พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 28 กรกฎาคม 2017.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    อายตนะ ที่ติดต่อ, เครื่องติดต่อ, แดนก่อความรู้, เครื่องรู้และสิ่งที่ถูกรู้ เช่น ตา เป็นเครื่องรู้ รูปเป็นสิ่งที่ถูกรู้, หูเป็นเครื่องรู้ เสียงเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เป็นต้น จัดเป็น ๒ ประเภท คือ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖

    อายตนะภายนอก เครื่องต่อภายนอก, สิ่งที่ถูกรู้ มี ๖
    คือ
    ๑. รูป รูป

    ๒. สัททะ เสียง

    ๓. คันธะ กลิ่น

    ๔. รส รส

    ๕. โผฏฐัพพะ สิ่งต้องกาย

    ๖. ธัมมะ ธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ หรือสิ่งที่ใจรู้

    อารมณ์ ๖ ก็เรียก

    อายตนะภายใน เครื่องต่อภายใน, เครื่องรับรู้ มี ๖
    คือ
    ๑. จักขุ ตา

    ๒. โสต หู

    ๓. ฆานะ จมูก

    ๔. ชิวหา ลิ้น

    ๕. กาย กาย

    ๖. มโน ใจ

    อินทรีย์ ๖ ก็เรียก
     
  2. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    อายตนะ ๖

    แดนรับรู้และเสพเสวยโลก

    แม้ว่าชีวิตจะประกอบด้วยขันธ์ ๕ ซึ่งแบ่งซอยออกไปเป็นหน่วยย่อยต่างๆ มากมาย
    แต่ในทางปฏิบัติ คือ ในการดำเนินชีวิตทั่วไป มนุษย์ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับส่วนประกอบเหล่านั้นโดยทั่วถึงแต่อย่างใด

    ส่วนประกอบหลายอย่างมีอยู่ และทำหน้าที่ของมันไปโดยที่มนุษย์ไม่รู้จักหรือแม้รู้จัก ก็แทบไม่ได้นึกถึงเลย
    เช่น
    ในด้านรูปธรรม หรือร่างกาย อวัยวะภายในร่างกายหลายอย่าง ทำหน้าที่ของมันอยู่โดยที่มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของไม่รู้ และไม่ได้ใส่ใจที่จะรู้ จนบางคราวมันเกิดความวิปริต หรือทำหน้าที่บกพร่องเจ็บป่วยขึ้น มนุษย์จึงจะหันมาสนใจ
    แม้องค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนการฝ่ายจิต ก็เป็นเช่นเดียวกัน

    การศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ และกระบวนการทำงานทางร่างกาย เราปล่อยให้เป็นภาระของนักศึกษาแพทยศาสตร์และชีววิทยา

    ส่วนการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบ และกระบวนการทำงานด้านจิตใจ ก็ปล่อยให้เป็นภาระของนักจิตวิทยา

    แต่สำหรับคนทั่วไป ความหมายของชีวิตอยู่ที่ชีวิตในทางปฏิบัติ หรือชีวิตที่ดำเนินอยู่เป็นประจำ ในแต่ละวัน ซึ่งได้แก่การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก สิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิต ก็คือ การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลก พูดสั้นๆว่า ชีวิตตามความหมายของมนุษย์ คือ ชีวิตโดยความสัมพันธ์ กับ โลก
     
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    คุณค่าทางจริยธรรม

    ๑. อายตนะเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของทางแยกระหว่างกุศล กับ อกุศล

    ทางสายหนึ่ง นำไปสู่ความประมาทมัวเมา ความชั่ว และการหมกติดอยู่ในโลก

    อีกสายหนึ่ง นำไปสู่ความรู้เท่าทัน การประกอบกรรมดี และความหลุดพ้นเป็นอิสระ

    ความสำคัญของเรื่องนี้ อยู่ที่ว่า หากไม่มีการฝึกฝนอบรมให้เข้าใจ และปฏิบัติในเรื่องอายตนะอย่างถูกต้องแล้ว ตามปกติมนุษย์ทั่วไปจะถูกชักจูงล่อให้ดำเนินชีวิตในทางที่มุ่งเพื่อเสพเสวยโลก เที่ยวทำการต่างๆเพียงเพื่อแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ และความสนุกสนานบันเทิงต่างๆมาปรนเปรอตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และใจอยากของตน พอกพูนความโลภ โกรธ หลง แล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนทั้งแก่ตนและผู้อื่น

