เรื่องเด่น พรหมวิหาร ๔ (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 5 ตุลาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    235-5 พลังจิต.jpg

    วันนี้วันพระตรงกับวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบ (๑๐) ปีระกา

    ขอให้ทุกท่านมีความสุขในธรรม

    พรหมวิหาร ๔
    ตอนที่ ๑ คุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นผู้ใหญ่
    พรหมวิหารมี ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นหมวดหนึ่งเรียกว่า “พรหมวิหาร ๔”
    “พรหม” แปลว่า ประเสริฐ
    “วิหาร” แปลว่า ที่อยู่
    “พรหมวิหาร ๔” แปลว่า ที่อยู่ของพรหม หรือว่า คุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพรหม หรือว่า คุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นผู้ใหญ่ก็ได้ เพราะอะไร เพราะว่าผู้ใหญ่ต้องเป็นพรหมหรือคนที่เป็นพรหมก็คือผู้ใหญ่
    คำว่า “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่คนแก่ ไปถืออายุเป็นสำคัญนี้ไม่ได้ ผู้ใหญ่นี้ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ของอายุ ผู้ใหญ่นี้อยู่ในเกณฑ์ของคุณธรรม คือทรง “พรหมวิหาร ๔” แล้วก็ละ “อคติ ๔” นี่เรียกว่าผู้ใหญ่
    “พรหมวิหาร ๔” มี เมตตา ความรักๆ เสมอกัน กรุณา มีความสงสารๆ เสมอกัน มุทิตา ไม่อิจฉาริษยาเมื่อคนทุกคนหรือใครคนใดคนหนึ่งได้ดี เรายินดีกับความดีของบุคคลนั้น อุเบกขา ถ้าสิ่งใดเกินวิสัยเกิดขึ้นถ้าปราก”ฏ ก็เป็นอันว่าเราวางเฉย เพราะมันเป็นสิ่งเกินวิสัย นี่ไม่ยาก…
    นี่ผู้ใหญ่ก็ต้องทรงคุณธรรม ๔ ประการ แล้วก็ต้องเว้นความเลว ๔ ประการ คือ “อคติ” แปลว่า ลำเอียง
    ลำเอียงเพราะความรัก
    ลำเอียงเพราะความโกรธ
    ลำเอียงเพราะความกลัว
    ลำเอียงเพราะความหลง
    “ไอ้นี่ทำไม่ดี เวลาขอบำเหน็จไม่ให้”
    “ไอ้เจ้านี่ดีแต่รับราชการอยู่ที่สำนักงาน มาที่บ้านนี่อะไรใช้ไม่ได้เลย ปีนี้ไม่ขอบำเหน็จให้”
    อย่างนี้เขาเรียกว่า ลำเอียงเพราะความรัก ลำเอียงไม่ขอให้เพราะความรัก
    “เจ้าคนนี้นี่เป็นลูกเจ้าลูกนาย ลูกใต้บังคับบัญชา มันจะทำงานดีหรือไม่ดีก็ช่างมันเถอะ! เดี๋ยวผู้บังคับบัญชาจะว่าจะเกลียดเรา ปีนี้ต้องขอให้ ๒ ขั้น”
    อันนี้ ลำเอียงเพราะความกลัว บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! ลำเอียงเพราะความกลัวยังไง เพราะเราเป็นผู้บังคับบัญชาจะไปกลัวลูกน้องได้ยังไง นี่ไอ้กลัวน่ะเขากลัวตรงนี้ กลัวพ่อกลัวแม่เขาจะไม่พิจารณาความดีของเราก็เลยขอให้ ๒ ขั้น ทั้งๆ ที่คนนั้นไม่ได้สร้างความดี
