเข้าใจก่อน แล้วค่อยมาเริ่มปฏิบัติการอ่านวิสุทธิมรรค
    ๑. จะต้องจำได้
    ๒. รู้อารมณ์กรรมฐานแต่ละกอง
    ๓. รู้นิติกรรมฐานแต่ละกอง
    ๔. ต้องรู้อาการของกรรมฐาน
    ๕. จะต้องเข้าใจกรรมฐานที่ทำลายจริต
    ๖. รู้อาการทำลายนิวรณ์
    เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ใน ศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ จะต้องคล่อง

    ผู้ถาม : พออ่านเสร็จก็ตายพอดีครับ

    หลวงพ่อ : ก็ดันแบบนี้ก็ต้องเล่นแบบนี้ ถ้าไม่ดันแบบนี้เขามีวิธีสอนต่างหาก การสอนมันไม่ได้สอนอย่างเดียว เขาต้องสอนดูคน พระพุทธเจ้าท่านสอนดูคนถ้าคนแก่ตำราเขาต้องสอนยากคนอ่อนตำราเขาต้องสอนง่าย ไม่งั้นมันขับกันไม่อยู่ ที่ขับกันไม่อยู่เพราะอะไร เพราะว่าแก่ตำราจัด ถือว่ามีความรู้มาก ก็ต้องไล่ความรู้ให้ละเอียด ไม่งั้นก็จะเกิดความไม่เข้าใจสงสัยตลอด ถ้าคนที่เขาไม่สงสัยอะไรมากเลยเขาก็สอนตรงเลย จะไปไหนล่ะ.......ไปถึงฌานรึ เขาก็ดึงมือไปถึงฌาน พอจิตถึงฌานได้เขาก็ไม่สงสัยแล้วอย่างพวกที่ฝึกมโนมยิทธิ เดี๋ยวนี้เขาได้กันเยอะแล้ว เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นพรหม เห็นนิพพานได้ เดี๋ยวนี้มีเยอะแล้วนะ

    ผู้ถาม : ไม่เป็นไรครับ กวดทัน ถ้าชาตินี้ไม่ทัน ผมไปนิพพานคนสุดท้ายก็ยังดี

    หลวงพ่อ : (หัวเราะ)


    www.luangporruesi.com
     
  4. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260

    สาธุ ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูงครับ
    เว็บทางนิพพาน เว็บไซด์ เผยแพร่ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น<O:p
    ที่รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน<O:p
    ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
    www.tangnipparn.com
    <?XML:NAMESPACE PREFIX = O /><O:p>ขอเชิญแวะเยี่ยมชมและโมทนาบุญเว็บศูนย์พุทธศรัทธา


    [​IMG]</O:p><!-- google_ad_section_end -->
    __________________
    <!-- google_ad_section_start(weight=ignore) -->
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 กรกฎาคม 2010
  5. prayut.r

    prayut.r เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    150
    ค่าพลัง:
    +1,707
    อาจารย์ชนะครับ ผมมีคำถามครับ ผมก็เคยมีความรู้สึกตกวูปจากที่สูงแบบนี้เหมือนกัน

    ก็เลยมีความสงสัยว่า ธรรมดาคนเรามีโอกาสเข้าถึงฌานได้เลย โดยไม่ผ่านขั้นอุปจารฯ หรือไม่ครับ

    เพราะมานั่งนึกก็คิดว่าสงสัยเราคิดไปเองรึป่าว เพราะปกติขั้นอุปจารฯ นี่อารมณ์หยาบกว่าขั้นฌาน ใช่ไหมครับ?
     
  6. Dang 88

    Dang 88 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    266
    ค่าพลัง:
    +946
    อ่านไป ตอนหลวงพ่อตอบ ก็ยิ้มไป พออ่านจบ โอ้ความรู้เพียบ...
     
  7. ชนะ สิริไพโรจน์

    ชนะ สิริไพโรจน์ ทีมผูัดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    5,891
    กระทู้เรื่องเด่น:
    14
    ค่าพลัง:
    +35,260
    คำว่าฌานพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานท่านกล่าวไว้ว่า
    คือการเพ่งหรืออารมณ์ชินถ้าเราปฏิบัติสมาธิจนอารมณ์ชิน
    พอนึกถึงอารมณ์ฌานที่เราเคยได้มันก็เป็นฌานเลย
    คือไม่ต้องผ่านอุปจารสมาธิก็ได้
    แต่ถ้าเพิ่งเริ่มปฏิบัติก็ต้องผ่านอุปจารสมาธิก่อนครับ
    อุปจารสมาธิอารมณ์จะหยาบกว่าฌานครับ
     
  8. Pdon60

    Pdon60 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มกราคม 2009
    โพสต์:
    65
    ค่าพลัง:
    +795
    ต้องขอขอบพระคุณ คุณ VANCO มาก
    ที่นำธรรมะของหลวงพ่อมาลงให้ได้อ่าน
    ทุกครั้งที่อ่าน การตอบปัญหาธรรมของท่านแล้วจะเห็นได้ว่า
    การปฏิบัติธรรมะนั้นไม่ได้ยากเกินกว่าที่คิดไว้เลย
     
  9. tanakorn_ss

    tanakorn_ss ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 สิงหาคม 2009
    โพสต์:
    1,792
    ค่าพลัง:
    +5,747
    สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ

    สาธุ ขออนุโมทนาบุญเป็นอย่างสูง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 สิงหาคม 2010
  10. manote

    manote เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มกราคม 2006
    โพสต์:
    924
    ค่าพลัง:
    +5,996
    โมทนาเช่นกันครับ อ่านได้นิดหน่อยดูแล้วดีขอก๊อปนะครับ
     
  11. paylu

    paylu เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    52
    ค่าพลัง:
    +114
    ขออนุโมทนาบุญ ด้วยคนนะครับ สาธุ สาธุ สาธุ ...ได้ความกระจ่างขอก๊อปเผื่อแผ่ด้วยนะครับ<!-- google_ad_section_end -->
     
  12. ราชนาวี

    ราชนาวี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กันยายน 2009
    โพสต์:
    545
    ค่าพลัง:
    +918
    สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ด้วยเทอญ
     
  13. toom1567

    toom1567 สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    14
    ค่าพลัง:
    +4
    อ่านที่หลวงพ่อตอบแล้วได้แต่ยิ้ม และสาธุ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเถิด
     

แชร์หน้านี้

Loading...