    พอจะเห็นได้ไม่ยากว่า การเบียดเบียนกัน การขัดแย้งแย่งชิง การกดขี่บีบคั้น เอารัดเอาเปรียบกัน ตลอดจนปัญหาสังคมต่างๆที่เกิดเพิ่มขึ้น และที่แก้ไขกันไม่สำเร็จ โดยส่วนใหญ่แล้ว ก็สืบเนื่องมาจากการเดินชีวิตแบบปล่อยตัว ให้ถูกล่อถูกชักจูงไปในทางที่จะปรนเปรออายตนะอยู่เสมอ จนเคยชินและรุนแรงยิ่งขึ้นๆนั่นเอง

    คนจำนวนมาก บางทีไม่เคยได้รับการเตือนสติให้สำนึกหรือยั้งคิด ที่จะพิจารณาถึงความหมายแห่งการกระทำของตน และอายตนะที่ตนปรนเปรอบ้างเลย และไม่เคยปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกอบรมหรือสังวรระวังเกี่ยวกับอายตนะหรืออินทรีย์ของตน จึงมีแต่ความลุ่มหลงมัวเมายิ่งๆขึ้น

    การแก้ไขในทางจริยธรรมในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่ง อยู่ที่การสร้างความเข้าใจให้รู้เท่าทันความหมายของอายตนะ และสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าควรจะมีบทบาทและความสำคัญในชีวิตของตนแค่ไหน เพียงไร และอีกส่วนหนึ่ง ให้มีการฝึกอบรมด้วยวิธีประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุม การสำรวมระวังใช้งาน และรับใช้อายตนะเหล่านั้น ในทางที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ชีวิตของตนเองและแก่สังคม
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ๒. อายตนะเป็นแหล่งที่มาของความสุขความทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งการดำเนินชีวิตทั่วไป และความเพียรพยายามเฉพาะกิจแทบทุกอย่างของปุถุชน ด้านสุขก็เป็นการแสวงหา ด้านทุกข์ก็เป็นการหลีกหนี

    นอกจากสุขทุกข์จะเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความประพฤติดีประพฤติชั่วที่กล่าวในข้อ ๑ แล้ว ตัวความสุขทุกข์นั้น ก็เป็นปัญหาอยู่ในตัวของมันเอง ในแง่ของคุณค่า ความมีแก่นสาร และความหมายที่จะเข้าพึ่งพาอาศัยบอบกายถวายชีวิตให้อย่างแท้จริงหรือไม่

    คนไม่น้อย หลังจากระดมเรี่ยวแรง และเวลาแห่งชีวิตของตน วิ่งตามหาความสุขจากการเสวยโลกจนเหนื่อยอ่อนแล้ว ก็ผิดหวัง เพราะไม่ได้สมปรารถนาบ้าง เมื่อหารสอร่อยหวานชื่น ก็ต้องเจอะรสขื่นขมด้วย บางที ยิ่งได้สุขมาก ความเจ็บปวดเศร้าแสบกลับยิ่งทวีล้ำหน้า เสียค่าตอบแทนในการได้ความสุขไปแพงกว่าได้มา ไม่คุ้มกันบ้าง

    ได้สมปรารถนาแล้ว แต่ไม่ชื่นเท่าที่หวัง หรือถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายแล้ว ความสุขกลับวิ่งหนีออกหน้าไปอีก ตามไม่ทันอยู่ร่ำไปบ้าง บางพวกก็จบชีวิตลงทั้งที่กำลังวิ่งหอบ ยังตามความสุขแท้ไม่พบหรือยังไม่พอ

