เรื่องเด่น ลักษณะของการทรงฌาน (พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 31 ธันวาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    231003-1.jpg

    มีญาติโยมหลายรายที่มาสอบถามเกี่ยวกับลักษณะของการทรงฌาน อยากจะบอกกับท่านทั้งหลายว่า การทรงฌานนั้น บางท่านก็มีสภาวะที่แตกต่างไปจากคนอื่นบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ท้ายสุดแล้วอาการส่วนใหญ่ก็จะเหมือนกัน จึงได้ตักเตือนท่านทั้งหลายเหล่านั้นไปว่า การปฏิบัติของเรานั้น ไม่ได้สำคัญตรงที่ว่าทรงสมาธิระดับไหนได้ ไม่สำคัญตรงที่ว่าจะรู้เห็นอะไรได้ แต่สำคัญตรงที่ว่าสามารถละกิเลสได้หรือไม่

    ถ้าสามารถละกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ได้ จะเป็นสมาธิระดับไหนก็ใช้ได้ และจะรู้เห็นหรือไม่..ไม่สำคัญ ขอให้สามารถทำใจให้ผ่องใสปราศจากกิเลสได้ แม้จะชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดีกว่าทำไม่ได้เสียเลย

    ในเรื่องของการทรงฌานนั้น ถ้าหากว่ากันตามแบบในวิสุทธิมรรคแล้ว ปฐมฌานคือฌานที่ ๑ (ความเคยชินระดับที่ ๑) นั้น ท่านบอกว่าประกอบไปด้วยองค์ ๕ คือ วิตก คิดนึกตรึกอยู่ว่าจะภาวนา วิจาร เรากำลังภาวนาอยู่ ลมหายใจจะแรงจะเบา จะยาวจะสั้น กำหนดรู้ตามไปด้วย ปีติ มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คือ ขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลงหรือดิ้นตึงตัง ลอยขึ้นไปทั้งตัว หรือว่ารู้สึกตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่วเป็นรู ตัวแตก ตัวระเบิดไปก็มี

    สุข คือความเยือกเย็นทั้งกายและใจ ที่ไม่สามารถจะอธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้ถูก เนื่องจากว่าปกติแล้วเราจะโดนไฟใหญ่ ๔ กอง คือไฟจากความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง เผาผลาญอยู่ตลอดเวลา การที่สมาธิเริ่มทรงตัวไปถึงระดับหนึ่ง ไฟใหญ่ ๔ กองนี้จะโดนอำนาจของสมาธิกดดับลงไปชั่วคราว บุคคลที่โดนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ ไฟดับไป ถามเขาว่าสุขสบายอย่างไร เขาไม่สามารถจะอธิบายเป็นคำพูดได้ และท้ายสุดคือ เอกัคตารมณ์ อารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว

    อาตมาเองเคยเจอขั้นตอนทั้งหลายเหล่านี้มาแล้ว และคิดว่าขั้นตอนทั้ง ๕ อย่างนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน แต่ความจริงแล้วมีก่อนมีหลัง ถ้าจิตของเราละเอียดไม่พอ เราก็จะไปคิดว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะว่าในชั่วขณะนั้น วิตก คิดอยู่ว่าจะภาวนา วิจาร กำลังภาวนาอยู่ ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น ใช้คำภาวนาอย่างไรก็รู้ ปีติ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างดังกล่าวมา สุข มีความสุขมีความเยือกเย็นทั้งกายและใจอย่างบอกไม่ถูก และเอกัคคตารมณ์ อารมณ์ที่ตั้งมั่นอยู่กับการภาวนา จดจ่อแน่วนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว

    ถ้าหากว่าเกิดขึ้นเร็วมาก เราจะแยกไม่ออก คิดว่าเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน แต่ถ้าหากสภาพจิตเราละเอียดพอ จะเห็นว่าเกิดขึ้นเป็นขั้น ๆ ไป จนกระทั่งอารมณ์ทรงตัวเต็มที่ก็เป็นเอกัคคตารมณ์ นี่คือความเคยชินระดับที่หนึ่ง หรือสมาธิระดับที่หนึ่ง ที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่าปฐมฌาน

