พาตัวใจกลับบ้าน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย สันโดษ, 25 ตุลาคม 2008.

  1. สันโดษ

    สันโดษ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    9,940
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +16,870
    <TABLE style="WIDTH: 100%" cellSpacing=1 cellPadding=1 border=1><TBODY><TR><TD>
    [​IMG]

    เนื่องจากการสอนธรรมของดิฉันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามประเพณี ซึ่งดิฉันใช้สำนวนฝรั่งว่า Teaching Dhamma with unconventional approach หลายอย่างที่ดิฉันคิดว่าเขียนดีกว่าพูด เพราะมีเวลาคิด เขียน และถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบ แต่ก็มีอีกหลายอย่างเช่นกันที่ดิฉันเห็นว่า การได้พูด ได้สอนอย่างเห็นหน้ากันจริง ๆ จะทำได้ดีกว่าและชัดเจนมากกว่าการเขียน โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่นั้น หากดิฉันสามารถใช้อุปกรณ์การสอนอันมีตุ๊กตา ๕ ตัวอันเป็นตัวแทนของขันธ์ ๕ แล้ว ดิฉันจะสามารถสอนได้ดีกว่า เพราะดิฉันสามารถแปลงเรื่องยากทางธรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นตัวการ์ตูนที่คนรุ่นใหม่รู้จักดีคือ ทอมกับเจอรี่ ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการเข้าใจการทำงานของขันธ์ ๕ ของมนุษย์โดยเฉพาะในส่วนของนามขันธ์ทั้ง ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อันมีทั้งผู้ดู และ สิ่งที่ถูกดูอยู่คละกัน ซึ่งจากการอ่านคำถามที่นักปฏิบัติสติปัฏฐานเขียนเข้ามาถามดิฉันนั้น มักพบปัญหาในเรื่องที่ไม่สามารถแยกตัวรู้กับตัวถูกรู้อันเป็นนามธรรมทั้งคู่ให้ออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้การฝึกสติปัฏฐานของนักปฏิบัติเหล่านี้ไม่ค่อยก้าวหน้า หลายท่านไม่แน่ใจว่ากำลังเดินถูกทางที่จะไปพระนิพพานหรือไม่ ฉะนั้น ส่วนนี้ หากดิฉันได้สอนเองโดยใช้อุปกรณ์การสอนของดิฉันแล้ว ผู้ฟังจะสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วมากกว่าการเขียน

    อีกหัวข้อหนึ่งที่ดิฉันค่อนข้างมั่นใจว่า ดิฉันไม่สามารถถ่ายทอดให้นักศึกษารู้เห็นได้ด้วยการอ่านหนังสือของดิฉันเพียงถ่ายเดียวเท่านั้น นั่นคือ ประสบการณ์ของผัสสะบริสุทธิ์ หรือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ สภาวะพระนิพพาน ซึ่งเป็นประสบการณ์เดียวกับธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ การเข้าบ้านที่สี่ในความหมายของดิฉัน ถึงแม้เป็นสิ่งที่ดิฉันได้เขียนถึงบ่อย แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงประสบการณ์นี้ได้อย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ดิฉันจะต้องมีโอกาสสอนนักศึกษาด้วยตนเอง

    ฉะนั้น ด้วยความช่วยเหลืออย่างขมักเขม้นจากแขนขาของดิฉัน งานอบรมธรรมที่เมืองไทยโดยการสอนของดิฉันจึงเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างวันที่ ๙ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ซึ่่งผลัดกันใช้สถานที่สองแห่งในการจัดอบรมทั้ง ๕ ครั้งนั้น คือ หอประชุมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ อาศรมวงศ์สนิท คลองสิบห้า นครนายก ซึ่งการอบรมแต่ละครั้งจะใช้เวลา ๓ วัน มีคนมาร่วมอบรมรวมทั้งสิ้นประมาณ ๔๐๐ ท่าน

    จึงเหมือนการอบรมทุกครั้งที่ดิฉันได้เคยทำกับนักศึกษาชาวตะวันตกของดิฉันที่ประเทศอังกฤษ หรือ การอบรมที่ประเทศคามารูนและสิงคโปร์ นั่นคือ ดิฉันมักเขียนบทสรุปสั้น ๆ ให้แก่นักศึกษาผู้ได้ผ่านการอบรมกับดิฉันแล้วเสมอ เท่ากับการเตือนความจำและยังสามารถตอกย้ำให้การเรียนรู้ชัดเจนมากขึ้น ฉะนั้น บทสรุปของหนังสือเล่มเล็กนี้จะกระจ่างแจ้งต่อผู้ที่ได้เข้าอบรมกับดิฉันเท่านั้น เพราะดิฉันได้ใช้ภาษา คำศัพท์ พร้อมทั้งข้อเปรียบเทียบและสิ่งเปรียบเทียบที่ได้อธิบายและแสดงให้เห็นด้วยกล่องของเล่นของดิฉันแล้วในขณะที่อบรมอยู่ ผู้อ่านที่ไม่ได้เข้าอบรมกับดิฉันก็ยังคงสามารถเข้าใจบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่แจ่มแจ้งเท่ากับผู้ที่ได้เข้าอบรมแล้ว ฉะนั้น หากผู้ไม่ได้เข้าอบรมอ่านแล้วยังเข้าใจสภาวะผัสสะบริสุทธิ์ไม่ได้ ไม่แน่ใจว่ามันมีประสบการณ์อย่างไร ถ้าอยากเรียนรู้ก็สามารถเข้าร่วมอบรมกับดิฉันได้ในอนาคต ขอให้ติดตามข่าวจากเว็บไซต์ของดิฉันค่ะ

    พร้อมกันนี้ ดิฉันอยากถือโอกาสนี้สำรวจสอบถามบุคคลที่ได้เข้าอบรมกับดิฉันแล้ว ดิฉันขอถามเพียงคำถามเดียวว่า หากคุณไม่ได้เข้าอบรมกับดิฉันแล้ว คุณจะทราบหรือไม่ว่า ประสบการณ์ที่เรียบง่าย ธรรมดา ๆ ที่ทุกคนเห็นตำตาอยู่แล้วนั้นคือ สภาวะผัสสะบริสุทธิ์ คือสัจธรรมอันสูงสุดของจักรวาล คือที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ คือพระนิพพาน ขอความกรุณาตอบคำถามนี้ให้ดิฉันไม่ว่าจะโดยผ่านอีเมล์ให้ดิฉันหรือเว็บมาสเตอร์ หรือ เขียนใส่ไว้ในสมุดเยี่ยมชมของเว็บไซต์ www.supawangreen.in.th จะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ ผลของการวิจัยนี้จะทำให้ดิฉันได้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นข้อเท็จจริง fact ที่ดิฉันจะสามารถนำขึ้นมาอ้างได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ และจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่องานสอนและการเขียนหนังสือของดิฉันในอนาคต ซึ่งสำคัญมาก

    ดิฉันขอถือโอกาสขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญกับกลุ่มแขนขาของดิฉันเช่น อาจารย์ธงชัย โรจน์กังสดาล อัยการหญิงลัดดาวัลย์ สินธุรักษ์ ทันตแพทย์หญิงธนาภรณ์ วงศ์แหลมทอง คุณภัทรชัย อมรธรรม คุณพัชรินทร์ คงมี คุณตฤณ จงกาญจนพรรณ และอีกหลาย ๆ ท่าน ที่ได้สละทั้งเวลาและกำลังกายมาช่วยให้งานอบรมทั้ง ๕ ครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากเช่นนี้ ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจและขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้

    ท้ายที่สุดนี้ หวังว่าบทสรุปนี้จะสามารถเตือนความจำ ช่วยให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจสิ่งที่ดิฉันสอนได้ชัดเจนมากขึ้น และสามารถใช้เป็นแผนที่ชีวิตปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ของตนเองต่อไป ขอให้มีความอดทน ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท และพยายามทำให้ดีที่สุด โดยการทำเรื่องเดียวเท่านั้นคือ พาใจกลับบ้านเสมอ

    ด้วยความเมตตา

    ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน

    ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๘

    Supawanpg@gmail.com

    www.supawangreen.in.th

    www.hereandnowholiday.com







    </TD></TR><TR><TD>
    สารบัญ



    บทนำ

    บทที่ 1 ผู้รู้จริงจะพูดเรื่องเดียว

    บทที่ 2 การแก้ปัญหาชีวิตที่มากับ ความคิด ความจำ ความรู้สึก

    บทที่ 3 เข้าใจความเป็นมายาของความคิด หรือ หนูเจอรี่

    บทที่ 4 มิจฉาสติ กับ สัมมาสติ

    บทที่ 5 ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับพระนิพพาน

    บทที่ 6 การฝึกสติปัฏฐานสี่ หรือ การพาตัวใจกลับบ้าน




    </TD></TR><TR><TD>
    บทที่หนึ่ง
    ผู้รู้จริงจะพูดเรื่องเดียว

    ผู้รู้ตามพระพุทธเจ้าจริง ๆ ทุกท่านจะพูดสอนชักชวนคนให้ไปนิพพานเสมอ เพราะรู้จริงจึงรู้ว่าพระนิพพานเป็นเป้าหมายอันสูงสุดเพียงสิ่งเดียวของทุกชีวิต การไปให้ถึงพระนิพพานจึงไม่ใช่เป็นทางเลือก choice หรือ เป็นเรื่องมักใหญ่ใฝ่สูง ambition แต่เป็นเรื่องที่ทุกชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์จำเป็นต้องไปให้ถึง ใครรู้เร็วก็ไปถึงเร็ว ใครรู้ช้าก็ถึงช้า ใครไม่รู้เลยก็ไปไม่ถึง เสียชาติเกิด คนใกล้ตายเพราะสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนหรือเพราะหมดอายุขัยหรือเพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุหรือถูกภัยธรรมชาติคุกคามเอาซึ่งครอบคลุมไปถึุงคนทุกคน จึงต้องรีบตั้งความปรารถนาพระนิพพาน จะได้ไม่เสียชาติเกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา

    ผู้รู้จริงจึงรู้ว่านิพพานไม่ใช่เรื่องไกลสุดกู่ เอื้อมไม่ถึง ดิฉันจึงต้องการทำลายความเข้าใจผิดนั้น โดยแทนคำนิพพานด้วยคำที่ฟังง่าย ใกล้ตัวและใคร ๆ ก็ไปถึงได้ เช่น ภูกระดึง ตัก ผัสสะบริสุทธิ์ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ทุกครั้งที่อ่านหรือฟังพบคำเหล่านี้ของดิฉัน ขอให้เข้าใจว่าดิฉันหมายถึงพระนิพพาน ใครที่พูดถึงนิพพานเป็นเรื่องไกลตัว แสดงว่ายังไม่รู้จริง

    วิธีการเข้าถึงพระนิพพานเป็นเรื่องทักษะโดยตรง เหมือนการเกิดของตัก ถ้ามัวแต่ยืน เดิน นอน ไม่ยอมนั่ง ตักย่อมไม่เกิด การนั่งเพื่อให้เกิดสภาวะของตัก จึงเป็นเรื่องทักษะ เริ่มจากการหัดหย่อนก้น นั่งยอง ๆ จนสามารถนั่งติดพื้นติดเก้าอี้ได้จริง ๆ ตักย่อมเกิดได้ง่าย ๆ เมื่อยอมนั่งเท่านั้น

    การฝึกสติปัฏฐานสี่ หรือ การพาตัวใจกลับบ้านคือ การฝึกทักษะของใจ เหมือนการเริ่มฝึกทักษะของการนั่งลงเพื่อให้เกิดสภาวะของตัก ใครต้องการถึงนิพพานจึงต้องฝึกการพาตัวใจกลับบ้านเสมอ พอเข้าบ้านที่สี่ได้ สภาวะของตักก็เกิดทันที ถึงนิพพานแล้วทันที บ้านทั้งสี่กลายเป็นบ้านใหญ่มากหลังเดียวอันคือสภาวะพระนิพพาน

    การฝึกทักษะคือ การทำบ่อย ๆ ทำเป็นอาจิณ ทำเป็นกิจวัตร ทำซ้ำทำซาก หลับหูหลับตาทำ ทู่ซี้ทำอยู่เช่นนั้น อดทน ไม่ท้อถอย ใครที่สามารถฝึกทักษะของการพาใจกลับบ้านได้เช่นนี้ ตัวใจย่อมอยู่ติดบ้านได้ง่ายขึ้น เมื่อตัวใจยอมอยู่บ้านของใจแล้ว ตัวใจย่อมปลอดภัย ศัตรูมาทำร้ายเราไม่ได้ อันตรายมาไม่ถึงตัว บ้านของใจในที่นี้คือ พระนิพพาน พาตัวใจกลับบ้านได้ก็สามารถเอานิพพานเป็นที่พึ่งได้แล้ว ฉะนั้น ใครอยากเอานิพพานเป็นที่พึ่งได้ ต้องพยายามฝึกทักษะของการพาใจกลับบ้านเสมอ

    เมื่อพาตัวใจกลับบ้านได้ เมื่อนั้นคือการใช้ชีวิตอย่างเป็นอริยะแล้ว การอยู่ในโลกของพระนิพพาน หรือ โลกของผัสสะบริสุทธิ์ เป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดามาก ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบว่าเป็นสงฆ์ เป็นชี แต่อย่างใด คนที่ไม่ทำ ไม่ยอมพาตัวใจกลับบ้าน ไม่ยอมใช้ชีวิตอย่างเป็นอริยะต่างหากที่เป็นเรื่องแปลก เป็นเรื่องไม่ธรรมดา ไม่ปลอดภัย เพราะเป็นชีวิตที่นำความทุกข์มาสู่ตัวเสมอ จะมีปัญหาอยู่ร่ำไป อยู่อย่างธรรมดา ๆ ไม่ได้





    </TD></TR><TR><TD>
    บทที่สอง
    การแก้ปัญหาชีวิตที่มากับ ความคิด ความจำ ความรู้สึก หรือ หนูเจอรี่



    ขันธ์ ๕
    พระพุทธเจ้าได้แยกรูปกายและจิตใจของมนุษย์เป็นธรรมชาติ ๕ อย่าง หรือ ขันธ์ ๕ คือ

    1. รูปขันธ์ ส่วนที่เป็นกายทั้งหมด อันเป็นที่ตั้งของอายตนะภายใน (sense) คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง

    2. เวทนาขันธ์ ส่วนที่เป็นความรู้สึกของกายและใจทั้งหมด = จิต = เจอรี่

    3. สัญญาขันธ์ คือ ส่วนที่เป็นความจำ= จิต = เจอรี่

    4. สังขารขันธ์ ส่วนที่เป็นความคิด = จิต = เจอรี่

    5. วิญญาณขันธ์ คือ ส่วนที่ทำให้ธรรมชาติส่วนกายรู้สึกตัวได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ดิฉันจึงเรียกธรรมชาติส่วนนี้ว่า ตัวใจ เพื่อให้สอดคล้องกับ ตัวกาย ตัวกายมีแค่ไหน ตัวใจก็ทำให้ตัวกายรู้สึกได้เท่านั้น เหมือนมือที่สอดเข้าไปในถุงมือได้อย่างแนบสนิท ถ้าไม่มีตัวใจ ตัวกายก็ไม่ทำงาน เหมือนถุงมือยางที่ขาดมือจริง ๆ ที่ไปทำให้ถุงมือนั้นเคลื่อนไหวได้ หรือ ทำให้ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง ทำงานได้ วิญญาณขันธ์นี้จึงทำหน้าที่เป็นเจ้านายใหญ่ เป็นอายตนะที่ ๖ ที่ทำให้อายตนะที่เหลือทั้ง ๕ ทำงานได้ ดิฉันจึงเรียกธรรมชาติส่วนนี้ว่า ใจ, ตัวใจ หรือ ตาใจ และ แทนที่ด้วยตัวการ์ตูนที่ชื่อ แมวทอม

    ถ้าพูดอย่างรวบรัดแล้ว ขันธ์ ๕ มีส่วนที่มีรูปร่าง (รูป, มวล, mass) ๑ ส่วน กับ ส่วนที่ไม่มีรูปร่าง (นาม, พลังงาน,energy) อีก ๔ ส่วน ส่ีวนที่เป็นนามหรือพลังงานทั้ง ๔ ส่วนนี้ก็มีทั้ง จิตกับใจ หรือ ทอมกับเจอรี่ ขันธ์ ๕ จึงจะได้สมการที่ดูง่ายขึ้นเช่นนี้<SUP>[1]</SUP>

    ขันธ์ ๕ = ตัวใจ(หรือตาใจ) + จิต + กาย

    หรือ

    ขันธ์ ๕ = ทอม + เจอรี่ + กาย

    ตัวกายเป็นที่ตั้งของอายตนะภายใน ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง ที่เปรียบเหมือนสะพานรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือ ปรากฏการณ์ทุกอย่างของโลกภายนอก เพื่อนำมันเข้ามาสู่โลกภายใน ทันทีที่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เข้าสู่โลกภายใน มันจะเปลี่ยนเป็นความจำ ความคิด ความรู้สึก ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่มีรูปร่างซึ่งดิฉันเรียกรวมเป็นคำสั้น ๆ คำเดียวคือ จิต หรือ เจอรี่ และกลายเป็นสิ่งที่ถูกรับรู้โดยตาใจของตัวใจ หรือ อายตนะที่ ๖

    การอธิบายขันธ์ ๕ ดังกล่าวเบื้องต้นจึงครอบคลุมจักรวาลภายนอกกับจักรวาลภายในทั้งหมด โดยมีวิญญาณขันธ์ หรือ ตัวใจ เป็นศูนย์กลางของจักรวาลทั้งสอง

    ความคิด ความจำ ความรู้สึก

    ขอให้เข้าใจว่า ความจำ (สัญญาขันธ์) ก็คือ ความคิด ที่เนื่องกับข้อมูล ความรู้ และเหตุการณ์ในอดีต ความจำจึงเข้ามาในหัวเราในลักษณะของความคิด แต่เป็นความคิดของอดีตทั้งหมด ถ้าใครจำได้มากก็สามารถคิดได้มากขึ้น สามารถจับข้อมูลที่จำ ๆ ไว้มาปะติดปะต่ออยู่ในหัวตัวเอง ความจำอันเนื่องกับเหตุการณ์ในอดีตที่เจ็บปวด หากไม่จำ หรือ ลืมได้แล้ว ก็จะไม่คิดมาก แต่ถ้าจำทุกอย่างได้ ก็จะคิดมาก คิดฟุ้งซ่าน ทำให้เจ็บปวดได้ ฉะนั้น เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจแล้ว ดิฉันจะรวบความคิดกับความจำเป็นเรื่องเดียวกัน โดยจะเรียกรวมเป็น ความคิด อย่างเดียว และเป็นธรรมชาติส่วนนามที่เข้ามาในใจที่ดูเหมือนอยู่ส่วนหัว ในขณะที่ความรู้สึกของใจ (เวทนาขันธ์) เป็นธรรมชาติฝ่ายนามที่เข้ามาในใจที่ดูเหมือนอยู่ส่วนอกของเรา

    รวบให้เป็นหนูเจอรี่

    เพื่อให้ง่ายต่อการแก้ปัญหาจิตใจ และการฝึกทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้าน ขอให้รวบทุกความคิดและทุกความรู้สึกให้ลงมาเหลือเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือ หนูเจอรี่ ไม่ว่าจะมีความคิดอะไรเข้ามาในหัวหรือความรู้สึกอะไรเข้ามาในใจ ฝึกบอกตัวเองทุกครั้งว่า เอ้า...หนูเจอรี่มาอีกแล้ว สำคัญมาก นี่เป็นทางลัดสั้นที่สุดที่จะไปนิพพาน เพราะหนูเจอรี่เป็นศัตรูที่แท้จริงตัวเดียวของมนุษย์ ของโลก ของจักรวาล และของสังสารวัฏ จัดการกับหนูเจอรี่ได้ตัวเดียวก็จะออกจากสังสารวัฏ ถึงนิพพานได้

    ขอให้เข้าใจว่าทุกปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาจิตใจของคน ๆ หนึ่ง ปัญหาสังคมของคนหลายคน หรือปัญหาโลกของคนทุกคน ทุกปัญหาล้วนมากับความคิดก่อน ถ้าคิดก็เป็นปัญหา ถ้าไม่คิดก็ไม่เป็นปัญหา

    แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

    ถ้าไม่รวบทุกความคิดและความรู้สึกเป็นหนูเจอรี่แล้ว ก็จะต้องแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาของนักการศึกษาฝ่ายโลก ของนักการเมืองที่กำลังทำ ๆ กันอยู่ เพราะความคิดความรู้สึกเป็นเรื่องหลากหลาย แตกซ่าน มีรากฝอยมากเหลือเกิน แต่ละคนล้วนมีความคิดและปัญหาที่แตกต่างกันออกไป การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเช่นนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แก้ปมหนึ่งเพื่อไปเจออีกปมหนึ่ง ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง ยิ่งเลาะก็ยิ่งเลอะ เสียเวลา เสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ

    พระพุทธเจ้าแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริง ๆ

    ถ้าสามารถรวบทุกความคิดและความรู้สึกเป็นหนูเจอรี่แล้ว การแก้ปัญหาจะง่ายขึ้นมาก แก้ที่ปมเหตุ แก้ที่ต้นเหตุเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือ การฝึกสติปัฏฐานสี่ หรือ การพาตัวใจกลับบ้าน ฝึกทักษะที่จะให้ตัวใจอยู่ติดบ้านเท่านั้น ปัญหาทุกอย่างก็จะหายไปเหมือนปลิดทิ้ง ส่วนนี้เป็นความรู้ เป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดของพระพุทธเจ้าและของผู้รู้ตามทั้งหลาย

    การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง คือ การดีดความคิดออกจากหัว และการดีดความรู้สึกออกจากใจ หรือ การไล่หนูเจอรี่ออกจากบ้านของแมวทอม หรือ บ้านของใจ หรือ การพาตัวใจกลับบ้านนั่นเอง เมื่อตัวใจยอมอยู่ติดบ้าน ความคิดขยะก็จะออกจากหัวเอง เท่ากับทำลายยานพาหนะที่นำปัญหามาสู่หัวสู่ใจของเรา ปัญหาจิตใจ ปัญหาสังคม ปัญหาโลกจึงแก้ให้ลุล่วงได้ในลักษณะเช่นนี้





    <HR>
    <SUP>[1]</SUP>ดิฉันได้อธิบายเชื่อมโยงเรื่องรูปนามให้ประสานกับความคิดของไอน์สไตน์ในเรื่องสสารและพลังงานในหนังสือเรื่อง ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟรีมายด์ หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องจักรวาลภายนอกและภายในได้ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งเหตุผลว่าทำไมดิฉันจึงบอกว่า ตัวใจของคนทุกคนเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

    </TD></TR><TR><TD>
    บทที่สาม
    เข้าใจความเป็นมายาของความคิด หรือ หนูเจอรี่

    ความคิดและความรู้สึกเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหนึ่งของจักรวาลเหมือนภูเขา น้ำ ต้นไม้ลม ฝน แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติในฝ่ายนาม หรือ พลังงาน คือ ไม่มีรูปร่าง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อยู่ภายในร่างกายของมนุษย์ และมีลักษณะเฉพาะตัวคือ เป็นมายา Illusive มายาเป็นปรากฏการณ์ที่ยากที่สุดที่จะเข้าใจและแก้ไข จำเป็นต้องรับฟังผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์มากกว่า

    มายา

    เข้าใจให้ถูกต้องว่า มายา หมายถึง ปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ในขณะที่ปัจจัยที่ก่อให้มันเกิดยังมีอยู่ แต่เมื่อปัจจัยเปลี่ยน ปรากฏการณ์นั้นก็หายไปเหมือนปลิดทิ้ง ไม่เหลือแม้ร่องรอย เช่น สายรุ้ง พยับแดด ความคิดความรู้สึกของคนเราเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติฝ่ายนามที่ก่อตัวขึ้นมา ตั้งอยู่ และจางหายไปในลักษณะเหมือนปรากฏการณ์ธรรมชาติของสายรุ้ง พยับแดด ภาพสะท้อนในกระจกเงา และภาพโฮโลแกรม

    จึงควรเข้าใจให้ชัดว่า เมื่อความคิดอันเป็นมายาเกิด เจ้าของความคิดจะเห็นเป็นเรื่องจริง ๆ เหมือนการเห็นภาพของเราในกระจกส่องหน้า จะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังถูกหลอกอยู่ ฉะนั้น ถ้าเราต้องการทำให้ความคิดอันเป็นมายาของเราหายไปเร็ว ๆ ก็หมายความว่า เราต้องเปลี่ยนปัจจัยที่ก่อให้เกิดมายาของความคิด ไม่ใช่ไปเปลี่ยนรายละเอียดของความคิด หรือ กลบเกลื่อนความคิดที่เจ็บปวดมากด้วยความคิดที่เจ็บปวดน้อย ถ้าเจอรี่เป็นตัวมายา ความคิดฝ่ายดำหรือขาว บวกหรือลบล้วนเป็นมายาหมด พึ่งพาไม่ได้ ต้องขจัดเจอรี่ให้หมด จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง จะเอาเจอรี่ออกจากหัวของเราได้อย่างไร คำตอบคือ ฝึกทักษะการพาตัวใจกลับบ้าน


    จินตนาการที่ขาดภูมิปัญญา

    ชาวตะวันตกได้พยายามตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้กับเรื่องความคิดและความรู้สึกมากขึ้นโดยถ่ายทอดออกมาในภาพยนตร์ของฮอลลีวู๊ด เช่น เรื่องเมทริกซ์ Matrix, Eternal Sunshine of a Spotless Mind, Equilibrium, What The Bleep Do We Know? Final Cut, The Island ภาพยนตร์เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่สะท้อนความเป็นมายาของความคิดและติดมายาในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น ภาพยนตร์เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงจินตนาการของมนุษย์ที่ต้องการแก้ปัญหาชีวิตให้กับมนุษย์และสังคม แต่เป็นจินตนาการที่ขาดภูมิปัญญาทางธรรมอย่างน่ากลัวของชาวตะวันตก อย่างเรื่อง What The Bleep Do We Know? นั้น เป็นเรื่องการเอาปัญญาชนฝรั่งที่มีปริญญาหางว่าวที่ชาวโลกล้วนก้มหัวให้มานั่งคุยกันเรื่องขันธ์ ๕ อันเป็นความรู้ดั้งเดิมของพระพุทธเจ้านี่เอง ซึ่งเนื้อหาของการคุยของปัญญาชนเหล่านั้นล้วนแสดงออกถึงความอ่อนหัดทางภูมิปัญญาทางธรรมอย่างน่าใจหาย จะพูดว่ามีตาใจที่มืดบอดสนิทก็ไม่ผิด เป็นการคุยที่แตกซ่าน สะเปะสะปะ ขาดทิศทางอันคือเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตที่ถูกต้อง ไม่มีคำตอบให้แก่ชีวิตอย่างแท้จริง เพราะศาสตราจารย์แต่ละคนล้วนเดินเข้าไปในท่อความคิดของความรู้ทางโลก The tube of intellect ของตนเอง ล้วนถูกมายาของความคิดหลอกทั้งสิ้น<SUP>[1]</SUP>

    ต้องเดินสายความคิดของพระพุทธเจ้า

    การเข้าใจขันธ์ ๕ อย่างถึงแก่นนั้นจำเป็นต้องเดินสายความคิดตามภูมิปัญญาของพระพุทธเจ้า ซึ่งดิฉันอธิบายด้วยภาษาสมัยใหม่โดยให้มองนามขันธ์ทั้งสี่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นทอมกับเจอรี่ โดยการรวบความคิด (สังขาร) ความจำ (สัญญา) ความรู้สึก (เวทนา)เป็นหนูเจอรี่ และความรู้สึกตัว (วิญญาณ) เป็นแมวทอมหรือตัวใจที่มีตาใจเท่านั้น หากเดินสายความคิด (using this approach) เช่นนี้แล้ว การแก้ปัญหาชีวิตที่แท้จริงก็จะเกิดได้อย่างง่ายดาย นั่นคือ เข้าสู่เรื่องการปฏิบัติวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานสี่ทันที หรือ โดยการพาตัวใจกลับบ้านเท่านั้น


    คนรู้จริงที่สามารถออกมายืนอยู่นอกท่อมายาของความคิดเท่านั้นจึงสามารถพูดรวบยอดสรุปเป็นโครงสร้างใหญ่เช่นนี้ได้ คนที่ยังติดอยู่ในท่อมายาของความคิดจะพูดเน้นแต่รายละเอียดที่แตกซ่าน เพราะไม่เห็นโครงสร้างใหญ่ ใครที่ต้องการหลุดจากเงื้อมมือของมายาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเดินสายความคิดตามที่ดิฉันสอนในงานอบรม คือ ต้องรู้การทำงานระหว่างทอมกับเจอรี่ ไม่มีทางอื่น

    มายาสร้างปัญหาที่ซับซ้อนมาก

    การเดินเข้าไปในท่อมายาของความคิดเป็นปัญหาใหญ่มากที่สุดปัญหาเดียวของมนุษยชาติ เรื่องที่จะเล่านี้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนอย่างหลายตลบที่มายาของความคิดสร้างให้สังคมมนุษย์โดยทำงานร่วมกับเทคโนโลยีที่มนุษย์หลับหูหลับตาสร้างขึ้นมาทำลายตัวเอง และกำลังทำลายวิถีชีวิตประจำวันที่เคยซับซ้อนน้อยกว่าหรือเข้าใกล้ความเป็นธรรมดามากกว่า

