พึงตั้งจิตไว้กับกัมมัฏฐาน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 2 ตุลาคม 2017.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    726
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,503
    ewmc7P.jpg

    พึงตั้งจิตไว้กับกัมมัฏฐาน

    โดย ท่านช้างไพร
    ( ๑๕ / ส.ค. / ๔๗ )​

    ที่เราเคยฝึกภาวนามา คือทำอิริยาบถให้เหมาะสม ยกขาขวาขึ้นมาทับขาซ้ายไว้ เอามือขวาวางทับมือซ้าย ทำกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า อันนี้คือทำบาทฐานในการบริกรรมภาวนา เราทั้งหลายก็ให้รู้ไว้ จะได้ฝึกไปทำเอง เอาไปประพฤติปฏิบัติ


    วันนี้ก็เป็นวันในพรรษาล่วงเข้ามาได้ครึ่งเดือน เป็นวันพระ วันอุโบสถ แรม 15 ค่ำ เราทุกคนตั้งใจมาถือศีลปฏิบัติธรรม อบรมจิตใจของตนให้เป็นอารมณ์กรรมฐาน บำเพ็ญกาย คือทำร่างกายของตนให้เป็นกุศล บำเพ็ญวาจา ทำคำพูดให้เป็นกุศล บำเพ็ญจิตอันวุ่นวาย ในความอยากต่างๆ ให้สงบนิ่ง คิดการใดก็เป็นเรื่องอันเป็นกุศล


    บัดนี้เราทุกคนได้มาทำพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ถ้าเราลองเทียบดูกับคนทั้งหลายที่เกิดมาพร้อม ๆ กัน ที่อยู่ในโลกใบนี้เหมือนกัน คนเหล่านั้นยังไม่ได้คิด พูด หรือได้ทำอันเป็นสิ่งเป็นบุญ เป็นกุศล เขาต่างวุ่นวาย คิด พูด ทำ แต่เรื่องโลก ๆ คนเหล่านั้นนะ เขาไม่รู้หรอกว่าเขากำลังแสวงหาในสิ่งที่เขาไม่ได้มาไว้ภายในตน


    เรามีปัญญาเชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อฟังครูอาจารย์ เชื่อฟังปราชญ์ราชบัญฑิตทั้งหลาย ที่ท่านมาอบรมแนะนำตักเตือนกัน มาเป็นหลายอายุคน กว่า ๒๕๐๐ กว่าปี ที่ศาสนธรรมคำสอนประดิษฐานอยู่ในโลกมนุษย์ เราลองคิดดูซิว่า ถ้าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นโมฆะ หรือเป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริงซะแล้ว ศาสนานี้ก็คงสิ้นสูญไปเสียนานแล้ว


    พระพุทธเจ้า เป็นผู้มีปัญญา เป็นสัพพัญญู เป็นองค์พระมหากษัตริย์ที่มีสุขทางโลกอยู่ตลอดเวลา แต่พระองค์ก็หลีกเร้นออกจากความยุ่งเหยิงวุ่นวายของโลกโลกียวิสัย สละเพศฆราวาสออกบวชเป็นสมณะ เพื่อแสวงหาคุณธรรมไว้ภายในใจ ทรงได้อดนอน ผ่อนอาหาร บำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนา ให้บริบูรณ์พูนพร้อมจนกระทั่งอินทรีย์บารมีของพระพุทธองค์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์เป็นองค์สัพพัญญูของเรา ๆ ท่าน ๆ ได้กราบไหว้บูชาเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะของสรรพสัตว์ทั้ง ๓ แดนโลกธาตุ เพราะอะไร ?


    คน ๆ เดียวเป็นพระพุทธเจ้า คน ๆ เดียวทำให้ ๓ โลกยอมสยบ คน ๆ เดียวสามารถสั่งสอนสัตว์ใน ๓ แดนโลกธาตุที่ยกคน ๆ นั้นไว้เป็นบรมครู ไม่ใช่ว่าพระองค์มีกายเป็นเหล็ก เป็นขางเป็นทองคำ หรือเป็นเงิน มิใช่ว่ามีวาจาอันไพเราะเสนาะโสตหรือประการใด อันนั้นไม่ใช่วิสัยที่ทำให้พระองค์เป็นครูของคน เป็นผู้ประเสริฐเลิศโลกทั้งหลาย แท้จริงแล้ว คือความดีต่างหาก คือพระองค์ทำความดีที่บริบูรณ์ในพระวรกาย ในพระวาจา ในพระจิตคือความนึกคิดของพระองค์ บริบูรณ์ไปด้วยความดีทั้งนั้น ไม่มีบาปเจือปน มีความบริสุทธิ์ด้วยคุณงามความดี น่าน องค์อันนี้ต่างหาก ที่ทำให้พระศาสดาเป็นพระศาสดา ที่ทำให้คน ๆ เดียว เป็นครูของทั้ง ๓ แดนโลกธาตุ ใช่ไหม ? ลองพิจารณาดู


    แล้วพระองค์จึงเอาความดีเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้สรรพสัตว์ได้รับฟัง ได้เห็น ได้ยิน ได้ดู ได้เป็นแนวทาง ในการประพฤติปฏิบัติ ทรงสั่งสอนว่าทำกายให้ดีหนา ทำวาจาให้ดีหนา เมื่อเธอทำกาย วาจา ทำใจให้ดีแล้ว เธอจะเป็นผู้ประเสริฐเหมือนกัน เหมือนกับพระตถาคตเจ้า เหมือนกับพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง คือความเป็นผู้บริสุทธิ์ จากเครื่องเศร้าหมองต่างๆ ไม่มีอารมณ์วุ่นวายส่ายแส่ ไม่มีการกระทำอันเกิดศัตรู หมู่ร้าย ไม่มีวาจากระทบกระทั่งเบียดเสียดเบียดแทงผู้ใด นั่นเป็นอย่างนั้น และไม่มีผู้ใดที่คิดริษยาพยาบาทขัดเคืองจิตใจผู้ใด เป็นใจที่สงบปกติอยู่ตลอดเวลา ท่านทรงแนะนำสั่งสอนให้เราทำอย่างนั้น


    เราเชื่อหรือเปล่า บัดนี้เราเชื่อ เชื่อเพราะว่าพระองค์เคยเล่า เคยบอกมา พ่อแม่เคยว่ามา เราลองมาปฏิบัติจนตัดความสงสัยความกังขาทั้งหมดให้สิ้นไป แล้วพยายามทำตนให้มุ่งมั่นปฏิบัติตามองค์พระศาสดาของเรา พระศาสดาได้วางบาทฐานเป็นขั้นเป็นตอนไว้ให้กับโลกทั้งหลาย ให้ได้ยิน ได้ฟัง เพื่อให้เอาไปคิดเอาไปพิจารณา ๒๕๐๐ กว่าปีมานี้ไม่ได้วางอะไรเป็นขั้นเป็นฐานนอกเหนือไปจากคำว่า ทาน ศีล ภาวนา เป็นเครื่องกำกับกาย กำกับวาจา และกำกับใจ อันเป็นบาทฐานของคุณงามความดี เป็นสมบัติของโลก เป็นมรดกขอโลกที่โลก ๆ ทั้งหลายหากเอาไปใช้ เอาไปปฏิบัติ จักนำมาซึ่งความสงบร่มเย็น อันจะพึงเกิดขึ้นแก่เขาผู้เอาไปใช้และปฏิบัติ หากทั้งบ้านทั้งเมือง เอาไปใช้และปฏิบัติ ความสงบร่มเย็นจะเกิดทั้งบ้านทั้งเมืองที่เอาไปใช้และเอาไปปฏิบัติ