    นี่เป็นอันว่า ลำเอียงด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม ใช้ไม่ได้ คนนั้นเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ แต่ว่าการลงโทษ หรือว่าการขอบำเหน็จจะให้ไม่เท่ากันได้ พิจารณาความประพฤติเป็นสำคัญหรือยึดระเบียบเป็นสำคัญ
    ตามสุภาษิตเขามีว่า “ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ ๑ ขั้น” เขาว่าอย่างนั้นนะ บางทีคนขี้เกียจมันก็ไม่ได้ขั้นเหมือนกัน ถ้าขยันได้ขั้น แต่ว่าระเบียบเขามีอย่างนั้น
    ทีนี้ในเมื่อความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ แต่ว่าทำไม่ถูกใจผู้บังคับบัญชาไม่ให้ขั้น อย่างนี้เป็นลำเอียง ทีนี้ในเมื่อระเบียบเขาบอกว่า “ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏได้ ๑ ขั้น” เราก็ขอไปตามระเบียบ ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงเขาจะให้หรือไม่ให้ นี่มันเป็นเรื่องของเขา
    ทีนี้บางคนมีความชั่วมี ความดีก็ปรากฏ แต่ความจริงเวลาทำดีๆ นิดเดียว แต่ว่าบังเอิญไปหนีเวรหนียามเข้า เขาก็ต้องสั่งขัง ทหารน่ะถ้าสั่งขังไม่ให้เงินเดือนขึ้นน่ะ ถ้าเห็นว่า เอ๊ะ! เจ้านี่มันดีย่องไปขอเงินเดือนขึ้นใช้ไม่ได้ ขาดคุณธรรมของความเป็นผู้ใหญ่ เพราะต้องปฏิบัติไปตามระเบียบ ขึ้นชื่อว่าระเบียบต้องเป็นระเบียบ ถ้าปฏิบัติตามระเบียบ ขึ้นชื่อว่าเราเป็นผู้ใหญ่ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ จะมาหาว่าเราใจร้ายไส้ระกำ อันนี้ใช้ไม่ได้
    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย สำนักงานของเรามันก็เลวหมด แล้วยิ่งทหารด้วยแล้วก็ไปกันใหญ่ มีกำลังมากเท่าไรก็ตามถ้าไม่มีระเบียบวินัยก็เจ๊ง!
    “พรหมวิหาร ๔” นี่ท่านบอกว่าเป็นที่อยู่ของพรหม หรือว่าที่อยู่ของผู้ประเสริฐ คนใดถ้าทรง “พรหมวิหาร ๔” จะเป็นพระก็ตาม เณรก็ตาม ผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม ท่านผู้นี้ไม่มีศีลขาด ความจริงศีลน่ะไม่ต้องรักษาก็ได้ ถ้ามีพรหมวิหาร ๔ เสียอย่างเดียว ศีลก็ไม่ขาด สมาธิก็ตั้งมั่น เรียกว่า มีฌานตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะว่าการที่เราปฏิบัติพระกรรมฐานด้านสมถภาวนาต้องการให้จิตเป็นฌาน
    คำว่า “ฌาน” ก็คือ มีอารมณ์เยือกเย็น ไม่เป็นเวรเป็นภัยกับใคร จิตน้อมไปในส่วนของกุศล นี่เรียกว่า “สัมมาสมาธิ” ฝ่ายเรานี่เป็นฝ่ายสัมมาสมาธิ ไม่ใช่ “มิจฉาสมาธิ” ฝ่ายชาวบ้านที่เขามีความประพฤติเป็นอันธพาล ที่เขาตั้งใจทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นสมาธิเหมือนกัน เขาเรียกว่า “มิจฉาสมาธิ” ฝ่ายในด้านพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้เป็นสัมมาสมาธิ
