พระทรงธำรงไว้ซึ่งขันติธรรม (Thailand’s quiet survivor)

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 14 กรกฎาคม 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    พระทรงธำรงไว้ซึ่งขันติธรรม (Thailand’s quiet survivor)


    [​IMG]


    พระทรงธำรงไว้ซึ่งขันติธรรม (Thailand’s quiet survivor) แปลจากบทความ Thailand’s quiet survivor ของ Anthony Bailey จากguardian.co.uk เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2551
    http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2008/dec/27/thailand-monarchy


    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้ทรงเพียงแค่รักษาราชบัลลังก์ไว้ได้แม้ในช่วงเวลาของการปกครองแบบเผด็จการ หากพระราชอำนาจยังได้รับความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น
    ชื่อเสียงด้านความสงบสุขและงดงามของประเทศไทยได้ถูกทำลายไปจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้อันได้แก่ การปิดสนามบิน[สองแห่ง] เหล่านักท่องเที่ยวถูกปล่อยติดค้าง และเหล่าคำกล่าวโทษที่รุนแรงทั้งจากฝ่ายกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้ต่อต้าน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีพันล้าน ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีและเจ้าของทีมฟุตบอล Manchester City นอกจากนี้จากการที่ไม่มีความพยายามที่จะลดความเดือดร้อนจากการไม่สามารถมีบริการโดยสารเครื่องบินได้ ประเทศไทยอาจได้รับความเสียหายอื่นๆ อีกมากจากการเป็นประเทศหลักในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่เป็นพันธมิตรกับโลกตะวันตก
    ผู้ที่เคยไปประเทศไทยมาแล้วจะรู้ว่าประเทศไทยมีมากกว่าชายหาดและหมู่บ้านชาวเขาที่งดงาม แต่ถึงกระนั้นดูเหมือนว่ามุมมองของนักวิจารณ์ชาวตะวันตกบางคนจะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์เพลง The King and I ของผู้สร้าง Rodgers และ Hammerstein และความสับสนทางการเมืองในประเทศไทยในช่วงสองปีหลังนี้ดูราวกับเป็นสงครามกลางเมืองอังกฤษในแบบที่เกิดขึ้นในโลกตะวันออก ซึ่งสงครามกลางเมืองอังกฤษนั้นเป็นการสู้รบระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุน Oliver Cromwell (Roundheads หรือ Parliamentarians) และกลุ่มผู้สนับสนุนพระเจ้าชาร์ล ที่ 1 แห่งอังกฤษ (Cavaliers หรือ Royalists) ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มิได้ใกล้เคียงความเป็นจริงเลย
    ในทางตรงกันข้าม ในขณะที่บรรดานักการเมืองยังคงขัดแย้งกันและเหล่าผู้ชุมนุมประท้วงออกมายังท้องถนน ประชาชนไทยไม่ว่าอยู่ทางทิศใด ไม่ว่ามีความเกี่ยวข้องทางการเมืองฝ่ายใด ได้มองหาการแนะทางออกจากพระมหากษัตริย์ของพวกเขา พระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ประชาชนชาวไทยมีความจงรักภักดีและศรัทธาในองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นอย่างมาก มากจนหลายคนได้หวังว่าพระองค์จะทรงเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้บ้านเมืองได้กลับเข้าสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ราชวงศ์ตระหนักว่าการเข้าแทรกแซงหรือไม่เข้าแทรกแซงของพระองค์ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยเหล่าผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตก และราชวงศ์ก็ตระหนักเช่นกันว่าเหตุผลเบื้องหลังของการครองราชย์อันยาวนานนั้นก็มาจากการใช้ดุลยพินิจด้วยความรอบคอบและการนำตนเองให้แยกออกจากการเมืองที่เต็มไปด้วยความเลวร้าย
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับความชื่นชมในการวางพระองค์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงไม่ตอบรับต่อเสียงเรียกร้องจากผู้ที่อ้างว่ากระทำไปเพื่อพระองค์ และทรงวางพระองค์ออกห่างจากเรื่องดังกล่าว และในขณะนี้ที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มจะดีขึ้นและรัฐบาลใหม่ได้มีการจัดตั้ง การวางพระองค์ตัดสินพระทัยในการทำหรือไม่ทำสิ่งใดๆ ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม
    อันที่จริงแล้ว มิใช่ว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่ทรงเคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ภายในระยะเวลากว่าหกทศวรรษแห่งการครองราชย์ในราชวงศ์จักรีได้มีการทำรัฐประหารโดยทหารเกือบ 20 ครั้ง และมีจำนวนนายกรัฐมนตรีมากกว่า 20 คน แต่กระนั้นความไม่แน่นอนทางการเมืองการปกครองก็มิได้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงักลง หากชาติไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภารอันมีประชากรถึง 65 ล้านคน ได้เปลี่ยนแปลงจากชาติที่พึ่งพาการเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ ไปสู่ประเทศเกิดใหม่ทางอุตสาหกรรม ด้วยความพยายามอย่างมากของนักการเมือง
    หลังจากลัทธิบริโภคนิยมได้เข้ามาสู่สังคมไทย อาจเป็นที่คาดกันว่าการปกครองของไทยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอาจสูญเสียบทบาทและความสำคัญลงไป ในประเทศอื่นๆ พระมหากษัตริย์และพระราชินีก็มิได้มีบทบาทมากนักและมีหลายกรณีที่พระราชกรณียกิจได้ถูกยกเลิกไปหมดสิ้น แต่ประเทศไทยนั้นต่างจากประเทศอื่นๆ ตรงที่พระบรมราชานุภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นแผ่ขยายขึ้นตามกาลเวลา การที่ประเทศไทยต่างจากประเทศอื่นๆ นี้อาจทำให้เหล่านักสังคมศาสตร์ไม่ค่อยชอบนักและอาจเป็นเหตุผลว่าเหตุใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยจึงทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงหลังนี้
