พุทธศาสนา นิยมในรัสเซีย ชี้คำสอนพิสูจน์ได้จริง

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย navycom33, 9 กุมภาพันธ์ 2016.

  1. navycom33

    navycom33 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    676
    ค่าพลัง:
    +6,732
    [​IMG]
    <iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/OtP95a1MWoU" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>
    เปิดใจ “พระธรรมทูต” รูปแรกในรัสเซีย เผยเหตุเลือกดินแดนแห่งนี้เพราะรัสเซียเป็นดินแดนดั้งเดิมของบรรพบุรุษของพระพุทธเจ้า ระบุปัจจุบันชนชั้นนำ-คนมีการศึกษาของรัสเซียหันมาศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น เผยเหตุเพราะคำสอนในพระพุทธศาสนาสามารถพิสูจน์ได้จริง ล่าสุดเตรียมแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษารัสเซียเพื่อดึงให้คนพื้นถิ่นหันมาศึกษาเพิ่มขึ้น


    หากเอ่ยถึงอดีตมหาอำนาจแห่งโลกสังคมนิยมอย่างสหภาพรัสเซียกับพระพุทธศาสนาแล้ว ผู้อ่านหลายๆท่านคงจะนึกภาพไม่ออกว่ามันจะเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ในเมื่อ ประเทศสังคมนิยมไม่มีนโยบายให้ประชาชนนับถือศาสนา เพราะถือว่าเป็น ‘ยาพิษ’ ที่คอยบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อการ ปกครองในระบอบสังคมนิยม และบ่อนทำลายความเจริญทางวัฒนธรรม

    เมื่อประเทศรัสเซียถึงคราวล่มสลาย ทำให้เกิดประเทศใหม่ๆ มากมาย และในช่วงนี้เองที่รัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียเปิดโอกาสให้ชนในชาติสามารถนับถือศาสนาได้อย่างอิสระ ถึงขนาดประกาศในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นเท่ากับเป็นการทำให้ศาสนาต่างๆได้มีโอกาสเผยแผ่ศาสนาของตนเอง

    • พระธรรมทูตไทยรูปแรกในรัสเซีย


    หนึ่งในหลายๆศาสนาที่ถือโอกาสดีช่วงนี้นำศาสนาไปเผยแผ่ในประเทศรัสเซียคือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท โดยประเทศไทยได้ส่ง ‘พระธรรมทูต’ รูปแรกไปประเทศรัสเซีย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2540 โดยขั้นแรกรัฐบาลรัสเซียเป็นผู้สนับสนุนให้ทุนการศึกษากับพระไทยในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และจากจุดนี้เองจึงเป็นการเริ่มต้นเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศรัสเซียครั้งแรกหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

    พระ รศ.ดร.ชาตรี เหมพนฺโธ เจ้าอาวาสวัดอภิธรรมพุทธวิหารเซนต์-ปีเตอร์สเบอร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย เปิดเผยกับ ‘ธรรมลีลา’ ว่า

    “อาตมาได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแผ่ธรรมที่รัสเซีย เนื่องจากในช่วงปี 2539 สอบได้ทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ ออสเตรเลียและประเทศรัสเซีย จึงได้นำเรื่องไปปรึกษากับหลวงพ่อปัญญาว่า ควรจะเลือกไปเรียนต่อที่ไหน ซึ่งหลวงพ่อปัญญา ท่านได้ถามความสมัครใจก่อน และแนะนำว่า ควรจะไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซีย เพราะเป็นประเทศที่ท่านปรารถนา ที่จะไปเผยแผ่ธรรมะ ในขณะเดียวกันประเทศรัสเซียก็เป็นประเทศเดียวที่ท่านไม่มีโอกาสได้ไปเผยแผ่ธรรมะเลย

    คำแนะนำในครั้งนั้นทำให้อาตมาตัดสินใจไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซีย แม้จะรู้ว่ามันยากลำบากมากกว่าประเทศไหนๆในโลก โดยในตอนแรกที่ไปลำบากมาก เพราะคนที่นั่นเขายังไม่เปิดรับศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเท่าที่ควร

