มิลินท ปัญหา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 2 สิงหาคม 2007.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๕ </center> <center> ถามเรื่องสุขเวทนา </center>

    “ข้าแต่พระนาคเสน สุขเวทนา เป็นกุศลหรืออกุศล หรืออัพยากฤต”
    (อัพยากฤต หมายถึง ธรรมที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล คือเป็นนิพพาน)
    “ขอถวายพระพร เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี อัพยากฤติ ก็มี”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเป็นกุศลก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์ก็ไม่เป็นกุศล คำกล่าวว่า “สุขเป็นทั้งกุศล เป็นทั้งทุกข์ ก็ไม่ควร”
    <center>
    อุปมาก้อนเหล็กแดงและหิมะ
    </center> “ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือถ้ามีก้อนเหล็กแดงวางอยู่ที่มือข้างหนึ่งของบุรุษคนหนึ่ง และมีก้อนหิมะเย็นวางอยู่ที่มืออีกข้างหนึ่ง มือทั้งสองข้างจะถูกเผาเหมือนกันเหรือ ....มหาบพิตร”
    “ถูกเผาเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า”
    “ถ้าอย่างนั้น มือทั้งสองข้างนั้น จะร้อนเหมือนกันหรือ”
    “ไม่ร้อนเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า”
    “ถ้าอย่างนั้น มือทั้งสองข้างนั้น จะเย็นเหมือนกันหรือ”
    “ไม่เย็นเหมือนกัน พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอมหาบพิตรจงทราบว่า มหาบพิตรถูกกล่าวข่มขี่แล้ว คือ ถ้าก้อนเหล็กแดงร้อนเป็นของเผา ก็จะต้องเผามือทั้งสองข้าง แต่มือทั้งสองข้างนั้นไม่ร้อน เพราะฉะนั้นถ้อยคำของมหาบพิตรจึงใช้ไม่ได้
    ถ้าของที่เย็นเป็นของเผา มือทั้งสองข้างก็จะต้องถูกเผา แต่มือทั้งสองข้างไม่เย็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คำของมหาบพิตรจึงใช้ไม่ได้
    ขอถวายพระพร เหตุไรจึงว่ามือทั้งสองข้างถูกเผา แต่มือทั้งสองข้างนั้นไม่ร้อนเหมือนกัน ไม่เย็นเหมือนกัน ข้างหนึ่งร้อน ข้างหนึ่งเย็น เพราะฉะนั้น คำที่มหาบพิตรตรัสว่า มือทั้งสองข้างถูกเผานั้นจึงใช้ไม่ได้”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่อาจโต้ตอบกับพระผู้เป็นเจ้าได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแก้ไขไปเถิด”
    ลำดับนั้น พระเถระจึงทำให้พระเจ้ามิลินท์ทรงเข้าพระทัยได้ด้วยคาถาอันประกอบด้วย อภิธรรม ว่า
    “มหาราชะ โสมนัสเวทนา (ความรู้สึกยินดี) อันอาศัยการครองเรือน (กามคุณ ๕) มีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวชมีอยู่ ๖
    โทมนัสเวทนา (ความรู้สึกยินร้าย) อันอาศัยการครองเรือนมีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวชมีอยู่ ๖
    อุเบกขาเวทนา (ความรู้สึกวางเฉย) อันอาศัยการครองเรือนมีอยู่ ๖ อาศัยการถือบวชมีอยู่ ๖
    เวทนา ทั้ง ๓๖ อย่างนี้ แยกเป็นเวทนาที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน รวมเข้าด้วยกันเป็น เวทนา ๑๐๘ ขอถวายพระพร”
    “พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว”
    <center>
    สรุปความ
    </center> พระเจ้ามิลินท์ไม่ทรงเห็นด้วยกับพระนาคเสนที่ว่า สุขเวทนาเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากฤตก็มี แต่พระองค์ทรงเห็นว่า ถ้าสุขเวทนาเป็นกุศล ควรให้ผลแต่สุข ไม่ควรให้ทุกข์ด้วย
    แต่พระนาคเสนยังคงยืนยันตามเดิม โดยยกตัวอย่างมาซักถาม เพื่อลวงให้พระราชาตอบผิด จะสังเกตได้ว่าการตอบคำถาม ท่านจะไม่ค้านหรือตำหนิโดยตรง เป็นแต่ใช้อุบายเพื่อรักษาน้ำใจเท่านั้น อันนี้เป็นหลักในการสนทนาธรรมของท่าน
    ในฎีกามิลินท์ท่านอธิบายว่า ความจริงนั้นมีอยู่ว่า ถึงสุขเวทนาที่เป็นกุศล ก็เป็นทุกข์ได้ เพราะเป็นทุกข์สังขาร และเป็นทุกข์แปรปรวน ถึงทุกข์อันได้แก่ โทมนัส คือ ความไม่ชอบใจ ที่อาศัยการถือบวชนั้น ก็เป็นกุศลได้ เพราะเป็นของไม่มีโทษ
    แต่พระเถระคิดว่า เมื่อเราตั้งปัญหาว่าด้วย “ก้อนเหล็กแดงกับก้อนหิมะ” ถามพระราชา พระราชาก็จะแก้ผิด เราจักชี้โทษว่าแก้ผิด เมื่อพระราชาไม่อาจแก้ได้ ก็จะขอให้เราแก้ เราจึงจะทำให้พระราชาเข้าใจตามความจริงได้
    เมื่อพระเถระถามว่ามือทั้งสองข้างนั้น ถูกเผาเหมือนกันหรือ พระราชาก็ต้องตอบผิดว่า ถูกเผาเหมือนกัน เพราะได้ทรงสดับมาว่า ของเย็นของร้อนจัดเป็น “เตโชธาตุ”
    ทั้งทรงเข้าพระทัยว่า ก้อนหิมะเย็นเป็นของกัดอย่างร้ายแรง เมื่อทรงเข้าพระทัยผิดอย่างนี้ ก็ตรัสตอบว่า มือทั้งสองข้างถูกเผาเหมือนกัน
    เมื่อพระเถระซักถามต่อไปว่า ถ้ามือทั้งสองข้างถูกเผา ก็จะต้องร้อนเหมือนกัน หรือจะต้องเย็นเหมือนกันใช่ไหม พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “ไม่ใช่” ดังนี้
    แล้วพระนาคเสนจึงเอาประเด็นนี้เป็นความผิด เพื่อชี้โทษที่ทรงเห็นผิดในข้อนี้ เมื่อพระราชาอับจนต่อปัญหาที่ยกตัวอย่างมานี้ จึงเปิดโอกาสให้ชี้แจงได้ เป็นการยอมรับฟังความเห็นของพระเถระว่า
    “บุรุษผู้หนึ่งจับก้อนเหล็กแดงด้วยมือข้างหนึ่ง และจับก้อนหิมะด้วยมืออีกข้างหนึ่งซึ่งสิ่งของทั้งสองอย่างนี้ ถึงแม้จะมีสภาพตรงกันข้าม แต่ก็ให้ความรู้สึกทั้งร้อนและเย็นแก่ผู้จับเหมือนกันฉันใด
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] สุขเวทนา อันมีใน เวทนา ๑๐๘ ก็ย่อมให้ความรู้สึกทั้งที่เป็น กุศล อกุศล และ อัพยากฤต เช่นกันฉันนั้น [/FONT]
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ตอนที่ ๗ </center> <center> ปัญหาที่ ๖ </center> <center> ถามการถือกำเนิดแห่งนามรูป </center>

