พระชินบัญชรคาถา

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 9 กันยายน 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    หนังสือที่ตีพิมพ์กันมากเป็นพิเศษเล่มหนึ่ง ก็คือ หนังสือคาถาชินบัญชร หลายสำนักพิมพ์มาพิมพ์เผยแพร่ เพราะเป็นที่สนใจของประชาชน
    หนังสือ “ชีวประวัติ-อภินิหาร พระคาถาชินบัญชร ของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ” ซึ่งรวบรวมโดยบุษยเทพย์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของคาถาชินบัญชรไว้ดังนี้
    “ที่มาของพระคาถาชินบัญชรนี้ จำต้องย้อนกล่าวไปถึงหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงผู้สร้างลายสือไทยให้เล่าเรียนเขียนอ่านกันมาจนถึงทุกวันนี้ ในหลักศิลาจารึกนั้นมีข้อความตอนหนึ่งจารึกไว้ว่า...”มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา” ซึ่งมีใจความว่า พระมหาเถระสังฆราชผู้เป็นปราชญ์ศึกษาเจนจบพระไตรปิฎกยิ่งกว่าภิกษุใดในกรุงสุโขทัยล้วนแต่มาจากเมืองนครศรีธรรมราช
    ก็แหละเมืองนครศรีธรรมราชนี้เองเป็นแหล่งที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่ง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเมืองลังกามากที่สุด จึงสันนิษฐานว่าพระคาถาชินบัญชรนี้เป็นของเก่าแก่โบราณกาล บังเกิดขึ้นในชมพูทวีป โดยพระอรหันตเถระเป็นผู้สร้างขึ้น แล้วถูกนำมาสู่ลังกาทวีป ต่อจากนั้นก็เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิประเทศ มาดุจเดียวกับพระพุทธสิงหิงค์
    มีซินแสผู้เฒ่าชาวจีนผู้หนึ่งเล่าว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านจาริกธุดงค์ไปทั่วราชอาณาจักร คราวหนึ่งท่านธุดงค์ไปถึงเมืองเพชร ท่านเป็นคนมีบุญวาสนาจึงได้พบพระคาถานี้ในเจดีย์ร้างแห่งหนึ่ง ท่านได้นำมาดัดแปลงตัดตอนแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น เพื่อไว้ใช้สำหรับปลุกเสกพระพิมพ์ผงสมเด็จของท่าน
    ฉะนั้นจึงเป็นที่นับถือกันโดยทั่วๆไปว่า พระคาถาชินบัญชรนี้ถ้าหากท่านผู้ใดได้เจริญภาวนาอยู่เป็นนิจศีล ก็จะเจริญด้วยสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล บังเกิดลาภผลมากมายคุ้มครองผองภัยอันตรายทั้งมวล ถึงแม้ว่าท่านผู้ใดจะไม่มีพระพิมพ์สมเด็จที่ท่านสร้างไว้สักการบูชาซึ่งเวลานี้มีมูลค่าเช่าสูงมาก ยิ่งกว่านั้นยังหาได้ยากยิ่ง ก็ขอจงสวดพระคาถาชินบัญชรนี้ไว้เป็นประจำ จะบันดาลสรรพคุณวิบูลย์ผลให้แก่ท่านเช่นกัน
    เมื่อพิจารณาดูคาถาชินบัญชรนี้โดยละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่าได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พระปริตรและพระสูตรทั้งปวงให้มาสถิตคุ้มครองอยู่ทั่วสกลกายของผู้เจริญภาวนาพระคาถานี้ โดยขอให้มีชัยชนะในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ
    พระราชวิสุทธิเวที (เที่ยง ป.ธ.๙) ได้กล่าวไว้ว่า
    “คาถานี้ใครท่องจำให้ขึ้นใจภาวนาทุกคืนวัน จะทำให้เกิดโชคลาภเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง บันดาลให้แคล้วคลาดปลอดภัย เหมือนมีพระสมเด็จอยู่กับตัว ตั้ง ๑๐๐ องค์"
    .......................................................................................................................................
    คัดลอกมาจาก ::
    หนังสือปริศนาธรรม สมเด็จฯโต
    เรียบเรียงโดย ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร

    คาถาชินบัญชรที่ท่านจะได้เห็นต่อไปนี้ เป็นฉบับที่ได้รับการตรวจทานโดยพระราชวิสุทธิเวที (เที่ยง ป.ธ.๙)
    พระชินบัญชรคาถา
    ๑ ชะยาสะนากะตา พุทธา
    เชตตะวา มารัง สะวาหะนัง
    จะตุสัจจาสะภัง ระสัง
    เย ปิวิงสุ นะราสะภา
    ๒ ตัณหังกะราทะโย พุทธา
    อัฏฐะวีสะติ นายะกา
    สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง
    มัตถะเก เต มุนิสสะรา
    ๓ สีเล ปะติฏฐิโต มัยหัง
    พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
    สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง
    อุเร สัพพะคุณากะโร
    ๔ หะทะเย เม อะนุรุทโธ
    สารีปุตโต จะ ทักขิเณ
    โกณทัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง
    โมคคัลลาโน จะ วามะเก
    ๕ ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง
    อาสุง อานันทะราหุลา๑
    กัสสะโป จะ มะหานาโม
    อุภาสุง วามะโสตะเก
    ๖ เกสะโต ปิฏฐิภาคัสมิง
    สุริโยวะ ปะภังกะโร
    นิสินโน สิริสัมปันโน
    โสภิโต มุนิปุงคะโว
    ๗ กุมาระกัสสะโป เถโร
    มะเหสี จิตตะวาทะโก
    โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง
    ปะติฏฐาสิ คุณากะโร
    ๘ ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ
    อุปาลีนันทะสีวะลี
    เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา
    นาลาเฏ ติละกา มะมะ
    ๙ เสสาสีติ มะหาเถรฯ
    วิชิตา ชินะสาวะภา
    เอตาสีติ๒ มะหาเถรา
    ชิตะวันโต ชิโนระสา
    ชะลันตา สีละเตเชนะ
    อังคะมังเคสุ สัณฐิตา
    ๑๐ ระตะนัง ปุระโต อาสิ
    ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
    ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ
    วาเม อังคุลิมาละกัง
    ๑๑ ขันธะโมระปะริตตัญจะ
    อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
    อากาเส ฉะทะนัง อาสิ
    เสสา ปาการะสัณฐิตา
    ๑๒ ชินาณาวะระสังยุตตา๓
    สัตตัปปาการะลังกะตา
    วาตะปิตตาทิสัญชาตา
    พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
    ๑๓ อะเสสา วินะยัง ยันตุ
    อะนันตะชินะเตชะสา
    วะสะโต เม สะกิจเจนะ
    สะทา สัมพุทธะปัญชะเร
    ๑๔ ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ
    วิหะรันตัง มะหีตะเล
    สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ
    เต มะหาปะริสาสะภา
    ๑๕ อิจเจวะมันโต
    สุคุตโต สุรักโข
    ชินานุภาเวนะ
    ชิตูปัททะโว
    ธัมมานุภาเวนะ
    ชิตาริสังโค
    สังฆานุภาเวนะ
    ชิตันตะราโย
    ๑๖ สัทธัมมานุภาวะปาลิโต
    จะรามิ ชินะปัญชะเรติ
    หมายเหตุ
    ๑. อาสุง เป็นพหูพจน์ อานันทะราหุลาจึงต้องเป็นพหูพจน์ตาม ส่วนมากพิมพ์เป็นอาสุง อานันทะราหุโล ซึ่งผิดไวยากรณ์