    อย่างไรก็ตามเมื่ออาตมามีโอกาสได้เข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยเซนต์-ปีเตอร์สเบอร์ก ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพราะเราต้องไปเรียนปริญญาตรีใหม่หมด ภาษาที่ใช้ก็ใช้ภาษารัสเซียซึ่งยากมาก ในระยะแรกๆยอมรับว่าท้อนะ แต่เรามีกำลังใจดี มีความตั้งใจที่จะไปเผยแผ่ธรรมะ มันทำให้อาตมามีแรงกระตุ้นที่ดี ในที่สุดก็จบการศึกษา”

    ทำไม!? ต้องที่รัสเซีย

    การตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศรัสเซียเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ทำให้หลายๆคนเกิดอาการ “งง สงสัยและอึ้ง” ไปตามๆกัน แต่ถึงที่สุดแล้ว พระ รศ.ดร.ชาตรี ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ทั้งสภาพภูมิอากาศ ความไม่เข้าใจของคนพื้นถิ่น การใช้ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง

    พระ รศ.ดร.ชาตรี บอกว่า “หลายๆคนก็ถามอาตมา ว่าทำไมต้องเป็นรัสเซีย ทำไมไม่เป็นประเทศอื่นๆ ที่เขายอม รับศาสนาพุทธอยู่แล้ว หรือประเทศที่มีคนไทยไปอาศัยอยู่มากๆ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อาตมามี เหตุผลอยู่หลายประการคือ

    ประการแรก เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่เคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อน และยังเป็นประเทศในกลุ่มยุโรปประเทศเดียวที่เคยนับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการรุกรานของศาสนาอื่นมากที่สุดและพระพุทธศาสนาได้สูญหายไปจากประเทศรัสเซียนานกว่าพันปี ทำให้เป็นเรื่องท้าทายที่จะทำการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในรัสเซีย

    ประการที่สอง ประเทศรัสเซียนั้นเป็นดินแดนดั้งเดิมของชนชาติอริยกะซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพระพุทธเจ้า อาตมาเลยคิดอยากจะศึกษาว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเอาพระพุทธศาสนาไปสู่ดินแดนของบรรพบุรุษของพระพุทธเจ้า ที่สำคัญรัสเซียเป็นประเทศที่ถูกลืม โดยตั้งแต่สมัยก่อนการ ปฏิวัติ ศาสนาพุทธสายเถรวาทไม่เคยมีบทบาทในการเข้าไป เผยแผ่คำสอนในประเทศรัสเซียเลย คือตั้งแต่ปี 2441 จนถึงปี 2540

    ประการที่สาม ประเทศรัสเซียยังคงเป็นประเทศเดียวที่คำสอนทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ยังไม่ถูกบิดเบือน และคนรัสเซียเองก็ให้ความสนใจกับพระพุทธศาสนาสายเถรวาท ซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมและเป็นพระพุทธศาสนา ต้นแบบ

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะโดนกีดกันเป็นระยะเวลากว่าพันปี แต่คนรัสเซียบางส่วนก็ยังนับถือพระพุทธศาสนาสายวัชรยาน ที่มาจากทิเบต ซึ่งได้เข้าไปมีบทบาทในการเผยแผ่ในประเทศรัสเซียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะชาวรัสเซียที่มีเชื้อสายมองโกเลียในแถบไซบีเรียก็นับถือเป็นศาสนาของชนชาติ

    ประการที่สี่ ณ ดินแดนแห่งนี้ยังมีอีก 4 ชนชาติที่นับถือศาสนาพุทธในประเทศรัสเซีย เช่น ชาวตูวา ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของไซบีเรีย อยู่ระหว่างไซบีเรียกับมองโกเลีย ชนชาติชาติที่สองคือชาวบูเรียตเทีย ชาวคามึยเคีย และชาวจิต้า