    “ข้าแต่พระนาคเสน อะไรปฏิสนธิ คือถือกำเนิด”
    “มหาราชะ นามรูป ถือกำเนิด”
    “มหาราชะ นามรูปนี้ไม่ได้ถือกำเนิด แต่ว่าบุคคลทำกรรมดีหรือชั่วด้วยนามรูปนี้ นามรูปอื่นก็ถือกำเนิดด้วยกรรมนั้น”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้านามรูปนี้ไม่ได้ถือกำเนิด ผู้นั้นก็จักพ้นบาปกรรมทั้งหลายไม่ใช่หรือ”
    “ขอถวายพระพร ถ้าผู้นั้นไม่เกิดแล้ว ก็พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย แต่ถ้ายังเกิดอยู่ก็หาพ้นไม่”
    “ขอนิมนต์ได้โปรดอุปมาด้วย”
    <center>
    อุปมาด้วยผลมะม่วง
    </center> “ขอถวายพระพร เปรีบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งไปขโมยผลมะม่วงของเขามา แต่เจ้าของมะม่วงนั้นจับได้ จึงนำไปถวายพระราชา กราบทูลว่า บุรุษผู้นี้ขโมยมะม่วงของข้าพระองค์
    บุรุษนั้นจะต้องกราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ ข้าพระองค์มิได้ขโมยมะม่วงของบุรุษนี้ มะม่วงที่บุรุษนี้ปลูกไว้เป็นมะม่วงอื่น ส่วนมะม่วงที่ข้าพระองค์นำไปนั้น เป็นมะม่วงอื่นอีกต่างหาก ข้าพระองค์ไม่ควรได้รับโทษ ดังนี้
    อาตมภาพจึงขอถามมหาบพิตรว่า บุรุษผู้นั้นควรจะได้รับโทษหรืออย่างไร”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุรุษนั้นควรได้รับโทษ”
    “เพราะอะไรล่ะ มหาบพิตร”
    “เพราะว่า บุรุษนั้นรับว่าไปเอาผลมะม่วงมาแล้ว แต่บอกว่าเอาผลมะม่วงลูกก่อนไป ถึงกระนั้นก็ควรได้รับโทษด้วยผลมะม่วงลูกหลัง”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือบุคคลทำกรรมดีหรือชั่วอันใดไว้ด้วยนามรูปนี้ แล้วนามรูปอื่นก็ถือกำเนิดสืบต่อกันด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นไปจากบาปกรรม ขอถวายพระพร”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป”
    <center>
    อุปมาด้วยไฟไหม้
    </center> “ขอถวายพระพร มีบุรุษคนหนึ่งก่อไฟไว้ในฤดูหนาว แล้วทิ้งไว้มิได้ดับไฟ ได้ไปเสียที่อื่น ไฟนั้นได้ไหม้นาของผู้อื่น เจ้าของนาจึงจับบุรุษนั้นไปถวายพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ บุรุษนี้เผานาของข้าพระองค์
    บุรุษนั้นจะต้องทูลให้การว่า ข้าพระองค์ไม่ได้เผานาของผู้นี้ ไฟนั้นถึงข้าพระองค์ไม่ได้ดับ แต่ไฟที่ไหม้นาของผู้นี้ก็เป็นไฟอื่นต่างหาก ข้าพระองค์ไม่มีโทษ ดังนี้
    อาตมาภาพของถามมหาบพิตรว่า บุรุษนั้นจะมีโทษหรือไม่”
    “ต้องมีโทษซิ พระผู้เป็นเจ้า”
    “เพราะเหตุไร มหาบพิตร”
    “อ๋อ ... เพราะเหตุว่า ถึงบุรุษนั้นจะหมายเอาไฟก่อนก็ตาม แต่ก็ควรได้รับโทษด้วยไฟหลัง”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ บุคคลทำกรรมดีหรือชั่วอันใดไว้ด้วยนามรูปนี้แล้ว นามรูปอื่นก็ถือกำเนิดด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก”
    <center>
    อุปมาด้วยประทีป
    </center> “ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าบุรุษคนหนึ่ง ถือเอาประทีปเข้าไปที่เรือนโรงแล้วกินข้าว ประทีปก็ลุกลามไปไหม้หญ้า หญ้าก็ลุกลามไปไหม้เรือน เรือนก็ลุกลามไปไหม้หมู่บ้าน
    ชาวบ้านจึงพากันจับบุรุษนั้น แล้วถามว่า เหตุไฉนเจ้าจึงเผาบ้าน บุรุษนั้นจึงตอบว่า เรานั่งกินข้าวอยู่ด้วยประทีปอื่นต่างหาก ส่วนไฟที่ไหม้บ้านเป็นไฟอื่นอีกต่างหาก
    เมื่อโต้เถียงกันอย่างนี้ เขาพากันมาเฝ้ามหาบพิตร กราบทูลว่า มหาราชเจ้าจะรักษาประโยชน์ของใครไว้ พระเจ้าข้า มหาบพิตรจะตรัสตอบว่าอย่างไร”
    “โยมจะตอบว่า จะรักษาประโยชน์ของชาวบ้านไว้”
    “เพราะอะไร มหาบพิตร”
    “เพราะว่า ถึงบุรุษนั้นจะกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ว่าไฟนั้นเกิดมาจากประทีปดวงก่อนนั้นเอง”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถึงนามรูปอันมีในที่สุดแห่งความตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกำเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ตาม แต่ว่านามรูปนั้นเกิดจากนามรูปเดิมเพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก”
    <center>
    อุปมาเรื่องหมั้นเด็กหญิง
    </center> “ขอถวายพระพร เปรียบปานบุรุษผู้หนึ่ง หมั้นเด็กหญิงที่ยังเล็ก ๆ เอาไว้ ให้ของหมั้นแล้วกลับไป ต่อมาภายหลังเด็กหญิงคนนั้นก็เติบโตขึ้น มีบุรุษอีกคนหนึ่งมาให้ของหมั้นแล้วแต่งงาน บุรุษที่หมั้นไว้ก่อนจึงมาต่อว่าบุรุษนั้นว่า เหตุใดเจ้าจึงนำภรรยาของเราไป
    บุรุษนั้นก็ตอบว่า เราไม่ได้นำภรรยาของเจ้าไป เด็กหญิงเล็ก ๆ คนนั้น ที่เจ้าขอไว้แล้วให้ของหมั้นไว้นั้น เป็นคนหนึ่งต่างหาก เด็กหญิงที่เติบโตแล้ว ที่เราสู่ขอแล้วนี้ เป็นคนหนึ่งอีกต่างหาก
    เมื่อบุรุษทั้งสองนั้นโต้เถียงกันมาเฝ้ามหาบพิตร พระองค์จะทรงวินิจฉัยให้หญิงนั้นแก่ใคร”
    “อ๋อ .....ต้องให้แก่บุรุษคนก่อนนะซิ พระผู้เป็นเจ้า”
    “เพราะเหตุใด มหาบพิตร”
    “เพราะเหตุว่า ถึงบุรุษนั้นจะกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่เด็กสาวคนนั้นก็เติบโตต่อมาจากเด็กหญิงเล็ก ๆ นั้นเอง”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถึงนามรูปอันมีต่อไปจนกระทั่งตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกำเนิดเป็นนามรูปอื่นก็่ตาม แต่นามรูปนั้นก็เกิดมาจากนามรูปเดิมนั่นเอง เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งกว่านี้อีก”
    <center>
    อุปมาด้วยนมสด
    </center> “ขอถวายพระพร เช่นเดียวกับบุรุษผู้หนึ่ง ไปซื้อนมสดจากมือนายโคบาล แล้วฝากนายโคบาลนั้นไว้ ด้วยคิดว่า พรุ่งนี้เช้าจึงจะมารับเอาไป ต่อมานมสดนั้นก็กลายเป็นนมส้ม
    เมื่อบุรุษนั้นมาก็บอกนายโคบาลว่า จงให้หม้อนมสดนั้นแก่เรา นายโคบาลนั้นก็ส่งหม้อนมส้มให้ ฝ่ายผู้ซื้อก็กล่าวว่า เราไม่ได้ซื้อนมส้นจากเจ้า เจ้าจงให้นมสดแก่เรา นายโคบาลก็ตอบว่า นมสดนั้นแหละกลายเป็นนมส้ม
    ลำดับนั้น คนทั้งสองได้โตเถียงกันไม่ตกลง จึงพากันมาเฝ้ามหาบพิตร พระองค์จะทรงวินิจฉัยให้คนไหนชนะ”
    “โยมต้องวินิจฉันให้นายโคบาลชนะ”
    “เพราะอะไร มหาบพิตร”
    “เพราะถึงบุรุษนั้นกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่นมส้มนั้นก็เกิดมาจากนมสดนั่นเอง”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงนามรูปที่มีต่อมาจนกระทั่งเวลาตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกำเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ตาม แต่ก็เกิดมาจากนามรูปเดิมนั่นแหละ เรพาะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ขอถวายพระพร”
    “พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว”
    <center>
    อธิบาย
    </center> คำว่า “นามรูป” ในที่นี้ท่านหมายถึง “จิต” และ “กาย” ส่วนคำว่า “นามรูปนี้” เป็น “นามรูปอื่น” ท่านหมายความว่า
    บุคคลที่ยังเกิดอยู่นั้น เพราะผลกรรมของตน (นามรูปนี้) ที่กระทำไว้แต่ชาติก่อน ถ้าเป็นกรรมชั่วให้ผล ถึงจะเกิดอีกกี่ชาติ (นามรูปอื่น) ก็หาพ้นจากบาปกรรมที่ตนทำไว้แต่เดิมไม่ จนกว่าจะไม่เกิดอีกถึงจะพ้นจากผลกรรมเหล่านั้น
    ฎีกามิลินท์ อธิบายคำว่า “นามรูปอื่น” หมายถึงนามรูปในอนาคต ที่มีอยู่ในสุคติและทุคติ ที่เกิดสืบต่อไปด้วยนามรูปปัจจุบันนี้ แล้วท่านกล่าวอีกว่า
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] “ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาลึก ผู้ศึกษาใคร่ครวญด้วยปัญญาของตนเองด้วย เนื้อความอันใดดีกว่าเนื้อความที่เรากล่าวแล้ว ก็ควรถือเอาเนื้อความอันนั้น” [/FONT]
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๗ - ๙ </center> <center> ถามการเกิดอีกแห่งพระนาคเสน </center>
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    “ข้าแต่พระนาคเสน ก็พระผู้เป็นเจ้าล่ะ จะเกิดอีกหรือไม่”
    [/FONT] “อย่าเลยมหาบพิตร พระองค์จะต้องพระประสงค์อันใดด้วยคำถามนี้ เพราะอาตมภาพได้กล่าวไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ถ้าอาตมภาพยังมีอุปาทาน คือความยึดถืออยู่ก็จักเกิดอีก ถ้าไม่มีความยึดถือแล้ว ก็จักไม่เกิดอีก”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับบุรุษผู้หนึ่ง ได้กระทำความดีไว้ต่อพระราชา พระราชาก็ทรงโปรดปรานเขา ได้พระราชทานทรัพย์และยศแก่เขา เขาก็ได้รับความสุขในทางกามคุณ ๕ ด้วยได้รับพระราชทานทรัพย์และยศนั้น
    ถ้าบุรุษนั้นบอกแก่มหาชนว่า พระราชาไม่ได้พระราชทานสิ่งใดแก่เรา มหาบพิตรจะทรงวินิจฉัยว่า บุรุษนั้นพูดถูกหรือไม่”
    “ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จะประโยชน์อันใดด้วยคำถามนี้ เพราะอาตมภาพได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า
    ถ้าอาตมภาพยังมีความยึดมั่นอยู่ ก็จักเกิดอีก ถ้าไม่มีความยึดมั่นแล้ว ก็จักไม่เกิดอีก ขอถวายพระพร”
    “ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า”
    <center>
    อธิบาย
    </center> ฎีกามิลินท์ กล่าวกว่า ปัญหาข้อที่ ๗ นี้เคยถามมาก่อนแล้วข้างต้นโน้น แต่ที่ถามอีกก็เพราะอยากจะฟังคำอุปมา

    <center> ปัญหาที่ ๘ </center> <center> ถามเรื่องนามรูป </center> “ข้าแต่พระนาคเสน คำว่า นามรูป ที่พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วนั้นอะไรเป็นนามรูป”
    “รูปใดเป็นรูปหยาบ รูปนั้นแหละเป็น “รูป” ส่วนสิ่งใดเป็นของละเอียด คือ จิตและเจตสิก สิ่งนั้นเรียกว่า “นาม”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เหตุใดจึงถือกำเนิดแต่นาม ส่วนรูปไม่ถือกำเนิดล่ะ”
    “ขอถวายพระพร สิ่งเหล่านั้นอาศัยกันและกัน ย่อมเกิดด้วยกัน”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร ถ้าแม่ไก่ไม่มีกลละ (น้ำใส ๆ เล็ก ๆ) ไข่ก็ไม่มี กลละกับไข่ทั้งสองนี้อาศัยกัน เกิดร่วมกันไปฉันใด
    ข้อนี้ก็มีอุปมาฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถ้านามไม่มี รูปก็เกิดไม่ได้ นามกับรูปทั้งสองนี้อาศัยกัน เกิดด้วยกัน “นาม” กับ “รูป” ทั้งสองนี้ เวียนวนมาในวัฏสงสารสิ้นกาลนานนักหนาแล้ว”
    “สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า”

    <center> ปัญหาที่ ๙ </center> <center> ถามเรื่องกาลนานยืดยาว </center> “ข้าแต่พระนาคเสน คำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า “สิ้นกาลนานนักหนาแล้วนั้น” คำว่า “นาน” นั้น หมายถึงอะไร”
    “ขอถวายพระพร หมายถึง กาล อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สังขารทั้งหลายมีอยู่นานทั้งนั้นหรือ”
    “ขอถวายพระพร บางอย่างก็มี บางอย่างก็ไม่มี”
    “อะไรมี....อะไรไม่มี”
    “ขอถวายพระพร สังขารที่ล่วงลับดับสลายไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ไม่มีส่วนสิ่งที่เป็นผลกรรม และสิ่งที่เป็นผลกรรมให้เกิดต่อไปนั้นยังมีอยู่นาน สัตว์เหล่าใดตายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นยังอยู่นาน
    ส่วนพระอริยบุคคลที่ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานแล้ว ไม่มีอยู่อีก เพราะปรินิพพานแล้วขอถวายพระพร”
    “ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า”
    <center>[FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] จบวรรคที่ ๒ [/FONT]</center>
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> วรรคที่ ๓ </center> <center> ปัญหาที่ ๑ </center> <center> ถามมูลเหตุแห่งกาลทั้ง ๓ </center>