    ๒. เอตาสีติ – เอเต + อะสีติ เป็นโลปสระสนธิ คือ ลบเอที่เตออก คงเป็นเอตะ แล้วนำไปเชื่อมกับอะสีติ รัสสระ ๒ ตัว รวมกันต้องทีฆะ คือ ทำให้มีเสียงยาวจึงเป็นเอตาสีติ ดังกล่าว แปลว่า “พระมหาเถระ ๘๐ เหล่านั้น”
    ๓. ชินะ + อาณา เท่ากับ ชินาณา และ อาณา แปลว่า “อำนาจ” ส่วนมากพิมพ์เกินเป็น ชินานานา ซึ่งไม่รู้แปลว่าอย่างไร
    คำแปล
    พระพุทธะทั้งหลายทรงชนะมาร พร้อมทั้งเสนาพาหนะ เสร็จสู่พระที่นั่งแห่งชัยชนะแล้ว พระพุทธเหล่าใดเล่าทรงเป็นผู้ประเสริฐแห่งนรชน ทรงดื่มอมตรสแห่งสัจจะทั้งสี่แล้ว
    พระพุทธะทั้งหลาย ๒๘ พระองค์ มีพระตัณหังกร เป็นต้น ทรงเป็นพระนายกผู้นำโลก พระมุเนศวรจอมมุนีทุกพระองค์นั้น ทรงสถิตประทับบนกระหม่อมแห่งข้าพเจ้าฯ
    พระพุทธะทั้งหลายทรงสถิตประทับบนศีรษะ พระธรรมสถิตประทับที่ดวงตาของข้าพเจ้า พระสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณทั้งปวงสถิตประทับที่อุระของข้าพเจ้าฯ
    พระอนุรุทประทับที่หทัยของข้าพเจ้า พระสารีบุตรประทับที่เบื้องขวา พระโกณทัญญะประทับที่เบื้องหลัง พระโมคคัลลานะประทับที่เบื้องซ้ายฯ
    พระอานนท์และพระราหุลประทับที่หูเบื้องขวาของข้าพเจ้า พระกัสสปะและพระมหามานะทั้งสองประทับที่หูเบื้องซ้ายฯ
    พระโสภิตผู้เป็นมุนีที่แกล้วกล้า ถึงพร้อมด้วยสิริ เหมือนอย่างดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่าง ประทับที่สุดผมส่วนเบื้องหลังฯ
    พระเถระผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้มีวาทะอันวิจิตร ซึ่งพระกุมารกัสสปะผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณนั้นประทับที่ปากของข้าพเจ้าเป็นนิตย์ฯ
    พระเถระห้าพระองค์เหล่านี้ คือ พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ พระสีวลี เกิดเหมือนอย่างดิลก (รอยเจิม) ที่หน้าผากของข้าพเจ้าฯ
    พระมหาเถระทั้งหลาย ๘๐ ที่เหลือจากนี้ ผู้ชนะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธะผู้ทรงชนะ รุ่งเรืองด้วยเดชแห่งศีล สถิตอยู่ที่อังคาพยพทั้งหลาย
    พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตรเหมือนอย่างฟ้าครอบพระสูตรปริตรทั้งหลายที่เหลือกำหนดหมายเป็นปราการ (กำแพง)ฯ
    ขออุปัทวะ (เครื่องขัดข้อง) ทั้งภายนอกทั้งภายในทั้งหลายที่เกิดจากลมและน้ำดี เป็นต้น จงถึงความสิ้นไป ไม่มีเหลือ ด้วยเดชแห่งพระชินะผู้ไม่มีที่สิ้นสุดฯ
    เมื่อข้าพเจ้าอาศัยอยู่ด้วยกิจทั้ง ๔ อย่างในบัญชรแห่งพระสัมพุทธะประกอบด้วยลานเขตแห่งอาณาอำนาจแห่งพระพุทธะผู้ทรงชนะ ประดับด้วยปราการ ๗ ชั้น คือ พระธรรมทุกเมื่อฯ
    ขอพระมหาบุรุษผู้เลิศกล้าทั้งหลายทั้งปวงนี้นั้น โปรดอภิบาลข้าพเจ้าผู้สถิตในท่ามกลางแห่งพระชินบัญชรอยู่บนพื้นแผ่นดินฯ
    ข้าพเจ้ามีความรักษาดี โดยทำให้ครบถ้วนทุกทางอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ขอจงชนะอุปัทวะด้วยอานุภาพพระพุทธะ ผู้ทรงชนะข้าศึกขัดขวางด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์
    ขออานุภาพแห่งพระสัทธรรมอภิบาลประพฤติอยู่ในพระชินบัญชรเทอญฯ