    ในฌานที่ ๒ นั้น พอจิตแน่วนิ่งอยู่กับเอกัคคตารมณ์ไปสักระยะหนึ่ง สภาพจิตที่ทรงตัวมากขึ้น ลมหายใจก็รู้สึกว่าเบาลงหรือไม่มีไปเลย คำภาวนาบางทีก็หายไปเฉย ๆ หูได้ยินเสียงเบามาก หรือไม่ได้ยินเลยก็มี ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นให้รู้ว่า เริ่มเข้าสู่ความเคยชินขั้นที่ ๒ หรือสมาธิขั้นที่ ๒ ตามภาษาบาลีที่เรียกว่าทุติยฌาน

    ลำดับถัดไป บางท่านก็จะรู้สึกว่าปลายมือปลายเท้าชาแข็ง เย็นเข้ามา ๆ จนกระทั่งบางทีเนื้อตัวแข็งทื่อไปหมด เหมือนถูกสาปให้เป็นหินก็มี เหมือนกลายเป็นก้อนน้ำแข็งไปแล้วก็มี กลายเป็นรูปสลักไปแล้วก็มี บางท่านก็รู้สึกเหมือนโดนมัดตัวแน่นจนตึงเป๋ง เหมือนติดแน่นอยู่กับเสาก็มี ตอนนั้นลมหายใจก็ไม่มี คำภาวนาก็ไม่มี ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นให้รู้ว่าเป็นกำลังของสมาธิระดับที่ ๓ เป็นความเคยชินระดับที่ ๓ หรือเรียกตามบาลีว่า ตติยฌาน

    ถ้าหากว่าเราไม่กลัว เอาสติกำหนดตามดูตามรู้อยู่ว่าขณะนี้อาการเป็นอย่างนั้น สภาพจิตก็จะดำเนินต่อไป คล้าย ๆ กับว่ารวบเข้ามา ๆ จนสว่างโพลงอยู่จุดใดจุดหนึ่งเฉพาะหน้า อาจจะเป็นตรงหน้าของเราก็ได้ ในอกก็ได้ หรือบางทีเหนือศีรษะก็ได้

    ความสว่างไสวนั้นสว่างจนบอกไม่ถูก ยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยง แต่เป็นความสว่างที่เยือกเย็น ไม่ใช่ความสว่างที่ร้อนแบบแสงอาทิตย์ ความสว่างไสวสดใสเจิดจ้านั้นจะอยู่เฉพาะหน้าของเรา ตอนช่วงนั้นประสาทความรู้สึกของร่างกายจะโดนตัดขาดไปแล้ว ก็คือสภาพจิตส่วนจิต ร่างกายส่วนร่างกาย เมื่อประสาทเชื่อมโยงไม่ถึงกัน สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับร่างกายเราก็ไม่รับรู้ เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว

    เสียงปืน เสียงประทัด เสียงระเบิดดังอยู่ข้างหู เสียงฟ้าผ่าลงมาข้างหู ก็ไม่ได้ยิน สภาพของร่างกายเหมือนกับไม่หายใจแล้ว แต่ความจริงยังมีลมละเอียดที่เรียกว่าปราณ วิ่งอยู่ระหว่างจมูกกับสะดือ สำหรับบุคคลที่ทำถึงระดับนี้จะเห็นว่าปราณเส้นนี้นั้น ใหญ่โตแข็งแรงมั่นคงมาก แต่ความจริงแล้วลักษณะเหมือนเส้นด้ายละเอียด ใส ๆ เหมือนกับสายเอ็นเบ็ดตกปลา ถ้าหากว่าสายนี้ขาดก็คือหมดลมตายไปเลย

    แต่ถ้าตราบใดสายเชื่อมโยงปราณเส้นนี้ยังอยู่ ก็จะไม่ตาย ดังนั้น..ท่านทั้งหลายถ้าทำมาถึงจุดนี้ไม่ต้องไปหวาดกลัว เพราะตอนนั้นสติสมาธิของเราจะละเอียดมาก ลมปราณละเอียดเล็ก ๆ นี้ เราจะรู้สึกว่าใหญ่โตเกาะติดได้มั่นคงมาก ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นให้รู้ว่า นี่เป็นอาการของความเคยชินขั้นที่ ๔ สมาธิขั้นที่ ๔ หรือเรียกตามบาลีว่าจตุตถฌาน