    ทานคืออะไร คือการบริจาค การให้ การสละแบ่งปัน อันนี้เป็นเยื่อใยไมตรีในสังคม เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ละความเห็นแก่ตัวของตนลงบ้าง สัตว์ทั้งหลายหรือสังคมที่เขาอยู่นั้นก็จะเป็นสังคมที่น่าอยู่ขึ้นมา ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน รู้จักถ้อยทีถ้อยอาศัยในกันและกัน ไม่ประทุษร้ายทางกายกัน ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนทำร้ายกันด้วยสิ่งต่าง ๆ อันทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ความทรมาน อันนี้เขาเรียกว่า ศีลทางกาย ทานทางกาย ทานนี้มีหลายทาน ทานทางกาย ทานทางวาจา และก็ทานทางใจ การให้ทานทางใจคือการให้อภัยทาน คือการคิดแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้กันและกัน ไม่แย่งชิงเอาความดีของผู้อื่นมา คิดแต่สิ่งที่ดีให้กันและกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ถือโทษโกรธเคืองภายในใจ วาจาก็พูดแต่วาจาที่ไพเราะเสนาะโสต ไม่กระทบกระทั่งเบียดเบียนผู้ใด เป็นวาจาที่สมานมิตร เป็นวาจาที่สร้างสรรค์ นั่นแหละ คือส่วนที่เป็นวาจาที่ดี ใจของเราก็เป็นใจที่มีเมตตา มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย ต่อเพื่อนมนุษย์โลก มีความอุทิศนา แปลว่าสักการะ รู้จักอุปการะผู้ทำดีบ้าง ยินดีกับความดีของผู้อื่นบ้าง ยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นบ้าง


    อุเบกขานั้นคือความปล่อยวาง ปล่อยวางในที่นี้ไม่ใช่วางทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่สนใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างนั้นก็ไม่ถูก อุเบกขาเป็นการปล่อยวางในอารมณ์ เป็นการปล่อยวางไปตามความเป็นจริงของโลก คนเราเกิดมา มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ มีความพลัดพราก มีความร่ำไรรำพัน มีความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจทั้งหลายในสิ่งเหล่านี้ต่าง ๆ อันเป็นสมบัติของโลก มีประจำโลก ประจำวัฏสงสาร สิ่งเหล่านี้แลเป็นสิ่งที่เราต้องปล่อยวางสมบัติพัสถานต่าง ๆ ที่เราเอามาใช้บำรุงกาย บำรุงตน ให้เกิดความสุข ให้เกิดความสบาย สิ่งเหล่านี้เมื่อถึงกาลถึงเวลา ถึงสภาพเราต้องรู้จักปล่อยวาง ถ้าเราไม่รู้จักปล่อยวางเสียแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็ละวางเราอยู่เป็นปกติ มันไม่ยึดอะไรกับเราเลย อันว่าผัว เมีย ลูก หลาน สมบัติพัสถาน สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ยึดเรา แต่เราไม่ยึดมัน ยึดมันเอามาเป็นของเรา ยึดสิ่งต่าง ๆ แม้กระทั่งความคิด ก็เอามาเป็นของเรา ความสุข ความทุกข์ ก็เอามาเป็นของเรา สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในโลกนี้ ก็เอามาเป็นของเราเสียสิ้น ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นมันไม่เคยคิด มันไม่เคยบอกว่ามันเป็นของเรา ตัวของเราเองต่างหาก ที่เข้าไปยึดว่ามันจะอยู่กับเรา มันพยายามที่จะสลายตัวของมันอยู่ตลอดเวลา มันแก่ของมันอยู่ตลอดเวลา มันเจ็บของมันอยู่ตลอดเวลา มันตายของมันอยู่ตลอดเวลา มันเปลี่ยนแปลงของมันอยู่ตลอดเวลา มันไม่เคยคงที่ คงสภาพสภาพอันเดิมของมันไว้เลย น่าน สัจธรรมของธรรมชาติซึ่งเป็นตัวเปิดเผยและเป็นตัวที่ปล่อยวางตัวเองอยู่ตลอด แต่เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา หลงด้วยอวิชชามืดบอดของเรา ๆ ท่าน ๆ ที่มิได้สังเกต ไม่ได้คิด ไม่ได้พิจารณา จึงไม่เห็นความจริง ที่มันปล่อยวางตัวอยู่ตลอด พระศาสดาได้มาพิจารณาตรงนี้ ได้ดูตรงนี้ ได้เข้าใจตรงนี้ พระองค์จึงได้ปล่อยวางตามสภาพของความเป็นจริง ในสิ่งเหล่านี้


    คำว่า “ปล่อยวางตามสภาพของความเป็นจริง” นี้มิใช่ว่าไม่ได้มาดูหรือสนใจตรงนี้ ถึงกาลปล่อยถึงปล่อย เวลาเกิดเข้าใจว่าเกิด เวลาแก่เข้าใจว่าแก่ เวลาตายเข้าใจว่าตาย เวลาพลัดพรากเข้าใจว่าพลัดพราก ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกาล อันนั้นท่านถึงเรียกว่า “ปล่อยวางตามความเป็นจริง” ถ้าท่านตีประมวลเข้าสู่วงใน ท่านจะเข้าไปสู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร อันเป็นตัวกาย อันเป็นตัวจิต ซึ่งอยู่ภายในของเรา ภายในของเรานี้ประกอบไปด้วยสิ่งใด ๆ บ้าง ขอให้ท่านเข้าใจโดยสภาพของความเป็นจริงของเขา เพื่อที่จะได้ปล่อยวางตามความเป็นจริงของเขา