    พระชินบัญชรคาถานี้ พระธรรมโกศาจารย์ (ต่อมาเป็นพระพิมลธรรม) แห่งวัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี ผู้เป็นปราชญ์ได้ประพันธ์เป็นคำสอนดังนี้
    บทสวดนมัสการพระคาถาชินบัญชร
    ข้าฯ ขอ เชิญเสด็จ พระสรรเพชญ พุทธองค์
    นรา สภาทรง พิชิตมาร และเสนา
    ยี่สิบ แปดพระองค์ นายกสงฆ์ ทรงสมญา
    ตัณหังกร เป็นต้นมา ทรงดื่มแล้ว ซึ่งรสธรรม
    จตุสัจ อันประเสริฐ ทรงคุณเลิศ ดิลกล้ำ
    ยอดบุญ พระคุณนำ ยิ่งเทพไท ไตรวิชชา
    โปรดรับ ประทับทรง ณ ที่ตรง กระหม่อมข้า
    พระพุทธ ธเจ้าสา- ธุประณม บังคมเชิญ
    ขอให้ พระพุทธะ สักกยะ พระจำเริญ
    ประทับ บนเศียรเทอญ ปราชญ์สรรเสริญ พระบารฒี
    ขอให้ พระธรรมะ อริยะ วิสุทธิ์ศรี
    ประทับ จักขุนทรีย์ ให้ข้ามี ปัญญาญาณ
    ขอให้พระสังฆะ วิสุทธะ คุณาจารย์
    สถิต ประดิษฐาน อุระข้า อย่ารู้ไกล
    ให้พระ อนุรุทธิ์ บริสุทธิ์ อยู่หทัย
    พระสา รีบุตรไพ- โรจนัย ณ เบื้องขวา
    เบื้องหลัง พระโกณทัญ- ญะสถิต จิตตสา
    เบื้องซ้าย พระโมคคัลลา- นะสถิต จิตตสา
    หูขวา พระอานนท์ ประชุมชน ประณมกร
    พระราหุล อุดมพร สถิตร่วม จรัญญา
    หูซ้าย พระกัสสป นิราศภพ กิตติมา
    คู่กับ พระมหา นามสถิต ประดิษฐาน
    พระพุท ธะโสภิต ผู้เรืองฤทธิ์ อุดมญาณ
    จอมมุนี วีระหาญ ไตรวิชชา ประภากร
    ดุจดวง พระอาทิตย์ แรงร้อยฤทธิ์ พันแสงศร
    สถิตเกศ อุดมกร ปัจฉิมภาค พิบูลพรรณ
    พระกุมา-ระกัสสป ผู้เจนจบ วจีสัณห์
    บ่อคุณ คุณานันต์ สถิตโอษฐ์ อลังการ
    ขอให้ พระปุณณะ เถระพระ อังคุลิมาล
    พระอุ-บาลีศานต์ พระนันทะ พระสีวลี
    บรรจบเป็นเบญจะ พระเถระ ผู้เรืองศรี
    สถิตอยู่ นลาตมี เสน่ห์ดี ไมตรีตาม
    แปดสิบ พระสาวก มนต์สาธก ผู้เรืองนาม
    เรืองเดช ทุกโมงยาม ด้วยลีลา ธิคุณคง
    สถิตทั่ว ทุกส่วนกาย ทั้งน้อยใหญ่ ประทับทรง
    เป็นคุณ จำเริญมง คณะเลิศ ประเสริฐศรี
    ขอเชิญ พระปริตร อันศักดิ์สิทธิ์ ในแดนศรี
    เมตตา และปรานี บริรักษ์ นิราศภัย
    เบื้องหน้า รัตนสูตร ธรรมาวุธ อันเกรียงไกร
    ทักษิณ อันฤาชัย เมตตาสูตร พระพุทธมนต์
    ปัจฉิม ธชัคคสูตร พุทธาวุธ วิเศษล้น
    อุดร มหามนต์ อังคุลิมา ละสูตรเสริม
    ขันธโม ระปริตร ดังจักรกฤช ประสิทธิ์เฉลิม
    อาฏานา ฏสูตรเดิม พระขรรค์เพชร เผด็จมาร
    เพดานกั้น มารอากาศ ให้ปลาส เกษมศานต์
    อีกให้ เป็นปราการ กำแพงแก้ว กำจัดภัย
    กำแพง แก้วเจ็ดชั้น ดำรงมั่น เดโชชัย
    พระชินราช ประสาทให้ เป็นเกาะใหญ่ คุ้มครองตน
    ด้วยเดช พระชินศรี เรืองฤทธี มากเหลือล้น
    กำจัดภัย ทุกแห่งหน ทั้งวิบัติ อุปัททวา
    ทั้งภายนอกและภายใน เกิดเป็นภัย ไม่นำพา
    เพียงลมร้าย พัดไปมา ไม่บีฑา อย่าอาวรณ์
    เมื่อข้า สวดพระสูตร พระสัมพุท ธบัญชร
    สูงสุด พุทธพร ในพื้นเม ธนีดล
    กลางชิน นะบัญชร คุณากร กิตติพล
    หวังใด ให้เป็นผล จากกุศล สาธยาย
    ขอมวล มหาบุรุษ หน่อพระพุท ธฤาสาย
    รักษา ข้าอย่าคลาย ตลอดกาล นิรันดร
    อีกเวทมนตร์ ดลคาถา ที่มวลข้า ประณมกร
    เล่าเรียน เพียรว่าวอน อนุสรณ์ ตลอดมา
    เป็นคุณ คุ้มครองดี อย่าให้มี ซึ่งโรคา
    เป็นคุณ ช่วยรักษา สรรพภัย ไม่แผ้วพาน
    อานุภาพ พระชินะ อุปัทวะ อย่ารู้หาญ
    ห่างไกล ไม่ระราน ประสบงาน สวัสดี
    อานุภาพ พระธรรมะ ให้ชำนะ ความอัปรีย์
    ห่างไกล คนใจผี กาลกิณี ไม่กล้ำกราย
    อานุภาพ พระสังฆะ ให้ชำนะ อันตราย
    ไม่เห็น คนใจร้าย ไม่มั่นหมาย มาราวี
    อานุภาพ พระสัทธรรม ทุกเช้าค่ำ รักษาศรี
    จำรัส จำเริญดี ร่มพระศรี ชินบัญชรฯ

