พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 12 เมษายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    [​IMG]วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า
    อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
    โดยนิรุตติ และ นิโรธ เกษรสิริ
    รวบรวมจาก อัตโนประวัติและชีวประวัติ สกุลวงศ์ ของพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ของพระจันโทปมาจารย์
    นิตยสารโลกทิพย์ ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๓ เดือนพฤษภาคม (ฉบับหลัง) ๒๕๒๗
    โจทิตา เทวทูเตหิ เย ปมชฺชนฺติ มาณวา
    เต ทีฆรตฺตํ โสจนฺติ หีนกายูปคา นรา
    "คนเหล่าใด อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ยังประมาทอยู่ คนเหล่านั้นต้องเข้าถึงกายอันเลวเศร้าโศกสิ้นกาลนาน"
    นี่เป็นคำสั่งสอนในสมัยที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านยังมีชีวิตอยู่ พวกเราทั้งหลายยังจำได้ดีแต่มาบัดนี้ กาลเวลาล่วงเลยไปนานแล้ว จนบางครั้ง เราที่เรียกตัวเองว่า "ลูกศิษย์" อาจลืมเลือนจากคำสั่งสอนของหลวงปู่ท่านไปบ้างบางขณะก็ได้
    หวนคำนึง

    วัดป่านิโครธาราม อันร่มรื่นเงียบสงบ ผู้เขียนกำลังเดินเข้าไปยังศาลาหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เคยออกมาต้อนรับชาวคณะศรัทธาญาติโยมที่เดินทางไปถึง
    ก่อนที่จะขึ้นบันได ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะต้องหันหลังไปมองดูพระอุโบสถหลังงาม ที่หลวงปู่ได้ทุ่มกำลังใจ กำลังกาย วาดลวดลายอย่างวิจิตรพิสดารยิ่ง
    ผู้เขียนมองดูด้วยความภาคภูมิใจ ช่างสวยงามเหลือเกิน สูงเด่นเป็นสง่ามาก
    ขณะที่สายตาไปกระทบรูป พลันเสียงที่ผู้เขียนถาม และคำพูดของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริตอบก็แว่วเข้ามาในส่วนลึกของจิตใจว่า....
     
  2. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    [​IMG]สอนกันที่กาย

    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นพระอริยเจ้าผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมากที่สุดรูปหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
    การเดินธุดงค์ของท่านนั้นผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่า
    หลวงปู่อ่อน ถือเป็นข้อปฏิบัติตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร ฉันอาหารก็ฉันหนเดียว ฉันอาหารในบาตรอย่างสำรวม คือ อาหารคาว-หวาน อยู่ในภาชนะเดียวกันแล้วคลุกรวมกันให้ทั่วจึงฉัน
    จิตใจของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เลิศล้ำไปด้วยเมตตาธรรมยิ้มแย้มแจ่มใสต่อทุก ๆ คนที่เข้านมัสการท่าน
    ทางด้านปัญญาธรรมนั้นก็แตกฉาน สามารถแก้ไขสิ่งติดขัด หรือบุคคลที่สงสัยในข้อปฏิบัติได้อย่างแจ่มแจ้ง
    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ระยะหนึ่ง
    หลักธรรมที่ท่านหลวงปู่มั่น และท่านพระอาจารย์สิงห์อบรมบรรดาคณะศิษย์นั้น ท่านสอนไม่พ้นกาย หลวงปู่อ่อนญาณสิริ แสดงไว้ในตอนหนึ่งว่า...
    ครูบาอาจารย์ท่านสอนธรรมก็เพื่อให้เราดูร่างกายนี่เอง หลักสำคัญก็คงจะมีกายนี่แหละสำคัญมาก กายก็คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกอย่างก็อยู่ในกายเรานี้ทั้งหมดเลย
    ขันธ์ ๕ นี้ มีรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าคนไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็แยกแยะออกเป็นส่วนว่า ส่วนไหนเป็นรูป ส่วนไหนเป็น เวทนา ส่วนไหนเป็น สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ทำให้ยุ่งเหยิงกันไปหมด
    นอกจากปล่อยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันกับใจให้มันผ่านไปตามธรรมชาติของมัน
    เราต้องพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ทั้ง ๕ คือ..
    รูป ได้แก่สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อ คือปรากฏว่าเห็นที่ตาถ้าตาบอดก็ไม่เห็นรูป แต่เราจะเห็นหรือไม่เห็น รูปมันก็คงอยู่อย่างนั้น
    เราในฐานะเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า และเป็นนักปฏิบัติธรรมต้องให้รู้จักรูปในขันธ์ทั้ง ๕ ให้ละเอียดพอสมควร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง
    รูปนี่แหละเป็นนิมิตหมายที่พวกเราจะต้องนำมาสับมาโขกให้ละเอียดว่า มันเป็นอย่างไร ปรากฏขึ้นมาแล้ว รูปคงอยู่เป็นรูปตลอดไปไหม ?...
    สิ่งที่มีวิญญาณเมื่อปรากฏขึ้นมาแล้ว เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไหม ?.....คงทนอยู่ได้ไหม ?...แล้วทำไมเราไปติดอยู่ในรูปที่ไม่มั่นคงนั้น
    เราเป็นคนโง่หรือเปล่า รูปสวย รูปขี้เหร่ อัปลักษณ์อย่างไร มันไม่อยู่กับเราตลอดไป เราไปติดข้องอยู่กับมันทำไม
    มันไม่ได้ให้อะไรเลย ถ้าไปติดอยู่ในรูป มันก็หยิบยื่นแต่ภพแต่ชาติให้เราเท่านั้นเอง
    อันเวทนานี้ เป็นข้าศึกแกเรา มันไม่มีอะไร ประเดี๋ยวก็ทุกข์ เรียกว่า ทุกขเวทนา
    ประเดี๋ยวก็สุข เรียกว่าสุขเวทนา มันเป็นมันเกิดขึ้นภายในจิต โดยลำพัง โดยเรียกร้องหามันบ้าง ฉะนั้นเราต้องพิจารณาดูเวทนา คือการเสวยอารมณ์ให้ละเอียด
    อารมณ์สุขก็อย่าไปดีใจกับมัน ถ้าเกิดอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ก็อย่าทุกข์ใจไปกับมัน จงทำใจให้เป็นกลาง ๆ จนจิตเราเป็นอุเบกขาเวทนา คือวางเฉยในอารมณ์ที่เป็นสุขและเป็นทุกข์
    สัญญา ข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ก็สำคัญ แต่ทุกข์มิได้เกิดอยู่ทุกเวลา ส่วนสัญญาเป็นผู้ที่สำคัญมาก ละเอียดมาก...
    สังขาร เป็นผู้ยื่นให้สัญญาจนไม่มีที่สิ้นสุด และหาข้อที่จะยุติลงได้ยาก
    วิญญาณ ก็เป็นผู้สำหรับรับทราบ ปัญญาคือความจำได้หมายรู้ สัญญานี้เอง เป็นเครื่องปิดบังใจให้หลงใหลไปตามสัญญา ฉะนั้นจึงต้องบังคับจิต บังคับใจของตัวเอง...
    การที่พวกเราทั้งหลาย รู้ไม่เท่าทันสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าไม่ได้กำหนดในสิ่งทั้ง ๕ นี้ จึงไม่รู้ว่า การเกิดดับของคนเรานั้นมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นของที่ละเอียดมาก ยากที่จะกำหนดจิตให้ดิ่งลงไปได้
    เพราะการที่เราจะสู้รบตบมือกับกิเลสนั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดและทำได้ยาก
    แต่ถ้าไม่มีการต่อสู้กิเลสที่มาย่ำยีตัวเราอยู่ ก็เท่ากับว่าพวกเราไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง
    ต้องยอมรับความทุกข์ยาก

    ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเดินทางไปจังหวัดอุดรธานี เมื่อทำธุระแล้วก็ตกลงใจกันว่าจะเข้านมัสการเยี่ยมเยือนหลวงปู่อ่อนท่านบ้าง เมื่อคิดได้ดังนั้น ผู้เขียนและผู้ร่วมงานอีกสองคน ได้พารถคู่ชีพ เดินทางไปยังวัดป่านิโครธาราม
    ภายหลังจากเข้านมัสการแล้ว หลวงปู่อ่อนท่านได้ทักขึ้นว่า
     
  3. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    อาการความตาย

    จากนั้นมาหลวงปู่อ่อนก็ได้ตั้งใจทำความเพียร ได้ยกเอาตัวอย่างพระอานนท์ ที่พระพุทธองค์เตือนให้ระลึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและหายใจออกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทนั้นมาเป็นอารมณ์
    เพื่อให้ตนนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทดังพระอานนท์นั้น จึงนึกเอาความเหนื่อยที่เกิดขึ้นในตอนทำความเพียรนั้นว่าเป็นอาการของความตาย
    เมื่อเหนื่อยมากขึ้นมาจริง ๆ เราก็ต้องตายแน่ ใจที่ภาวนาอยู่ก็มองเห็นความตายด้วย
    พิจารณาอยู่เช่นนี้สองวันได้เกิดนิมิตความฝันขึ้น ในเวลานอนกลางคืน
    ฝันว่าตนได้ฝืนพระวินัยพระองค์บัญญัติไว้ด้วยความเห็นประโยชน์แก่ชุมชน ในหมู่บ้านที่ตนพักอยู่นั้น มันกันดารน้ำกินน้ำใช้ทุกอย่าง ตนได้ชักชวนคนบ้านนั้น ขุดปอน้ำ เขาได้พร้อมกันมาขุด ที่ชี้บอกให้นั้น ให้เขาขุดลึกลงไปอีก๑ ศอก เขาว่าน้ำไม่ออกเขาหยุดกัน
    จึงได้อ้อนวอนให้เขาขุดลงไปอีกสัก ๑ ศอกดูก่อน มันจะออกน้ำอยู่ เขาไม่ยอมขุด ตัวเองจึงโกรธขึ้นในใจแล้วนึกว่า
     