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
    “ข้าแต่พระนาคเสน อะไรเป็นมูลแห่งกาลนาน อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน”
    พระเถระตอบว่า
    “ขอถวายพระพร อวิชชา เป็นมูลแห่งกาลนาน อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เพราะว่า
    อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร
    สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป
    นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ
    สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน
    อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ
    ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ
    ชาติ เป็นปัจัยให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส )
    (ตั้งแต่ อวิชชา มาถึง อุปายาส รวมเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท )


    เป็นอันว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ปุริมโกฏิ คือที่สุดเบื้องต้นแห่งกาลนานย่อมไม่ปรากฏ
    “พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว”

    <center> ปัญหาที่ ๒ </center> <center> ถามที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสาร </center> “คำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า ปุริมโกฏิไม่ปรากฎนั้น” โยมยังสงสัยอยู่ อะไรเป็นปุริมโกฏิ กาลนานอันเป็นอดีตนั้นหรือเป็นปุริมโกฏิ”
    “มหาราชะ ปุริมโกฏินั้นแหละ เป็นกาลนานอันเป็นอดีต”
    “ข้าแต่พระนาคเสน เพราะเหตุไร ปุริมโกฏิจึงไม่ปรากฎ”
    “ขอถวายพระพร ปุริมโกฏิบางอย่างก็ปรากฎ บางอย่างก็ไม่ปรากฎ”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อย่างไหนปรากฎ อย่างไหนไม่ปรากฎ”
    “ขอถวายพระพร สิ่งทั้งปวงที่ไม่เคยมีเบื้องต้นปรากฎเลย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อันนี้แหละเรียกว่า ปุริมโกฏิ คือที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ
    อีกประการหนึ่ง สิ่งที่ไม่เคยมีมามีขึ้นมีขึ้นแล้วกลับหายไป อันนี้แหละเรียกว่า ปุริมโกฏิ คือที่สุดเบื้องต้นปรากฏ”
    “ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่า ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏนั้น จะเปรียบเหมือนด้วยสิ่งใด ขอนิมนต์อุปมา”
    <center>
    อุปมาด้วยพืช
    </center> “ขอถวายพระพร พืชเล็ก ๆ ที่อาศัยแผ่นดินแล้วเกิดมีใบ มีดอก มีผล ถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ไปตามลำดับ ผลก็เกิดจากพืชนั้น
    ลำดับนั้น ต้นของพืชนั้นก็มีใบ ดอก ผล ถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ไปตามลำดับ ที่สุดแห่งการสืบต่อแห่งพืชนี้มีอยู่หรือไม่”
    “ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือที่สุดเบื้องต้นแห่งกาลนานไม่ปรากฏ”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป”
    <center>
    อุปมาด้วยแม่ไก่
    </center> “มหาราชะ ไข่ออกจากแม่ไก่ แม่ไก่ออกมมาจากไข่ ไข่ก็ออกมาจากไก่อีก ที่สุดแห่งการสืบต่อแห่งไก่นี้มีอยู่หรือไม่”
    “ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ที่สุดเบื้องต้นแห่งกาลนานไม่ปรากฏ”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก”
    <center>
    อุปมาด้วยกงรถ
    </center> พระนาคเสนจึงขีดเป็นกงรถลงที่พื้นดิน แล้วถามพระเจ้ามิลินท์ว่า ที่สุดแห่งกงรถนี้มีอยู่หรือไม่”
    “ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร สมเด็จพระธรรมสามิสรตรัสไว้ว่า “กงจักรเหล่านี้ได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน”
    ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณ ย่อมเกิดเพราะอาศัย จักขุ กับ รูป เมื่อสิ่งทั้ง ๓ นั้นรวมกันเป็น ผัสสะ
    ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา
    เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา
    ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน
    อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด กรรม
    จักขุ ก็เกิดจาก กรรม อีก ที่สุดแห่งการสื่บต่ออันนี้มีอยู่หรือไม่”
    “ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร โสติวัญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยเสียงกับหู จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ มโนกับธรรมะ
    เมื่อสิ่งทั้ง ๓ รวมกันเข้าก็เป็น ผัสสะ แล้วทำให้เกิด เวทนา ตัณหา อุปาทาน กรรม แล้ว โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เกิดจากกรรมนั้นอีก ที่สุดแห่งการสืบต่อนี้มีอยู่หรือไม่”
    “ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือที่สุดของเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ขอถวายพระพร”
    “ชอบแล้ว พระนาคเสน”
    <center>
    ฎีกามิลินท์
    </center> อธิบายคำว่า “เขียนกงรถลงที่พื้นดิน” ได้แก่เขียนกงรถลงไปที่พื้นดิน เวียนรอบแล้วรอบเล่า ๆ แล้วจึงได้ถามปัญหาขึ้นอย่างนั้น
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๓ </center> <center> ถามความ
    ปรากฏแห่งที่สุดเบื้องต้น
    </center>

    “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า ที่สุดเบื้องต้นบางอย่างปรากฏ บางอย่างไม่ปรากฏ จึงขอถามว่า อย่างไหนปรากฎ อย่างไหนไม่ปรากฏ”
    “ขอถวายพระพร สิ่งทั้งปวงที่ไม่เคยมีเบื้องต้นปรากฏเมื่อก่อนนั้นนั้นแหละ เรียกว่า ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ
    สิ่งใดไม่เคยมีแต่มีขึ้น ครั้นมีขึ้นแล้วก็หายไป อันนี้แหละ เรียกว่า ที่สุดเบื้องต้นปรากฏ”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สิ่งใดไม่เคยมีมา มีขึ้น มีขึ้นแล้วหายไป ที่สุดเบื้องต้นอันขาดไปเป็น ๒ ฝ่าย ก็ได้ความแล้วไม่ใช่หรือ”
    “ขอถวายพระพร ถ้าที่สุดเบื้องต้นตัดออกไปเป็น ๒ ่ฝ่ายแล้วก็ได้ความ”
    “พระผู้เป็นเจ้าอาจให้โยมเข้าได้เป็น ๒ ฝ่ายหรือไม่”
    “ขอถวายพระพร อาจให้เข้าพระทัยได้”
    “โยมไม่ได้ถามข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าอาจให้โยมเข้าใจได้โดยที่สุดหรือไม่”
    “อาจ ขอถวายพระพร”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    พระเถระก็ได้ยกเอาต้นไม้ขึ้นอุปมา ดังที่ว่ามาแล้วนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า
    “พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ดีแล้ว”
    <center>
    ฏีกามิลินท์
    </center> พืชย่อมเกิดเป็นต้นไม้แล้วมีใบ ดอก ผล เป็นลำดับไปฉันใด กองแห่งทุกข์ทั้งสิ้นก็เกิดต่อกัน ไม่ปรากฏเบื้องต้นว่า เกิดมาแต่ครั้งไหนฉันนั้น
    ได้ใจความว่า รูปนามของสรรพสัตว์ทั้งหลายนี้ ไม่ปรากฏว่าเบื้องต้นเกิดมาแต่เมื่อไร เพราะเกิดต่อ ๆ กันมาเป็นลำดับ