    นี่คือชนชาติใน 4 สาธารณรัฐที่นับถือพระพุทธศาสนามา เป็นเวลาร่วม 500 ปีแล้ว แต่พระพุทธศาสนาเข้าไปฟื้นฟูใน รัสเซียเมื่อประมาณ 250 ปีที่ผ่านมา ยิ่งสมัยก่อนการปฏิวัติก็ได้มีการอนุญาตโดยเฉพาะสมัยของพระนางแคทเธอรีน มหาราชินี เมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วโดยเป็นการอนุญาตให้ชาวรัสเซียที่นับถือพระพุทธศาสนาสามารถสร้างวัดได้”

    ความเลื่อมใสพระพุทธศาสนาของชาวรัสเซียนั้นมีไม่แพ้ประเทศอื่นๆทั่วโลก โดยมีหลักฐานปรากฎว่า ประเทศบูเรียตเทีย ก็ได้มีการสร้างวัดในขณะนั้นประมาณ 34 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงพิมพ์ทางพระพุทธศาสนา สร้างวิทยาลัยสงฆ์ รวมถึงสถาบันการศึกษาขึ้นมา 19 แห่ง หลังจากนั้นใน 4 สาธารณรัฐที่นับถือพระพุทธศาสนา พระนางแคทเธอรีนก็อนุญาตให้มีสมเด็จพระสังฆราชของตัวเอง ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับมองโกเลีย และทิเบต

    แต่ท้ายที่สุดเมื่อประมาณปี 2480 โดยการนำของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์คนที่สองของรัสเซียก็ได้เข้าไปทำลายวัดวาอาราม 200 แห่ง ที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายในสี่สาธารณรัฐ รวมทั้งมีการจับสึกพระสงฆ์หลายหมื่น รูป และบางส่วนก็ถูกฆ่า และห้ามไม่ให้คนนับถือศาสนา เพราะถือว่าศาสนาเป็นยาพิษ ศาสนาเป็นตัวบ่อนทำลายความเจริญทางวัฒนธรรม

    • ศาสนาพุทธ ‘บูม’ ในรัสเซีย

    การมีโอกาสเข้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาสายเถรวาท ในรัสเซีย ของ พระ รศ.ดร.ชาตรี ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสทาง ‘ธรรม’ ให้กับประชาชนชาวรัสเซียอย่างมาก เพราะปัจจุบันมีชาวรัสเซียจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาสายเถรวาทเพิ่มขึ้นในทุกๆปี

    เจ้าอาวาสวัดอภิธรรมพุทธวิหารฯบอกว่า ปัจจุบันมีชาว รัสเซียจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะชาวรัสเซียส่วนใหญ่จะมีการศึกษาสูงมาก และยังสนใจศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้า แต่เมื่อการนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมไม่ได้ให้คำตอบในหลายๆคำถามที่เกิดขึ้นในจิตใจของเขา ทำให้เขาเปลี่ยนมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา

    “สำหรับชาวรัสเซียที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่จะต้องการหาคำตอบอันเนื่องมาจากการเกิดทุกข์ในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะปัญหาครอบครัว ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยความเชื่อ แม้จะอ้อนวอนพระเจ้า ท่านก็คง จะช่วยอะไรไม่ได้ ดังนั้นเขาก็หันมาศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงจิตวิทยาเพื่อนำไปใช้ในชีวิตได้จริง ทำให้คนรัสเซียที่มีการศึกษาจำนวนมากหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้น

    ระยะแรกไม่ได้เปลี่ยนมานับถือ เพียงแต่สนใจที่จะเข้ามาศึกษา โดยแบ่งความสนใจออกเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มแรก เป็นชาวรัสเซียที่มีเชื้อสายกอร์เกเชียน สนใจพระพุทธศาสนา แบบปรัชญา แบบวิทยาศาสตร์ ก็คือคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นมีเหตุมีผลเข้าได้กับความคิด การค้นคว้าทางวิทยาศาตร์แบบตะวันตก อีกส่วนหนึ่งก็หันมาสนใจพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะการปฏิบัติ เช่นการฝึกโยคะ การฝึกสมาธินั้นทำให้จิตใจสงบ และกลุ่มสุดท้ายก็คือกลุ่มที่สนใจทั้งปรัชญาและการปฏิบัติ ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้ประมาณ 60-70% ที่ได้มีการศึกษาและปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง ก็จะเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา”