    ส่วนพวกที่ผิดหวังแล้ว ก็เลยหมดอาลัยปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อยไปตามเรื่อง อยู่อย่างทอดถอนความหลังบ้าง หันไปดำเนินชีวิตในทางเอียงสุดอีกด้านหนึ่ง โดยหลบหนีตีจากชีวิตไปอยู่อย่างทรมานตนเองบ้าง


    การศึกษาเรื่องอายตนะนี้ มุ่งเพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันสภาพความจริง และประพฤติปฏิบัติด้วยการวางท่าทีที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดเป็นพิษเป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่นมากนัก อย่างน้อย ก็ให้มีหลัก พอรู้ทางออกที่จะแก้ไขตัว นอกจากจะระมัดระวังในการใช้วิธีการที่จะแสวงหาความสุขเหล่านี้แล้ว ยังเข้าใจขอบเขตและชั้นระดับต่างๆของมัน แล้วรู้จักหาความสุขในระดับที่ประณีตยิ่งขึ้นไปด้วย ความประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับสุขทุกข์นี้ ย่อมเป็นเรื่องของจริยธรรมไปด้วยในตัว
     
  5. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ๓. อายตนะในแง่ที่เป็นเรื่องของกระบวนการรับรู้และการแสวงปัญญา ก็เกี่ยวกับจริยธรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้น เพราะถ้าปฏิบัติในตอนเริ่มแรกไม่ถูกต้อง การรับรู้ก็จะไม่บริสุทธิ์ แต่จะกลายเป็นกระบวนการรับรู้ที่รับใช้กระบวนการเสพเสวยโลก หรือเป็นส่วนประกอบของธรรมแบบสังสารวัฏไปเสีย ทำให้ได้ความรู้ที่บิดเบือน เอนเอียง เคลือบแฝง มีอคติ ไม่ถูกต้องตรงตามความจริง หรือตรงกับสภาวะตามที่มันเป็น

    การปฏิบัติในทางจริยธรรมที่ช่วยเกื้อกูลในเรื่องนี้ ก็คือวิธีการที่จะรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในอุเบกขา คือ ความมีใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบเที่ยงตรงไม่เอนเอียง ไม่ให้ถูกอำนาจกิเลสมีความชอบใจ ไม่ชอบใจ เป็นต้น เข้าครอบงำ
     
  6. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ฉฬังคุเบกขา อุเบกขามีองค์ ๖ คือ ด้วยตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้น ลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจรู้ธรรมารมณ์แล้ว ไม่ดี ไม่เสียใจ วางจิตอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ (ขุ.ม.29/413/289) เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระอรหันต์ ซึ่งมีอุเบกขาด้วยญาณ คือ ด้วยความรู้เท่าทันถึงสภาวะของสิ่งทั้งหลาย อันทำให้ไม่ถูกความชอบ ความยินดี ยินร้าย ครอบงำ ในการรับรู้อารมณ์ทั้งหลาย ตลอดจนไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรมทั้งปวง

    อุเบกขา 1. ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุและรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น,
    ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นว่าเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง 2. ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา (= อทุกขมสุข)
     
  7. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    ๔. การปฏิบัติทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับอายตนะโดยตรง บ้าง โดยอ้อม บ้าง มีหลายอย่าง บางอย่างก็มีไว้เพื่อใช้ในขั้นตอนต่างๆกัน ทั้งนี้ สุดแต่ว่าปัญหามักจะเกิดขึ้นที่จุดใด ทุกข์และบาปอกุศลมักได้ช่องเข้ามาที่ช่วงตอนใด


    อย่างไรก็ตาม ท่านมักสอนย้ำให้ใช้วิธีระวังหรือป้องกันตั้งแต่ช่วงแรกที่สุด คือ ตอนที่อายตนะรับอารมณ์ทีเดียว เพราะจะทำให้ปัญหาไม่เกิดขึ้นเลย จึงเป็นการปลอดภัยที่สุด