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับเรา จะมีรายละเอียดปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ ขอให้พวกเราตีราคาข้างต่ำไว้เสมอ อย่างเช่น ปฐมฌานละเอียดนั้น บางทีความรู้สึกของเราปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง สภาพจิตมีการรู้ลมเอง ภาวนาเองโดยอัตโนมัติ เป็นต้น แต่บางท่านก็ไปเข้าใจว่านี่เป็นอาการของฌาน ๒ ฌาน ๓ หรือฌาน ๔ ก็มี ท่านทั้งหลายจะถามคนอื่น ถ้าใช้คำถามผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว ผู้ที่รับฟังคำถามก็จะเข้าใจคลาดเคลื่อนและตอบผิดไปก็มี

    ดังนั้น..สำคัญก็คือศึกษาขั้นตอนเหล่านั้น แล้วเปรียบเทียบดูว่าสมาธิของเราตอนนี้อยู่ในขั้นไหนก็จะเข้าใจได้ แต่ก็อยากจะสรุปลงตรงที่ว่า สมาธิขั้นไหนก็ตามไม่สำคัญ สำคัญตรงที่ว่าขณะนั้นจิตของเราปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง หรือเปล่า ถ้าหากว่ารัก โลภ โกรธ หลง กินใจไม่ได้ ถือว่าสภาพจิตของเราตอนนั้นมีคุณภาพ

    แต่ถ้าหากมีความมั่นคงสูงถึงระดับอัปปนาสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานละเอียดขึ้นไป ก็เป็นการประกันความเสี่ยงได้ค่อนข้างแน่ว่า ถ้าตราบใดที่เราไม่ทิ้งให้สมาธิของเราหลุดออกไปจากกำลังของฌานสมาบัติตรงหน้า กิเลสก็ยังกินใจเราไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีบุคคลอีกจำพวกหนึ่ง เมื่อเกิดความสุขสงบเยือกเย็นทั้งกายและใจขึ้น รัก โลภ โกรธ หลง โดนกำลังสมาธิกดนิ่งสนิทไป คิดว่าตนเองบรรลุมรรคผลแล้วก็มี..!

    ดังนั้น..จึงต้องระมัดระวังตรงนี้ให้มาก ๆ อย่าไปทึกทักเอาว่าเราได้ฌานนั้นฌานนี้ สมาธิขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว ให้ประมาณการณ์ขั้นต่ำไว้เสมอว่าเรายังไม่ได้ แล้วตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติของเราต่อไป เมื่อกำลังใจทรงตัวเต็มที่แล้ว จะเป็นธรรมชาติของสมาธินั้น ๆ ว่า ถึงเวลาก็จะคลายตัวออกมาเองโดยอัตโนมัติ เมื่อสมาธิคลายตัวออกมาเราต้องระมัดระวังให้มาก ต้องรีบหาวิปัสสนาญาณให้คิดพิจารณาโดยด่วน ไม่อย่างนั้นแล้วสภาพจิตจะไปคว้าเอา รัก โลภ โกรธ หลง มาฟุ้งซ่าน เอามาคิดเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะฟุ้งซ่านอย่างเป็นงานเป็นการ เพราะมีกำลังของสมาธิหนุนเสริมอยู่

    สำหรับตอนนี้ก็ให้ท่านทั้งหลายกำหนดดูกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาของตนเองไปตามอัธยาศัย ถ้าหากว่ากำลังใจทรงตัวแล้ว จะถอยออกมาพิจารณาอย่างไรก็ได้ ตามที่ถนัดและเคยชิน จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันศุกร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕



    ที่มา วัดท่าขนุน
     
  2. ครึ่งชีวิต

    ครึ่งชีวิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    4,178
    ค่าพลัง:
    +15,103
    สาธุๆๆ ขอรับ
     
  3. madeaw23

    madeaw23 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2017
    โพสต์:
    209
    ค่าพลัง:
    +188
    กราบสาธุครับ
     
  4. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628

แชร์หน้านี้

Loading...