พระปิดตาและพระสังกัจจายน์....ตามคติการสร้างพระเครื่องและเรื่องราวในพระไตรปิฎก

ในห้อง 'พระเครื่อง วัตถุมงคล' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 18 เมษายน 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    "พระภควัมบดี เป็นคติการสร้างรูปจำลองแห่งพุทธสาวก คำว่า "ภควัมบดี" หรือ "ภควัมปติ" แปลว่า "ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า" อันเป็นอีกนามหนึ่งของ พระมหาสังกัจจายนะ หนึ่งในพระสาวกผู้ทรงเอตทัคคะ (เป็นเลิศ) ๘๐ รูป ของพระพุทธองค์.พระมหาสังกัจจายนะ เกิดในวรรณพราหมณ์ ณ กรุงอุเชนี มีผิวกายประหนึ่งทองคำมาตั้งแต่เกิด จึงได้นามว่า "กาญจนะ" และได้อุปสมบทโดยเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทำการบวชให้)
    พระมหาสังกัจจายนะ มีความเป็นเลิศทางการย่อพระธรรมคัมภีร์ให้สั้นลง และอธิบายความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง พระมหาสังกัจจายนะมีรูปร่างและผิวกายงดงามมากและด้วยความงดงามแห่งรูปกายนี้เอง ก่อให้เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้จากฝูงชนทั้งชายหญิง จนเกิดเรื่องพิพาทกันไม่รู้จักหมดสิ้น ทำให้พระมหาสังกัจจายนะเกิดสลดสังเวชในใจ พิเคราะห์ดูว่า การมีรูปกายงดงาม ก่อให้เกิดทุกข์มากมาย ท่านจึงตั้งสมาธิอธิษฐานเปลี่ยนสรีระรูปร่างกายเป็นต่ำเตี้ย พระอุทรพลุ้ย ศีรษะใหญ่ ขาสั้น อันเป็นลักษณะของ "พระสังกัจจายน์" ที่เห็นในปัจจุบัน.แม้จะอธิษฐานเปลี่ยนสรีระแล้ว ผลแห่งกุศลในอดีตชาติยังส่งผลให้ "พระสังกัจจายน์" เป็นที่รักใคร่นิยมยินดี มีแต่ผู้ให้ลาภสักการะสรรเสริญ
    ในพุทธประวัติกล่าวถึงเรื่องราวความเป็นเลิศ ในด้านลาภสักการะของพระสังกัจจายน์ไว้ว่า
    ครั้งหนึ่ง พระศาสดาพร้อมด้วยพระสาวก ๕๐๐ รูป เดินทางธุดงค์เรื่อยมาจนถึงทางสามแพร่งแห่งหนึ่ง ก็เป็นเวลาพลบค่ำพอดี ทางสามแพร่งแห่งนี้มีอยู่ ๒ เส้นทางสำคัญที่จะไปยังจุดหมาย.เส้นทางแรก เป็นระยะทางอันสั้น จัดเป็นเส้นทางลัดที่ใช้เวลาเพียงน้อยนิด ไปสู่จุดหมายได้รวดเร็ว.เส้นทางที่สอง เป็นเส้นทางที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าเส้นทางแรกหลายเท่า กว่าจะไปถึงจุดหมายเส้นทางแรก เป็นเส้นทางลัดก็จริง แต่ในระหว่างทางแทบจะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย จัดเป็นเส้นทางที่แห้งแล้งทุรกันดาร ถ้าเดินทางธุดงค์ผ่านไปก็จะเดือดร้อนเรื่องของขบฉัน.ครั้นพอตกกลางคืน สมเด็จพระบรมศาสดาได้แสดงพระธรรมเทศนาตามกิจวัตรของพระธุดงค์ ซึ่งเมื่อตกกลางคืนก็จะมาสนทนากัน และในเวลานี้ก็มีพรหมเทพเทวดาทั้งหลายได้พากันมาสดับพระธรรมเทศนาของพระองค์ ด้วย.ณ ที่ประชุม พระศาสดาทรงมีพุทธดำรัสตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า จะใช้เส้นทางใดในการเดินทางธุดงค์ไปยังจุดหมาย ในที่ประชุมสงฆ์นั้นก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะใช้เส้นทางใด.พระศาสดาจึงมีรับสั่งถาม