    <center> ปัญหาที่ ๔ </center> <center> ถามถึงความเกิดขึ้นแห่งสังขาร </center> “ข้าแต่พระนาคเสน สังขารบางอย่างเกิดขึ้นมีอยู่หรือ”
    “ขอถวายพระพร มีอยู่”
    “ได้แก่สังขารเหล่าไหน”
    “มหาราชะ เมื่อ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน มีอยู่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ก็มีอยู่
    เวทนาอันเกิดเพราะ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ก็มีอยู่
    เมื่อมีเวทนาก็มีตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสขึ้น เป็นอันว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นมีขึ้นอย่างนี้
    เมื่อจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ไม่มี วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ เวทนา ๖ นั้นก็ไม่มี
    เมื่อไม่มีเวทนา ก็ไม่มีตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นอันว่า ความดับไปแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นมีขึ้นอย่างนี้ ขอถวายพระพร”
    “พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว”
    <center>
    สรุปความ
    </center> ปัญหานี้ท่านถามต่อเนื่องมาจากปัญหาที่แล้ว คือ กงรถ ที่เป็นวงกลม หรือเรียกว่า กงจักร นั่นเอง ได้แก่
    ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมเรียกว่า อายตนะภายใน ๖ ส่วน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมรมณ์ รวมเรียกว่า อายตนะภายนอก ๖ ทั้งหมดรวมเรียกว่า สฬายตนะ หรือที่เรียกกันว่า ทวาร อันเป็นทางเข้าของอารมณ์ต่าง ๆ
    ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า จักขุวิญญาณ (ประสาทรับรู้ทางตา) ส่วนอวัยวะอื่นก็ทำหน้าที่กันเป็นคู่ ๆ จะไม่นำมากล่าวย้อนอีก
    รวมความว่า เมื่อ ๓ อย่างคือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ มากระทบกันจึงเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยคือเป็นเหตุให้เกิด เวทนา ได้แก่อารมณ์ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง เป็นต้น
    เวทนา ทำให้เกิด ตัณหา อุปาทาน กรรม กล่าวรวม ๆ คือกระทำไปด้วยความหลงผิด ส่งผลให้เกิด สฬายตนะ อีกให้สืบต่อหมุนเวียนอย่างนี้เป็นวัฏจักร เรียกว่า ปุริมโกฏิ คือหาเบื้องต้นไม่ได้ หาเบื้องปลายไม่พบ สิ้นกาลนานนักหนา อันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะมี อวิชชา เป็นมูลเหตุ
    อุปมาเหมือนกับเมล็ดพืชกับต้นไม้ เหมือนไข่กับแม่ไก่ และเหมือนกงรถนี้ เป็นอันว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์มีขึ้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นการตอบคำถาม ของพระเจ้ามิลินท์ที่ถามว่า “สังขารเหล่าไหนที่เกิดมีขึ้น”
    แล้วพระนาคเสนท่านก็แก้ต่อไปว่า
    สฬายตนะ ไม่มี วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ก็ไม่มี ตัณหา อุปาทาน กรรม ทุกข์ ต่าง ๆ ก็ไม่มี รวมความว่า ความดับไปแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นมีขึ้นอย่างนี้ ดังที่ได้สรุปให้เชื่อมโยงกันทั้งหมดนี้
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] ส่วนปัญหาที่ ๕ เป็นข้อต่อไป จะเป็นคำถามที่ตรงกันข้ามกับข้อที่ ๔ มี [/FONT]
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๕ </center> <center> ถามถึงความ
    มีขึ้นแห่งสังขารที่ไม่มี
    </center>
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    “ข้าแต่พระนาคเสน สังขารบางอย่างไม่มี แต่มีขึ้น มีบ้างหรือไม่”
    [/FONT] “ขอถวายพระพร ไม่มี สังขารที่มีอยู่เท่านั้นมีขึ้น เช่นพระราชมณเฑียรที่มหาบพิตรประทับนั่งอยู่นี้ เมื่อก่อนไม่มี แต่มีขึ้น”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ในข้อนี้ได้ความว่า สังขารทุกอย่างที่ไม่มี แต่มีขึ้น...ไม่มี มีขึ้นเฉพาะที่มีอยู่เท่านั้น”
    <center>
    อุปมาพระราชมณเฑียร
    </center> “ขอถวายพระพร ไม้ที่นำมาทำพระราชมณเฑียรนี้ ได้เกิดอยู่แล้วในป่า ดินเหนียวนี้ได้มีที่แผ่นดิน แต่มามีขึ้นในที่นี้ด้วยความพยายามของสตรีและบุรุษทั้งหลาย
    เป็นอันว่า พระราชมณเฑียรนี้มีขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ฉันใด สังขารบางอย่างนี้ที่ไม่มีแล้วมีขึ้น...ไม่มี มีขึ้นเฉพาะสังขารที่มีอยู่เท่านั้น ฉันนั้น”
    “ขอนิมนต์อุปมาอีก”
    <center>
    อุปมาด้วยต้นไม้
    </center> “ขอถวายพระพร พืชเล็ก ๆ เกิดอยู่ในแผ่นดิน พืชเหล่านั้นย่อมีใบ ดอก ผล ตามลำดับ พืชที่เกิดเป็นลำต้นเหล่านั้นไม่มีอยู่ แต่มีขึ้นหามิได้”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เป็นอันว่าต้นไม้เหล่านั้นเป็นของมีอยู่แล้ว จึงมีขึ้นได้อย่างนั้นนะ”
    “ขอถวายพระพร อย่างนั้นแหละ คือ สังขารบางอย่างที่ไม่เคยมี แต่มีขึ้น...เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่เท่านั้น”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้น”
    <center>
    อุปมาด้วยช่างหม้อ
    </center> “ขอถวายพระพร ช่างหม้อขุดเอาดินจากแผ่นดิน แล้วมาทำเป็นภาชนะต่าง ๆ ขึ้น ภาชนะเหล่านั้นยังไม่เคยมี แต่มีขึ้น จึงว่ามีเป็นเฉพาะของที่มีอยู่เท่านั้นฉันใด สังขารบางอย่างที่ไม่มี แต่มีขึ้น....เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะ แต่ที่มีอยู่เท่านั้น ฉันนั้น”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป”
    <center>
    อุปมาด้วยพิณ
    </center> “ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า เมื่อก่อนใบพิณไม่มี หนังขึ้นพิณก็ไม่มี รางพิณก็ไม่มี คันพิณก็ไม่มี ลูกบิดก็ไม่มี สายพิณก็ไม่มี นมพิณก็ไม่มี ความพยายามอันเกิดจากกระทำของบุรุษก็ไม่มี แต่มีเสียงขึ้นอย่างนั้นหรือ”
    “ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร เพราะใบพิณมี หนังขึ้นพิณก็มี รางพิณก็มี คันพิณก็มี ที่รองพิณก็มี สายพิณก็มี นมพิณก็มี ความพยายามอันเกิดจากการกระทำของบุรุษก็มี จึงมีเสียงขึ้นอย่างนั้นหรือ”
    “อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือสังขารบางอย่างไม่มี แต่มีขึ้น....เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่เท่านั้น”
    “ขอนิมนต์อุปมายิ่งขึ้นไปอีก”
    <center>
    อุปมาด้วยไฟ
    </center> “ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าแม่ไม้สีไฟไม่มี ลูกไม้สีไฟก็ไม่มี เชือกที่ผูกไม้สีไฟก็ไม่มี ไม้ที่จะหนุนขึ้นไว้ก็ไม่มี ปุ๋ยหรือฝอยในแม่ไม้สีไฟก็ไม่มี ความพยายามอันเกิดจากการกระทำของบุรุษก็ไม่มี แต่มีไฟขึ้นอย่างนั้นหรือ”
    “ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่แม่ไม้สีไฟก็มี ลูกไม้สีไฟก็มี เชือกรัดแม่ไม้สีไฟก็มี ไม้สำหรับหนุนแม่ไม้สีไฟให้สูงขึ้นก็มี ปุ๋ยหรือฝอยในแม่ไม้สีไฟก็มี ความพยายามอันเกิดจากการกระทำของบุรุษก็มี ไฟนั้นจึงมีขึ้นได้อย่างนั้นหรือ”
    “อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือสังขารบางอย่างไม่มี แต่มีขึ้น...เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่แล้วเท่านั้น”
    “ขอให้อุปมายิ่งขึ้นไปกว่านี้”
    <center>
    อุปมาด้วยแก้วมณี
    </center> “ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนแก้วมณีไม่มี แสงแดดก็ไม่มี ขี้โคแห้งก็ไม่มี แต่ไฟเกิดขึ้นได้อย่างนั้นหรือ”
    “ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร ก็เหตุที่แก้วมณีก็มีแสงแดดก็มี ขี้โคแห้งก็มี ไฟจึงมีขึ้นอย่างนั้นหรือ”
    “อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือสังขารบางอย่างที่ไม่เคยมี แต่มีขึ้น...ย่อมไม่มี มีขึ้นแต่เฉพาะที่มีอยู่แล้วเท่านั้น”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งไปกว่านี้อีก”
    <center>
    อุปมาด้วยกระจกเงา
    </center> “ขอถวายพระพร เปรียบเช่นกับกระจกเงาไม่มี แสงสว่างก็ไม่มี หน้าคนที่จะส่องก็ไม่มี แต่มีหน้าคนเกิดขึ้นที่กระจกเงานั้นอย่างนั้นหรือ”
    “ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่กระจกเงาก็มีอยู่ แสงสว่างก็มีอยู่ หน้าคนที่ส่องกระจกนั้นก็มีอยู่ เงาหน้าคนจึงปรากฏที่กระจกอย่างนั้นหรือ”
    “อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ สังขารบางอย่างที่ยังไม่เคยมี แต่มีขึ้น....ย่อมไม่มี มีขึ้นเฉพาะที่เคยมีอยู่แล้วเท่านั้น ขอถวายพระพร”
    “ผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว”
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] (ฎีกามิลินท์ อธิบายคำว่า “มีอยู่” หมายถึงมีอยู่แล้วในอดีตกาล) [/FONT]
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ตอนที่ ๘ </center> <center> ปัญหาที่ ๖ </center> <center> ถามเรื่องผู้ถึงเวทย์ </center>

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
    “ข้าแต่พระนาคเสน เวทคู คือผู้ถึงเวทย์มีอยู่หรือ”
    พระเถระจึงย้อนถามว่า
    “มหาบพิตร ในข้อนี้ใครชื่อว่าเวทคู”
    พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อัพภันตรชีพ คือ สิ่งที่เป็นอยู่ในภายในนี้ ย่อมเห็นรูปด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหู สูดดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องสัมผัสด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ นี้แหละชื่อว่า “เวทคู”
    โยมจะเปรียบให้พระผู้เป็นเจ้าฟัง เหมือนหนึ่งว่าเราทั้งสองนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้ ปรารถนาจะแลดูออกไปทางช่องหน้าต่างใด ๆ ก็แลดูออกไปทางช่องหน้าต่างนั้น ๆ จะเป็นทางตะวันออก หรือทางตะวันตก ทางเหนือ ทางใต้ ก็ได้ตามประสงค์ฉันใด
    อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ในภายในร่างกายนี้ ต้องการจะดูออกไปทางทวารใด ๆ ก็ดูออกไปทางทวารนั้น ๆ แล้วก็ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู ได้สูดดมกลิ่นด้วยจมูก ได้รู้รสด้วยลิ้น ได้ถูกต้องสัมผัสด้วยกาย ได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ฉันนั้น”
    พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า
    “อาตมภาพจะกล่าวให้ยิ่งขึ้นไป คือเราทั้งสองนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้ ต้องการจะแลออกไปทางช่องหน้าต่างใด ๆ จะเป็นทางตะวันออกหรือตะวันตก ทางเหนือ ทางใต้ ก็ได้เห็นรูปต่าง ๆ ฉันใด
    บุคคลต้องได้เห็นรูปด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็น อัพภันตรชีพ อย่างนั้นหรือ?
    ต้องได้ฟังเสียงด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
    ต้องได้สูดกลิ่นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
    ต้องได้รู้รสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
    ต้องถูกต้องสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
    ต้องรู้ธรรมารมณ์ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?”
    “ไม่ใช่ฉันนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร คำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของมหาบพิตร ย่อมไม่สมควรแก่กัน เหมือนอย่างว่าเราทั้งสองนั่งที่ปราสาทนี้ เมื่อเปิดช่องหน้าต่างเหล่านี้ไว้ แล้วแลออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ต้องเห็นรูปได้ดีฉันใด
    อัพภันตรชีพ นั้น เมื่อเปิดจักขุทวารหันหน้าออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ก็เห็นรูปได้ดี เมื่อเปิดหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้แล้วหันหน้าออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ต้องเห็นรูปได้ดีฉันนั้น อย่างนั้นหรือ?”
    “ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร คำหลังกับคำก่อนหรือคำก่อนกับคำหลังของมหาบพิตร ย่อมไม่สมควรแก่กัน
    เหมือนอย่างว่า มียาจกเข้ามารับพระราชทานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากมหาบพิตร แล้วออกไปยืนอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก มหาบพิตรทรงรู้หรือไม่?”
    “อ๋อ....รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร ผู้ที่ได้รับพระราชทานแล้วเข้าไปภายใน ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของมหาบพิตร พระองค์รู้หรือว่าผู้นี้เข้ามาในภายใน มายืนอยู่ข้างหน้าเรา”
    “รู้ พระผู้เป็นเจ้า”
    ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ อัพภันตรชีพ นั้น เมื่อวางรสไว้ที่ลิ้น ก็รู้ว่าเป็นรสเปรี้ยว หรือรสเค็ม รสขม รสเผ็ด รสฝาด รสหวานหรือไม่”
    “รู้ พระผู้เป็นเจ้า”
    “เมื่อรสเหล่านั้นไม่เข้าไปภายใน อัพภันตรชีพ นั้น รู้หรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยว รสเค็ม รสขม รสเผ็ด รสฝาด รสหวาน”
    “ไม่รู้ พระผู้เป็นเจ้า”
    “นี่แหละ มหาบพิตร จึงว่าคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของมหาบพิตรไม่สมควรแก่กัน ไม่สมกัน
    เหมือนกับมีบุรุษผู้หนึ่งให้บรรทุกน้ำผึ้งตั้ง ๑๐๐ หม้อ มาเทลงในรางน้ำผึ้ง แล้วมัดปากบุรุษนั้นไว้ จึงเอาทิ้งลงไปในรางน้ำผึ้ง บุรุษนั้นจะรู้จักรสน้ำผึ้งหรือไม่”
    “ไม่รู้ พระผู้เป็นเจ้า”
    “เพราะอะไรล่ะ มหาบพิตร”
    “เพราะน้ำผึ้งไม่เข้าไปในปากของเขา”
    “ขอถวายพระพร ด้วยเหตุน้แหละ จึงว่าคำหลังกับคำต้น หรือคำต้นกับคำหลังของมหาบพิตร ไม่สมควรแก่กัน เข้ากันไม่ได้”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่อาจสนทนากับพระผู้เป็นเจ้าในข้อนี้ได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงข้อนี้ให้โยมเข้าใจเถิด”
    ลำดับนั้น พระเถระจึงแสดงให้พระเจ้ามิลินท์เข้าพระทัย ด้วยถ้อยคำอันเกี่ยวกับ อภิธรรม ว่า
    “ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัย ตา กับ รูป แล้วจึงมี เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ อันเกี่ยวข้องกับจักขุวิญญาณนั้น เกิดขึ้นตามปัจจัย
    ถึงโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ก็เกิดขึ้นได้เพราะอาศัย หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์
    แล้วจึงเกิด เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เหมือนกัน เป็นอันว่าผู้ชื่อว่า “เวทคู” ไม่มีในข้อนี้ ขอถวายพระพร”
    พระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ ได้ฟังชัดก็โสมนัสปรีดา มีพระราชดำรัสตรัสสรรเสริญว่า
    “พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้ สมควรแล้ว”
    <center>
    อธิบาย
    </center> คำว่า “เวทคู” แปลว่า ผู้ถึงเวทย์ ท่านหมายความว่า เป็นผู้ถึงซึ่งความรู้ คือผู้รับรู้สิ่งต่าง ๆ พระเจ้ามิลินท์เข้าใจว่า เวทคู นั้น เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นของมีชีวิตอยู่ภายใน อันเรียกว่า อัพภันตรชีพ ว่าเป็นผู้เห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู หรือดมกลิ่นด้วยจมูก เป็นต้น ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด
    ส่วนที่ถูกนั้น พระนาคเสนท่านกล่าวว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ในภายในเป็นเวทคูเลย การที่รู้อารมณ์ต่าง ๆ นั้น ได้แก่ วิญญาณ อันเกิด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ต่างหาก ดังนี้
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] คือข้อนี้ท่านมุ่งแสดงเป็นปรมัตถ์ (คือเรื่องของจิตและเจตสิก) ไม่ได้มุ่งแสดงเป็นสมมุติ (คือธรรมะทั่วไป) ถ้าว่าเป็นสมมุติ เวทคู นั้นก็มีตัวตน ดังนี้ [/FONT]
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๗ </center> <center> ถามถึงความเกี่ยวแห่ง </center> <center> จักขุวิญญาณกับมโนวิญญาณ </center>