    อสุภกัมมัฏฐานซึ่งเป็นอารมณ์ที่ตั้งอยู่แห่งการดำรงเพศของสมณะ อสุภกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์อันเอกของสมณะ อสุภกัมมัฏฐานเป็นบาทฐานที่จะละโลกที่ทำให้โลกนั้นปล่อยวาง ที่จะปล่อยวางโลกได้ ถ้าไม่มีอสุภกัมมัฏฐาน หรือไม่แตกฉานในอสุภกัมมัฏฐาน หรือไม่เข้าใจตามความเป็นจริงของอสุภกัมมัฏฐาน โลกนี้ยังคงเป็นโลกอยู่ เราก็ยังเป็นเราอยู่ ความกำหนัดพอใจในสิ่งต่าง ๆ ก็ยังเป็นอยู่ ยังยึดพาจิตใจเราให้มีความทุกข์ความทรมานอยู่ แต่องค์พระสมณโคดมคือพระพุทธเจ้าของเรา ยกอารมณ์แห่งอสุภกัมมัฏฐานเป็นที่ตั้ง เป็นเครื่องฉีกออก จากเครื่องครอบคลุมของโลก ผู้ใดต้องการฉีกวัฏสงสารนี้ พึงเอาอารมณ์นี้เป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ ท่านจึงให้บัญญัติขึ้นมาให้เป็นปัญจกัมมัฏฐานว่า เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ


    ปัญจกัมมัฏฐานคืออะไร คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ต่าง ๆ นั้นแล สิ่งเหล่านี้คือสิ่งอันมัดรึงตรึงจิตของสรรพสัตว์ให้หลงงวยงงอยู่ในสังสารจักรน้อยใหญ่ มันหลงมาเท่าไรแล้ว แม้แต่องค์พระศาสดาเอง ก็เคยหลง เคยไม่เข้าใจ และเคยทุกข์ทรมานมาไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร แต่พอพระองค์เข้าใจในความเป็นจริงก็เลยตั้งองค์แห่งอสุภกัมมัฏฐานเป็นที่ตั้งเป็นอารมณ์แห่งพระกัมมัฏฐาน


    พระกัมมัฏฐาน คือการพิจารณาที่ตั้ง คือกายของเรานี่แหละเป็นอารมณ์แห่งพระกัมมัฏฐาน ท่านทั้งหลายมีใครเข้าใจตัวเองบ้าง มีแต่บอกให้ผู้อื่นเข้าใจ ๆ แต่ความเป็นจริงเป็นของเจ้าของ ตัวเองยังไม่เคยเข้าใจตัวเอง แม้แต่จะหันจิตเข้ามามองดูความความจริงของเรานั่นคืออะไร ก็ไม่มอง กลับไปมองดูสิ่งอื่นเสีย อันนั้นสวย อันนี้สวย อันนั้นประเสริฐ อันนี้น่าเอา อันนั้นน่าสัมผัส สัมพันธ์ อันนี้น่าฟัง อันนี้น่าลูบไล้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มองดูตัวเอง กลับไปมองดูข้างนอก แล้วอารมณ์แห่งพระกัมมัฏฐานจะมาเกิดขึ้นกับจิตกับสันดานของเราได้อย่างไร


    กัมมัฏฐานต้องหันมาดูจุด ๆ เดิม ถึงจะเป็นอารมณ์ของพระกัมมัฏฐาน จะดูสิ่งใด ๆ ก็แล้วแต่ ก็ดูจุดเดิมของสิ่งนั้น ๆ ฐานะเดิมของสิ่งนั้น ๆ ความเป็นจริงของสิ่งนั้น ๆ คือความเป็นเดิม ๆ ของเขานั่นเอง ดูกาย ก็ดูตามความเป็นจริง ดูตามสภาพของความเป็นจริง ดูความเป็นจริงของกาย ดูของเดิม ๆ ของกายคืออะไร ประมวลกันขึ้นมาจากสิ่งใด ๆ ให้เข้าใจโดยสภาพแห่งอาการลักษณะ ของความเป็นจริงในสิ่งเหล่านี้ จึงจะเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์พระกัมมัฏฐาน


    มิใช่เป็นการปล่อยจิตตามสำมะเลเทเมา ปล่อยไปตามอารมณ์ มันอยากไปไหนก็ปล่อยไป แล้วทำเป็นร้องเรียกหาพระกัมมัฏฐาน จะร้องเรียกหาไปทำไมโดยไม่หันมาดู ถ้าหันมาดูตัวเองแล้วไม่ต้องไปร้องเรียกอารมณ์ของกัมมัฏฐานปรากฎแจ้งขึ้นมาตรงนั้นเลย เหมือนเราจะดูอะไร ปิดตาไว้มันจะเห็นหรือ มันไม่เห็นหรอก มีแต่คนโง่เท่านั้นที่ใช้ความคาด ความคิด ความนึก ความเดา แต่พอลืมตาขึ้นมาจะต้องคาดต้องคิด ต้องนึก ต้องเดาไหม เมื่อความจริงเป็นสิ่งที่ปรากฏแจ้งอยู่เฉพาะหน้านั่นแล ลองหันมาดูตัวเองบ้าง อารมณ์ของกัมมัฏฐานจะปรากฎขึ้นจากตรงนั้น อะไรก็ตามที่ปราฎตามความเป็นจริงของกายที่เราดูตรงนั้น นั่นแหละคือสัจธรรม คือความจริง เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา


    สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคืออะไร คืออนิจจัง ที่ทรงสภาพที่รู้อยู่นั้นคืออะไร คือความทุกข์ ที่เราจะต้องบำบัดรักษา สุดท้ายสิ่งนั้นต้องเป็นอะไร ต้องเป็นอนัตตา นั่นคือความสิ้นสลายไปในทุกสิ่งทุกอย่าง ความตายไปของแต่ละสภาพที่บังเกิดกับสรรพสิ่งที่่มีความสืบเนื่องอยู่ตลอดเวลานั่นแหละคืออนัตตา หันมาดูตรงนี้ซิ ปัจจุบันทันด่วน นี่แหละคืออารมณ์ของพระกัมมัฏฐาน การส่ายแส่ออกไปมันไม่ใช่ มันเป็นอารมณ์ของโลก เป็นอารมณ์ของความอยาก เป็นอารมณ์ของกิเลสตัณหา ความทะยานอยากทั้งนั้น สิ่งเหล่านั้นใช่หรือเปล่า มันไม่ใช่อารมณ์ของพระกัมมัฏฐาน


    พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าพระกัมมัฏฐานอยู่ที่ไหน ที่ประมาลออกมาเป็นสิ่งต่าง ๆ ได้ทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ย่นย่อลงตรงไหน ก็ย่นย่อลงกายกับจิต ตรงนี้เท่านั้น กายของเรา เป็นอารมณ์ของพระกัมมัฏฐาน ให้พิจารณาให้ดี ลองแยกแยะซิว่าไอ้ที่ท่านว่า ความสกปรกโสโครกต่าง ๆ ที่เกิดมา ที่มีมา ที่เป็นมา ให้มันปรากฎแจ้งขึ้นภายในใจของตนเสียบ้าง อย่าได้สักแต่ว่าผู้อื่นเล่าให้ฟัง จะได้ยินแต่ครู แต่อาจารย์ที่ท่านบอก ให้ปรากฎขึ้นมาภายในใจของตนนั่นแล ความโสโครกเป็นอย่างไร มองเข้าไปดูซิ หมั่นพิจารณาย้อนเข้าไปย่นเข้าไป ดูแต่ตรงนั้นแหละ ดูแต่ตัวเราเองนั่น เราได้ยินได้ฟังจากครูอาจารย์มามาก แต่เราก็ไม่เคยเข้าใจเสียที ว่าไอ้ที่ความโสโครกจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร ธาตุเดิมของตนนั้นเป็นอย่างไร ก็ว่ามันสวยมันงามอยู่นั่นแหละ พอใจมันอยู่นั่นแหละ ไม่หันมาคิด ไม่หันมาพิจารณา