    ทีนี้เราก็นั่งดู “พรหมวิหาร ๔”
    เมตตา ความรัก คนเราถ้ารักเสียอย่างเดียว มีเมตตา เราจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้ไหม ไอ้คนที่เรารักใครจะอยากฆ่า
    กรุณา ความสงสาร เราสงสารเขาอยู่เราก็ฆ่าเขาไม่ได้
    นี่แค่ ๒ ตัว เรารักด้วย เราสงสารเขาด้วย เราจะขโมยของเขาได้ไหม เราก็ขโมยไม่ได้ เรากลั่นแกล้งเขา ทำลายความรักของเขาในข้อที่เรียกว่า “กาเม” เราก็ทำไม่ได้ ทีนี้ในเมื่อเรามีความรักเรามีความสงสาร เราจะไปนั่งโกหกคนที่เรารักเราสงสารได้ยังไง ทำไม่ได้
    ถ้าหากว่าเรามี “พรหมวิหาร ๔” ทีนี้เราก็นึกสิเราจะกินเหล้า ไอ้คนกินเหล้ามันเมา สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แล้วคนใต้บังคับบัญชาหรือคนในปกครอง หรือคนที่เราร่วมกันอยู่ ถ้าเราทำตัวไม่ดีแล้ว มันก็ไม่ได้ เขาก็ไม่คบ ถ้าเราสงสารเขาเราก็ไม่กล้าเมาเหมือนกัน
    เป็นอันว่าการมี “พรหมวิหาร ๔” อย่างเดียวคุมศีลได้หมด ๕ ตัว อย่าว่าแต่ ๕ ตัวเลย ๘ ตัว ๑๐ ตัว หรือ ๒๒๗ ตัวก็คุมได้ ใช่ไหม นี่จึงบอกว่า ถ้ามี “พรหมวิหาร ๔” อย่างเดียว ศีลบริบูรณ์สมบูรณ์ทุกอย่าง นี่ว่ากันถึงเรื่องศีลนะ
    ทีนี้มาว่ากันถึงเรื่อง “สมาธิ” ถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์ก็ลองคิดดู คนที่จะมีอารมณ์เป็นสมาธิได้ ต้องมีจิตใจเยือกเย็น ไม่กระวนกระวาย ไม่มีความเดือดร้อน แล้วก็พิจารณาถึงพรหมวิหาร ๔ ว่าคนที่มีความรัก รักคนและสัตว์ทั้งหมดเสมอด้วยตนเอง มีความสงสารมีความปรารถนาจะให้คนและสัตว์ทั้งหมดมีความเป็นสุข
    แล้วก็ มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร
    อุเบกขา ในเมื่อสิ่งใดเป็นเหตุเกินวิสัยที่เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เราถือว่าสิ่งนั้นเป็นกฎของกรรม วางเฉย
    ทีนี้คนที่มี “พรหมวิหาร ๔” ก็ดูกำลังใจ กำลังใจเขาเป็นสุข มีความเยือกเย็นไม่โกรธ
    ๑. มีความรัก อารมณ์ประทุษร้ายมันก็ไม่มี
    ๒. สงสาร อารมณ์ประทุษร้ายมันก็ไม่มี
    ๓. มีจิตอ่อนโยน เห็นใครเขาดี เราก็ไม่อิจฉาริษยา ความเยือกเย็นใจมันก็ปรากฏ
    ๔. อุเบกขา ถ้าความเพลี่ยงพลํ้า หรือกฎธรรมดาเกิดขึ้น สิ่งที่เราห้ามไม่ได้อย่างร่างกายของเรามันจะแก่ เราห้ามไม่ได้ ไอ้ของที่มันจะแก่พอเกิดมาแล้วมันต้องแก่ ร่างกายของเรามันจะป่วยไข้ไม่สบาย ไอ้นี่เราก็รู้ว่าเราห้ามไม่ได้ว่าร่างกายของเรามันจะพัง ที่เราเองเรียกว่าตาย เราห้ามไม่ได้ สิ่งที่ห้ามไม่ได้ทั้งหลายเหล่านี้ปรากฏ อารมณ์จิตของคนที่มีพรหมวิหาร ๔ ไม่เดือดร้อน มีอารมณ์วางเฉยที่เรียกว่า “อุเบกขา” ทำใจสบายถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