    “ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด มโนวิญญาณ ก็ตามไปเกิดในที่นั้นหรือ?”
    “อย่างนั้น มหาบพิตร”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จักขุวิญญาณเกิดก่อน มโนวิญาณเกิดทีหลัง หรืออย่างไร?”
    “ขอถวายพระพร จักขุวิญาณเกิดก่อน มโนวิญาณเกิดทีหลัง”
    “ข้าแต่พระนาคเสน ก็จักขุวิญญาณ บังคับมโนวิญญาณไว้หรือว่า เราจักเกิดในที่ใดเจ้าจงเกิดในที่นั้น หรือมโนวิญญาณสั่งจักขุวิญญาณไว้ว่า เจ้าก็จักเกิดในที่ใด เราจักเกิดในที่นั้น อย่างนั้นหรือ?”
    “ไม่ใช่อย่างนั้น มหาบพิตร วิญญาณทั้งสองนั้นพูดจากันไม่ได้”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ไฉนจึงว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น”
    “ขอถวายพระพร ที่ว่าอย่างนั้น เพราะเป็นของลุ่ม ๑ เป็นประตู ๑ เป็นที่สะสมมา ๑ เป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา ๑
    <center>
    เพราะเป็นของลุ่ม
    </center> “ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นของลุ่ม นั้นคืออย่างไร ขอนิมนต์อุปมาด้วย?”
    “ขอถวายพระพร เมื่อฝนตกลงมา มหาบพิตรทรงเข้าพระทัยว่า น้ำจะไปทางไหน?”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ลุ่มมีที่ทางใด น้ำก็ต้องไปทางนั้น”
    “ขอถวายพระพร เมื่อฝนตกลงมาอีกน้ำจะไหลไปทางไหน?”
    “ข้าแต่พระนาคเสน น้ำก่อนไปทางใด น้ำใหม่ก็ต้องไปทางนั้น”
    “ขอถวายพระพร น้ำก่อนสั่งน้ำหลังไว้หรือว่า เราไปทางใด เจ้าจงไปทางนั้น หรือว่าน้ำหลังสั่งน้ำก่อนไว้ว่า เจ้าจักไปทางใด เราก็จักไปทางนั้น?”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า น้ำทั้งสองนั้นพูดจากันไม่ได้ แต่น้ำนั้นไหลไปได้ เพราะทางนั้นเป็นทางลุ่ม เป็นทางต่ำต่างหาก”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะที่นั้นเป็นที่ลุ่ม เป็นที่ต่ำจักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้ว่า เราเกิดในที่ใด เจ้าจงเกิดในที่นั้น มโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้เหมือนกัน
    วิญญาณทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากัน แต่ว่าเกิดในที่นั้นในสิ่งนั้น เพราะที่นั้นสิ่งนั้นเป็นเหมือนที่ลุ่มที่ต่ำฉะนั้น
    <center>
    เพราะเป็นประตู
    </center> “ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณเกิดในที่นั้น เพราะเป็นประตู นั้นอย่างไร ขอได้โปรดอุปมาด้วย?”
    “ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าหัวเหมืองชายแดนของพระราชา มีป้อมค่ายคูประตูหอรบแน่นหนาแข็งแรง แต่มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียว มีผู้อยากจะออกไปจากพระนครนั้น จะออกไปทางไหน?”
    “ออกไปทางประตูซิ พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร ยังมีบุรุษอีกคนหนึ่งอยากจะออกไป เขาจะออกไปทางไหน?”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุรุษคนก่อนออกไปทางประตูใด บุรุษคนหลังก็ต้องออกไปทางประตูนั้นแหละ”
    “ขอถวายพระพร บุรุษคนก่อนสั่งบุรุษคนหลังไว้หรือว่า เราออกทางประตูใด เจ้าจงออกทางประตูนั้น หรือบุรุษคนหลังสั่งบุรุษคนก่อนไว้ว่า เจ้าออกทางประตูใด เราก็จักออกทางประตูนั้น?”
    “ข้าแต่พระนาคเสน บุรุษทั้งสองนั้นไม่ได้บอกกันไว้เลย แต่เขาออกไปทางเดียวกัน เพราะทางนั้นเป็นประตู”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะที่นั้นเป็นประตู ไม่ใช่จักขุวิญญาณสั่งมโนวิญญาณไว้ หรือมโนวิญญาณสั่งจักขุวิญญาณไว้ ทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากัน แต่เกิดขึ้นในที่แห่งเดียวกัน เพราะที่นั้นเป็นประตู”
    <center>
    เพราะเป็นที่สะสมมา
    </center> “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นที่สะสมมา นั้นคืออย่างไร ขออุปมาให้แจ้งด้วย?”
    “ขอถวายพระพร เกวียนเล่มแรกไปก่อนแล้ว มหาบพิตรจะเข้าพระทัยว่า เกวียนเล่มที่ ๒ จะไปทางไหน?”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เกวียนเล่มแรกไปทางใด เกวียนเล่มหลังก็ต้องไปทางนั้น”
    “ขอถวายพระพร เกวียนเล่มก่อนสั่งเกวียนเล่มหลังไว้หรือว่า เราไปทางใดเจ้าจงไปทางนั้น หรือว่าเกวียนเล่มหลังสั่งเกวียนเล่มก่อนไว้ว่า เจ้าจงไปทางใด เราก็จักไปทางนั้น?”
    “ไม่ได้สั่งเลย ผู้เป็นเจ้า เพราะเกวียนทั้งสองนั้นไม่มีการพูดกัน แต่ไปทางเดียวกันเพราะทางนั้นเป็นทางที่สะสมมาแล้ว”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จักขุวิญญาณกับมโนวิญญาณไม่ได้สั่งกันไว้เลย แต่เกิดในที่แห่งเดียวกันเพราะเป็นที่สะสมมาแล้ว”
    <center>
    เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา
    </center> “ข้าแต่พระนาคเสน ข้อว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา นั้นคืออย่างไร ขอจงอุปมาให้ทราบด้วย?”
    “ขอถวายพระพร ผู้ที่เริ่มเรียนศีลปะในการนับด้วยนิ้วมือ หรือนับตามลำดับ หรือขีดเป็นรอยขีด หรือหัดยิงธนู ทีแรกก็ช้าก่อนต่อมาภายหลังก็ไวขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติแล้ว คือได้กระทำมาเสมอฉันใด
    จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้เลยว่า เราเกิดในที่ใด เจ้าจงเกิดในที่นั้น มโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้เลยว่า เจ้าจะเกิดในที่ใด เราก็จักเกิดในที่นั้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมาแล้ว ฉันนั้น”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า วิญญาณทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากันเลย แต่มาเกิดในที่แห่งเดียวกัน เพราะได้เคยประพฤติมา ถึง โสตวิญญาณิ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็เหมือนกัน อย่างนั้นหรือ?”
    “อย่างนั้น มหาบพิตร เป็นอันเหมือนกันหมด”
    “พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว”
    <center>
    อธิบาย
    </center> ข้อนี้ได้ใจความว่า วิญญาณทั้ง ๕ คือ ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อม เกิดในที่แห่งเดียวกับ มโนวิญญาณ คือความรู้สึกทางใจด้วย
    ยกตัวอย่างเช่น ตาเห็นรูปได้ชื่อว่า จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นก่อนแล้ว มโนวิญญาณ จึงเกิดทีหลัง ทำให้รู้และเข้าใจว่า รูปที่เห็นนั้นเป็นคน สัตว์ วัตถุสิ่งของ มีลักษณะเป็นประการใด
    เพราะถ้าไม่มี มโนวิญญาณ เข้าร่วมด้วย ก็เหมือนกับคนนั่งใจลอยเหม่อมองไปข้างหน้า เมื่อไปถามว่าเห็นอะไรไหม...เขาก็ตอบว่าเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งใด เพราะไม่ได้ตั้งใจดู อย่างนี้เป็นต้น ถึงจะเป็นการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ่มรส สัมผัสถูกต้อง ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] ฉะนั้น เพราะอาศัย จักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ หรือ ฆานวิญญาณ หรือ ชิวหาวิญญาณ หรือ กายวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามขึ้นก่อนแล้ว มโนวิญญาณ จึงจะเกิดทีหลัง ดังนี้ [/FONT]
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๘ </center> <center> ถามลักษณะผัสสะ </center>

    “ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด เวทนา ก็เกิดในที่นั้นหรือ”
    “อย่างนั้น มหาบพิตร คือ จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด เวทนา ก็เกิดในที่นั้น ถึง สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ วิตก วิจาร ก็เกิดในที่นั้น ธรรมทั้งหลายมี ผัสสะ เป็นต้น ก็เกิดในที่นั้น ขอถวายพระพร”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผัสสะ มีลักษณะอย่างไร”
    “ขอถวายพระพร ผัสสะ มีการ กระทบกัน เป็นลักษณะ”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับแพะ ๒ ตัวชนกันอยู่ จักขุ เหมือนกับแพะตัวหนึ่ง รูป เหมือนกับแพะอีกตัวหนึ่ง ผัสสะ เหมือนกับการชนกันแห่งแพะทั้งสองนั้น”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก”
    “ขอถวายพระพร เปรียบประดุจบุรุษเป่าปี่ ๒ เลาขึ้นพร้อมกัน จักขุ เหมือนปี่เลาหนึ่ง รูป เหมือนปี่อีกเลาหนึ่ง ผัสสะ เหมือนการรวมกันแห่งเสียงปี่ทั้งสองเลานั้น”
    “ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า”