    ....พระคาถาชินบัญชรนี้ ถ้าจะภาวนาให้ได้ผลดีแล้ว ควรจะได้นำเอาพระคุณของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย มาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ชีวิตของท่านก็จะเจริญรุ่งเรืองในทางดีงาม
    ....อย่างน้อยที่สุดควรจะต้องตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ถือเป็นคนดีมีศีลธรรม ซึ่งในหนังสือธรรมนูญชีวิต ของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ว่า “คนดีมีศีลธรรม หรือมีมนุษยธรรม ที่เรียกได้ว่าเป็นอารยชน มีธรรมคือคุณสมบัติ ดังนี้
    ก. มีสุจริตทั้งสาม คือ มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ๓ ประการ
    .......๑. กายสุจริต ความสุจริตทางกาย ทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ประพฤติชอบด้วยกาย
    .......๒. วจีสุจริต ความสุจริตทางวาจา พูดสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ประพฤติชอบด้วยวาจา
    .......๓. มโนสุจริต ความสุจริตทางใจ คิดสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ประพฤติชอบด้วยใจ
    ข. ประพฤติตามอารยธรรม โดยปฏิบัติถูกต้องตามทางแห่งกุศลกรรม ๑๐ ประการ คือ
    .......- ทางกาย ๓
    ..............๑. ละเว้นการฆ่า การสังหาร การบีบคั้นเบียดเบียน มีเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลสงเคราะห์กัน
    ..............๒. ละเว้นการแย่งชิงลักขโมย และการเอารัดเอาเปรียบ เคารพสิทธิในทรัพย์สินของกันและกัน
    ..............๓. ละเว้นการประพฤติผิดล่วงละเมิดในของรักของหวงแหนของผู้อื่น ไม่ข่มเหงจิตใจ ทำลายลบหลู่เกียรติและวงศ์ตระกูลของกัน
    .......- ทางวาจา ๔
    ..............๔. ละเว้นการพูดเท็จ โกหกหลอกลวง กล่าวแต่คำสัตย์ ไม่จงใจพูดให้ผิดจากความจริง เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ใดๆ
    ..............๕. ละเว้นการพูดส่อเสียด ยุยง สร้างความแตกแยก พูดแต่คำที่สมานและส่งเสริมสามัคคี
    ..............๖. ละเว้นการพูดคำหยาบคาย สกปรกเสียหาย พูดแต่คำสุภาพนุ่มนวล ควรฟัง
    ..............๗. ละเว้นการพูดเหลวไหลเพ้อเจ้อ พูดแต่คำจริง มีเหตุมีผล มีสารประโยชน์ ถูกกาลเทศะ
    .......- ทางใจ ๓
    ..............๘. ไม่ละโมบ ไม่เพ่งเล็งคิดหาทางเอาแต่จะได้ คิดให้ คิดเสียสละ ทำใจให้เผื่อแผ่กว้างขวาง
    ..............๙. ไม่คิดร้ายมุ่งเบียดเบียน หรือเพ่งมองในแง่ที่จะทำลาย ตั้งความปราถนาดี แผ่ไมตรี มุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่กัน
    ..............๑๐. มีความเห็นถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ เข้าใจในหลักกรรมว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่ว รู้เท่าทันความจริงที่เป็นธรรมดาของโลกและชีวิต มองเห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
    ....ธรรม ๑๐ ข้อนี้ เรียกว่า กุศลกรรมบถ (ทางทำกรรมดี) บ้าง ธรรมจริยา บ้าง อารยธรรม บ้าง เป็นรายละเอียดขยายความสุจริต ๓ ข้อ ข้างต้นด้วย คือ ข้อ ๑ – ๓ เป็นกายสุจริต ข้อ ๔-๗ เป็นวจีสุจริต ข้อ ๕-๑๐ เป็น มโนสุจริต (ม.มู. ๑๒/๔๘๕/๕๒๓)
    ค. อย่างต่ำมีศีล ๕ หลักความประพฤติ ๑๐ ข้อต้นนั้น เป็นธรรมจริยา และเป็นอารยธรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำคนให้เจริญขึ้นพร้อมทั้ง ทางกาย ทางวาจา และทางใจ แต่ผู้ใดยังไม่มั่นคงในอารยธรรม ท่านสอนว่าผู้นั้นพึงควบคุมตนให้ได้ในทางกายและวาจาก่อนเป็นอย่างน้อย ด้วยการประพฤติตามหลัก ศีล ๕ ที่เป็นส่วนเบื้องต้นของธรรมจริยา ๑๐ ประการนั้น ก็ยังจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีศีลธรรม คือ
    .......๑. เว้นจาปาณาติบาต ละเว้นการฆ่าการสังหาร ไม่ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย
    .......๒. เว้นจากอทินนาทาน ละเว้นการลักขโมยเบียดบังแย่งชิง ไม่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน
    .......๓. เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ละเว้นการประพฤติผิดในกาม ไม่ประทุษร้ายต่อของรักของหวงแหน อันเป็นการทำลายเกียรติภูมิและจิตใจ ตลอดจนทำวงศ์ตระกูลของเขาให้สับสน
    .......๔. เว้นจากมุสาวาท ละเว้นการพูดเท็จโกหกหลอกลวง ประทุษร้ายเขาหรือประโยชน์สุขของเขาด้วยวาจา
    .......๕. เว้นจากสุราเมรัย ไม่เสพเครื่องดองของมึนเมาสิ่งเสพติดอันเป็นเหตุให้เกิดความประมาทมัวเมา ก่อความเสียหายผิดพลาดเพราะขาดสติ