  4. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    บวชโยมแม่

    ครั้นวันหลังแม่ออกได้ออกมาเล่าเรื่องได้ปฏิบัติธรรมปีติมากับพ่อออกลุงนั้นว่าจิตรวมได้ดีแล้ว เกิดรู้นิมิตขึ้นมาที่ใจรวมอยู่นั้นว่าหลวงปู่อ่อนและท่านพี่เท่านั้นเป็นลูก อีก ๑๘ คนนอกนั้นเป็นแต่เขามาเกิดร่วมเท่านั้น
    จึงรู้ขึ้นมาว่ากุศลของแม่คงมาถึงแล้ว แม่จึงได้พูดอย่างนี้จึงได้พูดกับโยมแม่ขึ้นว่า
    “แม่ออกว่ามีแต่อาตมาสองคนเท่านั้นเป็นลูกของแม่ก็ดีแล้ว แต่อาตมากับท่านพี่สองคนนี้บวชแล้วว่าจะไม่สึก แม่ออกจะทำอย่างไรเล่า”
    แม่ออกจึงพูดว่า“ ก็แล้วแต่ลูกทั้งสอง ถ้าไม่สึกก็อนุโมทนา”
    “อาตมาทั้งสองไม่สึกแล้วแม่ออกก็ต้องบวชเป็นแม่ชีปฏิบัติอยู่ เป็นผู้มีศีลธรรมอยู่ด้วยลูกทั้งสองอันแม่ออกว่าเป็นลูกแท้จึงจะถูก ถ้าแม่ออกไม่บวช นิมิตที่แม่ออกเห็นนั้นก็ไม่เป็นของจริง เป็นนิมิตหลอกแม่ออกเท่านั้นเอง แม่ออกจะว่าอย่างไร”
    แม่ออกจึงว่า “แม่ไม่ว่า ลูกจะให้บวช แม่ก็ยินดีบวชตามลูกเห็นดีทุกอย่าง”
    แม่ออกจึงปรึกษาเรื่องน้องสาวสองคนยังไม่มีครอบครัว
    “น้องสาวของคุณลูกทั้งสองคนยังไม่มีผัวอยู่นั้นจะให้แม่ทำอย่างไร”
    ก็ตอบแม่ว่า “แม่ก็ว่าไม่ใช่ลูกของแม่ เป็นแต่เขามาอาศัยเกิดร่วมเท่านั้น ก็ยังจะไปเป็นห่วงเขาอยู่หรือ”
    “แม่ก็ไม่เป็นห่วง แต่ถ้าเขามีความประพฤติเสียไปเป็นคนไม่ดีแล้วชาวบ้านเขาก็จะรังเกียจติเตียนแม่ก็จะไม่มีความสุขต่อไปข้างหน้า”
    “เป็นแต่ให้แม่ออกบวชในเวลาอาตมาทั้งสองได้มาร่วมอยู่ด้วยกับแม่ออกเท่านั้นก็เอาดอก
    ส่วนการอยู่ของแม่ออกนั้นเวลาน้องทั้งสองเขายังไม่มีครอบ-ครัวอยู่นี้ แม่ออกบวชแล้วก็ให้แม่ออกอยู่กับเขานั้นก่อน
    ต่อเมื่อน้องเขามีครอบครัวหมดแล้ว จึงให้เขาและผัวของน้องและพี่ ๆ ไปทำกุฏิอยู่ริมวัด ข้างใดข้างหนึ่ง แล้วแม่ออกจึงไปอยู่กุฏิที่เขาทำให้นั้นต่อภายหลังก็ได้ดอก”
    วันหลังหลวงปู่อ่อนและท่านพี่ก็ให้แม่ออกรับพระไตรสรณคมน์และบวชเป็นชีรักษาศีล ๘ เสร็จเลย
    ท่านพี่เมื่อได้ให้แม่ออกรับพระธรรมไตรสรณคมน์ บวชชีเสร็จแล้วอยู่ร่วมกันไปอีก ๘ วันท่านพี่ได้ลาไปเที่ยววิเวกทำความเพียรเพื่อประโยชน์ตนต่อไป
    ส่วนหลวงปู่อ่อนได้อยู่สอนแม่ออกและพวกญาติให้เข้าใจในข้อปฏิบัติธรรม และพระไตรสรณคมน์ และศีลอันเป็นของเกี่ยวเนื่องกันกับการปฏิบัติธรรมพระไตรสรณคมน์ให้ถูก็ได้องทางพ้นทุกข์อยู่ในระยะ ๒๐ วัน
    เห็นว่าแม่ออกและพวกญาติเข้าใจดีในข้อปฏิบัติแล้วได้ลาไปเที่ยวธุดงค์ทำความเพียร เพื่อให้ประโยชน์ตนเกิดขึ้นต่อไป
    และต่อมาหลวงปู่อ่อนก็ได้เดินทางมาเยี่ยมแม่ออกปีละหน อยู่สอนแม่ออกและพวกญาติเห็นว่าเข้าใจธรรมดีพอสมควรแล้ว จึงได้ลาไปเที่ยวธุดงค์ตามเคย
    ทิพย์โอสถ

    เมื่อได้ลาแม่ออกไปธุดงค์แล้วได้เดินเข้าไปในดงอีกแต่องค์เดียวปฏิบัติอยู่บ้านนายุง ของเก่าที่เคยอยู่มาแล้ว
    ถึงเดือน ๖ ข้างขึ้น พวกโยมบ้านนาหมีเกิดโรคอหิวาต์ลงท้องกันมาแต่เดือน ๔ แก้กันด้วยยาไม่หาย
    ไปนิมนต์พระอาจารย์ใหญ่มั่น ให้มาสวดมนต์ระงับให้โรคหายท่านก็ไม่มา ท่านดุเขาว่าไม่ฟังความที่ท่านสอนไว้
    ท่านสั่งเขาผู้ไปนิมนต์ว่าให้ไปนิมนต์เอาท่านหลวงปู่อ่อนมาสวดให้ เขาไม่ไป เขาได้นิมนต์พระอาจารย์ใหญ่ถึง ๗ ครั้ง ท่านก็ไม่มาให้เขา
    แต่ท่านก็สั่งให้เขาไปนิมนต์หลวงปู่อ่อนอยู่อย่างนั้น ถึงครั้งที่ ๗ พวกโยมเขาจึงไปนิมนต์บอกว่าพระอาจารย์สั่งมาให้นิมนต์ท่านไปสวดมนต์
    หลวงปู่อ่อนจึงพิจารณาว่าจะไปดีหรือจะไม่ไปดี เขาจะมีใจเคารพเราสวดมนต์พอให้โรคเขาหายได้หรือประการใด จึงได้ถามเขาทุกประการ
    เขาก็รับว่าจะตั้งใจฟัง และเคารพธรรม จึงได้เกิดความสงสารเขาขึ้นมาในใจ
    จึงได้มาสวดมนต์บ้านนาหมีได้สวดมนต์ให้เขา เวลาสวดมนต์อยู่นั้นมีคนลงท้องมาก จวนจะตายอยู่ ๔ คน ผู้หญิงหนึ่งคนผู้ชายสามคน
    สวดมนต์องค์เดียวเสร็จประมาณสามทุ่ม หนทางไปตามดงไกลหน่อยหนึ่งถึงวัด จึงได้รีบกลับวัด
    พวกโยมที่เป็นญาติคนป่วยเอาน้ำมนต์ที่สวดไว้นั่น ไปให้คนป่วยกินก็หายจากลงท้องทันที (เป็นท้องร่วง) เหมือนทิพย์โอสถหายขาดเหมือนปลิดทิ้งเสีย เขาจึงนิมนต์ไปสวดมนต์ให้สามคืน
    ท่านพี่มรณภาพ

    เสร็จจากนั้นแล้ว ก็เดินทางออกจากดงมากราบนมัสการพระอาจารย์ใหญ่มั่น
    อยู่ต่อมาเกิดเป็นไข้ดงจับอย่างหนักรักษาอยู่ประมาณเดือนกว่า ๆ จึงหายดีเป็นปกติ
    ต่อมาไม่นานท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นท่านออกธุดงค์เดินวิเวกไปในเขตอำเภอสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ไปเรื่อย ไปทางอำเภอท่าอุเทน นครพนม จัดเสนาสนะที่บ้านสามผง
    พระอาจารย์ใหญ่มั่นรับเอาพระอาจารย์เกิ่ง อาจารย์ฝ่ายมหานิกายอยู่บ้านสามผง ยาครูสีลา อยู่บ้านวา ท่านยาครูดี บ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม พร้อมด้วยหมู่ลูกศิษย์ ให้ญัตติเป็นพระธรรมยุตกับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นพระอุปัชฌาย์
    พระอาจารย์สิงห์จัดเสนาสนะบ้านอากาศอำนวยอยู่จำพรรษา
    หลวงปู่อ่อนได้นำท่านพี่คำมี ที่เป็นไข้ดงจับอย่างแรง ไปรักษาอยู่จำพรรษากับพระอาจารย์สิงห์ วัดป่าบ้านอากาศ เดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ แต่ท่านพี่ได้มรณภาพไป
    ตามไปกับพระอาจารย์

    [​IMG]ออกพรรษาแล้วหลวงปู่อ่อนได้เดินทางไปบ้านสามผง เพื่อกราบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นแต่ไม่พบท่าน
    เพราะเมื่อออกพรรษาได้ ๑ วัน ท่านพระอาจารย์ท่านได้เดินทางไปพักสำนักวัดป่าบ้านโนนแดงและบ้านเสี้ยว อ.ท่าอุเทน โน้น
    หลวงปู่อ่อน พักเอาแรงอยู่สำนักวัดป่าบ้านสามผงนั้นได้สองคืน จึงได้เดินทางไปสำนักบ้านโนนแดงทันท่านอาจารย์ใหญ่
    ท่านเลยสั่งให้มีการประชุมหมู่ มีพระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่นเข้าในการประชุมด้วย
    ท่านพระอาจารย์ใหญ่ท่านปรารภว่า เรื่องจะนำแม่ออกท่านไปส่งมอบให้หมู่น้องสาวท่านเพราะท่านเห็นว่าแม่ออกท่านแก่มากอายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระปฏิบัติได้แล้ว
    พระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ก็ต่างรับรองเอาแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะแม่ออกของพระอาจารย์แก่มาก หมดกำลังต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลฯ ได้
    ฉะนั้นหมู่พวกทั้งหลายและเณรรวมกันทั้งหมด ๖๐ รูป ก็ต่างพากันตกลงใจไปเมืองอุบลฯ กับพระอาจารย์ด้วย
    ไปถึงบ้านหัวตะพาน บ้านหนองขอนเป็นบ้านเดิมของท่านพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่นซึ่งอยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ได้จัดตั้งสำนักป่าจำพรรษากันอยู่นั้นก่อน
    พระอาจารย์อุ่นไปจัดสำนักป่าบ้านโนนเมือง ได้มหาปิ่น มุทุกันต์ มาบวชเป็นศิษย์ปฏิบัติอยู่ด้วยท่าน
    ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์ใหญ่ได้นำแม่ออกท่านไปมอบให้น้องสาวท่านในเมืองอุบลฯ หมู่พวก จึงค่อยทยอยกันอยู่ตาม พระอาจารย์ใหญ่มั่นอยู่วัดบูรพา เพราะท่านสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ให้ท่านไปจำพรรษา
    พระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ได้จัดสำนักป่าจำพรรษาอยู่ท่าวังหินคุ้มบ้านสว่าง
    หลวงปู่อ่อนพร้อมด้วยหมู่จำพรรษาบ้านหัวงัว อำเภอยโสธร ออกพรรษาแล้วถึงเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ไม่แน่ใจ
    พระอาจารย์ใหญ่มั่นได้มอบหมู่พวก ไว้กับพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่น ส่วนตัวท่านได้ไปกับเจ้าคณะ พระปัญญาพิศาลเถระ จำพรรษาวัดสระประทุม
    แสวงหาและเผยแพร่