    <center> ปัญหาที่ ๙ </center> <center> ถามถึงลักษณะเวทนา </center> “ข้าแต่พระนาคเสน เวทนา มีลักษณะอย่างไร”
    “ขอถวายพระพร เวทนา มีการ ทำให้รู้สึก เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่งว่า มีการ เสวย เป็นลักษณะ”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ามีบุรุษผู้หนึ่ง ทำความดีความชอบต่อพระราชา เมื่อพระราชาทรงพอพระทัยแล้ว ก็ทรงพระราชทานทรัพย์ ยศ บริวาร ให้แก่บุรุษนั้น
    บุรุษนั้น ก็เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ แล้ว เขาก็คิดว่าเราได้ทำความดีต่อพระราชาไว้แล้ว เราจึงได้เสวยความสุขอย่างนี้
    อีกนัยหนึ่ง เหมือนกับบุรุษคนหนึ่งทำบุญกุศลไว้แล้ว ได้ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์ เขาก็มีความสุขด้วยทิพยสมบัติ แล้วเขาก็นึกได้ว่า เพราะเราได้ทำบุญกุศลไว้ในกาลก่อน เราจึงได้เสวยความสุขอย่างนี้
    อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า เวทนา มีการ ทำให้รู้สึก เป็นลักษณะ หรือมีการ เสวย เป็นลักษณะ”
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] “พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาสมควรแล้ว” [/FONT]
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๑๐ </center> <center> ถามลักษณะสัญญา </center>
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    “ข้าแต่พระนาคเสน สัญญา มีลักษณะอย่างไร”
    [/FONT] “ขอถวายพระพร สัญญา มีการ จำ เป็นลักษณะ”
    “จำอะไร”
    “จำสีเขียว สีแดง สีขาว ขอถวายพระพร”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร เหมือนอย่างเจ้าพนักงานคลังของพระราชา ได้เข้าไปที่คลังแล้ว เห็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ของพระราชาอันมีสีสันต่าง ๆ กัน คือสีเขียวก็มี เหลืองก็มี แดงก็มี ขาวก็มี เลื่อมก็มี ก็จำไว้ได้เป็นอย่าง ๆ ไปฉันใด สัญญา ก็มีการ จำ เป็นลักษณะฉันนั้น”
    “ถูกแล้ว พระนาคเสน”

    <center>
    ปัญหาที่ ๑๑
    </center> <center> ถามลักษณะเจตนา </center> “ข้าแต่พระนาคเสน เจตนา มีลักษณะอย่างไร”
    “ขอถวายพระพร เจตนา มีความ จงใจ เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่งว่า เจตนา มีการ ประชุมแห่งการตกแต่ง เป็นลักษณะ”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้หนึ่งตกแต่งยาพิษขึ้นแล้ว ก็ดื่มเองด้วย ให้ผู้อื่นดื่มด้วย เขาก็เป็นทุกข์ ผู้อื่นก็เป็นทุกข์ฉันใด
    บางคนจงใจทำความชั่วแล้วก็ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พวกใดทำตามบุรุษนั้น พวกนั้นก็ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกันฉันนั้น
    อีกประการหนึ่ง บุรุษผู้หนึ่งตกแต่งเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้มีรสอันเดียวกัน แล้วก็ดื่มเองบ้าง ให้ผู้อื่นดื่มบ้าง เขาก็เป็นสุข ผู้อื่นก็เป็นสุขฉันใด
    บางคนจงใจทำความดีได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์ พวกใดทำตามบุรุษนั้น พวกนั้นก็ได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์เหมือนกันฉันนั้น
    อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า เจตนา มีการ จงใจ เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่งว่า มีการ ปรุงแต่ง เป็นลักษณะ”
    “พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว”

    <center>
    ปัญหาที่ ๑๒
    </center> <center> ถามลักษณะวิญญาณ </center> “ข้าแต่พระนาคเสน วิญญาณ มีลักษณะอย่างไร”
    “ขอถวายพระพร วิญญาณ มีการ รู้ เป็นลักษณะ”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร เปรียบประดุจบุรุษผู้รักษาพระนคร นั่งอยู่ที่ถนน 4 แพร่งกลางพระนคร ต้องได้เห็นบุรุษผู้มาจากทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ฉันใด
    บุคคลเห็นรูป หรือฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส นึกถึงสิ่งใดด้วยใจ ก็รู้จักสิ่งนั้นได้ด้วย วิญญาณ ฉันนั้น วิญญาณมีการ รู้ เป็นลักษณะ อย่างนี้แหละมหาบพิตร”
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] “ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน” [/FONT]
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๑๓ </center> <center> ถามลักษณะวิตก </center>

    “ข้าแต่พระนาคเสน วิตก มีลักษณะอย่างไร”
    “ขอถวายพระพร วิตก มีการ ประกอบแน่น เป็นลักษณะ”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร ช่างไม้ย่อมเข้าไม้ในที่ต่อ แล้วโบกด้วยปูนหรือทาด้วยสีให้สนิทฉันใด วิตก ก็มีการประกบแน่น มีการแนบแน่นเป็นลักษณะฉันนั้น”
    “ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน”

    <center>
    ปัญหาที่ ๑๔
    </center> <center> ถามลักษณะวิจาร </center> “ข้าแต่พระนาคเสน วิจาร มีลักษณะอย่างไร”
    “ขอถวายพระพร วิจาร มีการ ลูบคลำไปตามวิตก เป็นลักษณะ”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ากังสดาลอันบุคคลเคาะด้วยสันดาบ ก็มีเสียงดังเป็นกังวานต่อ ๆ กันไปฉันใด
    วิตก ก็เหมือนกับการเคาะฉันนั้น
    ส่วน วิจาร เหมือนกับเสียงดังครวญครางไป”
    “สมควรแล้ว พระนาคเสน”
    <center>[FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    จบวรรคที่ ๓
    [/FONT]</center>
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> วรรคที่ ๔ </center> <center> ปัญหาที่ ๑ </center> <center> ถามลักษณะมนสิการ </center>

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
    “ข้าแต่พระนาคเสน มนสิการ มีลักษณะอย่างไร”
    พระเถระตอบว่า
    “ขอถวายพระพร มนสิการ มีการ นึก เป็นลักษณะ”
    “ถูกแล้ว พระนาคเสน”
    <center>
    ปัญหาที่ ๒
    </center> <center> ถามลักษณะสิ่งที่มีสภาวะอย่างเดียวกัน </center> พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
    “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าอาจแยกธรรมที่รวมเป็นอันเดียวกันเหล่านี้ ให้รู้ว่าต่างกันว่า อันนี้เป็น ผัสสะ อันนี้เป็น เวทนา อันนี้เป็น สัญญา อันนี้เป็น เจตนา อันนี้เป็น วิญญาณ อันนี้เป็น วิตก อันนี้เป็น วิจาร ได้หรือไม่”
    “ไม่อาจ ขอถวายพระพร”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนพ่อครัวของพระราชา เมื่อจะตกแต่งเครื่องเสวยก็ใส่เครื่องปรุงต่าง ๆ คือ นมส้ม เกลือ ขิง ผักชี พริก และสิ่งอื่น ๆ ลงไป ถ้าพระราชาตรัสว่า
    “เจ้าจงแยกเอารสนมส้มมาให้เรา จงแยกเอารสเกลือ รสขิง รสผัก รสหวาน รสเปรี้ยว มาให้เราทีละอย่าง ๆ”
    พ่อครัวนั้นอาจแยกเอารสที่รวมกันอยู่เหล่านั้นมาถวายพระราชาว่า นี้เป็นรสเปรี้ยว นี้เป็นรสเค็ม นี้เป็นรสขม นี้เป็นรสเผ็ด นี้เป็นรสฝาด ได้หรือไม่”
    “ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ก็แต่ว่าเขาอาจรู้ได้ตามลักษณะของรสแต่ละรส”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร รวมกันเข้าแล้ว อาตมภาพก็ไม่อาจแยกออกให้รู้ได้แต่ละอย่าง ก็แต่ว่าอาจให้เข้าใจได้ ตามลักษณะแห่งธรรมเป็นอย่าง ๆ”
    “ขอถวายพระพร เกลือ เป็นของจะต้องรู้ด้วย ตา ใช่ไหม”
    “ใช่ พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอมหาบพิตรจงจำคำนี้ไว้ให้ดีนะ”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น เกลือ เป็นของรู้ด้วย ลิ้น อย่างนั้นหรือ”
    “อย่างนั้น มหาบพิตร”
    “ถ้าบุคคลรู้จักเกลือทั้งหมดด้วยลิ้น เหตุไฉนจึงบรรทุกเกลือมาด้วยเกวียน ควรบรรทุกมาเฉพาะความเค็มเท่านั้นไม่ใช่หรือ”
    “ไม่อาจบรรทุกมาแต่ความเค็มเท่านั้นได้ เพราะว่าของเหล่านี้เป็นของรวมกัน ส่วนความเค็มบุคคลอาจชั่งได้ด้วยตาชั่งหรือไม่ มหาบพิตร”
    “อาจชั่งได้ พระผู้เป็นเจ้า”
    “มหาบพิตร จงจำคำนี้ไว้ให้ดีว่า บุคคลอาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่ง”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าว่า บุคคลไม่อาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่งอย่างนั้นหรือ”
    “อย่างนั้น มหาบพิตร”
    “ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน”
    <center>
    สรุปความ
    </center> วิญญาณทั้ง ๕ ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ คือความรู้สึกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะต้องมี มโนวิญญาณ คือความรู้สึกทางใจเข้าร่วมด้วย จึงจะสำเร็จประโยชน์ในการเห็น การฟัง การดม การลิ้มรส และการสัมผัส เป็นต้น
    เมื่อ วิญญาณทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก่อน เช่น จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณ ก็เกิดในที่นั้น เพราะอาศัย จักขุ กับ รูป ธรรมทั้งหลายมี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร มนสิการ ได้เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกัน แต่มีลักษณะต่างกัน ดังนี้
    ผัสสะ มีลักษณะ กระทบกัน เช่น จักขุ กับ รูป เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น
    เวทนา มีลักษณะ เสวยอารมณ์ คือ ทำให้รู้สึกมีความ สุข มีความ ทุกข์ หรือรู้สึกเฉย ๆ เป็นต้น
    สัญญา มีลักษณะ จำ เช่นเมื่อตาเห็น รูปก็จำได้ว่า มีสีสันวรรณะเป็นประการใด
    เจตนา มีลักษณะ จงใจ หรือ ประชุมแห่งการตกแต่ง หมายถึงมุ่งกระทำ ความดีหรือความชั่วด้วยความจงใจ
    วิญญาณ อันนี้ไม่ใช่วิญญาณที่มาถือกำเนิดในครรภ์ แต่ในที่นี้ท่านหมายถึง รู้ ในฎีกามิลินท์ท่านหมายถึง ประสาท เหมือนกัน
    วิตก มีลักษณะ ประกบแน่น หมายถึงการที่จิตตรึกอารมณ์
    วิจาร มีลักษณะ ลูบคลำไปตามวิตก คือจิตเคล้าอารมณ์ หรือจิตตรอง หรือพิจารณาอารมณ์ที่ตรึกนั้น
    วิตก กับ วิจาร ท่านอธิบายมีความหมายคล้ายกัน คือ วิตก เหมือนกับคนเคาะระฆัง เมื่อมีเสียงดังกังวานครวญครางขึ้น ท่านเรียกว่า วิจาร ได้แก่อารมณ์คิดพิจารณานั่นเอง
    มนสิการ มีลักษณะ นึก ในข้อนี้ ท่านไม่ได้ยกอุปมา เพราะได้เคยอุปมาให้พระเจ้ามิลินท์ได้ทราบไว้แล้ว
    รวมความว่า การที่จะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสได้นั้น ไม่ใช่ อัพภันตรชีพ(สิ่งที่เป็นอยู่ในภายในกายนี้) เป็น “เวทคู” คือเป็นผู้รับรู้
    แต่การที่จะมีความรู้สึกได้เพราะอาศัย วิญญาณ ต่างหาก และวิญญาณทั้ง ๕ นี้ย่อมไหลไปสู่ มโนวิญญาณ เหมือนกับน้ำไหลไปสู่ที่ลุ่มฉะนั้น
    แต่ธรรมมทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยกัน อันมี ผัสสะ เป็นต้นนั้น ท่านไม่สามารถจะแยกออกมาได้ว่า อันนี้เป็นผัสสะ อันนี้เป็นเวทนา หรืออันนี้เป็นสัญญา เปรียบเหมือนเครื่องแกงที่ผสมกันหมดแล้ว รสชาติชองมันปรากฏอยู่ตามลักษณะของมัน แต่จะแยกออกมาไม่ได้
    คำเปรียบเทียบของพระนาคเสนเรื่องนี้เหมาะสมมาก คือเมื่อเครื่องแกงผสมเป็นน้ำแกงแล้ว เมื่อเราตักออกมาช้อนหนึ่งชิมดูย่อมมีรสเครื่องแกงทุกอย่างผสมอยู่ แต่จะแยกออกมาหาได้ไม่
    แต่เราพอบอกได้ว่า ความเผ็ดเป็นรสของพริก ความเค็มเป็นรสของเกลือ ความเปรี้ยวเป็นรสของน้ำส้มหรือมะนาว และความหวานเป็นรสของน้ำตาล เป็นต้น
    อนึ่ง เหมือนกับการบรรทุกเกลือ แต่จะไม่บรรทุกความเค็มมาด้วย หรือจะชั่งเฉพาะเกลือ แต่ไม่ชั่งความเค็มด้วยนั้น ไม่สามารถจะกระทำได้ เพราะของเหล่านี้เป็นของรวมกันฉันใด
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] ธรรมทั้งหลายอันมี ผัสสะ เป็นต้น ได้ปรากฏชัดตามลักษณะของตน แต่จะแยกออกมาแต่ละอย่าง ๆ มิได้เช่นกันฉันนั้น [/FONT]
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ตอนที่ ๙ </center> <center> ปัญหาที่ ๓ </center> <center> ถามการเกิดแห่งอายตนะ ๕ </center>
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    “ข้าแต่พระนาคเสน อายตนะ ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) เกิดด้วยกรรมต่าง ๆ กัน หรือเกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกัน?”
    [/FONT] “ขอถวายพระพร อายตนะ ๕ นั้น เกิดด้วยกรรมต่าง ๆ กัน ที่เกิดด้วยกรรมอันเดียวกันไม่มี”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    “ขอถวายพระพร พืชต่าง ๆ ๕ ชนิด ที่บุคคลหว่านลงไปในนาแห่งเดียวกัน ผลแห่งพืช ๕ ชนิดนั้น ก็เกิดต่าง ๆ กันฉันใด อายตนะ ๕ เหล่านี้ ก็เกิดด้วยกรรมต่างกันฉันนั้น ที่เกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกันไม่มี”
    “พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว”

