"มาตาปิตุอุปัฏฐานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง"

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย วิริยะ13, 12 สิงหาคม 2017.

  1. วิริยะ13

    วิริยะ13 สติเป็นโล่ห์ ปัญญาเป็นอาวุธ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    2,825
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,489
    ค่าพลัง:
    +12,351
    WE21.jpg

    "มาตาปิตุอุปัฏฐานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง"
    การบำรุงมารดาบิดา เป็นอุดมมงคล

    "มารดาบิดามีความเมตตากรุณาต่อบุตรธิดา ยิ่งกว่าต่อชีวิตของท่านเอง"

    " .. ความคิดที่ว่า "มารดาบิดาครูอาจารย์ไม่มีบุญคุณนั้น" กล่าวอย่างที่ทั่วไปเข้าใจกัน "ก็เป็นบาปกรรม บาปกรรมก็คือกรรมไม่ดี" ที่เป็นบาปและกรรมที่ไม่ดีก็เป็นผลของกรรมไม่ดี ที่เป็นผลของบาป "ผู้ใดจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความจริงก็ต้องเป็นเช่นนั้น ต้องเป็นบาปกรรม" ต้องให้ผลไม่ดีเพราะเป็นผลของบาป

    "ผลของบุญเท่านั้นจึงจะเป็นผลดี ผลของบาปจะเป็นผลดีไม่ได้เลยเป็นอันขาด" ใครจะเชื่ออย่างไรก็ตาม สัจจธรรมนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ต้องเป็นสัจจธรรมอยู่ตลอดไป

    ทำไมจึงว่า "ความคิดที่ว่ามารดาบิดาครูอาจารย์ไม่มีบุญคุณเป็นบาป" ก็เพราะมารดาบิดาครูอาจารย์ท่านเป็นผู้มีพระคุณอย่างยิ่ง "โดยเฉพาะมารดาบิดาด้วยแล้วเป็นผู้มีพระคุณต่อบุตรธิดาเป็นที่สุด"

    จนพระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า "มารดาบิดาเป็นพระอรหันต์ของบุตรธิดา" พระพุทธองค์นั้นก็ทรงเป็นพระอรหันต์พระองค์หนึ่ง คือพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณเหนือท่านผู้ทรงพระคุณทั้งหลาย แต่กระนั้นก็ทรงกล่าวว่า "สำหรับบุตรธิดาแล้ว มารดาบิดาเปรียบเหมือนพระอรหันต์ทีเดียว" คือทรงพระคุณต่อบุตรธิดาเหนือ ท่านผู้ทรงพระคุณทั้งหลายทีเดียว

    เช่นนี้แล้ว
    "บุตรธิดาใดคิด หรือพูดว่า มารดาบิดาไม่มีบุญคุณต่อบุตรธิดา จึงเป็นการทำบาปกรรมเป็นอย่างยิ่ง" เพียงคิดเท่านั้นไม่ต้องพึงปฏิบัติต่อท่านสถานอื่น ก็เป็นบาปกรรมหนักหนาแล้ว ยิ่งถึงกับแสดงออกทางกายกรรมต่อท่านด้วยแล้ว บาปกรรมนั้นก็พ้นประมาณ "ถ้าทำให้ท่านถึงกับเสียชีวิตก็เป็นอนันตริยกรรม"

    การพูดก็ตาม "การกระทำอื่นใดก็ตาม ที่ไม่สมควรกับมารดาบิดา ล้วนมีเหตุมาจากความคิดที่ว่า มารดาบิดาไม่มีบุญคุณทั้งสิ้น" ดังนั้น จึงกล่าวว่า "ความคิดนั้นเป็นบาป เป็นเหตุแห่งบาปอกุศลอย่างยิ่ง" ผลของบาปนั้นก็ดังได้กล่าวแล้ว เริ่มที่จิตใจของผู้เป็นเจ้าของความคิด ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผล ไม่เป็นความจริง ไม่เที่ยงตรง เป็นความร้อนความวุ่น

    "มารดาบิดาทั้งหลายก็เป็นปุถุชน" ย่อมมีเวลาที่ทำสิ่งที่อาจไม่ถูกต้อง ที่เป็นการพลาดพลั้งไปได้มากบ้างน้อยบ้าง "หากบุตรธิดามีความคิดว่าท่านไม่มีบุญคุณเพราะไม่ได้ตั้งใจให้บุตรธิดามาเกิด" เวลาท่านพลาดพลั้งไปบ้างหนักนิดเบาหน่อย "บุตรธิดาก็มีปฏิกริยาต่อท่านอย่างรุนแรง"