    ในทางตรงข้าม ถ้าปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คือ บาปอกุศลธรรมได้ช่องเข้ามาแล้ว มักจะแก้ไขยาก เช่น
    เมื่อปล่อยให้อารมณ์ที่ล่อเร้าเย้ายวนครอบงำใจ จิตถูกปรุงแต่งจนราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นแล้ว ทั้งที่รู้ผิดชอบชั่วดี มีความสำนึกในสิ่งชอบธรรมอยู่ แต่ก็ทนต่อความเย้ายวนไม่ได้ ลุอำนาจกิเลส ทำบาปอกุศลลงไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงย้ำวิธีระมัดระวังป้องกันให้ปลอดภัยไว้ก่อนตั้งแต่ต้น

    องค์ธรรมสำคัญที่ใช้ระมัดระวังตั้งแต่ต้น ก็คือ สติ ซึ่งเป็นตัวควบคุมจิตไว้ให้อยู่กับหลัก

    หรือพูดอีกนัยหนึ่ง เหมือนเชือกสำหรับดึงจิต สติที่ใช้ในขั้นระมัดระวังป้องกันเกี่ยวกับการรับอารมณ์ของอายตนะแต่เบื้องต้นนี้ ใช้หลักที่เรียกว่า อินทรียสังวร ซึ่งแปลว่า การสำรวมอินทรีย์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การคุ้มครองทวาร* (เรียกเต็มว่า คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย) หมายถึง การมีสติพร้อมอยู่ เมื่อรับอารมณ์มีรูป เป็นต้น ด้วยอินทรีย์ มีตา เป็นอาทิ ก็ไม่ปล่อยใจถือไปตามนิมิตหมายต่างๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดความติดพันขุ่นเคือง ชอบใจ ไม่ชอบใจ แล้วถูกอกุศลธรรมเข้าครอบงำจิตใจ การปฏิบัติตามหลักนี้ ช่วยได้ทั้งด้านป้องกันความชั่วเสียหาย ป้องกันความทุกข์ และป้องกันการสร้างความรู้ความคิดที่บิดเบือนเอนเอียง


    อย่างไรก็ตาม การที่จะปฏิบัติให้ได้ผลดี มิใช่จะนำหลักมาใช้เมื่อไรก็ได้ตามปรารถนา เพราะสติจะตั้งมั่นเตรียมพร้อมอยู่เสมอ จำต้องมีการฝึกฝนอบรม อินทรีย์สังวรจึงต้องมีการซ้อมหรือใช้อยู่เสมอ การฝึกอบรมอินทรีย์ มีชื่อเรียกว่า อินทรียภาวนา (แปลตามแบบว่าการเจริญอินทรีย์)


    ผู้ที่ฝึกอบรม หรือเจริญอินทรีย์แล้ว ย่อมปลอดภัยจากบาปอกุศลธรรม ความทุกข์ และความรู้ที่เอนเอียงบิดเบือนทั้งหลาย * (ในแง่ความรู้คิดที่เอนเอียงนี้บิดเบือนนี้ ในที่นี้ หมายเฉพาะปลอดภัยจากเหตุใหม่ ไม่พูดถึงเหตุที่สั่งสมไว้เก่า คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นอีกตอนหนึ่งต่างหาก) เพราะป้องกันไว้ได้ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้น หรือแม้หากความชอบใจ ไม่ชอบใจ จะหลุดรอดเกิดขึ้นมา ก็สามารถระงับ หรือสลัดทิ้งไปได้เร็วพลัน

    อินทรีย์สังวรนี้เป็นหลักธรรมในขั้นศีล แต่องค์ธรรมสำคัญที่เป็นแกน คือ สติ นั้นอยู่ในจำพวกสมาธิ ทำให้มีการใช้กำลังจิตและการควบคุมจิตอยู่เสมอ จึงเป็นการฝึกอบรมสมาธิไปด้วยในตัว
     