    <center>
    ปัญหาที่ ๔
    </center> <center> ถามเหตุต่าง ๆ กันแห่งกรรม </center> พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
    “ข้าแต่พระนาคเสน เพราะเหตุใด มนุษย์ทั้งหลายจึงไม่เสมอกัน คือมนุษย์ทั้งหลายมีอายุน้อยก็มี มีอายุยืนยาวก็มี อาพาธมากก็มี อาพาธน้อยก็มี
    ผิวพรรณวรรณะไม่ดีก็มี ผิวพรรณวรรณะดีก็มี มีศักดิ์น้อยก็มี มีศักดิ์มากก็มี มีโภคทรัพย์น้อยก็มี มีโภคทรัพย์มากก็มี มีตระกูลต่ำก็มี มีตระกูลสูงก็มี ไม่มีปัญญาก็มี มีปัญญาก็มี?”
    พระเถระจึงย้อนถามว่า
    “ขอถวายพระพร เหตุใดต้นไม้ทั้งหลายจึงไม่เสมอกันสิ้น ต้นที่มีรสเปรี้ยวก็มี มีรสขมก็มี มีรสเผ็ดก็มี มีรสฝาดก็มี มีรสหวานก็มี?”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะความต่างกันแห่งพืช”
    “ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือมนุษย์ทั้งหลายไม่เสมอกันหมด เพราะกรรมต่างกัน ข้อนี้สมด้วยพระพุทธฏีกาของสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า
    “สัตว์ทั้งหลายมีกรรมต่างกัน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมทำให้เกิด มีกรรมเห็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่อาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวดีต่างกัน”
    “ดังนี้ ขอถวายพระพร”
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] “พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว” [/FONT]
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๕ </center> <center> ถามถึงสาเหตุ
    ที่ควรให้รีบทำเสียก่อน
    </center>
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
    [/FONT] “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้แก่โยมว่า ทำอย่างไรทุกข์นี้จึงจะดับไปและทุกข์อื่นจึงไม่เกิดขึ้น ก็ควรรีบทำอย่างนั้น แต่โยมเห็นว่า ประโยชน์อะไรกับการรีบพยายามทำอย่างนั้น ต่อเมื่อถึงเวลา จึงควรทำไม่ใช่หรือ?”
    พระเถระตอบว่า
    “ขอถวายพระพร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามก็จะไม่ทำสิ่งนั้นให้สำเร็จไป ความรีบพยายามนั้นแหละ จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จไป”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    <center>อุปมาการขุดน้ำ </center> “ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าใจความข้อนี้อย่างไร ....คือเมื่อใดมหาบพิตรอยากเสวยน้ำ เมื่อนั้นมหาบพิตรจึงจะให้ขุดที่มีน้ำ ให้ขุดสระโบกขรณี ให้ขุดเหมืองน้ำว่า เราจักดื่มน้ำอย่างนั้นหรือ?”
    “ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สำเร็จประโยชน์ ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์”
    “ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป”
    <center>อุปมาการไถนา </center> “ขอถวายพระพร เมื่อใดมหาบพิตรหิวเมื่อนั้นหรือ....มหาบพิตรจึงจักให้ไถนา ปลูกข้าวสาลี หว่านพืช ขนข้าวมา หรือปลูก ข้าวเหนียว ด้วยรับสั่งว่า เราจักกินข้าว?”
    “ทำอย่างนั้นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สำเร็จประโยชน์ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์”
    “ขออุปมายิ่งให้ยิ่งขึ้นไปอีก”
    <center>อุปมาการทำสงคราม </center> “ขอถวายพระพร เมื่อใดสงครามมาติดบ้านเมือง เมื่อนั้นหรือ....มหาบพิตรจึงจะให้ขุดคู สร้างกำแพง สร้างเขื่อน สร้างป้อม ขนเสบียงอาหารมาไว้ ให้ฝึกหัดช้าง ม้า รถ ธนู ดาบ?”
    “ทำอย่างนั้นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาความพยายามไม่สำเร็จประโยชน์ ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระพบรมโลกนาถศาสดาจารย์ตรัสประทานไว้ว่า
    “บุคคลรู้สิ่งใดป็นประโยชน์แก่ตนควรรีบทำสิ่งนั้น ผู้มีความคิด มีความรู้ มีความบากบั่น ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างพ่อค้าเกวียน คือพ่อค้าเกวียนทิ้งทางเก่า อันเป็นทางเสมอ กว้างใหญ่ดี แล้วขับเกวียนไปในทางใหม่ ที่เป็นทางไม่เสมอดี เวลาเพลาเกวียนหักแล้วก็ซบเซาฉันใด
    บุคคลผู้โง้เขลาหลีกออกจากธรรมะไม่ประพฤติตามธรรม จวนใกล้ตายก็จะต้องซบเซา เหมือนพ่อค้าเกวียนที่มีเพลาเกวียนหักไปแล้วฉะนั้น”
    “ด้งนี้ ขอถวายพระพร”
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] “พระผู้เป็นเจ้ากล่าวสมควรแล้ว” [/FONT]
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๖ </center> <center> ถามถึงความ
    ร้อนแห่งไฟนรก
    </center>
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
    [/FONT] “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า ไฟนรกร้อนมากกว่าไฟปกติ ก้อนหินน้อย ๆ ทิ้งลงไปในไฟปกติ ไฟเผาอยู่ตลอดวันก็ไม่ย่อยยับ ส่วนก้อนหินโตเท่าปราสาททิ้งลงไปในไฟนรก ก็ย่อยยับไปในขณะเดียว ดังนี้ คำนี้โยมไม่เชื่อ
    ถึงคำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า พวกสัตว์นรกอยู่ในนรกได้ตั้งพัน ๆ ปีก็ไม่ย่อยยับไป ดังนี้ คำนี้โยมก็ไม่เชื่อ”
    พระเถระตอบว่า
    “ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยอย่างไร....คือพวกนกยูง ไก่ป่า มังกร จระเข้ เต่า ย่อมกินก้อนหินแข็ง ๆ ก้อนกรวดแข็ง ๆ จริงหรือ?”
    “เออ....โยมได้ยินว่าจริงนะ พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร ก้อนหินก้อนกรวดเหล่านั้น เข้าไปอยู่ภายในท้องของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แหลกย่อยยับไปหรือไม่?”
    “แหลกย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร ก็สัตว์ที่อยู่ในท้องของสัตว์เหล่านั้น แหลกย่อยยับไปไหม?”
    “ไม่แหลกย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า”
    “เพราะอะไร มหาบพิตร?”
    “โยมเข้าใจว่า เพราะกรรมคุ้มครองไว้”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกสัตว์นรกถึงจะถูกไฟไหม้อยู่ในนรกตั้งหลายพันปีก็ไม่ย่อยยับไป เพราะกรรมคุ้มครองไว้ พวกสัตว์นรกเหล่านั้น เกิดอยู่ในนรก เจริญอยู่ในนรก ตายอยู่ในนรก
    ข้อนนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัสไว้ว่า
    “บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นตราบใด สัตว์นรกก็ยังไม่ตายตราบนั้น”
    “ขอนิมนต์อุปมาด้วย”
    <center>
    อุปมาด้วยราชสีห์
    </center> “ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร....คือราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลืองตัวเมีย ย่อมเคี้ยวกินของแข็ง ๆ เคี้ยวกินกระดูก เคี้ยวกินเนื้อมีอยู่หรือ?”
    “มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร กระดูกที่เข้าไปอยู่ในท้องของสัตว์เหล่านั้นแหลกย่อยไปไหม?”
    “แหลกย่อยไป พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร ลูกในท้องของสัตว์เหล่านั้นแหลกย่อยยับไปไหม?”
    “ไม่แหลก พระผู้เป็นเจ้า”
    “เพราะอะไร มหาบพิตร?”
    “โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะกรรมรักษาไว้ แต่ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป”
    <center>
    อุปมาด้วยนกหัวขวาน
    </center> “ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร....คือ นกหัวขวาน นกยูง ย่อมเคี้ยวกินไม้อันแข็งมีอยู่หรือ?”
    “มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า”
    “ไม้อันแข็งเหล่านั้น เข้าไปอยู่ในท้องนกหัวขวาน นกยูงเหล่านั้นแล้ว ย่อยยับไปหรือไม่?”
    “ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า”
    “ขอถวายพระพร ลูกนกหัวขวานที่อยู่ในท้อง ย่อยยับไปหรือไม่?
    “ไม่ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า”
    “เพราะอะไร มหาบพิตร?”
    “โยมเข้าใจว่า เพราะกรรมรักษาไว้ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก”
    <center>อุปมาด้วยสตรี </center> “ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยข้อนี้อย่างไร....คือ นางโยนก นางกษัตริย์ นางพราหมณ์ นางคฤหบดี ที่มีความสุขมาแต่กำเนิด ได้เคี้ยวกินของแข็ง ขนมผลไม้ เนื้อ ปลาต่าง ๆ หรือไม่?”
    “เคี้ยวกิน พระผู้เป็นเจ้า”
    “ของเหล่านั้นตกเข้าไปอยู่ในท้องของหญิงเหล่านั้นแล้ว ย่อยยับไปหรือไม่?”
    “ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า”
    “ก็ลูกในท้องของหญิงเหล่านั้น ย่อยยับไปหรือไม่?”
    “ไม่ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า”
    “เพราะอะไร มหาบพิตร?”
    “โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะกรรมคุ้มครองไว้”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหบพิตร คือสัตว์นรกถึงจะถูกไฟไหม้ในนรกตั้งหลายพันปี ก็ไม่ย่อยยับไป สัตว์นรกเหล่านั้น เกิดอยู่ในนรก เจริญอยู่ในนรก ตายอยู่ในนรก ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทศพลตรัสไว้ว่า
    “บาปกรรมที่เขาทำไว้ยังไม่สิ้นตราบใด เขาก็ยังไม่ตายตราบนั้น”
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า” [/FONT]
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๗ </center> <center> ถามถึงเรื่อง
    เครื่องรองแผ่นดิน
    </center>
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า แผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ ดังนี้ คำนี้โยมไม่เชื่อ”
    [/FONT] พระเถระเมื่อจะวิสัชนาแก้ไข จึงได้เอาธัมกรก คือกระบอกกรองน้ำตักน้ำขึ้นมาแล้วก็เอามือปิดปากธัมกรกไว้ เพื่อมิให้น้ำไหลลงไปได้ ถือไว้ให้พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรแล้ว พร้อมกับถวายพระพรว่า
    “มหาบพิตรจงทรงสังเกตดูธัมกรกนี้เถิด ลมทรงไว้ซึ่งน้ำในกระบอกนี้ฉันใด ถึงน้ำที่รองแผ่นดิน ลมก็รับไว้ฉันนั้น”
    “ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า”