    สามีทราบเรื่องนี้จากรายการหนึ่งในโทรทัศน์ เล่าว่าเด็กหนุ่มวัยรุ่นอายุ ๑๔ ยิงเพื่อนรักที่สนิทมากของตนเอง ตอนแรกเด็กหนุ่มปฏิเสธ คนก็อยากเชื่อ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมจึงฆ่าเพื่อนรักได้เช่นนี้ แต่ตอนหลังเด็กหนุ่มนี้ยอมรับโดยให้เหตุผลว่าเขาเป็นนักสืบทำงานให้กับหน่วยสืบราชการลับแห่งหนึ่งในอินเตอร์เน็ต ตำรวจจึงเข้าไปสอบสวนดู ปรากฏว่าพบอีเมล์ที่มีการรับรองว่าเด็กคนนี้เป็นสายลับ ซึ่งหน้าที่ของเขาในตอนแรกคือ การปกป้องดูแลเพื่อนรักของเขา ต่อมาผู้สั่งงานได้อีเมล์บอกเด็กคนนี้ว่า งานชิ้นต่อไปของเขาคือต้องฆ่าเพื่อนคนนี้ เพราะเพื่อนรักคนนี้กำลังทำงานชิ้นหนึ่งที่เป็นอันตรายมากต่อสังคม จำเป็นต้องรีบฆ่าทิ้งเสียเพื่อเขาจะได้ไม่ไปทำลายคนอื่น เด็กคนนี้จึงเชื่อสนิทว่า เขากำลังทำงานเพื่อสังคมจริง ๆ ไม่มีทางรู้เลยว่าถูกหลอก จึงไปหาปืนมายิงเพื่อนรักของตนเองด้วยเหตุผลนี้

    ตัวอย่างของคนที่ถูกความคิดหลอกเช่นนี้มีมากมายนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะเรื่องการเป็นสายลับนี่ เป็นเรื่องตื่นเต้นที่เปิดโอกาสให้เจอรี่ได้แสดงตัวตนอย่างเต็มที่ ทำให้รู้สึกตนเองมีความสำคัญมาก ในช่วงอบรมดิฉันก็เคยเล่าเรื่องของชายคนหนึ่งเป็นเซลแมนขายรถยนต์ เขาสามารถหลอกปัญญาชนหลายคนทั้งหญิงและชายซึ่งล้วนฉลาดเรียนจบมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น คนหนึ่งจบมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด Oxford เซลแมนหลอกลวงคนนี้ได้บอกพวกปัญญาชนว่าตัวเองเป็นนักสืบให้กับหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ MI5 และการที่ชนชั้นกลางเหล่านี้มารู้จักเขาเป็นส่วนตัวจึงทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าของกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวไอร์แลนด์เหนือ IRA พวกเขาจะถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายนี้ตามสังหาร ปัญญาชนเหล่านี้จึงต้องเชื่อฟังคำแนะนำของชายหลอกลวงผู้นี้ทุกอย่าง ซึ่งมีบางครั้งบอกให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ติดต่อแม้กับครอบครัวของตัวเองไม่ได้ เพราะจะนำอันตรายไปสู่พวกเขา ด้วยความกลัวตาย คนที่ควรจะฉลาดเหล่านี้จึงยอมยกเงินทองมากมายให้กับชายหลอกลวงผู้นี้เพื่อเขาจะได้ปกป้องตนเองจากเงื้อมมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวไอริช ชายคนนี้ได้หลอกเอาเงินจากปัญญาชนเหล่านี้ไปหลายสิบล้านปอนด์และหลอกคนเหล่านี้อยู่นานถึงสิบปีกว่าเรื่องจะแดงออกมา ในขณะที่เหยื่อของเขาต้องใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ และอดอยากนั้น ชายหลอกลวงนี้ก็เอาเงินไปผลาญ ใช้ชีวิตเหมือนราชา และยังมีลูกกับหญิงคนหนึ่งด้วย

    เรื่องทั้งสองนี้แสดงให้เห็นถึงพิษสงที่ร้ายกาจของความคิดที่เป็นมายา ที่สร้างความสลับซับซ้อนให้สังคมมากขึ้นกว่าสมัยก่อนอย่างหลายเท่าตัว นอกจากนั้นก็ยังมีเว็บไซต์ที่ชักชวนให้คนมาฆ่าตัวตาย นี่เป็นเพียงสองสามตัวอย่างเท่านั้น ที่จริงแล้วสังคมโลกทั้งหมดกำลังถูกเจ้าหนูเจอรี่ตัวใหญ่ขี่คอ ชักใยอยู่เบื้องหลังไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งสิ้น คนฉลาดต้องดูให้ออกว่าความเป็นมายาของของคิดนั้นเป็นเรื่องร้ายกาจและน่ากลัวมากแค่ไหน

    ต้องฟังผู้รู้

    ปัญหาของสังคมโลกนั้นไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ด้วยวิถีทางการเมือง การออกกฎหมาย ความวุ่นวายทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลของความเป็นมายาของความคิดทั้งสิ้น การแก้ปัญหาที่แท้จริงมีทางเดียวคือ ต้องรับฟังผู้รู้จริงที่รู้ทันความเป็นมายาของความคิด และรู้ว่าสัจธรรมที่แท้จริงคืออะไร ถ้าไม่รู้ว่าสัจจะตัวแท้จริงคืออะไรแล้ว จะออกจากความเป็นมายาของความคิดไม่ได้เด็ดขาด สัจจะตัวแท้จริงคือ ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกาย ความรู้สึกของกาย และทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารับรู้และสัมผัสได้ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่เบื้องหน้าเราในขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ ผัสสะบริสุทธิ์ หรือ นิพพาน นั่นเอง การเอาชนะมายาคือ การพาตัวใจกลับบ้านเพื่อมาอยู่กับของจริง ๆ เหล่านี้ เท่านั้นเอง ตราบใดที่ใครยังไม่รู้ว่าของจริง ๆ เหล่านี้คือสัจธรรมอันสูงสุดหรือพระนิพพานแล้ว เขาก็ยังอยู่ในเงื้อมมือของหนูเจอรี่ที่เป็นมายาเสมอ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าคนที่ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานมีน้อยนัก




    <HR>
    <SUP>[1]</SUP> อ่านบทที่ ๕ ท่อแห่งความรู้ทางโลก ในหนังสือเรื่อง ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ

    </TD></TR><TR><TD>
    บทที่สี่
    มิจฉาสติ กับ สัมมาสติ

    สติ หมายถึง การรู้ตัว คนที่ใช้ชีวิต เดินเหินไปมา ทำอะไรต่ออะไรได้ในชีวิตประจำวันนั้น ล้วนต้องรู้ตัวหรือมีสติทั้งสิ้น คนที่ไม่รู้ตัวหรือไม่มีสติ คือ
    1. คนนอนหลับสนิท
    2.คนเป็นลมหมดสติ สลบ ทั้งด้วยอำนาจของยา และไม่ใช่อำนาจของยา
    3.คนอยูู่ในอาการโคม่า และ
    4.คนตายสนิท

    คนนอกเหนือจากนั้นล้วนมีความรู้สึกตัวหรือมีสติทั้งสิ้น ต่างกันตรงที่ว่า การรู้ตัวของคนเรานี้เป็นการรู้ตัวอย่างถูกต้องหรืออย่างไม่ถูกต้องเท่านั้น ถ้ารู้ตัวในสิ่งที่ควรรู้หรือถูกต้อง เช่น รู้ลมหายใจ รู้การเคลื่อนไหวของกาย รู้ความรู้สึกของกาย นี่คือ การรู้ตัวในสิ่งที่ควรรู้ ภาษาทางธรรมจะเรียกว่ามีสัมมาสติ

    ขาดสติ

    แต่หากเป็นการรู้ตัวในขณะที่ยังมีความคิดต่าง ๆ อยู่ในหัว มีความรู้สึกวุ่นวายอยู่ในใจ และติดอยู่กับความเป็นมายาของความคิดและความรู้สึกแล้วละก็ ความรู้สึกตัวเหล่านั้นเป็นการรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้หรือไม่ถูกต้อง ภาษาทางธรรมจึงเรียกว่ามิจฉาสติ ฉะนั้น คำพูดที่ว่าใครทำอะไรอย่าง ขาดสติ นั้น จึงหมายถึงการขาดสัมมาสติ ไม่ใช่ขาดมิจฉาสติ

    คนที่ฝึกวิปัสสนาหรือพาตัวใจกลับบ้านเป็นเท่านั้นจึงสามารถรู้สึกตัวอย่างมีสัมมาสติ อาจจะได้บ้าง หลุดบ้าง แต่ก็ยังมีโอกาสทำงานและเดินไปไหนมาไหนอย่างมีสัมมาสติซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยมาก กลุ่มคนที่นอกเหนือจากนั้นที่ไม่เคยฝึกวิปัสสนาซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของโลกล้วนใช้ชีวิตอย่างเป็นมิจฉาสติ เป็นการรู้ตัวอยู่ในโลกของมายาทั้งสิ้น

    ลืมลูกเมียเพราะขาดสติ

    หนังสือพิมพ์เคยลงข่าวของสามีชาวอิตาเลียนคนหนึ่งขับรถไปเติมน้ำมัน ภรรยาและลูกสาวจึงไปเข้าห้องน้ำ สามีเติมน้ำมัน จ่ายเงินเสร็จก็ขับรถออกจากปั๊มน้ำมันทันที กว่าจะรู้ว่าลืมภรรยากับลูกสาวไว้ที่ปั๊มน้ำมัน เวลาก็ผ่านไป ๖ ชั่วโมงแล้ว สามีให้เหตุผลว่า ภรรยามักนั่งอยู่หลังรถกับลูกสาว จึงไม่ได้สังเกต ซึ่งฟังดูอาจจะเกินเลยไปหน่อย อะไรกัน ๖ ชั่วโมงถึงมารู้ว่าลูกเมียไม่ได้อยู่ในรถด้วย แต่ก็เป็นไปได้มาก เพราะหมายความว่าตัวใจของเขาได้เข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง อันคือโลกมายาของความคิดซึ่งเขาอาจจะมีคนที่เขารักมากกว่าภรรยาที่นั่งรถไปกับเขาก็เป็นได้ ตัวใจของเขาจึงอยากอยู่กับคนหรือเหตุการณ์ที่เจอรี่สร้างขึ้นมาในหัว จึงสามารถลืมลูกเมียได้ถึง ๖ ชั่วโมง ขาดสติอย่างรุนแรง

    ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่คล้ายกันและใกล้เคียงความจริงหน่อย คือ พ่อคนหนึ่งเอาลูกเล็กอายุ ๒๐ เดือนไปเยี่ยมคุณย่าโดยที่แม่ของเด็กไม่ได้ไปด้วย จึงเอาลูกนั่งบนที่นั่งเด็กหลังรถ แล้วรัดเข็มขัด กว่าจะกลับบ้านก็มืด อดไม่ได้ แวะดื่มเหล้าในผับเสียหน่อย มีสติพอที่จะรู้สึกรับผิดชอบ รู้ว่าขับรถไม่ได้เพราะดื่มเหล้าไปหลายแก้ว จึงเรียกแท็กซี่กลับบ้าน เช้าโน่น ภรรยาตื่นขึ้นมาไปหาลูกในห้อง เพราะคิดว่าสามีกลับดึก คงเอาลูกเข้านอน หาลูกไม่พบ ร้องกรี๊ดลั่นบ้าน สามีจึงนึกขึ้นได้ว่าลูกยังอยู่ในรถที่จอดอยู่ลานจอดรถของผับ จึงรีบโทรบอกตำรวจ โชคดีว่าเด็กยังหลับปุ๋ยอยู่ในรถ ไม่ถูกใครอุ้มไปเสียก่อน

    การคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเอง ในขณะนั้นเปรียบเหมือนตัวใจของชายทั้งสองคนนี้กำลังถูกครอบอยู่ในโลกของมายา หรือ ห้องที่มีภาพต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจริงแต่ไม่จริง (โฮโลแกรม) ในช่วงนั้น ภาษาของนักปฏิบัติกรรมฐานเรียกว่า ขาดสติ จะอธิบายให้ถูกต้องแล้ว ไม่ใช่ว่าสามีสองคนนี้ไม่มีสติหรือไม่รู้ตัว เพียงแต่ว่าสติหรือการรู้ตัวของเขาเป็นการรู้เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในห้องมายา หรือ ห้องที่มีภาพโฮโลแกรม หรือ กำลังดูเรื่องราวในกระจกเงาซึ่งทุกอย่างดูเหมือนจริงหมด สติของเขาจึงติดตามเรื่องราวที่เป็นมายาเหล่านั้นราวกับว่ามันเป็นจริงหมด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสามีอิตาเลียนนี้จึงใช้เวลาถึง ๖ ชั่วโมงกว่าจะรู้ตัวว่าภรรยาและลูกไม่ได้นั่งอยู่หลังรถ และยิ่งมีเรื่องเหล้าเข้ามาผสมด้วย ยิ่งไปกันใหญ่ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเรียกสติที่รู้สึกตัวอยู่ในโลกมายาว่าเป็นมิจฉาสติ เพราะไม่ใช่เป็นการรู้ตัวอยู่กับของจริง ๆ เช่น ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกาย ความรู้สึกของกายอันเป็นฐานของสติ หรือพูดง่าย ๆ ว่าตัวใจไม่ได้อยู่บ้านนั่นเอง ตัวใจกำลังวิ่งตะลอนอยู่นอกบ้าน กำลังติดคิด จึงเป็นมิจฉาสติที่อยู่ในโลกที่ไม่จริง อยู่ในโลกของมายา

    การรู้ตัวบนฐานของสติ

    สัมมาสติ คือ การรู้ตัวอยู่บนฐานของสติ คือ การรู้ลมหายใจ รู้การเคลื่อนไหวของกาย รู้ความรู้สึกของกาย สิ่งที่ถูกรู้เหล่านี้ล้วนเป็นของจริง จริงเพราะกำลังเห็นอยู่ สัมผัสอยู่ได้ในขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ จึงเป็นสัจจะ เป็นนิพพาน การรู้ตัวอยู่บนฐานของสติเหล่านี้จึงเป็นสัมมาสติ เป็นการรู้ตัวที่จะพาไปนิพพาน ฉะนั้น จะฝึกสัมมาสติได้อย่างไร คำตอบคือ การพาตัวใจกลับบ้านนั่นเอง

    เมื่อรู้ว่าทุกความคิดและความรู้สึกเป็นมายาแล้ว จะเข้าใจต่อได้ว่า ปัญหาชีวิตของเราที่มากับความคิดทั้งหลายจึงล้วนเป็นมายาทั้งสิ้น มันไม่จริง จะแก้ปัญหาได้โดยการทำลายภาพมายาของความคิดและความรู้สึกหรือเจอรี่ และออกมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่จริง ๆ คือ ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ จะทำอย่างไร คำตอบคือ การพาใจกลับบ้านนั่นเอง