  8. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    หลักธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านแนะนำให้เป็นข้อปฏิบัติในเรื่องนี้ เป็นหลักในระดับปัญญา เรียกว่า โยนิโสมนสิการ หลักนี้ ใช้ในช่วงตอนที่รับอารมณ์เข้ามาแล้ว โดยให้พิจารณาอารมณ์นั้นเพื่อเกิดความรู้เท่าทัน เช่น พิจารณาคุณ โทษ ข้อดีข้อเสียของอารมณ์นั้น พร้อมทั้งภาวะอันเป็นอิสระปลอดภัยอยู่ดีมีสุขได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์นั้น ในแง่ที่จะต้องให้คุณ และโทษของมันเป็นตัวกำหนดความสุข ความทุกข์และชะตาชีวิต
     
  9. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ


    "ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการอุทัยพร้อม และการอัสดงแห่งโลก จงฟังเถิด

    "การอุทัยพร้อมแห่งโลกเป็นไฉน ? อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประจวบแห่งสิ่งทั้ง ๓ นั้น คือ ผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสก็มีพร้อม นี้คือการเกิดขึ้นพร้อมแห่งโลก"

    "อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น..อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือ การเกิดขึ้นพร้อมแห่งโลก"

    "อัสดงแห่งโลกเป็นไฉน ? อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประจวบแห่งสิ่งทั้ง ๓ นั้น คือ ผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหานั้นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ ความดับอุปาทานจึงมี เพราะดับอุปาทาน ความดับภพจึงมี เพราะดับภพ ความดับชาติจึงมี เพราะดับชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหมด ย่อมมีได้อย่างนี้ นี้เรียกว่า ความดับแห่งโลก"

    "อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น..อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์ จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือการดับของโลก" (สํ.สฬ.18/156-7/108-9)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 กรกฎาคม 2017
  10. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    "ภิกษุทั้งหลาย ข้าวกล้างอกงามบริบูรณ์ และคนเฝ้าข้าวกล้าก็ประมาทเสีย โคกินข้าวกล้าลงสู่ข้าวกล้าโน้น พึงเมาเพลินประมาทเอาจนเต็มที่ ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ไม่สังวรในผัสสายตนะ ๖ ย่อมเมาเพลิน ประมาทในกามคุณ ๕ จนเต็มที่ ฉันนั้น" (สํ.สฬ.18/344/243)

    "ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ ที่ไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สังวร ย่อมเป็นเครื่องนำทุกข์มาให้...ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ ที่ฝึกดีแล้ว คุ้มครองดี รักษาดี สังวรดี ย่อมเป็นเครื่องนำสุขมาให้..." (สํ.สฬ.18/128-9/88)
     
  11. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    "ตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้ รูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้ หู + เสียง จมูก + กลิ่น ลิ้น + รส กาย + โผฏฐัพพะ ใจเป็นเครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์ไว้ ธรรมารมณ์เป็นเครื่องผูกล่ามใจไว้ ดังนี้หรือ ?

    "(หามิได้) ตาก็มิใช่เครื่องผูกล่ามรูปไว้ รูปก็มิใช่เครื่องผูกล่ามตาไว้ ฉันทราคะ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามตาและรูปนั้น ฯลฯ ใจก็มิใช่เครื่องผูกล่ามธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็มิใช่เครื่องผูกล่ามใจ ฉันทราคะ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ใจและธรรมารมณ์นั้น"

    "หากตาเป็นเครื่องผูกล่ามรูปไว้ หรือรูปเป็นเครื่องผูกล่ามตาไว้แล้วไซร้ การครองชีวิตประเสริฐ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ ก็จะปรากฏไม่ได้

    "แต่เพราะเหตุที่ตาก็มิใช่เครื่องผูกล่ามรูปไว้ รูปก็มิใช่เครื่องผูกล่ามตา ฉันทราคะ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปสองอย่างนั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกล่ามที่ตาและรูปนั้น เพราะเหตุนั้น การครองชีวิตประเสริฐ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏได้ ฯลฯ"

    "พระผู้มีพระภาคก็มีตา พระผู้มีพระภาคก็เห็นรูปด้วยตา แต่ฉันทราคะ ไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงมีใจหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีหู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ แต่ฉันทราคะ ไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงมีใจหลุดพ้นดีแล้ว" (สํ.สฬ.18/295-8/203-6)

    ......