    เราลองย้อนเข้าไป เมื่อเราย้อนเข้าไปแล้วเนี่ยะ เราจะเข้าใจเลยว่า ความสุขอันเกิดจากการเห็นความโสโครกของตนนั้น เป็นความสุขที่ละเอียดที่สุดเลย ไม่ใช่ความสุขที่เกิดแต่อารมณ์หรือสิ่งใด ๆ เข้ามาปรุงแต่ง แต่เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากสัจธรรม คือความเป็นจริงโดยสภาพของเขา ความสุขเหล่านั้นแลจะเป็นความสุขที่เป็นอมตะสุขอย่างแท้ สุขที่เกิดจากสมาธิ ก็คือสุขที่ไม่มีอะไรปรุง ไม่มีอะไรแต่ง ไม่มีสังขารเป็นเครื่องสืบเนื่อง เป็นอารมณ์ที่ทรงนิ่งอยู่ นั่นคือสุขที่เกิดจากสมาธิ แต่เป็นเพียงชั่วครั้ง ชั่วกาล แห่งอาการของความสุขที่เกิดจากสมาธิ แต่สุขที่เกิดจากสัจธรรม สุขที่เห็นความจริงนั้น เป็นความสุขที่อยุ่ตลอดเวลา ปรากฎแจ้งอยู่ตลอดเวลา จิตของผู้ใดสัมผัสความจริงเหล่านั้นด้วยปัญญาญาณวิปัสสนา จิตของเขาจะได้หยั่งลงสู่สัจจะโดยแท้จริง เรียกว่า เป็นการทำให้แจ้งแห่งอารมณ์ หรือที่เรียกว่า ความรู้เท่าทันตามความเป็นจริงนั้นเอง


    โลกทั้งโลกไม่ได้หลงอะไร หลงเราเพียงเท่านั้น มีเราเป็นเหตุ มีเราเป็นบรรทัดฐาน มีเราเป็นตัวบงการ ความสุข ความทุกข์ต่าง ๆ ไม่ต้องไปเสกสรรค์ปั้นยอว่าผู้ใดจะเอามาให้ เราเป็นผู้สร้าง เมื่อไม่มีเรา แล้วสิ่งต่าง ๆ มันจะมีมาจากไหน ก็มาจากเรา ป้า น้า อา มาจากไหน ก็มาจากเรา สมบัติพัสถานมาจากไหน ก็มาจากเรา ตัวเราเป็นเหตุ ตัวเราเป็นอารมณ์ ตัวเราเป็นตัวบงการ แล้วจะไปว่าอะไรมาทำให้ทุกข์ ความทุกข์ประมวลอยู่ตรงนี้ หากเราจะแก้ทุกข์โดยเหตุจริง ๆ แล้วนะ ต้องมาแก้ตรงนี้ คือตัวของเราเอง เราเป็นผู้สร้างทุกข์ ทุกข์ต่าง ๆ ออกมาจากเรา ออกมาจากกาย ออกมาจากวาจา และออกมาจากใจ กาย วาจา ใจ เป็นตัวสร้างทุกข์ เป็นตัววิ่งส่ายแส่ออกไปข้างนอก ไปยึดเอาอารมณ์สิ่งนั้น ไปยึดเอาอารมณ์สิ่งนี้ แล้วมาเสกสรรค์ปั้นยอว่า เป็นของ ๆ มัน มันจึงกลายเป็นตัวทุกข์ขึ้นมา


    ต้องมาสลายตรงนี้ ต้องมาแก้ตรงนี้ ทำกาย ทำวาจา ทำใจให้ดี แล้วเข้าใจตามความเป็นจริงของกาย เข้าใจตามความเป็นจริงของวาจา เข้าใจตามความเป็นจริงของใจ เมื่อรู้ ตามความเป็นจริงของกาย วาจา ใจแล้ว กาย วาจา ใจ อันนี้ จะไม่ทำให้เราทุกข์อีกตลอดไปเป็นอนันตกาล กลายเป็นความสุขที่บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา กลายเป็นความสุขที่สงบเสงี่ยม เป็นความสุขที่สะอาดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรเป็นเครื่องเจือ เครื่องปรุง เครื่องแต่ง เพราะความสุขที่เกิดจากกาย เรียกว่า ไม่สร้างทุกข์ อันเป็นเหตุทางกายอีก วาจา ใจที่สงบนั้น เป็นความสุข ที่ปรากฏแจ้งคือสัจธรรม นั่น มันเป็นอย่างนั้นหนา ขอให้เราพิจารณาโดยลักษณะอย่างนี้แล นี่แหละคืออารมณ์ของกัมมัฏฐาน หมุนอารมณ์เข้ามา หมุนเข้ามาไม่ต้องไปสนใจอะไรทั้งนั้น ที่ว่าสุขทางกายนี้คือการไม่สร้างทุกข์ขึ้นมาทางกาย แต่โดยธรรมชาติก็ยังคงทุกข์อยู่


    สิ่งต่าง ๆ ไอ้เราจะทำงานทำการทำอะไรก็แล้วแต่ สติ สัมปชัญญะ ความระลึกรู้ตัวอยู่ ย่อมเป็นสมบัติของผู้ปฏิบัติ คือ สติ สติต้องประมวลแน่อยู่กับกายของตน อยู่กับวาจาของตน อยู่กับใจของตน มิใช่สติไม่มีเลย ปล่อยให้อารมณ์กิเลสวิ่งไปตามความอยาก ความปรารถนาของมันเหล่านั้น จะเป็นสมบัติของนักปฏิบัติภาวนาได้อย่างไร