    แก้ปัญหาฝันร้ายทั้งที่ตื่น

    การแก้ปัญหาเรื่องฝันร้ายในขณะหลับทางกาย คือ ต้องทำให้ตัวกายตื่นมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง การแก้ปัญหาชีวิตมนุษย์ก็ต้องทำเช่นนั้น ทุกปัญหาชีวิตมากับความคิด การจุ่มอยู่กับความคิดและความรู้สึกที่เป็นปัญหาจึงเหมือนการฝันร้ายในขณะที่กายยังตื่นอยู่ แต่กายไม่สามารถตื่นได้อีกแล้ว เพราะตื่นอยู่แล้ว แต่เป็นการรู้สึกตัวตื่นที่ตัวใจได้เข้าไปเกี่ยวพันกับความคิด ซึ่งเป็น มิจฉาสติ จึงเท่ากับตัวใจยังหลับอยู่ ตรงนี้เอง ถ้าเข้าใจได้ว่า แม้ตัวกายตื่น แต่ตัวใจยังหลับอยู่ หลับเพราะถูกความคิดที่เป็นมายาครอบงำไว้ ฉะนั้น เราจึงต้องทำให้ตัวใจตื่นจากความหลับไหลตื่นจากมายาของความคิด หรือ ตื่นจากความเป็นมิจฉาสติ ซึ่งจะทำได้อย่างไร ก็โดยการพาตัวใจกลับบ้าน หรือ กลับมาสู่ฐานของสัมมาสติ อันคือ รู้ลมหายใจ รู้การเคลื่อนไหวของกาย รู้ความรู้สึกของกาย เป็นต้น

    การรู้ตัวในสิ่งที่ควรรู้เหล่านี้เป็นสัมมาสติ เพราะสิ่งที่ถูกรู้เหล่านี้ล้วนเป็นของจริง ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่จริง ๆ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เมื่อพาตัวใจกลับบ้านได้เช่นนี้ ก็เหมือนตัวใจสามารถตื่นจากฝันร้าย และกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง อันคือ ของจริง ๆ ที่เกิดขึ้นที่นี่ เดี๋ยวนี้ ปัญหาชีวิตจึงแก้ตกได้ในลักษณะเหมือนตื่นจากฝันร้าย คือปลุกตัวใจให้ตื่น ให้ตัวใจมีสัมมาสติเช่นนี้ ฉะนั้น คนฝึกวิปัสสนา หรือ พาตัวใจกลับบ้านเป็นเท่านั้นจึงสามารถตื่นขึ้นมาสู่โลกที่เป็นจริงในขั้นอันติมะนี้ได้ คนนอกเหนือจากนั้นยังหลับไหลอยู่หรือมีมิจฉาสติทั้งสิ้น แม้กายจะตื่นอยู่ก็ตาม สังคมโลกจึงยุ่งมากเพราะเหตุนี้ เต็มไปด้วยคนพูดอะไรอย่างเพ้อฝัน ไม่มีแก่นสาร พูดเหมือนคนเดินละเมอ

    </TD></TR><TR><TD>
    บทที่ห้่า
    ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับพระนิพพาน

    กลุ่มคำที่มีความหมายเดียวกัน

    ขอให้เข้าใจเสียก่อนว่าคำเหล่านี้คือสภาวะเดียวกับพระนิพพาน นั่นคือ สัจจะ สัจธรรมอันสูงสุด ผัสสะบริสุทธิ์ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ถ้าจะชี้ชัดให้มากกว่านี้ ต้องบอกว่า นิพพานคือลมหายใจ คือ การเคลื่อนไหวของกาย คือ ความรู้สึกของกายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือพูดรวบยอดว่าทุกผัสสะ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ที่กำลังรับรู้อยู่อย่างเฉย ๆ อย่างบริสุทธิ์ในขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ คือ พระนิพพาน อันเป็นสภาวะที่ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ แต่เป็นสภาวะที่กำลังเคลื่อนไปอย่างไม่หยุดยั้งเหมือนการเคลื่อนของเข็มวินาทีของนาฬิกาบางชนิด

    ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

    ตาใจของตัวใจคืออายตนะที่ ๖ ที่ทำให้ตัวกายหรืออายตนะทั้ง ๕ ทำงานได้ คนที่หลับสนิท สลบ อยู่ในอาการโคม่า หรือ ตายสนิท ในช่วงนั้น ๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของคน ๆ นั้นจะไม่ทำงาน เพราะตัวใจหลับอยู่ แม้เปิดตาก็มองไม่เห็น มีหูก็ไม่ได้ยิน เป็นต้น ฉะนั้น ขอให้เข้าใจว่า อายตนะทั้ง ๕ จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อตัวใจตื่นอยู่ รู้ตัวอยู่เท่านั้น นี่เอง จึงก่อให้เกิดคำพูดที่ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว คือ ตัวใจผู้เป็นนายใหญ่ต้องตื่นก่อน กายอันคือบ่าวจึงจะทำงานได้ ฉะนั้น การทำงานของกาย หรือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงเป็นการทำงานโดยผ่านตัวใจผู้เป็นนายใหญ่ที่แท้จริงทั้งสิ้น

    เมื่อมองโลกผ่านแว่นต่างสี

    สาเหตุที่ต้องขจัดความคิดอันเป็นมายาเพราะ ความคิดเป็นตัวกีดขวางตาใจของเราไม่ให้เห็นสัจจะ หรือ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ขอให้นึกถึงภาพของขวดต่างสีที่กำลังครอบตัวใจอยู่ เหมือนการใส่แว่นต่างสีของตาเนื้อ ทุกภาพที่เห็นจะกลายเป็นสีของแว่นตาที่เราใส่อยู่ ตราบใดที่เรามองภาพเบื้องหน้าโดยผ่านกรอบแว่นต่างสีแล้ว ผู้มองย่อมมองไม่เห็นภาพเบื้องหน้าอันมีสีธรรมชาติที่แท้จริง

    ความคิดและความรู้สึกหรือเจอรี่เปรียบเหมือนแว่นตานามธรรมที่ผู้คิดกำลังนำมาใส่ครอบตาใจของตัวเองอยู่ การคิดคือ การเอาแว่นตาใจมาใส่ครอบตาใจไว้ แต่ละความคิดก็เปรียบเหมือนแว่นแต่ละสี ฉะนั้น ถ้าตาใจของเราใส่แว่นต่างสีของความคิดแล้วละก็ การเห็นโลกภายนอก คือ โลกของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ย่อมเป็นไปตามสีสันของแว่นตาใจ การมองโลกภายนอกย่อมเป็นไปตามความคิดอันหลากหลายของแต่ละคน ซึ่งทุกคนมักคิดว่าตัวเองถูกอยู่เสมอ ซึ่งจะว่าถูกก็ได้ เพราะทุกคนย่อมเห็นสีตามสีแว่นของตนเองทั้งสิ้น แต่จะบอกว่าทุกคนผิดก็ได้ เพราะตราบใดที่มองผ่านสีสันของแว่นแล้ว ย่อมไม่เห็นสีจริงที่เป็นธรรมชาติจริง ใครที่อยากเห็นสีสันจริง ๆ อันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของสิ่งที่ต้องการดูแล้ว ต้องถอดแว่นต่างสีออก เมื่อผู้มองสามารถถอดแว่นตาใจหรือถอดความคิดออกได้แล้ว ตาใจของเขาก็จะรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ของผู้ถอดแว่นตาใจ (ถอดความคิด) ได้จะกลายเป็นสัจจะ หรือ สัจธรรมอันสูงสุดหรือเป็นนิพพานด้วยเหตุผลนี้

    แยกแยะความสว่างออกจากความมืด

    เรื่องความคิดและการคิดเป็นเรื่องจำเป็นของการดำรงชีวิต จะให้อยู่ในโลกของผัสสะบริสุทธิ์หรือสัจจะตลอดเวลาโดยไม่ต้องคิดนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ การถอดแว่นตาใจของความคิดในข้อเบื้องต้นนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติธรรมต้องทำเพื่อให้รู้ความแตกต่างระหว่างความมืดกับความสว่าง ดำกับขาวเสียก่อน อย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้งแม้จะนานเพียงชั่วเสี้ยวหนึ่งของวินาทีก็ยังดี คนที่อยู่ในถ้ำมืดที่ไม่เคยเห็นความสว่างมาก่อนในชีวิต จะรู้ได้อย่างไรว่า ความสว่างมีหน้าตาอย่างไรและแตกต่างจากความมืดอย่างไร ย่อมรู้ไม่ได้ แต่หากมีโอกาสเห็นความสว่างเพียงชั่วพริบตาเดียวเท่านั้น คนนั้นก็สามารถรู้ความแตกต่างระหว่างความสว่างกับความมืดได้แล้ว จึงสามารถคลำทางไปสู่ที่สว่างได้

    ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมที่จะให้ได้ผลอย่างแท้จริงและลัดสั้นที่สุดคือ มีผู้รู้ตามพระพุทธเจ้ามาบอกว่า สภาวะนี้ ๆ คือ พระนิพพาน หรือ สัจธรรมอันสูงสุด ซึ่งดิฉันใช้วลีว่า ผัสสะบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นสภาวะเดียวกับธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือหน้าตาของบ้านที่สี่ ฉะนั้น หากนักปฏิบัติคนใดรู้แน่ชัดว่า สภาวะนี้คือ ผัสสะบริสุทธิ์ แม้จะเห็นได้เพียงเสี้ยววินาทีเดียว (คนที่ให้คะแนนตัวเองไม่ว่าจะเป็น ๑, ๒ หรือ ๓ แสดงว่าได้เห็นสัจจะแล้ว ได้รับผัสสะบริสุทธิ์แล้วในช่วงสั้น ๆ ช่วงหนึ่ง) ก็เพียงพอที่จะรู้แล้วว่า ความสว่างของธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนั้นแตกต่างจากความมืดของอวิชชาอย่างไร การเห็นความสว่างของธรรม ของสัจจะเพียงครั้งเดียว ก็เหมือนพบทางออกของชีวิตแล้ว เปรียบเหมือนได้พบแสงริบหรี่ที่อยู่ปลายสุดของถ้ำมืดแล้ว ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้ผู้เดินทางชีวิตเดินถูกทางอยู่เสมอ โดยเอาสัจจะหรือแสงสว่างนั้นเป็นสิ่งนำทาง

    เมื่อทำธุระเสร็จแล้ว ก็กลับบ้านทันที

    การถอดแว่นตาใจหรือดีดความคิดออกในขั้นตอนแรกจึงเป็นเรื่องจำเป็นด้วยเหตุผลดังกล่าวเบื้องต้น เมื่อรู้ว่าสัจจะตัวจริง ๆ หรือผัสสะบริสุทธิ์มีสภาวะเป็นอย่างไรแล้ว นักปฏิบัติวิปัสสนาหรือผู้พาตัวใจกลับบ้านเป็นก็ยังคงใช้ความคิดอยู่เหมือนเดิม การคิดเพื่อวางแผนงานของชีวิตประจำวันเป็นเรื่องจำเป็นของการดำรงอยู่ จึงยังต้องใช้ความคิดอยู่เหมือนเดิมทุกอย่างเพื่อทำงานที่ต้องทำให้ลุล่วง ต่างกันแต่ว่า ผู้ใช้จะตระหนักถึงความเป็นมายาของความคิดได้เร็วขึ้น สามารถเตือนตนเองได้ว่าความคิดเป็นมายา จะุถูกความคิดหลอกน้อยลง จึงใช้ความคิดเท่าที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น พอหยุดใช้แล้วก็สามารถถอดแว่นตาใจออกได้ เพื่อกลับมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงของที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ โลกของผัสสะบริสุทธิ์ ข้อเปรียบเทียบที่ใกล้เคียงและถูกเป้าที่สุดคือ เปรียบการใช้ความคิดเหมือนการออกจากบ้านไปทำธุระ เมื่อทำธุระเสร็จ ก็ต้องพาตัวใจกลับบ้านหรือกลับมาสู่ฐานของสติเสมอ

    คราใดที่ พาตัวใจกลับบ้านที่สี่ได้ ก็ถึงนิพพานทันที ใครที่ยังไม่ชำนาญที่จะถอดแว่นตาใจออกละก็ ต้องพยายามฝึกทักษะที่จะพาตัวใจกลับบ้านให้เก่ง ๆ เมื่อมีทักษะที่ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะสามารถออกจากบ้านไปทำธุระบ่อยแค่ไหนก็ได้ คือ จะคิดอะไรก็ได้ ไม่เป็นปัญหา เพราะ กลับบ้านเป็นแล้ว คิดเสร็จแล้ว ก็หยุดคิดได้ และกลับมาอยู่กับนิพพานเสมอ ผู้ที่หมดปัญหาชีวิตแล้ว จะคิดก็ได้ ไม่คิดก็ได้ คิดมากคิดน้อยแค่ไหนก็ได้ ไม่เป็นปัญหา เพราะรู้ว่าบ้านเดิม (นิพพาน) อยู่ที่ไหน และกลับบ้านเดิมได้เสมอ ปัญหาชีวิตจึงหมดด้วยเหตุผลเช่นนี้

    ต้องรู้จักเลือกสรรความคิด

    คนที่ทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านยังไม่เก่ง ไม่สามารถสลัดความคิดที่เป็นมายาให้หลุดออกได้ง่าย ๆ นั้นจำเป็นต้องเลือกสรรเนื้อหาของความคิดให้ดี คือ ต้องพยายามคิดเรื่องดี ๆ ไว้ก่อน เรื่องไม่ดี เรื่องชั่ว ๆ ที่เป็นขยะทั้งหลายต้องเอาออกไปก่อน

    จะเข้าใจเรื่องนี้ดีต้องเปรียบเทียบความคิดให้เป็นแขกที่มาเยี่ยมเรา (ตัวใจ) ที่บ้าน (ของใจ) แขก (ความคิด) ที่มาเคาะประตูบ้านเราย่อมมีทั้งแขกดีและแขกไม่ดี เมื่อขึ้นชื่อว่าแขกแล้ว ล้วนเป็นส่วนเกินของบ้าน แขกไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านใจของเรา ฉะนั้น หากใครยังไล่แขกทั้งดีและไม่ดีออกจากบ้านไม่เก่งละก็ อย่างน้อยที่สุด อย่าเปิดประตูให้แขกไม่ดี แขกอันธพาลเข้าบ้านเราเด็ดขาด นั่นคือ ความคิดอะไรที่เป็นขยะมูลฝอย คิดโลภ คิดโกรธ คิดเกลียด คิดอิจฉา คิดพยาบาท คิดเห็นแก่ตัว คิดเอาแต่ได้ คิดฟุ้งเฟ้อ คิดเห่อเหิม คิดยกยอตัวเอง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นแขกไม่ดี อย่าเปิดประตูให้มันเข้าบ้านของเราเด็ดขาด ดีดความคิดเลว ๆ เหล่านี้ให้ออกจากหัวทันที อย่าเปิดโอกาสหรือตอแยให้นิ้วให้คืบกับมันเป็นอันขาด ต้องเด็ดขาด ตะเพิดหนูเจอรี่ดำ ๆ เหล่านี้ออกจากบ้านทันที

    หากเป็นแขกดี ๆ เข้ามาในบ้านเราละก็ ไม่เป็นไร แขกดีหรือความคิดดีเป็นสิ่งจำเป็นมากในช่วงแรกของการเดินทางไปนิพพาน ความคิดดี ๆ เป็นสิ่งที่ให้กำลังใจแก่ผู้คิด สามารถใช้มันให้เป็นประโยชน์เหมือนเรือที่สามารถพาผู้โดยสารไปสู่เกาะ