    ....ในฐานะที่ท่านเป็นพุทธศาสนิกชน ท่านจะต้องมีหลักปฏิบัติที่จะแสดงถึงความเป็นอุบาสก อุบาสิกา มีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ในธรรมนูญชีวิตของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ดังนี้
    ก. เกื้อกูลพระ โดยปฏิบัติต่อพระสงฆ์ เสมือนเป็นทิศเบื้องบน ดังนี้
    .......๑. จำทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
    .......๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
    .......๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
    .......๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
    .......๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔
    (ที. ปา. ๑๑/๒๐๘/๒๐๖)
    ข. กระทำบุญ คือ ทำความดีด้วยวิธีการต่างๆที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ (เรื่องที่จัดว่าเป็นการทำบุญ) ๓ อย่าง คือ
    .......๑. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันทรัพย์สิ่งของ
    .......๒. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีปฏิบัติชอบ
    .......๓. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจให้เจริญด้วยสมาธิ และปัญญา
    ....และควรเจาะจงทำบุญบางอย่างที่เป็นส่วนรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีก ๗ ข้อ รวมเป็น ๑๐ อย่างคือ
    .......๔. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติสุภาพอ่อนน้อม
    .......๕. ไวยาวัจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ให้บริการบำเพ็ญประโยชน์
    .......๖. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการทำความดี
    .......๗. ปัตตานุโทนามัย ทำบุญด้วยพลอยยินดีในการทำความดีของผู้อื่น
    .......๘. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรม ศึกษาหาความรู้ที่ปราศจากโทษ
    .......๙. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์
    .......๑๐. ทิฏฐชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง ให้เป็นสัมมาทิฐิ
    (ที.ปา. ๑๑/๒๒๘/๓๓๐ว ที.อ.ต./๑๓)
    ค. คุ้นพระศาสนา ถ้าจะปฏิบัติให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น ถึงขั้นเป็นอุบาสก อุบาสิกา คือผู้ใกล้ชิดพระศาสนาอย่างแท้จริง ควรตั้งตนอยู่ในธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก เรียกว่า อุบาสกธรรม ๗ ประการ คือ
    .......๑. ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ
    .......๒. ไม่ละเลยการฟังธรรม
    .......๓. ศึกษาในอธิศีล คือ ฝึกอบรมตนให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติรักษาศีลขั้นสูงขึ้นไป
    .......๔. พรั่งพร้อมด้วยความเลื่อมใส ในพระภิกษุทั้งหลายทั้งที่เป็นเถระ นวกะและปูนกลาง
    .......๕. ฟังธรรมโดยมิใช่จะตั้งใจคอยจ้องจับผิด หาช่องที่จะติดเตียน
    .......๖. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา
    .......๗. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นต้น คือ เอาใจใส่ทำนุบำรุง และช่วยกิจการพระพุทธศาสนา
    (อง. สตตก. ๒๓/๒๗/๒๖)
    ง. เป็นอุบาสกอุบาสิกาชั้นนำ อุบาสก อุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติที่เรียกว่า อุบาสกธรรม ๕ ประการคือ
    .......๑. มีศรัทธา เชื่อมีเหตุผล มั่นในคุณพระรัตนตรัย
    .......๒. มีศีล อย่างน้อยดำรงตนได้ในศีล ๕
    .......๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล มุ่งหวังผลการกระทำ มิใช่จากโชคลาง หรือสิ่งที่ตื่นกันไปว่าขลังศักดิ์สิทธิ์
    .......๔. ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกหลักคำสอนนี้
    .......๕. เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา
    (อง. ปญจก. ๒๒/๑๓๕/๒๓๐)
    จ. หมั่นสำรวจความก้าวหน้า กล่าวคือ โดยสรุปให้ถือธรรมที่เรียกว่าอารยวัฒิ ๕ ประการ เป็นหลักวัดความเจริญในพระศาสนา
    .......๑. ศรัทธา เชื่อถูกหลักพระศาสนา ไม่งมงายไขว้เขว
    .......๒. ศีล ประพฤติและเลี้ยงชีพสุจริต เป็นแบบอย่างได้
    .......๓. สุตะ รู้เข้าใจหลักพระศาสนาพอแก่การปฏิบัติและแนะนำผู้อื่น
    .......๔. จาคะ เผื่อแผ่เสียสละ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ควรช่วย
    .......๕. ปัญญา รู้เท่าทันโลกและชีวิต ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้
    (อง. ปญจก. ๒๒/๖๓-๔/๘๑-๒)