    ว่า "ในที่ประชุมนี้พระสีวลี (หรือพระฉิมพลี-ผู้เป็นเลิศทางลาภสักการะ) เดินทางมาด้วยหรือไม่" พระสาวกทั้งหลายกราบทูลตอบว่า "พระสีวลีมิได้เดินทางมาด้วย"
    พระศาสดาจึงตรัสถามต่อไปว่า "หากว่าพระสีวลีไม่มาแล้วพระสังกัจจายน์มาด้วยหรือไม่" พระสาวกทั้งหลายกราบทูลตอบว่า "มาด้วย"
    พระศาสดาจึงทรงมีพุทธบัญชาให้ใช้เส้นทางลัด อันเป็นเส้นทางทุรกันดาร เป็นเส้นทางในการเดินทางไปสู่จุดหมาย
    หลังจากเลือกใช้เส้นทางลัดดังกล่าวเป็นข้อยุติแล้ว พระศาสดาจึงมีพุทธบัญชาปิดประชุม พระศาสดาและพระสาวกทั้งหลาย ต่างแยกย้ายกันไปจำวัดยังกลดของตน
    การประชุมสงฆ์ดังกล่าว ทำให้พระสังกัจจายนะบังเกิดความพิศวงเป็นยิ่งนักว่า ทำไม? พระศาสดาจึงต้องเลือกเสด็จไปทางลัดอันทุรกันดาร โดยให้มีท่านเดินทางไปด้วย? ท่านนั้นมีดีอะไรหรือ?
    คิดดังนั้นแล้ว จึงตั้งจิตอธิษฐาน ยกมือทั้งสองปิดหน้า เรียกว่า เข้านิโรธสมาบัติปิดตาอธิษฐานลาภ เพื่อจะตรวจดูตัวท่านเองว่า มีความโดดเด่นอะไรหรือ?
    และท่านก็ได้ประจักษ์กับความจริงว่า ท่านเคยเป็นหมอยา (ในอดีตชาติ) รักษาโรค ได้บำเพ็ญทานบารมีด้วยการแจกยารักษาโรคให้ผู้คนทั่วไป โดยมิได้คิดค่ารักษา
    ด้วยอานิสงส์ผลบุญจากทานบารมีดังกล่าว ทำให้ท่านเป็นผู้มีความบริบูรณ์ในโภคทรัพย์ และลาภสักการะ
    ครั้นพอรุ่งเช้า พระศาสดาพร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลาย จึงออกเดินทางธุดงค์ไปยังจุดหมาย โดยใช้ทางลัดที่ทุรกันดาร ซึ่งปรากฏว่า ด้วยบารมีธรรมของพระสังกัจจายนะ ทำให้มีทั้งมนุษย์และอมนุษย์ (เทพยดาพรหมทั้งหลาย) พากันมาใส่บาตรถวายแด่พระศาสดา และพระสาวกกันมากมาย ทำให้พระศาสดาและพระสาวกทั้งหลายไม่เดือดร้อนเรื่องภัตตาหาร ของขบฉันต่างๆ จนสามารถเดินทางถึงยังจุดหมายโดยสวัสดิภาพ
    ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีคติความเชื่อว่า พระสังกัจจายนะมีความโดดเด่นทางด้านโภคทรัพย์และลาภสักการะ จึงมีการสร้างรูปจำลองของพระมหากัจจายนะในปาง "เข้านิโรธสมาบัติปิดตาอธิษฐานลาภ" ซึ่งมีลักษณะเป็นพระอ้วนพุงพลุ้ย มือทั้งสองปิดอยู่ที่หน้า (ตา)
    ปางที่เป็นรูปของพระสังกัจจายนะนั่งสมาธิแบมือบ้าง มือทั้งสองกุมอยู่ที่ท้องบ้าง ขึ้นมาบูชาเป็นสัญลักษณ์ของพระแห่งโชคลาภ จนแพร่หลายอยู่กระทั่งทุกวันนี้
    โบราณาจารย์ได้จำลองลักษณะแห่งพระภควัมบดี ในรูปพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยแสดงความหมายที่สำคัญของพระภควัมปติ อันเป็นผู้มีความละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า".......เรื่องเล่าจากเซียนท่านแรก