    เป็นที่กล่าวกันว่ามิใช่คนทั้งโลกจะรักและเทิดทูนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงกระทำผิดพลาดบางครั้ง รัฐบาลบางรัฐบาลในช่วงระยะเวลาการครองราชย์ของพระองค์ก็มิได้มาตามวิถีแห่งประชาธิปไตย พระองค์ได้ทรงนำพระองค์มาเกี่ยวข้องกับการแก่งแย่งทางการเมืองมากกว่าหนึ่งครั้ง พระองค์ทรงได้รับการปกป้องจากการวิพากษ์วิจารณ์โดยกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ และที่ประหลาดที่สุดคือบางครั้งมีการอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระชนนีมิได้สืบเชื้อสายจากเชื้อพระวงศ์
    สิ่งกล่าวอ้างเหล่านี้ล้วนเป็นจริง แต่ก็มิได้เป็นทั้งหมดของความจริงเช่นกัน ตัวอย่างเช่นมีข้อโต้แย้งว่าราชวงศ์ไทยได้รับความชื่นชมมากกว่าสถาบันอื่นใดในประเทศ แม้กระนั้นก็ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงถูกวิจารณ์บางครั้ง และพระองค์เองก็ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่พระองค์ทรงควรถูกตรวจสอบโดยละเอียด พระองค์ทรงเคยมีพระราชดำรัสต่อสาธารณะว่าทรงไม่กล่าวอ้างว่าพระองค์ทำอะไรไม่ผิด
    สำหรับการเข้าแทรกแซง[ทางการเมือง]ของพระองค์นั้นก็ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าแทรกแซงวิกฤตทางการเมืองของพระองค์สองครั้งในปี พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2535 ได้นำมาซึ่งความนิยมและความเคารพนับถือในตัวพระองค์ การเข้าแทรกแซงของพระองค์ทั้งสองครั้งนั้นสามารถมองได้ว่ามิได้เกี่ยวกับการเมืองทั้งหมดในแง่ที่ว่าแม้เป็นการเลือกข้างแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามในการป้องกันมิให้เกิดการนองเลือดด้วย
    พระราชอำนาจอันชอบธรรมที่จะกระทำการในสภาวะวิกฤต หรือที่เรียกว่าพระราชอำนาจ “สำรอง” เป็นอำนาจอันเนื่องมาจากความชื่นชมในพระองค์ของพสกนิกร มิใช่ได้มาจากสิทธิ์ในการปกครองของพระราชาดังเช่นในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2475 เมื่อนักการเมืองประสบกับสภาวะการณ์ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ดังเช่นสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมให้มีการแก้ปัญหาตามวิถีทางระบบประชาธิปไตยมากกว่าจะให้มีรัฐบาลพระราชทาน พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้มีการตีความพระราชอำนาจตามอำเภอใจ พระองค์มิทรงเคยยับยั้งการตั้งรัฐบาลหรือการออกกฎหมายฉบับใดที่เสนอมาโดยผ่านขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
    สำหรับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ไม่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีข้อดีหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นกฎหมายที่สะท้อนถึงความไม่พอใจของพสกนิกรชาวไทยที่จะได้ยินคำพูดที่ไม่เหมาะสมแม้เพียงเล็กน้อยต่อองค์พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นพระองค์ทรงไม่สามารถตอบโต้ได้ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมิได้เป็นข้อห้ามต่อเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกก็เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการเช่นกัน อันที่จริงแล้วพระองค์ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้วิจารณ์พระองค์ที่ถูกตัดสินจำโทษมานับจำนวนไม่ถ้วน แต่ในทางกลับกันหากพระองค์มีพระประสงค์ให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว พระองค์ทรงจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งพระองค์ทรงย่อมรู้ว่าพระองค์ไม่สามารถทำได้และก็ไม่ได้เป็นสิ่งซึ่งควรกระทำ ดังเช่นครั้งเมื่อมีการร้องขอให้มีการใช้การปกครองอีกระบอบหนึ่งนั้นพระองค์ได้แสดงพระราชดำรัสว่า “ข้าพเจ้าเข้าใจเรื่องต่างๆ แต่ข้าพเจ้าไม่พูด”
    ด้วยการวางพระองค์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมิได้เพียงแต่รักษาพระราชบัลลังก์ไว้ได้แม้ในยามที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ หากยังทรงได้รับความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรณษาเพิ่มขึ้นทุกปีและพสกนิการไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ต่อไปได้โดยไม่มี “พ่อ” (พระนามที่พสกนิกรเรียกพระองค์) อยู่เพื่อประคับประคองให้เกิดความมีเสถียรภาพ บางทีพระองค์อาจจะทรงตระหนักถึงข้อนี้ดี ดังเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาที่ทรงปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามวิถีทางของมันเองจนเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง
    สำหรับอนาคตข้างหน้า ปวงชนชาวไทยต่างหวังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาว พวกเขารู้ดีว่าหากมองถึงความวุ่นวายสับสนและการนองเลือดซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของพวกเขาได้ประสบมาในช่วงเวลาแห่งการครองราชย์ 62ปี ก็มิใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะรู้สึกขอบคุณและยินดี และนี่มิใช่เป็นเพียงแค่เทพนิยายเท่านั้น