    ....และเพื่อความก้าวหน้าและความสำเร็จของชีวิต ไม่ว่าจะในด้านการศึกษาหรือการประกอบอาชีพการทำงาน ก็ควรจะต้องปฏิบัติ ตามหลักที่กล่าวไว้ในธรรมนูญชีวิต หนังสือสำคัญเล่มนั้น ดังนี้
    ก. หลักความเจริญ ปฏิบัติตามหลักธรรม ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญ รุ่งเรือง ที่เรียกว่า จักร (ธรรมประดุจล้อทั้งสี่ที่นำรถไปสู่จุดหมาย) ซึ่งมี ๔ ข้อคือ
    .......๑. ปฏิรูปเทสวาสะ เลือกอยู่ถิ่นที่เหมาะ คือ เลือกหาถิ่นที่อยู่หรือแหล่งเล่าเรียนดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งมีบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่อำนวยแก่การศึกษาพัฒนาชีวิต การแสวงหาธรรมหาความรู้ การสร้างสรรค์ความดีงาม และความเจริญก้าวหน้า
    .......๒. สัปปุริสูปัสสยะ เสาะเสวนาคนดี คือ รู้จักเสวนาคบหาหรือร่วมหมู่กับบุคคลผู้รู้ผู้ทรงคุณ และผู้ที่จะเกื้อกูลแก่การแสวงหาธรรมความรู้ ความก้าวหน้า งอกงาม และความเจริญโดยธรรม
    .......๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ถูกวิธี คือ ดำรงตนมั่นอยู่ในธรรม และทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ตั้งเป้าหมายชีวิตและการงานให้ดีงามแน่ชัด และนำตนไปถูกทางสู่จุดหมายแน่วแน่มั่นคง ไม่พร่าส่ายไม่ไถลเชือนแช
    .......๔. ปุพเพกตปุญญตา มีทุนดีได้เตรียมไว้ ทุนดีส่วนหนึ่งคือความมีสติปัญญา ความถนัด และร่างกายดี เป็นต้น ที่เป็นพื้นมาแต่เดิม และอีกส่วนหนึ่งคือ อาศัยพื้นเดิมเท่าที่ตัวมีอยู่ รู้จักแก้ไขปรับปรุงตน ศึกษาหาความรู้ สร้างเสริมคุณสมบัติความดีงาม ฝึกฝนความชำนิชำนาญเตรียมไว้ก่อนแต่ต้น ซึ่งเมื่อมีเหตุต้องใช้ก็จะเป็นผู้พร้อมที่จะต้องรับความสำเร็จสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์สุขและก้าวสู่ความเจริญยิ่งๆขึ้นไป
    (อง. จตุกก ๒๑/๓๑/๔๑)
    ข. หลักความสำเร็จ ปฏิบัติตามหลักธรรม ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งกิจการนั้นๆที่เรียกว่า อิทธิบาท (ธรรมให้ถึงความสำเร็จ) ซึ่งมี ๔ ข้อ คือ
    .......๑. ฉันทะ มีใจรัก คือ พอใจจะทำสิ่งนั้น และทำด้วยใจรัก ต้องการทำให้เป็นผลสำเร็จอย่างดีแห่งกิจหรืองานที่ทำ มิใช่สักว่าทำพอให้เสร็จๆ หรือเพียงเพราะอยากได้รางวัลหรือผลกำไร
    .......๒. วิริยะ พากเพียรทำ คือ ขยันหมั่นเพียรประกอบ หมั่นกระทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย
    .......๓. จิตตะ เอาจิตฝักใฝ่ คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ใช้ความคิดในเรื่องนั้นบ่อยๆเสมอๆ
    .......๔. วิมังสา ใช้ปัญญาสอบสวน คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนเกินเลย บกพร่องขัดข้อง เป็นต้น ในสิ่งที่ทำนั้น โดยรู้จักทดลอง วางแผน วัดผล คิดค้นวีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
    (ที.ปา. ๑๑/๒๓๑/๒๓๓)
    ค. หลักเผล็ดโพธิญาณ ดำเนินตามพระพุทธปฏิปทา ด้วยการปฏิบัติตามะรรม ๒ อย่าง ที่เป็นเหตุให้พระองค์บรรลุสัมโพธิญาณ เรียกว่า อุปัญญาตธรรม (ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเห็นคุณประจักษ์กับพระองค์เอง) คือ
    .......๑. อลันตุฏฐิตา กุสเลสุ ธัมเมสุ ไม่สันโดษ ในกุศลธรรม คือ ไม่รู้อิ่ม ไม่รู้พอ ในการสร้างความดีและสิ่งที่ดี
    .......๒. อัปปฏิวาณิตา จะ ปธานัสมิง บำเพ็ญเพียรไม่ระย่อ คือ เพียรพยายามก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ยอมถอยหลัง ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมท้อถอยต่ออุปสรรคและความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก
    (ที.ปา. ๑๑/๒๒๗/๒๒๓)