    เรื่องเล่าจากเซียนท่านที่สอง...
    ""พระปิดตาหลวงพ่อ... วัด.... เป็นการสร้างตามแบบของพระภควัมบดี แปลว่าผู้มีความงามละม้ายคล้ายพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นพระนามหนึ่งของพระมหากัจจายนะ ซึ่งมีความเด่นด้านผู้มีลาภสักการะ เมตตามหานิยม เกจิอาจารย์จึงได้สร้างรูปลำลองของพระมหากัจจายนะในปางเข้านิโรธสมาบัติปิด ตาอธิษฐานลาภ พระปิดตาหลวงพ่อ... เนื้อผงนั้นมีอยู่หลายพิมพ์ด้วยกัน คือ 1.พิมพ์ใหญ่ หลังแบบ 2.พิมพ์ใหญ่ หลังเรียบ หลังยันต์ 3.พิมพ์กลาง 4.พิมพ์เล็ก
    พระมหากัจจายนเถระ
    พระควัมปติเถระ
    ภควัมปติ
    ภควัมบดี
    สังกัจจายน์

    สำหรับพระมหากัจจายนเถระ.....เท่าที่ค้นดูก็ไม่ปรากฎว่าในพระไตรปิฎกกล่าวถึงรูปร่างของท่านว่าอย่างไร มีแต่การกล่าวถึงว่าเป็นพระอสีติมหาเถระที่เป็นเอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร จะมีเพียงวรรคเดียวตอนที่โปรดธิดาเศรษฐีผู้มีผมงาม ดังนี้
    "ในวันนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มีผมดกนั้นเห็นพระมหากัจจายนเถระมีภิกษุ ๗ รูปเป็นบริวาร เดินมามีบาตรเปล่า คิดว่าภิกษุผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์รูปหนึ่ง มีผิวดังทองรูปนี้เดินไปบาตรเปล่าทรัพย์อย่างอื่นของเราก็ไม่มี" จึงรู้เพียงว่าท่านนั้นมีผิวดังทอง
    "ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้บังเกิดในเรือนปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี ในวันตั้งชื่อเขา มารดาคิดว่า ลูกของเรามีสีกายดุจทองคำ เขาถือเอาชื่อของตนเองมา (แต่เกิด) ดังนี้จึงตั้งชื่อเขาว่ากัญจนมาณพทีเดียว. "....ตามที่มาดังนี้ อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๔. กัจจายวรรค ๑. มหากัจจายนเถราปทาน ๕๓๑. อรรถกถากัจจายนเถราปทาน
    ผมหาไม่เจอว่า....มีตอนไหนที่ท่านต้องแปลงรูปให้อ้วน มีแต่เรื่องของลูกชายโสไรยเศรษฐี ในโสไรยนครที่พูดถึงรัศมีจากกายท่านที่เปล่งดั่งทอง จนอยากได้ท่านมาเป็นภริยาจนถูกกรรมเปลี่ยนให้เป็นหญิง...มีแต่การเขียนเล่าเป็นเรื่องเป็นราว ผมพยายามหาในพระไตรปิฎกด้วยการป้อนคำค้นหาว่า"โสเรยยะ" "โสไรยย".....ก็ปรากฏแต่คำว่า"เมืองโสเรยยะ" มันน่าแปลกว่าในพระไตรปิฎกกล่าวถึงการแสดงฤทธิ์ของพระอรหันต์ไว้หลายองค์ อย่างพระภควัมปติก็มีพระสูตรพูดถึงการที่พระพุทธองค์ทรงให้พระภควัมปติแสดงฤทธิ์ในการหยุดน้ำในแม่น้ำไม่ให้ท่วม แต่กลับไม่มีบันทึกเรื่องนี้ หรือว่ามีแต่ผมค้นหาพระสูตรไม่เจอ