    ฉันทราคะ ความพอใจติดใคร่, ความชอบใจจนติด, ความอยากที่แรงขึ้นเป็นความติด

    ฉันทะในที่นี้ หมายถึง อกุศลฉันทะ คือตัณหาฉันทะ ซึ่งในขั้นต้น เมื่อเป็นราคะอย่างอ่อน (ทุพพลราคะ) ก็เรียกแค่ว่าเป็นฉันทะ แต่เมื่อมีกำลังมากขึ้น ก็กลายเป็นฉันทราคะ คือราคะอย่างแรง (พลวราคะ หรือสิเนหะ)

     
  12. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    "พระองค์ผู้เจริญ ถึงแม้ข้าพระองค์ชราแล้ว เป็นผู้เฒ่าผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับก็ตาม ขอพระผู้มีพระภาคสุคตเจ้าโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์แต่โดยย่อเถิด ข้าพระองค์คงจะเข้าใจความแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่ ข้าพระองค์คงจะเป็นทายาทแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคได้เป็นแน่"

    "แน่ะมาลุงกยบุตร ท่านเห็นเป็นประการใด รูปทั้งหลายที่ฟังรู้ด้วยจักษุอย่างใดๆ ซึ่งเธอยังไม่เห็น ทั้งมิเคยได้เห็น ทั้งไม่เห็นอยู่ ทั้งไม่เคยคิดหมายว่าขอเราพึงเห็น ความพอใจ ความใคร่ หรือความรัก ในรูปเหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม ?
    ทูลตอบว่า "ไม่มี พระเจ้าข้า"

    "เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ทั้งหลาย อย่างใดๆ เธอไม่ได้ทราบ ไม่เคยทราบ ไม่ทราบอยู่ และทั้งไม่เคยคิดหมายว่าเราพึงทราบ ความพอใจ ความใคร่ หรือความรัก ในธรรมารมณ์เหล่านั้น จะมีแก่เธอไหม ?

    ทูลตอบว่า “ไม่มี พระเจ้าข้า"

    "มาลุงกยบุตร บรรดาสิ่งที่เห็นได้ยินรู้ทราบเหล่านี้ ในสิ่งที่เห็น เธอจักมีแค่เห็น ในสิ่งที่ได้ยิน จักมีแค่ได้ยิน ในสิ่งที่ลิ้มดม แตะต้อง จักมีแค่รู้ (รส กลิ่น แตะต้อง) ในสิ่งที่ทราบ จักมีแค่ทราบ

    "เมื่อใด (เธอมีแค่เห็น ได้ยิน ได้รู้ ได้รู้ได้ทราบ) เมื่อนั้น เธอก็ไม่มีด้วยนั่น (อรรถกถาอธิบายว่า ไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ) เมื่อไม่มีด้วยนั่น ก็ไม่มีที่นั่น (อรรถกถาว่า ไม่พัวพันหมกติดอยู่ในสิ่งที่ได้เห็น เป็นต้น นั้น) เมื่อไม่มีที่นั่น เธอก็ไม่มีที่นี่ ไม่มีทีโน่น ไม่มีระหว่างที่นี่ที่โน่น (ไม่ใช่ภพนี้ ไม่ใช่ภพโน้น ไม่ใช่ระหว่างภพทั้งสอง) นั่นแหละคือที่จบสิ้นแห่งทุกข์"

    (พระมาลุงกยบุตรสดับแล้ว กล่าวความตามที่ตนเข้าใจออกมาว่า)

    "พอเห็นรูป สติก็หลงหลุด ด้วยมัวใส่ใจแต่นิมิตหมายที่น่ารัก แล้วก็มีจิตกำหนัดติดใจ เสวยอารมณ์ แล้วก็สยบอยู่กบอารมณ์นั้นเอง