    แต่ถ้ามีความคิดอยู่ว่า "มารดาบิดาเป็นผู้ทรงพระคุณของบุตรธิดาแล้ว เวลาท่านพลาดพลั้งไปบ้างตามวิสัยปุถุชน ปฏิกิริยาที่รุนแรงก็จะไม่เกิด" จะน้อยใจเสียใจก็จะเป็นไปแบบธรรมดาที่มีความเคารพรักในมารดาบิดาเป็นเหตุ ความรุนแรงอื่น ๆ จะไม่ตามมา

    ทุกวันนี้ "มีข่าวบุตรธิดาประทุษร้ายมารดาบิดาบ่อย ๆ จนบางข่าวก็แทบจะเหลือเชื่อ" คือเป็นการแสดงความอกตัญญูจนเหลือเชื่อ หรือจะกล่าวว่าเป็นการไม่กลัวบาปกลัวกรรมที่หนักหนาจนเหลือเชื่อก็ถูกเช่นกัน

    นี่ก็เป็นเพราะทุกวันนี้ "มีการคิดการพูดการชักชวนให้เกิดความเข้าใจว่า มารดาบิดาไม่มีบุญคุณ ไม่ได้ตั้งใจให้บุตรธิดามาเกิด" ชักชวนให้เห็นไปว่ามารดาบิดาเป็นผู้เห็นแก่ตัวเท่านั้น ซึ่งที่จริงจะหาเหตุผลอะไรมายกให้เห็นว่าเป็นความจริงเช่นนั้นก็หามีไม่

    ไม่มีผู้ใดอาจหาเหตุผลมายกประกอบได้เลย ตรงกันข้าม มีเหตุผลบริบูรณ์ที่แสดงว่า "มารดาบิดามีความรักความเมตตากรุณาต่อบุตรธิดายิ่งกว่ามีความรักความเมตตากรุณาต่อชีวิตของท่านเอง" เพื่อป้องกันจิตใจตัวเองมิให้หวั่นไหวไปตามคำชักชวนที่มีค่อนข้างมากในระยะนี้

    จึงควรที่ทุกคนจะพยายามหาเวลาสงบใจ ระลึกทบทวนถึงพระคุณของท่านผู้เป็นมารดาบิดา "เริ่มแต่ความอดทนของท่านที่อุ้มท้องอยู่ถึง ๙ เดือน ๑๐ เดือน" เป็นความหนักที่ไม่มีเวลาวางได้เลยตลอดระยะเวลานั้น

    "เราถือของหนักชั่วครั้งชั่วคราวยังอยากวาง ยังต้องวาง" ยังไม่ประสงค์จะหยิบขึ้นถืออีก ถ้าไม่รู้สึกว่าของนั้นเป็นสิ่งสูงค่ายิ่งนัก นอกจากนั้น ทุกคนก็คงเคยรู้สึกแล้วว่าขณะที่บุตรธิดาอยู่ในครรถ์นั้นไม่ทำให้ท่านผู้เป็นมารดาบิดามีรูปลักษณงดงามน่าดู "บางคนคงจะเคยรู้สึกถึงกับว่าน่าอาย แต่ท่านผู้เป็นมารดาบิดาเองหาได้มีความรู้สึกเช่นนั้นไม่"

    ความรู้สึกทั้งหมดของท่าน "ไปรวมเป็นความรักความเมตตากรุณาในบุตรธิดา ที่แม้จะยังไม่ทันเห็นหน้าค่าตาก็ตาม" นี้ประมาณได้จากการที่ท่านไม่ได้หลบหลีกปลีกตัวไปเสียที่ไหน ในระยะที่บุตรธิดาถือกำเนิดอยู่ในครรถ์ ท่านคงอยู่ในสังคมในสายตาของคนทั่วไปอย่างปรกติ และบางที่ก็อย่างภาคภูมิใจยิ่งกว่าปรกติเสียอีกด้วย

    "ทั้งหมดเป็นไปด้วยอำนาจความรักและเมตตากรุณาในบุตรธิดาจริง ๆ" ขอให้พยายามหาเวลาสงบใจคิดทบทวนให้ลึกซึ้ง "จะเป็นการบริหารจิตที่ถูกต้อง" .. "

    การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่
    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙


    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13494
     

แชร์หน้านี้

Loading...