    <center>
    ปัญหาที่ ๘
    </center> <center> ถามเรื่องนิโรธนิพพาน </center> “ข้าแต่พระนาคเสน นิโรธ คือ นิพพาน หรือ?”
    “ถูกแล้ว มหาบพิตร”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อย่างไรจึงว่า นิโรธ คือ นิพพาน?”
    "ขอถวายพระพร อันว่าพาลปุถุชนทั้งหลาย ย่อมเพลิดเพลินยินดีใน อาตนะภายในภายนอก (ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สักผัส) จึงถูกกระแสตัณหาพัดไป จึงไม่พ้นจากการเกิด แก่ ตาย โศกร่ำไร ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และคับแค้นใจ
    ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมไม้เพลิดเพลินยินดีใน อายตนะภายในภายนอก
    เมื่อไม่เพลิดเพลินยินดี ตัณหาก็ดับไป เมื่อตัณหาดับ อุปาทานดับ ภพดับ เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ เมื่อชาติ คือ การเกิดดับ ความโศก ความร่ำไร ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และความคับแค้นใจก็ดับ
    เป็นอันว่า ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ อย่างนี้แหละมหาบพิตร จึงว่า นิโรธ คือ นิพพาน ”
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] “ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า” [/FONT]
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๙ </center> <center> ถามเรื่องการได้นิพพาน </center>
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    “ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลทั้งหลายได้นิพพานเหมือนกันหมดหรือ?”
    [/FONT] “ขอถวายพระพร ไม่ได้นิพพานเหมือนกันหมด”
    “เหตุไฉนจึงไม่ได้?”
    “ขอถวายพระพร ผู้ใดปฏิบัติดี รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ รอบรู้ธรรมที่ควรรอบรู้ ละธรรมที่ควรละ อบรมธรรมที่ควรอบรม กระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ผู้นั้นก็ได้นิพพาน”
    "ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า”

    <center>
    ปัญหาที่ ๑๐
    </center> <center> ถามเรื่องรู้จักความสุขในนิพพาน </center> “ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพาน รู้หรือไม่ว่านิพพานเป็นสุข?”
    “ขอถวายพระพร...รู้ คือผู้ยังไม่ได้นิพพานก็รู้ว่านิพพานเป็นสุข”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพานทำไมจึงรู้ว่านิพพานเป็นสุข?”
    “ขอถวายพระพร พวกใดไม่ถูกตัดมือ ตัดเท้า พวกนั้นรู้หรือไม่ว่า การตัดมือตัดเท้าเป็นทุกข์?”
    “อ๋อ....รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า”
    “เหตุไฉนจึงรู้ล่ะ?”
    “รู้ด้วยเขาได้ยินเสียงผู้ถูกตัดมือตัดเท้าร้องให้ครวญคราง”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกที่ยังไม่ได้นิพพาน ก็รู้ว่านิพานเป็นสุข เพราะได้ยินเสียงพวกได้นิพพาน”
    “ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า”
    <center>[FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    จบวรรคที่ ๔
    [/FONT]</center>
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> วรรคที่ ๕ </center> <center> ปัญหาที่ ๑ </center> <center> ถามเรื่องความมี
    และไม่มีแห่งพระพุทธเจ้า
    </center>

    พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
    “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือ?”
    พระเถระตอบว่า
    “ไม่ได้เห็น ขอถวายพระพร”
    “ถ้าอย่างนั้น อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าได้เห็นหรือ ? ”
    “ขอถวายพระพร อาจารย์ก็ไม่ได้เห็น”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าไม่มี”
    “ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เป็นโอหานที คือสะดือทะเลหรือไม่?”
    “ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ถ้าอย่างนั้น พระราชบิดาของพระองค์ได้เห็นหรือไม่?”
    “ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า”
    “ถ้าอย่างนั้นสะดือทะเลก็ไม่มี”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถึงโยมและพระราชบิดาของโยม ไม่ได้เห็นสะดือทะเลก็จริงแหล่ แต่ทว่าสะดือทะเลมีอยู่เป็นแน่”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงอาตมาและอาจารย์ของอาตมา ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าก็จริง แต่พระพุทธเจ้ามีอยู่แน่ ขอถวายพระพร”
    “พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว”

    <center> ปัญหาที่ ๒ </center> <center> ถามเรื่องความ
    ยิ่งใหญ่แห่งพระพุทธเจ้า
    </center> “ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าหรือ?”
    “ขอถวายพระพร จริง”
    “พระผู้เป็นเจ้ารู้ได้อย่างไรว่า พระพุทธเจ้าไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เห็น ? ”
    “ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร.....คือพวกที่ไม่ได้เห็นมหาสมุทร รู้หรือไม่ว่ามหาสมุทรอันกว้างใหญ่ มีน้ำลึกประมาณไม่ได้ หยั่งถึงพื้นได้ยาก เป็นที่ไหลไปรวมอยู่แห่งแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ ความ พร่องหรือความเต็มแห่งมหาสมุทรนั้นไม่ปรากฏ แม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ ก็ไหลไปสู่มหาสุมทรเนือง ๆ ? ”
    “รู้ พระผู้เป็นเจ้า”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คืออาตมาภาพได้เห็นพระสาวกทั้งหลายผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้สำเร็จนิพพานมีอยู่ จึงรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้เยี่ยมไม่มีใครเทียมถึง”
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] “พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว” [/FONT]
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    <center> ปัญหาที่ ๓ </center> <center> ถามเรื่องการรู้ความ
    ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า
    </center>
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial]
    “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าอาจรู้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เยี่ยมไม่มีใครยิ่งกว่า?”
    [/FONT] “อาจรู้ ขอถวายพระพร”
    “อาจรู้ได้อย่างไร?”
    “ขอถวายพระพร เมื่อก่อนมีอาจารย์เลของค์หนึ่ง ชื่อว่า พระติสสเถระ มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่หลายปี แต่ถึงมรณภาพไปแล้ว อาจารย์เลของค์นั้น ทำไมชื่อยังปรากฏอยู่?”
    “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาจารย์เลของค์นั้น ยังปรากฏอยู่ เป็นด้วยเลขที่ท่านบอกไว้”
    “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเห็นพระพุธเจ้า เพราะธรรมเป็นของที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้”
    “สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า”

    <center> ปัญหาที่ ๔ </center> <center> ถามเรื่องการเห็นธรรม </center> “ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นธรรมแล้วหรือ?”
    “ขอถวายพระพร ธรรมะอันพระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนสาวก อันพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว พระสาวกควรปฏิบัติตามจนตลอดชีวิต”
    “แก้ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า”

    <center> ฏีกามิลินท์ </center> เพราะเหตุไร...พระนาคเสนจึงไม่ตอบว่าอาตมภาพได้เห็นธรรมะแล้ว ?
    [FONT=Ms Sans Serif, Geneva, Helvetica, Arial] แก้ว่า....เพราะเหตุว่าพระเจ้ามิลินท์รู้แน่แล้วว่า พระเถระได้เห็นธรรมแล้ว แต่อยากจะฟังคำตอบอันวิจิตร จึงตรัสถามเพื่อผู้ที่ยังไม่รู้ พระเถระทราบพระอัธยาศัยของพระเจ้ามิลินท์แล้ว จึงได้ตอบอย่างนั้น [/FONT]
     
  20. อธิมุตโต

    อธิมุตโต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    4,741
    ค่าพลัง:
    +13,087
    ร่วม [​IMG] อนุโมทนาบุญด้วยครับ.^./|\.^. [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...