    "เวทนาหลากหลายอันก่อกำเนิดขึ้นจากรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น จิตของเขาก็คอยถูกกระทบกระทั่ง ทั้งกับความอยากและความยุ่งยากใจ เมื่อสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าไกลนิพพาน"

    "พอได้ยินเสียง...พอได้กลิ่น...พอลิ้มรส...พอถูกต้องโผฏฐัพพะ... พอรู้ธรรมารมณ์ สติก็หลงหลุด ฯลฯ ก็เรียกว่า ไกลนิพพาน"

    "เห็นรูป ก็ไม่ติดไม่รูป ด้วยมีสติมั่นอยู่ มีจิตไม่ติดใจ เสวยเวทนาไป ก็ไม่สยบกับอารมณ์นั้น เขามีสติดำเนินชีวิตอย่างที่ว่า เมื่อเห็นรูป เมื่อถึงจะเสพเวทนา ทุกข์ก็มีแต่สิ้น ไม่สั่งสม เมื่อไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน"

    "ได้ยินเสียง...ได้กลิ่น...ลิ้มรส...ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ ก็ไม่ติดในธรรมารมณ์ ด้วยมีสติมั่นอยู่ ฯลฯ ก็เรียกว่าใกล้นิพพาน" (สํ.สฬ.18/132-5/90-4)
     
  13. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    "ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลเชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวาร ? คนบางคนเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มิได้มีสติกำกับใจ มีใจเล็กจ้อยอยู่ ไม่เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วแต่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ ฟังเสียงด้วยหู...สูดกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรสด้วยลิ้น...ต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมรักฝากใจใน...ธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขุ่นเคืองขัดใจใน...ธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก ฯลฯ"

    "ด้วยเหตุเพียงไร บุคคลชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวาร ? ภิกษุเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่น้อมรักฝากใจในรูปที่น่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติกำกับใจ เป็นอยู่อย่างผู้มีจิตกว้างขวาง ไม่มีประมาณ เข้าใจตามเป็นจริง ซึ่งความหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และความหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วแต่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมไม่น้อมรักฝากใจใน....ธรรมารมณ์อันน่ารัก ไม่ขุ่นเคืองขัดใจใน...ธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก ฯลฯ" (สํ.สฬ.18/207-8/150-1)
    .............

    ธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรม, สิ่งที่ถูกรับรู้ทางใจ, สิ่งที่รู้ด้วยใจ, สิ่งที่ใจรู้สึกนึกคิด
     
  14. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    "ภิกษุทั้งหลาย อย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ? เมื่อภิกษุสังวรจักขุนทรีย์อยู่ จิตย่อมไม่ซ่านแส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยจักษุ...เมื่อมีจิตไม่ซ่าน แส่ ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อมีปราโมทย์ ปีติก็เกิด เมื่อมีใจมีติ กายก็สงบระงับ ผู้มีกายสงบ ย่อมเป็นสุข ผู้มีสุข จิตย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ผู้นั้น จึงนับว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท (เกี่ยวกับโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)"

    "อานนท์ การอบรมอินทรีย์ ที่ยอดเยี่ยมในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) เป็นอย่างไร ? เพราะเห็นรูปด้วยตา...เพราะได้ยินเสียงด้วยหู...เพราะได้กลิ่นด้วยจมูก...เพราะรู้รสด้วยลิ้น...เพราะต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ย่อมเกิดความชอบใจบ้าง เกิดความไม่ชอบใจบ้าง เกิดทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจบ้าง แก่ภิกษุ

    "เธอเข้าใจชัดดังนี้ว่า ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นธรรมหยาบ เป็นของอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ภาวะต่อไปนี้จึงจะสงบประณีต นั่นคืออุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง) ครั้นแล้ว ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแก่เธอนั้น ก็ดับไป อุเบกขาก็ตั้งมั่น"