    พระ รศ.ดร.ชาตรี อธิบายต่อว่า ตอนนี้เฉพาะในกรุงเซนต์-ปีเตอร์สเบอร์ก กรุงมอสโคว์ มีคนรัสเซียที่สนใจพระพุทธศาสนาและปฏิบัติศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่ต่ำ กว่า 1 ล้านคนจากประชากรที่มีอยู่ในทั้งสองเมือง 12 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าพระพุทธศาสนาในรัสเซียได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนั้นเป็นพระพุทธศาสนาในสายวัชรยาน แต่สายเถรวาทยังไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ย้อนหลังไปสี่ปีกลับมีคนรัสเซียที่นับถือศาสนาพุทธสายวัชรยาน เปลี่ยนมาสนใจพระพุทธศาสนาสาย เถรวาทมากขึ้นปีละหลายหมื่นคน ซึ่งแต่ละปีก็จะมีคนเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทประมาณ 70% ถือว่ามีจำนวนมากทีเดียว

    “ตอนนี้ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปประเทศรัสเซีย จะเห็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หนังสือฝึกสมาธิ หนังสือพุทธปรัชญา หนังสือที่เป็นพระสูตรซึ่งแปลเป็นภาษา รัสเซีย วางขายอย่างมากมาย ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างดีว่า ปัจจุบันคนรัสเซียเขาสนใจพระพุทธศาสนามากน้อยแค่ไหน”

    • แต่ขาดแคลนพระธรรมทูต

    แม้ในปัจจุบันพระพุทธศาสนาจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในรัสเซีย แต่พระธรรมทูตที่มีหน้าที่เผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ ยังมีอยู่เพียงน้อยนิด

    พระ รศ.ดร.ชาตรี อธิบายต่อไปว่า “ปัจจุบันวัดของอาตมาเป็นวัดเดียวและวัดแรกที่มีอยู่ในประเทศรัสเซีย มีพระธรรมทูตที่เป็นพระไทยอยู่ 4 รูป ซึ่งสาเหตุที่มีน้อย เพราะมีพระที่รู้ภาษารัสเซียน้อย เนื่องจากภาษารัสเซียเป็นภาษาที่ยากมาก ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ ทำให้ต้องเพิ่มความอดทนในการทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัจจุบันเรามีศูนย์ปฏิบัติธรรม ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเซนต์-ปีเตอร์สเบอร์ก เป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา และศูนย์ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฏก และปัจจุบันเรายังมีแนวคิดที่จะแปลพระไตรปิฎกจากภาษาไทย ภาษาบาลี เป็นภาษารัสเซียอีกด้วย”

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางวัดได้แก้ไขปัญหาเรื่องพระธรรมทูตโดยการติดต่อกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อหาพระที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซียโดย จะมีการประสานงานกับสถานทูตรัสเซีย เพื่อให้ทุนกับพระที่สนใจไปศึกษาต่อ ซึ่งในแต่ละปีรัฐบาลรัสเซียจะให้ทุนการ ศึกษากับนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ปีละ 3-4 ทุน

    “หากมองตามความต้องการของตลาดแล้วถือว่าน้อยมาก แต่เราก็ดูกำลังทรัพย์ที่รัฐบาลรัสเซียจะสามารถให้เราได้ ด้วย ซึ่งการให้ทุนการศึกษา เราจะต้องได้รับการสนับสนุนจากเมืองไทยด้วยบางส่วนโดยการรับบริจาคทั่วไป แต่ในส่วนที่ได้รับสนับสนุนจากทางรัฐบาลนั้นยังไม่มี”

    • วัดแรกกับภารกิจเผยแผ่ธรรม

    เป็นเวลากว่าสามปีแล้วที่วัดอภิธรรมพุทธวิหารได้ก่อกำเนิดเป็นรูปร่างและผ่านการอนุญาตจากรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาสายเถรวาทจะเบ่งบานอีกครั้งในดินแดนแห่งนี้