    เหมือนเราจะทำนา ทำนาไม่มีจอบ ไม่มีเสียม ไม่มีไถ ไม่มีคราด จะทำนาได้ไหม มันทำไม่ได้ จะทำไร่ ไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือในการทำมันทำได้ไหม มันก็ทำไม่ได้เหมือนกัน อันนี้เรากำลังคุ้ยเขี่ยหาสัจธรรม ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา มันจะเอาอารมณ์อันไหนมารู้ มาเห็น มาเข้าใจ มันกลายเป็นความฟุ้งซ่าน นั่นแลเราจึงต้องเตรียมอาวุธอูปกรณ์ของเราในการทำ ในการคุ้ยเขี่ยหาสัจธรรม สติ เป็นตัวแรกในการก้าวเดิน สมาธิ เป็นกำลัง เป็นบาทฐาน ปัญญา เป็นตัวออกหน้าแยกแยะพิจารณา คุ้ยเขี่ยหาเหตุและผล จะทำอะไรเราไม่ว่าขอให้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเป็นเครื่องประมวลอยู่ในองค์ประกอบของการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมมันไม่อยู่ที่กิริยา หากอยู่แต่ความเจตนาภายในใจทั้งนั้น แต่นี่ เจตนาก็ไม่มี กิริยาก็ไม่มี สัจธรรมจะเกิดจากตรงไหน สติก็ไม่มี แม้แต่ของหยาบ ๆ ข้างนอกโลน ๆ ทั้งนั้น พิจารณาก็ไม่แตก ก็ไม่เห็น มีแต่กิเลสออกหน้า นี่หรือคือสมบัติ นี่หรือคือนักปราชญ์ หรือที่จะเป็นนักปราชญ์ต่อไป นี่หรือคือสมณะผู้หวังความหลุดพ้น ให้ฝึกไว้ให้ดีนะ นักภาวนาทั้งหลายขอให้เข้าใจ โดยลักษณะเหล่านี้แหละเป็นกัมมัฏฐานให้เอามาเป็นที่ตั้ง จะยกอะไรขึ้นมาเป็นกัมมัฏฐาน พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรืออะไรก็ได้ ให้เอามา พุทโธ ก็คือตัวเรา จะไปเสกหาอะไรนี่ไหนอีก


    พุทโธรู้อะไร รู้เราเข้าใจเรา ละเรา พุทโธคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ต้องรู้จักเจ้าของ รู้จักเจ้าของแล้วก็ตื่นนะซิ จิตใจมันก็ตื่น เพราะความจริงมันตื่นตัวของมันอยู่ตลอดเวลาไม่เคยหลับไหล ผู้รู้ไม่เคยหลับไหล แล้วไม่ใช่ว่าเป็นการหลับนะ ผู้รู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา รู้อยู่ตลอดเวลา ความจริงปรากฏอะไรเกิดขึ้น รู้อยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปตามกลไกของธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา นี่คือผู้รู้ไม่เคยหลับ มีความสำราญเบิกบานเป็นธรรมดาของเขา ดวงอาทิตย์ไม่เคยเศร้าหมอง ที่เศร้าหมองเพราะอะไร ก็เพราะมีเมฆมาบดบังเพียงเท่านั้น ปรากฏแจ้งอยู่ตลอดเวลาไม่เคยดับไม่เคยมืด นี่แหละคือดวงแห่งผู้รู้ให้เข้าใจไว้ให้ดี จะยกอะไรขึ้นมาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานถ้าไม่ยกตัวเองขึ้นมาบ้าง ไม่ยกกาย ไม่ยกวาจา ไม่ยกใจขึ้นมาเป็นอารมกัมมัฏฐาน ยกตรงนี้ซิขึ้นมาเป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน แล้วก็ดูให้เข้าใจ ดูอสุภกัมมัฏฐานนั้น ยกตัวเรามาเป็นอารมณ์อสุภะให้ได้


    อสุภกัมมัฏฐานก็คือตัวเรา ธาตุกัมมัฏฐานก็คือตัวเรา ขันธ์กัมมัฏฐานก็คือตัวเรา มันจะคืออะไรที่ไหนอีก ไม่ใช่คนนั้นไม่ใช่คนนี้ คนนั้นคนนี้ไม่ใช่กัมมัฏฐาน พ่อแม่พี่น้องไม่ใช่กัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานอยู่ที่เราทั้งนั้น เราคือกัมมัฏฐาน ผู้รู้ที่สุดคือเราเอง ต้องทำเราให้รู้ ความรู้ของผู้อื่นก็เป็นความรู้ของผู้อื่น มันไม่ใช่ความรู้ของเรา หากเรามารู้เรา มาดูเรา เข้าใจเราตรงนี้ ความรู้ที่ปรากฏแจ้งภายในเราอยู่น่ะจึงจะเป็นสัจธรรมอย่างสมบูรณ์ ความสุขความทุกข์มันจะได้หายออกไป ความทุกข์ที่มันมีต่าง ๆ มันเป็นความทุกข์อยู่กับเรา มันไม่ใช่ความทุกข์อยู่กับผู้หนึ่งผู้ใด ถ้าความทุกข์อยู่กับผู้อื่นผู้ใดก็ไปดูผู้อื่นใดได้ แต่ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ สรรพทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะมีตั้งแต่รูปเป็นเหตุ นามเป็นเหตุ คือตั้งแต่รูปแต่นามเป็นเหตุเป็นที่ตั้ง สิ่งเหล่านั้นนะล้วนประมวลมาสู่เราทั้งนั้น ทุกข์ของกาย เพราะเราไม่เข้าใจกาย ทุกข์ของใจ เพราะเราไม่เข้าใจความเป็นจริงของใจ จึงกลายเป็นทุกข์เพราะกาย เป็นทุกข์เพราะใจ ท่านจึงแยกแยะว่าให้พิจารณา เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ หนา พิจารณาไปพิจารณามาหนา ท่านจะได้เข้าใจความเป็นจริงของกายหนา ถ้าเข้าใจความเป็นจริงของกายแล้วความทุกข์ของกายจะไม่มี วัฏฏะคือความกักขังสัตว์ทั้งหลายมันจะได้สลายไป


    เข้าใจกายคืออะไร เมื่อสัตว์โลกทั้งหลายไม่มีความกำหนัดพอใจ ไม่มีความยินดีในกาม คือกามคุณในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในสัมผัส เรายกมโนธรรมไว้เสียซึ่งเป็นอารมณ์ภายในละเอียดตัวหนึ่ง ถ้าไม่มีความยึดมั่นไม่มีความพอใจ ไม่มีความยินดีในอารมณ์เหล่านี้แล้ว แล้วความอยากเสพ อยากสัมผัสในเรื่องของกามนั้นน่ะจะมาจากไหน มันไม่มี มันไม่มีอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในใจนะ ก็เพราะตั้งรูปเป็นเหตุ ถ้าไม่มีรูปมโนธรรมภายในใจ อารมณ์เหล่านี้ก็ไม่มี เพราะมีตา มองดูเห็นรูปเป็นเหตุ อารมณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีเสียงสัมผัสได้ยินรูป เสียงมันก็คือรูปอันหนึ่ง เข้ามาเป็นเหตุ จึงมีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แม้แต่มโนธรรมภายในใจก็ต้องตั้งรูปเป็นเหตุ อารมณ์ถึงได้เกิดขึ้น หากเราตัดรูป โดยเข้าใจตามความเป็นจริงของเขาเสียแล้ว อารมณ์มันจะมาจากไหนนั่น ความกำหนัดพอใจเกิดจากซากศพมีไหม ไม่มี ความกำหนัดพอใจเกิดจากแผ่นดินมีไหม ไม่มี แต่ความกำหนัดพอใจเกิดจากอุปาทาน คือความสำคัญว่าเป็นอย่างนั้น ๆ ถ้าเราแกะอุปาทานออกจากความเป็นจริงของเขาเล่า ความกำหนัดพอใจเกิดได้ไหม เกิดขึ้นไม่ได้ เมล็ดพืชพันธุ์ประเภทใดก็ตามจะไม่เกิดท่ามกลางกองไฟฉันใดก็ฉันนั้น