    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระปฏิบัติผู้ยิ่งยงในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บิดาพระกรรมฐานแห่งยุค
    ภายหลังจากที่ท่านได้รับอุบายธรรมจากพระบุพพาจารย์ใหญ่มาแล้ว ในประวัติของท่านได้กล่าวไว้ว่า
    หลวงปู่มั่น ท่านมอบหมายภาระศิษย์ไว้แก่ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แล้ว หลวงปู่มั่นได้เดินธุดงค์ไปยังภาคเหนือ ส่วนหลวงปู่อ่อนนั้น ท่านได้ออกติดตามท่านพระอาจารย์สิงห์ เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อแสวงหาวิเวกในป่าดงอันสงบเงียบ เร่งความเพียรอย่างยิ่งยวด
    ต่อจากนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้ให้หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ แยกทางไปหาวิเวกพร้อมกับปฏิบัติธรรมเผยแพร่ปฏิบัติธรรมต่อไปยังเขตบ้านกิ่งไผ่ หรืออำเภอบ้านไผ่ในปัจจุบัน
    เป็นครั้งแรกที่หลวงปู่อ่อนญาณสิริ เดินธุดงค์มายังป่าช้าแห่งหนึ่ง แล้วท่านได้ปักกลดอยู่โดยมีพระภิกษุสงฆ์ติดตามไปอีก๕-๖ องค์ ซึ่งท่านได้มาพำนักปฏิบัติธรรมด้วยกันในพรรษานั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๗๓
    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้ปฏิบัติและเปิดอบรมสั่งสอนประชาชนในเขตท้องที่ต่าง ๆ นั้นไปด้วย
    การมาของ หลวงปู่อ่อนญาณสิริ เป็นการมาอย่างมีผลในทางพระพุทธศาสนามากเพราะบรรดาชาวบ้านทุกครอบครัวที่เข้าใจหลักธรรมพากันเลื่อมใสศรัทธา หลวงปู่อ่อนและคณะเป็นอย่างมาก
    เสนามาร

    อีกส่วนหนึ่ง ผู้เป็นเสนามารส่งมาเกิด ทำให้ไม่ชอบพระไม่ชอบพระศาสนา พากันเกลียดอุบายธรรมเทศนาคำสั่งสอนของท่าน ก็ได้เริ่มก่อตัวเป็นปฏิปักษ์แก่ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริและคณะเผยแพร่พระสัจธรรม
    ในทันที พอรุ่งเช้าก็ได้ผลเลยทีเดียว !...
    คณะผู้เผยแพร่ธรรม โดยมีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริเป็นหัวหน้าได้พาคณะพระภิกษุสงฆ์ออกบิณฑบาต
    ท่านได้โคจรไปยังหมู่บ้านด้วยอาการสงบ สำรวมยิ่ง
    แต่...ก็มีเสนามารกลุ่มหนึ่งเป็นบุคคลใจบาปหยาบช้า ที่ได้ออกมายืนใส่บาตรเช่นกัน คอยรอกลุ่มพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยความสงบ
    อาการสงบที่ชาวบ้านกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนาและคณะพระธุดงคกรรมฐานโดยมีท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริเป็นหัวหน้านั้น มีเลศนัยความชั่วร้ายแรงอยู่อย่างมั่นคง
    จำได้บ่

    เมื่อคณะพระธุดงค์ผ่านมาถึง พวกเขาก็ได้นำเอาสิ่งที่ห่อใบตองอย่างประณีตบรรจงนั้นใส่ลงไปในบาตร
    จนครบทุกบาตรทุกองค์แล้วเขาก็หายหน้าไป คณะของหลวงปู่อ่อนกลับมายังป่าช้าที่พักปักกลดอยู่
    ต่างองค์ก็ค่อยนำอาหารบิณฑบาตนั้นออกจัดเสียใหม่แล้วค่อย ๆ แก้ห่ออาหาร
    แต่มีอยู่ห่อหนึ่ง ! พอแก้ออกมา อุจจาระของพวกมารก็ส่งกลิ่นอย่างรุนแรง
    ทุกองค์เจออุจจาระกันองค์ละห่อ หลวงปู่อ่อนเห็นอุจจาระแทนที่จะโกรธหรือว่าอย่างไร กลับมีสติอย่างมั่นคง วางเฉยกับสิ่งที่เห็น แล้วท่านกลับหัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วพูดว่า...
    “เฮ้ย....! เจ้าจำได้บ่บ้านไหน ?”
    หลวงปู่อ่อน ท่านถามพระหมู่คณะขึ้นด้วยภาษาอีสาน ทุกองค์ไม่สามารถจะจำได้ เพราะต่างองค์ต่างก็สำรวมอยู่ในอาการเดินในอิริยาบถนั้น
    หลวงปู่อ่อน ท่านเป็นพระที่มีแต่ความเมตตา กระแสจิตของท่านเยือกเย็นยิ่งนัก
    ท่านได้ปลอบใจหมู่คณะให้รักษาสติให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวกับอุปสรรค ไม่โกรธไม่เกลียดผู้ใด เพราะมันจะทำให้กำลังจิตกำลังใจแห่งการปฏิบัติท้อถอยไปได้ หรือย่อหย่อนลง
    จากนั้นท่านได้ทำจิตใจเป็นปกติ พาคณะออกปฏิบัติ เดินจงกรม กำหนดจิตสู่องค์สมาธิภาวนา ยกเอาคุณงามความดีถือเป็นข้อปฏิบัติดำเนินจิตใจสู่แดนบรมสุขต่อไป...
    หลวงปู่อ่อน และหมู่คณะพำนักอยู่ในบริเวณป่าช้าแห่งนั้นได้ประมาณ ๗ วัน กรรมเก่าขอมนุษย์อุบาทว์ก็ปรากฏผลขึ้นผลของกรรมนั้น ทำให้เป็นโรคท้องร่วงกันทั้งบ้าน แม้จะรักษาอย่างไร ๆ ไม่หาย จนมีชาวบ้านคนหนึ่ง รู้เรื่องราวของพวกเขาไปแนะนำให้ว่า...
    พวกเจ้าทำบาปกรรมไว้กับพระผู้วิเศษ เจ้าจงไปขอขมาโทษท่านเสีย มิเช่นนั้นพวกเจ้าจะตายกันหมด
    เมื่อได้ฟังและเห็นภัยจวนตัวและชีวิตจะหาไม่นั้นแล้ว ก็จำใจต้องรับฟังในเหตุผลนั้น
    ทั้งกลัว ทั้งอาย แต่จะทำอย่างไรได้ ก็ตัวเองและครอบครัวจะตายเอาเสียให้ได้แล้ว
    ได้พากันไปหมดทั้งครอบครัว มุ่งไปยังป่าช้า มองดูแล้วน่าสมเพช บางคนโดนหนักพอประมาณ ก็เดินไปอย่างระโหยโรยแรง บางคนโดนหนักหน่อยก็ถึงกับใส่เปลหามกันไปก็มี
    ทั้งนี้ก็เพื่อไปขอขมากรรมที่ตนได้กระทำไว้กับพระคณะหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
    เมื่อไปถึงต่างคนต่างก็ได้ก้มลงกราบ หลวงปู่อ่อนได้ถามเป็นภาษาอีสานขึ้นว่า...
    “มาเฮ็ดหยังกันเหอ...?”
    เพราะหลงผิด

    คนที่พอมีกำลังพูดได้
    กราบเรียนให้ท่านทราบว่า
    “โอ้ย ! พวกกระผมได้ทำผิดไปแล้ว พวกกระผมทำกรรมไว้กับพระอาจารย์ คือ เอาอุจจาระใส่บาตรให้ท่านอาจารย์
    พวกกระผมก็ป่วยลงท้องจะตายกันหมดตั้งแต่วันนั้นมา
    พวกกระผมจึงต้องพากันมาขอขมาโทษกับท่านพระอาจารย์และพระสงฆ์ทุก ๆ องค์”
    หลวงปู่อ่อนได้ฟังคำสารภาพแทนที่จะว่ากระไร ท่านกลับหัวเราะด้วยเสียงอันดัง พร้อมกับอุทานขึ้นมาว่า...
    “โอย ! จับตัวได้แล้ว...ถามพระเทิ่นก็บ่ฮู้... แล้วเป็นอย่างได๋ล่ะ”
    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านถามพวกนั้น...ชาวบ้านต่างก็บอกว่า
    “พวกกระผมกลัวแล้วจะไม่ทำอีกต่อไป ที่ทำไปในวันนั้นก็เพราะหลงผิด
    เนื่องจากพระบางองค์ท่านมายยุยงให้พวกกระผมทำ ก็เพื่อหาวิธีไล่ท่านพระอาจารย์หนีจากที่นี่ไป”
    หลวงปู่อ่อนท่านพูดด้วยอารมณ์ดี พร้อมกับหัวเราะ
    “ยังงั้นเร๊อะ สั้นบ่ !”
    หายดังปลิดทิ้ง

    ท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริก็หัวเราะอีกอย่างอารมณ์ดี แล้วท่านก็เมตตา อธิบายธรรมอบรมจิตใจจนพอสมควรว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นบาป อะไรผิด อะไรถูก
    ฝ่ายพวกคนป่วยเหล่านั้นก็เข้าขอขมากรรมของตนที่ได้ล่วงละเมิดพระสุปฏิบัติ เป็นที่น่าอัศจรรย์ เมื่อทุกคนได้รับอโหสิกรรมจากท่าน อาการป่วยทั้งปวง โรคท้องร่วงก็หายกันอย่างปลิดทิ้ง โดยไม่ต้องกินยาแต่อย่างใดเลย....
    ความอัศจรรย์นี้เอง พวกเขาเหล่านี้ต่างก็เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมากในตัวหลวงปู่อ่อนญาณสิริ
    อภัยให้กันนั่นเกิดสุข