    เจ้าอาวาสวัดอภิธรรมฯ เล่าว่าวัดอภิธรรมพุทธวิหาร เป็นวัดสายเถรวาทเพียงวัดเดียวและวัดแรกที่ได้รับการสร้างขึ้นในรัสเซีย โดยขึ้นทะเบียนเป็นวัดอย่างถูกต้องในเมืองไทย แต่ต้องจดทะเบียนเป็นพุทธสมาคมในรัสเซีย เพราะกฎหมายรัสเซียยังไม่อนุญาต ต้องมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปีจึงจะสามารถจดทะเบียนเป็นวัดที่สมบูรณ์ในรัสเซียได้ ซึ่งคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคมากมายให้ฟันฝ่า ทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศที่หนาวจัด รวมทั้งค่าครองชีพที่แพงมาก ทำให้พระธรรมทูตไทย 4 รูป และพระรัสเซียอีก 1 รูปอยู่กันอย่างยาก ลำบากพอสมควร

    “เราต้องอยู่กันอย่างประหยัด โดยปัจจัยที่นำมาใช้จ่ายส่วนหนึ่งได้มาจากเงินที่รัฐบาลรัสเซียให้อาตมาไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ถือเป็นเงินเดือน เงินสนับสนุน ส่วนพระทั้ง 4 รูปนั้นเป็นนักเรียนทุนของรัฐบาลรัสเซีย ปัจจัยอีก ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่มาจากญาติโยมจากเมืองไทย คือกลุ่มศึกษาธรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการให้การสนับสนุน ที่นี่ไม่มีการบิณฑบาต เพราะเขาถือว่าเป็นการขอทาน ดังนั้น บางครั้งถ้าไม่มีฆารวาสมาช่วย พระจำต้องไปจ่ายตลาด และทำอาหารเอง”

    พระ รศ.ดร.ชาตรี บอกถึงการวางแผนในการเผยแผ่ธรรมสำหรับปี 2551 ว่า ในปีนี้จะใช้เวลาส่วนใหญ่เดินทางไปแสดงธรรมตามเมืองต่างๆทั่วรัสเซียประมาณ 10 เมือง ซึ่งปัจจุบันก็มีเครือข่ายแล้ว แต่ต้องทำให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยใช้การฝึกสมาธิและการเรียนธรรมะอย่างน้อยคอร์สละ 1 สัปดาห์เป็นกลยุทธ์หลัก ซึ่งเท่าที่ดำเนินการมาอย่างเป็นทางการก็ได้รับการสนับสนุนจากครูบาอาจารย์จากเมืองไทย จากอังกฤษ เช่นพระอาจารย์สุเมโธ วัดอมราวดี อังกฤษ ก็เดินทางไปเยี่ยมเยียนและเผยแผ่ธรรมะร่วมด้วย ซึ่งได้รับการต้อนรับและการสนับสนุนจากชาวรัสเซียพอสมควร

    “ในอนาคต อาตมามีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะได้ รับความสนใจจากชาวรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆปี เพราะคำสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถตอบคำถามในทุกๆข้อที่คนสงสัยได้อย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งหากอาตมาสามารถทำให้คนรัสเซียหันมาสนใจศึกษามาก ขึ้น ก็เท่ากับว่าอาตมาได้ทำหน้าที่พระธรรมทูตได้สมกับความตั้งใจแล้ว” พระ รศ.ดร.ชาตรีกล่าวในที่สุด

    พระพุทธศาสนาในรัสเซีย

    พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด ประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในทวีปเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกไกล โดยเฉพาะประเทศศรีลังกา พม่า อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีน เกาหลี เวียดนาม ญี่ปุ่น กัมพูชา ลาว และไทย ซึ่งรวมแล้วจะมีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธประมาณ 500 ล้านคน ซึ่งยังไม่นับชาวพุทธในประเทศอื่นๆทั่วโลกอีกจำนวนมาก