    สำหรับพระควัมปติเถระ ผมก็หาอ่านดูก็ไม่พบว่ามีตรงไหนที่ระบุรูปร่างว่าคล้ายกับพระพุทธองค์ และไม่ได้มีการอ้างถึงการเข้านิโรธสมาบัติด้วยอาการยกมือปิดหน้า....
    สำหรับพระภควัมนั้นกล่าวอ้างในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน ตามที่ผมอ่านเจอตามเรื่อง พระภควัม: พระปิดตา - มหาอุตม์ กฤษฎา พิณศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เขียนในวารสารเมืองโบราณ ปี 2550 ฉบับที่33
    เป็นที่เข้าใจว่าการสร้างพระปิดตาด้วยการอ้างถึงตำราหรือความเข้าใจว่า พระควัมปติเถระนั้นเป็นพระรูปเดียวกับพระมหากัจจายนเถระ จึงน่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ยังมีคำว่า"พระภควัมบดี"ที่ให้ความหมายว่า"พระปิดตา".....ผมอ่านเอกสารนี้แล้วเข้าใจว่าการสร้างพระปิดตาน่าจะเป็นคติตามการสร้างพระเครื่อง เช่นเดียวกับคติการสร้างพระพุทธรูปตามยุคต่างๆที่มีลักษณะยุคต่างๆไม่เหมือนกัน
    [​IMG]

    จากข้อความนี้ลองมาวิเคราะห์กันดูครับ
    คำว่า "ภควัมบดี" หรือ "ภควัมปติ" แปลว่า "ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า" อันเป็นอีกนามหนึ่งของ พระมหาสังกัจจายนะ หนึ่งในพระสาวกผู้ทรงเอตทัคคะ (เป็นเลิศ) ๘๐ รูป ของพระพุทธองค์.พระมหาสังกัจจายนะ เกิดในวรรณพราหมณ์ ณ กรุงอุเชนี มีผิวกายประหนึ่งทองคำมาตั้งแต่เกิด จึงได้นามว่า "กาญจนะ" และได้อุปสมบทโดยเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทำการบวชให้)
    พระมหาสังกัจจายนะ มีความเป็นเลิศทางการย่อพระธรรมคัมภีร์ให้สั้นลง และอธิบายความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง

    ผมลองสืบค้นดูจากคำว่า"พระมหาสังกัจจายนะ"ก็ไม่พบในพระไตรปิฎก....มีแต่พระมหากัจจายนะเถระ พระอสีติมหาเถระที่เป็นเอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร แล้วคำว่า"สังกัจจายน์"มาจากไหน ผมไปอ่านเจอข้อความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้คัดลอกมาดังนี้

    ."ส่วนที่มาของชื่อ "สังกัจจายน์" นั้น สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่มาเรียกกันภายหลังในสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการขุดพื้นเพื่อฝังรากอุโบสถแห่งหนึ่งในวัดแถบธนบุรี ปรากฏว่าพบประติมากรรมพระมหากัจจายนะกับหอยสังข์ในบริเวณดังกล่าว ต่อมาภายหลังวัดแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "วัดสังข์กระจาย" เพราะฉะนั้นชื่อ "สังกัจจายน์" น่าจะเป็นการกร่อนเสียงมาจากชื่อวัด เดิมทีแรกคงเรียกันว่า "พระวัดสังข์กระจาย" นานเข้าก็นำชื่อท่านคือ "กัจจายนะ" มาเรียกรวมกัน เลยกลายเป็น "พระสังกัจจายน์" ไปในที่สุด
    อ้างอิงจาก:ศุภวิทย์ ถาวรบุตร. "พระอ้วนจีนและพระอ้วนไทยคือใครกัน?", ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 23 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.........."

    ส่วนคำว่า"ภควัม"นั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายดังนี้ว่า
    "ภควัม
    ความหมาย
    [พะคะ–] น. พระเครื่องรางชนิดหนึ่ง มีพระพักตร์ควํ่าและปิดทวารทั้ง ๙ คือ ตา ๒ หู๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑, โดยปริยายใช้เรียกคนที่ทําหน้าควํ่าหน้างอไม่รับแขกว่า ทําหน้าเป็นภควัม หรือหน้าควํ่าเป็นภควัม; หินชนิดหนึ่งซึ่งมีรูปร่างอย่างนั้น."

