พระอาจารย์มั่น สอน พระอาจารย์จวน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 26 กรกฎาคม 2010.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]


    พระอาจารย์จวนเล่าไว้ในประวัติของท่าน เมื่อครั้งบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ถ้ำจันทร์ ข้าพเจ้าจึงมาคำนึงถึงโอวาทที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตะมหาเถระได้เคยเล่าเรื่องการเข้านิโรธของพระอาจารย์ลูกศิษย์ท่าน องค์หนึ่งให้ฟัง

    ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่จำพรรษาร่วมกับท่าน ท่านได้ประกาศให้บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายทราบทุกๆ องค์ว่าในสมัยหนึ่ง ท่านอาจารย์องค์นั้นได้เข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น

    ท่านได้ถาม ท่านอาจารย์องค์นั้นว่า “ท่าน....จากกันไปนาน การภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง ดีหรือไม่” ท่านพระอาจารย์องค์นั้น ตอบถวายท่านพระอาจารย์มั่นว่า


    “กระผมเข้านิโรธอยู่เสมอๆ”

    “ เข้าอย่างไร ? ”

    “น้อมจิต เข้าสู่นิโรธ”

    ท่านพระอาจารย์มั่น ย้อนถามว่า “น้อมจิตเข้านิโรธ น้อมจิตอย่างไร”

    ก็ตอบว่า “น้อมจิตเข้านิโรธ ก็คือ ทำจิตให้สงบแล้วนิ่งอยู่โดยไม่ให้จิตนั้นนึกคิดไปอย่างไร ให้สงบและทรงอยู่อย่างนั้น”

    “แล้วเป็นอย่างไร เข้าไปแล้วเป็นอย่างไร” ท่านพระอาจารย์มั่นซักถาม

    “มันสบาย ไม่มีทุกขเวทนา”

    ท่านพระอาจารย์มั่นถามว่า “เวลาถอนเป็นอย่างไร”

    ท่านพระอาจารย์องคนั้นตอบว่า “เวลาถอนก็สบายทำให้กายและจิตเบา”

    “กิเลสเป็นอย่างไร”

    “กิเลสก็สงบอยู่เป็นธรรมดา แต่บางครั้งก็มีกำเริบขึ้น”

    พอถึงตอนนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้ประกาศเรื่องนิโรธให้บรรดาสานุศิษย์ทราบทั่วกันว่า

    “นิโรธแบบนี้ นิโรธสมมติ นิโรธบัญญัติเพราะเป็นนิโรธที่น้อมเข้าเอง ไม่มีตัวอย่างว่า พระอริยเจ้าน้อมจิตเข้านิโรธได้ ใครจะไปน้อมจิตเข้าได้ เมื่อจิตยังหยาบอยู่ จะไปน้อมจิตเข้าไปสู่นิโรธที่ละเอียดไม่ได้ เหมือนกับบุคคลที่ไล่ช้างเข้ารูปู ใครเล่าจะไล่เข้าได้รูปูมันรูเล็กๆ หรือเหมือนกับบุคคลที่เอาเชือกเส้นใหญ่จะไปแหย่ร้อยเข้ารูเข็ม มันจะร้อยเข้าไปได้ไหม..? เพราะนิโรธเป็นของที่ละเอียด จิตที่ยังหยาบอยู่จะไปน้อมเข้าสู่นิโรธไม่ได้ เป็นแต่นิโรธน้อม นิโรธสมมติ นิโรธบัญญัติ นิโรธสังขาร นิโรธหลง…!”

    แล้วท่านก็เลยอธิบาย เรื่องนิโรธต่อไปว่า

    “นิโรธะ” แปลว่า ความดับ คือดับทุกข์ ดับเหตุ ดับปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย ดับอวิชชา ดับตัณหานั่นเอง จึงเรียกว่า เป็นนิโรธ อย่าไป

    ถือเอาว่าจิต ที่ไปรวมลงสู่ภวังค์ หรือฐีติจิต จิตเดิม เป็นนิโรธ มันใช้ไม่ได้
    -ท่านว่า-จิตชนิดนั้นถ้าขาดสติปัญญาพิจารณาทางวิปัสสนาแล้ว ก็ยังไม่ขาดจากสังโยชน์ ยังมีสังโยชน์ครอบคลุมอยู่ เมื่อถอนออกมาก็เป็นจิตธรรมดา
    เมื่อกระทบกับอารมณ์ต่างๆ นานเข้า ก็เป็นจิตที่ฟุ้งซ่านและเสื่อมจากความสงบหรือความรวมชนิดนั้น

    ท่านพระอาจารย์มั่นได้ประกาศให้ทราบว่า

    “กระผมก็เลยไปพิจารณาดูนิโรธของพระอริยเจ้าดูแล้วได้ความว่า นิโรธะ แปลว่า ความดับ ดับเหตุ ดับปัจจัย ที่ทำให้เกิดทุกข์ ทั้งหลาย คือทำตัณหาให้สิ้นไป ดับตัณหา โดยไม่ให้เหลือ ความละตัณหา ความวางตัณหา ความปล่อยตัณหา ความสละ สลัดตัดขาด จากตัณหานี้ จึงเรียกว่า “นิโรธ”

    นี่เป็นนิโรธ ของพระอริยเจ้า….ท่านว่า

    นิโรธของพระอริยเจ้านั้นเป็น “อกาลิโก” ความเป็นนิโรธ การดับทุกข์อยู่ตลอดเวลา ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลา ไม่เหมือน “นิโรธ” ของพวกฤาษีชีไพรภายนอกศาสนา

    ส่วนนิโรธของพวกฤาษีชีไพรภายนอกศาสนานั้นมีความมุ่งหมายเฉพาะ อยากแต่จะให้จิตของตนรวมอย่างเดียว สงบอยู่อย่างเดียว วางอารมณ์อย่างเดียว

    เมื่อจิตถอนจากอารมณ์แล้ว ก็ไม่นึกน้อมเข้ามาพิจารณาให้รู้เห็นสัจธรรม คือให้รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ยินดีเฉพาะแต่จิตที่สงบหรือรวมอยู่เท่านั้น ว่าเป็นที่สุดของทุกข์เมื่อจิตถอนก็ยินดี เอื้อเฟื้อ อาลัย ในจิตที่รวมแล้วก็เลยส่งจิตของตนให้ยึดในเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ปัจจุบันบ้าง ส่วนกิเลส ตัณหานั้นยังมีอยู่ ยังเป็นอาสาวะนอนนิ่งอยู่ภายในหัวใจ

    ท่านเลยอธิบายถึงนิโรธของพระพุทธเจ้าและพระอริยะเจ้าต่อไปว่า
    นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ของพระอริยเจ้านั้น ต้องเดินตามมัชฌิมปฏิปทา…ทางสายกลาง คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจไว้ชอบ…นี่จึงจะถึงนิโรธคือความดับทุกข์ ดับเหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธของพระอริยเจ้านั้นเป็นนิโรธอยู่ตลอดกาลเวลา ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลา ไม่อ้างกาลนั้นจึงจะเข้านิโรธกาลนี้จึงจะออกนิโรธ ไม่เหมือนนิโรธของพวกฤาษีชีไพรภายนอกพระพุทธศาสนา

    นี่เป็นคำสอนของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตะมหาเถระที่ได้แสดงไว้ ข้าพเจ้าจำความนั้นได้้



    http://larndham.net
     

แชร์หน้านี้

Loading...