    คู่มือชีวิต...คู่มือการเชื้อเชิญแขกดีเข้าบ้าน

    การเชื้อเชิญแขกดีเข้าบ้านคือ การเดินสายความคิดตามที่ดิฉันได้ปูทางไว้ให้แล้วในคู่มือชีวิตภาคศีลธรรมและภาคกฎแห่งกรรม หากคุณสามารถทำทุกอย่างตามที่ดิฉันแนะนำไว้ในหนังสือทั้งสองเล่มนี้แล้ว ก็เท่ากับการเชื้อเชิญแขกดีเข้าบ้าน แขกดี ๆ หรือความคิดดี ๆ เหล่านี้ก็จะนำทางเราไปนิพพานได้ถึงครึ่งทาง อีกครึ่งทางหลังต้องเดินต่อด้วยตนเอง แม้ความคิดดี ๆ ในที่สุดก็ต้องละทิ้งให้หมดหากต้องการถึงนิพพาน เมื่อพายเรือถึงเกาะอันเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องการไปถึงแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เรืออีกแล้ว ถ้ายังต้องใช้เรืออยู่ ก็จะอยู่ในลักษณะอาศัยเรือเพื่อออกไปทำธุระ เช่น ตกปลา เข้าเมืองไปซื้อกับข้าว เมื่อทำธุระเสร็จ ก็พายเรือกลับเกาะ กลับบ้าน

    </TD></TR><TR><TD>
    บทที่หก
    การฝึกสติปัฏฐาน หรือ การพาตัวใจกลับบ้าน

    สิ่งที่พูดมาทั้งหมดในห้าบทแรกนั้น บางสิ่งเป็นเรื่องเหนือเหตุผล เข้าใจตามไม่ได้ด้วยครรลองของเหตุผล สิ่งเดียวที่จะช่วยให้คุณเข้าใจได้คือ ต้องนำข้อธรรมเหล่านั้นมาปฏิบัติจนสามารถรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง คือการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ หรือ การพาตัวใจกลับบ้านนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องฝึกหัดการใช้ ตาใจ ให้เป็น โดยการพา ตัวใจกลับบ้าน หรือ กลับสู่ฐานของสติ เมื่อปฏิบัติจนเกิดปัญญา ผู้ปฏิบัติจะรู้เองว่าฐานของสติ หรือ บ้านของใจ ทั้งสี่นี้ก็คือ สัจธรรม คือ นิพพาน เพราะสิ่งเหล่านั้นเช่นลมหายใจคือ ของจริง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ เดี๋ยวนี้ นั่นเอง ถ้าไม่ปฏิบัติ ปัญญาก็ไม่เกิด จึงไม่สามารถรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเองทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องตื้น ๆ เป็นหญ้าปากคอก ฉะนั้น ผู้อยากปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริงสามารถทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ

    1. ต้องกำหนด ตาใจ ให้ชัดเจน ตาใจอยู่ที่ไหน? ปิดสองตาเนื้อเสีย สองตานั้นก็จะกลายเป็นสองตาใจไปทันที นั่นแหละคือ ตาใจ การไปภูกระดึงที่จังหวัดเลยจำเป็นต้องใช้สองตาเนื้อเป็นเครื่องมือหาทาง แต่การไปภูกระดึงทางธรรม (พระนิพพาน) จำเป็นต้องใช้สองตาใจเป็นเครื่องมือนำทาง ถ้าไม่มีตา ก็ไม่มีเครื่องมือพื้นฐานดูทาง แล้วจะเดินทางได้อย่างไร คนที่ปฏิบัติสติปัฏฐานแล้ว รู้สึกว่าตัวเองยังไปไม่ถึงไหนสักที หรือ ไม่แน่ใจว่ากำลังเดินถูกทางหรือไม่นั้น เพราะ ยังกำหนดตาใจไม่ชัดเจน จึงปฏิบัติอย่าง คลำทาง แทนที่จะ มองทาง หรือ เห็นทางเดิน ที่ชัดเจน จึงสำคัญมากที่ต้องกำหนดตาใจให้ชัดเจน ต้องหัดใช้ตาใจนี้ให้เป็น ใช้ให้เก่ง หมายความว่าสามารถใช้ตาใจนี้มองโลกภายในของเราได้ไม่ว่าจะหลับตาเนื้อหรือเปิดตาเนื้ออยู่ก็ตาม

    2. โลกภายในคือโลกที่เรารับรู้ได้หลังจากหลับตาเนื้อแล้ว อันมีความคิด ความจำ และความรู้สึกเป็นปรากฏการณ์เด่นของโลกภายใน ซึ่งดิฉันรวบ ๓ ขันธ์นี้ เป็น จิต หรือ เจอรี่ เพื่อให้รู้จักและชินกับการรู้จักโลกภายในของเรา หลับตาเนื้อเสียก่อน ตบมือแรง ๆ ให้เจ็บ และหัดเอาสองตาใจดูไปที่ความเจ็บ แยกสภาวะให้ชัดเจนว่า ตาใจเป็นผู้มอง และความเจ็บเป็นสิ่งที่ถูกมอง ทำหลาย ๆ ครั้งจนสามารถแยกแยะสภาวะของผู้มองและผู้ถูกมองออกจากกันได้อย่างชัดเจน

    3. หลับตาเนื้อ แล้วหัดใช้ตาใจดูลมหายใจ หายใจลึก ๆ ช้า ๆ แยกให้ชัดเจนว่า ตาใจเป็นผู้้มอง และลมหายใจเป็นสิ่งที่ถูกมอง โดยใช้ตาใจมองเน้นไปที่ปลายจมูก เห็นอะไร ก็เอาเท่านั้น อย่าคิดซับซ้อน เหมือนตาเนื้อกำลังมองไปที่มือของตนเอง เห็นอะไร ก็เอาเท่านั้น การดูลมหายใจก็เช่นกัน ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนเลย ต่างกันตรงว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ เป็นการดูการเคลื่อนของลมหายใจเข้าออก แต่ละคนอาจจะมองเน้นไปที่จุดต่างกัน ก็ไม่เป็นไร บางคนมองปลายจมูก แต่ก็เห็นท้องพองยุบด้วย จะเห็นสองอย่างพร้อมกันก็ยังได้ ถ้าการเห็นชัดเจนพอ เหมือนการดูมือ แม้ตาจะมองเน้นตรงอุ้งมือ ก็เป็นธรรมชาติมากที่จะต้องเห็นนิ้วทั้ง ๕ ด้วย เห็นแหวนที่ใส่บนนิ้วด้วย เห็นนาฬิกาบนข้อมือด้วย จุดสำคัญคือ ขอให้เห็นลมหายใจให้ชัดเจน และสามารถแยกตัวรู้กับสิ่งที่ถูกรู้ออกจากกันได้อย่างชัดเจน หัดทำหลาย ๆ ครั้งจนสามารถแยกสภาวะของผู้มองและผู้ถูกมองได้ชัดเจน

    4. หลับตาเนื้อ แล้วเคลื่อนมือขึ้นลงอย่างช้า ๆ เหมือนท่ารำไท้เก็ก และใช้ตาใจมองตามสภาวะของการเคลื่อนมือ แยกให้ชัดเจนว่าตาใจเป็นผู้มอง การเคลื่อนของมือเป็นสิ่งที่ถูกมอง

    5. หัดเดินช้า ๆ หรือ เดินจงกรมโดยไม่ต้องหลับตาเนื้อ ไม่ต้องก้มหัวลงเพื่อใช้ตาเนื้อดูการเคลื่อนของเท้า มองไปตรง ๆ เบื้องหน้าหรือมองลงราว ๖๐ องศาก็เพียงพอแล้ว แม้ตาเนื้อเปิดอยู่ แต่เรากำลังใช้ตาใจทั้งสองดูการเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ของการก้าวเท้าอยู่ ใครรำไท้เก็กหรือท่าชี่กงเป็น ก็ขอให้ใช้หลักการนี้ คือ ใช้ตาใจกำหนดการเคลื่อนไหวของกายตลอดเวลา แยกให้ชัดเจนว่า ตาใจเป็นผู้มอง และ การเคลื่อนไหวของกายเป็นสิ่งที่ถูกมอง


    6. จำไว้ว่า ตานั้นพูดไม่ได้ ปากเท่านั้นที่พูดได้ ฉะนั้น ตาใจก็พูดไม่ได้เช่นกัน ปากใจที่พูดในหัวเราคือ ความคิด จิตหรือเจอรี่ ฉะนั้น การมองของจริงเหล่านั้นอย่างถูกต้องจะไม่มีเสียงพูดในหัว ไม่ต้องบริกรรม ใช้ตาใจมองเฉย ๆ อย่างเงียบ ๆ


    ถ้ามองลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกายและความรู้สึกของกายอย่างมีเสียงหรือบริกรรมในหัวแล้ว แสดงว่า ไม่ได้ใช้ตาใจหรือทอมเป็นผู้ดูของจริงเหล่านั้น แต่กำลังใช้ความคิดหรือเจอรี่เป็นผู้ดูแทน ซึ่งผิด ผิดเพราะทำให้ตาใจไม่เห็นลมหายใจ...ความรู้สึกของกายตามที่มันเป็นของมันจริง ๆ


    การมองลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกาย และความรู้สึกของกายโดยผ่านจิตหรือมีเสียงในหัวนั้นจะทำให้ล่าช้าต่อการเห็นสัจธรรมหรือเข้าถึงพระนิพพาน เพราะเมื่อเลื่อนมาฝึกฐานที่สามแล้ว ความคิดหรือเจอรี่จะต้องเป็นตัวถูกดู ถูกเห็น เพราะเจอรี่เป็นตัวพูดมาก พูดเก่ง พูดเรื่องที่เป็นมายาทั้งหลาย เจอรี่จึงต้องเป็นตัวที่ถูกแมวทอมตะปบ ถูกเขี่ยทิ้ง ความคิดจึงต้องเป็นสิ่งที่ถูกดู ถูกเห็นโดยตาใจของเรา ฉะนั้น จึงสำคัญมากที่ต้องหัดใช้แมวทอมหรือตาใจเป็นผู้ดูอย่างเงียบ ๆ

    7. การทำข้อ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ คือ สูตรสำเร็จของการทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม practicing self-awareness เปรียบเหมือนการสอดมือที่มีนิ้วทั้งห้า (ตัวใจ) เข้าไปในถุงมือยาง (ตัวกาย) ที่แนบเนื้อสนิท ไม่มีส่วนไหนของมือและนิ้วที่ไม่ถูกต้องถุงมือยาง ทำให้ตัวกายกับตัวใจประสานอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นการทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมตั้งแต่หัวจรดเท้า เป็นการฝึกสัมมาสติ คือ การรู้สึกตัวในสิ่งที่ควรรู้ ควรเห็น เพื่อมุ่งไปสู่การดับทุกข์ หรือ ออกจากกรงขังชีิวิต เพราะไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกาย (บ้านที่ ๑) ความรู้สึกของกาย (บ้านที่ ๒) สิ่งเหล่านี้คือ ของจริง หรือ สัจธรรม หรือ นิพพานทั้งสิ้น ผู้ปฏิบัติจะรู้ภายหลังเมื่อปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จนเกิดปัญญาของตนเอง ตอนนี้อาศัยปัญญาของผู้รู้จริงแนะนำไปก่อน นี่จึงเป็นทางลัดสั้นที่สุด ขอให้ฝึกทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเช่นนี้ทุกครั้งที่นึกขึ้นได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนและกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม

    8. การปฏิบัติสติปัฏฐาน ภาษาของศุภวรรณคือ การพาตัวใจกลับบ้าน เข้าใจให้ชัดเจนว่า ตัวใจ ก็เหมือนตัวกาย จำเป็นต้องมีบ้านของตนเองอยู่ บ้านเป็นสถานที่ปลอดภัย สงบ สบาย อบอุ่น เป็นตัวของตัวเองได้ ตัวใจก็มีบ้านของตนเองอยู่เช่นกัน กลับบ้านของใจได้เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะพบ ตัวจริง true self ของเรา ตัวใจของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนล้วนมีบ้าน ๔ หลังให้อยู่ได้อย่างเท่าเทียมกันหมด ไม่มีการเลือกชั้นวรรณะ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า มีมนุษย์เพียงกลุ่มน้อยมากที่รู้ข่าวดีนี้ มนุษย์ส่วนมากมักวิ่งผ่านหน้าบ้านทั้งสี่โดยที่ไม่รู้เลยว่าบ้านโอ่โถงทั้งสี่เป็นของตนเอง ฉะนั้น แม้มีบ้านใหญ่ให้อยู่ถึงสี่หลัง แต่เมื่อไม่รู้ว่านี่คือบ้านของเรา ก็เข้าบ้านไม่เป็น น่าเสียดายมาก วิ่งหลงทางเช่นนั้นอยู่นานนับอเนกชาติแล้ว


    9. จึงขอให้รู้ต่อว่า การรู้ลมหายใจและการเคลื่อนไหวของกายทั้งหมดคือ การพาตัวใจกลับบ้านที่หนึ่ง ส่วนการพาตัวใจกลับบ้านที่สองคือ การรู้ความรู้สึกของกายทั้งหมด เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เจ็บ แหลม คม สบาย เป็นต้น ขอให้ฝึกทักษะที่จะพาตัวใจกลับบ้านทั้งสองนี้ให้เก่ง ๆ ในขณะที่ใช้ชีวิตประจำวันนี่แหละ โดยการทำบ่อย ๆ ทำซ้ำทำซาก ทำเป็นอาจิณ ทำทุกเมื่อเชื่อวัน ทู่ซี้ทำอยู่เช่นนั้นอย่างไม่หยุดหย่อนในขณะที่ตื่นอยู่ เป็นการฝึกสัมมาสติเมื่อลืม สัมมาสติก็จะกลายเป็นมิจฉาสติไปทันที คือ ตัวใจจะไปติดพันอยู่กับจิต เหมือนเส้นหนังยางกลม ๆ ที่เมื่อตรึงกับนิ้วทั้งสองแล้วดึงให้ตึงจะกลายเป็นสองเส้น เปรียบเหมือนจิตกับใจ การพันกันของจิตกับใจจึงเหมือนเส้นหนังยางที่บิดไปมาหลายตลบ ในช่วงนั้น ตัวใจของเรากำลังรู้สึกตัวอยู่ที่เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขแบบโลก ๆ หรือไม่ก็ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นมิจฉาสติ เป็นสติที่ไม่ได้พาให้อิงกับสัจธรรมหรือพระนิพพาน แต่เมื่อนึกขึ้นได้แล้ว ขอให้ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ที่ฐานของสัมมาสติทันที พาใจกลับบ้านทันที อย่าไปต่อล้อต่อเถียงกับตัวเองว่าทำไมจึงลืม ทิ้งความคิดเหล่านั้นทันที กลับเข้าบ้านทันที นี่เป็นทางลัด