    ------
    ที่มา:สำนักข่าวเจ้าพระยา
    พระทรงธำรงไว้ซึ่งขันติธรรม (Thailand’s quiet survivor) | สำนักข่าวเจ้าพระยา
     
  2. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    คนไทยรัก “ในหลวง”

    [​IMG]

    “คนไทยรักในหลวง” เป็นประโยคสั้นๆ ที่ไม่ต้องการคำอธิบาย และทุกครั้งที่มีคนเล่าเรื่องในหลวงให้เราฟัง ไม่ว่าจะโดยคำพูดหรือตัวอักษร เราก็จะมีความสุขที่ได้รับรู้และมีส่วนร่วม เป็นความสุขที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งผู้เล่า ผู้เขียน และผู้ฟัง
    ในหลวงของเราอาจจะมิได้เป็นเทพบนท้องฟ้า แต่เราก็รักและเชื่อมั่นในหลวงของเราอย่างยิ่ง เพราะว่าในหลวงของเราเป็นมนุษย์ที่ทำความดีไว้มากมาย มีวินัยที่ดีเยี่ยม มีความขยันที่เป็นตัวอย่าง มีความรักและความรับผิดชอบจนเป็นที่ประจักษ์จนไม่ต้องพิสูจน์ ดังนั้นการจะเล่าเรื่องของในหลวงให้ฟังกัน จึงเป็นเรื่องที่เราไม่เคยเบื่อ และบทความสั้นต่อจากนี้ก็เป็นอีกบทความหนึ่งที่ผู้เขียนเขียนด้วยความสุข เพื่อร่วมความสุขกับผู้อ่านครับ