    แล้วท่านจะเห็นว่ามันจะเป็นฌานไหม “พรหมวิหาร ๔” นี่ถ้าทรงเป็นปกติเป็นฌาน ๔ อุเบกขานี่เป็นอาการของฌาน ๔ เขาน่ะ ลองไล่ฌานทั้ง ๔
    ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตก-นึก วิจาร-ใคร่ครวญ ปีติ-ความอิ่มใจ เอกัคคตา-มีอารมณ์เป็นอันเดียว เป็นตัวสมาธิ
    ทีนี้ ฌานที่ ๒ ตัด วิตก วิจาร ทิ้งไป อารมณ์ภาวนาไม่มี เหลือ ๓ ตัว เหลือ ปีติ ความอิ่มใจ สุข ความสุขเยือกเย็นมีความสบาย เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นอันเดียว
    ฌานที่ ๓ ตัด ปีติ ทิ้งไปเหลือ สุข ความสบายกับ เอกัคคตา ๒ ตัว
    ฌานที่ ๔ ตัดตัว สุข ทิ้งไป เหลือ เอกัคคตา ตัวเดียว แถม อุเบกขา เข้ามาด้วย ถึงฌานที่ ๔ อุเบกขา มันเข้ามารวม คนที่มี “พรหมวิหาร ๔” ต้องมี อุเบกขา
    นี่เป็นอันว่าคนที่ทรงจิตอยู่ใน “พรหมวิหาร ๔” ก็จัดว่าเป็น “ผู้ทรงฌาน ๔” นี่ว่ากันถึงด้านฌาน
    อุเบกขา ไม่ใช่ว่ามันเฉยจนกระทั่งว่ามันไม่คิดอะไร ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น คือเขาเฉยต่ออารมณ์ของความชั่ว เฉยต่ออาการที่เราไม่สามารถจะห้ามปรามได้ อย่างตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้น ตอนเย็นพระอาทิตย์ลับ สิ่งเหล่านี้เราห้ามไม่ได้ เราก็ไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ ไม่มีความกระวนกระวายใจ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
    ทีนี้ก็มาอีกทีหนึ่งมาถึงตัวเรา ที่เขาเรียกว่า “สังขารุเปกขาญาณ” โดยเฉพาะในด้านวิปัสสนาญาณ ในเมื่อร่างกายมันจะป่วยไข้ไม่สบายเราห้ามมันไม่ได้ เพราะว่าเราเกิดมาเพื่อป่วย มันป่วยจริงๆ เราก็หาหมอเหมือนกัน แล้วก็คิดไว้ในใจว่า หมอรักษาหายก็หาย มันจะตายก็เรื่องของมัน มันเป็นเรื่องธรรมดา เราเกิดมาเพื่อตาย เมื่อความป่วยไข้ไม่สบายปรากฎ ก็ไม่ทุรนทุรายจนเกินไป การหาหมอมารักษาก็เป็นการระงับเวทนา
    ทีนี้หากว่าอาการป่วยไข้ไม่สบายไม่ปรากฏ ความแก่มันปรากฏ ความจริงคนเรานี่ไม่ชอบแก่ แต่มันก็เดินเข้าไปหาความแก่ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก ในเมื่อความแก่เฒ่าปรากฏ เราก็ไม่หนักใจ วางเฉย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องแก่ มันแก่แล้วมันจะตายมันก็ห้ามไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
    คำว่า “เฉย” ในที่นี้ก็หมายความว่าจิตไม่กระวนกระวาย นี่เป็นอาการของฌาน ๔
    คนที่ทรงพรหมวิหาร ๔ นี่ก็คุมทั้งศีล คุมได้ทั้งสมาธิ และวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณตัวสุดท้ายคือ วิปัสสนาญาณตัวที่ ๘ เรียกว่า “สังขารุเปกขาญาณ” เขาแปลว่า มีความวางเฉยในเรื่องของสังขาร เห็นไหม ก็คุมหมดเลยไม่เหลือเลย