    สำหรับประเทศรัสเซีย มีหลักฐานว่า เริ่มมีการนับถือพระพุทธศาสนา ในราว พ.ศ.1451 โดยพุทธศาสนิกชนชาวรัสเซียส่วนใหญ่ที่นับถือพุทธศาสนาจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในสาธารณรัฐบูเรียตียา หรือบูเรียตเทีย(Buryatia) แถบทะเลสาบไบคาล, สาธารณรัฐคาลมึยเคีย(Kalmykia) แถบทะเลสาบแคสเปียน และสาธารณรัฐตูวา(Tuva) แถบพรม แดนมองโกเลีย ซึ่งพระพุทธศาสนามหายานก็ได้เข้ามาแพร่หลายอยู่ในชนชาวบูเรียต, คาลมิค และอัลไตยัน ในดินแดนเหล่านี้ด้วย

    ผู้คนต่างมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า ในคราวที่พระเจ้าอโศกมหาราช ส่งสมณทูตออกเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ดินแดนไซบีเรียของรัสเซียด้วย

    กลางศตวรรษที่ 17 พระมองโกลและลามะทิเบต ได้เดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังฝั่งตะวันออกของทะเลสาบไบคาล มีการสร้างวัดแห่งแรกขึ้น ชื่อ วัดฮิลแกนตุส หลังจากนั้นวัดในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า ดั๊ทซัน (Datsun) ก็ปรากฏขึ้นในบริเวณอื่นๆของบูเรียตเทียอีก ชาวบูเรียตที่อยู่ฝั่งตะวันออกของทะเลสาบไบคาล ก็หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก มีนิกายเจลุกปะ เป็นนิกายที่แพร่หลายที่สุด ก่อตั้งโดย ท่านฌอนฮาวะ ชาวทิเบต

    ปลายศตวรรษที่ 19 พระพุทธศาสนาในบูเรียตเทียรุ่งเรือง วัดได้รับการทำนุบำรุงอย่างดี เพื่อใช้เป็นที่พัก ที่ปฏิบัติธรรมของลามะ และไว้สำหรับสอนภาษาทิเบต, มองโกเลีย, สันสกฤต รวมถึงวิชาปรัชญา ทั้งยังมีการสร้างวัดแห่งใหม่อีก หลายวัด เช่น วัดอากินส์, วัดสึโกลิส และวัดอีกิตุสก์

    พระอักวัน ดอร์จีพ(Agvan Dorjiev) ชาวบูเรียต เป็นภิกษุองค์แรกที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ให้สร้างวัดพุทธในเมืองเซนต์-ปีเตอร์สเบิร์ก นับเป็นวัดทางพุทธศาสนาแห่ง แรกที่สร้างขึ้นในทวีปยุโรป

    ในปี พ.ศ.2478 หลังจากรัสเซีย เปลี่ยนการปกครองเป็น ระบอบคอมมิวนิสต์ รัฐบาลรัสเซียไม่ให้การคุ้มครองแก่องค์กรศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม บุคลากรทางศาสนาถูกทำลายกวาดล้าง วัดในพระพุทธศาสนา พระพุทธรูป และคัมภีร์ต่างๆ ก็เริ่มถูกทำลาย

    ปี 2491 รัฐบาลรัสเซียได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวพุทธ เมื่อรัฐบาลแห่งสหภาพโซเวียตได้อนุมัติให้ มีการสร้างวัดขึ้นมาใหม่ในเขตอิโวลกา(Ivolga) โดยการ สร้างทั้งหมดรัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลรัสเซียอนุญาตให้ก่อสร้าง วัดขึ้นมาใหม่ก็เพราะทราบดีว่า ชนชาวพุทธรัสเซียยังมีความศรัทธาหนักแน่นในพระพุทธศาสนา แม้ว่าจะถูกรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มข้นก็ตาม