    หลวงปู่อ่อน ท่านเคยแสดงพระธรรมเทศนาอบรมสั่งสอนอยูเสมอ ๆ แม้ผู้เขียนเองท่านก็ยังเคยเตือนจิตใจให้สังวรระวังว่า...
    ”เราได้ชื่อว่า ผู้นับถือพระพุทธศาสนาประจำใจ ต้องให้เข้าใจในหลักธรรมจริง ๆ จึงจะถูกต้อง การเปิดจิตใจให้กว้างสว่างไสวนั้นเป็นนิสัยของชาวพุทธโดยตรง
    เราเชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทาน...ศีล...ภาวนา หรือการทำดีได้ดี การทำชั่วได้ชั่วจริง ก็ควรที่จะรีบขวนขวายหาทางสร้างความดีเสีย จะได้มีกำลังของจิตใจ ต่อไป
    คนเราในโลกนั้นเกิดมาแล้วย่อมมีความดีและความชั่วปะปนกันไป ไฉนเราจึงจะพบกับความดีเพียงอย่างเดียว อะไรๆ ก็ไม่สู้การสร้างความดีนะ ความดีนี้ผู้ใดสร้างขึ้นนั้นย่อมมีความสุขเห็นอกเย็นใจ
    การให้อภัยนี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ
    ปัจจุบันนี้ โลกเราต้องการคนดี โลกต้องการให้อภัย เพราะนั่นเป็นทางแห่งความสันติสุขนะ ต้องให้อภัยทำใจให้กว้างขวาง จึงจะได้ชื่อว่า เธอฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้จริง
    ก็เพราะเหตุนี้แหละ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของพวกเรา ท่านจึงวางใจของท่านเป็นปกติ ไม่เอนเอียง ไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบจิตท่าน ท่านปล่อยวางลงได้ ยิ่งเพิ่มความเคารพบูชาแก่ผู้ที่เป็นศัตรูในเบื้องต้น
    และในที่สุด ! พวกชาวบ้านที่นำอุจจาระมาใส่บาตร เขามีความคิดว่า....
    “ทีแรกพวกเขาต่างก็นึกว่าพระอาจารย์ท่านจะโกรธ แต่ท่านกลับหัวเราะชอบใจ เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง”
    ความดีในครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขวัญถึง น้ำใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาปรานีดุจไฟลามทุ่ง ชาวบ้านในบริเวณใกล้-ไกลต่างได้หลั่งไหลกันเข้ามาฟังธรรมจากท่านทุกวัน ๆ
    เยี่ยงอย่างนี้ ชาวบ้านทุกคนได้นำไปปฏิบัติจนบังเกิดความผาสุกโดยทั่วหน้า พวกชาวบ้านต่างก็ได้พร้อมใจกัน โดยมาสร้างเสนาสนะหลวงปู่อ่อนและหมู่คณะ ทีละหลังสองหลัง จนเป็นวัดใหญ่โต มีพระภิกษุสงฆ์องค์สามเณรจากแหล่งต่าง ๆ พากันมาปฏิบัติธรรมกับท่านมากขึ้น จนเกิดเป็นวัดป่าที่ถาวรสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้...
     
  5. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    เป็นแบบอย่าง

    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้อยู่จำพรรษาที่ป่าช้า อำเภอบ้านไผ่ ได้หนึ่งพรรษา พอออกพรรษาแล้ว ก็พอดีท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโมท่านได้บอกสั่งพระมาว่า...
    “ให้ท่านอ่อน ไปช่วยเผยแพร่ธรรมกับท่านมหาปิ่น ปัญญาพโล ที่อำเภอพลับ จังหวัดขอนแก่น
    เมื่อหลวงปู่อ่อน ได้รับทราบแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์ โดยให้พระสงฆ์ที่เป็นหมู่คณะอยู่สอนธรรมแก่ชาวบ้านไปก่อน ส่วนตัวท่านต้องออกธุดงค์ไปช่วยท่านพระอาจารย์มหาปิ่นตามคำสั่งของท่านพระอาจารย์สิงห์ทันที
    พ.ศ.๒๔๗๑ ไปจำพรรษาที่วัดป่าตำบลสาวัตถี อำเภอพลับ จังหวัดขอนแก่น
    พ.ศ.๒๔๗๒ ไปจำพรรษาที่วัดป่าตำบลสาวัตถีเช่นเดียวกัน
    ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้เดินธุดงค์มาพบกับท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ที่อำเภอพลับ โดยท่านได้มาพำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านพระ
    ณ แห่งนี้ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ทำการอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ท่านได้แสดงธรรมปฏิบัติ ตลอดจนการชี้เหตุผลสิ่งที่ควรและไม่ควรแก่ชาวบ้าน ประกอบกับปฏิปทาอันงดงาม เป็นแบบอย่างให้แก่ชาวบ้าน จนมีชาวบ้านมีความศรัทธาเลื่อมไสเป็นอันมาก
    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นศิษย์สายพระกรรมฐาน หรือที่เราเรียกว่า “พระป่า” ก็จริงอยู่ จะมีใครเถียงก็หาไม่ แต่บรรดาพระป่าทั้งหลาย ท่านมีปฏิปทาที่เปรียบเหมือนประดับยศ หรือเหรียญเชิดชูเกียรติของนักปฏิบัติและผู้สนใจหันมาประพฤติปฏิบัติกรรมฐาน
    ปฏิปทาแสดงถึงความงดงามสง่าสมกับจิตใจของนักไขว่คว้าธรรม เพราะปฏิปทาเป็นผลมาจากจริตนิสัยของผู้หนักแน่นในทางปฏิบัติธรรม
    ดังนั้น หลวงปู่อ่อน จึงเป็นแบบอย่าง ให้กับชาวบ้านอำเภอพลับแห่งนี้เป็นอย่างดี ชาวบ้านโดยทั่วไปในละแวกใกล้เคียง ต่างได้พากันหลั่งไหลมาฟังธรรมกันมากตลอดทุกวัน
    โจรไพรใจโหด

    เมื่อนิมิตหมายอันดีงามสว่างไสวขึ้น ประชาชนต่างก็มากันมากหน้าหลายตาด้วยกัน คนดีมีมากคนชั่วก็ย่อมปะปนอยู่ด้วยเช่นกัน
    ณ บริเวณป่าบ้านพระแห่งนี้มีโจรไพรใจโหดอยู่คนหนึ่ง...
    โจรคนนี้ ได้หลบหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่
    เขาคอยสังเกตดูคนมากหน้าหลายตาที่หลั่งไหลเข้านมัสการหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก เมื่อมีผู้คนมากันมาก ๆ เช่นนี้จอมโจรใจเหี้ยมก็คิดว่า อย่างไรเสีย หลวงปู่อ่อนคงจะมีเงินทองมาก เพราะพวกชาวบ้านต้องมาทำบุญกับท่าน
    จอมโจรใจโหดคิดได้ดังนี้ ก็ได้เตรียมอาวุธคิดจะทำร้ายท่าน จอมโจรไปดักซุ่มคอยจะทำร้ายหลวงปู่อ่อนที่กฏิ
    ในคืนหนึ่ง...จอมโจรคอยสังเกตเห็นว่าท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จะต้องลงมาจากกุฏิ แล้วท่านก็มานั่งหลับตาอยู่เพียงลำพัง หรือมิเช่นนั้น หลวงปู่อ่อนจะต้องลงมาเดินไปมา ก้มหน้าลงดินเหมือนกับว่า กำลังมองหาสิ่งของตกหายอย่างนั้นแหละ
    โจรใจโหดคนนี้หารู้ไม่ว่า นั่นพระธุดงคกรรมฐาน กำลังเร่งความเพียรภาวนา และเดินจงกรมเพื่อกำหนดสติสู่ทางบรรลุธรรม...
    มันไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น มันรู้เพียงอย่างเดียวว่า.”ต้องการสมบัติจากพระ ต้องการเงินทองจากพระ”
    มันจึงย่องขึ้นไปบนกุฏิ เพราะความอดรนทนไม่ไหว เมื่อย่องขึ้นไปสายตาก็พบกับห้องว่างเปล่า มีเพียงกลดกางอยู่อย่างเดียว โจรก็เข้าใจว่า หลวงปู่อ่อนคงจะซ่อนทรัพย์สมบัติไว้ในกลด จึงค่อย ๆ ย่องเข้าไปใกล้กลด
    หัวกะโหลกผี

    จอมโจรกระหยิ่มใจมาก คิดในใจว่า คราวนี้คงจะต้องรวยแน่ๆสมบัติคงจะมากมาย
    พระสงฆ์องค์เจ้าจะไปใช้อะไรมาก เงินทอง อาหารเหลือเฟือ ชาวบ้านนำมาถวายทุกวัน เงินทองไม่จำเป็นต้องใช้อะไร เราจะเอาไปให้หมด คิดได้ดังนั้นแล้ว จอมโจรก็จับชายมุ้งกลดค่อย ๆ เลิกกลดขึ้น..
    ทันใดนั้น... ความตระหนกตกใจเข้ามาแทนที่ ส่วนความกระหยิ่มย่ามใจพลันหายไปสิ้น จอมโจรตกใจสุดขีด ตัวชาไปหมด เพราะสิ่งที่กลิ้งออกมาจากกลดนั้น เป็นหัวกะโหลกผี !
    จอมโจรเห็นอย่างชัดเจนว่า... กะโหลกผีแน่นอน อย่างอื่นไม่เห็นมีอะไรอีกเลย ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนั้น
    จอมโจรใจชั่ว...ถอยออกมาทั้งโกรธ ทั้งตกใจ ระคนกัน ตกใจก็เพราะหัวกะโหลกที่กลิ้งออกมา ที่โกรธนั้นก็เพราะผิดหวังอย่างแรง เมื่อสมบัติที่คิดว่ามีมากมาย กลับว่างเปล่าเสียได้...
    เอ๊ะ...อะไรกันนี่

    จอมโจรจึงลงมาดักรออยู่หน้ากุฏิของท่านอีกครั้ง ในใจของมันก็ยังเข้าใจว่าหลวงปู่อ่อนไม่อยู่ในกลด ไม่อยู่บนกุฏิ ก็ต้องเข้าหมู่บ้านไปแสดงธรรมแน่ ๆ
    ความมานะพยายามที่จะทำร้ายพระสงฆ์องค์เจ้าของคนจิตใจบอดมิดเช่นมันยังดำเนินไปเรื่อย ๆ แทนที่จะเกรงกลัว เพราะกะโหลกมาเตือนในการกระทำของมัน ก็หาได้สำนึกไม่
    มันนั่งรอตั้งแต่หัวค่ำ จนดึกดื่นใกล้จะสว่างเสียให้ได้
    ทันทีนั้น...มันก็เห็นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ห่มผ้าเป็นปริมณฑลกำลังเดินลงมาจากกุฏิ
    “เอ๊ะ...อะไรกันนี่...ก็เรานั่งเฝ้าท่านอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนใกล้รุ่งแล้วและที่บนกุฏิท่านก็ไม่อยู่ จู่ ๆ ท่านกลับเดินลงมายังลานข้างล่าง น่าแปลกใจเหลือเกิน แต่ความอยากได้ความโลภยังมีอยู่”
    ยกอาวุธทีไร ร่างหายทุกที