    ส่วนคำว่า"บดี"มีความหมายคือ
    "บดี
    คำแปล
    [บอ-ดี] (มค. ปติ) น. นาย, เจ้าของ, เจ้า, ผู้ครอง, ผู้บังคับบัญชา; ผัว, ในสันสกฤตมีเกณฑ์ว่าศัพท์นี้เมื่ออยู่เฉพาะหมายความว่า นาย หรือผัว, ถ้ามีศัพท์อื่นมาเข้าสมาสเป็นคำท้ายด้วย หมายความแต่ผัว. "
    ตัวอย่าง..คำว่า"อธิการบดี"มาจาก"อธิการ"+"บดี"
    "อธิการ"หมายถึงตําแหน่งสูงสุดของผู้บริหารในวิทยาลัย
    "อธิการบดี"จึงหมายถึง ผู้เป็นเจ้าของตำแหน่งสูงสุดของผู้บริหารในวิทยาลัย
    เช่นเดียวกับ คำว่า"คห" หมายถึงเรือน "คหบดี"จึงหมายถึง ผู้เป็นเจ้าของเรือน ,ชายที่เป็นเจ้าบ้าน, ผู้มีอันจะกินซึ่งเป็นเจ้าบ้าน
    คำว่า"ธน"ซึ่งหมายถึง ทรัพย์สิน,ทรัพย์,เงินตรา
    "ธนบดี"ก็ย่อมหมายถึง เจ้าของทรัพย์ หรือผู้มีทรัพย์เป็นทุน

    แต่คำว่า"ภควัมบดี" ไม่ได้มีความหมายใดๆ จะหมายถึงก็คือ ผู้เป็นเจ้าของพระเครื่องรางชนิดหนึ่ง มีพระพักตร์ควํ่าและปิดทวารทั้ง ๙

    เมื่อมาดูอีกคำหนึ่ง"ควัมปติ" หมายถึง"พระควัมปติเถระ"ซึ่งเป็นพระอสีติมหาเถระ โดยไม่ได้รับการยกให้เป็นเอตทัคคะในด้านใดสักด้านหนึ่ง และนามเดิมของท่านคือ"ควัมปติ" เป็นนามตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาบวชกับพระพุทธศาสนา แถมในบันทึกประวัติท่านก็ไม่มีการเขียนกล่าวถึงรูปลักษณ์ที่คล้ายพระพุทธองค์เลย

    ดังนั้นคำว่า"ภควัมบดี"....จึงเป็นเฉพาะเท่านั้น ไม่ได้หมายถึง "ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า"

    [​IMG]

    เมื่อลองค้นหาดูว่ามีการกล่าวถึงใครบ้างที่มีรูปลักษณ์คล้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็พบว่า
    1.พระนันทะเถระ.....เอตทัคคะ:ผู้คุ้มครองอินทรีย์
    เป็นพระอนุชาต่างมารดาของพระพุทธเจ้า
    ครั้นทรงเจริญวัยแล้ว เจ้าชายนันทะมีรูปร่างสง่างามผิวพรรณดังทองคำ รูปพรรณสัณฐานคล้าย พระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม ยิ่งนัก เพียงแต่ต่ำกว่า พระพุทธองค์แค่ ๔ นิ้วเท่านั้น
    พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นันทะจะมีราคะกล้า แต่เป็นผู้มีกำลัง เป็นผู้ก่อให้เกิดความเลื่อมใส นันทะเป็นผู้ เลิศยอด ในสาวก ของเรา ที่คุ้มครองสำรวมอินทรีย์ ทั้งหลาย ทั้งรู้จัก ประมาณในโภชนะ กระทำความเพียรใ ห้ตื่นอยู่ มีสติ สัมปชัญญะ อยู่เสมอ เหล่านี้ เป็นเหตุให้นันทะ สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้"

    2.พระสารีบุตร
    จากกามนิต-วาสิฏฐี ได้เขียนไว้ว่า
    ....พระภิกษุทั้งหลายก็ทราบได้ในขณะนั้น ว่าไม่ต้องไปตามหาพระพุทธเจ้าที่ไหนอีกพระศาสดาคงได้เสด็จแรมอยู่ในบ้านช่างหม้อ เพราะสาวกที่มีรูปลักษณะคล้ายพระพุทธเจ้าก็คือพระสารีบุตร ซึ่งใครๆ ทราบกันอยู่