    ธรรมของพระพุทธเจ้าเผาผลาญกิเลสต่าง ๆ กิเลสเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลย ขอให้เข้าถึงความจริงของเขา สิ่งต่าง ๆ จะมาหลอกลวงให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ เพราะใจคือผู้รู้เข้าถึงความาจริงของเขาเสียแล้ว อะไรจะมาหลอกอีก แต่เพราะใจดวงนี้มันไม่เคยรู้มาก่อน มันจึงถูกหลอกอยู่ร่ำไปเป็นกัปเป็นกัลป์ เป็นอสงไขย ไม่รู้เท่าไรมาเป็นอนันตกาล เพราะมันไม่รู้ ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัส มันจึงไม่เข้าใจความเป็นจริง แต่เราผู้หวังจะให้ใจออกจากเครื่องครอบคลุม ครอบงำของกิเลสต่าง ๆ คืออุปาทาน เราก็ต้องมาแยกแยะมาพิจารณาตรงนี้ ให้จดจ่ออยู่กับตรงนี้ แล้วก็ตีแผ่ออกไปไล่ดุไป ๆ ดูไปเหมือนครูเหมือนอาจารย์ที่ท่านเคยไล่มาดูเข้าไป ดูเข้าไป จะทำด้วยเล่ห์กลใดก็ตาม ให้ตั้งสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเป็นที่ตั้งของอารมณ์ แล้วความทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรุมเร้าเผาใจอยู่ตลอดเวลานั้นน่ะ มันจะได้บรรเทาเบาบางลงไป มันพอหายพอตาย มันก็ตายก็หายไป มันจะได้ไม่มีความกำเริบเสิบสานเป็นความทะยานอยากในกามในเกียรติต่าง ๆ ในโลกในวัฏสงสาร โลกทั้งหลายเขาสร้างอนาคตอันยืดยาวไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำอนาคตให้ดีหนา เราจะสร้างนั่น สร้างนี่ต่อไปหนา มันวิ่งตามความอยากของกิเลส เรียกว่า วิ่งตามความอยากของตน สร้างโลกอยู่ตลอดเวลาแล้วมันจะจบสิ้นได้อย่างไร?


    แต่การปฏิบัติธรรมพึงเข้าใจว่ากำลังตัดอนาคตเข้ามา ตัดอดีตออกไป ตัดอนาคตเข้ามา ไม่สนใจในอดีต ไม่สนใจอนาคต ย่นย่ออดีตกับอนาคตจนเหลือแต่ปัจจุบัน ตั้งอารมณ์แห่งปัจจุบันอันนั้นไว้ แล้วพึงเอาสติ เอาสมาธิ เอาปัญญา ไปดับ ไปพิจารณา ไปแยกแยะ ให้ปัจจุบันนั้นหายไป กลายเป็นอกาลิกธรรม เป็นสิ่งที่ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ผู้ใดเข้าถึงความไม่มีกาล ไม่มีเวลา นั่นคือธรรมชาติที่สมบูรณ์ มันเป็นอย่างนั้นหนา ขอให้เข้าใจให้ดี ท่านเรียกว่า เอาปัจจุบันดับปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันดับปัจจุบันเมื่อไร ความเป็นปกติของทุกสิ่งจะปรากฏแจ้งทันที ความเป็นธรรมชาติจะปรากฏแจ้งขึ้นมาทันที ไม่มีอะไรปกปิดอีกเลย


    แต่เพราะเราไม่เข้าใจทั้งในอดีต ไม่เข้าใจทั้งในอนาคต และไม่รู้แม้กระทั่งปัจจุบันว่าอยู่ตรงไหน เป็นการส่ายแส่ตามอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เป็นการส่ายแส่ตามความอยากอยู่ตลอดเวลา ปล่อยให้ความคิดสร้างภพสร้างชาติ ปล่อยให้กาย วาจา ใจของตนสร้างบาปสร้างกรรมหลาบช้าต่อไป วิ่งตามความอยากของกิเลสต่อไป ๆ สร้างอนาคตต่อไป แล้วมันจะเจอปัจจุบันได้อย่างไร นี่แหละเราพึงมาย่นย่อมันเข้ามา อย่าให้ความคิดของตนนั้นทำร้ายตนเอง อย่าให้การกระทำของตนต้องสร้างภพสร้างชาติ


    นักภาวนาทั้งหลายพึงเข้าใจไว้เถิดว่า ผู้ที่ออกจากปากวัฏสงสารนี้ ไม่ได้สร้างอนาคต ไม่ได้ติดอยู่กับอดีตที่ผ่านมา ไม่ได้ผูกพันอยู่กับปัจจุบันที่ดำรงอยู่ ต่างปล่อยวางอยู่โดยสภาพ เมื่อเราปล่อยวางในอาการทั้งสามเหล่านี้แล้ว เราก็เหมือนกับใบไม้ที่ปล่อยวางต้นไม้ เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ปล่อยวางอยู่ในตัวของมันเอง เหมือนกับกลางวันปล่อยวางกลางคืน เหมือนกับกลางคืนปล่อยวางกลางวัน เหมือนกับดวงจันทร์ปล่อยวางกลางวันแล้วก็ไปสู่กลางคืน แล้วก็ปล่อยวางกันไป ปล่อยวางกันมา เป็นกฎธรรมดาของเขาที่เปลี่ยนแปลงไปโดยตามธรรมชาติ ถ้ามันปล่อยของมันอยู่อย่างนี้นะ ความทุกข์มันก็ไม่มี มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นอย่างนั้นหนา ขอให้เราพิจารณาให้ดี นี่แหละคือการพิจารณา


    นักศึกษาทั้งหลายเอาตรงนี้แหละขึ้นมา เราอาจจะได้ยิน ฟังธรรมจากครูจากอาจารย์มามาก แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นบาทฐานในการเอาไปคิดไปพิจารณา ขอให้ท่านหน่ะอย่าประมาทให้กับความคิดของท่านก็แล้วกัน พึงฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกปัญญาไว้ เป็นสมบัติของนักภาวนา ถ้าสติไม่มี สมาธิไม่มี ปัญญาแยกแยะพิจารณาไม่มี นักภาวนาก็จะไม่เป็นนักภาวนา จะเป็นนักอะไรก็ไม่รู้ นักสร้างภพนักสร้างชาตินักสร้างบาปสร้างกรรม สร้างวัฏสงสาร สร้างขอบสร้างเขตมารัดมารึงมาตรึงเจ้าของไว้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่เขาเกิด ๆ กันมาในโลกนี้เหมือนกัน เพราะไม่รู้จักใช้ความคิด กายของตนควรจะดำรงอยู่อย่างไร วาจาของตนควรจะพูดในสิ่งใด ๆ ความคิดจิตใจของตนควรจะนึกคิดสิ่งใดขึ้นมา นักภาวนาท่านเอากันอย่างนี้ ท่านมาจับมาดูมาพิจารณาตรงนี้ ท่านจึงได้กลายเป็นนักปราชญ์กลายเป็นพระพุทธเจ้า กลายเป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านมาดูตรงนี้หนา มาสังเกตมาพิจารณาตรงนี้แหละ ท่านจึงได้รู้ได้เห็นดวงที่เป็นธรรมชาติที่ทรงไว้ที่ประมวลอยู่ในตัวของเราเอง นั่นแหละคือพระกัมมัฏฐาน