    นอกจากนี้ยังมีนักประวัติศาสตร์ชาวรัสเซียได้ทำการ ศึกษาเรื่องราวของพระพุทธศาสนาในรัสเซียพบว่า บรรพบุรุษผู้สืบเชื้อสายชนชาติอริยกะหรืออารยัน ซึ่งเป็นเชื้อสายของบรรพบุรุษของพระพุทธองค์ได้อพยพมาจากแถบแม่น้ำโวลก้า ลงสู่เทือกเขาคอเคซัส ในประเทศรัสเซีย เข้าสู่ประเทศอิหร่าน อัฟกานิสถานและชมพูทวีป จากการค้นพบเรื่องนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวรัสเซียจำนวนหนึ่งมีความภูมิใจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ จึงหันมาศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาชั้นสูง นักวิทยาศาสตร์ และนักศึกษาในสถาบันชั้นนำของรัสเซีย

    [​IMG]

    พระ รศ.ดร.ชาตรี เหมพนฺโธ พระธรรมทูตไทยรูปแรกในรัสเซีย

    ชาติภูมิและการศึกษา

    ไม่น่าเชื่อเลยว่าพระหนุ่มรูปร่างล่ำสันใบหน้าอิ่มเอิบ เต็มไปด้วยความเมตตารูปนี้ จะมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าอาวาสวัดไทยแห่งแรกในประเทศรัสเซีย ประเทศซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศ ‘ปิด’ สำหรับทุกศาสนา แต่หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ศาสนาต่างๆก็กลับมาเผยแผ่คำสอนอีกครั้งรวมทั้งพระพุทธศาสนา ซึ่งมีโอกาสเข้าไป ‘ปักธง’ เผยแผ่คำสอนในรัสเซียเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา โดยพระธรรมทูตไทยที่ชื่อ พระ รศ.ดร.ชาตรี เหมพนฺโธ ผู้เป็นศิษย์ของท่านพุทธทาสภิกขุและท่านปัญญานันทภิกขุ

    พระรศ.ดร.ชาตรี เหมพนฺโธ เป็นชาวพัทลุงโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 เมื่ออายุ 14 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านสวน จ.พัทลุง

    พ.ศ.2533 ได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จนกระทั่งจบปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยม)เอกภาษาอังกฤษ ในปี 2537 จากนั้นอีกสามปีก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ในคณะการทูต มหาวิทยาลัยเซนต์-ปีเตอร์สเบอร์ก ใช้เวลาศึกษาในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ 2 ปีก่อนจะสำเร็จการศึกษาภาควิชายุโรปศึกษา

    ในปี 2544 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ภาควิชายุโรปศึกษา คณะการทูต จากมหาวิทยาลัยเซนต์-ปีเตอร์สเบอร์ก จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยเดียวกัน จนจบการศึกษาใน 2 ปีถัดมา

    ปี 2548-ปัจจุบันได้เข้าศึกษาในระดับ Post Doctorate Program ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน

    ประสบการณ์การทำงาน

    เริ่มทำงานขณะที่ยังเป็นพระนักศึกษา ในปี 2530 โดยเป็นพระอาจารย์สอนในโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่ลำพูน และหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ได้ทำงานสอนในโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ รวมทั้งเป็นพระวิทยากรอบรมเด็กและเยาวชนตามสถานที่ต่างๆ

    นอกจากนี้ยังเคยเป็นหัวหน้าเป็นผู้นำองค์กรนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ

    พ.ศ.2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศประจำประเทศรัสเซีย และเป็นเจ้าอาวาสวัดอภิธรรมพุทธวิหาร

    พ.ศ.2540-ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนในคณะเอเชียศึกษา, คณะการทูต มหาวิทยาลัยเซนต์-ปีเตอร์สเบอร์ก และเป็นวิทยากรบรรยายธรรมประจำวัดพุทธนิกายวัชรยาน ในกรุงเซนต์-ปีเตอร์สเบอร์ก

    สำหรับการทำงานนั้น พระ รศ.ดร.ชาตรี บอกว่าได้พยายามสานต่อแนวคิดของครูบาอาจารย์ที่ต้องการจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าถ้ามีความรู้แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ ความรู้ที่มีก็จะสูญเปล่า การที่คิดไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสและเป็นช่องทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

    ข่าวจากเจ้าพระยานิวส์
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 กุมภาพันธ์ 2016

แชร์หน้านี้

Loading...