    "สำหรับบุคคลผู้ใดก็ตาม ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป อุเบกขาย่อมตั้งมั่นได้เร็วพลันทันที โดยไม่ยาก เสมือนคนหลับตาแล้วลืมตา หรือลืมตา แล้วหลับตา ฯลฯ นี้เรียกว่า การอบรมอินทรีย์ที่ยอดเยี่ยม ในแบบแผนของอารยชน..." (ม.อุ.14/856/542)
     
  15. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    "ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังไม่ตรัสรู้ เราได้เกิดความดำริขึ้นดังนี้ว่า อะไรเป็นคุณของจักษุ ? อะไรเป็นโทษ (ข้อเสีย) ของจักษุ ? อะไรเป็นทางออก (พ้นอาศัยเป็นอิสระ) แห่งจักษุ ? อะไรเป็นคุณ....เป็นโทษ...เป็นทางออกแห่งโสตะ...ฆานะ...ชิวหา...กาย...มโน"

    "เราได้เกิดความคิดขึ้นดังนี้ สุข โสมนัส ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุ นี่คือคุณของจักษุ ข้อที่จักษุไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี่คือโทษของจักษุ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะ ในเพราะจักษุเสียได้ นี้คือทางออกแห่งจักษุ (ของโสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน)

    "ตราบใด เรายังมิได้รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของอายตนะภายใน ๖ เหล่านี้ โดยเป็นคุณ ซึ่งโทษโดยเป็นโทษ ซึ่งทางออกโดยเป็นทางออก ตราบนั้น เราก็ยังไม่ปฏิญญาว่า เราบรรลุแล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ..."

    (ต่อไปตรัสถึงคุณ โทษ ทางออกพ้นแห่งอายตนะภายนอก ๖ ในทำนองเดียวกัน) (สํ.สฬ.18/13-14/8-9)
     
  16. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,916
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,494
    "ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่รู้เห็นจักษุตามที่มันเป็น รู้เห็นรูปทั้งหลายตามที่มันเป็น รู้เห็นจักษุวิญญาณตามที่มันเป็น รู้เห็นจักษุสัมผัสตามที่มันเป็น รู้เห็นเวทนาอันเป็นสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ตามที่มันเป็น ย่อมไม่ติดพันในจักษุ ไม่ติดพันในรูปทั้งหลาย ไม่ติดพันในจักขุวิญญาณ ไม่ติดพันในจักขุสัมผัส ไม่ติดพันในเวทนา อันเป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย

    "เมื่อผู้นั้นไม่ติดพัน ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง รู้เท่าทันเห็นโทษตระหนักอยู่ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ย่อมถึงความไม่ก่อตัวพอกพูนต่อไป อนึ่ง ตัณหาที่เป็นการก่อภพใหม่ อันประกอบด้วยนันทิราคะ คอยแส่เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ก็จะถูกละไปเสียด้วย ความกระวนกระวายทางกาย ก็ดี ความกระวนกระวายทางใจ ก็ดี ความเร่าร้อนกาย ก็ดี ความเร่าร้อนใจ ก็ดี ความกลัดกลุ้มทางกาย ก็ดี ความกลัดกลุ้มทางใจ ก็ดี ย่อมถูกเขาละได้

    "ผู้นั้น ย่อมเสวยทั้งความสุขทางกาย ทั้งความสุขทางใจ บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความดำริใด ความดำริก็เป็นสัมมาสังกัปปะ มีความพยายามใด ความพยายามนั้นก็เป็นสัมมาวายามะ ส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์มาแต่ต้นทีเดียว ด้วยประการดังนี้ เขาชื่อว่ามีอริยอัฏฐังคิกมรรค อันถึงความเจริญบริบูรณ์ (เกี่ยวกับ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เช่นเดียวกัน) (ม.อุ.12/828/523)

    ……..

    นันทิ ความยินดี, ความติดใจเพลิดเพลิน, ความระเริง, ความสนุก, ความชื่นมื่น

    ราคะ ความกำหนัด, ความติดใจหรือความย้อมใจติดอยู่, ความติดใคร่ในอารมณ์
     

แชร์หน้านี้

Loading...