    ผมหาไม่เจอว่ามีตรงไหนที่ระบุถึงพระมหากัจจายนเถระหรือพระควัมปติเถระว่ามีรูปกายคล้ายพระพุทธองค์
    สำหรับการโยงเรื่องที่พระควัมปติ หรือพระมหากัจจายนเถระเข้านิโรธสมาบัติปิดตาอธิษฐานลาภ ตรวจดูแล้วว่าอดีตชาติเป็นหมอยามาก่อน ก็ไม่ตรงตามพระไตรปิฎก
    พระควัมปติเถระนั้นเป็นหัวหน้าเด็กเลี้ยงโค ในมนุษย์โลก ในชาติก่อน
    พระมหากัจจายนเถระนั้นในชาติก่อนๆ เป็นดาบส เป็นคฤหบดี เป็นอำมาตย์ ไม่ปรากฎบันทึกว่าเป็นหมอยา
    สำหรับเหตุการณ์ที่ต้องเป็นเหตุให้ต้องนั่งอธิษฐานนั้น ช่างไปพ้องกับเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงทดสอบความเป็นเอตทัคคะในทางผู้มีลาภมากของ
    พระสีวลี โดยเฉพาะการเลือกเส้นทาง.....ลองเข้าไปอ่านที่ลานธรรมจักรพระสีวลี
    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7500&sid=a0376dce40822136daa6fd22d36aae02

    สำหรับการสร้างพระปิดตานั้น น่าจะเป็นเรื่องของปริศนาธรรมมากกว่าที่โบราณจารย์เขียนไว้ ดังนั้นผมเชื่อว่าการสร้างพระปิดตานั้นเป็นความเชื่อของโบราณจารย์ เช่นเดียวกับที่เราเห็นพระสังกัจจายน์ กรุวัดเชิงท่า นนทบุรี ซึ่งเป็นพระที่คาดว่าสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายต่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือแม้แต่พระปิดตายุคเก่าอย่างพระกรุ เช่นพระปิดตากรุท้ายย่าน หรือพระปิดตาพังพกาฬทางนครศรีธรรมราช ซึ่งก็คาดว่าน่าจะสร้างตอนยุคอยุธยา ผมขอเดาว่า คติการสร้างพระปิดตาหรือพระสังกัจจายน์นั้นน่าจะเริ่มมาในยุคอยุธยา เช่นเดียวกับตำราสร้างพระเครื่องที่สืบสายมาจากทางอยุธยา ก็มีการพูดถึงพระภควัมปติเช่นกัน
    การสร้างพระสังกัจจายน์ให้มีรูปร่างอ้วนท้วนก็น่าจะเป็นคติว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์

    [​IMG]

    สำหรับพระสังกัจจายน์ที่มีการสร้างเป็นพระจีน ใบหน้ายิ้มแย้มถือถุงนั้น ก็เป็นการสร้างตามความเชื่อของคนจีน โดยที่มีของพระรูปนี้คือท่านชีฉือ เป็นพระนิกายฉานจง(เซน)ท่านจะแบกย่ามใหญ่รับบริจาคได้แล้วจะไปแจกคนจน ชรา เด็กกำพร้า ใครไปขอธรรมท่านก็จะเทศน์สั้นๆแต่ความหมายลึกซึ้ง ท่านจะเตือนพยากรกรณ์อากาศล่วงหน้าไม่มีพลาด บางทีก็ทักทำนายชตาชีวิตให้กับคนที่ท่านอยากทัก จนท่านนั่งมรณภาพ มีผู้พบลายมือท่านเขียนไว้ว่า เมตตรัยเมตตรัย บังเกิดกายนับแสนหมื่น แพร่ธรรมให้คนตื่น คนแสนหมื่นไม่รู้ว่าเมตตรัย ครับกวนอิมก็คือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์องค์เดียว
    ทั้งหมดนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวครับ...ถ้าท่านไหนมีข้อมูลที่พอจะเชื่อมโยงเชื่อถือ
    ได้ก็แลกเปลี่ยนกันได้ครับ
    http://www.amulet2u.com/board/q_vie...64&PHPSESSID=3df51ebd8ba6d08b516b107d7c96968c
    ตามอ่านเอกสารหลักในวารสารเมืองโบราณได้ที่
    http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=153
     

แชร์หน้านี้

Loading...