    10. การทำเช่นนี้คือ การฝึกทักษะที่จะทำให้ตัวใจอยู่ติดบ้าน เพื่อตัวใจเราจะได้ปลอดภัยจากศัตรูที่อาจจะมาทำร้ายเราได้ ศัตรูภายในก็คือ ความคิด ความจำ ความรู้สึกที่นำความทุกข์ใจมาให้ เมื่อตัวใจสามารถอยู่ติดบ้าน ศัตรูเหล่านี้จึงเข้าบ้านเราไม่ได้ จึงเป็นการฝึกทักษะเพื่อเอานิพพานหรือสัจธรรมเป็นที่พึ่งแล้ว สัจธรรมคืิอทุกสิ่งที่เรากำลังสัมผัสได้ในขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ จึงเป็นเหมือนกำแพงรั้วบ้านของตัวใจ เป็นสิ่งที่กันไม่ให้ศัตรูหรือเจอรี่เข้าบ้าน คนที่เริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ นั้น ตัวใจอาจจะหลุดออกไปอยู่นอกรั้วสัจธรรม อยู่กับมิจฉาสตินานหลาย ๆ ชั่วโมงก่อนที่จะนึกขึ้นได้ว่าควรพาตัวใจกลับบ้านมาอยู่กับลมหายใจและการเคลื่อนไหวของกาย แต่เมื่อมีทักษะดีขึ้น การอยู่กับมิจฉาสติหลาย ๆ ชั่วโมงก็จะค่อย ๆ ลดลงมาเหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่นาที ไม่กี่วินาที จนกระทั่งสามารถอยู่ติดบ้านอยู่กับสัมมาสติได้อย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนการหัดขี่จักรยาน ตอนแรกก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่ในที่สุด เมื่อฝึกเป็นอาจิณ ทักษะดีขึ้นแล้ว ก็สามารถขี่จักรยานได้อย่างเป็นธรรมชาติ
    11. ใครที่ทำได้เก่งขึ้น ก็จะสามารถทำบ้านทั้งสองหลังทะลุถึงกัน ให้เป็นบ้านเดียวที่ใหญ่ขึ้น คือ ในขณะที่รู้ลมหายใจอยู่ ก็สามารถเห็นความรู้สึกของกายด้วยในขณะเดียวกัน เช่น นั่งบนโซฟาดูลมหายใจอยู่ ก็ยังเห็นความรู้สึกของแผ่นหลัง แผ่นก้นที่กำลังนั่งติดโซฟา ตลอดจนฝ่าเท้าที่กำลังแตะพื้นอยู่ การเห็นสิ่งเหล่านี้พร้อมกันเป็นเรื่องธรรมชาติมาก เหมือนมองไปที่มือ ก็เห็นทั้งนิ้ว แหวน เส้นลายมือ นาฬิกาข้อมือไปพร้อม ๆ กัน ใครที่สามารถตีทะลุบ้านทั้งสองให้เป็นบ้านใหญ่ขึ้นหลังเดียวนั้น จะฝึกสติได้ง่ายขึ้น สติไม่หลุดง่าย ๆ ไม่ค่อยลืม เพราะมีจุดให้กำหนดได้มากมาย ตราบใดที่อยู่กับปรากฏการณ์ของบ้านที่หนึ่งและสอง เป็นใช้ได้

    12. ขอให้นึกถึงบ้านทั้งสี่เรียงถัดกันไปเป็นวงกลม ในที่สุด บ้านที่สี่จะชนกับบ้านที่หนึ่ง หรือ ในที่สุด เมื่อเข้าบ้านที่สี่ได้แล้ว บ้านทั้งสี่หลังจะทะลุถึงกันหมดเป็นบ้านใหญ่มากหลังเดียวเท่านั้น ใครที่ฝึกทักษะของการให้ตัวใจอยู่ติดบ้านที่หนึ่งและสองได้แล้ว ผู้ฝึกจะสามารถก้าวไปสู่บ้านที่สามได้โดยปริยาย การฝึกจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ บ้านที่สามนั้น เป็นเรื่องที่สอนไม่ได้ ทุกคนต้องเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการปฏิบัติเท่านั้น เพราะมีรายละเอียดมาก สิ่งที่ดิฉันช่วยได้ก็เพียงบอกแต่เรื่องกว้าง ๆ ที่อาจทำให้การปฏิบัติชัดเจนขึ้น โดยบอกว่า หน้าตาของบ้านที่สามคือ ช่องว่างของใจ หรือ ความสงบ นั้นเอง การฝึกให้ตัวใจอยู่ติดบ้านที่หนึ่งและสองนั้น เป็นขั้นตอนสำคัญของการดีดความคิดหรือหนูเจอรี่ออกจากบ้านของใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดที่เป็นขยะมูลฝอยทั้งหลาย ขอให้คิดถึงข้อเปรียบเทียบของบ้านที่เต็มไปด้วยแขก หนู หรือ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งหมายถึงความคิด กับ ความรู้สึก การที่ตัวใจอยู่ติดบ้านที่หนึ่งและสองได้ ก็เท่ากับสามารถไล่แขกอันธพาลหรือหนูดำ ๆ ออกจากบ้านไป หรือโละเฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ ในบ้านออกไป ทิ้งไป บ้านของใจจึงไม่เกะกะ โล่งขึ้น ถึงจุดหนึ่ง แขกอาจจะออกจากบ้านได้หมด แม้มีอยู่ ก็จะอยู่ในสภาพของหนูตัวเล็ก ๆ วิ่งเข้ามาในบ้านและก็ออกไปทันที ไม่มีการมาตอแย รบกวน ทุบตีเจ้าของบ้านอีก

    13. ช่วงเวลานี้เอง ผู้ปฏิบัติจะเริ่มเห็นช่องว่างของใจได้ชัดเจน เมื่อความคิดออกจากใจแล้ว สิ่งที่เหลือคือช่องว่างของใจ ช่องว่างของใจนี้แหละที่เป็นตัวการทำให้เจ้าของใจรู้สึกสงบ สุข ดิ่ง นิ่ง ใจเป็นหนึ่ง หรือ เป็นเอกะคตา ใครที่ทำสมาธิกำหนดลมหายใจแบบหลับตาอยู่นานช่วงหนึ่งแล้ว จะสามารถเห็นช่องว่างของใจได้เร็วขึ้น คือ ใจสงบเร็ว ในช่วงนั้นแหละ ตาใจของเขากำลังมองไปที่ช่องว่างของใจอยู่ เหมือนตากายกำลังมองไปที่จอสี่เหลี่ยมก่อนฉายภาพยนตร์ ช่องว่างของใจก็คือจอสี่เหลี่ยมทั้งหมดเมื่อหลับตาลง เป็นช่องว่าง ๆ ที่ดูมืดบ้าง (ถ้ากำลังนั่งกลางคืนในห้องมืดที่ปิดไฟ) เทาบ้าง ขาวสว่างบ้าง (ถ้านั่งกลางวันมีแสงตะวันส่องหน้า หรือ นั่งกลางคืนและมีแสงไฟส่องหน้า) อาจจะมีสีสันบ้าง มันก็คือจอสี่เหลี่ยมทั้งหมดหรือช่องว่างของใจทั้งสิ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของโลกภายในใจที่แสนจะธรรมดามาก ทุกคนเห็นอยู่แล้วทั้งสิ้น ต้องอย่ามองข้าม หรือพยายามมองหาอะไรอื่นที่พิสดาร ดิฉันพยายามชี้ให้คุณมองสิ่งที่เป็นธรรมดา ๆ ที่ทุกคนเห็น ๆ ตำตากันอยู่ เพียงแต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไรเท่านั้น เหมือนช่องว่างของกาย ห้อง ๆ หนึ่ง เมื่อเอาเฟอร์นิเจอร์ออกหมด ก็เหลือแต่ช่องว่าง จอสี่เหลี่ยมเต็มจออันคือช่องว่างของใจนี้แหละคือหน้าตาของบ้านที่สาม เมื่อคุณสามารถเห็นช่องว่างของใจได้ชัดเจนแล้ว ขอให้รู้ว่าคุณได้เดินทางมาถึงบ้านที่สามแล้ว การอยู่ให้ติดบ้านที่สาม (ในขณะหลับตาทำสมาธิ) คือ ใช้ตาใจมองไปที่ช่องว่างนั้น ตาใจเป็นผู้มองจอว่าง และจอว่าง ๆ นั้นคือสิ่งที่ถูกมอง ถ้าช่องว่างนี้ชัดเจนมากในขณะที่หลับตาทำสมาฺธิอยู่ ก็ขอให้มองเฉย ๆ และอยู่กับช่องว่างเต็มจอนั้นอย่างสบาย ๆ ไม่ต้ิองคิดมาก ถามมาก วิเคราะห์วิจารณ์มาก ถ้าทำ ก็เท่ากับอัปเปหิตัวเองออกจากบ้านที่สามอีก หัดอยู่เฉย ๆ โดยรู้ว่า ถึงบ้านแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนอะไรอีกแล้ว และอยู่กับความว่างเช่นนั้น จะรู้สึกสบาย ปลอดภัย เป็นตัวของตัวเอง เป็นความรู้สึกพื้น ๆ ติดดิน ธรรมดามาก คนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ และมีจิตใจไม่ซับซ้อน จิตกับใจไม่พัวพันกัน ไม่บิดเข้าหากันเป็นเกลียวแล้ว แม้ไม่เคยฝึกเรื่องการพาตัวใจกลับบ้าน ตัวใจของเขาก็สามารถอยู่กับช่องว่างเต็มจอได้เสมอ เพราะเขาไม่คิดมากนั่นเอง และเพราะนั่นเป็นบ้านเดิมตามธรรมชาติของทุกคนด้วย

    14. หากผู้ปฏิบัติยังไม่แน่ใจว่าอะไรคือช่องว่างของใจที่แตกต่างจากความคิดอย่างไร ขอให้คิดถึงการดูภาพยนตร์ในโรงหนัง ภาพยนตร์ที่ฉายไปบนจอสีขาวคือ ความคิด จิต หรือ เจอรี่ จอสีขาวจึงต่างจากความคิด เหมือนโต๊ะ เก้าอี้ และของที่วางแกะกะเต็มห้องย่อมแตกต่างจากช่องว่างของห้อง จริงหรือไม่ แตกต่างมาก จึงอยากให้คุณสามารถแยกความคิดกับความรู้สึกหรือจิต ว่ามันแตกต่างจากช่องว่างเต็มจอของใจอย่างไร


    15. ขอให้ฝึกฝนแบบฝึกหัดที่จะแนะให้นี้ หลับตาเนื้อก่อน และพูดในหัวดัง ๆ จะท่องสูตรคูณ อาขยาน หรือ ร้องเพลงในหัวก็ได้ เสียงพูดในหัวคือความคิด จิต แขก หนูเจอรี่ หรือ เฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ในบ้านของใจ หรือ เหมือนภาพยนตร์ที่ฉายบนจอหนังสีขาว ขอให้พูดดัง ๆ ในหัวเช่นนี้อยู่ราว ๓๐ วินาที และ หยุดกึกทันที เงียบกริบ ไ่ม่ต้องพูดอะไรทั้งสิ้น พอหยุดพูดในหัวแล้ว ก็จะเห็นช่องว่าง ใช้ตาใจมองช่องว่างเต็มจอของใจอยู่อีกราว ๓๐ วินาที และก็พูดดัง ๆ ในหัวอีก เชื้อเชิญความคิด หรือ แขกเข้าบ้านอีก ๓๐ วินาที เสร็จแล้วก็หยุดกึกอีกทันที ขอให้เงียบกริบ เงียบสนิทอีก ๓๐ วินาที เพื่อมองช่องว่างเต็มจอต่อ ทำเช่นนี้ไปมาหลาย ๆ ครั้งจนสามารถแยกแยะปรากฏการณ์ของความคิดว่ามันต่างจากช่องว่างของใจอย่างไร

    16. เมื่อสามารถแยกปรากฏการณ์ของความคิดออกจากช่องว่างของใจได้แล้ว คุณจะก้าวไปสู่การปฏิบัติฐานที่สามหรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่า่งค่อยเป็นค่อยไป เพราะแขกอันคือความคิดจะเข้ามาอยู่ในระหว่างช่องว่างนี้ เหมือนเอาเฟอร์นิเจอร์มาวางในห้อง หรือเหมือนการฉายหนังบนจอสีขาว คนที่คิดมาก คิดฟุ้งซ่าน คิดเรื่อยเปื่อย จึงเหมือนตาใจกำลังดูหนังชีวิตของตนเองที่ได้ยึดช่องว่างของใจจนหมดเต็มจอ ฉะนั้น ในขณะที่ตัวใจกำลังอยู่บ้านที่หนึ่งและสอง ผู้ปฏิบัติจะเริ่มสังเกตเห็นแขกหรือความคิดเข้าบ้านของใจอันคือช่องว่างเต็มจอ ขอให้ใช้ตาใจหัดมองความคิดเหมือนการนั่งอยู่บนชานชาลาของสถานีโดยไม่ขึ้นรถไฟของความคิด แม้ขึ้น ก็หัดลงรถไฟเร็ว ๆ การสังเกตเห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของความคิดคือ การเข้าสู่การปฏิบัติฐานที่สามแล้ว ซึ่งมีขั้นตอนที่ยาวมาก เป็นช่วงที่เจ้าของชีวิตกำลังเข้าสนามรบภายในระหว่างทอมกับเจอรี่ หรือ กำลังทำสงครามมหาภารตะที่ยิ่งใหญ่และดุเดือดที่เกิดขึ้นในจิตใจของคนทุกคน ประสบการณ์ที่อาจเกิดขึ้นนั้น ดิฉันได้พูดไว้แล้วในหนังสืออวดอุตริฯ นี่เป็นขั้นตอนของการพยายามทำจิต หรือ ความคิด ให้หลุดล่อนจากตัวใจ เป็นการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์เพื่อให้ถึงพระนิพพานอย่างแท้จริง


    17. การปฏิบัติฐานที่สามนั้น จึงมีสองส่วน คือ ส่วนที่เห็นการเกิดดับของความคิด หรือ เห็นหนังชีวิตที่เล่นบนจอว่าง หรือ เห็นเฟอร์นิเจอร์ที่วางในบ้าน กับส่วนที่เห็นช่องว่างของใจ ถ้าตัวใจอยู่ติดบ้านที่หนึ่งกับบ้านที่สองได้เก่งแล้ว ผู้ฝึกจะสามารถเข้าไปอยู่บ้านที่สามได้ง่ายขึ้น คือ เห็นความสงบ เห็นช่องว่างของใจ และอยู่กับช่องว่างเต็มจอได้นานมากขึ้น และจะสามารถเห็นการเกิดดับของความคิดในท่ามกลางช่องว่างของใจได้บ่อยขึ้นและชัดเจนมากขึ้นทุกที