    ....หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งจะทำให้ชีวิตเกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจอย่างมีความหมาย หนังสือธรรมนูญชีวิตกล่าวไว้ดังนี้
    ....คนที่จะเรียกได้ว่า รู้จักหารู้จักใช้ทรัพย์ หรือหาเงินเป็นใช้เงินเป็น เป็นคนทำมาหากินที่ดี ตั้งตัวสร้างหลักฐานได้ และใช้ทรัพย์สมบัติให้เป็นประโยชน์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง ก็เพราะปฏิบัติตามหลักธรรมต่อไปนี้
    ก. ขั้นหาและรักษาสมบัติ ปฏิบัติตามหลักธรรม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน หรือหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น ที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตสังวัตตนิกธรรม ๔ ประการ
    .......๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และการประกอบอาชีพที่สุจริต ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริง รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตราหาวิธีการที่เหมาะสมที่ดีจัดการและดำเนินการให้ได้ผลดี
    .......๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รู้จักคุ้มครอง เก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานที่ตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรมด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย
    .......๓. กัลยาณมิตตตา คบหาคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักเสวนาคบหาคน ไม่คบไม่เอาอย่างผู้ที่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เลือกเสวนาศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ ผู้มีความสามารถ ผู้น่าเคารพนับถื และมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่อาชีพการงาน
    .......๔. สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตแต่พอดี คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย เป็นอยู่พอดีสมรายได้ มิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้
    ข. ขั้นแจ้งจัดสรรทรัพย์ เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้ว รู้จักจัดสรรทรัพย์นั้น โดยถือหลักการแบ่งทรัพย์เป็น ๔ ส่วน ที่เรียกว่า โภควิภาค ๔ คือ
    .......๑. เอเกน โภเค ภุญเชยย ๑ ส่วน ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุงเลี้ยงและทำประโยชน์
    .......๒. ทวีหิ กิมมํ ปโยชเย ๒ ส่วน ใช้เป็นทุนประกอบการงาน
    .......๓. จตุตถญจ นิธาเปยย อีก ๑ ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น
    (ที.ปา. ๑๑/๑๙๗/๒๐๒)
    ค. ขั้นจับจ่ายกินใช้ พึงเข้าใจและคำนึงไว้เสมอว่า การที่เพียรพยายามแสวงหารักษาและครอบครองโภคทรัพย์ไว้นั้น ก็เพื่อจะใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่น ถ้าไม่ใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดคุณประโยชน์แล้ว การหาและการมีทรัพย์สมบัติก็ปราศจากคุณค่าหาความหมายใดๆมิได้ ดังนั้นเมื่อมีทรัพย์หรือหาทรัพย์มาได้แล้ว พึงปฏิบัติต่อทรัพย์ส่วนหนึ่งส่วนแรกในข้อ ข. ตามหลักโภคอาทิยะ (ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคะ หรือเหตุผลที่อริยสาวกควรยึดถือในการที่จะมีหรือครอบครองทรัพย์สมบัติ) ๕ ประการ ดังพุทธพจน์ว่า
    อริยสาวกแสวงหาโภคทรัพย์มาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยทางสุจริตชอบธรรมแล้ว
    .......๑. เลี้ยงตัว เลี้ยงมารดา บิดา บุตร ภรรยา และคนในปกครองทั้งหลายให้เป็นสุข
    .......๒. บำรุงมิตรสหาย และผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข
    .......๓. ใช้ปกป้องรักษาสวัสดิภาพ ทำตนให้มั่นคงปลอดภัยจากภยันตราย
    .......๔. ทำพลี คือ สละเพื่อบำรุงและบูชา ๕ อย่าง
    ..............(๑) ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
    ..............(๒) อติถิพลี ต้อนรับแขก
    ..............(๓) ปุพพเปตพลี ทำบุญหรือสักการะอุทิศผู้ล่วงลับ
    ..............(๔) ราชพลี บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น
    ..............(๕) เทวดาพลี ถวายเทวดา คือ ทำบุญอุทิศสิ่งที่เคารพ บูชาตามความเชื่อถือ
    .......๕. อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ และเหล่าบรรพชิตผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา
    เมื่อได้ใช้โภคทรัพย์ทำประโยชน์อย่างนี้แล้ว ถึงโภคะจะหมดสิ้นไป ก็สบายใจได้ว่า ได้ใช้โภคะนั้นให้เป็นประโยชน์ถูกต้องตามเหตุผลแล้ว ถึงโภคะเพิ่มขึ้นก็สบายใจ เช่นเดียวกัน เป็นอันไม่ต้องเดือดร้อนใจในทั้งสองกรณี
    (อง. ปญจก. ๒๒/๔๑/๔๘)
    ....การใช้จ่ายใน ๕ ข้อนี้ ท่านมุ่งแจกแจงรายการที่พึงจ่าย ให้รู้ว่าควรใช้ทรัพย์ทำอะไรบ้าง มิใช่หมายความว่าให้แบ่งส่วนเท่ากันไปทุกข้อ นอกจากนั้นท่านมุ่งกล่าวเฉพาะรายการที่พึงจ่ายเป็นประจำสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าผู้ใดสามารถก็ควรบำเพ็ญประโยชน์ให้มากขึ้นไปอีกตามหลัก สังคหวัตถุ เป็นต้น

    ***หลักการต่างๆที่นำมาแสดงไว้ในที่นี้ หากท่านสามารถทำได้ การท่องภาวนาคาถาชินบัญชรของท่าน จะไม่เป็นหมันเลย
    ..........................................................................................................................
    คัดลอกมาจาก ::
    หนังสือ ปริศนาธรรม สมเด็จฯ โต
    เรียบเรียงโดย ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร

    http://www.dhammajak.net/
     
  2. น้องฟา

    น้องฟา Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    53
    ค่าพลัง:
    +93
    เย้ ท่องได้หมดแย้ว อุอุ

    ไม่ต้องดูหนังสือค้าาาา


    อนุโมทนานะคะ อิอิ ^____^
     

แชร์หน้านี้

Loading...