    [​IMG]





    ในหลวงของเรานั้น มีพระปรมาภิไธยอย่างเป็นทางราชการว่า

    “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร”



    [​IMG]



    ในหลวงทรงมีความผูกพันอย่างยิ่งกับสมเด็จย่า ซึ่งพระองค์ทรงเรียกด้วยคำธรรมดาว่า “แม่” และสมเด็จย่าทรงเป็นตัวอย่างให้พระองค์เสมอ ทรงสอนให้ในหลวงของเราเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ มีวินัย มีความรักผู้อื่น มีความอดทน มีความประหยัด และมีความคิดสร้างสรรค์ สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่เพื่อศึกษาภูมิประเทศของเมืองไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์ ดังนั้นทุกคนที่ตามเสด็จในหลวงไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศจะทราบว่า ในหลวงจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ ๓ สิ่งเสมอ คือ กล้องถ่ายรูป ดินสอที่มียางลบ และแผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง (ตัดต่อเอง ปิดกาวเอง) จนของสามสิ่งง่ายๆ นี้ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้ความลำบากยากไร้ของชาวไทยในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศมีความสุขและความเท่าเทียมมากขึ้น

    ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของ “ความรับผิดชอบ” ในเอกสารสำคัญใดๆ ทรงโปรดให้กรอกในช่องอาชีพของพระองค์ท่านว่า “ทำราชการ” และเราก็ทราบอยู่ด้วยหัวใจเสมอว่าทุกวินาทีของพระองค์ท่านก็คือการ “ทำราชการ”
    ครั้งหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ในหลวงทรงตอบว่า… “ความจริงมันก็น่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเราคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”
    จะมีผู้ที่รักในหลวงสักกี่คนที่จะทราบว่า แม้กระทั่งวันที่ในหลวงต้องทรงเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลัง (๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙) ก่อนเข้าที่ผ่าตัด ยังรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์เอาไว้ เพราะกำลังมีพายุใหญ่เข้าเขตประเทศไทย พระองค์จะได้ทรงเฝ้าตรวจสอบ (Monitor) เผื่อหากเกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นอุทกภัย จะได้ทรงช่วยเหลือทันเวลา

    [​IMG]


    ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของ “ความซื่อสัตย์” ซึ่งมีเรื่องบันทึกอยู่มากมาย เช่น ครั้งหนึ่งในการแข่งขันเรือใบ (ในหลวงทรงโปรดกีฬาหลายชนิด เช่น แบดมินตัน และเรือใบ เป็นต้น) ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับฝั่ง และตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ ว่า เสด็จกลับฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาแข่งเรือใบถือว่าผิดกติกา(ฟาวส์) ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น หากไม่ทรงบอกใคร ก็ไม่มีใครทราบ การแข่งก็ดำเนินต่อไปได้ และท่านอาจจะเป็นผู้ชนะก็ได้ แต่ก็ทรงยึดตามกติกาทุกอย่าง ทำตามกติกาทุกประการ เอาความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง เพื่อให้การแข่งนั้นยุติธรรม

    ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของ “ความพอดี และประหยัด” ห้องทรงงานของพระองค์ในพระตำหนักจิตรลดาฯ จะอยู่ใกล้ห้องบรรทม เป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3 x 4 เมตรเท่านั้น ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ ฯลฯ สำหรับการทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ตลอดเวลา ยามเมื่อทรงออกตรวจงานภายนอก รับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันนั้นเป็นการสิ้นเปลือง จึงทรงให้นั่งรวมกัน และไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด ซึ่งเรียกว่า นั่งรถหารสอง
    คนไทยเกือบทุกคนจะทราบเรื่อง “หลอดยาสีฟันของในหลวง” ที่ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปถึงเกลียวคอหลอด เพราะทรงใช้ด้ามแปรงสีฟันรีดและกดเพื่อไม่ให้ยาสีฟันเหลือทิ้งเลย … แต่ยังมีข้อมูลอีกหลายอย่างที่เป็นตัวอย่างให้เราเห็นถึงความพอดีและความประหยัด เช่น ในหลวงไม่โปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้นแต่นาฬิกา หรือ มีบันทึกว่า ในปีหนึ่งๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอเพียง ๑๒ แท่ง ใช้เดือนละแท่ง และทรงใช้จนกระทั่งดินสอนั้นกุดจนใช้ไม่ได้แล้วเสมอ

    [​IMG]


    ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของ “ความสร้างสรรค์” พระองค์ทรงพิสูจน์และเป็นตัวอย่างให้พวกเราเห็นว่า การมีวินัย ความรับผิดชอบ ความพอดี ความซื่อสัตย์ และการประหยัดอย่างยิ่งนั้น ก็มิได้หมายความว่าความคิดในการสร้างสรรค์ของมนุษย์จะลดลงไป พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างและพิสูจน์เรื่องนี้จนเป็นที่ประจักษ์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้สิทธิบัตรผลงานประดิษฐ์ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือที่เรารู้จักกันในนามว่า “กังหันชัยพัฒนา” นั่นเอง
    ในหลวงทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ทุกแห่ง หลายครั้งไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีช่วย เช่นครั้งหนึ่งเมื่อเกิดแรงบันดาลพระทัย ทรงฉวยซองจดหมายแล้วทรงตีเส้น ๕ เส้น แล้วทรงเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นเดี๋ยวนั้น กลายเป็นเพลง “เราสู้” เป็นต้น และเราเคยทราบกันหรือไม่ว่า ในหลวงเป็นผู้ประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรภาษาไทยสำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Thai Font) ขึ้นหลายรูปแบบ เช่น ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์ เป็นต้น

    เรื่องของในหลวงของเรา เล่าอย่างไรก็ไม่หมด ผู้เล่าและผู้อ่านมีความสุขเสมอประชาชนในประเทศอื่นฟังแล้วไม่อยากเชื่อ และไม่มีวันที่จะเข้าใจถึงความรักและความผูกพันระหว่างพสกนิกรและในหลวงของเราได้ และในปี ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราจะมีพระชนมายุ ๘๑ พรรษาแล้ว พระองค์ยังคงทรงงานหนักเพื่อพวกเราเหมือนเดิม….. เหลือเพียงพวกเราแล้ว ที่จะตอบแทนหรือเดินตามเบื้องพระยุคลบาทอย่างไรให้เหมาะสมและสมควร ต่อความรักและความห่วงใยที่ในหลวงมีต่อพวกเรา

    บทความนี้ขอจบด้วยเรื่องจริงเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในสยามประเทศนี้ เป็นเรื่องจริงที่ยากที่จะเกิดบนแผ่นดินอื่นในโลกนี้…… ครั้งหนึ่งเมื่อในหลวงเสด็จฯ เยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่ามีฝนตกมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเสด็จเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้น จึงมีรับสั่งให้ราชองค์รักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรทั้งกลางสายฝน ในหลวงและประชาชนของพระองค์ท่าน ชุ่มฉ่ำกลางสายฝนที่กระหน่ำลงมา ทั้งกายและใจ


    โชคดีที่ได้เกิดบนแผ่นดินนี้ …. แผ่นดินของในหลวงของเรา


    ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเทอญ





    บทความโดย นายยอดเยี่ยม เทพธรานนท์

    ------------------
    ที่มา:สำนักข่าวเจ้าพระยา
    คนไทยรัก “ในหลวง” | สำนักข่าวเจ้าพระยา
     

แชร์หน้านี้

Loading...