    ฝ่ายทางหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านก็รู้การมาของโจรใจชั่วคนนี้ เพราะท่านมิได้ไปไหน ก็ท่านนั่งภาวนาอยู่ในกลดนั่นเอง ก็เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรมไปตามปกติของท่าน
    ท่านมิได้สนใจกับโจรเลยแม้แต่น้อย ท่านเดินจงกรมไปจนสุดทาง แล้วก็เดินกลับมาอยู่อย่างนั้น
    จอมโจรไม่เข้าใจการกระทำของหลวงปู่ท่าน เพราะเห็นท่านเดินไปเดินมาอยู่เช่นนั้น
    มันจึงค่อย ๆ ย่องเข้าไปใกล้ๆ ท่าน พอท่านหันหลังเดินกลับไปทางเก่า...
    มันก็ยกอาวุธขึ้นที่จะทำร้าย เป็นที่น่าอัศจรรย์ แสดงปาฏิหาริย์ ร่างของหลวงปู่อ่อนค่อยเลือนลางหายไป
    จอมโจรก็พยายามที่จะทำร้ายท่านหลายครั้งหลายหน ครั้นพอเห็นร่างของท่าน จอมโจรชั่วก็เงื้ออาวุธจะทำร้าย ร่างก็เลือนหายไป ๆ เป็นอยู่อย่างนี้
    จนที่สุดจอมโจรร้ายเหน็ดเหนื่อย เพราะเวียนตามที่จะฆ่าท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริหลายเที่ยว จึงทรุดกายลงนั่งอย่างอ่อนกำลังเต็มทน
    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ใช้อำนาจอภิญญาอันเร้นลับภายในของท่าน เพื่อทรมานโจรร้ายคนนี้
    อาตมารวยธรรมะ

    ท่านบังคับจิตใจของจอมโจรร้ายให้อ่อนลงจนพอควรแล้ว หลวงปู่อ่อน จึงได้เรียกชื่อยู่องโจรร้ายอย่างถูกต้องและให้เข้าไปหาท่าน
    ประโยคแรกที่ท่านเรียก จอมโจรต้องตกใจตัวสั่นหันไปทางเสียงบนกุฏิ มันค่อย ๆ คลานไปหาอย่างคนที่จิตใจเลื่อนลอย พอไปถึงหลวงปู่อ่อนท่านพูดขึ้นว่า
    “อาตมานั้น เป็นคนรวยจริง แต่รวยธรรมะ ส่วนทรัพย์สมบัตินั้น อาตมาไม่มีหรอก สมบัติของอาตมาก็มีผ้าที่ครองอยู่คือ ผ้า ๓ ผืน กับนี่ บาตรลูกเดียวเท่านั้น”
    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พูดจบก็หยิบบาตรส่งให้จอมโจรดู
    จอมโจรใจหายวาบ เพราะครั้งแรกตนเองเห็นอย่างชัดแจ้งว่าเป็นกะโหลกผี
    ดีกว่าสมบัติอื่นใด

    จอมโจรผู้มีชนักติดตัวคนนั้น มองดูบาตรที่อยู่ในมือ ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ด้วยหัวใจเลื่อนลอย พยายามทบทวนการกระทำของตนอยู่พักหนึ่ง ก็บังเกิดความละอายใจที่ตนคิดร้ายก่อกรรมทำชั่วไว้ในครั้งนี้
    จอมโจรสำนึกผิดกลับจิตใจด้วยการ ก้มลงกราบแทบเท้าสารภาพความผิดแก่หลวงปู่อ่อนและได้ให้สัจจะกับหลวงปู่อ่อนว่า
    “ท่านพระอาจารย์ครับ กระผมเป็นคนบาปที่คิดไม่ดีกับพระอาจารย์ บัดนี้ตาสว่าง ใจสว่างได้แล้ว กระผมจะขอให้สัจจะ ณ บัดนี้ว่า กระผมจะขอเลิกจากการเป็นโจรคนพาล จะขอกลับตนเป็นคนดีหากินอย่างสุจริต ไม่ขอก่อกรรมอีกต่อไปและขอท่านพระอาจารย์โปรดอโหสิกรรม ยกโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด”
    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ยิ้มรับด้วยความเมตตายิ่ง ท่านได้พูดกับโจรกลับใจพร้อมกับกล่าวตักเตือนดุจบิดาตักเตือนบุตร ด้วยความอ่อนโยนว่า...
    “เธอได้สำนึกผิด เพราะความหลงผิดของเธอได้แล้วนั้น นับได้ว่า เธอยังเป็นบุคคลที่มีบุญมีวาสนาอยู่บ้าง เราจะขออวยพรให้เธอจงสำเร็จผลดังตั้งใจไว้นะเธอจงจำไว้นะ ผู้มีธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่กับจิตใจ อยู่กับตัว ดีกว่ามีทรัพย์สมบัติอื่น ๆ ในโลก...”
    <TABLE id=table1 width="65%" border=0><TBODY><TR><TD>
    [​IMG]
    </TD></TR><TR><TD>
    ๑. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ๓. หลวงปู่ขาว อนาลโย ๕. เจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม) ๗. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ๙. หลวงตาบัว ญาณสมฺปนฺโน​
    </TD></TR><TR><TD>
    ๒. พระอาจารย์จันทร์ เขมปัตฺโต ๖. หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ​
    </TD></TR><TR><TD>
    ๔. หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ๘. พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโม​
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    ศูนย์พระป่า

    พ.ศ.๒๔๗๔ ไปจำพรรษาที่วัดป่าเหล่างา คือวัดป่าวิเวกธรรม อยู่ติดกับโรงพยาบาลโรคปอด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
    ถึง พ.ศ.๒๔๗๕ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ.๕) เมื่อครั้ง ดำรงตำแหน่งเป็นพระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา มีบัญชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ให้พระกรรมฐานที่มีอยู่จังหวัดขอนแก่น ไปที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่ออบรมเทศนาสั่งสอนประชาชนร่วมกับข้าราชการ
    ดังนั้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ พระคณะกรรมการมีพระอาจารย์สิงห์ขันตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เปรียญ ๕ ประโยค เป็นต้น พร้อมทั้งพระสหจร ไปร่วมหลายรูป มีพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เดินทางไปร่วมด้วย
    ใน พ.ศ.๒๔๗๕ นี้เอง นายพันตำรวจตรี หลวงชาญนิยมเขต กองเมือง ๒ ได้ถวายที่ดินกรรมสิทธิ์ให้พระคณะกรรมฐานสร้างวัดมีเนื้อที่ ๘๐ ไร่
    จึงได้ลงมือสร้างวัดขึ้นในที่ดินแปลงนี้ ทั้งได้จำพรรษาอยู่วัดนี้ด้วยตั้งชื่อวัดว่า “วัดป่าสาลวัน” จนถึงทุกวันนี้
    ได้อบรมศีลธรรมให้แก่ประชุมชนเกิดความเลื่อมใสและตั้งตนอยู่ในพระไตรสรณคมน์ จึงได้เอาวัดป่าสาลวันเป็นจุดศูนย์กลางเป็นที่อบรมกรรมฐานและเป็นสถานที่ประชุมประจำ เช่นเมื่อจะเข้าพรรษา ได้แยกย้ายพระไปวิเวกจำพรรษาในวัดต่าง ๆ ที่ได้ตั้งขึ้น ส่วนพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ประจำอยู่ศูนย์กลางคือวัดป่าสาลวัน
    ให้พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ไปสร้างวัดป่าศรัทธาราม ข้างกรมทหาร ตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา
    ให้พระอาจารย์ ภูมี จิตธมฺโม ไปสร้างวัดป่าคีรีวัลย์ อำเภอท่าช้าง (สมัยนั้นยังเป็นกิ่งอำเภออยู่) และให้ไปสร้างวัดป่าอำเภอจักราช
    ให้พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ไปสร้างวัดป่า อำเภอกระโทก
    ต่อมาพระอาจารย์ลี ธมฺมธโรไปจำพรรษาที่ป่าอิสิปปัตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจักรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ประเทศอินเดีย ๑ พรรษา
    ต่อมาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) จึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร กลับมาประเทศไทย เพื่อให้ท่านฝึกหัดภาวนาในบั้นปลายชีวิตท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ
    ต่อมาอีกพระอาจารย์ ลีธมฺมธโร ไปสร้างวัดขึ้นที่วัดบางปิ้ง ตำบลท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการ และได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) และได้มรณภาพที่วัดนี้
    ให้พระอาจารย์ตาไปสร้างวัดป่าบ้านดอนคู่ อำเภอปักธงชัย
    ให้พระอาจารย์ คำดี ปภาโส คือพระครูญาณทัสสีฯ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระครูพิศาลอรัญญเขตต์ (จันทร์ เขมิโย ป.ธ.๓ นธ.เอก วัดศรีจันทร์ ขอนแก่น) วัดถ้ำผาบู่ จังหวัดเลย ทุกวันนี้ ไปสร้างวัดป่าสะแกราช อำเภอปักธงชัย
    ให้พระอาจารย์ อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ไปสร้างวัดป่าบ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว ตั้งชื่อวัดป่าสว่างอารมณ์
    และให้พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไปสร้างวัดป่าบ้านมะรุม อำเภอโนนสูง
    <TABLE id=table2 align=right border=0><TBODY><TR><TD align=middle>[​IMG]</TD></TR><TR><TD>
    กุฏิสมเด็จ​
    </TD></TR></TBODY></TABLE>​
    เมื่อพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ทำกิจพระพุทธศาสนาช่วยครูบาอาจารย์ได้ผลเป็นที่พอใจของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) สมัยเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นพระธรรมปาโมกข์ และพระโพธิวงศาจารย์ (สังข์ทอง พันธุ์เพ็ง) เจ้าคณะภาค ๔ สมัยนั้น
    ในระยะนี้บางปี พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ไปจำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ช่วยอบรมภาวนาให้แก่คณะสัปบุรุษแทนเจ้าพระคุณสมเด็จท่านและได้สร้างกุฏิไม้แบบถาวร ๒ ชั้น ๑ หลัง
    สำหรับพระอาจารย์อ่อนได้ทำกิจพระศาสนาอยู่ที่วัดป่าสาลวันเป็นเวลา ๑๒ ปี เท่ากันกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าสาลวันนี้ หลวงปู่อ่อน ได้ปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมแก่กล้ายิ่งขึ้น จนเป็นกำลังอย่างดียิ่งแก่คณะกองทัพธรรมเป็นอันมาก
    ช่วยกันเผยแพร่ธรรม