    กายของเราคือพระกัมมัฏฐาน วาจาของเราคือพระกัมมัฏฐาน ใจของเราก็คือพระกัมมัฏฐาน นี่แหละเอาตรงนี้ขึ้นมาพิจารณา เอาประมวลเข้ามา ประมวลเข้ามา ทำอะไรก็แล้วแต่ เราไม่ห้าม แต่ขอให้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ประมวลอยู่ไว้ภายในใจของตน ไว้ภายในกายของตน แล้วพึงศึกษาสำเหนียกสิ่งเหล่านั้นแล จะได้เห็นความจริงของเขา ถ้าเราเข้าใจความเป็นจริงของเขา เราก็ไม่ทุกข์เพราะเขา เข้าใจใคร ก็ไม่ถูกคนนั้นหลอก เราเข้าใจกาย ก็ไม่ถูกกายหลอก เข้าใจวาจาก็ไม่ถูกวาจาหลอก เข้าใจความจริงของตนก็ไม่ถูกความคิดหลอก แต่เราทุกข์ทุกวันนี้ ร้องไห้ทุกวันนี้ เพราะอะไร ก็เพราะกาย กายมันหลอก วาจามันหลอก ใจมันหลอก ได้ยินเขาพูดไม่ดี กระทบกระเทียบเปรียบเปรยก็เศร้าก็ทุกข์ ก็ทรมาน เห็นกายเจ็บกายปวดกายทรมาน ก็ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งทรมาน คิดอารมณ์ในสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาทับถมหัวใจของตน ก็ทุกข์ก็ทรมาน เพราะเราไม่เข้าใจความเป็นจริงของเขา ให้เขาหลอกอยู่ตลอดเวลา เขาคือใคร เขาคือโลก สมบัติเหล่านั้นคือโลก กายคือโลก วาจาคือโลก ใจคือโลก เพราะกายไม่ได้เป็นธรรม ใจไม่ได้เป็นธรรม วาจาก็ไม่ใช่เป็นธรรม มันเป็นโลกเสียหมด มันก็เลยถูกหลอกอยู่ตลอดเวลา


    ท่านทั้งหลาย ธรรมอันนี้คือไม่ใช่อะไร ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า แท้จริงแล้วคือธรรมอันเป็นธรรมชาติ รู้จักกายอันเป็นธรรมชาติ รู้จักวาจาอันเป็นธรรมชาติ รู้จักใจอันเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของกาย คือ มีดิน มีน้ำ มีลม มีไฟ ธรรมชาติของวาจาเป็นเพียงลมอันหนึ่งที่ปรากฏ แล้วก็หายสลายไป ไม่ต้องไปสำคัญมั่นหมาย ไม่ต้องไปยึดเอามาเป็นของตน เพียงแต่เข้าใจว่ามันคืออะไร แล้วเราก็ปล่อยวางไป สิ่งที่ไม่ดีก็เข้าใจว่ามันไม่ดี สิ่งที่มันดีก็เข้าใจว่าดี แล้วก็ปล่อยวางมันไป มันก็ไม่มีอะไร แต่เราไปยึด ไปแบก ไปหาม เก็บเอามันมาเป็นอารมณ์ เก็บมาเป็นกัมมัฏฐานของเจ้าของ มาเป็นที่ตั้งของหัวใจ แล้วมันจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร เพราะอารมณ์เหล่านั้น มันเป็นอารมณ์โลก มันไม่เคยรักเรา มันไม่เคยช่วยเรา มันไม่เคยทำใครให้มีความสุขเลย มันมีแต่หลอกโลกอยู่ตลอดเวลา คำพูดของโลกก็หลอกโลก กายของโลกก็หลอกโลก ใจของโลกก็หลอกโลก ไอ้ของโลก ๆ ก็หลอกโลก ๆ


    ใจของเราเป็นธรรมชาติ ผู้รู้เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติของเขา มันไม่รู้จักโลก มันก็ถูกโลกหลอกนะซิ เราจึงต้องมาเข้าใจ ทำกาย ทำวาจา ทำใจ ให้เป็นธรรมชาติ ถ้าทำกาย ทำวาจา ทำใจ ให้เป็นธรรมชาติแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในกาย หรือวาจา หรือใจก็ตาม มันก็กลายเป้นธรรมชาติด้วย ผู้รู้อันเป็นธรรมชาติก็สัมผัสธรรมชาติตรงนั้น มันก็เข้ากันได้อย่างสนิท แล้วมันก็ไม่ทุกข์ ไม่ลำบาก ไม่ทรมานเพราะคำพูดของใคร ๆ ไม่ทุกข์เพราะกาย ไม่ทุกข์เพราะวาจา หรือไม่ทุกข์เพราะใจเพราะใคร ๆ มันเป็นอย่างนั้นหนา ขอให้เอาไปคิดไปพิจารณาให้ดี นี่แหละคือธรรมะ ที่นักปราชญ์ท่านได้ตั้งไว้เป็นกัมมัฏฐาน


    กัมมัฏฐาน คำว่ากัมมัฏฐานไม่มีตำรา ตำราจะ เขียนร้อยกรองเอาอะไรมาไว้ก็ตาม อันนันไม่ใช่ธรรมะ เป็นเพียงกระดาษ เป็นเพียงอันหนึงเท่านั้น ธรรมะที่แท้จริงนั้นหนะ สารพัดสิ่ง สารพัดทุกสิ่งทุกอย่าง ปรากฏแจงอยู่ตลอดเวลา ขอให้เราสัมผัสธรรมอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะใกล้ธรรมอยู่ตลอดเวลา เอาจิตใจ มาดูความเป็นจริงของกายดูเจ้าของให้มาก ๆ สังเกตคำพูด สังเกตกายของตนให้มาก ๆ สังเกตอารมณ์ภายในใจของตนให้มากๆ ดูกาย ดูวาจา ดูใจของตนมากๆ มันไม่ทุกข์หรอก ความทุกข์ต่างๆ ที่มันทุกข์เพราะมันไม่ดูกาย ไม่ดูวาจา ไม่ดูใจ ปล่อยให้กาย วาจา ใจสร้างทุกข์ สร้างกรรม สร้างบาปหยาบช้ามาทับถมจิตใจของตน มาถับถมตนเอง แล้วก็แบกพา หาบกรรมหยาบช้านั้นไป ไม่รู้กีภพกีชาติ ไม่รู้จักสิ้นจักวาง สังเกตดูตรงนั้นหนา