    18. ความยากของการฝึกฐานที่สามคือ เมื่อถูกความคิดความรู้สึกครอบงำอยู่ คิดฟุ้งซ่าน เหมือนตัวใจถูกครอบ ถูกขังอยู่ในขวดต่างสี หรือ ถูกเขย่าไปมาอยู่ในขวด เหมือนเจอรี่ยักษ์เอาค้อนอันใหญ่มายืนทุบหัวแมวทอมจนตั้งตัวไม่ติด หรือกำลังถูกหลอก ผู้ปฏิบัติใหม่ ๆ ที่ยังไม่เก่งในเรื่องทักษะมักเตือนตัวเองไม่ทัน ถูกหนูดำทุบไปหลายทีกว่าจะรู้ตัว หรือ มีสัมมาสติ ฉะนั้น ควรหาวิธีการเตือนตัวเอง เช่น ทุกครั้งที่เห็นแหวนบนนิ้ว ก็ต้องบอกตัวเองให้พาใจกลับบ้านทุกครั้ง หรือ เขียนคำ วลี หรือบทสรุปย่อ ๆ ให้ตนเองอ่านเพื่อเรียกสัมมาสติกลับคืนมา เช่น กลับบ้านเดี๋ยวนี้ เพื่อพาตัวใจกลับถึงบ้านให้ได้ แม้ทำได้ไม่ชัดเจน ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ก็ไม่เป็นไร อดทนทำไปเช่นนั้นทุกครั้งที่นึกขึ้นได้ เมฆหมอกดำจะค่อย ๆ จางหายไป เหตุการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องพยายามเรียกสัมมาสติกลับคืนมา และพาตัวใจกลับให้ถึงบ้านที่หนึ่งและสองให้ได้ การใช้เล็บขูดนิ้วตนเองแรง ๆ และหายใจลึก ๆ ไปพร้อม ๆ กัน หรือ ทำความรู้สึกที่ลูกประคำจะสามารถช่วยดึงตัวใจออกจากห้องมายาของความคิดได้เร็ว เป็นวิธีการที่ดีมากเมื่อมีเหตุการณ์คับขัน


    19. ในกรณีที่ตัวใจถูกหนูเจอรี่ทั้งกองทัพถล่มอยู่ หรือขึ้นรถไฟของความคิดขบวนแล้วขบวนเล่า เจ็บปวดมาก ถูกมายาของความคิดหลอกและครอบงำอย่างสิ้นเชิง ทำให้แมวทอมไม่มีพลังต่อสู้กับหนูเจอรี่ อยากจะยอมแพ้ยกธงขาวให้กิเลสลูกเีดียว ไม่อยากต่อกรด้วยแล้ว เพราะเหนื่อยและยากมาก คุณต้องไม่ยกธงขาวยอมพ่ายแพ้ง่าย ๆ เตือนตนเองว่า หากไม่ต่อสู้แล้วเมื่อไรจึงจะออกจากคุกชีวิตได้ล่ะ ต้องสู้ให้มันรู้แล้วรู้รอด หลุดพ้น หมดเรื่องหมดราวกันเสียทีไม่ดีกว่าหรือ การแก้ไขในกรณีเช่นนี้ คุณสามารถผลิตหนูขาวเพื่อไล่หนูดำออกจากบ้านได้ คือ ท่องพุทโธหรือ คำสั้น ๆ อะไรก็ได้ที่มีความหมายต่อคุณมาก จะท่องดัง ๆ หรือท่องในใจก็ได้แล้วแต่สถานการณ์ของคุณในขณะนั้น ขอให้ท่องตลอดเวลา อย่าหยุด ท่องจนสมองล้า ท่้องจนเหนื่อย เพลีย การทำเช่นนี้เท่ากับพยายามอัดหนูขาวเข้าบ้านที่แน่นไปด้วยหนูดำ เพื่อเบียดให้หนูดำออกจากบ้านของใจสักสี่ห้าหกตัวก็ยังดี


    20. อีกตัวอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้คุณรู้ว่าทำไมคุณจึงยอมแพ้ไม่ได้ ขอให้คิดถึงเส้นหนังยางอีก การคิดมาก ฟุ้งซ่านจนเป็นทุกข์มากเช่นนั้น เปรียบเหมือนเส้นหนังยางที่บิดเป็นเกลียว สมมุติว่าระดับความทุกข์ที่คุณแบกอยู่เหมือนการบิด ๑๐๐ เกลียวของหนังยาง จิตกับใจพันกันแน่นมาก ถ้าคุณอยากรู้สึกดีขึ้น คุณต้องคลายเกลียวบิดของจิตกับใจ จาก ๑๐๐ บิดนั้นให้ค่อย ๆ ลดลงมาตามลำดับ ๙๙, ๙๘, ๙๗ .....๘๕ ๘๔.....๕๕...๔๓....๓๒....๒๑....๑๕....๘ ๗ ๖ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ๐ ในกรณีเช่นนี้ คุณต้องใช้ระบบหลับหูหลับตาทำ หรือ ทู่ซี้ทำ อย่ายอมแพ้เด็ดขาด คือ ดูลมหายใจไปพร้อม ๆ กับการเห็นก้อนทุกข์ภายในใจ หรือ พาตัวใจกลับบ้านที่หนึ่งและสองให้พร้อมกันในขณะที่ยังคงเห็นก้อนทุกข์อยู่เช่นนั้น หากคุณเป็นเช่นนี้ ไม่ควรนั่งจับเจ่าอยู่กับความคิด ต้องลุกขึ้น ทำงานบ้าน ขุดดิน ทำสวน หรือ ออกกำลังกาย การทำเช่นนี้ ถึงแม้คุณจะไม่รู้สึกว่าก้อนทุกข์หดเล็กลง น้อยลง เบาลงก็ตาม แต่ที่จริง จิตกับใจเริ่มคลายเกลียวของมันแล้ว เพียงแต่ว่า จำนวนบิดของเกลียวมีมากเหลือเกิน ฉะนั้น ความแตกต่างของการบิด ๑๐๐ เกลียว กับ ๘๐ เกลียว เจ้าของก้อนทุกข์จะไม่รู้สึกว่ามันแตกต่างกันมากนัก แต่ที่จริง นั่นเป็นขั้นตอนที่จิตกับใจกำลังคลายเกลียวบิดให้คุณอยู่ ถ้าคุณไม่ทำเลย การคลายเกลียวย่อมไม่เกิด ก่อนที่ ๑๐๐ เกลียวจะเหลือเพียง ๑๐ เกลียวได้นั้น มันจำเป็นต้องผ่าน ๙๙ ๙๘ ๙๗ ๙๖ .......มาเรื่อย ๆ เช่นนั้นก่อนตามลำดับ จำนวนเกลียวจึงสามารถลดลงเหลือ เพียง ๑๐ เกลียว จนถึง ๓ เกลียว ๒ เกลียว ๑ เกลียว และ ๐ เกลียวได้ในที่สุด นี่คือ วิธีการเดินทางทางใจเพื่อออกจากคุกใหญ่ของชีวิต ขอให้เดินเท่านั้น คุณต้องถึงจุดหมายปลายทางสักวัน ฉะนั้น ถึงแม้ตอนนี้คุณทุกข์มาำก ทำแล้วก็ไม่เห็นจะดีขึ้นทันที คุณต้องไม่ท้อถอย หลับหูหลับตาทำ ทู่ซี้ทำไปอยู่เช่นนี้ แล้วคุณจะดีขึ้นได้แน่นอน ถ้าคุณไม่ทำ เกลียวจิตใจจะพันจาก ๑๐๐ เป็น ๒๐๐ ๓๐๐ ถ้าคุณปล่อยให้จิตกับใจพันไปตามยถากรรมเช่นนั้น จะถึงจุดหนึ่งที่ตัวใจของคุณจะถูกจิตพันจนแตกและชำรุด นี่คือ สภาวะวิกลจริต เป็นบ้า หรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย


    21. จุดประสงค์ของการเข้าบ้านที่สาม เห็นช่องว่างเต็มจอของใจ หรือ เห็นความสงบของใจ เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องก้าวไปสู่บ้านที่สี่เพื่อการเห็นสัจธรรมอันสูงสุดหรือพระนิพพาน จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร เป็นการปฏิบัติที่มีมรรคมีผล ถ้ายังเข้าบ้านที่สี่ไม่ได้ ก็ยังไม่ครบวงจร ยังไม่สมบูรณ์ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องการให้นั่งจ้องความว่างอยู่ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมักถาม และมักกลัวโดยเฉพาะฝรั่งที่ไม่ชินกับเรื่องใจว่างจากจิต เมื่อได้ยินคำว่าช่องว่างของใจ มักคิดถึงคนสมองฝ่อเสมอ ถ้าคุณมองถูกต้องแล้ว มันไม่มีอะไรน่ากลัวเลย เพราะช่องว่างเต็มจอของใจนั่นแหละที่ทำให้ใจของคุณสุขสงบและไม่เป็นบ้า ความกลัวช่องว่างของคุณเป็นความคิด หรือ เจอรี่ที่เป็นมายา กำลังหลอกคุณ ความว่างที่แท้จริงจะไม่หลอกคุณ ถ้าคุณฟังแล้วกลัว แสดงว่า ขณะนั้น คุณกำลังถูกความคิดสุดท้ายหลอกอยู่ รีบพาตัวใจกลับบ้าน แล้วความกลัวนั้นจะหายไปเหมือนปลิดทิ้ง จำเอาไว้

    22. การจะเข้าบ้านที่สี่ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องเห็นช่องว่างของใจให้ชัดเจนเสียก่อน ขณะนั้นใจของคุณจะอยู่ในระนาบปกติ ไม่ขึ้นลง ไม่เคลื่อนไหว นี่เป็นสภาวะเหมาะเจาะที่จะเข้าบ้านที่สี่ หรือ รับผัสสะบริสุทธิ์ได้ ทำตัวกายให้ผ่อนคลาย ไม่ต้องเกร็ง เครียด หรือพยายามมากจนเกินไป ถ้าขณะนั้นยังหลับตาอยู่ ก็ขอให้เริ่มการรับผัสสะบริสุทธิ์ในเรื่องเสียงก่อน ฟังสักแต่ว่าฟัง ไม่ต้องเรียกชื่อหรือพูดอะไรในหัวทั้งสิ้น ขอให้เงียบกริบ ฟังเฉย ๆ แล้วก็เลื่อนมาฝึกเรื่องการรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ของกลิ่น รส และสัมผัส เช่น เอามือหนึ่งลูบอีกมือหนึ่ง ถูมือไปมา บีบนิ้ว แล้วก็รับรู้สิ่งเหล่านี้อย่างเฉย ๆ โดยที่ไม่มีเสียงพูดในหัวเลยแม้แต่คำเดียว เงียบกริบจริง ๆ นั่นคือการรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์แล้ว จากนั้นก็ค่อย ๆ ลืมตาเนื้อขึ้นมา และฝึกการรับผัสสะบริสุทธิ์ของรูป มองไปเบื้องหน้าและรอบ ๆ มองทุกอย่างโดยไม่ต้องพูดอะไรในหัวทั้งสิ้น เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ทำได้เช่นนั้น ก็สามารถรับผัสสะบริสุทธิ์ทางตาแล้ว ใครทำได้เช่นนี้ก็เท่ากับถึงบ้านที่สี่แล้ว ถึงความจริงหรือสัจธรรมแล้ว ทุกอย่างที่คุณสัมผัสได้ในขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นของจริงหมด และของจริงเหล่านี้ก็กำลังเคลื่อนไปกับการรับผัสสะของคุณ ตราบใดที่คุณคงความเงียบในหัว ไม่ให้เจอรี่เข้าบ้านแล้ว ผัสสะของคุณย่อมบริสุทธิ์ เข้าถึงพระนิพพานแล้วทันที สามารถเอานิพพานเป็นที่พึ่งได้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถาวรเท่านั้น

    23. หัดทำเช่นนี้บ่อย ๆ จนรู้แน่ชัดว่าประสบการณ์เช่นนี้ ๆ คือผัสสะบริสุทธิ์ ให้คะแนนตัวเอง ๐,๑,๒,๓ คะแนน ๐ คือ ไม่รู้เลยว่าผัสสะบริสุทธิ์คืออะไร เป็นอย่างไร ทำไม่ได้เลย ส่วนคะแนนเต็ม ๓ คือ รู้แน่ชัดว่าประสบการณ์นี้ ๆ คือ ผัสสะบริสุทธิ์ เป็นหน้าตาของบ้านที่สี่อย่างแน่นอน จำไว้ว่า คุณเท่านั้นที่จะให้คะแนนและรับประกันตัวคุณเองได้ เพราะเรื่องของประสบการณ์นั้น ไม่มีใครแชร์กับใครได้ เป็นเรื่องปัจจัตตัง ตัวเราเท่านั้นที่รู้ที่เห็นประสบการณ์ของเราเอง ยิ่งเรื่องของจิตใจด้วยแล้ว คนอื่นไม่เกี่ยวเลย ฉะนั้น หากต้องการรู้ว่าตนเองหมดทุกข์ไปมากน้อยแค่ไหน คุณต้องรับประกันตัวคุณเอง วิ่งหาคนอื่นไม่ได้แล้ว ตัวใครตัวมันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณได้เดินมาถึงจุดที่ใจของคุณหลุดล่อนออกจากจิตอย่างสิ้นเชิงด้วยแล้ว พร้อมที่จะเป็นครูบาอาจารย์นำคนที่ยังทุกข์อยู่ด้วยแล้วละก็ คุณยิ่งวิ่งหาใครไม่ได้ คุณเท่านั้นที่จะต้องออกใบปริญญาบัตรสำเร็จการศึกษาด้วยตัวคุณเอง นอกจากพระพุทธเจ้าที่มีญาณตัดสินให้สาวกในขณะที่ท่านมีพระชนม์ชีพอยู่เท่านั้น ท่านจึงสามารถออกใบปริญญาบัตรให้สาวกผู้หลุดพ้นได้ แต่สาวกรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสทอง โชคดีมากเช่นนั้นอีกแล้ว จึงต้องรับประกันตัวเองเท่านั้น จะทำได้อย่างไร ก็โดยการตรวจสอบกับตัวสัจธรรมนั่นเอง คนที่เข้าถึงสัจธรรมจริง ๆ แล้ว ประสบการณ์นั้นย่อมมีคำตอบที่เด็ดขาดอยู่ในตัวมันเอง จึงจะเป็นสัจธรรมอันสูงสุดของจักรวาลได้ คนฉลาดของชาวโลกโดยเฉพาะชาวตะวันตกมักชอบอวดความฉลาดของตนเองโดยถามครูบาอาจารย์อย่างท้าทายว่า แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่า นั่นเป็นความจริงที่สุดแล้ว เป็นสัจธรรม เป็นนิพพานแล้ว คุณอาจจะหลงคิดไปเองหรือเปล่า ก็เห็นบอกว่าความคิดเป็นมายา ไม่ใช่หรือ นี่เป็นคำถามที่สามารถต้อนคนไม่รู้จริงให้จนมุมได้ แต่หากไปถามผู้รู้จริงละก็ ผู้ถามจะเป็นฝ่ายถูกต้อนจนมุมเสียเอง คนฉลาดจริงจะไม่พูดท้าทายผู้รู้จริง