    สมัยนั้นพระเถรานุเถระฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานมีหลายรูปที่ไปทำประโยชน์เผยแผ่พระพุทธศาสนา จังหวัดนครราชสีมา นอกจากที่ระบุชื่อมาแล้วก็มี เช่น พระอาจารย์อุ่น อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า พระอาจารย์ดี อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ดี จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี
    แต่ต่อมาพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสีไปวิเวกทางภาคใต้และได้ไปจำพรรษา จังหวัดภูเก็ต จนได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต (ธ) มาหลายปี และได้เป็นพระราชาคณะที่ พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ ต่อมาอีกท่านมาภาคอีสานถิ่นเดิม ของท่าน จำพรรษาอยู่หลายแห่ง ปัจจุบันนี้เห็นว่าท่านมีอายุมากแล้ว จึงอยู่จำพรรษาประจำที่วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายทุกวันนี้
    ส่วนพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ทราบกิตติศัพท์ว่าพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปจำพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถึงหมู่บ้านแม้วและมูเซอแล้วกลับมาวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา
    พ.ศ. ๒๔๙๖ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ขอลาพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มาจำพรรษาที่วัดป่าไผ่ บ้านดอนเงิน (ได้สร้างขึ้นชั่วคราว) เพื่อโปรดญาติโยมของท่านซึ่งเป็นปีที่สุดท้ายแห่งการไปจำพรรษาในหมู่บ้านดอนเงิน ครั้นออกพรรษาแล้วท่านเดินทางกลับไปวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา
    พ.ศ.๒๔๘๓ พระคุณท่าน ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เดินทางไปเอง กับคุณนายทิพย์ กฤษณะกลัศ ภรรยาของ พ.ต.ท.พระยงพลพ่ายได้ขออาราธนาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มาจากจังหวัดเชียงใหม่ ให้จำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ วัดป่าบ้านหนองน้ำเค็ม จังหวัดอุดรธานีรวมเป็นเวลา ๓ ปี
    พ.ศ.๒๔๘๕ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ออกจากจังหวัดอุดรธานี ไปจำพรรษาอยู่บ้านโคกและบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รวมเป็น๓ ปี พ.ศ.๒๔๘๘ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปจำพรรษาวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
    พ.ศ.๒๘๘ นั้นเอง พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ออกจากวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตที่วัดป่าบ้านหนองผือ แล้วได้สร้างวัดขึ้นที่บ้านหนองโคก อำเภอพรรณานิคม ให้เป็นคู่กับวัดป่าบ้านหนองผือ ทางที่จะไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
    ทั้งให้ถูกตามอัธยาศัยของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ด้วยว่าให้พระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระสร้างวัดขึ้นในรัศมีของวัดป่าบ้านหนองผือ เพื่อจะได้ฝึกหัดพระที่มาศึกษาภาวนาเป็นการแบ่งเบาภาระของท่าน และได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่นเป็นประจำ เพราะเป็นห่วงท่านพระอาจารย์ เพราะท่านมีอายุมากแล้ว
    พ.ศ.๒๔๙๒ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อาพาธหนัก จึงได้นำท่านไป ที่วัดป่าสุทธาวาสจังหวัดสกลนคร และได้มรณภาพที่วัดนี้ด้วย
    พ.ศ.๒๔๙๓ เมื่อจัดการถวายเพลิงศพ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตแล้ว พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริได้เที่ยววิเวกไปถึงเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และได้จำพรรษาอยู่วัดนี้ด้วย ๑ ปี
    จากนั้นก็ได้กลับคืนมาที่วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ได้สร้างกุฏิขึ้นช่วยพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ทั้งได้หล่อพระประธานขึ้นอีก ๒ องค์
    ต่อมาพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้เป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณวิศิษฏ์วิริยาจารย์” ต่อมาหลายปีท่านกลับจากจังหวัดปราจีนบุรี จึงได้มรณภาพที่วัดป่าสาลวันนี้เอง เมื่อพระคุณท่าน พระญาณวิศิษฏ์วิริยาจารย์ ได้มรณภาพแล้ว ทางการคณะสงฆ์ จึงได้แต่งตั้งพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นเจ้าอาวาสแทนอยู่ประมาณ ๑ ปี แต่ท่านไม่ชอบ จึงได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาส ท่านเห็นว่าขัดข้องต่อการออกรุกขมูลวิเวกไปตามสถานที่ต่าง ๆ
    ...สายเสียการเน้อ

    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเคยเล่าถึงการปฏิบัติทางจิตแก่ผู้เขียน เมื่อสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่พอเป็นกำลังใจได้ดังนี้
    “พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ ท่านเป็นครูอาจารย์ที่สำคัญยิ่งสำหรับพวกเรา ท่านเป็นครูเป็นแบบอย่าง ชนิดหาที่ติมิได้เลย สมัยนั้น พวกเราก็ปฏิบัติกันอย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว เรียกว่ามอบกายถวายชีวิตพวกเราจะเป็นจะตายนี่ ไม่เคยมีใครพูดถึงมัน ตายก็ดี อยู่ก็ดีขอให้มีธรรมเกิดขึ้นกับการภาวนาก็ใช้ได้สมัยนั้นพวกเราไม่เคยทำอะไรให้ครูบาอาจารย์หนักใจเพราะทุกคนก็เข้าใจจิตใจของตนดีกันหมด
    พวกเราก็เช่นกันนะ เอาจิตใจเราไว้ ทำให้ดีขณะครูบาอาจารย์ท่านยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเผลอไปก็จะสายเสียการเน้อ...”
    เผยแพร่ธรรม

    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้สนองคุณของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ทอดธุรกิจให้อย่างเข้มแข็ง
    ท่านไม่เคยเบื่อหน่ายต่อการอบรมสั่งสอนคณะญาติโยม ท่านมีเมตตาให้แก่ทุกคนที่ได้มาแอบอิงไอเย็นในทางพระพุทธศาสนา
    ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอ ๆ ว่า
    “ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นของเย็นเป็นของบริสุทธิ์ บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่ปฏิเสธธรรมะของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมะถ้าอยู่ในจิตใจของของใด ผู้นั้นย่อมมีความสุขความเจริญ”
    ดังนั้นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริท่านจะเดินธุดงค์ไปในท้องที่ต่าง ๆ หลายแห่งจนเป็นที่รู้จักกิตติศัพท์ของท่านมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่อำเภอสีคิ้วนั้นท่านได้รับอาราธนาจากนายอำเภอสีคิ้วโดยเฉพาะก็เพื่อเผยแพร่ธรรมะที่นั้นบ้าง ดังนั้นคณะของท่านโดยมี
    ๑. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
    ๒. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
    ๓. หลวงงกงมา จิรปุญโญ
    จึงได้ออกเดินธุดงค์ไปพำนักอยู่ที่ วัดสว่างอารมณ์ บ้านใหม่สำโรง
    เมื่อพระอาจารย์ฝ่ายธุดงคกรรมฐานเดินทางไปถึง ท่านก็ได้ช่วยกันเผยแพร่อบรม บรรดาชาวบ้านทุกตำบล โดยท่านแยกย้ายกันไปสั่งสอนประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ จนปรากฏว่า ประชาชนต่างก็มีความเลื่อมใส ศรัทธาพระธุดงคกรรมฐานชุดดังกล่าวเป็นอย่างมาก ต่างก็มารับการฝึกอบรมจากครูบาอาจารย์อยู่เสมอ ๆ ทุกวัน
    ความดีนั้นมีมาก

    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ดำเนินรอยตามเยี่ยงพระอริยเจ้าทั้งหลายมาเป็นแบบอย่างดีเยี่ยม ผู้เขียนเคยได้ยินคำสรรเสริญจากครูบาอาจารย์หลาย ๆ องค์ท่านมักกล่าวเสมอว่า...
    “หลวงพ่ออ่อน ญาณสิริ นี่ท่านเป็นพระชั้นเยี่ยมองค์หนึ่งท่านเป็นพระนักต่อสู้จริง ๆ... การปฏิบัติของท่านเด็ดขาด ตายก็ยอมตายกันเลยทีเดียว จิตใจของท่านเข้มแข็งมาก ยิ่งกระแสจิตด้วยแล้วเข้มข้นเหลือเกิน
    ศิษย์ของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต จะมีกำลังจิตที่ไม่ค่อยจะซ้ำแบบกัน เพราะบางองค์ท่านมีจิตโลดโผน บางองค์ท่านมีจิตแบบเรียบๆ แต่ละแบบก็แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ท่านเป็นเลือดอาชาไนยทั้งนั้น หาไม่ได้แล้วในยุคนี้”
    ผู้เขียนได้สอบถามท่านผู้รู้บางท่าน ก็มีคำตอบอย่างเดียวกัน
    “หลวงปู่อ่อน ญาณสิรินี้ ท่านไม่ค่อยสนใจกับประวัติ เมื่อพบกันก็คุยกันในเรื่องสมาธิภาวนาเพียงอย่างเดียว
    การเดินธุดงค์นี้ ท่านก็ได้ออกเที่ยวมาหลายแห่ง เมื่อมารวมกันแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นเวลาหลายสิบปีเหมือนกัน
    แต่ท่านได้ผ่านประสบการณ์อย่างไรบ้างนั้น ไม่มีคนกล้าถามท่าน เพราะถ้าถามดีก็ดีไป ถ้าถามไม่ดีหรือท่านเห็นว่าไร้ประโยชน์ท่านก็จะดุเอาด้วย
    ความดีของท่านนั้นมีมาก การภาวนาก็เป็นเยี่ยมเลยทีเดียว
    นึกว่าสว่างอันหยัง