    นี่ถ้าท่านที่ทรง “พรหมวิหาร ๔” ถ้าไม่ใช้วิปัสสนาญาณจิตทรงแต่ “พรหมวิหาร ๔” อย่างเดียวปกติ มีอารมณ์รักคนและสัตว์นอกจากตัวเรารักเหมือนตัวเรา ไม่คิดประทุษร้ายใคร สงสารคนอื่นและสัตว์อื่นๆ นอกจากตัวเราเหมือนกับเรา ปรารถนาจะเกื้อกูลให้มีความสุข ไม่อิจฉาริษยาใคร เมื่อใครได้ดีก็พลอยยินดีด้วย อุเบกขาเมื่อสิ่งใดที่ห้ามปรามไม่ได้ ก็วางเฉยไม่เดือดร้อนเพียงแค่นี้ ท่านบอกว่าตายจากความเป็นมนุษย์ก็เกิดเป็นพรหมเลย
    นี่ถ้าเราฉลาดเสียอย่างเดียว หากินแค่ “พรหมวิหาร ๔” ก็เหลือกินเหลือใช้ ยังไงก็หนีนรกไปนอนที่พรหมได้แล้ว แต่ระวังให้ดีนะ! จะกลายเป็นพรหมหล่นลงมาเช็ดเท้า เป็นพรมเช็ดเท้า ก็ยังดีไม่ลงนรกนะ
    นี่เป็นอันว่า “พรหมวิหาร ๔” นี่เป็นของดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพวกเราทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ จิตมันมีความสุข มันมีความสุขจริงๆ มันไม่มีความกระวนกระวายอะไร มันจะยังไงก็ช่าง ถ้าเราไปถูกเขาด่าเข้า เขานินทาเข้า เราก็ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้เป็น “อุเบกขารมณ์”
    ถ้าเรามีความเกื้อกูลเขา เรามีความรักในเขา เราสงสาร เราสงเคราะห์เขา เรายินดีในเมื่อเขาได้ดีไม่อิจฉาริษยาอาการอย่างนี้ มันก็หาคนเกลียดยาก นอกจากไอ้คนเกินบาทไม่ถึงบาทก็อาจจะเกลียดได้ ถ้าคนครบบาทพอดีไม่มีใครเขาเกลียด ถ้าคนที่มีจิตเมตตา รักเขา เขาก็รักตอบ เราสงสารเขา เขาก็สงสารตอบ เราให้เขา เขาก็ให้ตอบ เราขาดเขาขาดสิ่งใดที่เราไม่มีเขาให้ สิ่งใดที่เขาไม่มีเราให้ มันก็เป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
    เวลาที่เขาได้ดีแทนที่เราจะอิจฉาริษยา เรากลับพลอยยินดีกับความดีที่เขามีอยู่ คนนั้นเขาก็เลยไม่เกลียดเราจริง คนที่รักเขาแล้วไม่มีคนเกลียด คนประเภทนี้ไปไหนก็มีแต่ความสุข เพราะพบแต่ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ใบหน้าที่สดชื่น เราจะไปพักที่ไหนก็ได้ไม่มีใครเขารังเกียจ หิวที่ไหน ขอเขากินที่นั่นเขาก็ให้เขาก็รัก
    นี่การเจริญ “พรหมวิหาร ๔” นี่มีสุขตั้งแต่ชาตินี้ไป ไปถึงชาติหน้าสุขมากกว่านี้คือเป็นสุข แล้วถ้าเวลานี้ใครเป็นพรหมเห็นจะไปนิพพาน เพราะอะไร เพราะ “พรหมวิหาร ๔” เป็นตัวคุมศีล คุมสมาธิให้บริสุทธิ์ คุมวิปัสสนาญาณให้บริสุทธิ์ ถ้าไปพบ พระศรีอาริย์ เข้าเจอะพระท่านเทศน์เข้า กระทบ “พรหมวิหาร ๔” คำเดียวเป็นอรหันต์เลย สวัสดี*



    ที่มา มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร
     

แชร์หน้านี้

Loading...