    24. ผู้ปฏิบัติที่สามารถทำได้และรู้แน่ชัดว่าประสบการณ์นี้ ๆ คือ ผัสสะบริสุทธิ์แล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ พยายามยืดสภาวะของผัสสะบริสุทธิ์ให้นานออกไป จากเสี้ยวหนึ่งของวินาทีในครั้งแรกที่เห็น ก็ยืดออกไปเป็น ๕ วินาที ๑๐ วินาที ๓๐ วินาที ๑ นาที ๓ นาที ๕ นาที ๑๐ นาที ฯลฯ ยืดออกไปเช่นนี้เรื่อย ๆ นี่ก็ยังเป็นขั้นตอนปฏิบัติที่พยายามทำจิตให้หลุดล่อน ออกจากใจ เป็นการหัดใช้ชีวิตอย่างเป็นอริยะอยู่ ผู้ที่ถึงภูกระดึงทางธรรมหรือพระนิพพานอย่างถาวรจะสามารถรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ได้ทั้ง ๆ ที่ยังใช้ความคิดอยู่ เพราะการรับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ได้กลายเป็นธรรมชาติธรรมดาของชีวิตแล้ว สามารถใช้ความคิดอย่างเป็นอิสระ จะคิดก็ได้ ไม่คิดก็ได้ ผู้ปฏิบัติสามารถอ่านตนเองได้อย่างคร่าว ๆ ว่า ตนเองได้เดินทางมาถึงจุดไหนของทางทั้งหมดนี้ โดยตัดสินที่ช่วงเวลาของการรับผัสสะบริสุทธิ์ว่าทำได้ง่ายได้ยาก สั้นหรือยาวอย่างไร หรือจะตัดสินจากข้อเปรียบเทียบของจำนวนเกลียวของจิตใจที่พันกัน ตรงนี้ตัดสินเองได้ ถ้าอยากรู้ ตัวใครตัวมัน รู้กันเอง

    25. ขอให้นึกถึงคำอธิบายของคำว่า สัจธรรม ทุกอย่างที่เห็นอยู่ สัมผัสได้อยู่ขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ คือ ของจริง คือ สัจธรรม คือ นิพพาน อะไรที่สัมผัสไม่ได้ในขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ แสดงว่าไม่จริง แม้จะเป็นข้อเท็จจริงของโลกก็ตาม สิ่งที่เราสัมผัสไม่ได้ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ล้วนเป็นอดีตและอนาคตที่ต้องสัมผัสผ่านความคิดทั้งสิ้น ล้วนเป็นสิ่งที่มากับความคิดที่เป็นมายาทั้งสิ้น จึงพึ่งพาไม่ได้ ฉะนั้น ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ ผัสสะบริสุทธิ์เท่านั้นที่เป็นของจริง ๆ ที่สุดเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องคิด เพราะเห็น ๆ อยู่ นี่คือภูมิปัญญาที่ลึกซึ้งที่สุดของจักรวาล ซึ่งเห็นได้ว่าไม่มีความลึกอะไรเลย ตื้นที่สุด The most profound wisdom in the universe has no depth. จึงกลับกลายเป็นเรื่องยากมากที่สุดของจักรวาล ที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาของผู้รู้จริงมาบอก มาชี้ให้ จึงรู้ตามได้


    26. ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่อยู่นิ่ง มันเคลื่อนตลอดเวลาเหมือนเข็มวินาทีของนาฬิกาบางชนิด เข้าใจได้เช่นนี้ ก็จะรู้ว่า ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของกาย ความรู้สึกของกาย อันเป็นหน้าตาของบ้านที่หนึ่งและสองมาบัดนี้กลับกลายเป็นสัจธรรม เป็นที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นนิพพานไปเสียแล้ว ใครที่สามารถรับผัสสะบริสุทธิ์หรือเข้าบ้านที่สี่ได้ ก็เท่ากับถึงบ้านใหญ่แล้ว บ้านทั้งสี่หลังถูกทำทะลุถึงกันหมดเป็นบ้านหลังใหญ่มากหลังเดียวแล้ว ใครที่เข้าบ้านที่สี่ได้แล้วละก็ ไม่จำเป็นต้องนั่งจ้องช่องว่างของใจก็ได้ สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติ ธรรมดาเหมือนคนทั่วไปที่ไม่ได้ปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ทั้งหลาย แตกต่างกันตรงที่ว่า คนที่ปฏิบัติธรรมจะใช้ชีวิตอย่างสว่าง เพราะตาใจหายบอดแล้ว ส่วนคนที่ไม่ได้ปฏิบัติย่อมใช้ชีวิตอย่างมืด ๆ เพราะตาใจยังบอดอยู่ คนตาใจหายบอดแล้ว จึงรู้ว่าสิ่งที่ทุกคนเห็น ๆ กันอยู่เบื้องหน้าคือสัจธรรม คือ พระนิพพานแล้ว

    27. ในขณะที่รับผัสสะอย่างบริสุทธิ์ที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ เดี๋ยวนี้นั้น ทั้งผู้รู้ หรือ ตัวใจ และสิ่งที่ถูกรู้จะอันตรธานหายไปหมด เหลือเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าใช้คำว่า อายตนะนั้น ในขณะนั้น ร่างกายที่มีจิตใจนี้จะหลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลที่เคลื่อนไปอย่างคงที่ ไม่หยุดยั้ง เป็นชีวิตอมตะ Eternal life ในขณะนั้นเอง เปรียบเหมือนรถไฟสองขบวนกำลังวิ่งด้วยความเร็วเท่ากัน รถไฟขบวนชีวิตวิ่งได้ระดับเดียวกับรถไฟขบวนที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือ ขบวนพระนิพพาน จึงเข้าชีวิตอมตะ ถึงพระนิพพานในลักษณะเช่นนี้<SUP>[1]</SUP>


    28. ใครที่ทำได้ถึงจุดนี้ จะไม่คุยทับหรือโอ้อวดภูมิธรรมของตนเองกับใคร จะพูดน้อยลงมาก เพราะทุกครั้งที่คำพูดหรือความคิดเข้ามาในหัว ความคิด (จิต) นั้นจะหลุดล่อนออกจากใจเองอันเป็นสัญญาณของการเดินถูกทาง ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม จึงไม่มีคำพูดหรือคำโอ้อวดอะไรโม้ให้ใครฟัง เมื่อสามารถรับผัสสะบริสุทธิ์หรืออยู่ติดบ้านที่สี่ได้แล้ว ใจจะปกติและรู้สึกธรรมดามาก ธรรมดาอย่างสุด ๆ ไม่มีอะไรตื่นเต้น หวือหวาที่ต้องคุยอวดแม้แต่สิ่งเดียว ใครพูดมาก โม้มาก โอ้อวดมาก ขอให้รู้ว่าเป็นผลงานมายาของเจอรี่ กำลังติดอยู่กับ ความคิดสุดท้าย กำลังถูกหลอก วิปัสนูเหมือนขวดใส ๆ ที่เหมือนไม่มีอะไร แต่มันก็ยังเป็นขวดสีขาวใสครอบตัวใจอยู่ จำไว้เสมอว่า เจอรี่มีเล่ห์เหลี่ยมที่แพรวพราวมาก ไม่ยอมลดละ จะหาวิธีการใหม่ ๆ หลอกตัวใจเราอยู่เสมอ ต้องฟังผู้รู้จริงที่มีประสบการณ์ต่อกรกับเจอรี่มามากกว่า จึงจะเอาชนะเจอรี่ได้ง่ายขึ้น ฉะนั้น ขอให้จับหลักเรื่องการพูดน้อยไว้ จะปลอดภัยกว่า

    29. การแบ่งแยกระดับของพระอริยเจ้าทั้งสี่ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์นั้น เป็นสิ่งที่ต้องบันทึกไว้เพื่อเป็นแนวทางและหลักการเท่านั้นโดยตัดสินจากการละกิเลสที่เรียกสังโยชน์ ๑๐ ตามที่บันทึกในพระไตรปิฎก นี่เป็นหัวข้อของผู้ที่ยังถูกความคิดที่อยากรู้อยากเห็นรุมเร้าอยู่ คนที่ยิ่งคิดเพื่อต้องการหาคำตอบก็ยิ่งไม่รู้ แต่เมื่อหยุดคิดหาคำตอบก็จะได้คำตอบทันที ต้องอย่าลืมว่าแม้พระไตรปิฎกก็ยังเป็นเพียงแผนที่ชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่ตัวสัจธรรมที่แท้จริง ตัวพระนิพพานจริง ๆ คือ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่เคลื่อนตลอดเวลา จึงพูดหรืออ้างถึงด้วยคำพูดและภาษาไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าบ้านที่สี่ รับผัสสะบริสุทธิ์ได้ ในขณะนั้น ๆ สภาวธรรมของพระอริยเจ้าทั้ง ๔ ระดับจะเท่าเทียมกันหมด ไม่มีการแบ่งแยกว่าเธอเป็นแค่โสดาบันนะ ฉันเป็นอนาคามีหรืออรหันต์แล้วนะ ไม่ใช่เช่นนั้น นั่นเป็นอภาวะ เป็นสิ่งที่ไม่เกิด ผู้รู้จริงทุกท่านจึงไม่สนใจเน้นแยกแยะว่าใครเป็นอะไร ขอให้ปฏิบัติเข้าถึงตัวสัจธรรมเท่านั้น เพียงพอแล้ว แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อความคิดที่สงสัยเกิดแก่ใครแล้ว หากไม่ได้คำตอบที่อยากได้ ก็มักวางความคิดไม่ลงเสียที ความคิดนั้นจึงกลายเป็นสิ่งกีดขวางทาง ไม่ให้เข้าถึงพระนิพพานด้วยตนเองเสียที จะได้พบคำตอบที่แท้จริงให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียเลย ปัญหาจึงวนอยู่เช่นนั้น เพื่อการประนีประนอมและพบกันที่ครึ่งทาง ดิฉันจึงให้หลักกว้าง ๆ เช่นนี้ว่า คนที่สามารถทำตามทุกอย่างที่ดิฉันได้พูดแล้วในคู่มือชีวิตภาคศีลธรรมและภาคกฎแห่งกรรมนั้น คนผู้นั้นได้เดินละจากโคตรปุถุชนมาเป็นอริยะโคตรแล้ว เลือกโคตรที่จะอยู่อย่างอริยะแล้ว จะเรียกว่าเป็นพระโสดาบันแล้วก็ได้ แต่ไม่ต้องไปจัดงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จอะไรทั้งสิ้น เพราะนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสงครามมหาภารตะในจิตใจของเราเท่านั้นเอง การต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่างทอมกับเจอรี่กำลังจะเกิดเท่านั้นเอง ความทุกข์ยังมีอีกมากโขอยู่ อาจจะมากกว่าปุถุชนที่ตาใจมืดบอดอยู่ด้วยซ้ำไป คนอยู่อย่า่งมืด ๆ เขาก็ถูกความมืดดำคุ้มครองอยู่ คือไม่เห็นอะไรเลย แต่คุณผู้อยากรู้ว่าตนเองเป็นโสดาบันหรือไม่นี่ จะเริ่มเห็นรอยแผล ขูด ขีด ข่วน ฟกช้ำดำเขียว ช้ำเลือดช้ำหนองของตัวใจอย่างชัดเจนทุกแผล เพราะเห็นแผล คุณจึงอยากหายจากแผล จึงเริ่มเททิงเจอร์ใส่แผลสดของใจโดยการพาตัวใจกลับบ้าน เพื่อให้แผลใจหายเป็นปกติ ฉะนั้น คุณจะผ่านความเจ็บปวดอย่างมากมายมหาศาล ในช่วงที่คุณกำลังต่อสู้กับเจอรี่อย่างเหน็ดเหนื่อยอยู่นั้นแหละ คุณกำลังค่อย ๆ เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นพระอริยเจ้าในระดับสูงขึ้นไปแล้วโดยสมมุติ แต่คุณไม่รู้สึกว่าอยากจะฉลองความสำเร็จเหมือนที่เคยถูกหลอกให้คิดว่าต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก เมื่อคุณเข้าบ้านที่สี่ได้คราใด คุณจะเข้าถึงความเป็นธรรมดาของชีวิตอย่างสุด ๆ คุณก็จะยิ่งได้คำตอบที่ชัดเจนแก่ตนเองว่า มันไม่มีอะไรที่มาแยกแยะเป็นระดับ ๆ เลย คำถามเรื่องพระอริยเจ้าจะหายไป และจะหยุดถามเอง คนที่ยังเฝ้าถามถึงสภาวะของพระอริยเจ้าอยู่นั้น จึงขอให้ใช้หลักของปัญญานี้คือ ยิ่งถามยิ่งไม่รู้ หยุดถามแล้วจะได้คำตอบ ดีกว่า ฉะนั้น ใครมาถามเรื่องการกำหนดตาใจ ตัวใจ เพื่อนำไปใช้งานพ้นทุกข์ละก็ ดิฉันจะตอบให้ แต่หากถามเรื่องสภาวะของพระอริยเจ้าแล้วจะไม่ตอบอีก ตอบเท่านี้เพียงพอแล้ว

    30. จึงขอให้พาตัวใจกลับบ้านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และยืดระยะเวลาของการอยู่บ้านที่สี่ให้นานมากขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือสิ่งที่ดิฉันเรียกว่า มานั่งกางเต็นท์อยู่หน้าบ้านพระนิพพาน และคอยวันดีคืนดีเท่านั้น คอยแบบไม่ต้องคอย วันไหนบารมีสุกงอมเต็มที่ ประตูบ้านนิพพานก็จะเปิดให้เราเอง พลังสนามแม่เหล็กระหว่างจิตกับใจจะหลุดล่อนออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เป็นประสบการณ์ชีวิตหนึ่งที่ไม่มีอะไรเหมือน และไม่เหมือนอะไรทั้งสิ้น ขณะนั้น จะร้องอ๋อออกมาเองว่า ฉันรู้แล้ว ทุกคนจะต้องผ่านขั้นตอนของการตรัสรู้ด้วยตนเองทั้งสิ้น จึงจะจบปริญญาของชีวิตอย่างแท้จริง

    <HR>
    <SUP>[1]</SUP> ได้อธิบายเรื่องรถไฟสองขบวนไว้อย่างละเอียดในบทที่ ๖ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในหนังสือเรื่อง ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ สำนักพิมพ์ฟรีมายด์



    </TD></TR></TBODY></TABLE>



    ข้อมูลจาก http://dharmatayad.exteen.com/20070117/entry
     
  2. oomsin2515

    oomsin2515 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    2,934
    ค่าพลัง:
    +3,393
    อนุโมทนากับเจ้าของกระทู้ที่นำสาระ ดี ๆ มาให้อ่านครับ
    สาธุ สาธุ สาธุ<O:p</O:p
    <O:p</O:p
    <O:p</O:p



    _____________________________<O:p</O:p
    เชิญร่วมบริจาคหนังสือ เข้าห้องสมุดชุมชนวัดย่านยาว<O:p</O:p
    http://palungjit.org/showthread.php?t=130823<O:p</O:p
    ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพบูรณะศาลาการเปรียญวัดย่านยาว<O:p</O:p
    http://palungjit.org/showthread.php?t=153325<O:p</O:p
     

แชร์หน้านี้

Loading...