    สมัยก่อนเมืองไทยเรานี้ไปด้วยไม้นานาชนิดอีกทั้งยังเกลื่อนกลาดไปด้วยฝูงสัตว์ป่าหลาย ๆ จำพวกแต่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ สมัยเป็นสามเณรอ่อน... ท่านก็มีความกล้าหาญเกินเด็ก
    ท่านได้ยินข่าวบอกว่า “โน้น...เมืองลาว สว่างไสวเจริญรุ่งเรืองมาก น่าไปเที่ยว”
    หลวงปู่อ่อนสมัยเป็นเณรก็คิดไปตามประสาว่า “เออ...เขาว่าฝั่งลาวสว่างไสวงดงามเหลือกำลัง เราน่าจะไปดูให้เป็นบุญตาสักครั้ง ว่ามันสว่างไสวอย่างไร ?”
    เมื่อท่านคิดได้ดังนั้น ท่านสามเณรอ่อน ได้แบกกลดบาตรออกธุดงค์ไป บุกป่าฝ่าดง ข้ามน้ำข้ามท่าไป ดั้นด้นไปจนถึงเวียงจันทร์เลยทีเดียว
    เพราะเขาพูดกันหนาหูว่า“มันสว่างไสวน่าดู”
    ครั้นเมื่อไปถึงก็หายสงสัย
    ถึงกับอุทานว่า...“ฮ่วย... โอยก็มันมีไฟฟ้าซิเล่า มันก็สว่างล่ะน้อ เปิดไฟฟ้าก็สว่างละซิ นึกว่ามันสว่างอันหยัง !”
    เป็นอันว่า สามเณรอ่อนรู้ชัดแล้วว่า ที่มันสว่าง ๆ นั่น ก็เพราะแสงไฟฟ้านั้นหรอก มิใช่สว่างอะไรเลย
    เพราะคนโบราณสมัยก่อนเขาอยู่กลางป่ากลางดง ห่างความเจริญ ไม่มีไฟฟ้าจะใช้ มีแต่ตะเกียงและได้เท่านั้น ครั้นไปเห็นของใหม่ของแปลกก็เล่าลือกันไป
    แต่การเดินธุดงค์ไปยังประเทศลาวของท่านนั้น มิใช่ไร้ผลแม้แต่น้อย
    สามเณรอ่อน ยังได้ประสบการณ์ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร อีกทั้งการปฏิบัติธรรม ท่านก็มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น จิตใจก็แก่กล้าขึ้นโดยลำดับ
    อย่างไรก็ตาม ในกาลต่อมาสามเณรอ่อนตัวน้อย ๆ ได้มากลับกลายเป็นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่พวกเราทุกคนต่างก็ได้ยึดถือแนวทางปฏิบัติภาวนาของท่านมาสู่จิตใจของเราทุกคน
    ซึ่งยากที่จะถ่ายถอนออกไปได้ เพราะแนวทางธรรมของท่านที่ได้สอนนั้น เป็นแนวทางให้เราพ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นภัยได้จริงๆ
    เป็นต้นโพธิ์ต้นไทร

    เป็นความจริง ที่หลวงปู่มั่น ฎริทัตโตท่านได้สร้างลูกศิษย์จนได้ดีมีดวงตาเห็นธรรมอย่างมากมาย
    สิ่งเหล่านี้ ก็เพราะว่า หลวงปู่มั่นท่านมีความรู้ความสามารถประสาทธรรมะให้แก่บรรดาลูกศิษย์ท่านอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนนั่นเอง
    เมื่อหลวงปู่มั่น ท่านได้ล่วงลับดับธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไปแล้ว บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายของท่าน ได้ดำเนินรอยตาม ในปฏิปทาข้อวัตรต่าง ๆ ที่ท่านสอนไว้นั้นจนมาเป็นต้นโพธิ์ต้นไทร พอให้พวกเราได้แนบแอบอิง เป็นจำนวนมากมายหลายร้อยองค์
    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นลูกศิษย์ที่มีอันดับดังกล่าวมาแล้วองค์หนึ่งเช่นกัน
    ท่านมีความรู้ความฉลาดที่จะอบรมสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสให้ได้เข้าถึงคุณธรรม
    หลวงปู่อ่อน ท่านได้ออกไปเผยแพร่ธรรมะในครั้งโน้นก็นับว่าเป็นความสามารถพิเศษในองค์ท่าน ด้วยที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า...
    “การที่จะปลูกฝังคุณธรรมให้ฝังลึกลงสูจิตใจของมนุษย์ ที่มากหน้าไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทานนั้น เป็นงานที่มีภาระมากที่สุด และยากที่สุด ! ..
    แต่ครูบาอาจารย์สมัยนั้นก็ดี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ สั่งสอนบุคคลในปัจจุบันนี้ก็ดี ท่านสามารถกระทำได้อย่างมีเหตุมีผล
    นั่นย่อมแสดงว่า...
    หลวงปู่อ่อน ท่านต้องมีอำนาจจิต ที่เหนือกิเลสได้แล้วด้วยประการทั้งปวง
    ท่านจึงพอที่จะเป็นทาง นำให้พวกเราทั้งหลาย ได้รับความซาบซึ้งตรึงใจเชื่ออย่างสิ้นเชิงได้ และเต็มใจที่จะปฏิบัติตามท่านได้สั่งสอนไว้
    เมื่อได้พิจารณาหาเหตุผลนี้แล้ว เชื่อว่า หลักฐาน มารยาท ความรู้ ตลอดจนถึงข้อวัตรปฏิบัติธรรมในองค์ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นคุณธรรมของพระสุปฏิบัติโดยแท้แน่นอน = ผู้เขียน”
    ธรรมะ จงตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ โดยสมบูรณ์แล้ว ธรรมไม่ว่าหยาบหรือละเอียด จะปรากฏเห็นแจ้งขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ต้องร้องเรียก
    แห่งสุดท้าย

    พ.ศ.๒๔๙๖ พระคุณท่าน เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ เห็นว่าพระอาจารย์อ่อนญาณสิริได้ลาออกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน นครราชสีมาแล้ว
    จึงมีบัญชาให้กลับมาจังหวัดอุดรธานีเพื่อให้แสวงหาสถานที่สร้างวัดป่าที่เห็นว่าเหมาะสมให้เป็นสถานที่หลบภัยสงครามที่จะเกิดขึ้นอึก เพราะสมัยนั้นกลิ่นสงครามยังกรุ่นอยู่
    ดังนั้นท่านหลวงปู่อ่อน ท่านได้เดินทางกลับถิ่นฐานเดิมเป็นครั้งแรก และในครั้งนี้ ท่านได้มีพระคณาจารย์ผู้ร่วมเดินทางมาด้วย
    ๑. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
    ๒. พระอาจารย์ภูมมี ฐิตธัมโม
    ๓. พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
    เมื่อท่านมาถึงจังหวัดอุดรธานีแล้ว ท่านต่างได้แยกทางกันไปเผยแพร่ปฏิบัติธรรม พำนักปักกลดอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ละองค์ก็ได้มีพระภิกษุสามเณรติดตามไปอยู่ด้วยหลายองค์ แต่ละพระอาจารย์ต่างก็มี บทบาทที่น่าเคารพกราบไหว้บูชาทั้งสิ้น
    พระอาจารย์ภูมมี ฐิตธัมโมท่านได้นำคณะที่มีด้วยกัน ๗ องค์ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ และพระอาจารย์ภูมมี ต่อมาท่านได้สมณศักดิ์ เป็นพระครูวินัยธร
    พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านได้นำคณะธุดงค์ไปเผย แพร่ธรรมในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง
    แห่งสุดท้ายท่านได้นำคณะของท่านมาอยู่จำพรรษา ที่ป่าแห่งหนึ่ง จนมาเป็นวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี...
    บ้านหนองบัวบาน

    ส่วนหลวงปู่อ่อน ญาณสิริจึงได้แสวงหา สถานที่สร้างวัดป่าไม่ให้ไกลนักจากวัดโพธิสมภรณ์เพื่อความสะดวกให้แก่พระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์[​IMG]
    ท่านจึงคัดเลือกเอาได้ที่ดงป่าช้า (พื้นบ้านเรียกป่าช้า) เป็นที่รมนียสถานอันรื่นรมย์สมควรวิเวก ประกอบทำความเพียรภาวนาที่บ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จึงได้นำความมากราบเรียนพระคุณท่านท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ท่านเห็นชอบด้วย
    พ.ศ.๒๔๙๖ นี้เอง พระอาจารย์อ่อน จึงได้เริ่มลงมือสร้างวัดนี้ ได้ปลูกกุฏิ ศาลาการเปรียญโบสถ์ขนาดใหญ่ ๒ ชั้นพระประธานปางเชียงแสนขนาดใหญ่ สร้างด้วยโลหะ (ทอง) ประดิษฐานตระหง่านอยู่ในโบสถ์
    โบสถ์ก็ดี พระประธานก็ดีใหญ่ที่สุดในภาคอีสานและทั้งสวยงามที่สุด
    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านก็ไดเที่ยวธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ มากแห่งด้วยกัน สถานที่อันเป็นสัปปายะแห่งสุดท้าย คือ ที่บ้านหนองบัวบาน ต่อมาท่านได้บำรุงสถานที่แห่งนั้นจนเป็นวัดป่านิโครธาราม ที่สงบระงับดับจากกิเลสทั้งปวง
    นอกจากนี้แล้วหลวงปู่อ่อนยังได้ออกเผยแพร่อบรมธรรมในท้องที่ต่าง ๆ อีกมาก แม้ว่าสังขารของท่านจะเข้าสู่วัยชรามากแล้วท่านไม่เคยลดละหรือเบื่อหน่ายที่จะเปิดการอบรมสอนธรรม แก่คณะศรัทธาผู้ใคร่ในธรรมปฏิบัติ
    ต้องพิจารณา