    ธรรมะของพระพุท ธเจ้ามีมากมาย สารพัดสิ่ง เหมือนน้าในมหาสมุทรนั้นแหละ มันเค็มอยู่ตลอดเวลา มัน เค็มอยู่ทุกภาค ซีกทางโน้นฝั่งทางโน้นมันก็เค็ม ชีกไหนๆ มันก็เค็ม หยิบยกขึ้นก็เป็นเพียงซีกหนึ่งส่วนหนึ่งของน้ำเค็มๆ นั้นเท่านั้น นี่คือรสของพระสัจธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็แยกแยะขึ้นมาไว้พอเป็นให้โลกได้ยินได้ฟัง มาเป็นเครื่องล่อ แต่ธรรมะที่แท้จริงนันนะ สารพัดสิ่ง เกิดจากแดด จากลม จากฝน จากตัว จากตน จากคน จากสิ่งต่างๆ ก็คือธรรมะที่ปรากฏแจ้ง แต่เราต้องน้อมมาใส่ตน เรียกว่าเอามาไว้ในตนให้เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน ยกตนขึ้นไปเทียบเคียงกับสิ่งต่างๆ ยกไว้แยกแยะไว้ เข้าใจตามความเป็นจริงของเขา แล้วมันก็เข้าสู่ทะเลเหมือนกัน นั้นคือสัจธรรมเหมือนๆ กัน


    ขอให้เข้าใจว่า เราคืออะไร ขอให้เข้าใจ ความคิดของเรา เรากําลังคิดสร้างอะไร ขอให้เข้าใจ คำพูดของเราว่าเรากำลังจะพูดไปเพื่ออะไร กายของ เรามีอะไรเป็นองค์ประกอบ กายของเรากำลังทำอะไร กายของเรากำลังสร้างโลกหรือสร้างธรรม วาจาของเรา กำลังสร้างโลกหรือสร้างธรรม ใจของเรากำลังคิดสร้างโลกหรือสร้างธรรม ถ้าสิ่งใดๆ ที่เป็นไปเพื่อสร้างโลก ขอให้เข้าใจไว้เถิดว่าสิงเหล่านั้นกำลังเป็นสิ่งที่ เรากำลังสร้างทุกข์และผูกพันตัวเราอยู่ เราต้องเข้าใจ และปล่อยวางมันไป ถ้าเราเข้าใจมันแล้ว ทำอะไรๆ ก็ไม่ถูกมันหลอกหรอก เพราะเราเป็นผู้ใช้มัน มิใช่มันมาใช้เรา


    โลกนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัย อาศัยไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น มิได้มีอะไรเป็นตัวบทกฎเกณฑ์ แต่เรามายึดมันเสีย มาแบกมันเสีย เอามันเป็นของเราเสีย โลกนี้จึงกลายเป็นโลกที่ต้องผูกยืด กลายเป็นโลกที่ทรมาน เพราะไม่มีใครอาศัยมัน มีแต่มายืดมัน ธรรมดาของมัน ต้องปล่อยตัองวาง มันสลัดเราเองโดยธรรมชาติ มันไล่ให้เราไปแก่อยู่ตลอดเวลา มันไล่ให้เราไปตายอยู่ตลอดเวลา ของเรามีมาแสวงหามาตลอดทั้งชีวิต ทำไร่ทำนา เลือดแทบกระเด็น มันบังคับให้เรากินบังคับให้เราใช้ บังคับให้เราใช้จ่ายอยู่ตลอดนี่คือโลก มันไม่เคยให้อะไรแก่เรา เราได้อะไรมา มันก็พยายามให้มันเสื่อม มันโทรม มันสิ้นอยู่ตลอดเวลา มีเสื้อผ้าสวยๆ เอามาใส่ มันพยายามให้เก่า ให้ขาดลงไปๆ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ใช้มัน มันก็ยังเก่า มันก็ยังขาด ข้าวไม่ได้กิน มันก็ยังทิ้ง มันก็ยังเสีย มันก็ยังขึ้นเห็ด ขึ้นรา เราให้อาหารกินบำรุงบำเรอตัวเราอยู่ตลอดเวลา มันยังแก่ ยังเจ็บ ยังตาย คิดดูซิว่าโลกนี้มันให้อะไรเรา มันหลอกเราอยู่ตลอดเวลา ถึงเราจะยึดกับมันอยู่ขนาดไหนมันก็ไม่สนใจเราหรอก ให้เข้าใจไว้ว่า มันไม่เคยยึดอะไรเราเลย ไม่เคยหลงอะไรเราเลย


    ศาสนาที่อุบัติขึ้นมานี่ มิได้สอนเพื่อให้โลกหลงหนา ให้เข้าใจไว้เสีย ธรรมะของพระพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หรือเป็นเอนกอนันต์ก็ตาม มิได้อุบัติขึ้นมา หรือบัญญัติขึ้นมาเพื่อมิให้โลกหลง แต่อุบัติหรือบัญญัติขึ้นมาสั่งสอน เพื่อมิให้หลงโลกต่างหาก ให้รู้ความจริงของเขาแล้วเราจะสบาย อยู่ในโลกนี้ได้อย่างสบาย ไม่ทุกข์ ไม่ทรมาน ให้เข้าใจไว้อย่างนี้ก็แล้วกันหนา เอาหละวันนี้พอ เอาไปคิดไปพิจารณา ตั้งใจกำหนดจิต แผ่เมตตา สาธุ บุญกุศลที่เราได้ บำเพ็ญ ที่ได้สดับรับฟังธรรมะคำสอนของครูบาอาจารย์ จงเอาอารมณ์ส่วนเนี่ยะเข้าไปน้อมไว้ภายในใจ นี่แหละ คือพระธรรม นี่แหละคือพระกัมมัฏฐาน นี่แหละคือสิ่งที่เราจะต้องรู้ จะต้องเข้าใจ เอาไปคิดไปพิจารณา เดชะบุญกุศลอันเกิดแก่การฟังธรรม อันเกิดแต่การรู้เห็น อันเกิดแต่การกระทำ อันเกิดแต่การเปล่งวาจาคำพูดของเรา อันเป็นบุญเป็นกุศล ตั้งแต่จวบจนปัจจุบัน และจักทำไปในอนาคต ขอกุศลเหล่านั้น จงเป็นพลวปัจจัยอุปนิสัย ขอให้ข้าพเจ้าเข้าใจในสัจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า รู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรม ลุล่วงเข้าถึงมรรคผลนิพพาน ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วทั้ง ๓ แดนโลกธาตุ จงมีความสุขปราศจากทุกข์ ทุกรูปทุกนามเทอญ สาธุ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • RDIu9z.jpg
      RDIu9z.jpg
      ขนาดไฟล์:
      613.1 KB
      เปิดดู:
      104
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 ตุลาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...