    นอกจากนี้แล้ว ท่านมีเวลา ท่านจะปลีกตัว พาพระภิกษุและสามเณร ออกไปเที่ยวบำเพ็ญเพียรตามป่าดงอยู่เสมอ ๆ สถานที่ที่ท่านพาคณะดำเนินไปนั้น คือ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำเอราวัณบนเทือกเขาภูพาน
    ท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริท่านสอนศิษย์ของท่าน ให้เข้าใจธรรมชาติป่าเขา ทำความรู้จักกับสภาพแวดล้อมของสังคม ท่านให้พึงระวังกิเลสมารที่เข้ามารบกวนจิตใจในทุกรูปแบบท่านสอนว่า...
    “ธรรม ให้รู้ตามความจริงเหมือนดังว่า คนก็คือคน ธรรมก็คือธรรม เราต้องพิจารณา หลักของพระอาจารย์มั่น ท่านเคยสอนศิษย์ ท่านจะสอนให้เรามีปัญญาพิจารณา คนที่ไม่พิจารณา ก็เพราะขาดปัญญา กลายเป็นความประมาท ประมาทแล้วกิเลสก็เข้ามานอนเนื่องในจิตใจของเรา
    กิเลส ก็คือ หนี้สินที่พะรุงพะรังทางใจนั่นเองถ้าเราปฏิบัติขัดเกลาออกไปด้วยสติปัญญาแล้ว หนี้สินเหล่านี้ (กิเลส) ก็จะหมดไป เราจึงเป็นสุขในทุกอิริยาบถ ให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์คือ พุท-โธ เป็นสิ่งที่ติดจิตใจ เป็นสมบัติทั้งดวง คือ ความสิ้นทุกข์สิ้นกาลและเป็นกาลที่มีคุณค่ามหาศาล อย่างนี้พระพุทธเจ้าและพระสาวกเจ้าของเราพระองค์ได้ประโยชน์มาแล้วทั้งสิ้น”
    ธรรมที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริท่านได้แสดงโปรด เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปนมัสการท่านที่วัดป่านิโครธาราม มีใจความตอนหนึ่งว่า...
    “หลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่นท่านเทศน์เรื่องขันธ์ ๕ ท่านว่า มาหารูป รูปนี้ปลายมันหรอก ไม่ใช่เป็นต้น ต้นมัน ได้แก่ วิญญาณ ท่านเลยว่าแต่วิญญาณมาหาสังขาร เพราะวิญญาณมันมาปรุงมันก็เลยเป็นตัวสังขาร นั่นแหละตัวปรุงนี้มันจึงมาหาสัญญา จึงมาหาเวทนา มาหารูป ท่านพูดอย่างนี้ เราต้องพิจารณา ท่านพูดตามบุคคลที่เกิดมามันเป็นอย่างนั้นแน่”
    หลวงปู่อ่อน ท่านว่า นี่เป็นธรรมชั้นสูงที่หลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่น ท่านแสดง
    คำเตือน

    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่บรรดาคณะศรัทธาญาติโยมโดยแท้ ยามที่หลวงปู่ท่านมีชีวิตอยู่ความเมตตากรุณาของหลวงปู่ท่านมีเต็มเปี่ยมพอให้เราได้ดื่มกินได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ใครก็ตามที่เดินทางไปถึงวัดป่านิโครธาราม จังหวัดอุดรธานีก็จะพบกับความเย็นอกเย็นใจในทุกเมื่อ
    ท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริท่านเคยกล่าวอยู่เสมอว่า...
    ธรรมชาติของธรรมนั้น ปฏิบัติผู้บำเพ็ญเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านไม่เคยลดละในการปฏิบัติธรรมเพราะการปฏิบัติธรรมที่เรากระทำอยู่เรื่อย ๆ เป็นนิจ โดยไม่หยุดยั้งผลย่อมเกิดขึ้นได้ทุกครั้งไปและจะสืบเนื่องกันไม่ขาคระยะ ตราบเท่าที่เราไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรมนั้น เราเป็นฆราวาส ต้องพยายามทำคุณงามความดี ทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาให้เจริญแล้ว ปัญญาก็ย่อมเกิดตามมาเอง
    อวสาน

    พ.ศ.๒๕๑๘ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้เริ่มอาพาธด้วยโรคกระเพาะอาหารเป็นต้นมาจนได้รับการผ่าตัดไปครั้งหนึ่ง
    ในปีเดียวกันนั้น ก่อนเข้าพรรษาได้รับการผ่าตัดอีกเกี่ยวกับลำไส้อุดตันอีกรวมเป็น ๒ ครั้ง ต่อนั้นไปก็ได้ทำการรักษามาตลอดปี ก็พอทรงตัวอยู่ได้ สังขารร่างกายของท่านก็ทรุดโทรมมากสุขภาพร่างกายก็ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร
    ถึงอย่างนั้นท่านก็ยังพยายามอุตสาหะพยายามทำกิจของพระพุทธศาสนา สงเคราะห์คณะศรัทธาญาติโยม ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัย อบรมสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานตลอดมา จนถึงวาระสุดท้าย
    รวมระยะท่านไม่แข็งแรงเป็นเวลา ๕ ปี ผ่านมา การอยู่ฉันภัตตาหารของท่านก็เปลี่ยนแปลงไปโดยมาก ท่านจะฉันภัตตาหารเผือกมันเป็นส่วนมาก
    หลังจากทำการผ่าตัด การฉันภัตตาหารไม่เต็มส่วน ถ้าฉันภัตตาหารที่ไม่ถูกธาตุหรือผิดเวลา เหล่านี้มักมีอาการท้องร่วงตลอดมา แต่นั้นท่านก็ได้พยายามรักษามาทั้งภายในและภายนอก พอทรงตัวอยู่
    ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เดือนพฤษภาคม วันที่ ๒๓ ท่านก็เริ่มอาพาธ วันที่ท่านอาพาธนั้น ตอนเช้าท่านก็ยังไปบิณฑบาตมาฉันภัตตาหารตามปกติธรรมดาเหมือนทุกวัน
    พอฉันภัตตาหารเสร็จ ท่านก็ได้เข้าพักผ่อนตามที่เคยปฏิบัติมาประจำ เวลาประมาณเที่ยงวัน ท่านก็เคยออกมาต้อนรับแขกที่มานมัสการประจำ
    วันนั้นเห็นผิดสังเกต ท่านไม่ออกจากห้องพักตามปกติลูกศิษย์ที่คอยปฏิบัติอยู่ใกล้ชิดจึงไปดู และเรียก แต่ท่านไม่ขานตอบ จึงได้เปิดประตูเข้าไปดู เห็นอาการนอนเพียบอยู่ ถึงถามก็พูดไม่ได้ตั้งนั้นมา
    จึงได้เอาท่านออกมาข้างนอกทำการพยาบาลกันเต็มความสามารถ เห็นอาการไม่ดีขึ้นจึงไปตามเอาหมอที่โรงพยาบาลมาตรวจรักษา
    นายแพทย์ตรวจอูอาการพบว่าเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตัน หรือ เส้นโลหิตในสมองตีบ แพทย์ก็แนะนำให้เอาไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลอุดรธานี
    วันต่อมา วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๔ จึงได้ติดต่อขอรถพยาบาลนำส่งโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี แพทย์ก็ให้การรักษาจนสุดความสามารถอาการก็ไม่ดีขึ้น
    วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๔ จึงได้นำขึ้นเครื่องบินจากอุดรธานี ส่งโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ ให้แพทย์รักษาจนสุดความสามารถ อาการยังไม่ดีขึ้น
    วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ได้นำท่านไปตรวจสมอง ที่โรงพยาบาลรามาฯ แล้วก็นำกลับโรงพยาบาลศิริราชอีก
    แพทย์ให้การรักษาเป็นอย่างดี เช่นนายแพทย์ประวัติ หงษ์ประภาส และนายแพทย์ ประกิจ เหล่านี้เป็นต้น แต่อาการยังไม่ดีขึ้น
    วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๔ เวลากลางคืนวันพุธ ๐๔.๐๐ น. ท่านก็ได้มรณภาพไปด้วยอาการอันสงบต่อหน้านายแพทย์ และคณะลูกศิษย์ที่ติดตามรักษา
    รุ่งเช้าวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ได้ทำพิธีรดน้ำศพที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วก็นำศพท่านกลับวัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี โดยรถพยาบาลของโรงพยาบาลแพทย์ปัญญานำส่งถึงวัดและตั้งบำเพ็ญกุศล ๗-๕๐-๑๐๐ วัน ตลอดมา
    ส่งท้าย

    บรรดาผู้เป็นศิษยานุศิษย์ และผู้เคารพนับถือในพระคุณท่าน ใคร ๆ ทั้งหมดหาได้ระลึกไม่ว่า ท่านมาด่วนรีบมรณภาพจากพวกเราไปเสียโดยเร็ว จึงไม่ได้สอบถามประวัติของท่านโดยละเอียดว่าปีไหนจำพรรษาที่ไหน และได้ทำกิจพระพุทธศาสนาที่ไหนบ้างโดยละเอียด
    และในการถวายเพลิงศพของท่าน เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ ถือว่าการทำบุญทักษิณานุปทานอุทิศถวายท่านเป็นการใหญ่
    บรรดาท่านผู้เป็นสหธรรมิกและศิษยานุศิษย์ตลอดถึงสาธุชนผู้เคารพในพระคุณท่านก็มากันอย่างพร้อมเพรียง
    ท่านพระอาจารย์ ของพวกเราได้สละชีพเพื่อพระพุทธศาสนาเริ่มแต่อายุ ๑๖ ปี หันหน้าเข้าวัดได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและเดินตรงต่อสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานโดยเฉพาะ จนถึงวันมรณภาพ รวมชนมายุได้ ๘๐ ปี เป็นสามเณร ๓ พรรษา เป็นพระ ๕๘ พรรษา
    บั้นปลาย

    [​IMG]หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นปูชนียบุคคล ที่เราท่านไม่ควรลืมเลือน เพราะในยามที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่ได้ดำเนินชีวิตในเพศสมณะผู้บำเพ็ญเพียรเพื่ออรหัตผล มุ่งพระนิพพานโดยแท้
    หลวงปู่อ่อนท่านได้เป็นผู้เติมแต่งบ้านหนองบัวบาน ให้มีคุณค่าเป็นที่รู้จักของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ
    และในถิ่นนี้ อดีตเคยเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอริยเจ้าองค์หนึ่งนั่นคือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งยุค และเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งของกองทัพธรรม
    บัดนี้หลวงปู่อ่อน ญาณสิริได้ละซึ่งสังขารอันไม่เที่ยงนี้ไปแล้ว นอกจากคุณงามความดีที่ท่านมอบไว้แก่ลูกหลานได้ระลึกถึง เจริญรอยตามแบบอย่าง ซึ่งเป็นแนวทางตรงมุ่งสู่พระนิพพานอย่างแท้จริง
     
  6. ปทุมมุต

    ปทุมมุต ผมเป๋นใตร?

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2013
    โพสต์:
    200
    ค่าพลัง:
    +286
    ที่ผมหายเคลือบแคลงใจเรื่องว่ากระดูกของคน จะกลายเป็นพระธาตุได้จริงหรือ ก็เพราะได้ไปกราบพระอัฏฐิธาตุของหลวงปู่อ่อน. นี่แหละเพราะมีอยู่ท่อนนึง ปลายด้านนีงเป็นแก้วใส อืกด้านเป็นกระดูกส่วนตรงกลางกำลังสโลบ ก้ำกึ่งๆ ..รึป่านนี้จะแปรเป็นแก้วทั้งท่อนแล้วมิทราบ เพราะนานแล้ว
     

แชร์หน้านี้

Loading...